Tabu

Tabu (1931) hollywood : F. W. Murnau ♥♥♥♥♡

ผลงานชิ้นสุดท้ายของผู้กำกับ F. W. Murnau แม้มิได้เต็มไปด้วยเทคนิคแพรวพราวเหมือน Sunrise (1927) แต่เรื่องราวความรักต้องห้าม แลกกับการแหกกฎความเชื่อ ‘Taboo’ ของชาวเกาะพื้นเมือง Tahiti มีความงดงามหวานขมไม่ย่อหย่อนยิ่งไปกว่า คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ต้นศตวรรษ 20 แม้อเมริกากับยุโรปจะมีการแข่งขันก้าวสู่ความเป็นโลกยุคสมัยใหม่ (Modern World) แต่ยังมีดินแดนอีกมากทั่วโลกที่ยังคงลึกลับ ป่าเถื่อน ห่างไกลความเจริญ (Old World) ซึ่งเมื่อการมาถึงของฟีล์มภาพยนตร์ ก็ได้มีนักสำรวจรักการผจญภัยแสวงโชคมากมาย ตั้งใจออกเดินทางไปบันทึกเก็บภาพเรื่องราววิถีชีวิตผู้คนแดนไกล นำกลับมาฉายกลายเป็นสิ่งน่าทึ่งตราตะลึง เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ที่น้อยคนจะมีโอกาสรู้จักพบเห็น

สำหรับใครใคร่สนใจภาพยนตร์แนวสำรวจบุกเบิกโลกลักษณะคล้ายๆกันนี้ เท่าที่พบเห็นในยุคหนังเงียบ อาทิ
– Nanook of the North (1922) ** ถือกันว่าเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของโลก (ที่แม้จะเป็นการจัดฉากก็เถอะ)
– Grass (1925)
– Moana (1926)
– Chang: A Drama of the Wilderness (1927) **ถ่ายทำในประเทศไทย และเป็นแรงบันดาลใจหนังเรื่อง King Kong (1933)
– White Shadows in the South Seas (1928)

หลังครบข้อตกลงสัญญาสร้างภาพยนตร์ 3 เรื่องของปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติเยอรมัน Friedrich Wilhelm Murnau (1888-1931) ต่อสตูดิโอ Fox [ประกอบด้วย Sunrise (1927), Four Devils (1928), City Girl (1930)] เจ้าตัวคงเกิดความเบื่อหน่ายต่อ Hollywood เต็มแก่ (จริงๆคือสร้างหนังไม่ทำเงินสักเรื่อง เพราะการมาถึงของยุคสมัย Talkie ผู้ชมอเมริกันแทบจะเลิกดูหนังเงียบไปเลย) เลยต้องการออกไปเปิดหูเปิดตาพบเจอโลกภายนอกบ้าง ได้มีโอกาสรู้จัก Robert J. Flaherty โคตรผู้กำกับสารคดี Nanook of the North (1922), Moana (1926) ร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ Flaherty-Murnau Productions เป้าหมายเพื่อ Murnau จะได้มีโอกาสกลายเป็นนักสำรวจผจญภัยค้นหาอะไรใหม่ๆบ้าง

ก่อนหน้านี้ Flaherty เคยร่วมงานผู้กำกับ W.S. Van Dyke สร้างภาพยนตร์เรื่อง White Shadows in the South Seas (1928)** ให้กับสตูดิโอ MGM ปักหลักถ่ายทำอยู่ Tahiti ด้วยความคุ้นเคยและรู้จักคนท้องถิ่น Murnau เลยชักชวนขอให้ Flaherty เป็นเสมือนไกด์ เริ่มต้นร่วมงานสร้างผลงานใหม่ขึ้นที่นั่น

เกร็ด: White Shadows in the South Seas (1928) คือภาพยนตร์เรื่องแรกของ MGM ที่มีการใส่เสียง Soundtrack และจะได้ยินเสียงเจ้าราชสีห์ Leo the Lion (ชื่อ Jackie) คำรามดังขึ้นเป็นครั้งแรก

ทั้งสองร่วมพัฒนาบทหนังตั้งชื่อว่า Turia โดยอ้างจากเรื่องเล่าตำนานข้อห้าม Tabu ที่ Flaherty ได้ยินฟังจากคนท้องถิ่นขณะสร้างภาพยนตร์เรื่อง White Shadows in the South Seas เมื่อเค้าโครงร่างเสร็จสิ้น Murnau ออกเดินทางสู่ Tahiti ก่อนเลยเพื่อสำรวจหาสถานที่ถ่ายทำ Flaherty ตามไปหลังจากนั้นเดือนหนึ่ง ได้สถานที่คือเกาะ Bora Bora และนักแสดงนำหญิง Anne Chevalier ทำงานเป็นสาวเสิร์ฟประจำบาร์ Cocktail

ด้วยงบประมาณที่วางแผนไว้ $150,000 เหรียญ ตั้งใจจะใช้นักแสดง Hollywood สร้างกระแสดึงดูดผู้ชม ไปๆมาๆกลับได้เงินมาเพียง $5,000 เหรียญ หลังจากส่งโทรเลขติดตามนายทุนไปหลายสิบครั้งก็ช่างแม้ง Murnau ควักเงินส่วนตัวใช้เป็นทุนสำรองใช้จ่ายไปก่อน ด้วยเหตุนี้เลยต้องไล่ทีมงานอเมริกันส่วนเกินกลับบ้าน ว่าจ้างคนท้องถิ่นค่าแรงแสนถูก เคยคิดจะถ่ายทำด้วยฟีล์มสีเหลือเพียงขาวดำหนังเงียบ และบทภาพยนตร์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตั้งชื่อใหม่ Tabu: A Story of the South Seas เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาข้อกฎหมาย

เกร็ด: คำที่ถูกต้องจริงๆของชาว Polynesian ต้องเขียนว่า Tapu (เฉพาะภาษา Tongan เขียนผิดเป็น Tabu) ซึ่งมันจะพ้องกับภาษาอังกฤษ Taboo

บทหนังที่ Murnau ขัดเกลาปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ ไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจ Flaherty เสียเท่าไหร่ มองว่าเรื่องราวมีความเป็น ‘Westernized’ มากเกินไป (คงโดยเฉพาะครึ่งหลัง) แต่ก็ยังตามน้ำต่อไปอีกสักพัก

การถ่ายทำเริ่มต้นมกราคม 1930 โดย Flaherty เป็นผู้กำกับ Sequence แรกของหนัง ชายหนุ่มขว้างหอกจับปลา และวิ่งไล่จับสาวๆ แต่ระหว่างนั้นเกิดปัญหาทางเทคนิคบางอย่างจนกล้องไม่สามารถใช้งานได้ เลยติดต่อตากล้องที่เคยร่วมงาน Floyd Crosby บินตรงจากอเมริกาเพื่อช่วยเหลือแก้ไข และกลายเป็นทีมงานหลักของหนังไปเลย (ทีมงานหลักมีเพียง 3 คนคือ Murnau, Flaherty และ Crosby นอกนั้นจ้างลูกมือคนท้องถิ่น)

เพราะความคิดเห็นต่างในไดเรคชั่นการทำงาน ต่อมา Flaherty ขอถอยห่างจากหน้าที่กำกับ เป็นแค่ผู้ช่วยขัดเกลาบทหนัง และประจำอยู่แลปล้างฟีล์ม (คงเพราะ Murnau เป็นเจ้าของเงินทุน เลยแสดงความเห็นแก่ตัวออกมาเยอะ สร้างหนังในแนวทางของตนเองไม่ถนัดร่วมกำกับ)

สำหรับนักแสดงเลือกใช้ชาวพื้นเมืองท้องถิ่นทั้งหมด ก็ไม่รู้ Murnau เสี้ยมสอนฝึกหัดทำอย่างไรกับพวกเขานะ ไม่เพียงมีความเป็นธรรมชาติลื่นไหล แต่ยังสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ภาษากายเคลื่อนไหวได้อย่างสากลสุดๆ โดยแทบไม่ต้องใช้ Title Card ระหว่างการพูดคุยสื่อสาร ก็สามารถดูรู้เรื่องมองตาเข้าใจ (Title Card จะปรากฎขึ้นเฉพาะข้อความที่เขียน/ในจดหมายเท่านั้น)

มี Sequence หนึ่งที่คือในความฝันของชายหนุ่ม ผมว่า Murnau คงอดไม่ได้ที่ต้องใช้ลายเซ็นต์ของตนเอง ด้วยการซ้อนภาพระหว่างใบหน้าของหญิงสาวกับไข่มุก ความหมายก็ตรงตัวเลย เธอคือสิ่งงดงาม มีคุณค่าที่สุดในสายตาของฉัน

การถ่ายทำเสร็จสิ้นตุลาคม 1930 พร้อมๆสถานะทางการเงินถังแตก เกือบจะไม่ได้บินกลับอเมริกา ซึ่ง Flaherty ตัดสินใจไม่เอาด้วยแล้ว ล้มบริษัทขายหุ้นส่วนแบ่งคืนให้ Murnau ด้วยสนราคา $25,000 เหรียญ ซึ่งกว่าจะหามาจ่ายได้ก็เมื่อหนังตัดต่อเสร็จ ใส่เพลงประกอบโดย Hugo Riesenfeld และ Paramount Pictures ซื้อสิทธิ์ในการจัดฉายระยะเวลา 5 ปี ด้วยเงิน $75,000 เหรียญ

การลำดับภาพแบ่งเรื่องราวออกเป็นสององก์ ที่มีความตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
– Paradise เรื่องราวบนเกาะ Bora Bora ราวกับสรวงสวรรค์ของคู่รักหนุ่มสาว วันๆใช้ชีวิตไม่ต้องคิดอะไร อยู่กินหาความสุขกับธรรมชาติ เฝ้ารอคอยที่จะได้แต่งงานอาศัยร่วมกันจนกระทั่ง…
– Paradise Lost คู่รักหนุ่มสาวหลังจากร่วมกันหลบหนีมุ่งสู่เกาะใกล้เคียง (เกาะอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส) พวกเขายังคงใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆโดยไม่รู้ตัวว่าติดหนี้สินมหาศาล แม้ได้อาศัยอยู่ร่วมกันแต่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงกลัวเกรงจะถูกติดตามพบเจอ ไร้ซึ่งความสุขสำราญแบบแต่ก่อนที่เคยมี

เพลงประกอบของ Hugo Riesenfeld ไม่ได้แต่งขึ้นใหม่ คงเพราะค่าตัวที่น้อยนิดเลยใช้การเรียบเรียงด้วยบทเพลงคลาสสิกชื่อดังคุ้นหู อาทิ
– Chopin: Nocturnes, Op. 9
– Smetana: Má vlast [ภาษา Czech แปลว่า My homeland] (ถือได้ว่าเป็น Main Theme ของหนังเลยนะ )

Sequence ที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุด หลังจากภาพชายคนหนึ่งป้องปากตะโกนดังขึ้นด้วยเสียงทรัมเป็ต ชาวเกาะต่างแข่งขันกันพายเรือมุ่งสู่เรือยอร์ชแปลกหน้าที่กำลังค่อยๆล่องเข้ามาเยี่ยมเยือน คงเพราะการเลือกใช้บทเพลง Má vlast ท่อน Vltava ที่ถ้าใครเคยรับชม The Tree of Life (2011) น่าจะพอคุ้นหูอยู่บ้าง มันทำให้ผมเกิดรอยยิ้มอิ่มร่าน้ำตาปริมๆ ความสุขมาจากไหนก็ไม่รู้อย่างเหลือล้นขึ้นภายในจิตใจ

เรื่องราวของหนัง เริ่มต้นจากการตั้งคำถาม อะไรคือ Tabu/Taboo? สิ่งต้องห้าม คือบางอย่างที่มนุษย์กำหนดกฎเกณฑ์สร้างกรอบขึ้นเป็นข้อบังคับแนะนำให้ปฏิบัติทำตาม มันอาจเริ่มต้นง่ายๆอย่างบริเวณนั้นมีฉลามเลยขึ้นป้ายเตือนห้ามงมไข่มุก ไม่ต่างอะไรกับความเชื่อเรื่องพระเจ้าในครึ่งแรก อดีตคงมีบางสิ่งอย่างขึ้น ทำแบบนี้แล้วดีเลยสืบสานต่อกลายเป็นความเชื่อศรัทธา วัฒนธรรมประเพณีวีถีชีวิตปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน

กฎมีไว้แหก นับตั้งแต่ครั้งแรกที่อดัมกับอีฟขัดคำสั่งพระเจ้าผู้สร้างด้วยการกินแอปเปิ้ลจากสวนอีเดน แต่มันก็อยู่ที่จิตสำนึกของคนเราจะมองเห็นคุณค่าความสำคัญ กล้าแบกรับความเสี่ยงการกระทำของตนเองหรือเปล่า,
– ชายหนุ่มเพื่อเติมเต็มความต้องการของคนรัก ตัดสินใจเสี่ยงอันตรายงมไข่มุกในบริเวณที่มีปลาฉลาม โชคดีชิบหายเอาตัวรอดมาได้
– ขณะที่หญิงสาวแม้ยินยอมหลบหนีตามเขามา แต่จิตใจของเธอกลับเต็มไปด้วยตราบาปความรู้สึกผิด คิดว่ามิอาจหลบหนีไปไหนได้สำเร็จ เลยจำต้องยินยอมรับโชคชะตากรรมของตนเอง

เรื่องกฎมีไว้แหกเนี่ย สงสัย Murnau กำลังต้องการสื่อถึงตัวเอง กว่าสองทศวรรษที่เริ่มสร้างภาพยนตร์มา หมกมุ่นขมุกตัวอยู่แต่ German Expressionism สร้างฉากขึ้นอลังการใหญ่โตในสตูดิโออันแสนคับแคบมืดมิด กระทั่งครั้งแรกกับหนังเรื่องนี้ ที่ได้ออกเดินทางเปิดโลกกว้างใหญ่ไพศาล พบเห็นอะไรอีกมากที่ยังไม่เคยรับรู้จักมาก่อน ซึ่งผมค่อนข้างเชื่ออย่างยิ่งเลยนะ ถ้าผู้กำกับไม่พลันด่วนเสียชีวิตจากไปก่อน เขาคงจะออกท่องทั่วโลก สร้างภาพยนตร์ลักษณะ Tabu ขึ้นอีกหลายเรื่องเลยละ ซึ่งคงสามารถฉายเดี่ยวได้แล้วด้วยกระมัง (ไม่ต้องมีไกด์นำทัวร์อย่าง Flaherty ให้วุ่นวายใจ)

และอดไม่ได้ที่จะต้องเปรียบเทียบ Sunrise (1927) กับ Tabu (1931) สองผลงานขั้วตรงข้ามของ Murnau
– Sunrise (1927) สร้างฉากขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อลังการในสตูดิโอ Fox เรื่องราวเกี่ยวกับคู่รักหนุ่มสาว เกิดความคับข้องขัดแย้งผิดใจ ตามง้อขอคืนดีจนสำเร็จ หวนกลับมารักกันอย่างเดิมชั่วนิรันดร์
– Tabu (1931) เดินทางไปถ่ายทำยังเกาะ Tahiti ป่าเขาท้องทะเลกว้างใหญ่ไพศาล เรื่องราวเกี่ยวกับคู่รักหนุ่มสาว ถูกกฎเกณฑ์ความเชื่อศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่า บีบบังคับกัดกันไม่ให้พวกเขาครองคู่รักกัน พยายามหลบหนีแต่สุดท้ายก็มิอาจเอาชนะตราบาปความรู้สึกผิดที่ฝังลึกอยู่ในใจ สุดท้ายลาจากกันชั่วนิรันดร์

หนึ่งสัปดาห์ก่อนหนังฉาย (ตัดต่อเสร็จแล้วกำลังรอใส่เพลงประกอบ) Murnau เช่ารถ Rolls-Royce พร้อมคนขับเด็กหนุ่มอายุ 14 ปี สัญชาติ Filipino ระหว่างทางบริเวณ Pacific Coast Highway คงหักหลบพุ่งเข้าชนเสาไฟฟ้าศีรษะฟาดรุนแรง เสียชีวิตในโรงพยาบาลวันถัดมา สิริอายุเพียง 42 ปี, ร่างของ Murnau ถูกส่งกลับไปฝังที่บ้านเกิดเยอรมัน ประกอบด้วยครอบครัวและเพื่อนสนิทเท่านั้น อาทิ Robert J. Flaherty, Emil Jannings, Greta Garbo และ Fritz Lang ร่วมไว้อาลัย

แม้หนังจะไม่ประสบความสำเร็จทำเงิน (เพราะหนังเงียบมันเลิกได้รับความนิยมแล้วนะ เว้นเสียแต่ของ Charlie Chaplin เท่านั้นกระมัง) แต่ในงานประกาศรางวัล Oscar ครั้งที่ 4 ก็ทำให้ Floyd Crosby คว้ารางวัล Best Cinematography สมควรค่าอย่างยิ่ง งดงามตราตรึงมากๆ

ระหว่างรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ จิตใจของผมมีความอิ่มเอิบสุขล้นมากเป็นพิเศษ เพราะความสดใสน่ารักน่าชังของคู่รักหนุ่มสาว ช่างบริสุทธิ์เดียงสา ไร้มลทินชั่วร้ายใดๆเจือปนเคลือบแคลงแฝงอยู่เลย แต่เมื่อพวกเขาประสบพบอุปสรรคขวากหนาม ในเรื่องความเชื่อสิ่งต้องห้ามศรัทธาของชนเผ่า แค่เพียงก้มหน้าก้มตาแน่นิ่งหมดอาลัยตายอยาก ก็ทำให้จิตใจรวดร้าวระทมทรมานสิ้นดี

นั่นน่าจะคือเหตุผลที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีความทรงพลังมากๆเลยนะ เพราะผู้ชมอย่างเราๆที่มากด้วยกิเลสตัณหาราคะ เมื่อพบสิ่งมีชีวิตเหมือนเด็กน้อยสดใสบริสุทธิ์ จึงมักเกิดความรักสงสารเอ็นดูต้องการเป็นกำลังใจเชียร์ ซึ่งเมื่อเห็นพวกเขาถูกบางสิ่งอย่างชั่วร้ายลวงโลกที่มนุษย์ด้วยกันกำหนดสร้างขึ้น ดิ้นพร่านทรมานต่อความอยุติธรรมของโลกใบนี้

ครึ่งแรก Paradise ผมถือว่าคือ Masterpiece ที่มีความงดงามยิ่งใหญ่กว่า Sunrise (1927) แต่ครึ่งหลัง Paradise Lost มีบางสิ่งอย่างสูญหาย ‘Lost’ ไปกับหนังจริงๆ ซึ่งเมื่อต้องมองในภาพรวมจึงต้องหารสอง ความชื่นชอบส่วนตัวเลยน้อยกว่า Sunrise อยู่กระนิดนึง

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” โลกมนุษย์สมัยนี้แทบหาความบริสุทธิ์เดียงสา ไร้มลทินชั่วร้ายใดๆเจือปนแบบสองคู่รักในหนังเรื่องนี้ไม่ได้อีกแล้ว เทียบกับครึ่งหลังเมื่อพวกเขาต้องมีชีวิตในโลกที่เงินคือทุกสิ่ง ปัจจุบันนี้มันคือ Paradise Lost จริงๆนะแหละ เป็นคุณอยากอาศัยอยู่ในสวรรค์ไหนมากกว่ากันละ

แม้ว่า Paradise แบบหนังเรื่องนี้ในปัจจุบันจะแทบหมดสิ้นสูญไปจากโลกแล้ว แต่ก็ใช่ว่าหมายถึงสถานที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียว ยังคงหลงเหลือสวรรค์ในอก ความสุขภายในที่ยังสามารถค้นพบเจอความบริสุทธิ์เดียงสาได้อยู่ อย่างน้อยก็พยายามอย่าให้มันได้เจือปนมลทินความชั่วร้ายใดๆ จิตใจก็ราวอาศัยอยู่ใน Paradise ไม่ต่างกัน

แนะนำคอหนังเงียบ รักโรแมนติก, ต้องการเปิดหูเปิดตาวิถีชีวิตชาวพื้นเมืองเกาะ Tahiti ในทศวรรษ 30s, ตากล้อง ศิลปิน ชื่นชอบภาพถ่ายสวยๆ, แฟนๆผู้กำกับ F. W. Murnau และ Robert J. Flaherty ไม่ควรพลาด

จัดเรตทั่วไป

TAGLINE | “Tabu ของผู้กำกับ F. W. Murnau คือความบริสุทธิ์เดียงสา ไร้มลทินชั่วร้ายใดๆเจือปน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: