Taj Mahal

Taj Mahal (1963) Bollywood : M. Sadiq ♥♥♥

ถึงคนรักจะจากไป แต่ความรักจักอยู่นิรันดร์, เรื่องราวของเจ้าชายขุร์รัม (Shehzada Khurram) ต่อมาคือสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน (Shah Jahan) จักรพรรดิของราชวงศ์โมกุล ผู้สร้างทัชมาฮาล สุสานหินอ่อนที่เป็นสถาปัตยกรรมแห่งความรักที่สวยงามที่สุดในโลก เพื่อระลึกถึงมเหสี มุมตัซ มาฮาส (Mumtaz Mahal) ที่ทรงรักมากที่สุด

นำเสนอเรื่องราวความรักระหว่างเจ้าชายขุร์รัม และอรชุมันท์ พานุ (Arjumand Banoo) ธิดาของรัฐมนตรี พบกันครั้งแรกที่ตลาด Meena Bazar ทรงหลงใหล ประทับใจในรูปโฉมและตกหลุมหลงรักแรกพบ ต่อมาหมั้นหมาย แล้วแต่งงานในอีก 5 ปีถัดมา หลังขึ้นครองราชย์ทรงพระนาม สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน และมเหสี มุมตัซ มาฮาล ไม่เคยอยู่ห่างกาย, แต่แล้วเมื่อโชคชะตาไม่เป็นใจให้ทั้งคู่ครองรักกันจนสิ้นชีวี มเหสี มัมตัซ มาฮาล ได้ด่วนจากไปก่อน ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ตกอยู่ในความทุกข์ ซึมเศร้าโศก ใช้เวลากว่า 20 ปีเพื่อสร้างอนุสรณ์สถาน ทัชมาฮาล เพื่อเป็นสุสานฝังร่างของพระนาง

ทัชมาฮาล (Taj Mahal) หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคใหม่ ตั้งอยู่ในสวนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา (Yamuna River) ในเมืองอัครา (Agra) รัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) เริ่มต้นก่อสร้างในปี 1632 ภายนอกสร้างเสร็จปี 1643 ตกแต่งภายในประมาณการเสร็จสิ้น 10 ปีถัดจากนั้น, ทัชมาฮาล สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ศิลาแลง ประดับลวดลายเครื่องเพชร พลอย หิน โมราและเครื่องประดับจากมิตรประเทศ กว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร มีผู้สร้างและออกแบบร่วม 20,000 คน กินเนื้อที่ประมาณ 42 เอเคอร์ ประมาณราคาค่าก่อสร้าง เทียบกับค่าเงินสมัยนี้ปี 2015 สูงถึง 52.8 พันล้านรูปี (=$827 ล้านดอลลาร์), หลังสร้างเสร็จ สถาปนิกที่ออกแบบ อุสตาด ไอซา (Ustad Ahmad Lahauri) ถูกประหารชีวิตเพื่อมิให้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใดๆ ที่สวยกว่าได้อีก

Taj

มีเรื่องเล่าลือเป็นตำนานว่า สมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน ต้องการสร้างทัชมาฮาลอีกแห่ง ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำยมุนา ให้มีลักษณะเป็นหินอ่อนสีดำ เพื่อเป็นสุสานของพระองค์ แต่ไม่ทันได้สร้าง ก็ถูกพระโอรส ออรังเซพ (Aurangzeb) ก่อการยึดอำนาจในปี 1659 คุมขังพระองค์จองจำในป้อมอัครา 7 ปี เสด็จสวรรคตในเดือนมกราคม 1666 สิริพระชนมายุได้ 74 พรรษา

ผมรู้จักหนังเรื่องนี้จาก ครั้งเสด็จฯทอดพระเนตรภาพยนตร์ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๖ (ค.ศ.1963) ที่โรงภาพยนตร์นิวโอเดียน, เยาวราช

นำแสดงโดย Pradeep Kumar (ประทีป กุมาร) รับบทเจ้าชายขุร์รัม ต่อมาคือสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน, เจ้าชายเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด เกรียงไกร จงรักภักดีต่อพระบิดา ประเทศชาติ และรักเดียวใจเดียวกับมเหสีสุดที่รัก (จริงๆในประวัติศาสตร์ มีมเหสี 3 พระองค์นะครับ), ผมไม่แน่ใจ Kumar คนนี้โด่งดังแค่ไหนใน bollywood แต่คิดว่าคงต้องมีชื่อเสียงพอสมควร (เพราะหน้าตาหล่อเหลาขนาดนี้) ผลงานอื่นที่ดังๆ อาทิ Jagte Raho (1956), Rakhi (1962) ฯ มีคู่ขวัญนางเอกคือ Bina Rai ที่คู่กันทีไร มักทำเงินถล่มทลาย ร่วมกันมาตั้งแต่ Anarkali (1953) หนังทำเงินสูงสุดแห่งปี

Bina Rai รับบท อรชุมันท์ พานุ ต่อมาคือมเหสี มุมตัซ มาฮาส (Malka-E-Alam Mumtaz), หญิงสาวถึงเป็นลูกคนธรรมดา ได้หลงรักกับเจ้าชาย แต่หาได้มีจิตใจมักใหญ่ใฝ่สูง รักลูก รับครอบครัว ซึ่งเมื่อสวามีได้ขึ้นครองราชย์ เธอกลายเป็นช้างเท้าหลัง คอยช่วยสนับสนุน ชี้แนะนำแนวทาง ให้พระองค์ปกครองประเทศได้อย่างสุขสันติ เป็นธรรม, Bina Rai ถือเป็นดาราสาว Bollywood ชื่อดัง เคยได้รางวัล Filmfare Award: Best Actress จากหนังเรื่อง Ghunghat (1960)

เคมีของ Kumar และ Rai ถือว่าเข้ากันอย่างมาก ในลักษณะพ่อแง่แม่งอน ตัวละครของ Rai ชอบที่จะเล่นตัว ส่วนตัวละครของ Kumar ก็มักจะตามใจเธอ, ฉากที่ผมชอบมากสำหรับคู่นี้ อยู่ช่วงท้ายๆที่ เจ้าชายขุร์รัม ได้ครองราชย์ ขึ้นนั่งบนบัลลังก์ แล้วมีมเหสี อรชุมันท์ พานุ ยืนซ่อนอยู่หลังผ้าม่านด้านหลัง ขณะที่พระองค์กำลังจะตัดสินคดีความ พระนางได้พูดทูลขอให้ยั้งสติชั่งใจสักนิดก่อนคิดตัดสินอะไร วินาทีนี้ผมถือว่าคือชั่วขณะที่ทำให้ ทัชมาฮาล มีมนต์ขลัง ความสำคัญแห่งรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ถ้าใครเคยดู Anarkali (1953) หรือ Mughal-E-Azam (1960) คงจดจะเรื่องของเจ้าชาย Salim ผู้กลายเป็นจักรพรรดิชะฮันคีร์ (Jahangir) และเข้าใจเหตุผลที่ทำไมพระองค์ไม่ต้องการเป็นพ่อสื่อบังคับหาคู่ให้กับลูก ในหนังมีการเอ่ยถึงเหตุการณ์สมัยจักรพรรดิอักบัรมหาราช นิดหนึ่งด้วย ว่าไม่อยากให้เหตุการณ์ลักษณะนั้นเกิดขึ้นอีก (หนังไม่ใช่ภาคต่อ แต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์นั้นต่อกัน) บทนี้นำแสดงโดย Rehman กับคนที่เคยดูหนังของ Guru Dutt คงเห็นหน้าลุงเป็นขาประจำ เป็นตัวประกอบชื่อดังใน Pyaasa (1957), Chaudhvin Ka Chand (1960), Sahib Bibi Aur Ghulam (1962) และ Waqt (1965)

จักรพรรดิชะฮันคีร์ในวัยชรา ค่อนข้างจะปิดหูปิดตาเรื่องการเมืองภายใน คงเพราะผลกรรมที่เคยทำกับพระบิดา ย้อนกลับมาสนองตนเอง, พระองค์มีมเหสีหลายพระองค์ ไม่นับ Anarkali รักที่สุดคือ นูร์ ชะฮัน (Malka-E-Alam Noor Jehan) หญิงหม้ายแม่เลี้ยงของเจ้าชายขุร์รัม ที่ช่วงท้ายรัชกาล พระองค์มอบหมายหน้าที่บริหารแผ่นดินให้มเหสีพระองค์นี้จัดการแทนทั้งหมด, นำแสดงโดย Veena Kumari (วีณา กุมารี) มีผลงานดังอย่าง Halaku (1956), Chalti Ka Naam Gaadi (1958), Kaagaz Ke Phool (1959) ฯ การแสดงของเธอถือว่ามารยาริษยา จิตใจโฉดชั่วร้าย ด้วยสีหน้า ท่าทาง คำพูด ดูรู้ว่ามีความต้องการเป็นใหญ่ เจ้ากี้เจ้าการ วางอำนาจบาทใหญ่ ไม่ชอบก้มหัวให้ใคร

แต่ผู้หญิงสมัยก่อน เป็นได้แค่ช้างเท้าหลังของผู้ชายเท่านั้น ต่อให้มีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหน เป็นมเหสีทำหน้าที่แทนกษัตริย์/จักรพรรดิได้ แต่ไม่มีทางได้รับการยอมรับ ยกเป็นประมุขผู้นำปกครอง โดยเฉพาะกับประเทศที่มีการแบ่งชนชั้นชัดเจนแบบอินเดียเป็นแน่แท้

ถ่ายภาพโดย G. Balkrishna, เทียบกับ Mughal-E-Azam (1960) แล้วน่าผิดหวังมาก ทั้งๆที่หนังเรื่องนี้ควรนำเสนอความยิ่งใหญ่ให้เทียบเท่ากับ Taj Mahal แต่ทำได้แค่เป็น Bibi Ka Maqbara ที่สร้างเลียนแบบ Taj Mahal แต่งดงามได้ไม่ถึงครึ่ง, ขณะที่เสื้อผ้าหน้าผมจัดเต็ม แต่ฉากขาดความละเอียดอ่อน อันระยิบระยับแบบเดียวกับ Mughal-E-Azam ที่ทำให้ผู้ชมตะลึงทึ่ง อ้าปากค้าง … ทั้งๆที่มีตัวอย่างสุดยิ่งใหญ่ให้ใช้เปรียบเทียบ ถ้าทำให้เหมือนไม่ได้ก็ควรให้แตกต่างไปเลย แต่กลับทำเป็นแค่รสวนิลา รสชาติธรรมดา ไม่หวาน ไม่หอม ไม่กรอบ ถึงผมไม่อยากเอาไปเปรียบเทียบ แต่ก็อดไม่ได้ เพราะมันน่าผิดหวังจริงๆ

ตัดต่อโดย Moosa Mansoor, ช่วงครึ่งแรกมีการตัดสลับไปมาระหว่างเจ้าชายขุร์รัม กับอรชุมันท์ พานุ เป็นการเกี้ยวพาราสี เล่นแง่เล่นงอน โหยหายซึ่งกันและกัน ซึ่งพอทั้งคู่ได้อยู่ร่วมกันแล้วก็แทบจะไม่แยกจากกันอีก, ครึ่งหลังจะตัดสลับระหว่างคู่ เจ้าชายขุร์รัม, อรชุมันท์ พานุ กับ จักรพรรดิชะฮันคีร์, นูร์ ชะฮัน เป็นเรื่องราวความขัดแย้งภายในระหว่างพระโอรส กับจักรพรรดิ ที่ทั้งคู่ไม่ได้มีปัญหาอะไรกันเลย แต่ถูกชี้ชักนำจากผู้ไม่ประสงค์ดี, ช่วงท้ายเมื่อปัญหาการเมืองจบสิ้น ก็กระโดดข้ามไปตอนที่มเหสี มุมตัซ มาฮาส สวรรคต จักรพรรดิชาห์ชะฮัน ดำรัสตรัสสร้างทัชมาฮาล และตอนจบ กระโดดไปตอนสร้างเสร็จเลย

เพลงประกอบโดย Roshan (ปู่ของ Hritik Roshan) ต้องบอกว่างานเพลงคือเสน่ห์ของหนัง ความไพเราะเทียบเคียงได้กับ Mughal-E-Azam (1960) แม้จะไม่มีการเต้น/เนื้อเพลง ที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่า แต่ก็มีสไตล์รูปแบบ กลิ่นอายที่ใช่ ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน, ผมเลือกเพราะที่สุดในหนัง เพลง Jo Wada Kiya Woh Nibhana Padega ขับร้องโดย Mohammed Rafi และ Lata Mangeshkar เป็นเพลงหลังจากมเหสี มุมตัซ มาฮาส สวรรคตและจักรพรรดิชาห์ชะฮัน กำลังครุ่นคิด โหยหาถึงพระองค์ ฟังแล้วคุณคิดถึงคนรักที่จากไป, เพลงนี้ได้เข้าชิง Filmfare Award: Best Female Playback Singer (ไม่ได้รางวัล)

Taj Mahal เป็นหนังที่ไม่ได้อิงประวัติศาสตร์เสียเท่าไหร่ ใจความมุ่งเน้นนำเสนอความสวยงามที่สุดของความรัก อะไรกันที่ทำให้ จักรพรรดิชาห์ชะฮัน สร้างทัชมาฮาล เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานอุทิศเพื่อความรัก … คำตอบนั้นสุดแสนเรียบง่าย เพราะพระองค์ทรงรักและคิดถึงมเหสี มุมตัซ มาฮาส เป็นที่สุด

แต่ดูหนังเรื่องนี้แล้วคุณจะรู้สึก ‘รักนิรันดร์’ แบบนั้นไหม ผมว่าไม่ค่อยนะ นอกเสียจากคนที่ชื่นชอบ เป็นแฟนเดนตายหนัง bollywood ก็อาจสัมผัส รับรู้เข้าใจความรู้สึกนั้นได้, ผมมองหาเหตุผลในความรัก ก็พบสิ่งหนึ่งที่น่าพึงพอใจ คือ คุณธรรมของมเหสี มุมตัซ มาฮาส ว่ากันตามตรงบทบาทของพระองค์ไม่ต่างจาก นูร์ ชะฮัน สักนิด (คือเป็นช้างเท้าหลัง แต่ก็สามารถควบคุมบงการพระสวามีได้) กระนั้นสิ่งที่ต่างกันคือ พื้นฐานจิตใจ คนที่เชื่อในความรักเป็นพื้นฐาน จักเห็นความสำคัญ เข้าใจผู้อื่น ไม่เกิดความอิจฉาริษยา มักมาก เห็นความสำคัญของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ถ้านูร์ ชะฮัน เข้าใจจุดนี้ได้ พระองค์คงเป็นมเหสีที่ดีได้แน่ อะไรกันนะที่ทำให้พระองค์เลวร้ายแบบในหนัง (หนังไม่มีคำตอบนะครับ)

ส่วนตัว ไม่ชอบไม่เกลียดหนังเรื่องนี้ คุณภาพพอใช้ได้ แต่ถ้าเทียบกับ Mughal-E-Azam (1960) ยังห่างชั้นกันอยู่มาก, ส่วนที่ชอบ คือการแสดงของตัวละครหลักทั้ง 4 ยอดเยี่ยมน่าจดจำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ Veena Kumari กับบท นูร์ ชะฮัน สีหน้า คำพูด ท่าทาง แสดงความอิจฉาริษยาออมาได้โหดลึก ถือว่าแย่งซีนหนังไปเต็มๆ, ส่วนที่ไม่ค่อยชอบคือ หนังมันไม่ค่อยมีสาระอะไรเท่าไหร่ และหนังชื่อ Taj Mahal ผมว่ามันจะมีความน่าสนใจมากกว่า ถ้ามีการนำเสนอช่วงเวลาขณะทำการก่อสร้างมากกว่านี้ ไม่ใช่ตัดข้ามไปแบบนี้ เชื่อว่านั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ใครๆคงอยากเห็นมากที่สุด

แนะนำกับคอหนัง Bollywood คลาสสิก, อยากรู้จักกับสาเหตุ ความรักระหว่างจักรพรรดิผู้สร้างทัชมาฮาล กับมเหสีผู้เป็นที่รัก, แฟนหนัง Pradeep Kumar, Bina Rai, Rehman และ Beena Kumari ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG กับแนวคิดบางอย่างที่รู้สึกว่ารุนแรง

TAGLINE | “Taj Mahal หนังสูตรสำเร็จของ Bollywood มีแค่การแสดงชั้นเลิศ และเพลงประกอบเพราะๆ ที่ทำให้น่าติดตาม”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: