Talk to Her

Talk to Her (2002) Spainish : Pedro Almodóvar ♥♥♥♥

พูดคุยสนทนา คือปฏิสัมพันธ์’พื้นฐาน’ระหว่างสิ่งมีชีวิต เพื่อก่อเกิดความเข้าใจ เรียนรู้จักความต้องการของกันและกัน แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกลายเป็นผัก (Vegetative State) ยังมีความจำเป็นอันใดหลงเหลือให้เอ่ยปากสื่อสาร?

ไม่มีประโยชน์ใดๆทางการแพทย์/วิทยาศาสตร์ ว่าผู้ป่วยสภาพผัก(เรื้อรัง)จะสามารถรับล่วงรู้ตัวเอง ได้ยินเสียง หรือมีปฏิกิริยาโต้ตอบสนองใดๆ, แต่ความเชื่อทางจิตวิญญาณ การได้พูดคุย สื่อสาร แสดงความรักเอ็นดู สัมผัสจับเนื้อต้องตัวผู้ป่วย นั่นคือการสร้างโอกาส ประกายความหวัง ศรัทธาเชื่อว่าสักวันเขาหรือเธอจักสามารถฟื้นคืนสติกลับมาได้

ชาวตะวันตกมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในเรื่องการพูดคุยสื่อสาร ว่าจะสามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้ในหลายรูปแบบ อาทิ เมื่อเกิดความตึงเครียด เก็บกดดัน หรือได้กระทำสิ่งเลวร้ายอันใด การได้สนทนากับใคร หรือเอ่ยปากสารภาพบาป ย่อมสร้างความพักผ่อนคลาย ระบายความหมกมุ่นครุ่นยึดติด รู้สำนึกผิด-ชอบ ชั่ว-ดี และมีแนวโน้มสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคปัญหาไปได้

แต่ในความเป็นจริงนั้น การพูดคุยสนทนาหาใช่สัจธรรมหรือคือสิ่งหนึ่งเดียวเท่านั้นที่สามารถสื่อสาร สร้างความสัมพันธ์ หรือแก้ไขปัญหาภายในจิตใจใดๆ ดูอย่างยุคสมัยนี้ นักเลงคีย์บอร์ด หมาเห่าเต็ม Facebook/Twitter ดีแต่พูดก็มากมายถมไป ทั้งนั้นล้วนหลอกตนเองไปวันๆ

การสื่อสารด้วยวาจา เป็นแค่เพียงเปลือกภายนอกของมนุษย์ที่สามารถปรุงปั้นแต่ง สร้างภาพลวงหลอกตา ปกปิดยังธาตุแท้ตัวตนแท้จริงไม่ให้ใครได้พบเห็น จนกว่าจะเกิดความสนิทสนมชิดเชื้อ(ด้วยกาลเวลา) เข้าถึงเหตุผลการกระทำ/แสดงออก จิตวิญญาณภายในของอีกฝ่าย นั่นต่างหากสำคัญยิ่งกว่าการสนทนาด้วยคำพูด ภาษา กิริยาท่าทางใดๆเสียอีก


Pedro Almodóvar Caballero (เกิดปี 1949) ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติสเปน เกิดที่ Calzada de Calatrava หมู่บ้านเล็กๆในจังหวัด Castile-La Mancha มีพี่สาวสองคนและน้องชายอีกหนึ่ง, ตอนอายุ 8 ขวบ ครอบครัวส่งไปโรงเรียนสอนศาสนายังเมือง Cáceres แต่วันๆ Almodóvar กลับเลือกเดินเข้าโรงภาพยนตร์ และได้อิทธิพลเต็มๆจากผู้กำกับในตำนาน Luis Buñuel

“Cinema became my real education, much more than the one I received from the priest”.

– Pedro Almodóvar

ขัดแย้งต่อความต้องการครอบครัว Almodóvar ย้ายไปอยู่ Madrid ปี 1967 วาดฝันต้องการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ แต่เพราะผู้นำเผด็จการในประเทศขณะนั้น Francisco Franco สั่งห้ามทุกอย่าง เขาเลย Self-Taught สอนตัวเองสร้างภาพยนตร์ ทำงานหาเงินซื้อกล้อง Super 8 เริ่มต้นหนังสั้น ขนาดยาวเรื่องแรก Pepi, Luci, Bom (1980) ได้เสียงตอบรับไม่ดีเท่าไหร่ เพราะยังเป็นการลองผิดลองถูก, ถัดมา Labyrinth of Passion (1982) เล่าเรื่องความเร่าร่าน Sex ของดาราดัง ตกหลุมรักกับเจ้าชายหนุ่มที่เป็นเกย์จากตะวันออกกลาง ได้รับเสียงตอบรับทีดีขึ้น, สำหรับผลงานสร้างชื่อ Women on the Verge of a Nervous Breakdown (1988) เป็นแนว Feminist Light-Comedy ด้วยบทสนทนารวดเร็วติดจรวด ส่อ-เสียด-สี-แทง ทำให้ Almodóvar ได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็น ‘Women’s Director’ เฉกเช่นเดียวกับ George Cukor, Rainer Werner Fassbinder, Michelangelo Antonioni ฯ

“Women are more spectacular as dramatic subjects, they have a greater range of registers, etc”.

Almodóvar เป็นเกย์ที่ไม่ได้ปิดบังตัวเอง (แต่ไม่รู้คิงหรือควีนนะ) จึงมีความสนใจเรื่องพรมแดนคั่นขวางระหว่างเพศสภาพ สิ่งที่เขามักนำเสนอออกมาในภาพยนตร์ไม่ใช่การตีแผ่ แต่คือถ่ายทอดความจริงแบบตรงไปตรงมา สะท้อนปัญหาสังคมที่มักเกิดขึ้นจากความหมกหมุ่นอันไร้ขอบเขตของ

หลังความสำเร็จของ All About My Mother (1999) ผู้กำกับ Almodóvar ต้องการพักงานสร้างภาพยนตร์ เพื่อทุ่มเวลาให้กับละครเวทีเรื่อง El Deseo ระหว่างนั้นก็เกิดแนวคิดเกี่ยวกับ Talk to Her จากการที่ตนเองตื่นเช้ามาพูดคุยกับตนเอง เพราะก่อนหน้านี้ไม่รู้ตะโกนหรือทำอะไรมาเสียงพูดแหบแห้ง เลยต้องการตรวจสอบตนเองอยู่เรื่อยๆ ‘How’s my voice today?’

“I’ve always believed in words, even when you’ve got no voice… or no one to talk to”.

นั่นเองทำให้เริ่มครุ่นคิดถึงตัวละคร หญิงสาวนอนโคม่าอยู่บนเตียงไม่สามารถพูดคุยสื่อสารกับใครได้, ชายผู้มีอารณ์อ่อนไหว พูดน้อยแต่ร่ำร้องไห้แทบจะทุกสถานการณ์ ฯ

Marco Zuluaga (รับบทโดย Darío Grandinetti) นักข่าว/นักเขียน หลังจากพานพบเห็นรายการสัมภาษณ์ Lydia González (รับบทโดย Rosario Flores) นักสู้กระทิงที่กำลังเลิกร้างราสามี ต้องการติดต่อสัมภาษณ์ส่วนตัว ไปๆมาๆกลับสนิทสนมชิดเชื้อ พบเห็นกอดจูบคบชู้สานสัมพันธ์กลายเป็นแฟนใหม่ แต่แล้ววันหนึ่งเธอถูกกระทิงขวิดได้รับบาดเจ็บสาหัส ตกอยู่ในสภาพผัก นั่นทำให้เขาหมดสิ้นหวังอาลัย ไร้ซึ่งความเชื่อศรัทธาว่าเธอจะฟื้นคืนกลับมา

Benigno Martín (รับบทโดย Javier Cámara) เป็นพยาบาลส่วนตัวของ Alicia Roncero (รับบทโดย Leonor Watling) นักเต้นสาวที่เขาตกหลุมรัก เคยแอบถ้ำมองอยู่บ้านพักตรงข้ามโรงเรียนสอนเต้น เธอประสบอุบัติเหตุรถชน ตกอยู่ในสภาพผักเช่นกัน

สองหนุ่มพานพบเจอครั้งแรกที่โรงละคร Café Müller นั่งติดกันระหว่างรับชมการแสดงของ Pina Bausch จดจำได้เพราะ Benigno เห็น Marco อินจัดจนร่ำร้องไห้ออกมา ซึ่งพอ Lydia ตกอยู่ในสภาพผัก พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกับ Alicia จึงมีโอกาสทักทายและกลายเป็นเพื่อนสนิทโดยไม่รู้ตัว


นำแสดงโดย Darío Grandinetti (เกิดปี 1959) นักแสดงสัญชาติ Argentine เกิดที่ Rosario, Santa Fe วัยรุ่นเป็นนักฟุตบอลทีม Newells Old Boys, ทำงานผู้ช่วย Junta Nacional de Granos, ระหว่างนั้นร่ำเรียนการแสดง ตัดสินใจมุ่งสู่ Buenos Aires เพื่อสานฝัน, เริ่มจากซีรีย์โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ประสบความสำเร็จในประเทศไม่น้อย กระทั่ง Talk to Her (2002) โด่งดังไกลทั่วโลก

รับบท Marco Zuluaga เป็นคนนิ่งๆ หน้าเศร้าๆ พูดน้อย จิตใจอ่อนไหว เมื่อสมัยวัยหนุ่มเต็มไปด้วยความลุ่มหลงใหลในรักแรกพบ Angela แต่พอเธอติดยา(เฮโรอีน) ทำให้ต่างตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าหมอง ตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยวไร้เป้าหมายเพื่อบำบัดอาการป่วย จนแล้วจนรอดในที่สุดเขาก็เลือกตีตนออกห่างมาอยู่คนเดียว จนกระทั่งพานพบเห็น Lydia ในรายการโทรทัศน์ พบเจอ เรียนรู้จัก อันเป็นเหตุให้หลายๆสิ่งอย่างหวนย้อนกลับมาเกิดขึ้นซ้ำกับตนเอง และเมื่อเธอตกอยู่ในสภาพผัก แล้วนี่ฉันจะทำอย่างไรต่อไปดี!

การได้รู้จัก Benigno ที่แตกต่างขั้วตรงกันข้ามกับตนเอง ทำให้ค่อยๆเกิดความเข้าใจอีกด้านหนึ่งของชีวิต มุมมองที่ไม่เคยใคร่สนใจ ช่วยเติมเต็มบางสิ่งอย่างขาดหาย เกิดความสัมพันธ์สนิทสนมชิดเชื้อ (แต่ไม่เกินเลยไปกว่าเพื่อน) อ่อนไหวต่อกัน จนท้ายที่สุดราวกับ Marco ได้เข้ามาแทนที่ตกหลุมรัก Alicia

Grandinetti เป็นคนหน้านิ่งๆ แต่สามารถเปล่งอารมณ์ความรู้สึกที่ซับซ้อนออกมาทางสายตา และท่วงท่าการเดินอันเชื่องช้า อ่อนไหว เต็มไปด้วยความสิ้นหวังหมดอาลัย (ได้รับการเปรียบเทียบกับ John Wayne, Gary Cooper, Robert Mitchum ฯ ที่มีท่วงท่าการเดินสง่างามมากๆ) โดยเฉพาะฉากงานเลี้ยงปาร์ตี้ รับฟังเพลงแล้วร่ำร้องไห้ เดินหนีไปสุดปลายรั้ว จุดบุหรี่เพื่อระบายความอึดอั้ดอั้นแน่นออกออกมา


Javier Cámara Rodríguez (เกิดปี 1967) นักแสดงสัญชาติ Spanish เกิดที่ Albelda de Iregua, La Rioja เรียนจบจาก Dramatic Art School, Madrid ได้ทำงานที่โรงละคร Figaro Theatre, ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Torrente, el brazo tonto de la ley (1998), โด่งดังระดับนานชาติ Talk to Her (2002), Bad Education (2004), Living Is Easy with Eyes Closed (2013), Truman (2015) ฯ

รับบท Benigno Martín ทั้งชีวิตเวียนวนอยู่ข้างเตียงผู้ป่วย เริ่มจากมารดาผู้แก่ชรา คือสาเหตุให้ตัดสินใจร่ำเรียนพยาบาล วันๆไม่เคยได้ออกไปไหน เต็มไปด้วยความไร้เดียวสาต่อโลกภายนอก จนกระทั่งได้มองเห็น Alicia ร่ำเรียนเต้นอยู่ตึกตรงข้าม ใช้ความกล้าอย่างมากเพื่อออกไปพบเจอเผชิญหน้า กระทั่งโอกาสมาถึงเมื่อเธอประสบอุบัติเหตุกลายสภาพผัก ได้รับเลือกให้เป็นพยาบาลส่วนตัว (เพราะใครๆมองว่าเขาเป็นเกย์) แต่นั่นเองทำให้สามารถแสดงความรักต่อเธอในรูปแบบไม่มีใครคาดคิดถึง

การพบเห็น Marco ที่เป็นขั้วตรงข้ามของตนเอง ทำให้สามารถเปิดโลกกว้างในมุมมองที่ตนไม่เคยรับรู้จักสนใจ กลายเป็นเพื่อนสนิทชิดเชื้อ ให้การช่วยเหลือต่างๆนานา แม้ไม่เกินเลยกว่าความสัมพันธ์ แต่ก็สามารถหลั่งน้ำตาให้แก่กัน

รูปร่างอวบๆของ Cámara ทำให้เขาดูเหมือนตุ๊ดแต๊ว แต่ผู้กำกับไม่ยืนยันว่าคือเกย์หรือไม่ (เปิดกว้างให้ผู้ชมครุ่นคิดตัดสินใจ) ซึ่งภาพลักษณ์ดังกล่าวทำให้ตัวละครแลดูอ่อนโยน ละมุ่นไม ในการพยาบาลคนไข้ แต่ทั้งหมดแทบจะตรงกันข้ามตัวตนแท้จริง แพทย์จึงวินิจฉัยว่าเป็นคนบ้า แต่คงไม่มีผู้ชมคนไหนเห็นว่าเขาผิดปกติอันใด เพียงแค่ไม่มีใครเข้าใจเท่านั้นเอง (นอกจาก Marco)


Rosario del Carmen González Flores (เกิดปี 1963) นักร้องเพลง Latin สัญชาติ Spanish เกิดที่กรุง Madrid เจ้าของสองรางวัล Latin Grammy Award จากอัลบัม Muchas Flores (2002) และ De Mil Colores (2004), ได้รับคำชักชวนจาก Almodóvar แสดงภาพยนตร์ Talk to Her (2002)

รับบท Lydia González นักสู้กระทิงที่กำลังจะเลิกร้างราสามี ทั้งๆกล้าเผชิญหน้าสู้สัตว์ร้าย แต่กลับสั่นสะพรึงกรี๊ดลั่นเป็นโรคกลัวงู นั่นเองทำให้เธอพบเจอรู้จักกับ Marco พานพบเห็นเขาในหลายๆโอกาส ลุ่มหลงใหลในความอ่อนไหว แต่ขณะเดียวกันก็สงสารเห็นใจ เป็นเหตุให้ผิดพลาดพลั่งได้รับบาดเจ็บสาหัส นอนในสภาพเป็นผัก ก่อนเสียชีวิตหลายเดือนปีถัดมา

เกร็ด: คำว่า Lidia ภาษาสเปนแปลว่า กระทิง

Flores มีภาพลักษณ์หญิงแกร่ง สง่างาม ดูโคตรดีในชุดนักสู้กระทิง (มาดแมนเท่ห์สุดๆ) ขณะเดียวกันสายตาเต็มไปด้วยความเศร้าโศก ไร้เดียงสา โหยหาบางสิ่งอย่าง ซึ่งหลังจากพูดโกหกกับ Marco ทำให้จิตใจไขว้เขวเรรวน กระทิงตัวนั้นสัมผัสได้ถึงความอ่อนไหว เลยพุ่งตรี่ตรงเข้าไป จากนั้นก็นอนแน่นิ่งเฝ้ารอวันตายอยู่ในโรงพยาบาล

เกร็ด: เพื่อให้ได้การนอนสภาพผักที่สมจริง ผู้กำกับ Almodóvar ส่ง Flores และ Leonor Watling (รับบท Alicia) ไปร่ำเรียนโยคะล่วงหน้าถึงสามเดือน ฝึกสมาธิ กำหนดหายใจเข้าออกได้อย่างสงบแน่นิ่ง


ถ่ายภาพโดย Javier Aguirresarobe ยอดฝีมือสัญชาติ Spanish ผลงานเด่นๆ อาทิ The Others (2001), The Sea Inside (2004), The Road (2009), The Twilight Saga: New Moon (2009), Blue Jasmine (2013), Thor: Ragnarok (2017) ฯ

หนังมีโทนสีที่ค่อนข้างอบอุ่นตลอดทั้งเรื่อง (ไม่พบเห็นความแห้งเหือด เยือกเย็นชาเลยสักช็อตฉากเดียว) นั่นเพราะ Almodóvar ไม่ต้องการสร้างบรรยากาศอันหดหู่ เศร้าสลด เจ็บปวดรวดร้าว เพราะเกินกว่าครึ่งค่อนเรื่องปักหลักถ่ายทำอยู่ในโรงพยาบาล (สถานที่แห่งความเป็น-ตาย) จึงควรเป็นสถานที่แห่ง ‘ความหวัง’ มองโลกในแง่ดีกว่า

การแสดงเต้นของ Pina Bausch (1940 – 2009) นักเต้นชาว German นำเสนอเรื่องราวคู่ขนานของหญิงสาวหลับตาบอดสองคน เดินชนโน่นนี่นั่นบนเวที/โลกใบนี้ สะท้อนถึงสองตัวละครหญิง (Alicia และ Lydia) พวกเธอต่างนอนเป็นผักอยู่บนเขียง มองไม่เห็นอนาคตเบื้องหน้า แต่หนึ่งในพวกเธอมีชายคนหนึ่งพยายามดึงหลบเก้าอี้เพื่อให้เธอสามารถเดินไปมาด้วยตนเองได้

เกร็ด: ภาพที่ปรากฎลายเซ็นต์ของ Pina Bausch จริงๆแล้วเป็นของผู้กำกับ Pedro Almodóvar ที่เป็นแฟนคนโปรดการแสดงดังกล่าว ขอไว้เมื่อหกปีก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้

ห้องพักของ Marco ทาสีฝาผนังแดงแจ๊ส ประดับรูปภาพหัวใจ แผนที่โลก (อยู่ฝั่งตรงข้าม) สังเกตเห็นจักรยาน เครื่องวิ่งออกกำลังกาย ทั้งหมดนี้คือตัวตน/ความสนใจของเขา ซึ่งมีอยู่ไม่กี่อย่างเท่านั้นเอง

การสู้วัวกระทิง เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะยั่วยุ ล่อหลอก สร้างอารมณ์ให้สัตว์มีเขา มิอาจต่อต้านขัดขืน ต้องรีบวิ่งปรี่เข้ามาเพื่อระบายความหงุดหงิด คับข้อง รำคาญใจ

ปัจจุบันนี้ ผู้หญิงที่เป็นนักสู้วัวกระทิง เห็นว่าได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้อาจไม่ดุดัน ขึงขังเท่าบุรุษ แต่ก็สร้างความตื่นเต้นเร้าใจ ชื่นชมในความกล้า ห้าวหาญ สง่างามยิ่งใหญ่ ธำรงกิจกรรมนี้ไว้ให้คงอยู่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศสเปน

ชีวิตก็เหมือนการต่อสู้กระทิง พยายามวิ่งปรี่เข้าหาเป้าหมาย แม้ส่วนใหญ่จะถูกหยอกย่อ ยั่วเย้า แต่นั่นก็เพื่อสนองกิเลสตัณหา ไม่สามารถแยกแยะ หรือเบนหนีอะไรก็ตามที่เป็นสีแดงได้

สำหรับ Lydia เหมือนว่าเธอไม่ชอบผู้ชายที่ดีแต่พูด ซึ่งสามีเก่าได้ยินพร่ามเยอะแต่กลับอยู่เฉยๆ เบลอๆด้านหลังราวกับไร้ตัวตน ขณะที่ Marco พูดน้อยแต่มีความกล้าเผชิญหน้า แม้ขณะนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาใคร กลับยินยอมพร้อมใจให้ไปส่งที่บ้าน

มันอาจดูขบขันย้อนแย้งกันเอง สามารถเผชิญหน้ากับกระทิง แต่ดันหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว กรี๊ดสนั่นเมื่อพบเห็นงูในห้องครัว, ความแตกต่างของสัตว์สองชนิดนี้คือขนาด เล็ก-ใหญ่ และประเภท สัตว์บก-เลื้อยคลาน ความอันตรายเสี่ยงตายอาจพอๆกัน สุดท้ายนั้นเป็นเรื่องรสนิยมส่วนตัวเสียมากกว่า

อาการกลัวงู น่าจะต้องการสะท้อนความไม่ชื่นชอบบุคคลผู้ลื่นไหล กลับกลอก ปอกลอก ซึ่งตรงกันข้ามกับกระทิงที่เวลาต่อสู้มักจะเผชิญหน้า จ้องตา สามารถสื่อสารเข้าใจ (จริงๆคนเล่นงูก็สามารถสื่อสารมันเข้าใจ แต่ในบริบทนี้ให้ถือว่าคุยไม่รู้เรื่องก็แล้วกัน)

เมื่อตอนต้นเรื่อง มีการร้อยเรียงภาพการแต่งตัวของ Alicia ขณะอยู่ในสภาพผัก ครานี้เป็นของ Lydia สวมชุดนักสู้กระทิง ตระเตรียมตัวสู่สนามรบ เผชิญหน้าครั้งสุดท้าย รายล้อมด้วยความตาย

ฉากนี้เห็นว่าผู้กำกับ Almodóvar จัดเลี้ยงปาร์ตี้ที่บ้านชนบทของตนเอง เชิญเพื่อนๆ คนมีชื่อเสียงในสเปนให้มาร่วมรับเชิญ สังเกตสายตาพวกเขาจับจ้องมองนักร้อง Caetano Veloso ไม่ได้ให้ความสนใจกล้องที่ขยับเคลื่อนไหวแม้แต่น้อย

เต้นรำ คือการสื่อสารประเภทหนึ่งด้วยภาษากาย นักแสดง/นักเต้น ขยับเคลื่อนไหว แสดงออกท่วงท่า ด้วยอารมณ์ความรู้สึกผ่านจังหวะ ท่วงทำนอง และหรือเสียงเพลง

การที่ Benigno จับจ้องมอง Alicia ยังโรงเรียนสอนเต้น สะท้อนสิ่งที่เขาโหยหาและโดดเด่น คือความสามารถในการสื่อสารผู้อื่นด้วยภาษากาย สัมผัสจับเนื้อต้องตัว ขยับเคลื่อนไหวได้อย่างมีอิสรภาพ

Shrinking Lover ชื่อหนังเงียบที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในภาพยนตร์ เรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์สาว (รับบทโดย Paz Vega) ทำการทดลองสร้างยาย่อส่วน แฟนหนุ่มผู้มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ยินยอมดื่มกินเป็นหนูทดลอง ร่างกายค่อยๆหดเล็กลงเรื่อยๆ หญิงสาวพยายามสุดฝีมือแต่ก็ไม่สามารถครุ่นคิดหายารักษาได้ จนเขามีขนาดเล็กเท่าฝ่ามือ ค่ำคืนนั้นขณะกำลังหลับฝันดี เขาตัดสินใจมอบความสุข และเข้าไปอยู่อาศัยในเรือนร่างกายของเธอ

ฉากนี้ถ้าใครบอกไม่ได้ว่าคืออะไร แสดงว่าคุณไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้วกระมัง!

หลังจากที่ Lydia กลายสภาพเป็นผัก หลายๆช็อตของหนังสังเกตว่า Marco จะถูกแบ่งแยก คั่นขวาง ประมาณว่าไม่สามารถประติดประต่อ สานความสัมพันธ์กับเธอได้อีก

ซึ่งวินาทีที่เขาตัดสินใจเลิกรา ทอดทิ้งเธอ คือเมื่อสามีเก่าแสร้งทำเป็นประสบอุบัติเหตุ กุมมือและพูดคุยกับเธอ นั่นเป็นสิ่งเขาไม่สามารถกระทำแสดงออกได้ จึงยินยอมพ่ายแพ้และหลีกทางให้

พบเห็นมาตั้งแต่ High and Low (1963) ภาพสะท้อนกระจก นักโทษ-ผู้มาเยี่ยมเยือน มีตำแหน่งซ้อนทับพอดิบพอดี สื่อความถึงแม้ร่างกายมิอาจสัมผัสจับต้อง แต่ความครุ่นคิด จิตวิญญาณ มีความเหมือน คล้ายคลึง เห็นพ้อ เข้าใจกันและกัน

เสื้อสีแดง-น้ำเงิน และพื้นหลังลิบๆสีเขียว ถือว่าครบวงจรแม่สีพอดิบพอดีเลยนะ!

“There was almost this sense of two bodies becoming one. At that moment, there is nobody in the world that loves Benigno as much as Marco does. Marco knows what he has done, he has reproached him for it, but he has nobody else in the world but him. And Benigno knows this as well. This is almost a moment of romantic love”.

– Pedro Almodóvar

ช่วงชีวิตของ Benicino เกิด-ตายปี 1930 – 1973 อยู่ในช่วงระหว่างยุคสมัยการปกครองของท่านผู้นำเผด็จการ Francisco Franco ซึ่งสามารถสะท้อนเข้ากับตัวละครที่เป็นฝ่ายพูดกระทำต่อหญิงสาว (ตัวแทนประชาชน) ในสภาพผักเรื้อรัง ไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร แสดงออกความครุ่นคิดเห็นของตนเองได้

การฆ่าตัวตายของ Benicino นำเสนอในมุมมองปฏิกิริยาของ Marco และร้อยเรียงภาพสิ่งข้าวของ เม็ดยาอะไรไม่รู้จำนวนมาก สื่อถึงการดื่มกินยาเกินขนาดจนเสียชีวิต

หลังจาก Benicino (และจอมพล Franco) เสียชีวิตจากไป Alicia ก็สามารถฟื้นคืนชีพ หวนกลับมามีชีวิต พูดแสดงออกความคิดเห็นได้อีกครั้งหนึ่ง, ขณะที่ทารกน้อยผู้โชคร้าย สะท้อนถึงอนาคตในความเพ้อใฝ่ฝันที่ไม่ได้ตั้งใจของ Benicino (และจอมพล Franco) หมดสูญจบสิ้น ไร้ทายาทสืบทอดต่อสกุล (แต่ถือว่าเป็นการมอบชีวิตใหม่ให้กับแม่ผู้ตายทั้งเป็น ได้กลับฟื้นคืนชีพ)

การแสดงอีกชุดช่วงปัจฉิมบทของ Pina Bausch สังเกตว่าเธอมักจะล่องลอยไปมา เท้าแทบไม่ติดพื้น โดยมีบุรุษทั้งหลายคอยแบกหามส่งต่อ ซึ่งสามารถสื่อได้ถึงความตาย และอิสรภาพโบยบิน Feminist

ใครจะไปครุ่นคิดว่าความอ่อนไหวของ Marco จะซึมซับสู่จิตใจของ Alicia ทำให้พอเธอพบเห็นน้ำตาของเอา อดไม่ได้ที่จะพูดคุย สื่อสาร และรอยยิ้มช็อตนี้ ชวนให้เพ้อฝันคลั่งไปไกล (และมุมอิจฉาของอาจารย์ รับบทโดย Geraldine Chaplin)

ช็อตสุดท้ายของหนังดำเนินเรื่องต่อจาก Marco-Alicia ที่ได้พบเจอเรียนรู้จักกันทางการครั้งแรก ตัดสู่สองนักแสดงละครเวทีชาย-หญิง จับจ้องมองอย่างใคร่ฉงนสงสัย นายเป็นใคร ทำไมดึงดูดความสนใจฉันเหลือเกิน

ตัดต่อโดย José Salcedo (1949 – 2017) สัญชาติ Spanish ขาประจำของ Almodóvar ทุกเรื่อง (จนกระทั่งเสียชีวิต), ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสองตัวละคร Benigno Martín และ Marco Zuluaga ร้อยเรียงสลับไปมา ซ้อนทับระหว่างอดีต-ปัจจุบัน แทรกคั่นด้วยหนังเงียบ/ภาพบางอย่างที่สื่อความถึงเรื่องราว โดยมีข้อความที่เสมือนขึ้นตอนปรากฎ

เรื่องราวของหนังถือว่าดำเนินต่อเนื่องเป็นเส้นตรงไปข้างหน้าทั้งหมด การแทรกย้อนอดีต Flashback หนังเงียบ ฯ ล้วนมีนัยยะเพื่อแทนเหตุการณ์ คำอธิบาย หรือหลบซ่อนเร้นสิ่งไม่ต้องการนำเสนออย่างโจ๋งครึ่งตรงไปตรงมา อาทิ หนังเงียบทั้งเรื่อง สามารถเทียบแทนได้กับ Sex Scene ระหว่าง Benigno กับ Alicia

ซึ่งนั่นอาจทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า หนังมีการดำเนินออกนอกเรื่อง ‘Detour’ เบี่ยงเบนความสนใจไปไกลบ่อยครั้ง (โดยเฉพาะการแทรกหนังเงียบความยาว 7 นาที) แต่นั่นคือความจงใจของผู้กำกับ Almodóvar ซ้อนทับเรื่องราวเพื่อให้ทุกสิ่งอย่างสามารถดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างมีสไตล์

แต่เรื่องราวของหนังหลังจาก Marco ออกเดินทางสู่ Jordan และหวนกลับมา Spain จะไม่มีอะไรให้สลับคั่นกลาง ทุกสิ่งอย่างดำเนินไปในมุมมองของ Marco Zuluaga เพียงผู้เดียว

“The challenge to me as a director was for the audience to see the film as going on in a straight line, so that they did not sense all of these break-ups. I did not want a film to be a collage of all these images. I had these different elements, such as the Pina Bausch pieces and the ‘Shrinking Lover’ film. I did not want the spectator to be brought out of the story whenever one of those set-pieces took place. I wanted them to really integrate them into the story. I wanted this sense that the story was a straight line”.

– Pedro Almodóvar


เพลงประกอบโดย Alberto Iglesias สัญชาติ Spanish ขาประจำของ Pedro Almodóvar และ Julio Medem ผลงานเด่นๆ อาทิ All About My Mother (1999), The Constant Gardener (2005), The Kite Runner (2007), Che (2008), Tinker Tailor Soldier Spy (2011) ฯ

ไวโอลิน/เชลโล่/เครื่องสาย คือเสียงหลักของแทบทุกบทเพลงในหนัง สร้างบรรยากาศอันหดหู่ ซึมเศร้าหมองหม่น เสียดบาดแทงเข้าไปในส่วนลึกภายในจิตใจ เต็มไปด้วยความทุกข์โศก เจ็บปวดรวดร้าว

บทเพลงตราตึงสุดของหนัง Cucurrucucú paloma (1954) ภาษาสเปนแปลว่า Coo-coo dove (เสียงร้องของนกเขา), แต่งโดย Tomás Méndez, ต้นฉบับประกอบภาพยนตร์ Escuela de vagabundos (1955) ขับร้อง/นำแสดงโดย Pedro Infante ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากฉบับที่ใช้ในหนังอย่างมาก

ขับร้องโดย Caetano Veloso สัญชาติ Brazillian ในลักษณะ Art-Song เน้นใส่อารมณ์ขับเคลื่อน ให้เกิดสัมผัสความ Love-Sickness

Talk to Her คือภาพยนตร์ที่นำเสนอความสำคัญของการพูดคุย สื่อสาร พยายามชี้ชักนำว่าบางครั้งมันอาจดูไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ (แบบสนทนากับคนในสภาพผักเรื้อรัง) แต่สามารถสร้างประกายความหวัง ก่อเกิดพละพลังกำลังใจในชีวิตขึ้นได้

ตัวละครหลักทั้งสี่ในหนัง ต่างสูญเสียความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่น
– Marco Zuluaga จมปลักอยู่ในความหมดสิ้นหวังอาลัย จนไร้ซึ่งความเชื่อศรัทธา ไม่สามารถเอ่ยถ้อยคำพูดใดๆออกมา ถึงกระนั้นยังสามารถถ่ายทอดอารมณ์ผ่านสายตา คราบน้ำตา และปฏิกิริยาแสดงออกที่เต็มไปด้วยความอ่อนไหว
– Benigno Martín คือนกในกรงที่ไร้เดียงสาต่อโลกภายนอก ทำให้ไม่สามารถสื่อสารใครอื่นได้เข้าใจ เพราะเหตุใดทำไมถึงกระทำเช่นนั้นกับ Alicia จิตแพทย์ให้ข้อสรุปว่าเป็นคนบ้าโรคจิต คงมีแต่ผู้ชมเท่านั้นที่อาจได้ข้อสรุปแตกต่างออกไป
– Alicia Roncero หญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายที่ตกอยู่ในสภาพผัก นอนแน่นิ่งอยู่บนเตียง ไม่สามารถพูดคุยสื่อสารกับใคร
– Lydia González ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันกับสามี ทำให้ทั้งสองก้าวมาถึงจุดแตกหัก ไม่สามารถเผชิญหน้าพูดคุยสนทนา แม้ต่อมาตกหลุมรัก Marco แต่สุดท้ายกลับพยายามกลบเกลื่อนบิดเบือน พูดคำโกหกต่อเขา เป็นเหตุให้เมื่อเผชิญหน้ากับวัวกระทิง ไม่สามารถสื่อสารกับมันได้เข้าใจอีก

อาการบกพร่องของการไม่สามารถพูดคุยสื่อสาร เข้าใจต่อกันของมนุษย์ นำพาให้เกิดความโดดเดี่ยวเดียวดาย เวิ้งว้างว่างเปล่า ไร้คนเคียงข้างกาย สุดท้ายคือไม่หลงเหลืออะไร และอาจสร้างความเข้าใจผิดๆให้กับผู้อื่น นำพาสู่โศกนาฎกรรม สิ้นหวัง และความตาย

ความหมดสิ้นหวังของ Benigno สุดท้ายแปรสภาพเป็นแรงผลักดันให้ Marco ก้าวขึ้นมาแทนที่ตนเอง โดยไม่รู้ตัวสร้างความดึงดูดสนใจให้กับ Alicia ทั้งๆเธอไม่เคยรู้จักพบเจอ แต่ราวกับว่าเคยสนิทสนมชิดเชื้อ แค่เพียงสบตาก็ลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักใคร่

ชีวิต/การทำงานของผู้กำกับ Pedro Almodóvar ให้สัมภาษณ์ว่าก็เหมือนการสู้กระทิง รายล้อมด้วยผู้คน/ผู้ชมมากมาย แต่สุดท้ายมันคือตัวต่อตัว ตัวคนเดียว เผชิญหน้ากับวัวกระทิง เป็น-ตายไม่สามารถโทษว่ากล่าวใครอื่นได้

“I identify myself very much with the bullfighter, in the sense that my work is something I do surrounded by other people, but completely alone. You get the impression that you are in the middle of an arena and everybody is watching you. Sometimes they are applauding, but there is a mystery and a secret between you and the story you are telling. Then again sometimes I identify with the bull as well”.

ในแง่การเมือง เรื่องราวของหนังสะท้อนเข้ากับยุคสมัยการปกครองจอมพล Francisco Franco ประชาชนไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง ไม่สามารถพูดแสดงออกบอกความคิดเห็นใดๆออกมาได้ ชีวิตดำเนินไปด้วยความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว หมดสิ้นหวังอาลัย จนกระทั่งท่านผู้นำเสียชีวิตจากไปปี 1975 และอีกสองปีถัดมาเปลี่ยนแปลงการปกครองจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย ทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตรตรงกันข้าม ประเทศชาติเริ่มต้นพัฒนาก้าวหน้ามุ่งสู่ความยิ่งใหญ่สูงสุด


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $9.35 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $64.7 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม แต่ก็ยังน้อยกว่าผลงานก่อนหน้าอยู่นิด All About My Mother (1999) ทำเงินได้ $67.8 ล้านเหรียญ

ช่วงปลายปีเข้าชิง/กวาดรางวัลมากมาย อาทิ
– คว้ารางวัล Oscar: Best Original Screenplay
– เข้าชิง Oscar: Best Director
– คว้ารางวัล Golden Globe: Best Foreign Language Film
– คว้ารางวัล BAFTA: Best Original Screenplay
– คว้ารางวัล BAFTA: Best Film not in the English Language
– คว้ารางวัล César Awards: Best European Union Film
– เข้าชิง David di Donatello: Best Foreign Film
ฯลฯ

เกร็ด: หนังหลุดโผ Oscar: Best Foreign Language Film เพราะไม่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศสเปน เรื่องที่ถูกส่งเข้าชิงชัยคือ Mondays in the Sun (2002)

นอกจากนี้ยังได้เข้าฉาย Bangkok International Film Festival ปี 2003 (ไม่แน่ใจเป็นปีที่ผู้จัดงานได้รับสินบนข้ามชาติ กำลังจะติดคุกหัวโตเร็วๆนี้หรือเปล่านะ) คว้าไปสองรางวัล
– Best Film
– Best Director

ส่วนตัวชื่นชอบความสลับซับซ้อนของเรื่องราว อันเกิดจากมันสมองผู้กำกับ Pedro Almodóvar สามารถชักนำพาทุกสิ่งอย่างไปถึงจุดไม่มีใครคาดคิดถึงมาก่อน

แนะนำคอหนัง Drama หลงใหลในความลึกลับซับซ้อนเรื่องราว, นักคิด นักปรัชญา ไขปริศนาเกี่ยวกับการพูดคุยสื่อสาร, นักแสดงละครเวที ชื่นชอบแนว Avant-Gard/Surrealist, แพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลดูแลผู้ป่วยสภาพผัก, แฟนๆผู้กำกับ Pedro Almodóvar ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับความซับซ้อนเรื่องราว ถ้ำมอง ร่างกายเปลือยเปล่า ข่มขืน แท้งลูก ฆ่าตัวตาย

คำโปรย | Talk to Her เป็นมากกว่าการสื่อสารด้วยคำพูด แต่คือความเชื่อศรัทธา และจิตวิญญาณผู้กำกับ Pedro Almodóvar
คุณภาพ | ซัซ้รึ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: