Sazen Tange and the Pot Worth a Million Ryo

Sazen Tange and the Pot Worth a Million Ryo (1935) Japanese : Sadao Yamanaka ♥♥♥♥♡

ไหเงินล้านบรรพบุรุษ ถูกส่งมอบเป็นของขวัญแต่งงานน้องชาย ไม่เห็นคุณค่าสักเท่าไหร่เลยขายต่อคนรับซื้อของเก่า มอบให้บุตรชายใช้เลี้ยงปลาทอง, เรื่องวุ่นๆของการติดตามหาไหเงินล้าน มีความโคตรๆบันเทิง ชิบหายวายป่วนสไตล์ Sadao Yamanaka, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมถือเป็นความสูญเสียของมนุษยชาติ ที่ผลงานของผกก. Sadao Yamanaka หลงเหลือมาถึงปัจจุบันแค่ไม่กี่เรื่อง (หารับชมได้แค่ The Million Ryo Pot (1935), Priest of Darkness (1936) และ Humanity and Paper Balloons (1937)) ทั้งหมดล้วนมีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน แฝงสาระข้อคิด เด็กๆดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี นำเสนอด้วยวิธีการสุดแสนเรียบง่าย (สไตล์ Minimalist) และถ้าพี่แกมีชีวิตยืนยาวกว่านี้สักหน่อย (เกิดปี ค.ศ. 1909 เสียชีวิต ค.ศ. 1938 สิริอายุเพียง 28 ปี!) ไม่แน่ว่า Yasujirō Ozu อาจยังต้องหลีกทางให้!

Every film he made wonderfully depicted human purity and chastity with a tender, delicate gaze. I was astonished that a young man in his twenties accomplished such perfection.

ผู้กำกับ Kazuo Kuroki กล่าวถึง Sadao Yamanaka

ผมรับรู้จัก Sadao Yamanaka จากผลงาน Humanity and Paper Balloons (1937) ติดชาร์ทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมหลากหลายสำนัก พยายามมองหาโอกาสรับชมมานานจนกระทั่งพบเห็น Priest of Darkness (1936) คือหนึ่งในหนังโปรดของ Hayao Miyazaki ก็เลยว่าถึงเวลาสักที!

ทีแรกผมตั้งใจจะเขียนถึงแค่ Priest of Darkness (1936) และ Humanity and Paper Balloons (1937) แต่พอไปด้อมๆมองๆชาร์ท Kinema Junpo: Top 200 best Japanese movies ever made เมื่อปี ค.ศ. 2009 เกิดความแปลกประหลาดใจที่ผลงานผกก. Yamanaka เรื่องติดอันดับสูงสุดกลับคือ #9 Tange Sazen and the Pot Worth a Million Ryo (1935) สรุปแล้วก็ดูมันทั้งสามเรื่องนะแหละ!

Tange Sazen and the Pot Worth a Million Ryo (1935) หรือย่อๆ The Million Ryo Pot (1935) มีลีลาการดำเนินเรื่อง ‘ส่งไม้ผลัด’ ละม้ายคล้าย The Earrings of Madame De… (1953) [เปลี่ยนจากต่างหูเป็นไหเงินล้าน] นำเสนอความสัมพันธ์แบบหยากไย้ วุ่นๆวายๆระดับโกลาหล ก่อนจบลงด้วยรอยยิ้ม อิ่มเอมหัวใจ แฝงสาระข้อคิดที่ก็ไม่รู้อะไร แต่สัมผัสได้ถึงมนุษยธรรมอันทรงคุณค่า

เกร็ด: Tange Sazen and the Pot Worth a Million Ryo (1935) ยังเป็นหนึ่งในร้อยหนังโปรดของผู้กำกับ Akira Kurosawa


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Tange Sazen, 丹下左膳 ตัวละครซามูไรไร้สังกัด (Rōnin) เริ่มต้นเป็นเพียงตัวประกอบซีรีย์เรื่องหนึ่งในหนังสือพิมพ์ Mainichi Shimbun สร้างโดย Fubō Hayashi ตีพิมพ์ระหว่างเดือนตุลาคม 1927 ถึงพฤษภาคม ค.ศ. 1928 จุดโดดเด่นคือรอยแผลเป็นตาซ้าย และพฤติกรรมปากว่าตาขยิบ หน้าตาดุร้ายแต่จิตใจดีงาม ได้รับความนิยมแพร่หลายเลยถูกดัดแปลงสร้างหนังเงียบ Shinban Ōoka seidan (1928) กำกับโดย Gorō Hirose นำแสดงโดย Tokumaro Dan ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน ทำให้ติดตามมาด้วยภาคต่อมากมาย … จนถึงปัจจุบัน

ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่หนังพูด (Talkie) โปรเจค Tange Sazen ถูกส่งต่อให้ผู้กำกับ Daisuke Itō วางแผนสร้างหนังไตรภาค Tange Sazen (1933), Tange Sazen II: Kengeki no maki (1934) แต่ยังไม่ทันเริ่มภาคสาม เจ้าตัวกลับลาออกจากสตูดิโอ Nikkatsu จึงส่งไม้ต่อผู้กำกับ Sadao Yamanaka

Sadao Yamanaka, 貞雄山中 (1909-1938) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Kyoto, ตั้งแต่เด็กชอบโดดโรงเรียนไปรับชมภาพยนตร์ โตขึ้นเข้าศึกษา Kyoto Daiichi Commercial High School (ปัจจุบันคือ Saikyō Junior & Senior High School) สนิทสนมกับเพื่อนนักเขียน Shigeji Fujii, พออายุ 20 สมัครเข้าทำงาน Makino Productions เริ่มต้นจากเขียนบท ก่อนได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yotsuya kaidan: kôhen (1927) แต่เลื่องชื่อในฐานะ “Bad-Assistant Director” เพราะทำงานเชื่องช้า ขาดความกระตือรือล้น แถมชอบยืนหลังกล้อง ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ได้รับมอบหมาย

ความเลื่องชื่อลือชาของ Yamanaka ทำให้ไม่ใครใน Makino Productions อยากร่วมงานด้วย เลยจำใจต้องอพยพย้ายสู่ Arashi Kanjuro Productions เพราะขาดคนทำงาน เลยได้รับโอกาสกำกับหนังเงียบทุนต่ำแนว Jidaigeki (時代劇, คำเรียกแนวหนังย้อนยุคของญี่ปุ่น ที่มักมีพื้นหลัง Edo Period ค.ศ. 1603-1868) โด่งดังจากสไตล์การทำงานที่เรียบง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ผิดแผกตรงกันข้าใจากตอนเรียนรู้งานผู้ช่วยผู้กำกับโดยสิ้นเชิง! และการมาถึงของหนังพูด (Talkie) ตัดสินใจลงหลักปักฐานยัง Kyoto ตอบตกลงเข้าร่วมสตูดิโอ Nikkatsu

การเข้ามาของ Yamanaka แสดงเจตจำนงค์ต้องการนำเสนอมุมมองสดใหม่ให้กับ Tange Sazen ลบล้างภาพความเอื่อยเฉื่อยชา (nihilistic) แทรกใส่คารมขบขัน พฤติกรรมต่อล้อต่อเถียง ปากว่าตาขยิบ แต่เอ่อล้นด้วยมนุษยธรรม (พยายามปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องนักแสดงนำ Denjirō Ōkōchi เพราะเป็นตลกมาก่อน) และยังปรับปรุงสไตล์ภาพยนตร์ นำแรงบันดาลใจจาก Lady and Gent (1932) กำกับโดย Stephen Roberts

เกร็ด: 丹下左膳余話 百萬両の壺 อ่านว่า Tange Sazen Yowa: Hyakuman Ryo no Tsubo แปลว่า Tange Sazen and the Pot Worth a Million Ryo (1935) พัฒนาบทโดย Shintarô Mimura


เรื่องราวของ Genzaburo Yagyu (รับบทโดย Kunitaro Sawamura) ได้รับของขวัญแต่งงานจากพี่ชายผู้ครองแคว้น Yagyu เป็นไหเก่าแก่ใบหนึ่ง [こけ猿の壺 อ่านว่า Koketsaru no Jar แปลว่า Moss Monkey Pot] โดยไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าลวดลายบนไห วาดแผนที่ที่บรรพบุรุษเก็บซ่อนเงินล้านเอาไว้ ก่อนพบว่าภรรยานำไปขายให้กับคนรับซื้อของเก่า พวกเขาจึงต้องเริ่มภารกิจออกติดตามค้นหา

Tange Sazen (รับบทโดย Denjirō Ōkōchi) โรนินผู้มีความเกียจคร้าน ทำตัวเหมือนแมงดาเกาะผู้หญิงกิน Ofuji (รับบทโดย Shinbashi Kiyozo) ครั้งหนึ่งพลั้งพลาดปล่อยให้ลูกค้าถูกลอบสังหาร เลยจำต้องรับเลี้ยงดูแลเด็กชาย Yasu ผู้ครอบครองไหเงินล้าน แต่ใช้เป็นภาชนะสำหรับเลี้ยงปลาทอง

เหตุการณ์วุ่นๆเมื่อ Genzaburo Yagyu แอบชื่นชอบพนักงานสาวคนหนึ่งในร้านของ Ofuji จึงแวะเวียนมาใช้บริการบ่อยครั้ง เลยมีโอกาสรับรู้จัก Tange Sazen พบเห็นไหเงินล้านของเด็กชาย Yasu แต่กลับไม่เคยเอะใจอะไร จนกระทั่งวันหนึ่งภรรยาจับได้ว่าเขาแอบนอกใจ สั่งกักบริเวณ แล้วจู่ๆตระหนักว่าไหใบนั้นคือสิ่งที่ตนเองกำลังติดตามค้นหา พยายามงอนง้อ ขอโอกาส ถูกปฏิเสธหัวชนฝา … แล้วเมื่อไหร่ Genzuburo จักได้ไหใบนี้กลับคืนมา???


Denjirō Ōkōchi ชื่อจริง Masuo Ōbe (1898-1962) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Ōkōchi, Iwaya (ปัจจุบันคือ Buzen, Fukuoka) ในตระกูลแพทย์รุ่นที่ 17 บิดาเคยเป็นหมอประจำตัวไดเมียว (ตำแหน่งเจ้าเมืองที่มีความสำคัญรองลงมาจากโชกุน) แต่ความสนใจของบุตรชายคนเล็กคือการแสดง ฝึกฝนการแสดงกับ Sawada Shōjirō ณ Shinkokugeki (New National Theatre) เลื่องชื่อในในการแสดง Jidaigeki, จากนั้นเข้าร่วมสตูดิโอภาพยนตร์ Nikkatsu ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1925 โด่งดังกับบทบาท Tange Sazen และ Chūji Kunisada ผลงานเด่นๆ อาทิ The Million Ryo Pot (1935), Sanshiro Sugata (1943), Sanshiro Sugata Part II (1945), No Regrets for Our Youth (1946), Dedication of the Great Buddha (1952) ฯ

รับบท Tange Sazen โรนินตาเดียวผู้มีความเกียจคร้าน สันหลังยาว ชอบทำหน้าดุๆ ใช้คำพูดข่มขู่ แสดงปฏิกิริยาไม่พึงพอใจ แต่ทุกครั้งเวลาบอกปัดปฏิเสธอะไร กลับพบเห็นยินยอมทำตามในกาลถัดมา เรียกว่าปากไม่ตรงกับใจ มีความอ่อนไหว พร้อมให้การช่วยเหลือผู้อื่น

เอาจริงๆผมก็ไม่รับรู้ว่าผกก. Yamanaka ปรับเปลี่ยนตัวละครไปจากเดิมมากน้อยเพียงไหน (นั่นเพราะภาพยนตร์ Tange Sazen ก่อนหน้านี้ได้สูญหายไปหมดสิ้น นี่คือเรื่องเก่าแก่ที่สุดหลงเหลือถึงปัจจุบัน) แต่สำหรับ Ōkōchi ราวกับได้สวมวิญญาณ กลายเป็นตัวละครอย่างสมบูรณ์แบบ! ด้วยน้ำเสียงอันยียวน ท่าทางกวนๆ โดยเฉพาะการเบะปาก ปั้นแต่งสีหน้า พยายามทำออกมาให้ดูน่าเกรงขาม แต่กลับสร้างความตลกขบขัน คือมันชัดเจนมากๆว่าต้องเคยเป็นตลกมาก่อน เลยรับรู้จังหวะการแสดง โต้ตอบ ตกมุก ดูเป็นธรรมชาติสุดๆ

ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่า Tange Sazen สามารถถือเป็นตัวละคร Anti-Hero แรกของญี่ปุ่นได้เลยหรือเปล่า? แต่ที่แน่ๆการแสดงของ Ōkōchi ถูกอกถูกใจผกก. Akira Kurosawa ร่วมงานกัน 3-4 ครั้ง (ในผลงานยุคแรกๆของ Kurosawa) และถือเป็นต้นแบบ แม่พิมพ์ รุ่นพี่ของ Toshirô Mifune ทั้งสองมีหลายสิ่งอย่างคล้ายคลึงกันมากๆ

แซว: พบเห็นพฤติกรรมบ้าๆบอๆของ Tange Sazen ชวนให้ผมนึกถึง Gintama ยียวนกวนประสาทไม่แพ้กัน แถมหลายๆสิ่งอย่างดูแล้วก็น่าจะได้แรงบันดาลใจมาไม่น้อยเลยละ!


Shinbashi Kiyozō, 新橋 喜代三 (1903-63) นักร้อง/นักแสดง เกอิชา สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tanegashima, Kagoshima ครอบครัวเป็นร้านขายของชำ ฝึกฝนการร้องรำทำเพลงในชื่อ Yaemaru จนมีชื่อเสียงโด่งดัง ถึงขนาดเข้าตาแมวมอง NHK Radio ได้รับการติดต่อ ออกอัลบัม เซ็นสัญญา Columbia Records และแสดงภาพยนตร์ The Million Ryo Pot (1935) ฯ

รับบท Ofuji เจ้าของร้านนั่งดื่ม (มีคำเรียก Okiya หรือ Teahouse ให้บริการโดย Geisha) มีความสามารถด้านการร้องเพลงและบรรเลง Shamisen หนุ่มๆทั้งหลายต่างเคลิบเคลิ้มหลงใหลในน้ำเสียงสวรรค์ แต่ไม่ใช่สำหรับ Tange Sazen แสดงท่าทางหงุดหงิด สีหน้ารำคาญใจ ทั้งๆเธอเป็นฝ่ายเลี้ยงดูแล ให้ที่อยู่อาศัย กลับไม่เคยสาสำนึกบุญคุณ ชอบโต้ถกเถียง ปลากัดกันไม่วันเว้น ถึงอย่างนั้นเมื่อสั่งให้เขาทำอะไร แม้ปากบอกไม่ ลับหลังกลับไม่เคยปฏิเสธขัดขืน

แม้ว่า Kiyozō ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดง แต่ผกก. Yamanaka สนใจในน้ำเสียงร้อง (และบรรเลง Shamisen) พยายามพัฒนาบทให้สอดคล้องบุคลิกภาพ ผลลัพท์สามารถสร้างความประทับใจให้ผู้ชมอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะการเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ Denjirō Ōkōchi เคมีเข้าขากันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย


Kunitarō Sawamura ชื่อจริง Yūichi Katō (1905-74) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tokyo เป็นบุตรของ Denzō Takeshiba นักแสดง Kabuki ชื่อดัง ฝึกฝนการแสดงในชื่อ Sōjūrō Sawamura VII ก่อนเปลี่ยนมาเป็น Kunitarō Sawamura IV เล็งเห็นกระแสนิยมของสื่อภาพยนตร์ ตัดสินใจเข้าร่วม Makino Productions แล้วย้ายมาปักหลัก Nikkatsu ส่วนใหญ่ได้รับบทตัวประกอบ มีผลงานมากว่า 200+ เรื่อง

รับบท Genzaburo Yagyu น้องชายผู้ครองแคว้น Yagyu แต่งงานกับภรรยาเจ้าของโดโจ (dojo) ณ Kyoto ได้รับของขวัญ(แต่งงาน)ไหบรรพบุรุษ คาดคิดไม่ถึงว่าจะซุกซ่อนเงินล้าน จึงออกติดตามค้นหา จนมาพบเจอร้านของ Ofuji กลายเป็นลูกค้าขาประจำ แวะเวียนมายิงธนู ตกปลา สนิทสนมกับ Tange Sazen กระทั่งโดนภรรยาจับได้ … สุดท้ายแล้วจะพบเจอไหเงินล้านหรือไม่

เพราะมีศักดิ์เป็นน้องผู้ครองแคว้น จึงมักถูกมองข้าม ไม่ต่างจากหมาหัวเน่า เลยตัดสินใจแต่งงาน อพยพย้ายมาอยู่ Kyoto แต่ก็ยังมีชีวิตวันๆอย่างเรื่อยเปื่อย เบื่อหน่าย จนกระทั่งเรื่องวุ่นๆวายๆของไหเงินล้าน ทำให้มีโอกาสออกจากบ้าน ค้นพบเจอโลกใบใหม่ ได้กระทำสิ่งโน่นนี่นั่นตามใจ สุขฤทัยกับอิสรภาพชีวิต … จึงเลิกสนใจไหเงินล้าน เพราะถ้าพบเจอเมื่อไหร่ก็อาจสูญเสียอิสรภาพนี้ไป

สีหน้าท่าทางของ Sawamura ดูสบายๆ ผ่อนคลาย เอ้อระเหยลอยชาย ทำให้เวลาแสดงสีหน้าเคร่งเครียดจริงจัง ดูวอกแวก ลอกแลก สำแดงอาการพิรุธ อยู่ไม่เป็นสุข นั่นสร้างเสียงหัวเราะขบขัน ผู้ชมส่งกำลังใจว่าจะสามารถเอาตัวรอดผ่านสถานการณ์เลวร้ายได้หรือไม่ … เป็นอีกนักแสดงตลกที่เข้าขากับ Denjirō Ōkōchi ได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย


ถ่ายภาพโดย Jun Yasumoto, 安本淳 หนึ่งในตากล้องขาประจำผู้กำกับ Mikio Naruse (ในยุคหลังๆ) ผลงานเด่นๆ อาทิ The Million Ryo Pot (1935), Samurai I: Musashi Miyamoto (1954), Samurai II: Duel at Ichijoji Temple (1955), Daughters, Wives and a Mother (1960), The Approach of Autumn (1960), A Woman’s Place (1962), A Wanderer’s Notebook (1962), A Woman’s Life (1963), Yearning (1964) ฯ

งานภาพของหนังเน้นความเรียบง่าย (Minimalist) อาจไม่ได้สไตลิสต์เหมือน Yasujirō Ozu แต่มีหลายสิ่งละม้ายคล้ายคลึงกัน อาทิ กล้องมักไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหว ตั้งอยู่ระดับต่ำกว่าสายตา (เกือบๆจะ Tatami Shot) และส่วนใหญ่ถ่ายจากระยะไกล (Long Shot) นานๆครั้งถึงพบเห็นระยะกลางใกล้ (Medium Shot) เพื่อให้เห็นเต็มตัวนักแสดงกระทำสิ่งต่างๆ

หลายคนอาจรับรู้สึกว่าลีลาการนำเสนอของผกก. Yamanaka ดูเฉิ่มเชย ล้าหลัง ขาดสีสันทางภาพยนตร์! แต่ผมกลับมองว่ามีความเหมาะกับหนังตลกแนวนี้ (คล้ายๆ ‘French Comedy’ ของ René Clair และอิทธิพลจาก City Streets (1931), Grand Hotel (1932) ฯ) ให้อิสรภาพผู้ชมในการสังเกต จับจ้องมอง พบเห็นท่าทางแสดงออก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ดูเป็นธรรมชาติ และนักแสดงต้องมีความเข้าขา ถึงสามารถรับ-ส่ง สนทนา โต้ตอบมุกไปมา


เริ่มต้นอารัมบท ถ่ายภาพปราสาทของผู้ครองแคว้น Yagyu (やぎ แปลว่า แพะ) สังเกตมุมกล้องถ่ายติดต้นไม้ใหญ่ เพื่อแสดงถึงความมั่นคง มั่งคั่ง รวมถึงภาพวาดบนฉากกั้น มีทั้งรูปมังกร ภูมิทัศน์ญี่ปุ่น เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ สูงส่ง อำนาจล้นฟ้าดิน

ปล. ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าปราสาทที่ถ่ายทำคือ Yagyū Castle หรือเปล่า? แต่มองไกลๆดูละม้ายคล้าย Himeji Castle (1 ใน 3 ปราสาทที่งดงามที่สุดในญี่ปุ่น)

ตรงกันข้ามกับห้องพัก/ห้องรับแขกของ Genzaburo Yagyu พบเห็นภาพต้นไผ่ (อ่อนไหวปลิวลม) ทั้งยังรูปนกยูง นกกระเรียนแกะสลักไม้ สื่อถึงสถานะตัวละครที่ไม่ต่างจากนกในกรง ไร้ซึ่งอิสรภาพ แทบจะไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจ ทำอะไรๆได้ด้วยตนเอง เมื่อมีโอกาสออกไปเที่ยวเล่นภายนอก เลยติดอกติดใจ ไม่อยากอยู่บ้านสักเท่าไหร่

ปล. ผมไม่ค่อยแน่ใจว่ามีธรรมเนียมอะไรขณะรับแขก สังเกตกระถางใบใหญ่วางไว้เบื้องหน้า ก็ไม่รู้เอาไว้ทำอะไร เห็นแต่เจ้าบ้านหยิบไม้มากวนๆ วนเล่น แก้เซ็ง

หนึ่งในชั้นเชิงของบทหนัง คือการได้ยินบทสนทนาคล้ายเดิม (บางครั้งประโยคเดียวกันก็มี) แต่สลับสับเปลี่ยนผู้พูด ฟังดูเหมือน ‘Déjà Vu’ แต่โดยไม่รู้ตัวกลับสร้างความตลกขบขัน เหมือนพยายามเน้นย้ำ ตอกย้ำ พฤติการณ์มีพิรุธ ผิดสังเกต ต้องเคลือบแฝงลับลมคมในบางอย่าง

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าในญี่ปุ่นมีร้านนั่งดื่มที่เปิดให้ลูกค้าซ้อมยิงธนูด้วยฤา?? แต่สังเกตจากฝีมือของ Genzaburo Yagyu ครั้งแรกๆแทบจะไม่โดนเป้า สื่อถึงชีวิตที่ยังไร้เป้าหมาย ไม่รู้จะทำอะไรยังไง (กำลังออกติดตามค้นหาไหเงินล้าน) จนกระทั่งช่วงท้ายสามารถยิงเข้าเป้าทุกดอก เรียกว่าค้นพบสิ่งที่ตนเองใคร่สนใจ (หรือจะมองว่าได้พบเจอไหเงินล้านก็ได้เช่นกัน)

ตุ๊กตาดารุมะ (Daruma) คือตุ๊กตาล้มลุกของญี่ปุ่น ทรงกลมไม่มีแขนขา ทำจากไม้ ด้านในกลวง มักเป็นสีแดง อาจมีดวงตาข้างเดียวหรือไม่มีทั้งสองข้าง ทั้งนี้เพราะการเขียนดวงตาคือธรรมเนียมขอพรอย่างหนึ่ง ถือเป็นของนำโชค เพราะเป็นตุ๊กตาล้มลุกที่ไม่ว่าจะผลักกี่ครั้งก็สามารถกลับขึ้นมาตั้งตรงได้เสมอ จึงเป็นเครื่องหมายของความหวัง ความพยายาม ความสำเร็จ ประสบโชคดีมีชัย

ซึ่งหลังจาก Genzaburo Yagyu ยิงธนูโดนเป้าสามดอก ได้รับตุ๊กตาดารุมะกลับบ้านหนึ่งตัว ก็ถูกภรรยากักบริเวณ แต่ขณะเดียวกันก็รับรู้ว่าไหเงินล้านอยู่ในการครอบครองของผู้ใด

ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบตกปลาทองอย่างมากๆ เพราะถือเป็นสัตว์มงคล สัญลักษณ์ถึงความโชคดี มั่งคั่ง และความสามัคคี แต่ในบริบทนี้เหมือนว่า Genzaburo Yagyu จะตกอยู่ในความโชคร้าย เพราะถูกภรรยาจับได้ว่าแอบตกปลากับหญิงอื่น จึงถูกกักบริเวณ ทำให้ต้องนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง แปลกใจจริงปลาไม่กินเหยื่อ นั่งตกอยู่นานจนฉันเริ่มเบื่อ ปลาไม่กินเหยื่อน่าแปลกใจจริง

ในบรรดาการต่อล้อต่อเถียง โต้ตอบกัดกันระหว่าง Tange Sazen และ Ofuji จะมีช็อตนี้ช่วงท้ายใกล้จบที่ทำเอาผมหลุดหัวเราะลั่น แม้แค่เพียงเสี้ยววินาทีแต่มันชัดเจนว่า Ofuji จงใจยกนิ้วกลางขึ้นมาแดกดัน Tange Sazen ใครทันสังเกตย่อมตระหนักถึงชั้นเชิง ความเฉียบคมของหนัง มีมูลค่ามากยิ่งกว่าเงินล้านเสียอีกนะ!

ตัดต่อ … ไม่มีเครดิต

การดำเนินเรื่องของหนังเริ่มต้นด้วยการ ‘ส่งต่อไม้ผลัด’ โดยมีไหเงินล้านเป็นจุดศูนย์กลางความสนใจ ผู้ครองแคว้น Yagyu รับฟังเบื้องหลัง ที่มาที่ไป (ของไหเงินล้าน) มอบหมายภารกิจให้ลูกน้องออกติดตามหา เดินทางมายัง Kyoto พบเจอกับ Genzaburo แต่ภรรยากลับขายต่อให้คนรับซื้อของเก่า ซึ่งก็ได้ส่งมอบเป็นของขวัญให้เด็กชาย Yasu เอาไว้ใช้เลี้ยงปลาทอง

เรื่องราวต่อจากนี้จะปรับเปลี่ยนมุมมองนำเสนอมายัง Tange Sazen และ Genzabura แม้เป้าหมายยังคงคือการติดตามหาไหเงินล้าน แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือมิตรภาพ ผองเพื่อน และมนุษยธรรมของทั้งสอง

  • อารัมบท, เรื่องวุ่นๆของไหเงินล้าน
    • ผู้ครองแคว้น Yagyu สั่งให้ลูกน้องออกติดตามหาไหเงินล้าน
    • เดินทางมายัง Kyoto พบเจอกับ Genzaburo แต่ภรรยากลับขายต่อให้คนรับซื้อของเก่า
    • คนรับซื้อของเก่าส่งมอบเป็นของขวัญให้เด็กชาย Yasu เอาไว้ใช้เลี้ยงปลาทอง
  • เรื่องวุ่นๆของ Tange Sazen
    • แนะนำตัวละคร Tange Sazen และ Ofuji เจ้าของร้านนั่งดื่ม
    • ลูกค้าในร้านมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง Tange Sazen จึงเข้ามาห้ามปราม
    • Tange Sazen แม้ยินยอมเดินไปส่งลูกค้า แต่กลับถูกนักเลงที่มีเรื่องก่อนหน้ากระทำร้ายเสียชีวิต
    • เช้าวันถัดมา Genzaburo ระหว่างออกค้นหาไหเงินล้าน แวะเข้ามาในร้านนั่งดื่มของ Ofuji
    • Tange Sazen และ Ofuji ออกติดตามหา Yasu เพื่อแจ้งข่าวการเสียชีวิต ก่อนตัดสินใจรับเลี้ยงเด็กชาย
  • ใกล้แค่เอื้อม แต่ไกลเกินไขว่คว้า
    • แทนที่ Genzaburo จะออกติดตามหาไหเงินล้าน วันๆกลับมาเที่ยวเตร่ยังร้านนั่งดื่ม จนมีความสนิทสนมกับ Tange Sazen พากันไปตกปลาทองให้เด็กชาย Yasu
    • ภรรยาของ Genzaburo ค้นพบสามีแอบไปตกปลากับหญิงสาว จึงสั่งกักบริเวณ ไม่อนุญาตให้ออกไปไหน ทำให้ได้ค้นพบว่าไหของเด็กชาย Yasu คือสิ่งที่ตนเองกำลังค้นหา
    • ลูกน้องของ Genzaburo จึงเริ่มออกค้นหายังสถานที่ต่างๆ ป่าวประกาศรับซื้อไหราคาสูง
  • เรื่องวุ่นๆของเด็กชาย Yasu
    • เด็กชาย Yasu ละเล่นกับเพื่อน ได้เงินมาไม่น้อย แต่ถูก Ofuji สั่งให้นำไปคืน กลับโดนโจรดักปล้นกลางทาง
    • บิดาของเพื่อนคนนั้นเดินทางมาทวงเงิน ปฏิเสธรับฟังข้อแก้ต่างใดๆ
    • Tange Sazen เลยไปท้าดวลโดโจ บังเอิญพบกับ Genzaburo ยินยอมจ่ายค่าเสียหาย
    • เรื่องวุ่นวายก็จบลงเมื่อ Genzaburo สามารถออกจากบ้านได้อีกครั้ง แต่แทนที่จะทวงคืนไหเงินล้าน กลับฝากฝังไว้กับเด็กชาย Yasu เพื่อตนเองจะได้ใช้เป็นข้ออ้างออกจากบ้านครั้งต่อๆไป

เพื่อเสริมเติมแต่งความตลกขบขัน ลีลาการเปลี่ยนฉาก (Film Transition) ยังเต็มไปด้วยลวดลีลา เลื่อนซ้าย-เลื่อนขวา เฉียงขึ้น-เฉียงลง (คล้ายๆแบบแฟนไชร์ Star Wars) นี่เป็นการหยอกล้อเล่นกับผู้ชม … แนวคิดดังกล่าวต้องถือว่าล้ำยุคสมัยทีเดียว

ปล. ใครรับชมหนังแล้วน่าจะรับรู้สึกว่าเหมือนมีฉากหนึ่งขาดหายไป Tange Sazen ต่อสู้กับพวกมาเฟีย ก่อนไปอุ้มพาเด็กชาย Yasu (ที่กำลังต่อแถวรอขายไหเงินล้าน) กลับมาบ้าน, นั่นเพราะฟีล์มหนังพบเจอหลังสงคราม ถูก(มาเฟีย)กองเซนเซอร์หั่นออกหรือยังไงซักอย่าง ฟุตเทจหลงเหลือมีเพียงภาพ 20 วินาทีแต่ไร้เสียงประกอบ สตูดิโอ Nikkatsu เลยไม่ได้ทำการแทรกใส่กลับคืนหนัง (แต่คงมีอยู่ใน Delete Scene กระมัง)


เพลงประกอบโดย Gorô Nishi, 西悟朗 มีผลงานภาพยนตร์กว่า 80+ เรื่อง อาทิ The Million Ryo Pot (1935), Priest of Darkness (1936), Vendetta of a Samurai (1952) ฯ

ความตั้งใจแรกเริ่มของผกก. Yamanaka ครุ่นคิดจะนำบทเพลงคลาสสิกร่วมสมัยอย่าง Mussorgsky: Night on Bald Mountain มาเรียบเรียงดัดแปลง บรรเลงโดยเครื่องดนตรีพื้นบ้านญี่ปุ่น เพื่อให้สอดคล้องเข้ากับการตีความตัวละครใหม่ แต่ถูกคัดค้านหัวชนฝาโดยผู้แต่งต้นฉบับ Fubō Hayashi แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง “It doesn’t match the image of Tange Sazen.”

แต่ถึงอย่างนั้นเพลงประกอบหนังก็ได้ทำการทดลองแนวคิดใหม่ๆ ไม่ใช่แค่ ‘diegetic music’ เสียงขับร้องของ Shinbashi Kiyozō และบรรเลง Shamisen แต่ยัง ‘non-diegetic music’ คลอประกอบพื้นหลังเพื่อสร้างบรรยากาศให้กับเรื่องราว และหลายครั้งดังขึ้นระหว่างตัวละครกำลังพูดคุยสนทนา

หลายคนอาจรู้สึกว่าเพลงประกอบฟังดูขาดๆเกินๆ เดี๋ยวดังเดี๋ยวค่อย แถมบางครั้งยังกลบเกลื่อนบทสนทนา? คือเราต้องเข้าใจก่อนว่า ช่วงต้นทศวรรษ 30s หนังเงียบยังได้ความนิยมในญี่ปุ่นมากกว่าหนังพูด (Talkie) นี่คือช่วงเวลาทดลองผิดลองถูก การจะบันทึกเสียง (Sound Record) และผสมเสียง (Sound Mixed) ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด! … ยุคสมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีที่จะทำการผสมเสียงสนทนาและเพลงประกอบ วิธีการคือต้องเข้าห้องอัดพร้อมกันทั้งนักดนตรีและนักแสดง(สำหรับพากย์เสียง) มันจึงไม่สามารถควบคุมระดับเสียงของกันและกัน

ถ้าเราสามารถมองข้ามข้อจำกัดเหล่านั้น จะพบว่าบทเพลงบรรเลงของ Nishi มีความไพเราะเพราะพริ้ง สร้างมนต์เสน่ห์ชวนให้หลงใหล กลิ่นอาย ‘Impressionist’ มักทำการหยอกล้อเล่น ท่วงทำนองเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ฟังแล้วชวนอมยิ้ม รู้สึกอิ่มเอมหฤทัย … ยุคสมัยนั้นทำออกมาได้ขนาดนี้ต้องถือว่าน่าประทับใจ

หลายครั้งบทเพลงยังมีลักษณะ ‘เพลงประกอบภาพ’ ทำหน้าที่บรรยายเหตุการณ์ โดยไม่ต้องใช้เสียงพูดอธิบายเรื่องราว/ความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร, ผมบังเอิญพบเจอคลิประหว่าง Genzaburo Yagyu ถูกกักบริเวณ ไปไหนไม่ได้เลยจำต้องนั่งตกปลาอยู่ริมบ่อแก้เซ็ง (โดยมีภรรยาจับจ้อง ยืนคุมอยู่ไม่ห่างไกล) ใช้เพียงบทเพลงพรรณาทุกสิ่งอย่างของซีเควนซ์นี้ได้อย่างงดงาม

ไหเงินล้าน ใครต่อใครย่อมครุ่นคิดว่ามีความสำคัญ สามารถนำไปใช้ทำอะไรๆ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว แว่นแคว้น ประเทศชาติ แต่สำหรับบางคนมันอาจไม่ได้มีความสลักสำคัญสักเท่าไหร่ แค่เพียงวัตถุภายนอก สิ่งข้าวของนอกกาย ได้ก็ดี ไม่มีก็ไม่เห็นเป็นไร และต่อให้มีโอกาสครอบครอง ย่อมมองไม่เห็นคุณค่าอันใด

สิ่งสำคัญที่สุดคือความรู้สึกพึงพอใจ Genzaburo Yagyu สามารถใช้เป็นข้ออ้างออกจากบ้าน ได้ทำในสิ่งสนุกสนาน เพลิดเพลินหฤทัย แถมมีโอกาสรับรู้จักเพื่อนใหม่ ค้นพบเป้าหมายชีวิต (ยิงธนูโดนเป้า, ตกปลาทองได้สำเร็จ) เงินทองก็แค่สิ่งของนอกกาย ไม่มีความจำเป็นรีบร้อนอันใด

แม้เรื่องราวหลักของหนังอาจไม่มีสาระข้อคิด เน้นเพียงความบันเทิง สร้างเสียงหัวเราะขบขัน แต่กลับมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่สำแดงมนุษยธรรม ทำให้ผู้ชมบังเกิดความอิ่มอกอิ่มใจ สุขเกษมเปรมฤทัย ยกตัวอย่าง

  • อุปนิสัยของ Tange Sazen แม้ปากบอกไม่อยากทำโน่นนี่นั่น แต่ลับหลังก็พร้อมให้ความช่วยเหลือพวกพ้อง … ปากว่าตาขยิบ
  • เด็กชาย Yasu สูญเสียบิดา ได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูโดย Ofuji (และ Tange Sazen) … แสดงถึงความมีเมตตาธรรม
  • เด็กชาย Yasu รับรู้สึกผิดที่ทำเงินสูญหาย เลยตั้งใจนำไหไปแลกเงิน แม้อาจได้มาไม่เท่าไหร่ แต่ก็แสดงถึงความเสียสละ รู้สำนึกบุญคุณคน
  • มิตรภาพผองเพื่อนระหว่าง Genzaburo Yagyu และ Tange Sazen เมื่อพบเจอในโดโจ ยินยอมเล่นละคอนตบตา รักษาภาพลักษณ์ ให้ความช่วยเหลือเวลาตกทุกข์ได้ยาก … มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน

สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ทำให้ Sazen Tange and the Pot Worth a Million Ryo (1935) กลายเป็นภาพยนตร์อันทรงคุณค่า! แม้มองภายนอกอาจไม่ได้มีราคาทางศิลปะสักเท่าไหร่ แต่กลับเต็มไปมูลค่ามหาศาลทางจิตใจ เอ่อล้นด้วยมนุษยธรรม รับชมแล้วรู้สึกอิ่มเอมหฤทัย

สำหรับผกก. Yamanaka เรื่องราวของ Sazen Tange and the Pot Worth a Million Ryo (1935) อาจไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรโดยตรง แต่การนำเสนอมุมมองสดใหม่ให้กับตัวละคร Sazen Tange คือความพยายามปรับเปลี่ยนโลกทัศน์วงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นสู่ยุคสมัยใหม่ … ถือเป็นก้าวย่างแรกๆสู่ยุคหนังพูด (Talkie) ในประเทศญี่ปุ่น

เกร็ด: แม้ว่า Sazen Tange and the Pot Worth a Million Ryo (1935) จะไม่ใช่หนังโปรดของผกก. Hayao Miyazaki แต่แนวคิดการปรับปรุงตัวละคร Sazen Tange ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์อนิเมชั่น The Castle of Cagliostro (1979) [ที่ผกก. Miyazaki ได้นำเสนอมุมมองสดใหม่ให้กับ Lupin the Third]


เสียงตอบรับ Sazen Tange ฉบับของผกก. Sadao Yamanaka ถือว่าดีล้นหลาม! สตูดิโอ Nikkatsu พยายามโน้มน้าวให้สร้างภาคต่อแต่ได้รับคำตอบปฏิเสธ ส่งไม้ต่อให้ Kunio Watanabe กำกับต่ออีกห้าภาค ก่อนเปลี่ยนนักแสดง สลับเพศหญิง รวมถึงซีรีย์โทรทัศน์ ฯลฯ ผมขี้เกียจนับว่าทั้งหมดกี่มีเรื่อง แต่ครั้งล่าสุด Tange Sazen: Hyakuman ryō no tsubo (2004) กำกับโดย Toshio Tsuda, นำแสดงโดย Etsushi Toyokawa เป็นความพยายามสร้างใหม่ (Remake) ฉบับของผกก. Yamanaka แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนสามารถก้าวข้ามผ่านความยิ่งใหญ่

Sazen Tange and the Pot Worth a Million Ryo (1935) universally considered the best of all the Tange Sazen lot.

นักวิจารณ์ Mark Schilling จากหนังสือพิมพ์ The Japan Times

การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของ Sadao Yamanaka ทำให้ผลงานส่วนใหญ่ถูกทอดทิ้ง สูญหายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งได้รับการค้นพบฟีล์ม 16mm ต่อมาถึงค่อยมีการฟื้นฟู ซ่อมแซม ล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2020 (ในโอกาสครบรอบ 110 ปี สตูดิโอ Nikkatsu) ทั้งสามเรื่องหลงเหลือผ่านการบูรณะ 4K แต่คุณภาพยังห่างไกลความสมบูรณ์แบบ

ส่วนตัวมีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เบิกบานด้วยรอยยิ้มตลอดการรับชม หลงใหลในสไตล์ผกก. Sadao Yamanaka มีความเรียบง่าย แต่เรื่องราวเข้มข้น สลับซับซ้อน จับพลัดจับพลู ชิบหายวายป่วน เป็นความบันเทิงแฝงสาระข้อคิดที่มีชั้นเชิง สมควรค่าแก่การ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

สิ่งที่ทำให้ผมหลงใหล โคตรๆประทับใจ คือความซ้ำซากจำเจ (cliché) ของเรื่องราว ผู้ชมสามารถคาดเดาสิ่งต่างๆได้ไม่ยากเย็น แต่นั่นกลับเป็นความจงใจเพื่อทำการเสียดสี ล้อเลียน สร้างความตลกขบขัน นำเสนอออกมาได้อย่างมีร้อยเล่ห์ ชั้นเชิง และโดยเฉพาะความมีมนุษยธรรมของตัวละคร สร้างรอยยิ้ม อิ่มเอมใจ รับชมแล้วสุขหฤทัย

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | The Million Ryo Pot ไหเงินล้านอาจมีมูลค่ามหาศาล แต่สำหรับ Sazen Tange เทียบไม่ได้กับมิตรภาพผองเพื่อน ท่ามกลางความชิบหายวายป่วนสไตล์ Sadao Yamanaka
คุณภาพ | บัทิณ์
ส่วนตัว | สุขหฤทัย

3
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
2 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
Oazsarujณ.คอน ลับแล Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazsaruj
Guest
Oazsaruj

หนังญี่ปุ่นถ้าไม่สูญหายไปช่วงเวลานั้นคงยิ่งใหญ่ไม่แพ้โซเวียต หรือ อเมริกา อย่าง A Page of Madness ด้านเทคนิคล้ำยิ่งกว่า Un Chien Andalou แต่มาเจอช้า และ ถ้าพูดกันตามตรงผมรู้สึกว่ายุคนั้นหนังญี่ปุ่นระดับ Masterpiece มีเยอะพอๆกับ อเมริกา ในแง่หนังดราม่าของอเมริกาน่าจะสู้ญี่ปุ่นไม่ได้เลย ณ ตอนนั้น ในแง่ความล้ำและความลึกซึ้งของหนังญี่ปุ่นในตอนนี้มันเทียบยุค 50s-60s ไม่ได้เลย ไม่ค่อยมีอะไรใหม่ๆมาให้ว้าว

%d bloggers like this: