Swan Lake

Tchaikovsky: Swan Lake

หนึ่งในการแสดง Ballet ที่โด่งดังที่สุดในโลก บทเพลง Swan Lake Op. 20 ประพันธ์โดย Pyotr Ilyich Tchaikovsky ช่วงระหว่างปี 1875 – 1876 คุณไม่จำเป็นต้องชอบ Ballet ก็สามารถชื่นชอบความไพเราะของบทเพลงนี้ได้

ขอเล่าเรื่องย่อของ Ballet นี้สักหน่อยแล้วกัน เป็นเรื่องราวของเจ้าหญิงชื่อ Odette ที่ถูกสาปให้กลายร่างเป็นหงส์ในตอนกลางวัน และเป็นมนุษย์ในตอนกลางคืน เธอได้ตกหลุมรักเจ้าชายชื่อ Siegfried ที่มาล่าหงส์และได้เห็นความจริงเข้า เจ้าชายตั้งใจสารภาพรักต่อเธอ แต่กลับถูกพ่อมดที่สาป Odette หลอกให้สารภาพรักผิดคน (สารภาพกับ Black Swan) ตอนจบเจ้าชายไปสู้กับพ่อมดเพื่อล้างคำสาปแต่ไม่สำเร็จถูกฆ่าตาย เจ้าหญิงพอรู้ข่าวก็เลยตรอมใจฆ่าตัวตายตาม

Pyotr Ilyich Tchaikovsky เป็นคีตกวีชาวรัสเซีย เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ปี 1840 ในครอบครัวยากจน ได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยดนตรีแห่งนคร St.Petersberg ภายใต้การดูแลของ Anton Rubinstein จากนั้นได้เป็นครูสอนที่ Moscow และได้รับโอกาสประพันธ์ Symphony ชิ้นแรก Symphony No. 1 in G minor, Winter Daydreams (ความฝันในเหมันตฤดู) Tchaikovsky เสียชีวิตในปี 1893 ด้วยอหิวาตกโรคแต่บางกระแสกล่าวว่าเขาถูกบังคับให้ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย จากข้อหารักร่วมเพศ

Tchaikovsky เป็นคีตกวีในช่วงปลายยุค Romantic บทเพลงของเขาถือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างดนตรีตะวันตก (Western) กับดนตรี Russia ด้วยการนำเสนอแบบร่วมสมัย เพราะเขาเป็นคีตกวี Russia คนแรกที่ได้ไปปรากฏตัวเป็น guest conductor ในการแสดงที่ยุโรปและอเมริกา ซึ่งการกำกับวงดนตรีของเขาได้รับคำชมจนมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เป็นการเปิดประตูให้กับคีตกวีชาว Russia คนอื่นๆได้ทำเป็นแบบอย่าง

จุดเริ่มต้น Swan Lake ของ Tchaikovsky เขาได้เขียนเพลงประกอบ Ballet ชื่อ The Lake of the Swans ขึ้นเมื่อปี 1871 ซึ่งมีท่อน Swan Theme ที่เป็นที่รู้จักอยู่ในนั้นด้วย เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1875 Vladimir Petrovich Begichev เจ้าของ Moscow Imperial Theatresได้ขอซื้อเพลงชุดนี้และไปว่าจ้าง Julius Reisinger ชาว Czech ให้ออกแบบท่าเต้นเพื่อการแสดง Ballet ในขั้นตอนการออกแบบท่าเต้นนั้น จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงบทเพลงเพื่อให้สอดคล้อง เข้ากับท่าเต้นที่เกิดขึ้น ซึ่ง Tchaikovsky เหมือนจะไม่ค่อยอยากร่วมงานกับ Reisinger นัก (คงเพราะต่างคนชอบที่จะทำงานคนเดียวมากกว่า) และ Tchaikovsky ตอนนั้นกำลังจะทำ Opera เรื่องหนึ่งอยู่ด้วย จึงทำแบบรีบเร่ง ทำให้มีการแก้ไขหลายครั้ง และเวอร์ชั่นนั้นมีหลายเพลงที่ไม่เข้ากับการแสดง Ballet

สำหรับเนื้อเรื่องของ Swan Lake มี 2 แหล่งกำเนิดที่ไม่รู้ว่าเรื่องไหนเริ่มขึ้นก่อน
1)ดัดแปลงมาจากเรื่องราวของนักเขียนชาว Germany ชื่อ Johann Karl August Musäus ชื่อเรื่อง”Der geraubte Schleier” (The Stolen Veil)
2)มาจากเรื่องเล่าพื้นบ้านของ Russia (Russian folktale) เรื่อง The White Duck

ตัวละคร Prince Siegfried ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตจริงของ Bavarian King Ludwig II ที่ได้ฉายาว่า Swan King เป็นกษัตรย์ที่มีความชื่นชอบหงส์อย่างมาก

Ballet: Swan Lake แบ่งออกเป็น 4 องก์ (Act) จัดแสดงรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปี 1877 ที่โรงละคร Bolshoi Ballet ได้รับเสียงตอบรับที่แย่ แต่ยังสามารถเปิดการแสดงต่อไปได้ ผมไม่แน่ใจเวอร์ชั่นที่เราได้ฟังกันในปัจจุบันเป็น original ที่ Tchaikovsky ประพันธ์หรือไม่ หรือเป็นเวอร์ชั่นที่ Riccardo Drigo ได้ทำการปรับปรุงจากต้นฉบับในปี 1895 ซึ่งเวอร์ชั่นนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก และทำให้ Ballet: Swan Lake เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง

มีนัก Ballet ชาว Russia คนหนึ่ง Fyodor Lopukhov เรียก Swan Lake ว่าเป็น ‘National Ballet’ เพราะ ภาพของหงส์เป็นตัวแทนความศรัทธาในรักของคน Russia “both the plot of Swan Lake, the image of the Swan and the very idea of a faithful love are essentially Russian.”

สำหรับ Swan Lake Theme ที่ได้ยินกันติดหูนั้น นำจาก Swan Lake Op. 20, Act II: No. 14, Scene: Moderato

ที่ผมเลือกรีวิว Swan Lake ไม่ได้ตั้งใจจะพูดถึง Ballet นะครับ เพราะผมดู Ballet ไม่เป็น ที่อยากเล่าให้ฟังก็คืออิทธิพลของเพลงนี้ต่อตัวผม และพูดถึงหนังที่ใส่การแสดงนี้เข้าไป เชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้จัก The Red Shoes (1948), Black Swan (2010) อนิเมะซีรีย์เรื่อง Princess Tutu (2002) 3 เรื่องนี้ได้ใส่การแสดง Ballet: Swan Lake เข้าไปด้วย

ผมรู้จักเพลงนี้ครั้งแรก ไม่ใช่ได้ยินมา แต่เป็นได้เรียนและเล่นเปียโน หนังสือเรียน Piano Pieces for Children ถ้าจำไม่ผิดอยู่ระดับ 2 ใครที่เรียนเปียโนอย่างน้อย 3-4 ปีน่าจะมีโอกาสได้เล่นเพลงนี้แน่ๆ เป็นเพลงที่ไม่ง่ายและไม่ยากเกินไป ไม่ยาวเท่าไหร่ด้วย แต่การจะเล่นให้เพราะนั้นไม่ง่าย เพราะมันต้องใช้เทคนิคบางอย่าง และใช้เท้ากดด้วย ผมไม่คิดว่าตัวเองเล่นเพลงนี้ได้อย่างที่มันควรเป็นเลยนะครับ ปัจจุบันก็ไม่ได้เล่นมานานมากแล้ว ไม่คิดว่าถ้ากลับไปเล่นจะเล่นได้ดั่งใจเหมือนสมัยเด็กๆ

ตอนที่ผมเริ่มเล่นเพลงนี้ ก็ไม่ได้มีความชื่นชอบเสียเท่าไหร่ แต่ครูที่สอนผมบอกว่า นี่เป็นเพลงที่เพราะมากๆ เป็นเพลงโปรดของเธอด้วย … ผมเล่นจบไปโดยไม่มีความประทับใจอะไรเป็นพิเศษ หลายปีผ่านไป เพื่อนของผมคนหนึ่งเล่นเพลงนี้ให้ฟัง ตอนนั้นรู้สึกคุ้นๆเหมือนว่าเราก็เคยเล่นเพลงนี้นี่หว่า เพื่อนผมบอกว่านี่ก็เป็นเพลงโปรดของมัน … เอะ! ถึงจุดนี้ผมเริ่มคิดแล้ว เพลงนี้มันต้องมีอะไรสักอย่างแน่ๆ ถึงทำให้อย่างน้อย 2 คนที่ผมรู้จัก ชอบเพลงนี้ จึงเริ่มศึกษาค้นคว้าหาดู เอาเพลงใส่ MP3 ฟังซ้ำๆอยู่หลายรอบ ก็ไม่เห็นมันจะเพราะตรงไหน คงเพราะเวอร์ชั่นที่ผมฟังเป็นเปียโนล้วนๆ (ไม่รู้มาก่อนว่าเพลงนี้ประพันธ์ขึ้นเพื่อ Ballet) จนกระทั่งผมไปได้ยินเวอร์ชั่น Orchresta ที่เริ่มด้วยเสียง Oboe นั่นแหละครับที่ทำให้ผมหลงรักเพลงนี้ขึ้นมาทันที

ถ้าใครตามอ่านรีวิว music ของผมมาเรื่อยๆ จะรู้ว่าผมชอบ Rachmaninoff มาก โดยเฉพาะ Piano Concerto No.2 Op.18 เพลงนี้เปรียบเหมือนกับชีวิต ที่ค่อยๆไต่เต้าอารมณ์ ความรู้สึกขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดด้วยการประสานเสียงทุกเครื่องดนตรีได้อย่างทรงพลัง Swan Lake ให้ความรู้สึกเดียวกันเลย มีช่วงหนึ่งของ Act 2 เริ่มต้นด้วยเสียง Oboe เป็นตัวแทนของ Swan ฝูงหงส์ที่กำลังเล่นน้ำและโบยบิน จากนั้นเครื่องดนตรีจะประสานเสียงบรรเลงพร้อมกันขึ้นมา สร้างบรรยากาศของการตื่นขึ้นอันทรงพลัง กลางวันเปลี่ยนเป็นกลางคืน หงส์กลายร่างเป็นเจ้าหญิง เจ้าชายได้พบความจริง ความรู้สึกเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งตอน Act 4 ใกล้จบ มันราวกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างจากทั่วโลกทุกหนทุกแห่ง ได้มารวมตัวกันเพื่อไปถึงจุดสูงสุดแห่งอารมณ์ มันคือตอนที่เจ้าชายสู้กับพ่อมดจนตัวตาย และเจ้าหญิงพอรู้เข้าก็ (ใน ballet ก็หมุนๆๆๆ) แล้วตกหน้าผาตายตาม นั่นแหละครับคือที่สุดของอารมณ์ ผมฟังเพลงนี้หัวจะหมุนๆ ร่างกายเหมือนจะลอยได้ หัวใจเต้นราวกับจะระเบิดออกมา มันคือความเต็มอิ่มของอารมณ์ ฟังจบแล้วไม่อยากทำอะไรต่อเลย

พูดถึง Swan Lake ก็ต้องพูดถึง Black Swan นำแสดงโดย Natalie Portman ผมชอบการแสดงของเธอนะ ไม่ว่าแท้จริงแล้วเธอจะเต้นเองหรือไม่ก็เถอะ แต่ความลึกซึ้งสวยงามของหนังคือการวิเคราะห์เพื่อให้เข้าถึงจิตใจของตัวละคร ในบรรดาหนังแนว Ballet ด้วยกัน Black Swan อาจจะสู้ The Red Shoes ไม่ได้เลย แต่บทความนี้พูดถึง Swan Lake นะครับ ใน The Red Shoes การแสดง Swan Lake เป็นแค่ส่วนเล็กๆเท่านั้น ผมได้ยินว่าปกติแล้ว Ballet นี้ นักแสดงที่เป็น Black Swan กับ White Swan มักจะเป็นคนละคนกัน เพราะมันมีองก์ที่ทั้ง 2 จะต้องเต้นร่วมฉากเดียวกัน ซึ่งจริงๆทั้งสองคือตัวละครเดียวกันแหละ Portman น่าจะเป็นนักแสดงคนเดียว (ที่ผมรู้จัก) ที่สามารถแสดงและตีความทั้ง Black และ White ออกมาได้อย่างลึกซึ้งมากๆ คงเพราะเธอเรียนจบสาขาจิตวิทยาในมหาลัยมาด้วยนะครับ จึงสามารถวิเคราะห์ตัวละครนี้ออกมาได้สมจริงสุดๆ

Princess Tutu เชื่อว่าน้อยคนที่จะเคยได้ยินชื่อ ส่วนคนที่เคยได้ยินอาจคิดว่านี่เป็นอนิเมะแนว Magical Girl ธรรมดาๆทั่วๆไป สิ่งที่ผมชอบในอนิเมะเรื่องนี้คือ การใช้ Ballet เพื่อแก้อุปสรรค ปัญหาที่เกิดขึ้น ผมว่ามันประหลาดดีนะ มีแนวคิดที่ไม่ธรรมดาเลย แม้โดยรวมอนิเมะเรื่องนี้จะไม่สนุกเท่าไหร่ ผมก็ทนดูไม่จบเพราะเรื่องราวมัน…ไปเสียหน่อย แต่เรื่องราวก็แฝงข้อคิดบางอย่างที่น่าสนใจทีเดียว

ใครยังไม่เคยฟังเพลงนี้ ผมแนะนำให้ไปดูหนังเรื่อง Black Swan ก่อนเลยนะครับ ชอบไม่ชอบค่อยว่ากัน ถ้าจะหาดูการแสดง Ballet ในไทยหายากมากๆอยู่ นานๆผมจะเห็นมีเปิดการแสดงใน ThaiTicketMajor หรือถ้าหาไม่ได้ก็คลิก Youtube หาดูเอาเองเลยนะครับ มีให้ชมเยอะเลย ผมชอบฟังอย่างเดียว ไม่ชอบดู Ballet เท่าไหร่ และแนะนำถ้าใครมีลูกที่เรียนดนตรี บอกให้เขาหัดเล่นเพลงนี้นะครับ เวลาผมได้ยินเพลงนี้ทีไร จะเกิดอาการคันไม้คันมืออยากเล่นมันทุกที

TAGLINE | “ฟังแล้วราวกับจะโบยบินได้เหมือนหงส์ Swan Lake ประพันธ์โดย Pyotr Ilyich Tchaikovsky ถึงจะไม่ได้ชื่นชอบ Ballet แต่ก็สามารถชื่นชมบทเพลงนี้ได้”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE 

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: