The Nutcracker

The Nutcracker

Tchaikovsky: The Nutcracker

บัลเลต์ความยาว 2 องก์ ผลงานประพันธ์ของ Pyotr Ilyich Tchaikovsky ดัดแปลงจากเรื่องสั้น The Nutcracker and the Mouse King (1816) ของ E.T.A. Hoffmann เมื่อเด็กหญิงพบเจอเจ้าชายที่ถูกสาปให้เป็นเปลือกลูกนัท กระเทาะกลับออกมามีชีวิตต่อสู้กับราชาหนู และออกผจญภัยในอาณาจักรของเล่น

เท่าที่ผมอ่านเรื่องย่อคร่าวๆของ The Nutcracker and the Four Realms (2018) มีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่นำจาก The Nutcracker คือขณะท่องไปแค่อาณาจักรของเล่น ของเทพธิดาขนมหวาน (Sugar Plum Fairy) ส่วนภาพยนตร์จากชื่อบ่งบอกมีถึง 4 โลก (ดินแดนเกล็ดหิมะ, ดินแดนดอกไม้, ดินแดนของหวาน และดินแดนที่สี่) คงไม่ถือเป็นการสปอยเท่าไหร่สำหรับคนตั้งหน้าตั้งตารอชม

Nussknacker und Mausekönig (1816) เรื่องสั้นผลงานการประพันธ์ของ Ernst Theodor Amadeus Hoffmann (1776 – 1882) นักเขียนชื่อดังสัญชาติเยอรมัน เลื่องลือชาในแนว Fantasy, Gothic Horroy ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Die Abenteuer der Silvester-Nacht (1814) The Sandman (1816), Rat Krespel (1819) [สามเรื่องแรกกลายมาเป็นบัลเล่ต์ Offenbach: The Tales of Hoffmann (1881)], Mademoiselle de Scuderi (1819) ฯ

เรื่องราวเกิดขึ้นในค่ำคืนวันคริสต์มาสอีฟ เด็กหญิงอายุ 7 ขวบ Marie Stahlbaum ได้รับของขวัญคือ The Nutcracker ในความเชื่อของคนเยอรมันเป็นสิ่งช่วยขจัดภัยร้าย สัญลักษณ์แห่งความโชคดี แต่ในค่ำคืนนั้นเจ้าหุ่นกระบอกกลับกลายมามีชีวิต กระเทาะเปลือกนัทออกมาต่อสู้กับราชาหนู เธอให้ความช่วยเหลือจนสามารถเอาชนะมาได้ ชักชวนนำทางพาไปยังอาณาจักรของเล่น พบเห็นการแสดงระบำนางฟ้าขนมหวาน, ระบำช็อคโกแลต (สเปน), ระบำกาแฟ (อาหรับ), ระบำน้ำชา (จีน), ระบำดอกไม้ เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ

เกร็ด: Nutcracker คือคีมสำหรับบีบลูกนัตให้เปลือกแตกออก จะได้แกะเนื้อในออกมากินได้ง่ายๆ เป็นอาหารขบเคี้ยวในเทศกาลวันคริสต์มาส ของชาวยุโรป ด้วยความนิยมอย่างสูง จึงมีคนคิดประดิษฐ์หุ่น/ตุ๊กตาผู้ชายแต่งชุดทหาร สามารถใช้ปากแทบคีมหนีบได้ เลยกลายเป็นที่มาที่ไปของหุ่น The Nutcracker

Pyotr Ilyich Tchaikovsky (1840 – 1893) คีตกวีสัญชาติรัสเซีย ในยุคสมัย Romantic Period เกิดที่ Votkinsk, Russian Empire ในครอบครัวฐานะดี พ่อเป็นทหารยศพันโทและวิศวกรรมเหมืองแร่เหล็ก Kamsko-Votkinsk, ด้วยความสนใจในดนตรีแต่สมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนเปิดสอน จนกระทั่งปี 1862 กลายเป็นนักเรียนรุ่นแรกของ Saint Petersburg Conservatory ลูกศิษย์เอกของ Anton Rubinstein ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลดนตรีจากชาติตะวันตก/ยุโรปมาเต็มๆ หลังเรียนจบทำงานในรัสเซียจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่พอออกทัวร์ยุโรป อิตาลี อเมริกา กลายเป็นคีตกวีเลื่องชื่อร่วมสมัยเดียวกับ Johannes Brahms, Antonín Dvořák ได้รับยกย่อง ‘สะพานเชื่อมระหว่างดนตรีตะวันตกกับรัสเซีย’

เกร็ด: ว่ากันว่า Tchaikovsky เป็นคนรักร่วมเพศ (ที่พยายามปกปิด เพราะสมัยนั้นยังยินยอมรับกันไม่ได้) หลายๆผลงานของเขาจึงค่อนข้างแอบแฝงซ่อนเร้นเรื่องราว/อารมณ์บางสิ่งอย่างไว้ ครุ่นคิดไปๆมาๆ The Nutcracker ก็เฉกเช่นเดียวกันเลยนะ ซ่อนตัวตนแท้จริงไว้ในเปลือกนัท

สำหรับ The Nutcracker จุดเริ่มต้นเกิดจากความสำเร็จของบัลเล่ต์ The Sleeping Beauty (1890) ทำให้ Ivan Vsevolozhsky ผู้อำนวยการโรงละคร Imperial Theatres มอบหมาย Tchaikovsky ตระเตรียมผลงานถัดไป อยากได้โปรแกรมควบ Opera + Ballet (เหมือนฉายหนังควบ) โดยในส่วนของโอเปร่า เลือกเอา Iolanta, Op. 69 (1892) ผลงานที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ของ Tchaikovsky นำมาแสดงซ้ำเพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ในส่วนของบัลเล่ต์ ร่วมงานกับ Marius Petipa (1818 – 1910) นักเต้น/ออกแบบท่าบัลเล่ต์ สัญชาติ French-Russian [เคยร่วมงานกันเมื่อ The Sleeping Beauty] และ Lev Ivanov (1834 – 1901) ผู้เป็น Second Balletmaster ของ Imperial Ballet เข้ามาช่วยเพราะ Petipa ล้มป่วยไม่สบายพอดี (บ้างว่าท่าเต้นทั้งหมด Ivanov เป็นผู้คิดค้นขึ้น จากคำแนะนำของ Petipa ที่เต้นไม่ไหวแล้ว)

Petipa เป็นผู้เลือก The Story of a Nutcracker (1844) ฉบับปรับปรุงของ Alexandre Dumas (1802 – 1870) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส ที่มีผลงานดังอย่าง The Three Musketeers (1844), The Count of Monte Cristo (1844–1845) ฯ เพื่อสร้างสรรค์กลายเป็นผลงานบัลเลต์ แม้นั่นจะเป็นสิ่งขัดต่อประสงค์ของ Tchaikovsky โดยสิ้นเชิง (คือพี่แกเป็นนักแต่งเพลงคลาสสิก ไม่ได้ชื่นชอบบัลเลต์เท่าไหร่ แต่แปลกที่ผลงานโด่งดังสุดกลับคือ Ballet ซะงั้น!)

การแสดงรอบปฐมทัศน์ 6 ธันวาคม 1892 ตามปฏิทินรัสเซียเก่า (เทียบกับปฏิทินปัจจุบันคือ 18 ธันวาคม) ที่ Imperial Mariinsky Theatre, St. Petersburg เสียงตอบรับไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ ฉากต่อสู้(ระหว่างเจ้าชาย vs. ราชาหนู)ค่อนข้างสับสนวุ่นวาย แถมเนื้อเรื่องยังไม่ซื่อตรงต่อต้นเรื่องราวต้นฉบับของ E.T.A. Hoffmann กระนั้นนักแสดงที่รับบท Sugar Plum Fairy ได้รับเสียงชื่นชมล้นหลาม ผู้ชมยืนปรบมือจนต้องออกมาโค้งคำนับหลังแสดงถึงห้ารอบ

แค่เพียงฉากเดียว บทเพลงเดียว Dance Of The Sugarplum Fairy ก็ทำให้ชื่อเสียงของ The Nutcracker, Op. 71 โด่งดังขจรขจาย แต่เพราะโดยรวมไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ Tchaikovsky เลยตัดสินใจเรียบเรียงใหม่ คัดเลือกสรรเฉพาะ 8 บทเพลงเพราะๆหน่อย ตั้งชื่อว่า The Nutcracker Suite, Op. 71a สำหรับการแสดงรอบต่อๆไป ประกอบด้วย

  • I. Miniature Overture
  • II. Danses caractéristiques
    • Marche
    • Dance of the Sugar Plum Fairy
    • Russian Dance
    • Arabian Dance
    • Chinese Dance
    • Reed Flutes
  • III. Waltz of the Flowers

เมื่อถูกนำออกทัวร์ในยุโรปครั้งแรกปี 1934 ที่ประเทศอังกฤษ ความไพเราะเพราะพริ้งของ The Nutcracker Suite, Op.71a เข้าตานาย Walt Disney ติดต่อขอนำมาใส่ในภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Fantasia (1940) โด่งดังก่อนหน้าบัลเล่ต์จะมาเปิดการแสดงที่อเมริกาเสียอีก! (การแสดงบัลเลต์ครั้งแรกในอเมริกา ปี 1944)

ถึงผมจะมิได้เชี่ยวชาญในบัลเลต์ แต่ก็อดทึ่งไม่ได้กับท่วงท่า ลีลา เล่นจังหวะ ในบทเพลง Dance Of The Sugarplum Fairy ช่างมีความ ‘Enchanted’ มนต์เสน่ห์อันงดงามน่าหลงใหล ทุกอย่างดูง่ายดายไปหมด Alina Somova ราวกับเทพธิดานางฟ้า ‘Fairy’ โลดแล่นล่องลอยโบยบิน

เพลงเดียวกัน แต่อยากให้ลองเปรียบเทียบกับ Lauren Cuthbertson ที่ไม่ได้เต้นลงจังหวะแบบ Alina กระนั้นท่วงท่าลีลามีความเฉพาะตัว ในโลกส่วนตนเอง แถมยังเล่นหูเล่นตา หยอกเย้ากับผู้ชม นี่มิได้แปลว่าทักษะการเต้น Lauren ด้อยชั้นกว่า ตรงกันข้ามผมกลับรู้สึกชื่นชอบเธอมากกว่าอีกในความสง่างาม เหมือนราชินีมากกว่า

ส่วน Nina Kaptsova เธอเหมือนแฟรี่ขี้เล่น ชื่นชอบการโลดแล่นโบยบิน หมุนตัวพริ้วไหว กระโดดโลดโผนไปมา ช่วงท้ายขณะหมุนตัวโดยรอบวงกลม หายใจไม่ทั่วท้อง ‘Breathtaking’ เสียเหลือเกิน

นอกจาก Dance Of The Sugarplum Fairy ยังมีอีกหลายบทเพลงใน The Nutcracker ที่มีความไพเราะเพราะพริ้งไม่ย่อหย่อนไปกว่ากัน ขอนำเสนออีกเพลงที่โดยส่วนตัวชื่นชอบมากๆคือ Waltz of the Flowers ได้ยินแล้วอยากขยักโยกเต้นลีลาศตาม

ดอกไม้เป็นพืชพันธุ์ที่ไม่สามารถขยับเคลื่อนย้ายไปไหนได้ แต่มันสามารถโยกกิ่งก้าน หุบบาน พริ้วไหวตามลม ค่อยๆเคลื่อนคล้อยไปตามท่วงทำนองอารมณ์เพลง ซึ่งสัมผัสของ Waltz of the Flowers ไม่ใช่เพียงแค่เรือนร่างกายเท่านั้นที่ล่องไป แต่ยังจิตวิญญาณที่สามารถลอยติดตามไปด้วยได้อย่างใกล้ชิด

สำหรับคนที่อยากฟัง The Nutcracker Suite แบบเต็มๆ

หรือรับชมการแสดง Ballet ของ The Nutcracker

ความที่น้องสาวของ Tchaikovsky เสียชีวิตไปก่อนหน้าเริ่มต้นประพันธ์ The Nutcracker เพียงเล็กน้อย ทำให้ตัวเขาไม่ค่อยอยากทำงานนี้สักเท่าไหร่ ภาพรวมบอกว่าชื่นชอบน้อยกว่า Swan Lake และ The Sleeping Beauty เสียอีก แต่กลับกลายเป็นผลงานโด่งดังสร้างชื่อให้เขาเป็นที่สุด (อันดับ 1-2 ของ Tchaikovsky คือ Swan Lake และ The Nutcracker)

เราสามารถมอง The Nutcracker คือบทเพลงที่ Tchaikovsky ประพันธ์เพื่อเป็นของขวัญให้น้องสาวผู้ล่วงลับ จินตนาการตัวเองคือเจ้าชายผู้ถูกสาปกลายเป็นลูกนัท (ตนเองเป็นเกย์ ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม) ได้รับการช่วยเหลือจากหญิงสาว (น้องสาวของ Tchaikovsky) จนสามารถกระเทาะเปลือกนอกออกมา ต่อสู้เอาชนะราชาหนู (ศัตรู/เผด็จการคือผู้มีอำนาจ กำหนดกฎกรอบเกณฑ์ของสังคม) หลังจากนั้นคือคำขอบคุณจากใจ ให้เธอสามารถไปสู่โลกหน้าได้อย่างหมดอาลัยห่วง

จริงๆต้นฉบับของ The Nutcracker and the Mouse King มีความลึกล้ำซับซ้อนกว่านี้มากๆ ชนวนขัดแย้งระหว่างเจ้าชายลูกนัท กับราชาหนู เกิดจากปมขัดแย้งความเห็นแก่ตัวระหว่างราชินีหนูกับองค์หญิงอีกคน (มันจะสะท้อนเข้ากับเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของเด็กหญิง) ซึ่งเรื่องเล่าดังกล่าวจะกลายเป็นบทเรียนสอนใจ เติบโตขึ้นเธอจะได้ไม่กลายเป็นแบบสิ่งที่เกิดขึ้นในนิทาน/ความเพ้อฝันของตนเอง

เพราะการที่ Tchaikovsky เป็นเกย์ ทำให้ชีวิตของเขาตกอยู่ในสภาวะยุ่งยาก ได้รับคำครหาของสังคมจนป่วยเป็นโลกซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตายอยู่หลายหน ขณะเดียวกันเพื่อกลบข่าวลือ แต่งงานกับหญิงสาวแต่สุดท้ายก็เลิกรา เสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรค แต่บางกระแสกล่าวว่าเขาถูกบังคับให้ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย จากข้อหารักร่วมเพศ

มีความพยายามเรียบเรียง/ดัดแปลง The Nutcracker เป็นสื่ออื่นๆมากมาย ภาพยนตร์/โทรทัศน์/ละครเพลง(ที่ไม่ใช่บัลเล่ต์)/เกมก็ยังมี, สำหรับภาพยนตร์ที่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าน่าสนใจ นอกจาก Fantasia (1940) ก็มี The Nutcracker and the Four Realms (2018) โปรดักชั่นงดงามอลังการมากๆ ภายใต้สังกัด Walt Disney แนวโน้มน่าจะออกมาไม่เลว แค่ตัวอย่างหนังก็ทรงพลังอลังการมากยิ่งๆแล้ว

ผมครุ่นคิดถึงนัยยะของบทเพลงนี้มานานพอสมควร เพราะรู้สึกว่ามันไพเราะเพราะพริ้งเกินกว่าผู้ชายทั้งแท่งจะประพันธ์ได้! ลองนึกถึงตัวตนของ Mozart และสไตล์เพลงของเขาสิครับ เป็นคนเฮฮาครึกครื้นเครงจึงสามารถเขียนท่วงทำนองฟังแล้วสามารถหัวเราะยิ้มออก นั่นแปลว่า Tchaikovsky อาจมีอีกด้านหนึ่งที่โคตรแฟนตาซี (นึกถึง Swan Lake ตามไปด้วยก็ได้) อะไรกันที่ทำให้เขาหวานหยดย้อยได้ขนาดนั้น มาค้นหาข้อมูลพบว่าเป็นเกย์ก็รู้สึกว่าใช่เลยละ สัมผัสอันนุ่มนวลผิดชาย ไว้หนวดยาวแค่ไหนก็มิอาจปกปิดตัวตนภายใน

The Nutcracker เป็นเพลงเหมาะสำหรับเปิดฟังในช่วงเทศกาลคริสต์มาสอย่างยิ่ง (เมืองไทยอาจไม่อินเท่าไหร่ แต่ยุโรป/อเมริกา โดยเฉพาะรัสเซีย!) ระยิบระยับด้วยเกล็ดหิมะ รอยยิ้ม ความสุขสำราญมาพร้อมความหนาวเหน็บ และกล่องของขวัญปีใหม่ ลุ้นระทึกว่าจะมีอะไรอยู่ข้างใน

TAGLINE | “The Nutcracker กระเทาะเปลือกของ Pyotr Ilyich Tchaikovsky นำเสนอตัวตนเองออกสู่สายตาชาวโลก”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: