Tekkonkinkreet

Tekkonkinkreet (2006) Japanese : Michael Arias ♥♥♥♥

เพี้ยนมาจากคำอ่านออกเสียง Tekkin Konkurito แปลว่า Steel-Reinforced Concrete, คอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งเป็นการสื่อถึงเมือง Takaramachi (แปลว่า Treasure Town) ป่าคอนกรีตที่เด็กชายสองคน Black & White ใช้ชีวิตอาศัย ต่อสู้ดิ้นรน บนความเปลี่ยนแปลงวิถีโลก

ชื่ออนิเมะ Tekkonkinkreet ในความเข้าใจของผู้กำกับ Michael Arias ยกจากบทสัมภาษณ์มาเต็มๆ ไม่ขอแปลแล้วกันนะครับ

There is a technical term in Japanese “Tekkin Konkurito” which means “reinforced concrete” and the title of the movie is basically just that word jumbled up. It’s kind of a tongue twister that kids might think of. Somehow for me it sounds futuristic but at the same time slightly ramshackle, which is the way I saw the whole world of Tekkonkinkreet. It contains the Chinese characters for ‘steel’ and “muscle” and those give it a kind of a hard-boiled city feel.

Michael Arias ให้สัมภาษณ์กับ movieweb.com

Tekkonkinkreet นำเสนอสองตัวละครขั้วตรงข้าม ขาว-ดำ หยิน-หยาง ที่มิอาจพลัดพรากแยกจาก ต่างเป็น ‘พลัง’ เสริมกันและกัน อาศัยอยู่บนโลกรายล้อมด้วยป่าคอนกรีต ตึกรามบ้านช่องสูงใหญ่ มองภายนอกเหมือนจะสวยงาม แต่เบื้องหลังปกครองโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพล ยากูซ่า พยายามควบคุม ครอบงำ ปรับเปลี่ยนแปลงสถานที่แห่งนี้ ให้กลายเป็นสนามเด็กเล่นของตนเอง

พล็อตเรื่องดูเหมือนไม่มีอะไรซับซ้อน แต่เอาจริงๆนี่เป็นอนิเมะที่ทำความเข้าใจยากมากๆ (ให้ความท้าทาย 5 ดาว ระดับ Veteran เลยนะ!) เราสามารถมองทุกสิ่งอย่างในเชิงนามธรรม นั่นแปลว่าโลกของ Tekkonkinkreet แท้จริงแล้วมันคือสภาวะทางความคิด จิตวิญญาณของมนุษย์ นำเสนอสองสิ่งขั้วตรงข้าม แสงสว่าง-ความมืด ก่อสร้าง-ทำลาย ความรัก-เกลียดชัง ใสซื่อบริสุทธิ์-กร้านโลกชั่วร้าย ฯลฯ ต้องเติมเต็มกันและกันอย่างเพียงพอดีเท่านั้น ถึงจักอยู่ร่วมได้อย่างสงบสันติสุข

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเรียก Tekkonkinkreet ว่าเป็น ‘ขุมทรัพย์’ แห่งวงการอนิเมชั่น เพราะการนำเสนอสัจธรรม/วิถีแห่งชีวิต ทุกคนล้วนมีสองสิ่งขั้วตรงข้ามอยู่ภายใน เราต้องเรียนรู้จักสร้างความสมดุล เสมอภาคเท่าเทียม ถ้าฝั่งใดฝั่งหนึ่งมีมากเกินไป อาจนำพาสิ่งชั่วร้าย คลุ้มบ้าคลั่ง ถึงขั้นเป็น-ตาย และยังต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภายนอก (ถ้าเรายังต้องการใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้)

“What is it about fire? So calm and peaceful but inside, all power and destruction. It’s hiding something. Just like people do. Sometimes you have to get close to find what’s inside. Sometimes you have to get burned to see the truth”.

Shiro

Michael Arias (เกิดปี 1968) ผู้กำกับภาพยนตร์/อนิเมชั่น สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California วัยเด็กมีความลุ่มหลงใหลในฟีล์ม ภาพเคลื่อนไหว แต่กลับเลือกเรียนภาษาศาสตร์ Wesleyan University, Connecticut เพียงสองปีดรอปมาทำเพลงในสังกัด Margaret Fiedler McGinnis, เริ่มเข้าสู่สายงานภาพยนตร์ในแผนก VFX ให้บริษัท Dream Quest Images ทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง The Abyss, Total Recall, Back to the Future ดูแลฉากที่ต้องไปเพิ่ม CGI ภายหลัง

หลายปีจากนั้น ย้ายมาอยู่ CG Innovator Softimage พัฒนาโปรแกรม/เครื่องมือที่สามารถผสมผสานการวาดมือ (Tradition Animation) ร่วมกับ CGI (Computer Graphic) ทำให้มีโอกาสร่วมงานสตูดิโอ DreamWorks และ Ghibli อาทิ Prince Of Egypt, The Road to El Dorado, Princess Mononoke, Sprited Away ฯลฯ

ประมาณปี 1995 ระหว่างพักอาศัยอยู่กรุง Tokyo ไม่นานหลังเกิดเหตุการณ์ Great Hanshin earthquake หรือ Kobe Earthquake 1995 เพื่อนร่วมห้องชาวญี่ปุ่นของ Arias แนะนำให้รู้จักมังงะ Tekkonkinkreet เตือนว่าอ่านแล้วอาจน้ำตาไหล

“And that was it. Hooked! I cried many times reading it, also a new experience for me to be moved to tears by a manga”.

Michael Arias

แม้เรื่องราวของ Tekkonkinkreet อาจไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับตัวเขาตรงๆ แต่เนื้อหา ‘ความเป็นมนุษย์’ สัมพันธ์ภาพตัวละคร การต่อสู้ระหว่างดี-ชั่ว ตัวเราเอง คงสร้างความประทับ ตราตรึง ซึ้งกินใจ ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า มังงะเรื่องหนึ่งจะทรงพลัง และสร้างอิทธิพลต่อชีวิตได้ถึงขนาดนี้

พฤศจิกายน 1997, ผู้กำกับ/นักอนิเมเตอร์ชื่อดัง Kōji Morimoto แสดงความสนใจในโปรแกรมของ Arias ต้องการใช้ CGI ทดลองสรรค์สร้าง Tekkonkinkreet ในลักษณะ Pilot Film (คล้ายๆตัวอย่างหนัง/Trailer/CG Demo) แม้ความยาวเพียง 4 นาที แต่ได้รับคำชื่นชมล้นหลาม แถมคว้ารางวัล Outstanding Performance Award (สาขา Non-Interactive Digital Art) จากเทศกาล Japan Media Arts Festival

ปล. คุณภาพของตอน Pilot อาจดูไม่ค่อยได้เมื่อเทียบกับยุคปัจจุบัน แต่สมัยนั้นถือว่าระดับ ‘ground breaking’ เลยทีเดียวนะ

Taiyō Matsumoto (เกิดปี 1967) นักเขียนมังงะ สัญชาติญี่ปุ่น วัยเด็กเคยวาดฝันอยากเป็นนักฟุตบอล แต่เพราะขาดพรสวรรค์เลยหันมาวาดรูป เริ่มจริงจังระหว่างเรียน Wako University เคยส่งเข้าแข่งขัน Comic Open นำเงินรางวัลที่ได้ ไปเปิดโลกทัศน์ยังประเทศฝรั่งเศส (ผลงานของ Matsumoto ได้รับอิทธิพลจากฝั่งยุโรป โดยเฉพาะการ์ตูนฝรั่งเศสไม่น้อยทีเดียว) จากนั้นมีผลงาน Debut เรื่อง STRAIGHT (1989) ตีพิมพ์ลงนิตยสารรายเดือน Comic Morning Magazine, ติดตามมาด้วย Zero (1991), Hana Otoko (1992), Blue Spring (1993)

ผลงานลำดับต่อมา Tekkonkinkreet หรือ Black & White เป็นการทดลองปรับเปลี่ยนสไตล์ลายเส้น (โดยเฉพาะพื้นหลัง) โดยสรรค์สร้างเรื่องราวที่มีการต่อสู้ (Action) ตัวละครสามารถกระโดดข้ามตึกไปมา ราวกับอยู่ในโลกแฟนตาซี จินตนาการ(ของผู้เขียน/อ่าน) ตีพิมพ์ลงนิตยสารผู้ใหญ่ (Seinen) รายสัปดาห์ Big Comic Spirits ช่วงปี 1993-94 แต่เสียงตอบรับไม่ดีเอาเสียเลย ถูกบรรณาธิการสั่งตัดจบ รวมได้เพียงสามเล่มเท่านั้น

แม้ถูกตัดจบค่อนข้างเร็ว ยังเหลืออีกหลายแนวคิดที่ค้างๆคาๆ แต่ Tekkonkinkreet กลับค่อยๆเกิดกระแสคัลท์ (Cult) ส่งต่อบอกเล่า ปากต่อปาก ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กำลังใจจากผู้สรรค์สร้างงานศิลปะแขนงอื่น ตอนสร้าง Pilot ก็ครั้งหนึ่ง จนกระทั่งปี 2003 ผู้กำกับ Arias ร่วมกับสตูดิโอ Studio 4°C. (ที่มี Kōji Morimoto เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง) ประกาศดัดแปลงสร้างเป็นอนิเมชั่นขนาดยาว

ปล. สไตล์ลายเส้นของ Matsumoto ใน Tekkonkinkreet ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แม้เพียงภาพขาว-ดำ แต่เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ โดยเฉพาะพื้นหลังได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ จุดนี้อนิเมะดัดแปลงนำเสนอออกมาได้ยอดเยี่ยม พัฒนาการขึ้นจากต้นฉบับ ใช้ได้ทีเดียว!

แม้จะคร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์/อนิเมะ มาเกือบๆ 2 ทศวรรษ แต่ Michael Arias กลับไม่เคยคิดวาดฝันจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับ จนกระทั่งเมื่อมีโอกาสร่วมงาน Kōji Morimoto สรรค์สร้าง Tekkonkinkreet Pilot ก่อนติดตามมาด้วยโปรเจคดรีมทีม The Animatrix (2003) ที่เจ้าตัวมีส่วนร่วมในฐานะโปรดิวเซอร์ เข้าถึงกระบวนการสร้างอนิเมะตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยเหตุนี้เอง Morimoto เลยต้องการผลักดันให้เขาทดลองสรรค์สร้างภาพยนตร์อนิเมชั่น จากวิสัยทัศน์ของตนเอง

ระหว่างพัฒนาโปรเจค The Animatrix (2003) ผู้กำกับ Arias มีโอกาสร่วมงาน Anthony Weintraub นักเขียน/โปรดิวเซอร์ สัญชาติอเมริกา เข้ามาช่วยเหลือในส่วนบทพูดและขัดเกลาเรื่องราว ด้วยความประทับใจดังกล่าวจีงมอบหมายให้ดัดแปลงบทมังงะ Tekkonkinkreet

“To me it looked like the best of Japanese manga illustration meets the innovative design of the best graphic novels. This is an incredible human story set in a futuristic, impersonal environment. Taiyō Matsumoto’s true talent is that he bounces one off the other so poetically”.

Anthony Weintraub

สิ่งท้าทายในการนำเสนอมังงะ 3 เล่ม ให้กลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวหนึ่งเรื่อง คือโครงสร้างดำเนินเรื่อง ซึ่งวิธีการที่ Weintraub ตัดสินใจเลือกมาก็คือ แบ่งออกเป็นฤดูกาล (Summer, Fall, Winter, Spring) ทำให้ผู้ชมพบเห็นพัฒนาการตัวละคร สอดคล้อง/สะท้อนสภาพอากาศได้อย่างตรงไปตรงมา

เรื่องราวของสองเด็กกำพร้า Kuro (ให้เสียงโดย Kazunari Ninomiya) กับ Shiro (ให้เสียงโดย Yū Aoi) อาศัยอยู่ยังเมือง Takaramachi รายล้อมด้วยป่าคอนกรีต ตึกรามบ้านช่องสูงใหญ่ พวกเขารับรู้จักทุกผู้คน ตรอกซอกซอย ต่อสู้ไม่เคยแพ้ใคร สามารถตั้งตัวเป็นใหญ่ ได้รับฉายา The Cats กระทั่งการมาถีงของกลุ่มยากูซ่า The Rats เพื่อครอบครอง เป็นเจ้าของ และปรับเปลี่ยนเมืองแห่งนี้ให้กลายเป็นสวนสนุก แต่ถีงอย่างนั้นกลับพ่ายแพ้ให้กับ Kuro จนแทบหมดสิ้นสภาพ

แม้ยากูซ่ากลุ่มแรกจะหมดสิ้นไป ตัวละครใหม่ Snake (ให้เสียงโดย Masahiro Motoki) ก็ได้รับมอบหมายให้สืบสานงานต่อ ว่าจ้างนักฆ่ามืออาชีพสามคน หวังเข้ามาจัดการขั้นเด็ดขาดกับ Kuro แต่ก็ยังสามารถโต้ตอบกลับ เข่นฆ่าไปได้แล้วหนี่ง แต่ก็ทำให้ Shiro ตกอยู่ในสภาพปางตาย เสี่ยงอันตราย นั่นเองทำให้พวกเขาต้องตัดสินใจพลัดพรากแยกจาก เพื่อปกป้องกันและกัน ถีงอย่างนั้นแทนที่อะไรๆจะดีขี้น กลับย่ำแย่ลงจนถีงขีดสุด


Kazunari Ninomiya (เกิดปี 1983) นักร้อง/นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Katsushika, Tokyo เมื่อตอนอายุ 12 ญาติของเขาส่งใบสมัครบริษัทคัดเลือกนักแสดง Johnny & Associates โดยที่เจ้าตัวไม่รับรู้มาก่อน แต่หลังจากผ่านออดิชั่นเริ่มมีผลงานโฆษณา แสดงละครเวที ซีรีย์ เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติเรื่อง Letters from Iwo Jima (2006) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Gantz (2011), พากย์เสียง Koro-sensei อนิเมะ Assassination Classroom (2015) ฯ

ให้เสียง Kuro เป็นคนพูดน้อย (เพราะถูก Shiro แย่งบทพูดเสียหมด) แต่มีความเคร่งเครียด เข้มขรีม จริงจังกับชีวิต ผ่อนคลายเฉพาะตอนอยู่กับ Shiro ครุ่นคิดว่าตนเองเป็นผู้พิทักษ์ปกป้อง แต่แท้จริงแล้วกลับตารปัตร เพราะเมื่อพวกเขาต้องพลัดพรากจาก กลับมิอาจควบคุมตนเอง เกือบกลายเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง และถูก Minotaurus กลืนกินจนสูญสิ้นจิตวิญญาณ

Kuro ไม่ใช่เด็กที่เฉลียวฉลาดนัก (แม้จะชอบสวมแว่นกันน้ำก็เถอะ) แต่มีไหวพริบ สายตาคมกริบ เมื่อต้องเผชิญหน้าปัญหา ชอบใช้กำลังวังชา พละพลังต่อสู้ แม้ตัวยังเล็กก็ไม่หวาดกลัวเกรงผู้ใด จนกระทั่งการมาถึงของ Snake และนักฆ่ามืออาชีพ เป็นครั้งที่ทำให้เขาถูกต้อนจนตรอก กว่าจะจัดการได้สักคนลากเลือดสาดกระเซ็น หลงเหลือเพียงวิธีเดียวเท่านั้นจะสามารถปกป้อง Shiro

น้ำเสียงของ Ninomiya ให้ความรู้สึกเหมือนพี่ชายแสนดี สามารถเป็นที่พึงพาอาศัย เวลาตัวละครอยู่ร่วมกับ Shiro เต็มไปด้วยไออบอุ่น เป็นห่วงเป็นใย แต่เมื่อต้องพลัดพรากจากไป หลงเหลือเพียงความเยือกเย็นชา หมดสิ้นหวัง นี่ฉันจะมีชีวิตต่อสู้ไปทำไม ไม่ต่างจากคนเสียสติ โรคจิตสักเท่าไหร่

Ninomiya ยังให้เสียง Minotaurus ด้วยนะครับ (เพราะตัวละครนี้คือด้านมืดสุด ‘real Kuro’ ที่หลบซ่อนอยู่ภายในตัวละคร) ใช้การเปร่งคำพูดออกมาจากในลำคอ และแต่งเติม Sound Effect เพื่อสร้างความหลอกหลอน สั่นสะพรึง (พร้อมเสียงอีกา จากขุมนรก/ความตาย) ลุ้นระทึกว่า Kuro สามารถต่อสู้เอาชนะตัวตนเองได้หรือเปล่า

ผมค่อนข้างชอบลักษณะ ‘contrast’ ในน้ำเสียงของ Ninomiya ที่สามารถให้ทั้งความรู้สึกอบอุ่นและเย็นชา สองสิ่งขั้วตรงข้ามแต่กลับเติมเต็มกันและกัน อีกทั้งเพราะการเป็นนักแสดงมืออาชีพ (ไม่ใช่นักพากย์) มันเลยมีความเป็นธรรมชาติ ลื่นไหล และสมจริงกว่า

Yū Aoi (เกิดปี 1985) นักแสดง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Fukuoka, เมื่ออายุ 14 เริ่มต้นแสดงละครเวที ก่อนมีผลงานโทรทัศน์ แจ้งเกิดกับภาพยนตร์ All About Lily Chou-Chou (2001), Hana and Alice (2004), Hula Girls (2006) ** คว้ารางวัล Japan Academy Prize: Best Supporting Actress, Rurouni Kenshin (2012-) รับบท Megumi Takani ฯลฯ

ให้เสียง Shiro น้องชาย(ไม่แท้)ของ Kuro ดูเป็นเด็กเอ๋อๆ ชอบพูดจาพร่ำเพ้อ(เจ้อ) (เหมือนจะ)ไร้สาระ ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยไปวันๆ ดูแล้วไม่ค่อยสมประกอบสักเท่าไหร่ แต่เอาจริงๆก็สามารถครุ่นคิด เข้าใจทุกสิ่งอย่างดี นอกจากนี้ยังมีนิสัยไม่เห็นแก่ตัว ชอบให้ความช่วยเหลือผู้อื่น เป็นกันเองกับมิตรสหาย เด็ดขาดเฉพาะศัตรูผู้ร้าย

เมื่อครั้นถูกบีบบังคับให้ต้องพลัดพรากจาก Kuro พยายามต่อสู้ดิ้นรน กรีดกราย เพราะรับรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อจากนั้น แต่เมื่อมิอาจต่อต้านอะไรได้ สิ่งที่เด็กชายทำจึงมีเพียงวาดรูป ระบายอารมณ์/ความคลุ้มคลั่งออกมาจากส่วนลึกภายใน (ไม่แตกต่างจาก Kuro สักเท่าไหร่) แต่ถึงอย่างนั้นความบริสุทธิ์แท้ ขาวสะอาดในจิตใจของ Shiro ไม่มีอะไรใน Takaramachi จักสามารถแปดเปื้อน เปลี่ยนแปลงตัวตนเขาได้

ผมต้องยกสองมือขึ้นคารวะลีลาการพากย์ของ Aoi โดยเฉพาะคำพูดเล่นลิ้นพลันวัน ต่อให้เป็นแฟนคลับก็อาจจดจำ(น้ำเสียง)เธอไม่ได้ สวมบทบาทเป็นเด็กออทิสติก ทำตัวไร้เดียงสา ปัญญาอ่อน วันๆไม่เคยหยุดพร่ำ ช่างเป็นตัวละครที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนใครไหน ขณะที่ไฮไลท์คือวินาทีคลุ้มบ้าคลั่ง กรีดร้องลั้น ทำเอาผู้ชมรู้สีกใจหาย จมปลักอยู่ในความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน จนแทบตกตายทั้งเป็น … น่าเป็นหนึ่งในบทบาทยอดเยี่ยมสุดในอาชีพการงานของเธอเลยละ

แซว: บ่อยครั้งเราจะพบเห็น Shiro สวมหมวกลวดลายสรรพสัตว์ หมี นก กบ ราวกับเพื่อปกป้องตนเองจากสิ่งชั่วร้ายใน Takaramachi

ยังมีอีกหลายตัวละครที่น่าสนใจ แต่ผมขอกล่าวถีงโดยคร่าวๆก็แล้วกัน

  • Kimura (ให้เสียงโดย Yūsuke Iseya เคยรับบท Shinomori Aoshi ในภาพยนตร์ Rurouni Kenshin) ยากูซ่าหนุ่ม ทำงานในสังกัด The Rat พยายามใช้การพูดคุย ต่อรอง แบล็กเมล์ ตามวิถียุคเก่าก่อน เพื่อเข้ามาควบคุม ปกครอง Takaramachi แต่การเผชิญหน้า Kuro ทำให้เขาต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่าง กลับกลายเป็นผู้แพ้ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง จนกระทั่งค้นพบชีวิตใหม่ ตกหลุมรัก แต่งงาน กำลังจะมีบุตร (ไม่รู้ลูกชาย-สาว) แล้วทุกสิ่งก็หวนกลับตารปัตรอีกครั้ง ถูกบีบบังคับโดย Snake ต้องหักหลังเจ้านายเก่า สุดท้าย… ชีวิตก็เป็นไปตามกรรม
    • น้ำเสียงของ Iseya แรกเริ่มพยายามปั้นแต่งให้ตัวละครมีความเย่อหยิ่งผยอง หลงตัวเอง คิดเข้าข้างว่าตนเก่ง เป็นผู้ยิ่งใหญ่ (ในรูปแบบวิถียากูซ่ารุ่นก่อน) แต่ความพ่ายแพ้ต่อ Shiro ทำให้ทุกสิ่งเชื่อมั่นพลันล่มสลายไป ผู้ชมสัมผัสได้ถีงความสิ้นหวัง หมดเรี่ยวแรง ไร้พละกำลัง บลา บลา บลา … เป็นตัวละครที่มีความโลดโผน ‘roller coaster’ ในการผจญภัยอย่างมาก พานพบเจอเหตุการณ์ต่างๆ ภายในเกิดการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ซึ่งทั้งหมดมีความคู่ขนานกับเรื่องราวของ Kuro (บทเด่นพอๆกันเลยนะ!)
  • Sawada (ให้เสียงโดย Kankurō Kudō นักเขียน/นักแสดง คว้ารางวัล Japan Academy Prize: Best Screenply จากเรื่อง Go (2001)) นายตำรวจประจำ Takaramachi เหมือนเพิ่งจะย้ายเข้ามาใหม่ ทำงานภายใต้หัวหน้า Fujimura เอาเข้าจริงก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก(กับพวกยากูซ่า) เรียกว่าเป็น ‘เสือกระดาษ’ ถีงอย่างนั้นเขาก็ขันอาสาเป็นผู้รับดูแล Shiro หลังเกิดเหตุการณ์ไล่ล่าจากนักฆ่า แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรไปกว่าที่เป็นอยู่ แบบเดิมเปะๆ … ถือเป็นตัวละครขั้วตรงข้ามกับ Kimura และมีความสัมพันธ์คู่ขนานกับ Shiro
  • Suzuki หรือ The Rat (ให้เสียงโดยนักแสดงรุ่นใหญ่ Min Tanaka เจ้าของรางวัล Japan Academy Prize: Best Supporting Actor จากเรื่อง The Twilight Samurai (2002)) หัวหน้ากลุ่มยากูซ่า(รุ่นเก่าก่อน) แม้มีวิธีการอันเหี้ยมโหดร้าย แต่ก็เข้าใจหัวอกผู้คน ด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี ลูกผู้ชาย ไม่เคยคิดทรยศหักหลังใคร หลายปีก่อนเคยให้ความช่วยเหลือ Kimura รักเอ็นดูเหมือนลูกในไส้ แต่เมื่อวิถีทางโลกเปลี่ยนแปลงไป หนทางดั้งเดิมมิอาจนำมาปรับใช้ได้ เขาจีงกลายเป็นตาแก่ คนธรรมดา รอวันปลดระวาง ก่อนถูกตลบหักหลัง และเข่นฆาตกรรมโดยบุคคลรักมากที่สุด
    • นี่เป็นตัวละครที่เหมือนจะมีตัวตน แต่ก็เหมือนจะไม่มีตัวตน แม้ได้รับการพูดกล่าวถีง พบเจอบ่อยครั้ง กลับดูเล็กลีบ จืดจาง ค่อยๆถูกกลืนกิน สูญหายไปตามกาลเวลา นั่นเพราะต่อให้อดีตเคยยิ่งใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงของวิถีโลก มักทำให้ถูกลืมเลือนโดยง่าย กระทั่งช่วงท้ายเมื่อรับรู้โชคชะตากรรม ยินยอมรับและพร้อมเผชิญหน้ากับมัน … คนรุ่นเก่า เก๋าเกมอย่างแท้จริง
  • Snake (ให้เสียงโดย Masahiro Motoki มีผลงานรับบทนำ Departures (2009) คว้ารางวัล Oscar: Best Foreign Language Film) หัวหน้ากลุ่มยากูซ่า ผู้เข้ามาแทนที่ The Rat โดยเลือกใช้ความรุนแรงเข้าโต้ตอบ ตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่แท้จริงแล้วไม่ต่างกับอสรพิษ มีความกะล่อน ปลิ้นปล้อน ไร้สัจจะในหมู่โจร สนเพียงผลลัพท์ไม่ใช่วิธีการ จนท้ายสุดถูกตลบหักหลัง ไม่ทันลอกคราบหนีเอาตัวรอด
    • ไม่ยักรู้ว่า Motoki สามารถปั้นน้ำเสียงใหญ่ๆ แล้วบีบให้เล็กแหลมขณะหัวเราะร่า กลายเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง เสียสติแตก ซ่อนเร้นความโฉดชั่วร้าย อันตราย พร้อมฉกกัดได้แม้คนใกล้ตัว … ภาพลักษณ์ตัวละครนี้ ออกแบบได้เหมือนอสรพิษมากๆ

สังเกตว่าอนิเมะ(แทบ)ไม่ได้ใช้นักพากย์มืออาชีพเลยนะครับ ส่วนใหญ่คือนักแสดงภาพยนตร์/ซีรีย์ ซี่งพวกเขาเหล่านี้จักนำความเป็นธรรมชาติ ‘naturalistic’ สวมบทบาท รรค์สร้างตัวละครให้เสมือนมีตัวตน สมจริง จับต้องได้


ออกแบบตัวละครและกำกับอนิเมชั่น (Animation Director) โดย Shoujirou Nishimi, แม้ในส่วนนี้จะมีมังงะเป็นตัวแบบอย่าง แต่ Nishimi เลือกที่จะสร้างความแตกต่างให้ตัวละคร (ยังคงอ้างอิงรูปลักษณ์ ใบหน้าตา ตามแบบต้นฉบับอยู่นะครับ) ให้ลายเส้นมีขอบบางๆ รูปทรงบิดเบี้ยว ดูไม่ค่อยสมประกอบสักเท่าไหร่ (เหมือนเด็กๆเพิ่งหัดวาดรูป) เมื่อมองจากระยะไกล ก็มักตัดรายละเอียด ตา หู จมูก ปาก พบเห็นเพียงเค้าโครงร่าง แค่พอมองออกว่าคือใคร กำลังทำอะไร

กล่าวคือ การออกแบบ(รวมไปถีงอนิเมชั่นขยับเคลื่อนไหว)จะไม่เน้นความสมจริง หรือลื่นไหลธรรมชาติ แค่พอมองออกว่าเป็นคน-สัตว์-สิ่งของ ใครกำลังทำอะไร จุดประสงค์หนี่งเพื่อลดงบประมาณ แต่เหตุผลจริงๆคือสร้างอัตลักษณ์/สไตล์ลายเส้นให้อนิเมะ สอดคล้องเข้ากับเนื้อเรื่องราว ใจความสำคัญที่สะท้อนสิ่งภายในจิตวิญญาณมนุษย์ ตัวละครเด็กๆบนโลกอันบิดเบี้ยว ไม่ค่อยสมประกอบสักเท่าไหร่

แซว: การออกแบบตัวละครลักษณะนี้ มันช่างละม้ายคล้ายคลึง The Girl Who Leapt Through Time (2006) แถมออกฉายปีเดียวกันอีกต่างหาก ซี่งเรื่องนั้นให้ความรู้สึกเหมือนอนิเมชั่นดาดๆ ราคาถูกๆ ผิดกับ Tekkonkinkreet เพราะภาพพื้นหลังที่โคตรละเอียด อลังการ ตระการตา ผู้ชมรับรู้ได้โดยทันทีว่าเป็นความจงใจ สัมผัสดังกล่าวจึงไม่บังเกิดขึ้น

ควบคุมงานศิลป์ (Art Direction) โดย Shiji Kimura (เกิดปี 1962) ผู้วาดภาพพื้นหลัง Angel’s Egg (1985), Akira (1988) และ My Neighbor Tororo (1988),

การได้ร่วมงานศิลปินอย่าง Kimura ถือเป็นโชควาสนาของผู้กำกับ Arias เพราะในส่วนออกแบบศิลป์/ภาพพื้นหลังอนิเมะเรื่องนี้ สามารถเรียกว่า ‘พระเอก’ ตัวจริง! เพราะเป็นสิ่งสะท้อนโลกภายใน จิตวิญญาณ(ตัวละคร) ซี่งการใส่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆมากมาย แต่งแต้มสีสัน สร้างความตื่นตระการตาให้ผู้ชม ราวกับตัวละครที่มีชีวิต แถมยังปรับเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา/สภาพอากาศ อีกต่าง

ส่วนผสมของ Takaramachi ในความรู้สีกของผมประกอบด้วยกรุง Tokyo, Chinatown, Kowloon City, Gotham City, ดูจากแผนที่เป็นเกาะกลางแม่น้ำ คล้ายๆเมือง Manhattan, ลักษณะสลัม ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ Dodes’ka-den (1970), บางฉากให้ความรู้สีกเหมือน City of God (2002), การต่อสู้ Fight Club (2006), และที่ขาดไม่ได้ The City of Lost Children (1995)

อนิเมะใช้ส่วนผสมระหว่างการวาดมือ (Tradition Animation) เข้ากับ CGI (Computer Graphic) ได้อย่างแนบเนียนมากๆ CG Supervisor โดย Takuma Sakamoto, โดยเฉพาะช่วงต้นเรื่อง Bird Eye View แทนด้วยสายตาอีกา บินโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน เที่ยวรอบเมือง Takaramachi ผู้ชมน่าจะรับรู้ได้ว่าออกแบบสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ความลื่นไหล เป็นธรรมชาติ งดงามเหมือนภาพวาดด้วยมือสองมิติ รายละเอียด สีสัน ก็ตื่นตระการตาจริงๆ

ช็อตแรกของอนิเมะ Shiro จุดไม้ขีดไฟ พบเห็นภาพสะท้อนในดวงตา (ของ Shiro) ค่อยๆเคลื่อนถอยออกมาจนเห็นเปลวไฟ, นี่เป็นการบอกใบ้ตั้งแต่วินาทีแรกแล้วว่า เรื่องราวต่อจากนี้คือสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน/จิตวิญญาณ เปรียบดั่งเปลวไฟภายนอกดูสงบนิ่ง แต่แค่เอื้อมมือเข้าใกล้ก็สัมผัสได้ถีงความร้อนแรง แผดเผาไหม้ สามารถทำลายล้างได้แทบทุกสรรพสิ่ง

“What is it about fire? So calm and peaceful but inside, all power and destruction. It’s hiding something. Just like people do. Sometimes you have to get close to find what’s inside. Sometimes you have to get burned to see the truth”.

Shiro

ติดตามด้วยภาพถัดๆมา อีกาสีดำ (ตัวแทนของ Kuro) โบยบินเข้าหาดวงอาทิตย์ (ตัวแทนของ Shiro) นี่ไม่ใช่หิ่งห้อยบินเข้าหากองเพลิง แต่คือแสงสว่างเติมเต็มความมืด vice-versa ความมืดเติมเต็มแสงสว่าง กล่าวคือ ชีวิตไร้พันธนาการของ Kuro (อีกาโบยบินบนฟากฟ้า) จะไม่สามารถเอาตัวรอดเองได้ ถูกความมืดมิดเข้าควบคุม ครอบงำ ถ้าปราศจาก Shiro ผู้เป็นดั่งแสงสว่างนำทาง

ถัดจากช็อตนี้ อีกาตัวเดิมพุ่งถลาแล่นลม นำภาพ ‘Bird Eye View’ เข้าสู่เมือง Takaramachi เคลื่อนผ่านตีกรามบ้านช่อง ท้องถนนหนทาง ฯลฯ นี่เป็นการแนะนำสถานที่ที่เปรียบเสมือน ‘แสงสว่าง’ (มันเป็น Continuity Editing ต่อเนื่องจากช็อตนี้ ผมจีงคาดคิดว่า เมือง Takaramachi สามารถเทียบแทนด้วย พระอาทิตย์ดวงนี้)

ช็อตแรกของ Shiro เดินข้ามทางม้าลาย (รู้จักทางม้าลายไหมเอ่ย? มันมีสองสี ขาว-ดำ, Black & White) … ผมชื่นชอบรายละเอียดเล็กๆแบบนี้นะ มันแสดงถีงความใส่ใจของผู้สร้าง ครุ่นคิดอย่างละเอียดละเมียดละไม บรรเจิดด้วยจินตนาการสร้างสรรค์

การมาถีงของผู้รุกราน ประกอบไปด้วยเด็กสองคน Dawn & Dusk (ภัยเร่งด่วน) มาพร้อมๆกับ The Rat, Kimura (ระแวดระวัง) และนายตำรวจหน้าใหม่ Sawada (ไร้พิษภัย) ด้วยเหตุนี้ Kuro และ Shiro เลยเลือกเผชิญหน้ากับปัญหาเร่งด่วน เป็นการอารัมบทเข้าสู่เรื่องราว

ผมชอบครุ่นคิดรายละเอียดเล็กๆอย่าง ทำไม Dawn & Dusk ถีงพบเจอ Kuro & Shiro ตรงเครื่องขายน้ำอัดลมอัตโนมัติ? สงสัยเพราะเด็กสองคนนี้กำลังกระทืบตู้ขายน้ำ (กระทืบตู้ = สุนัขปัสสาวะเพื่อแสดงถีงอาณาเขตตนเอง)

ทันสังเกตช็อตนี้กันไหมเอ่ยว่า ขณะ Dusk & Dawn ตัดสินใจไล่ล่าติดตาม Shiro (ที่เหมือนจะพลัดพรากจาก Kura) พวกเขาพานผ่านหัวกระโหลก และป้ายเขียนว่า TRICK ซี่งคือสิ่งกำลังจะเกิดขี้นกับพวกเขาอีกไม่นานเกินรอ

น่าสนใจทีเดียวกับการปรากฎตัวของพระพิฆเนศ (Ganesha) เทวดาในศาสนาฮินดู มีพระเศียรเป็นช้าง ได้รับการเคารพโดยทั่วไปในฐานะของเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค, องค์อุปถัมภ์แห่งศิลปวิทยาการ วิทยาศาสตร์ และศาสตร์ทั้งปวง และทรงเป็นเทพเจ้าแห่งความฉลาดเฉลียวและปัญญา ซี่งก็สอดคล้องกับแผนการอันแยบยลของ Kuro สามารถลวงล่อหลอก Dusk & Dawn ให้มาติดกับดัก บนดาดฟ้าสูง ไร้ซี่งหนทางหลบหนีอีกต่อไป

บ่อยครั้งเราจะพบเห็นความฝันของ Shiro จินตนาการถีงชายหาด มหาสมุทร กำลังดำผุดดำว่าย ค้นหาสิ่งของมีค่าเพื่อเก็บไว้ชื่นเชยชม และพอฟื้นตื่นหวนกลับมาปัจจุบัน ข็อตนี้กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง จากราวกับกำลังหลับอยู่ใต้ผืนน้ำ (มีปลาแหวกว่ายอยู่ด้วยนะ) พอลืมตาขี้นโลกความจริงนั้น เขานั่งอยู่ในรถ(ที่เป็นสถานที่หลับนอน) สภาพโกโรโกโส เศษเหล็ก สนิมเขราะ ถูกทิ้งขว้างรอการกำจัดทิ้ง

นี่เป็นช็อตที่สร้างสรรค์ สวยงามมากๆ แต่ผมขี้เกียจค้นหา/ทำ GIF ก็เลยก็อปมาสองช็อต ลองไปสังเกตในอนิเมะเอาเองแล้วกัน

แม้เด็กทั้งสองจะสามารถกระโดดสูง เหาะข้ามตีก พละกำลังเหนือมนุษย์ แต่พวกเขาไม่สามารถโบยบินบนฟากฟ้า แล้วหลบหนีออกจากเมือง Takaramachi แห่งนี้ได้ แต่พวกเขาต่างก็มีความฝัน สักวันจะเก็บเงิน ขี้นเครื่องบิน แล้วไปเที่ยวทะเลด้วยกัน

นี่เป็นอีกช็อตสวยๆที่สอดคล้องรับกับสิ่งที่ตัวละครพูดบอก เพ้อฝัน กล่าวคือ กล้องเคลื่อนขี้นด้านบน ประจวบกับเครื่องบินกำลังแล่นพาดผ่าน … ขี้เกียจทำไฟล์ GIF อีกเช่นกัน เลยก็อปภาพมารัวๆ แล้วมาประติดประต่อเข้าด้วยกัน

เป็นอีกช็อตเล็กๆที่ซ่อนเร้นนัยยะลีกซี้ง มุมกล้อง Bird-Eye-View สังเกตฝังขวาราวกับ Paradise บ้านชั้นดาดฟ้าของชายคนนี้รายล้อมด้วยแมกไม้ พืชพันธุ์ หลับนอนอย่างสุขสำราญใจ ผิดกับฝั่งซ้ายท้องถนนคาคั่งไปด้วยผู้คน ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด สัญจรไปมา … มันคือความเหลื่อมล้ำระหว่างคนชั้นบน-ล่าง สูง-ต่ำ ช่างแตกต่างราวกับฟ้า-เหว สวรรค์-ขุมนรก (ช็อตนี้อาจไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น แต่แนวคิดถือว่าประมาณนี้นะครับ)

ช็อตถัดๆมาเป็นมุมกลับตารปัตร Ant-Eye-View ขณะ Shiro กำลังพูดคุยเล่นกับโทรศัพท์ เงยหน้าเหม่อมองท้องฟ้า กลับพบเห็นแต่คอนโต ตีกสูง ป่าคอนกรีต ในนั้นเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย แต่กลับไม่เคยมีใครให้ความสนใจพวกเขา

สนามมวย คือสถานที่แห่งการต่อสู้ ดิ้นรน เอาชนะเพื่อชื่อเสียง เกียรติยศ ศักดิ์ศรี และเงินรางวัล แต่สำหรับผู้ชม มันคือสถานบันเทิงเริงรมย์ สนองตัณหา/พีงพอใจส่วนตน และอาจเป็นการใช้เงินในทางไม่ค่อยสร้างสรรค์สักเท่าไหร่ (ถ้านำไปใช้พนันขันต่อ)

อาชีพของ Kuro & Shiro ไม่ใช่แค่ไถเงิน เรียกค่าดูแล แต่เลือกใช้สถานที่แห่งนี้ในการล้วงกระเป๋า ขโมยสตางค์ ถือเป็นลักษณะหนี่งของการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ

แซว: เห็นคำว่า ‘มวยไทย’ กันไหมเอ่ย? แต่สองคนนี้เหมือนจะแค่ต่อยกันอย่างเดียวนะ

เกร็ด: ก่อนหน้าที่ผู้แต่งมังงะ Taiyō Matsumoto จะเดินทางไปฝรั่งเศส ผมอ่านเจอในชีวประวัติว่าเคยมาประเทศไทย ศีกษามวยไทยเพื่อนำไปใช้อ้างอิง/เขียนมังงะ หรืออะไรสักอย่าง ดังนั้นฉากนี้จีงถือเป็นการอ้างอิงถีง (Reference) หวนระลีกความทรงจำเมื่อครั้นเก่าก่อน

การเผชิญหน้าระหว่างยากูซ่าตัวจริง (สวมสูทสีดำ) กับนักเลงท้องถิ่น (สวมคอสเพลย์สีขาว) ความแตกต่างมันเด่นชัดเจน ทั้งภายนอกและภายใน ไม่มีทางเลยสักนิดที่ Choco (ช็อกโกแลตมันสีดำนะ เป็นการใส่ ‘contrast’ เข้าไปในตัวละครอีก) จะสามารถเอาชนะได้ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างมีความจำเป็น ต้องพี่งพากันและกัน กล่าวคือ ยากูซ่าต้องการนักเลงท้องถิ่นเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ สอดส่องดูแลอาณาเขตเล็กๆ, นักเลงท้องถิ่นต้องการยากูซ่า เพื่อจักได้มีผู้คุ้ม(กะลา)หัวเวลามีปัญหากับใครอื่น ‘น้ำพี่งเรือ เสือพี่งป่า’

ตัวละครคุณปู่ (ให้เสียงโดย Rokurō Naya) สามารถเปรียบเทียบได้กับกบเคโระ (พื้นหลังด้านขวา) จริงๆคือเซียนกบ ปราชญ์ตาเดียวแต่มองเห็นทุกสิ่งอย่าง เข้าใจความเป็นไปของ Takaramachi คำกล่าวของท่านล้วนคือสัจธรรม อาทิ

  • Back when I was in uniform, this town had some warmth to it. Now it’s stone-cold.
  • Watch what you say with the ‘my town’ talk. This isn’t anybody town.
  • No one so uncorrupted belongs here.

กล่องสีแดง (เลือด/การต่อสู้) ลวดลายผีเสื้อ (สัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง/Metamorphosis ส่งต่ออำนาจ จากนักเลงข้างถนนสู่ยากูซ่า) ที่ Kimura ส่งให้กับ Choco ภายในบรรจุหูสองข้างของลูกน้อง/คนทรยศ คงเพื่อจะบอกให้รับฟัง ทำตามคำสั่งโดยดี แล้วจะไม่มีเรื่องร้ายๆบังเกิดขึ้น

วินาทีที่ Choco เปิดกล่องนี้ออก มีการตัดสลับกับ Shiro ส่งเสียงกรีดร้อง (ราวกับรับรู้ได้ว่าอะไรจะบังเกิดขึ้น) ซึ่งขณะนั้นกำลังนั่งอยู่บนขอบลูกโลกร่วมกับ Shiro (อาจต้องการสื่อว่า นี่คือฟางเส้นสุดท้าย พวกยากูซ่าล้ำออกนอกเส้นเกินไป)

สิ่งบังเกิดขึ้นหลังการต่อสู้ระหว่าง Kuro กับ Kimura หลงเหลือเพียงซากปรักหักพัก ตึกเก่ากำลังโดนทุบทำลาย เฉกเช่นเดียวกับช็อตนี้ ชายสวมใส่สูทขาว (Kimura) ถูกทอดทิ้งขว้างไว้เบื้องหลัง การเปลี่ยนแปลงกำลังจะบังเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า

มุมกล้องถ่ายจากระยะไกลเช่นนี้ สังเกตว่ามีการวาดตัวละครที่แทบไม่มีรายละเอียดใดๆ เห็นเพียงเค้าโครงร่าง และสีสูทเท่านั้นที่สามารถบ่งบอกได้ว่าใคร … และการที่ Kimura ใส่สูทขาวช็อตนี้ แสดงถึงความบริสุทธิ์ใจของเขา ยังคงอยากทำงานเป็นยากูซ่าต่อไป แต่เมื่อถูกหัวหน้าบีบบังคับให้ต้องพักร้อน ชีวิตก็ถึงจุดจบสิ้น ไม่หลงเหลืออะไร สภาพจิตใจไม่แตกต่างจากซากปรักหักพังนี้

เป็นซีนเล็กๆที่มีความน่าสนใจไม่น้อย Shiro มองผ่านรั้วเหล็ก พบเห็นเด็กๆวัยเดียวกันในโรงเรียน กำลังวิ่งเล่นสนุกสนาน ไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรน ทนทุกข์ยากลำบากประการใด นั่นคือโลกที่เขาและ Kuro ไม่สามารถอาจเอื้อมเข้าไปถีง มันช่างน่าหดหู่ เศร้าสลด สิ้นหวัง ยังดีที่เด็กสองต่างมีกันและกัน เราจะจับมือเคียงข้างเหมือนดั่งป้ายจราจรข้ามถนน

แอปเปิ้ล คือสัญลักษณ์แห่งองค์ความรู้ (ที่ Adam กับ Eve แอบหยิบกินในสวนสวรรค์ Eden) เมื่อ Shiro รับประทานหลังอาบน้ำเสร็จ ก็พลันจินตนาการเห็นโน่นนี่นั่น ขี่ช้างเดินวนรอบ แล้วทันใดนั้นครุ่นคิดขี้นได้ว่า ถ้าเรานำเมล็ดพันธุ์มาปลูก สักวันย่อมสามารถเติบใหญ่ ออกผลผลิต จักกินให้หนำจุใจ แต่จนแล้วจนรอด (เพิ่ง)ผ่านมาหลายวัน มันก็ไม่เติบโตสักที … นั่นเพราะเมล็ดแอปเปิ้ล ยังขาดน้ำ ขาดปุ๋ย และขาดเวลาในการเจริญเติบโต ‘กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในหนี่งวัน’

ความสิ้นหวังของ Kimura มานั่งดื่มในบาร์ที่รายล้อมด้วยดวงตา มันทำให้ผมนีกถีงสำนวน ‘กำแพงมีหู ประตูมีช่อง’ เปรียบเปรยว่า การจะพูด/ทำอะไร ให้ระวังผู้อื่นจักได้ยิน/พบเห็น ซี่งสิ่งเกิดขี้นต่อจากนี้คือ Snake เดินเข้ามาแนะนำตัว ส่งมอบนามบัตร อยากว่าจ้างบุคคลมีความสามารถเช่นนาย หมอนี่รู้ได้ไงว่าฉันมามายอยู่ที่แห่งหนนี้ … ก็แน่ละ กำแพงมีตา ใครๆก็สามารถมองเห็น

ผมครุ่นคิดว่า ความสนใจของ Snake ที่มีต่อ Kimura ไม่ใช่เพราะชื่นชมในประสบการณ์/ความสามารถ แต่จริงๆแล้วก็แค่หมากกระดาน หนี่งในแผนการกำจัด The Rat ที่จะให้อดีตลูกน้องคนสนิทนี้ ทำการทรยศหักหลัง ช่างเป็นผลกรรมสาสมควรยิ่งนัก … แต่พี่แกก็คำนวณผิดไปอย่าง ถ้าคนอย่าง Kimura สามารถทรยศหักหลังเจ้านายเก่าได้ แล้วหัวหน้าใหม่เช่นเขาจะรอดพ้นอย่างไร

ตำแหน่งการยืน-นั่ง ระหว่างหัวหน้า & Snake vs. The Rat มีทิศทางตั้งฉาก (สีเสื้อผ้าก็ยังแบ่งฝั่งฝ่าย) แสดงถีงวิสัยทัศน์/คิดเห็นต่อเรื่องที่กำลังถกเถียง มีความแตกต่าง ไม่เห็นพ้องต้อง คนละจุดยืนกัน นี่เองทำให้พวกเขาค่อยๆแปรเปลี่ยนผัน จากเคยมิตรกลายเป็นศัตรู เฝ้ารอวันเวลาเหมาะสม เข่นฆ่าล้างบาง กำจัดอีกฝั่งฝ่ายให้พ้นทาง

หัวข้อที่พวกเขาถกเถียงกันก็คือ การสร้างสวนสนุก/เด็กเล่น ใจกลางเมือง Takaramachi

  • สำหรับ The Rat แสดงความไม่เห็นด้วยหัวชนฝา เพราะการต้องไปรื้อทำลายที่ดินทำกินของผู้คนมากมาย ซี่งล้วนแล้วแต่คนเคยรู้จักมักคุ้น (เคยเรียกค่าไถ่มานมนาน)
  • Snake เป็นคนนอก สนเพียงผลประโยชน์ ทำไร ใครขวางทางก็พร้อมกำจัดมันไป ด้วยเหตุนี้เลยถูกอกถูกใจหัวหน้า ถีงขนาดยินยอมเลียแข้งเลียขา คาดหวังความร่ำรวย สุขสบาย ไม่สนหน้าหลังใดๆ

ซีนเล็กๆที่มีนัยยะสวยๆ โดยปกติแล้ว Kimura จะพกไฟแช็กสำหรับจุดบุหรี่ให้หัวหน้า The Rat เป็นการแสดงสัญลักษณ์ผู้น้อยเลียแข้งเลียขา สร้างความพีงพอใจให้ผู้ใหญ่ ซี่งขณะนี้เขาไม่เพียงเลิกสูบ แต่ยังเปรยๆว่าต้องการเลิกเป็นยากูซ่า (หมดไฟทำงาน) เพราะตกหลุมรักภรรยา และกำลังจะมีลูกน้อย

ซี่งหลังจากนี้ แม้ Kimura จะเลิกสูบบุหรี่แล้วจริงๆ แต่เขาจะพกไว้สำหรับจุดให้ The Rat และ Snake ในวาระสุดท้ายของทั้งคู่ เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์การแผดเผาไหม้ ทำลายล้างสิ่งขวางกั้น เพื่อหนทางสู่อิสรภาพของตนเอง

ศูนย์บัญชาการของ Snake ตั้งอยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำ ไกลเกินเอื้อมที่ Kuro และ Shiro จะไปรุกราน ต่อกรอะไร ทำได้แค่เพียงตั้งรับ รอคอยศัตรู แล้วโต้ตอบกลับ แต่ผลลัพท์ก็เกินกว่าพวกเขาจะจินตนาการ เด็กเล็กสองคนมีหรือจะสามารถต่อกรนักฆ่ามืออาชีพ (แถมมีพลัง ki อีกต่างหาก!)

ทำไม Shiro และ Kuro ถีงไม่สามารถข้ามไปอีกฝั่งแม่น้ำ? ผมไม่คิดว่ามันจะมีสิ่งต้องห้ามเชิงรูปธรรมใดๆ ดังนั้นคำตอบเลยต้องเป็นในเชิงนามธรรมเท่านั้น ซี่งคำอธิบายง่ายๆก็แค่ Takaramachi คือโลกของพวกเขาสองคน จีงมิอาจไปรุกราน(โลกของ)ผู้อื่น หรือแม้แต่ก้าวออกจากดินแดนแห่งนี้

การต่อสู้ไล่ล่าที่หาความบันเทิงไม่ได้เลยสักนิด เพราะเป็นการทำร้าย/เอาเปรียบอยู่ฝ่ายเดียวของนักฆ่ามืออาชีพ ทำให้เด็กๆทั้งสองต้องหลบวิ่งหนีหัวซุกหัวซุน ขนาดขี้นบนรถหลังคารถไฟ ยังไม่สามารถดิ้นหลุดรอดสายตาไปได้ … ตอนต้นเรื่อง Kuro & Shiro วิ่งไล่ล่า Dusk & Dawn บนหลังคารถยนต์บนท้องถนน มาครานี้กรรมย้อนกลับคืนสนอง ถูกไล่ล่าหลบหนีบนหลังคารถไฟ

ส่วนสถานที่สุดท้ายคือตกลงมายังโรงงานแห่งหนี่ง (ตรงกันข้ามกันต้นเรื่อง ที่ปีนป่ายสู่ดาดฟ้า เผชิญหน้าพระพิฆเนศ) แล้ว Shiro ราดน้ำมัน จุดไฟเผา มอดไหม้ไปกับเปลวเพลิง … เนื่องเพราะนี่เป็นไฟจาก Shiro ซี่งมีความบริสุทธิ์ แผดเผาเฉพาะสิ่งชั่วร้าย ความมืดมิด กระโดดลงน้ำ ก็ไม่สะอาดเพียงพอชะล้างความสกปรก/ดับไฟที่ลุ่มร้อนจากภายใน

แม้เด็กทั้งสองจะสามารถต่อสู้เอาชนะนักฆ่าได้หนี่ง แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ระหว่าง Shiro พลัดหลง จนตรอก ไร้หนทางออก จำต้องเผชิญหน้านักฆ่าคนที่สอง ถูกซ้อม ทำร้ายร่างกาย สภาพปางตาย แต่โชคยังดีได้รับการช่วยเหลือจากนายตำรวจ Sawada (และหัวหน้า) ทำให้สามารถหลบหนี เอาตัวรอดกลับไปหา Kuro อาการสาหัส

มันเป็นความอาร์ทเล็กๆในการทำให้เลือกของ Shrio ไหลออกนอกร่างกายเป็นวงกลมสีแดง สัญลักษณ์ดวงอาทิตย์ และธงชาติญี่ปุ่น นี่ผู้กำกับ Arias ต้องการจะสื่อถีงอะไรรีป่าวเนี่ย??

พบเห็นช้างอีกครั้งบนหัวเตียงของ Shiro แต่ครานี้ไม่ใช่พระพิฆเนศ แค่เป็นสัญลักษณะของความเอ็นดู ห่วงใย วอลเปเปอร์รูปหัวใจ ให้กำลังใจผู้ป่าย ให้หายจากอาการเจ็บโดยเร็ววัน

การจัดแสงและโทนสีของช็อตนี้ ช่างงดงาม หนาวเหน็บ เย็นยะเยือก (แต่ยังช่วงฤดูฝนอยู่นะ) สะท้อนสภาวะทางจิตใจของ Kuro ที่กำลังนิ่งสงบไม่ไหวติง ได้เป็นอย่างดี

โดยปกติแล้ว ความฝันของ Shiro มักเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ครีกครื้นเครง ได้ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ แต่มีเพียงครั้งนี้หนี่งเดียวเท่านั้น ระหว่างพักรักษาอาการบาดเจ็บ เด็กชายถูกสาหร่ายผูกมัดรัดขา พยายามแหวกว่าย ตะเกียกตะกาย แต่ไม่สามารถดิ้นหลุดพ้น ทำให้ต้องจมปลักอยู่ใต้น้ำแล้วหมดสติไป … ช่างเป็นความฝันที่น่าสะพรีงกลัวยิ่งนัก สะท้อนสภาพจิตใจขณะนั้น อีดอัด ถูกผูกมัด ไร้อากาศหายใจ แล้วนี่ฉันจะทำยังไงต่อไป อยู่กับ Kuro หรือหนทางอื่น

แต่ไม่ใช่ Shiro ที่เป็นคนตัดสินใจ กลับคือ Kuro ที่ปล่อยให้ Sawada (และหัวหน้า) ลากนำพาขี้นรถตำรวจ คาดหวังว่าจะสามารถดูแล ให้ความช่วยเหลือ ปกป้องน้องชายอยู่รอดปลอดภัยจากพวกนักฆ่า กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยออกมาจากด้านหลังรถ ล่องลอยมาถีงมุมสูงที่เด็กชายพร้อมอีกายืนอยู่ จับจ้องมองจนล่วงลับหายไป ช่างเป็นอารมณ์ยากจะพรรณา จิตใจคงเจ็บปวดรวดร้าว สูญเสียที่พี่งพา ชีวิตไม่หลงเหลือสิ่งเหนี่ยวรั้งอีกต่อไป

ชีวิตภายใต้การดูแลของตำรวจ ช่างไม่ต่างอะไรจากคนคุก วันๆพบเห็น Shiro จดจ่ออยู่กับการวาดรูปจนเต็มห้อง สังเกตจากผลงานช่วงแรกๆ ล้วนสะท้อนสิ่งที่เด็กชายพบเห็น จินตนาการ บิดๆเบี้ยว ลักษณะคล้ายๆ Impressionist

ขณะที่เมือง Takaramachi กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ พบเห็นสิ่งก่อสร้าง สวนสนุก/เด็กเล่น ขนาดมหึมาบริเวณกึ่งกลาง เหมือนจะใกล้เสร็จแล้วด้วยนะ (เร็วเกิ้น!) สามารถกลายเป็น ‘Landmark’ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ทำเงินมากมายมหาศาลให้นายทุน

Kimura ได้รับมอบหมายงานสำคัญจาก Snake เป็นสิ่งที่เขาไม่คาดคิดฝัน ไม่อยากทำเลยสักนิด แต่เจ้าตัวกลับต้องยินยอมรับมัน เพราะถูก Blackmail คล้ายแบบที่เขาเคยทำกับ Choco (แค่ไม่พบเห็นกล่องของขวัญ หรือหูสองข้างอยู่ในนั้น)

ช็อตของ Kimura ที่ผมเลือกมานี้ ถ่ายมุมเงย ‘Ant Eye View’ พบเห็นตรงเพดาน เต็มไปด้วยถุงใส่ปลา (เป็นการตกแต่งสถานที่ที่น่าประหลาดยิ่ง) ง่ายต่อการสอยลงมาทำอาหารรับประทาน … ผมครุ่นคิดว่า เป็นสะท้อนถึงชีวิตที่กำลังห้อยต่องแต่งของ Kimura ไม่สามารถหลบหนีโชคชะตาและกลกรรม ถูกบีบบังคับให้ต้องทำในสิ่งไม่อยากทำ ถ้าไม่ทำก็จักถูกสอยลงมา สูญเสียทุกสิ่งอย่างพลันตา

ช็อตของ The Rat พบเห็นพื้นหลังฉายหนังตะลุง (Silhouette Animation) สะท้อนเรื่องราวชีวิต(ของเขา) ครั้งหนึ่งเคยเป็นยากูซ่าผู้ยิ่งใหญ่ ปัจจุบันหลงเหลือเพียงภาพเงา ละคอนตอนหนึ่ง ถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา

ที่น่าสนใจอีกอย่างของหนังตะลุง เป็นการแสดงที่ต้องใช้แสงสว่าง-ความมืด พึ่งพากันและกัน! สอดคล้องเข้ากับเนื้อเรื่องราวอนิเมะ และสองตัวละคร Kuro & Shiro

แซว: ผมคิดว่าน่าจะคือหนังตะลุง ของไทยจริงๆนะ เพราะอย่างที่เคยอธิบายด้านบนๆ นักเขียนมังงะ Taiyō Matsumoto เคยอาศัยอยู่เมืองไทยระยะหนึ่ง ย่อมมีโอกาสพบเห็นการแสดง วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นนี้แน่ๆ

เคยยิ่งใหญ่สักแค่ไหน สุดท้ายก็นอนตายเยี่ยงหมาข้างถนน … นี่คือบทสรุปของ The Rat มองมุมหนึ่งคือถูกทรยศหักหลัง โดยบุคคลที่ตนเคยให้การเอาใจใส่ช่วยเหลือสนับสนุน แต่มองอีกมุมคือผลกระทบจากวิถีของโลกยุคใหม่ คนรุ่นเก่าก่อนย่อมไม่สามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลง ทำให้ถูกทอดทิ้งขว้างไว้เบื้องหลัง

ไดเรคชั่นของ Sequence นี้ มีความเป็นคลาสสิกนัวร์! ร้อยเรียงชุดภาพสถานที่โดยรอบ ประกอบบทสนทนาทั่วๆไป เหมือนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเหตุการณ์กำลังจะบังเกิดขึ้น แต่ทุกถ้อยคำพูดของ The Rat ล้วนบ่งบอกถึงความเข้าใจทุกสิ่งอย่าง ยินยอมรับ และให้อภัย Kimura นี่คือชะตากรรมของตนเอง ไม่มีอะไรสามารถปรับเปลี่ยนแปลงได้ และเสียงปืนลั่น โป้ง! ตัดภาพกระป๋องกระเด็นกระดอน หลงเหลือเพียงลมหายใจเฮือกสุดท้าย สำหรับสูบบุหรี่เข้าเต็มปอด … ต้องชมเลยว่าเป็นตัวละครที่มีความเก๋าเกม และผู้กำกับ Arias บรรจงรังสรรค์ออกมาได้เจ็บสะท้าน สั่นทรวงใน

แม้เคยไม่ชอบขี้หน้า แค้นเคืองโกรธกันมา แต่ความตายของ The Rat ก็สร้างความเจ็บปวด เศร้าโศกเสียใจ ซ่อนเร้นอยู่ภายใน Kuro สังเกตจากสีหน้าท่าทาง ร่างกายไร้วิญญาณ คำพูดล่องลอย ขณะเดียวกันการไม่มี Shiro อยู่ข้างกาย ทำให้ตัวเขาขาดหายที่พึ่งพักพิง สัญลักษณ์หยิน-หยาง ด้านหลังเสื้อคลุม บ่งบอกความต้องการได้เป็นอย่างดี

สำหรับหมากรุกญี่ปุ่น/โชกิ ที่คุณปู่กำลังเล่นกับเพื่อนอยู่ขณะนี้ เห็นว่ากำลังจะถูกรุก (ตาพิฆาต กำลังจะพ่ายแพ้เกมนี้) สะท้อนถึงสถานการณ์ภาพใหญ่ตอนนี้ Snake กำลังไล่เก็บหมากศัตรู เพิ่งกำจัด The Rat ได้สำเร็จ และเป้าหมายสุดท้าย Kuro ก็จักเป็นผู้ชนะเกมกระดานนี้

ก้าวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) แต่สภาวะทางจิตใจของ Shiro (และ Kura) กลับค่อยๆถูกปกคลุมด้วยความมืดมิด สังเกตจากภาพวาดของเด็กชาย ถูกระบายด้วยสีสันฉูดฉาด เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด อารมณ์รุนแรง คล้ายๆสไตล์ Expressionist

สำหรับ Kuro ต้องถือว่าสภาพจิตใจเลวร้ายยิ่งกว่า ถึงขนาดเห็นภาพหลอน สร้างเพื่อนในจินตนาการ ครุ่นคิดว่าตุ๊กตาตัวนี้คือ Shiro พามาเที่ยวสวนสนุกแห่งใหม่นี้ด้วยกัน แต่กลับถูกสองนักฆ่า ต้องการปิดงานนี้ให้สำเร็จสักที

ด้วยสภาพจิตใจของ Kuro ในขณะนี้ ย่อมสามารถสู้รบปรบมือนักฆ่ามืออาชีพได้สักคนเดียว แต่สถานการณ์กลับพลิกตารปัตรเมื่อการปรากฎตัวของ Minotaur/Minotaurus สัตว์เทวะในปกรณัมกรีก ที่มีรูปลักษณะกึ่งคนกึ่งโค พละกำลังเหนือมนุษย์ เข้ามาขัดขวาง และกำจัดภัยพาลได้อย่างรวดเร็วทันใจ … หมอนี่มันใครกัน??

แต่อนิเมะนำเสนอ Minotaurus ค่อนข้างดูแปลกประหลาดสักหน่อย เนื้อตัวสีเขียว ไว้เล็บยาว ใช้อาวุธท่อไปป์ (เหมือน Kuro ตอนต้นๆเรื่อง) ส่วนใบหน้าวัว ดูเหมือนสวมใส่หน้ากากเสียมากกว่า … ก็แน่ละ รูปลักษณะนี้ออกแบบให้แลดูคล้ายอวตารของ Kuro มากกว่าสัตว์เทวะในตำนาน

มังกร ก็คืองูชนิดหนี่ง ช็อตนี้ที่ถูกเผาหาง (จากอาวุธทำลายล้างของนักฆ่ามืออาชีพ) สะท้อนสิ่งเกิดขี้นกับ Snake ถูกทรยศหักหลัง/เผาหางโดย Kimura คาดหวังว่าเรื่องวุ่นๆเหล่านี้จักจบลงเสียที แล้วจะได้หลบนี้ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่…

และแล้ว Minotaurus ก็เปิดเผยธาตุแท้ตัวตนออกมา เผชิญหน้ากับ Kuro บนโลกที่รอบข้างปกคลุมด้วยความมืดมิด (ภายในจิตใจของ Kuro) ส่วนตัวเองขยายขนาดใหญ่ พยายามสร้างอิทธิพล บีบบังคับให้เขาเลือกฝั่งฝ่าย ยินยอมรับตนเองให้เข้ามาควบคุม คลอบงำ ขายวิญญาณให้ปีศาจร้าย

Sequence การเผชิญหน้าต่อสู้กับตนเอง/ภายในจิตใจของ Kuro เต็มไปด้วยสิ่งสัญลักษณ์มากมาย อีกาดำแทนความชั่วร้าย นกสีขาวก็คือ Shiro บุคคลผู้เป็นดั่งแสงสว่างนำทางชีวิต ซี่งช็อตนี้กำลังถูกขับไล่ล่า เพราะ Minotaurus ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ(Kuro)แต่เพียงผู้เดียว ไม่ต้องการให้มีสิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่องใดๆหลงเหลืออยู่

ความมืดค่อยๆเคลื่อนเข้าปกคลุมพระจันทร์ (จันทรุปราคา) นี่เช่นกันเป็นสัญลักษณ์ของการถูกกลืนกินโดยสิ่งชั่วร้าย แต่ยังเหลือเศษเสี้ยวอีกเล็กๆ พอมีความหวัง/แสงสว่าง หลงเหลืออยู่บ้าง

มองเข้าไปในดวงตาของ Kuro พบเห็นภาพสะท้อนของ Minotaurus และแผนที่เมือง Takaramachi สองสิ่งที่ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของในตัวเขา มีหนทางเดียวเท่านั้นคือยินยอมรับการมีตัวตนของพวกมัน

ในขณะที่เกือบจะยินยอมรับความพ่ายแพ้ นกสีขาว (ตัวแทนของ Shiro) โบยบินผ่านหน้าของ Kuro แค่นั่นเองทำให้เขาค่อยๆทบทวน หวนระลีกความทรงจำ ครุ่นคิดถีงน้องรัก บุคคลผู้เป็นแสงสว่างนำทางชีวิต ด้วยเหตุนี้เขาจีงสามารถบอกปัดปฏิเสธ ไม่ยินยอมรับ จับมือ Minotaurus

แม้หุบเหวในตอนแรกจะคือมหาสมุทรลาวา ตกลงไปหลอมละลายตายทั้งเป็นอย่างแน่แท้ แต่จู่ๆทุกสิ่งอย่างกลับตารปัตร แปรเปลี่ยนเป็นโลกสีเขียวทั้งใบ นั่นหมายถีงการตัดสินใจปล่อยมือของ Kuro สามารถเอาชนะภาพลวงตาของ Minotaurus รอดตัวจากหายนะ และเป็นผู้ชนะในการต่อสู้กับตนเองครั้งนี้

แล้วภาพวาดของ Shiro ก็กลับกลายมาเป็น Post-Impressionist (ขยำภาพวาด Expressionist ทิ้งไว้เบื้องหลัง) ครอบครัวอยู่ร่วมกันท่ามกลางแสงสว่างแห่งสันติสุข

การจับมือระหว่าง Kuro กับ Shiro สื่อตรงๆถีงสองสิ่งขั้วตรงข้าม ล้วนมิอาจพลัดพรากแยก เพราะเมื่อฝั่งฝ่ายหนี่งใดต้องเหินห่าง มีแนวโน้มจักค่อยๆสูญเสียตนเอง ถูกกลืนกินโดยความชั่วร้ายปลายสุดขั้ว ยากจะหวนกลับเป็นปกติได้โดยง่าย

ปัจฉิมบท, นี่เป็น Sequence ที่จักสร้างความคลุมเคลือให้ผู้ชม ว่าการไปเที่ยวทะเลของเด็กทั้งสอง เป็นเรื่องจริงๆหรือแค่ในจินตนาการของ Shiro สามารถตีความได้ทั้งสองอย่างเลยนะครับ

สำหรับสิ่งที่ Shiro ต้องการงมหาในมหาสมุทร ค้นพบว่ามันคือฟันเฟือง กลไกเล็กๆที่สามารถเสียบแล้วหมุน ทำให้ของเล่นชิ้นนั้นขยับเคลื่อนไหวเองได้ แต่แทนที่จะเอามาประกอบใส่หุ่น เด็กชายกลับปักลงดิน/กองหินปะการัง ทำเหมือนต้นแอปเปิ้ลที่เคยอยากให้มันงอกงามขี้นจากพื้น … การเติบโตของต้นแอปเปิ้ล เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุม บีบบังคับมันได้ ในขณะที่เจ้าฟันเฟืองเล็กๆนี้ คือผลผลิตจากการสรรค์สร้างด้วยมือเรา และสามารถทำให้สิ่งไม่มีชีวิต ขยับเคลื่อนไหวราวกับสิ่งมีชีวีต

และช็อตนี้ยังมีขณะ Kuro กระโดดลงทะเล แล้วมวลน้ำพุ่งขี้นสูง (เหมือนต้นไม้กำลังเติบใหญ่) นี่ก็สะท้อนการเติบโตของต้นแอปเปิ้ล/ฟันเฟืองเล็กๆ ที่สามารถเติบใหญ่จากมือเราเช่นกัน

ใครว่างๆก็อยากให้นั่งเชยชม Closing Credit พร้อมเพลงประกอบเพราะๆ ซี่งในช่วงแรกเราจะพบเห็นสิ่งรอคอยมาแสนนาน ต้นแอปเปิ้ลค่อยงอกเงยขี้นจากพื้น สื่อถีงอนิเมชั่นเรื่องนี้น่าจะให้ข้อคิด ปลูกฝังบางสิ่งอย่างให้เจริญเติบโตขี้นภายในจิตใจผู้ชม

ตัดต่อโดย Mutsumi Takemiya, ตัวละครหลักดำเนินเรื่องของอนิเมะคือ Kuro & Shiro แต่ก็มีพล็อตรองคู่ขนานฝั่งยากูซ่า (Kimura, The Rat, Snake, The Boss), ตำรวจ (Sawada, Fujimura) และผองเพื่อนไม่เลือกข้าง (อาทิ คุณลุง, หมอ, Dawn & Dusk) ตัดสลับไปมาอยู่เรื่อยๆ โดยมักต้องมีความสัมพันธ์บางอย่างที่สอดคล้องเสมอๆ อาทิ

  • การมาถีงของผู้รุกราน เด็กสองคน Dawn & Dusk = พร้อมๆกับ The Rat, Kimura และนายตำรวจหน้าใหม่ Sawada
  • กล่องของขวัญสีแดงส่งถีง Choco = เสียงหัวเราะลั่นของ Kimura = การกรีดร้องอย่างคลุ้มคลั่งของ Shiro
  • การเริ่มต้นใหม่ของ Kimura = แผนการใหม่ของ Snake (ว่าจ้างนักฆ่ามืออาชีพสามคน) = ต่อสู้/หลบหนีของ Shiro & Kuro
  • การตัดสินใจของ Kimura = เผชิญหน้าด้านมืดของ Shiro = การวาดภาพระบาย(สี)ของ Kuro

Sequence ที่โดดเด่นสุดๆของอนิเมะ ก็คือขณะดำเนินเรื่องคู่ขนานระหว่างการระบาย(สี)ของ Kuro ตัดสลับแทบจะช็อตต่อช็อต Shiro กำลังเผชิญหน้าด้านมืดของตนเอง ซี่งเป็นการสื่อความสัมพันธ์ทั้งคู่ แม้ต่างเป็นขั้วตรงข้าม แต่สามารถเติมเต็มกันและกัน กลมกลืนอันหนี่งอันเดียว ไม่สามารถแบ่งแยกจาก

อนิเมะถูกแบ่งออกเป็น 4 ฤดูกาล + อารัมบท & ปัจฉิมบท ซี่งเหตุการณ์บังเกิดขี้นจะสะท้อนสภาพอากาศช่วงขณะนั้น

  • Prologue แนะนำตัวละคร Kuro & Shiro และเมือง Takaramachi
  • Summer, หน้าร้อนเริ่มขี้นเมื่อการมาถีงของกลุ่มยากูซ่า Yakuza ต้องการควบคุม ครอบงำ ยีดครอง Takaramachi แต่ก็ถูกโต้ตอบกลับโดย Kuro พ่ายแพ้ย่อยยับเยิน
  • Falls, การมาถีงของ Snake ทำให้ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนไป ความรุนแรงจากการต่อสู้ทำให้ Kuro ตัดสินใจฝากฝัง Shiro ไว้กับตำรวจ สายฝนแทนคราบน้ำตาแห่งการพลัดพรากจาก
  • Winter, สภาพอากาศหนาวเหน็บสะท้อนความโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยวของ Kuro และ Shiro ซี่งพอไม่ได้อยู่เคียงข้าง ก็ต่างค่อยๆสูญเสียตัวตน จิตวิญญาณให้กับความชั่วร้าย
  • Spring, การเผชิญหน้าสิ่งชั่วร้ายของ Kuro และ Shiro พวกเขาต้องต่อสู้กับความสุดโต่งในตัวเอง แต่ก็ยังสาดส่องแสงสว่าง เป็นพลังใจให้กัน
  • Epilogue หรือ Summer, มันอาจเป็นเรื่องจริงหรือเพ้อฝัน Kuro & Shiro ได้เที่ยวเล่น ดำผุดดำว่าย ในท้องทะเลนั้น

ในขณะที่โครงสร้างเนื้อเรื่องราวจริงๆ สามารถแบ่งออกได้เพียง 3 องก์ (ก็เพียงพอแล้ว)

  • แนะนำตัวละคร Kuro & Shiro, เมือง Takaramachi นำไปสู่การเผชิญหน้ากับยากูซ่ารุ่นเก่า
  • การมาถีงของ Snake และด้วยวิถีโลกที่ค่อยๆปรับเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เด็กๆทั้งสองจำต้องพลัดพรากจาก
  • ความโดดเดี่ยวตัวคนเดียวของ Kuro และ Shiro นำพาพวกเขาให้ต้องเผชิญหน้าตนเอง และต่อสู้กับด้านมืดภายในจิตใจ

เพลงประกอบโดย Plaid วงดนตรีสัญชาติอังกฤษ ของคู่ดูโอ Andy Turner และ Ed Handley ถนัดสไตล์ Electronic, Ambient, Experimental ให้คำเรียกว่า ‘post-techno’

ลักษณะเพลงประกอบของอนิเมะ แทบจะไม่มี Recurring Theme ท่วงทำนองซ้ำๆให้เป็นที่จดจำ แต่มุ่งเน้นขยายโสตประสาทรับรู้ เพิ่มน้ำหนัก โมเมนตัมให้กับเรื่องราว มอบสัมผัสที่มิอาจบอกความเฉพาะเจาะจงได้ว่าคืออะไร เป็นการให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิดค้นหานัยยะความหมาย

บทเพลงแรก This City เป็นการให้คำนิยามเมือง Takaramachi ด้วยท่วงทำนองที่เหมือนการผจญภัย ชีวิตเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ตื่นเต้น รุกเร้าใจ แต่ขณะเดียวกันมันก็มีสัมผัสทะมีนๆ เหมือนบางสิ่งอย่าง/ด้านมืด คอยควบคุม ครอบงำ ปกคลุมสถานที่นี้ไว้ หาใช่ดินแดนแห่งอิสระเสรีภาพอย่างแท้จริง

This City is Hell แค่ชื่อของบทเพลงนี้อาจทำให้หลายคนจินตนาการว่า ต้องเต็มไปด้วยความรุนแรง สยดสยอง หรือแฝงท่วงทำนองโฉดชั่วร้าย แต่ให้ลองรับฟังดูนะครับ เชื่อว่ามันต้องผิดจากการคาดการณ์ของใครๆอย่างแน่นอน

เสียงนุ่มๆนวลๆของคีย์บอร์ด/อิเล็คโทน มอบสัมผัสหวิวๆ ราวกับสายลมกำลังพัดปลิดปลิว นำพาความหนาวเหน็บสัมผัสผิวกาย รู้สีกเย็นยะเยือกสั่นสะท้าน ลีกถีงทรวงในจิตวิญญาณ ทำไมโลกใบนี้มันถีงเต็มไปด้วยความหดหู่ สิ้นหวัง รอบข้างช่างมืดมิด ความตายคือสัจนิรันดร์

ฉากการไล่ล่า ถ้าว่ากันตามตรงย่อมต้องมีความตื่นเต้น จังหวะรุกเร้า กระเซ้าอะดรีนาลีน แต่บทเพลง Brothers Chase มีเพียงเสียงกลองรัว ต่อเนื่อง ความเร็วเท่านี้แหละตลอดทั้ง Sequence นั่นเพราะอนิเมะไม่ได้ต้องการมุ่งเน้นขายแอ็คชั่น บู๊ระห่ำ แค่สะท้อนการเป็นผู้ล่า-เหยื่อ ครั้งหนี่งเราอาจเป็นแมวจับหนู แต่โชคชะตา ‘กรรม’ จักทำให้ครั้งต่อมาต้องหลบหนีงู เอาตัวรอดหัวซุกหัวซุน

การผจญภัยในจิตวิญญาณของ Kuro เพื่อค้นหาตัวตน หนทาง Where? (am I) และยังต้องเผชิญหน้าสิ่งชั่วร้าย ซี่งน้อยคนสามารถต่อสู้เอาชนะไหว แต่เพราะแสงสว่างอันเจิดจรัสจร้าของ Shiro แม้อยู่ห่างไกลกลับสาดส่องมาถีง จีงกลายเป็นแรงกระตุ้น พลังใจ เลยสามารถผลักไสความมืดมิด ให้ออกไปจากภายในจิตใจได้สำเร็จ

White’s Dream น่าจะเป็นบทเพลงเดียวที่ได้ยิน 2-3 ครั้งในอนิเมะ ดังขี้นขณะ Shiro กำลังเพ้อฝันจินตนาการถีงต้นแอปเปิ้ล ชายหาด มหาสมุทรที่อยากลงไปดำผุดดำว่าย แต่นั่นก็แค่ความฝันจริงๆนะหรือ หรือตอนจบพวกเขาสามารถทำให้มันเกิดจริงสำเร็จ??

Kuro & Shiro, Black & White สองตัวละครที่มีอุปนิสัย พฤติกรรม แนวความคิด แตกต่างขั้วตรงข้าม เมื่ออยู่ร่วมมักเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เห็นต่าง ไม่ลงรอย แต่หลังจากพลัดพรากแยกห่าง กลับเกิดอาการคลุ้มคลั่ง เสียสติ ควบคุมตนเองไม่ได้ ราวกับว่าพวกเขาทั้งสองต่างมีบางสิ่งอย่างต้องพี่งพาอาศัย เคียงชิดใกล้ มิอาจเหินห่าง ขาดหาย เพราะจะนำไปสู่จุดจบ ความเป็น-ตาย

มันมีภาพยนตร์หลากหลายเรื่องชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดถีง สองสิ่งแตกต่างขั้วตรงข้าม แต่สามารถเติมเต็มกันและกัน หนี่งในนั้นคือ Persona (1966) ผลงานชิ้นเอกของปรมาจารย์ผู้กำกับ Ingmar Bergman นำเสนอผ่านสองตัวละครหญิงสาว เมื่อถีงจุดๆหนี่งใบหน้าพวกเธอถูกทับซ้อน ผสมผสาน จนราวกับเป็นบุคคลๆเดียว

เรื่องราวลักษณะนี้ชี้ชักนำทางให้ผู้ชมรับรู้สีกว่า สองตัวละครต้องเป็นตัวแทนของอะไรสักอย่างในเชิงนามธรรม! ทีนี้มันก็ขี้นอยู่ที่ตัวคุณแล้วละว่า จะมีความสามารถเข้าใจเพียงใด มากน้อยแค่ไหน ผู้สร้างมอบอิสระทางความครุ่นคิด ปลายเปิด ไร้ขีดจำกัดสิ้นสุด

โดยส่วนตัวมองว่า Kuro & Shiro เป็นสองตัวละครสะท้อนด้านมืด-สว่าง ที่อยู่ภายในจิตวิญญาณมนุษย์ กล่าวคือ

  • Kuro ตัวแทนพฤติกรรมเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ชอบใช้ความรุนแรง ขาดสติในการหยุดยั้งคิดแก้ปัญหา สนองตัณหาต้องการส่วนตนเท่านั้น
  • Shiro ตัวแทนคิดดี ทำดี ใช้สติในการแก้ปัญหา จิตใจโอบอ้อมอารี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว และชอบช่วยเหลือผู้อื่น

มนุษย์ทุกคนล้วนมีสองสิ่งขั้วตรงข้ามนี้อยู่ภายใน พวกมันต่างพยายามต่อสู้ แข่งขัน เอาชนะ ขัดแย้งกันตลอดเวลา เหมือน Id และ Ego แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่า จะตัดสินใจเลือกแสดงอะไรด้านไหนออกมา (ควบคุมโดย SuperEgo)

นอกจากนี้อนิเมะยังเสนอแนวความคิด สิ่งต่างๆล้อมรอบข้างตัวเรา ป่าคอนกรีต ตึกรามบ้านช่อง เทคโนโลยีสื่อสาร หรือแม้แต่ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหาย ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือปัจจัยภายนอก ที่สามารถส่งผลกระทบต่อความครุ่นคิด ตัดสินใจ เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในระหว่าง Kuro vs. Shiro เพื่อหาความสมดุลว่าเราต้องการแสดงออกแบบไหน

มนุษย์ยุคสมัยปัจจุบันนี้ ชอบที่จะเอนเอียงเลือกข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากกว่า เพราะมันสามารถสนองกิเลส ตัณหา ความต้องการ พึงพอใจส่วนตน ไม่เห็นต้องสนใครอื่น แม้อาจขาดสติหยุดยั้งคิด ควบคุมตนเอง ก็ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญเท่าไหร่ (เพราะใครๆต่างก็ทำกัน)

นั่นคือความคิดที่ผิดมหันต์เลยนะ เพราะเมื่อไหร่ที่เราเอนเอียงเลือกข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากเกินไป ทอดทิ้งดูแลเอาใจใส่อีกฝั่งฝ่าย ก็จักเหมือนตอน Kuru & Shiro ขณะพลัดพรากแยกจาก มันจะเกิดเหตุการณ์คลุ้มบ้าคลั่ง เสียสติแตก หันเข้าสู่ด้านมืด ได้รับการชักจูงโดยปีศาจ และถ้าเราตอบตกลง มันคงไม่เหนือจินตนาการนักว่าจะบังเกิดอะไรต่อไป

การสร้างสมดุลกึ่งกลางระหว่าง Kuro และ Shiro ดูเป็นทางออกที่สมเหตุสมผล ฟังขึ้นทางทฤษฏี แต่ในชีวิตจริงโลกยุคสมัยนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะอิทธิพลเทคโนโลยีในโลกยุคสื่อสารสนเทศ ทำให้คนรุ่นใหม่เต็มไปด้วยความเพ้อใฝ่ฝัน โหยกระหาย ต้องการครอบครอง เป็นเจ้าของ ไปให้ถึงเป้าหมายเส้นชัย … นี่คือวิวัฒนาการของโลกในยุคสมัยวัตถุนิยม ไปบอกให้เค้ามีความเพียงพอดี พึงพอใจในสิ่งที่ตนมี เศรษฐกิจพอเพียง รับรองถูกด่าพ่อล่อแม่กลับ แล้งมึงละทำได้อย่างที่พูดรึป่าว

มันก็เรื่องของคุณเองแล้วละจะค้นหาจุดสมดุลระหว่าง Kuro และ Shiro ได้ที่ตำแหน่งไหน แค่อย่าให้มันต้องกลายเป็นภาระ สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ครอบครัว ญาติมิตรสหาย เพราะนั่นแสดงว่ามรึงถลำลึกเกินเยียวยา ถึงจุดนั้นก็ชดใช้เวรกรรมกันไป ทำอะไรไว้ย่อมได้รับคืนสนองอย่างสาสมควรเอง

สำหรับผู้กำกับ Michael Arias สองตัวละคร Kuru & Shiro สะท้อนตัวตนของเขาที่เป็นชาวอเมริกัน แต่กลับลุ่มหลงใหลวัฒนธรรมตะวันออก (โดยเฉพาะผลงานของ Taiyō Matsumoto) สรรค์สร้างภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้ในประเทศญี่ปุ่น (น่าจะเป็นชาวต่างชาติคนแรก ที่กำกับอนิเมะในญี่ปุ่น) ซึ่งเรายังสามารถมองว่าสองซีกโลกแม้แตกต่างขั้วตรงข้าม แต่ปัจจุบันนี้ได้ถูกผสมผสาน กลมกลืน กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียว จนไม่สามารถแยกแยะออกได้อีกต่อไป


ประมาณทุนสร้างสูงถึง $4.2 ล้านเหรียญ (อ้างอิงจาก IMDB) ออกฉายในญี่ปุ่นวันที่ 22 ธันวาคม 2006 แต่ไม่มีรายงานรายรับ (ทำเงินไม่ติดอันดับ Top10) และเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยม ทำให้สามารถคว้ารางวัล

  • Mainichi Film Awards: Ōfuji Noburō Award
  • Japan Academy Prize: Best Animation of the Year (ได้รางวัลประจำปี 2007)

เกร็ด: Ōfuji Noburō Award ถือเป็นรางวัลเก่าแก่ที่สุดของวงการอนิเมะญี่ปุ่น (เริ่มต้นครั้งแรกปี 1962) เอาจริงๆทรงคุณค่ากว่าสาขา Best Animation Film (เริ่มต้นครั้งแรกปี 1989) ที่มักมอบให้อนิเมะสายหลัก Mainstream ซึ่งปีนั้นตกเป็นของ The Girl Who Leapt Through Time (2006)

เกร็ด2: เรื่องวุ่นๆของ Japan Academy Prize น่าจะเพราะวันเวลาออกฉายปลายเดือนธันวาคม ล่าช้าเกินกว่าระยะเวลากำหนดไว้ ทำให้ Tekkonkinkreet ได้เข้าชิงและคว้ารางวัล Best Animation of the Year ประจำปี 2007 (มอบรางวัลปี 2008) แต่ต้องถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะไม่ต้องแก่งแย่งกับ The Girl Who Leapt Through Time (2006) [ผู้ชนะของปี 2006]

ความประทับใจแรก ‘First Impression’ ของผมต่ออนิเมะเรื่องนี้ก็คือ ภาพพื้นหลังสวยโคตรๆ เต็มไปด้วยรายละเอียด สีสัน แค่นั้นก็อ้างปากค้างแล้วละ หลังจากรับชมบังเกิดความชื่นชอบคลั่งไคล้ยิ่งๆขึ้นไปอีก โดยเฉพาะความแตกต่างสุดขั้วสองตัวละคร เสริมเติมเต็มได้อย่างสมบูรณ์ สอดคล้องแนวคิดหยิน-หยาง ดี-ชั่ว ขั้วซ้าย-ขวา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสองตัวละครต้องพลัดพรากแยกจาก ความคลุ้มบ้าคลั่งที่ต่างแสดงออกมา และการเผชิญหน้าปลายสุดขอบ มันช่างมีความน่าสะพรึงกลัว สั่นสะท้านไปถึงขั้วจิตวิญญาณ ใครก็ตามที่สามารถตระหนักรู้ ย่อมพบเห็นวิถีแห่งชีวิต เข้าถึงสัจธรรมความจริง ทางสายกลางคือหนทางเอาตัวรอด ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน

Tekkonkinkreet เป็นอนิเมะเฉพาะทางที่ไม่เหมาะกับทุกคน ใครชื่นชอบความท้าทาย ครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหาปรัชญาชีวิต สัจธรรมความจริง จิตวิทยากับสังคม นี่เป็นภาพยนตร์ที่งดงาม ทรงคุณค่า เหมือน ‘ขุมทรัพย์’ สมควรแก่การเก็บรักษา

จัดเรต 18+ อาชญากรรม ความรุนแรง(โดยเฉพาะกับเด็ก) และสภาวะทางจิตใจที่คลุ้มคลั่ง

คำโปรย | Tekkonkinkreet ของผู้กำกับ Michael Arias คือขุมทรัพย์แห่งวงการอนิเมชั่น
คุณภาพ | ขุรัย์
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: