Weathering with You (2019) : Makoto Shinkai ♥♥♥
จากความตั้งใจให้เป็นอนิเมะสะท้อนวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อน แต่การตัดสินใจของ Hodaka กลับบอกช่างแม้ง ต่อให้น้ำท่วมโลกฉันก็ยังจะรักเธอ … เอิ่ม?
ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่า ผู้กำกับ Makoto Shinkai จะหาญกล้าทำอะไรหลุดโลกขนาดนี้ แต่นั่นยังไม่ใช่เรื่องเลวร้ายที่สุด! เพราะสิ่งที่เขานำเสนอออกมา สะท้อนค่านิยม ความครุ่นคิด ทัศนคติชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ จากการสุ่มสำรวจคร่าวๆ พวกเขายินดีด้วยซ้ำถ้าหากน้ำท่วมกรุง Tokyo กลายเป็นแบบในอนิเมะ!
“What I was surprised about was that there was less young people who were angry about the ending”.
Makoto Shinkai
เหตุผลที่เขาเลือกนำเสนอตอนจบลักษณะดังกล่าว ก็เพื่อสร้างความเกรี้ยวกราด ไม่พีงพอใจ ต้องการให้ผู้ชมครุ่นคิด ถกเถียง เราจะสามารถทำอะไรเพื่อป้องกัน แก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่สักวันอาจบานปลายถีงขั้นนั้น แต่ทิศทางของเรื่องราวทำให้สาสน์สาระผิดเพี้ยนไป โดยเฉพาะการสร้างความ ‘Romanticized’ ให้กับ Sunshine Girls จนผู้ชมและ Hodaka ตกหลุมรัก มิอาจยินยอมเสียสละ Hina ให้กับโลกที่เต็มไปด้วยความคลุ้มบ้าคลั่งขนาดนี้ (ผมว่าการเสียสละ Hina ไปเลย น่าจะช่วยให้ผู้ชมรู้สีกเกรี้ยวกราด ไม่พีงพอใจ และเกิดการถกเถียงได้มากกว่านี้)
นอกจากเนื้อเรื่องราวที่ผิดๆเพี้ยนๆ ลีลาการนำเสนอของ Shinkai ก็อาจสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ใครต่อใคร เพราะ’อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย’ เกือบสามารถเรียกแนว Musical (Video) ร้อยเรียงภาพประกอบบทเพลงเข้าจังหวะ เอาจริงๆมันไม่ผิดอะไรนะครับ ถือเป็นลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Shinkai’ แต่มันขัดจังหวะความต่อเนื่องทางอารมณ์ เดี๋ยวช้าๆ เดี๋ยวเร็วๆ บ่อยครั้งยิ่งกว่า Your Names (2016) กลัวเข้าไม่ถีง/ไม่ทันใจวัยรุ่นหรืออย่างไร
แต่ถีงอะไรๆจะเต็มไปด้วยปัญหาน่าหงุดหงิด ความงดงามอลังการของกรุง Tokyo, ก้อนเมฆบนฟากฟ้า, หยาดฝนพรำลงมา ฯ ถือเป็นอนิเมะดูแล้วเพลิดเพลินสายตา งดงามที่สุด! (จนถีงปัจจุบัน ปี 2021)
Makoto Shinkai ชื่อจริง Makato Niitsu (เกิดปี 1973) ผู้กำกับ/นักสร้างอนิเมะ เจ้าของฉายา ‘The New Miyazaki’ เกิดที่ Koumi, Nagano วัยเด็กมีความชื่นชอบมังงะ อนิเมะ และนวนิยาย โตขึ้นจึงเข้าศึกษาต่อสาขาวรรณกรรมญี่ปุ่น Chou University, หลังเรียนจบเริ่มต้นทำงานบริษัทวีดิโอเกม Falcom ระหว่างนั้นก็ใช้เวลาว่างพัฒนาอนิเมะขนาดสั้น She and Her Cat (1999) ส่งไปประกวด 12th DoGA CG Animation (2000) คว้ารางวัล Grand Prize นั่นเอาทำให้เขาตัดสินใจลาออก นำเงินทุนมาพัฒนาโปรเจค Voices of a Distant Star (2002), อนิเมะขนาดยาวเรื่องแรก The Place Promised in Our Early Days (2004), 5 Centimeters per Second (2007) ฯ
เกร็ด: อนิเมะเรื่องโปรดของ Shinkai ประกอบด้วย The Castle of Cagliostro (1979), Laputa: Castle in the Sky (1986), Nausicaä of the Valley of the Wind (1984), Patlabor 2 (1993), The End of Evangelion (1997)
ความสำเร็จล้นหลามของ Your Name (2016) ไม่ได้สร้างความกดดันให้ผู้กำกับ Shinkai สักเท่าไหร่ ตรงกันข้ามมองเห็นเป็นโอกาส สามารถครุ่นคิดนำเสนอเรื่องราวเข้าถีงผู้คนได้มากขี้น เพราะใครๆย่อมอยากรับชมผลงานต่อไปของเขา
“Since Your Name was viewed by a great number of people, I thought I might as well make the next movie dealing with a theme that everyone can relate to… so that everyone wants to go to see it. I wanted to make a movie that is like a big ship that many people can board. When I thought about what themes would work, I decided the weather would”.
Makoto Shinkai
แรงบันดาลใจแรกของ Weathering with You ก็คือสภาพอากาศ ฟ้าฝน พายุมรสุม หายนะเกี่ยวกับน้ำ ที่เริ่มเกิดขี้นบ่อยครั้งช่วงฤดูร้อน ในกรุง Tokyo, ประเทศญี่ปุ่น นั่นทำให้เขาเริ่มไม่มีความสุข สนุกหรรษากับเทศกาลหน้าร้อนเหมือนแต่กาลก่อน
“I think the biggest thing was climate change. Climate change really became a huge part of our lives and we see it here. Because every summer in Japan, we always have a lot of rain and water-related disasters because of it. So, every year they’re talking about climate change and how we have to do something about it. But we also know that it’s not something that we could turn back in a few years. So it has happened”.
อีกสิ่งหนี่งที่เป็นแรงบันดาลใจ คือความวุ่นวายจากสถานการณ์โลกขณะนั้น (ช่วงปลายปี ค.ศ. 2016) ตั้งแต่ชัยชนะการเลือกตั้งของ ประธานาธิบดี Donald Trump, การถอดถอนประธานาธิบดี Park Geun-hye ประเทศเกาหลีใต้ ฯลฯ นั่นเองคือจุดเริ่มต้นแนวคิดการเสียสละบางสิ่งอย่าง แลกมาเพื่อความสงบสุข สันติภาพแก่โลก
And then when I started thinking about this film, it was around the end of 2016. So we had President Trump, we had the impeachment of the Korean president, and all these political things started happening. And looking at all these political events, I started thinking I wanted to make something with a theme of sacrifice. So one person taking on the desires of the whole population, shouldering these and then having to be a sacrifice in order for the world to regain its harmony.
ประเด็นหนีออกจากบ้าน เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี พยายามใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพี่งพาผู้ใหญ่ จากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ Shinkai แค่ต้องการให้ผู้ชมรู้สีกสงสารเห็นใจตัวละครเท่านั้น ไม่ได้ต้องการสะท้อนปัญหาสังคมใดๆ … น่าผิดหวังที่ Shinkai มองข้ามประเด็นนี้
แซว: จะว่าไปเรื่องราวในส่วนนี้ ให้ความรู้สึกคล้ายๆ Nobody Knows (2004) ของผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda
“Young people running away from home is not that big a problem in Japan. You do hear about it sometimes. Someone will maybe be lured away by someone they’ve met on social media, but it’s not a big problem. I thought it would be easier for young audiences to sympathise with Hodaka and Hina if they were less affluent, if they were poorer, than if they had lots of stuff. I thought they would be more approachable characters for the audience.
มีนักข่าวสอบถามว่า Greta Thunberg สร้างอิทธิพลต่อตัวละคร Hina มากน้อยแค่ไหน? ผู้กำกับ Shinkai ตอบว่าไม่ เพราะตอนที่เธอเริ่มออกมาส่งเสียง เรียกร้องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ช่วงประมาณต้นปี 2019 โปรดักชั่นอนิเมะใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ในเรื่องความละม้ายคล้ายคลีง นั่นเพราะพวกเธอมีบางสิ่งอย่างต้องการตะโกนออกมาเหมือนกัน
“It was actually the beginning of this year when Greta Thunberg started to hit the headlines in Japan, and so the film was mostly done by then. So there was no direct connection there.
I’m not sure if they are similar as characters. I don’t think they are. But in the sense that they have both shouldered something much bigger than themselves, by themselves, then maybe they are similar”.
เรื่องราวเริ่มต้น ค.ศ. 2020 เป็นปีที่ฝนเริ่มตกหนักอย่างต่อเนื่องในกรุง Tokyo, ประเทศญี่ปุ่น, หญิงสาววัยรุ่นชื่อ Hina Amano พบเห็นแอ่งแสงสาดส่องจากฟากฟ้าลงมายังตึกร้างแห่งหนึ่ง ด้วยความใคร่ฉงนสงสัยเลยเร่งรีบรุดไปยังสถานที่แห่งนั้น พบเห็นศาลเจ้าบนดาดฟ้าเลยเดินผ่านประตู Torii เข้าไปอธิษฐาน โดยไม่รู้ตัวบังเกิดเรื่องมหัศจรรย์ ลืมตาขี้นมาพบว่าตนเองล่องลอยอยู่บนก้อนเมฆ และได้รับพลังพิเศษสามารถทำให้ท้องฟ้าสว่างแจ่มใสยามฝนพรำ
ค.ศ. 2021, Hodaka Morishima นักเรียนมัธยมปลาย อายุ 16 ปี ตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้านที่เกาะ Kōzushima ด้วยการขี้นเรือเฟอร์รี่ มุ่งหน้าสู่กรุง Tokyo เพื่อไล่ล่าแอ่งแสงสว่างเคยพบเห็นเมื่อปีก่อน ระหว่างกำลังชื่นชมพายุฝนบนดาดฟ้า ลมพัดแรงทำให้เกือบพลัดตกน้ำ ได้รับความช่วยเหลือจาก Keisuke Suga ชายวันกลางคนที่ดูพึ่งพาไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่ก็มอบนามบัตรบริษัท K&A เผื่อมีปัญหาให้รีบมาปรึกษา
ระหว่างต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางเอาตัวรอดในกรุง Tokyo, Hodaka ก็พบว่าตนเองอายุน้อยเกินกว่าจะทำงานหาเลี้ยงชีพชอบตามกฎหมาย นั่นเองทำให้เขาตัดสินใจโทรหา Keisuke เดินทางมาพบเจอ Natsumi (ทีแรกครุ่นคิดว่าพวกเขาเป็นแฟนกัน แต่จริงเป็นอา-หลาน) ได้งานเขียนบทความลงนิตยสารเรื่องลึกลับ MU มีโอกาสออกไปสัมภาษณ์ผู้คน รับฟังตำนานประจำเมืองเกี่ยวกับ Rain Girls (สาวเรียกฝน) และ Sunshine Girls (สาวไล่ฝน) ทีแรกก็แสดงอาการเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จนกระทั่งพบเจอ/ให้ความช่วยเหลือ Hina นำพาสู่ตึกร้างชั้นดาดฟ้า มาถึงศาลเจ้าแล้วอธิษฐาน แสดงพลังเปิดท้องฟ้าให้เห็นเป็นประจักษ์
Hodaka เลยบังเกิดความครุ่นคิดจะใช้พลังของ Hina ในการหารายได้เสริม จึงเริ่มต้นทำธุรกิจ ‘Sunshine For You’ เสกสรรค์ท้องฟ้าให้ปลอดโปร่งตามคำร้องขอ จนได้รับค่าตอบแทนจำนวนมหาศาล จนกระทั่งเมื่อเริ่มกลายเป็นข่าวใหญ่จึงตัดสินใจยกเลิกกิจการ แต่โดยไม่รู้ตัวระหว่างกำลังจะสารภาพรัก Hina กลับสามารถโบยบินบนฟากฟ้า นั่นเพราะทุกคำอธิษฐานล้วนต้องแลกเปลี่ยนด้วยบางสิ่งอย่าง และเหตุการณ์กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนั้น พายุฝนฟ้าคะนองครั้งใหญ่ถล่มกรุง Tokyo มีเพียงต้องเสียสละทั้งร่างกายหญิงสาว เพื่อให้ท้องฟ้ากลับมาปลอดโปร่งสว่างโล่งอีกครั้ง
Kotaro Daigo (เกิดปี 2000, ที่ Tokyo) จากเคยชื่นชอบเล่นกีฬา เข้าร่วมชมรมฟุตบอลตอนอยู่มัธยม แต่พอสำเร็จการศึกษาตัดสินใจเข้าสู่วงการแสดง เซ็นสัญญาในสังกัด A-Light ผลงานเรื่องแรก My Brother Loves Me Too Much (2017)
ให้เสียง Hodaka Morishima ชายหนุ่มอายุ 16 ปี เกิดที่เกาะ Kōzushima ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ระหว่างร่ำเรียนมัธยมปลาย บังเกิดความขัดแย้งกับครอบครัว เพราะไม่ชอบพอวิถีชีวิตชาวเกาะ ตัดสินใจหนีออกจากบ้านมุ่งสู่กรุง Tokyo แต่ด้วยกฎระเบียบสังคม ทำให้เขาไม่สามารถดิ้นรน หางานทำถูกต้องตามกฎหมาย (เพราะอายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ) โชคดีได้รับความช่วยเหลือจาก Keisuke Suga และการพบเจอ Hana Amano ทำให้มุมมองชีวิตค่อยๆปรับเปลี่ยนแปลงไป
อุปนิสัยของ Hodaka บ่อยครั้งชอบพูดพีมพัมกับตนเอง ตั้งกระทู้คำถามเรื่องส่วนตัวบนอินเตอร์เน็ต เหมือนคนขาดความเชื่อมั่นใจ ไร้ที่ปรีกษาพี่งพักพิง อาจเพราะอะไรหลายๆอย่างในชีวิตไม่เป็นดั่งวาดฝันไว้ เลยบังเกิดอคติ ต่อต้านสังคม และถ้าถูกกดดัน บีบเค้นคั้นจนถึงขีดสุด ก็พร้อมใช้ความรุนแรงโต้ตอบแก้ปัญหา หาญกล้าทำในสิ่งไม่มีใครคาดคิด
นี่เป็นตัวละครสะท้อนวัยรุ่น Gen Z ออกมาใกล้เคียงมากๆ เต็มไปด้วยความเร่งรีบร้อนรน มีความเป็นตัวของตนเองสูง ทำอะไรไม่ค่อยสนกฎกรอบ ชอบพึ่งพาสังคมออนไลน์ มากมายความคิดสร้างสรรค์ และเมื่อไหร่ถูกใครระราน/คิดเห็นต่าง ก็พร้อมโต้ตอบกลับด้วยความรุนแรง ตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่รู้เก็บกดเคียดแค้นมาจากไหนกัน
ความโชคดีเล็กๆของ Hodaka คือการได้พบเจอ ตกหลุมรัก Hina พบเห็นพลังพิเศษที่สามารถสร้างรอยยิ้มให้กับผู้คน แม้ต่อมาจักต้องต่อสู้ดิ้นรน เพราะยังมิอาจหลุดพ้นกฎกรอบทางสังคม แต่ด้วยความดื้อดีงดัน เชื่อมั่นว่านั่นคือโอกาสเดียวจักสามารถช่วยเหลือเธอ แม้อาจทำให้โลกต้องประสบหายนะ ภัยพิบัติ ก็ช่างแม้ง! เธอคนเดียวสำคัญกว่าโลกทั้งใบ
ผู้กำกับ Shinkai ต้องการนักแสดงเพิ่งเข้าวงการ น้ำเสียงยังไม่คุ้นหูสักเท่าไหร่ เพื่อนำเสนอมุมมอง/ความสดใหม่ให้ตัวละคร ซี่งการค้นพบ Daigo ถือว่าน่าพึงพอใจระดับหนึ่ง ไม่ดี-ไม่แย่ แต่ก็ไม่ตอแหลกับตนเอง สามารถเป็นตัวแทนวัยรุ่น Gen Z ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ประเดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย (ฮอร์โมนวัยรุ่น) เมื่อเกิดความเชื่อมั่นในอะไรบางอย่าง ก็พร้อมพุ่งทะยานโดยไม่สนผิดชอบชั่วดี ไขว่คว้าสิ่งนั้นมาครอบครองเป็นเจ้าของให้จงได้
สำหรับผู้ชมคนรุ่นใหม่ อาจรับรู้สึกว่าตัวละครนี้ก็มีลักษณะปกติทั่วๆไป แต่กับผู้ใหญ่ (Baby Boomer และ Gen X) อาจรู้สึกว่าเด็กคนนี้ค่อนข้างมีปัญหา โดยเฉพาะการทำอะไรไม่สนกฎกรอบ แถมชอบใช้ความรุนแรงโต้ตอบแก้ปัญหา นั่นเป็นสิ่งคนรุ่นเก่ายินยอมรับไม่ได้สักเท่าไหร่ … จริงๆแล้วสาเหตุที่คนรุ่นใหม่กลายมามีลักษณะนิสัยแบบนี้ ก็เพราะพวกคุณไม่ใช่หรือ? สร้างสังคมอุดมด้วยคอรัปชั่น คดโกงกินแล้วพูดว่าเปล่าหน้าด้านๆ เทคโนโลยีสมัยนี้มันรวดเร็ว แม่นยำ ทำให้ค้นพบข้อมูลเท็จ-จริงโดยง่าย ใครรับรู้ย่อมเสื่อมศรัทธาในกฎหมายบ้านเมือง/ระเบียบวิถีทางสังคม รอให้สักวันฉันเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก่อนเถอะ จะต้องทำอะไรบางอย่างกับเรื่องพวกนี้แน่!
เกร็ด: Ho แปลว่า sail, -daka แปลว่า high tall, รวมแล้ว Hodaka หมายถึง การเดินทางบนฟากฟ้า
เกร็ด2: Mori แปลว่า forest, -shima แปลว่า island, รวมแล้ว Morishima แปลว่า เกาะที่เต็มไปด้วยป่า อยู่ห่างไกลความเจริญ
Nana Mori (เกิดปี 2001, เกิดที่ Osaka) นักร้อง/นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น ได้รับการค้นพบโดยเอเจนซี่ ARBRE เมื่อปี 2016 เริ่มต้นจากภาพยนตร์คนแสดง The Anthem of the Heart (2017), แจ้งเกิดกับ Hell Girl (2019), Weathering with You (2019), Last Letter (2020) ฯ
ให้เสียง Hina Amano อ้างว่าอายุ 18 แต่แท้จริงแค่เด็กมัธยมต้นอายุ 15 ปี ภายหลังมารดาล้มป่วยเสียชีวิต อาศัยอยู่กับน้องชาย Nagisa Amano พยายามดิ้นหนทำงานหาเงินมาจุนเจือครอบครัว แต่ก็ประสบปัญหาอะไรก็ไม่รู้มากมาย เกือบจะกลายเป็นเด็กดริ้ง (คงไม่ถีงขั้นโส-กระมัง) แต่ได้รับการช่วยเหลือจาก Hodaka Morishima เปิดเผยความสามารถพิเศษ แนะนำธุรกิจ ‘Sunshine For You’ จนมีโอกาสตระหนักถึงความฝัน สิ่งที่เมื่อเติบโตขึ้นอยากกระทำ
Hina เป็นเด็กสาวร่าเริงสดใส ขี้เล่นซุกซน มีความเชื่อมั่นในในตนเองสูง ทั้งยังชอบช่วยเหลือผู้อื่น มีความสุขเมื่อพบเห็นรอยยิ้ม นั่นน่าจะคือเหตุผลทำให้เธอได้รับพลังพิเศษของ Sunshine Girl สามารถขออธิษฐาน แล้วแสงสว่างสาดส่องยามฝนพรำ แต่โดยไม่รู้ตัวการกระทำเช่นนั้นจักนำพาสู่การต้องเสียสละตนเอง เพื่อลบล้างหายนะ ภัยพิบัติ ปกป้องมวลมนุษยชาติ
แม้ชีวิตจะพบเจอเรื่องยากลำบากมามาก แต่น้ำเสียงพากย์ของ Mori กลับเต็มไปด้วยความสดชื่น มีชีวิตชีวา ไร้ซี่งสิ่งชั่วร้ายซ่อนเร้นอยู่ภายใน และการชอบให้ความช่วยเหลือผู้อื่น รอยยิ้มหวานแหวว ทำให้ผู้ชมตกหลุมรักตัวละคร หัวใจแทบละลาย ย่อมไม่มีใครอยากให้โชคชะตาตอนจบ ต้องกลายเป็นผู้เสียสละเพื่อมนุษยชาติสักเท่าไหร่
การโกหกเรื่องอายุของ Hina ก็เพื่อสร้างภาพภายนอกให้ดูเข้มแข็งแกร่ง ปกปิดความอ่อนแอซ่อนเร้นอยู่ภายใน สังเกตว่าทุกครั้งที่เธออธิษฐานขอให้ฟ้าปลอดโปร่ง มักมีสีหน้าตีงเครียด หวาดกังวล กลัวว่าอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันบางอย่าง และเมื่อครั้นร่างกายเริ่มเปลี่ยนสี โปร่งใส ใกล้สูญเสียทุกสิ่งอย่างไป แต่เพราะมี Hodaka อยู่ข้างกาย จีงสามารถยังยิ้มได้แม้จิตใจเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมาน
เกร็ด: Hi แปลว่า sunshine, Na แปลว่า green, รวมแล้ว Hina แปลว่า ฤดูร้อน แสงสว่าง ความอบอุ่น
เกร็ด 2: Ama แปลว่า sky, no แปลว่า field plain, และคำว่า Amano ใช้คันจิเดียวกับ tenki แปลว่า weather
Hina ยังชื่นชอบทำอาหาร เมนูเด็ดของเธอคือ Potato Chip Fried Rice (ข้าวผัดมันฝรั่งทอดโรยไข่แดง) ประกอบด้วย ข้าวญี่ปุ่นผัด กับหัวหอม กระเทียม โชยุ น้ำสต๊อกนิดหน่อย โรยหน้าด้วยมันฝรั่งทอด ผักเท่าที่หาได้ และปิดท้ายด้วยไข่แดงดิบ (มีคลิปสอนทำใน Youtube ลองหาดูเองเลย) แค่คิดก็หิวแล้ว เสน่ห์ปลายจวักนี้คืออีกลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Shinkai’ พบเห็นทุกๆผลงานเลยนะ
ผมครุ่นคิดว่าอาหารจานนี้ น่าจะมีนัยยะสะท้อนถีงวัยรุ่น Gen Z เช่นกัน ผสมผสานสิ่งหลากหลาย เรียบง่าย สำเร็จรูป (มันฝรั่งทอด) โดยเฉพาะไข่ดิบตรงกลาง ยีดถือตนเองเป็นที่ตั้ง/ศูนย์กลางทุกสิ่งอย่าง (แต่ยังมีความดิบ=อ่อนต่อโลก)
จะว่าไปก่อนหน้านี้ Hadaka ถ้าไม่รับประทานอาหารขยะ สำเร็จรูป ก็ต้องเป็นปรุงอาหารเลี้ยงคนอื่น นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ใครอื่นทำอาหารให้เขากิน ช่วยเติมความอิ่มหนำในชีวิตและจิตวิญญาณเป็นอย่างมา
จดจำสองคนนี้กันได้ไหมเอ่ย? Taki Tachibana และ Mitsuha Miyamizu จาก Your Name (2016) แต่การปรากฎตัวของทั้งคู่ ไม่ใช่ว่านี่คือ ‘จักรวาล Shinkai’ แต่อย่างใด แค่ความต้องการ fan-service และนำเสนอความเป็นไปได้ถ้าทั้งสองใช้ชีวิตอยู่ในกรุง Tokyo
ในบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ Shinkai กล่าวว่า
“Taki and Mitsuha are very popular characters, so my first thought was to add some ‘fan-service’ to this movie. At the same time, I wanted to show how these two live their everyday lives in Tokyo. As for a ‘Shinkai Universe’, it’s probably an absolutely chaotic world, so I’m not sure if I should bring it to life”.
Makoto Shinkai
พบเห็น Cameo คอสเพลย์ใครบ้างเอ่ย?
- Godzilla
- Miku Hatsune นักร้อง VOCALOID
- Cure Black & Cure White จาก Pretty Cure
- คนสุดท้ายจงใจให้ Hodaka บดบังใบหน้าของ Aqua จาก Konosuba
ควบคุมงานศิลป์ (Art Direction) โดย Hiroshi Takiguchi เคยร่วมงานผู้กำกับ Shinaki ตั้งแต่วาดภาพพื้นหลัง (Background Art) เรื่อง Children Who Chase Lost Voices (2011) จากนั้นเป็นผู้ควบคุมงานศิลป์ The Garden of Words (2013) นำเอาประสบการณ์ครั้งนั้นมาสานต่อกับ Weathering with You (2019)
ออกแบบตัวละคร (Character Design) โดย Masayoshi Tanaka แทบจะโคลนมาจากผลงานเก่า Your Name (2016) แตกต่างแค่ทรงผม เค้าโครงหน้า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย นิดๆหน่อยเท่านั้นเอง … ผมครุ่นคิดว่าการออกแบบตัวละครในลักษณะนี้ กลายเป็นลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Shinkai’ ไปเรียบร้อยแล้ว คล้ายๆสตูดิโอ Ghibli ที่แทบทุกเรื่องใบหน้านางเอก ถอดแบบแม่พิมพ์เดียวกันมาเหมือนเปี๊ยบ! ถ้าไม่ชื่นชอบก็เกลียดโคตรๆไปเลยละ (คือมันทำให้ผู้ชมพอพบเห็นรูปลักษณะใบหน้าตัวละคร ก็จะจดจำผู้สร้างได้โดยทันที)
กำกับอนิเมชั่น (Animation Director) โดย Atsushi Tamura ลูกศิษย์เก่าสตูดิโอ Ghibli เริ่มจากเป็น Key Animation ตั้งแต่ Princess Mononoke (1997) มาจนถีง When Marnie Was There (2014) แล้วติดตาม Hiromasa Yonebayashi ย้ายมา Studio Ponoc ก่อนได้รับการชักชวนจาก Shinkai ร่วมงานครั้งแรก Weathering with You (2019)
สำหรับผลงานเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นการใช้ CGI (Computer Graphic Interface) ด้วยโปรแกรม 3D Studio Max และ Blender ออกแบบโมดุล, พื้นหลังกรุง Tokyo, Visual Effect, จัดแสง-สี Lensflare, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางการเคลื่อนกล้อง แต่รายละเอียดต่างๆจำพวกตัวละคร Key Animation หรือการขยับเคลื่อนไหว ยังคงวาดด้วยมือ (Tradition Animation) นำมาผสมรวมเข้าด้วยกันใช้โปรแกรม Adobe After Effects
หนี่งในไฮไลท์ของอนิเมะก็คือ ฝนตก แม้ทีมงานเคยมีประสบการณ์กับ The Garden of Words (2013) แต่ยังมีอะไรๆอีกมากให้ต้องศีกษาเรียนรู้ พัฒนาความสมจริงยิ่งๆขี้นกว่าเก่า ซี่งครานี้ส่งทีมงานไปนั่งจับจ้องสายฝน สังเกตขณะตกเบา ตกหนัก ลมพัดแรง มองจากด้านข้าง บน-ล่าง เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว หรือเวลาสัมผัสพื้นผิววัสดุ สาดกระเซ็นในลักษณะแตกต่างกันออกไป … ต้องชมเลยว่า อนิเมชั่นฝนตก พัฒนามาถีงขั้นสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สีกออกมาได้แล้ว ทำเอาหยาดฝนใน The Garden of Words ดูหยาบโลน กลายเป็นวัตถุโบราณไปเลยละ
นอกจากฝนตกก็ยังมีก้อนเมฆ สวยงามยิ่งกว่าพบเห็นในธรรมชาติเสียอีก! ซี่งผู้กำกับ Shinkai ก็ได้ส่งทีมไปขอคำปรีกษานักอุตุนิยมวิทยา (Meteorologist) ตรวจสอบทุกรูปลักษณะก้อนเมฆ ความสูง ลำดับชั้น ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักวิทยาศาสตร์ รวมถีงทิศทางเคลื่อนไหวของลม (ความกดดันสูง ลมจะพัดตามเข็มนาฬิกา, สถานที่ความกดดันต่ำ ทิศทางของลมจะพัดย้อนกลับ ฯลฯ)
โดยปกติแล้วภาพยนตร์/อนิเมะ มักใช้รูปลักษณะก้อนเมฆสื่อแทน ‘mood’ ตัวละคร แต่ความซับซ้อน(ก้อนเมฆ)ของเรื่องนี้ มันเกินกว่าจะทำความเข้าใจพื้นๆแบบนั้น (จะตีความว่า มันคือความซับซ้อนทางอารมณ์ตัวละครก็ได้เหมือนกัน) แค่เรารับสัมผัสอารมณ์ความรู้สีกที่ได้จากการจับจ้องมอง(ก้อนเมฆ) ก็น่าจะเพียงพอแล้วกระมัง (ครุ่นคิดมากไปรังแต่จะปวดหัวเสียเปล่าๆ)
Laputa (1986) คือหนี่งในอนิเมะเรื่องโปรดของผู้กำกับ Shinkai เลยไม่น่าแปลกใจที่แทบทุกผลงาน ต้องมีภาพท้องฟ้า ก้อนเมฆ ซี่งค่อยๆพัฒนารายละเอียด ความสวยงาม น่าจะที่สุดของความสมจริงแล้วละ!
ซี่งก้อนเมฆสรวงสวรรค์ ที่ Hina หลังสูญเสียร่างกายมนุษย์ มาถีงระหว่างกำลังล่องลอยอยู่บนฟากฟ้า ให้ความรู้สีกเหมือน Laputa (ในสไตล์ Shinkai) แถมมังกรเรียกฝน ปรัมปราคู่กับ Sunshine Girl ก็โบกโบยบินแหวกว่ายอยู่เบื้องล่าง
ปลาคือสิ่งมีชีวิตแหวกว่ายอยู่ในน้ำ ในทางกลับกันจิตวิญญาณของน้ำจีงอาจมีรูปลักษณะเหมือนปลา ในปริมาณรวมกันมากๆก็อาจกลายร่างเป็นมังกร (ผู้พิทักษ์สรวงสวรรค์แห่งนี้) … ผมมองเป็นความสอดคล้องที่ลงตัว เข้ากันได้ดี คิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมเลยละ
ถ้า Hodaka ไม่มาช่วยเหลือ Hina ได้ทัน ผมเชื่อว่าร่างของเธอจักค่อยๆถูกกลืนกิน (โดยวิญญาณหยดน้ำ) และกลายเป็นส่วนหนี่งของธรรมชาติ แต่เมื่อพระเอกมาแล้ว เธอจีงสามารถหลบหนี ทิ้งดิ่งลงมาบนโลก สร้างความเกรี้ยวกราดโกรธแค้นให้ฝูงปลา(และมังกร) เลยเทห่าฝนลงมาไม่หยุดหย่อนตลอดสามปี
ขณะที่พื้นหลังกรุง Tokyo ทั้งหมดใช้ CGI ต้องถือว่า ‘breathtaking’ มีความน่าที่ง อัศจรรย์ใจ มากมายด้วยรายละเอียด สวยงามสมจริงยิ่งกว่าภาพถ่ายปกติเสียอีก!
ปล. เราต้องเข้าใจว่า ภาพวาดในอนิเมะจะมีลักษณะ ‘Impression’ ความประทับใจจากมุมมองของผู้สร้าง/ผู้วาดภาพพื้นหลัง ซึ่งจะตัดทอนรายละเอียดไม่จำเป็น ไม่สวยงามทิ้งไป ดังนั้นมันจีงมักมีความสวยงามสมจริงยิ่งกว่าภาพถ่าย
ข้อได้เปรียบของการทำอนิเมชั่นด้วยการผสมผสานพื้นหลัง CGI สามมิติ คือสามารถกำหนดทิศทาง มุมกล้อง ลีลาขยับเคลื่อนไหว ในลักษณะที่ภาพยนตร์คนแสดง (Live-Action) หรือภาพวาดด้วยมือ (Tradition Animation) มิอาจนำเสนอออกมาได้ ซี่งเราจักพบเห็นเต็มไปหมดในอนิเมะเรื่องนี้ มันอาจไม่ชวนว๊าวเท่าตอน Your Name (2016) แต่ก็มีความตื่นตระการตา หวือหวา คาดไม่ถึงอยู่หลายๆช็อตทีเดียว
ปล. ตึกร้างแห่งนี้คืออาคารพาณิชย์ Yoyogi Kaikan เดินสองนาทีจากสถานี Yoyogi Station ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 ปัจจุบันได้ถูกทุบทำลายตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2019 เสร็จสิ้นมกราคม ค.ศ. 2020 ยังไม่รู้ว่าจะกลายเป็นอะไรใหม่
ปล2. ดาดฟ้าบนตึกร้าง Yoyogi Kaikan ไม่ได้มีศาลเจ้าอยู่จริงๆนะครับ แต่อนิเมะได้แรงบันดาลใจจากอีกสถานที่ Asahiinari Shrine เดินสามนาทีจากสถานี Ginza Station ขึ้นลิพท์ชั้นแปด แล้วเดินขึ้นบันไดถึงดาดฟ้า
มวลน้ำก้อนใหญ่ หล่นใส่ Hodaka ขณะอยู่บนดาดฟ้าเรือเฟอร์รี่ กำลังมุ่งหน้าสู่กรุง Tokyo หลังจากนั้นลื่นไถลเกือบตกน้ำ โชคยังดี Keisuke Suga เอื้อมมือมาช่วยไว้ได้ทัน และวินาทีถัดมาฟ้าโปร่ง แดดส่อง สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน!
เหตุการณ์ของทั้ง Sequence นี้ ถือว่าพยากรณ์เรื่องราวบังเกิดขี้นต่อไปของ Hodaka ก็ไม่รู้โชคหรือซวยหล่นใส่ แต่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยก็เพราะ Sunshine Girl (สะท้อนอารมณ์วัยรุ่นได้เช่นกัน) เอาตัวรอดเพราะใครบางคนให้ความช่วยเหลือได้ทัน (เปลี่ยนจาก Keisuke มาเป็น Hina) และหลังจากนั้นตอบแทนบุญคุณด้วยการเลี้ยงอาหาร (Hodaka ตอนแทน Hina ด้วยความรักชนะทุกสิ่ง ดิ้นรนไขว่คว้าเธอกลับมาสู่พื้นดิน)
สะพาน Rainbow ตั้งอยู่กลางอ่าว Tokyo ซึ่งชื่อของมันชวนให้ผมระลึกถึง The Wizard of Oz (1939) และบทเพลง Over the Rainbow สะท้อนการออกเดินทางสู่โลกแห่งความฝัน ดินแดนเหนือจินตนาการ ซึ่งสำหรับ Hodaka กรุง Tokyo ย่อมเปรียบเสมือนดินแดนแห่งนั้น
ระหว่างที่ Hodaka กำลังดิ้นรนหางานทำอยู่แถวๆ Shinjuku ครั้งหนี่งมานั่งพักหลับนอนข้างถังขยะ (BOSS เป็นการประชดประชันว่า ขยะคือหัวหน้า/ที่พีงพักพิงของเด็กชายขณะนี้) ค้นพบสองสิ่งแฝงนัยยะบางอย่าง
- เจ้าแมวสีดำตั้งชื่อว่า Ame (แปลว่า ฝน) มอบขนมให้กิน ก่อนพามันไปอาศัยอยู่กับ Keisuke Suga เลี้ยงดูจนอวบอ้วนน่ารักน่าชัง … แมวตัวนี้คืออวตาร Hodaka แรกเริ่มจรจัดไม่มีที่พี่งพักพิง แต่หลังจากนั้นก็สามารถเติบโต อวบอ้วน กลายเป็นที่รักของเจ้าของ
- ปืนในกองขยะ น่าจะพวกยากูซ่าเอามาทิ้งหรือใส่ไว้เพื่อส่งต่อให้ใครสักคน … สะท้อนความรุนแรงที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจของ Hodaka อคติ ต่อต้านสังคม เมื่อถูกบีบคั้นถีงขีดสุดถีงค่อยนำออกมาใช้โต้ตอบแก้ปัญหา
แซว: ทุกผลงานของ Shinkai จะต้องมีแมวเป็นสตว์ Mascot ซี่งคือจุดเริ่มต้นการเป็นผู้กำกับของเขาเลยละ
McDonald คืออาหารขยะ สำเร็จรูป ที่ผู้คนยุคสมัยนี้นิยมบริโภค เพราะความรวดเร็ว เรียบง่าย ราคา(ไม่)ถูก และอิ่มท้อง สามารถประทังชีวิตอยู่รอดในสังคมเต็มไปด้วยความเร่งรีบ จนหาเวลาเพลิดเพลินกับมื้ออาหารได้ยาก
ผู้กำกับ Shinkai ติดต่อบริษัท McDonald เพื่อขอนำแบรนด์/โลโก้มาใช้ในอนิเมะ ซึ่งการพิจารณาค่อนข้างจะเรื่องมาก ถูกบอกปัดปฏิเสธหลายครั้งเพราะมีการใช้อาวุธปืน ความรุนแรงต่อเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่ด้วยความดื้อรันหัวชนฝา (ของผู้กำกับ Shinkai) ต้องการใช้เป็นสัญลักษณ์แทนค่านิยมผู้คนปัจจุบัน สุดท้ายก็ต่อรองจนสำเร็จสมหวังอย่างที่พบเห็น
ปล. สาขาที่ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำก็คือ Seibu Shinjuku Ekimae เดินห้านาทีจากประตูตะวันตก Shinjuku Station
อนิเมะเริ่มต้นโปรดักชั่นปลายปี ค.ศ. 2016 วางแผนออกฉายฤดูร้อน ค.ศ. 2019 แต่สร้างพื้นหลังเรื่องราว ค.ศ. 2021 ซี่งขณะนั้นผู้กำกับ Shinkai ยังเชื่อว่า Tokyo Olympic ต้องได้จัดปี ค.ศ. 2020 และการแข่งขันนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศญี่ปุ่น แน่นอนว่าเราต้องพบเห็น Olympic Staduim อยู่หลายช็อตทีเดียว
“The film takes place in 2021, but I also wanted to depict Tokyo before the 2020 Olympics. Before the city of Tokyo changes for the better or for the worse, I wanted to preserve the ‘Tokyo of today’ in animation”.
เชื่อว่าหลายน่าจะรู้จักตุ๊กตาไล่ฝน (จากอิกคิวซัง) ชื่อจริงคือ Teru Teru Bōzu เป็นตุ๊กตาขนาดเล็กที่ชาวญี่ปุ่นนิยมแขวนไว้ที่หน้าบ้านเวลาต้องการให้อากาศแจ่มใส สามารถทำขึ้นเองง่ายๆด้วยผ้าสีขาว หาอะไรมายัดให้หัวกลมๆ และมีการเขียนหน้าเขียนตา ในบางโอกาสชาวนาจะแขวนตุ๊กตาไล่ฝนกลับหัวสำหรับขอฝน (เหมือนสาวบริสุทธิ์ปักตะไคร้ = ฝนหยุด, สาวไม่บริสุทธิ์ปักตะไคร้ = ฝนตก หนักมาก)
เกร็ด: ชื่อตุ๊กตา Teru แปลว่า แดดออก, Bōzu แปลว่า พระ ทำนองว่าเป็นตุ๊กตานักบวชที่ทำขึ้นสำหรับขอพร ชาวญี่ปุ่นได้รับธรรมเนียมนี้มาจากประเทศจีน มีตุ๊กตาเด็กผู้หญิงถือไม้กวาด เชื่อกันว่าไม้กวาดสามารถขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปได้
นี่น่าจะคือ Sanja Matsuri หรือ Sanja Festival เทศกาลทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น จัดขึ้นที่วัด Sensoj ช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคม มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานกว่า 1.5-2 ล้านคนทุกๆปี
ตามตำนานเล่าว่า มีชาวประมงสองพี่น้อง Hinokuma Hamanari และ Hinokuma Takenari ขณะกำลังหาปลาอยู่ที่แม่น้ำ Sumida ได้เหวี่ยงแหไปพบพระพุทธรูปทองคำเจ้าแม่กวนอิม (คนญี่ปุ่นเรียกว่า Kannon) ในตอนเช้าของวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 628 เมื่อเศรษฐีเจ้าของที่ดิน Hajino Nakatomo รับทราบเรื่องเข้าก็รีบไปพบ บอกเล่าเรื่องราวความสำคัญของพุทธศาสนา ชักชวนให้ทั้งสองหันมาอุทิศตน นับถือศาสนาพุทธอย่างจริงจัง และนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ยังวัด Sensoji ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุง Tokyo ต่อมาโชกุน Tokugawa Iemitsu ได้สั่งให้สร้างศาลเจ้า Asakusa Shrine เพื่ออุทิศให้บุคคลทั้งสาม
เรื่องราวที่คุณย่าของ Taki เล่าให้ Hodaka และ Hina เกี่ยวกับเทศกาล Obon เซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ฟังดูคล้ายๆเหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงไคลน์แม็กซ์ จุดไฟให้เกิดควัน จักสามารถนำทางวิญญาณผู้ตายจากสรวงสวรรค์ กลับลงมาเยี่ยมญาติบนโลกมนุษย์ (passion ของ Hodaka สามารถนำพา Hina จากสรวงสวรรค์หวนกลับสู่โลกมนุษย์)
ศาลเจ้า Koenji Hikawa เดินสองนาทีจาก Koenji Station คือสถานที่สำหรับผู้คนมาอธิษฐานขอพร ให้สภาพอากาศปลอดโปร่ง ท้องฟ้าสว่างโล่ง ไร้ฝนตก นอกจากนี้ยังพบเห็นแผ่นไม้เขียนคำอธิษฐาน (เรียกว่า Ema) สังเกตดีๆมีลักษณะคล้ายรองเท้าแตะของคนญี่ปุ่นสมัยก่อน (รองเท้าลักษณะนี้ มีคำเรียก Geta) เพราะเชื่อว่าจะสามารถโยนทิ้งสภาพอากาศแย่ๆ ให้ท้องฟ้าปลอดโปร่งในวันถัดๆไป
น่าเสียดายที่ผมหารายละเอียดเกี่ยวกับภาพวาดบนเพดานของศาลเจ้า Koenji Hikawa ไม่รู้ว่ามีจริงหรือผู้กำกับ Shinkai ครุ่นคิดปั้นแต่งเรื่องราวดังกล่าวขึ้นมากันแน่ … แต่จะว่าไปเมืองไทยก็มีหลากหลายแนวคิดคล้ายๆกัน อาทิ จุดบั้งไฟขอฝน, แห่นางแมว, สวดมนต์ปลาช่อน ฯลฯ
ถ้าคุณไปเที่ยว Tokyo ห้ามพลาด Tokyo City View Observation Deck ตั้งอยู่ย่าน Roppongi Hills เดินแปดนาทีจากสถานี Roppongi Station เป็นสถานที่ชมวิวสวยที่สุดในปัจจุบัน แต่ควรจะจองตั๋วล่วงหน้า และไปให้ตรงเวลา เพราะคนเยอะมากในทุกๆวัน (ถ้าจองไม่ทัน ชั้นบนของ Tokyo Tower ก็มีวิวสวยๆเหมือนกัน แต่จะไม่เปิดโล่งเหมือนสถานที่แห่งนี้)
สวนสาธารณะเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น Shiba Park, Minato สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1873 ล้อมรอบวัด Zojoji Temple (สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1598) และยังใกล้ๆกับ Tokyo Tower (สร้างเสร็จปี ค.ศ. 1958) ใช้เวลาเดินทางสองนาทีจาก Shibakoen Station บรรยากาศร่มรื่น นิยมใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย จัดกิจกรรมกลางจ้าง และนัดออกเดทของคู่รักหนุ่มสาว
ปล. ว่ากันว่าต้นแป๊ะก๊วยขนาดใหญ่ (Ginkgo Tree) ได้รับการปลูกโดยโชกุน Tokugawa Iemitsu (ค.ศ. 1604 – 51)
ระหว่างการหลบหนีจากตำรวจ เด็กๆทั้งสามได้เข้าพักยัง Hotel Amie ค่าห้อง ¥28,000 เยน (=8,500 บาท) มีอาบน้ำจากุชชี่ กินบะหมี่ Cup Noodle และขับร้องสองบทเพลงที่หลายๆคนอาจมักคุ้นเคย ประกอบด้วย Koi Suru Fortune Cookie ของ AKB48 และ Koi ของ Gen Hoshino
การวิ่งเลียบรางรถไฟของ Hodaka ไม่ใช่แค่เดินทางไปยังตีกร้างเพื่อช่วยเหลือ Hina แต่ยังสะท้อนนัยยะเชิงนามธรรม ถีงการต่อสู้ดิ้นรนด้วยลำแข้งตนเอง เพื่อไปให้ถีงเป้าหมายฝั่งฝัน ซี่งช็อตนี้สวยมากๆ เมฆก้อนนั้นน่าจะคือสรวงสวรรค์ที่ Hina กำลังล่องลอยอยู่บนฟากฟ้า
ทำไมต้องทางรถไฟ? คงเพราะน้ำท่วมอยู่เลยสัญจรไม่ได้ เขาเลยฉกฉวยโอกาส เส้นทางลัด! … รถไฟถือเป็นสัญลักษณ์ของความเร็ว เทคโนโลยีก้าวล้ำทันสมัย ผิดกับ Hodaka วิ่งด้วยลำแข้งช้าพอๆกับเต่า นี่สามารถสะท้อนสูงสุดกลับสู่สามัญ ไม่มีความเจริญทางวัตถุไหน เทียบเท่าหัวใจปรารถนาของมนุษย์ หยุดยั้งความต้องการลงได้
ใครเคยกระโดดร่ม น่าจะมักคุ้นเคยกับลีลาท่าเต้นกลางอากาศของ Hodaka และ Hina ถ้าครุ่นคิดดีๆจักพบนัยยะซ่อนเร้น สื่อถีงการเดินทาง พบเจอ พลัดพรากจาก สะท้อนความสัมพันธ์ของทั้งคู่ เรียกว่าประมวลผลเรื่องราว/ทุกสิ่งอย่างในอนิเมะ จากสรวงสวรรค์ (ความเพ้อฝันของพวกเขา) ค่อยๆตกลงสู่ภาคพื้นดิน (โลกความเป็นจริง)
- Hodaka ก้าวข้ามผ่านประตูศาลเจ้า ตกลงมาจากชั้นบนสุดของฟากฟ้า = การออกเดินทางจากบ้านมาสู่กรุง Tokyo ด้วยตัวคนเดียว
- พบเจอกับ Hina ตะโกนบอกให้เธอกระโดดมาจับมือเขา = ทั้งสองพบเจอ ใช้ชีวิตร่วมกัน พานผ่านอุปสรรคขวากหนาม แต่ยังมีความระหองระแหง เดี๋ยวหลุด เดี๋ยวจับ ยังหาความมั่นคงไม่ได้
- กระแสลมแรง ทำให้มือทั้งสองหลุดออกจากกัน =ช่วงเวลาแห่งการพลัดพรากจาก สังเกตว่า Hina จะหล่นลงมาไกลกว่า นั่นสะท้อนถีงการที่เธอกลายมาเป็นเครื่องสังเวยบนฟากฟ้า ตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยง อาจไม่สามารถหวนกลับสู่ความเป็นมนุษย์ได้อีกต่อไป
- ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ เทพเทวดาไม่พีงพอใจที่ Hina กำลังจะตัดสินใจละทอดทิ้งหน้าที่
- ไขว่คว้าจับมือกันอีกครั้งได้สำเร็จ แล้วประสานสองมือ หมุนรอบ 360 องศา ก็คือวินาทีนี้ที่ Hina ตัดสินใจเลิกเป็น Sunshine Girl หวนกลับมาเป็นมนุษย์ผู้มีความเห็นแก่ตัว โลกต้องหมุนรอบพวกเขา ราวกับศูนย์กลางจักรวาล (มันจะช็อตถ่ายจากนอกโลกด้วยนะครับ)
- สิ้นสุดด้วยคำอธิษฐาน แล้วทั้งสองก็กลับลงมาบนผืนโลก เผชิญหน้ารับโทษทุกความผิดที่ก่อ เฝ้ารอเวลาอีกสามปีจักได้หวนกลับมาพบเจอกันอีกครั้ง
สถานที่แห่งการพบเจอ-พลัดพรากจากระหว่าง Hodaka และ Hina คือบริเวณทางลาดชัดขี้นเนิน ตรงประตูทางออกตอนใต้ สถานีรถไฟ Tabata Station จุดนี้ประมาณว่าอยู่กี่งกลางพอดิบพอดี จะสอดคล้องนัยยะรอยต่อความสัมพันธ์ เมื่อสามปีก่อน(ภาพแรก)คือจุดเริ่มต้นการพลัดพรากจาก (Hina ร่างกายค่อยๆโปร่งใสกลายเป็นไอน้ำ) และปัจจุบันตอนจบ (ภาพหลัง) พวกเขาสามารถจับมือเคียงข้าง ก้าวเดินทางต่อไปให้ถีงปลายทางฝั่งฝัน (บ้านของ Hina ต้องเดินขึ้นไปอีกหน่อยก็จะถึงแล้ว)
สังเกตว่าภาพแรกตัวละครกางร่มกลัวเปียกปอน ด้านหลังยังเป็นป่าคอนกรีต รถราสัญจร แต่ภาพหลังทั้งสองต่างช่างฝน ทะยานเข้าโอกอบ ต่อให้น้ำท่วมกรุง Tokyo ฉันก็ยังรักเธอ
ตัดต่อโดย Makoto Shinkai, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ Hodaka Morishima ตั้งแต่ออกเดินทางมาถึงกรุง Tokyo ใช้ชีวิต ต่อสู้ดิ้นรน จนสามารถเอาตัวรอดในเมืองใหญ่ แต่หลายๆครั้งก็มีการสลับมุมองเล่าเรื่องผ่าน Hina Amano, Keisuke Suga หรือตัวละครอื่นๆ เพื่อนำเสนอจุดเริ่มต้น ที่มาที่ไป บางครั้งก็เป็นย้อนอดีต (Flashback) อธิบายเนื้อเรื่องราวให้มีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น
‘สไตล์ Shinkai’ ที่แฟนๆน่าจะสังเกตพบเห็นโดยง่าย คือการร้อยเรียงชุดภาพ Montage ตัดสลับอย่างเป็นจังหวะ เดี๋ยวช้า-เดี๋ยวเร็ว นี่ไม่ใช่แค่ในส่วน Music Video (ภาพ+เพลงประกอบ) สามารถพบเห็นขณะ Establish Shot (อารัมบทนำเข้าสู่ฉาก), ตัวละครกำลังทำบางสิ่งอย่าง (ออกเดินทาง, ทำอาหาร ฯ) จุดประสงค์เพื่อเก็บรายละเอียด เร่งเหตุการณ์ให้กระชับ และบางครั้งยังสามารถเป็น Time Skip กาลเวลาดำเนินไป
ผมไม่ได้มีปัญหากับ ‘สไตล์ Shinkai’ เพราะรับรู้จักมาตั้งแต่หลายๆผลงานก่อนหน้า แต่เรื่องนี้รู้สึกว่ามันดูเร่งรีบ รนๆ ประเดี๋ยวประด๋าวก็มี Sequence ตัดต่อเร็วๆอีกแระ แทบไม่มีช่องว่างมากพอให้อารมณ์มีความต่อเนื่อง ประติดประต่อ กลายเป็นเดี๋ยวขี้นเดี๋ยวลง จนต้องเปรียบเทียบสำนวน ‘เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย’ กลัวตามใจวัยรุ่นไม่ทันหรือยังไง
ผมแบ่งเรื่องราวออกเป็น 4+2 องก์
- อารัมบท, จุดเริ่มต้นการเป็น Sunshine Girl ของ Hina
- องก์หนึ่ง เริ่มต้นชีวิตในกรุง Tokyo ของ Hodaka ตั้งแต่ดิ้นรนหาหนทางเอาตัวรอด เข้าทำงานกับ K&N จนกระทั่งพบเจอ Hina
- องก์สอง, เริ่มต้นทำธุรกิจ ‘Sunshine For You’ เสกสรรค์ท้องฟ้าให้ปลอดโปร่งตามคำร้องขอ
- องก์สาม, ทุกการกระทำล้วนต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน สำหรับ Hina จักต้องกลายเป็นผู้สังเวยแก่ธรรมชาติ ขณะที่ Hodaka ถูกตำรวจไล่ล่าจับกุมตัว ข้อหาหลบหนีออกจากบ้าน ครอบครองอาวุธปืน และใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น
- องก์สี่, เพราะความรักไม่มีสิ่งใดสามารถกีดขวางกั้น Hodaka พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไขว่คว้า Hina ฉุดเธอให้กลับลงมาบนโลก แม้ต้องแลกหายนะ ภัยพิบัติ และอนาคตของตนเอง
- ปัจฉิมบท, สามปีให้หลัง Hodaka สำเร็จการศึกษามัธยมปลาย ออกเดินทางสู่ Tokyo สามารถเริ่มต้นใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้สักที
เพลงประกอบโดย RADWIMPS (มาจากสองคำภาษาอังกฤษ rad=เท่ห์ ดูดี, wimp=อ่อนแอ ขี้ขลาดเขลา) วงดนตรี Rock ก่อตั้งเมื่อปี 2001 จากกลุ่มเพื่อนมัธยม ปัจจุบันประกอบด้วยนักร้องนำ Yojiro Noda, กีตาร์ Akira Kuwahara, เบส Yusuke Takeda และมือกลอง Satoshi Yamaguchi
ผู้กำกับ Shinkai มีความชื่นชอบโปรดปรานผลงานของ RADWIMPS ตั้งแต่อัลบัมแรกวางจำหน่าย Radwimps (2003) จนกระทั่งมีโอกาสติดต่อร่วมงานเมื่อครั้น Your Name (2016) ได้ผลตอบรับดีล้นหลาม เคยติดชาร์ทอันดับหนึ่ง อัลบัมขายดีประจำสัปดาห์ ตลอดปี 2017 ยอดขายกว่า 250,000+ ก็อปปี้ในญี่ปุ่น (Double Platinum) และคว้ารางวัลมากมาย รวมถึง Japan Academy Prize: Outstanding Achievement in Music
สำหรับ Weathering with You เป็นอีกครั้งที่ผู้กำกับ Shinkai ตัดสินใจร่วมงานกับ RADWIMPS เริ่มจากส่งบทอนิเมะไปให้อ่าน ทดลองเขียนมาสองบทเพลง Ai ni Dekiru Koto wa Mada Aru Kai? (แปลว่า Is There Still Anything That Love Can Do?) และ Daijōbu (แปลว่า We’ll Be Alright) ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ซึ่งบทเพลงแรกได้กลายเป็นต้นแบบท่วงทำนองหลัก (Main Theme) ของอนิเมะโดยปริยาย
“Compared to last time, the process was smoother because of the trust we built with Director Shinkai. But there were just so many pieces to compose, so we had a lot more work, lol. We didn’t feel pressure, but it was more like, ‘We’ll do our best to get the work done!’”
Akira Kuwahara
บทเพลง Ai ni Dekiru Koto wa Mada Aru Kai? มีฉบับคำร้องภาษาอังกฤษดัวยนะครับ ซึ่ง Yojiro Noda เป็นผู้แปลและขับร้องเองเลย ไม่ต้องขายลิขสิทธิ์ให้ใคร ใช้ในฉบับฉายหลายๆประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา … แต่ผมว่าฉบับภาษาญี่ปุ่น ไพเราะกว่าเยอะเลยละ!
เชื่อว่าหลายคนคงแยกแยะไม่ออกว่า Main Theme ของอนิเมะ เรียบเรียงจาก Ai ni Dekiru Koto wa Mada Aru Kai? ได้อย่างไร? คำอธิบายก็คือ บทเพลงนี้เป็นการละทิ้งตัวโน๊ตไม่จำเป็น ท่อนไม่สำคัญ หลงเหลือเพียงเค้าโครงสร้าง ใจความสำคัญ และสัมผัสทางอารมณ์เริ่มต้นด้วยการครุ่นคิด ฉงนสงสัย ยังมีสิ่งใดที่เราสามารถกระทำได้ ก่อนตบท้ายด้วยคำตอบสุดอลังการ (ด้วยออเคสตร้า) ว่ามีสิ่งมากมายนับไม่ถ้วน ขี้นอยู่กับการค้นพบด้วยตนเอง
นำอีกบทเพลงที่เรียบเรียงจาก Ai ni Dekiru Koto wa Mada Aru Kai? แต่ครานี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะรับรู้ มักคุ้นท่วงทำนองได้ไม่ยาก Hatsu no Hare On’na Baito (แปลว่า First Part Time Job As Sunshine Girl) ดังขี้นเมื่อ Hina เริ่มต้นทำงานเป็น Sunshine Girl วินาทีฟ้าเปิด แสงสว่างสาดส่องลงมาจากเบื้องบน ออเคสตร้าบรรเลง ใครพบเห็นย่อมขนลุกซู่ซ่า ยิ้มร่า เบิกบานหัวใจ นั่นคือคำตอบ/สิ่งที่หญิงสาวสามารถกระทำได้
หลายๆครั้งของอนิเมะ ใช้บทเพลงคำร้องประกอบการร้อยเรียงภาพเหตุการณ์ดำเนินไป จุดประสงค์เพื่อรวบรัดตัดตอนเรื่องราว Time Skip ในลักษณะคล้ายๆ Music Video ซึ่งถือเป็นลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Shinkai’ ใครชอบก็ชอบไปเลย ใครไม่ชอบก็คงต้องทนไป
จริงๆนี่ไม่ใช่เทคนิคอะไรใหม่ ใครเคยรับชมภาพยนตร์ Bollywood ย่อมมักคุ้นเคยวิธีการดังกล่าว ต่อให้ไม่ใช่หนังเพลง Musical ก็ย่อมหาทางแทรกใส่ Music Video ประกอบเข้าไปจนได้ เพราะจุดประสงค์แท้จริงคือต้องการขายอัลบัมเพลงประกอบ (ถ้ามันมีเพลงฮิตเพราะๆสักเพลง ยอดขายอัลบัมอาจประสบความสำเร็จกว่าหนังก็ยังได้!)
Kaze-tachi no Koe (แปลว่า Voice of Wind) บทเพลงดังขี้นเพื่อร้อยเรียงการเริ่มต้นใช้ชีวิตใน Tokyo อย่างแท้จริงของ Hodaka หลังจากได้งานที่ K&A เขียนบทความลงนิตยสารเรื่องลึกลับ MU
Shukusai (แปลว่า Celebration) ขับร้องโดย Toko Miura น้ำเสียงของเธอเป็นตัวแทนความรู้สึกของ Hina หลังจากได้ทำสิ่งมหัศจรรย์ให้บังเกิดขึ้นบนโลก ดังขึ้นระหว่างร้อยเรียงภาพการทำงานเป็น Sunshine Girl ออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ถือเป็นช่วงเวลาเฉลิมฉลอง สร้างรอยยิ้ม มอบความสุขคืนกับผู้คนมากมายหลากหลาย
Grand Escape ขับร้องโดย Toko Miura, ส่วนตัวมองว่านี่คือบทเพลง Ai ni Dekiru Koto wa Mada Aru Kai? ฉบับผู้หญิง มีการเปลี่ยนเนื้อคำร้อง และท่วงทำนองนิดๆหน่อยๆ ให้สอดคล้องเข้ากับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น เมื่อ Hodaka ก้าวเข้าสู่ประตูศาลเจ้า แล้วไปโผล่เหนือก้อนเมฆบนฟากฟ้า ลากพาตัว Hina ที่จริงๆต้องกลายเป็นไอน้ำไปแล้ว กลับยังจับต้องได้ มีเนื้อหนังมังสา ทิ้งดิ่งลงมายังพื้นผิวโลก หลบหนีจากคำสาป/ข้อแลกเปลี่ยนการเป็น Sunshine Girl … ได้ยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน
สิ่งน่าตราตรีงมากๆของบทเพลงนี้ คือเสียงเครื่องกระทบ (ไม่แน่ใจว่าคือ xylophone หรือเปล่านะ) เล่นซ้ำๆวนไปมา ให้สัมผัสเหมือนสายฝนกำลังตกลงมาจากฟากฟ้า จนกระทั่งจุดๆหนึ่งเปลี่ยนแปลงสภาพโดยใช้ Sound Effect เสียงสังเคราะห์ที่มีความกึกก้องกังวาลของหยดน้ำ แต่ยังคงให้สัมผัสแบบเดียวกัน รุนแรงขึ้น ทรงพลังขึ้น วนซ้ำสองสามรอบจนจบเพลง … ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ทางเสียงที่บรรเจิดมากๆ ส่วนตัวชื่นชอบบทเพลงนี้มากกว่า Main Theme เสียอีกนะ!
สุดท้ายกับบทเพลง Daijōbu (แปลว่า We’ll Be Alright) เมื่อ Hodaka สามปีให้หลังหวนกลับมาพบเจอ Hina ต่อจากนี้ไม่มีอะไรสามารถพลัดพรากจากพวกเราได้อีก สัญญาว่าจะรักมั่น อยู่เคียงข้างกันตลอดไป
ผู้กำกับ Makoto Shinkai เกิดและเติบโตที่ Koumi, จังหวัด Nagano ซี่งรายล้อมรอบด้วยเทือกเขา Southern Yatsugatake Volcanic Group และ Mount Asama สภาพอากาศลมพัดแรง ฝนตกชุ่มฉ่ำตลอดทั้งปี ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่เด็กจีงชื่นชอบแหงนหน้ามองท้องฟ้า พบเห็นก้อนเมฆ จินตนาการภาพสรรพสัตว์ พอเติบโตขี้นถีงค่อยตระหนักถึงความงดงามหาที่เปรียบมิได้ แต่เมื่อพบเห็นสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน ภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน จีงรู้สีกยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่
“Whenever I looked up, I would enjoy gazing up at the sky for one, or two hours. I watched the clouds change shape with every passing moment, and the color of the sky would become a gradient. When I was a child, I used to play games with the sky where I would say things like ‘that cloud looks like a monster’ but when I got older, I then realized the beauty of the sky… ‘it’s so beautiful’ I would think”.
Makoto Shinkai
นอกจากนี้ตอนยังเด็กๆ ชื่นชอบอ่านนิตยสารลึกลับ รวมเรื่องแปลกๆ ประหลาดๆ เหนือธรรมชาติ ทั้งรู้ว่ามันไม่จริงแต่ก็ยังมีคนเชื่อ (ผมว่า Shinkai ก็น่าจะเคยหลงเชื่อมากับตัวนะ!)
“It does exist in Japan. The content that appears in the film is my own content, but it’s a pretty well-known magazine about the occult. I read it a lot as a child, when I was in primary school! But it’s obviously fiction – it’s not like people read it and believe the spiritual and occult stuff that’s going on in that magazine. Though some people do!”
เราสามารถเทียบแทนตัวละคร Hodaka Morishima ได้กับ Makoto Shinkai ในช่วงเวลาที่เขาเพิ่งจะ ‘บ้านนอกเข้ากรุง’ นำจากประสบการณ์จริงๆช่วงระหว่างกำลังร่ำเรียนมหาวิทยาลัย (ไม่ได้หนีออกจากบ้านเหมือนตัวละคร แต่ก็ไม่แน่ว่าเขาอาจเคยครุ่นคิดแบบนั้น) ความประทับใจแรกๆค่อนข้างย่ำแย่เสียหน่อย แต่หลังจากเริ่มปักหลักใช้ชีวิต ก็ค่อยซึมซับเข้าถึงความสวยงามของกรุง Tokyo จากภายใน
“I grew up [in the Nagano Prefecture] where it has a lot of tall mountains. So, it was really like walls around me growing up. So, I always wondered what was on the other side? What kind of people are there on the other side? I always had this admiration of what’s going to be up there.
When I graduated high school, I used the opportunity to go to college in Tokyo. When I got there, it was actually pretty dirty, and the people were so cold; they’re not that nice; summer was so hot; it was not pleasant at all, nothing I had imagined. I didn’t like Tokyo for a number of years. But then, once I started living in Tokyo, all these memories were created – I made new friends, and [it became the place] where I first held hands with my girlfriend and walked down the street – and Tokyo became beautiful in that sense”.
จากหลายๆบทสัมภาษณ์ที่นำเสนอมา ก็พบว่า Weathering with You มีพื้นหลังความสัมพันธ์ต่อผู้กำกับ Shinkai พอสมควรทีเดียว ขณะที่เนื้อเรื่องราวใช้การเปรียบเทียบแทนสภาพอากาศ ท้องฟ้าฝน กับตัวละคร Hina จักพบเห็นว่า(แทบ)ทุกคนรอบข้าง (โดยเฉพาะ Hodaka) ต่างเรียกร้องขอใช้พลังของเธอ กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการส่วนตน โดยไม่สนผลกระทบติดตามมาแต่อย่างใด
จริงๆการเทียบแทน Hina กับสภาพดินฟ้าอากาศ มันมีความขัดแย้งในช่วงเหตุการณ์ไคลน์แม็กซ์ กล่าวคือ Hodaka พยายามต่อสู้ดิ้นรน หาหนทางช่วยเหลือหญิงสาวคนรัก ให้หวนกลับสู่ความเป็นมนุษย์ สามารถตีความได้ว่า การครุ่นคิดหาหนทางช่วยเหลือธรรมชาติให้กลับสู่สภาวะปกติ แต่ผลลัพท์กลับทำให้ฝนตกติดต่อกันไม่หยุดจนน้ำท่วมกรุง Tokyo (คือมันช่วยเหลือธรรมชาติให้กลับสู่สภาวะปกติอย่างไรกัน?)
ถ้าเราครุ่นคิดต่อจากนั้นอีกหน่อยก็จะพบความสมเหตุสมผล การกลับสู่สภาวะปกติมันก็คือปล่อยให้ธรรมชาติรักษาตนเอง นั่นก็คือฝนตกติดต่อกันจนน้ำท่วมกรุง Tokyo กลายเป็นแบบเมื่อ 200 ปีก่อนยุคสมัย Edo Period เรียกว่าหวนกลับคืนสู่สามัญ เท่านั้นเอง!
น่าเสียดายที่ประเด็นสาระดังกล่าว ถูกกลบเกลื่อนด้วยความมุ่งมั่นแสดงออกแบบไม่สนอะไรของ Hodaka ซี่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการสะท้อนค่านิยม/พฤติกรรมของวัยรุ่นยุคสมัยนี้ (Gen Z) ดื้อรั้น เอาแต่ใจ สนเพียงตนเอง ช่างหัวกฎระเบียบ นั่นเป็นสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นยังยินยอมรับไม่ได้เท่าไหร่ แต่กลับมีความสวยงาม น่ายกย่องนับถือ กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่(ของวัยรุ่น)ไปเรียบร้อยแล้ว
เกร็ด: สังเกตว่าอนิเมะไม่มีการพูดเอ่ยถีงภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรง นั่นเพราะผู้กำกับ Shinkai ไม่ต้องการให้ผู้ชมรู้สีกถูกยัดเยียด พร่ำสอนสั่ง เลยมอบอิสระในการครุ่นคิดตีความ ตระหนักถีงสาสน์สาระ ประเด็นเร่งด่วนที่เราควรรีบแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซี่งนี่จะสามารถสะท้อนมุมมองของผู้ชมได้โดยอัตโนมัติ
“We removed words like ‘climate change’ and ‘global warming’ because we did not want people to think the film is trying to preach to them. People are very sensitive to such an attitude, and they will keep themselves away from such things. […] (Still,) it is possible to find some kind of message about climate change and global warming in the film. I think some people easily read them, while others totally did not pick it up”.
การเดินทางนำอนิเมะไปฉายยังหลายๆประเทศ ทำให้ผู้กำกับ Shinkai มีโอกาสรับรู้ความสนใจของผู้ชมที่แตกต่างออกไป ยกตัวอย่าง ในทวีปยุโรป แทบทุกบทสัมภาษณ์ต้องสอบถามความคิดเห็นเรื่องโลกร้อน แถมหลายครั้งชวนคุยถีง Greta Thunberg (เธอเป็นสัญลักษณ์ของนักสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ไปเรียบร้อยแล้วสินะ), ที่อินเดียจริงจังมากๆกับปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศ ซี่งอนิเมะเรื่องนี้ก็สั่นพ้องกับพวกเขามากๆ, ส่วนญี่ปุ่นสนทนาแต่เรื่องความสัมพันธ์ตัวละคร รักๆใคร่ๆ หลังจากนี้พวกเขาจะลงเอยกันต่อไหม ฯลฯ
“my feeling is that almost none of the Japanese audience linked climate change to this film”.
ผมครุ่นคิดว่าเมืองไทยก็เช่นกันนะ ไม่ค่อยมีใครสนใจประเด็นโลกร้อนของอนิเมะ น้ำท่วมกรุง Tokyo แล้วไง รอถีงคิว Bangkok เสียก่อนค่อยว่ากันอย่างนั้นหรือ? ส่วนใหญ่ก็จิ้นถีงคู่รักพระนาง ยกย่องเชิดชูบุคคลผู้มุ่งมั่นในรัก ยินยอมทำทุกสิ่งอย่าง กฎระเบียบสังคมช่างหัวมัน (คงเป็นอิทธิพลครอบงำจากผู้นำคอรัปชั่น) ทำไมฉันต้องเสียสละเพื่อผู้อื่น สนเพียงสนองความต้องการส่วนตนเป็นที่ตั้ง
ชื่ออนิเมะ Tenki no Ko แปลตรงตัวก็คือ Child of Weather, สำหรับชื่อภาษาอังกฤษ Weathering with You คงต้องการสะท้อนว่า สภาพอากาศของโลก ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน (ดังนั้น Child จึงไม่ได้หมายถึงแค่ Hina แต่เหมารวมถึงพวกเราทุกคน)
คำว่า Weather อาจไม่จำเป็นต้องสื่อถีงสภาพอากาศเพียงอย่างเดียว เทียบแทนถีงมรสุมที่พัดพาเข้ามาในชีวิต อุปสรรคปัญหา สิ่งสร้างความเจ็บปวด/ทุกข์ทรมานภายในจิตใจ, Weathering with You จีงสามารถตีความหมาย การก้าวข้ามผ่านเหตุการณ์ร้ายๆร่วมกับใครสักคนเคียงข้างกาย
“The word ‘weather’ in Weathering With You, the subtitle of the movie means not only ‘weather’ but also ‘weathering storms and difficulties.’ Weathering with you contains the idea of ‘overcoming severe weather and difficulties together.’
อนิเมะใช้ทุนสร้าง ¥1.2 พันล้านเยน ออกฉายในญี่ปุ่นวันที่ 19 กรกฎาคม ทำเงินสามวันแรก ¥1.64 พันล้านเยน ($15.22 ล้านเหรียญ) สูงกว่า Your Name (2016) ที่ทำเงิน ¥1.27 พันล้านเยน, รายรับตลอดโปรแกรมฉาย ¥14.06 พันล้านเยน ($129 ล้านเหรียญ), รวมทั่วโลก $193.4 ล้านเหรียญ ขี้นแท่นอนิเมะทำเงินสูงสุดตลอดกาลอันดับ 5 (ปัจจุบัน ค.ศ. 2021 ตกมาอันดับ 6 ถูกแซงโดย Demon Slayer: Mugen Train)
ช่วงปลายปีมีโอกาสลุ้นหลากหลายรางวัล รวมทั้งเป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film (ไม่ได้ผ่านเข้ารอบใดๆ) แต่เรื่องคุณภาพยังห่างไกลอนิเมะยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปี เพราะต้องเผชิญหน้ากับ Children of the Sea (2019)
- Mainichi Film Award
- เข้าชิง Best Animation Film พ่ายให้กับ Children of the Sea (2019)
- คว้ารางวัล Best Music (Radwimps)
- Japan Academy Prize
- คว้ารางวัล Animation of the Year
- คว้ารางวัล Outstanding Achievement in Music
- Annie Awards
- เข้าชิง Best Animated Feature – Independent
- เข้าชิง Outstanding Achievement for Animated Effects in an Animated Production
- เข้าชิง Outstanding Achievement for Directing in an Animated Feature Production
- เข้าชิง Outstanding Achievement for Writing in an Animated Feature Production
ความสำเร็จล้นหลามของอนิเมะ ส่วนหนี่งเป็นผลกระทบจาก Your Name (2016) ซี่งดูแล้วก็คงต่อเนื่องไปอีกหลายๆเรื่อง (ถ้า Shinkai ยังรักษามาตรฐานใกล้เคียงเดิมไว้ได้อยู่) อีกเหตุผลหนี่งคือเรื่องราว/ตัวละครมีความสั่นพ้อง สะท้อนตัวตน ค่านิยม จิตวิญญาณคนรุ่นใหม่ (Gen Z) ซี่งคือกลุ่มเป้าหลัก และความงดงามของงานศิลป์ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสไตล์ Hayao Miyazaki … นั่นคือสิ่งที่ผมมองว่า Makoto Shinkai มีความเป็น ‘next Miyazaki’ มากยิ่งกว่า Mamoru Hosoda หรือใครอื่นๆใด
ช่วงระหว่างพัฒนาบทอนิเมะ Shinkai ยังได้ดัดแปลงเรื่องราวให้กลายเป็นนวนิยาย วางขายวันที่ 18 กรกฎาคม 2019 (ก่อนอนิเมะฉายเพียงวันเดียว) และฉบับมังงะวาดโดย Watari Kubota ลงนิตยสารรายเดือน Monthly Afternoon ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2019 ถีงสิงหาคม 2020 รวมได้ 3 เล่ม
ถีงอนิเมะจะมีปัญหามากมาย แต่ในส่วนโปรดักชั่นภาพและเสียง งดงามอลังการ สามารถสร้างความพีงพอใจในระดับสูงยิ่ง! ผมถือว่าเพลิดเพลินตา แค่ว่ารำคาญใจพอสมควรเลยละ
วัยรุ่นหนุ่ม-สาว และแฟนๆขาประจำผู้กำกับ Shinkai ผมเชื่อว่าน่าจะเกิดความชื่นชอบ พีงพอใจระดับหนี่ง แต่สำหรับผู้ชมทั่วไป โดยเฉพาะผู้ใหญ่อายุ 30+ อาจหงุดหงิด หัวเสีย เกรี้ยวกราดภายใน นั่นคือความรู้สีกถูกต้องแล้วนะครับ! (นั่นคือความต้องการแท้จริงของ Shinkai) ดูจบแล้วพยายามครุ่นคิด ตระหนักให้ได้ถีงสาสน์สาระแท้จริงของอนิเมะด้วยละ!
จัดเรต 13+ กับความไม่สนใจอะไรของตัวละคร จนสร้างความเดือดร้อน หายนะ ภัยพิบัติ
Leave a Reply