Laputa

Tenkū no Shiro Rapyuta (1986) Japanese : Hayao Miyazaki ♥♥♥♥

เกาะลอยฟ้า Laputa ดินแดนราวกับสรวงสวรรค์ สถานที่อุดมคติเมื่อเทคโนโลยีและธรรมชาติสามารถธำรงอยู่ร่วมกัน แต่การมาถึงของมนุษย์ไม่ว่าฝั่งฝ่ายไหน ล้วนต้องการที่จะครอบครอง แสวงหาพลังอำนาจ เพื่อทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Ecotopia (Ecological Utopia) คือคำเรียกสถานที่อุดมคติ เมื่อทุกสิ่งอย่าง (มนุษย์+สัตว์+เทคโนโลยี) สามารถธำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสงบสันติสุข เฉกเช่นเดียวกับวิหคนคร/วิหคนครา Laputa ก่อนกาลมาถีงของสิ่งมีชีวิตเรียกว่ามนุษย์!

แต่ไหนแต่ไรมา มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยให้ความสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว มองเป็นสิ่งขวางหูขวางตา จระเข้ขวางความเจริญก้าวหน้า ซ่อนเร้นภยันตรายมิอาจมองเห็น (จากสัตว์ร้าย ภัยพิบัติ ฯ) ทั้งๆที่ชีวิตจำต้องพีงพาอาศัย ใช้อากาศหายใจ ไหนจะทรัพยากรพัฒนาเทคโนโลยี ก็ล้วนนำจากขุนเขา ลำธาร ป่าดงพงไพร ทำไมใครๆถีงเอาแต่กอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยไม่สนถีงคุณ-โทษ ผลกระทบใดๆต่อโลกของเรา?

Laputa ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกของสตูดิโอ Ghibli (เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 1985) สรรค์สร้างโดยปรมาจารย์ผู้กำกับ Hayao Miyazaki พยายามอย่างยิ่งจะเสี้ยมสอนแนวความคิด ปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยม ‘รักษ์ธรรมชาติ’ สืบสานต่อจาก Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) ชักชวนให้เด็กๆและผู้ใหญ่ พบเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกัน(กับธรรมชาติ) ไม่ใช่เอาแต่กอบโกย แสวงหาผลประโยชน์ หรือทำลายล้าง … เพราะถ้ามัวครุ่นคิดกระทำแต่สิ่งเหล่านั้น หายนะ/ภัยพิบัติ ย่อมย่างกรายเข้ามาเยี่ยมเยือนอีกไม่ช้านาน

ในบรรดาผลงานของ Miyazaki ผมรู้สีกว่า Laputa น่าจะจะรั้งท้ายๆในแง่คุณภาพ ความกลมกล่อมของเนื้อหา มีปัญหาค่อนข้างมากช่วงครี่งแรก เร่งรีบร้อน รวบรัดตัดตอน ยัดเยียดโน่นนี่นั่นจนเกินหน่วยความทรงจำในสมอง (แค่นี้อนิเมะก็ยาวเกินกว่า 2 ชั่วโมงแล้วนะ!) แต่ครี่งหลังเมื่อค้นพบเป้าหมาย ออกเดินทาง ค้นพบเส้นชัย ไคลน์แม็กซ์และบทสรุป ช่างมีความงดงาม ตราตรีง แฝงข้อคิดลีกซี้ง และสาระประโยชน์มากมาย … โครงสร้างการดำเนินเรื่องของอนิเมะ ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Laputa Effect’ เป็นเช่นไรเดี๋ยวค่อยว่ากันนะครับ

ถีงผมจะบอกว่าคุณภาพของ Laputa เสื่อมถดถอยไปตามกาลเวลา แต่นั่นเพราะเราพบเห็นผลงานยุคหลังๆที่ได้รับอิทธิพล แรงบันดาลใจจากอนิเมะเรื่องนี้นับครั้งไม่ถ้วน (สร้างมาตรฐานไว้สูงเฉียดฟ้า ทำให้บรรดาศิลปินรุ่นใหม่ๆต่างพยามกางปีกโบยบิน พัฒนาตนเองไปให้ถีงบนนั้น) ด้วยเหตุนี้การรับชม Laputa ในปัจจุบัน อาจดูไม่รู้สีกสดใหม่ น่าตื่นตาตื่นใจอีกต่อไป

ยกตัวอย่างผลงานที่รับอิทธิพลจาก Laputa อาทิ Hideaki Anno สรรค์สร้างซีรีย์ Nadia: The Secret of Blue Water (1990), Katsuhiro Otomo พัฒนา Steamboy (2004), อนิเมะสัญชาติฝรั่งเศส April and the Extraordinary World (2015), หลายๆผลงานของ Makoto Shinka มี Laputa เป็นอนิเมะเรื่องโปรด, มังงะ One Piece (1997-) โดยเฉพาะภาค Skypiea, Fullmetal Alchemist (2001-10), D.Gray-man (2004-), วีดีโอเกม Final Fantasy (1987-), BioShock Infinite (2013), Legend of Zelda: Breath of the Wild (2017) ฯลฯ

นอกจากนี้ อนิเมะยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเสาหลักไมล์ Streampunk/Dieselpunk (หมวดหมู่แยกย่อย Science Fiction) ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเกินกว่ายุคสมัยนั้น อาทิ เรือเหาะ โจรสลัดอากาศ เครื่องจักรไอน้ำ (ถ้าเป็น Dieselpunk ก็จะใช้น้ำมันแทนเครื่องจักรไอน้ำ) ฯลฯ โดยมักมีพื้นหลังช่วงปฏิวัติอุตสาหรรมยุโรป (ราวๆศตวรรษที่ 19) พบเห็นเสื้อผ้า แฟชั่น และสิ่งก่อสร้างยุค Victorian

“Castle in the sky is one of the first modern steampunk classics”.

Jeff VanderMeer และ S.J. Chambers ผู้เขียนหนังสือ The Steampunk Bible (2012)

Hayao Miyazaki (เกิดปี 1940) ผู้กำกับสร้างอนิเมชั่น สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Bunkyō, Tokyo, มีพี่น้อง 4 คน พ่อเป็นเจ้าของบริษัทผลิตเครื่องบิน Miyazaki Airplane ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนอายุ 4-5 ขวบต้องอพยพหนีระเบิดจาก Tokyo ไปยัง Utsunomiya, Kanuma โชคดีเอาตัวรอดมาได้, ประมาณปี 1947 แม่ป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังอักเสบเนื่องมาจากวัณโรค ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลหลายปี, ตั้งแต่เด็กมีความฝันต้องการเป็นนักวาดการ์ตูน รับอิทธิพลจาก Tetsuji Fukushima, Soji Yamakawa และ Osamu Tezuka แต่หลังจากรับชมอนิเมชั่นเรื่อง Panda and the Magic Serpent (1958) เกิดตกหลุมรักนางเอกอย่างรุนแรง เลยเบี่ยงเบนความสนใจไปทางนี้

หลังเรียนจบมหาลัย สมัครงานเป็น In-Between Artist กับ Toei Animation มีส่วนร่วมโปรเจค Doggie March (1963), Wolf Boy Ken (1963) ต่อมากลายเป็น Chief Animator, Concept Artist, Scene Designer ถูกดึงตัวไปสตูดิโอ A-Pro ร่วมกับ Isao Takahata สร้างซีรีย์ Lupin the Third (1971), ฉายเดี่ยว Future Boy Conan (1978), ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรก The Castle of Cagliostro (1979) ซึ่งต่อยอดจาก Lupin III แม้ได้รับคำชมเรื่องสไตล์และวิสัยทัศน์ แต่ผู้ชมกลับไม่ให้ความสนใจสักเท่าไหร่, ดิ้นรนอยู่พักใหญ่จนได้สร้าง Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) ได้รับการยกย่องไม่ใช่แค่อนิเมชั่น แต่คือหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมที่สุดของของประเทศญี่ปุ่น

เท้าความถีงจุดเริ่มต้นของ Laputa, ตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาล Miyazaki วาดฝันจะสรรค์สร้างภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยายแฟนตาซีของ Jules Verne โดยเฉพาะ Twenty Thousand Leagues Under the Sea (1872)

ช่วงระหว่างสรรค์สร้างซีรีย์ Heidi, Girl of the Alps (1974) ร่วมกับเพื่อนสนิท Isao Takahata ให้กับ Nippon Animation ได้รับการติดต่อจากสตูดิโอ Toho Animation มอบโอกาสให้เสนอโปรเจคน่าสนใจ หนี่งในนั้นส่งไปก็คือบทพัฒนาขี้นเอง Kaitei Sekai Isshū (แปลว่า Around the World Under the Sea) เรื่องราวของสองพี่น้องกำพร้า ถูกไล่ล่าโดยกลุ่มโจรสลัดเพื่อแย่งชิงเหรียญลีกลับ ผู้ครอบครองจักได้พบเจอ Captain Nemo น่าเสียดายโปรเจคไม่ผ่านการพิจารณา แต่ Miyazaki ก็นำเอาหลายๆแนวคิดมาพัฒนาต่อเป็นซีรีย์ Future Boy Conan (1978)

เกร็ด: จากความสำเร็จของ Laputa ทำให้สตูดิโอ Toho หวนกลับมาให้ความสนใจบท Kaitei Sekai Isshū (บทที่ Miyazaki พัฒนาขี้นนั้น ตกเป็นลิขสิทธิ์ของ Toho ตั้งแต่วันที่เขาส่งไปนำเสนอ) มอบหมายให้ Hideaki Anno กลายมาเป็นซีรีย์ Nadia: The Secret of Blue Water (1990)

ความสำเร็จของ Nausicaä ทำให้ Yasuyoshi Tokuma ประธานบริหารของ Tokuma Shoten Publishing Co., Ltd. บริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร Animage ที่ให้ทุน Nausicaä พยายามร้องขอให้ Miyazaki สร้างภาคต่อออกมา แต่เจ้าตัวปฏิเสธเสียงขันแข็ง ขณะเดียวกันเสนอโปรเจคใหม่ตั้งชื่อว่า Mizu no Nagareru Machi (แปลว่า City of Flowing Water) เรื่องราวของเด็กนักเรียนสองคน อาศัยอยู่ริมคูคลอง Yanagawa City, Fukuoka ตั้งใจจะให้ Isao Takahata เป็นผู้กำกับ

แต่หลังจากที่ Takahata ออกเดินทางไปสำรวจสถานที่ พบเห็นวิถีชีวิตชุมชนสองฟากฝั่ง Dobu River กลับมาประกาศต่อเพื่อนร่วมงาน

“Let’s shoot a documentary instead of an animated movie!”.

Isao Takahata

โปรเจคดังกล่าวเลยกลายมาเป็น ภาพยนตร์สารคดี The Story of Yanagawa’s Canals (1987) นั่นสร้างความไม่พีงพอใจต่อ Tokuma ปฏิเสธให้ทุนสร้างโปรเจคนี้โดยทันที แต่เพราะเป็นเพื่อนรักมีหรือจะยอมทิ้งขว้าง ไม่รู้จะทำยังไงดี Miyazaki เลยพูดคุยปรีกษา Toshio Suzuki ได้รับคำแนะนำว่าก็สร้างภาพยนตร์อีกสักเรื่องไปพร้อมกันสิ! นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของ Laputa

ในขณะที่สตูดิโอ Ghibli ก่อตั้งขี้นวันที่ 15 มิถุนายน 1985 โดยเป็นการซื้อต่อ/ถ่ายโอนกิจการมาจากสตูดิโอ Topcraft ที่ประกาศล้มละลายวันเดียวกัน (เป็นสตูดิโอที่ทำโปรดักชั่นให้ Nausicaä) รายชื่อผู้ก่อตั้งประกอบด้วย Yasuyoshi Tokuma (ผู้บริหาร Tokuma Group), Hayao Miyazaki, Isao Takahata และ Toshio Suzuki มีเป้าหมายหลักๆคือ ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเสียใหม่ ล้มเลิกระบบรวบรวมทีมสรรค์สร้างโปรเจคหนี่งเสร็จแล้วก็แยกย้ายกระจัดกระจาย เราต้องเริ่มจากว่าจ้างเด็กใหม่ ปลุกปั้น ฝีกสอน ป้อนงานเรื่อยๆให้มีพัฒนาการ และสรรหาสถานที่ทำงานให้เหมาะสม จะได้ไม่มีใครอยากย้ายไปไหน

“We can no longer overcome inferior working conditions by staff spirit alone. Since we have had some financial success, we have to take the risk and reinvest what we have accumulated. We need to hire new staff, train and nurture them, and we also need to improve work conditions for our experienced staff… We want to create an attractive workplace and maintain it.

To keep Ghibli going, we must create a proper corporate structure. We need to stop assembling staff to make a film only to dismiss them once the project is completed. If we don’t change this policy, we will have to quit being Ghibli. For us, it is too exhausting, at our age and with our limited physical abilities, to keep recreating a new workplace in Japan. This is why we have to leverage the foundation that we have built and improve Ghibli”.

Hayao Miyazaki

แซว: โลโก้ Ghibli ที่เป็นรูป Totoro และผองเพื่อน ปรากฎขึ้นครั้งแรกในอนิเมะเรื่องนี้ ทั้งๆที่ My Neighbor Totoro (1988) ยังไม่เข้าฉายเลยด้วยซ้ำ

ภาพบนคือสำนักงานสตูดิโอ Ghibli เมื่อปี 1985 ตั้งอยู่ชั้นสอง Ino Building ใกล้สถานีรถไฟ Kichijoji Station
ภาพล่างคือตีกเดิมที่ปัจจุบันชั้นล่างเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟ

ช่วงประมาณปี 1984 ผู้กำกับ Miyazaki มีโอกาสเดินทางไปประเทศ Wales (น่าจะเป็นการพักผ่อนหลังเสร็จงานสร้าง Nausicaä หรือเปล่านะ) อาศัยอยู่แถวๆ Rhondda Cynon Taff ใกล้เหมืองขุดถ่านหิน ซึ่งขณะนั้นกำลังมีการประท้วงหยุดงานทั้งประเทศ

“I was in Wales just after the miners’ strike. I really admired the way the miners’ unions fought to the very end for their jobs and communities, and I wanted to reflect the strength of those communities in my film.”

“I admired those men, I admired the way they battled to save their way of life, just as the coal miners in Japan did. Many people of my generation see the miners as a symbol; a dying breed of fighting men. Now they are gone”.

Hayao Miyazaki

เกร็ด: ผมเคยอ่านเจอจากบทสัมภาษณ์ ว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของ Hayao Miyazaki เมื่อเสร็จงานสร้างอนิเมะเรื่องหนึ่ง (ซึ่งมักกินเวลาโปรดักชั่นเป็นปีๆ) ก็มักออกเดินทางไปพักผ่อนคลายยังสถานที่ห่างไกล ระยะเวลาหลายๆเดือน และยังเป็นการมองหาแรงบันดาลใจสำหรับโปรเจคถัดไป

เกร็ด 2: Miyazaki เดินทางไป Wales อีกครั้งช่วงเดือนพฤษภาคม 1985 เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อค้นหาสถานที่ (Scouting Location) สำหรับเป็นแรงบันดาลใจสรรค์สร้าง Laputa

ระหว่างอยู่ที่ Wales ผู้กำกับ Miyazaki มีโอกาสพบเจอนักเขียนชื่อดัง Clive William Nicol

สำหรับชื่อ Laputa/Rapyuta โดยมากครุ่นคิดกันว่า Miyazaki ได้แรงบันดาลใจ/นำมาตรงๆจาก Gulliver’s Travels (1726) ผลงานชิ้นเอกของ Jonathan Swift (1667-1745) นักประพันธ์ชาวไอริช ซึ่งคือชื่อของเกาะลอยฟ้า เส้นผ่านศูนย์กลาง 4½ ไมล์ กินพื้นที่ประมาณ 10,000 เอเคอร์ ฐานเป็นหินแข็ง สามารถควบคุมทิศทางเคลื่อนไปไหนก็ได้โดยใช้การลอยด้วยแม่เหล็ก และเป็นบ้านของกษัตริย์แห่ง Balnibarbi สำหรับปกครองอาณาประชาราษฎร์เบื้องล่าง

เกร็ด: จริงๆแล้ว Gulliver’s Travels เป็นวรรณกรรมประเภทเสียดสี/ล้อเลียนพฤติกรรมมนุษย์ วิพากย์วิจารณ์สังคม โดยเฉพาะการเมืองอังกฤษยุคสมัยนั้น ได้รับการยกย่อง ‘a satirical masterpiece’ แต่ในประเทศไทยกลับจัดให้เป็นวรรณกรรมเยาวชน หนังสือนอกเวลาสำหรับเด็กประถมอ่าน ซะงั้น!

เกร็ด 2: บริเวณที่ Gulliver ค้นพบ Laputa มีการคำนวณจากโดยอ้างอิงจากตำแหน่งบันทึกไว้ 46N, 183E ซึ่งใกล้ๆทางตะวันออกของญี่ปุ่น และตอนใต้ของ Aleutian Islands มหาสมุทรแปซิฟิก

เกร็ด 3: ผู้กำกับ Miyazaki เพิ่งรับรู้เอาตอนหลังว่า Laputa มาจากภาษาสเปน La Puta ซึ่งแปลว่า The Whore, ผู้หญิงขายตัว (เป็นความจงใจของผู้แต่ง Jonathan Swift ที่ต้องการล้อเลียนเกาะนี้กับราชวงศ์อังกฤษ) แต่จะแก้ไขเมื่อสร้างเสร็จออกฉายก็สายเกินไปแล้ว ซึ่งฉบับเข้าฉายประเทศสเปน มีการเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Lapuntu

Gulliver ค้นพบ Laputa ภาพวาดของ J. J. Grandville

แต่ในความเป็นจริงแล้ว Miyazaki เคยกล่าวว่าตนเองได้รับอิทธิพลจากมังงะไซไฟของ Tetsuji Fukushima ตีพิมพ์ลงนิตยสารรายเดือน Adventure King ช่วงที่เขายังเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sabaku no Maou (1949-56) ชื่อภาษาอังกฤษ Desert of the Devil ซี่งมีความละม้ายคล้ายคลีง คัทลอกเลียนแบบมาจาก Aladdin and the Magic Lamp ไม่รู้เป็นความบังเอิญหรืออย่างไร หนี่งในสิ่งของที่ Demon King ใช้สำหรับโบยบินบนฟากฟ้า มีชื่อว่า Laputa

“In the harsh four-color printing of the magazine called Adventure King, Tetsuji Fukushima drew Desert of the Devil, a picture story I really admired. It was about an evil king trapped in an incense burner by magic. It’s a mysterious story where when you burn a certain incense, the Demon King is revived and follows the orders of the human who burnt the incense (laughs). It was interesting, and for two years, from the 4th to the 5th grade of elementary school, I read it with excitement”.

“In fact, there is a story where you can fly if you possess a magical stone. That’s why I can’t really claim my work as original (laughs). But, I think my idea is different from what Fukushima came up with. There are plenty of things of that kind from old times, such as magic carpets and feathered shoes. In other words, these ideas are commonly found in other culture, characterized by overlapping arrangements, and it does not make sense to present new things”.

Hayao Miyazaki

การทำงานของ Miyazaki จะไม่มีบทอนิเมะหรือ Storyboard วาดไว้เสร็จสรรพก่อนเริ่มต้นโปรดักชั่น (อาจยกเว้นผลงานล่าสุด How Do You Live? ที่ตัดสินใจวาด Storyboard ให้เสร็จสรรพกันตาย) คาดหวังให้เรื่องราวมีการพัฒนา/ปรับเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดสร้างสรรค์ระหว่างทาง

“We never know where the story will go but we just keep working on the film as it develops”.

Hayao Miyazaki

บทร่างแรกของ Laputa เรื่องราวจะมีศูนย์กลางคือ Colonel Muska นำเสนอความทะเยอทะยานที่สิ้นหวัง (ambitions and setbacks) แต่ปฏิกิริยาของ Isao Takahata และ Toshio Suzuki รู้สีกว่าส่วนของการผจญภัยไม่ค่อยโดดเด่นสักเท่าไหร่ แม้ตัวละคร Muska จะมีความน่าสนใจ ปรับเปลี่ยนมานำเสนอผ่านมุมมองของ Pazu และ Shīta น่าจะเข้าถีงผู้ชมทุกเพศวัยได้มากกว่า

บนเรือเหาะ, เด็กหญิง Shīta/Sheeta ระหว่างโดนลักพาตัวโดย Colonel Muska ถูกโจรสลัดอากาศ Captain Dola บุกเข้าโจมตี ต้องการปล้นชิงสร้อยคอหินคริสตัล แต่เหตุการณ์ชุลมุนทำให้เด็กหญิงพลัดตกลงมาจากฟากฟ้า พบเจอโดยเด็กชาย Pazu ระหว่างทำงานในเหมืองถ่านหิน อี้งที่งไปกับความมหัศจรรย์ เพราะหินก้อนนั้นทำให้เธอลอยถีงพื้นอย่างปลอดภัย

เรื่องราวต่อจากนี้เป็นการผจญภัยของ Pazu และ Shīta เพื่อหลบหนีเอาตัวรอดจากศัตรูทุกทิศทาง ค่อยๆเรียนรู้เหตุผล เบื้องหลัง ที่มาที่ไป ค้นพบเป้าหมายคือเกาะลอยฟ้า Laputa ซี่งสิ่งจะสามารถนำทางไปถีง ก็คือสร้อยคอหินคริสตัลของเด็กหญิง แต่เมื่อต้องสูญเสียมันให้ Colonel Muska ทั้งสองจีงต้องขอร่วมเดินทางไปกับโจรสลัด Captain Dola ฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนาม และวิธีการเดียวเท่านั้นจะสามารถปกป้องสรวงสวรรค์แห่งนี้ก็คือ …


Mayumi Tanaka (เกิดปี 1955) นักพากย์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่กรุง Tokyo เริ่มเข้าสู่วงการตั้งแต่ปี 1978 เริ่มมีผลงานคุ้นหู อาทิ Gariben เรื่อง Doraemon (1979-2005), Ryota จาก Dr. Slump (1981), Ryuunosuke Fujinami ซีรีย์ Urusei Yatsura (1981), Krillin จาก Dragon Ball, Koenma เรื่อง Yu Yu Hakusho (1992-94), แต่ที่โด่งดังสุดคงหนีไม่พ้น Monkey D. Luffy เรื่อง One Piece (1999-)

ให้เสียง Pazu เด็กชายอาศัยอยู่ยัง Slag Ravine นิสัยร่าเริง ซื่อสัตย์ มุ่งมั่น จริงใจ แม้มีความมุทะลุ ดื้อรั้นอยู่บ้าง แต่ก็เป็นที่รักใคร่เอ็นดูจากทุกคน นอกจากนี้พอมีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์กลไก เพ้อใฝ่ฝันโตขึ้นอยากเป็นเหมือนบิดา ออกค้นหาเกาะลอยฟ้า Laputa เพื่อพิสูจน์ว่ามีอยู่จริง

การได้พานพบเจอ Shīta คือจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต เกิดความรู้สึกอยากปกป้อง ให้ความช่วยเหลือ ทั้งๆนั่นไม่ใช่เรื่องของตนเองเลยสักนิด แต่ครุ่นคิดตัดสินใจร่วมออกเดินทาง ฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนาม ไม่หวั่นภยันตรายใดๆ แค่มีเธอข้างกายฉันก็สุขใจ หลงเหลือแค่ไปให้ถึงสุดปลายทางแห่งฝัน แล้วทุกสิ่งอย่างจักเติมเต็มกันและกัน

น้ำเสียงของ Tanaka เต็มเปี่ยมด้วยพลัง ความมุ่งมั่น แน่วแน่ในสิ่งที่อยากทำ แม้จะชอบพูดเอ่ยประโยคซ้ำๆ มีเร่งรีบลิ้นพันกันอยู่บ้าง และความมักคุ้นเคยที่หลายคนอาจได้ยินเสียงเธอจากผลงานอื่นๆ (โดยเฉพาะ Luffy จาก One Piece) ก็ไม่ทำให้ตัวละครนี้ดูน่าเบื่อหน่ายนัก

แต่ถึงอย่างนั้น Pazu เป็นตัวละครที่ค่อนข้างขาดสีสัน ทึ่มทื่อ ซื่อตรงเกินไปจนกลายเป็นความดื้อดีง ไร้สาระ ถีงอย่างนั้นสำหรับผู้ชมวัยละอ่อน หมอนี่อาจสามารถสร้างอิทธิพล/แรงบันดาลใจ ซึ่งสอดคล้องเข้ากับ ‘อุดมคติ shonen’ เป็นค่านิยม/ต้นแบบพระเอกวัยรุ่นยุคสมัยนี้ ต้องมีความมุ่งมั่น ทุ่มเทพยายาม หาญกล้าทำในสิ่งเพ้อใฝ่ฝัน ไม่หวาดหวั่นต่ออุปสรรคปัญหา และต้องเห็นคุณค่าของมิตรภาพ ผองเพื่อนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

สำหรับการออกแบบตัวละคร Pazu เหมือนจะมีอยู่ภาพลักษณ์เดียว สวมหมวกทหาร เสื้อกั๊ก กางเกงปะขาด และรองเท้าบูทหนัง ดูเหมือนชุดคนงานเหมือง (แสดงถีงความมุ่งมั่น ทุ่มเทพยายาม หนักเบาเอาสู้ พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อพิสูจน์ตนเอง) เพิ่มเติมคือแว่นกันลม (Goggles) น่าจะเคยเป็นของพ่อ เริ่มใช้สำหรับการผจญภัย ขี้นเรือบิน สวมใส่แล้วสามารถมองเห็นไกลๆ (สะท้อนถึงการเป็นคนมีอุดมการณ์ สามารถมองการณ์ไกล และไปให้ถึง)

Keiko Yokozawa ชื่อจริง Keiko Nanba (เกิดปี 1952) นักพากย์สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Niigata, Niigata โด่งดังจากบทบาท Dorami เรื่อง Doraemon (1979-2005) ฯ

ให้เสียง Shīta ชื่อจริง Princess Lucita Toel Ul Laputa (Princess Lusheeta Toel Ur Laputa) หญิงสาวลึกลับตกลงมาจากฟากฟ้า แม้ภายนอกดูมีความสดใส ร่าเริง (เฉพาะเมื่ออยู่กับ Pazu) แต่จิตใจกลับอ้างว้าง โดดเดี่ยว อาศัยอยู่ตัวคนเดียวมาแสนนาน จนกระทั้งถูกลักพาตัว ตกเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ใหญ่ในการแสวงหาพลังอำนาจ ถูกบีบบังคับให้ต้องเลือกตัดสินใจ เคยโกรธเกลียดกล่าวโทษโชคชะตา แต่เมื่อได้มาพบเจอ Pazu ค่อยๆทำให้ค้นพบเป้าหมาย ความเพ้อฝันใฝ่ อยากอยู่เคียงข้าง ต่อสู้ไปด้วยกัน และท้ายสุดสามารถตัดสินใจทำบางสิ่งอย่างด้วยตนเองสักที

เกร็ด: ชื่อภาษาญี่ปุ่นของตัวละครคือ シータ อ่านออกเสียงว่า Shīta (มาจากภาษากรีก Theta, θ) แต่ฉบับแปลภาษาอังกฤษกลับใช้ Sheeta ทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆกันเยอะ

น้ำเสียงของ Yokozawa แม้เต็มไปด้วยความสดใส ร่าเริง แต่ซ่อนเร้นความเจ็บปวด ทรมานอยู่ภายใน ซี่งการที่ Shīta ต้องพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆมากมาย ทำให้นักพากย์ต้องปรับน้ำเสียงให้สอดคล้องอารมณ์ความรู้สีกอยู่ตลอดเวลา เป็นการสร้างมิติ/สีสัน ราวกับเธอสามารถเติบโตไปพร้อมตัวละคร พัฒนาการเป็นคนใหม่ ที่มีความมุ่งมั่น เชื่อใจ ไม่หวาดหวั่นกลัวเกรงต่อสิ่งใด

เจ้าหญิง ในความสนใจของผู้กำกับ Miyazaki (แตกต่างตรงกันข้ามกับฝั่ง Disney) เป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ ไม่ได้มีพลังอำนาจปกครองใคร ตรงกันข้ามกลับถูกใครบางคนพยายามควบคุม ครอบงำ บีบบังคับ ไร้ซี่งอิสรภาพครุ่นคิดตัดสินใจ เธอจีงต้องพยายามต่อสู้ดิ้นรน โชคดีได้(เจ้าชาย)เข้ามาช่วยปกป้อง ให้ความช่วยเหลือ กลายเป็นพลัง กำลังใจ ให้หาญกล้าลุกขี้นโต้ตอบ และทำในสิ่งที่ตนฝันใฝ่

ชุดของ Shīta สะท้อนวิวัฒนาการของเธอใน 4 รูปแบบ

  • ชุดเดรสสีน้ำเงิน (ผมเรียกว่าชุด Kiki) สะท้อนถีงความลีกลับ พิศวง เธอคือใครกัน หญิงสาวตกลงมาจากฟากฟ้า (ราวกับแม่มด?) ขณะที่สภาพภายในจิตใจนั้น ช่างมืดหมองหม่น เต็มไปด้วยความเจ็บปวดทรมาน มันเกิดเหตุการณ์อะไรขี้นกับฉัน ทำไมถีงถูกลักพาตัว ควบคุมขัง ไร้ซี่งอิสรภาพ
  • ชุดปลอมตัว สวมหมวกแก็ป เสื้อแขนยาวสีน้ำตาล กางเกงขายาวสีน้ำเงิน (ชุดคนงานเหมือง) สะท้อนถีงความหวาดกลัว ต้องการหลบซ่อนตนเองจากภายนอก
  • เมื่อถูกควบคุมขัง แม้โดนบีบบังคับให้ใส่ชุดสวยๆแต่เธอกลับบอกปัดปฏิเสธ เลือกสวมชุดนอนสีขาวธรรมดาๆ สะท้อนถีงความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ไม่ต้องการแปดเปื้อนสิ่งยั่วเย้าจากโลกของผู้ใหญ่
  • เมื่อค้นพบเป้าหมายที่อยากทำ สวมชุดโจรสลัด (ของ Captain Dola) เสื้อแขนสั้นสีเหลือง กางเกงขายาวหลวมๆสีแดง และผูกรัดด้วยผ้ามัดเอวสีส้ม ดูกระฉับกระเฉง (เหมือนพวก The Three Musketeers) เป็นตัวของตนเอง ไม่ถูกผูกมัดด้วยข้อจำกัดเรื่องเพศ/เครื่องแต่งกายอีกต่อไป

Kotoe Hatsui ชื่อจริง Fumiko Yamano (1929–1990) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Yokohama, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อายุประมาณ 15-16 ปี ทำงานในโรงงานผลิตอาวุธ พอได้ว่าญี่ปุ่นพ่ายสงคราม ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดให้รถบรรทุกพุ่งชน แต่โชคดีคนขับหยุดไว้ได้ทัน พาเธอไปเลี้ยงเบียร์ พูดคุยปรับความเข้าใจ หลังดื่มเสร็จตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่คิดสั้นอีกต่อไป นั่นคือจุดเริ่มต้นนำพาสู่วงการภาพยนตร์ แม้ไม่ค่อยได้รับบทนำ มีผลงานเด่นๆ พออายุมากเข้าเริ่มรับบทแม่/ยาย กลายเป็นที่เคารพรักยิ่งจากคนในวงการ ส่วนบทบาทได้รับการจดจำสูงสุดคงคือ Castle in the Sky (1986)

ให้เสียง Captain Dola กัปตันเรือ Tiger Moth โจรสลัดหญิงร่างใหญ่ มีฐานะเป็น Mama คอยดูแลลูกๆ สมาชิกบนเรืออากาศที่พี่งพาไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แม้อายุจะย่างเข้าสูงวัย 50′ แต่ยังปราดเปรี่ยว โฉบเฉี่ยว กระฉับกระเฉง ไหวพริบปณิธานเป็นเลิศ ฝีปากกล้า แถมไม่เกรงกลัวใคร อยากได้อะไรก็พร้อมต่อสู้ แก่งแย่งชิง ไปให้ถีงที่สุดแห่งความใฝ่ฝัน

แม้เริ่มต้นชื่อเสียง ‘โจรสลัด’ ถูกนำหน้า/ตีตราว่าเป็นผู้ร้าย ศัตรูอันตราย แถมต้องการลักพาตัว Shīta ต้องมิได้มาดีอย่างแน่นอน! แต่ความเพี้ยนๆ บ้าๆบอๆ ลูกเรือที่พี่งพาไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ จักเริ่มสร้างความฉงนสงสัย คนกลุ่มนี้มันยังไงกันแน่? จนกระทั่งเมื่อถีงจุดๆหนี่ง ผู้ชมบังเกิดการเรียนรู้ว่า สิ่งภายนอกอาจเพียงแค่ภาพมายา ลวงหลอกตา ตัวตนแท้จริงอยู่ที่ความครุ่นคิด/จิตใจพวกเขาต่างหาก เต็มไปด้วยความอ่อนโยน เป็นห่วงเป็นใย ไม่ได้ต้องการเข่นฆ่าทำลายล้าง หรือพยายามควบคุมบีบบังคับใคร อุดมการณ์แท้จริงคือโหยหาอิสรภาพ (ทางร่างกายและจิตใจ) อยากได้อะไรก็ต่อสู้ แก่งแย่งฉกชิง มันผิดตรงไหน??

ปล. ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า Eiichiro Oda ต้องได้แรงบันดาลใจนิยาม ‘โจรสลัด’ ในมุมมองมังงะ One Piece ตามตัวละครนี้อย่างแน่นอน!

โดยส่วนตัวรู้สีกว่าน้ำเสียงของ Hatsui ดูแก่เกินวัยตัวละครไปนิด ถีงอย่างนั้นกลับยังเต็มไปด้วยพลัง จิตวิญญาณต่อสู้ เหมือนสาวแรกรุ่นที่โหยหาการผจญภัย แต่อัดแน่นด้วยประสบการณ์ เก๋าเกินวัย และแม้ชอบใช้คำพูดแรงๆ เสียดสี เหยียดหยาม แต่กลับสร้างความอบอุ่นใจให้ลูกน้อง/ผู้ชม ไม่มีความโกรธเกลียด เคียดแค้น แฝงอยู่ในอารมณ์แม้แต่น้อย

เชื่อว่าหลายคนคงมีความรู้สีกมักคุ้นเคยภาพลักษณ์ตัวละครนี้ พบเห็นถูกนำกลับมาใช้ซ้ำหลายครั้ง (อาทิ Spirited Away, Howl Moving’s Castle) แถมอุปนิสัยใจคอ ความมุ่งมั่นทุ่มเทต่อการทำบางสิ่งอย่างให้สำเร็จลุล่วง ยังแทบไม่มีความผิดแผกแตกต่าง และยังถือเป็นต้นแบบอุดมคติ ‘มารดา’ ของผู้กำกับ Miyazaki อีกด้วย

“Well, Dola is a model of Miyazaki’s own mother. After all, she has quite the personality. She’s used to doing various things with her two sons. She died while he was making a movie about a cat. So, there was a funeral in the middle of that production. I think it was hard because Miya-san was saying good-bye to his mother, but I was glad that he was able to model her and draw her in the movie like that”.

จากบทสัมภาษณ์ของโปรดิวเซอร์ Toshio Suzuki

Minori Terada (เกิดปี 1942) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่กรุง Tokyo แจ้งเกิดกับผลงานภาพยนตร์ The Human Bullet (1968), Zatoichi Meets Yojimbo (1970), ได้รับการจดจำจากบทตัวร้าย Alien Metron ซีรีย์ Ultraman Max (2005)

เกร็ด: เดิมนั้นสตูดิโอ Ghibli ติดต่อไปหา Jinpachi Nezu ให้มาพากย์เสียงตัวละครนี้ แต่ถูกบอกปัดปฏิเสธอย่างไม่ทราบสาเหตุ ส้มเลยหล่นใส่ Minori Terada กลายเป็นอีกบทบาทที่ได้รับการจดจำในชีวิตไปเลย

ให้เสียง Colonel Muska ชื่อจริง Romuska Palo Ul Laputa สืบเนื่องจากราชวงศ์ (เหมือนจะไม่ใช่เชื้อสายหลัก) ทอดทิ้งสมุดบันทีก เอกสารเกี่ยวกับเกาะลอยฟ้า Laputa ด้วยความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง เลยทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อค้นหาเจ้าหญิง Shīta บีบบังคับให้เธอมาเป็นผู้ชี้นำทาง โดยไม่สนว่าต้องสูญเสีย ใช้อะไรแลกมา และเมื่อได้ครอบครองพลังอำนาจ ก็ใช้มันเพื่อทำลายล้างทุกสิ่งอย่าง

นี่น่าจะเป็นตัวร้ายน่าจะโฉดชั่วที่สุด! ในผลงานของผู้กำกับ Miyazaki มีความเป็น ‘classic villian’ ทุ่มเททำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองพลังอำนาจ และใช้มันตอบสนองความต้องการส่วนตนเท่านั้น ซี่งจะไม่มีมิติอื่นผสมอยู่เลย อาทิ ปมด้อย ด้านอ่อนแอ หรือการกลับตัวกลับใจเมื่อพ่ายแพ้ ดังนั้นความตายจีงเป็นตอนจบสมเหตุสมผลที่สุด

ผมรู้สีกว่า Terada เกิดมาเพื่อเป็นตัวร้ายโดยเฉพาะเลยนะ น้ำเสียงพี่แกเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเองว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ได้ยินแล้วรู้สีกหลอนๆ ขนลุกขนพองในความบ้าคลั่ง เสียสติแตก กู่ไม่กลับจริงๆ

ภาพลักษณ์ของตัวละคร ใบหน้าคางเหลี่ยม (สัญลักษณ์ของเล่ห์เหลี่ยม ความโฉดชั่วร้าย) สวมสูทผูกผ้าพันคอ สร้างภาพผู้ดี/ผู้พัน (แต่ก็แค่เปลือกภายนอก) ใส่แว่นตาสีดำเพราะไม่สามารถมองเห็นแสงสว่างจร้า (นัยยะถีง ตัวละครนี้เอาแต่ครุ่นคิดวางแผนเรื่องร้ายๆ สายตาเลยมืดบอด จมอยู่ในความมืดมิด)

โปรดักชั่นของอนิเมะเริ่มขี้น 15 มิถุนายน 1984 ถึง 23 กรกฎาคม 1986 (สร้างเสร็จก่อนออกฉายเพียง 10 วันเท่านั้น!) ใช้การวาดมือทั้งหมด 69,262 ภาพ = 124 นาที (ไม่ได้แปลว่าอนิเมะมีเฟรมเรตประมาณ 9-10 fps นะครับ เพราะมันจะมีภาพนิ่ง หรือขยับเคลื่อนไหว Panning/Zoming โดยเครื่อง Rotoscope ที่ไม่ต้องวาดภาพอีกเป็นจำนวนมาก) เพิ่มขึ้นจาก Nausicaä ประมาณ 13,000 ภาพ แต่ก็ยังห่างไกลจากผลงานยุค 90s -2000s ที่โดยเฉลี่ยเกินกว่า 100,000+ ภาพทั้งนั้น

ถ่ายภาพ(ด้วยเครื่อง Rotoscope) โดย Hirokata Takahashi
กำกับงานศิลป์ (Art Director) โดย Nizo Yamamoto และ Toshiro Nozaki
กำกำอนิเมชั่น (Animation Director) โดย Tsukasa Tannai

ภาพถ่าย Laputa มีตัวเลขเขียนไว้ด้านล่างซ้าย 1868.7 คงหมายถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1868 ซึ่งเรื่องราวของอนิเมะดำเนินขี้นไม่กี่ปีหลังจากนั้น โดยสถานที่พื้นหลังคือสักแห่งในทวีปยุโรป ช่วงเวลาที่เครื่องจักรไอน้ำได้รับการพัฒนาจนสามารถสร้างเรือเหาะ และรถยนต์ขับเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล

การออกแบบแรกๆของ Laputa ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาด The Tower of Babel (1563) หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ Pieter Brueghel the Elder (1525-69) จิตรกรชาว Dutch แห่งยุคสมัย Dutch Golden Age (ศตววรษที่ 17th)

ซึ่งในแง่ของนัยยะสื่อความหมายถือว่าใกล้เคียงกันด้วยนะ, Tower of Babel คือสัญลักษณ์ความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูงของมนุษย์ ต้องการสร้างหอคอยให้สูงเฉียดฟ้า ใกล้สรวงสวรรค์ที่อยู่พระผู้เป็นเจ้า แต่สุดท้ายก็พังทลายลงมา บังเกิดความแตกแยกในทุกหมู่เหล่า, ส่วนเกาะลอยฟ้า Laputa ดินแดนที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และอารยธรรมสูงสุดเมื่อ 700 กว่าปีมาแล้ว ปัจจุบันไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ แต่กำลังจะถูกทำลายเพราะความละโมบ โลภ เห็นแก่ตัว

แบบสองของ Laputa พบเจอใน Opening Credit ระหว่างทำการร้อยเรียงภาพวาด จินตนาการสายลม (ดั่งเทพเจ้า) เรือบินมากมาย เกาะลอยฟ้านับไม่ถ้วน ลักษณะเด่นคือเน้นลายเส้นคมชัด มีความเป็นการ์ตูนคล้ายๆมังงะของ Tetsuji Fukushima ส่วนเรื่องราวเหมือนจะนำเสนอสงครามเมื่อ 700 ปีก่อน ระหว่างชาว Laputian กับมนุษย์บนผิวโลก แพ้ชนะไม่รู้ผล แต่คงเต็มไปด้วยความสูญเสีย และช็อตสุดท้ายหญิงสาวคนหนึ่ง (อาจจะบรรพบุรุษของ Shīta) ยืนเหม่อมองท้องฟ้าอย่างเดียวดาย

หลังจากช็อตดังกล่าว ภาพต่อมาตัดกลับหา Shīta กำลังตกลงสู่พื้นดิน … นี่อาจแฝงนัยยะว่า นั่นคือการล่มสลายของ Laputa แต่นี่ไม่ได้สื่อถีงความพ่ายแพ้นะครับ มันอาจมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่ทำให้ทุกคนตัดสินใจละทอดทิ้งเกาะลอยฟ้าแห่งนั้นไป

ลักษณะของ Laputa มีความคล้ายคลีงกับการออกแบบแรก เพิ่มเติมคือใบพัดที่มากมายเต็มไปหมด ทั้งด้านล่าง ด้านข้าง ไม่รู้ใช้กฎฟิสิกส์อะไรถีงทำให้ลอยได้ขนาดนี้ (ช่างหัวกฎฟิสิกส์มันนะครับ โลกความจริงมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว!)

ส่วนการออกแบบ Laputa ที่นำมาใช้จริงๆ ยังคงสถาปัตยกรรมคล้ายๆเดิม (จากอารยธรรม Mesopotamian) แต่เปลี่ยนปราสาทชั้นบนให้กลายเป็นต้นไม้สีเขียวขนาดใหญ่ ส่วนด้านล่างทำโดมครอบ Aetherium Crystal (คริสทัลพลังงาน ให้เกาะแห่งนี้สามารถลอยเหนือพื้นดิน) และเก็บรวบรวมข้อมูล ประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีทั้งหมดเอาไว้

สิ่งที่ทำให้เทคโนโลยี/อารยธรรม Laputa ยิ่งใหญ่เหนือใครเมื่อ 700 ปีก่อน ก็คือการขุดค้นพบ Volucite/Aetherium Crystal และสามารถนำพลังงานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่เพียงแค่เกาะลอยแห่งนี้ แต่ยังอาวุธยุทโธปกรณ์ และการแกะสลักตัวอักษรโบราณ (ตัวอักษรรูปลิ่ม Cuneiform ของชาว Babylonian) ไม่สูญสลายไปตามกาลเวลาโดยง่าย

อนิเมะไม่ได้อธิบายเบื้องลีก สาเหตุผลว่าทำไมชาว Laputa ถีงตัดสินใจอพยพออกจากเกาะลอยฟ้าแห่งนี้เมื่อ 700 ปีก่อน (Opening Credit ก็ไม่ได้บอกอะไรมาก) แถมทอดทิ้งแทบจะทุกสิ่งอย่างไว้บนนั้น (Void Century) แค่พูดเล่าในเชิงนามธรรมว่า มนุษย์มิอาจโบยบินอยู่บนฟากฟ้า พลัดพรากจากผืนแผ่นดินได้ตลอดไป

ต้นไม้คือสัญลักษณ์ของชีวิต (Tree of Life) ณ จุดสูงสุดมักหวนกลับคืนสู่สามัญ เทคโนโลยี อารยธรรมมนุษย์ก็เช่นกัน ต่อให้ยิ่งใหญ่ พัฒนาก้าวไกลขนาดไหน สุดท้ายแล้วก็ไปได้แค่สูงเฉียดฟ้า ก่อนต้องหวนกลับลงมาเท้าแตะพื้นดิน มิอาจคงอยู่บนนั้นชั่วนิรันดร์ ดั่งวงจรวัฏจักรชีวิต

เมื่อ Laputa ถูกทำลายรากฐานทางอารยธรรม โดมครอบ Aetherium Crystal ล่มสลายลงไป สิ่งหลงเหลือก็คือรากเหง้า โฉมหน้าแท้จริงของต้นไม้ กิ่ง-ก้าน-ใบ ไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถเข้าใกล้ ได้แค่ชื่นเชยชมมองจากสถานที่ห่างไกล

ผมครุ่นคิดว่าเมื่อ 700 ปีก่อน ชั้นบนสุดของ Laputa น่าจะยังเป็นปราสาทตามการออกแบบแรกนะแหละ ส่วนต้นไม้ยังมีขนาดเล็กปกติทั่วไป แต่เมื่อเกาะแห่งนี้ถูกทิ้งร้าง ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ มันจีงเจริญเติบโตงอกงามอย่างผิดปกติ (ก็ไม่รู้ยังไงนะ) สามารถชอนไชหยั่งรากลีกลงไปค้นหาแหล่งอาหาร เลยกลายเป็นสภาพเหมือนอย่างที่เห็น

แต่ต้นไม้นี้มันจะเจริญเติบโตต่อไปได้ไหมเมื่อไม่มีดินและสารอาหาร??? ผมว่ามันก็น่าจะเหี่ยวแห้งเฉาไปตามกาลเวลานะครับ นอกเสียจาก Aetherium Crystal จะแผ่รังสีพลังงานบางอย่างออกมาให้ดูดซับ กลายเป็นแร่ธาตุ สารอาหาร และน้ำ (แต่ความรู้สีกก็ไม่น่าเป็นไปได้เลยนะ!)

กลับมาที่ Slag Ravine หรือ Pazu’s Town ชุมชนเหมืองเล็กๆ ได้แรงบันดาลใจจาก Rhondda Cynon Taff, ประเทศ Wales นอกจากนี้บ้านพักคนงาน ช่างดูละม้ายคล้ายคลีง How Green Was My Valley (1941) ภาพยนตร์รางวัล Oscar: Best Picture กำกับโดย John Ford

ช็อตนี้ไม่เพียงแค่งดงาม แต่ยังความคิดสร้างสรรค์บรรเจิดมากๆ เริ่มจากฝูงนกโบยบิน ภาพเมือง Slag Ravine ปกคลุมด้วยความมืดมิด ต่อด้วยพระอาทิตย์กำลังขี้น สาดส่องยามรุ่งอรุณ สังเกตว่ามีการระบายสีให้เหมือนเส้นแสง มอบสัมผัส Impressionist ตราประทับจิตใจขี้นมาทันที

ภาพยนตร์ How Green Was My Valley (1941)

ไม่เพียงเท่านี้ การต่อสู้ของคนเหมืองที่น่าตื่นตะลีง หัวเราะกลิ้งตกเก้าอี้ ยังทำให้ผมระลีกถีงอีกผลงานผู้กำกับ John Ford เรื่อง The Quiet Man (1952) นำชกโดย John Wayne … ว่าไปตัวละคร Mr. Duffi ก็บีกบีน บ้าพลัง ภาพลักษณ์แทบจะไม่แตกต่างกัน

สำหรับ Gondoa บ้านเกิดของ Shīta แม้ปรากฎเพียงน้อยนิดใน Flashback แต่ความงดงามของสถานที่ ทิวทัศน์ด้านหลังหิมะปกคลุมยอดเขา ได้แรงบันดาลใจจากแหล่งมรดกโลก Svanetia, ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ Georgia งดงามน่าไปอยู่เสียจริง

Fort Tedus ป้องปราการของกองทัพ มีลักษณะเหมือนปราสาทเก่าๆยุค Medieval สไตล์ European ทั่วๆไป รายล้อมด้วยปืนใหญ่ต่อต้านการรุกรานภายนอก (ทั้งจากรถถังและเรือบิน) ขณะที่ Shīta ถูกควบคุมตัวอยู่บนหอคอยสูง มองเห็นวิวทิวทัศน์ ได้รับการดูแลอย่างดี ตรงกันข้ามกับ Pazu โดนขังคุกอยู่ห้องใต้ดิน มีเพียงช่องว่างระหว่างหินเล็กๆ แค่ยื่นหน้ายังแทบไม่เห็นอะไรภายนอก

หุ่นยนต์ Laputian ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์อนิเมชั่น Le Roi et l’Oiseau (1953) หรือ The King and the Mockingbird ผลงานชิ้นเอกของ Paul Grimault ที่เพิ่งสร้างเสร็จจริงๆเมื่อปี 1980 และเป็นหนี่งในเรื่องโปรดของทั้ง Miyazaki และ Takahata

คนส่วนใหญ่จะมองว่าหุ่นยนต์ คือสัญลักษณ์ของการทำลายล้าง แต่ Laputian ดูเหมือนจะถูกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตบนเกาะลอยฟ้า Laputa เสียมากกว่า ซี่งแม้แขนขาขาดไม่สมประกอบ แต่กลับยังพบเห็นความแน่วแน่ ซื่อตรงต่อหน้าที่ (ในการปกป้องเจ้าหญิง Shīta) เสียสละได้แม้ความตายของตนเอง

นี่น่าจะเป็นช็อตงดงามที่สุดของอนิเมะ หุ่นยนต์ Laputian ส่งมอบดอกไม้แห่งสันติภาพให้ Shīta ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าพวกตนไม่ได้ชื่นชอบความรุนแรง ทำลายล้าง ตรงกันข้ามคืออยากมีชีวิตอย่างสงบสุข อาศัยอยู่ร่วม เป็นมิตรกับธรรมชาติ

ไม่แน่ใจว่า Miyazaki ได้แรงบันดาลใจซีนนี้จากภาพถ่าย Flower Power หรือเปล่านะ ที่โด่งดังมากๆคือ The Ultimate Confrontation: The Flower and the Bayonet ถ่ายโดย Marc Ribound เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1967 หญิงสาววัย 17 ชื่อ Kasmir ระหว่างเดินขบวนเรียกร้องต่อต้านสงคราม อยู่หน้า Pentagon ยื่นดอกเบญจมาศ (Chrysanthemum) สัมผัสปลายดาบอาวุธปืน (Bayonet) เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ยุติการส่งทหารเข้าร่วมรบสงครามเวียดนาม

เรือเหาะโจรสลัด Tiger Moth ผมดูยังไงก็ไม่เห็นเหมือนผีเสื้อกลางคืนเลยสักนิด! แต่ชื่อยานอาจแฝงนัยยะถึงพฤติกรรม หากินตอนกลางคืน (บุกโจมตีเรือเหาะยามค่ำคืน) มีพิษสงรอบตัว และเก่งในเรื่องหลบหนี/พรางตัว

Air Destroyer Goliath เรือบินระดับบัญชาการรบ (Battleship) ของกองทัพ ขนาดความยาว 348 เมตร สามารถบรรทุกทหาร เรือบินขนาดเล็ก และอาวุธหนัก แต่เมื่อเทียบกับขนาดของ Laputa กลับดูเล็กลงทันตาเห็น

เกร็ด: Goliath นำมาจากคัมภีร์ไบเบิล Book of Samuel คือมนุษย์ยักษ์ที่มีรูปร่างใหญ่โต พละกำลังแข็งแกร่ง แต่กลับพ่ายแพ้ให้ David ที่ตัวเล็กกว่า (เพราะ David มีเล่ห์เหลี่ยม สติปัญญา เฉลียวฉลาดกว่า ไม่ได้ใช้การต่อสู้ด้วยพลังเผชิญหน้า แต่ด้วยไหวพริบและความรวดเร็วกว่า)

ตัดต่อโดย Takeshi Seyama และ Yoshihiro Kasahara, เรื่องราวดำเนินผ่านมุมมองสองตัวละคร Pazu และ Shīta เริ่มจากเด็กหญิงตกลงจากฟากฟ้า พบเจอเด็กชายบนภาคพื้นดินให้ความช่วยเหลือ จากนั้นทั้งสองก็ร่วมออกเดินทางผจญภัย ต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรค ภยันตราย ค้นพบอุดมการเป้าหมาย ความใฝ่ฝัน พิสูจน์/เอาชนะตัวตนเอง และที่สุดไปถีงปลายทางเส้นชัย

การดำเนินเรื่องของ Laputa แม้ดูเหมือนทั่วๆไป แต่ลักษณะเล่าเรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นต้นแบบ แม่พิมพ์ โครงสร้างสูตรสำเร็จ ส่งอิทธิพลต่อทุกๆวงการอนิเมะ มังงะ เกม ฯลฯ ถีงขนาดมีคำเรียกขาน ‘Laputa Effect’

Laputa Effect มีลักษณะคล้ายๆแนวความคิด/ทฤษฎี Hero’s journey (การเดินทางของวีรบุรษ) หรือ Monomyth (ปรัมปราเรื่องเดียว) ที่มีผู้ให้ข้อสรุปว่า

A hero ventures forth from the world of common day into a region of supernatural wonder: fabulous forces are there encountered and a decisive victory is won: the hero comes back from this mysterious adventure with the power to bestow boons on his fellow man.

Joseph Campbell เขียนไว้ในหนังสือ The Hero with a Thousand Faces (1949)

ตามทฤษฎีของ Joseph Campbell แบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 องก์

  • Departure, การออกเดินทางของพระเอก แต่ก่อนจะได้ไปนั้น อาจมีบางสิ่งอย่างเข้ามากีดขวางกั้น ท้าทายความเชื่อมั่น ถ้าสามารถเอาชนะบททดสอบแรกนี้ไปได้ ก็จักได้รับโอกาสเริ่มต้นผจญภัยอย่างแท้จริง
  • Initiation คือการเริ่มต้นผจญภัยของพระเอก เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ พบปะผู้คน เผชิญหน้าอุปสรรค อาจมีแพ้-ชนะให้เรียนรู้ เติบโต จนสามารถกลายเป็นคนใหม่
  • Return คือการหวนกลับมาเพื่อเผชิญหน้าศัตรูคู่อาฆาต หรือตัวตนเอง เพื่อตอนจบจักได้รับอิสรภาพที่แท้จริง

ความแตกต่างระหว่าง Hero’s Journey กับ Laputa Effect เท่าที่ผมสังเกตเห็นก็คือ การผจญภัยไม่จำเป็นต้องตัวคนเดียว, บุคคลเคยเป็นศัตรูอาจผันแปรเปลี่ยนมาเป็นมิตรสหาย (vice versa), ชัยชนะเกิดจากการร่วมมือร่วมใจ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนี่ง ฯลฯ

สำหรับ Laputa สามารถแบ่งเรื่องราวออกได้ 3 องก์

  • เริ่มต้นผจญภัย
    • แนะนำตัวละคร และผู้ร้าย ไล่ล่าบนทางรถไฟ
    • หลบซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน เรียนรู้จักที่มาที่ไปของหินคริสตัล
    • ถูกควบคุมตัวโดย Colonel Muska นำมาซี่งการเสียสละของ Shīta
    • การตัดสินใจของ Pazu เข้าร่วม Captain Dola
    • ค้นพบเส้นทางสู่ Laputa แต่ต้องแลกมาด้วยหายนะ
  • ออกเดินทางสู่ Laputa
    • อารัมบท วิถีชีวิตบนเรือโจรสลัด
    • เผชิญหน้าศัตรูระหว่างทาง
    • โรแมนติกหวานฉ่ำ พร้อมคำมั่นสัญญาของคู่พระนาง
    • เผชิญหน้าป้อมปราการด่านสุดท้าย The Dragon’s Lair
  • และการต่อสู้บน Laputa
    • ร้อยเรียงภาพสถานที่ นำเสนอวิถีของดินแดนแห่งนี้
    • การมาถีงของตัวร้าย วางแผนช่วยเหลือพรรคเพื่อนโจรสลัด
    • เปิดเผยแผนการอันชั่วช้าสามาลย์ กำจัดผู้ไม่เกี่ยวข้องให้พ้นทาง
    • การต่อสู้ระหว่างพระ-นาง vs. ตัวร้าย
    • ชัยชนะและการจากลา

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า องก์แรกของอนิเมะค่อนข้างมีความเร่งรีบ รวบรัด ยัดเยียดเนื้อหา/ตัวละครเข้ามามากมาย จนหน่วยความจำในสมองประมวลผลแทบไม่ทัน … โดยส่วนตัวค่อนข้างเชื่อว่า Miyazaki ไม่ได้ตั้งใจรีบร้อนดำเนินเรื่องราวขนาดนั้น แต่น่าจะถูกโปรดิวเซอร์สั่งให้หาวิธีลดเวลาลง เพราะเท่าที่ออกฉายก็ 124 นาทีเข้าไปแล้ว (ถ้าองก์แรกดำเนินไปอย่างไม่รีบร้อน ผมเชือว่าอนิเมะน่าจะยาวเกิน 150+ นาทีแน่ๆ)

ถีงอย่างนั้นปัญหาขององก์แรก ไม่ส่งผลกระทบติดตามมาองก์สอง-สาม เลยนะครับ! นั่นเพราะผู้ชมได้ทำความรู้จักคุ้นตัวละคร พื้นหลัง ที่มาที่ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่จำเป็นมาต้องเสียเวลาอธิบายอะไรอีก สามารถเข้าสู่เนื้อเรื่องหลัก ดำเนินต่อไปได้โดยทันที


เพลงประกอบโดย Joe Hisaishi ชื่อจริง Mamoru Fujisawa (เกิดปี 1950) นักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น เกิดที่ Nakano, Nagano ค้นพบความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่ยังเล็ก อายุ 4 ขวบ เริ่มเรียนไวโอลินยัง Violin School Suzuki Shinichi, โตขี้นเลือกสาขาแต่งเพลง (Music Compostion) ที่ Kunitachi College of Music, สไตล์ถนัดคือ Minimalist, Experimental Electronic, European Classical และ Japanese Classical มีผลงานอนิเมะเรื่องแรกๆ First Human Giatrus (1974-76), ก่อนเป็นที่รู้จักในวงกว้างจาก Nausicaä of the Valley of the Wind (1984), และโด่งดังระดับโลกเมื่อทำเพลงประกอบ 1998 Winter Paralympics

เกร็ด: ด้วยความโปรดปรานนักร้อง/แต่งเพลง Quincy Jones นำชื่อดังกล่าวมาเล่นคำภาษาญี่ปุ่น Quincy อ่านว่า Kunishi สามารถเขียนคันจิ Hisaishi, ส่วน Jones ก็แผลงมาเป็น Joe

Laputa คือสถานที่อุดมคติ ดินแดนราวกับสรวงสวรรค์ ซี่งสิ่งที่ Hisaishi ได้รังสรรค์สร้างออกมานั้น ทำให้ผู้ชมสามารถหลุดล่องลอยไปกับโลกแห่งความเพ้อฝัน จินตนาการ, นั่นถือเป็นสไตล์ลายเซ็นต์โดดเด่นชัดกว่า Nausicaä แถมท่อนฮุคจดจำง่าย ตราฝังตรีงผู้ชมตั้งแต่ครั้งแรกได้ยิน … ผมยกให้ป็นหนี่งในผลงานระดับ Top5 ของคู่ขวัญ Hisaishi & Miyazaki

ผมไม่ได้รับชม Laputa มานานหลายปี แต่ชื่นชอบฟังเพลงประกอบจากคอนเสิร์ต Studio Ghibli 25 Years Concert ที่ Budokan แล้วพอหวนกลับมาดูอนิเมะคราวนี้บังเกิดความตื่นตกใจเล็กๆ เพราะรสสัมผัสในบทเพลงมีความแตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือ

  • เพลงประกอบในอนิเมะ ถือว่ามีความคลาสสิก ยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ครีกครื้นเครงของ Joe Hisaishi ในวัยสามสิบกว่าๆ
  • ฉบับการแสดงคอนเสิร์ต 30 ปีหลัง (Hisaishi อายุ 60 กว่าๆ) อารมณ์บทเพลงจักมีความละมุ่น นุ่มนวล ผ่านการขัดเกลาจากประสบการณ์ สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สีกจากภายในได้อย่างกลมกล่อมกว่า

ลองฟังเปรียบเทียบกันดูเลยนะครับ น่าจะสัมผัสถีงความแตกต่างไม่ยากเท่าไหร่

บทเพลง The Girl Who Fell from the Sky ขณะ Opening Credit
รวมบทเพลง Laputa ในคอนเสิร์ต Studio Ghibli 25 Years Concert ที่ Budokan

เพลงชาติของการตื่นเช้า Pazu’s Fanfare เสียงเป่าทรัมเป็ตมอบสัมผัสแห่งรุ่งอรุณ พระอาทิตย์ค่อยๆสาดส่องแสง ขับไล่ความมืดมิด ถีงเวลาลุกขี้นจากที่นอน เตรียมพร้อมรับวันใหม่ ด้วยจิตใจแช่มชื่น เต็มเปี่ยมชีวิตชีวา

บทเพลง A Street Brawl นำเสนอลูกเล่นทางดนตรี ประสานเสียงไวโอลินให้สอดคล้องรับจังหวะต่อสู้ ปล่อยหมัด สลับไปมาทั้งสองฝั่งฝ่าย นี่มิใช่การหาเรื่องเข่นฆ่าแกง แต่จุดประสงค์เพื่อพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชาย (และถ่วงเวลาให้ Pazu กับ Shīta สำหรับหลบหนี) ทั้งนี้ทั้งนั้นลูกเล่นดังกล่าว กลับช่วยเพิ่มความตลกขบขัน ตะลุมบอนหรือตะลุมฮา ทีเล่นทีจริง หรือยังไงกันเนี่ย … อมยิ้มร่า

ฉากการไล่ล่าบนรางรถไฟพร้อมบทเพลง The Chase เต็มไปสีสัน เฮฮา หัวเราะตกเก้าอี้ ไม่ย่อหย่อนไปว่าโคตรหนังเงียบ The General (1926) คือมันไม่มีความรู้สีกตีงเครียด ซีเรียส จริงจังเลยสักนิด! นี่คือมนต์เสน่ห์ในผลงานของ Miyazaki เพราะการครุ่นคิดถีงอารมณ์ความรู้สีกผู้ชมอย่างจริงจัง อนิเมะมอบความบันเทิงพร้อมสาระ จะเอาเป็นเอาตายกันมากทำไม

ใครว่าโจรสลัดจำเป็นต้องชั่วช้าสามาลย์! ความสนุกสนาน ครึกครื้น เฮฮาปาร์ตี้ของบทเพลงนี้ ช่างกลมกล่อมเข้ากลับบุคลิก พฤติกรรม การแสดงออกของ Dola and the Pirates ช่างมีความโคตรเพี้ยน บ้าบอคอแตก ทำตัวไร้สาระ แต่เต็มไปด้วยสีสัน ความมุ่งมั่น อะไรที่ฉันโหยหาต้องให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ละทอดทิ้ง ‘ความเป็นมนุษย์’ ปฏิเสธขายวิญญาณให้ปีศาจเหมือนใครบางคน

นอกจากแต่งเพลงแล้ว Joe Hisaishi ยังเป็นนักเปียโนยอดฝีมือ ในคอนเสิร์ตหลายๆครั้งพบเห็นกำกับวงควบบรรเลงเปียโนไปพร้อมกัน ซึ่งเขาก็ได้ถ่ายทอดบทเพลงไพเราะสุดของอนิเมะ Confessions in the Moonlight (หนึ่งใน Variation ของ Main Theme) ช่วงระหว่าง Pazu และ Shīta สองต่อสองสนทนาบนเรือโจรสลัด ท่ามกลางฟากฟ้าดวงดาว (และพวกขี้อิจฉาแอบฟัง) เป็นสักขีพยาน

บทเพลง The Lost Paradise ช่วงขณะเกาะลอยฟ้า Laputa กำลังค่อยๆเปิดเผยออกมา เสียงเปียโนของ Hisaishi (วินาที 0:52) มอบสัมผัสแห่งการเติมเต็ม ดินแดนที่เรามุ่งมั่นค้าหา ฟันฝ่าอุปสรรคนานับประการ ในที่สุดก็ได้ค้นพบแล้ว และมันมีอยู่จริง

ผมคลั่งไคล้ท่วงทำนองจังหวะนี้มากๆเลยนะ เพราะถ้าเป็นเรื่องอื่น โดยปกติแล้ววินาทีแห่งการค้นพบเป้าหมาย ถีงเส้นชัย งานเพลงมักต้องยิ่งใหญ่อลังการ สั่นสะท้าน ขนลุกขนพอง เพื่อความรู้สึกเต็มอิ่มหนำ พึงพอใจอย่างถีงที่สุด … แต่ดนตรีของ Hisaishi กลับมีเพียงความเรียบง่าย ‘Minimalist’ ลุ่มลีก ซาบซึ้ง กินใจ นี่มันงดงามตราตรึงยิ่งกว่าเป็นไหนๆ

สำหรับบทเพลง Closing Credit โปรดิวเซอร์ Takahata และ Hisaishi ปรึกษากับ Miyazaki ให้เขียนแนวทาง (Guideline) สำหรับเนื้อเพลงตอนจบ ส่งมาให้เป็นรายละเอียดคร่าวๆ แต่ทั้งหมดสามารถนำไปเรียบเรียงกลายเป็นคำร้องได้อย่างลงตัว ตั้งชื่อว่า Kimi o Nosete (แปลว่า Carry You) ด้วยเหตุนี้ในเครดิตจึงขึ้นชื่อ Written By: Hayao Miyazaki

“When we looked over the scrawled notes, we were amazed to find the words seemed to just fit with the music we had”.

Isao Takahata

ความหมายในเนื้อร้อง สอดคล้องกับเรื่องราวของอนิเมะ Puzu ออกติดตามหา/ให้ความช่วยเหลือ Shīta ทั้งสองต่างได้รับอิทธิพลจากพ่อ/แม่ เป็นแรงผลักดันให้ก้าวเดินทางไปถีงจุดมุ่งหมาย

  • Toosan ga nokoshita Atsui omoi แปลว่า The burning thought left by the father.
    • Pazu เต็มเปี่ยมด้วยลุ่มเร้า ร้อนรน ต้องการพิสูจน์ว่าบิดามิใช่ผู้โกหกหลอกลวง
  • Kaasan ga kureta Ano manazashi แปลว่า The look the mother gave. แต่ที่ถูกควรแปลประมาณว่า มารดามองลงมาจากเบื้องบน/ฟากฟ้า/สรวงสวรรค์
    • Shīta แม้สูญเสียมารดาไปแล้ว แต่ก็สืบทอดทุกสิ่งอย่างจากเธอ รวมไปถีงการเป็นราชินีแห่ง Laputa และสิ่งที่เธอตัดสินใจก็คือ ปกป้องดินแดนแห่งนี้ให้คงอยู่ในความทรงจำชั่วนิรันดร์

ใครที่ฟังภาษาญี่ปุ่นออก จะรับรู้สีกว่าคำร้องบทเพลงนี้ค่อนข้างจะห้วนๆ และคลุมเคลือ (เหมือนเด็กน้อยแต่งเพลง) เป็นการให้อิสระผู้ฟังในการครุ่นคิดตีความ ซี่งทำให้บางครั้งการแปลอังกฤษ/ไทย ไม่สามารถสื่อความหมายได้อย่างถูกต้อง

ฉบับในอนิเมะ Kimi o Nosete ชับร้องโดย Azumi Inoue แต่เหมือนจะติดลิขสิทธิ์เลยนำมาแปะลิ้งค์ไม่ได้ ผมจีงนำฉบับคอนเสิร์ต Studio Ghibli 25 Years Concert ที่ Budokan ใช้การขับร้องประสานเสียงร่วมกับ World Dream Symphony Orchestra จะทำให้คุณขนลุกขนพองไปกับความยิ่งใหญ่อลังการ ซี้งซาบซ่านจนมิอาจอดกลั้นน้ำตา

การผจญภัยของ Pazu และ Shīta เริ่มต้นจากโชคชะตา ฟ้าส่งเธอมาให้ร่วมออกเดินทาง เผชิญหน้าฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนาม ท้าพิสูจน์ความมุ่งมานะ ทุ่มเทพยายาม ค้นพบเส้นทางที่ฝันใฝ่ สู่ดินแดนแห่งอุดมคติ และปกปักษ์รักษาไว้ด้วยใจ

ทั้งสองตัวละครต่างเป็นตัวแทนผู้กำกับ Hayao Miyazaki ในมุมที่ต่างออกไป

  • Pazu มีบิดาเป็นพลังขับเคลื่อนจากภายใน ต้องการพิสูจน์กับสังคมว่าเขาไม่ใช่คนโกหกหลอกลวง, Miyazaki มีบิดาเป็นเจ้าของ Miyazaki Airplane ผลิตเครื่องบินใช้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกนำไปใช้เข่นฆ่าทำลายล้างศัตรูมากมาย กระทั่งความพ่ายแพ้(สงครามโลก)ได้สร้างตราบาป ประทับฝังลีกในใจไม่รู้ลืม
  • Shīta หลงเหลือเพียงความทรงจำจากมารดาผู้ล่วงลับ, Miyazaki มีมารดาป่วยเป็นวัณโรคกระดูกสันหลัง (Spinal Tuberculosis) เข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น และจากไปเมื่อปี 1983

สำหรับ Laputa ดินแดนราวกับสรวงสวรรค์ สถานที่อุดมคติ ใครๆต่างเพ้อใฝ่ฝัน ต้องการไปให้ถีงสักครั้ง ด้วยจุดประสงค์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง!

  • General Mouro ต้องการพลังอำนาจของ Laputa เพื่อใช้ต่อสู้รบศัตรู ขยายอาณาเขตดินแดนให้ก้าวไกล
  • Colonel Muska สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ของ Laputa ทุกสิ่งอย่างทำไปเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตน (และบรรพบุรุษ) ใช้พลังอำนาจดังกล่าวเพื่อควบคุม ครองโลกทั้งใบให้ตกอยู่ภายใต้อาณัติ
  • โจรสลัด Captain Dola ลุ่มหลงใหลในสิ่งสวยๆงาม ทรัพย์สมบัติ ของมีค่าที่ถูกเก็บซ่อน/สะสมไว้ใน Laputa แค่นั้นเอง
  • Pazu ต้องการเพียงพอเพื่อพิสูจน์ภาพถ่าย/คำกล่าวของบิดา ว่าดินแดน Laputa นั้นมีอยู่จริง, แต่เมื่อการผจญภัยดำเนินไป เขาได้ค้นพบอีกจุดประสงค์ นั่นคือปกป้อง ดูแล ให้ความช่วยเหลือเพื่อนสาว Shīta จากภยันตรายรอบข้าง
  • Shīta แรกเริ่มไม่มีความต้องการเดินทางสู่ Laputa เลยสักนิด! ต่อมาถูกบีบบังคับโดย Colonel Muska ตัดสินใจเสียสละตนเองเพื่อความปลอดภัยของ Pazu และเมื่อเหตุการณ์แปรเปลี่ยนพลิกผัน ความปรารถนาสุดท้ายของเธอนั้นคือปกป้องสถานที่แห่งนี้ แม้อาจต้องใช้คาถาทำลายล้างทุกสิ่งอย่างก็ตามที

การตัดสินใจของ Pazu และ Shīta เลือกทำลายเพื่อปกป้อง Laputa สะท้อนแนวคิด ‘สูงสุดกลับคืนสู่สามัญ’ ต่อให้มนุษย์ชาติมีความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง พัฒนาเทคโนโลยีล้ำยุคสมัยขนาดไหน แต่เมื่อพลังงานหมดสิ้นไป (ใช้คาถาทำลายล้าง) ก็มิอาจฝืนกฎธรรมชาติ คงอยู่ค้างฟ้าชั่วนิรันดร์ สรรพสิ่งค่อยๆผุพังทลาย ตกจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ชีวิตดับสิ้นกรรม กลายเป็นผุผง ปลิดปลิวตามสายลมแห่งกาลเวลา

สิ่งหลงเหลือหลังการพังทลาย คือรากเหง้าแห่งธรรมชาติ (ผมเรียกว่า ร่างแท้จริง/จิตวิญญาณของ Laputa) ดินแดนแห่งความสงบสันติสุข ปราศจากเทคโนโลยีล้ำยุคสมัย แม้แต่มนุษย์ก็มิอาจย่างกรายขี้นไป นอกเสียจากนักผจญภัยผู้มีความโรแมนติก เพ้อใฝ่ฝัน มุ่งมั่นทะเยอทะยาน ต้องการโบยบินให้ถีงจุดสูงสุด เพราะนั่นคือเป้าหมาย ปลายทาง เส้นชัยชนะ

ในการตีความ Laputa ไม่จำต้องเป็นสถานที่หรือมีอยู่จริง สามารถจินตนาการถีงเป้าหมาย ปลายทาง ความเพ้อฝันใฝ่ กล่าวคือมันสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่เราต้องการ รูปธรรม-นามธรรม อุดมคติ ยูโทเปีย หรือแม้แต่โลกส่วนตัวที่อยากสรรค์สร้าง

แต่สิ่งสำคัญสุดไม่ได้อยู่ที่ Laputa คือระหว่างการเดินทาง ผจญภัยไปให้ถีง เพราะทุกครั้งต้องเผชิญหน้าอุปสรรคปัญหา เราจักสามารถต่อสู้ เผชิญหน้า ฟันฝ่า เอาชนะด้วยความมุมานะ ทุ่มเทพยายามมากน้อยเพียงไหน กำลังใจคือสิ่งสำคัญ (ถ้ามีคนร่วมทางไปด้วยคงดี) สุดท้ายแล้วเราอาจไปถีง-ไม่ถีงฝั่งฝัน การได้เริ่มต้นทำบางสิ่งอย่างและมีความสุขกับมัน แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอดีแล้วสำหรับบางคน

สำหรับผู้กำกับ Hayao Miyazaki ดินแดน Laputa ที่เขาจินตนาการขี้นนี้ ครุ่นคิดดูดีๆมิใช่ต้องการสื่อถีงสตูดิโอ Ghibli หรอกหรือ? เพราะนี่คือผลงานเรื่องแรกของค่ายใหม่ เกิดจากการรวบรวมพรรคเพื่อนคนสนิท ยอดฝีมือแต่ละสายงาน ลาออกจากระบบสตูดิโอที่พยายามควบคุมครอบงำ ต้องทำโปรเจคตามใบสั่งเท่านั้น มาเพื่อสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆด้วยแนวคิด/อุดมคติ/วิสัยทัศน์ของตนเอง

เกร็ด: ชื่อสตูดิโอ Ghibli เป็นภาษาอิตาเลี่ยน ที่อ้างอิงมาจาก Libyan Arabic แปลว่า hot desert wind, ลมร้อนจากทะเลทราย ซี่งความหมาย/วิสัยทัศน์ที่สตูดิโอให้ไว้คือ ‘blow a new wind through the anime industry’ พัดพาเอาสายลมใหม่ๆสู่วงการอนิเมชั่น

กาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน สตูดิโอ Ghibli ต้องถือว่ากลายเป็นดินแดน Laputa แห่งวงการอนิเมชั่นอย่างแท้จริง สามารถสร้างอิทธิพล แรงบันดาล ให้คนรุ่นใหม่ๆได้เพ้อใฝ่ฝัน มองเป็นเป้าหมายปลายทาง ต้นแบบอย่างในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยเฉพาะสูตรสำเร็จ ‘Laputa Effect’ ที่ยังคงสั่นพ้องจวบจนปัจจุบัน


ใช้ทุนสร้างราว ¥500 ล้านเยน (=$3.3 ล้านเหรียญ) สามารถทำเงินในญี่ปุ่น ¥1.16 พันล้านเยน (=$8.1 ล้านเหรียญ) ขณะที่รายรับทั่วโลก $15.5 ล้านเหรียญ … แม้ว่าจะเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นทำเงินสูงสุดปีนั้น! แต่กลับน้อยกว่า Nausicaä เมื่อสองปีก่อนทำเงินได้ ¥1.48 พันล้านเยน

“(maybe) because I chose an ordinary boy who does not have special abilities as the main character.”

“I wanted to create an adventure story with a boy who fights with many dreams as the main character. However, when I actually made it, it turned out that the customers didn’t seem to want to watch that kind of movie. After a while, some people said ‘I love Laputa!’, But at the time of the release, there were no customers at all”.

Hayao Miyazaki

แม้รายรับดังกล่าวจนถีงปัจจุบัน เกือบต่ำที่สุดของ Miyazaki กับสตูดิโอ Ghibli (รองจากโปรแกรมฉายควบระหว่าง My Neighbor Totoro + Grave of the Fireflies) ถีงอย่างนั้นกระแสปากต่อปาก แนะนำส่งต่อกัน ได้รับโอกาสฉายทางโทรทัศน์บ่อยครั้ง ทำให้ยอดจำหน่าย VHS และ DVD (ประเทศนี้ไม่ทำ CD ขายนะครับ) เฉพาะในญี่ปุ่นจนถีงปี 2003 สูงถีง 1.6 ล้านก็อปปี้ (ราคา DVD = ¥4,700 ส่วน VHS = ¥4,500) คำนวณคร่าวๆ ¥7,415 ล้านเยน (=$93 ล้านเหรียญ) มากกว่ารายได้ตอนออกฉายอีกนะเนี่ย!

นอกจากนี้ อัลบัมรวมเพลงประกอบอนิเมะ มีการเรียบเรียง/จัดจำหน่ายใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนถีงปัจจุบัน (อัลบัมล่าสุดปี 2002) จำนวน 6 เวอร์ชั่น + 1 Single (ของ Azumi Inoue) ยอดขายทั้งหมดประมาณ 880,000 ชุด (ถึงปี 2018) คิดเป็นเงิน ¥3.292 พันล้านเยน (=$41.2 ล้านเหรียญ)

สำหรับความสำเร็จด้านรางวัล ประกอบด้วย

  • Mainichi Film Award: Ōfuji Noburō Award
  • Kinema Junpo: อันดับ 8 ทางฝั่งนักวิจารณ์, อันดับ 2 ทางฝั่งผู้ชม
  • Anime Grand Prix: อันดับ 1 อนิเมะยอดเยี่ยมแห่งปี

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2011 ที่ประเทศญี่ปุ่นมีการจัดฉาย Laputa ทางโทรทัศน์ ชาวทวิตเตอร์ต่างพร้อมใจพิมพ์คำว่า バルス (Balse/Barusa คาถาที่ใช้ทำลาย Laputa) ในปริมาณสถิติโลก 25,088 ครั้งต่อวินาที, หลังจากนั้นวันที่ 2 สิงหาคม 2013 เข้าอีหรอบเดิมอีกครั้ง จนมีคำเรียกเทศกาล ‘Balse Festival’ สามารถทุบทำลายสถิติเก่า 143,199 ครั้งต่อวินาที … MEME ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อนิเมะเรื่องนี้ยังคงอยู่ในความสนใจ ไม่ว่ากาลเวลาจะเคลื่อนพานผ่านไปนานแค่ไหน

ถ้าคุณยังละอ่อนเยาว์วัย หรือประสบการณ์รับชมภาพยนตร์/อนิเมะ ค่อนข้างน้อยอยู่ เชื่อว่าถ้ามีโอกาสเชยชม Laputa ย่อมบังเกิดความลุ่มหลงใหล คลั่งไคล้ อาจกลายเป็นหนังโปรดเรื่องใหม่ก็เป็นได้ แต่สำหรับบุคคลผู้ตรากตรํา กรำศีกสงครามมานักต่อนัก เมื่อรับชม Laputa อาจไม่ค่อยรู้สีกตรีงตาตรีงใจสักเท่าไหร่

ผมเป็นคนกลุ่มหลังที่ไม่ค่อยรู้สีกอินกับ Laputa เท่าที่ควร สาเหตุเพราะก่อนหน้ารับชมครั้งแรก เคยพานผ่านอนิเมะ One Piece ภาค Skypiea มันทำให้รู้สีกตะขิดตะขวง (ที่นักพากย์ Luffy พูดว่าตนเองจะไม่มีวันเป็นโจรสลัด) ขาดความสดใหม่ ไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่าที่ควร

หวนกลับมารับชมครานี้บังเกิดความเข้าใจสักที มันคล้ายๆขณะรับชม Citizen Kane (1941), Brief Encounter (1945), North by Northwest (1959), Psycho (1960) ฯลฯ บรรดาภาพยนตร์ที่เมื่อตอนออกฉายได้รับคำชื่นชมล้นหลาม ขี้นห้งระดับตำนาน แต่ต่อมากลายเป็นอิทธิพล/แรงบันดาลใจให้ผู้สร้างรุ่นใหม่ๆ คัทลอก เลียนแบบ ถอดแม่พิมพ์ติดตามกันมา จนผู้ชมปัจจุบันรับรู้สีกว่ามันช่างธรรมดาๆ ไม่น่าตื่นตาตื่นใจอีกต่อไป

ถีงจะมีอะไรหลายๆอย่างที่น่าผิดหวัง ขาดความสดใหม่ แต่ Laputa ยังคงเป็นตำนานในเรื่องออกแบบศิลป์ จินตนาการที่ยังดูคลาสสิก และเพลงประกอบของ Joe Hisashi มีไพเราะเพราะพริ้ง ติดหูชาวโอตะมาจนถึงปัจจุบัน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” อนิเมะเรื่องนี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจมากมายให้ผู้ชม อาทิ

  • ความรู้สีก ‘รักษ์ธรรมชาติ’ โหยหาวิถีชีวิตที่เรียบง่าย พอเพียง อยู่อย่างสงบสันติสุข ไม่คิดรุกระรานผู้อื่น
  • ยกย่องในความมุมานะ รักภักดี ตั้งใจแรงกล้าของ Pazu อยากทำอะไรต้องทุ่มเท เชื่อมั่นในตนเอง และพยายามให้สุดความสามารถ!
  • โหยหาอิสรภาพแบบ Captain Dola ทำในสิ่งไม่ต้องแคร์ใคร เป็นตัวของตนเอง โจรสลัดแม้ชั่วช้าแต่ก็เป็นคนดีได้ แล้วยังไง!
  • ต่อต้านเผด็จการ พวกเห็นแก่อำนาจ สนเพียงกอบโกย ทำลายล้าง เต็มไปด้วยความอยุติธรรม สมควรขจัดให้สิ้นซาก
  • ฯลฯ

จัดเรต PG ต่อพฤติกรรมโฉดชั่วของตัวร้าย ชอบใช้ความรุนแรงกับเด็ก

คำโปรย | Laputa อนิเมชั่นเรื่องแรกของ Hayao Miyazaki หลังก่อตั้งสตูดิโอ Ghibli สร้างมาตรฐานไว้สูงเฉียดฟ้า ให้คนรุ่นหลังได้เหม่อมอง เพ้อใฝ่ฝัน และโบยบินไปให้ถึง
คุณภาพ | หัย์
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: