Terms of Endearment (1983)
: James L. Brooks ♥♥♥♥♡
เพราะมนุษย์ประสบพบความสุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก หัวเราะ-ร้องไห้ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เราจึงควรสร้างข้อตกลงการใช้ชีวิต แสดงออกด้วยมิตรไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เมตตาปราณี และมอบความรักภักดีต่อกัน, คว้า 5 รางวัล Oscar รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ถ้าสาขาการแสดงไม่สนว่ารับบทนำหรือสมทบ 5 รางวัล Oscar ที่หนังเรื่องนี้ได้รับ จะสามารถเรียกได้ว่า ‘Big Five’ เพราะประกอบด้วย ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับ, บท, นำหญิง และสมทบชาย … แต่น่าเสียดายไม่มีใครมองกันแบบนั้น
Terms of Endearment เป็นภาพยนตร์ที่ผมรู้สึกว่าโคตรเจ๋งมากๆ พยายามนำเสนอเรื่องราวสองด้านที่มีความสุดโต่ง ตรงกันข้าม สลับสับเปลี่ยนอารมณ์ขึ้นๆลงๆไปมา สุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ ผ่านมุมมองตัวละครแม่-ลูก ว่าไปให้สัมผัสคล้ายๆ Pierrot le fou (1965) ของผู้กำกับ Jean-Luc Godard สามารถเหมารวมเรียกว่า ‘ชีวิต’
“The most remarkable achievement of ‘Terms of Endearment,’ which is filled with great achievements, is its ability to find the balance between the funny and the sad, between moments of deep truth and other moments of high ridiculousness. A lesser movie would have had trouble moving between the extremes that are visited by this film, but because ‘Terms of Endearment’ understands its characters and loves them, we never have a moment’s doubt: What happens next is supposed to happen. because life‘s like that”.
– นักวิจารณ์ Roger Ebert
สิ่งที่ทำให้ผมโคตรคลั่งไคล้ Terms of Endearment คือการแสดงของ Shirley MacLaine และ Jack Nicholson (แถมด้วย Debra Winger) เปรียบเทียบได้กับน้ำมันก๊าด vs. แก๊สโซลีน ถึงไม่สามารถผสมเข้าด้วยกัน แต่พอจุดติดไฟสามารถมอดไหม้ทุกสิ่งอย่างรอบข้าง แข่งกันบ้าบอคอแตก เลือกไม่ได้จะให้ใครเป็นผู้ชนะ
James Lawrence Brooks (เกิดปี 1940) นักเขียน/ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York, ในครอบครัวเชื้อสาย Jews พ่อทอดทิ้งไปตั้งแต่เขายังไม่เกิด อาศัยอยู่กับแม่ด้วยชีวิตสุดยากลำบาก เอาตัวรอดด้วยการเขียนส่งเรื่องสั้นตลกๆให้หนังสือพิมพ์ เงินไม่พอเรียนจบ New York University แต่ได้งานเป็นนักเขียนข่าวที่ CBS New Broadcasts ระหว่างนั้นก็เขียนบทละคร ซีรีย์ The Mary Tyler Moore Show (1970 – 1977), Taxi (1978–1983) คว้ารางวัล Emmy หลายสาขาทีเดียว, สู่วงการภาพยนตร์เริ่มจากเขียนบท Starting Over (1979) ให้ผู้กำกับ Alan J. Pakula, กำกับเองเรื่องแรก Terms of Endearment (1983) แจ้งเกิดโด่งดังโดยทันที ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Broadcast News (1987), As Good as It Gets (1997), เขียนบท The Simpsons Movie (2007) ฯ
Terms of Endearment (1975) คือนวนิยายขายดี แต่งโดย Larry Jeff McMurtry (เกิดปี 1936) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Texas เลื่องลือชาในฐานะนักเขียน ‘Old West’ ผลงานเด่นๆอาทิ Horseman, Pass By (1961), The Last Picture Show (1966), Lonesome Dove (1985) ** คว้ารางวัล Pulitzer Prize, และยังเคยร่วมงานดัดแปลงบทภาพยนตร์ Brokeback Mountain (2005)
เกร็ด: Terms of Endearment คือนวนิยายเล่มที่ 3 จาก 6 ของ Huston Series หลากหลายเรื่องราว ต่างชีวิต ต่างมุมมอง อาศัยอยู่บริเวณ Houston, Texas
นักแสดงหญิงชื่อดัง Jennifer Jones เป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์นวนิยาย Terms of Endearment ต้องการดัดแปลงภาพยนตร์โดยตนเองรับบทนำ (เลือก Sissy Spacek มารับบท Emma) แต่ไปๆมาๆผู้แต่ง McMurtry เกิดความไม่พึงพอใจ Jones สักเท่าไหร่ เลยโน้มน้าว Paramount Pictures ให้จัดแจงซื้อต่อลิขสิทธิ์ แล้วมอบหมายให้ Brooks มาพัฒนาบท จนกระทั่งเกิดความสนใจต้องการกำกับด้วยตนเอง
แม่หม้าย Aurora Greenway (Shirley MacLaine) เป็นคนเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการจุกจิก พยายามปั้นหน้าไม่แสดงออกความรู้สึก แต่ลึกๆเต็มไปด้วยอารมณ์อ่อนไหว พยายามจะควบคุมครอบงำลูกสาว Emma (รับบทโดย Debra Winger) แต่เธอกลับพยายามดิ้นให้หลุดจากพันธการ ถึงอย่างนั้นความสัมพันธ์แม่-ลูก ที่สนิทสนมชิดเชื้อ ก็แทบมิอาจขาดจากกันได้เพียงชั่วข้ามวัน
สำหรับ Emma เร่งรีบร้อนแต่งงานกับ Flap Horton (รับบทโดย Jeff Daniels) ครูสอนหนังสือที่แม้ภายนอกดูจืดชืด เฉื่อยชา แต่รสรักคงเผ็ดจัดจ้านไม่เบา ก็ถึงขนาดทำเธอตั้งครรภ์ลูกสาม แถมยังเอาเวลางานไปคบชู้สู่สาว รับรู้ด้วยสันชาตญาณเธอเลยเอาเวลาบ่ายๆ นอกใจสามีย้อนแย้งกลับไปบ้าง
ส่วน Aurora เพราะเว้นว่างห่างบุรุษมายาวนาน มีหลายตัวเลือกน่าสนใจ แต่สุดกล้ายกับหลงใหลเพื่อนข้างบ้าน Garrett Breedlove (รับบทโดย Jack Nicholson) อดีตนักบินอวกาศจอมเจ้าชู้ ชอบพูดพร่ำคำสองแง่สองง่าม สนเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ Sex ถูกขุ่นแม่เสี้ยมสอนไปหลายอย่าง แต่ก็ไม่ยอมเข็ดหลามกับเธอสักที
Shirley MacLean Beaty (เกิดปี 1934) นักร้อง นักแสดง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Richmond, Virginia แม่เป็นครูสอนการแสดง มีน้องชายเป็นนักแสดง/ผู้กำกับชื่อดัง Warren Beatty ตั้งแต่เด็กถูกส่งไปเรียนบัลเล่ต์ มีความชื่นชอบอย่างมากจนมีโอกาสขึ้นแสดง แต่อุบัติเหตุเข่าหักทำให้เธอไม่อาจเอาดีด้านนี้ เลยเปลี่ยนมาเรียนการแสดง ร้อง-เล่น-เต้นทั่วไป มุ่งสู่ New York City ลองเอาดีกับ Broadway ได้เป็น Understudy ของ Carol Haney เรื่อง The Pajama Game ซึ่งระหว่างขึ้นแสดงแทนเข้าตาโปรดิวเซอร์ Hal B. Wallis จับเซ็นสัญญาสตูดิโอ Paramount Pictures แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Trouble with Harry (1955) คว้ารางวัล Golden Globe Award: New Star of the Year – Actress, ติดตามมาด้วย Around the World in 80 Days (1956), Some Came Running (1958), Ask Any Girl (1959), ผลงานส่งเป็น Superstar คือ The Apartment (1960), และคว้า Oscar: Best Actress เรื่อง Terms of Endearment (1983)
รับบท Aurora Greenway แม่ผู้เต็มไปด้วยความวิตกจริต ขี้กังวล เป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ชอบพูดแสดงออกในสิ่งตรงกันข้ามความรู้สึก ทั้งยังพยายามควบคุมครอบงำทุกสิ่งอย่าง โดยเฉพาะลูกสาวและชายที่จะมาตอบสนองตัณหาตน แต่เพราะไม่มีอะไรบนโลกสามารถเป็นได้ดั่งฝันใฝ่ ก็จำใจต้องยินยอมรับสิ่งที่โชคชะตาฟ้ากำหนดมา
แม้มีนักแสดงมากมายอยู่ในความสนใจ แต่ผู้กำกับ Brooks เลือก Shirley MacLaine เพราะเธอเป็นคนเดียวสามารถมองออกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Comedy ซึ่งถ้าใครเคยรับชมผลงานเก่าๆของเธอ บทบาทนี้ถือว่าแนวถนัดเลยละ
ต่อให้ทำหน้าบูดบึ้งตึงสักเพียงใด แต่ภาพลักษณ์การแสดงของ MacLaine ชักชวนให้ผมหลุดหัวเราะออกมาแทบทุกนาที เสน่ห์ของเธอคือการปลุกปั้นใบหน้าให้ออกมายียวนกวนประสาท แถมยังถ้อยคำพูดสอดคล้องรับได้อย่างเฉียบคมคาย ต้องถือว่าประสบการณ์เล่นหนัง Comedy (และเป็นสมาชิก Rat Pack) ได้เสี้ยมสอน ขัดกล่อมเกลา ผู้ชมสามารถเข้าถึงตัวตนแท้จริง อารมณ์หลบซ่อนภายในของเธอได้ไม่ยากเท่าไหร่
MacLaine มีปัญหาไม่น้อยในการร่วมงานกับ Winger ที่ขณะนั้นกำลังพยายามเลิกเสพโคเคนเลยเต็มไปด้วยอารมณ์กวัดแกว่ง แต่สำหรับ Nicholson เปรียบเทียบเขากับ ‘old smooties’ ไม่ได้สนิทสนมสังสรรค์ แต่มองตาเข้าใจ รับส่งเคมีกันได้อย่างดูดดื่ม
“We’re like old smoothies working together. You know the old smoothies they used to show whenever you went to the Ice Follies. They would have this elderly man and woman – who at that time were 40 – and they had a little bit too much weight around the waist and were moving a little slower. But they danced so elegantly and so in synch with each other that the audience just laid back and sort of sighed. That’s the way it is working with Jack. We both know what the other is going to do. And we don’t socialize, or anything. It’s an amazing chemistry – a wonderful, wonderful feeling”.
– Shirley MacLaine
Debra Lynn Winger (เกิดปี 1955) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Cleveland Heights, Ohio ครอบครัวเชื้อสาย Jews เมื่อตอนอายุ 18 ประสบอุบัติเหตุทางรถ เลือดคลั่งในสมอง ร่างกายด้านขวาพิการ ตามองไม่เห็นอยู่กว่า 10 เดือน ใช้เวลาดังกล่าวครุ่นคิดถึงชีวิต และตัดสินใจหายเมื่อไหร่จะมุ่งหน้าสู่ Los Angeles เพื่อกลายเป็นนักแสดง, เริ่มต้นสมทบภาพยนตร์ Slumber Party ’57 (1976), ติดตามด้วยซีรีย์ Wonder Woman (1975-79), รับบทนำภาพยนตร์ Thank God It’s Friday (1978), ได้รับการจับตามอง Urban Cowboy (1980), สดๆร้อนๆเพิ่งได้เข้าชิง Oscar: Best Actress เรื่อง An Officer and a Gentleman (1982), ผลงานเด่นอื่นๆ The Sheltering Sky (1990), A Dangerous Woman (1993), Shadowlands (1993), Rachel Getting Married (2008) ฯ
รับบท Emma ที่พยายามโหยหาเอกภาพจากแม่ Aurora เลยเร่งรีบร้อนหมั้นหมายแต่งงาน ถึงอย่างนั้นแม้อยู่บ้านคนละหลัง ค่าโทรศัพท์กลับหมดเดือนละหลายพัน มิอาจเหินห่างตัดขาดความสัมพันธ์สนิทสนมแนบแน่น ต้องรับรู้ทุกสิ่งอย่างของอีกฝ่ายให้ได้หมดเปลือก … นั่นคงสร้างอคติให้กับสามีอยู่ไม่น้อย
แม้แม่ลูกจะมีนิสัย/พฤติกรรม แลดูแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว แต่ถึงอย่างนั้น ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ หลายๆอย่างพอสังเกตได้ว่ารับอิทธิพลมาโดยไม่รู้ตัว อย่างเช่นการวิตกจริต เมื่อสังเกตเห็นพฤติกรรมบางอย่างของสามี แทบจะได้ข้อสรุปโดยทันทีว่าเขาต้องลักลอบมีชู้นอกใจ ตนเองเลยใช้เวลายามบ่ายคบซ้อนหาชายอื่น
Winger เป็นนักแสดงที่ติดภาพลักษณ์เพลย์เกิร์ล น้ำเสียงแหบแห้งเกิดจากการเสพติดโคเคน พยายามเลิกราแต่ไม่ใช่ว่าทำกันง่ายๆ ในกองถ่ายเห็นว่าเต็มไปด้วยอารมณ์กวัดแกว่ง คอยสร้างปัญหาขัดแย้งอยู่เรื่อยๆ ตรงกันข้ามตัวละครที่ดูใสซื่อบริสุทธิ์ แต่สามารถคบชู้แบบไม่ยี่หร่าอะไรใคร (นั่นถือว่ากลับตารปัตรกับตัวละครของ MacLaine อย่างสิ้นเชิงเลยนะ)
John Joseph Nicholson (เกิดปี 1937) สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Neptune City, New Jersey เดินทางสู่ Hollywood เมื่อปี 1954 ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ออฟฟิศที่ MGM Cartoon Studio พวกเขาเสนองานนักวาด Animator แต่ปฏิเสธเพราะต้องการเป็นนักแสดง, มีโอกาสเรียนการแสดงที่ Players Ring Theater ผลงานเรื่องแรก The Cry Baby Killer (1958) ตัวประกอบสมทบใน The Little Shop of Horrors (1960) The Raven (1963), The St. Valentine’s Day Massacre (1967) ฯ เริ่มมีชื่อเสียงจากเขียนบท The Trip (1967), สมทบ Easy Rider (1969), คว้า Oscar สามครั้งจาก One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975), As Good as It Gets (1997) และสาขาสมทบ Terms of Endearment (1983)
รับบท Garrett Breedlove นักบินอวกาศที่แม้เกษียณอายุไปแล้ว แต่ก็ราวกับยังโบยบินอยู่นอกวงโคจรโลก ชื่นชอบการสังสรรค์ปาร์ตี้ เกี้ยวพาสาวๆด้วยถ้อยคำพูดสองแง่สองง่าม จนกระทั่งได้มาพบเจอคู่ปรับ Aurora ก็สองจิตสองใจแต่ก็ลองดูไม่เห็นเป็นไร กลายเป็นความสัมพันธ์ที่แม้ไม่เข้ากัน แต่สามารถเติมเต็มความต้องการของอีกฝ่ายได้อย่างสมบูรณ์แบบ
บทบาทนี้ดั้งเดิมไม่มีอยู่ในนวนิยาย ผู้กำกับ Brooks เขียนเพิ่มขึ้นเพื่อคาดหวังให้ Burt Reynolds มารับบท แต่พี่แกดันไปตอบตกลงเล่นหนังอีกเรื่องก่อน รู้สึกสูญเสียดายแทบจะที่สุดในชีวิต
“There are no awards in Hollywood for being an idiot”.
– Burt Reynolds
มีนักแสดงอีกหลายคนที่ได้รับการติดต่อ Paul Newman, Harrison Ford แต่เพราะกลัวสูญเสียภาพลักษณ์จากบทบาทดังกล่าว กระทั่งมาถึง Jack Nicholson ซึ่งได้รับอนุญาตจากผู้กำกับสามารถ ‘improvised’ ทำยังไงก็ได้กับตัวละคร ซึ่งความยียวนกวนประสาทของพี่แก ชอบกลั่นแกล้งเพื่อนๆนักแสดง อาทิ แก้ผ้าล่อนจ้อนระหว่างเข้าฉาก, อยู่ดีๆเอามือล้วงหน้าอก MacLaine, จับก้นตอนร่ำลา ฯ ผลลัพท์สร้างความคิดไม่ถึงมากมายให้กับผู้ชม … และไม่มีใครคาดคิดถึงเช่นกันจะคว้า Oscar: Best Supporting Actor
เอาจริงๆผมครุ่นคิดว่าบทบาทนี้ของ Nicholson บ้าบอคอแตกเสียยิ่งกว่า One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) คือกล้าเล่น กล้าทำอะไรประหลาด สรรค์สร้างความยียวนที่เชื่องช้า เฉื่อยชา เฉิ่มเฉย แต่โคตรจะคลาสสิก และเข้าขากับ MacLaine น่าจะที่สุดของชีวิต
ถ่ายภาพโดย Andrzej Bartkowiak (เกิดปี 1950) ผู้กำกับ/ตากล้อง สัญชาติ Polish ผลงานเด้นๆ อาทิ The Verdict (1982), Terms of Endearment (1983), Prizzi’s Honor (1985), Speed (1994) ฯ
หนังพยายามเลือกสถานที่ถ่ายอ้างอิงตามต้นฉบับนิยาย อาทิ Houston (Texas), Des Moines (Iowa) และ Kearney (Nebraska)
งานภาพของหนังไม่ถือว่าโดดเด่นหรือมีนัยยะแฝงซ่อนเร้นอะไรเท่าไหร่ แต่ก็พอมีที่น่าสนใจอยู่บ้าง อาทิ ช็อตแรกสุดเริ่มจากแสงไฟเล็กๆท่ามกลางความมืดมิด แม่เปิดประตูห้องเข้ามา ความสว่างช่างดูฟุ้งๆราวกับอยู่ในความเพ้อฝัน (คงเพราะนี่เป็นช่วงเวลามีความสุขที่สุดในชีวิตของเธอแล้วกระมัง) แต่การกระทำบ้าๆบอๆของเธอ ชัดเจนเลยว่าเต็มไปด้วยความวิตกจริต ครุ่นคิดมาก อยากนอนเคียงข้างลูกแต่…
Emma สวมใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ แลดูเหมือนผู้ชาย (แต่สวมใส่ผ้าคลุมศีรษะของเจ้าสาว) ยืนจับจ้องมองกระจก ขับร้องเพลง Anything Goes (1934) ขับร้องโดย Ethel Merman เพื่อสะท้อนความต้องการของตนเองที่จะเป็นอิสรภาพจากแม่ พรุ่งนี้กำลังจะแต่งงานกับแฟนหนุ่ม Flap Horton
บ้านโกโรโกโสของข้าวใหม่ปลามัน สะท้อนถึงจุดเริ่มต้นนับหนึ่งของชีวิตคู่ ที่อะไรๆจักค่อยๆได้รับการพัฒนาให้ดูดีขึ้นกว่าเดิมเรื่อยๆ, ขณะที่อาการป่วยหวัดของ Emma ผมว่ามันเป็นมุก จามเพราะมีคนครุ่นคิดถึงอยู่ ซึ่งก็คือแม่ของเธอนะแหละโทรศัพท์จนสายร้อน ไม่ยอมยกหูรับสักที
ไม่ใช่แค่ Emmy เท่านั้นที่ได้รับอิสรภาพ เมื่อแม่ Aurora ต้องอาศัยอยู่ตัวคนเดียว ทำให้เธอเกิดความเหงาหงอย เกิดความโหยหาบางสิ่ง แรกเริ่มต้นก็จากแอบจับจ้องมองเพื่อนข้างบ้าน ‘Peeping Tom’ ตบมุกฉากนี้ด้วยการกลิ้งล้มตกเตียง (เรียกได้ว่าตกหลุมรักโดยไม่รู้ตัว)
ความน่าสมเพศที่เกิดขึ้นกับ Garrett Breedlove น่าจะเกิดความคาดหวังสูงเกินไป เพราะเคยเป็นถึงนักบินอวกาศ แต่กลับไม่สามารถหาคนครองคู่อยู่ร่วม ปัจจุบันเลยใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย สำมะเทเมา หลีสาวไปวันๆแล้วไม่มีใครเอา แค่ลงจากรถกลิ้งตกข้างทาง เกิดรอยฟกช้ำคิ้วข้างซ้าย ไร้ซึ่งศักยภาพในการดูแลตนเอง
วันว่างๆของ Aurora คาดว่าคงเอาเวลาไปจัดสวนดอกไม้ ทำออกมาได้อย่างสวยหรูอลังการ แต่ทั้งหมดนี้ก็แค่ภาพลักษณ์ภายนอกของเธอเท่านั้น ความต้องการของจิตใจหลบซ่อนเร้นอยู่ในศาลาหกเหลี่ยม ซึ่งเมื่อได้ยินเสียงอันเกรี้ยวกราดของ Garrett Breedlove อดไม่ได้ที่จะโต้ตอบกลับไป
ขณะที่ฝั่งบ้านของ Aurora มีการจัดการอย่างดี ปลูกดอกไม้ลายล้อมติดรั้ว ตรงกันข้ามกับ Garrett Breedlove นั่นป่าหรืออย่างไร ใช้ชีวิตราวกับสัตว์ อยู่ด้วยสันชาตญาณ/ความต้องการทางเพศ ซึ่งก็พยายามโน้มน้าว ชักจูง เกี้ยวพาราสี สนอย่างเดียวเท่านั้นคือ Sex มันชัดเจนมากๆในถ้อยคำพูดของตัวละคร
ผมว่าเป็นการนัดเดทโคตรโรแมนติกระดับอุดมคติที่สุดแล้วตั้งแต่เคยรับชมภาพยนตร์มา ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามกลั่นแกล้งกันและกันด้วยกิจกรรม คำพูดจา เต็มไปด้วยเนื้อหาเสียดแทง ประชดประชัน ไม่มีการอ้อมคอม สวมหน้ากาก หรือปกปิดบังธาตุแท้ของตนเองแม้แต่น้อย
แซว: ชุดของ Aurora ถือว่าผิดยุคผิดสมัยมากๆ ปกติก็ไม่พบเห็นแต่งกายแบบนี้ สะท้อนถึงความพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี แต่เลือกคู่เดทผิดคนแล้วละที่จะทำตัวสวยใสแบบนั้น
Tête de Coco (แปลว่า Head of Cocoa) ภาพวาดสีน้ำมันของ Pierre-Auguste Renoir จิตกรเอกชาวฝรั่งเศส แห่งยุคสมัย Impressionism ที่ใช้ในหนังนี้เป็นการคัทลอกเลียนแบบโดย Jeffrey Fallon ราคาจริงๆในปัจจุบัน มีคนประเมินว่าไม่น่าต่ำกว่าล้านฟรังก์
ภาพวาดเป็นรูปเด็กน้อย ของรักของหวงของ Aurora สามารถตีความได้สองอย่าง
– อย่าแรกคือ เด็กน้อยสามารถแทนได้ด้วยลูกสาวสุดที่รัก Emmy
– หรือสะท้อนตัวตนของเธอเอง (ที่ไม่ต่างจากเด็กน้อยสักเท่าไหร่)
การจัดบ้านของ Garrett Breedlove ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว เต็มไปด้วยรูปภาพถ่าย เหรียญประดับเกียรติยศ สะท้อนถึงความเย่อหยิ่งทะนง ภาคภูมิใจในตนเอง ‘full of himself’ อีโก้สูงลิบลิ่วจนแทบไม่มีใครสามารถยินยอมรับได้ แต่แท้จริงแล้วสะท้อนความเวิ้งว่างเปล่า ชีวิตไม่มีใครเคียงข้างกาย ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว เหงาหงอย เศร้าสร้อย เพียงลำพัง อย่างน่าสงสารเห็นใจ
Emmy คือหญิงสาวตัวเล็กๆที่เพิ่งรับรู้ตนเองเมื่อเดินทางมายัง New York City เพราะไม่เคยทำงาน มีความต้องการ เป็นตัวของตนเองสักครั้งหนึ่ง มักถูกควบคุมครอบงำ อยู่ภายใต้การปกครองของ … ครึ่งชีวิตแรกโดยแม่ พอแต่งงานก็ศิโรราบให้สามี
หนังนำเสนอความบ้านนอกคอกนา ไร้เดียงสาของตัวละคร ดูจากเสื้อผ้าหน้าผม เมื่อเทียบกับสาวๆ New York ช่วงแตกต่างราวฟ้ากับเหว (เห็นตึกแฝด World Trade Center อยู่ลิบๆ) นี่สะท้อนถึงโอกาสที่สูญเสียไป แต่ก็ไม่ได้แปลว่าชีวิตของเธอจะไม่มีความสุขนะ แค่ได้เลี้ยงลูก อยู่กับบ้าน เฝ้าดูแลพวกเขาเติบใหญ่ เพียงพอดีเท่านี้ก็เหลือเฟือแล้วสำหรับใครบางคน
การจากไปของ Emmy ช่างสุดแสนสงบเรียบง่าย ในขณะที่ Flap หลับสนิท ส่วนแม่เพิ่งจะเบือนหน้าหนี แล้วนางพยาบาลถึงเดินมาสะกิดบอกแบบไม่ทันมีใครตั้งตัว
ความเก๋าเกมของ Nicholson เพื่อที่ยืนเตะท่าได้อย่างเหมาะสม เสี้ยววินาทีหนึ่งหันมาสบตาหน้ากล้อง ชักชวนเด็กชายไปดูสระว่ายน้ำ … ตอนนี้มันใช่เวลาเสียไหน!
ตัดต่อโดย Richard Marks (1943 – 2018) ขาประจำผู้กำกับ Brooks ผลงานเด่นอื่นๆ Serpico (1973), The Godfather Part II (1974), Apocalypse Now (1979), Terms of Endearment (1973), Broadcast News (1987), As Good as It Gets (1997), You’ve Got Mail (1998), Julie & Julia (2009) ฯ
หนังดำเนินเรื่องคู่ขนานระหว่างแม่ Aurora และลูกสาว Emmy เริ่มต้นตั้งแต่เธอเกิดจนเสียชีวิต รวมระยะเวลาน่าจะไม่น้อยกว่า 30 ปี (ไม่มีระบุตัวเลขแน่ชัด) ซึ่งใช้การกระโดดไปข้างหน้าเรื่อยๆ ผู้ชมต้องคอยสังเกตเอาเองจากบริบทรอบข้าง เด่นชัดก็คือลูกๆที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วไวเหลือเกิน
ช่วงกลางเรื่องขณะที่ Aurora และ Emmy แยกกันอยู่คนละรัฐ หนังมีการนำเสนอเคียงคู่ขนานระหว่างพวกเธอทั้งสองกำลังพบรักครั้งใหม่
– Aurora เกี้ยวพาราสี Garrett Breedlove
– Emmy กำลังคบชู้อยู่กับ Sam Burns
เพลงประกอบโดย Michael Gore (เกิดปี 1951) สัญชาติอเมริกัน ส่วนใหญ่ทำเพลงให้กับซีรีย์/ละครโทรทัศน์ ส่วนผลงานภาพยนตร์ อาทิ Fame (1980), Terms of Endearment (1983) ฯ
Main Theme ของหนังใช้เครื่องดนตรีเพียงไม่กี่ชิ้น เปียโน กลอง คีย์บอร์ด (กลิ่นอาย Electric อยู่เล็กๆ) แต่สามารถมอบสัมผัสได้ทั้งสุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก หัวเราะ-ร้องไห้ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ขึ้นอยู่กับผู้ฟัง/เรื่องราวขณะนั้นกำลังอยู่ในห้วงอารมณ์ใด ซึ่งบทเพลงนี้สามารถเติมเต็มรสชาด ‘ชีวิต’ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
น่าเสียดายที่งานเพลงแม้ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Score แต่พ่ายให้กับ The Right Stuff (1983) ที่ถือว่าตราตรึงกว่าเล็กน้อย (มีเรื่องราวเกี่ยวกับนักบินอวกาศเหมือนกันด้วยนะ)
Terms of Endearment แปลตรงตัวก็คือ ข้อตกลงเรื่องความรัก ซึ่งในบริบทของหนังประกอบด้วย
– สัญญาสายเลือดระหว่างแม่-ลูก ไม่สิ่งใดในโลกสามารถฉีดขาดข้อตกลงเรื่องความรักลงได้ ก็ตั้งแต่ให้กำเนิดเกิดมา อยากอยู่ใกล้ชิดเคียงข้าง เติบโตขึ้นยังไม่ยินยอมให้เหินห่าง แม้ต้องแต่งงานออกจากบ้าน สาย(โทรศัพท์)สัมพันธ์ก็ยังแนบแน่นชิ้เชื้อ
– ขณะที่สัญญาความรักระหว่างชาย-หญิง นั่นหาใช่สิ่งจีรังมั่นคง ถ้าไม่สามารถทะถุถนอมมันไว้ให้ดี สักวันหนึ่งย่อมถูกฉีดขาด หั่นสะบั้นลงอย่างแน่นอน
ซึ่งสัญญาความรักระหว่างชาย-หญิง หนังนำเสนอผ่านสองมุมมองแม่-ลูก
– ชายคู่สัญญาของแม่ Garrett Breedlove เป็นคนเย่อหยิ่งทะนงตน อ้างอวดดี ทำตัวเสเพล สำมะเลเทเมา ปากบอกเจ้าชู้ประตูดิน แต่แท้จริงแล้วก็แค่โดดเดี่ยวอ้างว้าง อยู่เดียวดายตามลำพังมานาน ก็อยากที่จะมีคู่ครองชีวิต แต่ครุ่นคิดไม่ได้จักทำอย่างไร
– Flap Horton สามีตามใบทะเบียนสมรสของ Emmy ทั้งๆมีชีวิตแสนสบายสุขีดีอยู่แล้ว กลับยังลักลอบเป็นชู้นอกใจภรรยา สรรหาความมั่นคงทางความครุ่นคิดจิตใจไม่ได้เลยสักนิด
ความ Comedy ของ Terms of Endearment ไม่ใช่สิ่งที่แค่พอถูกนำเสนอ เรียกเสียงหัวเราะ แล้วจบสิ้นพานผ่าน ‘เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา’ แต่แปลกกลับทำให้ผู้ชมได้ฉุกครุ่นคิดบางสิ่งอย่าง แถมอีกไม่นานนัก หนังนำเสนออีกมุมมองหนึ่งที่กลับตารปัตรตรงกันข้าม เรียกได้ว่าเติมเต็มความเข้าใจในเรื่องราวนั้นๆอย่างสมบูรณ์ … เป็นเทคนิควิธีการนำเสนอที่แนบเนียน ชาญฉลาดสุดๆ ไม่ใช่หนังตลกไร้สาระ แต่ซ่อนเร้นข้อคิดเกี่ยวกับชีวิตมากมายทีเดียว
ผู้กำกับ James L. Brooks เลื่องลือชาในผลงานที่มักนำเสนออีกมุมมองหนึ่งของชีวิต
– Broadcast News (1987) เป็นภาพยนตร์ที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับ Network (1976) นำเสนอความโรแมนติกของอาชีพนักข่าว พบเห็นชีวิต/การทำงานจริงๆจับต้องได้ยิ่งกว่า
– As Good as It Gets (1997) แค่ชื่อก็บ่งบอกถึง ชีวิตที่แม้เป็นได้แค่นี้ แต่มันก็เหลือเฟือเกินพอแล้วไม่ใช่หรือ!
ความตายของหนังไม่ใช่โศกนาฎกรรม แต่คือการเติมเต็มชีวิตให้ครบวัฏจักร สะท้อนตอนต้นที่คือการถือกำเนิดของเด็กหญิง เติบโต-แก่ชรา พบเจอ-พลัดพรากจาก มีความสุข-ประสบทุกข์ เสียงหัวเราะ-ร่ำร้องไห้ ทุกอารมณ์ความรู้สึก ล้วนคือส่วนหนึ่งของ ‘ชีวิต’ ที่อีกประเดี๋ยวทุกสิ่งอย่างก็จักพานผ่านไปดั่งสายลม
ข้อตกลงที่นอกเหนือจากเรื่องความรัก ก็คือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน อย่างที่ผมเกริ่นไปตอนต้น เราควรแสดงออกไม่ใช่แค่ในครอบครัว แต่ยังเพื่อนสนิท มิตรสหาย คนไม่รู้จักมากมาย ด้วยไมตรีจิตอันดี เอื้อเผื้อเผื่อแผ่เมตตาปราณี และมอบความรักภักดีต่อกัน เริ่มต้นง่ายๆก็ด้วยรอยยิ้ม เท่านี้ความเบิกบานจักเกิดขึ้นภายในจิตใจ และสังคมจักพานพบสงบสันติสุข
ด้วยทุนสร้าง $8.5 ล้านเหรียญ แม้สัปดาห์แรกจะเปิดตัวเพียงอันดับสอง แต่สัปดาห์ถัดมาสามารถไต่ขึ้นอันดับหนึ่ง แล้วก็ขึ้นๆลงๆอยู่อย่างนั้น ในรอบ 11 สัปดาห์ติดอันดับหนึ่งทั้งหมดหกครั้ง ทำเงินได้ $108.4 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จล้นหลาม (ไม่มีรายงานรายรับต่างประเทศ)
เข้าชิง Oscar 11 จาก 9 สาขา คว้ามา 5 รางวัล
– Best Picture ** คว้ารางวัล
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actress (Shirley MacLaine) ** คว้ารางวัล
– Best Actress (Debra Winger)
– Best Supporting Actor (Jack Nicholson) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (John Lithgow)
– Best Adapting Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Sound
– Best Original Score
ก่อนที่ Shirley MacLaine จะขึ้นรับรางวัล กระซิบบอก Debra Winger ว่า ‘Half of this belongs to you’ ได้รับคำตอบ ‘I’ll take half’
เกร็ดรางวัล:
– James L. Brooks กลายเป็นผู้กำกับคนที่ 4 (จาก 6) คว้ารางวัล Best Director จากภาพยนตร์เรื่องแรก ถัดจาก Delbert Mann เรื่อง Marty (1955), Jerome Robbins เรื่อง West Side Story (1961), Robert Redford เรื่อง Ordinary People (1980) และหลังจากนี้ Kevin Costner เรื่อง Dances with Wolves (1990), Sam Mendes เรื่อง American Beauty (1999)
– James L. Brooks กลายเป็นผู้กำกับคนที่ 4 (จาก 7) คว้า ‘hat trick’ สามรางวัล Best Picture, Best Director และ Best Adapted Screenplay ถัดจาก Leo McCarey เรื่อง Going My Way (1944), Billy Wilder เรื่อง The Apartment (1960), Francis Ford Coppola เรื่อง The Godfather, Part 2 (1974), และหลังจากนี้ Peter Jackson เรื่อง The Lord of the Rings: The Return of the King (2003), Joel and Ethan Coen เรื่อง No Country for Old Men (2007) และ Alejandro Gonzalez Innaritu เรื่อง Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance) (2014)
– เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ 4 (จาก 5) ที่มีนักแสดงเข้าชิง Best Actress พร้อมกันสองคน ถัดจาก All About Eve (1950), Suddenly, Last Summer (1959), The Turning Point (1977) และหลังจากนี้ Thelma & Louise (1991)
– Jack Nicholson เป็นนักแสดงชายคนแรกที่เคยคว้ารางวัลสาขานำแสดง (Leading) แล้วตามมาด้วยบทสมทบ (Supporting) [ส่วนใหญ่จะได้บทสมทบก่อนแล้วค่อยคว้านำแสดง] ก่อนหน้านี้เป็นนักแสดงหญิง Helen Hayes, Ingrid Bergman, Maggie Smith และหลังจากนี้จะมีอีกคนคือ Gene Hackman
มีความพยายามสร้างภาคต่อ The Evening Star (1996) ดัดแปลงจากนวนิยายภาคต่อของ Larry McMurtry แถมยังได้ Shirley MacLaine และ Jack Nicholson หวนกลับมารับบทเดิม แต่กำกับโดย Robert Harling ผลลัพท์ถูกด่าก้นขรม ล้มเหลวขาดทุนย่อยยับเยิน
มุกที่ผมประทับใจมากสุดของ Shirley MacLaine กับ Jack Nicholson คือขากลับมาถึงบ้าน สนทนากันว่า
Aurora: “Would you like to come in?”
Garrett: “I’d rather stick needles in my eyes.”
แต่สำหรับ Nicholson มีช่วงท้ายอีกรอบที่โดนใจผมมากๆ เดินถ่างๆอย่างเชื่องช้า หันหน้าสบตากล้องชั่วขณะ แล้วหันไปพูดคุยกับเด็กชาย
Do you want to see my pool?
คำพูดดังกล่าวอาจดูไม่เป็นการเหมาะสมในช่วงเวลาขณะนั้นสักเท่าไหร่ แต่ผมว่าคือวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของคนที่อยู่ในสภาพซีมเศร้าโศกได้เจ๋งมากๆ หาข้ออ้างชักชวนไปทำอย่างอื่นให้ผ่อนคลายวิตกกังวล ก่อเกิดมิตรภาพที่คงไม่มีใครคาดคิดถึง
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แม้หลายๆเรื่องราวอย่างอาจดูไร้สาระ แต่ผมแนะนำให้ดื่มด่ำไปกับความสุข-ทุกข์ หัวเราะ-ร้องไห้ แล้วคุณอาจค้นพบความงดงามแห่งชีวิต มิตรภาพเพื่อนใหม่ และเปิดมุมมองโลกทัศน์ส่วนตัวให้กว้างขึ้นกว่าก่อน
จัดเรต 13+ กับมุกส่อเสียด หยาบคาย และความเสียสติแตกมากเกินของแม่
Leave a Reply