The 400 Blows

Les Quatre Cents Coups (1959) French : François Truffaut ♥♥♥♥

(9/1/2019) มากกว่าแค่กึ่งอัตชีวประวัติผู้กำกับ François Truffaut หรือสถานะประเทศฝรั่งเศสขณะนั้น แต่ยังคือมุมมองโลกทัศนคติต่อวงการภาพยนตร์ เต็มไปด้วยผู้ใหญ่หัวโบราณ พยายามชี้ชักนำ ครอบงำความคิด ยึดติดรูปแบบเดิมๆ เด็กรุ่นใหม่พบเห็นเช่นนั้น แปลกอะไรจะแสดงความหัวขบถก้าวร้าวออกมา, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

“One of the most beautiful films that I have ever seen”.

– Akira Kurosawa

Les Quatre Cents Coups แม้จะไม่ใช่เรื่องแรกในกลุ่มเคลื่อนไหว La Nouvelle Vague/French New Wave [เรื่องแรกคือ Le Beau Serge (1958) ของผู้กำกับ Claude Chabrol] แต่คือผลงานที่จุดประกายความสำเร็จ ทำเงินล้นหลามถล่มทลายไม่ใช่แค่ในประเทศฝรั่งเศส ตามติดด้วย À bout de souffle (1960) ของผู้กำกับ Jean-Luc Godard ร่วมกันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงวงการภาพยนตร์ มุ่งสู่ยุคสมัย ‘Modern Era’ สามารถเรียกทั้งสองเรื่องนี้ว่า พี่-น้อง หรือ คู่หู คงไม่ผิดกระไร (เรื่องนี้เด็กนอกคอก, เรื่องนั้นนักเลงหัวขบถ)

คำนิยาม French New Wave ที่ผมอ่านพบเจอแล้วเกิดความชื่นชอบประทับใจมากๆ คือแนวทางการสร้างภาพยนตร์ โอบรับ Caméra-Stylo (กล้องถ่ายภาพประหนึ่งด้ามปากกา)โดยมี Écriture (ลีลา) แตกต่างกันไปตามสไตล์ลายเซ็นต์เจ้าของบทประพันธ์ ราวกับ…

“Cinema in the first person singular”.

ความสำคัญของ Les Quatre Cents Coups คือภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่แหกแหวกขนบธรรมเนียมประเพณีจากยุคสมัยคลาสสิก ไม่จำกัดตนเองอยู่ภายใต้กฎกรอบสตูดิโอ แบกกล้องหนึ่งตัว นักแสดง ทีมงานอีกนิดหน่อย โลกทั้งใบสามารถใช้เป็นฉากพื้นหลัง เรื่องราวมีส่วนสัมพันธ์กับผู้สร้าง (หรือเรียกว่า ‘ศิลปิน’) ไม่จำต้องดำเนินไปแบบเรียงลำดับ 1-2-3 ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปได้

ตั้งแต่ผมมีโอกาสรับชม Zero for Conduct (1933) ตามด้วย If…. (1968) ที่มีเรื่องราวแนวคิดคล้ายคลึงกับ The 400 Blows (1959) เลยเกิดความใคร่สนใจอยากหวนกลับมารับชมหนังเรื่องนี้อีกครั้ง และถือเป็นการปรับปรุงบทความเก่า เขียนไว้ตั้งแต่ปลายปี 2015 คงได้พบเห็นวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยทีเดียวละ


François Roland Truffaut (1932 – 1984) ผู้กำกับ/นักวิจารณ์ สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris พ่อแท้ๆเลิกรากับแม่ Janine de Montferrand เธอแต่งงานใหม่กับ Roland Truffaut รับเป็นบุตรบุญธรรมตั้งชื่อพร้อมมอบนามสกุลให้ ปีแรกอาศัยอยู่กับแม่นม ตามด้วยบ้านย่าจนเธอเสียชีวิตเมื่อเขาอายุ 8 ขวบ เลยต้องย้ายกลับมาอยู่กับแม่และพ่อเลี้ยงที่ไม่ถูกชะตานัก เสี้ยมสั่งสอนให้สงบเสงี่ยมเจียมตน ใช้เวลาอ่านหนังสือ หมกตัวอยู่ในโรงหนัง มีเพื่อนสนิทคือ Robert Lachenay (ต้นแบบตัวละคร René Bigey) หลังถูกไล่ออกจากโรงเรียนเลยตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ถูกจับข้อหาลักขโมยเล็กๆน้อยๆส่งตัวไปสถานดัดสันดาน หลังจากนั้นก็เริ่มดิ้นรนเอาตัวรอด หัดเรียนรู้ศึกษาอะไรๆด้วยตนเอง (Self-Taught)

เกร็ด: Truffaut เคยเล่าว่า เหตุผลที่พ่อเลี้ยงไม่ค่อยถูกชะตากับตนเอง อาจเพราะแม่เคยตั้งครรภ์แล้วแท้งน้อง สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้อย่างมาก เลยมองเขาเป็นคนนอกปฏิเสธที่จะยินยอมรับ, ขณะที่แม่แท้ๆ คงเพราะมองเห็นเค้าโครงหน้าสามีที่ทอดทิ้งไป เลยไม่ค่อยอยากพบเจอปฏิบัติดีด้วยสักเท่าไหร่

เกร็ด 2: ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ Truffaut มีโอกาสรับชมในชีีวิตคือ Paradis Perdu/Paradise Lost (1939) กำกับโดย Abel Gance

ประมาณปี 1948 มีโอกาสพบเจอ André Bazin (1918 – 1958) ราวกับพ่อบุญธรรมคนที่สอง ให้ความช่วยเหลืออะไรหลายๆอย่าง หลบหนีทหารก็ใช้เส้นสายช่วยให้รอดถูกจับ ทั้งยังว่าจ้างทำงานเป็นนักวิจารณ์นิตยสาร Cahiers du cinéma (ที่ Bazin ก่อตั้งขึ้น) ร่วมกันพัฒนาทฤษฎี Auteur Theory และยังส่งเสริมสนับสนุนให้สร้างหนังสั้น Une Visite (1955), น่าเสียดายพลันด่วนเสียชีวิตจากไปก่อนมีโอกาสรับชม The 400 Blows (1959) ด้วยเหตุนี้ Truffaut เลยขึ้นเครดิตอุทิศผลงานให้ด้วยความเคารพคิดถึง

เกร็ด 3: Truffaut ตอนเป็นนักวิจารณ์ ขึ้นชื่อลือชาในการใช้ถ้อยคำอันรุนแรง เจ็บแสบ ด่ากราดผลงานห่วยๆไปทั่ว จนได้รับฉายา ‘The Gravedigger of French Cinema’ ถูกแบนห้ามเข้าร่วมเทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 1958

ความตั้งใจสร้างภาพยนตร์ของ Truffaut เกิดขึ้นระหว่างยังเป็นนักวิจารณ์ Cahiers du cinéma คงด้วยเหตุผลต้องการพิสูจน์ทฤษฎี Auteur Theory ว่าสามารถนำไปปฏิบัติใช้งานจริงได้ และตอกหน้าบรรดาหมูหมากาไก่ที่เห่าหอน ยกยอปอปั้นเขาด้วยฉายา ‘The Gravedigger of French Cinema’ ฉันไม่ใช่คนดีแต่พูดก็แล้วกัน!

หลังทดลองสร้างหนังสั้นมาหลายเรื่อง Truffaut รับรู้ตนเองว่าพร้อมแล้วสำหรับภาพยนตร์ขนาดยาว แต่ยังหาหัวข้อน่าสนใจไม่ได้ จนกระทั่งมีโอกาสรับชม Touch of Evil (1958) ของผู้กำกับ Orson Welles ณ งาน Brussels World’s Fair, Expo 58 ก็ไม่รู้พบเห็นอะไรถึงแรงผลักดันบันดาลใจ

ร่วมงานพัฒนาบทภาพยนตร์กับ Marcel Moussy (1924 – 1995) โดยให้เป็นผู้ช่วยร้อยเรียงเรื่องราวจากคำบอกเล่า อัตชีวประวัติของตนเอง ด้วยการสร้างเค้าโครงร่างคร่าวๆ ไม่เน้นรายละเอียดบทสนทนา คาดหวังจะให้นักแสดง Ad-lib เป็นส่วนใหญ่

เรื่องราวของ Antoine Doinel (รับบทโดย Jean-Pierre Léaud) เด็กชายหนุ่มเติบโตขึ้นในกรุง Paris ทศวรรษ 50s เริ่มจากความเข้าใจผิดโดยครูสอนหนังสือ ถูกลงโทษจนได้รับความอับอาย กลับไปบ้านแม่-พ่อบุญธรรม ไม่เคยใคร่สนใจเลี้ยงดูแล แอบได้ยินทะเลาะขึ้นเสีียงจนสร้างความรำคาญใจ จึงเริ่มโดดโรงเรียน เที่ยวเตร่เสเพล โกหกพกลม หนีออกจากบ้าน และที่สุดคือลักขโมยแต่ถูกจับได้ ส่งตัวไปสถานดัดสันดาน แต่อะไรๆแทนที่จะดีขึ้นกลับยิ่งเลวร้ายลง มันเพราะสาเหตุอะไรกันแน่?


Jean-Pierre Léaud (เกิดปี 1944) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris บุตรของนักแสดง Jacqueline Pierreux ที่เหมือนจะไม่มีเวลาให้ลูกเท่าไหร่ เลยส่งไปโรงเรียนประจำยัง Pontigny ขณะนั้นอายุ 14 ขวบ พอได้ยินข่าวมีการคัดเลือกนักแสดงเด็ก ขึ้นรถไฟหนีโรงเรียนมาทดสอบหน้ากล้อง โดดเด่นจนได้รับเลือกให้แสดงนำแจ้งเกิดกับ Les Quatre Cents Coups (1959)

Léaud เป็นเด็กที่ค่อนข้างโตเกินวัย นิสัยเอาแก่ใจ ไม่ชอบเรียนหนังสือ ทำอะไรตามกฎ แต่ลึกๆแล้วนิสัยดี ไหวพริบเป็นเลิศ แค่ว่าไม่มีผู้ใหญ่(และอาจจะครอบครัว)ที่เข้าใจเขา ขนาดว่าผู้อำนวยการโรงเรียนประจำ เมื่อทราบว่าได้รับเลือกให้แสดงหนัง เขียนจดหมายถึง Truffaut

“I regret to inform you that Jean-Pierre is more and more ‘unmanageable’. Indifference, arrogance, permanent defiance, lack of discipline in all its forms. He has twice been caught leafing through pornographic pictures in the dorm. He is developing more and more into an emotionally disturbed case”.

คลิป Audition ของ Léaud

รับบท Antoine Doinel เด็กชายหนุ่ม นิสัยร่าเริง สนุกสนาน แค่ว่าไม่ชอบร่ำเรียนหนังสือ ถูกปฏิเสธความรักจากครอบครัว ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความอึดอัดอั้นคับข้อง เมื่อถูกลงโทษจากโรงเรียนจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ต้องการโตเป็นผู้ใหญ่ไวๆ จะได้หลุดพ้นจากวงจรอุบาศว์ ดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเองเสียที

ดวงตาเศร้าๆ เหงาหงอย หาได้มีแววชั่วร้ายหลบซ่อนเร้นอยู่ภายใน เพียงเพราะผู้ใหญ่รอบข้างต่างไม่ใคร่ให้ความสนใจ แสดงออกด้วยความมักง่ายเห็นแก่ตัว วางมาตรฐานคาดหวังไว้สูบลิบลิ่ว เมื่อมิสามารถกระทำได้จึงเกิดความหวาดระแวง เกรงกลัว ครุ่นคิดทำอะไรผิดๆ ทำไมฉันต้องทนต่อสิ่งไม่น่าอภิรมณ์เริงใจนั้นด้วย!

การแสดงที่ถือว่ายอดเยี่ยมสุดในชีวิตของ Léaud ไม่มีเรื่องอื่นใดโด่ดเด่นไปกว่านี้ เพราะออกจากสันชาติญาณ ตัวตนภายใน เข้าใจตัวละครอย่างท่องแท้ เพราะแทบไม่แตกต่างจากชีวิตฉัน พ่อ-แม่ไม่สนใจ ครูอาจารย์ก็แล้วใหญ่ ได้มีโอกาสพบเจอ Truffaut มนุษย์คนแรกที่รับฟัง เข้าใจ พึ่งพาได้ทุกสิ่งอย่าง … สุดท้ายแล้วเด็กคนนี้ก็ไม่เห็นเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่แย่ตรงไหน!

เพราะบทบาทค่อนข้างมีความก้าวร้าวรุนแรง อาจปลูกฝังอะไรแย่ๆให้เด็กชายคนนี้ Truffaut เลยตัดสินใจรับภาระเสมือนพ่อบุญธรรม ให้การช่วยเหลือมากกว่าแค่แสดงภาพยนตร์ ในชีวิตจริงหลังจาก Léaud ถูกขับไล่ออกจากโรงเรียนและที่บ้าน จัดหาห้องเช่าอพาร์ทเม้นท์ เรียกตัวมาช่วยเหลืองานเบื้องหลัง กลายเป็นนักแสดงขาประจำของผู้กำกับรุ่น French New Wave ประสบความสำเร็จชื่อเสียงโด่งดัง กลายเป็นตำนานระดับโลกเลยทีเดียว

เกร็ด: บรรดานักแสดงเด็กที่มา Audition แม้ไม่ได้รับคัดเลือกรับบทนำ แต่ส่วนใหญ่ก็กลายเป็นตัวประกอบ เพื่อนร่วมชั้นเรียน/สถานดัดสันดาน


ถ่ายภาพโดย Henri Decaë (1915 – 1987) ขาประจำของผู้กำกับ Jean-Pierre Melville และรุ่น French New Wave อาทิ Bob le flambeur (1955), Les Amants (1958), Le Beau Serge (1958), Les Quatre Cents Coups (1959), Léon Morin, Priest (1961), Le Samouraï (1967) ฯ

สไตล์ของ Decaë ชื่นชอบการถ่ายทำด้วยแสงจากธรรมชาติ เคลื่อนไหลกล้องไปมาอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ยึดติดรูปแบบกฎเกณฑ์ … ก็ต้องถือว่าเหมาะสมกับสไตล์ของ French New Wave เป็นอย่างยิ่ง (ผู้กำกับ Melville แม้ไม่ถูกจัดร่วมรุ่น La Nouvelle Vague แต่ Godard ยกย่องให้คือ ‘Spiritual father of the French New Wave’)

Les Quatre Cents Coups คือภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศสเรื่องแรก ถ่ายทำด้วย Anamorphic Widescreen (2.35 : 1) ผลิตโดย French Dyaliscope แต่ไม่ได้มีการบันทึกเสียงใดๆ (เพื่อประหยัดงบประมาณ และไม่เสียเวลายุ่งยากในการถ่ายทำ) ใช้การพากย์ทับภายหลังด้วยนักแสดงคนเดิม

Les Quatre Cents Coups เป็นภาพยนตร์ที่นำพาผู้ชม ออกทัวร์รอบกรุง Paris พบเห็นสถานที่ดังๆ อาทิ Eiffel Tower, Montmartre, Sacré Cœur, Honfleur (ท่าเรือ), Rue Fontaine (แยกที่เดินข้ามถนน) ฯ

Opening Credit รอยเรียงทิวทัศน์ ตึกรามบ้านช่อง ท้องถนนกรุง Paris [ได้แรงบันดาลใจจากฉาก Opening Credit ของ Germany, Year Zero (1948)] โดยมีหอไอเฟลคือจุดสังเกตศูนย์กลาง พบเห็นจากระยะไกลๆ ขับรถวิ่งผ่าน และหันหลังกลับไปจับจ้องมองอย่างไม่คลาดสายตา, หอไอเฟล คือสัญลักษณ์ ศูนย์รวมจิตใจของชาวฝรั่งเศส การถ่ายภาพในลักษณะเคลื่อนเข้าหาและถอยออก ย่อมแปลว่าเริ่มต้นด้วยความหวังก่อนจบสิ้นด้วยความโศก สะท้อนเรื่องราวของ Antoine Doinel จากเด็กชายอนาคตไกล สุดท้ายไม่หลงเหลืออะไร

ข้อความที่ Antoine เขียนบนผนัง แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า

“Here poor Antoine Doinel was
unjustifiably punished by Sourpuss
for a pin-up fallen from the sky.
It will be an eye for an eye”.

สำหรับบทกวี Le Lièvre (1881) แปลว่า The Hare [ชื่อเต็มๆคือ Épitaphe pour un lièvre] แต่งโดย Jean Richepin (1849 – 1926) แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า

In the season when the thickets glow with flowers,
When the black tips of my long ears,
Could be seen above the still green rye,
From which I nibbled the tender stems as I played around,
One day, unaware that I was there, fast asleep in my hutch,
Little Margot surprised me She loved me so, my beautiful mistress.
She was tender and sweet. How she hugged me on her lap and kissed me.

จริงๆยาวกว่านี้แต่ผมหาแปลภาษาอังกฤษให้ไม่ได้ ใครอ่านฝรั่งเศสออก หรือเคยใช้ Google Translation เผื่อสนใจ
LINK: https://www.poetica.fr/poeme-1684/jean-richepin-epitaphe-pour-un-lievre/

ฉากเล็กๆที่เหมือนจะไม่มีอะไรนี้ เป็นการสะท้อนความสนใจทางเพศของเด็กชาย Antoine เพราะร่างกายเติบโตถึงช่วงวัยเจริญพันธุ์ เริ่มเกิดการอยากรู้อยากเห็น อยากลอง แต่ก็ไม่แปลว่าหยิบน้ำหอม ส่องกระจก ดัดคิ้ว จะสื่อถึงความเป็นเกย์/กระเทย ผิดเพศแต่ประการใด

ช่วงท้ายๆของหนัง นักจิตวิทยาจะสอบถาม Antoine ว่าเคยมี Sex กับผู้หญิงมาแล้วหรือยัง? นี่เป็นการเน้นย้ำถึงปัญหาวัยรุ่น สาเหตุผลหนึ่งมักเกิดจากการเจริญเติบโตถึงวัย ฮอร์โมนทางเพศกำลังเร่าร้อนพลุกพร่าน ควบคุมไม่ได้ก็ล้นทะลักออกมาแปรสภาพกลายเป็นความขัดแย้ง

กิจกรรมของเด็กชายเมื่อตัดสินใจโดดเรียน ประกอบด้วย
– ดูหนัง The Shanghai Story (1954) กำกับโดย Frank Lloyd
– เล่นพิณบอล (กิจกรรมยามว่าง ได้รับความนิยมอย่างสูงโดยเฉพาะผู้กำกับ French New Wave)
– เครื่องเล่นไต่ถัง มีลักษณะหมุนๆทำให้คนยืนติดผนังสามารถลอยตัวพลิกกลับไปกลับมาได้

วันๆที่หมุนเวียนวน ทำแต่สิ่งซ้ำซากจำเจมันก็น่าเบื่อหน่าย ลองหาความแปลกแตกต่างดูเสียบ้าง พลิกตัวยืนกลับหัว เปลี่ยนมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆ ชีวิตคงพบเจออะไรๆน่าสนใจมากกว่านี้!

เกร็ด: ผู้กำกับ Truffaut แทรกตัวมารับเชิญในฉากนี้ด้วย ยืนอยู่ข้างๆ Léaud ขณะถังกำลังหมุน เพื่อเป็นการเคารพคารวะ Vertigo (1958) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock

สถานที่หลับนอนของ Antoine เมื่อหลบหนีออกจากบ้านครั้งแรกคือ โรงพิมพ์ … ผมครุ่นคิดว่านี่อาจเป็นการอ้างอิงถึงนิตยสาร Cahiers du cinéma ราวกับบ้านหลังที่สองของ Truffaut เมื่อเขาเติบโตขึ้นก็ได้ที่นี่แหละ สามารถดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเองสำเร็จ

หญิงสาวติดตามหาสุนัข หลายคนอาจไม่ทันสังเกตเห็น บทเล็กๆของ Jeanne Monroe ที่ผู้กำกับ Truffaut กำลังเคลิบเคลิ้มตกหลุมรัก กลายเป็นสามเส้าเมื่อ Jules et Jim (1962)

สุนัขหาย สื่อตรงๆกับ Antoine หนีออกจากบ้าน แต่ขณะที่เขากำลังจะช่วยเหลือเธอ ดันมีสุภาพบุรุษหน้าหมาแทรกตัวเขามา ฉกแย่งยิง เธอต้องเป็นของฉัน … สุดท้ายแล้วหมาตัวนั้นจะถูกพบเจอหรือไม่ หรือหญิงสาวถูกหมาอีกตัวคาบไปแดกก่อน ก็ไม่รู้เหมือนกัน

ภาพมุมสูงถ่ายจากบนดาดฟ้า ระหว่างที่เด็กนักเรียนเรียงแถววิ่งติดตามครูสอนพละไปรอบๆกรุงปารีส กล้องแพนนิ่งติดตามพวกเขา แต่แล้วหางแถวกลับหาจังหวะหลบหนี ค่อยๆตัดตอนสั่นลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายเหลือเพียงครูกับลูกศิษย์เอกสองคน ที่เหลือสูญหายจากไปหมดเกลี้ยง

เรื่องอะไรที่ฉันจักต้องคอยวิ่งติดตามหลัง เข้าแถวเรียงลำดับ ปฏิบัติตามคำสั่งครรลอง ขนบวิถีประเพณีที่คนรุ่นเก่าก่อน พยายามเสี้ยมสั่งสอน ปลูกฝัง ครอบงำทางความคิด

นอกเสียจากฝึกทหาร ติดคุก หรือสถานดัดสันดาน ถ้าไม่ปฏิบัติทำตามคำสั่งศาล จักโดนลงโทษตบตี อดอาหาร ไม่อนุญาตให้พบญาติ ฯ สูญเสียสิ้นอิสรภาพ นั่นมันไม่ต่างอะไรกับนรกชัดๆ

Honoré de Balzac (1799 – 1850) นักเขียนนิยาย/บทละครชื่อดัง สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานชิ้นเอกคือนิยายชุดต่อเนื่อง La Comédie humaine/The Human Comedy ชื่อไทย นาฏกรรมชีวิต มักแสดงให้เห็นฉากชีวิตของชาวฝรั่งเศสในยุคหลังจาก Napoleonic สิ้นอำนาจลงปี 1815

เกร็ด: Truffaut เคยแสดงทัศนะว่า Honoré de Balzac และ Marcel Proust คือนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส

นวนิยายที่ Antoine อ่านบนโซฟา พ่นบุหรี่ควันฉุยคือ La Recherche de l’absolu/The Quest of the Absolute (1834) ถือเป็นส่วนหนึ่งของ La Comédie humaine

ตอนจบของ La Recherche de l’absolu นำเสนอความตายของตัวละคร Balthazar คำพูดสุดท้ายคือ Eureka! ด้วยจินตนาการอันบรรเจิดของ Antoine เปรียบเทียบเหตุการณ์ดังกล่าวกับวินาทีคุณย่าเสียชีวิตจากไปเมื่อเขาอายุ 6 ขวบ … ประเด็นคือมันลุ่มลึกซึ้งเกินกว่าอาจารย์หัวโบราณจะตรัสรู้เข้าใจ หรือพ่อแม่ของเขาต่อการกระทำ จุดเทียนบูชารูปภาพถ่าย ยกย่องนับถือเป็นไอดอลประจำตัว

ถ้าเปรียบ Balzac คือความเพ้อใฝ่ฝันของ Antoine ต้องการเติบโตขึ้นเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แบบนั้น การถูกเพลิงไหม้เผาทำลายย่อยยับไม่เหลือซาก ก็เท่ากับว่าสิ่งที่จินตนาการถึงนี้ มิอาจประสบพบความสำเร็จ สาเหตุสำคัญก็เพราะไม่มีใครเข้าใจความเพ้อฝันของเขา!

ขโมยเครื่องพิมพ์ดีดของพ่อเลี้ยง ฟังดูเป็นสิ่งโง่งี่เง่า เขลาเบาปัญญาชอบกล แต่ก็สามารถสื่อได้ถึงอาชีพนักวิจารณ์ของ Truffaut เมื่อสมัยอยู่นิตยสาร Cahiers du cinéma นี่คือเครื่องมือทำมาหากิน เรียกได้ว่า ‘ชีวิต’ ของเขาเลยละ

พอขายไม่ได้ แล้วทำไมถึงเอากลับไปคืน? นี่เป็นการสะท้อนจิตสำนึกอันดีของเด็กชาย ฉากที่เขาคุยกับเพื่อนว่าต้องการส่งคืนคือขณะกำลังเดินบนสะพานช็อตนี้ ตีความได้ว่า Antoine ไม่ใช่บุคคลที่อยากจะก้าวข้ามสู่ด้านมืด ชั่วร้าย หรือกลายเป็นอาชญากร แต่ทั้งนั้นเพราะความประสงค์ดีดังกล่าวดันถูกจับได้ ประสบพบความโชคร้าย แถมไม่มีผู้ใหญ่คนไหนพยายามครุ่นคิดทำความเข้าใจเขาอีก

ผมชอบช็อตนี้สุดแล้วในหนัง หลังจาก Antoine ถูกส่งตัวไปยังสถานดัดสันดาน หลายวันก่อนมีเด็กคนหนึ่งหลบหนีแล้วขณะนี้โดนจับกุมตัวกลับมาได้ สองเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังพาเขาเดินตรงไป รอบข้างรายล้อมด้วยต้นไม้ไร้ใบ ร่วงหล่นโรยเต็มพื้น สะท้อนสภาพจิตใจของพวกเขาทั้งหลาย หมดสิ้นความสดชื่นร่าเริงสดใส ไม่ต่างอะไรการตายทั้งเป็น!

ส่วนใหญ่ของหนัง Truffaut ให้อิสระกับ Léaud ในการครุ่นคิดบทพูดสนทนาด้วยตนเอง เพื่อให้ผลลัพท์ออกมามีความเป็นธรรมชาติที่สุด ซึ่งฉากนี้ก็เฉกเช่นเดียว มอบคำแนะนำแค่ไกด์ไลน์ ที่เหลือคือกลั่นออกมาจากไหวพริบปณิธานของเขาเอง

การสัมภาษณ์โดยนักจิตวิทยาผ่านมุมกล้องถ่ายหน้าตรงลักษณะ ถือเป็นความท้าทายต่อนักแสดงอย่างยิ่ง เพราะต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครตลอดเวลา ทุกสำเนียงคำพูด ท่าทางขยับเคลื่อนไหว ผู้ชมสามารถมองเห็นเข้าไปถึงส่วนลึกภายในจิตใจ ซึ่ง Léaud สามารถแสดงออกได้อย่างเป็นธรรมชาติลื่นไหล ผมว่าเจ๋งกว่าฉากที่ขึ้นรถตำรวจร่ำร้องไห้หลั่งน้ำตาออกมาอีกนะ (คือฉากดีที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้)

Antoine หลบหนีออกจากสถานดัดสันดาน ขณะที่ทุกคนกำลังเล่นฟุตบอล ตนเองออกไปข้างสนามเพื่อทุ่มลูกบอลเข้ามา แล้วใช้จังหวะไม่มีใครสนใจวิ่งหายเอาตัวรอด

Long Take ของการวิ่ง สะท้อนถึงชีวิตที่กำลังดำเนินไป หลบป้ายอุปสรรคขวากหนาม ดำเนินรุดหน้าไปเรื่อยๆ ที่สุดก็มาถึงปลายทาง พบเห็นชายหาด ท้องทะเลครั้งแรกในชีวิต สถานที่รอยต่อระหว่างแผ่นดิน-ผืนน้ำ เทียบได้กับ อดีต-ปัจจุบัน ความจริง-ความฝัน ความเป็น-ความตาย

และช็อตสุดท้ายที่กลายเป็นตำนาน Freeze Frame แล้ว Zoom-In ชักชวนผู้ชมให้ตั้งคำถาม แล้วชีวิตของเด็กชายจะกลายเป็นอย่างไรต่อไป? (ก่อนหน้านี้มีอีกครั้งหนึ่งที่ใช้การ Freeze Frame คือขณะถ่าย Mug Shot ด้านข้าง ระหว่างเด็กชายกำลังทำประวัติก่อนติดคุก/เข้าสถานดัดสันดาน ซึ่งก็เป็นการชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามเดียวกันเลยละ)

Freeze Frame เป็นเทคนิคที่ต่อมาได้รับความนิยมล้นหลามในละครโทรทัศน์ มักพบเห็นฉากจบที่กำลังค้างคา แช่ภาพไว้แล้วขึ้นข้อความว่า “โปรดติดตามตอนต่อไป”

ตัดต่อโดย Marie-Josèphe Yoyotte (1929 – 2017) สัญชาติฝรั่งเศส ส่วนใหญ่มีผลงานฝั่งโทรทัศน์ ภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Love in Jamaica (1957), Les Quatre Cents Coups (1959), Testament of Orpheus (1960), Léon Morin, Priest (1961), Tous les matins du monde (1991) ฯ

หนังไม่ได้มีการตัดต่อหวือหวามากนัก (เมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆในยุค French New Wave) ร้อยเรียงเรื่องราวในมุมมองของเด็กชาย Antoine Doinel เริ่มจากโรงเรียน บ้าน ท่องเที่ยวเสเพล กลางวัน-กลางคืน ติดคุก สถานดัดสันดาน และจบสิ้นที่ชายหาด


เพลงประกอบโดย Jean Constantin (1923–1997) สัญชาติฝรั่งเศส ไม่ได้มีผลงานภาพยนตร์มากนัก ส่วนใหญ่แต่งเพลงให้กับนักร้องชื่อดังอย่าง Edith Piaf, Yves Montand, Petula Clark ฯ

Soundtrack ของหนัง สะท้อนห้วงอารมณ์ความรู้สึกของเด็กชาย Antoine Doinel ที่มักเต็มไปด้วยความอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว เดียวดาย ราวกับฉันคือมนุษย์คนหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่มีใครเข้าใจ โหยหาความหวังและโอกาส ที่จะออกไปจากขุมนรกแห่งนี้

แม้การออกวิ่ง/จุดเริ่มต้นของชีวิต จะเต็มไปด้วยประกายระยิบระยับแห่งความหวัง แต่เสียงดีดไวโอลินที่ค่อยๆเชื่องช้าลงเรื่อย ราวกับลมหายใจที่กำลังหมดเรี่่ยวแรง ชีวิตใกล้ถึงคราสิ้นหวัง แล้วต่อจากนี้ฉันจะเอาตัวรอดต่อไปอย่างไรดี

Les Quatre Cents Coups นำเสนอโลกของเด็กชายในช่วงกำลังก้าวผ่านสู่วัยแรกรุ่น เขาหาใช่คนนิสัยไม่ดี แต่กลับไม่มีใครพยายามครุ่นคิดเข้าใจ ทำให้เต็มไปด้วยความอ้างว้างโดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่ต่างอะไรกับการตกขุมนรก ตายทั้งเป็น

ถือเป็นความโชคร้ายล้วนๆของเด็กชาย ถือกำเนิดในครอบครัวไม่คิดใคร่สนใจ ถูกพ่อทอดทิ้ง แม่แต่งงานใหม่ พ่อเลี้ยงไม่เข้าใจ ครูที่โรงเรียนก็คอยจ้องจับผิด ชีวิตไม่ค่อยพบเจอสิ่งดีๆสักอย่าง ซวยซ้ำซากจนไม่รู้จะไปต่อเอาตัวรอดอย่างไรดี

ถึงกระนั้นชีวิตก็หาใช่พบเจอแต่เรื่องเศร้าๆเสียหมด ทั้ง Truffaut และ Antoine ต่างพบเจอโลกแห่งหนังสือและภาพยนตร์ สิ่งจะทำให้เขาหลุดพ้นออกไปจากวังวนว้าวุ่นวาย ปัญหาขัดแย้งครอบครัว ครูที่โรงเรียน หรือแม้แต่ฝรั่งเศสทศวรรษนั้นเพิ่งพานผ่านส่งครามโลกครั้งที่สองมาไม่นาน

ความย่อยยับเยินของฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ถือเป็นอีกชนวนสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อเด็กวัยรุ่นยุคสมัยนั้น เติบโตขึ้นบนสภาพปรักหักพัง พ่อ-แม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด เหน็ดเหนื่อยยากลำบากแสนเข็น ไหนจะเป็นโรคระบาด ‘Great Depression’ อีกทั้งรัฐบาลก็ยังหาความเสถียรภาพเอาแน่เอานอนไม่ได้อีก

ผมว่าสุดท้ายแล้วมันก็โทษว่ากล่าวอะไรใครไม่ได้ นอกเสียจากโชคชะตากรรมของตนเอง แต่ถึงอย่างนั้นสักวันหนึ่ง เด็กชาย-หญิงก็ต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ หลุดรอดพ้นพันธการเหนี่ยวรั้ง ได้รับอิสภาพออกจากกรงขัง อยากทำอะไรก็ได้ตามใจ … ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ต้องแลกกับการสูญเสียช่วงเวลาความเป็นเด็ก ที่ควรสนุกสนานสำเริงสำราญกายใจไปชั่วนิรันดร์

ภาพยนตร์ในยุคสมัยก่อนหน้าการมาถึงของ French New Wave เป็นสิ่งเวียนวน ซ้ำซากจำเจ ปลักอยู่กับรูปแบบวิถีดั้งเดิม ระบบสตูดิโอ กองเซนเซอร์ หาความแปลกใหม่น่าสนใจไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ทั้งยังผู้กำกับรุ่นบุกเบิกต่างเริ่มแก่ตัว โรยรา ล้มหายตายจาก ฤาจะถึงกาลสิ้นสุดของวงการกันแน่

การได้ทำงานวิจารณ์ก่อนเริ่มต้นสร้างสรรค์ภาพยนตร์ ทำให้ François Truffaut และผองพรรคพวกกลุ่ม French New Wave ค้นพบช่องว่าง โอกาส บริเวณที่ไม่เคยมีใครไหนเข้าไปสำรวจมาก่อน ก็ไม่เชิงเป็นอาณาบริเวณต้องห้าม แต่ความโบร่ำโบราณของคนรุ่นเก่า สิ่งที่ฉันเคยทำนั้นดีอยู่แล้วทำไมต้องเริ่มต้นทดลองสิ่งใหม่ๆ แถมมองเด็กๆเหล่านี้คือพวกหัวขบถ นอกคอก ไม่ยอมอยู่ในกรอบที่พวกตนเองวางรากฐานแบบแผนไว้อย่างมั่นคง

อนาคตของภาพยนตร์ในยุคสมัยนั้น และการมาถึงของหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับ Truffaut ไม่ได้สามารถคาดเดาออกหรอกนะว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ตอนจบแบบ “To Be Continue…” ค้างภาพใบหน้าของเด็กชายไว้เช่นนั้น ช่างเหมาะเจาะลงตัว สะท้อนความไม่แน่นอนของชีวิตและวงการภาพยนตร์ ถ้ามันสำเร็จคงยิ่งใหญ่ แต่ถ้าไม่… จินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส มาจากสำนวน ‘faire les quatre cents coups’ แปลว่า to raise hell/to live a wild life, เกิดจากนรก/ใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยง แต่ความบิดเบือนเกิดจากการแปลภาษา Swedish เข้าใจผิดคิดว่าหมายถึง De 400 slagen แปลว่า 400 Practical Jokes, ตลก 400 มุก ขณะที่ภาษาอังกฤษ ในตอนแรกผู้จัดจำหน่ายครุ่นคิดไว้คือ Wild Oats แปลกประหลาดชอบกล เลยเปลี่ยนมาเป็น The 400 Blows, เฆี่ยน 400 ที สะท้อนกับเด็กไม่รักดีที่สมควรถูกตี

พอชื่อหนังมันแปลผิดพลาด ติดตลาดต่างประเทศไปเสียแล้ว ใครๆก็เลยจดจำแบบผิดๆ แถมความหมายแท้จริงก็ไม่มีใครครุ่นคิดตอบได้ เอาเป็นว่ายึดตามต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส ตรงตามความตั้งใจของผู้กำกับที่สุดก็แล้วกัน


แม้ตอนเป็นนักวิจารณ์ Truffaut จะเคยด่ากราดเทสีใส่เทศกาลหนังเมือง Cannes จนถูกแบนห้ามเข้าร่วมงาน แต่สำหรับ Les Quatre Cents Coups กลับได้รับอนุญาติกรณีพิเศษ หนังฉายจบแล้วทำผู้ชมอึ้งทึ้งไปหลายนาที สุดท้ายคว้ามา 2 รางวัล
– Best Director
– OCIC Award (รางวัลมอบโดย World Catholic Association for Communication)

หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง ในฝรั่งเศสมียอดเข้าชมกว่า 4.1 ล้านครั้ง รวมรายรับทั่วโลก $30 ล้านเหรียญ ถือเป็นผลงานประสบความสำเร็จที่สุดของ Truffaut อีกด้วย

และถึงไม่ได้เป็นตัวแทนฝรั่งเศสเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film [เรื่องที่ได้คือ Black Orpheus ซึ่งสามารถคว้ารางวัลนี้ได้สำเร็จด้วยนะ] กลับยังมีโอกาสลุ้น Best Writing, Story and Screenplay – Written Directly for the Screen แต่พ่ายให้กับ Pillow Talk (1959)

ความสำเร็จอันล้นหลามของภาพยนตร์เรื่องนี้ (และอาจเพื่อหางานทำให้ Léaud) เลยได้สร้างสรรค์ภาคต่อที่ก็นำจากประสบการณ์ชีวิตของตนเอง ตั้งชื่อว่า The Adventures of Antoine Doinel ทั้งหมด 5 เรื่อง ประกอบด้วย
– Les Quatre Cents Coups (1959)
– เรื่องสั้น Antoine et Colette ตอนที่สองของ L’amour à vingt ans (1962)
– Baisers volés (1968)
– Domicile conjugal (1970)
– L’amour en fuite (1979)

แม้ลายเซ็นต์ของ Truffaut จะยังไม่ปรากฎโดดเด่นชัดนัก แต่เราสามารถดื่มด่ำกับสไตล์ลีลา ประทับตราตรึงในเรื่องราว การแสดงอันแวววาวของ Jean-Pierre Léaud ถ่ายภาพ เพลงประกอบ อาจไม่ถึงระดับ Masterpiece แต่ก็ระยิบระยับค้างฟ้า ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ลองครุ่นคิดตอบคำถามนี้ให้จงได้ว่า มันคือความผิดของเด็ก ของเพื่อน ของครอบครัว ของครูอาจารย์ หรือของใคร? ที่ทำให้เขาเติบโตกลายเป็นคนแบบนี้

จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมความรุนแรงของเด็ก และโลกทัศนคติอันคับแคบของผู้ใหญ่

คำโปรย | François Truffaut สรรค์สร้าง Les Quatre Cents Coups ด้วยการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์
คุณภาพ | ซึ้ทั
ส่วนตัว | ชื่นชอบมาก


The 400 Blows

The 400 Blows (1959)

(17/12/2015) จนป่านนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจ ว่าชื่อหนัง The 400 Blows มันแปลว่าอะไรกันแน่ “การโดนเฆี่ยนตี 400 ครั้ง” ถ้าผมไม่ลองค้นหาความหมายดูก็คงไม่รู้ว่า จริงๆแล้วชื่อหนังที่แปลมาจากภาษาฝรั่งเศสนี้ เป็นความหมายที่เพี้ยนไปจากความหมายเดิมมาก Les Quatre Cents Coups ชื่อหนังภาษาฝรั่งเศส ที่แปลว่า “to raise hell” แปลไทยก็ ‘เกิดขึ้นมาจากนรก’ เป็นชื่อหนังที่น่ากลัวทีเดียว

The 400 Blows เป็นหนังในยุคทองของโลกเลย เพราะในยุค 1950 มีหนังดีๆ ผู้กำกับเยี่ยมๆมากมาย หนังที่สามารถแทรกตัวเข้ามาในชาร์ทระดับโลกเรื่องท้ายๆของยุคนี้ มันต้องมีดีอะไรบางอย่างสินะ น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้กลับไม่ได้รางวัลอะไรกับเขาเท่าไหร่ แต่ก็เป็น Nominate ทั้ง Palme d’Or และ Academy Award แม้จะไม่ได้รางวัลอะไรแต่หนังกลับมีผู้กำกับในตำนานในยุคนั้นหลายคนที่ชอบหนังเรื่องนี้มากๆ อาทิ Akira Kurosawa, Luis Buñuel, Satyajit Ray ฯลฯ ขนาดว่า Akira Kurosawa พูดถึงหนังเรื่องนี้ว่า “เป็นหนังที่สวยงามที่สุดเท่าที่เขาเคยดูมา” “one of the most beautiful films that I have ever seen” The 400 Blows ติดอันดับ Sight & Sound Polls อันดับ 39 ชาร์ทนี้ผมว่าถ้าแค่ได้ติดอันดับก็การันตีว่าเป็นหนังที่ไม่ธรรมดาแล้ว

François Truffaut กำกับ เขียนบท แสดง โปรดิวเซอร์ และเป็นนักวิจารณ์ด้วย หนึ่งในปรมาจารย์ผู้กำกับของฝรั่งเศส เขาเกิดในยุคที่ภาพยนตร์ได้กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เป็นผู้กำกับรุ่นใหม่ของฝรั่งเศสที่เรียกว่า French New Wave เริ่มต้นจาก Truffaut เลย, กับหนังเรื่อง The 400 Blows ที่ฮิตแบบถล่มทลาย จะเรียกว่า Blockbuster เรื่องแรกของหนังฝรั่งเศสก็ได้ ด้วยจุดเริ่มต้นนี้ทำให้ตลาดหนังในฝรั่งเศสคึกคักขึ้นมาทันที, The 400 Blows เป็นหนังเรื่องแรก และเป็น Semi-Autobiographical ของ Truffaut เอง มีหนังที่เป็นพิจารณาว่าเป็นภาคต่อของ The 400 Blows หลายเรื่องเลยนะครับ ใช้นักแสดงนำคนเดิมด้วย

ผมยังไม่ค่อยเข้าใจแนวคิดของ Truffaut เท่าไหร่ หนังเรื่องนี้ สร้างจากชีวประวัติของเขาส่วนหนึ่ง ผสมกับเรื่องราวที่แต่งเพิ่มเข้าไป แต่ตอนถ่ายหนัง กลับจะปล่อยให้นักแสดง แสดงตามใจของนักแสดง คืออยากจะเพิ่มบทพูดหรือใช้คำที่แตกต่างจากบทก็ปล่อยอิสระ ให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องฝืนกับบท แล้วมันเป็นหนึ่งกึ่งชีวประวัติยังไงกัน?, มีบทความหนึ่งที่เอ่ยถึงคำพูดของ Truffaut ต่อหนังของ Jean Renoir ชมว่าเป็นผู้กำกับที่ไม่เคยทำสิ่งผิดพลาดในหนัง (ประมาณว่าเป็นผู้กำกับที่สมบูรณ์แบบมาก) “I think Renoir is the only filmmaker who’s practically infallible, who has never made a mistake on film” มันเลยทำให้ผมข้องใจกับสไตล์การกำกับของเขา ว่าสรุปแล้วเป็นแนว Naturalist หรือ Perfectionist กันแน่

Jean-Pierre Léaud นักแสดงเด็กที่สามารถแย่งชิงบทนำจากหนังของ Truffaut มาได้ ผมอ่านเจอว่าที่ Truffaut เลือก Jean-Pierre Léaud เพราะเด็กคนนี้มี passion ที่อยากจะแสดงในหนังของเขาอย่างมาก, ในหนัง Léaud มีการแสดงออกทางสีหน้าและแววตาที่่ลึกมากๆ รู้สึกเลยว่ามีความขบถในใจ, หลังจาก The 400 Blows เห็นว่า Léaud ก็ได้แสดงในหนังของ Truffaut อีกหลายเรื่อง และยังได้แสดงในหนังของผู้กำกับดังๆอย่าง Jean-Luc Godard, Jacques Rivette, Aki Kaurismäki ฯ

อย่างที่บอกว่านี่เป็นหนัง Semi-Autobiographical คือกึ่งๆอัตชีวประวัติ เป็นเรื่องราวชีวิตวัยเด็กของ Truffaut มุมมองของเด็ก ต่อผู้ใหญ่ เป็นเรื่องราวที่ได้รับการชื่นชมอย่างมาก เพราะการนำเสนอมุมมองของเด็กนั้นเสียดสีผู้ใหญ่อย่างมาก ทุกคนเคยเป็นเด็ก และเคยทำอะไรที่ผิดๆ ที่สังคมไม่ยอมรับ แต่ผู้ใหญ่กลับไม่เข้าใจเขา เพราะไม่รู้ว่าสาเหตุที่เด็กทำอย่างนั้นเพื่ออะไร, หนังได้นำพาเราเข้าไปค้นหาเหตุผลที่เด็กทำแบบนั้น ในหนังมีฉากที่ดูเหมือนไม่รู้จะใส่มาทำไมเยอะนะครับ เช่น ฉากคนหมุนๆในถัง หรือที่กล้องถ่ายตัวตัวเอกที่ต้องเดินวนๆลงบันไดไปทิ้งขยะ ซึ่งถ้าคิดให้ดี ฉากนี้มันมีความหมายซ่อนอยู่ อะไรที่หมุนๆหมายถึงสิ่งที่จะต้องเจอซ้ำๆซากๆทุกวี่ทุกวัน ผมได้ยินประโยคที่ว่า “อย่าลืมเอาขยะไปทิ้ง” หลายรอบทีเดียว จนผมต้องคิดนะครับว่า “ขยะ” เนี่ยมันหมายถึงสิ่งอื่นที่มากกว่า “ขยะ” ด้วยหรือเปล่า

Henri Decaë เป็นผู้กำกับภาพ มีอยู่ 2 ฉากในหนังที่เรียกว่าเป็นตำนานที่ต้องพูดถึง ฉากหนึ่งคือการถ่ายภาพจากมุมสูง ที่มีครูพละนำวิ่งและเด็กๆวิ่งเรียงแถวตามไป กล้องแพนตามทิศทางการวิ่ง และเด็กๆก็ค่อยๆทะยอยหนีหายไป ฉากนี้ผมคงไม่พูดถึงความหมายเพราะมันสปอยหนังมาก แต่ที่กลายเป็นตำนานเพราะเป็นฉากที่เลือกใช้สถานที่ได้ยอดเยี่ยมมาก มันอารมณ์เหมือนภาพ Panorama แบบเคลื่อนไหว ส่วนอีกฉากคือฉากตอบจบที่เรียกว่า Freeze-Zoom ตอนผมเห็นตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไรครับ เพราะหนังสมัยนี้ โดยเฉพาะละคร tv-series ฉากจบมักจะค้างภาพนิ่งเอาไว้ ซูมเข้า แล้วขึ้นว่า To Be Continue แต่กลายเป็นว่าฉาก Freeze-Zoom ใน The 400 Blows นี่คือหนังเรื่องแรกของโลกที่ใช้เทคนิคนี้ครับ

การตัดต่อโดย Marie-Josèphe Yoyotte อาจจะไม่มีเทคนิคอะไรที่น่าพูดถึงมากนัก องค์ประกอบอื่นๆในหนังต่างมีความโดดเด่นจนเกินหน้าเกินตา แต่ความต่อเนื่องในเรื่องราวต่างๆเกิดจากจังหวะการตัดต่อที่ลงตัว และแนบเนียลจนไม่รู้สึกว่ามีการตัดต่อ เปลี่ยนฉากแต่อย่างใด และหนังที่ดูแล้วไม่เบื่อก็เพราะการตัดต่อนี่แหละครับที่สุดยอด

เพลงประกอบ ประพันธ์โดย Jean Constantin ดนตรีของหนังเรื่องนี้ ไม่ได้ใช่เครื่องดนตรีมาก ผมชอบดนตรีในฉากสุดท้ายที่ตัวเอกวิ่งไปเรื่อยๆนะ เครื่องดนตรีที่ใช้มีแค่ไวโอลิน(เองมั้ง) และใช้การดีด ไม่ใช้การสี เป็นอารมณ์ที่เหมือนกับว่าแล้วชีวิตฉันจะเป็นยังไงต่อไปละนี่ วิ่งไปถึงทะเล ที่นักวิจารณ์มักจะพูดว่า เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เพราะตัวเอกยังไม่เคยเห็นทะเล นี่เป็นการเห็นทะเลครั้งแรกของเขา อนาคตจะเป็นยังไง กับอดีตที่เป็นแบบนี้

ใครจะไปเชื่อว่าหนังเรื่องแรกของ Truffaut ก็ทำออกมาได้ยอดเยี่ยม ตราตรึงขนาดนี้ เปิดประตูสู่หนังฝรั่งเศสยุคใหม่, เพราะความเป็นหนังเรื่องแรก เราจะยังไม่เห็นสไตล์ของ Truffaut ชัดนัก (ผมก็เห็นไม่ชัดเท่าไหร่) แต่ถ้าใครได้ดูหนังของผู้กำกับมากกว่า 1 เรื่อง จะรู้เลยว่า สไตล์ของ Truffaut มีความโดดเด่นมากๆ และเห็นได้ชัดตั้งแต่ The 400 Blows เลยละ ไว้ผมจะเล่าเมื่อในเรื่องถัดๆนะครับ

ถามว่าผมชอบหนังเรื่องนี้ไหม ก็ ok นะครับ แต่ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบดูหนังเด็กเท่าไหร่ หนังเด็กส่วนใหญ่มันวุ่นวายและหนวกหูมาก ผมเคยดู The Goonie แล้วไม่ชอบรุนแรงเลย ตอนดู Super 8 ก็ยังโอเค แต่ก็ไม่ชอบความวุ่นวาย ไร้เหตุผลของเด็กๆ, สำหรับ The 400 Blows ถือว่าเป็นดราม่าที่รุนแรง ลุ่มลึก ต่อยหนัก หนังเน้นการสร้างอารมณ์ และดึงอารมณ์ให้ผู้ใหญ่ที่ดูรู้สึกว่า นี่ฉันเคยเป็นแบบนี้มาก่อนหรือนี่ ไม่แปลกนะครับที่หนังเรื่องนี้จะได้รับคำชมมากๆ ถึงผมจะไม่ได้อินไปกับเนื้อเรื่องมากนัก แต่ก็รู้สึกครับว่าเกิดอะไรขึ้นในหนัง

ถ้ามีโอกาสก็หาดูนะครับ หนัง 100 นาที ไม่ยาวเลย แต่ดูจบแล้วจะรู้สึกอยากหาหนังเรื่องต่อไปของ Truffaut มาดูอีกแน่ๆ

คำโปรย : “François Truffaut กับ The 400 Blows หนัง Semi-Autobiographical ของผู้กำกับเอง ที่นำเสนอโลกของเด็กที่ทำให้ผู้ใหญ่ถึงกับสะอึก ทึ่งไปกับการแสดงของ Jean-Pierre Léaud และการกำกับภาพ โดยเฉพาะฉากวิ่งๆๆ ที่ยังเป็นที่กล่าวถึงในปัจจุบัน”
คุณภาพLEGENDARY
ความชอบ : LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
6 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] The 400 Blows (1959)  : François Truffaut ♥♥♥♥ […]

%d bloggers like this: