The Adventures of Prince Achmed

The Adventures of Prince Achmed (1926) German : Lotte Reiniger ♥♥♥♥♡

ถึงนี่ไม่ใช่อนิเมะเรื่องยาวเรื่องแรกของโลก แต่เป็นอนิเมะเรื่องยาวที่เก่าแก่ที่สุด ที่หลงเหลืออยู่บนโลกใบนี้ สร้างขึ้นด้วยวิธี Silhouette Animation ภาพเงาดำ (คล้ายๆหนังตะลุง) ดัดแปลงมาจาก One Thousand and One Nights (อาหรับราตรี) นิทานอาหรับสุดคลาสสิก แม้เรื่องราวจะเรียบง่ายไม่สลับซับซ้อนอะไร แต่ภาพสวยงามวิจิตรมากๆ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

Animation คือ ภาพนิ่ง ที่มีการเคลื่อนไหว, ถ้าว่ากันด้วยความหมายนี้ แอนิเมชั่นถือว่าเกิดขึ้นก่อนภาพยนตร์เสียอีกนะครับ ย้อนกันไปได้ตั้งแต่สมัยอิยิปต์โน่นเลย พวกภาพวาดบนฝาผนัง ที่แสดงภาพการซ้ำๆของคนๆหนึ่งที่เคลื่อนไหว

Egypt Motion

รูปนี้ก็ถือเป็น Animation อย่างหนึ่งนะครับ เป็นภาพการต่อสู้ระหว่างคนขาวกับคนดำ เรียงต่อกัน ซึ่งถ้าเรามองด้วยความเร็วก็จะเห็น (รู้สึกเหมือน) ภาพนี้เคลื่อนไหวได้

ด้วยคอนเซ็ปของอนิเมชั่นนี่เอง ที่ทำให้เกิดแนวคิดของฟีล์ม เกิดยุคของภาพยนตร์ขึ้น ด้วยการบันทึกภาพนิ่งต่อเนื่องกัน แล้วฉายด้วยความเร็ว ก็จะเห็นภาพนั้นเคลื่อนไหว, ซึ่งเราสามารถพูดได้ว่า ‘แอนิเมชั่น คือ สิ่งที่ทำให้เกิดภาพยนตร์’

ในยุคแรกๆของภาพยนตร์แอนิเมชั่น จะใช้การวาดหรือเขียนรูปลงในแผ่นฟีล์มตรงๆ นี่เป็นงานที่บ้ามากๆ ฟีล์มขนาดเล็กนิดเดียว แต่ต้องวาดรูปซ้ำๆไม่รู้เท่าไหร่ ซึ่งการทดลองนี้ใช้เวลาพัฒนาขึ้นเป็นทศวรรษ จากความยาวไม่กี่วินาที เป็นหลายนาที และจากนาทีเป็นชั่วโมง

ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องยาว (feature length, เกิน 40 นาทีถือว่าเป็นเรื่องยาว) เรื่องแรกของโลก สร้างขึ้นโดย Quirino Cristiani ผู้กำกับชาว Argentina ชื่อเรื่อง El Apóstol (1917) ด้วยความยาว 58,000 เฟรม รวมเวลา 70 นาที (14 fps) ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Cutout Animation (ใช้กระดาษหรือวัตถุ 2 มิติตัดเป็นภาพ แล้วบันทึกการเคลื่อนไหว 2 มิติ) น่าเสียดายที่ปัจจุบันฟีล์มหนังเรื่องนี้ สูญหาย ไปแล้ว

สำหรับ The Adventures of Prince Achmed ถือเป็นอนิเมชั่นเรื่องยาวลำดับที่ 3 ใช้เวลาสร้างกว่า 3 ปี ด้วยความยาว 96,000 เฟรม รวมเวลา 65 นาที (ที่ 24 fps) นี่เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องยาวที่เก่าแก่ที่สุด ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

ด้วยเทคนิค Silhouette Animation นี่ถือเป็นผลงานประเภท Avant-Garde การสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นแนวหน้าของงานศิลปะ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน, ถูกจัดพวกให้เป็นประเภทเดียวกับ Cutout Animation ซึ่ง Silhouette เป็นการเอา Cutout ที่ได้ฉายไฟเข้าด้านหลังให้เห็นเป็นภาพเงาดำปรากฎบนฉากขาวแบบนี้ ผู้คิดค้นวิธีนี้ขึ้นคนแรก จะคือใครเสียไม่ได้ Lotte Reiniger ที่เป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้

Lotte Reiniger (1899-1981) ชาว German เขามีผลงานอนิเมะ(ทั้งสั้นยาว) รวมกันนับกว่า 40 เรื่อง นับจากยุค 1910s ถึงยุค 70s (หลงเหลืออยู่ก็นับสิบเรื่องได้ หาดูได้ทั่วไปใน Youtube), เขาเป็นผู้ริเริ่มนำเรื่องราวเทพนิยายแฟนตาซี Fairy Tale ขึ้นสู่แผ่นฟีล์มเป็นครั้งแรก อาทิ Sleeping Beauty (1922), Cinderella (1922), The Adventures of Prince Achmed ก็ถือเป็นเทพนิยายแฟนตาซีเช่นกันนะครับ ฯ นี่ต้องถือว่า Reiniger เป็นแรงบันดาลใจให้นาย Walt Disney มีแนวคิดสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่น ต้องมีเรื่องราว Fairy Tale ประกอบด้วยเสมอๆ

นอกจากนี้ Reiniger ยังเป็นผู้บุกเบิก multi-plane camera กล้องชนิดพิเศษที่สามารถถ่ายภาพซ้อนกันหลายๆชั้นได้ ซึ่งกล้องตัวนี้ต่อมาได้กลายเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของ traditional animation ที่ทำให้ Animator ไม่ต้องวาดทุกฉากทุกเฟรมทุกพื้นหลังพร้อมกันในซีนเดียว แต่สามารถวาดตัวละครแต่ละตัวแยกกัน มีการเคลื่อนไหวของใครของมัน และแยกจากฉากหลังได้โดยสิ้นเชิง, ใครที่ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ลองสังเกตมันจะมีระดับของความลึกในภาพสองมิติอยู่นะครับ แบบว่าภาพเข้มๆจะคือสิ่งที่อยู่ต่อหน้า และภาพเบลอๆ จะคือสิ่งที่เป็นมิติอยู่ข้างหลัง

ดัดแปลงเรื่องราวมาจาก One Thousand and One Nights นิทานอาหรับสุดอมตะ ที่รวบรวมเรื่องเล่าจากผู้แต่งหลายๆคน เป็นเวลานับพันๆปีตั้งแต่ยุคอาหรับโบราณและเปอร์เซียโบราณ, ซึ่งหนังนำเรื่อง The Story of Prince Ahmed and the Fairy Paribanou ที่ประกอบในหนังสือของ Andrew Lang เรื่อง Blue Fairy Book ดัดแปลงมาสร้างเป็นหนังเรื่องนี้ โดยแบ่งออกเป็น 5 องก์, นอกจากตัวเอก Princes Ahmed แล้ว หนังยังมีตัวประกอบรับเชิญ อาทิ Aladdin กับ Genie ที่เชื่อว่าใครๆคงรู้จัก ใส่เพิ่มเข้าไปด้วย

ผมไม่ขอเล่าเรื่องราวของหนังเลยนะครับ กับคนที่ไม่เคยอ่านอาหรับราตรี หรือ พันหนึ่งราตรี นับว่าเป็นโชคของคุณแล้ว ให้ดูหนังเรื่องนี้โดยไม่ต้องรู้เรื่องราวอะไร (แบบผม) เรื่องราวของหนังแสนเรียบง่าย ไม่มีความซับซ้อนอะไร เด็กๆหรือคนดูหนังเงียบไม่เป็น ก็สามารถดูเข้าใจได้ไม่ยาก, ความสวยงามของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ลวดลาย การออกแบบภาพอนิเมชั่น ที่เห็นเป็นเส้นสายเคี้ยวคดเหมือนกิ่งไม้ และการเคลื่อนไหวที่กระตุกไปมาเป็นจังหวะ สร้างความรู้สึกที่แปลกประหลาด แต่ได้สัมผัสกลิ่นอายของความเป็นอาหรับแบบเต็มๆเลย, การผจญภัยที่สนุกตื่นเต้น ลุ้นระทึก การต่อสู้ระหว่างธรรมมะกับอธรรม (ที่สามารถคาดเดาได้ง่ายๆอยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น) แต่เมื่อคิดว่านี่เป็นหนังที่สร้างเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ทำเอาผมขนลุกทุกครั้ง สร้างออกมาได้ยังไง สุดยอดมากๆ

น่าเสียดายเทคนิคที่ใช้ในหนังเรื่องนี้ เหมือนจะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร มีหนัง/อนิเมะ ที่ใช้เทคนิควิธีเดียวกันนี้น้อยมาก ในปริมาณที่นับเรื่องได้ อาทิ Pinocchio (1930), Princes et princesses (2000) และล่าสุด Tales of the Night (2011) ทั้งๆที่ผมว่า Stop Motion ที่เป็นแบบดินน้ำมันหรือหุ่น สร้างยากกว่าอีกนะครับ แต่กลับมีหนังสร้างออกมาด้วยเทคนิค Stop Motion มากกว่า Silhouette Animation เสียอีก ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน

Walt Disney คาราวะหนังเรื่องนี้ด้วยการสร้างหนัง 2 เรื่องคือ The Sword in the Stone (1963) และ Aladin (1994) ที่เรื่องหลังจะมีตัวละครชื่อ Prince Achmed มา cameo ตอนต้นเรื่องด้วย

ผมจัดหนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แม้เรื่องราวจะสุดแสนเรียบง่าย ธรรมดาไปหน่อย (แต่อาจแฝงอะไรสักอย่าง ที่ผมยังคิดไม่ออก) แค่ความสวยงามระดับนี้ ถือว่าปราณีตวิจิตร เลิศหรูงดงามมาก ให้ทั้งความบันเทิงและความงดงามทางศิลปะอันทรงพลังและทรงคุณค่า นี่เป็นสิ่งที่ผมไม่คิดว่าจะหาได้อีก ในหนังยุคปัจจุบัน

แนะนำกับทุกคนที่อยากเห็นอนิเมะเรื่องยาวที่เก่าแก่ที่สุด ที่ยังหลงเหลืออยู่บนโลกใบนี้

จัดเรต PG ฉากต่อสู้ ตัดหัวถึงเป็นภาพกราฟฟิก แต่ผู้ใหญ่ก็ควรให้คำแนะนำ

TAGLINE | “The Adventures of Prince Achmed เป็นอนิเมะที่ควรค่าแก่การรับชมมาก แม้เนื้อเรื่องจะเรียบง่าย แต่รูปลักษณ์สวยงาม และรสสัมผัสได้กลิ่นอายของอาหรับแท้”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
20 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] The Adventures of Prince Achmed (1926)  : Lotte Reiniger ♥♥♥♥♡ […]

%d bloggers like this: