The African Queen (1951)
: John Huston ♥♥♥♥
การผจญภัยของ Humphrey Bogart และ Katharine Hepburn บนเรือกลไฟ The African Queen ไม่เพียงทำให้พวกเขาค่อยๆตกหลุมรัก แต่เริ่มเรียนรู้จักใช้ชีวิต ต่อสู้เอาตัวรอด แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และพุ่งชนเป้าหมาย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เราสามารถมองภาพยนตร์เรื่องนี้ในเชิงรูปธรรมทั่วไป และนามธรรมแฝงนัยยะ การล่องเรือ=ดำเนินไปของชีวิต อุปสรรคขวากหนามต่างๆระหว่างทาง ล้วนมีความหมายสื่อถึงบางสิ่งอย่าง ก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมเองแล้วจะมองมุมไหน เข้าใจถึงระดับใด
ในชีวิตจริงของทั้ง Humphrey Bogart และ Katharine Hepburn ต่างคือขั้วตรงข้ามแบบเดียวกับในหนังเปี๊ยบๆ
– Bogart ขี้เหล้าเมายา พูดจาหยาบกระด้าง ไม่ได้อยากเดินทางสู่แอฟริกาเท่าไหร่
– Hepburn กระตือรือร้นในโปรเจคนี้อย่างมาก ชื่นชอบการชมนกชมไม้ ถามโน่นนี่นั่นอยากรู้ไปเสียทุกเรื่อง เมื่อพบเห็น Bogart กินแต่เหล้าเมา พูดบ่นกระแหนะกระแนเสียดสี (คือเธออยู่กินกับสามี Spencer Tracy นั่นก็ขี้เมาเหมือนกัน ทำงานอยู่แอฟริกาไม่มีใครให้บ่นถึง เจอผู้ชายนิสัยเดียวกันเลยระรื่นปาก)
“While I was griping, Katie was in her glory. She couldn’t pass a fern or berry without wanting to know its pedigree, and insisted on getting the Latin name for everything she saw walking, swimming, flying or crawling. I wanted to cut our ten-week schedule, but the way she was wallowing in the stinking hole, we’d be there for years”.
– Humphrey Bogart
ส่วนผู้กำกับ John Huston ไม่ต่างอะไรกับ Hepburn แค่เอาการสร้างภาพยนตร์มาเป็นข้ออ้างเดินทางสู่ทวีปแอฟริกาเท่านั้น วันเวลาว่างของเขา แบกปืนสะพายเป้ ยิงนกตกไม้ ล่าช้างป่า
“John really became a great white hunter in Africa. He believe he was one — and he adored it; he didn’t care how long he stayed. That was John”.
– Lauren Bacall ติดตามสามี Humphrey Bogart ไปเที่ยวสนุกระหว่างถ่ายทำหนังเรื่องนี้ยังทวีปแอฟริกา จดบันทึกเรื่องเล่าในหนังสือชีวประวัติตนเอง
The African Queen (1935) คือนวนิยายผจญภัย แต่งโดย C. S. Forester นามปากกาของ Cecil Louis Troughton Smith (1899 – 1966) นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ผู้มีความใฝ่ฝันอยากเป็นทหารแต่ไม่ผ่านการทดสอบร่างกาย เลยตัดสินใจเป็นนักเขียนนวนิยายที่มักเกี่ยวกับสงคราม รบทางเรือ เดินทางทางน้ำ Royal Navy
หลังจากนวนิยายวางขาย สตูดิโอ RKO Pictures ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ วางตัวนักแสดงนำ Charles Laugthon และภรรยา Elsa Lanchester แต่ต่อมาถูกขึ้นหิ้งไว้เพราะมองว่าเนื้อมีความเฉิ่มเชย ตกยุคสมัยอย่างรวดเร็ว, ต่อมาสตูดิโอ Warner Bros. ซื้อต่อโปรเจคนี้เมื่อปี 1946 วางแผนให้ David Niven ประกบ Batte Davis แต่หาผู้กำกับไม่ได้ทั้งสองเลยถอนตัวออกไป จนกระทั่ง…
John Marcellus Huston (1906 – 1987) นักเขียนบท กำกับ แสดงภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Nevada, Missouri, พ่อของเขา Walter Huston สมัยนั้นเป็นนักแสดงแร่ สร้างอิทธิพลให้อย่างมาก หลงใหลในภาพยนตร์ ยกย่อง ‘Charlie Chaplin was a god.’ โตขึ้นมุ่งสู่ New York ได้งานนักแสดง Broadway กลายเป็นนักเขียน กำกับหนังเรื่องแรก The Maltese Falcon (1941), ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาสาเป็นทหาร ทำหนังชวนเชื่อให้กับ Army Signal Corps สงครามจบต่อด้วย The Treasure of the Sierra Madre (1948), The Asphalt Jungle (1950), The African Queen (1951), Moulin Rouge (1952), Moby Dick (1956) ฯ
ความที่ Huston เป็นแฟนนิยายของ Forester พบเห็นโอกาสในการดัดแปลง The African Queen เลยติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์หนังสือจาก Warner Bros. ราคา $50,000 เหรียญ นำบทที่ดัดแปลงพัฒนาไว้แล้วของ John Collier ส่งต่อให้ James Agee แก้ไขปรับปรุง แต่ระหว่างถ่ายทำล้มป่วยอาการไม่ดี เลยต้องให้ Peter Viertel เข้ามาสานต่อแทนอีกคน
ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกา ช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ประมาณเดือนกันยายน ค.ศ. 1914), Samuel Sayer (รับบทโดย Robert Morley) และน้องสาว Rose (รับบทโดย Katharine Hepburn) เป็นบาทหลวง British Methodist Missionaries ถูกทหารเยอรมันเข้าบุกเผาทำลายทุกสิ่งอย่าง กวาดต้อนชาวพื้นเมืองไปเป็นทหาร เป็นเหตุให้ Samuel เกิดอาการช็อค สูญเสียสติ สิ้นลมจากไปปัจจุบันทันด่วน หญิงสาวโสดตัวคนเดียวเลยได้รับคำชักชวนจาก Charlie Allnut (รับบทโดย Humphrey Bogart) กัปตันเรือกลไฟ The African Queen ออกเดินทางล่องแม่น้ำเพื่อหลบหนีเอาตัวรอด
ไม่รู้เพราะความคับข้องแค้นหรือเลือดรักชาติของหญิงสาว เมื่อได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับเรือรบเยอรมัน Königin Luise (แปลว่า Queen Luise) พูดจาโน้มน้าวชักจูง Mr. Allnut ให้สร้างระเบิดตอปิโดจากอุปกรณ์ทั้งหลายที่มี เพื่อใช้ทำลายเรือรบดังกล่าว ทีแรกก็ไม่ได้คิดจริงจังเพราะการเดินทางล่องผ่าน Ulanga River เต็มไปด้วยอันตราย กระแสน้ำเชี่ยวกราก และน้ำตกสูง แต่โชคชะตานำพาให้พวกเขาสามารถเอาตัวรอดได้เรื่อยๆจนในที่สุด…
นำแสดงโดย Humphrey DeForest Bogart (1899 – 1957) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ New York City เป็นเด็กหัวขบถตั้งแต่เด็ก พี่แม่วางแผนอะไรไว้ให้ไม่เคยใคร่สน เหมือนจะจงใจสอบตกให้ถูกไล่ออกจากโรงเรียน สมัครเข้าเป็นทหารเรือ เดินทางไปฝรั่งเศสขณะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเพื่อหลีสาว ปลดประจำการออกมากลายเป็นนักแสดงละครเวทีอยู่หลายปี จนกระทั่ง Wall Street Crash เมื่อปี 1929 มุ่งหน้าสู่ Hollywood มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกหนังสั้น 2 reel เรื่อง The Dancing Town (1928) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] ผลงานหนังพูดเรื่องแรก Up the River (1930), เริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่สนิทสนม John Huston ขี้เมาหัวราน้ำพอๆกัน High Sierra (1941) [Huston ดัดแปลงบท], ตามมาด้วย The Maltese Falcon (1941) [Huston กำกับเรื่องแรก], ความสำเร็จของ Casablanca (1942) ทำให้กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า, และคว้า Oscar: Best Actor เรื่อง The African Queen (1951)
รับบท Charlie Allnut กัปตันเรือกลไฟ The African Queen สัญชาติ Canadian เดินทางสู่แอฟริกาเพื่อเป็นนายตนเอง แต่จนแล้วจนรอด ‘Yes, Miss’ ต้องคอยก้มหัวทำตามผู้อื่นอยู่ตลอด, นิสัยซื่อๆ ชอบพูดจาโผงผางตรงไปตรงมา คงไม่ได้รับการศึกษาสูงเท่าไหร่ แต่ประสบการณ์ทำงาน สามารถซ่อมแซม ‘Jack of all Trades’ ได้แทบทุกสิ่งอย่าง แค่มีเหล้าดื่มแทนน้ำ ชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรอื่น
เพราะความสงสารเลยชักชวน Miss. Sayer หลบหนีทหารเยอรมันอาศัยอยู่บนเรือ The African Queen พลาดพลั้งเผลอปล่อยให้โอกาสเธอจับคันหางเสือ ควบคุมทิศทาง นำพาล่องสู่กระแสน้ำเชี่ยวกราก มุ่งสู่เป้าหมายที่ตนไม่ได้ใคร่อยากไปถึงนัก แต่ผ่านไปสักพักกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาเกิดความกล้า กระทำในสิ่งที่จะรู้สึกภาคภูมิใจ มีเรื่องเล่ากล่าวขานให้กับลูกหลานรับฟังไม่จบสิ้น
ดั้งเดิมในบทหนัง ตัวละครนี้สัญชาติอังกฤษ และพูดสำเนียง Cockney หนาเตอะ แต่เป็นโปรดิวเซอร์เสนอว่านักแสดงหนึ่งเดียวที่มีภาพลักษณ์เหมาะสมคือ Humphrey Bogart เมื่อได้รับการตอบตกลง เลยปรับเปลี่ยนพื้นหลังให้เป็น Canadian (เพราะ Bogart ไม่สามารถพูดสำเนียง Cockney)
“Bogie, I’ve got a helluva property — with the worst low-life character in the world as the hero — and you’re Hollywood’s worst form of life. How about it?”
– John Huston โทรหา Humphrey Bogart
Bogart เป็นคนไม่ชอบการเดินทางไกล อยากทำงานใกล้ๆบ้านแต่บ้าบอคอแตกพลั้งเผลอรับปาก Huston ไปแล้ว
“Before I met John, my range was Beverly Hills to Palm Springs. Now the Monster wants me to fly twelve thousand miles into the Congo. And the crazy is that I’ve agreed to go”.
สะสมความคับข้อง ขุ่นเคืองใส่ลงไปในตัวละคร การแสดงของ Bogart ถือว่ามีความเข้มข้นที่สุดในชีวิต ทั้งคำพูด สีหน้า สายตา เรียกว่ากักฬระ สถุล ชนชั้นต่ำทราม ค่อยๆพัฒนาการขึ้นมากลายเป็นผู้เป็นคน และที่รักยิ่งของทุกคน
และที่น่าทึ่งสุดๆคือเคมีกับ Hepburn ทั้งๆก็มีภรรยา Lauren Bacall อยู่ไม่ห่างตัวเท่าไหร่ (เธอเดินทางไปแอฟริการ่วมกับสามี เพื่อให้เขายังพอมีความหวังในชีวิตอยู่บ้าง) กลับยังสามารถ ‘Spark’ ดั่งกระแสไฟแล่น ครั้งแรกที่โอบกอดจูบแทบจะกลืนกินกันและกัน ตาต้องตาโหยหาแทบขาดใจ
เกร็ด: ทีแรก Bacall ก็ขุ่นๆ Hepburn เพราะกลัวจะมาแย่งผัว แต่ไปๆมาๆทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิทสนมทั้งชีวิตไปเลย
Katharine Houghton Hepburn (1907 – 2003) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Hartford, Connecticut สมัยเด็กตัดผมสั้นเรียกตัวเองว่า Jimmy มีนิสัยทอมบอย ชื่นชอบว่างน้ำ ขี่ม้า ตีกอล์ฟ เล่นเทนนิส แต่ไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือเท่าไหร่ สนใจการแสดงเพราะจะได้ไม่ต้องเข้าโรงเรียน กลายเป็นนักแสดงละครเวทีจนไปเข้าตาแมวมองของ Hollywood จับมาเซ็นสัญญากับ RKO ภาพยนตร์เรื่องแรก A Bill of Divorcement (1932), ยังไม่ทันไรก็คว้า Oscar: Best Actress ตัวแรกจากเรื่อง Morning Glory (1933)
สิ่งที่ทำให้ Hepburn กลายเป็นอมตะ ติดอันดับ 1 ของ AFI’s 100 Years…100 Stars: Female Legends ก็เพราะเธอผ่านช่วงเวลาทั้งประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว อยู่หลายครั้ง ช่วงปี 1934 – 1938 ได้รับฉายา ‘box office poison’ ก็นึกว่าคงจบสิ้นแล้ว แต่สามารถหวนกลับมาโด่งดังเรื่อง The Philadelphia Story (1940), ใช้เวลา 34 ปี ถึงคว้า Oscar: Best Actress ตัวที่สอง Guess Who’s Coming to Dinner (1967) และสามในปีถัดไป The Lion in Winter (1968) ก่อนปิดท้ายกลายเป็นสถิติครั้งที่สี่กับ On Golden Pond (1981)
รับบท Rose Sayer มิชชันนารีสาววัยกลางคนที่ยังโสดซิง เพราะอยู่ตัวแทบติดกันกับพี่ชาย Samuel (คงไม่ถึงขั้น Incest หรอกกระมัง) ทะนุถนอมดั่งไข่ในหิน ผู้ดีมีตระกูลชนชั้นสูงชอบดื่มชา กระทั่งว่าด่วนเสียชีวิตจากไปแบบปัจจุบันทันด่วน ได้รับการชักชวนโดย Charlie Allnut ให้ร่วมออกเดินทางขึ้นเรือ เมื่อมีโอกาสควบคุมจับหางเสือ พยายามบงการชีวิตและทิศทางให้เป็นไปตามประสงค์เป้าหมายของตนเอง
Hepburn คือตัวเลือกแรกของ Huston ส่งบทไปให้อ่านระหว่างเธอกำลังแสดงละครเวที As You Like It ที่ Los Angeles จบแล้วนัดพูดคุยผู้กำกับโดยทันที
“I read it. What a story! I was thrilled”.
ภาพลักษณ์ความไฮโซ ชนชั้นสูง ผู้ดีมีสกุลของ Hepburn สร้างมิติให้ตัวละครมีโลกส่วนตัวสูง ซึ่งก็ตรงกับนิสัยตัวเธอเอง แม้ไม่ได้ไข่ในหินแต่ชื่นชอบเปิดโลกกว้าง เรียนรู้จักอะไรใหม่ๆ หลงใหลความตื่นเต้นเร้าใจ และไม่ชอบจมปลักอยู่กับสิ่งเดิมๆน่าเบื่อหน่าย
พัฒนาการของตัวละครนี้โดดเด่นชัดมากกับคำพูดจา สีหน้าท่าทาง การแสดงออก แรกๆเต็มไปด้วยความแข็งกระด้าง หยาบกร้าน จากนั้นค่อยๆปลดปล่อยให้ไหลลอยตามน้ำ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ โดยเฉพาะสายตาเวลา ‘Spark’ กับนักแสดงคู่ขา น้ำกับไฟที่ก็ไม่รู้ทำอย่างไรถึงกลายเป็นสิ่งๆเดียวกัน
แซว: Hepburn ครั้งหนึ่งเคยได้รับคำชักชวนจาก Huston ให้ไปร่วมล่าสัตว์กับเขา แต่วันนั้นโคตรโชคร้าย พบเจอฝูงสัตว์กำลังวิ่งหนีอะไรสักอย่าง พวกเขาเอาตัวรอดกลับกองถ่ายได้อย่างหวุดหวิด
ถ่ายภาพโดย Jack Cardiff ตากล้องสัญชาติอังกฤษคนแรกที่ถ่าย Technicolor เรื่อง Wings of the Morning (1937) กลายเป็นขาประจำของ The Archers อาทิ A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948), ผลงานอื่น อาทิ The African Queen (1951), The Barefoot Contessa (1954), War and Peace (1956) ฯ
สมัยนั้นกล้องถ่ายภาพสี Technicolor ยังคงมีขนาดใหญ่เทอะทะ เคลื่อนย้ายนำไปใช้นอกสตูดิโอลำบาก แต่ผู้กำกับ Huston ยืนกรานหัวชนฝา เพราะการถ่ายภาพสีจะทำให้หนังมี ‘ชีวิต’ ชีวาเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
(ไม่แน่ใจว่าคือหนัง Technicolor เรื่องแรกที่ถ่ายทำนอกสถานที่หรือเปล่านะ)
ประมาณครึ่งหนึ่งของหนังถ่ายทำยังสถานที่จริง โดยศูนย์บัญชาการตั้งค่ายอยู่ที่ Ponthierville, Congo แล้วใช้เครื่องบินออกสำรวจทั่วแอฟริกา จนกระทั่งค้นพบแม่น้ำ Ruiki River และทะเลสาบ Lake Albert, Uganda
“The bungalows, of which we had one, were made of bamboo and palm leaves, with small screen windows and curtained closets. Patio with hand-made furniture of the same ingredients. There was one large building with a dining room for the company — and an adjoining bar. […] Outdoor privie and showers. The showers consisted of a tin barrel overhead filled with water. When a chain was pulled, the water came through specially constructed hole. […] We had drinking water to brush our teeth in, a basin to wash in, and that was it”.
– Lauren Bacall เล่าถึงสภาพที่อยู่อาศัยในแอฟริกา
ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งของหนัง ถ่ายทำในสตูดิโอ Isleworth Studios, Middlesex ประเทศอังกฤษ ในทุกขณะของการล่องเรือ ผจญอุปสรรค กระแสน้ำเชี่ยวกราก เพราะมันอันตรายเกินกว่าจะให้นักแสดงไปเสี่ยงตาย ควบคุมอะไรไม่ได้ทั้งนั้น
ความที่กล้องถ่ายภาพสียุคสมัยนั้นมันใหญ่มากๆ (ดูจากภาพที่นำมาก็น่าจะเห็น) ซึ่งการจะนำขึ้นถ่ายทำบนเรืออันแสนคับแคบ ย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้เลยต้องออกแบบให้เรือสามารถแยกชิ้นส่วนออกได้โดยง่าย (รวมถึงเครื่องยนต์กลไฟ ของเรือด้วยนะ)
การใช้บริการตากล้อง Jack Cardiff ทำให้หนังได้ใช้เทคนิค Blue-Screen แทนที่ด้วยการฉาย Rear Projection แต่สมัยนั้นยังถือว่าไม่ค่อยแนบเนียนสักเท่าไหร่ อย่างช็อตนี้พบเห็นเส้นขาวๆรอบตัวละคร การจัดแสงก็ไม่กลมกลืนพื้นหลังสักเท่าไหร่ กระนั้นให้ถือว่ากำลังรับชม ‘วิวัฒนาการ’ เทคโนโลยีถ่ายภาพไปนะครับ
สำหรับซีนที่เรือไหลลงน้ำตก เพราะไม่สามารถถ่ายทำจากสถานที่จริงได้อยู่แล้ว จึงมีการสร้างโมเดลจำลองขนาดเล็ก แล้วใช้เทคนิค Blue-Screen ดูแนบเนียนและสมจริงมากๆ
เรือ African Queen ชื่อเดิม S/L Livingstone สร้างขึ้นเมื่อปี 1912 โดย Lytham Shipbuilding & Engineering Co. เจ้าของคือ British East Africa Railway ถูกนำไปใช้ในการสำรวจแม่น้ำ White Nile (หรือ Victoria Nile) และ Lake Albert
ได้ถูกปลดประจำการปี 1968 ขายเป็นเศษเหล็ก ได้รับการพบเจอที่ Cairo, Egypt มีนายทุนผู้หนึ่งซื้อมา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ท่าเรือ Key Largo, Florida ได้รับการบูรณะซ่อมแซม กลายเป็นอนุสรณ์สถานไปเรียบร้อย
ตัดต่อโดย Ralph Kemplen สัญชาติอังกฤษ ร่วมงานกับ Huston ครั้งนี้เลยได้เป็นขาประจำ, เข้าชิง Oscar: Best Film Editing สามครั้งจาก Moulin Rouge (1952), Oliver! (1968), Day of the Jackal (1973)
เรื่องราวของหนังประมาณ 90% อยู่บนเรือ The African Queen ยกเว้นช่วงต้น-ท้าย ซึ่งจะมีลักษณะตรงข้ามกัน
– Prologue เริ่มต้นที่ Rose Sayer กับพี่ชาย และมีนาย Charlie Allnut แวะเวียนมาเยี่ยมเยือน
– Epilogue หลังพายุคลั่ง Charlie Allnut นึกว่าคนรักของเขาจมน้ำจากไปแล้ว หมดอาลัยตายอยาก จนกระทั่งเธอถูกนำพาตัวมา
สำหรับช่วงขณะการล่องเรือ เหตุการณ์จะสามารถแบ่งเป็นตอนๆ คร่าวๆดังนี้
– หยุดพัก เริ่มต้นพูดคุยถกเถียงกันว่า จะเอายังไงต่อไป
– ออกเดินทาง ผ่านกระแสน้ำเบาๆช่วงแรก
– หยุดพัก แยกย้ายกันอาบน้ำคนละฝั่ง ค่ำคืนนั้นฝนตกหนักจึงต้องแบ่งบันหลังคา
– ออกเดินทาง เร้าใจกับน้ำตกระดับหนึ่ง
– หยุดพัก คืนนี้ขอเมา ตื่นเช้ามาโดนเทเหล้า ง้องอนจนยอมออกเดินทางต่อ
– ออกเดินทาง พบเจอทหารเยอรมัน น้ำตกระดับสอง
– หยุดพัก คราวนี้ตกหลุมร่วมรัก
– ออกเดินทาง ขณะกำลังหัวเราะคิกคักสนุกสนาน เจอน้ำตกระดับสามเข้าไป
– หยุดพัก ซ่อมแซมเครื่องยนต์
– ออกเดินทาง มาจนถึงทะเลสาป ไม่ได้พักเพราะถูกยุงไล่
– ออกเดินทาง ติดหล่มในหนองบึง ต้องพึ่งพาปาฏิหารย์ถึงหลุดออกมาได้
– หยุดพัก ตระเตรียมการ
– ออกเดินทาง ค่ำคืนแห่งภารกิจเป้าหมาย เทำลายเรือรบเยอรมัน
เพลงประกอบโดย Allan Gray ชื่อจริง Józef Żmigrod (1902 – 1973) สัญชาติ Polish อพยพย้ายสู่อังกฤษในช่วง Nazi เรืองอำนาจ กลายเป็นขาประจำของ The Archer ในช่วงแรกๆ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), I Know Where I’m Going! (1945), A Matter of Life and Death (1946) ฯ
ลักษณะบทเพลง จะสะท้อนบรรยากาศ/อารมณ์ของหนังช่วงขณะนั้นอย่างตรงไปตรงมา เต็มไปด้วยความหลากหลาย อาทิ
– หวาดหวั่นวิตก เพราะหมู่บ้านถูกเผา
– ตื่นเต้นเร้าใจ แฝงอันตราย ขณะเรือล่องมาถึงน้ำตก
– หวานแหววโรแมนติก เมื่อชาย-หญิง ตกหลุมรัก
– สนุกสนาน กวนประสาท เวลาสำเริงสำราญใจ
– สัมผัสแห่งความพิศวง ลึกลับ อันตราย เมื่อตกอยู่ท่ามกลางหนองบึง
บทเพลงมิสซา God of Grace and God of Glory แต่งคำร้องโดย Harry Fosdick ทำนองโดย John Ceiriog Hughes ในหนังขับร้องโดย Katharine Hepburn กับ Robert Morley แต่ถูกกลบโดยเสียงเซ็งแซ่ฟังไม่ได้สดับของชาวพื้นเมืองแอฟริกัน พวกเขาคงไม่เข้าใจภาษา เลยได้แต่ส่งเสียงอื้ออึงออกมา ชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามเล็กๆ ‘พระเจ้าอยู่ในดินแดนนี้จริงๆนะหรือ?’
สำหรับ The Bold Fisherman เห็นว่าเป็นบทเพลง Folk Song ของประเทศอังกฤษ ก็ไม่รู้ Bogart ได้ยินจดจำมาจากไหน (อาจตอนเป็นทหารเรือ) เคยนำมาร้องเล่นในรายการวิทยุ Chesterfield Show เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1952 ร่วมกับ Bing Crosby และ Lauren Bacall
อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมากๆก็คือ Sound Effect เสียงสรรพสัตว์ป่า เครื่องยนต์เรือ และสายน้ำไหล แทบจะแทน Soundtrack ของหนังได้เลย มอบสัมผัสความเป็นธรรมชาติ ราวกับอยู่ในทวีปแอฟริกาจริงๆ (แต่รู้สึกว่าจะเป็นเสียง Mono สมัยนั้นก็ได้แค่นี้แหละ)
เรื่องราวการผจญภัยของ The African Queen สะท้อนถึงการดำเนินไปของชีวิตคู่ ชาย-หญิง เริ่มจากจับพลัดพลูพบเจอ ‘ลงเรือลำเดียวกัน’ ทุกสิ่งอย่างแตกต่างตรงกันข้าม แต่หลังจากพานผ่านอุปสรรคขวากหนาม ค่อยๆความคิดเห็นสอดคล้อง ตกหลุมรักใคร่ กลายเป็นแรงผลักดันกันและกันในชีวิต ต้องการไปให้สุดถึงเป้าหมายความตั้งใจ
เริ่มต้นจากการที่ Mr. Allnut ยินยอมให้ Miss. Rose ถือหางเสือสำหรับควบคุมทิศทางเรือไปข้างหน้า นั่นทำให้เธอเกิดความกล้า เจ้ากี้เจ้าการ ครุ่นคิดค้นหาเป้าหมายปลายทางที่ตนเองอยากไป กลายมาเป็นสร้างอาวุธตอร์ปิโด หวังทำลายเรือรบเยอรมัน, ถ้าเป็นสำนวนไทย ‘ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า ผู้หญิงคือช้างเท้าหลัง’ แต่ผมคุ้นๆว่าถ้าเป็นชาติตะวันตก มักจะเปรียบเทียบกับการถือหางเสือเรือ ซึ่งปกติผู้ชายจักคือคนควบคุม แต่เมื่อมอบโอกาสให้ฝ่ายหญิง นี่เป็นการแสดงความเสมอภาคเท่าเทียม (มองว่าคือ Feminist เล็กๆก็ยังได้)
การล่องเรือผ่านกระแสน้ำเชี่ยวกราก มาจนถึงน้ำตกสามระดับ นี่เป็นการสะท้อนถึง อุปสรรคขวากหนาม สิ่งที่ชีวิตคู่มักพานพบเจอ
– น้ำตกระดับหนึ่ง ชิวๆ สามารถหัวเราะคิกๆ สนุกสนานไปกับมัน สำหรับบุรุษแค่นี้ก็มักสร้างความตื่นเต้นให้มากพอแล้ว แต่สำหรับสตรีมันเพียงพอเสียวที่ไหน ความเร้าใจเพิ่งเริ่มต้นขึ้น
– น้ำตกระดับสอง ท้าทายศักยภาพความสามารถของทั้งสอง เมื่อเอาตัวรอดพ้นดีใจกอดกันกลม เรียกว่าจุดแห่งความสมดุลชาย-หญิง เกิดความพึงพอใจกันและกัน ปรับเปลี่ยนมุมมองโลกทัศน์ของอีกฝ่าย กล้าได้กล้าเสี่ยงต่อไปอีกสักนิด
– น้ำตกระดับสาม จริงๆคือหายนะเพราะสูงมากๆ ถ้าความสัมพันธ์ไม่แน่นเหนียวจริงๆเรือแตกแน่นอน แต่โชคยังดีพวกเขายังสามารถยึดเกาะติด แต่ก็ประสบปัญหากังหันหางเรือหัก เลยต้องหยุดพักซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
ความสัมพันธ์ของชาย-หญิง แรกเริ่มก็มักเต็มไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ (แต่บางคนอาจจากเขม่น ขัดแย้ง พอคุ้นเคยสนิทสนมก็ค่อยปรับเปลี่ยนทัศนคติต่ออีกฝ่าย) รุ่งอรุณเช้าวันใหม่ช่างสวยงามสดใส บางคนถึงขนาดยินยอมปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง โกนหนวดโกนเครากลายเป็นคนใหม่เพื่อเธอ แต่พอเวลาผ่านไปสักพักก็ย่อมมีเบื่อหน่าย ขัดข้องแย้ง ชำรุดทรุดโทรม จำเป็นต้องพักเพื่อซ่อม จุดเพลิงราคะให้ลุกโชติช่วง ถึงสามารถออกเดินทางต่อไปได้
เนื่องจากหนังไม่สามารถนำเสนอฉากเลิฟซีน/Sex Scene แบบตรงไปตรงมา ฉากใกล้เคียงสุดคือการหมุนเครื่องยนต์กลไฟ สอนโยกเข้าไว้ให้เกิดอารมณ์ Woman-on-Top ด้วยกระมังช็อตนี้
ฉากที่ผมชื่นชอบสุดของหนัง หลังจากผ่านค่ำคืนแรกแห่งการร่วมรัก ท่วงท่าลีลาของพระเอก เลียนแบบสรรพสัตว์ ตัดสลับกับฮิปโป จระเข้ ลิง ประมาณว่าเป็นการแสดงความดีใจโลดโผน ได้พบเจอความสุขถึงสรวงสวรรค์ชั้นเจ็ด ชีวิตนี้ไม่เคยได้กระสันต์ขนาดนี้มาก่อน (นี่ยังสื่อได้ถึง ผู้ชาย=สัตว์ป่า)
ทั้งนี้ทั้งนั้นอุปสรรคต่อไปของชีวิต เริ่มจากถูกก่อกวนโดยฝูงยุง ตามด้วยการเวียนวนจมปลักอยู่ในโคลนตม ไม่สามารถหาหนทางออกจากหนองคลองบึงแห่งนี้ เป็นเหตุให้ต้องลงมาจูงลาก ถากถางต้นหญ้า ถูกดูดเลือดสูบเนื้อโดยบรรดาปลิงที่มาเกาะอิง (ยุง, ปลิง = บุคคลที่ชอบแสวงหาตักตวงผลประโยชน์จากผู้อื่น) คงต้องอาศัยปาฏิหารย์จากพระผู้เป็นเจ้า ฝนฟ้าบรรดาตกลงมาเท่านั้นจึงสามารถเอาตัวรอด หาหนทางออกจากเขาวงกตแห่งชีวิตนี้, ถ้าเปรียบเทียบตรงๆก็คือ วัน-เดือน-ปี ที่เคลื่อนผ่านไปของชีวิต ทำให้ชาย-หญิง พบเจอแต่อะไรซ้ำๆซากๆ หมดสิ้นความหวือหวาเร้าใจ เต็มไปด้วยความเบื่อเหนื่อยหน่าย ท้อแท้สิ้นหวัง มองไม่เห็นอนาคตเป้าหมาย ศาสนาเท่านั้นถึงเป็นที่พึ่งพักพิง
เมื่อสามารถหลุดออกจากหนองคลองบึง ก็มาถึงทะเลสาปอันเป็นเป้าหมายปลายทางแห่งชีวิต ซึ่งถ้าเปรียบเทียบ
– ตอร์ปิโด ลักษณะเป็นแท่งยาวแหลมเหมือนลึงค์ หรือก็อสุจิ ก่อนจะเริ่มภารกิจก็มีการทำความสะอาดเรือ ‘ขัดจรวด’ ให้ใหม่เอี่ยม และ’ปักธง’ชาติอังกฤษ (ผมพยายามเสื่อมอย่างเต็มที่แล้วนะครับ เข้าใจได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับจินตนาการคุณเองแล้วละ)
– เรือรบเยอรมันชื่อ Königin Luise แปลว่า Queen Luise เทียบแทนด้วยเพศหญิง, รังไข่
ในค่ำคืนฝนตกพายุคลั่ง ปรากฎว่าเรือ ‘ล่มปากอ่าว’ … คือประมาณว่าคู่ชาย-หญิง ยังไม่ได้เข้าพิธีสมรสถูกต้องตามหลักกฎหมาย/ศาสนา/จารีตประเพณี ซึ่งคำขอสุดท้ายก่อนถูกตัดสินประหารชีวิต ให้กัปปิตันทหารเยอรมันเป็นประธานในพิธีแต่งงาน เสร็จสรรพกำลังจะถูกแขวนคอก็เกิดระเบิดตู้มต้าม! เรืออัปปางในหนองโดยพลัน
ช็อตสุดท้ายของหนัง แหวกว่ายท่ามกลางนทีทอง สู่อนาคตของสามี-ภรรยา ที่คงไม่มีใครสามารถบ่งบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป หลงเหลือเพียงตำนานและบทเพลง The Bold Fisherman
เห็นว่าตอนจบของนิยายมีสองแบบ
– ฉบับวางขายในอังกฤษ พระเอก-นางเอก หลังจากระเบิดเรือรบทหารเยอรมันสำเร็จ พบเจอทหารอังกฤษและแจ้งข่าวดี
– ฉบับวางขายอเมริกา พระเอก-นางเอก พบเจอทหารอังกฤษและร่วมกันระเบิดเรือรบทหารเยอรมันสำเร็จ
ขณะที่บทหนังของ James Agee, กัปปิตันไม่ได้สั่งประหารชีวิตทั้งสอง แต่ส่งตัวกลับไปประเทศอังกฤษ แล้วพวกเขาก็ได้แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย … นี่ก็ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ Huston สักเท่าไหร่ ระดมสมองกับ Peter Viertel จนได้ตอนจบโคตรเจ๋งเป้ง เสื่อมสุดๆแบบในหนัง
ชื่อหนัง/ชื่อเรือ The African Queen คาดว่าคงสื่อถึงศักยภาพ ความสามารถ จิ๋วแต่แจ๋ว ลำกระเปี๊ยกแต่สามารถลัดเลาะล่องแก่งได้ทุกลำน้ำ ทั้งยังมีพิษร้ายกาจ สงสามารถทำลายเรือรบเยอรมันให้อับปางลงราบคาบ เรียกได้ว่า ‘ราชินีแห่งสายน้ำ’
ถือเป็นปกติสำหรับการตั้งชื่อเรือด้วยเพศหญิง ซึ่งก็ตรงกับเรื่องราวของหนัง บุคคลผู้ควบคุมหางเสือในครานี้คือสุภาพสตรี ขณะที่บุรุษนั้นมีความกักฬระ ซกมกโสมม ไม่ต่างอะไรจากสัตว์ (ที่ต้องการชี้นำทาง จากผู้มีความเจริญ/วิทยฐานะสูงส่งกว่า)
ส่วนการเลือกทวีปแอฟริกาเป็นสถานที่ดำเนินเรื่อง ก็เพื่อสะท้อนความ’ดงดิบ’ สันชาตญาณมนุษย์ เมื่อชาย-หญิง อาศัยลงเรือลำเดียวกัน ใช้คำพูดคุยสนทนาแสดงออกแบบเด็กๆ วันๆเอาแต่ยิ้มแป้นโลกสวย สักวันพวกเขาต้องสมสู่ครองคู่ ต่อให้มันจะขัดแย้งต่อหลักโน่นนี่นั่นมากมาย แต่จะเอาศาสนาความเชื่อจากแห่งหนไหน มาทำให้มันถูกต้องตามจารีตประเพณีกันเล่า!
นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางยุคสมัยนั้น เกือบไม่ผ่านกองเซนเซอร์ Hays Code เพราะมองความไม่เหมาะสม ชาย-หญิงยังมิได้แต่งงานกลับอาศัยลงเรือลำเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงห้ามมีฉากสัมพันธ์เกินเลยมากกว่ากอดจูบ … ความพิลึกพิลั่นบ้าบอคอแตกเช่นนี้เอง คือหนึ่งในสาเหตุผลทำให้ Hays Code ค่อยๆหมดความน่าเชื่อถือลง และล่มสลายไปในทศวรรษถัดมา
ด้วยทุนสร้าง $1 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกาประมาณ $4 ล้านเหรียญ, ประเทศอังกฤษได้มาอีก £256,267 ปอนด์, รวมๆแล้วกว่า $10.75 ล้านเหรียญ กำไรล้นหลาม
เข้าชิง Oscar 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Director
– Best Actor (Humphrey Bogart) ** คว้ารางวัล
– Best Actress (Katharine Hepburn)
– Best Adapted Screenplay
เกร็ด: การผจญภัยของ The African Queen กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กิจกรรม Jungle Cruise ของ Disneyland และสวนสนุกหลายๆแห่งในโลก ที่มักใช้เรือกลไฟขนาดเล็ก นำพาเด็กๆ/นักท่องเที่ยว ล่องชมโน่นนี่นั่นระหว่างทาง
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนัง คือการแสดงของ Bogart และ Hepburn ทั้งสองเกิดมาเติมเต็มกันและกันโดยแท้ ในช่วงเวลาสูงสุดแห่งอาชีพการงาน, และไดเรคชั่นของผู้กำกับ Huston ไม่กล่าวชื่นชมคงไม่ได้ แม้หลายๆฉากจะดูไม่ค่อยแนบเนียนสักเท่าไหร่ แต่ถือว่ายอดเยี่ยมดีที่สุดแล้วของยุคสมัยนั้น
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” การผจญภัยครั้งนี้ให้ข้อคิดดีๆที่ว่า ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่ละความทุ่มเท ตั้งมั่น และพยายาม เพราะถึงสุดท้ายมันจะล้มเหลว แต่ก็อาจทำให้เราได้พบบางสิ่งอย่างทรงคุณค่าที่สุดในชีวิต
แนะนำคอหนังคลาสสิก ชื่นชอบเรื่องราวการผจญภัย ล่องเรือผ่านแม่น้ำ หนองบึง ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดระหว่างทาง แฝงปรัชญาชีวิต แฟนๆผู้กำกับ John Huston และสองนำแสดงนำ Humphrey Bogart และ Katharine Hepburn ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
จัดเรต 13+ กับสภาพอันทุรกันดาร เต็มไปด้วยภยันตรายของทวีปแอฟริกา
Leave a Reply