The Agony and the Ecstasy (1965) : Carol Reed ♥♥♥◊
Michelangelo Buonarroti เป็นประติมากรชื่อดัง ในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) แต่เขาไม่ใช่จิตรกร ขณะอายุ 30 ถูกเชิญตัวมาที่กรุงโรมเพื่อทำงานออกแบบหลุมฝังศพให้กับสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 แต่ยังไม่ทันที่จะเริ่ม Pope Julius II เปลี่ยนใจสั่งให้เขาวาดภาพตกแต่งเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) นี่เองทำให้เกิดภาพวาด The Creation of Adam ที่โด่งดังที่สุดในโลก
น่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้ถูก underestimate จากคนดูและนักวิจารณ์เอาเสียมากๆ อาจเพราะถ้าไม่ใช่คนสาย Artist หรือชอบงานศิลปะ น้อยคนนักจะรู้จักและอยากดูหนังชีวประวัติเรื่องนี้ ตอนที่ฉายด้วยทุนสร้าง สูงถึง $7.1 ล้าน หนังทำเงินแค่ $8 ล้าน ถึงจะเข้าชิง Oscar ถึง 5 สาขา แต่ก็เป็นสาขารองๆ ทำให้เวลาผ่านไปหนังจึงถูกลืม ทั้งๆที่เครดิตของหนังอย่าง ผู้กำกับ Carol Reed (The Third Man), นักแสดงนำอย่าง Charlton Heston (The Ten Commandments, Ben Hur), Rex Harrison (My Fair Lady, Doctor Dolittle) แถมยังได้ Jerry Goldsmith กับ Alex North มาทำเพลงประกอบให้อีก, โดยส่วนตัวผมหลงรักหนังเรื่องนี้ แต่ก็เข้าใจปัญหาของหนังนะครับว่าขาดตกบกพร่องอะไร ที่ชอบมากๆอาจเพราะเป็นความรู้สึกต่อเนื่อง จากการได้ดูหนังในคอลเลคชั่น Painter & Artist ได้พบเห็น เข้าใจและรู้จักศิลปินแขนงต่างๆมากขึ้น ทำให้โลกทัศน์ต่องานศิลปะเปิดกว้างขึ้น สำหรับ Michelangelo ผมไม่รู้มาก่อนว่างานศิลปะที่เขาถนัดจริงๆคือ การแกะสลักหินอ่อน เป็นประติมากรไม่ใช่จิตรกร แต่เขากลับสามารถวาดภาพที่กลายเป็นตำนานถึง 2 รูป แต่ละรูปก็ไม่ใช่ 2-3 ชั่วโมงเสร็จ ใช้เวลา 4 ปีและ 6 ปี ถ้าไม่ใช่มีความตั้งใจจริงๆคงทนทำไม่ได้ หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบ Michelangelo กลายเป็นอีกหนึ่งศิลปินคนโปรดของผมไปในทันที
Carol Reed ผู้กำกับชาว British ตอนอยู่ที่อังกฤษมีผลงานดังๆอย่าง Odd Man Out (1947), The Fallen Idol (1948) และ The Third Man (1949) เรื่องหลังสุดทำให้เขาได้ Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes พอมาทำหนังให้ Hollywood กลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ กระนั้นหลังจาก The Agony and the Ecstasy หนังเรื่องถัดไป Oliver (1968) ที่กวาด Oscar ไปถึง 5 สาขา รวมทั้ง Best Picture และ Best Director, Reed เป็นหนึ่งในผู้กำกับชาวอังกฤษไม่กี่คนที่ได้รับการยกย่องในความโดดเด่นด้านการนำเสนอ โดยเฉพาะมุมมองของภาพที่มีความสวยงาม โดดเด่น คมชัด เล่นกับแสงและเงาได้อย่างสวยงาม ถือว่าเป็นคนที่มี sense ในการทำหนังอย่างมาก “has more sense of the cinema than most veteran British directors”
The Agony and the Ecstasy ดัดแปลงมาจากนิยายที่เขียนเป็นเชิงชีวประวัติของ Michelangelo Buonarroti เขียนโดย Irving Stone ก่อนหน้านี้เขาเคยเขียนนิยายเรื่อง Lust for Life ที่เป็นมีลักษณะคล้ายๆกันนี้ แต่เป็นชีวประวัติของ Vincent Van Gogh ซึ่งก็ได้รับการดัดแปลงมาเป็นหนังใช้ชื่อเดียวกัน ออกฉายในปี 1948 (ไว้ผมจะมาเขียนรีวิววันหลังนะครับ), Stone ได้ไปอาศัยอยู่ประเทศอิตาลีเป็นปีๆ เพื่อศึกษาเก็บข้อมูลในกรุงโรมและ Florence เขาใช้จดหมายของ Michelangelo จำนวน 495 ฉบับเป็นข้อมูลอ้างอิงในการเขียนนิยาย, เห็นว่ารัฐบาลของ Italy มอบ Honorary Awards หลายรางวัลให้สำหรับความทุ่มเท และความตั้งใจในการนำเสนอเรื่องราว วัฒนธรรมและบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อิตาลี, แต่มันเป็นที่น่าเสียดายจริงๆ หนังที่ดัดแปลงจากนิยาย Irving Stone ทั้งสองเรื่องจะโชคไม่ดีเท่าไหร่ เจ๊งทั้งคู่เลย
นำแสดงโดย Charlton Heston ผมว่านักดูหนังสมัยนั้น พอได้ยินชื่อ Heston จะคิดว่าเขาต้องรับบทเป็นผู้นำหรือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์สักคน มันกลายเป็นภาพลักษณ์ติดตาของพี่แกไปเลย นับตั้งแต่ Moses ใน The Ten Commandments (1956), Ben Hur (1959), El Cid (1961) พอมาถึง The Agony and the Ecstasy เขารับบทเป็น Michelangelo Buonarroti, ผมไม่คิดว่า Reed คัดเลือกนักแสดงมาผิดนะครับ Heston ก็ดูเหมาะสมกับบทดี แต่กลายเป็นว่าพี่แกเล่นได้เอื่อยเฉื่อย เหมือนไม่ทุ่มเทใจให้กับการแสดงเท่าไหร่ คือผู้ชมแทบจะไม่สามารถสัมผัสความรู้สึกของ Michelangelo ได้เลย จะโกรธ จะเหน็ดเหนื่อย สุข-ทุกข์ มันเหมือนว่าตัวละครนี้มีอยู่อารมณ์เดียว แบนราบไม่มีมิติ นี่ถือเป็นการแสดงที่น่าผิดหวังของ Heston มากๆ
การแสดงของ Heston ผิดกับของ Rex Harrison มาก ที่รายนี้พี่แกทุ่มเทสุดๆ กับบท Pope Julius ขาดได้เข้าชิง Best Actor ของ Golden Globe ด้วย พระสันตปาปาองค์นี้ ปกครองด้วยการสงคราม ผมเพิ่งรู้ว่ามีแบบนี้ด้วย (เข้าใจว่า Pope จะไม่ยุ่งกับสงครามหรือลงมาทำสงครามด้วยตนเอง) ถ้าคนดูเชียร์ Michelangelo คุณอาจจะไม่ค่อยชอบ Pope เสียเท่าไหร่ เหมือนว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว และทำอะไรเพื่อตนเอง ผมเริ่มมาเข้าใจเขาช่วงหลังๆ ตอนที่ Pope เห็นภาพ The Creation of Adam แล้วพูดความรู้สึกของตัวเองออกมา มันเป็นการยืนยันคำพูดของอีกตัวละครหนึ่ง ที่มองความสัมพันธ์ของทั้งสองว่า ‘ใครๆก็เห็นว่า Pope ชื่นชม Michaelangelo มากแค่ไหน มีแต่ Michaelangelo ที่มองไม่เห็น’ ภาพที่วาดอยู่นี้ มันมีคุณค่ามากกว่าพวกเราทั้งสองคนนัก นี่เป็นสิ่งที่จะยืนยงคงอยู่ตลอดไป แม้พวกเราจะตายสูญหายไปจากโลกแล้ว ภาพพวกนี้จะยังคงอยู่
Hippocrates เคยพูดไว้ใน Aphorisms เป็นภาษาละตินว่า Ars longa, vita brevis แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Art is long, life is short. (มนุษย์อายุสั้น ศิลปะอายุยืนยาว)
Diane Cilento นักแสดงหญิงหนึ่งเดียวของหนัง ผมไม่แน่ใจในชีวิตจริง Michelangelo ในช่วงอายุ 88 ปีของเขาได้แต่งงานกับใครไหม (น่าจะไม่ได้แต่งนะครับ) ในหนังมีเพียง Contessina de’Medici ที่ถือว่าเข้ามาพัวพันในชีวิตรักของเขา ผมไม่แน่ใจว่าตัวละครนี้มีตัวตนจริงๆหรือเปล่า (น่าจะแต่งขึ้น) อาจจะได้แรงบันดาลใจมาจาก Tommaso dei Cavalieri คนนี้เป็นผู้ชายที่ Michelangelo เขียนกลอนบอกรักถึง (หนังมันก็แอบเปรยๆถึงว่า Michelangelo อาจจะชอบผู้ชายมากกว่าผู้หญิง) สมัยนั้นมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วเรื่อง ชายรักชาย แถม Michelangelo ยังเป็นคริสเตียนที่เคร่งมากด้วย เรื่องแบบนี้จึงไม่น่ามีทางเกิดขึ้น, ในหนังเมื่อถึงจุดหนึ่งพยายามนำเสนอเรื่องราวของความรัก ในบริบทของหนังไม่ใช่ว่า Michelangelo ไม่ชอบผู้หญิง แต่เขาได้ค้นพบสิ่งที่มีคุณค่าเหนือความรักชายหญิง ที่เขาอยากทุ่มเทชีวิตและจิตใจให้ มุมหนึ่งอาจมองได้ว่าความรักต่อพระเจ้าผู้สร้างโลก ที่เหนือกว่าความรักระหว่างชายหญิง
หนังเรื่องนี้จัดว่ามีความ Epic ด้วยได้นะครับ มันอาจดูงงนิดๆ ตรงที่นี่มันหนังชีวประวัติ ไฉนช่วงแรกๆกลับมีฉากสงคราม … ก็เพราะ Pope องค์นี้เป็นผู้นำสงคราม จึงออกนำทัพด้วยตนเอง สู้รบกัน ยิงปืนใหญ่ ยึดเมือง (นี่สินะที่ทำให้งบบานปลาย) จริงๆจะไม่ใส่ประเด็นนี้เข้ามาเลยก็ได้นะ ไม่มีความจำเป็นเสียเท่าไหร่ (ตรง Intermission ด้วย ใส่มาทำไม!) คงเพื่อให้หนังมีความตื่นตาตื่นใจ ดูน่าสนใจ ไม่ใช่มีแค่แต่การวาดรูป, ผมชอบฉากที่ Michelangelo รู้ตัวแล้วว่าจะวาดภาพอะไร ขณะนั้น Pope กำลังเตรียมพร้อมจะบุกเข้ายึดเมืองแห่งหนึ่ง ข้าศึกที่อยู่ในเมืองยิงปืนใหญ่ตอบโต้มาแล้ว แต่ Pope กับ Michelangelo ยังคุยกันไม่จบ นายทหารก็ลุกลี้ลุกรน เพราะไม่สามารถออกคำสั่งให้จู่โจมได้ (Pope ยังไม่ได้สั่ง), ฉากนี้เป็น gag เล็กๆ ที่ผมแอบอมยิ้ม คิดเลยว่าถ้าไม่ใช่ Reed อาจจะมีผู้กำกับไม่กี่คนที่สามารถสอดแทรกอารมณ์ขันในสถานการณ์เครียดๆแบบนี้ได้ (คนที่ชอบมี gag แบบนี้ เช่น Francis Ford Coppola, Stanley Kubrick ฯ)
ถ่ายภาพโดย Leon Shamroy ที่เกือบได้ Oscar แล้ว (ได้แค่เข้าชิงสาขา Best Cinematography) นี่เป็นหนังที่ผมมองว่า สมควรได้มากๆ แต่ปีนั้นดันมี Doctor Zhivago ถ่ายภาพโดย Freddie Young ที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน แอบตัดสินใจเลือกเรื่องที่ชอบยากเหมือนกัน, Leon Shamroy เป็นตากล้องที่เข้าชิง Oscar สาขา Best Cinematography มากที่สุด 18 ครั้ง ได้มา 4 รางวัล (เทียบเท่ากับ Charles Lang) นี่น่าจะการันตีความสวยงามของหนังเรื่องนี้ได้, ฉากที่ผมชอบมากๆ คือตอนที่ภาพวาดเสร็จแล้ว และกล้องทำการเลื่อนขึ้น ถ่ายให้เราเห็นความสวยงามของภาพที่อยู่บนเพดาน มันทำผมผมน้ำตาไหลเลย วาดสำเร็จเสียทีรอมาตั้งนาน แน่นอนว่ามันออกมาสวยมากๆ ตำแหน่งที่มีการเคลื่อน หยุด หมุนแล้วเคลื่อนต่อ ลงตัวมากๆ ในหนังได้ Niccolo d’Ardia Caracciolo ชาว Irish เป็นผู้วาดภาพเสมือนที่ Michelangelo เคยวาดไว้
ผมรู้จักภาพ The Creation of Adam มาก่อนดูหนังเรื่องนี้นะครับ (เคยเห็นในหนังหลายเรื่อง เริ่มจำได้ตอนเล่นเกม Assassin Creed ภาค 2) ไม่คิดว่า กว่าภาพนี้จะวาดสำเร็จ มันจะมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายขนาดนี้ 4 ปีเต็ม นานมากๆ และ Michelangelo วาดคนเดียวทั้งหมด ลูกมือแค่ช่วยเตรียมอุปกรณ์, ความสำคัญของภาพอยู่คือความหมายที่ลึกซึ้ง ถึงการกำเนิดเกิดขึ้นของมนุษย์ น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถมองเห็นคุณค่าของวิธีการและเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานได้ นี่เป็นสิ่งที่เด็กสายศิลป์น่าจะมองเห็น ศิลปินผู้เคยสร้างสรรค์งานศิลปะน่าจะเข้าใจได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
10 นาทีแรกของหนังเป็นวิชาเรียนประวัติศาสตร์ กับคนที่รู้ประวัติศาสตร์มาแล้วคงรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่สำหรับผม คิดว่าเป็นความตั้งใจที่ดีของผู้กำกับ เพื่อคนที่ไม่มีความรู้ทางศิลปะจะได้รู้จักและเข้าใจอะไรมากขึ้น ผมไม่ใช่เด็กสายศิลป์ ดังนั้นการมีงานศิลปะให้ทำความเข้าใจก่อนหนังเริ่ม จึงถือเป็นความรู้ที่มีคุณค่ามากๆ รูปปั้นหินอ่อนที่ปรากฏในช่วงนี้ เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเห็นมาบ้างแล้ว แต่ไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่เห็นค่าความสวยงามของมัน ไม่รู้ว่าเป็นผลงานของใคร โดยเฉพาะ Pietà กับ David สองผลงานแกะสลักที่ถือเป็นผลงานโดดเด่นที่สุดของ Michelangelo ผมจำสองรูปปั้นหินอ่อนนี้ได้นะ เคยเห็นมาจากหนังหลายๆเรื่อง แต่เพิ่งมารู้ว่านี่เป็นผลงานของ Michelangelo ถ้าคุณคิดว่าตัวเองรู้เรื่องพวกนี้ดีอยู่แล้วกดข้ามไปเลยก็ได้นะครับ
ตัดต่อโดย Samuel E. Beetley คนนี้เคยเข้าชิง Oscar สาขา Best Edited 2 ครั้งจาก Doctor Dolittle (1967) และ The Longest Day (1962) แต่ไม่ได้ทั้งสองเรื่อง, จะว่าการตัดต่อถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งในหนังเรื่องนี้ที่ทำให้หนังด้อยคุณค่าไป มันมีช่วงที่ฝืนๆ และตัดข้ามอะไรบางอย่างมากไป การเล่าเรื่องที่ดูสับสน โดยเฉพาะช่วงการทะเลาะกันระหว่าง Pope กับ Michelangelo ที่ไม่รู้กี่รอบจนเริ่มรำคาญ ตัวละครบางตัวที่โผล่มาเหมือนจะมีอะไรตอนต้นเรื่อง กลางๆเรื่องก็แทบไม่มีบทอะไรแล้ว ท้ายเรื่องก็หายไปเลย ผมคิดว่าในนิยายน่าจะมีรายละเอียดพวกนี้อยู่ แต่ถูกตัดออกในช่วงตัดต่อ เพื่อให้ได้เวลาที่ลงตัว หรืออาจจะตัดออกเพื่อไม่ให้หนังนำเสนอประเด็นอื่นมากเกินไป
เพลงประกอบโดย Jerry Goldsmith และ Alex North นี่เป็นการร่วมงานของ 2 สุดยอดคอมโพเซอร์ที่แสนอาภัพ Goldsmith เข้าชิง Oscar 18 ครั้งได้มาแค่ครั้งเดียว North นี่โชคร้ายกว่า เข้าชิง 15 ครั้งไม่ได้เลย จน Oscar ต้องยก Honorary Award ให้ (เป็นคอมโพเซอร์คนแรกที่ได้ Honorary) ผลงานดังๆของ Goldsmith ก็อย่าง Patton, The Omen, Air Force One, The Mummy ฯลฯ ส่วน North อาทิ Spartacus, Cleopatra, A Streetcar Named Desire, Who’s Afraid of Virginia Woolf? ฯ, สำหรับ The Agony and the Ecstasy เพลงประกอบเรื่องนี้อลังการมาก แม้จะไม่ติดหูเท่าไหร่ ตอนที่กล้องค่อยๆเลื่อนขึ้นไปให้เราเห็นภาพ The Creation of Adam ผมขนลุกซู่เลย เป็นเพลงประกอบที่ทรงพลัง ยิ่งใหญ่ ใช้ Orchestra เต็มวงจัดเต็ม
ผมขอไม่ลงรายละเอียดวิเคราะห์ภาพวาดของ Michelangelo นะครับ เพราะนี่เป็นอรรถรสที่คุณจะสามารถเข้าใจได้เลยเมื่อรับชมหนังเรื่องนี้ อีกอย่างคือผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญความรู้เกี่ยวกับพระเจ้านัก นอกจาก The Creation of Adam แล้ว ผมก็ไม่รู้จักภาพอื่นๆเลยนะครับ ไม่ได้อยากรู้เสียเท่าไหร่ด้วย, นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งด้วยกระมังที่ทำให้ผมมองข้ามประเด็นความขัดแย้งระหว่างตัวละครกับความเชื่อ ประเด็นนี้ผมเพิ่งมาเข้าใจว่าทำไมภาพวาดและรูปแกะสลักทั้งหลายของ Michelangelo ต้องเป็นภาพนู๊ด เหตุผลของเขาก็ชัดเจนมากๆอยู่ คือความบริสุทธิ์ของมนุษย์คู่แรก ที่ไม่มีบาป (sins) ใดๆจึงไม่มีอะไรที่ต้องปกปิด, เห็นว่าศิลปะของชาวกรีก รูปปั้น ภาพวาดก็มักจะเปลือยเปล่าไม่ปกปิดอะไร คนสมัยนั้นกลับมองว่าภาพเปลือยเป็นอะไรที่น่ารังเกียจ ลามก … อืม จริง มนุษย์มีบาปมากขึ้นจนต้องหาอะไรมาปกปิด แค่ภาพเปลือยก็รับไม่ได้แล้ว แต่อนาคตต่อไปผมว่า มันจะกลับไปสู่การเปลือยเปล่าอีกนะครับ (แฟชั่นปัจจุบันก็แทบไม่มีอะไรปกปิดร่างกายเท่าไหร่แล้ว)
ตอนเปิดเรื่อง หนังพาเราไปเห็นการทำเหมืองหินอ่อน แรงงานที่เป็นคนทุบหิน ตัดหิน ระเบิดหินจากภูเขาทั้งลูก เตรียมขนส่ง ใช้วัวเทียบเกวียนลากเข้าเมือง ภาพแบบนี้คนสมัยนี้คงไม่ได้เห็นกันแล้วนะครับ ทุกอย่างคงกลายเป็นเครื่องจักรไปหมด ราคาหินก้อนหนึ่งคงแพงน่าดู กว่าที่ศิลปินจะแกะสลักหินจนเสร็จอีก โห! มันต้องเหนื่อยมากแน่ๆ เห็นแล้วเหนื่อยแทน ผมเคยมองงานศิลปะเป็นแค่สิ่งสร้างสรรค์เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่และสวยงาม แต่ลืมไปว่ามันแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ แรงงานของผู้สร้าง ยิ่งกับผลงานบางชิ้น ศิลปินต้องต้องทุ่มเทแรงกาย แรงใจ กว่าจะสร้างสรรค์ออกมาสำเร็จได้, Michelangelo คงต้องการทำงานศิลปะที่จับต้องได้ นี่อาจคือเหตุผลที่ทำให้เขาชอบงานแกะสลักมากที่สุด ภาพวาดมันย่อมเลือนลาง จางหายไปในกาลเวลา แต่หินอ่อน อย่างน้อยอายุมันก็ยาวนานกว่าหลายร้อยหลายพันปีถึงสูญสลาย ผลงานของเขาจึงอยู่เหนือกาลเวลา
The Agony and the Ecstasy คืออารมณ์ของ Michelangelo เมื่อตอนที่เขาถูกสั่งให้วาดภาพบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน เขาไม่ได้เชี่ยวชาญการวาดรูป แต่ทำไมถึงต้องวาด Agony คือความทุกข์ทรมานที่เขาต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ แต่เมื่อเขาค้นพบแรงบันดาลใจที่จะทำมัน Ecstasy ความปลื้มปิติยินดี เมื่อตอนผลงานเสร็จสิ้นแล้ว มันกลับทำให้เขาภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสร้างมันขึ้นมา
ในหนังมีการพูดเล่นๆถึงภาพวาดหลังแท่นบูชาที่ Pope อยากให้ Michelangelo วาดให้ ในหนังตอนจบวาดแค่ The Creation of Adam เสร็จ ในชีวิตจริง Michelangelo กว่าที่จะเริ่มวาดภาพอีกครั้งก็ 25 ปีหลังจากนั้น (Pope Julius เสียชีวิตไปก่อนแล้ว) ภาพวาดหลังแท่นบูชาในใจความ The Last Judgement ใช้เวลา 6 ปีถึงสำเร็จ, ตลอดชีวิตของ Michelangelo วาดภาพประกอบเพดานและผนังเพียง 2 ชุดนี้เท่านั้น แต่กลับมีชื่อเสียงโด่งดัง และได้รับการยอมรับว่าสวยงาม ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก
หนังเรื่องนี้อาจจะไม่กลมกล่อมสำหรับนักดูหนังหลายๆคน มีองค์ประกอบบางอย่างที่ดูไม่ลงตัว แต่ไม่ใช่กับผมเพราะสิ่งที่สนใจคือเรื่องราวและแนวคิดของ Michelangelo เขาเป็นอัจฉริยะที่ดูเป็นคนเห็นแก่ตัว แต่สิ่งที่เขาทำล้วนเพื่อคนอื่น โดยไม่รู้ตัวเขาได้สร้างสิ่งที่มีความสำคัญเหนือกว่าชีวิตตัวเขาเอง ในหนังก็บอกอยู่ว่า Michelangelo มองไม่เห็นความสำคัญของสิ่งที่ตนทำอยู่เลย แต่ใครต่อใครที่เห็นผลงานของเขาจะรู้เลยว่า นั่นเป็นงานศิลปะที่จะมีคุณค่าเหนือกาลเวลา, ผมมอง Michelangelo เป็นอัจฉริยะที่ถ่อมตัว มีอุดมการณ์ มีความตั้งใจ ฝีมือคงไม่ต้องพูดถึง และเขาสร้างสรรค์ผลงานทุกชิ้นออกมาให้ยอดเยี่ยม ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่แหละที่ทำให้ผลงานเขาทุกชิ้นกลายเป็นอมตะ
นี่เป็นหนังสำหรับคนที่ชื่นชอบงานศิลปะทุกคนควรดู นักเรียนสายศิลป์ คนที่ชอบประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอิตาลี และยุค Renaissance ไม่ควรพลาด, ภาพเพราะ เพลงสวย จัดเรต PG เด็กๆดูไปอาจไม่เข้าใจเท่าไหร่
[…] The Agony and the Ecstasy (1965) : Carol Reed ♥♥♥◊ Michelangelo Buonarroti เป็นประติมากรชื่อดัง ในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) แต่เขาไม่ใช่จิตรกร ขณะอายุ 30 ถูกเชิญตัวมาที่กรุงโรมเพื่อทำงานออกแบบหลุมฝังศพให้กับสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 แต่ยังไม่ทันที่จะเริ่ม Pope Julius II เปลี่ยนใจสั่งให้เขาวาดภาพตกแต่งเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) นี่เองทำให้เกิดภาพวาด The Creation of Adam ที่โด่งดังที่สุดในโลก […]