The Aviator

The Aviator (2004) hollywood : Martin Scorsese ♥♥♥♥

จะมีสักกี่คนในโลกที่สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่กับ Howard Hughes แน่ๆ ความฝัน ความทะเยอทะยาน อัจฉริยภาพ แลกมากับ บางสิ่งอย่างที่เป็นปม จดจำฝังใจตั้งแต่เด็ก โตขึ้นกลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ (OCD), Martin Scorsese กำกับ Leonardo DiCaprio นำแสดง เข้าชิง Oscar 11 สาขา ได้มา 5 รางวัล พลาด 3 รางวัลใหญ่แบบไม่น่าให้อภัย

ในปี 2004 หนังที่ได้รางวัล Oscar ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีคือ Million Dollar Baby และผู้กำกับยอดเยี่ยมคือ Clint Eastwood ซึ่งสามารถเอาชนะตัวเต็ง The Aviator ของ Martin Scorsese เรื่องนี้ไปได้แบบน่าหงุดหงิด, ไม่ใช่ว่า Million Dollar Baby ไม่ดีหรือยังไงนะครับ แต่เมื่อเทียบกันหมัดต่อหมัดแล้ว หนังไม่มีอะไรที่สู้ The Aviator ได้เลย ยิ่งเวลาผ่านไป ปัจจุบันแทบไม่มีใครจดจำ นึกพูดถึงหนังมวยที่มีผู้หญิงชกเรื่องนี้อีกแล้ว

The Aviator คือหนังชีวประวัติของ Howard Hughes ทายาทมหาเศรษฐี เจ้าของบริษัทขุดน้ำมันใหญ่ที่สุดในอเมริกา แต่เพราะเขาสนใจในธุรกิจภาพยนตร์ และการบิน จึงผันตัวมาเป็นผู้สร้างหนัง (โปรดิวเซอร์) ก่อตั้งสายการบิน เคยสร้างหนังที่ใช้ทุนสร้างสูงสุดในโลก, สร้างเครื่องบินเร็วที่สุดในโลก ไกลที่สุดในโลก และใหญ่ที่สุดโลก

อ้างอิงจากหนังสือ Howard Hughes: The Secret Life เขียนโดย Charles Higham เมื่อปี 1993 เป็นบทภาพยนตร์โดย John Logan (แต่ก็ไม่รู้ทำไมได้เข้าชิง Oscar สาขาบทดั้งเดิม Best Original Screenplay) นำเสนอช่วงชีวิตระหว่างปี 1927-1947 ที่มีชื่อเสียงโด่งดังขณะเป็นผู้กำกับหนังเรื่อง Hell’s Angels เดทกับดารา hollywood และบุกเบิกสร้างเครื่องบินสมัยใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ประสบปัญหากับตัวเอง ป่วยเป็นจิตเวทย้ำคิดย้ำทำ Obsessive–Compulsive Disorder (OCD) ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างรุนแรง

บุคคลแรกที่สนใจโปรเจคนี้คือ Warren Beatty วางแผนกำกับนำแสดงตั้งแต่ต้นยุค 70s ร่วมเขียนบทกับ Bo Goldman แต่ไม่มีสตูดิโอไหนสนใจ, ในปี 1990 Beatty ยังไม่เลิกละความสนใจ ติดต่อ Steven Spielberg ให้มากำกับ แต่ก็ไม่ไม่ได้สร้างอีก จนกระทั้ง Charles Evans, Jr. ซื้อลิขสิทธิ์มาเขียนเป็นนิยายเรื่อง Howard Hughes: The Untold Story ในปี 1993 ตั้งใจจะทำเป็นภาพยนตร์ด้วยแต่ก็ไม่สำเร็จสักที

จนลิขสิทธิ์ตกมาอยู่ในมือของ Warner Bros. และ Disney โดยวางแผนให้ Brian De Palma กำกับ นำแสดงโดย Nicolas Cage ในช่วงระหว่างปี 1997-1998 ใช้ชื่อหนังว่า Mr. Hughes แต่ทั้งคู่หนีไปทำ Snake Eyes (1998) แทน, ขณะเดียวกัน Universal ก็เข้ามาร่วมวง ต้องการสร้างหนังเกี่ยวกับ Howard Hughes โดยได้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือ Empire: The Life, Legend and Madness of Howard Hughes เขียนโดย Donald Barlett และ James Steele วางตัว The Hughes Brothers (Albert Hughes และ Allen Hughes) เป็นผู้กำกับ Johnny Depp นำแสดง แต่สุดท้ายก็เป็นหมันอีก

ในปี 1999 Disney เดินหน้าโปรเจคนี้ต่อ ว่าจ้าง Michael Mann ให้เป็นผู้กำกับ Leonardo DiCaprio แสดงนำ จากบทภาพยนตร์ของ John Logan แต่เพราะ Mann เพิ่งจะทำหนังเรื่อง The Insider (1999) ขาดทุนและโปรเจคเตรียมการไปแล้วส่วนหนึ่ง เขาจึงถูกขอให้ขึ้นเป็นโปรดิวเซอร์ แล้วผู้กำกับตกมาเป็น Martin Scorsese ตามคำร้องขอของ DiCaprio หลังจากร่วมงานกันใน Gangs of New York (2002)

นำแสดงโดย Leonardo DiCaprio รับบท Howard Hughes, การร่วมงานครั้งที่ 2 กับ Marty ต้องถือว่า Leo ได้ฉายแววความยิ่งใหญ่ออกมาเห็นได้ชัดเจน นำเสนอบุคคลที่มีอัจฉริยภาพ ความทะเยอทะยานสูง แต่ขณะเดียวกันก็มีมุมลึกๆที่เป็นปัญหาทางจิตซ่อนอยู่

ว่ากันตามตรง ใบหน้าของ Leo กับ Hughes ไม่ได้มีความคล้ายกันเลย แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นอยู่แล้ว ตัวตนของทั้งคู่ต่างหากที่คล้ายกัน และกับคนที่ติดตาม Leo มาโดยตลอด จะพบว่าบุคคลิก พื้นหลังจะคล้ายๆกับที่ได้รับบทใน Wolf of the Wall Street (2013) และ The Great Gatsby (2013) หล่อ รวย เพลย์บอย ชอบทำอะไรบ้าๆ ตามใจฉันอยาก, นี่คงถือเป็นภาพลักษณ์หนึ่ง ที่ใครๆต่างจดจำหนุ่ม Leo ได้

ความทะเยอทะยานของ Hughes เกิดจากความฝันวัยเด็ก และเมื่อได้รับกองมรดกที่ก็ไม่รู้เยอะเท่าไหร่ ทำให้เขามีสิทธิ์คิดทำอะไร ดื้อด้าน เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจได้ตามใจอยาก โดยไม่ต้องคำนึงถึงเงินทอง อะไรทั้งนั้น ดูอย่างอยากจะจ้างใคร ถามเงินเดือนเก่า เพิ่มให้สองเท่าแบบไม่ต้องต่อ, การได้พบเจ้านายใจปล้ำลักษณะนี้หายากมากๆ ซึ่งคนทั้งหลายที่เป็นลูกน้องของ Hughes ต่างยอมรับเขาด้วยใจ รู้เข้าใจซึ่งกันและกัน นี่ผมเรียกว่า ใจนักเลง ถึงอาจมีหลายอย่างไม่ชอบขี้หน้ากัน แต่มีเจ้านายแบบนี้ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกทิ้ง

ลักษณะอาการ OCD ของ Howard Hughes คือการหมกหมุ่นอยู่กับเชื้อโรคและความสะอาด (germs and cleanliness) ด้วยความทรงจำฝังใจจากแม่ที่สอนให้เขาท่องคำว่า Q-U-A-R-A-N-T-I-N-E ตั้งแต่เด็ก นี่เป็นสิ่งที่ฝังลึกในใจทำให้เกิดอาการย้ำคิดย้ำทำ ในสถานการณ์ที่เกิดความเครียด เห็นอะไรผิดปกติ สกปรกเล็กน้อยไม่ได้ ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ, Marty และ Leo ทำงานใกล้ชิดร่วมกับ Dr. Jeffrey Schwartz, ด็อกเตอร์จาก UCLA ผู้เชี่ยวชาญโรค OCD โดยเฉพาะ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Hughes ออกมาได้ใกล้เคียงที่สุด

นับตั้งแต่ได้ร่วมงานกับ Marty ทำให้ Leo แปรสภาพเปลี่ยนไปมาก จากเด็กเมื่อวานซืนขายความหล่อเท่ห์ กลายมาเป็นดารายอดฝีมือขายการแสดง เลือกงาน/ผู้กำกับมากขึ้น ไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ, ต้องถือว่า เป็นการเปลี่ยนไปที่ทำให้เขากลายเป็นที่รักของแฟนๆอย่างยิ่ง ถึงขนาดลุ้นช่วยเอาใจเชียร์ ให้สักวันหนุ่ม Leo สามารถคว้า Oscar ได้สำเร็จ

เกร็ด: นี่เป็นครั้งที่สองของ Leo ที่ได้เข้าชิง Oscar แต่เป็นครั้งแรกสำหรับสาขา Best Actor

Cate Blanchett รับบท Katharine Hepburn เจ้าแม่แห่งวงการภาพยนตร์ ตัวตนของเธอ เริดเชิดหยิ่ง เป็นจริงแบบในหนังไหมไม่รู้สิครับ ผมรู้สึกว่าภาพลักษณ์นี้มาจาก การแสดงของ Hepburn ที่เธอมักได้รับบทบาทลักษณะแบบนี้มาโดยตลอด แต่คงเป็นแบบที่เห็นในหนังนะจริงๆนะแหละ แมนๆ หน้าเชิดๆ พูดเสียงเข้มๆ ไม่เช่นนั้นจะได้รับการจดจำลักษณะนี้ได้ยังไง

Blanchett เป็นชาว Australian มีชื่อเสียงจากการรับบท ราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ในหนังเรื่อง Elizabeth (1998) ที่ทำให้ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress โด่งดังที่สุดจากการรับบท Galadriel ใน Lord of the Rings Trilogy (2001-2003), ตอนรับบทในหนังเรื่องนี้เธออายุ 34 ถือเป็นนักแสดงยอดฝีมือที่มีชื่อเสียงดัง จะว่าในวงการตอนนั้น คงมีแต่เธอเท่านั้นแหละที่บุคคลิก ท่าทาง ฝีมือสามารถเล่นบท Katharine Hepburn ได้ใกล้เคียงที่สุด ผลลัพท์คือเข้าชิงและได้รางวัล Oscar: Best Supporting Actress

ชีวิตจริงเป็นยังไงไม่รู้ แต่ดูจากบริบทของหนัง เหมือนว่า Hughes จะหลงรัก ชื่นชอบ Hepburn มากที่สุดแล้ว คงเพราะนิสัย ความบ้าบิ่นของทั้งคู่คล้ายๆกัน แต่เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ สักวันต้องกัดกันตาย และเป็นเช่นนั้นจริงๆ นี่ทำให้ Hughes เสียใจมากๆตอนเธอจากไป ถึงขนาดเผาทุกสิ่งทุกอย่าง ดั่งเปลวราคะที่ลุกโชติช่วง เพราะถูกหักหลัง, ตอนที่ Hughes ซื้อภาพแอบถ่าย Paparazzi ของ Hepburn กับ Spencer Tracy ที่ถ้าเผยแพร่ออกไป สงสัยว่าอาชีพของ Hepburn จะจบสิ้นลงทันที นี่เป็นการกระทำที่เกินคำบรรยายมาก ทีแรกเราจะไม่รู้ว่า Hughes ทำอะไร เป็นฉากสองแง่สองง่ามกับตัวละครของ Willem Dafoe แต่หนังมาเฉลยตอนหลัง ที่ Hepburn กระซิบบอกขอบคุณกับ Hughes นี่แสดงว่าเขารักเธอมากๆจริงๆ

Kate Beckinsale รับบท Ava Gardner หญิงสาวที่ซื้อไม่ได้ แต่ทำทุกอย่างให้ได้, Gardner ถือเป็นอีกหนึ่งซุปเปอร์สตาร์ นักแสดงหญิงแห่งยุค ติดอันดับ 25 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Stars หน้าตาคล้ายกับ Beckinsale ส่วนตัวยังไม่เคยดูหนังที่ Gardner เล่น แต่ภาพลักษณ์คงไม่ต่างกันมาก

Beckinsale เป็นนักแสดงที่สวย หุ่นดี ฝีมือการแสดงใช้ได้ แต่เลือกงานไม่ค่อยเก่งเท่าไหร่ หรือหนังดีๆไม่ค่อยได้รับโอกาสก็ไม่รู้, คนส่วนใหญ่จดจำเธอได้จาก Pearl Harbor (2001), Serendipity (2001) และแฟนไชร์ Underworld (2003) นอกนั้นไม่มีอะไรน่าพูดถึง

นักแสดงสมทบชื่อดังอื่นๆ อาทิ
– John C. Reilly รับบท Noah Dietrich เลขาบัญชีส่วนตัว ที่จะได้ยินเสียงบ่นทุกครั้งเมื่อพูดถึงเงินล้าน
– Alec Baldwin รับบท Juan Trippe น่าจะเป็น CEO Pan Am สายการบินคู่ปรับของ TWA กัดกับ Hughes ได้มันมากๆ
– Alan Alda รับบท Senator Owen Brewster นี่ก็คู่รักคู่แค้นของ Hughes ที่ถึงขนาดฟัดกันจนได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor
– Ian Holm รับบท Professor Fitz จอมป้ำๆเป๋อๆ ที่จับพลัดจับผลู มาทำงานกับ Hughes โดยไม่รู้ตัว (ก็ไม่รู้ยอมตกลงได้ยังไง) ตอนฉากวัดหน้าอกสาวนี่เท่ห์มาก ปู่แกทำหน้าเหวอได้ไร้เดียงสาสุดๆ
ฯลฯ

ต้องพูดถึงอีก 3 ตัวละคร ที่ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งกับหนัง

H-1 Racer เป็น racing aircraft สร้างโดย Hughes Aircraft ในปี 1935 ที่ได้ทำสถิติบินเร็วที่สุดโลก 365 mph ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ National Air & Space Museum

XF-11 เครื่องบินลาดตระเวนต้นแบบ (military reconnaissance aircraft) ออกแบบและทดลองบินโดย Howard Hughes สร้างโดย Hughes Aircraft Company ได้ทุนสนับสนุนจากกองทัพอากาศสหรัฐ แต่มีเพียงต้นแบบสองลำเท่านั้นที่สร้างเสร็จ เพราะช่วงขณะบินทดสอบ ได้เกิดอุบัติเหตุเครื่องตกที่ Beverly Hills, California ทำให้ถูกยกเลิกสัญญา และ Hughes ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลเป็นเดือนๆ

H-4 Hercules หรือที่รู้จักในชื่อ Spruce Goose เป็นเครื่องเรือบินต้นแบบ (airlift flying boat) ออกแบบและผลิตโดต Hughes Aircraft Company ได้รับทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาลอเมริกา ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สร้างยังไม่ทันเสร็จ สงครามจบเสียก่อน แต่โปรเจคนี้ยังสร้างขึ้นต่อเนื่อง โดยทุนส่วนตัวของ Hughes, ความตั้งใจแรกคือ โครงสร้างทำด้วยอลูมิเนียม แต่เพราะช่วงสงครามเป็นของหายาก จึงจำต้องสร้างด้วยไม้แทน, Hercules ในชีวิตของมันได้บินแค่ครั้งเดียว (คือครั้งที่เห็นในหนัง) 1.6 กิโลเมตร (1 ไมล์) ความสูงจากพื้น 21 เมตร (70 ฟุต) ถือว่าเป็นเครื่องบินลำใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น ปัจจุบันจัดแสดงเก็บรักษาที่ Evergreen Aviation & Space Museum ใน McMinnville, รัฐ Oregon

ฟุตเทจขณะที่ H-4 Hercules เคลื่อนย้ายจากโรงเก็บ เป็นภาพจาก Archives News Reel เช่นกันกับเสียงผู้สื่อข่าวที่บรรยายเหตุการณ์ขณะ Hercules กำลังทะยานขึ้นเหนือน้ำ, ใครอยากเห็นภาพจาก News Reel จริงๆ ผมเอาคลิปเบื้องหลังมาฝาก

เกร็ด: Trans World Airlines ของ Howard Hughes ขายกิจการให้ American Airlines เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2001 ปิดฉากที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1926

ถ่ายภาพโดย Robert Richardson ที่มีผลงานดังอย่าง Platoon (1986), JFK (1991) ฯ เรื่องหลังทำให้เขาได้ Oscar: Best Cinematography ตัวแรก สำหรับ The Aviator ทำให้เขาได้ตัวที่สอง

ผมขยี้ตารอบหนึ่งขณะดู ในฉากทุ่ง Beetroot (ผลไม้ชนิดหนึ่งมีสีม่วงอมแดง) ขณะที่ Hughes ล่อนเครื่องลงจอด เพราะสงสัยว่าทำไมใบไม้สีเขียวมันกลายเป็นสี Cyan (สีน้ำเงินเขียว) ก็มาพบว่า หนังมีการ Digital Re-Creation ปรับโทนสีของหนังในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ โดยเรื่องราวช่วงแรก (52 นาทีแรก) มีการใช้เฉดสีเพียงแดงกับน้ำเงิน ที่เรียกว่า Two-Color (วัตถุที่เป็นสีเขียว จะถูกเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน) ที่ทำเช่นนี้ เพื่อให้หนังมีลักษณะของความเก่า เรียกว่า Bipack Color film ซึ่งผลลัพท์ออกมาคล้ายๆกับช่วงภาพสีในหนังเรื่อง Hell’s Angels (1930), สำหรับครึ่งหลัง (เหตุการณ์หลังปี 1935) หนังยังคงมีการปรับสีอีกเช่นกัน แต่คราวนี้เป็น Three-Strip Technicolor ที่จะเห็นสีเขียวเป็นเขียวแล้ว

ภาพ Two-Color ทุ่ง Beetroot สี Cyan

.

ภาพต้นฉบับ

แปลงสีเป็น Three-Strip Technicolor

สำหรับไฮไลท์ของการถ่ายภาพ ที่ตราตะลึงมาก คือการเคลื่อนกล้อง ที่มีการใช้ Visual Effect เข้าช่วย ในช็อตขณะถ่ายหนัง Hell’s Angels บนท้องฟ้า กล้องหมุนไปมา เรือบินไม่รู้กี่ลำขับฉวัดเฉวียน ภาพหมุนมาหาลำที่ Hughes ใช้ถ่ายทำ กล้องตัวหนึ่งติดอยู่ที่ปีกถูกชน เขาหยิบกล้องอีกตัวขึ้นมาถ่ายทำโดยทันที

ขณะ Hughes ขับเครื่องบินทดสอบ มีหลายช็อตที่เป็นการคารวะหนังเงียบเรื่อง Wings (1927) ภาพที่ถ่ายจากเครื่องบิน ขณะโฉบลงต่ำผ่านผู้คน สมัยนี้คงเป็นกล้องที่ติดกับเครื่องบิน แต่สมัยก่อน นักบินต้องถือกล้องถ่ายกันเองเลย

อีกหนึ่งไฮไลท์คือตอนทดสอบความเร็ว ขณะที่เครื่องบินทะยานตัวออก กล้อง Tilt Up เหนือหัว 180 องศา แล้วพลิกกลับ นี่เหมือนคนยืนอยู่ที่มองเห็นเครื่องบินแล่นผ่านหัว พอผ่านไปก็พลิกตัวกลับขึ้นมามอง

กับ Costume เรื่องนี้ถือว่าจัดเต็มมากๆ เฉพาะเสื้อผ้าก็หมดงบไป $2 ล้านเหรียญแล้ว โดยขาประจำของ Sandy Powell ทั้งชุดหล่อๆของ Katharine Hepburn บ่าสูง (แสดงถึงความแมน เริด เชิด เย่อหยิ่ง, ตัวจริงก็ชอบใส่แบบนั้นนะครับ) ชุดของ Ava Gardner ที่สวยเริด แต่ที่ผมชอบสุด ชุดคลีโอพัตรา คนใส่ชื่อ Josie Maran โมเดลลิ่งชื่อดัง

ตัดต่อโดย Thelma Schoonmaker, ความเปะของการตัดต่อ เหมือนหนังของ Alfred Hitchcock ไม่ผิดเพี้ยน คือเริ่มต้นเฟดเข้า Establish Shot จากนั้นก็ค่อยๆนำเข้าสู่เรื่อง เครื่องบินขับวนอยู่ 3 รอบ ก่อนที่รอบสุดท้ายจะเกิดเหตุการณ์บางอย่าง ตบท้ายด้วยคำพูด ท่าทางเท่ห์ๆ แล้วเฟดออก ไม่รู้จะเปะไปไหน

เริ่มต้นมา หนังใช้การเล่าเรื่องโปรดักชั่นของ Hell’s Angels เป็นการแนะนำตัวละครฝั่งของ Hughes เกือบทั้งหมด และลักษณะนิสัย ตัวตนของเขา ที่แค่ครึ่งชั่วโมงแรกเดียว ก็สามารถทำความเข้าใจตัวตน ทุกสิ่งอย่างของ Hughes ได้

หนังใช้มุมมองของ Hughes เล่าเรื่องทั้งหมด แต่มีลักษณะเหมือนบุคคลที่ 3 ที่เฝ้ามองเขาตลอดเวลา, มีบางครั้งตัดภาพอดีตใส่เข้ามา (เช่น ระลึกถึงความสำเร็จตอนทดสอบเครื่องบินครั้งแรก ฯ) บางครั้งได้ยินแค่เสียง ช่วงท้ายๆเห็นเป็นซ้อนภาพปรากฎขึ้นมาเลย นี่แสดงถึงในใจของ Hughes ยังคงจดจำฝังลึก ภาพในอดีตอย่างลบเลือนมิได้

ความเร็ว จังหวะ และความต่อเนื่อง คือจุดเด่นของหนังเรื่องนี้ ผสมกับการถ่ายภาพที่เคลื่อนไหวอันโฉบเฉี่ยวแบบมีนัยยะ สร้างอารมณ์ให้กับผู้ชม, ช็อตหนึ่งขณะ Hughes เลิฟซีนกับ Hepburn มือกำลังลูบหลังของเธอ (ผมคุ้นๆว่าช็อตนี้ Blanchett บ่นอุบเลยว่า หลังเธอไม่สวย) จากนั้นหนังตัดไปขณะเขากำลังลูบเครื่องบินทดสอบ นี่แปลตรงตัวได้เลยว่า เขาหลงรัก เห็นเครื่องบินมีสำคัญมากกว่าเท่ากับหญิงสาว

เพลงประกอบโดย Howard Shore เนื่องจากมีการใช้เพลงดังๆแห่งยุคมากมาย จึงทำให้ถูกตัดสิทธิ์เข้าชิง Oscar (แต่เพลงประกอบหนังได้รางวัลจาก Golden Globe และเข้าชิง Grammy)

ผมชอบมากๆตอนที่หนังใช้ Bach: Toccata and Fugue in D Minor, BWV 565 ขณะถ่าย Hell’s Angels กลางเวหา และทดลองบิน XF-11 นี่เป็นเพลงที่นิยมเล่นในโบสถ์ และใช้ออร์แกนเล่น แต่พอนำมาเรียบเรียงใหม่ให้เป็นออเครสต้าเต็มวง ทำให้ฉากนั้นๆมีความลุ่มลึก อลังการ และมีนัยยะถึงความตาย, ผมเอาฉบับที่ใกล้เคียงกับในหนังมากที่สุดมาให้ฟัง เรียบเรียง/กำกับวงโดย Leopold Stokowski (ที่เป็นคอนดักเตอร์ให้อนิเมะ Fantasia-1940) ร่วมกับ Czech Philharmonic Orchestra ปี 1972

ขณะที่ Hepburn กำลังขับเครื่องบิน ดนตรี Jazz นุ่มๆทำนอง Foxtrot ชื่อเพลง Moonglow ทำนองโดย Irving Mills เนื้อร้อง Eddie DeLange ขับร้อง Will Hudson เมื่อปี 1933 แต่ที่ใช้ในหนังเป็นฉบับของ Benny Goodman Quartet บันทึกเสียงปี 1934

ปล. คำว่า Golly ที่ Hepburn อุทานออกมา เป็นคำที่น่ารักมาก ไม่รู้คิดได้ยังไง

เพลง Nightmare (1937) แต่งโดย Artie Shaw ได้ยินตอนที่ Senator Owen Brewster ให้สัมภาษณ์สาดเทสีถึง H-4 Hercules เรียกว่า Spruce Goose และ Hughes เริ่มต้นการขังตัวอยู่ในห้องฉายหนัง, ได้ยินแล้วรู้สึกว่าเป็น Nightmare จริงๆเลยละ

และตอนจบ เมื่อภารกิจขับ H-4 Hercules เสร็จสิ้น Moonlight Serenade (1939) เพลงมโหรียามค่ำ บรรเลงโดย Glenn Miller แต่งเนื้อร้อง Mitchell Parish

Scorsese เป็นผู้กำกับที่ขึ้นชื่อ เรื่องการสรรหาเพลงดังๆ ที่เข้ากับยุคสมัยของหนัง มาใส่ประกอบ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็เพียบเลยละครับ ให้ไล่ทั้งหมดคงไม่ไหวแน่ ยุค 30s-40s เป็นช่วงเวลาแห่ง Jazz และ Swing ใครชื่นชอบฟังดนตรีจากยุคสมัยนี้คงหลงใหลหนังเรื่องนี้เลยละ

บั้นปลายชีวิตของ Hughes ที่หนังไม่ได้พูดถึงเลย (นำเสนอแต่ด้านดีๆ มีมุมมืดบ้างเล็กน้อย) หลังจากประสบปัญหากับโรคย้ำคิดย้ำทำรุนแรง และผลกระทบจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกนับครั้งไม่ถ้วน ทำให้อยู่ดีๆเขาหายหน้าหายตาไปจากวงการ สื่อหนังสือพิมพ์ ทำงานไม่ได้ ติดยา (codeine) อาศัยอยู่ตัวคนเดียว ตามบ้าน/Penthouse ใน Las Vagas, Beverly Hills, Boston ฯ ที่เคยใช้เงินกวาดซื้อเอาไว้, เสียชีวิตด้วยโรคไตล้มเหลวเมื่อปี 1976 ขณะอยู่บนเครื่องบินจาก Freeport, Grand Bahama ไป Houston

หนังชีวประวัติที่ดี ต้องไม่นำเสนอแค่เกิดแก่เจ็บตาย ชีวิตเคยพบเจออะไร ทำอะไรถึงมีชื่อเสียง? แต่จะต้องเล่าถึงแนวคิด อุดมการณ์ เป้าหมาย วิธีการสู่ความสำเร็จ คือเข้าถึงตัวตนของบุคคลนั้นให้ถึงที่สุด, Marty และ Leo ได้สร้างโลกที่เป็นของ Howard Hughes โดยให้ผู้ชมเข้าไปสังเกตการณ์ราวกับเป็นบุคคลที่ 3 รับรู้ ศึกษา เข้าใจถึงตัวตน ความบ้าคลั่ง เรียกว่าตั้งแต่หัวจรดเท้า ผิวหนังลึกเข้าไปในกระดูก ถึงเบื้องลึกของจิตใจ ที่เมื่อเข้าใจตัวตนของเขาแล้ว ก็จะเข้าใจทุกสิ่งอย่างที่เขาทำ

หนังเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ Hughes ที่บ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึง Marty กับ Leo ที่ทำความเข้าใจทุกอย่างไปได้ยังไง และผู้ชมที่สัมผัสถึงความลึกซึ้งของหนังได้ ถือได้ว่า คุณก็บ้าไม่ต่างจากพวกเขา

มีบทเรียนอะไรบ้างที่ได้รับจากชีวิตของ Hughes … อัจฉริยะกับความบ้าคลั่ง แบ่งด้วยเส้นบ้างๆ, ไม่มีมนุษย์คนไหนที่สมบูรณ์แบบ ต่อให้ภายนอกยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ภายในอาจเละเป็นโจ๊ก, ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย, มีความฝัน ทะเยอทะยานต้องทำให้สำเร็จ ฯ

ว่ากันตามตรง ผมก็ไม่รู้หนังเรื่องนี้มีสาระอะไร คือถ้าจะแนะนำให้ทำเป็นแบบอย่างก็คงไม่ใช่ สรุปว่าคือ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ แนะนำบุคคลสำคัญของโลกที่ชื่อ Howard Hughes อัจฉริยะผู้ไม่สมบูรณ์แบบ

ด้วยทุนสร้าง $110 ล้านเหรียญ หนังทำเงินทั่วโลก $213.7 ล้านเหรียญ ได้เข้าชิง Oscar 11 สาขา ได้มา 5 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Leonardo DiCaprio)
– Best Supporting Actor (Alan Alda )
– Best Supporting Actress (Cate Blanchett) **ได้รางวัล
– Best Writing, Original Screenplay
– Best Cinematography **ได้รางวัล
– Best Editing **ได้รางวัล
– Best Art Direction **ได้รางวัล
– Best Costume Design **ได้รางวัล
– Best Sound Mixing

ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้ ชื่นชอบในความบ้าหลายๆอย่างของ Howard Hughes ที่ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้คลั่งขนาดนั้น แต่แค่เขาโกหกตัวเองไม่เป็นเท่านั้น (จริงๆในหนัง Hughes เคยโกหกคนอื่นอยู่หลายครั้งนะ เช่น หลอกว่า Professor Fitz ตัวละครของ Ian Holm เป็นนักคณิตศาสตร์ แต่จริงๆเป็นนักอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเมฆ, หลอกเด็กหญิงอายุ 15 ขณะขับรถชน ว่าไม่ได้มีอะไรกับ Ava Gardner ตัวละครของ Kate Beckinsale ฯ)

กับฉากที่ผมชอบสุดในหนัง คือที่บ้านของครอบครัว Hepburn สงครามบนโต๊ะอาหารที่มีแต่คนใส่หน้ากากเล่นละคร ไม่มีใครสนใจเรื่องราวของใครแบบจริงจัง สนทนาแต่เรื่องไร้สาระ แค่ให้โต๊ะอาหารไม่เงียบเท่านั้น, จริงๆผมดู The Aviator มาก็หลายรอบแล้ว แต่ครั้งนี้กับฉากนี้ จี๊ดมากๆ รู้สึกแบบเดียวกับ Hughes เลยว่า นี่เป็นมื้ออาหารที่น่าขยะแขยงที่สุด

แนะนำกับคนชื่นชอบหนังแนวการบิน (Aircraft) จะได้เห็นจุดเริ่มต้นของยานยนต์ นวัตกรรมเครื่องบินในยุค 30s-40s, ผู้สนใจในชีวประวัติ Howard Hughes เคยดูหนังอย่าง Hell’s Angels (1930), Scarface (1932) ฯ, แฟนหนัง Martin Scorsese, Leonardo DiCaprio, Cate Blanchett และนักแสดงเกรดเอชื่อดังทั้งหลาย ไม่ควรพลาดเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ศึกษาลักษณะอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ compulsive disorder (OCD) คือดูจบแล้วจะเข้าใจเลยว่า ผู้ป่วยมีที่มาที่ไป ลักษณะอาการเป็นอย่างไร (แต่จะไม่มีคำแนะนำวิธีรักษานะ)

จัดเรต 13+ กับความบ้าคลั่งของ Howard Hughes

TAGLINE | “The Aviator เป็นหนังสมบูรณ์แบบของ Martin Scorsese นำแสดงโดย Leonardo DiCaprio รับบท Howard Hughes ที่ไม่สมบูรณ์แบบ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: