The Ballad of Narayama (1958) : Keisuke Kinoshita ♥♥♥♥♡
ณ ชนบทห่างไกลของญี่ปุ่นสมัยก่อนมีประเพณีความเชื่อที่ว่า ผู้สูงวัยอายุเกิน 70 ปี จักต้องออกเดินทางมุ่งสู่เทือกเขา Narayama เพื่อมิให้เป็นภาระลูกหลาน ความใฝ่ฝันหญิงชรารับบทโดย Kinuyo Tanaka สถานที่แห่งนั้นมีอะไรเฝ้ารอคอยเธออยู่? นำเสนอด้วยไดเรคชั่นคล้ายๆ Kabuki (มีชื่อเรียกว่า Jōruri) งดงาม เชื่องช้า แฝงปรัชญาลุ่มลึกล้ำ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ผมเคยเขียนบทความถึง The Ballad of Narayama (1983) ฉบับสร้างใหม่/ตีความใหม่ โดยผู้กำกับ Shōhei Imamura คว้ารางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes ส่วนตัวมีความหลงใหลคลั่งไคล้มากๆ เป็นเหตุให้ได้รู้จักภาพยนตร์ต้นฉบับเรื่องนี้ (เสียงลือเล่าขานดังมากว่า มีความยอดเยี่ยมกว่า!) เฝ้ารอคอยวันเวลาหามารับชมจนหลงลืมเลือนไปนานแล้ว ระลึกขึ้นได้สักพักใหญ่ก็ถึงเวลาแห่งความตั้งใจเสียที และจะ Revisit ของเก่าเพื่อเปรียบเทียบอะไรหลายๆอย่างด้วย
ในความรู้สึกส่วนตัว The Ballad of Narayama ทั้งสองฉบับ 1958 และ 1983 คือภาพยนตร์ระดับ Masterpiece ที่ต่างก็มีดีของตัวเอง ห่ำหั่นเฉือดเฉือนกินกันไม่ลง ขนาดว่าคะแนนใน IMDB ให้ต้นฉบับ 8.0 รีเมค 7.9 แต่ข้อได้เปรียบตกอยู่ในกำมือของเรื่องสร้างก่อน ได้กลายเป็น ‘ทรัพย์สมบัติแห่งชาติ’ (National Treasure) ของประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว
แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่า ทั้งสองฉบับของ The Ballad of Narayama ต่างมีความยากยิ่งในการรับชม ซึ่งในลักษณะที่แตกต่างกันพอสมควร
– ฉบับ 1958 การดำเนินเรื่องมีความเชื่องช้า นุ่มนวล เสียจนสามารถนอนหลับสนิทฝันดี
– ฉบับ 1983 ท้าทายกลุ่มชน ‘มือถือสากปากถือศีล’ นำเสนอสันชาติญาณ’ดิบ’ของมนุษย์ออกมา อัปลักษณ์พิศดารเสียจนยากจะยินยอมรับไหว
Keisuke Kinoshita (1912 – 1998) ผู้กำกับ/ตากล้องชื่อดัง สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Hamamatsu, Shizuoka Prefecture (อยู่กึ่งกลางระหว่าง Tokyo กับ Kyoto) ตอนอายุ 8 ขวบ หลงใหลคลั่งไคล้กับหนังกลางแปลง ตั้งใจโตขึ้นจะกลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์โดยไม่สนใจคำคัดค้านของครอบครัว ขณะเรียน ม. ปลาย มีกองถ่ายภาพยนตร์ผ่านมาแถวบ้าน กลายเป็นเพื่อนของนักแสดง Bando Junosuke ที่ให้การช่วยเหลือเมื่อครั้นเติบโตขึ้น, เพราะมิได้เรียนจบมหาวิทยาลัย สมัครงานกับสตูดิโอ Shochiku เป็นช่างภาพนิ่งให้ผู้กำกับ Yasujirō Ozu, Mikio Naruse ไต่เต้าจากเด็กล้างฟีล์ม ผู้ช่วยตากล้อง จนกลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ, ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัครไปสงครามที่ประเทศจีน แต่ถูกกลับเพราะอาการป่วย หวนกลับมา Shochiku กลายเป็นผู้กำกับเมื่อปี 1943 ถือว่ารุ่นเดียวกับ Akira Kurosawa ผลงานเด่นๆอาทิ The Blossoming Port (1943), Carmen Comes Home (1951) หนังสีเรื่องแรกของญี่ปุ่น, Twenty-Four Eyes (1954), The Ballad of Narayama (1958), Farewell to Spring (1959) ภาพยนตร์เกย์เรื่องแรกของญี่ปุ่น ฯ
เกร็ด: Kinoshita มิได้ปกปิดตัวเองว่าเป็นเกย์ รู้กันดีในกองถ่ายเพราะชอบแต่งหล่อ ทำตัวดูดีอยู่ตลอดเวลา และนักแสดงชายในหนังของเขาล้วนมีภาพลักษณ์ดูดี ‘Handsome’
Kinoshita เป็นคนที่ไม่จำกัดตัวเองเข้าอยู่ในความสนใจแนวหนึ่งใด เชี่ยวชาญในทุกๆ Genre อาทิ Comedy, Tragedy, Social Drama, Period ฯ ชื่นชอบถ่ายทำยังสถานที่จริง มีความหลงใหลการภาพ Long Take, Long-Shot, Cross-Cutting, Title Card (หรือบางทีก็มีคำบรรยาย) ฯ
สำหรับ The Ballad of Narayama ได้แรงบันดาลใจจากตำนานพื้นบ้าน 姥捨て, Ubasute หรือ Obasute ความเชื่อโบราณของสังคมชนบทห่างไกล เมื่อผู้สูงวัยอายุย่างเข้า 70 ปี จักต้องออกเดินทางมุ่งสู่ Ubasute Mountain หรือเทือกเขา Narayama
In the depths of the mountains,
Whom was it for the aged mother snapped
One twig after another?
Heedless of herself
She did so
For the sake of her son
ดัดแปลงจากนวนิยาย 楢山節考, Narayamabushi ko (1956) ผลงานเรื่องแรกแจ้งเกิดของ Shichirō Fukazawa (1914 – 1998) และยังคว้ารางวัล Chūōkōron Prize
Fukazawa เกิดที่ Isawa, Yamanashi ถ้าดูในแผนที่จะพบว่าอยู่ห่างจาก Obasute Station, Chikuma, Nagano Prefecture ไม่เท่าไหร่ คือในบริเวณทิวเทือกเขาเดียวกัน คงไม่แปลกถ้าเขาจะเคยได้ยินเรื่องเล่าตำนานพื้นบ้านดังกล่าว รวบรวมเรียบเรียงกลายเป็นผลงานนวนิยายเรื่องแรกแจ้งเกิด (และอาจเป็นชิ้นเอกอีกด้วย)
เกร็ด: Obasute Station คือสถานีรถไฟปรากฎขึ้นตอนท้ายของหนัง ลือเล่าขานว่าคือสถานที่ที่ผู้สูงวัยถูกนำมาทอดทิ้งไว้
เรื่องราวของ Orin (รับบทโดย Kinuyo Tanaka) หญิงชราวัย 69 ปี ที่ยังคงแข็งแรง ฟันอยู่ครบ อีกแค่เพียงปีเดียวก็ถึงเวลาออกเดินทางสู่ Narayama ความเชื่อเก่าแก่ของคนโบร่ำโบราณยึดถือมั่นสืบสานต่อมา ซึ่งเธอก็พร้อมเติบเต็มขนบวิถีดังกล่าวอย่างใจจดจ่อ
– เว้นเสียแต่ลูกชายคนโต Tatsuhei (รับบทโดย Teiji Takahashi) เพราะเขาคือคนต้องแบกพาแม่ไปส่ง จิตสำนึกอันดีทำให้เกิดอาการหวาดหวั่นวิตก กลัวจะไปตกทุกข์ยากลำบาก แถมยังไม่รู้จักพบเจออะไรข้างหน้าระหว่างทางบ้าง
– ผิดกับหลานชาย Kesakichi (รับบทโดย Danko Ichikawa) ถึงขนาดแต่งเพลงขับไสไล่ส่ง พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา เมื่อไหร่ยายจะไปเสียที จักได้นำพาภรรยากำลังตั้งครรภ์ย้ายเข้ามาอยู่
Kinuyo Tanaka (1909 – 1977) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Shimonoseki, Yamaguchi เข้าสู่วงการภาพยนตร์ในยุคหนังเงียบ เซ็นสัญญากับสตูดิโอ Shochiku ผลงานเด่นๆในช่วงแรกๆอาทิ I Graduated, But… (1929), The Neighbor’s Wife and Mine (1931) [หนังพูดเรื่องแรกของญี่ปุ่น], ได้รับความนิยมล้นหลามจนหนังหลายเรื่องต้องตั้งชื่อตามเธอเพื่อให้ขายได้ อาทิ The Kinuyo Story (1930), Doctor Kinuyo (1937), Kinuyo’s First Love (1940) ฯ หลังสงครามโลกครั้งที่สองออกจากสังกัดเก่ากลายเป็นนักแสดง Freelance ทำให้มีโอกาสร่วมงานหลากหลายผู้กำกับดัง อาทิ The Life of Oharu (1952), Ugetsu (1953), Sansho the Baliliff (1954), The Ballad of Narayama (1956), Equinox Flower (1958) ฯ
เกร็ด: นิตยสาร Kinema Junpo จัดอันดับ Movie star and Director of the 20th century ฝั่งนักแสดงหญิงของประเทศญี่ปุ่น Kinuyo Tanaka ติดอันดับ 5
รับบท Orin คุณยายที่ยังคงเข้มแข็งแรง กระฉับกระเฉง มองโลกในแง่ดี มากด้วยเมตตากรุณาปราณี ตอนสาวๆคงฮอตฮิตหนุ่มรุมตามจีบมากมาย แถมทำกับข้าว/จับปลาเก่งอันดับหนึ่งของหมู่บ้าน ถ้าไม่ต้องเดินทางไป Narayama เสียก่อน คงได้อยู่ยืนถึงร้อยปีแน่ๆ
ความปรารถนาสุดท้ายของคุณยาย หลงเหลือเพียงพบเห็นลูกชายคนโต Tatsuhei ขณะนั้นเป็นหม้าย ได้เหย้าเรือนภรรยาใหม่ เพราะเมื่อตนจากไปสู่ Narayama จักมีคนดูแลหุงหาอาหาร ซึ่งนับเป็นความโชคดีได้หญิงหม้ายจากอีกฟากเขา Tamayan (รับบทโดย Yūko Mochizuki) เป็นคนนิสัยดีงาม จิตใจอ่อนไหว ลึกๆก็ไม่อยากให้คุณยายไป Narayama ร่ำร้องไห้กลบเกลื่อนด้วยการวิ่งออกไปนอกบ้าน เอาน้ำในลำธารกวักใส่หน้าตนเอง
Tanaka ขณะนั้นอายุเพียง 49 ตัวจริงยังสวยอยู่เลยนะ แต่งหน้าแก่ ทำผมกระเซอะกระเซิง เดินหลังค่อม ถึงกระนั้นก็ยังกระฉับกระเฉงเหมือนสาวรุ่นๆ เรื่องการแสดงต้องชมว่ากินขาด แม้ส่วนใหญ่ระยะภาพ Long Shot ไม่ค่อยพบเห็น Close-Up แต่ทั้งนั้นพลังการแสดง ท่วงท่าเคลื่อนไหว อารมณ์ความรู้สึกจากภายใน มันเอ่อล้นทะลักออกมา น้ำตาไหลพรากๆเพราะไม่อยากให้เธอออกเดินทางสู่ Narayama
บรรดาบทบาทการแสดงของ Tanaka ในช่วงทศวรรษ 50s วัยผู้ใหญ่ของเธอมักได้รับตัวละครที่ชีวิตเต็มไปด้วยความรันทด ทุกข์ยากลำบากแสนสาหัส กระนั้นสามผลงานชิ้นเอกที่ร่วมงานกับ Kenji Mizoguchi ผมว่ายังเทียบไม่ได้กับ The Ballad of Narayama เป็นเรื่องที่แสดงน้อยแต่ได้มาก มีทั้งรอยยิ้มและรวดร้าว ทรงพลังขนหัวลุกพอง และน้ำตาไหลนอง
ในเรื่องการแสดง ลีลาเคลื่อนไหวของตัวละคร สังเกตว่าจะมีความเชื่องช้า เอื่อยเฉื่อย ราวกับภาพสโลโมชั่น กว่าจะขยับเดินกันได้แต่ละทีแทบต้องกลั้นลมหายใจกันเลยทีเดียว นี่ถือว่ารับอิทธิพลเต็มๆจาก Kabuki (ทุกคนต่างก็แต่งหน้าจัดด้วยนะ แค่ว่าจะไม่มีลวดลายมากเหมือนคาบูกิจริงๆ) ซึ่งจะมี ‘Expression’ ตรงไปตรงมา สามารถอ่านภาษากายออกได้ไม่ยากเท่าไหร่ และช่วงขณะของการกระทำ มักมีความรวดเร็วปุปัป แปปเดียวเท่านั้นฉากจบสิ้นลงทันที
ถ่ายภาพโดย Hiroshi Kusuda ขาประจำของ Kinoshita อาทิ Twenty-Four Eyes (1954), She Was Like a Wild Chrysanthemum (1955) และ The Tattered Wings (1955), The Ballad of Narayama (1958) ฯ
Kinoshita เลือกนำเสนอภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยการสร้างฉากขึ้นในสตูดิโอทั้งหมด ควบคุมแสง สี หมอกควัน ความมืดมิด รวมทั้งลูกเล่นขยับเคลื่อนไหวขณะเปลี่ยนฉาก ฤดูกาล/พระจันทร์ที่แปรเปลี่ยน ความปลอมๆที่ผู้ชมสัมผัสได้เพื่อสะท้อนสิ่งลึกลับพิศวงของตำนานพื้นบ้าน มันอาจเป็นเพียงเพ้อฝันจินตนาการ กระนั้นยกเว้นเพียงฉากสุดท้ายถ่ายจากสถานที่จริง สถานี Obasute Station เรื่องเล่านี้อาจเคยเกิดขึ้นก็ได้นะ
ลิบๆนั่นคือเทือกเขา Narayama วาดขึ้นด้วยบนกระจกด้วยเทคนิค Matte Painting ให้เกิดมิติความตื้นลึก (บางฉากมีการใช้ Miniature หลอกตาผู้ชมว่าคือบ้านขนาดเท่าของจริง) รู้สึกว่ามันอยู่ไกล แต่เดินไปไม่เท่าไหร่เดี๋ยวก็ถึงแค่เอื้อมมือ
จุดเด่นของการออกแบบฉาก คือบ้านช่อง/ต้นไม้ สามารถทำให้ขยับเคลื่อนย้ายไปมาได้ระหว่างเปลี่ยนฉาก เอาจริงๆนี่ไม่ใช่เทคนิคน่าตื่นตราตะลึงเท่าไหร่สำหรับคนในวงการละครเวที พบเห็นบ่อยครั้งสำหรับเรื่องทุนสร้างสูงๆฉากเยอะๆ แต่สำหรับวงการภาพยนตร์มีค่อนข้างน้อยเรื่องมากๆ นอกจากค่าย The Archers ก็มักพบเพียงหนังเพลงยุคคลาสสิกเท่านั้นเอง
คือถ้าในญี่ปุ่น กับหนังที่งานโปรดักชั่นระดับนี้ ก็เพิ่งเคยพบเห็นเรื่องนี้นี่แหละ!
ลักษณะแสงสีสัน มักขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ฤดูกาล ซึ่งก็สามารถแบ่งออกได้เป็น
– Spring ต้นไม้สีเขียวขจี ดูชื่นชอุ่มใจ
– Summer ใบไม้กลายเป็นสีแดง ชีวิตเต็มไปด้วยความสดใส
– Fall ใบไม้เริ่มร่วงหล่น ผู้คนเต็มไปด้วยความขัดแย้ง
– Winter หิมะตก อากาศหนาวเหน็บ จิตใจยะเยือกเย็นชา
การปรากฎขึ้นของแสงสีเขียว/แดงเป็นอะไรที่พอพบเห็นแล้วช่างดูน่าขนลุกขนพอง (บ่อยครั้งด้วยนะ) แดงคือเลือด/อันตราย, ส่วนเขียวมักสะท้อนสิ่งที่คือความชั่วร้ายภายในจิตใจมนุษย์ออกมา โดดเด่นมากๆกับสองครั้งนี้
การรุมประชาทัณฑ์จับโจร สังเกตว่าพื้นหลังลิบๆสาดสีแดงเลือด ชาวบ้านทุกคนต่างอาบด้วยแสงสีเขียวราวกับปีศาจร้าย ซึ่งสิ่งที่พวกเขากำลังจะตัดสินลงโทษ แน่นอนว่าไม่ใช่สิ่งที่สังคมสมัยนี้ยินยอมรับได้สักเท่าไหร่
ผมหลอนโคตรๆกับฉากนี้ คือการตระเตรียมตัวก่อนที่คุณยายจะออกเดินทางสู่ Narayama บรรดาผู้ใหญ่ของหมู่บ้าน อธิบายกฎ 3-4 ข้อ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติแนะนำสืบต่อกันมา และทุกคนจะตักน้ำดื่ม พบเห็นแสงสีแดงเล็กๆส่องสะท้อนบนไห ดูเหมือนเลือด/เปลวไฟ (ดื่มด่ำกับความตาย) สัตย์สาบานของฆาตกร
ประมาณว่าผู้ใหญ่ทั้งหลายในหมู่บ้านแห่งนี้ ต่างเคยผ่านช่วงเวลาพาผู้อาวุโสในครอบครัว ไปส่งยัง Narayama มาแล้วทั้งสิ้น เลยรับล่วงรู้ความจริงของสถานที่นั้น ด้วยเหตุนี้เลยสามารถให้คำแนะนำลับๆ และตัวละครหนึ่งที่เป็นพ่อเฒ่าอายุ 70 ผู้พยายามดิ้นรนสุดเหวี่ยง ฉันไม่ยอมไปอย่างเด็ดขาด ก็แน่ละนะ เพราะอะไรทำไมดูจบแล้วคงสามารถคาดเดากันได้
การที่ส่วนใหญ่ของหนังเลือกใช้ระยะภาย Long Shot พบเห็นเพียงการกระทำเคลื่อนไหวของตัวละครในมุมกว้าง เพื่อสร้างระยะห่างเหมือนนั่งชมในโรงละคร Kabuki และไม่ให้ผู้ชมจับต้องกับความสมจริงทางการแสดง ตระหนักรับรู้ว่านี่มันอาจแค่เรื่องเล่าตำนานพื้นบ้าน จินตนาการเพ้อฝันขึ้นมาเท่านั้น
ก้าวย่างสู่ฤดูหนาว หิมะตก ทุกอย่างที่เคยมีสีสันหลงเหลือเพียงโทนขาว-เทา-ดำ มันช่างแล้งแห้งเหือด หนาวเหน็บเย็นชาไปถึงขั้วของหัวใจ หลงเหลือเพียงความเกิด-ตาย ชีวิตก็เท่านั้น สาธุ
ตัดต่อโดย Yoshi Sugihara ขาประจำของสตูดิโอ Shochiku มีผลงานดังอย่าง Stray Dog (1949), The Idiot (1951), Twenty-Four Eyes (1954), The Ballad of Narayama (1958), Pale Flower (1964), The Face of Another (1966) ฯ
หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของคุณย่า Orin ในช่วงเวลา 4 ฤดูกาลสุดท้ายของชีวิตก่อนอายุ 70 ปี ไล่เรียงจากใบไม้ผลิ, ร้อน, ใบไม้ร่วง, หนาว
ส่วนใหญ่ของหนังถ้าเป็นฉากเดียวกันมักถ่ายทำเป็น Long Take เดียวยาวๆจนกว่าจะจบซีน (แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไปนะ) เด่นชัดมากกับช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์ ระหว่างการเดินทางมุ่งสู่ Narayama ร้อยเรียงฉากละเทคเลยก็ว่าได้ ค่อยๆเดินขึ้น ขาลงแบบรวดร้าว รีบเร่งวิ่งกลับขึ้นไป สุดท้ายวิ่งหนีกลับลงมา
สำหรับเพลงประกอบโดย Chuji Kinoshita, Matsunosuke Nozawa สามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน
– ผมไปค้นพบเจอคำเรียก 浄瑠璃, Jōruri คือการแสดงดนตรีพื้นบ้านที่ใช้เพียงนักร้อง-เล่น Shamisen ทำหน้าที่บรรยายเหตุการณ์ประกอบ
– ช่วงขณะที่ไม่ใช่ Jōruri ก็จะได้ยินเสียงขลุ่ยและกลอง (รวมกับนักร้องและ Shamisen ครบเครื่องการแสดง Kabuki) มักเป็นท่วงทำนองสนุกสนาน ร้องรำทำเพลง
The Ballad of Narayama ท้าทายให้ผู้ชมครุ่นคิดถึงศรัทธาความเชื่อ ต่อขนบวิถี วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงศาสนา ทุกอย่างที่ดำเนินสืบทอดถือปฏิบัติมา นั่นใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมควรแล้วหรือไม่?
– ขนบวิถี วัฒนธรรมประเพณี เป็นสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามอิทธิพลโลกาภิวัฒน์ เริ่มรับเอาแนวคิดใหม่ๆเข้ามาผสมผสาน สักพักอะไรดีกว่าก็จะค่อยกลืนกลาย กระทั่งอีกฝั่งหนึ่งสูญสลายเลือนลางจางหายหมดสิ้นไป
– ตรงกันข้ามกับศาสนา อะไรเคยเชื่อถือศรัทธามักไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย, ยกตัวอย่างแรงๆหน่อย อาทิ ศาสนาคริสต์ที่มีความยึดถือมั่นว่า หลังจากตายไปดวงวิญญาณจักเดินทางกลับสู่อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า ถ้าเมื่อขณะสูญสิ้นลมหายใจ กลับพบว่าสิ่งดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริง อารมณ์คงเหมือนวินาทีที่ตัวละครพบเจอกับดินแดน Narayama นี่นะหรือสถานที่ที่ฉันเพ้อใฝ่ฝันอยากเดินทางมาถึง!
คำอธิบายของหนังถึงสาเหตุผลของการแบกผู้สูงวัยไปทอดทิ้งยัง Narayama ก็เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ลูกหลานต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูแล หมดปากท้องไปหนึ่งย่อมทำให้ครอบครัวมีกินบริโภคสุขสบาย สามารถดำเนินชีวิตเอาตัวรอดได้ต่อไป
บุคคลที่มี ‘มนุษยธรรม’ หรือ ‘ศีลธรรม’ ดีงามภายในจิตใจ ย่อมสามารถบ่งบอกได้ว่านั่นไม่ใช่วิถีกระทำถูกต้องเหมาะสมควรแม้แต่น้อย คือเป็นการผลักภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม เรียกได้ว่าคือการ ‘ฆาตกรรม’ โดยอ้อม
แรงผลักดันที่ก่อให้เกิดวิถีความเชื่อลักษณะนี้ขึ้นกับคนโบราณ น่าจะคือสันชาตญาณเอาตัวรอดล้วนๆ ทำแบบนี้แล้วก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเอง ครอบครัว สังคม จึงได้รับความนิยมอย่างสูง แนะนำเสี้ยมสอนสั่งสืบทอดต่อกันมา พัฒนากลายเป็นวัฒนธรรมประเพณียึดถือปฏิบัติ ไม่เคยครุ่นคิดทบทวนดูเลยว่าเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสมหรือเปล่า
การยังเข้าไม่ถึงของอารยธรรมความเจริญก็คือปัจจัยหนึ่ง ชาวบ้านนอกยังขาดความรู้การศึกษา รวมถึงสติปัญญาไม่ได้รับพัฒนาให้สูงพอเข้าใจ ‘มนุษยธรรม’ สิ่งสำคัญมากยิ่งกว่าความอิ่มท้อง สุขสบาย ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อตนเอง
ว่าไปเรื่องราวของหนังนี้ สะท้อนอยู่ไม่น้อยกับสถานการณ์การเมืองของญี่ปุ่นในยุคสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ตกอยู่ภายใต้การบริหารของสหรัฐอเมริกาอยู่สักพักใหญ่ ซึ่งก็ได้พยายามโละคนแก่รุ่นเก่าให้ปลดเกษียณก่อนวัย ส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่ให้ก้าวขึ้นมาเหยียบหัวถีบส่งผู้สูงวัยสู่ Narayama เฝ้ารอคอยวันตายของตนเองอย่างหนาวเหน็บเย็นยะเยือก
ผู้กำกับ Keisuke Kinoshita ขณะสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้อายุ 46 ปี ใกล้เคียงกับตัวละครลูกชายคนโต Tatsuhei ซึ่งช่วงวัยนี้ถือว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างเด็ก-สูงวัย ย่อมทำให้สามารถครุ่นคิดถึงสองมุมมองที่แตกต่าง
– เพราะตนเองคือคนแบกแม่ไปสู่ Narayama เลยรับรู้ว่าอีกไม่กี่ปีถัดจากนี้ก็อาจต้องกลายเป็นแบบนั้น เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ยากให้ท่านทุกข์ทรมานสักเท่าไหร่ ซึ่งพอพบเห็นความจริงก็เศร้าสลดเสียใจ
– ชีวิตเคยผ่านช่วงวัยเด็ก-หนุ่ม เต็มไปด้วยความหลงระเริง คึกคะนอง ไม่รับรู้สนใจอะไรนอกจากสุขของตนเอง เมื่อเขาพบเห็น Kesakichi ประพฤติแสดงออกเช่นนั้น ราวกับภาพสะท้อนในกระจก มันช่างน่าหงุดหงิดรำคาญใจ รับไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่กับความโง่งี่เง่าดังกล่าว
Narayama สถานที่/ดินแดนอยู่จุดสูงสุดบนยอดเขาแห่งชีวิต มันไม่มีอะไรเลยนอกจากโครงกระดูก ความตาย แต่ใครๆกับแสวงโหยหา ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ ปีนป่ายไต่ไปให้ถึง ยึดถือเชื่อมั่นจากคำโบร่ำที่เล่าลือกันมาแต่โบราณหัวปลักหัวปลำ ก็จนกว่าจะค้นพบสัจธรรมความจริงด้วยตัวตนเอง มนุษย์ก็ยังคงโง่งี่เง่าดักดาน เถียงคำไม่ตกฟาก หลงระเริงกับภาพมายา ความเพ้อฝันหวาน
ถึงไม่มีวัดหรือพระสักรูป แต่ผมถือว่า The Ballad of Narayama คือภาพยนตร์พุทธศาสนา เสี้ยมสอนให้มนุษย์ค้นหาสิ่งที่คือข้อเท็จจริง เรียนรู้มันด้วยตนเองไม่ใช่ฟังคำร่ำลือเสียงเล่าอ้างหรือเชื่อจากใคร ตระหนักได้ตรงนี้เมื่อไหร่ นำมาปรับใช้ในชีวิตจาก ‘กาลามสูตร ๑๐’ ปฏิเสธทุกอย่างแม้แต่คำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วค่อยๆใช้ศีล-สมาธิ-ปัญญา ครุ่นคิดทบทวนไตร่ตรองทีละเรื่อง ก็จักพบเห็นสัจธรรมถูกต้องทั้งหมดใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
เกร็ด: Yama แปลว่าภูเขา, ขณะที่ Nara ในบริบทนี้ไม่ได้แปลว่ากวาง หรือชื่อเมือง แต่หมายถึงต้นโอ๊ค สัญลักษณ์ทางความเชื่อของญี่ปุ่น อายุยืนยาวนาน ซึ่งคงสะท้อนถึงสถานที่ที่ผู้สูงวัยจักต้องไปถูกทอดทิ้งสิ้นลมหายใจตายลง
ทำไมต้อง 70?, เพราะคนญี่ปุ่นถือว่าเลข 7 (อ่านว่า Nana) คือสัญลักษณ์แห่งความโชคร้าย และ 70 อ่านออกเสียง Shi-chijuu ซึ่งคำว่า Shi แปลว่าความตาย ต้องถือว่าไม่มีตัวเลขไหนเลวร้ายอัปมงคลเท่า 70 อีกแล้วละ!
ตอนที่หนังออกฉายได้รับเสียงตอบรับอย่างดีล้นหลาม คว้าสามรางวัล Kinema Junpo Awards (Best Film, Best Director, Best Actress) และสามรางวัล Mainichi Film Concours (Best Film, Best Director, Best Film Score) นอกจากนี้ยังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice (พ่ายรางวัล Golden Lion ให้กับหนังญี่ปุ่นอีกเรื่อง The Rickshaw Man) และเป็นตัวแทนญี่ปุ่นส่งชิง Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ได้เข้ารอบใดๆ
เมื่อปี 2012 หนังได้รับเลือกเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes สาย Cannes Classic พร้อมการบูรณะให้ภาพ-เสียง มีความสวยสดงดงาม สมบูรณ์แบบเหนือกาลเวลา วางขายมีใน Criterion Collection
สิ่งที่โดยส่วนตัวโปรดปรานสุดของหนังฉบับนี้ คือความงดงามของฉาก ลูกเล่นลีลา จัดแสงสีเคลื่อนย้าย บทเพลงประกอบ และเสียงเครื่องดนตรี Shamisen ช่างสอดคล้องรับกับปรัญชาสุดลึกล้ำและพุทธศาสนา ขนลุกขนพอง หนาวเหน็บไปถึงขั้วหัวใจ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ชักชวนให้ตั้งคำถาม เริ่มต้นง่ายๆกับสามข้อนี้ก่อน
– เราควรปฏิบัติแสดงออกต่อผู้สูงวัยเช่นไร?
– เราควรให้คำแนะนำกับลูกหลาน คนรุ่นใหม่ ให้ปฏิบัติแสดงออกต่อผู้สูงวัยเช่นไร?
– เมื่อเรากลายเป็นผู้สูงวัย จักปฏิบัติแสดงออกต่อลูกหลานเหลนเช่นไร?
ใจจริงอยากแนะนำให้รับชมทั้งสองฉบับเลยนะครับ ถ้ามีเวลาโอกาสหามาดูได้ไม่ควรพลาด จักพบเห็นความแตกต่างอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แล้วค่อยไปตัดสินชอบไม่ชอบเรื่องไหนมากกว่า ตอบยากอย่างแน่นอน! แต่ถ้าถามว่าฉบับไหนคลาสสิกกว่า ร้อยทั้งร้อย The Ballad of Narayama (1958)
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศอันตึงเครียด อึดอัดอั้น รวดร้าวทุกข์ทรมาน และอาจขัดแย้งในตนเอง
Leave a Reply