The Bank Dick (1940) : Edward F. Cline ♥♥♥♡
(17/11/2021) W. C. Fields ได้รับยกย่องวีรบุรุษหลังช่วยจับโจรปล้นธนาคาร เลยมีโอกาสเข้าทำงานเป็นนักสืบ ‘The Bank Detective’ แต่กลับทำตัวเหมือน ‘The Bank Dick’ กะล่อน-ปลิ้นปล้อน-หลอกลวง (Lie, Cheat & Steal) สุดท้ายได้ดิบได้ดีจนกลายเป็นมหาเศรษฐี นี่มันเกิดอัปรีย์อะไรขึ้นในสังคม!
The Bank Dick เป็นคำสองแง่สองง่าม สามารถสื่อความถึงนักสืบประจำธนาคาร (The Bank Detective) หรือไอ้จ้อนอันนั้น (The Bank Dick) ก็ไม่รู้รอดพานผ่านกองเซนเซอร์ Hays Code ที่แสนเข้มงวดมาได้อย่างไร แต่ในประเทศอังกฤษสั่งให้เปลี่ยนเป็น The Bank Detective ไม่เช่นนั้นจักถูกสั่งห้ามฉาย!
บอกตามตรงว่า ผมไม่เคยคิดจะหวนกลับมา revisit หนังเรื่องนี้ หรือผลงานอื่นๆของ W. C. Fields แต่หลังจากมีเหตุให้ต้องเขียนถึง It’s a Gift (1934) ทำให้รู้สึกอึ้งทึ่ง คาดไม่ถึง บังเกิดมุมมองทัศนคติต่อชายขี้เมาร่างใหญ่คนนี้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง!
ผลงานของ W. C. Fields ดูเหมือนเป็นการขาย Comedy แบบไม่สนศีลธรรม จริยธรรม ข้อกำหนดร่วมกันทางสังคม แต่ถ้าเราครุ่นคิดว่าทำไมเขาถึงนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นออกมา สรรค์สร้างตัวละครที่แม้งไม่มีx่าเหวอะไรดี ยินยอมกลายเป็นโถส้วมรองรับสิ่งปฏิกูลจากผู้คนไปทำไม ก็อาจค้นพบอัจฉริยะภาพ ความเข้าใจในตัวตน และ(อาจ)รู้สึกสงสารเห็นใจ ชีวิตนายคงพานผ่านอะไรๆมาไม่น้อยเลยสินะ!
เกร็ด: W. C. Fields เป็นส่วนผสมคำย่อของห้องน้ำ Water Closet และถ้ามองแบบสองแง่สองง่ามจะหมายถึง พื้นที่ (Fields) สำหรับถ่ายสิ่งปฏิกูลของเสีย
We’re making motion picture history here.
Egbert Sousé
William Claude Dukenfield (1880 – 1946) นักแสดง ตลก สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Darby, Pennsylvania ในครอบครัวชนชั้นทำงาน (Working Class) อพยพจากประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 1854, มีน้องห้าคน (เป็นพี่คนโต) วัยเด็กมีเรื่องให้ทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งบิดาขี้เมาเป็นประจำ หนีออกจากบ้านหลายครั้ง การเรียนก็ไม่เอาไหน เลยตัดสินใจใช้ชีวิตบนท้องถนน ฝีกฝนการโยนลูกบอล (Juggling) ได้แรงบันดาลใจจาก James Edward Harrigan (เจ้าของฉายา Original Tramp Juggler) จนได้รับว่าจ้างจากสวนสนุกแห่งหนึ่ง สร้างอัตลักษณ์แรก ‘Tramp Juggler’ ตามด้วย ‘The Eccentric Juggler’ เคยได้รับการโปรโมท ‘World’s Greatest Juggler’ และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ W. C. Fields ตั้งแต่ปี 1898
ช่วงต้นทศวรรษ 1900s ระหว่างออกทัวร์การแสดง (vaudeville) เริ่มตระหนักว่าแค่โยนลูกบอลเพียงอย่างเดียว เดี๋ยวก็หมดกระแสนิยม จีงครุ่นคิดทดลองกายกรรมรูปแบบใหม่ๆ แล้วเริ่มพูดคุยกับผู้ชม เล่นมุกตลก เสียดสีล้อเลียน ไปๆมาๆกลับได้รับคำชื่นชมเพิ่มมากกว่าเดิมเสียอีก! จนมีโอกาสแสดงบนเวที Broadways ประสบความสำเร็จล้นหลามกับ Ziegfeld Follies (ช่วงปี 1915-21), กระทั่งไปเข้าตา D. W. Griffith ชักชวนมาแสดงภาพยนตร์ Sally of the Sawdust (1925) เลยปักหลักอยู่ Hollywood สรรค์สร้างหนังเงียบสนุกๆมากมาย
การมาถึงของยุคหนังพูด ช่วยขยายศักยภาพของ Fields ให้มีความโดดเด่นในอัตลักษณ์ยิ่งขึ้น เริ่มจากเซ็นสัญญา Paramount Picture เมื่อปี 1932 สร้างภาพยนตร์เฉลี่ยปีละ 3-4 เรื่อง (แต่เฉพาะปี 1934 สร้างได้ถึง 6 เรื่อง!) ก่อนย้ายมา Universal Picture เมื่อปี 1939 กลายเป็นนักแสดงค่าตัวสูงสุดอันดับต้นๆ (เรื่องละ $125,000 เหรียญ) แต่หลังหมดสัญญาเมื่อปี 1941 ก็ถูกทอดทิ้งขว้างอย่างไร้เมตตาปราณี
ชีวิตครอบครัวของ Fields แต่งงานครั้งแรกกับเพื่อนนักแสดง Harriet ‘Hattie’ Hughes (1879–1963) เมื่อปี 1900 ซึ่งเธอได้กลายเป็นผู้ช่วย ร่วมการแสดง คอยตบมุกทุกครั้งเมื่อเขาเล่นผิดพลาด รวมทั้งสอนให้อ่าน-เขียน จนเกิดความหลงใหลหนังสือ/วรรณกรรม ตั้งแต่ Shakespeare, Charles Dickens, Mark Twain, P.G. Wodehouse ฯ หลังจากภรรยาตั้งครรภ์ เธอขอให้เขาลงหลักปักฐานสักแห่งหนไหน แต่ Fields ยังคงอยากออกเดินทางทำการแสดงต่อไป ด้วยเหตุนี้ทั้งสองจึงตัดสินใจเลิกราหย่าร้าง ถึงอย่างนั้นก็ยังพูดคุย เขียนจดหมาย ส่งค่าเลี้ยงดูให้บุตรชาย แต่เธอกลับค่อยๆเรียกร้อง(ค่าเลี้ยงดู)เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอไม่มีจ่ายก็เสี้ยมสอนให้ลูกโกรธเกลียด/ขัดแย้งต่อบิดา
Bessie Poole ภรรยาคนที่สองของ Fields พบเจอระหว่างเข้าร่วมคณะการแสดง Ziegfeld Follies ตั้งแต่ปี 1916 คือหนึ่งในสาวสวยที่หลงใหลในลูกเล่น ลีลา คารม มีบุตรร่วมกันหนึ่งคน แต่ต่างฝ่ายต่างไม่คิดจะเลี้ยงดูแล เลยส่งไปสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า หลังจากทั้งสองเลิกราเมื่อปี 1926 จ่ายเงินค่าปิดปาก $20,000 เหรียญ ให้อดีตภรรยาประกาศว่า ‘W. C. Fields is NOT the father of my child’ แต่สองปีถัดจากนั้น Poole เสียชีวิตจากพิษสุราเรื้อรัง (alcoholism) เขาเลยต้องส่งเสียค่าเลี้ยงดูบุตรจนอายุ 19 ปีบริบูรณ์
ภรรยาคนสุดท้ายคือ Carlotta Monti (1907–93) พบเจอกันเมื่อปี 1933 ไม่มีทายาท เลยสามารถครองคู่อยู่ร่วมจนวันตาย
โดยปกติแล้ว ผมจะไม่ค่อยลงรายละเอียดเรื่องส่วนตัวสักเท่าไหร่ แต่สิ่งพานผ่านเข้ามาในชีวิตของ W. C. Fields ล้วนสะท้อนอัตลักษณ์ (persona) ภาพตัวละครที่เขาถ่ายทอดออกมา ขอแบ่งเป็นข้อๆจะได้เห็นภาพชัดกว่า
- ขี้เมา, เพราะมีบิดาติดเหล้า ตัวเขาช่วงวัยรุ่นจึงปฏิเสธที่จะดื่มของมึนเมา แต่ความโดดเดี่ยวอ้างว้างหลังเลิกราภรรยา ก็ค้นพบว่าสุราคือเพื่อนพึ่งพาชั้นดี แถมทำให้มีความครุ่นคิดสร้างสรรค์ ดั้นสดลิ้นพันกัน (AdLib) คารมเฉียบคมคายยิ่งกว่าตอนปกติ ด้วยเหตุนี้เขาจึงกลายเป็น ‘prodigious drinker’ ต้องดื่มก่อนเข้าฉากการแสดง จนสร้างความเอือมละอาให้สตูดิโอ (ว่ากันว่านี่คือเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้หลังหมดสัญญา Universal Pictures ไม่มีสังกัดไหนอยากยื่นข้อเสนอใหม่กับเขาอีก)
- I was in love with a beautiful blonde once, dear. She drove me to drink. That’s the one thing I am indebted to her for. จากเรื่อง Never Give a Sucker an Even Break (1941)
- เกลียดผู้หญิง, เอาจริงผมว่า Fields ไม่ได้เกลียดผู้หญิงนะ แต่เบื่อหน่ายในพฤติกรรมเรียกร้องโน่นนี่นั่น หลังจากครองคู่อยู่ร่วม/เลิกรากันแล้วมากกว่า
- I’m very fond of children. Girl children, around eighteen and twenty. จากเรื่อง The Bank Dick (1940)
- กลั่นแกล้งเด็ก, เติบโตในครอบครัวมีน้อง 4 คน คงสร้างความน่ารำคาญเหลือทน ด้วยเหตุนี้พอแต่งงานก็ไม่อยากมีลูก เสียเวลาเลี้ยงดูแล ร่วมงานกับเด็กทีไรปวดเศียรเวียนเกล้านักแส บอกกับภรรยาคนที่สาม ไม่ขอเอาทายาทสืบสกุลเป็นอันขาด
- I like children. If they’re properly cooked.
- ไล่เตะหมา, ผมเคยอ่านเจอว่า Fields เคยเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่งแล้วถูกมันแว้งกัด ก็เลย…
- Anyone who hates children and animals can’t be all bad.
ว่ากันตามตรง Fields เองก็มึนงงเหมือนกัน อัตลักษณ์ดังกล่าวของตนเอง มันประสบความสำเร็จได้อย่างไร เคยครุ่นคิดเขียนบทความลงในนิตยสาร Motion Picture เมื่อปี 1937
“You’ve heard the old legend that it’s the little put-upon guy who gets the laughs, but I’m the most belligerent guy on the screen. I’m going to kill everybody. But, at the same time, I’m afraid of everybody—just a great big frightened bully .
I was the first comic in world history, so they told me, to pick fights with children. I booted Baby LeRoy … then, in another picture, I kicked a little dog. But I got sympathy both times. People didn’t know what the unmanageable baby might do to get even, and they thought the dog might bite me”.
W. C. Fields
สำหรับ The Bank Dick (1940) เป็นผลงานเรื่องที่สาม ให้กับสตูดิโอ Universal Pictures หลังความสำเร็จล้นหลามของ You Can’t Cheat an Honest Man (1939) และ My Little Chickadee (1940) ทำให้ W. C. Fields ได้รับอิสรภาพเต็มที่ในการครุ่นคิดสรรค์สร้าง ใช้นามปากกา Mahatma Kane Jeeves พัฒนาเค้าโครงเรื่องราวร่วมกับ Richard A. Carroll รับหน้าที่เขียนบทพูดเพิ่มเติม (dialogue by) และมอบหมายหน้าที่ดูแลงานสร้างให้ผู้กำกับ Edward F. Cline
แซว: Mahatma Kane Jeeves แวบแรกผมนีกถีง Mahatma Gandhi แต่ใครๆกับบอกว่ามาจากวลี ‘My hat, my cane, Jeeves!’
Edward Francis Cline (1891 – 1961) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Kenosha, Wisconsin เข้าวงการตั้งแต่ยุคหนังเงียบ เริ่มทำงานยังสตูดิโอ Keystone Studio ตั้งแต่ปี 1914 เลยมีโอกาสช่วยเหลือ Charlie Chaplin, Buster Keaton สรรค์สร้างหนังสั้นหลายหลายเรื่อง กระทั่งกำกับ ‘feature film’ เรื่องแรก Three Ages (1923), ในยุคหนังพูดระหว่างอยู่ Paramount Pictures ได้ร่วมงาน W. C. Fields ตั้งแต่ Million Dollar Legs (1932) กระทั่งย้ายมา Universal Picture ทำงานร่วมกันอีกสามครั้ง My Little Chickadee (1940), The Bank Dick (1940) และ Never Give a Sucker an Even Break (1941)
ถ่ายภาพโดย Milton R. Krasner (1904-88) สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City เริ่มต้นจากผู้ช่วยตากล้อง Vitagraph and Biograph Studio สมัยยังมีสาขาอยู่ที่ New York แต่พอสตูดิโอปิดกิจการลง เดินทางมุ่งสู่ Hollywood ช่วงแรกๆในยุคหนังพูดมักเป็นตากล้องหนังเกรดบี กระทั่งการมาถึงของหนังนัวร์ ได้รับคำชื่นชมมากๆเรื่องการจัดแสง-มืดมิด อาทิ A Double Life (1947), The Set-Up (1949), All About Eve (1950), No Way Out (1950), และการมาถึงของ Techinicolor สามารถปรับตัวได้อย่างยอดเยี่ยม Three Coins in the Fountain (1954)***คว้า Oscar: Best Cinematography, The Seven Year Itch (1955), An Affair to Remember (1957), King of Kings (1961), How the West Was Won (1962) ฯ
ตัดต่อโดย Arthur Hilton (1897 – 1979) สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ The Bank Dick (1940), Flesh and Fantasy (1943), The Killers (1946), ช่วงทศวรรษ 50s หันเหความสนใจสู่วงการโทรทัศน์ ตัดต่อซีรีย์ดังๆอย่าง Lassie (1954-73), Mission: Impossible (1966-73) ฯ
เพลงประกอบโดย Charles Previn (1888-1973) สัญชาติอเมริกัน นักแต่งเพลงในสังกัดของ Universal ช่วงทศวรรษ 40s-50s ผลงานเด่นๆ อาทิ One Hundred Men and a Girl (1937)**คว้า Oscar: Best Music, Score, It Started with Eve (1941), The Wolf Man (1941), Arabian Nights (1942) ฯ
เรื่องราวของชายขี้เมา Egbert Sousé (เน้นหนักกว่า e) ระหว่างกรึบวอดก้ายังบาร์ประจำ Black Pussy Cat Cafe จับพลัดจับพลูกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ สั่งให้นักแสดงเปลี่ยนบทจาก drawing-room dray-ma (ดราม่าในห้องวาดรูป) กลายมาเป็น circus picture (คณะละครสัตว์) ไปๆมาๆระหว่างกำลังนั่งพักริมทางเดิน สามารถจับกุมโจรปล้นธนาคาร ได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากคนรอบข้าง เลยปอปั้นตนเองอย่างไม่หยุดหย่อน เป็นเหตุให้จ้างว่างานนักสืบประจำธนาคาร
วันถัดมา Sousé ถูกลวงล่อหลอกโดยเซลล์แมนขายพันธบัตร Beefsteak Mining Company แม้ตนเองไม่มีเงิน เลยไปล่อลวงว่าที่ลูกเขย Og Oggilby ทำงานธนาคาร ให้หาหนทางหยิบยืมเงิน(ธนาคาร)มาใช้ก่อนล่วงหน้า (ค่าจ้าง/โบนัสกำลังจะออก 3-4 วันให้หลัง) พอหลงเชื่อจ่ายเงิน $500 ดอลลาร์ บ่ายวันนั้นผู้ตรวจการธนาคาร J. Pinkerton Snoopington เดินทางมาถีงโดยพลัน ด้วยเหตุนี้ Sousé จีงต้องครุ่นคิดแผนการอันชั่วช้าสามาลย์ ถ่วงเวลาไม่ให้พบเห็นการฉ้อฉลตัวเลขในบัญชีให้นานที่สุด
ใครจะไปคาดคิดว่าพันธบัตรปลอมๆ จู่ๆกลับขุดพบขุมทอง (ขุดพบแร่อะไรสักอย่าง) เลยได้รับผลตอบแทนคืนมามากมายมหาศาล ซี่งพอ Sousé พบเห็นข่าวดังกล่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ โจรปล้นธนาคารอีกคนกลับมาล้างแค้น ทวงนี้ ออกปล้นย้อนรอยเดิมอีกครั้ง ครานี้จับเขาเป็นตัวประกัน ลากพาขี้นรถขับซิ่งหลบหนีตำรวจ ปีนเขาลงห้วย โฉบเฉี่ยวเลี้ยวลด ดูสิว่าใครจะมีนเมาถีงสรวงสวรรค์ก่อนกัน
ศาสตร์การเล่นตลกของ W. C. Fields ในความเข้าใจของผมก็คือ ‘เหยื่อผู้ถูกกระทำชำเราจากทุกสรรพสิ่งอย่าง’ แรกเริ่มต้นตัวละครมีฐานะยากจน ชนชั้นทำงาน (Working Class) แต่ต้องเลี้ยงดูทั้ง (พ่อ) แม่ ภรรยา บุตรสาว-ชาย หรือทารกน้อย (แล้วแต่ตามสถานการณ์) ความทุกข์ยากลำบากทำให้เขาต้องดื่มเหล้ามีนเมากับชีวิต สติสตางค์ไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว เลยเป็นที่รังเกียจเดียจฉันท์จากสมาชิกครอบครัว โดนทั้งคำพูดเสียดสีถากถาง และการกระทำเขวี้ยงขว้างใช้ความรุนแรง
เมื่อออกไปนอกบ้าน ตัวละครก็มักจับพลัดจับพลูตกอยู่ในสถานการณ์ประหลาดๆ ถูกกลั่นแกล้ง ลวงล่อหลอก (โดยเฉพาะเซลล์แมนเร่ขายอะไรบางอย่าง) พอพลั้งเผลอกระทำผิดพลาด จีงต้องพยายามหาหนทางดิ้นรน แสดงพฤติกรรมกะล่อน-ปลิ้นปล้อน-หลอกหลวง (Lie, Cheat & Steal) ขอแค่ให้ตนเองสามารถหลุดรอดพ้นสถานการณ์เลวร้ายดังกล่าวไปได้
ตอนจบ(น่าจะ)ทุกๆผลงาน มันเกิดเหตุการณ์พลิกผัน กลับตารปัตร บังเอิญถูกหวย ขายหุ้นทำให้ร่ำรวย กลายเป็นมหาเศรษฐี จากนั้นพฤติกรรมของสมาชิกทุกในครอบครัว จักเปลี่ยนมาคิดดี-พูดดี-ทำดี ยกย่องสรรเสริญบูชา รักใคร่ปรองดอง สนินสนมกลมเกลียว … ใครกันแน่ที่กะล่อน-ปลิ้นปล้อน-หลอกลวง!
ใน The Bank Dick (1934) เราจะพบเห็นว่าตัวละครของ W. C. Fields ถูกลวงล่อหลอก กลั่นแกล้งสารพัด!
- แม่สะใภ้และภรรยา ชอบพูดคำเสียดสี ถากถาง เอาแต่ตำหนิต่อว่าลูกเขย วันๆเอาแต่ดื่มเหล้า สูบซิการ์ ไม่รู้จักหาการหางานทำ
- ลูกสาวเลยถูกเสี้ยมสอน (โดยแม่สะใภ้และภรรยา) เลยมักชอบกลั่นแกล้ง ใช้ความรุนแรงกับบิดา เคยจะเอาก้อนหินเขวี้ยงขว้าง
- Elsie Mae Adele Brunch Sousé: Shall I bounce a rock off his head?
Agatha Sousé: Respect your father, darling. What kind of a rock?
- Elsie Mae Adele Brunch Sousé: Shall I bounce a rock off his head?
- หลังฟังคำของโปรดิวเซอร์ แค่พูดจาเพ้อเจ้อไม่กี่คำ ถูกนำพาไปเป็นผู้กำกับในกองถ่ายภาพยนตร์
- ถูกลวงล่อหลอกโดยเซลล์แมนขายพันธบัตร โน้มน้าวจนหลงเชื่อฟัง แม้ตนเองไม่มีเงินแต่ก็ดันตบปากรับคำเรียบร้อย
- โดนโจรจับเป็นตัวประกัน บีบบังคับให้ขับรถพาหลบหนี
ถ้าคุณต้องอยู่ในสภาพสังคมที่ทุกสรรพสิ่งอย่างรอบข้าง ล้วนเป็นปรปักษ์ ประทุษร้าย ทั้งการครุ่นคิด-คำพูด-การกระทำ ใครกันจะสามารถอดรนทน ส่วนใหญ่ย่อมบังเกิดแรงผลักดันที่จะเอาคืนโต้ตอบกลับ
- ภรรยาแสดงความโกรธเกลียด พูดเสียดสีประชดประชัน <-> ทำไมฉันจะรู้สีกเดียดชัง โต้ตอบถ้อยคำหยาบๆกลับไปไม่ได้?
- เด็กๆเขวี้ยงขว้างก้อนหิน ทุบตีทำร้าย <-> ทำไมฉันจะหาอะไรโยนใส่ ใช้ความรุนแรงกลับไปไม่ได้?
- สุนัขเห่า <-> ทำไมฉันจะกัดตอบไม่ได้?
ทุกการกระทำของ W. C. Fields ล้วนบังเกิดจากแรงผลักดันของธรรมชาติ ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ สังคมมันเป็นแบบนี้ จะไปสร้างภาพให้ดูดีเลิศหรูหราได้อย่างไร … นี่เองคือสิ่งจักทำให้ผู้ชมบังเกิดความรู้สีกสงสารเห็นใจ ยินยอมให้อภัยทุกการกระทำ เกลียดผู้หญิง กลั่นแกล้งเด็ก ไล่เตะหมา ถ้าเป็นฉันไม่แน่ว่าอาจกระทำสิ่งเลวร้ายยิ่งกว่านั้นอีก –“
ครั้งแรกที่ผมรับชม The Bank Dick (1940) บอกเลยว่าไม่มีความรู้สีกดังกล่าวเลยสักนิด! ผิดกับ It’s a Gift (1934) ที่ผู้ชมจะสงสารเห็นใจตัวละคร พบเห็นถูกทุกสรรพสิ่งอย่าง (คน-สัตว์-สิ่งของ) ล้วนพยายามข่มขืนกระทำชำเรา กลับตารปัตรกับเรื่องนี้ที่เอาแต่ไปกลั่นแกล้งผู้อื่น เรียกร้องความสนใจ กอบโกยผลประโยชน์ เพื่อตนเองจักสามารถธงชีพรอก
แต่สิ่งแลกเปลี่ยนสำหรับ The Bank Dick (1940) คือไหวพริบ คารมคมกริบ ประสบการณ์ชีวิตของ W. C. Fields รวบรวมเรียบเรียง ยัดเยียดไว้แน่นเอียดในผลงานเรื่องนี้ อีกทั้งไดเรคชั่นผู้กำกับ Edward F. Cline ทำให้การดำเนินไปมีความลื่นไหล ต่อเนื่อง เพียงพอดี ไม่มีความเยิ่นเย้อเกอะเกินเลยสักนิด และไฮไลท์ไคลน์แม็กซ์สุดมันส์ฮา ใส่คอมเมอดี้ในฉากขับรถไล่ล่า ทศวรรษนั้นน่าจะหารับชม Slapstick Comedy ลักษณะนี้แทบไม่ได้อีกแล้ว!
และในยุคที่ Hollywood ถูกควบคุมครอบงำด้วยมาตรฐานทางสังคมกำหนดโดย Hays Code ทุกผลงานของ W. C. Fields ล้วนเต็มไปด้วยความหมิ่นเหม่ ล่อแหลม ถ้าคุณมีความสามารถในการครุ่นคิดตีความ ก็อาจสังเกตพบเห็นโดยง่ายดาย
- ชื่อบาร์ Black Pussy Cat Cafe จริงๆแล้วตั้งชื่อว่า Black Pussy Cafe and Snackbar แต่ถูก Hays Code บังคับเปลี่ยนเพราะมันล่อแหลมเกินไป
- Egbert Sousé: I’m very fond of children. Girl children, around eighteen and twenty. พูดด้วยน้ำเสียงหวานๆ โรแมนติก
- Egbert Sousé: Would you like to examine the books at the Black Pussy – eh – Cafe?
- บอกว่าจะสอนสูบบุหรี่ให้เมื่อเด็กๆโตขี้น แต่ตนเองสูบเป็นตั้งแต่อายุ 9 ขวบ (การสูบบุหรี่ ยังตีความได้ถีง Sex ด้วยนะ)
- I’ll teach you when you grow up. I never smoked a cigarette until I was nine.
- เมื่อพูดถีงอาวุธที่โจรปล้นธนาคาร จากมีดกลายเป็นดาบ ความยาวจะคืบกลายเป็นศอก สั้นๆ-ยาวๆ ตกลงพูดถีงอะไรกันแน่ (ดาบมีลักษณะเป็นแท่งๆ คล้ายอวัยวะเพศชาย)
- Egbert Sousé: Is that gun loaded?
Mother in bank: Certainly not! But I think you are!
คำว่า loaded เป็นคำสแลงที่ตีความได้หลากหลาย หนี่งในนั้นคือน้ำอสุจิเต็มท่อเก็บ (ไม่ได้ปลดปล่อยมาหลายวัน)
สรุปแล้วใจความของ The Bank Dick (1940) สะท้อนเสียดสีความลุ่มหลงใหลใน ‘เงินๆทองๆ’ สนองตัณหาความต้องการ (dick ของทั้งชายและหญิง) สามารถทำให้ใครต่อใครคลุ้มคลั่งขาดสติ พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรม-มโนธรรม ระเบียดกฎเกณฑ์ใดๆของสังคม
ในที่สุดผมก็คลายข้อสงสัยเสียที ว่าทำไม The Bank Dick (1940) ถึงคือหนึ่งในหนังเรื่องโปรดของ Stanley Kubrick นั่นเพราะความหลักแหลม เฉียบคมคาย อัจฉริยภาพของ W. C. Fields โดดเด่นมากๆในการครุ่นคิดสิ่งสองแง่สองง่าม ฮากลิ้นตกเก้าอี้ ความบันเทิงชั้นดีที่สามารถเป็นบทเรียนสอนจิตสำนึกผู้ชม (ได้ดีกว่า ‘moral film’ บางเรื่องเสียอีก!) ทั้งยังน่าจะเป็นแรงบันดาลใจหลักๆในการสรรค์สร้าง Dr. Strangelove (1964) เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่มีเพียงกาลเวลาเท่านั้นจะสามารถติดตามทัน
ผมลองค้นหาหลายๆผลงานของ W. C. Fields ที่จัดอันดับโดยผู้ชม และเรตติ้งของ imdb แม้ไม่ได้มีเวลามากมายแต่ก็ได้ดูอยู่หลายเรื่อง เลยสามารถจัดอันดับความชื่นชอบประทับใจ และอันดับหนึ่งก็คือ The Bank Dick (1940) มีความลงตัวลื่นไหลที่สุด โดยเฉพาะไคลน์แม็กซ์ไล่ล่าบนท้องถนน ฮากลิ้งตกเก้าอี้ไม่น้อยไปกว่า Shy Girl (1924) หรือ Seven Chances (1925)
- The Bank Dick (1940) **** เรื่องนี้มีความลื่นไหลของ Comedy ที่สุดจริงๆ โดยเฉพาะไคลน์แม็กซ์อาจถือว่าเป็นหนึ่งในฉากไล่ล่า (Chase Scene) ที่ดีที่สุด ฮากลิ้งตกเก้าอี้ไม่น้อยไปกว่า Shy Girl (1924) หรือ Seven Chances (1925)
- It’s a Gift (1934) ***/2 การดำเนินเรื่องอาจมีสะดุด เอื่อยเฉื่อยอยู่บ้าง แต่แต่ละ Sequence ฮาอุตลุตจริงๆ
- The Old Fashioned Way (1934) ***/2 น่ารักสุดๆระหว่าง W. C. Fields vs. Baby LeRoy และการแสดง Juggling ช่วงท้ายสุดยอดมากๆ
- You’re Telling Me! (1934) ***/2 ฉากสนามกอล์ฟตอนท้าย เมื่อไหร่มันจะได้ตี
เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจแต่ผมยังไม่มีเวลารับชม อาทิ
- David Copperfield (1935) กำกับโดย George Cukor เป็นเรื่องเดียวที่ W. C. Fields ไม่ได้ดั้นสด (AdLib) พูดสำเนียงอังกฤษ เล่นตามบท เคารพต้นฉบับอย่างที่สุด
- Man on the Flying Trapeze (1935) ผลงานกำกับเรื่องสุดท้ายของ Clyde Bruckman (ผกก. The General (1926))
- My Little Chickadee (1940) ร่วมกับ Mae West เห็นว่าทั้งสองเป็นคู่กัดที่สมน้ำสมเนื้อกันมากๆ
- Never Give a Sucker an Even Break (1941) ผลงานสุดท้ายของ W. C. Fields ที่อยู่ในการควบคุม/วิสัยทัศน์ของเขาเอง
แต่ผมแนะนำให้หาดู It’s a Gift (1934) เริ่มต้นก่อนนะครับ เพราะเป็นเรื่องที่จะทำให้คุณเข้าใจตัวตน/อัตลักษณ์ของ W. C. Fields ได้ดีกว่าผลงานอื่นๆ
จัดเรต pg กับมุกเสื่อมๆ ขี้เมา กะล่อน-ปลิ้นปล้อน-หลอกลวง (Lie, Cheat & Steal)
คำโปรย | The Bank Dick คือภาพยนตร์ที่มีความลงตัว กลมกล่อมมากที่สุดของ W. C. Fields นำเสนอความอัปรีย์ในสังคมได้กระสันซ่าน
คุณภาพ | กรวนบาทา
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ
The Bank Dick (1940) : Edward F. Cline ♥♥♥♡
(6/1/2017) หนังตลกเกือบมีสาระเรื่องนี้ เชื่อว่าหลายคนคงไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็นหนึ่งในหนังโปรดของ Stanley Kubrick คงมีคนสนใจแน่
ในยุคหนึ่งของอเมริกา ก็คล้ายๆกับเมืองไทยยุคก่อนหน้านี้ ที่นักแสดงตลกมีชื่อเสียงโด่งดัง จาก Broadways หรือรายการโทรทัศน์ ผันตัวมาเป็นผู้กำกับ นักแสดงภาพยนตร์, มีหนังลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมาย แต่น้อยนักจะโดดเด่นจนกลายเป็นที่จดจำ
The Bank Dick ถือว่าเป็นหนังเซอร์ไพรส์สนุก ตลกเกือบมีสาระ เจ็บตัวบ้างนิดหน่อย นักวิจารณ์หลายสำนักยกย่อง โดยเฉพาะ Roger Ebert จัดให้ 4 ดาวเต็ม ยกเป็น Great Movie, เว็บมะเขือเน่า คะแนนเต็ม 100% ถือว่าคงไม่เสียหายอะไรที่จะเสียเวลาดูหนังเรื่องนี้ ยาวแค่ 72 นาทีเท่านั้น
โดยผู้กำกับ Edward F. Cline อาจมีบางคนคุ้นๆชื่อ ในยุคหนังเงียบแรกๆ เป็นผู้กำกับประจำตัวของ Buster Keaton ร่วมกำกับในหนังเงียบขนาดยาวเรื่องแรก Three Ages (1923) ในยุคหนังพูดกลายเป็นขาประจำของ W. C. Fields แต่ก็ยังร่วมงานกับ Keaton อยู่นะครับ แค่เปลี่ยนจากสื่อภาพยนตร์ กลายไปเป็นสื่อโทรทัศน์แทน
The Bank Dick หรือ The Bank Detective เป็นชื่อเรียกสายสืบประจำธนาคาร เหตุการณ์เกิดขึ้นที่เมือง Lompoc, California, Egbert Sousé ชายหนุ่มร่างใหญ่ ผู้บังเอิญล้มทับจับหนึ่งในโจรปล้นธนาคาร ทำให้ได้รับการยกย่องสดุดีว่าเป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่ง และได้รับโอกาสให้ทำงานเป็น รปภ. ประจำธนาคารแห่งนี้
เกร็ด: ชื่อ Sousé อ่านให้ถูกจะคือ Sou-Se แต่คนส่วนใหญ่มักอ่านว่า Souse (เป็นคำแสลงของ ขี้เมา)
William Claude Dukenfield (1880 – 1946) หรือ W. C. Fields นักแสดง ตลก และนักเขียนสัญชาติอเมริกัน มีชื่อเสียงในศตวรรษ 20s-40s ภาพลักษณ์ประจำตัวคือ ขี้เมา เอาแต่ใจ อีโก้สูง ชอบคำรามใส่หมาและเด็ก (เห็นว่าตัวจริงก็เป็นอย่างนั้น ดื่มหนัก และไม่ชอบเด็ก) Fields เริ่มต้นจากการเป็นนักเล่นป่าหี่ (Silent Juggles) จากนั้นก้าวเข้าสู่ Broadway จนมีชื่อเสียง ต่อมาแสดงกลายเป็นนักแสดงหนังเงียบ เซ็นต์สัญญากับ Paramount ในปี 1932 และย้ายไป Universal ปี 1939
เกร็ด: ชื่อนักเขียนบทภาพยนตร์ Mahatma Kane Jeeves คือหนึ่งในนามปากกาของ W. C. Fields เป็นชื่อที่มาจากการเล่นคำ หนึ่งในประโยคที่ Fields ชอบ ‘My hat, my cane, Jeeves!’
Fields รับบท Sousé ซึ่งถือว่ามีลักษณะตรงกับภาพลักษณ์ประจำตัวทุกประการ เริ่มต้นเป็นคนจนๆ อาศัยอยู่ในบ้านโทรมๆ แม่ ภรรยา ลูกสาวไม่ชอบขี้หน้า แต่จับพลัดจับพลู ในการโอ้อวด เพ้อเจ้อ สร้างภาพความมีคุณธรรม จนโชคหล่นใส่ ราวกับถูกหวย ตอนจบอาศัยอยู่บ้านหรูๆ ร่ำรวยมั่งมีเงินทองและชื่อเสียง แม้แต่ แม่ ภรรยา ลูกสาว ยังไม่อยากเชื่อตนเอง
นี่เป็นหนังที่หาสาระอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ถ้าคุณเป็นคนเส้นตื้น คงได้หัวเราะจนท้องแข็ง มีหลายฉากที่ผมหัวเราะในความบังเอิญแบบจับพลัดจับพลู แต่บางอย่างก็ขำไม่ออกเท่าไหร่ (เช่น Sousé ยกกระถางต้นไม้จะขว้างใส่ผู้หญิงและเด็ก) ความบันเทิงโดยรวมถือว่าใช้ได้ ไฮไลท์อยู่ประมาณ 10 นาทีสุดท้ายขณะขับรถไล่ล่า ผมฮาสุดตรงไอ้โน่นนี่นั่นมันหลุดออกมา พีคสุดคือตอนพวงมาลัย ก็ไม่รู้คิดได้ยังไง! และตอนจบมาคิดทบทวนดู เออเว้ยเห้ย มีหนังลักษณะแบบนี้ด้วย
ถ้าถามว่า Kubrick ชอบอะไรในหนังเรื่องนี้? คงเป็นความบันเทิง ตลกสุดที่เขาเคยรับชมกระมัง, หรือถ้ามองสะท้อนสังคม ผลลัพท์ของคนเลวแต่กลับได้ดี (นี่มันคุ้นๆกับหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นในเมืองไทย) จริงอยู่มันน่าขบขัน แต่ถ้าคิดอย่างมีสติ นี่เป็นเรื่องบัดซบจริงๆเลย สังคมที่เทิดทูนคนชั่ว มันจะไปน่าอยู่ได้ยังไง
ส่วนตัวไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้นัก แต่ทึ่งในความที่ มันก็มีหนังลักษณะนี้เกิดขึ้นได้, ยอดเยี่ยมในแง่ความบันเทิง ส่วนด้านศิลปะก็ธรรมดาทั่วไป มีความลื่นไหลลงตัว แต่ไม่ได้ตลกสมบูรณ์แบบขนาดนั้น
แนะนำกับผู้ชื่นชอบหนังตลก ต้องการผ่อนคลายความเครียด, รู้จักกับ W. C. Fields และอยากเห็นหนึ่งในหนังโปรดของ Stanley Kubrick ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต PG เพราะตัวละครขี้เมา ตรรกะเพี้ยน และการกระทำที่ดูถูกหมาและเด็ก
[…] 8. The Bank Dick (1940) : Edward F. Cline ♥♥♥♡ […]