The Battle of Algiers

The Battle of Algiers (1966) Italian,  : Gillo Pontecorvo ♥♥♥♥

(6/9/2023) ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง วิถีแห่งสมรภูมิรบได้ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง! กลายมาเป็นการต่อสู้ของคณะปฏิวัติ โต้ตอบกลับการใช้อำนาจรัฐ เพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียม, คว้ารางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice

The Battle of Algiers (1969) ถือเป็นภาพยนตร์แนวสงคราม (War Film) เรื่องแรกๆของโลกที่ตีแผ่สงครามรูปแบบใหม่ (ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ไม่ใช่การกรีฑาทัพ เผชิญหน้าในสนามรบ ดวลดาบ ดวลปืน ดวลยุทโธปกรณ์ (บก-เรือ-อากาศ) ใครพวกมาก วางแผนดีกว่า ย่อมสามารถได้รับชัยชนะเหนืออีกฝั่งฝ่าย

แต่การสู้รบยุทธการ Algiers คือการเผชิญหน้าระหว่างทหาร vs. ประชาชน (กบฎ/ผู้ก่อการร้าย) พวกเขาเป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน แตกต่างด้วยอุดมการณ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ต้องการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม (ในกรณีของหนังคือปลดแอกจากประเทศอาณานิคม) ฝั่งหนึ่งเต็มไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ (ที่ควรสำหรับใช้ปกป้องประเทศจากภัยภายนอก) แต่อีกฝ่าย(อาจ)ไม่มีอะไรนอกจากตัวและหัวใจ

เอาจริงๆตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก็มีหลากหลายประเทศที่สามารถปลดแอกอาณานิคม อาทิ Syria (ค.ศ. 1946), India-Pakistan (ค.ศ. 1947), Libya (ค.ศ. 1951), Ghana (ค.ศ. 1957), Morocco & Tunisia (ค.ศ. 1959) ฯ จะว่าไปอิสรภาพของ Algeria ค.ศ. 1962 ค่อนข้างจะเชื่องช้ากว่าใคร แต่เพราะ The Battle of Algiers (1966) คือภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำเสนอแนวคิด วิธีการ เผชิญหน้าระหว่างกลุ่มต่อต้าน/คณะปฏิวัติ vs. กองทัพทหาร และทำออกมาได้ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ เลยได้รับการยกย่องกล่าวขวัญ หนึ่งใน “Best War Films of All Time”

ผมหวนกลับมารับชม The Battle of Algiers (1966) หลังจากพานผ่านหลากหลายผลงาน ‘Political Thriller’ ของผกก. Costa-Gavras อาทิ Z (1969), The Confession (1970), โดยเฉพาะอย่างยิ่ง State of Siege (1972) เลยพบเห็นความละม้ายคล้ายคลึง (ที่แทบจะโคลนนิ่งกันมา) เลยเกิดความตระหนักถึงอิทธิพล การเป็นต้นแบบหนังสงครามรูปแบบใหม่

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผมต้องยกย่องสรรเสริญ The Battle of Algiers (1966) คือลีลาการนำเสนอสไตล์สารคดี (documentary-like) ใช้นักแสดงสมัครเล่น ถ่ายทำยังสถานที่จริง (รับอิทธิพลจาก Italian Neorealist) ทั้งๆไม่มีช็อตฉากไหนใช้ภาพจาก Archive Footage ผลลัพท์กลับออกมารุนแรง จับต้องได้ ราวกับผู้ชมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสมรภูมิรบ … รับชมปัจจุบัน ยังคงสมจริง ไม่รู้สึกเก่าเลยสักนิด!

One of the most beautiful I have ever seen. [The Battle of Algiers (1966)]’s just as important for our times as the works of Griffith, Leni Riefenstahl, Carl Dreyer and Luchino Visconti were for theirs.

นักวิจารณ์ Robert Sitton จากนิตยสาร The Washington Post

The Battle of Algiers (1966), a great film by the young Italian director Gillo Pontecorvo, exists at this level of bitter reality. It may be a deeper film experience than many audiences can withstand: too cynical, too true, too cruel and too heartbreaking. It is about the Algerian war, but those not interested in Algeria may substitute another war; The Battle of Algiers has a universal frame of reference.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ให้คะแนน 4/4 พร้อมจัดเป็น Great Movie

All films are, in a sense, false documentaries. One tries to approach reality as much as possible, only it’s not reality. There are people who do very clever things, which have completely fascinated and fooled me. For example, The Battle of Algiers. It’s very impressive.

I couldn’t really understand what cinema was capable of without seeing The Battle of Algiers.

ผู้กำกับ Stanley Kubrick

Gillo Pontecorvo (1919-2006) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่เมือง Pisa ในครอบครัวชาวยิว บิดาเป็นนักธุรกิจฐานะร่ำรวย โตขึ้นเข้าเรียนสาขาเคมี University of Pisa แต่ผ่านไปสองเทอมตัดสินใจลาออก เพราะรับไม่ได้กับทัศนคติของเพื่อนนักศึกษาและคณาจารย์ ต่อต้านชาวยิว (Anti-Semitic) อพยพมุ่งสู่ Paris ทำงานนักข่าว ครูสอนเทนนิส แล้วมีโอกาสช่วยงานผกก. Joris Ivens, Yves Allégret, และยังได้สนิทสนม Pablo Picasso, Igor Stravinsky, Jean-Paul Sartre ฯ

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง Pontecorvo สมัครเข้าร่วม Italian Communist Party กลายเป็นผู้นำกลุ่มต่อต้านในเมือง Milan ทั้งยังทำงานบรรณาธิการนิตยสาร Pattuglia (ระหว่างปี ค.ศ. 1948-50) แต่หลังจากพบเห็นพฤติกรรมสหภาพโซเวียตระหว่าง Hungarian uprising (1956) จึงตัดสินใจลาออกแล้วหันมาฝักใฝ่ Marxism

The burning passion of Pontecorvo acts directly on your emotions. He is the most dangerous kind of Marxist: a Marxist poet.

นักวิจารณ์ Pauline Kael กล่าวถึงผู้กำกับ Gillo Pontecorvo

หลังสงครามโลกสิ้นสุด Pontecorvo เดินทางกลับอิตาลี เมื่อได้รับชม Paisà (1946) ตัดสินใจซื้อกล้อง 16mm ฝึกฝนถ่ายทำสารคดีขนาดสั้น จนได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Wide Blue Road (1957), ติดตามด้วย Kapò (1960), The Battle of Algiers (1966), Burn! (1969) ฯ

สำหรับ The Battle of Algiers (1966) ต้นฉบับคือหนังสือ Souvenirs de la Bataille d’Alger (1962) เขียนโดย Saadi Yacef (ร่วมแสดงในหนังด้วยนะครับ) หนึ่งในแกนนำแนวร่วมปลดปล่อยชาติ National Liberation Front (ชื่อฝรั่งเศส Front de Libération Nationale เรียกย่อๆ FLN) เขียนขึ้นระหว่างถูกควบคุมขัง เป็นนักโทษในเรือนจำฝรั่งเศส ได้รับการปล่อยตัวภายหลัง Algeria ประกาศอิสรภาพ ค.ศ. 1962

หนังสือเล่มดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล Algeria อนุญาตให้ทำการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ โดยแกนนำอีกคน Salash Baazi ขณะนั้นลี้ภัยอยู่อิตาลี ตอนแรกติดต่อเข้าหา Francesco Rosi แต่ติดพันโปรเจค Hands over the City (1963), ตามด้วย Luchino Visconti ต่อรองไม่ลงตัว, ก่อนลงเอยผู้กำกับ Gillo Pontecorvo ร่วมงานนักเขียน Franco Solinas (1927-82)

People followed political events much more than you can imagine, “the affairs of others,” and Algeria in particular. So not just me, but Solinas too … we both passionately followed the newscasts that reported the daily events happening in Algeria.

Gillo Pontecorvo

Pontecorvo และ Solinas ครุ่นคิดจะสรรค์สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับการสู้รบยุทธการ Algiers มาตั้งแต่ก่อนหน้า Algeria จะประกาศอิสรภาพเสียอีก! เคยเดินทางไปพบปะ พูดคุยกับสมาชิก เก็บรวบรวมข้อมูล ให้ความสนใจจุดเริ่มต้น(จนล่มสลาย)ของ FLN ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1954-57

เมื่อ Pontecorvo และ Solinas ตอบตกลงจะสรรค์สร้างภาพยนตร์ The Battle of Algiers (1966) ทั้งสองเดินทางมาปักหลักอาศัยอยู่ Algeria นานถึงสองปีเต็ม เพื่อซึมซับบรรยากาศ พบปะผู้คน เรียนรู้จักวิถีชีวิต พูดคุยรายละเอียดกับ Saadi Yacef จนกลายเป็นเพื่อนสนิทสนม

บทดัดแปลงของ The Battle of Algiers มีความซื่อตรงต่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง (ก็เพราะมี Saadi Yacef เป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด) เพียงปรับเปลี่ยนชื่อตัวละคร โดยเฉพาะ Colonel Mathieu เป็นการผสมผสานเจ้าหน้าที่ทหารฝรั่งเศสระดับสูงหลายคน อาทิ Jacques Massu, Marcel Bigeard, Roger Trinquier ฯ เพื่อไม่ให้เรื่องราวซับซ้อนวุ่นวายเกินไป


การสู้รบยุทธการ Algiers เกิดขึ้นย่าน Casbah สถานที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมในกรุง Algiers เมืองหลวงอาณานิคม Algeria (French Algeria หรือ Colonial Algeria) ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1954 ถึงธันวาคม ค.ศ. 1957

ครึ่งแรกนำเสนอผ่านมุมมองโจรกระจอก Ali La Pointe หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ถูกทาบทามโดย Saadi Yacef ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกแนวร่วมปลดปล่อยชาติ National Liberation Front (FLN) ปฏิบัติภารกิจก่อการร้าย ลอบสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ วางระเบิดสถานที่สำคัญๆ และนัดหมายชาวมุสลิมให้ประท้วงหยุดงาน

นั่นทำให้ครึ่งหลังรัฐบาลฝรั่งเศสส่งกองทัพทหาร นำโดย Colonel Philippe Mathieu (รับบทโดย Jean Martin) อดีตสมาชิกกลุ่มต่อต้านนาซี และมีประสบการณ์จากสงครามเวียดนาม รับหน้าที่รักษาความสงบ ใช้ยุทธวิธีปิดล้อมย่าน Casbah ปูพรมค้นหา จับกุมผู้ต้องสงสัยมาเค้นหาความจริง จนสามารถติดตามตัวผู้ก่อการร้ายทั้งหมด รวมถึง Saadi Yacef และ Ali La Pointe


Jean Martin (1922-2009) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งสอง เข้าร่วมกลุ่มต่อต้านนาซี (French Resistance) ต่อมาอาสาสมัครพลโดดร่มในสงครามอินโดจีน, ปลดประจำการออกเป็นนักแสดงละครเวที เริ่มมีผลงานภาพยนตร์ Paris Belongs to Us (1961), The Nun (1966), แจ้งเกิดกับ The Battle of Algiers (1966), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ My Name is Nobody (1973), The Day of the Jackal (1973) ฯ

รับบท Colonel Philippe Mathieu ได้รับมอบหมายจัดการแนวร่วมปลดปล่อยชาติ National Liberation Front (FLN) มองศัตรูไม่ต่างจากพยาธิตัวตืด (Tapeworm) ต้องกำจัดแบบถอนรากถอนโคน เด็ดหัวผู้นำ องค์กรนี้ก็จะพังทลาย ใช้ยุทธวิธีปิดล้อมย่าน Casbah ปูพรมค้นหา จับกุมผู้ต้องสงสัยมาทัณฑ์ทรมาน ซักทอดสมาชิก โดยไม่สนเสียงวิพากย์วิจารณ์ จนสามารถติดตามตัวผู้ก่อการร้ายทั้งหมด

ด้วยอิทธิพล Italian Neorealist ผกก. Pontecorvo จึงเลือกใช้นักแสดงสมัครเล่น/ชาวบ้านในย่าน Casbah ยกเว้นเพียง Colonel Mathieu ที่เป็นนักแสดงอาชีพ เพื่อสร้างความแตกต่าง(ระหว่างนักแสดงสมัครเล่น vs. อาชีพ) ตัดสินใจเลือก Jean Martin จากฟากฝั่งละครเวที เพราะไม่คุ้นหน้าจากโทรทัศน์/ภาพยนตร์

บุคลิกภาพของ Martin ดูสง่าผ่าเผย วางมาดเหมือนชนชั้นสูง ผู้ดีฝรั่งเศส เพราะพานผ่านประสบการณ์สู้รบมามาก (แบบเดียวกับตัวละคร) จึงมีความรอบรู้ ดุดัน ไม่เกรงใจใคร ขณะเดียวกันก็ดูเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตนเอง พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ภารกิจลุล่วง ในตอนแรกสนเพียงกำจัดภัยพาล แต่หลังจากพูดคุย ทำความรู้จักศัตรู ก็ไม่อยากทำลายอีกฝั่งฝ่ายให้ถึงขั้นสูญเสียชีวิต (ถ้าพวกเขาไม่หัวดื้อรั้นจนเกินไป)

อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า Colonel Mathieu คือส่วนผสมของเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงหลายคน จึงถือได้ว่าเป็นตัวตายตัวแทน ‘ฝรั่งเศส’ รวมถึงบุคลิกภาพ คำพูดคำจา ท่าทางแสดงออก ซึ่งถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างมากว่าดูดีเกินไป … แต่ตัวละครนี้ต้องถือว่าสะท้อนความเป็น ‘ฝรั่งเศส’ ได้อย่างชัดเจนมากๆ

[Colonel is] elegant and cultured, because Western civilization is neither inelegant nor uncultured.

คำโต้ตอบกลับของผู้เขียนบท Franco Solinas

การแสดงของ Martin แน่นอนว่าต้องโดดเด่นกว่าใคร แต่เขาก็มีปัญหาระหว่างถ่ายทำอยู่ไม่น้อย เพราะถูกผกก. Pontecorvo พยายามควบคุมไม่ให้แสดงออกเกินหน้าเกินตา เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย มุ่งเน้นความกลมกลืน(ให้เข้ากับบรรดานักแสดงสมัครเล่น) แค่ว่าผู้ชมสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

เกร็ด: Jean Martin เป็นหนึ่งในบุคคลลงนาม Manifesto of the 121 เมื่อปี ค.ศ. 1960 เนื้อความต่อต้าน Algerian War ไม่ยินยอมรับการใช้ความรุนแรง ทัณฑ์ทรมาน และเรียกร้องให้ Algeria ได้ประกาศอิสรภาพ … ตรงกันข้ามกับตัวละครนี้โดยสิ้นเชิง!


Saadi Yacef (1928-2021), ياسف سعدي แกนนำแนวร่วมปลดปล่อยชาติ National Liberation Front (FLN) เกิดย่าน Casbah ในกรุง Algiers โตขึ้นฝึกงานเป็นคนอบขนมปัง พออายุ 17 เข้าร่วมพรรคชาตินิยม Parti du Peuple Algérien ก่อนเปลี่ยนเป็น Mouvement pour le Triomphe des Libertes Democratiques (MTLD) หลังถูกยุบพรรค อพยพย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส ก่อนหวนกลับ Algeria ตั้งใจจะทำงานอบขนมปังอย่างจริงจัง แต่กลับได้เข้าร่วม FLN ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1954 ไต่เต้าจนกลายเป็นผู้นำปฏิบัติการ (Military Chief) จนกระทั่งถูกล้อมจับวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1957 ตัดสินโทษประหารชีวิต! แต่ได้รับการอภัยโทษจาก Charles de Gaulle และปล่อยตัว ค.ศ. 1962

นอกจากเป็นที่ปรึกษาให้กับหนัง Yacef (และภรรยา) ยังรับเล่นเป็นตนเองแต่เปลี่ยนชื่อเป็น El-Hadi Jafar คือผู้ค้นพบ/ปลุกปั้น Ali la Pointe และยังเป็นหนึ่งในผู้นำปฏิบัติการ Zone Autonome d’Alger (Autonomous Zone of Algiers) ระหว่างปี ค.ศ. 1956-57 แจกจ่ายงานให้สมาชิกสาขาย่อย ลอบสังหาร วางระเบิด ก่อการร้าย ก่อนถูกจับกุมตัวระหว่างเรียกร้องให้ชาว Casbah ชุมนุมประท้วงหยุดงาน 7 วัน

ปล. ยุทธการ The Battle of Algiers เป็นแค่เพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งของ Algerian War (1954-62) เท่านั้นนะครับ!

ผมคงไม่วิพากย์ถึงการแสดงของทั้ง Saadi Yacef และ Brahim Haggiag (ผู้รับบท Ali La Pointe) เพราะพวกเขาต่างคือบุคคลทั่วไป ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้ การแสดงออกจึงเป็นไปตามบุคลิกภาพ สีหน้าท่าทาง สังเกตว่าใช้การพากย์เสียงทับ (เพื่อแก้ปัญหาจดจำบทสนทนาไม่ได้) เน้นความเป็นธรรมชาติ ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตที่พวกเขาพานผ่านสงคราม Algerian War


ถ่ายภาพโดย Marcello Gatti (1924-2013) ตากล้องสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่กรุง Rome เริ่มต้นทำงานเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ก่อนถูกจับติดคุกห้าปีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะทำลายภาพถ่ายท่านผู้นำ Benito Mussolini ในสตูดิโอ Cinecittà, หลังได้รับอิสรภาพกลายเป็นตากล้องเต็มตัว มีผลงานเด่นๆ อาทิ The Four Days of Naples (1962), The Battle of Algiers (1966), Chronicle of the Years of Fire (1975) ฯ

งานภาพของหนังรับอิทธิพลเต็มๆจาก Italian Neorealist เลือกใช้นักแสดงสมัครเล่น ถ่ายทำยังสถานที่จริง (ด้วยกล้อง Hand Held) เพียงแสงธรรมชาติเท่าที่มี เพื่อให้ออกมาสไตล์สารคดี (documentary-like) โดยไม่มีการใช้ Archive Footage สักกระเบียดนิ้วเดียว! แต่ถึงอย่างนั้นทุกรายละเอียดของ The Battle of Algiers (1966) มีการซักซ้อม ตระเตรียมการมาเป็นอย่างดี (เห็นว่าถ่ายทำเกินกว่า 20+ เทคทุกครั้ง เพื่อให้นักแสดง/ตัวประกอบดูเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า)

การใช้กล้องมือถือ (Hand Held) ทำให้ทุกลูกเล่นขยับเคลื่อนไหว แพนนิ่ง-ซูมมิ่ง-แทร็คกิ้ง มีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย สัมผัสอันตราย และมีความสมจริง (Realism) ซึ่งสามารถสะท้อนความจริง (Truth) ที่บังเกิดขึ้น ผู้ชมราวกับสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง รับรู้พบเห็น เข้าใจแนวคิด วิธีการ รวมถึงบังเกิดปฏิกิริยาต่อทุกสิ่งอย่างบังเกิดขึ้น

หนึ่งในความท้าทายของการถ่ายภาพ คือแดดที่ Algeria มีความเร่าร้อน จัดจ้าน (ทางตอนเหนือทวีปแอฟริกา อยู่ไม่ห่างจากทะเลทรายซาฮาร่า) ทำให้ต้องมีการพาดผ้าสีขาวเบื้องบน สำหรับบดบังแสงอาทิตย์ สำหรับชาว Algerian อาจไม่ใช่ปัญหาสักเท่าไหร่ (เพราะพวกเขาเคยชินกับสภาพอากาศลักษณะนี้) แต่คนยุโรปทั้งหลายต้องใช้เวลาปรับตัวไม่น้อยทีเดียว

อักความท้าทายยิ่งกว่าคือการกำกับฝูงชนจำนวนมาก ใครช่างสังเกตอาจค้นพบเส้นชอล์กขีดบนพื้น สำหรับกั้นแบ่งแยกตัวประกอบแต่ละฟากฝั่ง และยังมีการติดตั้งกล้องหลายตัว บันทึกภาพจากหลากหลายมุมมองพร้อมกัน เพื่อช่วยลดระยะเวลาถ่ายทำ … แต่ก็ต้องใช้เวลามากอยู่ดีเพราะการเรียกร้อง 20+ กว่าเทคในแต่ละช็อต ถือว่าผกก. Pontecorvo เข้าขั้น ‘Perfectionist’


ครั้งแรกที่ Ali La Pointe ได้พบเจอกับผู้นำปฏิบัติการ El-Hadi Jafar รับฟังแนวคิด วิธีการ อุดมการณ์แนวร่วมปลดปล่อยชาติ (FLN) พวกเขาพากันเดินขึ้นบนชั้นดาดฟ้า พบเห็นแสงไฟเบลอๆด้านหลัง เป็นดวงกลมๆคล้ายดาวดารา (สามารถสื่อถึงอุดมคติเพ้อฝัน เป้าหมายสูงสุดขององค์กร)

เช่นเดียวกับตอนกลางเรื่องเมื่อ Ali La Pointe ได้พบเจอ Larbi Ben M’hidi หนึ่งในหกผู้ก่อตั้งแนวร่วมปลดปล่อยชาติ (FLN) พากันขึ้นมาบนชั้นดาดฟ้า พูดเล่าแนวคิด วิธีการ สิ่งที่พวกเขากำลังจะทำต่อไป ด้านหลังแสงไฟเบลอๆเป็นดวงกลมๆ คล้ายดาวดาราเฉกเช่นเดียวกัน

ผมเคยวิพากย์วิจารณ์ไปว่าแผนผังองค์กร FLN ช่างดูละม้ายคล้ายพีระมิดของธุรกิจเครือข่าย แชร์ลูกโซ่ MLM (Multi-Level Marketing) ฐานด้านล่างมักไม่มีโอกาสรับรู้จักหัวบนๆ เพียงบุคคลระดับสูงกว่าตนไม่กี่ขั้น กลยุทธ์แบบนี้กลายเป็นต้นแบบที่ได้รับนิยมของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในหลายๆประเทศ (นี่มันชี้โพรงให้กระรอกชัดๆเลย) เพราะการจะสืบสาวราวเรื่องไปถึงหัวหน้าใหญ่แทบจะเป็นไปได้ยาก … แถมวิวัฒนาการองค์กรเครือข่ายในปัจจุบัน ยังได้พัฒนามาถึงต่อให้สูญเสียหัวหน้าใหญ่ ก็ไม่จำเป็นว่าองค์กรต้องล่มสลาย (คล้ายๆ Hydra ที่แม้ถูกตัดศีรษะ ก็ยังสามารถหงอกขึ้นใหม่ได้เอง)

ขอกล่าวถึง Front de Libération Nationale (FLN) หรือ National Liberation Front ก่อตั้งวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1954 ณ กรุง Cairo, Egypt โดยสมาชิกชาว Algerian หกคนประกอบด้วย

  • Mohamed Boudiaf
  • Krim Belkacem
  • Larbi Ben M’hidi
  • Mostefa Ben Boulaïd
  • Rabah Bitat
  • Mourad Didouche

จุดประสงค์เพื่อจุดชนวนสงคราม Algerian War of Independence (1954-62) เรียกร้องอิสรภาพ ปลดแอกจากอาณานิคมฝรั่งเศส Algérie française (French Algeria หรือ Colonial Algeria)

สำหรับ Larbi Ben M’hidi (1923-1957) ตอนแรกมีหน้าที่รับผิดชอบ หัวหน้ากองกำลัง Wilaya V (เขต Oran) ก่อนย้ายมาควบคุมปฏิบัติการ The Battle of Algiers โชคร้ายถูกจับกุมโดยพลร่มทหารฝรั่งเศส วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1957 ก่อนถูกประกาศว่าฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอในเรือนจำ วันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1957 แต่ความเป็นจริงนั้นอาจถูกทัณฑ์ทรมานจนเสียชีวิต ทนพิษบาดแผลไม่ไหวมากกว่า

หลังจัดการผู้นำปฏิบัติการค้นสุดท้าย Ali La Pointe สังเกตว่า Colonel Mathieu และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ต่างเดินพูดคุยระหว่างก้าวลงบันได เพื่อสื่อถึงภารกิจจัดการ FLN ในย่าน Casbah ได้เสร็จสิ้นลง! พวกเขาจึงรู้สึกผ่อนคลาย คาดว่าความสงบคงบังเกิดขึ้นสักระยะ แต่ถึงอย่างนั้น Algier ก็เพียงแค่เสี้ยวส่วนหนึ่งของประเทศ Algeria แม้สมรภูมินี้จะได้รับชัยชนะ ก็ไม่ได้แปลว่าสงครามจะสิ้นสุดลง

ตัดต่อโดย Mario Morra (Cinema Paradiso) และ Mario Serandrei (Il bidone, Rocco and His Brothers, The Leopard)

เรื่องราวของหนังเกิดขึ้นระหว่างยุทธการ Algiers ในย่าน Casbah สถานที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิม ณ กรุง Algiers เมืองหลวงอาณานิคม Algeria (French Algeria หรือ Colonial Algeria) ช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1954 ถึงธันวาคม ค.ศ. 1957 โดยสามารถแบ่งออกเป็นครึ่งแรก-หลัง

  • อารัมบท, สมาชิก FLN ชี้สถานที่หลบซ่อนตัวของ Ali La Pointe
  • เรื่องราวของ Ali La Pointe จากโจรกระจอกสู่หนึ่งในผู้นำปฏิบัติการ (Military Chief) ณ Zone Autonome d’Alger
    • โจรกระจอก Ali La Pointe ถูกตำรวจจับกุมตัว ส่งเข้าห้องคุมขัง พบเห็นการประหารชีวิตกีโยติน
    • หลังได้รับการปล่อยตัว Ali La Pointe ถูกทดสอบให้ลอบสังหารตำรวจ
    • พบเจอกับ El-Hadi Jafar ได้รับชักชวนให้เข้าร่วม FLN
    • ภารกิจลอบสังหารตำรวจ ทำให้ย่าน Casbah ถูกล้อมรั้วลวดหนาม ปิดตายจากโลกภายนอก
    • ยามค่ำคืนหลังเคอร์ฟิว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานตำรวจ โจมตีย่าน Casbah ด้วยระเบิด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
    • ชาวมุสลิมย่าน Casbah ออกเดินถนนชุมนุมประท้วง แต่ถูกยับยั้งโดย El-Hadi Jafar
    • El-Hadi Jafar มอบหมายภารกิจระเบิดสถานที่สำคัญให้กับสามหญิงสาว
  • ปฏิบัติการทางทหารของ Colonel Philippe Mathieu
    • Colonel Mathieu เดินทางมาถึง Algiers กล่าวสรุปแผนการจัดการ FLN
    • กองทัพฝรั่งเศสปูพรมค้นหาสมาชิก FLN
    • ด้วยวิธีการบางอย่าง กองทัพฝรั่งเศสสามารถซักทอดบรรดาผู้ต้องสงสัย จนได้รายชื่อสมาชิกคนสำคัญของ FLN
    • การถูกจับกุม และความตายในเรือนจำของ Larbi Ben M’hidi
    • Colonel Mathieu ล้อมจับ Ramel และ Si Murad แต่กลับส่งระเบิดลงในกระเป๋า
    • Colonel Mathieu ล้อมจับ El-Hadi Jafar ยินยอมมอบตัวร่วมกับภรรยา
    • Colonel Mathieu ล้อมจับ Ali La Pointe ปฏิเสธมอบตัว ถูกระเบิดเสียชีวิต
  • ปัจฉิมบท, ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1960 ประชาชนชาว Algerian ลุกฮือขึ้นมาเดินขบวน ชุมนุมประท้วง ต่อสู้เรียกร้อง จนในที่สุดได้รับการประกาศอิสรภาพวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1962

ลีลาการตัดต่อมีความรวดเร็ว กระชับ ฉับไว ดำเนินเรื่องสลับไปมาระหว่างฟากฝั่ง FLN vs. กองทัพทหาร และใช้ประโยชน์จากเทคนิค Montage ร้อยเรียงภาพเหตุการณ์ซ้ำๆหลายครั้ง เพื่อให้ผู้ชมสามารถแปะติดปะต่อเรื่องราวขณะนั้นๆ อาทิ ภารกิจลอบสังหาร ระเบิดสถานที่สำคัญๆ สายตาจับจ้องมองไปยังผู้คนรอบข้าง ปูพรมค้นหาผู้ก่อการร้าย สารพัดทัณฑ์ทรมาน ฯ


เพลงประกอบโดย Ennio Morricone (1928-2020) นักแต่งเพลง สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่กรุง Rome บิดาเป็นนัก Trumpeter เสี้ยมสอนบุตรชายให้เรียนรู้จักวิชาดนตรี เริ่มแต่งเพลงตั้งแต่อายุ 6 ขวบ สนิทสนมเพื่อนร่วมชั้นเรียน Sergio Leone ก่อนเข้าศึกษา Saint Cecilia Conservatory จบออกมาทำเพลงให้กับโรงละคร รายการวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Il Federale (1961), โด่งดังกับ Dollars Trilogy, The Battle of Algiers (1968), 1900 (1976), Days of Heaven (1978), The Thing (1982), Once Upon a Time in America (1984), The Mission (1986), The Untouchables (1987), Bugsy (1991), Malèna (2000), The Hateful Eight (2016)**คว้ารางวัล Oscar: Best Original Score

ในตอนแรกผกก. Pontecorvo ครุ่นคิดอยากทำเพลงประกอบหนังด้วยตนเอง แต่เพราะไม่มีความสามารถเรียบเรียงท่วงทำนองให้กลายเป็นออร์เคสตรา (ถูกตีตราว่าเป็น ‘melodist-composer’) จึงต้องขอความช่วยเหลือจาก Ennio Morricone ถึงอย่างนั้นหลายเดือนที่ร่วมงานกัน พวกเขากลับแทบไม่เคยเห็นพ้อง เกิดความขัดแย้งกันบ่อยครั้ง

จนกระทั่งวันหนึ่งผกก. Pontecorvo ติดอกติดใจท่วงทำนองหนึ่ง ฮัมเพลงไปจนถึงอพาร์ทเม้นท์ของ Morricone แต่ยังไม่ทันจะร้องให้ฟัง บังเอิญอีกฝ่ายบรรเลงท่วงทำนองเดียวกัน รู้สึกคาดไม่ถึง จากนั้นก็ไร้ซึ่งความขัดแย้งเห็นต่างใดๆ … แต่จริงๆแล้ว Morricone บอกว่าแอบได้ยินเสียงฮัมเพลงของ Pontecorvo เลยตั้งใจจะกลั่นแกล้งอีกฝ่าย ด้วยการแอบอ้างว่าได้ครุ่นคิดท่วงทำนองดังกล่าวขึ้นเอง

บทเพลงดังขึ้นระหว่าง Opening Credit ชื่อว่า Algeri: 1 Novembre 1954 พื้นหลังร้อยเรียงภาพปฏิบัติการของทหารฝรั่งเศส (ใช้เสียงรัวกลองของ Pierino Munari มอบสัมผัสความเป็นระเบียบแบบแผน ปฏิบัติการทำงานของทหาร/ตำรวจ) เข้าบุกตรวจค้น ห้อมล้อมสถานที่หลบซ่อนตัวของ Ali La Pointe สมาชิกคนสุดท้ายของ FLN ในย่าน Casbah มองผิวเผินเหมือนคือภารกิจแห่งชัยชนะ แต่นี่กลับเป็นเพียงจุดเริ่มเท่านั้นเอง!

Giugno 1956: Gli attentati (แปลว่า June 1956: The Attacks) ช่วงเวลาการโจมตี ปฏิบัติการลอบสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะมีการร้อยเรียงอยู่ 3-4 เหตุการณ์ เริ่มจากบุคคลลับๆล่อๆเดินติดตามอยู่เบื้องหลัง จากนั้นเมื่อถึงตำแหน่งเหมาะสม ก็ชักมีด/ชักปืนขึ้นมาทำร้ายอีกฝั่งฝ่ายให้ล้มลง

ปล. ใครเคยรับชม Dollars Trilogy น่าจะมักคุ้นกับท่วงทำนองยั่วน้ำจิ้มของ Ennio Morricone จัดจ้านในการสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระลึก ค่อยเป็นค่อยไปอย่างไม่รีบร้อน และเมื่อถึงเวลาภารกิจ ก็ใส่อารมณ์มาอย่างไม่บันยะบันยัง

Rue de Tebes บทเพลงแห่งความเศร้าโศกเสียใจ ภายหลังจากย่าน Casbah ถูก(ตำรวจ)ลักลอบวางระเบิดยามเคอร์ฟิว ทำให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตาย ร้อยเรียงภาพการช่วยเหลือที่เพิ่งเข้าถึงยามเช้า (เพราะไม่มีใครสามารถออกจากบ้านยามวิกาล) … นี่เป็นท่วงทำนองแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจของผกก. Pontecorvo ชัดเจนทีเดียวว่าเข้าข้างชาว Algerian

Il dolore sulla Casbah (แปลว่า The Pain on the Casbah) ท่วงทำนองแฝงความเจ็บปวดที่ค่อยๆทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ

Rebekka (1959) ขับร้องโดย The Chakachas วงดนตรีจากประเทศ Belgium แต่ขับ-ร้อง-เต้น ท่วงทำนองสามช่า (Cha Cha Cha) ด้วยภาษา Spanish มีความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง รับฟังแล้วอยากลุกขึ้นมาโลดเต้น เริงระบำ ใครกันจะไปคาดคิดถึงว่าช่วงเวลาสนุกหรรษา กลับบังเกิดเหตุการณ์เลวร้าย หายนะไม่มีใครคาดคิดถึง!

แม้เพลงประกอบของ Morricone จะช่วยเสริมหนังให้มีความตราตรึง ทรงพลัง แต่เทียบไม่ได้กับบทเพลง Rebekka (1959) ดังจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง (Jukebox) ในร้านนั่งดื่มแห่งหนึ่ง หนุ่มสาวฝรั่งเศสกำลังโยกเต้น ไม่มีใครสนใจอะไร (สามารถสื่อถึงชาวฝรั่งเศสที่มักไม่ค่อยสนใจสิ่งต่างๆรอบข้าง นอกจากตัวตนเอง) แล้วจู่ๆเกิดเหตุระเบิด มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากมาย … มันทำให้บทเพลงนี้กลายเป็นท่วงทำนองแห่งหายนะ (ฟังแล้วติดหูด้วยละ) จึงจดจำฝังใจไม่รู้ลืมเลือน

ทำไมถึงเลือกบทเพลงสามช่า? นอกจากความคาดไม่ถึง (เพราะนี่เป็นบทเพลงที่มีความสนุกสนาน นำสู่เหตุการณ์หายนะ) ผมครุ่นคิดว่าอาจต้องการให้สอดคล้อง ‘Sound Effect’ เสียงรัวกลอง Darabukka หรือ Algerian Drum (สร้างความลุ้นระทึก เหมือนเสียงหัวใจเต้นเร็วแรง) ดังขึ้นเป็นระยะๆตั้งแต่ El-Hadi Jafar มอบหมายภารกิจระเบิดสถานที่สำคัญๆให้หญิงสาวทั้งสาม

Luglio 1956: Gli attentati (แปลว่า July 1956: The Attacks) เป็นบทเพลงที่มีความตรงกันข้ามกับ Giugno 1956: Gli attentati (แปลว่า June 1956: The Attacks) เพราะสลับฟากฝั่งกองทัพทหาร บุกเข้าตรวจค้น ปูพรมย่าน Casbah ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำตัวลับๆล่อๆ แอบซ่อนอยู่เบื้องหลัง ใช้พลทหารนับร้อยพัน ยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ ใครกันจะสามารถต่อต้านขัดขืน ท่วงทำนองเลยไม่จำเป็นต้องยั่วน้ำจิ้มอีกต่อไป

Il dolore sulla Casbah (แปลว่า The Pain on the Casbah) ดังขึ้นหลังการปูพรมตรวจค้น ผู้คนจำต้องก้มหัวศิโรราบ ถูกทหารฝรั่งเศสกระทำร้ายร่างกาย สร้างความเจ็บปวดทรวงใน แต่กลับไม่สามารถโต้ตอบขัดขืน อดกลั้นฝืนทน สะสมอารมณ์เกรี้ยวกราด ระทมขมขื่น ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ

Tema di Ali (แปลว่า Ali’s Theme) มีอยู่สองบทเพลง #1 และ #2 ผมเลือกช่วงท้าย (#2) หลังจาก Ali La Pointe ถูกห้อมล้อมสถานที่หลบซ่อนตัว ปฏิเสธก้มหัวศิโรราบ ไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจทหารฝรั่งเศส ยินยอมตายดีกว่าทรยศขายชาติ ท่วงทำนองเพลงฟังดูเศร้าสร้อย ล่องลอย ไร้หนทางความหวัง กลายเป็นอีกหนึ่งความเจ็บปวดรวดร้าวที่ชาว Algerian เก็บสะสมอารมณ์อัดอั้น เฝ้ารอคอยสักวันจะสามารถโต้ตอบ ทวงสิทธิ ได้รับอิสรภาพกลับคืนมา

ขอกล่าวถึง ‘Sound Effect’ สักเล็กน้อย ถือเป็นอีกส่วนสำคัญของหนังที่ร่วมด้วยช่วยสร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก แฝงนัยยะความหมายอย่างลึกล้ำ ซึ่งยังมีการแบ่งแยกระหว่าง

  • สรรพเสียงของกองทัพทหารฝรั่งเศส ประกอบด้วยกระสุนปืน, เฮลิคอปเตอร์, เครื่องยนต์รถ ฯ
  • ส่วนสรรพเสียงของ FTL จะมีระเบิด, ฝูงชน, เสียงร้องโหยหวน (มีคำเรียก Ululation) ฯ

ไฮไลท์ก็คือเสียงรัวกลอง Darabukka หรือ Algerian Drum เครื่องดนตรีพื้นเมืองอาหรับ มีลักษณะเหมือนถ้วยกระเบื้อง (กุณโฑ) แต่ทำจากไม้แกะสลักลวดลาย แล้วขึ้งด้วยหนังสัตว์ (ตีได้แค่ด้านเดียว)

The Battle of Algiers (1966) นำเสนอแนวคิด วิธีการ ปฏิบัติการของทั้งสองฟากฝั่งในการสู้รบยุทธการ Algiers ย่าน Casbah สถานที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมในกรุง Algiers เมืองหลวงอาณานิคม Algeria (French Algeria หรือ Colonial Algeria) ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1954 ถึงธันวาคม ค.ศ. 1957

  • แนวร่วมปลดปล่อยชาติ National Liberation Front (FLN) ในการเรียกร้องสิทธิ อิสรภาพให้กับ Algeria โดยเริ่มต้นทำตัวเหมือนผู้ก่อการร้าย ลอบสังหารตำรวจ วางระเบิดสถานที่สำคัญ ฯ ใช้ความรุนแรงเรียกร้องความสนใจจากนานาอารยะ จากนั้นปล่อยให้ปฏิบัติการกองทัพทหารฝรั่งเศส เปิดเผยสันดานธาตุแท้ของตนเอง
  • กองทัพทหารฝรั่งเศส ถูกส่งเข้ามาจัดการผู้ก่อการร้าย/แนวร่วมปลดปล่อยชาติ National Liberation Front (FLN) ด้วยวิธีปิดล้อม ปูพรมค้นหา ควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยมาทัณฑ์ทรมาน ซักทอดสมาชิก จับกุมผู้นำปฏิบัติการ (Military Chief) ถือเป็นการทำลายองค์กรย่านนี้ไปในตัว

แม้หนังพยายามนำเสนอเหมือนจากมุมมองบุคคลไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่หลายๆการตัดสินใจ/ไดเรคชั่นของผกก. Pontecorvo ชัดเจนพอสมควรว่าเข้าข้างชาว Algerian สนับสนุนการประกาศอิสรภาพ ต่อต้านลัทธิอาณานิคม (French Imperialism) จี้แทงใจดำจากความย้อนแย้งกันเองของ Colonel Mathieu ทั้งๆเคยเป็นสมาชิกกลุ่มต่อต้านนาซี (French Resistance) แต่กลับสนับสนุนให้ฝรั่งเศสยึดครอบครอง Algeria

Should France stay in Algeria? If your answer is still yes, then you must accept all the consequences.

Colonel Philippe Mathieu

ตั้งแต่ที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครอบครอง Algeria เมื่อปี ค.ศ. 1839 ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางทะเล อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ (ก๊าซ, น้ำมัน, ผลผลิตทางการเกษตร ฯ) และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักร้อนบนทวีปแอฟริกัน มีชาวฝรั่งเศสอพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานมากมาย ถึงขนาดว่าตั้งชื่อ Algérie Française หรือ French Algeria (เป็นอาณานิคมเดียวที่ผนวก ‘ฝรั่งเศส’ เข้าไปในชื่อประเทศ) อีกทั้งหลังการสูญเสียเวียดนามในสงครามอินโดจีน, First Indochina War (1946-54) ทำให้ฝรั่งเศสพยายามดื้อรั้น ดึงดัน ไม่ต้องการมอบอิสรภาพให้แก่ Algeria

การสู้รบยุทธการ Algiers แม้ชัยชนะตกเป็นของกองทัพทหารฝรั่งเศส สามารถถอนรากถอนโคนสมาชิก FLN ในย่าน Casbah แต่ผลลัพท์ของทั้งสงคราม Algeria War กลับเป็นฝรั่งเศสประสบพ่ายแพ้ย่อยยับเยิน (จะมองว่าความพ่ายแพ้ The Battle of Algiers คือหนึ่งในแรงกระตุ้นผลักดันก็ได้กระมัง) เมื่อประชาชนทั่วทั้งประเทศลุกฮือขึ้นมาชุมนุม ประท้วงต่อต้าน ปะทะด้วยความรุนแรง ไร้ซึ่งความหวาดกลัวเกรง ใช้วิธีการไหนเข้าจัดการก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนสุดท้ายฝรั่งเศสจึงจำยินยอมต้องร่ำลาจากไป ด้วยความอับอายขายขี้หน้า ไม่ต่างจากสงครามอินโดจีนที่ผ่านมา

ในมุมมองของชาว Algerian น่าจะครุ่นคิดเห็นว่า The Battle of Algiers (1966) คือภาพยนตร์แห่งชัยชนะ! จุดเริ่มต้นแนวร่วมปลดปล่อยชาติ National Liberation Front (FLN), นำเสนอพฤติกรรมไร้มนุษยธรรมของทหารฝรั่งเศส และการพลีชีพเยี่ยงวีรบุรุษของ Ali La Pointe กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย แม้วันนี้จักพ่ายแพ้ แต่สักวันประเทศชาติต้องได้รับอิสรภาพ

ผกก. Pontecorvo หลังหลุดพ้นจากวังวนคอมมิวนิสต์ ก็หันมาฝักใฝ่ลัทธิ Marxism ต่อต้านระบอบทุนนิยม ไม่ชมชอบการถูกกดขี่ข่มเหง เรียกร้องให้ชนชั้นแรงงาน/กรรมาชีพ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในสังคม สะท้อนเข้ากับชนชาว Algerian พยายามหาหนทางปลดแอกอาณานิคม ให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียม ไม่ตกเป็นขี้ข้าทาสของหมาอำนาจใดอีก


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice เสียงตอบรับดียอดเยี่ยม “Universal Acclaim” จนสามารถคว้ามาทั้งหมด 3 รางวัล ประกอบด้วย

  • Golden Lion
  • FIPRESCI Prize
  • Award of the City of Venice

ช่วงปลายปีหนังเป็นตัวแทนประเทศอิตาลี สามารถเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film และอีกสองปีถัดมาเมื่อเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ยังได้เข้าชิง Oscar อีกสองสาขา, สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสาขา Best Foreign Language Film นับจากปีที่เข้าฉายในประเทศต้นทางนั้นๆ ส่วนสาขาอื่นๆนับจากปีที่เข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ทำให้ภาพยนตร์เข้าฉาย(สหรัฐอเมริกา)ล่าช้า จะสามารถเข้าชิง Oscar ต่างปีกัน!

  • ปี ค.ศ. 1967
    • เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film พ่ายให้กับ A Man and a Woman (1966)
  • ปี ค.ศ. 1969
    • เข้าชิง Oscar: Best Director พ่ายให้กับ Carol Reed ภาพยนตร์ Oliver! (1968)
    • เข้าชิง Oscar: Best Original Screenplay พ่ายให้กับ The Producers (1967)

โดยปกติหนังการันตีคุณภาพเช่นนี้ ย่อมมีโอกาสเข้าฉายฝรั่งเศสโดยทันที แต่เพราะสงคราม Algerian War ยุคสมัยนั้นยังมีความละเอียดอ่อนไหว (เพราะมีลักษณะวิพากย์วิจารณ์ French Imperialism) เลยถูกรัฐบาล(ฝรั่งเศส)สั่งแบนห้ามฉายนานหนึ่งปี แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีค่ายจัดจำหน่ายไหนให้ความสนใจ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1970 แต่ก็ต้องเลื่อนเข้าฉายอีกปี ค.ศ. 1971 เพราะการมาถึงของกลุ่มผู้ก่อการร้าย Organisation Armée Secrète (OAS) แม้แต่ผกก. Pontecorvo ยังได้รับจดหมายขู่ฆ่า

ความยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลาของหนัง การันตีจากการติดอันดับชาร์ทภาพยนตร์ “Greatest Films of All Time” จากหลากหลายสำนัก อาทิ

  • Sight & Sound: Critic’s Poll (2012) ติดอันดับ 48 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Director’s Poll (2012) ติดอันดับ 26 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Critic’s Poll (2022) ติดอันดับ 45 (ร่วม)
  • Sight & Sound: Director’s Poll (2022) ติดอันดับ 22 (ร่วม)
  • Empire: 500 Greatest Movies of All Time (2008) ติดอันดับ 120
  • Empire: 100 Best Films of World Cinema (2010) ติดอันดับ 6
  • The Guardian: The Greatest Foreign Films of All Time (2007) ติดอันดับ 5

ในขณะที่ฉบับของ Criterion Collection เมื่อปี ค.ศ. 2011 ขึ้นข้อความแค่ว่าสแกน High-Definition ผ่านการตรวจสอบโดย Marcello Gatti แต่ล่าสุดผมเห็น Blu-Ray คุณภาพ 4K Remaster ของค่าย Cult Film ได้รับการบูรณะโดย Fondazione Cineteca di Bologna ร่วมกัน Istituto Luce – Cinecitta แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ. 2018

The 4K restoration of The Battle of Algiers was made from the original camera and sound negatives. The overlays of both the original Italian and Franco-Arabic versions have been digitally reconstructed using a period dupe negative and recombined on a period dupe positive background. A 1966 print, made available by the director’s family, was used as reference for reconstruction and grading. During the color correction, supervised by Marco Pontecorvo, the best efforts were made to replicate the grainy and contrasted look originally conceived by director Gillo Pontecorvo.

ครั้งแรกที่ผมรับชม The Battle of Algiers (1966) ก็สัมผัสได้ถึงความยอดเยี่ยมทรงพลัง แต่การจะเข้าถึงความยิ่งใหญ่เหนือกาลเวลาของหนังนั้น อาจต้องพานผ่านภาพยนตร์แนวสงคราม/การเมืองยุคถัดๆมา แนะนำให้ลองหาผลงานของผกก. Costa-Gavras อาทิ Z (1969), The Confession (1970), State of Siege (1972) ฯ แล้วจะพบเห็นความละม้ายคล้ายคลึงอันน่าอึ่งทึ่ง ตระหนักถึงอิทธิพล ความสำคัญ ต้นแบบหนังสงครามรูปแบบใหม่

ไม่ใช่แค่กับหนังแนวสงคราม/การเมืองเท่านั้นนะครับ The Battle of Algiers (1966) ยังสร้างอิทธิพลให้กับ Traffic (2000), Argo (2012), The Dark Knight Rises (2012), Dunkirk (2017) ฯ

จัดเรต 18+ กับความรุนแรง ก่อการร้าย ระหว่างสงคราม Algerian War

คำโปรย | The Battle of Algiers จุดประกาย(ภาพยนตร์)สงครามยุคสมัยใหม่ การต่อสู้ของคณะปฏิวัติ โต้ตอบกับการใช้อำนาจของรัฐ เพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาคเท่าเทียม
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ทรงพลัง


 The Battle of Algiers

The Battle of Algiers (1966) : Italy – Gillo Pontecorvo

(2/4/2016) หนังอิตาลีรางวัล Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice เรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ของกลุ่มคณะปฏิวัติ National Liberation Front (FLN) ในประเทศ Algeria ที่ต้องการแยกตนเป็นอิสระจากการปกครองของฝรั่งเศส โดยผู้กำกับ Gillo Pontecorvo สร้างสรรค์เพลงประกอบโดย Ennio Morricone หนังติดอันดับ 48 นิตยสาร Sight & Sound และอันดับ 6 จาก The 100 Best Films Of World Cinema ของนิตยสาร Empire

ผมค่อนข้างสับสนกับสัญชาติหนัง ให้ถือว่า The Battle of Algiers เป็นหนังอิตาลีนะครับ แม้หนังทั้งเรื่องจะใช้นักแสดงชาว Algerian และ French ไม่มีนักแสดงอิตาเลี่ยนหรือพูดภาษาอิตาลีเลย (หนังภาษา Arabic กับ French) แต่ทีมงานผู้สร้าง โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับยกมาจากอิตาลีทั้งหมด เลยต้องถือว่านี่เป็นหนังสัญชาติอิตาลี ผู้กำกับ Gillo Pontecorvo เขามีหนังที่กำกับน้อยมาก ถ้าไม่นับที่เป็นสารคดี มีแค่ 5 เรื่องเท่านั้นที่เป็นหนังยาว เขาให้เหตุผลคล้ายๆกับ Quentin Tarantino ว่าการสร้างหนังต้องใช้พลังมาก มันต้องเป็นสิ่งที่เขาสนใจมากจริงๆถึงจะสามารถทุ่มเทเสียเวลาหลายปีให้กับหนังเรื่องหนึ่งได้ ในบรรดาผลงานของ Pontecorvo หนังเรื่อง The Battle of Algiers ถือว่าได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุด เพราะมีเรื่องราวที่สมจริงมากๆ โดยเฉพาะการต่อสู้กับองค์กรที่มีรูปแบบองค์กรเป็น guerrilla unit นี่คือหนังที่คนทำงานเป็นทหาร-ตำรวจควรหามาดูเลยนะครับเพื่อเป็นโลกทัศน์เกี่ยวกับการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย ครั้งหนึ่งหนังเคยไปฉายที่ Petagon และกลายเป็นที่ถกเถียงกันมาก ว่ากันว่าทหารอเมริกาใช้วิธีการเดียวกับหนังเรื่องนี้ในการทำสงครามสู้กับ Iraq เลยทีเดียว

Algerian War หรือ Algerian War of Independence หรือ Algerian Revolution เกิดขึ้นในช่วงระหว่าง ค.ศ.1954 ถึง ค.ศ.1962 ชื่อก็บอกแล้วนะครับว่าเป็นสงครามที่ต่อสู้เพื่อการแยกตัวเป็นอิสระจากฝรั่งเศสที่เข้ายึดครอง Algeria มากว่า 100 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1830 สมัยยุคล่าอาณานิคม ใครนึกถึงแผนที่โลกไม่ออกจินตนาการตามนะครับ Algeria อยู่ทวีปแอฟริกาตอนบนสุด อยู่ติดกับ Morocco ถ้าล่องเรือข้ามทะเลขึ้นไปยุโรป ก็จะเจอกับสเปนและฝรั่งเศสพอดี ในสงครามนี้ National Liberation Front หรือชื่อย่อ FLN ก่อตั้งขึ้นวันที่ 1 พฤศจิกายน 1954 โดยมีจุดประสงค์ให้ต่างชาติ (UN-United Nation) รองรับการเป็นอิสรภาพของของประเทศ Algeria เหนือการปกครองครองฝรั่งเศส วิธีการของพวกเขาในช่วงแรกคือการลอบสังหารทหาร-ตำรวจของฝรั่งเศส และมีการระเบิดสถานที่ราชการ-หน่วยงานของสัญชาติฝรั่งเศส การสร้างความรุนแรงนี้ก็เพื่อขับไล่ให้ชาวฝรั่งเศสออกจากประเทศ แต่กลับกันฝรั่งเศสตอบโต้กลับด้วยการส่งทหารจำนวนมากเข้ามาเพื่อควบคุม ทำการจับกุมผู้มีแนวโน้มกระทำความผิด นำมาทรมานเพื่อให้คายความลับออกมา … ใครอยากรู้รายละเอียดให้ดูหนังเอานะครับ … จุดจบของสงครามเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 1960 UN ยอมรับข้อเสนอของ Algeria และเปิดให้มีการเจรจา เกิดเป็นการโหวตลงประชามติแห่งชาติเพื่อแยกตัวเป็นอิสระ  มีการโหวต 2 ครั้ง ครั้งแรกก็โหวตชนะนะครับ แต่เหมือนจะมีปัญหาบางอย่างทำให้เกิดโหวตครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1962 ผลคือ 99.72% สนับสนุนให้ประเทศเป็นอิสระ และฝรั่งเศสยอมประกาศให้ Algeria เป็นอิสระเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1962

ดัดแปลงมาจาก Souvenirs de la Bataille d’Alger เขียนขณะอยู่ในคุกโดย Saadi Yacef หนึ่งในผู้นำคณะปฏิวัติ FLN ซึ่งหลังจากที่สงครามยุติ Yacef ได้กลายมาเป็นหนึ่งในคณะรัฐบาลของ Algeria เห็นว่าบทหนังแรกของ Yacef มีแต่คำบรรยาย ไม่มีบทพูดหรือ plot เลย ทำให้โปรดิวเซอร์ต้องไปจ้าง Franco Solinas นักเขียนบทชาวอิตาเลี่ยน เลยเข้ามาดัดแปลงต่อ ใส่บทพูดและสร้างเนื้อเรื่องให้กับหนัง เพิ่มมุมมองของกองทัพทหารฝรั่งเศสเข้าไปด้วย เพื่อไม่ให้ดูเหมือนว่าพวกเขากำลังเล่าเหตุการณ์แค่ด้านเดียว

สำหรับตัวละครและนักแสดง ผู้กำกับ Pontecorvo เลือกที่จะใช้นักแสดงสมัครเล่นเกือบทั้งหมด เว้นแต่ Colonel Mathieu ของฝรั่งเศส ที่เลือกใช้ Jean Martin (สัญชาติฝรั่งเศส) ที่เป็นนักแสดงอาชีพ แต่เขาก็ไม่ถือว่าดังมากนัก เคยรับงานการแสดงภาพยนตร์บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงละครเวที ถือเป็นความจงใจของผู้กำกับ เพราะเขาไม่ต้องการนักแสดงที่คนส่วนใหญ่จำหน้าได้ ตัวละคร Mathieu นี้ถือว่าเป็นตัวละครที่สร้างขึ้นใหม่ ไม่มีตัวตนจริงๆในช่วงสงคราม เหตุผลเพราะไม่อยากให้นายพลตัวจริงกลายเป็นจำเลยที่ถูกตราหน้าจากคนทั่วโลก กระนั้นตัวละครนี้ก็มีส่วนผสมจากนายพลจริงๆที่มีส่วนร่วมในสงครามนี้ ภาพลักษณ์ของตัวละครนี้คือ”elegant and cultured” ซึ่ง Jean Martin ก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีสไตล์ (ช่วงระหว่างถ่ายทำ Pontecorvo วิตกไม่น้อย กลัวว่า Martin จะออก elegant มากไป แต่ผลลัพท์ก็ออกมาถือว่าใช้ได้เลย)

Saadi Yacef แสดงเป็นตัวเองในหนังด้วยนะครับ เหตุการณ์ในหนังทั้งหมดมาจากความทรงจำของเขา คงมีเปลี่ยนแปลงบ้างนิดหน่อย (เพื่อให้ตัวเองดูดี) ขณะที่ Brahim Haggiag ที่แสดงเป็น Ali la Pointe บทนี้ถือว่าครั้งเดียวในชีวิต เป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมมากๆ จนผมต้องขอออกปากชม เหมือนเขาเกิดมาเพื่อรับบทเป็น Ali โดยเฉพาะ

ถ่ายภาพโดย Marcello Gatti หนังเรื่องนี้ถ่ายด้วยภาพขาว-ดำ เพื่อลดความรุนแรงลง และมีการทดลองหลายๆอย่างในสไตล์ neo-realism แนวนี้อิตาลีจะเรียกว่า Italian-neorealism ผู้นำลัทธินี้คือ Roberto Rossellini สไตล์การนำเสนอจะคล้ายๆสารคดีภาพขาว-ดำ ที่เหมือนข่าวภาคค่ำ (newsreel) มีเสียงบรรยายประกอบภาพเคลื่อนไหว เราจะเห็นมุมกล้องที่มักอยู่ติดพื้น ไม่มีการใช้เครน หรือยกกล้องให้สูงจากพื้น ให้รู้สึกเหมือนนักข่าวกำลังทำข่าว ที่มีความ”จริง” และสมจริง มีคนวิเคราะห์ว่าภาพของหนังเรื่องนี้เหมือนกับ นักข่าวที่เข้าไปทำข่าว มีหลายครั้งที่มีลักษณะเหมือน hand-held (มือถือกล้อง) บางครั้งเป็นเหมือนแอบถ่าย (แบบจงใจ) ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้นจริงๆ

ตัดต่อโดย Mario Morra และ Mario Serandrei คงต้องชมควบคู่ไปกับเทคนิคการถ่ายทำ การตัดต่อถือว่าลงตัวมากๆ สร้างจังหวะรับกับเรื่องราวและเพลงประกอบได้ลงตัวสุดๆ มันอาจจะรู้สึกแปลกนิดๆที่ตอนต้นเรื่อง หนังนำเสนอเหตุการณ์ที่กำลังเป็นเหมือนจุดจบของ FLN แล้วทำการย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น นี่เป็นวิธีการทำให้คนดูเกิดความคาดหวัง เพราะเรารู้ว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร ดังนั้นตอนจบของหนังมันจึงไม่สำคัญ เรื่องราวของหนังที่ดำเนินไปต่างหากที่เป็นสิ่งน่าสนใจกว่า กระนั้นตอนจบของหนังสำหรับคนไม่รู้ประวัติศาสตร์ มันเป็นสิ่งที่คิดไม่ตกทีเดียว

ฉากจบขึ้นว่า “2 ปีผ่านไป for no particular reason that anyone could explain” ผู้คนรวมตัวกันตามท้องถนน ออกเดินขบวนรวมตัวกลายเป็นม็อบเต็มเมืองไปหมด ตำรวจไม่สามารถทำอะไรได้จนเกิดการประทะกัน มันเกิดอะไรขึ้น? ความพ่ายแพ้ของ FLN ทำให้เกิดการรวมตัวของฝูงชนเช่นนั้นเหรอ แต่ 2 ปีผ่านไป ไม่ใช่ขณะที่ FLN แพ้นะ! … หนังไม่มีคำตอบอะไรให้เราเลย มันไม่มีเหตุผลที่ใครสามารถอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น นี่คือเรื่องจริง ที่ดีๆวันหนึ่งประชาชนชาว Algerian พร้อมใจกันออกมาเดินเพื่อทวงคืนอิสระของชาติตัวเอง มีคนวิเคราะห์ไว้ว่า ชัยชนะของฝรั่งเศสต่อ FLN เมื่อ 2 ปีก่อนนั้นเป็นแค่ชัยชนะในแง่ยุทธวิธี แต่แพ้ใจชาว Algeria (It succeeds tactically, but fails strategically) คงเพราะ FLN ที่เปรียบเป็น tapeworms (พยาธิตัวตืด) ก่อนที่พวกมันจะถูกตัดหัวทิ้ง ได้ฝังไข่เต็มไปหมด และเมื่อเวลาผ่านไปไข่เหล่านั้นได้ฟักออกมา ณ จุดนั้นถึง tapeworms ตัวแรกจะตายไปแล้ว แต่ลูกๆของมันได้เติมโตขึ้น ทีนี้ก็ไม่มีใครจะหยุดมันได้อีกแล้ว

เพลงประกอบโดย Ennio Morricone นี่คือสิ่งที่ผมชอบมากที่สุดในหนัง มีการทดลองกับเสียงที่เจ๋งๆมากมาย ฉากผู้หญิง FLN ขณะกำลังวางระเบิด จะได้ยินเสียงกลองที่เหมือนเสียงเกือกม้า สร้างอารมณ์กดดันได้คงที่มากๆ เสียง ululation (เสียงร้องโหยหวน) เป็นเสียงที่น่ารำคาญแหลมบาดหูมากๆ แต่ก็เข้ากับบริบทของหนังได้สุดๆ เสียงปืน เฮลิคอปเตอร์ รถถัง เป็นตัวแทนเสียงของทหารฝรั่งเศส เสียงระเบิด เสียง ululation เสียงสวด เป็นตัวแทนของ FLN งานเพลงหนังเรื่องนี้ถือว่าล้ำมากๆนะครับ และปู่แกเพิ่งจะได้ Oscar 2016 ไป ใครที่ติดตามผลงานของปู่แกมาไม่ใช่จะมีแต่สไตล์ Western นะครับ The Battle of Algiers ที่เป็นแนว Warfare นี่แหละโดดเด่นสุดๆเลย

มีเพลงหนึ่งที่ผมไปเจอใน Youtube เข้า เป็นเพลงในผับแห่งหนึ่งที่ถูกวางระเบิด จังหวะมันส์มากๆเลยเอามาฝากนะครับ ชื่อเพลง Rebecca แต่งโดย The Chakachas

ผังองค์กรของ FLN ทำเอาผมนึกถึงพีระมิดของพวก MLM ขายลูกโซ่ เลยนะครับ เพียงแต่ 1 หัวแยกเป็นแค่ 2 ไม่ได้แยกเป็น 10 และฐานล่างสุดมักจะไม่รู้จักหัวบนๆ กลยุทธ์แบบนี้กลายเป็นที่นิยมมากๆของกลุ่มผู้ก่อการร้ายในหลายๆประเทศ เพราะการจะสาวไปถึงตัวหัวหน้าใหญ่ด้วยลักษณะองค์กรแบบนี้ไม่ง่ายเลย แถมสมัยนี้ถึงหัวหน้าใหญ่จะตาย มันก็เหมือน Hydra ที่จะมีหัวใหม่หงอกขึ้นมาเองได้เสมอ ผมลองวิเคราะห์ดูแล้วไม่มีทางจริงๆที่เราจะเอาชนะผู้ก่อการร้ายประเภทนี้ได้เลย ยิ่งวิธีการแบบในหนังมันยิ่งเป็นการสร้างบาดแผลให้กับผู้คนที่ไม่เกี่ยวข้อง การสุ่มตรวจมันต้องมีคนที่ไม่ใช่คนในองค์กรจริงๆอยู่ด้วย แต่เขาถือเป็นคนโชคร้าย ผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้เรื่องอะไรกับเขาเลย นี่คือจุดอ่อนที่อันตรายมากๆของวิธีการนี้ คนพวกนี้แหละแทนที่เขาจะยังสนับสนุนทหาร-ตำรวจ เจอแบบนี้เปลี่ยนข้างไปสนับสนุนฝ่ายองค์กรคณะปฏิวัติแน่นอน และเมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดบ่อยครั้งขึ้นมันก็จะกลายเป็นคนทั้งชาติไม่พอใจ เมื่อนั้นสงครามมันจะยุติที่ ถ้าศัตรูไม่ตายทั้งหมด ก็เปลี่ยนคำพูดที่ใช้ได้เลย จากสงครามเป็นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ

นี่คือสิ่งที่อเมริกากำลังทำอยู่กับอิรัคนะครับ สุ่มตรวจจับมาทรมานเพื่อให้ปริปากพูด ตอนบิน ลาเดน กว่าจะเจอก็ไม่รู้ทรมานคนไปกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่น ผมเป็นคนไม่เห็นด้วยกับการทรมานนะครับ แต่วิธีนี้อาจเป็นวิธีเดียว(ณ ขณะนี้)ที่ทำให้คนคายความลับออกมาจากปากได้ กระนั้นมันก็มีคนที่ ให้ตายเขาก็ไม่พูดออกมา จนกว่าเราจะค้นพบวิธีอื่นที่สามารถทำได้ การทรมานนักโทษคือสิ่งที่ใครๆก็ทำกัน มันได้จะกลายเป็นวงเวียนของความเกลียดชัง เมื่อคุณทำกับคนของฉันอย่างนี้ ฉันเลยจะทำแบบนี้กับคนของคุณบ้าง

นี่เป็นหนังที่ดี แต่เป็นหนังที่ชี้ช่องมากเกินไป มันคล้ายๆกับ Pickpocket ของ Robert Bresson ที่ถ้าคุณเป็นคนทั่วไป ดูหนังเรื่องนี้จะสามารถหาวิธีป้องกันการโดนล้วงกระเป๋าได้ แต่ถ้าคุณเป็นโจร นี่เป็นหนังที่สอนให้คุณเป็นโจรได้เลย เช่นกันกับ The Battle of Algiers ผมเคยพูดไว้ว่า หนังมันไม่มีดีหรือชั่วนะครับ จะมีก็แค่คนที่ดู คิดตามและเอาไปปฏิบัติเท่านั้น ที่จะทำออกมาดีหรือไม่ดี นี่เป็นหนังที่สอนวิธีการคิดวางแผนของทหาร-ตำรวจ ในการสู้กับองค์กรก่อการร้าย ขณะเดียวกันถ้าคุณเป็นคนในองค์กรก่อการร้าย นี่เป็นหนังที่สอนวิธีการสร้างองค์กรให้ซับซ้อน การบริหาร และเทคนิคการต่อสู้เพื่อไม่ให้ถูกจับได้ง่าย เป็นหนังที่เปรียบได้กับดาบสองคม มีหนังไม่กี่เรื่องที่สามารถทำแบบนี้ได้ ก่อนจะดูเตรียมใจสักนิดนะครับ ดูจบแล้วก็หาข้อมูลเพิ่มเติม จะเชียร์ฝั่งไหนก็หาเหตุผลมารองรับด้วย ผมไม่เชียร์ทั้ง Algeria และ France ไม่ต้องมาถามว่าผมเข้าข้างไหน มุมมองคนนอกถือเป็นกลางตอบไม่เจ็บตัวที่สุด

แน่นอนว่าหนังถูกแบนในฝรั่งเศส 5 ปีก่อนจะได้ฉาย คงเพราะช่วงนั้นยังถือว่าเรื่องราวระหว่าง France กับ Algeria ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และหนังนำเสนอเรื่องราวที่เอื้อประโยชน์ต่อชาว Algerian มากเกินไป ซึ่ง Pontecorvo พยายามออกมาอธิบายว่าเขาทำหนังออกมาอย่างเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ที่ได้ฉายคงเพราะความตึงเครียดระหว่างสองประเทศเริ่มเบาบางลง กระแสหนังก็เริ่มลดลงด้วย ฉายจำกัดโรงคงไม่มีปัญหาอะไรมาก

ความยอดเยี่ยมของหนัง นอกจาก Golden Lion จากเทศกาลหนังเมือง Venice แล้ว ยังได้เข้าชิง Oscar ถึง 3 สาขา Best Screenplay (Gillo Pontecorvo และ Franco Solinas), สาขา Best Director (Gillo Pontecorvo) ในปี 1969 และสาขา Best Foreign Language Film ในปี 1967 (มาแปลกทีเดียว ไม่รู้ทำไมถึงเข้าชิงต่างปีกันนะครับ)

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับคนชอบแนวสงคราม คณะปฏิวัติ การต่อสู้ของทหาร-ตำรวจ-ประชาชน คนชอบหนังวางแผน Tactic เล่นแง่ กลยุทธ์ นี่เป็นหนังที่ “ต้อง” ดูเลย สำหรับคอหนังทั่วไป อาจจะดูยากสักหน่อยเพราะภาษาและหนังภาพขาว-ดำ ถ้ามีโอกาสก็แนะนำนะครับ ดูแล้วเครียดนิดหน่อยแต่เป็นหนังที่ถือว่ายอดเยี่ยมเลย จัดเรต 18+ สำหรับความรุนแรงนะครับ

คำโปรย : “The Battle of Algiers อีกหนึ่งสุดยอดหนังโดยผู้กำกับ Gillo Pontecorvo และเพลงประกอบโดย Ennio Morricone นี่คือหนังต้นแบบของการต่อสู้สงครามแบบ Guerrilla ที่มีอิทธิพลต่อผู้ก่อการร้ายทั่วโลก”
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบ : LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: