The Best Years of Our Lives

The Best Years of Our Lives (1946) hollywood : William Wyler ♥♥♥♥

เมื่อสงครามสิ้นสุดทหารหาญเดินทางกลับบ้าน โดยไม่รู้ตัวอะไรหลายๆอย่างปรับเปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยสิ้นเชิง! The Best Years of Our Lives คือภาพยนตร์ที่จะเป็นแรงผลักดัน สร้างกำลังใจ ให้สามารถปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก จนกลายเป็นปีดีที่สุดของชีวิต, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผู้กำกับ William Wyler ได้รับฉายาจากนักประวัติศาสตร์ เป็นคนประเภท ‘Bona Fides’ ภาษาละตินแปลว่า Good faith สร้างสรรค์ภาพยนตร์ด้วยความตั้งมั่น ศรัทธาแรงกล้า คาดหวังผู้ชมจะได้รับบางสิ่งอย่างนอกเหนือจากบันเทิงเริงรมณ์

The Best Years of Our Lives คือตัวอย่างเด่นชัดเจนของความ ‘Bona Fides’ มักได้รับการเปรียบเทียบเคียงข้าง It’s a Wonderful Life (1946) ของผู้กำกับ Frank Capra เป็นภาพยนตร์สร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์ฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้คน/อเมริกันชน ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

กาลเวลาแทบไม่ทำให้ The Best Years of Our Lives ดูตกยุคล้าสมัยสักเท่าไหร่ อาจเพราะการถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ คงความคลาสสิกเหมือนอัลบัมรูปเก่า และเทคนิค Deep-Focus ของตากล้อง Gregg Toland (ผู้ถ่ายทำ Citizen Kane) ทำให้หนังมีมิติตื้น-ลึก หนา-บาง สองเหตุการณ์เกิดขึ้นคู่ขนานในช็อตเดียว นั่นไม่ใช่สิ่งกระทำกันง่ายๆแม้ในปัจจุบันนี้ก็เถอะ

William Wyler ชื่อจริง Willi Wyler (1902 – 1981) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เชื้อสาย Jews เกิดที่ Mülhausen, German Empire (ปัจจุบันคือ France) พ่อเชื้อสาย Swiss ส่วนแม่ German มีศักดิ์เป็นหลานของ Carl Laemmle (หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Universal Studios) เมื่ออพยพสู่อเมริกาปี 1921 ได้รับชักชวนมาทำงานยัง Universal Studios เริ่มจากพนักงานทำความสะอาด ไต่เต้าขึ้นมาผู้ช่วย และผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Crook Buster (1925), มีชื่อเสียงจาก Dodsworth (1936), Jezebel (1938), Wuthering Heights (1939), The Westerner (1940), The Little Foxes (1941), Roman Holiday (1953), Friendly Persuasion (1956) คว้า Oscar: Best Director ถึงสามครั้ง เรื่อง Mrs. Miniver (1942), The Best Years of Our Lives (1946), Ben-Hur (1959) [ทั้งสามเรื่องนี้คว้า Oscar: Best Picture ได้อีกด้วย!]

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง Wyler อาสาสมัครเป็นทหารอากาศ สังกัด United States Army Air Forces ด้วยความตั้งใจสร้างภาพยนตร์สารคดี The Memphis Belle: A Story of a Flying Fortress (1944) และ Thunderbolt (1947) [สร้างขึ้นพร้อมกัน แต่เรื่องหลังไม่ทันฉายเพราะสงครามสิ้นสุดลงก่อน] เกี่ยวกับเครื่องบิน Boeing B-17 และภารกิจทิ้งระเบิด ซึ่งตัวเขาก็ได้เสี่ยงชีวิตร่วมออกเดินทางไปด้วยหลายครั้ง
– วันหนึ่งถูกยิงที่ถังอ๊อกซิเจน หมดสติเพราะขาดอากาศหายใจ
– ตากล้องร่วมงาน Harold J. Tannenbaum ถูกยิงตกเสียชีวิต
– ได้ยินเสียงระเบิดดังมากจนหมดสติ ตื่นขึ้นมาหูดับไปข้างหนึ่ง เป็นปีๆกว่าจะกลับมาเป็นปกติ

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Wyler กลับจากสงครามในฐานะคนพิการ (หูหนวก) ทีแรกก็ครุ่นคิดว่าคงต้องเลิกสร้างภาพยนตร์เพราะร่างกายไม่อำนวย จนเมื่อพบเห็นบรรยากาศ ความเปลี่ยนแปลง โลกยุคสมัยสันติภาพ เลยตัดสินใจหวนกลับมาสร้าง The Best Years of Our Lives ดัดแปลงจากนวนิยาย Glory for Me (1945) แต่งโดย MacKinlay Kantor นักข่าว/นักเขียนนิยายสัญชาติอเมริกัน

Benjamin McKinlay Kantor (1904 – 1977) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทำงานเป็นนักข่าว War Correspondent ให้กับหนังสือพิมพ์ Los Angeles ปักหลักอยู่กรุง London แม้ไม่ใช่ทหารผ่านศึก แต่ก็มีโอกาสขึ้นเครื่องบิน เผชิญหน้าศัตรู จับปืนยิงต่อสู้ (ผิดระเบียบทหารนะเนี่ย!) เมื่อกลับอเมริกาได้รับมอบหมายจาก Samuel Goldwyn ให้เขียนบทภาพยนตร์เกี่ยวกับทหารผ่านศึกเดินทางกลับบ้าน แต่พี่แกฉกชิงความได้เปรียบตีพิมพ์นวนิยาย Glory for Me (1945) ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แล้วเรียกค่าลิขสิทธิ์ดัดแปลงสูงๆ

เกร็ด: ชื่อนวนิยายได้แรงบันดาลใจจาก Protestant Hymn บทเพลง O That Will Be Glory (1900) แต่งโดย Chas. H. Gabriel

When all my labors and trials are o’er,
And I am safe on that beautiful shore,
Just to be near the dear Lord I adore
Will through the ages be glory for me.

Goldwyn/Wyler มอบหมายหน้าที่ดัดแปลงบทให้ Robert E. Sherwood (1896 – 1955) นักเขียนละครเวที/ภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน ก่อนหน้านี้มีผลงานเด่นคือ Waterloo Bridge (1931), Rebecca (1940) ฯ ในช่วงสงครามโลก อาสาสมัครเป็นทหาร ประจำการยัง Office of War Information (OWI) ได้ออกเดินทางไปหลายประเทศทีเดียว

เห็นว่า Kantor ไม่พึงพอใจการดัดแปลงภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาแตกต่างออกไปค่อนข้างมาก ที่สำคัญคือการเปลี่ยนชื่อหนัง และเครดิตขึ้นว่า ‘based upon a novel by MacKinlay Kantor’ ไม่ปรากฎขึ้นชื่อนิยาย Glory for me. สักตำแหน่งหนึ่งในในหนัง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ทหารผ่านศึกสามคนที่ไม่เคยพบเจอรู้จัก จับพลัดจับพลูร่วมเที่ยวบินเดินทางกลับบ้าน สู่เมืองสมมติ Boone City
– Platoon Sergeant Al Stephenson (รับบทโดย Fredric March) จ่าทหารบก ก่อนหน้าสงครามทำงานเป็นนายธนาคาร ฐานะมั่งคง อาศัยอยู่บนคอนโดสูง แต่งงานกับภรรยามา 20 ปี มีลูกชาย-สาว เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
– Captain Fred Derry (รับบทโดย Dana Andrews) กัปตันเครื่องบินทิ้งระเบิด ก่อนหน้าสงครามทำงานเป็นคนขายน้ำโซดาในร้านขายยา ฐานะพอมีพอกิน เพิ่งแต่งงานกับสาวสวยสุดเซ็กซี่
– Petty Officer 2nd Class Homer Parrish (รับบทโดย Harold Russell) นายทหารเรือประจำการเรือดำน้ำ ได้รับบาดเจ็บแขนขาด ต้องสวมตะขอเหล็กพอเอาตัวรอดไปได้วันๆ ก่อนหน้านี้อาศัยอยู่กับครอบครัว ตกหลุมรักหญิงสาวข้างบ้าน ตั้งใจว่ากลับจากสงครามจะขอเธอแต่งงาน

ทั้งสามเมื่อหวนกลับมาถึงบ้าน ประสบพบเจอปัญหาการปรับตัว เพราะอะไรๆได้เปลี่ยนแปลงไปจนพวกเขาแทบจดจำวิถีชีวิตรูปแบบเดิมๆไม่ค่อยได้ เริ่มต้นเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดต่อไป

นำแสดงโดย Fredric March ชื่อเกิด Ernest Frederick McIntyre Bickel (1897 – 1975) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Racine, Wisconsin โตขึ้นเรียนจบจาก University of Wisconsin–Madison ทำงานเป็นนายธนาคาร แต่หลังจากเข้ารับผ่าตัดไส้ติ่ง ครุ่นคิดค้นหาเป้าหมายชีวิตใหม่ ตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นนักแสดง Broadway เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures ผลงานเด่นๆ อาทิ The Royal Family of Broadway (1930), Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1932) ** คว้า Oscar: Best Actor, A Star Is Born (1937), The Best Years of Our Lives (1946) ** คว้า Oscar: Best Actor, Death of a Salesman (1951), Inherit the Wind (1961) ฯ

รับบท Al Stephenson ชายวัยกลางคนที่พอกลับจากสงคราม พบเห็นลูกชาย-สาว เติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำตัวแทบไม่ถูกเมื่ออยู่ต่อหน้าพวกเขา โชคยังดีได้รับติดต่อจากเจ้านายเก่า แถมมอบโอกาสก้าวหน้าเลื่อนขั้นเป็นรองหัวหน้าแผนกออกเงินกู้ แรกๆก็หวาดหวั่นสั่นกลัว ต่อมาเกิดความแน่วแน่ กล้าตัดสินใจบางสิ่งอย่างที่ไม่มีใครหาญกระทำ

แม้เป็นบทบาทที่ March คว้า Oscar ตัวที่สอง แต่ถือว่ายังห่างชั้นกับผลงานเด่นๆของเจ้าตัวอยู่มาก เรื่องนี้เริ่มต้นด้วยความสับสน มึนเมา ไม่รู้จะเอายังไงกันแน่กับชีวิต ค่อยๆเรียนรู้ปรับตัวจนค้นพบเจอเป้าหมาย ความตั้งใจใหม่ ในที่สุดเกิดความแน่วแน่เด็ดขาด ไม่มีอะไรสามารถสั่นคลอนทัศนคติของฉันได้อีกต่อไป, ผมว่าไฮไลท์ที่ทำให้ชนะใจคณะกรรมการ Academy คือตอนมึนเมาระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ เสียดสีแทงใจดำใครต่อใครได้มากทีเดียว

Carver Dana Andrews (1909 – 1992) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Collins, Mississippi, มีพี่น้อง 13 คน โตขึ้นเข้าเรียน Sam Houston State University จบบริหารธุรกิจ แต่เลือกเดินทางสู่ Los Angeles เพื่อเป็นนักร้อง ดิ้นรนจนไปเข้าตาได้เซ็นสัญญากับ Samuel Goldwyn ภาพยนตร์เรื่องแรก Lucky Cisco Kid (1940), รับบทนำครั้งแรก Berlin Correspondent (1942), โด่งดังกับ The Ox-Bow Incident (1943), Laura (1944), The Best Years Of Our Lives (1946) ฯ

รับบท Fred Derry ครอบครัวมีฐานะยากจน ดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ ตนเองก็แค่คนขายโซดา แต่ดันไปแต่งงานกับหญิงสาวสวยเซ็กซี่ ชื่นชอบท่องเที่ยวเตร่ราตรี หว่านเสน่ห์โปรยความมั่งมีไปทั่ว เงินเท่าไหร่ก็ใช้หมด คาดว่าคงคบหาอยู่ด้วยกันอีกได้ไม่นาน, เมื่อวันที่เขาเดินทางกลับบ้าน จับพลัดพลูพบเจอกับ Peggy Stephenson (รับบทโดย Teresa Wright) ลูกสาวคนโตของ Al Stephenson เพราะความเมามายไร้สติ ฝันถึงเหตุการณ์อันโหดร้ายจากสงคราม นั่นทำให้ตื่นเช้ามาเธอดูแลทะนุถนอมเขาเป็นอย่างดี ค่อยตกหลุมรักใคร่ แต่กลับถูกพ่อพยายามกีดกัดผลักไส

ในบรรดาสามตัวละครหลัก บทบาทของ Andrews ผมว่าเยอะสุดแต่กลับจืดชืด แข็งทื่อที่สุด ทั้งๆมีปมปัญหา Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) เก็บกดอัดอั้นอยู่ภายใน กลับไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรนอกจากเหงื่อแตกพลั่กเมื่อฝันร้าย หรือหวนระลึกนึกถึงความหลัง แต่ความธรรมดาๆนั้นเองทำให้เขาเป็นตัวแทนสามัญชนคนทั่วไป สงสารเห็นใจเมื่อถูกทอดทิ้งหย่าร้าง

Harold John Avery Russell (1914 – 2002) สัญชาติ Canadian เกิดที่ North Sydney, Nova Scotia พออายุได้ 7 ขวบอพยพย้ายสู่ Massachusetts โตขึ้นทำงานขายอาหารที่ Cambridge พอสงครามโลกปะทุสมัครเป็นทหารบก รับหน้าที่สอนปลดชนวนระเบิด TNT พลาดพลั้งแขนขาด ต้องใช้ตะขอในการดำรงชีพ ระหว่างกำลังฝึกหัดเรียนรู้ ได้รับการถ่ายทำเป็นภาพยนตร์เรื่อง Diary of a Sergeant (1945) พบเห็นเข้าตาผู้กำกับ Wyler ชักชวนมาให้แสดง The Best Years of Our Lives (1946)

รับบท Homer Parrish เพราะกลายเป็นคนพิการ คนรอบข้างจึงแสดงอาการหวาดหวั่นวิตกแทนเขา นี่รวมถึงแฟนสาว Wilma Cameron (รับบทโดย Cathy O’Donnell) จนเกิดอาการไม่มั่นใจในตนเองว่าเธอจะสามารถยินยอมรับได้หรือเปล่า พยายามตีตนออกห่าง แต่ก็ได้รับคำแนะนำจาก Fred อย่าไปครุ่นคิดแทนคนอื่นให้มันปวดหัว เพราะสุดท้ายแล้วความรักจักชนะทุกสิ่ง

แม้จะไม่เคยแสดงภาพยนตร์มาก่อน ความสมัครเล่นของ Russell กลับสร้างความสมจริงให้กับตัวละครอย่างมาก โดยเฉพาะตอนบรรยายความยุ่งยากในการใช้ชีวิต ระบายความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวออกมา นั่นคือพูดจากใจ ตัวตนเองอย่างแน่นอน มันจึงทรงพลังอย่างที่สุด

Muriel Teresa Wright (1918 – 2005) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Harlem, New York City หลังจากได้รับชม Helen Hayes ในการแสดงละครเวทีเรื่อง Victoria Regina ตัดสินใจเป็นนักแสดง โตขึ้นเป็น Understudy ของ Dorothy McGuire กับ Martha Scott ก่อนมีผลงานเรื่องแรก Life with Father (1939) ไปเข้าตา Samuel Goldwyn จับเซ็นสัญญานำมาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Little Foxes (1941) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress ปีถัดมากับ Mrs. Miniver (1942) คว้ารางวัลนี้ได้สำเร็จ และอีกปีถัดไปเข้าชิงอีกครั้งกับ The Pride of the Yankees (1943), ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ Shadow of a Doubt (1943), The Best Years of Our Lives (1946) ฯ

รับบท Peggy Stephenson ลูกสาวคนโตของ Al ช่วงสงครามได้ทำงานเป็นนางพยาบาล เติบโตจนสามารถเอาตัวรอดดูแลตนเองได้แล้ว นิสัยเป็นคนง่ายๆ สนุกสนานร่าเริง เงินทองไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิต, หลังจากพบเจอ Fred ถูกชะตาราวกับได้พบเจอคู่แท้ แต่เพราะเขาแต่งงานอยู่แล้ว มันจึงเป็นความขัดแย้งภายในจิตใจตนเอง กระทั่งว่าได้เรียนรู้จักตัวจริงของภรรยา ตั้งมั่นว่าจะทำให้เลิกรากับเธอแล้วหันมาสนใจฉันจะดีกว่า

จะสวยใสไปไหน! ทั้งๆขณะนั้น Wright อายุล่วงเข้าไป 27-28 กลับยังเหมือนสาวเอาะๆวัย 17-18 แถมการแสดงยังทำให้ผู้ชมเชื่อสนิทในความบริสุทธิ์ตั้งใจ ใบหน้าเศร้าๆเคล้ากระหยิ่มผยอง ต้องการทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ครอบครอง เป็นเจ้าของชายผู้ที่ตนเองหลงใหลใฝ่ฝัน

Virginia Mayo ชื่อเกิด Virginia Clara Jones (1920 – 2005) นักเต้น/นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ St. Louis, Missouri หลังเรียนจบมัธยม ร่วมคณะเต้น St. Louis Municipal Opera Theatre ตามด้วยออกแสดงเร่ (Vaudeville) กับ ‘Morton and Mayo’ ประสบความสำเร็จจนได้แสดง Broadway เซ็นสัญญากับ Sam Goldwyn มีชื่อเสียงกับการประกบ Bob Hope ในภาพยนตร์ตลก The Princess and the Pirate (1944), ตามด้วยกลายเป็นคู่ขา Danny Kaye, ส่วนเรื่องได้รับการจดจำสูงสุดคือ The Best Years of Our Lives (1946), White Heat (1949) ฯ

รับบท Marie Derry ภรรยาสุดสวยเซ็กซี่ของ Fred คาดว่าคงแต่งงานเพื่อเงินเท่านั้น วันๆใช้ชีวิตปาร์ตี้สุขสันต์ ทนไม่ได้กับสภาพบ้านซอมซ่อเลยย้ายมาอยู่อพาร์ทเม้นท์ เมื่อสามีกลับจากสงครามหวนทำงานขายโซดาเงินเดือนกระจิดริด เริ่มเกิดความไม่พึงพอใจ จึงพยายามมองหาผัวใหม่

มารยาจริตของ Mayo สังเกตพบเห็นได้ตั้งแต่ฉากแรก แสดงออกอย่างชัดเจนถึงรสนิยม ความต้องการ เงินเท่านั้นชนะทุกสิ่ง ก็อยากรู้เหมือนกันตอบตกลงแต่งงานกับชายขายโซดาทำไม ทนอยู่เป็นนกในกรงได้ไม่นาน แทรกตัวออกไปสุขสำราญ ทอดทิ้งเขาให้กลายเป็นหมาหัวเน่าข้างถนน!

ถ่ายภาพโดย Gregg Toland (1904 – 1948) ตากล้องสัญชาติอเมริกัน ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคนิคการจัดแสง และ Deep Focus กลายเป็นตำนานกับ Wuthering Heights (1939), The Long Voyage Home (1940), Citizen Kane (1941), The Best Years of Our Lives (1946) ฯ

ผู้กำกับ Wyler นำเสนอ The Best Years of Our Lives ในลักษณะ Story-Driven ซึ่งการได้ Toland มาเป็นตากล้อง ช่วยเพิ่มมิติให้กับเรื่องราวอย่างมาก ด้วยเทคนิค Deep-Focus สามารถนำเสนอสองเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกันในช็อตเดียว ขึ้นอยู่กับว่าผู้ชมจะจับจ้องมองอะไรตรงไหน ก็แล้วแต่ความใคร่สนใจเลย

อย่างช็อตนี้ กึ่งกลางระหว่าง Fred กับ Peggy พบเห็นลิบๆเจ้านายจับจ้องมองอยู่ในห้องกระจกชั้นสอง คอยสอดส่องลูกน้องว่าตั้งใจทำงานหรือเปล่า

ระยะใกล้-ไกล การจัดวางตำแหน่งตัวละคร สามารถสื่อสารผู้ชมด้วยนัยยะความหมายบางอย่าง, ช็อตนี้เมื่อ Al พบเจอเจ้านายเก่า เขานั่งอยู่ระยะไกลกว่า ทำให้ดูตัวเล็ก และระดับศีรษะเตี้ยกว่า นั่นแสดงถึงความเป็นลูกน้อง/ลูกจ้าง ต่ำต้อยกว่า ศักดิ์ไม่เท่าเทียม

การเลือกตำแหน่งมุมกล้องนี้ ได้สร้างมิติความลึกให้กับภาพ ทุกคนหันศีรษะจับจ้องมองหัวหน้าและ Al บุคคลสำคัญในงานเลี้ยงนี้ คาดหวังสิ่งดีๆจักเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปของสถาบันธนาคารแห่งนี้

ตรงกันข้ามกับปาร์ตี้ไฮโซของ Al ฉากถัดมาคู่ขนานกันคือผับบาร์ เดทคู่ของ Fred กับ Peggy มนุษย์ชนชั้นกลาง(ค่อนไปล่าง) ต้องดิ้นรน แหวกว่าย เบียดเสียด เพื่อต่อสู้เอาตัวรอดในโลกสมัยใหม่ ถ่ายมุมก้มมองจากเบื้องบนลงมา รู้สึกน่าสมเพศเวทนาน่าเห็นใจคนเหล่านี้เสียเหลือเกิน

ซีนน่าพิศวงที่สุดของหนัง คือการพูดคุยกันระหว่าง Peggy และ Wilma ในห้องน้ำ/แต่งหน้าผู้หญิง กระจกบานใหญ่ที่จะสะท้อนตัวตนภายในของพวกเธอ
– เริ่มต้นจากพบเห็นใบหน้าของ Peggy สะท้อนในกระจก จับจ้องมอง Wilma นัยยะถึงเธอกำลังมองหญิงสาวผู้นี้จากภายใน ซึ่งก็พบเห็นแต่ความเห็นแก่ตัว โลภละโมบ ที่พยายามปกปิดซ่อนเร้นไว้ (ด้วยการทาลิปสติก)
– ถัดมากล้องแพนนิ่งถึงมุมนี้ Peggy จับจ้องมองหน้า Wilma แบบตรงๆ ขณะที่ภาพในกระจกหันไปอีกทางหนึ่ง เป็นการสะท้อนว่าภาพลักษณ์-ตัวตนของเธอ แตกต่างตรงกันข้ามกับศัตรูหัวใจผู้นี้โดยสิ้นเชิง
– ขณะที่หญิงสาว/คนใช้ผิวสี นั่งอยู่ด้านหลัง คาดว่าคงจะสะท้อนบทบาททางเชื้อชาติ ขณะนั้นยังไม่ได้รับความสำคัญ มีหน้ามีตาใดๆในสังคม

การเผชิญหน้าลูกผู้ชาย Al และ Fred แม้พวกเขาจะแตกต่างในวัยวุฒิ ฐานะ เสื้อผ้า หรือตำแหน่งเมื่อครั้นเป็นทหาร แต่ครานี้กลับนั่งอยู่ตำแหน่งระดับเดียวกัน จับจ้องมองตา (คุ้นๆว่าน่าจะมีช็อตเดียวในหนังที่เป็นการเผชิญหน้าเช่นนี้) นัยยะสื่อถึงความเท่าเทียม เสมอภาค ตรงไปตรงมา พูดบอกซึ่งๆหน้า ฉันไม่อยากให้นายมายุ่งกับลูกสาวฉัน!

ช็อตที่ได้รับการกล่าวขวัญสุดของหนัง สามตัวละครหลัก Al, Fred และ Homer ต่างปรากฎตัวในซีนนี้ แต่ระยะ/ตำแหน่งของพวกเขากลับคนละโยชน์ ใช้ประโยชน์จากเทคนิค Deep-Focus อยู่ที่สายตาของผู้ชมเองแล้วละจะจับจ้องมองเหตุการณ์ใด
– Fred อยู่ด้านหลังลิบๆ กำลังโทรศัพท์หา Peggy เพื่อบอกเลิกรากับเธอ
– Al เดี๋ยวหันหน้ามาฟังเพลง เดี๋ยวหันไปมอง Fred จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว
– Homer กำลังโชว์เล่นบทเพลงใหม่ ไม่ได้ใคร่สนใจอะไรเกี่ยวกับ Fred นัก

ความตั้งใจของ Fred ที่จะออกจาก Boone City เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ยังต่างแดน ระหว่างกำลังรอคอยเวลาเดินเล่นผ่านสุสานเครื่องบินรบ หวนระลึกถึงความทรงจำวันวาน ไดเรคชั่นฉากนี้พยายามทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนเศษเหล็กเหล่านี้ยังคงบินได้ (กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหาเครื่องบิน) จากนั้นปม PTSD ทำเอาเหงื่อออกพรั่กๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าสามารถก้าวข้ามผ่านเอาชนะมันได้หรือยัง

ว่าไปเครื่องบินไร้ใบพัด ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์แขนขาด

สถานที่ถ่ายทำฉากนี้คือ Ontario Army Air Field ณ Ontario, California อดีตเคยเป็นสถานที่ฝึกซ้อมการบิน ต่อมาแปรสภาพสู่สุสานขยะ เห็นว่าขณะนั้นมีเครื่องบินรบกว่า 2,000 ลำ รอการแยกชิ้นสุดนำไปใช้ประโยชน์อื่น

ช็อตนี้ก็ได้รับการพูดถึงมากเช่นกัน ระหว่างที่ Homer กำลังเข้าพิธีสมรสกับ Wilma แต่สายตาของ Fred กลับจับจ้องมองแต่ Peggy แม้ไม่เห็นหน้าแต่คาดเดาได้ว่าไม่กระพริบตา และเหมือนมีแสงสาดส่องบนตัวเธอเจิดจรัสจร้ากว่าปกติ และเมื่อเจ้าบ่าว-สาว กอดจูบเป็นสามี-ภรรยา ทุกคนกรูเข้ามา แต่ Fred กลับเดินตรงเข้าหาหญิงสาวที่ตนตกหลุมรักมากที่สุด, ทำเอา Al กลายเป็นหมาหัวเน่าไปเรียบร้อย

นัยยะของพิธีแต่งงาน หมายถึงการตกลงปลงใจ ยินยอมรับโลกยุคสมัยใหม่ (ของบรรดาทหารผ่านศึก) สามารถปรับตัว ปักหลักสร้างฐาน นี่แหละคือช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นใหม่ ทุกสิ่งอย่างก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่มีอะไรหยุดอยู่นิ่งกับที่ได้

ตัดต่อโดย Daniel Mandell (1895 – 1987) ขาประจำของผู้กำกับ William Wyler และ Billy Wilder ถือครองสถิติคว้า Oscar: Best Film Editing สามครั้งจาก The Pride of the Yankees (1942), The Best Years of Our Lives (1946) และ The Apartment (1960)

เรื่องราวของหนังเวียนวนอยู่กับสามมุมมองของ Al Stephenson, Fred Derry และ Homer Parrish ซึ่งจะร้อยเรียงสลับไปมาในปริมาณพอๆกัน ไม่ได้ตามลำดับเปะๆ แต่มักมีความต่อเนื่องที่สอดคล้อง สะท้อน ตรงกันข้าม ทำให้เวียนวนหวนกลับมาพบเจอบ่อยครั้งไป (ที่ร้านของ Uncle Butch Engle)
– อารัมบท, ร่วมกันออกเดินทางกลับ Boone City
– First Impression, แยกย้ายไปพบเจอสมาชิกในครอบครัว แต่ค่ำคืนนั้นทั้งสามดันหวนกลับมาพบเจอกันที่ร้านของ Uncle Butch Engle
– ช่วงเวลาของการปรับตัว หางานทำ ค้นหาเป้าหมายใหม่
– เมื่อเกิดความขัดแย้งต่อหัวหน้า ถูกไล่ออก แฟนสาวบอกเลิก จึงต้องพร้อมเผชิญหน้ากับชีวิต ต่อสู้ และก้าวเดินต่อไป

เพลงประกอบโดย Hugo Friedhofer (1901 – 1981) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Lifeboat (1944), The Best Years of Our Lives (1946), Ace in the Hole (1951), An Affair to Remember (1957) ฯ

บทเพลงของ Friedhofer เต็มไปด้วยกลิ่นอายความหวัง โลกที่แม้เปลี่ยนแปลง ชีวิตที่ต้องปรับตัว แต่โอกาสย่อมมาถึงสำหรับผู้ไขว่คว้าโหยหา ตราบใดไม่ยินยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรค์ขวากหนาม จิตวิญญาณอันแน่วแน่ย่อมเอาชนะได้ทุกสิ่งอย่าง

แซว: ถึง Friedhofer จะคว้า Oscar: Best Original Score แต่ผู้กำกับ Wyler กลับไม่ค่อยชอบเพลงประกอบหนังสักเท่าไหร่

Hoagy Carmichael นักเปียโนที่หลายคนคุ้นหน้าจาก To Have and Have Not (1944) รับบท Uncle Butch Engle เป็นผู้แต่ง(ร่วมกับ Sidney Arodin)/ขับร้อง/เล่นเปียโน ในฉบับบันทึกเสียงแรกสุดของ Lazy River (1930)

บทเพลงอื่นๆที่ Carmichael เล่นเปียโนในหนัง ประกอบด้วย
– Bridal Chorus (Here Comes the Bride) (1850)
– Chopsticks (1877)
– Toot, Toot, Tootsie (Goo’ Bye!) (1922)
– Among My Souvenirs (1927)
– และ Beer Barrel Polka (Roll Out the Barrel) (1927)

สามตัวละครหลักของหนังต่างเป็นตัวแทนของชนชั้นกลาง-ล่าง ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามแตกต่างกันออกไป
– Homer Parrish ได้รับบาดเจ็บทางกาย พิการแขนขาด
– Fred Derry ได้รับผลกระทบทางใจ อาการ PTSD
– Al Stephenson ไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามตรงๆ แต่พอกลับมาบ้านพบเห็นการเปลี่ยนแปลงไปของครอบครัว เลยเกิดความหวาดหวั่นกลัวต่ออนาคต

The Best Years of Our Lives นำเสนอเรื่องราวของการเรียนรู้ ปรับตัว เผชิญหน้าปัญหา รักษาบาดแผล(กาย-ใจ)จากสงคราม เพื่อให้สามารถก้าวเดินต่อไป ดำรงชีพอย่างปกติสุข

ในเรื่องการปรับตัว มันไม่ใช่แค่สามทหารผ่านศึกนี้เท่านั้นที่ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แต่ยังบุคคลรอบข้าง/ครอบครัว ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจ ยินยอมรับในสิ่งที่เขากลายเป็น ความสงสารบางครั้งสื่อสารออกมาในลักษณะสมเพศเวทนา ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ นั่นย่อมดีกว่าเป็นไหนๆ

ระยะเวลาเท่าไหร่ถึงเพียงพอในการปรับตัว? เอาจริงๆไม่มีใครบอกได้หรอกนะ แถมแต่ละคนก็มักไม่เท่ากันด้วย ซึ่งหนังเรื่องนี้เหมือนว่าใช้ระยะเวลาหนึ่งปี (ผมว่ามันเป็นคำเชิงเปรียบเทียบมากกว่า อาจไม่ใช่ปีหนึ่งจริงๆก็ได้) ที่สามตัวละครหลักสามารถต่อสู้ เผชิญหน้า เอาชนะผ่านปัญหา
– Homer Parrish เปิดเผยเรือนร่างอันพิการของตนเองต่อแฟนสาว เธอยังคงยินยอมรับไหว ในที่สุดก็ได้แต่งงาน
– Fred Derry ก็ไม่รู้ว่าเอาชนะอาการ PTSD ได้ไหม แต่รี่ตรงเข้าไปกอดจูบหญิงสาวที่ตนตกหลุมรัก อนาคตย่อมเต็มไปด้วยหนทางและความหวัง
– Al Stephenson มีความกล้าเผชิญหน้า หมดสิ้นความหวาดหวั่นกลัวเกรงต่อสิ่งใดๆ

สำหรับผู้กำกับ William Wyler ภาพยนตร์เรื่องนี้มองได้ว่าเป็นการบำบัด รักษาอาการป่วยทางกาย-ใจของตนเอง นำเสนอชี้แจงต่อบุคคลใกล้ชิดรอบข้าง ไม่ต้องวิตกกังวลอะไรๆแทนฉันมากหรอกนะ สามารถเอาตัวรอด ดำเนินชีวิตไปต่อเองได้แล้ว

ด้วยทุนสร้างประมาณ $2.1 – $3 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ในอเมริกา $11.5 ล้านเหรียญ [นับเฉพาะการฉายครั้งแรก] ไม่เพียงสูงสุดแห่งปี แต่ยอดขายตั๋ว 55 ล้านใบ ขณะนั้นเป็นรองแค่เพียง Gone With The Wind (1939) ถือว่าได้รับความนิยมล้นหลามถล่มทลาย น่าจะเพราะอิทธิพลจากสิ้นสุดสงครามโลกด้วยกระมัง

น่าเสียดายที่หนังไม่ได้ถูกนำมาฉายซ้ำบ่อยๆ เพราะหลังจากปีนั้นก็หมดกระแสสงครามแล้วละ จนถึงปัจจุบันรวมแล้วทำรายได้ $23.6 ล้านเหรียญ เทียบค่าเงินปี 2018 เท่ากับ $502.7 ล้านเหรียญ ก็ยังสูงมากๆอยู่

หนังเข้าชิง Oscar 8 สาขา คว้ามา 9 รางวัล … เอะ?
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Fredric March)
– Best Supporting Actor (Harold Russell)
– Best Writing, Screenplay
– Best Film Editing
– Best Music, Scoring of a Dramatic or Comedy Picture
– Best Sound, Recording ** พลาดรางวัลให้กับ The Jolson Story (1946)

อีกสองรางวัลพิเศษ
– Memorial Award หรือ Irving G. Thalberg Memorial Award มอบให้ Samuel Goldwyn
– Honorary Award (Harold Russell) ด้วยคำนิยม “For bringing hope and courage to his fellow veterans through his appearance in The Best Years of Our Lives”.

เกร็ดรางวัลปีนี้:
– Fredric March ไมได้มาเข้าร่วมงานประกาศรางวัล Cathy O’Donnell ขึ้นรับแทน
– เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า Harold Russell จะคว้ารางวัล Best Supporting Actor คณะกรรมการจึงตั้งใจมอบ Honorary Award เป็นกรณีพิเศษ แต่ผลลัพท์ปรากฎว่าดันคว้ารางวัลนั้นอีก กลายเป็นครั้งแรกครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่นักแสดงจากบทบาทเดียวกันคว้า 2 รางวัล!
– เมื่อปี 1992, Russell ได้นำรูปปั้นรางวัล Best Supporting Actor ไปขายให้กับนักสะสมรายหนึ่งมูลค่า $60,500 เหรียญ เพื่อนำเงินไปรักษาภรรยาที่เจ็บป่วย นั่นสร้างประเด็นให้กับ Academy ที่ไม่ต้องการให้นำรางวัลไปขายหรือประมูล (ยกเว้นจะขายคืนแก่ Academy ในราคา $1 เหรียญ) แต่กฎข้อบังคับดังกล่าวเพิ่งเริ่มใช้กับรางวัล Oscar ปี 1950 ทำให้รอดพ้นการถูกฟ้องร้องขึ้นศาล

เกร็ด: The Best Years of Our Lives เป็นหนังเรื่องโปรดของผู้กำกับ Francis Ford Coppola

ส่วนตัวแค่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้ อาจเพราะช่วงชีวิตผมยังไม่เคยผ่านสงคราม มันเลยไม่สามารถตระหนักรับรู้ซึ้งถึงความทุกข์ยากลำบากของการต้องปรับเอาตัวรอด เลยไม่ค่อยอินกับดราม่าลักษณะนี้สักเท่าไหร่ แต่ก็ประทับใจในไดเรคชั่น ถ่ายภาพ ตัดต่อ และเพลงประกอบ มีความคลาสสิกทรงคุณค่ายิ่ง!

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เชื่อว่าคงสามารถสร้างกำลังใจให้หลายๆคนที่เพิ่งผ่านพ้นช่วงเวลาทุกข์ยากลำบาก คือไม่จำเป็นต้องกลับจากสงครามสนามรบหรอกนะ เพิ่งออกจากคุก สถานดัดสันดาน ป่วยเข้าโรงพยาบาล พ่อ-แม่ญาติพี่น้องเสียชีวิต ฯ อะไรก็ตามที่ทำให้มีรอยแผล (ทั้งทางกาย-ใจ) รับชมแล้วน่าจะเกิดรอยยิ้มสู้ ก้าวเดินต่อตราบยังมีลมหายใจ

จัดเรต PG กับความเมาปลิ้น กะล่อนลิ้น และปม Trauma เล็กๆของตัวละคร

คำโปรย | “William Wyler ได้สร้างสรรค์สิ่งยิ่งใหญ่ ปีที่ทรงคุณค่า The Best Years of Our Lives งดงามสุดคลาสสิก แฝงข้อคิดชีวิตและการปรับเอาตัวรอด”
คุณภาพ | คุค่-คลาสสิก
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: