Bicycle Thieves (1948) : Vittorio De Sica ♥♥♥♥♡
(24/7/2016) หนังบางเรื่องกาลเวลาจะเป็นตัวค่อยๆซึมซับความสวยงาม เราอาจไม่ได้เห็นมันในวันนี้ แต่สักวันย่อมกระจ่างแจ้ง, Bicycle Thieves เป็นอีกหนึ่งบทเรียนต่อความด้อยประสบการณ์ของผม สิ่งที่ไม่เคยเห็นเมื่อการดูครั้งก่อนๆ มาวันนี้มันชัดมาก นี่คือผลงาน Masterpiece ในระดับ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
นับเวลาได้ 8 เดือน (240 วัน=ดูหนัง 240 เรื่อง) จากครั้งล่าสุดที่ผมดูหนังเรื่องนี้ พบว่าทัศนคติหลังดูหนังจบเปลี่ยนไปมาก คงเพราะการได้ศึกษา เรียนรู้ เข้าใจรูปแบบหนังแนว Neorealist มากขึ้น ทำให้มองเห็นความสวยงามที่แอบซ่อนอยู่, หนังอาจดูยากเสียหน่อย แต่กาลเวลาช่วยท่านได้ ดูหนังเรื่องนี้ไม่เข้าใจ ไม่เห็นว่ามันสวยงามยังไง ลองหาหนังแนว Neorealist เรื่องอื่นๆมาดูเก็บประสบการณ์ไปสักพัก จะเป็นหนังของ Roberto Rossellini หรือ Luchino Visconti ฯลฯ ศึกษารูปแบบ วิธีการจนช่ำชอง แล้วค่อยกลับมาดูหนังของ De Sica เชื่อว่าเมื่อนั้นคุณจะเริ่มเข้าใจและเห็นความสวยงามในระดับที่ทรงอิทธิพลมากๆ
ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ Luigi Bartolini โดย Cesare Zavattini นักเขียนขาประจำของ De Sica, เรื่องราวของพ่อ (นำแสดงโดย Lamberto Maggiorani) และลูกชาย (Enzo Staiola) ที่ออกเดินทางตามหาจักรยานที่ถูกขโมย ไม่ว่าจะแลกมาด้วยอะไร, พ่อเป็นคนชั้นทำงาน (Working Class) แต่หลังสงคราม งานไม่ใช่สิ่งที่หากันง่ายๆ บางคนตกงานเป็นปีก็ยังไม่มีงานทำ หนังเปิดเรื่องด้วยการให้พ่อได้งานทำ เป็นคนแปะโปสเตอร์ แต่อาชีพนี้ต้องใช้จักรยาน เปรียบเหมือนกับแขนขาของมนุษย์ เมื่อจักรยานถูกขโมยก็เหมือนสูญเสียแขนขา แม้ตัวจะไม่ตาย แต่ก็เท่ากับขาดสิ่งที่ช่วยให้มีชีวิต
เกร็ด: โปสเตอร์ที่พ่อติดประกาศ คือรูปของ Rita Hayworth นักแสดงหญิงสุดเซ็กซี่ของ hollywood
สิ่งที่หนังนำเสนอ สะท้อนออกมา คือการดิ้นรนต่อสู้ เพื่อมีชีวิต ในสังคมที่มนุษย์ต้องพึ่งเงิน การจะได้เงินก็ต้องทำงาน ถ้าไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ไม่มีเงินก็ไม่มีกิน นี่เป็นผลกระทบของการเกิดสงคราม ที่ทำให้โลกหยุดก้าวหน้าไปหลายปี นายจ้างไม่มีทุน ลูกจ้างไม่มีงาน ชีวิตความเป็นอยู่เลยยากลำบาก ผู้คนจึงต้องมีความเห็นแก่ตัว เกิดการแบ่งแยกระหว่างคนรวย คนทำงาน และคนตกงานอย่างชัดเจน
เกร็ด: Sergio Leone ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับหนังเรื่องนี้ และรับเชิญเป็นหนึ่งในบาทหลวงที่ยืนข้างๆ พ่อ-ลูก ในขณะหลบฝน
ถ่ายภาพโดย Carlo Montuori, หนังเรื่องนี้ใช้การถ่ายภาพแบบ Side Shot บ่อยมาก กล้องเคลื่อนขนานไปกับนักแสดงเห็นด้านข้าง ให้ความรู้สึกเหมือน มองมาจากข้างถนน, การเคลื่อนกล้องมีความลื่นไหล โดยเฉพาะกับฝูงชน ที่คนเคลื่อนกล้องเคลื่อน คนหยุดกล้องหยุด นี่ต้องชมการกำกับของ De Sica ด้วยนะครับ ที่สามารถควบคุมตัวประกอบฝูงชนได้อย่างยอดเยี่ยม, และมุมกล้อง มีการใช้ระดับสายตาของพ่อ (ผู้ใหญ่) และลูก (เด็ก) อย่างตรงไปตรงมา นี่น่าจะจงใจสื่อถึงมุมมองที่แตกต่างระหว่างชนชั้น
ตัดต่อโดย Eraldo Da Roma, ไฮไลท์อยู่ที่ช่วงท้าย ความเครียดและเหน็ดเหนื่อยทำให้พ่อรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง เขาเหมือนรู้ตัวแล้วว่าอาจไม่ได้จักรยานคืน จึงต้องการทำอะไรสักอย่าง หนังใช้การตัดต่อสลับระหว่าง พ่อที่มีความลุกรี้ลุกรน-ลูกที่ไม่รู้จะทำอะไร-จักรยานคันที่เล็งไว้-และฝูงชน ที่ค่อยๆรวดเร็วขึ้น แสดงถึงจิตใจอันร้อนรนของคนเป็นพ่อ และการตัดสินใจ, การตัดต่อที่สามารถอธิบายว่าตัวละครมีความตั้งใจทำอะไร? มีตัวเลือกอะไรบ้าง? โดยไม่ใช้คำพูดบรรยายออกมา นี่ถือว่าสุดยอดมากๆ
เพลงประกอบโดย Alessandro Cicognini, หนังใช้เพลงเพื่อสร้างบรรยากาศประกอบ เราจะได้ยินอยู่เรื่อยๆตลอดแทบทั้งเรื่อง (ปกติหนังแนว Neorealist มักจะไม่ค่อยมีเพลงประกอบ เพราะมักต้องการความสมจริง ไม่ได้ต้องการสร้างบรรยากาศ) ในร้าน Piazza Vittorio มันเหมือนว่าเสียงดนตรีจะดังกว่าปกติมาก เช่นกันกับฉากในโบสถ์ที่เสียงสวดมนต์และร้องเพลงจะดังผิดปกติ นั่นเพราะหนังต้องการสร้าง ‘โลก’ ที่เป็นตัวแทนของสังคมชนชั้นต่างๆ ร้าน pizza คือสถานที่ของคนมีเงิน, โบสถ์คือสถานที่ของมีความศรัทธา ฯ
หนังเปิดเรื่องด้วยการมอบ ‘ความหวัง’ ให้กับผู้ชมและตัวละคร ก่อนที่จะเริ่มทำให้ ‘สิ้นหวัง’ และ ‘หมดหวัง’ เป็นการปู้ยี้ปู้ยำกับจิตใจมนุษย์ที่รุนแรงมากๆ เหมือนการพบว่าตนเองถูกหวย พอไปขึ้นรางวัลปรากฎว่าเป็นล็อตเตอรี่ปลอม นี่ย่อมให้เกิดความหดหู่ ท้อแท้ อาลัย ไฉนโชคชะตาถึงเล่นตลกร้ายกับเรา … แต่นี่คือชีวิตนะครับ มีสุขสมหวังก็ต้องมีทุกข์เศร้าเสียใจ เป็นวัฎจักรที่เห็นได้อยู่เรื่อยไป จึงมีคนเปรียบหนังเรื่องนี้เป็นดั่ง ‘ชีวิต’ มนุษย์ ยังไม่ตายก็ต้องสู้ต่อไป
สังคมที่ De Sica สร้างขึ้นมา มันดูไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่ นำเสนอความน่ากลัวของประชาคมหมู่มาก ‘รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย’ คำพูดนี้จริงเสมอ, รู้ทั้งรู้ว่าหมอนี่เป็นคนขโมย แต่แค่เขาถูกหนุนหลังจากคนนับสิบนับร้อย ไม่ว่าด้วยจุดประสงค์อะไร ไม่มีทางที่คนๆเดียวจะต้านทานกระแสสังคมของคนหมู่มากได้, นี่มันสะท้อนได้ทุกเรื่องเลยนะครับ คอรัปชั่น, การเมือง, สงคราม, การเล่นพรรค์เล่นพวก ฯลฯ
ความเชื่อก็เช่นกัน เชื่อในพระเจ้า, ในความบังเอิญ, เชื่อในตัวเอง เหตุที่มนุษย์เราต้องการความเชื่อ ก็เพราะต้องการที่พึ่งพิงในจิตใจในยามลำบาก ตัวละครแม่ (นำแสดงโดย Lianella Carell) เธอดูมีความงมงาย แต่ความเชื่อของเธอด้วยความประสงค์ดี, หนังแอบเสียดสีประเด็นศาสนา โบสถ์ต้องการให้คนเข้าร่วมมิสซาจำนวนมาก จึงมีอาหารกลางวันเลี้ยงขอบคุณ, พ่อก็มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากว่าจะหาจักรยานเจอ แม้โอกาสหาพบมันแทบไม่มี, ส่วนลูก ก็เชื่อมั่นในพ่ออย่างเต็มเปี่ยม
ผมเปรียบเด็กชาย เป็นเหมือน ‘จิตสำนึก’ ของพ่อ โดยไม่รู้ตัวถ้าไม่มีลูกอยู่ พ่อคงได้กระทำความผิด, ถูกรุมซ้อม ทำร้ายร่างกาย เลวร้ายถึงขั้นติดคุก เสียชีวิตตั้งแต่ต้นๆเรื่องแล้ว เพราะความเกรงใจ ความละอายต่อลูก พ่อจึงไม่กล้าทำอะไรที่บ้าบิ่นเกินไป, เพราะมีลูก พ่อจึงสามารถเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ ลูกไปตามตำรวจมาก่อนพ่อโดนรุมประชาทัณฑ์ กับตอนจบที่พ่อตัดสินใจกระทำความผิด ถ้าไม่ได้ลูกชายที่ทำให้คู่กรณียอมยกโทษให้อภัย, นี่จึงสามารถมองได้ว่า ลูกเป็น ‘จิตสำนึกดี’ ของพ่อ ที่สามารถช่วยเหลือ ยับยั้งเหตุการณ์ร้ายๆที่อาจเกิดขึ้นได้
มโนธรรม เป็นสิ่งที่หนังเรื่องนี้ต้องการท้าทาย คนที่มีความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ กลับไม่ได้รับความยุติธรรมแก่ตน ผิดกับคนที่ไร้ซึ่งมโนธรรม กลับได้รับการเอื้อประโยชน์ ปกป้อง รักษาผลประโยชน์, นี่เป็นสิ่งที่ทำให้พ่อไขว้เควในความคิดของตน ฤาคนดีไม่มีที่ยืนในสังคม วินาทีที่เขาตัดสินใจ ฉันไม่ขอเป็นคนดีอีกต่อไปแล้ว เขากลับถูกตอบโต้อย่างรุนแรง ใบหน้าของเขาสิ้นหวัง ‘ทำดีก็ไม่ได้ ทำเลวก็ไม่ดี ‘มันเหลืออะไรให้เขาทำอีกละนี่
หนังไม่มีคำตอบอะไรให้เราเลยนะครับ ไม่มีวิธีแก้ปัญหา ไม่รู้ชะตากรรมต่อไปจะเป็นยังไง มีแค่ผลลัพท์ของการกระทำที่ถูกนำเสนออกมา แต่ถ้ามองให้ดี มันเหมือนจะมีแสงสว่างเล็กๆอยู่ปลายทาง ที่คุณต้องเอื้อมมือไขว่คว้า หาหนทางด้วยตนเองถึงจะไปถึง
ฉากตอนจบที่สองพ่อลูกเดินออกจากกล้อง หายลับไปกับฝูงชน ฉากนี้เป็นการให้เกียรติ (homage) แก่ Charlie Chaplin ที่เป็นผู้กำกับคนโปรดของ De Sica และเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังเรื่องนี้ด้วย
แม้ตอนที่หนังฉายจะได้รับคำวิจารณ์ที่ค่อนข้างแตก ขนาด Luchino Visconti ผู้กำกับชื่อดังของ Italian ที่ทำหนังแนว Neorealist เหมือนกันยังให้ความเห็นว่า การให้นักแสดงมืออาชีพพากย์เสียงนักแสดงสมัครเล่นเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากันเลย, ขนาดเจ้าของนิยาย Luigi Bartolin ยังรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง เพราะจิตวิญญาณของนิยายได้เปลี่ยนไปอย่างมากจากเรื่องราวของหนัง
กระนั้น หนังได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Writing ไม่ได้รางวัล แต่ได้รับ Honorary Award เนื่องในความเป็นหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (ขณะนั้น Oscar ยังไม่มีสาขา Best Foreign Film)
ได้ Golden Globe Award สาขา Best Foreign Film
เคยติดอันดับ 1 จากการจัดอันดับ Sight & Sound: Critic’s Poll 1952
ติดอันดับ 3 จากการจัดอันดับ Brussels World’s Fair เมื่อปี 1958
ติดอันดับ 7 จากการจัดอันดับ Sight & Sound: Critic’s Poll 1962
ติดอันดับ 33 จากการจัดอันดับ Sight & Sound: Critic’s Poll 2012
ติดอันดับ 10 จากการจัดอันดับ Sight & Sound: Director’s Poll 2012
ติดอันดับ 4 จากการจัดอันดับ Empire: The 100 Best Films Of World Cinema
และติดอันดับ 99 จากการจัดอันดับ Cahiers du cinéma: Top 100 of all time
นี่เป็นหนังที่ นักเรียนภาพยนตร์ทุกคน น่าจะเคยได้ดู เป็นหนังเรื่องบังคับ มีความสำคัญมากๆ ต่อวงการภาพยนตร์ ที่ปัจจุบันได้รับความยกย่องอย่างมาก ถือว่าเป็น masterpiece ในยุคทองของ Italian Neorealist
สำหรับนักดูหนังทั่วไป นี่อาจเป็นหนังที่ดูยาก แต่ผมอยากแนะนำให้ทุกคน “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” บรรยากาศของหนังอาจดูจริงจัง ตึงเครียดไปสักนิด แต่หนังมีการนำเสนอ ‘ความสิ้นหวัง’ ที่มีผลให้เราตัดสินใจทำสิ่งที่ ‘ผิดต่อศีลธรรม’ การได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นการเตือนสติที่ดีมากๆ นั่นเป็นสิ่งที่คนสติดีๆไม่ทำกัน ให้คิดได้และอย่าเผลอหลวมตัวไปทำอย่างในหนังก็แล้วกัน
กับคนที่เป็นโจรโดยสันดานดูหนังเรื่องนี้คงไม่รู้สึกอะไร แต่คนที่ยังมีความไม่แน่ใจร ดูหนังเรื่องนี้น่าจะทำให้คุณฉุกคิด ในความผิดที่กำลังจะก่อ ถ้าเผลอพลาดนิดเดียว ผลลัพท์ที่ได้อาจไม่โชคดีเหมือนในหนัง, ผมมีความเชื่อมั่นว่าใครก็ตามที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ อย่างหนึ่งเลยคือคุณจะไม่อยากเป็นโจรแน่ๆ และสองเมื่อใดที่ชีวิตคุณอาจสิ้นหวังสุดๆ ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ความท้อแท้จะหายไป วิธีแก้ปัญหาอาจไม่ได้ แต่อารมณ์ความรู้สึกของคุณจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
แนะนำอย่างยิ่งกับคนทำงานสายภาพยนตร์ ศึกษาเรียนรู้ ทำความเข้าใจเทคนิควิธีการ, นักสังคมสงเคราะห์ ให้เข้าใจจิตใจของมนุษย์, นักจิตวิทยา มองหาแรงขับเคลื่อนของตัวละคร, แนะนำอย่างยิ่งกับคนที่มีความสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยากในชีวิต หนังอาจดูยากเสียหน่อย ภาพขาวดำ ดูจบแล้วอาจหดหู่ลงกว่าเดิม แต่เชื่อว่าเขาจะไม่คิดทำอะไรที่ผิดต่อศีลธรรมเป็นแน่
จัดเรต PG เด็กชายในหนังอายุ 8 ขวบ, BFI (British Film Institute) แนะนำว่า นี่เป็นหนังที่เด็กอายุ 14+ ขึ้นไปทุกคนควรดู
TAGLINE | “Bicycle Thieves ของ Vittorio De Sica ได้ขโมย 2 อย่าง จักรยาน และหัวใจของผู้ชม”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE
Bicycle Thieves (1948)
(28/11/2015) Ladri di biciclette เป็นชื่อภาษาอิตาเลี่ยน แต่กับชื่อภาษาอังกฤษ มี 2 ชื่อเรียก บ้างก็ The Bicycle Thief ไม่ก็ Bicycle Thieves ก็คือหนังเรื่องเดียวกันที่ฉายในปี 1948 หนังขาว-ดำ เรื่องนี้ถือเป็นหนังที่ใช้องค์ประกอบของหนังได้ดีที่สุดของอิตาลีและหนังยุโรป ถ้าเทียบก็เท่ากับ Citizen Kane ของฝั่ง hollywood และ Tokyo Story ของฝั่งเอเชีย
ผมเคยดู Bicycle Thieves เมื่อนานมาแล้ว พบว่าเป็นหนังที่ค่อนข้างดีเรื่องหนึ่ง นำเสนอภาพความเหลื่อมล้ำของชนชั้น สภาพสังคม ความเชื่อและผลของการตัดสินใจ เป็นแนวฮิตเลยสำหรับหนังยุคคลาสสิค ได้กลับมาดูเมื่อไม่กี่วันก่อน บอกเลยว่าผมไม่รู้สึกชอบหนังแนวนี้อีกแล้ว ดูเรื่องนี้แล้วหดหู่มาก ยิ่งดูยิ่งเครียด หนังสามารถทำให้เรารู้สึกถึงอารมณ์ของตัวละคร ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้น ในสมัยนั้นออกมาได้สมจริงมากๆ องค์ประกอบทุกอย่างเลย ภาพ เสียง การแสดง นี่เป็นหนังที่สมบูรณ์มากๆเรื่องหนึ่งในแง่การสร้าง แต่ไม่แนะนำกับคนที่มีจิตใจหดหู่ เพิ่งอกหัก ตกงาน หรือสูญเสียอะไรบางอย่าง เพราะมันอาจทำให้คุณคิดอะไรที่ไม่ควรคิด ทำอะไรที่ไม่ควรทำได้
Vittorio De Sica เป็นหนึ่งในตำนานผู้กำกับของวงการหนังอิตาเลียน ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสดูผลงานของเขาเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะดูแต่ของ Federico Fellini ได้ยินว่าเป็นผู้กำกับแนว Neorealism ที่เป็นแนวโคตรฮิตยุคหนึ่งของวงการหนังอิตาเลี่ยน ชื่อก็บอกแล้วว่า Neo เน้นภาพสไตล์ขาวดำที่ realism สมจริง ภาพคนจน คนรวย การกดขี่ข่มเหง ความแตกต่างของชนชั้น อิตาลียุคหนึ่งก็เป็นอย่างนั้นครับ การนำเสนอของ De Sica ถือว่าสุดยอดมากๆ ผ่านไปหลายทศวรรษแล้วดูหนังเรื่องนี้ ยังรู้สึกเหมือนเรากำลังอยู่ในยุคสมัยนั้นจริงๆ
หนังของ De Sica เคยได้ Best Foreign Language Film Oscar ด้วย แต่สำหรับ Bicycle Thieves นั้นได้ Honorary Award เคยได้ Palme D’Or จาก Cannes Film Festival ด้วย นี่คงการันตีความสุดยอดของผู้กำกับคนนี้ได้เป็นอย่างดี หนังของเขาหาดูยากเสียหน่อย แต่ก็มี 3-4 เรื่องที่ยังพอจะหาดูได้ และสำหรับนักดูหนัง ท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อ Federico Fellini แต่ในวงการหนังอิตาเลี่ยน ยังมีผู้กำกับเก่งๆอีกหลายคนนะครับ De Sica คือหนึ่งในนั้น
Bicycles Thieves มีอะไรดี คำตอบคือ องค์ประกอบทุกอย่างครับ นอกจากความสนุก ผมดูหนังเรื่องนี้แล้วเครียด คงเพราะผมดูหนัง bollywood ค่อนข้างเยอะในช่วงนี้ พอเจอหนังเครียดๆแบบนี้เข้า มันเลยอึดอัดมาก ไม่ใช่ว่าหนังไม่สนุกนะครับ คนที่ชอบดูหนังเครียดๆคงสนุกอยู่แล้ว เพราะ ทุกวินาทีในหนังเรื่องนี้ มันทำให้คุณต้องเครียดแล้วเครียดอีก ไปจนถึงตอนจบเลย แต่หนังก็ไม่ได้ยาวมาก ชั่วโมงกว่าๆเท่านั้น ถ้าทนไหวก็ลองนะครับ
นักแสดงที่เล่นเป็นสองพ่อลูก เข้าขากันมาก ผมเช็คประวัติดู ไม่ค่อยมีรายละเอียดมากเท่าไหร่ทั้งสองคนเลย นอกจาก Bicycle Thieves แล้ว ก็แทบไม่มีหนังเรื่องไหนในเครดิตที่น่าสนใจเลย Lamberto Maggiorani ที่เล่นบทพ่อในเรื่อง เห็นว่าได้ร่วมงานกับ De Sica หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนที่ทำให้เขากลายเป็นดาราดังเลย เขาเสียชีวิตโดยที่ทั้งชีวิตไม่มีหนังเรื่องไหนที่เขาแสดงประสบความสำเร็จ เป็นนักแสดงที่โชคร้ายมากๆ แต่การแสดงของเขาใน Bicycle Thieves นั้นถือว่าเป็นสุดยอดนักแสดงคนหนึ่ง มันอาจเพราะตัวตนของเขาจริงๆคล้ายกับบทในหนังก็เป็นได้
การได้เห็นสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของคนจากในหนัง เป็นสิ่งที่นิยมมากในยุคสมัยหนึ่งของวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะผู้กำกับแนว Neorealism เขาถ่ายหนังจากสถานที่จริง ทุกที่มีอยู่จริงในยุคสมัยนั้น ผู้คนใช้ชีวิตแบบนั้นจริงๆ เห็นแล้วมันสลดใจ ทรมานใจที่จะดูมาก เมื่อเทียบกับยุคสมัยนี้ มันเหมือนกับเรากำลังดูคนแถบแอฟริกาที่ยากจนและอดอยาก แต่นี่ถ่ายกันที่อิตาลี่เมื่อ 60 กว่าปีก่อนเองนะ
Alessandro Cicognini ชื่อนี้อาจไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ แต่ในวงการหนังของอิตาเลี่ยน เขาก็ชื่อดังคนหนึ่งเลย เป็นนักประพันธ์เพลงที่สร้างสรรผลงานได้ไม่ธรรมดามากๆ แต่เพลงให้กับ De Sica ก็หลายเรื่องอยู่ สำหรับ Bicycle Thieves สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีมิติการเล่าเรื่องมากๆ คือเพลงประกอบที่โหยหวน และทำให้เรารู้สึกอยู่ในสมัยนั้นจริงๆ เพลงบรรเลยไม่ได้หวือหวา แต่ลุ่มลึก เสียงแหลมอ่อนๆทำให้จิตใจเราโหยหวนไปกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง กับฉากพื้นหลังที่เข้ากันได้อย่างเหลือเชื่อ และเมื่อมันเป็นหนังขาว-ดำ อารมณ์หม่นๆแบบ Noir มันก็เข้ามาครับ ทำให้เกิดความเครียดสูงขณะดู โดยเฉพาะถ้าเราตั้งใจดูมากๆ จะรู้สึกเลยว่ามันสมจริงสุดๆ
สำคัญสุดของหนังเรื่องนี้คือการเล่าเรื่อง พล็อตที่ชวนให้คนดูรู้สึกอยากติดตาม และคิดตาม อยากรู้ว่าตัวเอกจะทำอย่างไร เมื่อไหร่เขาจะโดนขโมยจักรยาน และเขาจะได้จักรยานคืนไหม นี่เป็นอิทธิพลจากการตั้งชื่อหนังตรงๆแบบนี้ มันเป็นเทคนิคการสร้างความสนใจให้กับคนดูได้ลุ้นไปกับเนื้อเรื่องที่ค่อยๆพัฒนาไปเรื่อยๆ ฉากที่ผมชอบสุดก็หนีไม่พ้นช่วงท้ายๆ หนังนำเสนอผลของการตัดสินใจบางอย่าง ผมสังเกตว่านับจากจุดนั้น ตัวเอกเราไม่พูดสักคำเลยครับ เกือบ 5 นาทีได้(มั้ง)จนหนังจบเลย คือ … มันไม่มีคำพูดอะไรที่จะพูดออกมาจากปากได้ ฉากนั้นมาพร้อมกับฉากคลาสสิค เป็นฉากพ่อลูกนั่งอยู่ริมฟุตบาท (แบบในโปสเตอร์) เชื่อว่าใครดูหนังเรื่องนี้แล้วคงตีความฉากนี้ได้ไม่ต่างกัน
ผมจะเริ่มพยายามกระจายสัญชาติของหนังไปเรื่อยๆนะครับ ไม่จำกัดเฉพาะ hollywood หรือ bollywood แล้ว มีหนังหลายเรื่องทีเดียวที่อยากเขียน ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีพลังเขียนได้มากน้อยแค่ไหน Bicycles Thieves เป็นหนัง european เรื่องแรกที่ผมเขียนนะครับ จะเป็น category ที่แยกจาก hollywood อีกที
คำโปรย : “Bicycle Thieves หนังแนว Neorealism ที่สมจริงทั้งภาพ แสง สี เสียง การแสดง โดยผู้กำกับในตำนานของอิตาลี Vittorio De Sica”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบ : SO-SO
[…] Bicycle Thieves (1948) : Vittorio De Sica ♥♥♥♥♡ […]
[…] Bicycle Thieves (1948) : Vittorio De Sica ♥♥♥♥♡ […]