The Bird with the Crystal Plumage

The Bird with the Crystal Plumage (1970) Italian : Dario Argento ♥♥♥♥

ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Dario Argento กลายเป็นเสาหลักไมล์ต้นสำคัญของแนว Giallo ยืนโรงฉายในอิตาลีกว่าสามปีครึ่ง, เปรียบผู้หญิงดั่งนกขนผลึก พยายามดิ้นรนโบยบินโหยหาอิสรภาพ แต่ทุกครั้งเมื่อสะบัดขนสยายกางปีกออก กลับสร้างรอยบาดแผล และใครบางคนต้องพบเจอความสูญเสีย

ผมละชื่นชอบการตั้งชื่อของหนังแนว Giallo เสียเหลือเกิน มักมาเป็นประโยคยาวๆ สื่อความหมายบางอย่าง ไพเราะเพราะพริ้งยังไงชอบกล เรื่องอื่นที่เด็ดๆ อาทิ
– A Lizard in a Woman’s Skin (1971) กำกับโดย Lucio Fulci
– Black Belly of the Tarantula (1971) กำกับโดย Paolo Cavara
– Don’t Torture a Duckling (1972) กำกับโดย Lucio Fulci
– Your Vice Is a Locked Room and Only I Have the Key (1972) กำกับโดย Sergio Martino
– The House with Laughing Windows (1976) กำกับโดย Pupi Avati
ฯลฯ

The Bird with the Crystal Plumage เป็นภาพยนตร์ที่มีความลุ่มลึกล้ำซับซ้อนอย่างมาก ไม่ใช่แค่การค้นหาติดตามฆาตกรโรคจิต แต่ยังแฝงนัยยะประเด็น Feminist ที่ไม่ใช่ผู้หญิงรับบทนำ เธอพยายามก้าวออกมาจากกรงขัง/อิทธิพลครอบงำของบุรุษ นั่นสร้างความหวาดหวั่นสะพรึงกลัว อันตรายหายนะให้กับผู้ชายที่พยายามเป็นก้างขัดขวางคอ

จริงๆการบอกใจความของหนังคือประเด็น Feminist ถือเป็นการสปอยอย่างมาก เพราะระหว่างรับชมผมเองจับสาระตรงนี้ไม่ได้สักเท่าไหร่ จนกระทั่งช่วงท้ายเมื่อถึงจุดเฉลยฆาตกรโรคจิต ปรากฎว่าบุคคลผู้นั้นคือ… เมื่อครุ่นคิดหวนย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นก็จะร้องอ๋อ เข้าใจความหมายของชื่อ The Bird with the Crystal Plumage เป็นไปตามที่เกริ่นนำมานี้แหละ

ผมคิดว่าการเข้าใจเบื้องต้นว่าหนังมีประเด็นนี้แฝงซ่อนเร้นอยู่ จะทำให้อรรถรสในการรับชมและอ่านบทความนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก ไม่ต้องงมเข็มในมหาสมุทรเพื่อตั้งคำถาม อะไรคือสาระสำคัญ? ดื่มด่ำไปกับความงดงามของผืนน้ำใต้ท้องสมุทร โลกในกรงขัง นกที่โหยหายอิสรภาพโบยบิน

Dario Argento (เกิดปี 1940) ผู้สร้างภาพยนตร์ สัญชาติอิตาเลี่ยน เจ้าของฉายา ‘the Italian Hitchcock’ มีความชื่นชอบหนังแนว Mystery/Thriller Horror โดยเฉพาะแนว Giallo ถึงขนาดมีนักวิจารณ์ให้คำนิยาม ‘พูดถึง Giallo คือพูดถึง Argento หรือ พูดถึง Argento ก็คือ Giallo’

เกิดที่กรุง Rome ลูกชายของโปรดิวเซอร์ Salvatore Argento ตั้งแต่เด็กมีความสนใจหลงใหลในเทพนิยาย Brothers Grimm และ Edgar Allan Poe สมัยเรียนมัธยมทำงานไปด้วยเป็นนักวิจารณ์ เขียนบทความลงนิตยสาร/หนังสือพิมพ์ เลือกไม่เข้าเรียนต่อมหาลัยเพราะได้งานเขียนบท ร่วมกับ Bernardo Bertolucci เรื่อง Once Upon a Time in the West (1968) ให้กับผู้กำกับ Sergio Leone

ระหว่างร่วมงานกันนั้น Bertolucci เป็นผู้มอบนวนิยาย The Screaming Mimi (1949) แต่งโดย Fredric Brown (1906 – 1972) ให้กับ Argento อ่านแล้วเกิดความชื่นชอบ สนใจดัดแปลงสร้างภาพยนตร์แต่ก็ไม่ได้ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ [เพราะเพิ่งได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Screaming Mimi (1958)] พัฒนาบททั้งงั้นๆเลยแบบไม่ขึ้นเครดิต ปรับเปลี่ยนแปลงเรื่องราวพื้นหลังในอิตาลี เพิ่มเติมเสริมโน่นเสริมนี่จนเจ้าของต้นฉบับไม่สามารถฟ้องร้องทำอะไรได้

เกร็ด: Fredric Brown เป็นนักเขียนแนว Sci-Fi (และ Mystery) ชื่อดัง โด่งดังสุดของเขาคือพัฒนาตอน Arena ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดของแฟนไชร์ Star Trek (1966-68)

ในตอนแรก Argento ไม่ได้มีความต้องการเป็นผู้กำกับเอง นำบทหนังไปเสนอโปรดิวเซอร์ Goffredo Lombardo แห่ง Titanus Studios พูดคุยถึงอยากให้ใครมากำกับบ้าง อาทิ Italo Zingarelli, Duccio Tessari, Terrence Young ฯ สุดท้ายได้พ่อ Salvatore Argento ผลักดันลูกชาย

“I had just written it myself to see if I could do justice to a noir-type thriller set in Italy. It was an uncommon genre at the time but I followed my heart and went with the flow. The only though I clung to was, if I knew cinema in theory through being a film critic, all I had to do was apply myself. Uppermost in my mind was that if I didn’t want my screenplay ruined I would have to bite the bullet”.

– Dario Argento

Sam Dalmas (รับบทโดย Tony Musante) นักเขียนนวนิยายสัญชาติอเมริกัน กำลังประสบปัญหาครุ่นคิดอะไรไม่ออก Writer’s Block เดินทางมาพักร้อนยังกรุงโรม อาศัยอยู่กับโมเดลลิ่งแฟนสาว Julia (รับบทโดย Suzy Kendall) ในอพาร์ทเม้นต์ที่กำลังใกล้จะถูกทุบ ไม่ยอมย้ายกันออกเสียที

อีกไม่กี่วันกำลังจะขึ้นเครื่องบินกลับ บังเอิญเดินผ่านพบเห็นหญิงสาวกำลังถูกกระทำร้ายยัง Art Gallery แห่งหนึ่งโดยชายสวมชุดกันฝนสีดำ แต่ระหว่างรี่เข้าไปจะช่วยเหลือ กลับถูกขังติดอยู่ตรงประตูทางเข้าระหว่างกระจก หลังจากตำรวจมาพบเจอยึด Passport ของเขาไว้ในฐานะผู้ต้องสงสัย กลายเป็นข้ออ้างติดตามสืบคดีนี้ ทั้งๆไม่ใช่ภาระวุ่นวายของตนเองแม้แต่น้อย

Tony Musante ชื่อจริง Anthony Peter Musante Jr. (1936 – 2013) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Bridgeport, Connecticut เรียนจบจาก Oberlin College ตามด้วย Northwestern University เข้าสู่วงการจากแสดงซีรีย์โทรทัศน์ The DuPont Show of the Week (1961), Alfred Hitchcock Presents (1964), The Fugitive (1966), สำหรับภาพยนตร์โดงดังสุดกับ The Incident (1967), The Bird with the Crystal Plumage (1970) ฯ

รับบท Sam Dalmas หนุ่มนักเขียนที่แม้ขณะนั้นจะสมองตื้อตัน ครุ่นคิดอะไรไม่ค่อยออก แต่เมื่อชีวิตประสบพบเจอเรื่องตื่นเต้น รีบกระโจนถาโถมเข้าใส่แบบไม่เกรงกลัวอันตราย เพราะนั่นอาจเปิดโลกทัศน์ ประสบการณ์ใหม่ๆให้กับชีวิต เฉียดตายหลายครั้งแต่ยังสามารถดิ้นรนเอาตัวรอดมาได้แบบหวุดหวิด ไม่เคยเข็ดหลากจำ

ใครเคยรับชม The Man Who Knew Too Much (1934 และ 1956) หรือ The Girl Who Knew Too Much (1963) ย่อมรับรู้ถึงความดื้อหัวรั้น เสือกเรื่องชาวบ้าน ลักษณะของตัวละครคัดลอกมาแบบเปะๆ แต่ในเรื่องการแสดงของ Musante ไม่มีอะไรน่าพูดถึงสักเท่าไหร่ นอกเสียจากสีหน้าตอนรับรู้ตนเองว่าเพิ่งกินเนื้อ…เข้าไป ขำกลิ้งเลยละ!

Suzy Kendall ชื่อเกิด Freda Harriet Harrison (เกิดปี 1937) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Belper, Derbyshire โตขึ้นเข้าเรียนออกแบบ/วาดภาพจาก Derby & District College of Art จบออกมาเป็นโมเดลลิ่ง ตามด้วยนักแสดงภาพยนตร์ The Liquidator (1965), มีชื่อเสียงจาก To Sir, with Love (1967), The Penthouse (1967), Fraulein Doktor (1969), The Bird with the Crystal Plumage (1970) ฯ

รับบท Julia แฟนสาวของ Sam ชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าความสุขสำราญ ปลอดภัยกายใจ แต่เมื่อเขาจมปลักอยู่กับการติดตามสืบหาตัวฆาตกร ทำให้เธอพลอยตกอยู่ในสถานการณ์ยุ่งยากลำบาก เฉียดตาย ขาดสติควบคุมตนเองไม่ได้เมื่อพบว่าติดกับอยู่ในห้องฮับตัวคนเดียว

วินาทีที่ถือเป็นไฮไลท์ก็คือ หญิงสาวติดอยู่ในห้อง ฆาตกรพยายามหาทางพังประตูเข้ามา รีบวิ่งไปที่หน้าต่าง ห้องน้ำ รอบทิศคือกรงขังไร้ซึ่งหนทางออกหนี ผู้ชมมักคาดหวังให้เธอจะคิดวางแผนทำอะไรสักอย่าง แต่กลับกลายเป็นสูญเสียสติแตก คลุ้มคลั่ง ควบคุมตนเองไม่อยู่!

Eva Renzi ชื่อจริง Evelyn Renziehausen (1944 – 2005) นักแสดงหญิงสัญชาติเยอรมัน เกิดที่ Berlin ไม่แน่ใจว่าอพยพย้ายสู่ประเทศอังกฤษหรืออย่างไร, เข้าสู่วงการจากภาพยนตร์เรื่อง Funeral in Berlin (1966), The Pink Jungle (1968), โด่งดังสุด The Bird with the Crystal Plumage (1970)

รับบท Monica Ranieri หญิงสาวผู้ถูกทำร้ายใน Art Gallery ได้รับการช่วยเหลือโดย Sam Dalmas ซึ่งพยายามพบปะ อยากที่จะพูดคุยสนทนากันหลายครั้ง แต่กลับถูกสามีของเธอหักห้ามกีดกัน จนกระทั่งช่วงท้ายรอยยิ้ม เสียงหัวเราะอย่างคลุ้มคลั่ง จิตหลุดไปไหนต่อไหน กู่ไม่กลับ

คล้ายๆกับตัวละคร Julia ได้รับการเลี้ยงดูแลทะนุถนอม(จากสามี)ดั่งไข่ในหิน แต่จิตใจกลับเต็มไปด้วยความก้าวร้าวรุนแรง หลังพบเห็นภาพวาดหนึ่งปลุกแรงกระตุ้นแห่งสันชาติญาณ ต้องการเขย่าพังทลายกรงขัง โบยบินออกสู่อิสรภาพอย่างคลุ้มคลั่ง

สองตัวละครหญิง Julia และ Monica มีอะไรๆหลายอย่างคล้ายคลึง และตรงกันข้าม
– ทั้ง Julia และ Monica ได้รับความรักอบอุ่นจากแฟนหนุ่ม/สามี แต่พวกเขาไม่ค่อยเปิดกว้างให้โอกาส มอบอิสรภาพแก่พวกเธอได้ทำอะไรนอกห้องหอสักเท่าไหร่
– ด้วยเหตุนี้ Julia เลยแทบทำอะไรไม่เป็นเมื่อภยันตรายมาถึงใกล้ตัว ขณะที่ Monica แสดงความเกรี้ยวกราดคลุ้มคลั่ง หัวเราะลั่นแบบไม่กลัวเกรงใคร แว้งกัดได้แม้แต่เจ้านายของตนเอง

ถ่ายภาพโดย Vittorio Storaro ปรมาจารย์ตากล้องในตำนานสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Bernardo Bertolucci ผลงานอมตะอย่าง The Bird with the Crystal Plumage (1970), The Conformist (1970), Last Tango in Paris (1972), Apocalypse Now (1979), Reds (1981), The Last Emperor (1987) ฯ

งานภาพของหนังเต็มไปด้วยภาษาภาพยนตร์ ความ Stylish ไม่ได้เกิดจากการจัดแสงสีสันอันฉูดฉาด หลายช็อตเป็นเชิงสัญลักษณ์นามธรรม ต้องใช้การครุ่นคิดวิเคราะห์ถึงสามารถทำความเข้าใจเบื้องต้นได้

Opening Credit นำเสนอศพแรก หญิงสาวไร้นามสวมชุดแดง(แห่งเลือดและความตาย) ภาพถ่ายใส่เฟรมเหมือนการแอบถ่าย Peeping Tom และที่สำคัญคือเดินจากขวาไปซ้าย (กลับทิศทางจากปกติคนเดิน) ซึ่งการฆาตกรรมหญิงสาวผู้นี้ ใช้วิธีตัดสลับไปมากับฆาตกรสวมถุงมือดำ กำลังลูบไล้ภาพถ่าย หยิบเช็ดลูบไล้มีด จบลงด้วยเสียงกรี๊ดร้อง, ผู้กำกับ Argento คาดว่ายังอยู่ในช่วงเน้นสร้างความระทึก Thriller มากกว่าขยี้ขยายการฆาตกรรมเหมือน Blood and Black Lace (1964) หรือผลงานยุคหลังๆอย่าง Suspiria (1977)

ผมนำช็อตนี้มาที่เหมือนจะไม่มีอะไร แต่สังเกตเห็นหนังสือปกสีเหลืองๆที่ห้อยแขวนอยู่ไหม นั่นคือนวนิยาย Crime-Mystery Pulp Novels ที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่า Giallo (ภาษาอิตาลี แปลว่าสีเหลือง)

หลังเดินทางผ่านอารยธรรมสัตว์ปีกมาจนถึงห้องของเจ้าของสตูดิโอแห่งนี้ พบเห็นไข่ในหิน และ Sam Dalmas ปฏิเสธจะรับต้นฉบับนิยายที่เพิ่งตีพิมพ์ของตนเอง, นัยยะของฉากนี้สะท้อนถึงวัตถุประสงค์ของเรื่องราว(และตัวละคร) ต้องการทอดทิ้งสิ่งที่คืออดีต เบื้องหลัง โลกทัศนคติอันเก่าก่อน เฉิ่มเฉย อาทิ ผู้หญิงเป็นดั่งช้างเท้าหลัง ไข่ในหินของสังคม ฯ

Art Gallery แห่งนี้ เต็มไปด้วยรูปปั้นหลอนๆ ตีมหลักคงเกี่ยวกับนก การเอื้อมมือไขว่คว้าที่ดูช่างน่าสะพรึงกลัว ขยะแขยง เต็มไปด้วยหนามแหลม, ตู้กระจกที่ Sam ติดอยู่ระหว่าง ถือเป็นสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก อยากให้การช่วยเหลือหญิงสาวผู้ได้รับบาดเจ็บแต่มิอาจกระทำได้ เพราะตัวเขาเองก็ถูกขังอยู่ในกรงเฉกเช่นเดียวกัน

นี่คือฉากที่ถือว่าเป็นลายเซ็นต์ของหนัง ตอนที่ผมเป็นภาพช็อตนี้ใคร่ฉงนสงสัยมากๆว่าคืออะไร นามธรรมสุดๆในการนำเสนอ

นี่คือการพยายามเอื้อมมือไขว่คว้า โหยหายอิสรภาพของหญิงสาว แต่ก็ไม่มีใครช่วยเหลือเธอได้นอกจากตัวตนเอง

ภาพมุมเงยช็อตนี้ ลวดลายบนเพดานให้ความรู้สึกเหมือนพระเอกก็เป็นคนหนึ่งที่ติดกับ หยากใย้ ไข่ในหิน นกในกรง โลกที่บุรุษเป็นใหญ่เช่นกัน

หลังจากผ่านเหตุการณ์อันน่าตกตะลึง สั่นสะพรึงดังกล่าวมา ชีวิตของพระเอกอยู่ในช่วงเวลาคลุมเคลือ ไม่สามารถบินกลับอเมริกาได้โดยทันที สะท้อนเข้ากับสภาพอากาศหมอกลงจัดมองอะไรข้างหน้าไม่เห็น ซึ่งโดยไม่รู้ตัวถูกฆาตกรติดตามมาเบื้องหลัง รอดตายอย่างหวุดหวิดเพราะเชื่อในคำเตือนของแม่ชี (ราวกับพระผู้เป็นเจ้า/โชคชะตากรรม ชี้ชักนำทางให้เขาสามารถเอาตัวรอดครานี้ไปได้)

เปิดตัวแฟนสาว Julia เธอนอนอยู่บนเตียงในสภาพเปลือยเปล่าเหมือนเทพธิดา หัวเตียงมีทูตสวรรค์(มีปีก)ถือหลอดไฟดวงกลมส่องสว่างทั่วห้อง นี่เป็นการนำเสนอสิ่งสำคัญสุดในชีวิตของ Sam มีหญิงสาวผู้นี้เปรียบดังเทพี/พระเจ้าบนเตียงของเขา

ถ้าผมจำไม่ผิด ครั้งแรกในภาพยนตร์ของฉากคล้ายๆกันนี้คือ The Asphalt Jungle (1950) แต่หลายคนอาจจดจำได้กับ The Usual Suspects (1995), ความน่าสนใจของฉากนี้คือ 4 คนแรกเป็นผู้ชาย และ +1 คือกระเทยข้ามเพศ ซึ่งถูกตำรวจผู้ทำคดีตำหนิต่อว่าลูกน้องที่นำหมอนี่มาพอดี

นัยยะของฉากเล็กๆนี้ ยุคสมัยนั้นผู้หญิงว่าดั่งไข่ในหินแล้ว บุคคลข้ามเพศถือว่าเป็นวัตถุโบราณเลยละ! แม้พบเจอได้ตามท้องถนน แต่ยังถูกปฏิเสธต่อต้านไม่ยินยอมรับโดยสิ้นเชิง!

ให้ข้อสังเกตกับห้องพัก/อพาร์ทเม้นท์ของ Monica Ranieri กรงของเธอมีสภาพโบร่ำโบราณ เฟอร์นิเจอร์ ผนังปูด้วยไม้ หนังสือเกาะเคราะวางอยู่บนชั้น เป็นสถานที่บ่งบอกความล้าหลังของโลกได้เป็นอย่างดี

ทีแรกผมนึกว่า Alfred Hitchcock มารับเชิญ Cameo แต่ไม่ใช่นะครับ แต๋วแตกซะขนาดนั้น,

ทำไมต้องมาร้านขายของเก่า? เพื่อทบทวนถึงสิ่งที่อยู่ในอดีต/บทเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อว่าจะได้ค้นพบเงื่อนงำ โลกทัศนคติที่แตกต่าง หรือคำตอบไขปริศนาปัญหา มุ่งสู่อนาคตสุขสดใส

ของเก่าที่พระเอกหยิบจับ ส่งต่อให้พ่อค้าคนนี้คือ เชิงเทียน ถือกลับหัวกลับหาง ยังไม่ได้รับการจุดไฟขึ้นเพื่อส่องสว่าง สะท้อนถึงเรื่องราวยังไม่ถึงจุดไขกระจ่าง หญิงสาวยังไม่ได้รับอิสรภาพเสรีในการใช้ชีวิต

สังเกตโทนสีพื้นหลังของฉากนี้ ทั้งๆสถานที่แห่งนี้คือร้านขายของเก่า แต่กลับเลือกใช้สีฟ้า (ไม่ใช่น้ำตาลคร่ำครึ) มอบสัมผัสที่เป็นธรรมชาติ ใต้ผืนน้ำ ท้องนภา รูปปั้นทหารนโปเลียนแห่งฝรั่งเศส และความแต๋วแตกของเจ้าของร้าน นี่คือโลก(ประวัติศาสตร์)ที่เต็มไปด้วยอิสรภาพไร้ขอบเขตแดนของมนุษย์

อพาร์ทเม้นท์ของพระเอก อยู่ในตึกเก่าที่กำลังใกล้ถูกทุบทำลาย ผนังกำแพงแม้จะสีขาวแต่มีความเขรอะเปลอะเปลื้อน ดูสกปรกแต่มีความคลาสสิกเป็นบ้า ประดับด้วยภาพวาด Surrealist เพื่อสะท้อนแนวคิดที่อยู่เหนือกว่าปัจจุบัน

นี่เป็นภาพวาดที่ใช้ประกอบหนัง ไม่ได้นำจากศิลปินคนใดๆ แต่ผมรู้สึกว่ามีความคล้ายคลึงกับผลงานของ Pieter Bruegel (เกิดระหว่าง 1525/30 – 1569) จิตรกรสัญชาติ Dutch ในยุคสมัย Dutch and Flemish Renaissance painting

คือผมนึกถึงภาพที่มีลักษณะใกล้เคียงจากภาพยนตร์เรื่อง A Pigeon Sat on a Branch Reflecting on Existence (2014) ของผู้กำกับ Roy Andersson เขาพบเห็นนกตัวหนึ่งแล้วเกิดความใคร่สงสัย ในมุมมองของมันมองย้อนกลับมาเห็นเราจะครุ่นคิดถึงอะไร?

ครั้งหนึ่งเมื่อ Sam ถูกฆาตกร (ที่ก็ไม่รู้ใครไหน เกี่ยวข้องอย่างไรกับฆาตกรตัวจริง) พานผ่านมายังสถานีขนส่งยามค่ำคืน เต็มไปด้วยรถโดยสารจอดค้างคืนเรียงราย อยากจะขึ้นสายไหนก็แล้วแต่ความสนใจ … สถานที่นี้เปรียบได้กับหนทางแยก การตัดสินใจเลือก มีเส้นสายลอดช่องมากมาย ก็อยู่ที่ว่าจะค้นพบเจอ เอาตัวรอด ไปสู่เป้าหมายปลายทางถูกต้องได้หรือเปล่า

สีเหลือง Gillao อีกแล้ว! ณ งานเลี้ยงรุ่นแห่งนี้ ผู้ชายทุกคนสวมชุดสีเหลือง แต่มันก้อนขี้เสียมากกว่า โลกที่เต็มไปด้วยบุรุษ มันหาได้น่าอภิรมณ์เริงใจเสียเท่าไหร่

นี่ก็ไม่รู้เหยื่อรายทีเท่าไหร่ หญิงสาวเดินขึ้นบันไดแทนลิฟท์ กลับพบเจอความมืดมิดชั้นบน แต่ก่อนหน้านั้นถ่ายลงมาจากด้านบน เห็นบันไดวนรูปสามเหลี่ยม เป็นสถาปัตยกรรมที่ชวนให้ Vertigo เสียจริง

ผมจดจำตัวละครนี้ได้แค่ว่า ‘So Long’ ราวกับต้องการร่ำราจากอะไรสักอย่าง, มีสองครั้งที่พระเอกพบเจอชายคนนี้ มุมกล้องแตกต่างสะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างพวกเขา
– ครั้งแรกนาย So Long ยังครุ่นคิดไม่ออกจะให้ความร่วมมือยังไง ภาพจะหันเหโน้มเอียงมุมก้มจากฝั่งพระเอก ราวกับตนเองถือไพ่เหนือกว่า
– ครั้งหลังกับช็อตนี้ พวกเขาอยู่ระดับเดียวกัน มุมกล้องแห่งความเสมอภาคเท่าเทียม แนะนำเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่พูดตรงข้ามความจริงทุกสิ่งอย่าง

ต่อให้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าล้ำไปสักขนาดไหน แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับมันสมอง/ความทรงจำของมนุษย์ นั่นทำให้เสียงปริศนาจากโทรศัพท์ ต่อให้เทียบกับหลายร้อยพันหมื่นเสียง ก็สู้บุคคลผู้เคยได้ยินจดจำ แค่เพียงเสี้ยววินาทีก็นึกออกแล้ว

เรื่องราวของศิลปิน Berto Consalvi (รับบทโดย Mario Adorf) ผู้อยู่ในช่วง Mystical Period สนใจวาดภาพที่บันทึกช่วงเวลาอันน่าพิศวง ลึกลับ จากความทรงจำ ประสบการณ์ส่วนตัวที่พานพบเจอ

งานอดิเรกเลี้ยงแมวขังไว้ในห้อง (เปรียบแมว=นก, มนุษย์) ขุนให้อ้วนพีแล้วจับมาทำเป็น … เปรียบศิลปินคนนี้คือตัวแทนของผู้นำที่พยายามควบคุม ครอบงำทุกสิ่งอย่างให้เป็นไปในแนวทิศทางของตนเอง สร้างบ้านไม่มีประตู (ไม่เปิดรับคนอื่นเข้ามาง่ายๆ นอกเสียจากได้รับผลประโยชน์ตอบแทน)

สำหรับภาพที่ Consalvi จะขายให้พระเอก เท่าที่ผมสังเกตเห็นธรรมชาติรายล้อมด้วยตึกสูง/สังคมเมือง กำลังค่อยๆบดเบียดบังจนสักวันคงไม่หลงเหลืออะไรให้น่าดูชม

ในตู้โทรศัพท์ช็อตนี้ พระเอกเหมือนกำลังกกตัวอยู่ใน ไข่, กบในกะลา ไปต่อไม่ถูก ไม่รู้จะทำยังไงต่อไป (คุยโทรศัพท์กับแฟนสาว นัดหมายกันเตรียมจะไปรับเพื่อขึ้นแท็กซี่สู่สนามบินกลับอเมริกา)

ว่าไปห้องพัก/อพาร์ทเมนต์ ที่เราๆอาศัยอยู่กันในยุคสมัยนี้ แทบไม่ต่างอะไรจากกรงขังคุก เวลาพบเจอภัยผจญมาเคาะประตูบ้านแบบนี้ จะหลบหนีเอาตัวรอดได้เช่นไร ไปทางไหนก็เจอแต่กรงขัง มุ้งลวด ปิดตายทุกรอบด้านทิศทาง

นี่ขนาดว่า Julia ถือเชิงเทียนไว้ในมือเพื่อนำทางแสงสว่าง แต่ก็จนปัญญาหาทางออก แถมจับคว่ำผิดด้านอีกนะ เรียกว่ามืดมดพร้อมถูกตัดน้ำตัดไฟ

Hornitus Nevalis นกที่ได้รับฉายาว่า The Bird with the Crystal Plumage เป็นสายพันธุ์สมมติ ไม่มีอยู่จริงนะครับ ที่เห็นในฉากนี้แท้จริงแล้วคือสายพันธุ์ Grey Crowned Crane ขนสีเทามันขลับของมัน ก็ดูเหมือนผลึกคริสตัลอยู่นิดหน่อย

เกร็ด: เมื่อพูดถึง Curaçao อาจมีหลายคนนึกถึงเหล้าหวาน Blue Curaçao ตกแต่งกลิ่นจากเปลือกส้ม Larahas ปลูกได้ดีเยี่ยมบนเกาะ Curaçao ตั้งอยู่ในทะเล Caribbean อดีตสังกัดเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันกลายเป็นประเทศเล็กๆ เขาทราย แกแล็คซี่ เคยไปชกป้องกันแชมป์โลกครั้งหนึ่ง

เหมือนเนื้อเพลงที่พี่ตูนว่าไว้ ‘ความรักมันทำให้ตาบอด จนมองไม่เห็นความจริง’ นั่นคือเหตุผลให้สามีของ Monica Ranieri เลือกปกปิดหลบซ่อนขังเธอไว้ในกรง มิให้สาธารณะชนรับล่วงรู้ข้อเท็จจริง กระนั้นเมื่อเขาไม่สามารถควบคุม ครอบงำได้สำเร็จ เหมือนงูเห่าที่แว้งกัดเจ้าของ โดนดีเข้าอย่างจัง! ถ่ายทำมุมมองบุคคลที่หนึ่ง โยนให้กล้องตกลงมาจากชั้นสาม พังสนิทแต่ฟีล์มรอดหวุดหวิด

ถ่ายจากมุมสูง Bird Eye View ระหว่างที่ Sam ออกติดตามหาแฟนสาวที่เหมือนจะถูกฆาตกรตัวจริงจับตัวไป กล้องค่อยๆซูมออกแล้วแพนไปโดยรอบเมืองอิตาลี (คงจะถ่ายจากดาดฟ้าตึกหลังหนึ่ง) นี่ต้องใช้มุมมองนกเท่านั้นกระมังถึงสามารถติดตามหาได้พบเจอ

ผมชื่นชอบฉากนี้มากๆเลยนะ เรียกว่า ‘การหล่นทับของอารยธรรม’ มนุษย์มีชีวิตมาก็ไม่รู้กี่ร้อยพันหมื่นแสนล้านปีในประวัติศาสตร์ แต่กลับยังเชื่องช้าล้าหลังในความคิด สมัยนั้นยังคงปฏิเสธหัวชนฝา ไม่ยินยอมรับสิทธิ ความเสมอภาคเท่าเทียมต่างๆนานา

ยุค 60s- 70s ถือเป็นทศวรรษแห่งการเคลื่อนไหว (Movement) อาทิ เรียกร้องสิทธิสตรี, Black Power, การใช้แรงงานสวัสดิการสังคม ฯ เวลาแห่งการปรับเปลี่ยนแปลง สู่โลกยุคใหม่แห่งความเสมอภาคเท่าเทียม ทุกคนสามารถกางปีกโบยบินได้รับอิสรภาพ ไม่ควรจมปลักอยู่กับความยิ่งใหญ่ของตนเองในอดีต เพราะก็จะถูกบดขยี้กดทับจนสูญเสียความเป็นตัวของตนเองไป

ความตายของฆาตกร เป็นโชคช่วยของพระเอกไปเสียหน่อย ให้ได้รับบทเรียน เริ่มต้นใหม่ โอกาสสองที่จะปรับเปลี่ยนแปลงโลกทัศนคติแคบๆ เปิดกว้างออกเป็นกบนอกกะลากับยุคสมัยใหม่นี้เสียที

ตอนจบของ Psycho (1960) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock ก็ใช้ผู้เชี่ยวชาญอธิบายถึงสาเหตุผล แรงจูงใจ เบื้องหลังฆาตกรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยหลักทางจิตวิทยา ไขข้อข้องใจผู้ชมทุกสิ่งอย่าง

คำตอบของหนังอยู่ในฉากนี้แล้ว ผมคงไม่ต้องอธิบายซ้ำอีกนะครับ

และตอนจบ Ending Credit จะขาดไปได้เสียอย่างไร เมื่อนกได้รับอิสรภาพ ก็ต้องออกโผลบินเป็นธรรมดา!

ตัดต่อโดย Franco Fraticelli สัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Argento ผลงานเด่นๆ อาทิ The Bird with the Crystal Plumage (1970), Deep Red (1975), Seven Beauties (1976), Suspiria (1977), Boys on the Outside (1990) ฯ

ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Sam Dalmas ดำเนินไปข้างหน้า และแทรกภาพความทรงจำ ระลึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงขณะนั้นซ้ำไปซ้ำมา เพื่อทบทวนว่ามีอะไรผิดสังเกตเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า

ขณะที่ผู้กำกับ Mario Bava ได้วิวัฒนาการ Giallo ของตนเอง มุ่งสู่การขยี้ขยายช่วงเวลาขณะฆาตกรรมให้มีความวิจิตรศิลป์ ไดเรคชั่นของ Argento ในช่วงแรกๆ มุ่งเน้นการสืบสวนสอบสวน ค้นหาเบาะแส สร้างบรรยากาศลึกลับอันตราย และเผชิญหน้าฆาตกรตัวจริง โดยแทรกสอดเหตุการณ์ขณะฆาตกรรมอย่างมีจังหวะชั้นเชิง ตามด้วยผลกระทบต่อเนื่อง สร้างความลุ้นระทึกกดดัน Thriller ให้กับผู้ชมได้ทรงพลังกว่า

(แต่ยุคหลังๆของ Argento ก็แปรสภาพกลายเป็นแบบ Bava นะครับ บดขยี้ช่วงเวลาขณะฆาตกรรม ให้มีความยาวและดูเป็นศิลปะมากขึ้นเรื่อยๆ)

เพลงประกอบโดย Ennio Morricone ยกระดับหนังให้มีมิติลุ่มลึกล้ำ ระยิบระยับเหมือนคริสทัล สร้างความขนลุกขนพอง เขย่าขวัญสั่นประสาทยิ่งกว่าเดิม ทั้งๆที่เสียง Lullaby ขับร้องโดย Edda Dell’Orso ควรขับกล่อมเด็กให้หลับนอน แต่คงเป็นค่ำคืนที่ไม่มีใครนอนหลับฝันดีแน่ๆถ้าฟังเพลงนี้

จริงอยู่ที่บทเพลงไม่ได้มีความจัดจ้านเหมือน Goblin แห่ง Suspiria (1977) แต่ความกลมกล่อมร่วมงานภาพที่ก็ไม่ฉูดฉาดมากเกินไป และความ Avant-Garde สอดคล้องเข้ากับหลายๆภาพ Surrealist เรียงร้อยปรากฎเห็นอยู่ ผลลัพท์จึงออกมามีความเหมาะเจาะเฉพาะ สร้างโลกที่มีความเป็นส่วนตัวสูงมากๆ

(ถ้าไม่ตั้งใจฟังให้ดี สองเพลงที่ผมยกมาเหมือนจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ แต่จริงๆคือคนละเพลงเลยนะครับ)

The Bird with the Crystal Plumage (1970) นำเสนอหญิงสาวสองคนที่อาศัยอยู่ในกรงขังของบุรุษ เมื่อพบเห็นภาพวาดพิศวงก่อให้เกิดปฏิกิริยาอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป
– Julia เกิดความหวาดสะพรึงกลัว จับจ้องมองแล้วหลบซ่อนตนเองอยู่ในอ้อมกอดแฟนหนุ่ม
– Monica กระตุ้นความทรงจำครั้นเก่าก่อน แสดงความเกรี้ยวกราดระเบิดอารมณ์คับข้องแค้นออกมาอย่างคลุ้มคลั่งเสียสติแตก

อาการของพวกเธอ สะท้อนเข้ากับสถานะเพศหญิงที่แต่ก่อนเหมือนนก เคยอาศัยอยู่ในกรงขัง ถูกอิทธิพลครอบงำจากบุรุษเพศ ไร้ความจำเป็นต้องการปีกโบยบิน เพราะแค่นี้ก็มีอาหารการกินอิ่มหนำสุขสำราญ แต่เมื่อโลกก้าวมาสู่ยุคสมัยแห่งเสรี เปิดกว้างทางความคิด โลกทัศนคติ ปฏิกิริยาโต้ตอบสนองของอิสตรี เลยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองพวกสุดโต่งซ้าย-ขวา
– หนึ่งปรับตัวตนเองเข้ากับโลกใบใหม่ไม่ได้ กรี๊ดร้องโวยวายคลุ้มคลั่งเสียสติแตก ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง รอคอยพระเอกขี่ม้าขาวมาให้การช่วยเหลือปกป้องคุ้มกันภัยเท่านั้น
– สองคลุ้มคลั่งเสียสติแตก หลงระเริงกับอิสรภาพเสรี ระบายความอึดอัดคับคั้งที่อัดแน่นเต็มอก ปะทุระเบิดออกมาอย่างไร้สามัญสำนึกศีลธรรม

ผมว่าผู้ชมสมัยนี้น่าจะครุ่นคิดได้เองแล้วกระมัง สองมุมมองอย่างนั้นมันก็สุดโต่งวิปริตจิตหลุดเกินไป แต่นั่นแหละครับโลกทัศนคติของผู้กำกับ Dario Argento นำเสนอความ Horror ในมุมสุดโต่งซ้าย-ขวา เพราะมันล้วนมีโอกาสเป็นไปได้ยังไงละถึงถ่ายทอดออกมา High-Art ที่สามารถเป็นข้อครุ่นคิด ย้ำเตือนผู้ชม ต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น จำต้องใช้ ‘สติ’ ครุ่นคิดไตร่ตรองให้รอบคอบถี่ถ้วน ถึงค่อยตัดสินใจกระทำแสดงออกอันใด

เป้าหมายของผู้กำกับ Argento คงเป็นการถ่ายทอดความหวาดสะพรึงกลัวในมุมมองของผู้ชาย ต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่สิทธิสตรี Feminist ได้รับการเรียกร้องจนกำลังค่อยๆก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ ปรับเปลี่ยนทัศนคติความคิดเห็นของผู้คน (รวมทั้งตัวเขาเอง)

ถ้ามองเฉพาะแต่หนังเรื่องนี้อาจมีคนหลงครุ่นคิดว่า Argento คงไม่ชอบแนวคิดของ Feminist สักเท่าไหร่ แต่ผมว่าตรงกันข้ามเลย ผู้กำกับเข้าใจความสำคัญของมันอย่างลึกซึ้งถ่องแท้ สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เรียกได้ว่าเป็น ‘นิทานสอนใจชาย’ มากกว่าจะสอนใจหญิงเสียอีกนะ รีบๆเปิดกรงให้นกขนผลึกทั้งหลายโบยบินได้รับอิสรภาพเสียตั้งแต่วันนี้ (พอบินจนเหนื่อยเดี๋ยวก็หวนกลับมาตายรังเอง) ยื้อรั้งต่อไปจนวันข้างหน้า เมื่อพวกเธอเริ่มดิ้นรนออกอาการ คราวนี้ได้หนีเมื่อไหร่คงไม่มีวันหวนกลับคืนมา

ด้วยทุนสร้างประมาณ $500,000 เหรียญ ทำเงินในอิตาลีประมาณ 1,650,000,000 ล้าน Lira (เกือบๆ $1 ล้านเหรียญ) ถือเป็นหนัง Giallo เรื่องแรกที่ทำประสบความสำเร็จล้นหลามขนาดนี้ และเมื่อนำออกฉายต่างประเทศจึงคือกำไรล้วนๆ

ชื่อหนังอื่นๆตามประเทศที่ออกฉาย อาทิ
– L’Uccelo dalle piume de cristal (ฝรั่งเศส)
– Das geheimnis der schwarzen handschuhe/Mystery of the Black Gloves (เยอรมัน)
– The Gallery Murders (อังกฤษ)
– Phantom of Terror (อเมริกา)
– De messen morden/Measure of Murder (ฮอลแลนด์)

โดยส่วนตัวชื่นชอบหนังอย่างมาก ในเรื่องราวสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน มากกว่าแค่ที่ตาเห็น การถ่ายภาพเต็มไปด้วยความน่าสนเท่ห์หลงใหล และบทเพลงประกอบอันเย็นยะเยือกของ Ennio Morricone ประทับจิตประทับใจอย่างยิ่ง

ว่าไปผมชอบ The Bird with the Crystal Plumage (1970) มากกว่า Suspiria (1977) เสียอีกนะ! โดยเฉพาะมิติอันลึกล้ำน่าใคร่ค้นหา โดดเด่นกว่าความฉูดฉาดฉาบหน้าเป็นไหนๆ

แนะนำคอหนัง Giallo, Thriller Horror Mystery, แนวอาชญากรรม สืบสวนสอบสวน ค้นหาตัวฆาตกร, หลงใหลในงานศิลปะ ภาพวาด สถาปัตยกรรม, เพลงประกอบเพราะๆของ Ennio Morricone, แฟนๆผู้กำกับ Dario Argento ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับการฆาตกร คลุ้มคลั่ง เสียสติแตก

TAGLINE | “The Bird with the Crystal Plumage นกตนนี้ของ Dario Argento ไม่เพียงสวยงามแต่ยังตกผลึก!”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: