The Blair Witch Project (1999) : Daniel Myrick, Eduardo Sánchez ♥♥♡
(mini Review) ถ้าหนังเรื่องไหนสามารถทำให้การไม่มีอะไร มีอะไรได้ แสดงว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจแน่ๆ, The Blair Witch Project ได้ท้าพิสูจน์ทฤษฎีที่ว่า ‘มนุษย์มักมีความหวาดกลัว ต่อสิ่งมองไม่เห็น’
Cannibal Holocaust (1980) คือภาพยนตร์เรื่องแรกของแนว Found Footage แต่ The Blair Witch Project เรียกได้ว่าคือ Milestone เสาหลักของ Sub-Genre นี้ ที่ทำให้ได้รับความนิยม กลายเป็นกระแสลูกคลื่นตามมานับไม่ถ้วน อาทิ Paranormal Activity (2007), Cloverfield (2008), Chronicle (2012) ฯ
ผมเคยรับชมหนังเรื่องนี้มาเมื่อครั้นนานมาแล้ว ตามเสียงลือเล่าอ้างว่าเป็นหนัง Horror สร้างความอกสั่นขวัญผวา น่าสะพรึงกลัวที่สุดเรื่องหนึ่ง หลังดูจบจดจำได้ว่ากุมขมับบ่นเซ็ง มันน่ากลัวตรงไหนว่ะ! เฉกเช่นกันกับหนังเรื่อง Paranormal Activity (2007) ที่เอาจริงๆ แทบไม่มีอะไรเลยเช่นกัน แต่กลับกลายเป็นกระแสโด่งดัง ทำเงินถล่มทลาย ผู้ชมกรี๊ดลั่นสลบเป็นลม ได้รับการกล่าวขวัญแบบไม่มีใครคาดถึง
รับชมรอบนี้ต้องบอกว่าสภาพไม่ต่างจากครั้งก่อน มิได้เกิดความตื่นตระหนกหวาดสะพรึงกลัวแม้แต่น้อย แต่ก็ได้สังเกตพบและเข้าใจผลลัพท์จากเทคนิควิธีการนำเสนอ ที่ต้องบอกว่ามีความน่าสนใจพอสมควร ไม่เช่นนั้นแค่เพียงเรื่องราวของวัยรุ่น 3 คน แบกกล้องเดินเข้าป่า ออกค้นหาลัทธิแม่มด (Blair Witch) แต่กลับหลงทางหาทางออกไม่ได้ มันจะมีความน่าสนใจอะไรที่ทำให้ด้วยทุนสร้างเพียง $60,000 เหรียญ กลับทำเงินทั่วโลกสูงถึง $248.6 ล้านเหรียญ
Daniel Myrick กับ Eduardo Sánchez ระหว่างที่เป็นนักศึกษาอยู่ที่ University of Central Florida เมื่อปี 1993 ได้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ หลังจากค้นพบเอกสารเกี่ยวปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ ที่อ่านแล้วมีความหลอนสะพรึงมากกว่าหนัง Horror ทั่วๆไป หลังจากเรียนจบร่วมกับเพื่อนๆอีก 3 คน ก่อตั้งสตูดิโอชื่อว่า Haxan Film [เป็นชื่อที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังเงียบเรื่อง Häxan: Witchcraft Through the Ages (1922)] พัฒนาบทภาพยนตร์ความยาวเพียง 35 หน้ากระดาษ คัดเลือกนักแสดงโดยใช้การประกาศรับสมัครทางนิตยสาร Backstage มีผู้มาสมัครกว่า 2,000 คน เลือกเหลือเพียง 3 คน เดินทางไปถ่ายทำยัง Black Hills ใกล้กับ Burkittsville, Maryland ใช้เวลา 8 วัน นักแสดงถือกล้องสองตัว CP-16 (ฟีล์ม 16mm) และ Hi8 (กล้อง Super-VHS ของ Sony) ได้ปริมาณฟุตเทจ 19 ชั่วโมง ใช้ตัดต่อถึง 8 เดือน ให้เหลือเพียง 82 นาที ออกฉายเทศกาลหนังเมือง Sundance รอบเที่ยงคืนวันที่ 25 มกราคม 1999 พร้อมแคมเปญโปสเตอร์ Missing Person (นักแสดงนำทั้งสาม) แปะอยู่หน้าโรงภาพยนตร์, ผลลัพท์ทำให้ Artisan Entertainment ขอซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายในราคาสูงถึง $1.1 ล้านเหรียญ
“What makes us fearful is something that’s out of the ordinary, unexplained. [It’s] kept the audience off balance; it challenged our real world conventions and that’s what really made it scary.”
หนังเรื่องนี้มันไม่มีอะไรเลยนะครับ ทุกสิ่งอย่างถูกเก็บซ่อนในความมืด เสียงที่ได้ยินก็ไม่ได้มีความชัดเจน เหมือนจะมีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้น แต่สามารถมองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง หลอกให้เข้าใจผิดไปเอง, การที่ผู้ชมส่วนใหญ่เกิดความหวาดสะพรึงกลัว แทบทั้งนั้นเกิดจากการครุ่นคิดไปเอง จินตนาการถึงสิ่งไม่มีตัวตน เห็นตัวละครแสดงความตื่นตระหนกตกใจกลัว ก็หลง’เชื่อ’ไปตามพวกเขา ว่าได้พบเห็นรับรู้สิ่งต่างๆเหล่านั้นเกิดขึ้นตามจริง
ความหวาดกลัวในหนังเรื่องนี้มีลักษณะคล้ายกับข่าวลือ มีส่วนผสมของข้อเท็จจริงที่อาจเป็นส่วนกระจิดริดนิดเดียว และสิ่งปรุงปั้นแต่งเสริมเพื่อให้ดูน่าสนใจ แพร่กระจายสู่สาธารณะได้ง่าย การหลงเชื่อข่าวลือโดยไม่ครุ่นคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ ก็เหมือนความหวาดกลัวในหนังเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ เห็นเขาว่ามา เห็นตัวละครแสดงความตกใจ ก็หลงเชื่อ หวาดกลัวตามนั้น คนแบบนี้… ก็ไม่รู้สิครับ ครุ่นคิดตามเอาเองแล้วกัน
แต่ต้องถือว่าหนังเรื่องนี้สามารถทำให้ผู้ชมทั้งหลาย เกิดความหวาดกลัวต่อสิ่งที่มองไม่เห็นได้อย่างสัมฤทธิ์ผล ก็อย่างที่บอกไป เพราะมนุษย์เราส่วนใหญ่ก็เป็นคนลักษณะนี้เอง กลัวความไม่รู้, กลัวความมืด, กลัวหลงทาง, กลัวอันตราย, กลัวการถูกทิ้ง, กลัวการอยู่คนเดียว สำคัญที่สุดคือ กลัวความตาย
และเพราะความหวาดกลัวนี้เอง ทำให้มนุษย์แสดงธาตุแท้ สันชาติญาณ สันดานดิบ ความเห็นแก่ตัวออกมา พยายามดิ้นรนทำทุกสิ่งอย่างให้รอดพ้นปลอดภัย มิได้สนใจใยดีครุ่นคิดเผื่อแทนผู้อื่น นี่เป็นสิ่งที่เห็นแล้วไม่ใช่ความน่าอภิรมณ์เริงใจเสียเท่าไหร่
เราสามารถมอง The Blair Witch Project คือเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ การพยายามค้นหาเป้าหมายและหนทางออก ‘เราเกิดมาเพื่ออะไร?’ ‘เป้าหมายชีวิตคืออะไร?’ หนังเรื่องนี้ตีความได้ในเชิงปรัชญาตะวันตก คือ การค้นหาไม่พบเจอ ไม่ได้รับคำตอบ รอบข้างเต็มไปด้วยความมืดมิด ชีวิตหลงทาง เกิดความหวาดกลัวต่อทุกสิ่งอย่างรอบข้าง สุดท้าย… ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลงเหลือเพียงบทเรียนให้กับบุคคลอื่นรุ่นหลังที่มาพบเห็น รับชมหนังเรื่องนี้
ว่ากันตามตรง ไม่มีอะไรในหนังเรื่องนี้ที่ทำให้ผมชื่นชอบเลยนะ ความน่าหวาดสะพรึงกลัวรึก็ไม่มี เทคนิคเหมือนจะน่าสนใจแต่รำคาญๆเสียด้วยซ้ำที่มองอะไรไม่ค่อยเห็น ตัวละครนิสัยเxยๆเห็นแก่ตัว ได้รับผลกรรมตามสนองก็สมควรอยู่
แนะนำกับคนขวัญอ่อน ชื่นชอบแนว Horror ท้าพิสูจน์ความกลัวของตนเอง, คอหนัง Indy ศึกษาทำความเข้าใจวิธีการสร้างภาพยนตร์ทุนต่ำ
หนังมีภาคต่อนะครับ เผื่อใครชื่นชอบแนวนี้
– Book of Shadows: Blair Witch 2 (2001)
– Blair Witch (2016)
จัดเรต 15+ กับพฤติกรรมของตัวละคร กล้องสั่นๆ และความสมจริงของหนัง
Leave a Reply