The Blazing Sun

The Blazing Sun (1954) egyptian : Youssef Chahine ♥♥♥♥

ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Omar Sharif รับบทเกษตรกรหนุ่มจบใหม่ เข้ามาพัฒนาผลผลิตไร่อ้อยให้ได้มาตรฐาน กลายเป็นที่ต้องการของตลาด แต่กลับสร้างความอิจฉาริษยาให้พวกนายทุน ครุ่นคิดแผนการชั่วร้าย ทำลายพืชผลการเกษตร ฆาตกรรมอำพราง โยนความผิดให้ผู้บริสุทธิ์ถูกประหารชีวิต สุดท้ายแล้วความจริงจะได้รับการเปิดเผยหรือไม่?

ถึงผมจะไม่ใช่แฟนคลับของ Omar Sharif แต่พอเห็นคำโปรยดังกล่าวก็อดไม่ได้ที่ต้องลองหามารับเชยชม เป็นนักแสดงชาว Egyptian น่าจะโด่งที่สุดในโลกแล้วกระมัง จากผลงานอมตะอย่าง Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), Funny Girl (1968) ฯ

An earlier Chahine film that’s worth seeking out is The Blazing Sun (1954). A social melodrama that foreshadows The Land (1970) in its story of landlords feuding with tenant farmers, it contains the first role for Omar Sharif, whose star power and hypnotic presence are evident from the moment he steps into frame.

Leila Latif บทความ “Where to begin with Youssef Chahine” จากนิตยสาร Sight & Sound

เมื่อตอนเขียนถึง Cairo Station (1958) ผมไม่ได้เอะใจว่า Association Youssef Chahine คือสมาคมจัดตั้งมาเพื่อทำนุบำรุง เก็บรักษาฟีล์มภาพยนตร์ของผกก. Chahine ซึ่งผลงานตลอดชีวิตกว่า 40+ เรื่อง เห็นว่าผ่านการบูรณะไปแล้วเกินกว่าครึ่ง! ก็น่าจะเป็นผู้กำกับสัญชาติ Egyptian โด่งดังที่สุดในโลกด้วยกระมัง!

The Blazing Sun (1954) อาจไม่ใช่ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของผกก. Chahine เมื่อเทียบกับ Cairo Station (1958) และ/หรือ The Land (1970) แต่ผู้ชมสามารถพบเห็นวิวัฒนาการ สไตล์ลายเซ็นต์ ลีลาการดำเนินเรื่องที่เต็มไปด้วยความวุ่นๆวายๆ คละคลุ้งกลิ่นอาย Neo-Realist สะท้อนปัญหาสังคม การเมือง รวมถึงลัทธิอาณานิคม สำแดงพฤติกรรมคอรัปชั่นของพวกผู้มีอำนาจ นายทุน ไม่เว้นแม้แต่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง


يوسف شاهين, Youssef Chahine (1926-2018) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Egyptian เกิดที่ Alexandria, Kingdom of Egypt ในครอบครัว Melkite Greek Catholic บิดาเป็นทนายความมาจาก Lebanon, ส่วนมารดาสืบเชื้อสายกรีก ทำงานรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า, ตั้งแต่เด็กมีความหลงใหลในสื่อภาพยนตร์

At the age of Eight, I discovered that 9.5mm films and projectors were being sold in stores. I saved from allowances enough to buy the projector and then became a regular for the Rabbani Bibi films.

Youssef Chahine

โตขึ้นบิดาโน้มน้าวให้เรียนวิศวะ แต่เจ้าตัวกลับออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา เข้าศึกษาการละคอนและโทรทัศน์ Pasadena Playhouse จากนั้นเข้าทำงานแผนกประชาสัมพันธ์สตูดิโอ 20th Century Fox พอเดินทางกลับ Egypt ได้รับความช่วยเหลือจากตากล้อง Alevise Orfanelli จนมีโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Father Amine (1950), แจ้งเกิดกับ Son of the Nile (1951), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Blazing Sun (1954), Cairo Station (1958), Saladin the Victorious (1963), The Land (1970), Alexandria… Why? (1979) ฯ

สำหรับ صراع في الوادي อ่านว่า Ṣira‘ Fī al-Wādī แปลตรงตัว Fight in the Valley หรือ Struggle in the Valley แต่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ The Blazing Sun นำจากเรื่องราวของ Helmy Halim พัฒนาบทหนังโดย Ali El Zorkani น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหาเบื้องหลัง ที่มาที่ไป นำแรงบันดาลใจจากแห่งหนไหน?

แต่อยากให้ข้อสังเกตว่าผกก. Chahine เป็นคนที่หมกมุ่นกับสถานการณ์การเมืองของ Egypt ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นภายหลัง 1952 Egyptian Revolution คณะปฏิบัติบีบบังคับให้สุลต่าน Farouk I แห่ง Kingdom of Egypt (1922-53) สละราชบัลลังก์ (เมื่อปี ค.ศ. 1952) ก่อนทำการจัดตั้ง Republic of Egypt (1953-58) และหนึ่งในแกนนำ General Muhammad Naguib ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ … เหตุการณ์ดังกล่าวมีความสัมพันธ์ยังไงกับหนัง เดี๋ยวจะวิเคราะห์ให้ฟังลำดับต่อๆไป


บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ (Nile Delta) ทางตอนเหนือของ Egypt พื้นหลัง ค.ศ. 1951 (ก่อนการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของ Egypt), เรื่องราวของ Ahmed Salam (รับบทโดย Omar Sharif) หลังเรียนจบเกษตรกรรม เดินทางกลับมาพัฒนาพืชพันธุ์ไร่อ้อยให้ได้มาตรฐาน กลายเป็นที่ต้องการของตลาด แต่กลับสร้างความไม่พึงพอใจให้กับนายทุน (มีคำเรียก Taher Pasha) เจ้าของไร่อ้อยฟากฝั่งตรงกันข้าม จึงครุ่นคิดแผนการชั่วร้าย ทำลายเขื่อนกั้นน้ำ เป็นเหตุให้ไร้อ้อยของชาวบ้านถูกน้ำท่วมเสียหายอย่างหนัก

Ahmed มีเพื่อนสาวคนสนิท Amal (รับบทโดย Faten Hamama) รับรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก หยอกล้อ วิ่งเล่น เกี้ยวพาราสี จนบังเกิดความรัก แต่เพราะเธอเป็นบุตรของ Taher Pasha ซึ่งหลังจากทำลายพืขผลผลิตทางการเกษตร ยังสั่งให้หลานชาย Reyad (รับบทโดย Farid Shawqi) ทำการฆ่าปิดปากผู้นำหมู่บ้าน (มีคำเรียก Sheikh) แล้วใส่ร้ายป้ายสี Saber Abdul Salam (บิดาของ Ahmed) จนถูกจับกุม คุมขัง ศาลติดสินโทษประหารชีวิต

สุดท้ายแล้วเมื่อความจริงเป็นที่ประจักษ์ หนุ่ม-สาวทั้งสองจะยังสามารถครองรัก ก้าวผ่านความขัดแย้ง แตกต่างทางสถานะ ชนชั้น จุดจบจะลงเอยเช่นไร?


عمر الشريف, Omar Sharif ชื่อจริง Michael Yusef Dimitri Chalhoub (1932-2015) นักแสดงสัญชาติ Egyptian เกิดที่ Alexandria, Kingdom of Egypt ในครอบครัว Melkite Greek Catholic บิดาเป็นพ่อค้าไม้ ฐานะค่อนข้างดี มารดาค่อนข้างมีชื่อเสียงในแวดวงไฮโซ บ้านของเขามักต้อนรับ King Farouk I แวะเวียนมาเล่นไพ่อยู่บ่อยครั้ง, ตั้งแต่เด็กมีความถนัดด้านภาษา สามารถสื่อสารได้ทั้ง Arabic, English, French, Italian และ Spanish รับรู้จัก Ahmed Ramzy และ Youssef Chahine ตั้งแต่สมัยเรียน Victoria College, Alexandria โตขี้นสำเร็จการศีกษาสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ Cairo University แล้วทำงานบริษัทค้าไม้ของบิดาอยู่สักพัก ก่อนเดินตามฝันสู่วงการบันเทิง ผลงานเรื่องแรก The Blazing Sun (1954), โด่งดังในประเทศกับ Our Beautiful Days (1955), The Lebanese Mission (1956), Struggle in the Pier (1956), Goha (1958), Struggle on the Nile (1958), จากนั้นโกอินเตอร์กับ Lawrence of Arabia (1962), Doctor Zhivago (1965), Funny Girl (1968) ฯ

รับบท Ahmed Salam เกษตรกรหนุ่มผู้มีความมุ่งมั่น ตั้งใจนำวิชาความรู้กลับมาพัฒนาหมู่บ้าน แต่กลับโดนกลั่นแกล้ง แถมบิดายังถูกใส่ร้าย กลายเป็นเหยื่อความอยุติธรรม พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อค้นหาความจริง กลับยิ่งทำให้ชีวิตตกอยู่ในความสิ้นหวัง

ดั้งเดิมนั้นบทบาทนี้ได้รับการยื่นข้อเสนอให้กับ Shukry Sarhan แต่เพราะ Faten Hamama ที่แม้เพิ่งเคยร่วมงานภาพยนตร์ Son of the Nile (1951) กลับปฏิเสธจะเล่นคู่กัน (แต่ภายหลังทั้งสองก็มีโอกาสเล่นหนังด้วยกัน) ยื่นข้อเสนอให้ Omar Sharif ที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย ตอบตกลง ตกหลุมรัก จุมพิตแรกในกองถ่าย และไม่นานทั้งสองก็แต่งงานกัน

ความหล่อเหลา คมเข้มของ Sharif เตะตาตั้งแรกพบเห็น มีความสุภาพ อ่อนโยน มาดผู้ดีมีสกุล เข้าฉากกับ Hamama ก็ช่างหวานแหวว โรแมนติก สายตาเคลิบเคลิ้ม พ่อหนุ่มนักรัก แต่ความโดดเด่นชัดเริ่มต้นหลังจากบิดาถูกจับ แสดงความลุกรี้ร้อนรน พยายามหาหนทางให้ความช่วยเหลือ ฉากร่ำลาในเรือนจำมันช่างบีบเค้นคั้น และไฮไลท์คือระหว่างเผชิญหน้า กล่าวสุนทรพจน์กับบรรดาญาติพี่น้องผู้ตายในงานศพผู้นำหมู่บ้าน ขอเวลาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบิดา หลังจากนั้นจะฆ่าจะแกง ก็ยินยอมรับความตายโดยสดุดี

แทบไม่อยากเชื่อว่านี่คือฝีไม้ลายมือของบุคคลไม่เคยมีประสบการณ์ หรือร่ำเรียนด้านการแสดงมาก่อน มันคือความสามารถพิเศษล้วนๆ เกิดมาเพื่อการนี้! หน้าตาก็โคตรหล่ออีกต่างหาก เลยไม่น่าแปลกใจที่ Hamama แม้เคยออกกฎห้ามจูบ ห้ามเล่นเลิฟซีน ยินยอมทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง โรแมนติกในจอ เอ่อล้นออกมาภายนอก … ขนาดว่า Sharif ยินยอมเปลี่ยนศาสนาอิสลาม เพื่อให้ได้แต่งงานครองรักกับเธอ มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน


فاتن حمامه, Faten Ahmed Hamama (1931-2015) นักแสดงสัญชาติ Egyptian เกิดที่ Mansoura, Kingdom of Egypt เมื่อตอนหกขวบ ครอบครัวพาไปรับชมภาพยนตร์ของ Assia Dagher บังเกิดความชื่นชอบหลงใหล ปีถัดมาเข้าประกวดนางงามเด็ก ได้รับรางวัลชนะเลิศ บิดาส่งภาพถ่ายของเธอให้ผู้กำกับ Mohamed Karim ผ่านการคัดเลือกมาแสดงภาพยนตร์ A Happy Day (1939) ขณะนั้นได้รับฉายา “Egypt’s own Shirley Temple” ทั้งยังมีผลงานติดตามมา Bullet in the Heart (1944), รับบทนำครั้งแรก Angel of Mercy (1946) ประสบความสำเร็จโด่งดัง จนทำให้ครอบครัวสามารถย้ายมาปักหลักอยู่ Cairo แล้วเข้าศึกษาต่อ High Institute of Acting, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Blazing Sun (1954), Sleepless (1957), The Nightingale’s Prayer (1959), The Open Door (1963), The Sin (1965), Mouths and Rabbits (1977) ฯ

รับบท Amal รับรู้จัก สนิทสนมกับ Ahmed Salam ตั้งแต่ทั้งสองยังเป็นเด็ก หยอกล้อเล่น เกี้ยวพาราสี จนบังเกิดเป็นความรัก โดยไม่สนความแตกต่างทางสถานะชนชั้น สร้างความอิจฉาริษยาให้กับลูกพี่ลูกน้อง Reyad ที่ก็หมายปอง ต้องการเธอมาครอบครองเป็นเจ้าของ

ในบรรดานักแสดงทั้งหมด Hamama ถือว่ามีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด (ได้รับค่าตัว Top Bill) โดยปกติจะไม่ค่อยยอมเปลืองเนื้อเปลืองตัวกับพระเอก อาจเพราะมีใจให้ Sharif ตั้งแต่แรกพบเจอ เคมีของทั้งสองจึงเข้าขา กลายเป็นคู่ขวัญ พระนาง แค่เพียงมองตาก็หวานฉ่ำ น้ำตาลขึ้นมด

แต่ความโดดเด่นของ Hamama ไม่ใช่แค่ซีนโรแมนติก ยังการถ่ายทอดอารมณ์ขัดแย้งภายใน ผ่านทางสีหน้า ปฏิกิริยาท่าทาง หอบหายใจรุนแรง พยายามดิ้นหลบหนี(ศัตรูหัวใจ) Reyad ให้ความช่วยเหลือชายคนรัก กล้ำกลืนฝืนเมื่อรับรู้ว่าบิดาคือต้นสาเหตุโศกนาฎกรรมทั้งหลาย แล้วจะให้ฉันทำยังไง??

ความสามารถของ Hamama ถือว่าไม่เป็นสองรองใคร แต่ความโดดเด่นตัวละครอาจไม่เทียบ Sharif หรือบรรดาตัวร้ายที่โฉดชั่วยิ่งนัก ผู้ชมที่ไม่เคยรับชมผลงานอื่น(ของ Hamama) อาจไม่สังเกตเห็นความเก่งกาจ พลังดารา … แนะนำให้ลองหารับชม The Nightingale’s Prayer (1959) และ The Sin (1965) จะพบเห็นความเป็นซุปเปอร์สตาร์ในตัวเธอได้อย่างชัดเจน!


فريد شوقى محمد عبده شوقى, Farid Shawqi Mohammad Abdou Shawki (1920-98) นักแสดงสัญชาติ Egyptian เกิดที่ Cairo, Kingdom of Egypt โตขึ้นเข้าศึกษาด้านการแสดงจาก The School of Applied Arts ต่อด้วย Higher Institute of Theatrical Arts, แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Angel of Mercy (1946) ในช่วงแรกๆมักรับบทตัวร้าย ก่อนกลายเป็นพระเอก They Made Me a Criminal (1954), ผลงานเด่นๆ อาทิ Cairo Station (1958), The Beginning and the End (1960) ฯ

รับบท Reyad มีศักดิ์เป็นหลานชาย Taher Pasha/ลูกพี่ลูกน้อง Amal เป็นคนฉลาดแกมโกง ชอบใช้ความรุนแรง ครุ่นคิดแต่เรื่องร้ายๆ ดูถูกเหยียดหยาม รังเกียจเดียดฉันท์บุคคลต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตน โดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว พร้อมลงมือกระทำสิ่งชั่วร้าย ฆ่าปิดปาก ใส่ร้ายป้ายสี เมาแล้วจะข่มขืน Amal

ก่อนที่ Shawki จะได้รับฉายา “The King of the Third Class” ผลงานในช่วงแรกๆมักได้รับบทตัวร้าย “The Monster of the Arab Silver Screen” ภาพลักษณ์ช่างดูละม้ายคล้าย Anthony Quinn ดิบเถื่อน บ้าพลัง (Alpha Male) ชอบขึ้นเสียง ใส่อารมณ์ ใช้ถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม ไม่พึงพอใจอะไรก็ระเบิดความรุนแรงเข้าใส่ ถือเป็นผู้ร้ายในอุดมคติ มลภาวะชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity)

ตัวละคร Reyad และ Taher Pasha ไม่ได้เป็นแค่ตัวแทนนายทุน หรือบุคคลผู้มีอำนาจบาดใหญ่ ยังสามารถเหมารวมถึงพวกจักรวรรดินิยม ช่วงทศวรรษ 50s พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ กีดกันไม่ให้ประเทศอาณานิคมได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ

สำหรับ Kingdom of Egypt แม้มีสถานะเป็นเอกราชอยู่แล้ว แต่ใครต่อใครรับรู้กันดีกว่าสุลต่านคือหุ่นเชิดชักของจักรวรรดิอังกฤษ อันนี้ก็แล้วแต่ผู้ชมจะขบครุ่นคิด ตีความว่า Reyad และ Taher Pasha ใครคือหุ่นเชิด? ใครคือบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมด?


ถ่ายภาพโดย أحمد خورشيد, Ahmed Khorshed (1913-73) ตากล้องสัญชาติ Egyptian เกิดที่ Abdeen โตขึ้นบิดาฟากเข้าทำงาน Studio Misr เริ่มจากเป็นช่างภาพ เรียนรู้จักงานถ่ายทำภาพยนตร์ จนได้รับเครดิต อาทิ The Blazing Sun (1954), Dark Waters (1956), Al-boustaguy (1968), Bit of Fear (1969), The Choice (1970) ฯ

ผกก. Chahine รับอิทธิพลไม่น้อยจาก Neo-Realist เลือกถ่ายทำยังสถานที่จริงทั้งหมด แพรวพราวด้วยลูกเล่น ‘mise-en-scène’ ตั้งแต่การจัดวางองค์ประกอบ ทิศทางมุมกล้อง ลีลาขยับเคลื่อนไหว นักแสดงดำเนินไป และเพราะหนังถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ จึงมีการละเล่นแสงสว่าง-เงามืด ตามชื่อหนัง The Blazing Sun แต่ความส่องสว่างที่เจิดจรัสจร้าเกินไป มักมาพร้อมเงามืดมิดปกคลุมจิตใจ

งานภาพในภาพยนตร์ของผกก. Chahine มักเต็มไปด้วยชีวิตชีวา สนุกสนานหรรษา (หรือจะมองว่าโคตรๆสับสน วุ่นวาย) พยายามยัดเยียดนักแสดงทั้งหลายเข้ามาในกรอบ/เฟรมภาพ มักต้องมีบางสิ่งอย่างขยับเคลื่อนไหว เหตุผลประการหนึ่งอาจเพราะการบันทึกเสียงหลังถ่ายทำ (Post-Synchronization) พบเห็นเสียงพูดไม่ตรงขยับปากบ่อยครั้ง นั่นสร้างบรรยากาศล่องลอย เหมือนฝัน ทุกสิ่งอย่างดูต่อเนื่องลื่นไหล ดำเนินไปราวกับสายน้ำ(ไนล์)

ไฮไลท์การถ่ายภาพอยู่ช่วงท้ายไคลน์แม็กซ์ ระหว่างไล่ล่า เข่นฆ่า ปีนป่ายโบราณสถาน Valley of the Kings ณ Luxor โดดเด่นกับการเลือกทิศทาง มุมกล้อง ละเล่นกับระยะใกล้-ไกล สูง-ต่ำ แสงสว่าง-เงามืด ชวนให้ผมนึกถึง North by Northwest (1959) และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจภาพยนตร์ The Night of Counting the Years (1969)


หนังชื่อ The Blazing Sun แต่แทนที่ภาพช็อตแรก หรือเครดิตชื่อหนัง จะปรากฎพระอาทิตย์ส่องสว่าง กลับพบเห็นภาพถ่ายย้อนแสง ปกคลุมด้วยความมืดมิดเป็นส่วนใหญ่ (Low Key) นี่แสดงให้เห็นถึงความส่องสว่างที่เจิดจรัสจร้าเกินไป มักมาพร้อมเงามืดมิดปกคลุมจิตใจ

บ่อยครั้งพบเห็นการใช้มุมกล้องก้ม-เงย ตัวละครยืน-นั่ง ตำแหน่งสูง-ต่ำ ระยะไกล-ใกล้ สำหรับแสดงวิทยฐานะทางสังคม บุคคลอยู่เบื้องบนมักมีอำนาจบารมี ยศศักดิ์ศรี ได้รับนับหน้าถือจากผู้คน, ผิดกับประชาชนชั้นล่าง ต่ำต้อยด้อยค่า เลยมักถูกกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำ ทำให้ไม่สามารถลืมตาอ้าปาก

หนังมีการเลือกใช้สถานที่ที่แฝงนัยยะความหมายอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างคฤหาสถ์หรูของ Taher Pasha แท้จริงแล้วอดีตพระราชวัง สถานที่พักอยู่อาศัยของอดีตสุลต่าน Farouk I มีความหรูหรา อลังการ เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ สิ่งข้าวของราคาแพง และอยู่ติดแม่น้ำไนล์ … ทำให้เราสามารถเปรียบเทียบตรงๆได้เลยว่า Taher Pasha = Sultan Farouk I

ตรงกันข้ามกับคฤหาสถ์หรูหรา บ้านพักอาศัยของ Ahmed Salam มีความธรรมดาทั่วไป หนังไม่ได้พยายามเปรียบเทียบช็อตต่อช็อต แต่ผมสังเกตว่าทั้งสองสถานที่มีการใช้มุมกล้อง ทำบางสิ่งอย่างให้ดูละม้ายคล้ายกัน (บ้านสองชั้น บันไดทางขึ้น ห้องนอนอยู่ด้านบน ฯ)

เมื่อตอนภาพยนตร์ The Land (1970) ผกก. Chahine ใช้งานเลี้ยงแต่งงานในเชิงเปรียบเทียบ ความรัก-รังเกียจชัง แทบไม่พบเห็นในส่วนงานพิธีใดๆ แต่สำหรับ The Blazing Sun (1954) เริ่มตั้งแต่ขบวนแห่เจ้าสาว ชาวบ้านร้องรำทำเพลง อุ้มพาเข้าบ้าน ห้อมล้อมด้วยผองเพื่อน แขกเหรื่อ ญาติมิตรสหาย ผู้ชมไม่แตกต่างจาก Amal แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียน ทักทายผู้หลักผู้ใหญ่ และแสดงความยินดีกับเจ้าบ่าว-เจ้าสาว ไม่ได้เคลือบแฝงนัยยะการเมืองใดๆ

แต่ความสนใจของ Amal ไม่ใช่งานแต่งงาน อำนวยอวยพรเจ้าบ่าย-เจ้าสาว แต่คือโอกาสพบเจอชายคนรัก Ahmed สรรหาข้ออ้างระหว่างขากลับ จะได้อยู่เคียงข้าง สองต่อสอง

แซว: มันช่างเป็นการเดินทางที่แสนไกลจากหมู่บ้านทางตะวันตกเฉียงเหนือของ Cairo มายัง Luxor Temple ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของ Cairo

โดยปกติแล้วโบสถ์ วิหารเก่าแก่ของ Egypt ส่วนใหญ่อุทิศให้กับเทพเจ้า หรือไม่ก็สุสานฟาโรห์ แต่สำหรับ Luxor Temple กลับสำหรับประกอบพิธีปราบดา/ราชาภิเษก สำหรับขึ้นครองราชย์เป็นผู้นำองค์ใหม่ … ในบริบทของหนังจะมองว่า Ahmed หลังความสำเร็จในการพัฒนาผลผลิตไร่อ้อยให้ได้มาตรฐานระดับสูง เปรียบดั่งผู้นำคนใหม่ของชาวบ้านก็ได้กระมัง

หลังจากน้ำท่วมพืชผลทางการเกษตรเสียหายย่อยยับ ผู้นำหมู่บ้านเหมือนจะเป็นบุคคลเดียว ตระหนักว่าใครคือต้นสาเหตุหายนะครั้งนี้, ผมครุ่นคิดอยู่นานว่าทำไมถึงเลือกถ่ายทำในกระท่อมที่มีแสงจากภาพนอกสาดส่องเข้ามาเจิดจร้าขนาดนี้ นั่นอาจเพราะดวงอาทิตย์อันลุ่มร้อน (เปรียบเทียบ The Blazing Sun = นายทุน Taher Pasha) กำลังมอดไหม้ ทำลายจิตวิญญาณผู้คน

บางคนอาจตีความว่ากระท่อมรั่วๆ แสงจากภายนอกสาดส่องเข้ามา = กำแพงกั้นน้ำที่ถูกเปิดออก ทำลายพืชผลผลิตทางการเกษตร ก็ได้กระมัง?

สถานที่ที่ Reyad ใช้ในการหลบซ่อนตัวระหว่างทำการลอบสังหารผู้นำหมู่บ้าน คือท่ามกลางไร่อ้อยของ Taher Pasha (ฟากฝั่งที่ไม่ถูกน้ำท่วมเสียหาย) สถานที่แห่งความขัดแย้ง ผลผลิตเปื้อนเลือด ดินแดนแห่งความตาย

ผมชอบบรรยากาศ Mood & Tone ของภาพช็อตนี้มากๆ หลังจากบิดาของ Ahmed ถูกตำรวจควบคุมตัวข้อหาฆาตกรรม เช้าวันใหม่ พระอาทิตย์เพิ่งโผล่พ้นขอบฟ้า เมฆหมอกขมุกขมัว พบเห็นชาวบ้านกำลังเดินเรียงรายไปยังศาล รอฟังการพิจารณา ตัดสินคดีความ … เป็นความรู้สึกอึมครึม ขมุกขมัว หมองหม่น ดูแล้วบิดาของ Ahmed ไม่น่ารอดพ้นการถูกใส่ร้ายป้ายสี

สถานที่หลบซ่อนตัวของประจักษ์พยานคนเดียว ผมก็ไม่รู้ที่ไหนเหมือนกัน พามายังห้องใต้ดิน แต่คาดเดาไม่ยากว่าน่าจะคือสุสานในโบราณสถาน สำหรับเก็บศพ มัมมี่ คนตาย ชายคนนี้ก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน! … แอบชวนนึกถึงโจรปล้นสุสานอยู่เล็กๆ

ซีนที่ผมรู้สึกว่าทรงพลังที่สุดของหนัง Ahmed เดินทางมาร่วมงานศพผู้นำหมู่บ้าน ทั้งรู้ว่ามีความเสี่ยง อาจถูกแก้แค้นเข่นฆ่า แต่เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ ไม่เชื่อว่าบิดาคือฆาตกร จึงกล่าวคำสุนทรพจน์เรียกร้องขอเวลา หาหลักฐานแก้ต่าง

สิ่งที่ทำให้ซีนนี้ทรงพลังมากๆไม่ใช่แค่การแสดงของ Sharif แต่ยังแสงสว่าง-เงามืดที่อาบฉาบใบหน้าคู่กรณีทั้งสอง และเปลวไฟที่พริ้วไหว (อาบฉาบบนใบหน้า Sharif) สะท้อนสภาวะทางอารมณ์สั่นไหว หวาดกลัว ไม่รู้จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบิดายังไง ตอนนี้ขอแค่เวลา หลังจากนั้นอยากเข่นฆ่าล้างแค้นก็ตามสบาย

ในเครดิตขึ้นชื่อเรือนจำแห่งนี้ว่า El Torah Penitentiary แต่พอผมลองค้นหาใน Google กลับพบเจอแต่ سجن طره อ่านว่า Segn Tora, แปลว่า Tora Prison, ชื่อเดิม Tora Agricultural Prison สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1928 ก็ไม่รู้สถานที่เดียวกันหรือเปล่า??

กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง! Reyad ยินยอมเป็นมือปืนรับจ้างให้กับ Taher Pasha พอแผนการสำเร็จลุล่วงก็ถึงเวลาทวงค่าตอบแทน ระหว่างทั้งสองสวมสูทหรู กำลังเล่นสนุกเกอร์ (เกมกีฬาที่แข่งขันกันใครทำแต้ม แทงลูกลงหลุม กระทำสิ่งก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า) สนทนาพร้อมแบล็กเมล์ ถ้าไม่ทำตามที่ขอ ก็พร้อมเปิดโปงความจริงทุกสิ่งอย่าง … สังเกตว่ากล้องมักถ่ายติดโคมไฟบนโต๊ะสนุ๊ก ไม่ก็เลือกมุมกล้องที่สร้างความกดดัน บีบบังคับ ถูกห้อมล้อม ไร้หนทางออก

นี่เป็นช็อตที่ผมเห็นแล้วอยากตบโต๊ะฉาด! Reyad ในสภาพมึนเมา ตาลอยๆ หื่นกระหาย เข้ามาห้องของ Amal ตั้งใจจะฉุดคร่า ข่มขืน กล้องถ่ายติดภาพพื้นหลัง หญิงสาวเปลือยอก แหม มันช่างสำแดงความครุ่นคิดตัวละครขณะนี้ได้อย่างชัดเจน!

ระหว่าง Ahmed ออกไล่ล่าจับกุมพยาน ทั้งสองวิ่งข้ามคลอง มาจนถึงรางรถไฟ ก่อนถูกชนเสียชีวิต … ผมยังขบครุ่นคิดไม่ออกว่าทำไมถึงต้องถูกรถไฟชนตาย? แต่เมื่อเสียงขบวนรถไฟเมื่อเคลื่อนผ่าน มันช่างเงียบงัน แทบทำให้หัวใจหยุดนิ่ง พอกลับถึงบ้านเป็นลมล้มพับ (กล้องวางกับพื้น สื่อถึงจุดตกต่ำ สภาพสิ้นหวัง)

แซว: เห็นขบวนรถไฟในผลงานผกก. Chahine ชวนให้นึกถึง Cairo Station (1958) อยู่ร่ำไร

ในเครดิตมีการระบุโบราณสถานสามแห่ง Karnak Temple, Luxor Temple และ Valley of the Kings ซึ่งล้วนตั้งอยู่ยังเมือง Luxor สถานที่ที่ได้รับการขนานนาม “พิพิธภัณฑ์เปิดโล่งใหญ่ที่สุดของโลก”

การเลือกใช้โบราณสถานเหล่านี้ในฉากไคลน์แม็กซ์ ช่วยสร้างบรรยากาศอันลึกลับ ราวกับต้องมนต์ขลัง สถานที่แห่งประวัติศาสตร์ เก่าแก่ยาวนานหลายพันปี และยังสะท้อนแนวคิดโบร่ำราณ ฟากฝั่งอนุรักษ์นิยม (เหมารวมถึงระบอบเผด็จการ การใช้อำนาจบาดใหญ่ ลัทธิอาณานิคม) ต่อสู้เผชิญหน้ากับคนรุ่นใหม่ เสรีชน

ลีลาการถ่ายภาพซีเควนซ์นี้ สังเกตว่ามักตั้งกล้องไว้เฉยๆ (ขยับเคลื่อนไหวไม่ได้มาก กลัวส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน) แล้วใช้การจัดวางองค์ประกอบภาพ นักแสดง-พื้นหลัง มุมก้ม-เงย ระยะห่างใกล้-ไกล ระดับสูง-ต่ำ แสงสว่าง-เงามืด ทำออกมาได้อย่างแพรวพราว ราวกับศิลปะ Monumentalism ชวนให้ผมนึกถึงไคลน์แม็กซ์ภาพยนตร์ North by Northwest (1959) ระหว่างปีนป่าย Mount Rushmore (แต่ผลงานเรื่องนี้ของ Hitchcock ถ่ายทำในสตูดิโอทั้งหมด)

หลังจาก Reyad ถูกทางการควบคุมตัวไป ภาพสุดท้ายของหนัง Ahmed และ Amal หันหลัง ทอดทิ้งให้ Taher Pasha นอนตายอยู่บนบนพื้น ใบหน้าปกคลุมด้วยเงามืดมิด (สามารถสื่อถึงจุดจบของนายทุน/เผด็จการ/Kingdom of Egypt รวมถึงลัทธิอาณานิคม) แล้วพวกเขาลุกขึ้น โอบกอด ก้าวเดิน มุ่งสู่อนาคต/แสงสว่าง (หรือก็คือ Republic of Egypt)

ตัดต่อ … ไม่มีเครดิต

การดำเนินเรื่องของหนังมักตัดสลับไปมาระหว่างกลุ่มชาวบ้าน (นำโดย Ahmed) vs. นายทุน (Reyad & Taher Pasha) แต่ละเหตุการณ์บังเกิดขึ้นมักส่งผลกระทบต่อกันและกัน ฝ่ายหนึ่งครุ่นคิดวางแผนกระทำสิ่งชั่วร้าย อีกฝั่งฝ่ายต้องหาหนทางหนีทีไล่ คอยแก้ไขปัญหา เอาตัวรอดจากหายนะ

  • ความสำเร็จของพืชผลการเกษตร
    • Ahmed นำวิชาความรู้มาปรับปรุงพืชผลทางการเกษตร จนกลายเป็นที่ต้องการของตลาด
    • พอความสำเร็จดังกล่าวเข้าหูพวกนายทุน Reyad & Taher Pasha จึงครุ่นคิดแผนการชั่วร้าย
    • การเดินทางมาถึงของ Amal ผ่านทางมาเยี่ยมเยียน Ahmed
    • งานเลี้ยงแต่งงานของสมาชิกในหมู่บ้าน
    • Amal เดินทางมาเยี่ยมเยียนเจ้าสาว แล้วเดินทางกลับกับ Ahmed
  • แผนการชั่วร้ายของพวกนายทุน
    • จู่ๆเขื่อนแตก ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายย่อยยับ
    • ผู้นำหมู่บ้านเข้าพบนายทุน Reyad & Taher Pasha พูดเป็นนัยว่ารับรู้ใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง
    • Reyad จัดฉากให้บิดาของ Ahmed เข่นฆาตกรรมผู้นำหมู่บ้าน
    • บิดาของ Ahmed ถูกตำรวจจับกุม ศาลไต่สวนประหารชีวิต
    • Ahmed พยายามติดตามหาหลักฐาน ประจักษ์พยานมาแก้ต่าง ขอเวลาเครือญาติของผู้นำหมู่บ้าน
  • กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง
    • Reyad ทำการแบล็กเมล์ Taher Pasha บีบบังคับให้ยกบุตรสาว Amal
    • Ahmed ยังคงพยายามออกติดตามหาหลักฐาน ค้นหาฆาตกรตัวจริง แต่ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้ไข
    • Ahmed หลบหนีหัวซุกหัวซุนจากเครือญาติของผู้นำหมู่บ้านที่มีความอาฆาตแค้น
    • Amal รับรู้ความจริงว่าบิดาคือผู้อยู่เบื้องหลังทุกสิ่งอย่าง
    • การต่อสู้ไล่ล่า ณ Valley of the Kings

ลีลาการดำเนินเรื่องที่สลับมุมมองระหว่างชาวบ้าน vs. นายทุน ไม่ได้ทำให้หนังดูยุ่งยาก แต่จุดประสงค์เพื่อผู้ชมรับรู้ที่มาที่ไป ใครคือบุคคลชักใยอยู่เบื้องหลัง แล้วบังเกิดความอัดอั้น เกรี้ยวกราด ทำไมไม่ใครตระหนักถึงข้อเท็จจริง? สังคมไม่ให้ความเป็นธรรม? เมื่อไหร่คนชั่วจะถูกลงทัณฑ์? ดูหนังจบเข้าใจอารมณ์ชาว Egyptian ในช่วงการปฏิวัติ 1952 Egyptian Revolution โดยพลัน!


เพลงประกอบโดย Fouad El-Zahry, فؤاد الظاهري (1916-88) นักแต่งเพลงสัญชาติ Egyptian โตขึ้นเข้าศึกษาไวโอลินยัง King Fouad Institute for Oriental Music จบมาทำงานเป็นอาจารย์สถาบัน Higher Institute of Theatrical Arts มีผลงานออร์เคสตรา ร่วมงานขาประจำผกก. Youssef Chahine ตั้งแต่ The Blazing Sun (1954), Cairo Station (1958) ฯ

แม้ไม่ใช่ภาพยนตร์ระดับมหากาพย์ (Epic) แต่งานเพลงถือว่ายิ่งใหญ่อลังการ ทั้งหมดบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้าน Persian กลิ่นอาย Egyptian แม้ไม่ได้มีท่วงทำนองติดหู แต่การประสานเสียงคอรัส ช่างมีความโหยหวน คร่ำครวญ รำพันความเจ็บปวดรวดร้าว สะท้อนสภาวะทางอารมณ์ตัวละคร ในช่วงเวลาเก็บกด อัดอั้น บีบเค้นคั้น กำลังประสบหายนะ เผชิญหน้าความตาย หัวใจแตกสลาย

The Blazing Sun (1954) นำเสนอพฤติกรรมคอรัปชั่นของพวกนายทุน (Pasha) ใช้อำนาจบาดใหญ่ในการกลั่นแกล้ง กดขี่ข่มเหงชาวบ้านนอกคอกนา ทำสิ่งต่างๆโดยไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว เพียงเพื่อผลประโยชน์ ร่ำรวยเงินทอง ตอบสนองพึงพอใจส่วนบุคคล ใครจะเป็นตาย ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ไม่ใครกล้าเอาผิด ครุ่นคิดว่าฉันโฉดชั่วร้าย

ความคอรัปชั่นของพวกนายทุน คือภาพสะท้อนสุลต่าน Farouk I (1920-65, ครองราชย์ 1936-52) เลื่องชื่อลือชาในสไตล์การใช้ชีวิตหรูหรา เพลย์บอย ไม่เคยสนใจการบ้านการเมือง สร้างความเอือมระอาให้กับประชาชน รวมกลุ่มลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน โค่นล้มอำนาจ บีบบังคับให้สละราชบัลลังก์ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1952 จำต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่อิตาลี ทอดทิ้งบุตรชายที่ยังเป็นทารกน้อย เพิ่งคลอดได้หกเดือน Ahmed Fuad II สืบต่อราชบัลลังก์ 1952-53 ระหว่างคณะปฏิวัติร่างรัฐธรรมนูญจัดตั้ง Republic of Egypt วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1953

เมื่อตอนที่สุลต่าน Fuad I ประกาศอิสรภาพ แยกตัวจากการเป็นเมืองขึ้น (ไม่ใช่อาณานิคมนะครับ) ของ British Empire วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922 สร้างราชอาณาจักร Kingdom of Egypt แต่เบื้องหลังยังต้องพึ่งพาอังกฤษอีกหลายๆอย่าง ทั้งกองกำลังทหาร ผู้ทรงคุณวุฒิแขนงต่างๆ นั่นทำให้สถานะของสุลต่านไม่ต่างจากหุ่นเชิด(ของอังกฤษ) ใครบางคนคอยควบคุมครอบงำอยู่เบื้องหลัง … นั่นคือเหตุผลที่หนังมีตัวร้ายสองคน Reyad & Taher Pasha แล้วแต่ผู้ชมจะตีความเอาเองว่าใครคือตัวแทนสุลต่าน? ใครคือผู้ชักใยเบื้องหลัง?

เกร็ด: ในขณะที่ลัทธิอาณานิคม (Colonialsim) คือการเข้ายึดครองดินแดนต่างชาติ แต่เมื่อประเทศเหล่านี้ได้รับการปลดแอก ประกาศอิสรภาพ พวกอดีตจักรวรรดินิยมจึงปรับเปลี่ยนวิธีการที่เรียกว่าลัทธิอาณานิคมใหม่ (Neo-Colonialism) แทรกซึมเข้าไปในระบอบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง คอยควบคุมครอบงำรัฐบาลหุ่นเชิดอยู่เบื้องหลัง

ในส่วนเรื่องราวความรักระหว่าง Ahmed และ Amal ผมมองถึงตัวแทนหนุ่ม-สาว คนรุ่นใหม่ ไม่ได้สนใจความแตกต่างทางสถานะชนชั้น เพียงคนสองตกหลุมรักกัน และแม้ครอบครัวบังเกิดความขัดแย้ง อาฆาตแค้น แต่สุดท้ายก็สามารถปรับความเข้าใจ … การนำเสนอประเด็นนี้ตอนจบอาจดูเร่งรีบร้อน ไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ แต่นี่คือผลงานยุคแรกๆของผกก. Chahine ยังรับอิทธิพล Happy Ending สไตล์ภาพยนตร์ Egyptian (Hollywood on the Nile)

ผกก. Chahine ถ่ายทำ The Blazing Sun (1954) ยังบ้านเกิดที่ Alexandria ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ Nile Delta เปรียบเทียบตนเองไม่ต่างจาก Amal เป็นลูกคนรวย แต่ชอบวิ่งเล่นกับเด็กๆละแวกนั้น ตกหลุมรักวิถีชนบท กลิ่นโคลนสาปควาย พอเติบใหญ่มีโอกาสเมื่อไหร่ ก็มักหวนกลับมาถ่ายทำภาพยนตร์ยังผืนแผ่นดินบ้านเกิด

I make my films first for myself. Then for my family. Then for Alexandria. Then for Egypt.

Youssef Chahine

ชื่อหนังภาษาอิยิปต์ صراع في الوادي (แปลว่า Fight in the Valley หรือ Struggle in the Valley) มีความหมายตรงไปตรงมา แต่ชื่อภาษาอังกฤษนี่สิ The Blazing Sun ชวนให้ขบครุ่นคิดตีความ อะไรคือพระอาทิตย์ส่องสว่าง?

  • Ahmed รับบทโดย Omar Sharif ผู้มีความหล่อเหลา การแสดงอันเจิดจรัส กระทำสิ่งสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน แต่นั่นก็ทำให้เขาตกอยู่ในความมืดมิด เกือบจะหมดสิ้นหวัง (เพราะแสงสว่างมาพร้อมกับเงามืด ถ้าเจิดจรัสเกินไป อีกมุมหนึ่งย่อมปกคลุมด้วยความมืดมิด)
  • หรือว่าจะ Amal รับบทโดย Faten Hamama การแสดงของเธอก็มีความเจิดจรัสเช่นเดียวกัน มีความบริสุทธิ์ สวยสาว น่าเอ็นดู และเมื่อรับรู้เบื้องหลังครอบครัว ก็ปฏิเสธความชั่วร้าย ไม่ปิดกั้นตนเอง ยินยอมรับสภาพเป็นจริง
  • ตามความเชื่อของชาว Egyptian กษัตริย์/ฟาโรห์ (อาจเหมารวมถึงสุลต่าน) คือบุตรของพระอาทิตย์ (Son of Ra) ในบริบทนี้สามารถเปรียบเทียบได้ทั้ง Reyad & Taher Pasha หรือจะพาดพิงถึงสุลต่าน Fuad I เป็นบุคคลที่สูงส่งจนคนทั่วไปมองไม่เห็นมุมมืดซุกซ่อนเร้น
  • ไคลน์แม็กซ์ของหนัง ต่อสู้ไล่ล่า เผชิญหน้า ณ Valley of the Kings สถานที่ที่ความจริงเป็นที่ประจักษ์ บุคคลชั่วร้ายถูกจับกุม คนบริสุทธิ์ได้รับความเป็นธรรม นำสู่อนาคตสว่างสดใสให้กับครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เฉกเช่นกัน! สามารถเปรียบดั่งพระอาทิตย์ส่องสว่าง นำทางสู่โลกยุคสมัยใหม่ (Republic of Egypt) บันทึกภาพวิถีชีวิต สภาพสังคม ประวัติศาสตร์การล่มสลายของ Kingdom of Egypt เก็บฝังไว้ในไทม์แคปซูล ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นเชยชม … ถือเป็นภาพยนตร์ ‘ชวนเชื่อ’ ของคณะปฏิวัติเลยก็ว่าได้


หนังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในสหภาพโซเวียต ประมาณยอดจำหน่ายตั๋วสูงถึง 25.8 ล้านใบ เลยกลายเป็นหนึ่งในผลงานประสบความสำเร็จระดับนานาชาติสูงสุดของผกก. Chahine การันตีความมั่นคงในอาชีพการงาน

ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะ (ไม่ได้ระบุคุณภาพ แต่คาดว่าน่าจะ 2K เพราะเป็นฟีล์มขาว-ดำ) โดย Association Youssef Chahine ร่วมกับ Misr International Films และ Cinémathèque Française เห็นว่าเคยเข้าฉาย Netflix อยู่ช่วงขณะหนึ่งแล้วถูกถอดออก สามารถหาดาวน์โหลดไฟล์ WEBRip ได้ไม่ยากเย็น

ผมคาดเดาว่าฟีล์มหนังเรื่องนี้น่าจะเสื่อมสภาพอย่างรุนแรง เพราะแม้แต่ฉบับบูรณะยังเต็มไปด้วยริ้วรอยขีดข่วน บ่อยครั้งมีขึ้นซับตอก เฟดสีดำ (Fade-to-Black) เดี๋ยวมืด-เดี๋ยวสว่าง คุณภาพตามมีตามเกิด ดูแล้วอาจต้องใช้งบประมาณอีกพอสมควรถ้าต้องการทำออกมาให้สมบูรณ์กว่านี้ … แต่ได้เพียงเท่านี้ก็เหลือเฟือแล้วละ

ด้วยความที่ The Blazing Sun (1954) มีพล็อตเริ่มต้นละม้ายคล้าย The Land (1970) มันจึงอดไม่ได้จะเกิดการเปรียบเทียบ ภาพรวมยังมีติดๆขัดๆ แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าคุณภาพห่างไกลกันมากนัก ผกก. Chahine ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น สะสมประสบการณ์ ทดลองผิดลองถูก พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ มันเลยยังขาดความกระชับ กลมกล่อม ให้ความสำคัญกับบางเรื่องมากเกินไป

แต่สำหรับแฟนคลับ Omar Sharif (และคู่ขวัญ Faten Hamama) ต้องชมเลยว่าหล่อจริง คมเข้ม พลังการแสดงสมศักดิ์ศรี(ว่าที่)ซุปเปอร์สตาร์ เจิดจรัส เปร่งประกาย โชติช่วงชัชวาล ไม่ควรพลาดเลยทีเดียว!

จัดเรต 15+ กับความโฉดชั่วร้ายของนายทุน ฆาตกรรมอำพราง

คำโปรย | ความเจิดจรัสของ Omar Sharif และลีลากำกับของ Youssef Chahine ทำให้ The Blazing Sun มีความโชติช่วงชัชวาล
คุณภาพ | ติช่
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

2
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
1 Thread replies
2 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
2 Comment authors
ณ.คอน ลับแลก็แค่คนที่ชอบดูหนัง Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ก็แค่คนที่ชอบดูหนัง
Guest
ก็แค่คนที่ชอบดูหนัง

พี่ชอบwatchmenของzack snyderไหมครับ

%d bloggers like this: