The Blue Angel (1930) : Josef von Sternberg ♥♥♥♡
หนังพูดเรื่องแรกของประเทศเยอรมัน แจ้งเกิด Marlene Dietrich ด้วยการเป็นนักเต้นยั่วโชว์เรียวสุดเซ็กซี่ ทำให้อาจารย์ผู้หัวโบราณคร่ำครึ Emil Jannings หลงใหลในเสน่ห์จนลาออกมาขอแต่งงาน แต่ภายหลังก็ได้พบความน่าอับอายขายหน้าแทรกแผ่นดินหนี เกิดเป็น Tragicomedy ที่ผู้ชมสมัยนี้อาจไม่ค่อยขำสักเท่าไหร่
Der blaue Engel เป็นภาพยนตร์ที่ส่วนตัวค่อนข้างประทับใจการแสดง เรื่องราวแฝงนัยยะบางอย่าง แต่รู้สึกเลยว่ากาลเวลาทำให้คุณภาพเสื่อมถอยลงมาก โดยเฉพาะการบันทึกเสียงที่เต็มไปด้วย Noise สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ ตลกคือเปิดประตูเพลงดัง ปิดประตูทุกอย่างเงียบสนิท … มันคงสมจริงดีที่สุดในข้อจำกัดของยุคสมัยนั้นแล้วสินะ
ในช่วงต้นๆของยุคสมัย Talkie มีเทรนด์อย่างหนึ่งของภาพยนตร์ต่างประเทศ คือการบันทึกเสียงพูดภาษาปาก(เยอรมัน) และอีกครั้งคือภาษาอังกฤษ (เพื่อนำออกฉายต่างประเทศ) ซึ่งหนังเรื่องนี้ผู้กำกับ Josef von Sternberg ก็ตัดสินใจถ่ายทำควบไปพร้อมๆกัน ซึ่งนักแสดงนำแม้สามารถพูดทั้งสองภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว (ติดสำเนียงเหน่อเยอรมันเยอะไปหน่อยก็เถอะ) แต่แนะนำให้หาฉบับเยอรมันมารับชมนะครับ เพราะจะพบเห็นการถ่ายทอดอารมณ์ผ่านคำพูดได้เด่นชัดเจนกว่า
เกร็ด: เห็นว่าฉบับภาษาอังกฤษได้สูญหายไปหลายทศวรรษ จนกระทั่งได้รับการค้นพบใน German Film Archive บูรณะเรียบร้อยเมื่อปี 2009 ปัจจุบันน่าจะหารับชมได้ไม่ยากนัก
Josef von Sternberg ชื่อเดิม Jonas Sternberg (1894 – 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian-American เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพสู่อเมริกาตอนอายุ 14 ปักหลักอยู่ New York City เข้าโรงเรียนพูดภาษาอังกฤษยังไม่ได้เลยออกมาเป็นเด็กส่งของ ทำความสะอาด ซ่อมแซมฟีล์มภาพยนตร์ ประมาณปี 1915 ทำงานกับ Word Film Company ได้รับความอนุเคราะห์จาก Emile Chautard ชี้แนะสั่งสอน ว่าจ้างเป็นผู้ช่วย The Mystery of the Yellow Room (1919), สมัครเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 สังกัดหน่วยสื่อสารถ่ายทำสารคดีข่าว เดินทางไปยุโรปเพื่อสะสมประสบการณ์ กำกับเรื่องแรก The Salvation Hunters (1925) ** บ้างถือว่าคือหนัง Indy เรื่องแรกของอเมริกา
“Our aim has been to photograph a Thought. It is not conditions, nor is it environment – our faith controls our lives!”
แม้จะรับอิทธิพลของ German Expressionism แต่ Sternberg ได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา (มีผลงานหนึ่ง ขุดนรกขึ้นมาในพระราชวังอันโอ่งโถง) ไม่ใช่แค่สะท้อนสภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ยังรวมถึงความคิดอ่าน เป้าหมายอุดมการณ์ แรงผลักดันอันเกิดจากเงื่อนไข โชคชะตาที่พลิกผันแปรเปลี่ยน
“I care nothing about the story, only how it is photographed and presented”.
การมาถึงของยุคสมัยหนังพูด Sternberg ได้รับโอกาสแรกกับ Thunderbolt (1929) หนังแนว Prot-Noir (หนังนัวร์ที่เกิดขึ้นก่อนยุคหนังนัวร์) ทำการทดลองสร้างเสียงที่ไม่สอดคล้องตรงกับภาพหรือคำพูด ด้วยความตั้งใจ ‘uses sound to paint audio images’ แม้ได้รับคำชมเรื่องความกล้าในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แต่ได้รับการปฏิเสธต่อต้านโดยสิ้นเชิงจากผู้ชมสมัยนั้น
(ก็แน่ละ โลกทัศน์ของผู้ชมหนัง Talkie ในยุคแรกๆ เห็นอะไรต้องได้ยินเช่นนั้น เสียงไม่ตรงกับภาพก็นึกว่าเครื่องฉายมีปัญหา)
นั่นทำให้ Hollywood ยังไม่สามารถยินยอมรับสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ของ Sternberg โชคยังดีหลังจากหนังถูกนำส่งออกฉายยังต่างประเทศ ที่เยอรมันได้รับคำชมล้นหลามถึงขนาดผู้กำกับ Ludwig Berger อดไม่ได้ต้องส่งโทรเลขบอกว่า
“I saw your film Thunderbolt and congratulate you with all my heart. It is the first fully realized and artistically accomplished Sound film. Bravo!”
ด้วยเหตุนี้ Erich Pommer เจ้าของสตูดิโอ UFA (Universum Film AG) จึงได้ติดต่อชักชวน Sternberg ให้เดินทางมากำกับสร้างหนังพูดเรื่องแรกของประเทศเยอรมัน และมั่นหมายให้ Emil Jannings ที่ต่างเคยรู้จักร่วมงานกับตอน The Last Command (1928) รับบทนำแสดง
(บางแหล่งข่าวอ้างว่า Jannings เป็นคนชักชวน Sternberg ให้สร้างหนังพูดเรื่องแรกของตนเองที่เยอรมัน แล้วค่อยติดต่อได้ Pommer จัดหาออกทุนสร้างให้)
โปรเจคที่ Pommer เสนอมาตอนแรก คือเรื่องราวเกี่ยวกับ Rasputin นักบุญจอมราคะสัญชาติรัสเซีย แต่ Sternberg หาได้มีความใคร่สนใจแม้แต่น้อย จึงเสนอการดัดแปลงนิยาย Professor Unrat (1905) [แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Professor Garbage] แต่งโดย Heinrich Mann (1871 – 1950) ที่มีเรื่องราวเสียดสีล้อเลียนคนชนชั้นกลาง-สูง จอมปลอมของประเทศเยอรมัน ปากอ้างว่าเป็นผู้มีการศึกษาสูงเคร่งครัดในจารีตประเพณี แต่จิตใจกลับหมกมุ่นตกต่ำไปกับตัณหาราคะ เข้าสำนวน ‘มือถือสาก ปากถือศีล’
Sternberg มีความสนใจเพียงครึ่งแรกของนิยายเท่านั้น พัฒนาตอนจบขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ความต้องการของตนเอง เปลี่ยนชื่อตัวละครจาก
– Professor Unrat เป็น Professor Immanuel Rath (รับบทโดย Emil Jannings)
– Rosa Fröhlich กลายเป็น Lola Lola (นำแสดงโดย Marlene Dietrich)
เรื่องราวของ Professor Immanuel Rath อาจารย์สอนหนังสือในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่มักถูกนักเรียนในห้องกลั่นแกล้งเป็นประจำในความหัวโบราณคร่ำครึ วันหนึ่งรับรู้ว่ามีลูกศิษย์แอบหนีเที่ยวกลางคืนยังไนท์คลับ The Blue Angel ตั้งใจจะจับให้ได้คาหนังคาเขา แต่กลายเป็นว่าตนเองกลับค่อยๆหลงเสน่ห์นักแสดงสาวรุ่นลูก Lola Lola จนโงหัวไม่ขึ้น วันหนึ่งตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนแล้วขอเธอแต่งงาน แบบไม่สนฟังคำใครอะไรทั้งนั้น!
นำแสดงโดย Emil Jannings ชื่อเดิม Theodor Friedrich Emil Janenz (1884 – 1950) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Rorschach, Switzerland ก่อนย้ายมาเติบโตยัง Leipzig, German Empire สมัยเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ หนีไปเที่ยวเล่นจนแม่ยอมให้เป็นนักแสดงในโรงละครประจำเมือง ครั้งหนึ่งออกทัวร์ทั่วประเทศจนเข้าตา Max Reinhardt เข้าร่วม Deutsches Theater, Berlin รู้จักสนิทสนมกับ Karl Vollmöller, Ernst Lubitsch (ขณะนั้นยังเป็นนักแสดง), Frieda Riess ฯ ต่อมาได้แสดงหนังสั้นที่กำกับโดยเพื่อนสนิท Lubitsch อาทิ Die Augen der Mumie Ma (1918), Madame DuBarry (1919), โด่งดังทั่วโลกจากร่วมงานกับ F. W. Murnau เรื่อง The Last Laugh (1924), Herr Tartüff (1925), Faust (1926) เซ็นสัญญากับ Paramount Pictures คว้า Oscar: Best Actor จากเรื่อง The Way of All Flesh (1927) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] และ The Last Command (1928)
ชื่อของ Jannings ถือว่าเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนสมัยนี้ สืบเนื่องจากสองเหตุผล
– อย่างแรกคือสำเนียงของเขาหนามาก ทำให้ไม่สามารถปรับตัวสู่ยุคหนัง Talkie ของ Hollywood จึงต้องเดินทางกลับประเทศเล่นหนังพูดภาษาเยอรมันเท่านั้น
– สองคือความนิยม Nazi สนิทสนมกับ Joseph Goebbels รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาแถลงข่าวและโฆษณาชวนเชื่อ แสดงนำภาพยนตร์ Propaganda หลายเรื่อง แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นสุด ทำให้ติด Blacklist หมดสิ้นโอกาสรับงานแสดงอีกต่อไป
รับบท Professor Immanuel Rath (ในนิยายอายุ 57 ปี) อาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษ ผู้มีแบบแผนวิถีการดำเนินชีวิตที่เคร่งครัดคร่ำครึ ไม่ชอบอะไรที่มันนอกรีตนอกรอยหรือสิ่งแปลกใหม่ ด้วยความที่ร่างใหญ่จึงมีความเทอะทะ เฟอะฟ่ะ เกะกะ ไม่สามารถวางตัวเองในตำแหน่งที่ถูกต้องของสังคมได้ ซึ่งเมื่อเหล้าเข้าปากสติปัญญาก็เริ่มสูญหาย เคลิบเคลิ้มหลงใหลตกหลุมรักในเสน่ห์ความงามของหญิงสาว หลังได้รับความสุขสำราญนกเขาขัน ก็เลิกใช้สมองครุ่นคิดตัดสินใจอีกต่อไปแล้ว
บุคคลผู้มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ เรียนจบสูงๆเป็นถึงบัณฑิตอาจารย์สอนหนังสือ ก็ใช่ว่าเขาจะมีความสามารถในการใช้ชีวิตปรับตัวทันโลก หรือควบคุมตนเองเมื่อถูกสิ่งเร้าเย้ายวนอันน่าหลงใหล กลับกลายสภาพเป็นเหมือนเด็กทารก/ลูกแมวน้อย ออดอ้อนทำตาบ้องแบ้วยิ้มแย้มแจ่มใส แรกๆคงดูน่ารักน่าชังดี แต่สักพักเห็นบ่อยใครๆคงเริ่มเบื่อหน่าย ค่อยรู้สำนึกถึงความโง่เขลาเบาปัญญาตอนนั้นทุกอย่างก็สายเกินแก้แล้ว หลงเหลือแต่ความอับอายขายขี้หน้าประชาชี กลายเป็นไก่ขันสดับฟังไม่เป็นภาษา
ตัวละครที่มักถูกทำให้อับอายเสียหน้า ถือเป็นลายเซ็นต์ถนัดของ Jannings นอกเหนือจาก Charisma กษัตริย์ผู้นำ/จอมทัพ/นายพลผู้ยิ่งใหญ่ คงเพราะมันคือขั้วตรงข้ามของตัวละคร และทำให้ผู้ชมสามารถสัมผัสจับต้องด้านดี-ชั่ว ได้อีกด้วย
ไฮไลท์ของ Jannings ในบทบาทนี้ คือการปั้นแต่งสร้างพฤติกรรมของตัวละครขึ้นมา ช่วงที่ยังเป็นอาจารย์ก็มีอย่าง ท่าทางสวมแว่น, จามใส่ผ้าเช็ดหน้า, หยิบสมุดขึ้นมาจดบันทึก ฯ แสดงถึงความหัวโบราณคร่ำครึของตัวละคร, ครึ่งหลังแม้จะไม่อะไรซ้ำๆให้สังเกตพบเห็น แต่สีหน้าท่าทางสายตา เหมือนคนอาการ Shell Shock/Trauma จิตวิญญาณไม่อยู่ในร่าง มุดแทรกแผ่นดินหนีหายไปแล้วกระมัง
Marie Magdalene ‘Marlene’ Dietrich (1901 – 1992) นักแสดงหญิงสัญชาติ German เกิดที่ Berlin ในครอบครัวชนชั้นกลาง ตั้งแต่เด็กร่ำเรียนไวโอลินวาดฝันเป็นนักดนตรี แต่พอได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับข้อมือเลยต้องล้มเลิกความตั้งใจ โตขึ้นมุ่งสู่วงการแสดง เริ่มจากเป็นนักร้องคอรัส รับบทเล็กๆในภาพยนตร์ The Little Napoleon (1923) มีผลงานในยุคหนังเงียบหลายเรื่องแต่ไม่ประสบพบเจอความสำเร็จ จนกระทั่งวันหนึ่งไปคัดเลือกนักแสดง The Blue Angel (1930) มาในสภาพเบื่อโลก ‘world-weary attitude’ เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับบทแน่ ให้ร้องเพลงก็เลือก “You’re the Cream in My Coffee” แบบไม่เต็มใจนัก กลายเป็นที่ถูกใจผู้กำกับ Sternberg เป็นอย่างยิ่ง
เกร็ด: นักแสดงที่มาทดสอบหน้ากล้อง เป็นตัวเลือกรับบทนี้ อาทิ Gloria Swanson, Phyllis Haver, Louise Brooks, Brigitte Helm, Lya De Putti, Lucie Mannheim, Trude Hesterberg, Käthe Haack, Lotte Lenya, Leni Riefenstahl ฯ
มีการค้นพบฟุตเทจทดสอบหน้ากล้องของ Dietrich กับหนังเรื่องนี้ นำมาให้รับชมกับว่าเจ๊แกมีสีหน้ากวนตรีนเบื่อโลกขนาดไหน ทั้งหมดเป็นการ Improvise การแสดงขึ้นเอง และนักเปียโนคือ Friedrich Hollaender (ผู้แต่งเพลงประกอบให้กับหนัง)
รับบท Lola Lola นักเต้น Cabaret (ในนิยายอายุ 17 ปี) เต็มไปด้วยเสน่ห์เย้ายวนเซ็กซี่ เป็นคนขี้อ่อนไหวกับผู้ชายจิตใจเหมือนเด็กน้อยให้เกียรติแบบสุภาพบุรุษ รสนิยมคงชอบป๊ะป๋าๆร่างใหญ่ สนคนที่ภายในไม่ใช่หน้าตา เช่นนั้นจะยินยอมแต่งงานกับ Prof. Rath ได้อย่างไร แต่เมื่อพบเห็นภายในของคนรักหมดสิ้นสภาพพึ่งพาไม่ได้ ก็เริ่มมองหาจรวดขัดตาทัพใหม่
ถ้าเปรียบตัวละคร Prof. Rath คือตัวแทนของคนชนชั้นกลาง-สูง มีความรู้สติปัญญาเฉลียวฉลาด, Lola Lola จะถือเป็นคนชนชั้นล่างของสังคม ใช้ชีวิตเพื่อสนองตัณหาราคะความต้องการพึงพอใจของตนเองเท่านั้น ซึ่งการแต่งงานระหว่างชนชั้นย่อมทำให้ฝ่ายหนึ่งสูญเสียชื่อเสียงหน้าตา และอีกฝ่ายกลายเป็นผู้ดีมีตระกูลขึ้นมา ในยุคสมัยนั้นนี่เป็นสิ่งต้องห้าม Taboo ของประเทศชาตินิยมจัดๆ เยอรมันคือหนึ่งในนั้น
สิ่งที่ทำให้ผู้ชมสมัยนั้นตราติดตรึงกับภาพลักษณ์ของ Dietrich คือส้นสูง ถุงน่อง หมวก Top Hat เสียงร้อง Contralto และท่านั่งยกขา อันทำให้ได้เซ็นสัญญากับสตูดิโอ Paramount ตั้งแต่ก่อนหนังออกฉายเสียอีก
เกร็ด: Sternberg ได้แรงบันดาลใจภาพลักษณ์ของ Lola Lola จากภาพวาด Pornocrates (1878) [ชื่อภาษาอังกฤษคือ The Lady with the Pig] ของ Félicien Rops ศิลปินสัญชาตื Belgian
(โห! ภาพนี้มีนัยยะตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเปะๆเลยนะ หมูที่เดินนำคือตัวละครของ Janning, หญิงสาวด้านหลังแทนได้ด้วย Dietrich)
ส่วนตัวไม่รู้สึกตราตะลึงนักกับภาพลักษณ์ของ Dietrich แต่หลงใหลในลีลาท่าทางอันยั่วเย้ายวน การเล่นหูเล่นตา และพูดคำปากหวาน ชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงเสน่ห์ยิ่งนัก ใครก็ตามเกิดทันสมัยนั้นคงย่อมหลอมละลาย (ทั้งชายหญิง) โด่งดังข้ามทวีปกันเลยทีเดียว
Dietrich กับผู้กำกับ Sternberg ค่อยๆสนิทสนมกันเรื่อยๆจนเริ่มออกหน้าออกตาในกองถ่าย สร้างความอิจฉาริษยาตาร้อนให้กับ Jannings ถึงขนาดพูดขู่ด้วยความเกรี้ยวกราด ถ้ามันมากเกินไปอยากจะบีบคอใครสักคนให้ตาย … ความสัมพันธ์ของทั้งคู่กลายเป็นข่าวคาวตามหน้าหนังสือพิมพ์ Tabloid ซึ่ง Sternberg ก็รีบจัดฉากแต่งงานกับ Riza Royce แล้วตอนกลับอเมริกาค่อยไปยื่นฟ้องขอหย่า แต่เธอรู้ทันจึงรีบชิงตัดหน้าเดินทางไปก่อน แล้วส่งทนายมาเฝ้ารอคอยพวกเขาขณะลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก (นี่ทำให้ Dietrich ไม่เคยคิดแต่งงานกับ Sternberg ทั้งๆเป็นคู่ขากันหลายปี)
ความสัมพันธ์อันแนบแน่นของ Sternberg กับ Dietrich ทำให้ทั้งคู่สร้างภาพยนตร์ร่วมกันอีก 6 เรื่อง ถึงค่อยแยกย้ายทางใครทางมัน ประกอบด้วย Morocco (1930), Dishonored (1931), Shanghai Express (1932), Blonde Venus (1932), The Scarlet Empress (1934), The Devil is a Woman (1935)
ถ่ายภาพโดย Günther Rittau สัญชาติ German ที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับ Fritz Lang เรื่อง Metropolis (1927)
หนังถ่ายทำในสตูดิโอ Babelsberg Studio, Potsdam จำลองสร้างฉากขนาดใหญ่ด้วยลักษณะของ German Expressionism มีความบิดเบี้ยวไม่ได้สัดส่วน สะท้อนถึงจิตวิญญาณตัวตนแท้จริงภายในของตัวละคร ภายนอกเหมือนจะดูดี แต่แท้จริงแล้วคอรัปชั่นชั่วร้ายนัก
ทางเดินบนท้องถนน สังเกตว่ามันจะบิดเบี้ยว เอียงๆเหมือนหอเอนเมืองปิซ่า ก็แน่ละความคอรัปชั่นในจิตใจคนมันจะทำให้ถนนหนทาง ผนังกำแพง เสาไฟฟ้า ตั้งอยู่ตรงดิ่งได้อย่างไร
หน้าห้องเช่าของ Prof. Rath ก็เช่นกัน อยู่ชั้นสองต้องเดินขึ้นบันไดโค้งบิดเบี้ยว (บันไดโค้งถือเป็นอีกลายเซ็นต์หนึ่งเลยของ German Expressionism) การจัดแสงเห็นเงาก็ให้สัมผัสแปลกๆ ถ่ายมุมก้ม-เงย สะท้อนความหมายบางสิ่งอย่าง
หลายคนอาจไม่ทันสังเกต ช็อตตรงระเบียงหน้าห้องเรียนก็มีลักษณะของ German Expressionism ด้วยลักษณะคล้ายๆกับสี่-ห้าเหลี่ยมคางหมู ประมาณเศษหนึ่งของภาพปกคลุมด้วยความมืด ก็คือจิตใจของ Prof. Ruth นะแหละ
นี่เป็นช็อตที่ได้รับการพูดถึงกล่าวขวัญที่สุดของ Dietrich นั่งอยู่บนถังไม้ ยกขาขึ้นโชว์ความล่ำสุดเซ็กซี่ เอียงหมวกอย่างมีสไตล์ สายตาจับจ้องมองว่าที่คนรักไม่คาดสายตา
เอกลักษณ์ German Expressionism ของผู้กำกับ Sternberg คือการใช้รูปปั้นสื่อแทนความหมายบางสิ่งอย่าง ซึ่งช็อตนี้ถือว่าตรงเลยละ สิ่งที่ Prof. Rath มองเห็นกับ Lola Lola มีเพียงเรือนร่างอันเปลือยเปล่าของหญิงสาว ราวกับนางเงือกใต้มหาสมุทร ไม่มีอะไรให้ต้องปกปิด
สังเกตการจัดแสง จะพบว่าสาดส่องเฉพาะบนเวที กับบนชั้นสองสถานที่รับชมของ Prof. Rath เท่านั้น ที่เหลือดูมืดมิดสนิทไม่จำเป็นต้องให้แสงอะไรเพิ่มเติม
นาฬิกาบอกเวลาเรือนนี้น่าจะตั้งอยู่หน้าโรงเรียน ดังกึกก้องขึ้นเมื่อเวลา 8 โมงตรง (เข้าเรียน) จะมีรูปปั้นเหมือนเคลื่อนตัวออกมาแล้วก็จากไป (นกพิราบเกาะอยู่โดยรอบ) ผมคิดว่าน่าจะคือตัวแทนของคนชนชั้นสูง-กลาง-ต่ำ ที่เคลื่อนเรียงต่อเนื่องเป็นวงเวียนในสังคม เท่าที่สังเกตได้อาทิ ชายคนแรกถือคนโท, ไม้เท้ากับนกอินทรี, พาน/แจกัน, หนังสือ, โบสถ์, กุญแจ, ดาบ … (หลังจากนี้ดูไม่ออกแล้ว)
นัยยะของนาฬิกา คงสื่อถึงเวลาในอำนาจของคนชนชั้นกลาง-สูง ใกล้ที่จะหมดลงทุกที จากเคยเปะๆตรงต่อเวลา เมื่อใดวอกแวกนอกรีตนอกรอยก็จะเริ่มเลทสาย ไปโรงเรียนไม่ทัน
ภาพวาดบนกระดานดำในห้องเรียนของ Prof. Rath มันเจ๋งมากเลยนะ เสียดสีล้อเลียนได้ตรงเผง
– กระดานซ้ายมือ ร่างกายโป๊เปลือยเปล่า ล่องลอยอยู่เหนือเมฆาราวกับบนสรวงสวรรค์ ขับร้องเล่นพิณส่งเสียงร้องเรียก Lola Lola
– กระดานกลาง รูปของ Prof. Rath ขโมยสองสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของ Lola Lola คือหมวก Top Hat กับเรียวขาสวมถุงน่อง
ฉากงานแต่งงาน นอกจากพื้นหลังที่ยังพอเห็นเทาๆบ้าง บนโต๊ะจีนกลม แก้ว-ขวดไวน์ เสื้อผ้า-เครื่องประดับ ล้วนเป็นสีขาว-ดำ แทบทั้งหมด จะถือว่าเป็นช่วงเวลากึ่งกลางของหนังที่ทำให้ Prof. Ruth แม้จะเป็นผู้มีความสุขที่สุด แต่หลังจากนี้ก็จะมีแต่ตกต่ำสู่ด้านมืดมิด
จากอาจารย์ผู้มีความรู้ทรงภูมิได้รับการเคารพนับถือ กลับเลือกทางเดินตอบสนองตัณหาราคะความต้องการของตนเอง เมื่อเริ่มรู้ตัวสำนึกว่าตัดสินใจผิด ได้กลายร่างเป็นตัวตลกให้ผู้คนหัวเราะขบขัน (ถือเป็นการสะท้อนความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร จากนามธรรมแปรสภาพกลายเป็นรูปธรรม พบเห็นจับต้องได้ภายนอก)
ด้วยท่าทางป้ำๆเป๋อๆ มีการแสดงสองชุด
– เสกนกออกจากศีรษะ ราวกับเป็นการปลดปล่อยความเฉลียวฉลาดที่เคยมี ให้โบยบินล่องลายจากหายไปกลายเป็นคนไร้สติ
– เสกไข่แล้วตอกใส่หน้า จากนั้นส่งเสียงขันทำท่าเหมือนไก่ตีปีก, ผมมองไข่-ไก่ เป็นสัญลักษณ์ของความดิบเถื่อน Primitive วิวัฒนาการย้อนกลับของมนุษย์ กล่าวคือ จากเคยเป็นผู้มีความรู้สติปัญญา ‘สัตว์ประเสริฐ’ กลับทำตัวสนองตัณหาสันชาติญาณตนเอง กลายสภาพเป็น ‘สัตว์เดรัจฉาน’ หวนคืนสู่สภาพเซลล์เดียว (ไข่ 1 ฟอง มีขนาดเทียบเท่า 1 เซลล์ของสิ่งมีชีวิต)
ภาพในกระจกช็อตนี้ สะท้อนถึงจิตใจของตัวละครที่แตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ จากเคยมีชีวิตหนักแน่นมั่นคงหนึ่งเดียว ปัจจุบันขณะนั้นไม่หลงเหลือสภาพตััวตนใดๆให้น่านับถืออีกต่อไป (กลายเป็น Trash สมฉายา)
ช็อตสุดท้ายของหนัง มองได้คือการหวนกลับมาตายรังเก่า สป็อตไลท์สาดส่องยังโต๊ะครูในห้องเรียนที่ตนเคยใช้สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา จากเคยได้รับความนับหน้าถือตาในสังคม เมื่อละทิ้งทุกอย่างสุดท้ายสำนึกละอายขายหน้าในการกระทำของตนเอง อยากที่จะหวนกลับคืนแต่ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้ โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นก็คือการยึดติด (มือจับไม่ปล่อย) กับอดีต แต่มันกำลังค่อยๆเคลื่อนห่างออกไป
ตัดต่อโดย Walter Klee, Sam Winston ใช้มุมมองการเล่าเรื่องของ Professor Immanuel Rath ซึ่งการออกแบบฉาก/พื้นหลัง German Expressionism ก็ล้วนสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละครนี้ออกมา
ข้อเสียรุนแรงของหนังเลยคือความเชื่องช้าชวนสัปหงก ผมก็สะดุ้งไปรอบหนึ่งตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรก กว่าจะเข้าเรื่องได้ให้เวลากับอะไรไม่รู้เนิ่นนานเหลือเกิน และกว่า Jannings จะพูดประโยคแรก ก็เกือบ 9 นาที (พูดว่า Sit Down) แต่เราจะได้ยินเสียงผิวปากดังขึ้นก่อนนะ
เพลงประกอบโดย Friedrich Hollaender (ทำนอง), Robert Liebmann (คำร้อง), Franz Waxman (Soundtrack)
เพราะความที่ลูกคอของ Dietrich สูงเพียง Contralto จึงเป็นการกึ่งๆบังคับให้ Hollaender เขียนเพลงในระดับเสียงร้องนั้น กระนั้นด้วยลูกเล่นลีลาและท่วงท่าของเธอ ก็ได้สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นอย่างยิ่งเลยละ
มีสองบทเพลงไฮไลท์ของ Dietrich ในหนังเรื่องนี้ Ich bin die fesche Lola (แปลว่า Naughty Lola) แนวส่อเสียดยั่วเย้ายวน ด้วยจังหวะสนุกสนานครึกครื้นเครง ร้องเล่นเต้นไปด้วย ผู้ชมสมัยนั้นคงเสียวซาบซ่านไม่น้อยเลยละ, นำฉบับภาษาเยอรมันมาให้ฟัง
อีกเพลงหนึ่งชื่อ Ich bin von Kopf bis Fuß auf Liebe eingestellt (แปลว่า Falling In Love Again) ฉบับภาษาอังกฤษจะมีน้ำเสียงเหนื่อยหน่ายเบื่อโลก ทุ้มต่ำเหน่อๆ แต่ฟังกี่ทีก็ไม่น่าเบื่อเลยนะ มีเสน่ห์บางอย่างชวนให้หลงใหลมากๆ
ขณะที่ฉบับคำร้องเยอรมัน เพราะเป็นภาษาปากเลยไม่ต้องกดเสียงปั้นแต่ง จึงสามารถแหลมสูงได้ถึง Contralto ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาไพเราะจับใจกว่ากันเยอะเลยนะ
การทดลอง Soundtrack/Sound Effect ของหนัง ค่อนข้างจะล้ำยุคทีเดียว ถึงผมจะบอกไปตอนต้นว่าดูตลกสิ้นดี เปิดประตูเพลงดัง ปิดประตูทุกอย่างเงียบสนิท แต่ต้องยกย่องว่าคือความสร้างสรรค์ กล้าทดลองอะไรใหม่ๆ เพิ่มความสมจริงกลมกลืนให้เกิดขึ้น แม้มันยังห่างไกลจุดที่เรียกว่ายินยอมรับได้ก็ตามเถอะ
เรื่องราวรสชาติของความรักเป็นสิ่งไม่เข้าใครออกใครอยู่แล้ว ต่อให้มหาบัณฑิตเฉลียวฉลาดหลักแหลมมีสติปัญญาสูงส่งขนาดไหน เมื่อสันชาติญาณหัวใจมันเรียกร้อง อะไรอย่างอื่นก็ไร้ค่าความหมายไม่อยู่ในความสนใจ
สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ค่อยชอบใจหนังสักเท่าไหร่ คือความตั้งใจชี้ชักนำทัศนคติผิดๆเกี่ยวกับความรัก ‘มันผิดตรงไหนชายสูงวัยอายุ 50 ตกหลุมรักสาวน้อยอายุ 17’ พวกเขาแต่งงานกันถูกต้องตามกฎหมายด้วยความยินยอมพร้อมใจแท้ๆ แต่หนังเลือกนำเสนอความไม่เหมาะสมเจียมตน ทำให้ตัวละครรู้สึกอับอายเสียหน้าเพราะการตัดสินใจแบบสนองความต้องการมากกว่าขนบธรรมเนียมวิถีที่ควรเป็น ทั้งยังเสี้ยมสอนว่า มันคงมีแต่ตัณหาราคะที่ทำให้คนต่างรุ่นต่างวัยต่างชนชั้นแต่งงานกันได้
แต่ก็เอาเถอะ ประเทศเยอรมันต้นศตวรรษ 20 แม้งชาตินิยมเผ่าพันธุ์ชิบหายเลยเถอะครับ ไม่งั้นนาซีมันจะรุ่งโรจน์ยิ่งใหญ่เกลียดชาวยิวเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างไร คือถ้าเรามองเป้าหมายของหนังในอีกมุมหนึ่งคือการนำเสนอบุคคลที่ ‘มือถือสาก ปากถือศีล’ ภายนอกแสดงออกดั่งสุภาพบุรุษคนดีมีความรู้ทรงภูมิ แต่แท้จริงภายในกลับอัปลักษณ์พิศดารน่ารังเกียจขยะแขยง เช่นนี้ต้องถือว่าหนังตอบโจทย์ผลกรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบเลยละ
สำหรับความตั้งใจของผู้กำกับ Sternberg ผมมองเห็นการเปรียบตนเองเข้ากับตัวละครของ Jannings ในทศวรรษเปลี่ยนผ่านของวงการภาพยนตร์ มีสภาพเทอะทะเฟอะฟะ ยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกยุคใหม่ได้ ขณะที่ตัวละครของ Dietrich เทียบได้คือความสวยเซ็กซี่อันเย่ายวนของหนังพูด Talkie ชักชวนให้คนรุ่นเก่าๆอย่างเขาตกหลุมใหลคลั่งไคล้ร่วมรักแต่งงาน ถึงกระนั้นเมื่อร่วมออกเดินทางเคียงข้างไปด้วยกันสักพัก ก็ดั่งขณะสร้างภาพยนตร์เรื่อง Thunderbolt (1929) ล้ำเกินจนยังไม่มีใครรับได้ทัน ทำให้ตัวเองคงตกอยู่ในสภาพอับอายขายหน้าประชาชี แทรกแผ่นดินหนีมุดมาถึงบ้านเก่า สร้างภาพยนตร์สัญชาติ German เรื่องแรกเรื่องเดียวนี้ แล้วหาทางหวนกลับคืนสู่ Hollywood บ้านแท้จริงของตนเอง
ในมุมของ Jannings เรายังสามารถเปรียบตัวเขาได้กับสภาพตอนหมดสัญญากับสตูดิโอที่ Hollywood ถึงพูดภาษาอังกฤษพอได้แต่สำเนียงเยอรมันหนักเกินฟังไม่ค่อยออก จำต้องระหกระเหินเดินทางกลับบ้านเกิดอย่างน่าขายหน้า (แม้จะเอา Oscar: Best Actor ติดตัวมาด้วยก็เถอะ) หลังจากนี้ก็เล่นเพียงหนังพูดภาษาปากตนเองเท่านั้นสบายใจกว่ากันเยอะ
ตอนที่หนังออกฉายได้รับเสียงตอบรับดีล้นหลาม ทำเงินถล่มทลายในประเทศเยอรมัน (แต่ไม่มีรายงานรายรับ) แต่การมาถึงของ Nazi ทำให้ถูกแบนห้ามฉายเมื่อปี 1933 (คงเพราะสร้างโดยผู้กำกับเชื้อสาย Jews ด้วยกระมัง)
โดยส่วนตัวประทับใจการแสดงของ Emil Jannings อย่างยิ่งเลยละ สร้างให้ตัวละครมีความมืดหมองหม่นหดหู่ จนตอนจบผู้ชมสามารถสิ้นหมดลมหายใจตายตามไปได้เลย แต่น่าเสียดายที่มักถูกกลบด้วยภาพลักษณ์อันเซ็กซี่เลิศหรูหราของ Marlene Dietrich สามารถยั่วเย้ายวนหนุ่มๆสมัยนั้นเลือดกำเดาไหลได้มากกว่า
แนะนำคอหนัง Tragicomedy นำเสนอมุมมืดของจิตใจมนุษย์, นักร้องเล่นเต้นทำงาน Nightclub, หลงใหลใน German Expressionism, ชื่นชอบผู้กำกับ Josef von Sternberg และแฟนคลับ Emil Jannings, Marlene Dietrich
จัดเรต 13+ กับความยั่วยวนเซ็กซี่ และโศกนาฎกรรมจากความอับอายขายหน้าประชาชี
Leave a Reply