The Blue Max (1966) : John Guillermin ♥♥♥♡
Pour le Mérite หรือ The Blue Max คือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นสูงสุดของประเทศ Prussia/Germany มอบให้กับทหารหรือพลเรือนที่ทำความชอบในการสงครามปกป้องประเทศชาติ สำหรับทหารอากาศจะได้รับก็ต่อเมื่อสามารถยิงเครื่องบินศัตรูตก 20 ลำ แต่นั่นใช่สิ่งที่ควรใฝ่ฝันไขว่คว้ามาครอบครองหรือเปล่า, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ถ้าหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นในยุคสมัยสงครามใหญ่ WW1 หรือ WW2 การันตีว่าต้องโดนแบน ห้ามฉาย ถูกทำลายทิ้งอย่างแน่นอน เพราะช่วงเวลาขณะนั้นมีหรือรัฐบาล ผู้ปกครองประเทศไหนๆ จะยินยอมอนุญาติให้ภาพยนตร์แนวต่อต้านสงคราม มีอิทธิพลบทบาทเหนือความคิดของผู้คน
แต่เพราะหนังสร้างขึ้นในยุคสมัยสงครามเย็น คอมมิวนิสต์กำลังแพร่ขยายอิทธิพล อเมริกาเตรียมพร้อมรอรบกับเวียดนาม ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนเต็มขยาดกับสงครามใหญ่ ไม่มีใครต้องการให้มันหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกในเร็ววัน การมาถึงของ The Blue Max ถือว่าถูกที่ถูกเวลา เหมาะสมกับโอกาส นำเสนอแนวคิดการเข่นฆ่าผู้อื่นเพื่อความยิ่งใหญ่ หรือต้องการเป็นวีรบุรุษ มันไม่ได้มีคุณค่าอะไรทั้งนั้น เรียกว่าโลกขณะนั้นหมดสิ้นค่านิยมนี้ลงแล้ว
บอกเลยว่าผมขนลุกขนพองกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนจบของหนัง ทั้งๆที่พระเอกในมุมหนึ่งถือว่าคือวีรบุรุษ/ฮีโร่ของชาติ กลายเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ แต่เพื่อการตัดตอนขายผ้าเอาหน้ารอดของท่านผู้มีอำนาจ โอ้! มันช่างบัดซบประไร เป็นการตอกย้ำคุณค่าของมนุษย์คนหนึ่งที่เข้าร่วมสงคราม ต่อให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ Ace Pilot เก่งกาจมากแค่ไหน ก็เพียงเบี้ยตัวหนึ่งในตารางหมาก ได้รับการส่งเสริมก็มีค่า หมดสิ้นสูญศรัทธาทำให้เสียหน้าก็…โยนทิ้งขว้าง
สร้างโดย John Guillermin (1925 – 2015) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ ขึ้นชื่อเรื่องหนังทุนสูย Action, Adventure เกิดที่กรุง London โตขึ้นเข้าเรียน University of Cambridge แต่ลาออกมาสมัครเป็นทหารอากาศ Royal Air Force (R.A.F) หลังออกมาผันตัวทำงานสายภาพยนตร์ เริ่มจากเรียนรู้สร้างสารคดีที่ฝรั่งเศสอยู่หลายปี กลับสู่ London ร่วมกับ Robert Jordan Hill ก่อตั้งสตูดิโอเล็กๆ กำกับหนังร่วมกันเรื่อง High Jinks in Society (1949) มีชื่อเสียงจาก Town of Trial (1957), The Whole Truth (1958), Tarzan’s Greatest Adventure (1959), Never Let Go (1960) ฯ ได้มีโอกาสรู้จักกับ Darryl F. Zanuck ทำให้ได้สร้างหนัง Hollywood โด่งดังสุดกับ The Towering Inferno (1954), The Bridge at Remagen (1959), The Blue Max (1966), King Kong (1976), Death on the Nile (1978) ฯ
หลังความสำเร็จของ Those Magnificent Men in their Flying Machines (1965) และความที่ตัวเองเคยเป็นทหารอากาศ จึงเกิดความสนใจสร้างภาพยนตร์แนวนี้ ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกัน แต่งโดย Jack D. Hunter (1921 – 2009) นักเขียนสัญชาติอเมริกา พัฒนาบทภาพยนตร์โดย Ben Barzman กับ Basilio Franchina
เกร็ด: Hunter เขียนนิยายภาคต่ออีก 2 เล่ม กลายเป็น Bruno Stachel Series ประกอบด้วย The Blue Max (1964), The Blood Order (1979) และ The Tin Cravat (1981)
เรื่องราวมีพื้นหลังเริ่มต้นปี ค.ศ. 1916 ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเล็กน้อย, Corporal Bruno Stachel (รับบทโดย George Peppard) นายทหารของ German ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังเอาตัวรอดจากสนามรบภาคพื้นดิน ตัดสินใจสมัครเป็นทหารอาการ Deutsche Luftstreitkräfte (German Army Air Service) โดยมีเป้าหมายเพื่อประดับเหรียญเกียรติยศ The Blue Max มีทั้งคนที่ส่งเสริมเห็นชอบด้วย General Count von Klugermann (รับบทโดย James Mason) และคนที่ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง Hauptmann Otto Heidemann (รับบทโดย Karl Michael Vogler) เขาจึงต้องการพิสูจน์ตัวเอง ให้ได้รับการยอมรับจาก Willi von Klugermann (รับบทโดย Jeremy Kemp) นักบินคนล่าสุดที่เพิ่งระดับเหรียญเกียรติยศ The Blue Max
เกร็ด: Pour le Mérite หรือ The Blue Max ริเริ่มมอบโดย King Frederick II แห่ง Prussia ตั้งแต่ปี 1740 ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดมอบให้ทั้งทหารและพลเรือน ผู้กระทำความดีความชอบให้ Kingdom of Prussia ต่อเนื่องมากับ German Empire ปัจจุบันไม่ได้มีการมอบอีกแล้ว (เพราะไม่มีสงครามใหญ่) คนสุดท้ายที่ได้รับคือพลเรือน Ernst Jünger เสียชีวิตปี 1998
เห็นว่านิยายกับภาพยนตร์มีความแตกต่างกันพอสมควร น่าจะระดับใจความสำคัญเลยละ เพียงนำเอาพื้นหลัง ชื่อตัวละคร และเรื่องราวมาปรับใช้เท่านั้น, และในเรื่องความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ ผู้เขียน Hunter ครั้งหนึ่งได้ไปเยี่ยมเยือนกองถ่าย เห็นงานสร้างที่เกิดขึ้นแล้วก็ส่ายหัว แค่ดูเหมือนแต่ขาดความสมจริงโดยสิ้นเชิง
George Peppard (1928 – 1994) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Detroit, Michigan หลายคนอาจจดจำได้จากการประกอบ Audrey Hepburn เรื่อง Breakfast at Tiffany’s (1961) นอกจากนี้ Home from the Hill (1960), How the West Was Won (1962), The Carpetbaggers (1964), ซีรีย์ The A-Team (1983-1987)
รับบท Corporal Bruno Stachel เจ้าของฉายา Cobra เกิดในครอบครัว Middle Class แต่หลังจากได้เป็นนักบิน มองตัวเองเป็นคนชั้นสูง (aristocratic) มีความเย่อหยิ่งทะนงตน หัวสูง ชอบท้าทาย แข่งขัน เพื่อเป้าหมายพิสูจน์ตัวเองให้ได้การยอมรับ จึงพร้อมเสียสละกระทำทุกสิ่งอย่างโดยไม่สนเรื่องคุณธรรมมโนธรรม แม้ต้องโกหกหลอกหลวงเพื่อให้ได้มาครอบครองก็ตาม
ในนิยายตัว Stachel อายุ 19 ปีเท่านั้น แต่ Peppard ขณะเล่นหนังอายุย่าง 37 แม้ดูเกินวัยไปมากแต่ก็แลกกับภาพลักษณ์ของตัวละครมีความ ‘authentic’ น่าเชื่อถืออย่างยิ่ง
เกร็ด: Stachel ภาษา German แปลว่า sting, การต่อย, เหล็กในผึ้ง
ผมค่อนข้างประทับใจการแสดงของ Peppard ราวกับตัวจริงเขาก็เป็นคนแบบนี้ เย่อหยิ่ง ทะนงตน มองตัวเองสูงส่งกว่าผู้อื่น แต่ต้องยอมรับว่าเป็นคนที่ทุ่มเทเพื่อบทบาทมาก ลงทุนเรียนขับเครื่องบินก่อนหน้าถ่ายทำถึง 4 เดือน 210 ชั่วโมงการบิน และบินเดี่ยว 130 ชั่วโมง แต่กลับไม่มีสักช็อตที่เขาบินด้วยตนเองปรากฎขึ้นในหนัง (ฉากใน Cockpit ถ่ายทำในสตูดิโอทั้งหมด)
James Neville Mason (1909 – 1984) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Huddersfield, West Riding of Yorkshire เข้าเรียนเป็นสถาปนิกที่ Peterhouse, Cambridge เวลาว่างๆไปรับงานแสดงเป็นตัวประกอบในโรงละครเวทีใกล้บ้าน จนกระทั่งไปเข้าตาผู้กำกับ Alexander Korda ชักชวนให้มารับบทเล็กๆใน The Private Life of Don Juan (1933) แต่แค่สามวันก็ตัดฉากเขาทิ้งทั้งหมด กระนั้นก็ทำให้ได้รับโอกาสแสดงในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Man in Grey (1943), The Wicked Lady (1945), Hatter’s Castle (1942), The Seventh Veil (1945), Odd Man Out (1947) โด่งดังระดับนานาชาติกับ Julius Caesar (1953), A Star Is Born (1954), North by Northwest (1959), Lolita (1962), The Verdict (1982) ฯ
รับบท General Count von Klugermann นายพลคนชั้นสูงที่สนแต่ภาพลักษณ์ หน้าตา ชื่อเสียงของตนเอง ถือว่าเป็นคนคอรัปชั่น เพราะมีอำนาจควบคุมสั่งการทุกสิ่งอย่างได้ จึงพร้อมกระทำทุกสิ่งอย่างเลือดเย็น
Mason ที่เหมือนจะไม่มีบทบาทอะไรมากในหนัง แต่กลับแย่งซีนโดดเด่นช่วงท้ายไปเต็มๆ กับการตัดสินใจกระทำบางอย่างเลือดเย็น เรียกว่าสะท้อนตัวตนของกลุ่มผู้นำประเทศ ที่สนแต่ตนเอง คดโกงกินคอรัปชั่น ดั่งกระแสน้ำนิ่งๆด้านบน แต่ภายใต้ปั่นป่วนคลื่นแรงบ้าคลั่ง
เชื่อว่าหนุ่มๆหลายคนคงหลงใหลหลั่งคลั่ง กับผ้าเช็ดตัวผืนน้อยที่บดบังเต้าปทุมถันถ์ของ Ursula Andress (เกิดปี 1936) นักแสดงสัญชาติ Swiss สาว Bond Girl คนแรก Honey Ryder ภาค Dr. No (1962) ความเซ็กซี่เย้ายวนของเธอยังคงเปร่งปรั่ง รับบท Countess Kaeti von Klugermann หลานสาวคนรักของ Willi ที่ Stachel สามารถแก่งแย่งมาครอบครองได้, ไฮไลท์ของตัวละครคือช่วงท้ายเช่นกัน การแสดงออกซึ่งความอิจฉาริษยา เรียกว่าเป็นผลกรรมของ Stachel ที่ได้แก่งแย่งชิงเธอมา ทำให้ต้องใช้ชีวิตและชีวิต
Jeremy Kemp (1935) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ ที่มักมีผลงานซีรีย์เสียมากกว่า รับบทสมทบหนังอย่าง Operation Crossbow (1965), A Bridge Too Far (1977), Top Secret! (1984) ฯ รับบท Leutnant Willi von Klugermann นักบินคนล่าสุดที่เพิ่งระดับเหรียญเกียรติยศ The Blue Max ด้วยฐานะทางสังคมเป็นคนชั้นสูง ทำให้ Stachel เกิดความอิจฉาริษยา ต้องการท้าพิสูจน์ตนเอง แต่ไม่เคยได้รับการยอมรับใดๆ ทั้งบนเตียงและชีวิตจริง, Kemp ถือเป็นดาราหน้าใหม่ในวงการขณะนั้น บทบาทนี้ทำให้ได้รับการจับตามองอย่างสูง เข้าชิง BAFTA Award: Most Promising Newcomer to Leading Film Roles แต่สุดท้ายก็ค่อยๆเจือจางหายไป
Karl Michael Vogler (1928 – 2009) นักแสดงสัญชาติเยอรมันที่มักได้รับบทสมทบ อาทิ Bekenntnisse eines möblierten Herrn (1963), Paarungen (1967), Downhill Racer (1969), Patton (1970) ฯ รับบท Hauptmann Otto Heidemann เจ้าหน้าที่ระดับสูง (Commanding Officer) ผู้มีความเชื่อมั่นในคุณธรรมมโนธรรม กฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติของสงคราม ไม่ได้ต้องการฮีโร่ที่มีความเห็นแก่ตัว แต่เข้าใจคุณค่าของชีวิตมนุษย์, การแสดงของ Vogler ไม่มีอะไรน่าพูดถึงนักนอกจากความดื้อด้าน เชื่อมั่นในอุดมการณ์หัวชนฝา คนส่วนใหญ่คงไม่ชอบตัวละครนี้ แต่ไม่มีใครบอกว่าเขาคิดผิดแน่
ถ่ายภาพโดย Douglas Slocombe ตากล้องสัญชาติอังกฤษ โด่งดังกับผลงานไตรภาค Raiders of the Lost Ark (1981) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Guns at Batasi (1965), The Lion in Winter (1969), Travels with My Aunt (1972), The Great Gatsby (1975), Julia (1977) ฯ
หนังได้รับการยกย่องว่ามีฉากต่อสู้ทางอากาศ (Dogfight Scene) ที่ตื่นเต้น ลุ้นระทึกสุดในโลก ติดตั้งกล้องหลายจุดบนเครื่องบิน ถ่ายเห็น Point-Of-View ขณะกำลังยิง, ควันพวยพุ่งออกมาหลังถูกยิง, โฉบเฉี่ยวใกล้ฝูงบิน/ต้อนฝูงแกะ, ไฮไลท์คือบินลอดใต้สะพาน (ขับเครื่องบินจริงๆลอดผ่านนะครับ)
เทียบกับ Wing (1927) หรือ Hell’s Angel (1930) ต้องชมเลยว่าหนังเรื่องนี้เหนือกว่าพอสมควร คงเพราะเทคโนโลยีการถ่ายภาพและเทคนิคของภาพยนตร์ก้าวล้ำไปไกล มันเลยมีความสมจริงจับต้องได้มากกว่า ในรูปแบบที่ไม่ใช้ CG เว่ออลังการเหมือนปัจจุบัน
(จริงอยู่ที่ Dogfight ของหนังอย่าง Star Wars ปัจจุบันย่อมเหนือชั้นกว่ามาก แต่มันฉวัดเฉวียวเว่อแบบเกินจริงไปมาก ให้อารมณ์ตื่นเต้นสนุกสนานลุ้นระทึก แต่จับต้องไม่ได้เสียเท่าไหร่)
ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำในประเทศ Ireland ยกเว้นฉากใน Berlin ถ่ายทำที่กรุง Dublin, สำหรับเครื่องบินสร้างขึ้นใหม่หมด ภายนอกคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ของยุคสมัยนั้น ส่วนเครื่องยนต์เป็นของใหม่หมดเพื่อลดความเสี่ยงในอุบัติเหตุ (แต่การนำเครื่องบินโมเดลเก่าๆขึ้นบิน ก็มีความเสี่ยงสูงอยู่)
สำหรับเครื่อง Death-Trap (ในนิยายใช้ชื่อ Adler แปลว่า Eagle) ที่เป็น monoplane ลำสุดท้ายของหนังมีจริงในประวัติศาสตร์นะครับ รับแรงบันดาลใจจาก Fokker E.V. สร้างโดยกองทัพ German โด่งดังมากเพราะคร่าชีวิตนักบินเก่งๆไปหลายคน จากโครงสร้างปีกทำให้เกิดการสั่นสะเทือนอย่างมาก มีการออกแบบใหม่หลายรุ่นกว่าจะเสถียรจนได้เป็น Fokker D.VIII
จะมีอยู่ 2-3 ครั้งในหนังที่อยู่ดีๆ ภาพถ่ายจะหมุนเอียงกระเทเร่ (Dutch Angle) มักเกิดขณะมีเหตุการณ์บางอย่างกระทบกระทั่งกับอารมณ์ของตัวละครอย่างรุนแรง เช่น ตอน Countess บอกเลิกกับ Bruno, หรือตอน Death Trap ตกพื้น ฯ
ตัดต่อโดย Max Benedict สัญชาติ Austrian ใช้มุมมองของ Bruno Stachel ตลอดแทบทั้งเรื่อง เว้นแต่ช่วงท้ายที่เป็นในสายตาของ General Count von Klugermann
จุดเด่นของฉากต่อสู้ทางอากาศ (Dogfight Scene) คือการตัดต่อที่ใช้เทคนิค Montage ตัดสลับไปมาระหว่างนักบินที่นั่งอยู่ใน Cockpit กับภาพที่พวกเขามองเห็น หลายครั้งมีการส่งสัญญาณมือสื่อสาร (สมัยนั้นยังไม่มีวิทยุสื่อสารไร้สายติดในเครื่องบิน) ช็อต POV ถ่ายเห็นขณะปืนกำลังยิงศัตรู หรือภาพเครื่องบินหมุนขณะกำลังตก
สำหรับฉากจบของหนัง การเปลี่ยนมาเป็นมุมมองสายตาของ General Count von Klugermann มีความน่าสนเท่ห์ไม่น้อย เพราะเมื่อบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้มีอำนาจสูงสุดจำต้องคิดตัดสินใจ กระทำการบางอย่างด้วยตนเอง นี่เป็นการยกระดับของเรื่องราวจากมุมมองของ Bruno Stachel ที่แทนด้วยนายทหารระดับปฏิบัติการ สู่นายพลระดับบัญชาการ/ผู้สั่งการ สะท้อนถึงการสงครามไม่ว่าผู้เข้าร่วมจะระดับไหน ต่างมีความคอรัปชั่นในแนวคิดอุดมการณ์ไม่แตกต่างกัน (พวกที่ยกย่องเชิดชูสงคราม เห็นชีวิตคนเหมือนผักปลา ต่างเห็นผิดเป็นชอบทั้งนั้น)
สำหรับเพลงประกอบ ในตอนแรกติดต่อ Ron Goodwin แต่ได้ถอนตัวไป กลายเป็น Jerry Goldsmith สัญชาติอเมริกัน ที่พอได้ยินโปรดิวเซอร์เปิดบทเพลง Richard Strauss: Also Sprach Zarathustra ร้องขอต้องการความยิ่งใหญ่ให้ได้แบบนี้ ทำเอาหน้าซีดแต่ก็ยินยอมรับคำท้า
“I admit it worked fairly well but my first reaction was to get up and walk away from the job. Once you’ve heard music like that with the picture, it makes your own scoring more difficult to arrive at.”
เกร็ด: หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นก่อน Stanley Kubrick นำ Also Sprach Zarathustra ไปใช้เป็นเพลงเปิด 2001: A Space Odyssey (1968)
ถ้าคุณเป็นขาประจำของ Jerry Goldsmith น่าจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความคล้ายคลึงในสไตล์ดนตรีได้เป็นอย่างดี เน้นเครื่องเป่าที่มีเสียงแหลม พริ้วไหวไล่ตัวโน๊ตราวกับสายลม, กับหนังเรื่องนี้เพื่อความยิ่งใหญ่อลังการ ว่านักดนตรีกว่า 100 คน จัดเต็มเน้นเครื่องเป่าลม ขนาดว่าต้องใช้บริการของ National Philharmonic Orchestra กำกับวงโดย Sidney Sax บันทึกเสียงที่ Shepperton Studios, London
Main Title ให้สัมผัสของความยิ่งใหญ่ทรงพลัง โลกที่แสนกว้างใหญ่ ผืนแผ่นท้องฟ้าสุดลูกหูลูกตา ล่องลอยกลางเวหา โบยบินอย่างอิสระไร้ข้อจำกัด
บทเพลง The Attack เริ่มต้นจากเสียงรัวกลอง ราวกับการ March กรีธาเข้าสู่สนามรบ เมื่อทุกอย่างพร้อมเพรียงดนตรีจะเปลี่ยนไปเป็นเผชิญหน้าประจันบาน, บทเพลงนี้จะไม่เน้นความสับสนวุ่นวายอลม่านนัก แต่เน้นสร้างบรรยากาศให้สัมผัสที่โฉบเฉี่ยว ตื่นเต้น ลุ้นระทึกนัก
Sound Effect มีความโดดเด่นพอสมควร โดยเฉพาะเสียงเครื่องบิน แม้จะไม่ได้มีความหลากหลายมากนัก แต่สามารถบ่งบอกสถานะของภาพที่เห็นบนจอได้ เช่นว่า ยังบินได้อยู่ ถูกยิงหรือกำลังจะตก ฯ เพิ่มความสมจริงให้กับหนังได้อย่างพอสมควร (แต่ก็น่าสงสัยว่านั่นเสียงของเครื่องบินรุ่นนั้นๆจริงไหมนะครับ มันเหมือน Stock Sound มากกว่า)
ยุคสมัยเคลื่อนผ่าน แนวคิด ทัศนคติ อุดมการณ์ของคนก็เปลี่ยน นี่คือสัจธรรมความจริงหนึ่งของโลก ไม่มีอะไรยิ่งยืนยงคงอยู่ตลอดกาล, กับหนังเรื่องนี้พูดถึง ‘วีรบุรุษสงคราม’ ในสมัยสงครามโลกทั้งสองครั้ง การเข่นฆ่าทำลายล้างชีวิตของศัตรู คือเป้าหมายสูงสุดแห่งชัยชนะ ทำการยกย่องเชิดชูฮีโร่ ทำให้ผู้คนเกิดความหึกเหิมมีกำลังใจ ภาคภูมิใจกับสิ่งที่กระทำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น Great Depression ทำให้ผู้คนรับรู้สึกตัว ตื่นขึ้นจากความโง่เขลา ค้นพบว่าสงครามมันคือความบ้าคลั่งไร้สาระเสียสติ ทรัพย์สินบ้านเรือนที่สูญเสียไปยังเทียบไม่ได้กับชีวิตคน ลูกหลาน
The Blue Max เป็นหนังที่ไม่ได้เชิดชูวีรบุรุษ ยกย่องการเกิดขึ้นของสงคราม ตรงกันข้ามคือต่อต้านสุดขีด Anti-War ใช้สองตัวละครเป็นตัวเปรียบเทียบในสองระดับ
– Bruno Stachel (ระดับปฏิบัติการ) นักบินที่มีความกระหายในชัยชนะ ต้องการเป็นวีรบุรุษ ประดับเหรียญเกียรติยศ The Blue Max
– General Count von Klugermann (ระดับบัญชาการ) ผู้นำที่กระหายชัยชนะ ความยิ่งใหญ่ ปากอ้างว่าทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ แต่จริงๆแล้วเพื่อชื่อเสียง หน้าตาของตัวเองล้วนๆ
คงเพราะมันมีผลพวงข้อดีของการได้เป็นวีรบุรุษ ทำให้ใครๆต่างแสวงหา วาดฝัน ไขว่คว้า, เป้าหมายของ Stachel คือการยกระดับฐานะทางสังคมของตัวเอง เพราะครอบครัวพื้นหลังเป็นเพียงคนชนชั้นกลาง ไม่ได้มีบทบาทหน้าตาชื่อเสียงใดๆ ถ้าฉันสามารถกลายเป็นวีรบุรุษที่ใครๆต่างรู้จัก นับหน้าถือตาได้รับการยอมรับ เมื่อนั้นก็ราวกับได้กลายเป็นคนชนชั้นสูงโดยสง่างาม สามารถกระทำอะไรก็ได้ตามความต้องการ จีบสาว… Countess ได้อย่างสมศักดิ์ศรี
แต่หนังยังลึกล้ำไปกว่านั้น เพราะเมื่อ Stachel กำลังจะได้ประดับเหรียญเกียรติยศสูงสุด The Blue Max และการันตีเป็นหนูตกถังข้าวสาร แต่กลับบอกปัดคำร้องขอของ Countess เลือกเดินตามอุดมการณ์ความเพ้อฝันทะเยอทะยาน นี่ผมก็ไม่รู้แล้วนะว่าเขาคาดหวังอะไรเหนือไปกว่านี้ ทั้งๆไม่หลงเหลืออะไรให้ต้องพิสูจน์แล้ว ถึงจุดสูงสุดเป้าหมายของชีวิต นี่สะท้อนตัวตนของมนุษย์ที่ ‘ไม่รู้จักพอ’ ผลลัพท์ก็คือ …
ด้วยทุนสร้าง $5 ล้านเหรียญ หนังทำเงินได้ทั่วโลก $16.1 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จอย่างสูง, ในประเทศอังกฤษ เข้าชิง BAFTA Award 4 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best British Cinematography (Colour)
– Best British Art Direction (Colour) ** ได้รางวัล
– Best British Costume (Colour)
– Most Promising Newcomer to Leading Film Roles (Jeremy Kemp)
เกร็ด: Peter Jackson ยกย่องหนังเรื่องนี้คือ 1 ใน 6 หนังสงคราม WW1 ที่ชื่นชอบสุด [อีก 5 เรื่องประกอบด้วย All Quiet on the Western Front (1930), Paths of Glory (1957), Lawrence of Arabia (1962), Gallipoli (1981), Beneath Hill 60 (2010)]
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากพอสมควรเลยละ ประทับใจในแนวคิดของต่อต้านสงคราม สะท้อนความหมายของฮีโร่ ‘วีรบุรุษต้องแลกมากับอะไร’ เสียดสีแสบลึกไปถึงทรวง และฉากต่อสู้ทางอากาศ (Dogfight Scene) มีความตราตรึง ลุ้นระทึกมากๆ
แนะนำกับคอหนังต่อต้านสงคราม, ชื่นชอบเครื่องบิน, สนใจประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1, แฟนๆนักแสดง George Peppard, James Mason ไม่ควรพลาด
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แล้วตั้งคำถามให้กับตนเองให้ได้ สงครามคืออะไร? วีรบุรุษคืออะไร? มันมีเกียรติยศอะไรในการสังหารผู้อื่น? เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วคุณจะพบเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในโลกคือ ‘ชีวิต’
จัดเรต 13+ กับพฤติกรรมความเย่อหยิ่งผยอง เห็นแก่ตัว และการตายแบบไร้ค่า
Leave a Reply