The Broadway Melody (1929)
: Harry Beaumont ♥♥♡
หนังเพลงรางวัล Oscar สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เรื่องที่ 2, ร้องเล่นเต้นไปกับสองสาวพี่น้อง เดินทางสู่ New York วาดฝันต้องการเป็นนักแสดง Broadway ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ชีวิตไม่ได้ง่ายดั่งฝัน
The Broadway Melody of 1929 เป็นหนังพูดและหนังเพลง เรื่องแรกที่สามารถคว้ารางวัล Oscar สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ตอนนั้นใช้ชื่อรางวัลว่า Outstanding Picture ซึ่งเป็นการรวมกับสาขา Unique and Artistic Picture ที่ปีก่อนหน้าในงานประกาศรางวัลครั้งแรก ได้มีการแบ่งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมออกเป็นสองรางวัล (Outstanging Picture เรื่องที่ได้คือ Wings, ส่วน Unique and Artistic Picture คือ Sunrise) เพื่อเป็นการยกย่องหนังในมุมมองที่ต่างกัน แต่การทำเช่นนั้นทำให้ไม่รู้ว่าเรื่องไหนยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปีจริงๆ จึงได้ทำการยุบรวมเหลือเพียงรางวัลเดียว
ในงานประกาศรางวัลปีนั้น ไม่ได้มีการประกาศผู้เข้าชิงล่วงหน้า (คือประกาศเฉพาะผู้ชนะเท่านั้น) จึงทำให้ไม่มีรายชื่อหนังที่เข้าชิงอย่างเป็นทางการออกมา, แต่มีการคาดการณ์ หรือไม่รู้ค้นพบคะแนนโหวตของคณะกรรมการปีนั้น ทำให้ imdb และอีกหลายๆเว็บจะมีรายชื่อหนังที่เข้าชิง ซึ่ง The Broadway Melody นอกจากรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแล้ว ยังติดโผเข้าชิงอีก 2 สาขาคือ
– Best Director พ่ายให้กับ Frank Lloyd จากเรื่อง The Divine Lady
– Best Actress (Bessie Love) พ่ายให้กับ Mary Pickford จากเรื่อง Coquette
โดยผู้กำกับ Harry Beaumont ชาวอเมริกัน ที่มีผลงานภาพยนตร์ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยุคหนังเงียบ เคยร่วมงานกับ John Barrymore เรื่อง Beau Brummel (1924), Joan Crawford เรื่อง Our Dancing Daughters (1928) ฯ สำหรับผลงานหนังพูดเรื่องแรก The Broadway Melody สร้างขึ้นกับ MGM ถือว่าเป็นเรื่องประสบความสำเร็จที่สุดของ Beaumont ใช้ทุนสร้าง $379,000 เหรียญ ทำเงินประมาณ $4.4 – $4.8 ล้านเหรียญ น่าจะสูงที่สุดแห่งปี
เรื่องราวนำมาจากแนวคิดของ Edmund Goulding ผู้กำกับ นักเขียนชื่อดัง ที่มีผลงานอย่าง Queen Kelly (1929), Grand Hotel (1932), Dark Victory (1939), The Razor’s Edge (1946) ฯ
เรื่องราวของหญิงสาวสองพี่น้อง Mahoney ที่เป็น vaudeville** เดินทางสู่ New York City วาดฝันจะมีชื่อเสียงเงินทอง ประสบความสำเร็จ, คนพี่ Hank (รับบทโดย Bessie Love) หน้าตาไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ เป็นคนปากไวใจร้อนจึงไม่ค่อยได้รับโอกาสในการแสดงเท่าไหร่ ส่วนคนน้อง Queenie (รับบทโดย Anita Page) หน้าตาสวยใสเปร่งประกาย ใครๆต่างหลงใหลในรูปโฉมความงาม ได้รับการสนับสนุนให้กลายเป็นดาราดัง
เกร็ด: **ในโรงละครสมัยก่อน จะมีแบ่งการแสดงออกเป็นชุดๆ สำหรับนักแสดงที่ยังไม่มีชื่อเสียงมาก ให้เช่าเวลาเพื่อเปิดการแสดง นี่เรียกว่า Vaudeville (โว-เดอ-วีล) ที่แปลว่า ละครเบ็ดเตล็ด, การแสดงสลับฉาก
สองพี่น้อง Mahoney รู้จักกับ Eddie Kearns (รับบทโดย Charles King) เพื่อนหนุ่มที่เติบโตมาด้วยกัน เดินทางมา New York ก่อนหน้า ตามคำแนะนำของ Hank เพื่อเป็นนักแสดง/นักแต่งเพลง แม้จะยังเป็นแค่ลูกน้องคนอื่น แต่ก็ได้ช่วยทั้งสองแนะนำให้เข้าตาเจ้าโรงละคร Francis Zanfield (รับบทโดย Eddie Kane) และ Jacques ‘Jock’ Warriner (รับบท Kenneth Thomson) ที่มีความใคร่สนใจ Queenie อย่างมาก
เรื่องราวของหนังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
1) สองสาว หนึ่งหนุ่ม ที่เดินตามความฝัน สู่การแสดงละครเวที Broadway แรกๆใช่ว่าจะได้รับการยอมรับ พวกเขาต้องพิสูจน์ตนเอง
2) เมื่อหนึ่งสาวประสบความสำเร็จ เกิดความลุ่มหลงใหลในชื่อเสียงเงินทอง ในขณะที่อีกสอง (ดูยังไงก็เหมือนอิจฉา) พยายามกีดกัน เพราะความต้องการบางสิ่งอย่างของตน
ถ่ายภาพโดย John Arnold, หนังเพลงในยุคนั้น มีเทรนด์หนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เริ่มต้นจากหนังเรื่องนี้ คือถ่ายบางฉากด้วยภาพสี Technicolor (Two-Color Technicolor มี 2 สีคือ แดงและเขียว) ในฉากที่เว่อๆ ขายความอลังการสีสันจัดจ้าน
ฉากนั้นคือเพลง Wedding of the Painted Doll ที่มีความฟุ้งฟิ้ง มุ้งมิ้งเต็มไปหมด แต่ไม่ต้องหานะครับ เพราะเห็นว่าฟีล์มสีนั้นสูญหายไปแล้ว คงเหลือแต่ภาพขาวดำล้วนๆ
ตัดต่อโดย Sam S. Zimbalist ฉบับหนังเงียบตัดต่อโดย William LeVanway (ไม่ได้เครดิต) [ที่ต้องมี 2 ฉบับเพราะสมัยนั้น ยังอยู่ในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านจากหนังเงียบเป็นหนังพูด จึงมีโรงหนังอีกหลายที่ที่ยังไม่มีเครื่องเสียงติด] หนังใช้มุมมองของ 3 ตัวละครหลัก Hank, Queenie และ Eddie ตัดสลับไปมา (ส่วนใหญ่จะอยู่ด้วยกัน) เริ่มต้นด้วย Eddie (ที่อยู่ใน NY มาก่อน) จบด้วย Hank (ที่จาก NY ไป)
หนังมี Title Card ปรากฎขึ้นด้วย ในฉบับหนังพูดขึ้นเพื่อแนะนำสถานที่ ส่วนฉบับหนังเงียบคงแทนคำพูดของตัวละครด้วย
เปิดเรื่องในสตูดิโอแห่งหนึ่ง ภาพตัดต่อนักร้อง/นักเต้น/นักดนตรี เสียงพูดคุยในความชุลมุนวุ่นวายหนวกหู นี่เป็นเหมือนการซักซ้อม (rehearsal) ทดลองเสียง อารัมภบทก่อนเข้าสู่เรื่องราว เมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อม ทุกคนรุมเข้ามา Eddie เริ่มต้นขับร้องเพลง Broadway Melody
เพลงประกอบ แต่งทำนองโดย Nacio Herb Brown คำร้องโดย Arthur Freed, มี 2 บทเพลงที่ได้รับการยกย่องและเป็นที่จดจำ นอกจากเพลง Broadway Melody ยังมี You Were Meant for Me ขับร้องโดย Charles King เพลงนี้หนังเรื่อง Singin’ in the Rain (1952) นำไปใช้ด้วยนะครับ
นี่เป็นหนังที่ผมเกาหัวซ้ำๆซากๆ คือไม่เข้าใจแรงจูงใจของตัวละครเท่าไหร่ ทั้งๆที่เรื่องราวก็ไม่ได้มีอะไรเข้าใจยาก แต่รู้สึกว่ามันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย อาทิ
– เหตุผลที่ Hank กีดกันน้องสาวไม่ให้คบกับ Jock ปากอ้างว่า เพราะรู้เข้าใจผู้ชายแบบนี้ไม่ได้รักจริง แต่แท้จริงแล้วเหมือนเพื่อต้องการเหนี่ยวรั้ง Queenie ไว้ในครอบครอง (นี่แฝงประเด็น Lesbian Incest)
– ส่วน Eddie ต้องถือว่าเพราะความอิจฉาล้วนๆ ตกหลุมรัก Queenie ทั้งๆที่ตัวเองเคยชอบ Hank มาก่อน ตาร้อนเมื่อเห็น Jock ที่ร่ำรวยกว่าเข้ามาจีบ (มองแบบนี้จะเห็นว่าตัวละคร Eddie เห็นแก่ตัว นิสัยเลวมากๆ)
– ตอนที่ Hank รู้ว่า Eddie ไม่ได้รักตัวเองแล้ว แต่หลงรักใน Queenie เธอกลายเป็นแม่พระมอบเธอให้เขาไปเสียอย่างนั้น ทั้งๆที่ตอนน้องสาวประสบความสำเร็จ กลับแสดงความหึงหวงอิจฉาตาร้อน ฯ
คนสมัยนั้นคงชื่นชม Hank ว่าเป็นพี่ที่แสนดี ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อน้อง เสียสละได้แม้กระทั่งคนรักและความสุขของตนเอง, ส่วน Queenie เมื่อได้ดีแล้วกลับไม่เห็นหัวเธอ หลงใหลในชื่อเสียงเงินทอง ต้องให้บางสิ่งอย่างเจอเข้ากับตัวถึงเริ่มคิดได้, ส่วน Eddie คือวีรบุรุษผู้ช่วยเหลือ Queenie แม้จะเคยรัก Hank แต่เมื่อเธอยอมรับได้ เขาจึงได้ครองคู่กับหญิงสาวที่ตนรักหมายปอง
รู้สึกตรรกะมันเพี้ยนๆนะครับ ไม่รู้เป็นเฉพาะผมหรือเปล่า?
ใจความของหนัง คงประมาณสอนว่าเวลาทำอะไรประสบความสำเร็จ อย่าลืมบุคคลที่เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง และอย่าหลงใหลมัวเมาในสิ่งที่ไม่จีรัง ชื่อเสียงความสำเร็จได้มาง่ายก็มักจากไปเร็ว … นี่น่าจะคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนังได้ Oscar
แต่เหตุผลอื่นๆที่หนังได้ Oscar ผมขอคัดลอกคำโปรยจากนักวิจารณ์สมัยนั้นมาให้อ่านดู
– Variety บอกว่า ‘หนังมีทุกอย่างที่ หนังเงียบควรทำถ้าต้องการมีเสียง’ (has everything a silent picture should have outside of its dialog. A basic story with some sense to it, action, excellent direction, laughs, a tear, a couple of great performances and plenty of sex. Has everything!)
– Motion Picture News บอกว่า ‘นี่เป็นการปฏิวัติหนังพูดเลย’ (This picture is great. It will revolutionize the talkies)
– ‘แนวทางกำกับมหัศจรรย์มาก นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในภาพยนตร์รูปแบบใหม่’ (The direction is an amazing indication of what can be done in the new medium)
คือสมัยนั้นหนังเรื่องนี้ยิ่งใหญ่มากเลยนะครับ ผมพยายามจินตนาการตามแต่ก็ไม่สามารถสัมผัสเข้าใจได้เลย กับยุคที่ไม่เคยมีหนังพูดมาก่อนแล้วพบเจอกับเรื่องนี้ คนสมัยนั้นคงจะ mind-blowing ตะลึง อึ้งทึ่ง เหนือคำบรรยาย
แต่กาลเวลาได้ค่อยๆกัดกร่อนทำลายความยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้ จนปัจจุบันกลายเป็นหนังเพลงดาดๆทั่วไปที่แทบไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว ขนาดเว็บมะเขือเน่าให้คะแนนแค่ 35% จาก 20 นักวิจารณ์, imdb ได้คะแนน 6.9 ฯ คงเพราะสมัยนี้ไม่มีใครเห่อหนังพูดว่าเป็นของใหม่อีกแล้ว พบเห็นมากมายก่ายกองในชีวิตประจำวัน คุณค่าของหนังที่เหลืออยู่ จึงมีแค่จุดเริ่มต้น เรื่องที่เปลี่ยนของยุคสมัยของภาพยนตร์
ส่วนตัวเฉยสนิทกับหนังเรื่องนี้ คุณภาพกลางๆไม่ได้ดีเลวอะไร ส่วนของดราม่าค่อนข้างแปลก มีแนวคิดพิลึกๆแทรกอยู่ด้วย เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบหนังเพลง, การแสดง Broadway สมัยก่อน, และคนอยากเห็นหนัง Oscar เรื่องที่ 2 ของโลก ฯ กับคอหนังทั่วๆไปไม่จำเป็นต้องเสียเวลาหามาดูนะครับ
จัดเรต 13+ กับการจูบที่มีมากเหลือเกิน และความรุนแรงต่อต้านหัวชนฝา
Leave a Reply