The Canterbury Tales

The Canterbury Tales (1972) Italian : Pier Paolo Pasolini ♥♥♥

เปลี่ยนบรรยากาศไปยุคสมัย Middle Ages ดัดแปลงตำนานแคนเตอร์บรี (The Canterbury Tales) มหาวรรณกรรมของประเทศอังกฤษ (ที่ได้แรงบันดาลใจจากตำนานสิบราตรี) ประพันธ์โดย Geoffrey Chaucer ตีความในมุมตัณหาราคะ พร้อมกับ Sex, คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin

ตำนานแคนเตอร์บรี (The Canterbury Tales) มหาวรรณกรรมของประเทศอังกฤษ ประพันธ์โดย Geoffrey Chaucer (1343 – 1400) นักเขียนผู้ได้รับฉายาว่า ‘Father of English Literature’ ประมาณการปีที่เขียน 1387 – 1400 (เหมือนว่าจะยังไม่เสร็จสิ้นดี ก็พลันด่วนเสียชีวิตจากไปก่อน) มีลักษณะเป็นเรื่องย่อยที่รวมกันเป็นหนังสือ (สองเล่มเป็นร้อยแก้ว อีกยี่สิบสองเล่มเป็นร้อยกรอง) เล่าถึงนักแสวงบุญผู้เดินทางจาก London มุ่งสู่ Canterbury Cathedral เพื่อเคารพพระศพของ Saint Thomas Becket ระหว่างทางที่ Tabard Inn, Southwark เจ้าของโรงเตี๊้ยม Harry Bailey ชักชวนให้นักเดินทางทั้งหลายเล่าเรื่องราวของตนเอง ผู้ชนะน่าสนใจสุดจะได้รับมื้ออาหารฟรีเมื่อตอนขากลับ

Chaucer เคยกล่าวถึงแบบตรงไปตรงมา ช่วงที่ตนเองออกเดินทางไปท่องเที่ยวยังอิตาลี มีโอกาสได้อ่านตำนานสิบราตรี (The Decameron) กลายเป็นอิทธิพลแรงบันดาลใจ ให้ประพันธ์ตำนานแคนเตอร์บรี ในรูปแบบลักษณะคล้ายคลึงกัน แตกต่างที่เรื่องเล่าของ Chaucer มีความหลากหลายกว่าเพราะจากผู้เล่าไม่ซ้ำหน้า แต่ก่อนเสียชีวิตรวมแล้วเสร็จสิ้นเพียง 24 เรื่องเท่านั้น (ขณะที่ตำนานสิบราตรี รวมแล้ว 100 เรื่องเปะๆ)

ผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini เลือกมา 8 ตอน ใช้วิธีการนำเสนอเฉกเช่นเดียวกับ The Decameron (1971) โดยตัวเองเปลี่ยนจากรับบทจิตรกรวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง มาเป็นนักเขียน Geoffrey Chaucer พร้อมพูดประโยคทิ้งท้าย

“Here finish the Canterbury Tales, told for the sole pleasure of telling”.

ส่วนตัวเพิ่งมีโอกาสรู้จักหนังสือตำนานแคนเตอร์บรี พร้อมๆกับตำนานสิบราตรี ก็จาก Trilogy of Life (ในเมืองไทยคงไม่ดังเท่าไหร่กระมัง ต้องคนในวงการวรรณกรรมถึงมีโอกาสรู้จัก) ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้แม้จะมีจุดหมุนที่ชัดเจนกว่า คือพอจบแต่ละตอนก็มักตัดมาหา Pasolini ทำท่าครุ่นคิดก็เริ่มต้นเข้าเรื่องถัดไป กระนั้นโดยรวมถือว่ามีความอ่อนด้อยสนุกน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด รางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin ถือว่ามากไปเสียด้วยซ้ำนะ

เพราะพื้นหลังเรื่องราวของ The Canterbury Tales ดำเนินในยุคสมัย Middle Ages ที่ประเทศอังกฤษ จะให้ถ่ายทำยังผืนแผ่นดินยุโรป/อิตาลี ก็กระไรอยู่ จึงถือเป็นโอกาสออกท่องโลกของผู้กำกับ Pasolini ซึ่งก็แฝงนัยยะทอดทิ้งบางสิ่งอย่างไว้เบื้องหลังด้วยเช่นกัน

เรื่องราวเริ่มต้นที่เมือง Southwark พบเห็นวิถีชีวิตของชาวอังกฤษ และที่โรงเตี๊ยม Tabard Inn เจ้าของชักชวนให้นักเดินทางแสวงบุญทั้งหลาย นำเสนอเล่าเรื่องราวการผจญภัยของตนเอง

ตอนแรก (ดัดแปลงจาก The Merchant’s Tale): เรื่องราวของพ่อค้าสูงวัยชื่อ Sir January (รับบทโดย Hugh Griffith เจ้าของรางวัล Oscar: Best Supporting Actor จากเรื่อง Ben-Hur) ตัดสินใจแต่งงานกับหญิงสาวชื่อ May (รับบทโดย Josephine Chaplin ลูกสาวแท้ๆของ Charlie Chaplin) หลังครองร่วมรักหลับนอนกันได้สักพัก Sir January กลับตาบอดทำให้มองไม่เห็น เป็นเหตุให้ May ลักลอบมีชู้กับชายหนุ่มที่เธอตกหลุมรัก แต่แล้วราวกับปฏิหารย์ทำให้สายตาของเขากลับมามองเห็นภาพบาดตาบาดใจ แต่หญิงสาวก็พลันพลิกลิ้นปล้อนปลิ้น บอกว่าที่เห็นนั่นแค่ภาพหลอน

การที่ Sir January มองอะไรไม่เห็น แม้จะเป็นการกลั่นแกล้งเล่นของสองเทพเจ้าแห่งความรัก (Pluto กับ Venus) แต่ก็สื่อได้ถึงสภาพของเขาที่ไม่รู้จักเจียมสังขารตนเอง ใช้อำนาจเงินซื้อหาความรัก มักมากหมกมุ่นในกามราคะ เมื่อสุขสมหวังลุกขึ้นกระโดดลิงโลดเต้น, ขณะที่ May เริ่มต้นมาเหมือนจะไร้เดียงสา แต่ก็บริโภคโกยอาหารเต็มปาก ตักตวงผลประโยชน์ความสุขเฉพาะหน้า โดยหาได้สนศีลธรรมถูกผิดแต่ประการใด

เรื่องราวความรักต่างวัย จริงๆมันก็ไม่ผิดอะไรนะครับที่ชายแก่-หญิงสาว จะตกหลุมรักใคร่แต่งงาน ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เขียน/ผู้กำกับ จะนำเสนอด้วยทัศนคติอย่างไร ในกรณีของคู่นี้เห็นได้ชัดว่า มองเป็นสิ่งอัปลักษณ์พิศดาร ตาแก่ตัณหากลับ ชวนให้นึกถึง Hugh Hefner เมืองไทยเราก็มี ฉลอง ภักดีวิจิตร

ข้อคิดของตอน The Merchant’s Tale: ความหมกมุ่นในกิเลสตัณหาราคะ คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์มืดบอดในชีวิต

ตอนสอง (ดัดแปลงจาก The Friar’s Tale) ชายคนหนึ่งมาล่วงรู้ภายหลังว่าคือยมทูตแห่งความตาย (รับบทโดย Franco Citti) พบเห็นชายคนหนึ่งแอบด้อมๆมองๆลอดช่อง เดินเข้าไปดูพบเห็น ชายร่วมรักกับชาย ติดตามต่อไปอีกสักพักเลยรับรู้ว่า หมอนี่เป็นคนปลิ้นปล้อมคอรัปชั่น ใช้ศาสนาอ้างว่าการลักร่วมเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิด นำเสนอสองคู่กรณีที่หนึ่งมีเงินก็จ่ายค่าปิดปาก อีกคนไร้สักบาทเลยถูกจับเผาทั้งเป็น ภายหลังออกเดินทางร่วมกันโดยชายคนนั้นกำลังจะป้ายสีใส่หญิงสูงวัยคนหนึ่ง เธอจึงสาปแช่งเขาให้ปีศาจนำตัวไป ก็ตามนั้นเลยกอดคอกันเดินลงนรก

นี่เป็นตอนที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง เล่าโดยใช้มุมมองของยมทูต ด้วยลักษณะด้อมๆมองๆ ถ่ายจากด้านนอกจับจ้องเข้าไป (ไดเรคชั่นเดียวกันตอนพระเยซูคริสต์กำลังถูกพิพากษาตัดสินใน The Gospel According to St. Matthew) ให้เป็นหน้าที่ของผู้ชมพิพากษาตัดสินการกระทำของตัวละคร สมควรลงนรกหรือไม่?

ข้อคิดของตอน The Friar’s Tale: ไม่มีใครในโลกนี้ที่สามารถโกงความตายได้อย่างแน่นอน

ตอนสาม (ดัดแปลงจาก The Cook’s Tale): เรื่องราวของ Perkin (รับบทโดย Ninetto Davoli) เป็นชายหนุ่มลัลล้าเรื่อยเปื่อย ทำตัวเหมือน Charlie Chaplin สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว วันหนึ่งได้งานเป็นคนขายไข่ แต่กลับเบี่ยงเบนความสนใจไปเล่นทอยลูกเต๋ากับพรรคพวก เจ้าของร้านกลับมาจับได้ไล่ออก เกรี้ยวกราดโกรธทำลายไข่แตกย่อยยับ แล้วไปร่วมหลับนอนกับภรรยาเพื่อนกลายเป็นรักสามเส้า สองนายตำรวจจับกุมรอโทษประหารชีวิตตัดหัว

นี่เป็นตอนที่ผมชอบน้อยสุดในหนัง เพราะ Davoli พยายามเลียนแบบ Charlie Chaplin ได้ไม่เหมือนเอาเสียเลย และพฤติกรรมของตัวละครก็หาใช่สไตล์ของ Chaplin-esque ไปสร้างความเสื่อมเสียให้ภาพลักษณ์นี้เสียอีก, เห็นว่านี่เป็นส่วนที่ Pasolini เสริมแต่งเข้ามาจากเนื้อหาเดิม มันเลยดูล้นๆเกินๆ ไม่ค่อยเข้าพรรคพวกกับเรื่องราวอื่นสักเท่าไหร่

[สงสัยที่ต้องให้ Davoli รับบทตัวละครคล้าย Chaplin-esque ก็เพราะตอนแรกไปอัญเชิญลูกสาวแท้ๆของ Chaplin มาให้ร่วมแสดง นี่จึงเป็นการเคารพคารวะ และเสียดสีล้อเลียนพร้อมกันไปในตัว]

ข้อคิดของตอน The Cook’s Tale: ถึงตัวละคร The Tramp จะยิ่งใหญ่ในวงการภาพยนตร์ แต่ชีวิตจริงอย่าไปลอกเลียนแบบเลยนะ เอาตัวไม่รอดแน่ๆ

ตอนสี่ (ดัดแปลงจาก The Miller’s Tale) นักเรียนหนุ่ม Nicholas ต้องการเป็นชู้กับภรรยาของช่างไม้ทาสี John the Carpenter (รับบทโดย Michael Balfour) วันหนึ่งเสแสร้งหลอกลวง ทำราวกับพระเจ้าเข้าร่างทรง พูดบอกกับเขาว่าน้ำกำลังจะท่วมโลก ให้แขวนถังขนาดใหญ่บนเพดาน ขณะเดียวกันชายหนุ่ม-ภรรยาชู้ ก็แอบลักลับได้เสียขณะสามีเผลอ, พอดีกับชายหนุ่มอีกคน Absolon ลูกชายของช่างตีเหล็กที่ต้องการร่วมรักกับภรรยาช่างไม้เช่นกัน ขอที่จะจุมพิตเธอแต่โดนหันก้นตดใส่ ต้องการแก้แค้นเอาคืนแต่เป็น Nicholas ที่โดนแท่งไฟยัดตูดเข้าให้

นี่ก็เป็นอีกตอนที่ผมไม่ค่อยชื่นชอบสักเท่าไหร่ คล้ายกับตอน ขายไห+แปลงร่างเป็นลา ของ The Decameron (1971) นำเสนอความโง่เขลาเบาปัญญา หลงเชื่อคนง่าย มืดบอดในสิ่งใกล้ตัว แต่ไฮไลท์คงเป็นการกรรมสนองของชู้หนุ่ม โดนเข้าไปจดจำจนวันตาย

ข้อคิดของตอน The Miller’s Tale: อย่างหลงระเริงให้มันมากกับชีวิต เพราะเมื่อใดกรรมตามสนองย่อมได้รับการตอบแทนอย่างสาสม

ตอนห้า (ดัดแปลงจาก The Wife of Bath’s Tale): เรื่องราวของหญิงวัยกลางคน Bath (รับบทโดย Laura Betti ผู้แจ้งเกิดกับ La Dolce Vita กลายเป็นขาประจำของ Pasolini และผู้กำกับ Bernardo Bertolucci) แต่งงานมาแล้วสี่ครั้ง หมกมุ่นเรื่อง Sex อย่างจัดจ้าน สามีทั้งหมดของเธอต่างล้มป่วยหมดเรี่ยวจากการร่วมรักอย่างหนักจนสิ้นลม ซึ่งในวันงานศพเสร็จสิ้นก็จะรีบวิ่งไปเข้าพิธีแต่งงานใหม่โดยทันที แต่สำหรับสามีคนที่ห้า กางหนังสือพูดบอกว่าความหมกมุ่นของเธอดั่งปีศาจ ผลักเขาตกพื้นศีรษะกระแทกเสียชีิวิตอย่างน่าอนาจใจ

นี่เป็นช็อตหนึ่งที่เจ๋งมากๆ ก็ไม่รู้โรงนาหรือโบสถ์ แต่มันตั้งโด่เด่แหลมเฟี้ยวชี้ขึ้นฟ้า มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้อย่างแน่นอน

ข้อคิดของตอน The Wife of Bath’s Tale: สอนใจหญิงสาวผู้หมกมุ่นอยู่ในกามราคะ จริงอยู่มันน่าหลงใหล แต่คนอื่นมองเข้าไป … ก็เรื่องของเขาใช่ไหมละ ไม่เห็นเกี่ยวกับเราตรงไหน

ตอนหก (ดัดแปลงจาก The Reeve’s Tale): ที่มหาวิทยาลัย Cambridge นักเรียนสองคนขอครูผู้นอนอยู่บนเตียง ออกมาใช้ชีวิตอย่างอิสระในโลกกว้าง เดินทางสู่โรงโม่เพื่อบดขอบดรำข้าวให้กลายเป็นแป้ง แต่เจ้าของกลับแสร้งปล่อยม้าไปแล้วคดโกงเอาผงอย่างอื่นแอบใส่ร่วมด้วย ค่ำคืนนั้นผลกรรมเลยตอบสนอง เมื่อลูกสาวถูกนักเรียนคนหนึ่งลักร่วมรัก ภรรยาเดินขึ้นผิดเตียงเลยถูกผีผ้าห่ม ตื่นเช้ามาก็…

ถ้าไม่ติดว่ามีตอน The Friar’s Tale ก็คงเรื่องนี้ที่ผมชื่นชอบสุด ไม่เพียงสะท้อนเสียดสีความคอรัปชั่นของจิตใจคน แต่ยังย้อนศรเอาคืนสนองได้อย่างสาสมแก่ใจ

ข้อคิดของตอน The Reeve’s Tale: คิดดีทำดีได้ดี คิดชั่วทำชั่วสักวันย่อมต้องได้รับผลตอบแทน

ตอนเจ็ด (ดัดแปลงจาก The Pardoner’s Tale): เด็กเกรียนสี่คนกำลังร่วมรักโสเภณี สำเร็จความใคร่ออกมาฉี่ไล่รุกรานชาวบ้าน ทำให้ความตายเข้ามาพรากหนึ่งในพวกเขาจากไป อีกสามคนที่เหลือเลยต้องการล้างแค้นเอาคืน ออกติดตามหามาจนพบขุมทรัพย์ใต้ต้นใหม่หนึ่ง ส่งเพื่อนกลับไปให้นำอาหารมาแต่แอบวางยาเบื่อหนูเพื่อหวังฮุบสมบัติ กลับมาเริ่มดื่มฉลองอีกสองคนที่เหลือร่วมหัวกันรุมเข่นฆ่า สุดท้ายทั้งสามเลยได้พบเจอยมทูตความตายสาสมใจ

ช็อตสุดท้ายของตอนนี้ ถ่ายทำในลักษณะของภาพย้อนแสงยามเย็น พบเห็นเพียงความมืดมิดของทั้งสามขณะดื่มฉลองแล้วเข่นฆ่าแกงกัน ช่างเต็มไปด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา มักมากโลภละโมภไม่รู้จักพอ ฮอร์โมนวัยรุ่นแท้ๆเลยกระมัง

ข้อคิดของตอน The Pardoner’s Tale: ความโลภคือบ่อเกิดแห่งหายนะ

ตอนแปด (ดัดแปลงจาก The Summoner’s Tale): นักบวชคนหนึ่ง แสร้งทำเป็นขอเงินบริจากจากศิษยานุศิษย์ที่ป่วยหนักใกล้ตาย แต่กลับไม่ได้รับอะไรที่มีค่า ค่ำคืนนั้นหลับฝันมีเทพเทวดา นำพาเขาลงไปรับชมขุมนรกทั้ง 7 ให้ล่วงรู้ถึงผลกรรมของการกระทำชั่วจะได้รับผลเช่นไร

ผมไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่า นรก ในการตีความของผู้กำกับ Pasolini อ้างอิงจากศาสนาไหน แต่สังเกตจากหลายๆบริบทที่นำเสนอ ล้วนสะท้อนการกระทำของเรื่องราวต่างๆที่เล่ามา ตดใส่ผู้อื่นเลยต้องการศัยอยู่ในรูตูดยมทูต ปลิ้นขี้ถ่ายออกมา ช่างเป็นภาพที่บาดตาบาดใจแต่เจ๋งเป้งชิบหาย!

ข้อคิดของตอน The Summoner’s Tale: ไม่มีใครหลบหลีกหนีกฎแห่งกรรมและความตายได้พ้น

ตอนจบของหนังเมื่อตัดมาเป็นภาพนี้ (จากขุมนรก สู่หนทางขึ้นสรวงสวรรค์) คือ Canterbury Cathedral และบรรดาผู้แสวงบุญทั้งหลายที่หลั่งไหลเดินทางมาเคารพระศพของ Saint Thomas Becket

ถึงทั้งเก้าเรื่องราวจะไม่มีจุดร่วมที่สามารถมัดรวมใจความสำคัญได้ แต่สังเกตว่าล้วนมีความผิดปกติเกิดขึ้นทั้งนั้น อาทิ
– โกหก หลอกลวง ปลิ้นปล้น ทำผิดแต่กลับได้ดี (The Friar’s Tale, The Cook’s Tale)
– ใช้อำนาจควบคุมบงการ (The Friar’s Tale, The Reeve’s Tale)
– มืดบอดต่อความจริง ถูกบางสิ่งบดบังสายตา หลงคารมเชื่อผู้อื่นโดยง่าย (The Merchant’s Tale, The Miller’s Tale, The Pardoner’s Tale)
– หมกมุ่นมักมากในกิเลสตัณหาราคะ โทสะ โมหะ (The Merchant’s Tale, The Miller’s Tale, The Wife of Bath’s Tale, The Reeve’s Tale, The Pardoner’s Tale, The Summoner’s Tale)
ฯลฯ

เหล่านี้มองได้ทั้งเป็นข้อคิดเตือนสติสอนใจชาย-หญิง ขณะเดียวกันในมุมของผู้กำกับ Pasolini จงใจเสียดสีประชดประชันล้อเลียน ด่ากราดแบบไม่เจาะจงลงไปว่า ใคร-ที่ไหน-เมื่อไหร่-อย่างไร เหมารวมทั้งหมดคือปัญหาของมวลมนุษย์ อดีตเป็นเช่นไร ปัจจุบันไม่แตกต่างประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เฉกเช่นนี้แล้วอนาคต… จะไปคาดหวังอะไรได้เล่า

(ขี้เกียจเขียนนะครับ เลยคัทลอกจาก The Decameron เพราะใจความก็คล้ายคลึงกันเปะๆ)

Trilogy of Life ถือเป็นช่วงเวลาที่ Pasolini หมดสิ้นความคาดหวังในประเทศอิตาลี และผองพวกประชาชน/นักศึกษา กลุ่มการเมืองที่ตนเคยฝักฝ่ายเข้าค่างต่างอ่อนเรี่ยวแรงลงอย่างเห็นได้ชัด ไร้ซึ่งประโยชน์จะต่อสู้ดิ้นรนอีกต่อไป สร้างสรรค์สามผลงานนี้สะท้อนถึงวิถีวัฏจักรชีวิต อะไรเคยเกิดขึ้นผ่านมาถูกบันทึกไว้ในวรรณกรรมชิ้นเอก(ของโลก) ปัจจุบันยังคงเวียนวนเกิดขึ้นไม่ต่างจากเดิม

เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ารางวัล Golden Bear จริงๆถือว่าน่าผิดหวัง แต่เพราะสายประกวดปีนั้นอ่อนมากๆ โดดเด่นสุดนอกจากเรื่องนี้มีเพียง The Hospital (1971) ของ Arthur Hiller (คว้า Special Jury Prize) และ L’udienza (1972) ของ Marco Ferreri (คว้า FIPRESCI Prize) เท่านั้นเอง

ปัญหาของ The Canterbury Tales ที่ทำได้ไม่เทียบเท่า The Decameron (1971) คงเพราะเรื่องราวแต่ละตอนและภาพรวม แม้โจ๋งครึ่มมากขึ้นแต่ขาดความดึงดูดน่าสนใจ เริ่มต้นอย่างน่าผิดหวังกับ The Merchant’s Tale ทำให้ความคาดหวังลดลงฮวบฮาบ และจุดอ่อนคือ The Cook’s Tale ทำเอาผมหน้านิ่วคิ้วขมวดเป็นอย่างมาก

ไล่เรียงตามความชื่นชอบส่วนตัว The Friar’s Tale >  The Reeve’s Tale > The Pardoner’s Tale > The Summoner’s Tale =  The Wife of Bath’s Tale > The Merchant’s Tale > The Miller’s Tale > The Cook’s Tale

สำหรับสามเรื่องในไตรภาค Trilogy of Life ไล่เรียงตามความชื่นชอบ Arabian Night (1974) > The Decameron (1971) > The Canterbury Tales (1972)

แนะนำคอหนัง Period, Romantic, Comedy, เคยอ่านตำนานแคนเตอร์บรี นิทานสอนใจชาย-หญิง, แฟนๆผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini และนักแสดงขาประจำ Franco Citti, Ninetto Davoli ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือย และการกระทำสิ่งผิดศีลธรรมนานับประการ

TAGLINE | “Pier Paolo Pasolini เขียนแต่งตำนาน The Canterbury Tales จากจินตนาการความฝันของตนเองล้วนๆ”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: