The Cheat (1915)
: Cecil B. DeMille ♥♥♥♡
ผลงานแจ้งเกิด Sessue Hayakawa นักแสดงระดับ Superstar, Sex Symbol, Matinée Idol คนแรกของเอเชีย (ใน Hollywood) แต่ในบทบาทที่ไม่มีใครอยากจดจำสักเท่าไหร่ คือชู้รักที่ต้องการครอบครองหญิงสาว เมื่อไม่ได้ด้วยเงินก็จู่โจมด้วยกำลัง
เมื่อปี ค.ศ. 1905 ที่จักรวรรดิญี่ปุ่นสามารถสู้รบเอาชนะรัสเซียในสงคราม Russo-Japanese War (1904 – 1905) ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ชนชาวเอเชียสามารถมีชัยเหนือกว่ามหาอำนาจยุโรป จุดประกายหัวข้อข่าว “How Japanese Crowd Out the White Race” ลงหน้าหนังสือพิมพ์วางขายทั่วสหรัฐอเมริกา สร้างค่านิยมให้ประชาชนเกิดความหวาดสะพรึงกลัวต่อคนผิวเหลือง “Yellow Peril”
จริงๆก็ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ที่สหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย Chinese Exclusion Act (1882) [ซึ่งเหมารวมคนผิวเหลืองทั้งหมด ไม่ใช่แค่ชาวจีน] จุดประสงค์เพื่อกีดกั้นขวางชาวเอเชียที่อพยพย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน พยายามแสวงหาผลประโยชน์ในผืนแผ่นดินอเมริกัน เริ่มตั้งแต่ยุคขุดทอง (Gold Rush), ต่อมาจัดระเบียบสังคมให้เกิดชุมชน Chinatown, จำกัดอาชีพ ปริมาณแรงงาน, ห้ามครอบครองเป็นเจ้าของพื้นที่ดินทำกิน, หรือแม้แต่ Anti-Miscegenation ห้ามแต่งงานครองคู่อยู่ร่วมกับบุคคลต่างเชื้อชาติพันธุ์ ฯ
แต่เฉพาะกับญี่ปุ่นที่พอได้รับชัยชนะจากสงครามดังกล่าว เกิดการเจรจาข้อตกลง Gentlemen’s Agreement of 1907 ร่วมกับ ปธน. Theodore Roosevelt จับมือสร้างพันธมิตร พัฒนาความสัมพันธ์ ลดความขัดแย้งระหว่างกันในมหาสมุทรแปซิฟิก อนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นอพยพย้ายสู่ California เข้ามาศึกษาแลกเปลี่ยน ประกอบอาชีพการงาน อันเป็นจุดเริ่มต้นของ Sessue Hayakawa ออกเดินทางมาเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝันของตนเอง
เกร็ด: จุดสิ้นสุดของ Gentlemen’s Agreement of 1907 เกิดขึ้นเมื่อมีการออกกฎหมายใหม่ Immigration Act of 1924 ซึ่งใช้คำเหมารวมถึงชาวเอเชีย นั่นทำให้ความสัมพันธ์กับจักรวรรดิญี่ปุ่นขาดสะบั้น รอยร้าวแรกที่จะกลายเป็นบาดลึกช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
การได้รับโอกาสเข้ามาประกอบอาชีพทำกินของคนญี่ปุ่น ไม่ได้สร้างความพึงพอใช้ให้ชาวอเมริกันมากนัก เพราะอคติที่ถูกครอบงำ ปลูกฝัง เสี้ยมสั่งสอนมานาน มีหรือจะสามารถปรับเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืน หนึ่งในนั้นมีคำเรียกว่า ‘Sexual Fear’ มองความสัมพันธ์ข้ามเชื้อชาติพันธุ์คือสิ่งผิดปกติ (เหมือนมนุษย์กับสัตว์) ขัดต่อหลักศีลธรรมมโนธรรมในสังคม และยิ่งเมื่อคลอดบุตรออกมา จะส่งผลต่อความบริสุทธิ์ ฉุดคร่าอารยธรรมมนุษย์ให้ตกต่ำลง
Cecil Blount DeMille (1881 – 1959) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Ashfield, Massachusetts แม่มีเชื้อสาย Jews อพยพจาก German ส่วนพ่อเป็นอดีตนักแสดง เสียชีวิตจากไปตอนเขาอายุ 12 ปี คิดว่าตนเองคงมีพรสวรรค์เลยไปคัดเลือกนักแสดงละครเวที Broadway แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่ ร่วมกับพรรคเพื่อน Jesse Lasky, Sam Goldfish เดินทางสู่ Los Angeles (ติดตามรอย D. W. Griffith) บุกเบิก Hollywood ก่อตั้งสตูดิโอ Lasky Company สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Squaw Man (1914)
ความสนใจยุคแรกๆของ DeMille มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ Sex สะท้อนเสียดสีสังคม มีลายเซ็นที่พบเจอบ่อยๆ อาทิ หญิงสาวอาบน้ำ, ฮาเร็ม, สิงโตกระโจนเข้าโจมตี ฯ
‘Sexual Fear’ คือสิ่งที่ Demille เริ่มให้ความสนใจกับกับการเข้ามาถึงของชาวญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกา มอบหมายให้สองนักเขียนขาประจำ Hector Turnbull และ Jeanie Macpherson** ร่วมกันพัฒนาบทภาพยนตร์
ขอกล่าวถึงนักเขียน Jeanie MacPherson (1886 – 1946) สักหน่อยก่อนแล้วกัน! เธอเกิดที่ Boston, Massachusetts ในครอบครัวฐานะร่ำรวย ชื่นชอบหลงใหลการร้อง-เล่น-เต้น และแสดงละคร ใครสักคนแนะนำให้เธอรู้จักกับภาพยนตร์ มุ่งสู่ New York City จนมีโอกาสพบเจอ D. W. Griffith พบเห็นความมุ่งมั่นทะเยอทะยานเลยให้รับบทนำ Fatal Hour (1908) ระยะเวลาสิบปีเล่นหนัง 146 เรื่อง ครั้งหนึ่งมีโอกาสเขียนบท/กำกับ The Tarantula (1913) ทำให้ลุ่มหลงใหลในงานเบื้องหลัง เมื่อมีโอกาสพบเจอพูดคุย Cecil B. DeMille แนะนำว่า
“I am not interested in star MacPherson but I am in writer MacPherson”.
– Cecil B. DeMille
เกร็ด: DeMille และ MacPherson ได้กลายเป็นขาประจำร่วมงาน ที่ทรงอิทธิพลแห่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เธอพัฒนาบทให้เขากำกับถึง 30 เรื่อง!
เรื่องราวของ Edith Hardy (รับบทโดย Fannie Ward) นักสังคมหัวสูง ชื่นชอบการสังสรรค์ จับจ่ายใช้สอยอย่างสุหรุ่ยสุหร่าย ครุ่นคิดว่าสามี Richard Hardy (รับบทโดย Jack Dean) สามารถตอบสนองได้ทุกสิ่งอย่าง แต่ขณะนั้นเพราะกำลังลงทุนในธุรกิจ เรียกร้องขอให้ใจเย็นๆ เธอกลับใจร้อนหูเบานำเงินการกุศลจาก Red Cross ไปใช้จ่ายแล้วถูกโกงหมดตัว! ความเข้าหูชู้รักที่กำลังคบหา Hishuru Tori/Haka Arakau (รับบทโดย Sessue Hayakawa) อาสาเซ็นเช็คให้การช่วยเหลือ แต่ด้วยข้อเรียกร้องเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น สร้างความหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัว ต้องการบอกปัดแต่มิอาจตอบปฏิเสธ
Sessue Hayakawa ชื่อเกิด Kintaro Hayakawa (1886 – 1973) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Minamibōsō, Chiba ครอบครัวทำธุรกิจประมง ต้องการให้เขาเป็นทหารเรือสังกัด Imperial Japanese Navy แต่ระหว่างฝึกทหารดำน้ำลึกแก้วหูแตก รู้สึกอับอายขายขี้หน้าเลยต้องการกระทำ Seppuku หลังจากแทง 30 ครั้ง รอดตายมาได้เพราะหมาเห่าไม่หยุด พ่อออกมาเห็นช่วยไว้ทันพอดี
หลังจากยินยอมรับโชคชะตากรรมตนเองได้ อพยพย้ายไปเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง University of Chicago มุ่งหมายเป็นนายธนาคาร แต่ก่อนกลับบ้านแวะท่องเที่ยวยัง Los Angeles พบเห็นโรงละครเวที Japanese Theatre ณ Little Tokyo เกิดความลุ่มหลงใหลในการแสดง ขอสมัครและได้แสดงนำโปรดักชั่นชื่อ The Typhoon สร้างความประทับใจอย่างมาก หนึ่งในเพื่อนนักแสดงแนะนำให้รู้จักโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ Thomas H. Ince เล่นหนังเงียบเรื่องแรกก็จากละครเวทีเรื่องนั้น The Typhoon (1914) ได้รับความนิยมขึ้นมาทันที, ติดตามด้วย The Wrath of the Gods (1914), The Sacrifice (1914), สะสมชื่อเสียงจนกระทั่งได้เซ็นสัญญา Famous Players-Lasky (ปัจจุบันคือ Paramount Pictures) ซึ่งผลงานลำดับสอง The Cheat (1915) ส่งให้เขากลายเป็น Superstar
รับบท Hishuru Tori/Haka Arakau พ่อค้างาช้าง ประสบความสำเร็จร่ำรวยเงินทอง ชื่นชอบสะสมวัตถุโบราณมากมายเต็มบ้าน ตกหลุมรัก Edith Hardy แม้เธอจะแต่งงานมีสามีแล้ว พยายามใช้มารยาเสน่ห์ยั่วยวนหยอกเย้า รูปหล่อคารมไม่ได้ ก็ต่อรองจากหนี้สิน และท้ายสุดใช้กำลังเข้าข่มขืน ตีตราประทับให้เธอคือของๆฉัน
เกร็ด: ฉบับแรกที่ออกฉายตัวละครชื่อ Hishuru Tori เป็นชาวญี่ปุ่น แต่พอออกฉายถูกทางการ(ญี่ปุ่น)ต่อต้านรับไม่ได้ เรียกร้องขอให้ปรับเปลี่ยน แถมแบนห้ามฉาย ซึ่งช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรญี่ปุ่น ผู้กำกับ DeMille ปรับเปลี่ยนแปลงชื่อตัวละครและสัญชาติ กลายเป็น Haka Arakau ชาวพม่า (สาเหตุเพราะไม่ค่อยมีชาวพม่าในอเมริกา คงหาคนประท้วงเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้อีก!)
เพียงความหล่อเหลาของ Hayakawa ก็กระชากใจสาวๆชาวอเมริกันไปเต็มๆ แม้มักได้รับบทตัวร้าย Type-cast โหดโฉดชั่วอันตรายสักเพียงไหน แต่เวลาฉายหนังรอบปฐมทัศน์ทีไร รถลีมูนซีนจะถูกรายล้อมด้วยอิสตรี พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สับผัส ศิโรราบ สยบแทบเท้า!
แต่ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์เท่านั้นที่โดดเด่น Hayakawa ยังโอบรับวิถี Zen เข้ามาปรับประยุกต์ในการแสดง (คงเพราะเขาเคยคิดสั้นฆ่าตัวตาย นี่คือสิ่งได้รับหลังจากการกระทำดังกล่าว) กล่าวคือ นักแสดงยุคหนังเงียบส่วนใหญ่นั้น มักมีการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย กวัดไหวแขนขา เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาให้ดูเว่อวังอลังการ (สไตล์ German Expressionism) การแสดงของ Hayakawa มีคำเรียกว่า ‘absence of doing’ คือจะไม่ทำอะไรตระการตาขนาดนั้น มุ่งเน้นนำเสนอสิ่งที่อยู่ภายในผ่านสีหน้า สายตา เลิศยักคิ้วเล็กน้อยก็สามารถรับรู้ได้ทุกอย่างแล้ว
นั่นเองทำให้ Hayakawa ได้รับการยกย่องว่าเป็น Superstar, Sex Symbol, Matinée Idol ไม่ใช่แค่คนแรกของเอเชีย แต่วงการภาพยนตร์เลยละ! (แต่ Hollywood ไม่ค่อยยินยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวนะครับ เพราะ Hayakawa ไม่ใช่ชาวอเมริกัน!)
ช็อตแรกของ Hayakawa เมื่อแนะนำตัวละคร ถ้าใครได้รับชมฉบับลงสี จะพบเห็นโทนแดงซึ่งแสดงถึงอันตราย ความชั่วร้าย ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ (และความมืดมิดที่ปกคลุมรอบด้าน เรียกได้ว่าปีศาจเลยละ!)
Fannie Ward หรือ Fanny Ward ชื่อจริง Fannie Buchanan (1872 – 1952) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ St. Louis, Missouri ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการแสดง แสดงละครเวที Broadway ประสบความสำเร็จโด่งดัง ขนาดว่าเคยล่องเรือไป London เพื่อเปิดการแสดงยัง West End แต่หลังจากแต่งงานกับมหาเศรษฐีค้าเพชร รีไทร์ออกจากวงการไปชั่วขณะหนึ่ง ว่ากันว่าเหตุผลที่หวนกลับมา เพราะธุรกิจสามีล้มละลาย ไม่นานก็เลิกราหย่าร้าง
แม้ยังสวยไม่สร่าง แต่อายุที่ย่างเข้าเลขสี่ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จด้านการแสดงเฉกเช่นกาลก่อน กระทั่งถูกซี้เซ้าโดย Cecil B. DeMille ให้มาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Cheat (1915) ค้นพบหนทางไปต่อโดยทันที
รับบท Edith Hardy สาวสังคมหัวสูง ชื่นชอบการสังสรรค์ จับจ่ายใช้สอยอย่างสุหรุ่ยสุหร่าย (นี่มันสะท้อนชีวิตจริงเธอเลยนะเนี่ย!) แม้กำลังคบชู้กับ Hishuru Tori/Haka Arakau แต่กลับไม่เคยเกินเลย คงยังรักสามีมาก (Jack Dean คือสามีตัวจริงคนที่สองของ Ward) แสดงออกทุกอย่างเพียงเพื่อร้องเรียกความสนใจ กระทั่งครั้งหนึ่งเผลอหูเบาใช้จ่ายเงินปริมาณมหาศาลของ Red Cross วิธีการเดียวจะเอาตัวรอดนั่นคือเสียสละเรือนร่างกายตนเอง
คงต้องถือว่า Ward แสดงบทบาทนี้จากประสบการณ์ตนเองล้วนๆ เลิศเชิดหยิ่ง หัวสูง ทะนงตน เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ซึ่งนั่นคือความโง่เขลา ไร้เดียงสา (แต่ไม่ถือว่าอ่อนวัยเยาว์แล้วนะ!) ซึ่งผลจากพฤติกรรมดังกล่าวได้รับตอบสนองอย่างสาสม ตกอยู่ในอาการซึมเศร้า คลุ้มคลั่ง ท้ายสุดแทบเสียสติแตกรับไม่ได้ เพราะทั้งหมดล้วนเกิดจากความผิดของตนเองทั้งนั้น จะให้สามีมารับโทษแทนได้เช่นไร!
จริงอยู่ที่ Ward ได้แจ้งเกิดจากภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่การแสดงเธอที่รับอิทธิพลจากละครเวที ถูกกลบโดย Hayakawa ที่มีความสง่างาม ด้วยสไตล์ใหม่เอี่ยมกว่า (เรียกได้ว่า แตกต่างขั้วตรงข้าม) แม้หลังจากนี้จะมีผลงานติดตามมากว่า 20 เรื่อง แล้วถึงรีไทร์ ผลงานส่วนใหญ่กลับสูญพันธุ์ (Extant) ไปแทบหมดสิ้น
ถ่ายภาพโดย Alvin Wyckoff (1877 – 1957) ตากล้องขาประจำของในยุคหนังเงียบของ Demille ซึ่งยังร่วมกันพัฒนาเทคนิค Lasky-lighting จัดแสงเพื่อเพิ่มความสมจริงให้กับเรื่องราว
ก็ตั้งแต่การแนะนำตัว Hishuru Tori/Haka Arakau ที่มีการใช้อย่างแสงสว่าง-ความมืดมิด เพื่อสร้างบรรยากาศอันตราย แลดูน่าหวาดสะพรึงกลัว ตัวละครซ่อนเร้นไปด้วยลับลมคมใน
ขณะที่ไฮไลท์ของหนังคือช็อตนี้ เงาของสองตัวละครฉายบนฉากสีขาว ลวดลายเหมือนบานประตูเลื่อนของญี่ปุ่น ซึ่งสามารถสะท้อนเหตุการณ์มองจากสองมุมมอง
– ทางฝั่ง Hishuru/Haka กับ Edith พบเห็นเงาของสองบุคคลที่มีความสำคัญต่อพวกเขา สะท้อนถึงสถานะพวกเขา หลบซ่อนตัวอยู่เบื้องหลัง ไม่เปิดเผยออกไป
– ทางฝั่ง Richard จะมองไม่เห็นชู้รักคู่นี้ที่หลบซ่อนตัวอยู่ในความมืดมิด มิได้สนใจหรือให้ความสำคัญใดๆ (ในขณะนั้น)
ฉากในคุกก็เช่นกัน แสงไฟสาดส่องซี่กรงขังซ้อนทับใบหน้าตัวละคร และส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยความมืดมิดสนิท … นี่กลิ่นอายหนังนัวร์เลยนะเนี่ย!
ตัดต่อโดย Cecil B. DeMille, ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Edith Hardy เป็นหลัก เพราะเธอคือบุคคลพานผ่านเหตุการณ์ต่างๆ เกิดการปรับเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความครุ่นคิด การแสดงออกที่สุดแล้ว
ผู้กำกับ DeMille พยายามลดการใช้ Title Card ให้น้อยที่สุด นอกจากบงบอกสถานที่ เหตุการณ์ และบทสนทนาสำคัญๆของตัวละคร อะไรที่มันไร้ความจำเป็นก็ปล่อยให้ภาษาภาพดำเนินไป ถือว่ามีความลงตัวเพียงพอดีอย่างยิ่ง
The Cheat มีความหมายทั้งการโกง หลอกลวง และยังลักลอบเป็นชู้ นอกใจคนรัก ซึ่งหนังเหมารวมแทบครบทุกนัยยะเลยละ
– Edith ลักลอบคบหา Hishuru/Haka ทำเป็นนอกใจสามีเพื่อเรียกร้องความสนใจ
– Edith นำ(โกง)เงิน Red Cross จำนวน $10,000 เหรียญ ไปลงทุนจากคำชักชวนของเพื่อน แต่ผลลัพท์ดูยังไงก็เหมือนถูกโกงเสียมากกว่า!
– Hishuru/Haka เมื่อต่อรองราคากับ Edith ถูกโกงเพราะพยายามชดใช้หนี้วิธีการอื่น นั่นสร้างความไม่พึงพอใจให้เขาอย่างมาก
– Richard หลอกลวงต่อศาลและลูกขุน อ้างว่าตนเองเป็นผู้ยิง Hishuru/Haka
ฯลฯ
ซึ่งการให้ตัวละคร Hishuru Tori/Haka Arakau ที่มีสัญชาติเอเชีย แท้จริงแล้วคือผู้ล่า ‘Sexual Predator’ นักข่มขืน ‘Raptist’ เป็นการสะท้องมุมมองโลกทัศนคติของชาวตะวันออก เห็นธาตุแท้ ตัวตน ชนผิวเหลือง เต็มไปด้วยความป่าเถื่อน ไร้อารยะธรรม แทนสัญลักษณ์ของการครอบครองโลก ทำตัวสูงส่งเหนือกว่าคนขาว
เอาจริงๆผมไม่รู้หรอกนะว่า ชาวเอเชีย ญี่ปุ่น จีน ฯ ยุคสมัยนั้นมีความต้องการเป็นหมาอำนาจ ครองโลก จริงๆอย่างที่ภาพยนตร์ยุคสมัยนั้นเสี้ยมสอน ปลูกฝัง ชวนเชื่อ แต่มองในมุมกลับกันสามารถสะท้อนได้ถึง ‘ความหวาดสะพรึงกลัว’ เพราะการไม่เคยรับล่วงรู้จักตัวตนอีกฝ่าย ไม่รู้เขารู้เรา จะไปสามารถสู้รบต่อกรกันได้อย่างไร
แผนการพันธมิตรญี่ปุ่นของสหรัฐอเมริกายุคสมัยนั้น ก็เพื่อที่จะเรียน ‘รู้จักเขาจักเรา’ เข้าใจวัฒนธรรม ธาตุแท้ ตัวตนของอีกฝั่งฝ่าย เมื่อใดเกิดความขัดแย้ง เห็นต่าง สงครามปะทุขึ้น จักสามารถต่อกร สู้รบ คว้าชัยชนะ ประเทศชาติจะไม่จบสูญสิ้น ถูกกลืนกืน หรือกลายเป็นเมืองขึ้นอาณานิคมใคร
เมื่อมองมุมเขา-มุมเรา ต่างก็มีเหตุผลความถูกต้องของตนเอง หวาดสะพรึงกลัวในสิ่งไม่เข้าใจ ทะนงว่าเชื้อชาติพันธุ์ฉันยิ่งใหญ่ ต้องการชัยชนะเมื่อขัดแย้ง … วิถีของมนุษย์ช่างวุ่นวายโดยแท้
สำหรับ Hayakawa ในมุมคนญี่ปุ่นส่วนน้อยที่ชื่นชม แต่ส่วนใหญ่ไม่ยินยอมรับ โดยเฉพาะ The Cheat ต่างส่ายหัวรับไม่ได้ มีคำเรียกว่า ‘Kukojoku Eiga’ หมายถึงการดูหมิ่นเชื้อชาติ สร้างความอับอายให้ขายขี้หน้า … จนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในประเทศ
Hayakawa ก็รับรู้ตนเองว่าไม่เป็นที่พึงพอใจต่อชาวญี่ปุ่นสักเท่าไหร่ เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายในบทบาท Type-Cast ของตนเอง ก็ได้ระดมทุน หยิบยืมเงินพรรคพวกฝูง ก่อตั้งสตูดิโอ สร้างภาพยนตร์ที่สามารถควบคุมอะไรๆได้เอง … แต่ก็แน่นอนว่าไม่ได้รับความนิยมมากสักเท่าไหร่
การมาถึงของยุคหนังพูด ทำให้ชื่อเสียงของ Hayakawa ถดถอยหลังไปอย่างมาก แต่ก็ได้กลายเป็นตำนานครั้งหนึ่งกับบทสมทบ The Bridge on the River Kwai (1957) ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor และหลังจากภรรยาเสียชีวิต หวนกลับญี่ปุ่น บวชพระนิกายเซ็น ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสุขสงบ
รายงานทุนสร้างกับรายรับของหนัง มีสองแหล่งที่ตัวเลขไม่ตรงกัน
– ทุนสร้าง $17,311 เหรียญ, ทำเงินในสหรัฐอเมริกา $96,389 เหรียญ, และทั่วโลกอีก $40,975 เหรียญ
– อีกแหล่งจากหนังสือ Empire of Dreams: The Epic Life of Cecil B. DeMille ทุนสร้าง $16,540 เหรียญ ทำเงินทั้งหมด $137,364 เหรียญ
อาจดูเป็นตัวเลขที่น้อย แต่เงินหมื่นยุคสมัยนั้นประมาณก็หลายสิบล้านในปัจจุบัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม ถึงขนาดทำให้ Hayakawa จากค่าตัว $500 เหรียญต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นเป็น $5,000 เหรียญต่อสัปดาห์ ได้ในช่วงพริบตา!
สองสิ่งที่ผมสนใจมากๆเกี่ยวกับหนัง และทำออกมาดีมากๆ
– การแสดงของ Sessue Hayakawa ที่ถือว่าประดิษฐ์สไตล์ของตนเองได้อย่างเป็นเอกลักษณ์ หล่อ เท่ห์ สมตำนานลือเล่าขาน
– และไดเรคชั่นผู้กำกับ Cecil B. DeMille เต็มไปด้วยลูกเล่นลูกชน ถือว่าก้าวล้ำยุคสมัยนั้นมากๆ
แต่ใช่ว่าหนังไม่มีตำหนินะครับ ผมค่อนข้างผิดหวังกับตอนจบที่ถือว่าเป็น Hollywood-style แบบเข้าข้างตนเองสุดๆ ทำให้ประเด็น Racism โดดเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจนเลย
จัดเรต 13+ กับความพยายามข่มขืน ใช้กำลังรุนแรง และตัวละครมีสภาพเสียสติ
Leave a Reply