The Circus (1928) : Charlie Chaplin ♥♥♥♥
นี่เป็นภาพยนตร์กึ่งอัตชีวประวัติของผู้กำกับ Charlie Chaplin ที่เคยทำงานในคณะละครสัตว์ แต่ไม่ได้เล่นกายกรรมหรืออยู่ในกรงสิงโตนะครับ เป็นการเปรียบเทียบกับการแสดงภาพยนตร์เฉยๆ และตอนจบที่เมื่อทุกคนออกเดินทางทิ้ง Little Tramp ไว้เบื้องหลัง นั่นคืออารมณ์ตัดพ้อต่อการเปลี่ยนยุคสมัยจากหนังเงียบไปเป็นหนังพูด แล้วเหลือทิ้งเขาไว้คนเดียว
Charlie Chaplin มีความสนใจสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับคณะละครสัตว์มาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 20s แต่กว่าจะได้เริ่มก็ปี 1925 หลังเสร็จจาก The Gold Rush (1925) พัฒนาขึ้นที่ Charlie Chaplin Studios ของตนเอง โดยนำเอาแนวคิดและพล็อตจากหนังสั้นเรื่อง The Vagabond (1916) ที่เคยสร้าง แค่เปลี่ยนจากนักดนตรีมาเป็นนักแสดงตลก/กายกรรมแทน
Chaplin มีความชื่นชอบหลงใหลชื่นชม Max Linder นักแสดงตลกสัญชาติฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก (ชายคนนี้ถือว่าเป็น Comedian ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุโรปเลยละ) แต่เขาด่วนเสียชีวิตไปในเดือนตุลาคม 1925 ซึ่งภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย The King of the Circus (1925) นักวิจารณ์ที่มีโอกาสได้รับชมสมัยนั้นต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความคล้ายคลึงกับหนังเรื่องนี้อย่างมาก [แต่เชื่อว่าฟีล์มสูญหายไปแล้ว]
การถ่ายทำเริ่มต้น 11 มกราคม 1926
– หลังถ่ายทำได้ 1 เดือนก็พบว่า ฟีล์ม Negative ที่ใช้ถ่ายทำใช้ไม่ได้จึงต้องเริ่มถ่ายทำกันใหม่
– ถ่ายทำไปถึงเดือนกันยายนเกิดไฟไหม้ที่สตูดิโอ เต้นท์ละครสัตว์ที่สร้างขึ้นและฟีล์มบางส่วนสูญไปกับกองเพลิง
– เดือนธันวาคม Chaplin ถูกภรรยาคนล่าสุด Lita Grey ที่เพิ่งแต่งงานกันปี 1924 ยื่นฟ้องหย่า ขึ้นโรงขึ้นศาลกว่าจะดำเนินคดีเสร็จ ล่าช้าไปอีกหนึ่งปีเต็ม เสียเงินให้เธอไป $1 ล้านเหรียญ
– ปี 1928 แม่ของ Chaplin ล้มป่วยหนักจนเสียชีวิต
นี่ถือเป็นภาพยนตร์ที่ระหว่างสร้างเต็มไปด้วยปัญหามากมาย ยิ่งความสมบูรณ์แบบของ Chaplin ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น perfectionist เห็นว่าถ่ายฉากไต่เชือกและในกรงสิงโตไม่ต่ำกว่า 200 เทค แต่เมื่อฟีล์มใช้ไม่ได้/สูญหายไปกับกองเพลิง ก็ต้องเริ่มต้นทุกอย่างใหม่หมด, ครั้งหนึ่งเคยออกมาพูดว่า ฟุตเทจที่สูญหายไปหลายช็อตยอดเยี่ยมกว่าที่เห็นในหนังเสียอีก
The Circus เป็นเรื่องราวจับพลัดจับพลูของ Tramp เริ่มต้นจากความไม่ตั้งใจวิ่งหนีตำรวจ (เพราะคิดว่าตนเองคือหัวขโมย) ผ่านห้องที่เต็มไปด้วยกระจก (ค้นหาตัวเอง), ทางเดินที่เคลื่อนสวนไปมา (สู้ชีวิต/ฝืนธรรมชาติ) และผ่านเวทีการแสดงของคณะละครสัตว์แห่งหนึ่ง การกระทำของเขาเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมอย่างยิ่งโดยไม่รู้ตัว ถึงขนาดเจ้าของคณะจำต้องติดต่อซื้อตัวไว้ เพื่อใช้เป็นผู้เรียกคนดู
ชีวิตวัยเด็กของ Charlie Chaplin ต้องต่อสู้กับความยากลำบาก ครอบครัวยากจน ไม่มีการงานทำ สวมเสื้อผ้าขาดแหว่ง ไม่มีเงินกินข้าว บางครั้งต้องวิ่งราวขโมยขนมปังเพื่อประทังชีพ, ตอนอายุ 13-14 ได้มีโอกาสกลายเป็นนักแสดงเล่นเต้น และเหมือนว่าจะมีความสามารถ (talent) มากเสียด้วย เข้าร่วมขณะละครสัตว์ Casey’s Circus ออกทัวร์ทั่วประเทศอังกฤษ สร้างการแสดงของตนเองด้วยการเล่นบทล้อเลียนคนอื่นไปทั่ว จนได้รับความนิยมสูงสุดในคณะ, ปี 1913 ระหว่างที่ออกทัวร์ทั่วโลกกับ Fred Karno ได้รับคำชักชวนจาก New York Motion Picture Company ให้มาเป็นนักแสดงแทนที่ Fred Mace ของ Keystone Studios เซ็นสัญญาได้เงินเดือน $150 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ (=$3,635 ในปี 2017) มีภาพยนตร์เรื่องแรก Making a Living (1914) แต่นี่ยังไม่ใช่ Little Tramp ที่ผู้ชมคุ้นเคยกันนะครับ
ภาพยนตร์ลำดับที่สอง Kid Auto Races at Venice (1914) ครั้งแรกในการสวมบทบาท Little Tramp ใส่เสื้อผ้าขาดหวิ่น รองเท้าใหญ่ๆ ไว้หนวดจิ๋ม ถือไม้เท้า และสวมหมวกเล็กๆ
“I wanted everything to be a contradiction: the pants baggy, the coat tight, the hat small and the shoes large … I added a small moustache, which, I reasoned, would add age without hiding my expression. I had no idea of the character. But the moment I was dressed, the clothes and the makeup made me feel the person he was. I began to know him, and by the time I walked on stage he was fully born.”
เกร็ด: จริงๆภาพยนตร์เรื่องแรกที่ Chaplin สวมบท Little Tramp คือ Mabel’s Strange Predicament (1914) ที่ถ่ายก่อน Kid Auto Races at Venice (1914) แต่ออกฉายหลัง 2 วัน
ในคณะละครสัตว์ Tramp ได้พบกับหญิงสาวนักกายกรรมคนหนึ่ง (รับบทโดย Merna Kennedy เธอเป็นเพื่อนของ Lita Grey ที่อ้างว่า Chaplin ล่อลวงเธอในกองถ่าย ทำให้ภรรยาต้องฟ้องหย่า) ตกหลุมรักหลงใหล แต่เพราะเธอดันไปชอบกับชายคนหนึ่ง Rex (รับบทโดย Harry Crocker) นักไต่เชือก, เมื่อ Tramp รู้เข้า เขาเลยพยายามที่จะเลียนแบบ ด้วยการฝึกตัวเองให้กลายเป็นนักไต่เชือก เผื่อว่าเธอจะได้ตกหลุมรักเขา
เราสามารถเปรียบเทียบการแสดงในคณะละครสัตว์ของหนังเรื่องนี้ ได้กับภาพยนตร์ทั้งหลายที่ Chaplin นำแสดง ช่วงแรกๆจะว่ามันคือการจับพลัดจับพลูก็ได้ โดยไม่รู้ตัวมีได้รับความนิยม มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ แต่การจะรักษาฐานคนดู มันจำเป็นต้องเพิ่มความหวาดเสียว อันตราย รุนแรงมากๆยิ่งขึ้นไป ถึงยังจะได้รับความชื่นชม ชื่นชอบ ประทับใจต่อไป
การแสดงยิงธนูใส่แอปเปิ้ล: มีนัยยะถึงการพุ่งมุ่งไปสู่เป้าหมาย แต่แอปเปิ้ลแล้วไง ใครมันจะโง่เชื่อใจคนยิง ก็หยิบมากินเสียเลยจะไปยงไปยิงมันทำไมให้เสียของ (แต่ปรากฎว่าแอปเปิ้ลนั้นกลับกินไม่ได้เสียอย่างงั้น)
การแสดงช่างตัดผมสองคนแข่งกันเรียกลูกค้า: มีนัยยะถึงการต่อสู้แข่งขัน ผมค่อนข้างเชื่อว่า Chaplin ต้องการแซงถึงคู่แข่งตลอดกาลของเขา Buster Keaton ผมคือส่วนบนสูงสุดของร่างกาย หรือจุดสูงสุดของชีวิต/อาชีพการงาน (แข่งกันว่าใครจะได้ตัด/ไปถึงก่อน)
เข้าไปอยู่ในกรงสิงโต: ราชสีห์คือเจ้าป่าผู้ยิ่งใหญ่ หรือ King นี่น่าจะมีนัยยะถึง Max Linder เป็นแน่, มันมีสำนวนว่า เสือหลับอย่าไปแหย่ เพราะอาจโดนขม้ำจับกินได้ ซึ่งสิ่งที่ Tramp ทำ มันคือเหมือนการเล่นแหย่กับเสือ (เหมือนเล่นกับไฟ) สร้างความท้าทายในขณะเดียวกันก็ให้ความเคารพ
การแสดงกายกรรมบนเส้นเชือก, ชีวิตก็เหมือนเดินอยู่บนเส้นด้าย(เส้นเชือก) รอบข้างเต็มไปด้วยอันตรายและความยากลำบาก ผิดพลาดตกลงมาตาย (แต่เชื่อว่ามีตาข่ายรองไว้ข้างล่างแน่ เพราะมุมกล้องไม่ได้ถ่ายให้เห็นพื้นเลย) สิ่งที่ Chaplin แสดงบนนั้น เขามีตัวช่วยเป็นสลิง ทำให้สามารถเล่นสนุก ผาดโผน หลงระเริงไปกับมันได้โดยไม่ต้องวิตก แต่วินาทีที่ตัวช่วยขาด จะเห็นว่าเชือกสั่นรุนแรงอันตรายยิ่ง (ชีวิตที่ไม่เหลือผู้ช่วยเหลือสนับสนุนแล้ว ย่อมแกว่งไกวไม่แน่ไม่นอน) ก็เหลือแค่จะยังมีสติเอาตัวรอดมาได้หรือเปล่า
ขอข้ามไปตอนท้ายของหนังเลยนะครับ เมื่อการแสดงจบลง คณะละครสัตว์เตรียมขนย้ายข้าวของเพื่อไปเปิดการแสดงต่อที่อื่น นี่มีนัยยะถึงการหมดยุคสมัยของหนังเงียบ เหตุเกิดจาก The Jazz Singer (1927) ภาพยนตร์พูด talkie เรื่องแรกของโลก ขณะออกฉายได้เสียงตอบรับประสบความสำเร็จล้นล้าม ทำให้สตูดิโอผู้สร้างหนังหลายคนต่างตัดสินใจโอบรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ แต่ไม่ใช่กับ Chaplin ที่ถึงขนาดพยากรณ์ว่า ‘ไม่เกิน 2 ปี เดี๋ยวคนก็เลิกเห่อ’ แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อหนังพูดได้กลายเป็นอนาคตของวงการภาพยนตร์โดยสมบูรณ์แบบ ทิ้งให้ Chaplin คือคนสุดท้ายที่ยังคงเชื่อมั่นในหนังเงียบอยู่
ตัวละคร Tramp ตัดสินใจเป็นพ่อสื่อให้กับหญิงสาวที่เขาแอบชอบ ได้แต่งงานกับ Rex หนุ่มนักไต่เชือกที่จีบกันมานาน แล้วให้พวกเขาออกเดินทางด้วยกันไปต่อ ส่วนตัวเองยืนมองอยู่ห่างๆ ขณะที่ขบวนคณะละครสัตว์วิ่งผ่านไป ทิ้งเขาไว้อยู่เบื้องหลังเพียงลำพัง
สำหรับเพลงประกอบ ต้นฉบับจริงๆไม่มีนะครับ แต่เพราะเวลาผ่านไปจึงมี 2 ฉบับที่ได้ยิน
– ปี 1947 โดย Hanns Eisler แต่เรียบเรียงเพลงประกอบให้ โดยตั้งชื่อว่า Septet No. 2 (‘Circus’) ประกอบด้วย flute, piccolo, clarinet, basson, และเครื่องสาย 4 ประเภท
– ปี 1967 Chaplin ในวัยเกือบๆ 80 ร่วมกับ Eric James และ Lambert Williamson ได้ทำเพลงประกอบใหม่ให้กับหนัง รวมถึงร้องเพลงเปิดเองด้วยที่ชื่อ Swing Little Girl
เกร็ดไร้สาระ: เมื่อเดือนตุลาคม 2010 มีคลิปหนึ่งจากหนังเรื่องนี้ได้รับการส่งต่อใน Social Media ที่คิดว่าเป็นภาพนักท่องเวลาถือโทรศัพท์มือถือเดินผ่านหน้ากล้อง แต่จริงๆแล้วที่หญิงสาวคนนั้นถืออยู่ ว่ากันว่าอาจคือเครื่องช่วยฟังของ Siemens นะครับ เป็นผู้ชมสมัยนี้ที่มโนกันไปเอง ลองเช็คในคลิปดูก็ได้นะครับ
เมื่อหนังฉาย The Circus เป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดอันดับ 7 ในยุคหนังเงียบ รายรับในอเมริกาสูงถึง $3.8 ล้านเหรียญ ได้รับคำชมอย่างล้นหลามถึงขนาดว่าในงานประกาศรางวัล Oscar ครั้งแรกนั้น มีชื่อเข้าชิงเป็นตัวเต็งถึง 4 สาขา คือ
– Outstanding Picture
– Best Director, Comedy Picture
– Best Actor (Charlie Chaplin)
– Best Writing (Original Story)
แต่เพราะผู้จัดตัดสินใจมอบรางวัล Honorary Award ในฐานะ ‘for writing, acting, directing and producing The Circus.’ จึงตัดสิทธิ์การเข้าชิงทั้ง 4 สาขาออกไปหมดเลย
เกร็ด: ในปีนั้นมี Honorary Award 2 รางวัล นอกจากของ Chaplin คือ Darryl F. Zanuck ในการสร้างหนังพูดเรื่องแรก The Jazz Singer (1927)
ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ เพราะไม่มีฉากไหนประทับใจที่ทำให้หัวเราะหนักเป็นพิเศษเหมือน The Gold Rush, City Light, Modern Times และการที่หนังตีความได้เป็นชีวประวัติ ทำให้ขาดความน่าสนใจบางอย่าง บางคนอาจชื่นชอบ Chaplin น้อยลงด้วยซ้ำเมื่อชมหนังเรื่องนี้
แนะนำกับคอหนังเงียบ ชื่นชอบ Slapstick Comedy การแสดงของคณะละครสัตว์ และแฟนๆ Charlie Chaplin ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต PG กับความหวาดเสียวและอันตราย ที่ต้องแนะนำไม่ให้เด็กๆลอกเลียนแบบ
[…] The Circus (1928) : Charlie Chaplin ♥♥♥♥ […]
[…] The Circus (1928) : Charlie Chaplin ♥♥♥♥ […]