The Color of Paradise

The Color of Paradise (1999) Iranian : Majid Majidi ♥♥♥♥

เด็กชายแม้พิการตาบอด แต่สามารถสัมผัสและได้ยินเสียงที่คนทั่วไปเพิกเฉยไม่ใส่ใจ ราวกับว่านั่นคือสีสันของสรวงสวรรค์ ที่พระเจ้าอำนวยอวยพรให้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ความพิการนั้นมีสองระดับ
– (ลูก)พิการทางกาย แม้ตลอดชั่วชีวิตจักต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น แต่ถ้าจิตใจไม่ย่นย่อท้อแท้ ยินยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคร่างกาย ย่อมสามารถต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดได้ไม่ยาก
– (พ่อ)พิการทางใจ จะทำให้ชีวิตจมปลักกับบางสิ่ง ทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จเพราะมันแต่โทษโชคชะตาและคนรอบข้าง แท้จริงแล้วคือตนเองนะแหละมัวแต่หมกมุ่นครุ่นยึดติด ไม่ลุกขึ้นมาเผชิญหน้าก้าวเดินต่อไปในชีวิต

จริงๆถ้า The Color of Paradise ไม่ข้องแว้งยุ่งเกี่ยวกับความเชื่อศรัทธาในพระเจ้ามากเกินไป ผมคงตกหลุมรักคลั่งไคล้หนังมากๆ เพราะนำเสนอความพิการในระดับรูปธรรม-นามธรรม ผ่านมุมมองสองตัวละครพ่อ-ลูก ได้อย่างงดงามทรงคุณค่ายิ่ง

สำหรับศาสนาอื่นๆ(นอกจากพุทธ) มักกล่าวโทษความพิกลพิการว่าเกิดจากพระเจ้าอำนวยอวยพร เพื่อสอนให้มนุษย์เรียนรู้จักการเผชิญหน้าต่อสู้ปัญหาชีวิต, เพียงพุทธศาสนาเท่านั้นกระมัง ให้คำอธิบายถึงความผิดปกติทางร่างกายเป็นผลสืบเนื่องจากวิบากรรม ความโชคร้ายดังกล่าวถือว่าเป็นการชดใช้สิ่งชั่วร้ายที่เคยก่อ สงสารเห็นใจได้ แต่วางตัวอุเบกขาไว้

“ความไม่พิการ เป็นลาภอันประเสริฐ”


Majid Majidi (เกิดปี 1959) นักเขียน/ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอิหร่าน เกิดที่ Tehran ในครอบครัวชนชั้นกลาง, มีความสนใจด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 14 เข้าร่วมคณะการแสดงสมัครเล่น ต่อด้วยเข้าเรียนยัง Institute of Dramatic Arts, หลังจากการปฏิวัติอิหร่าน 1979 ผันตัวสู่วงการภาพยนตร์ Boycott (1989), กำกับหนังสั้น สารคดี ผลงานเรื่องแรก Baduk (1992), Father (1996), แจ้งเกิดโด่งดังกับ Children of Heaven (1997) เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film เรื่องแรกของประเทศ

ช่วงระหว่างที่ Majidi กำลังคัดเลือกนักแสดงเด็กเพื่อมารับบทใน Children of Heaven มีโอกาสแวะเวียนยังโรงเรียนสอนเด็กตาบอด นั่นเองทำให้เขามีความลุ่มหลงใหลในประเด็นความมืดบอด ‘Blindness’ จึงพัฒนาบท Rang-e Khodā แปลตรงๆว่า The Color of God เพื่อสะท้อนแนวคิดที่ว่า แม้มองไม่เห็นแต่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ถึงการมีตัวตนของพระเจ้า

“God is not visible. He is everywhere. You can feel Him. You can see Him through your fingertips”.

เรื่องราวของ Mohammad (รับบทโดย Mohsen Ramezani) เด็กชายพิการตาบอด รอคอยพ่อ (รับบทโดย Hossein Mahjoub) มารับกลับบ้านในช่วงปิดเทอมของโรงเรียน จากนั้นออกเดินทางไปหาย่า (รับบทโดย Salameh Feyzi) อาศัยอยู่กับพี่และน้องสาวยังชนบทต่างจังหวัด วันๆวิ่งเที่ยวเล่นสนุกสนาน

สำหรับพ่อ กำลังตระเตรียมการหมั้นหมายแต่งงานใหม่ เพราะเหน็ดเหนื่อยหน่ายกับการเลี้ยงดูลูกๆ(และแม่)เพียงตัวคนเดียว อยากจะได้คนมาช่วยแบ่งเบาภาระ ขณะเดียวกันเป็นห่วงเป็นใยอนาคตของลูกชายตาบอด ตัดสินใจส่งเขาไปเรียนแกะสลักกับช่างไม้ที่พิการตาบอดเช่นกัน แต่นั่นสร้างความไม่พึงพอใจต่อแม่อย่างมาก จึงพยายามหลบหนีออกจากบ้าน แต่…


นำแสดงโดย Hossein Mahjoub (เกิดปี 1948) นักแสดงสัญชาติอิหร่าน เกิดที่ Rashit ตั้งแต่เด็กชื่นชอบอ่านหนังสือ หลงใหลในวรรณกรรม ตามด้วยการแสดง โตขึ้นเริ่มต้นทำงานละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก Downpour (1972), โด่งดังกับ Mare (1984) ผลงานเด่นๆ อาทิ The Last Act (1990), Color of Paradise (1997), I’m Taraneh, 15 (2001), Big Drum under the Left Foot (2004), We’re Still Alive (2008) ฯ

รับบทพ่อ ผู้มีความเก็บกด อึดอัดอั้น ทุกข์ทรมานที่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูแลครอบครัวแต่เพียงผู้เดียว โทษว่ากล่าวกับลูกชายที่พิการตาบอดพึ่งพาไม่ได้ ขณะเดียวกันตนเองก็ไม่ได้มีความสามารถดีเด่นอะไร ก็แค่กรรมกรที่ต้องปรับเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ วาดฝันแต่งงานใหม่กับหญิงหม้าย แต่โชคชะตานำพาให้เขาสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง

การแสดงของ Mahjoub ดูมีความเป็นธรรมชาติมากๆ พ่อที่เต็มไปด้วยความเก็บกด อึดอัดอั้น สีหน้าอมทุกข์ทรมาน ไม่สามารถปลดปล่อยวางจากความหมกมุ่นยึดติด พาลให้โกรธเกลียดเคียดแค้นไปทุกสิ่งอย่าง โหยหาความสุขภายนอกแต่มืดบอดต่อสิ่งดีงามอยู่ใกล้ตัวภายใน

สำหรับนักแสดงอื่นๆล้วนเป็นมือสมัครเล่น คัดเลือกจากชาวหมู่บ้านที่ไปถ่ายทำ หรือขาประจำของผู้กำกับ Majidi ส่วน Mohsen Ramezani (ผู้รับบท Mohammad) ค้นพบเจอที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ปัจจุบันโตขึ้นได้ทำงาน Call Center ยังธนาคารแห่งหนึ่ง


ถ่ายภาพโดย Mohammad Davudi ที่จะได้ร่วมงานกับ Majidi อีกครั้งเรื่อง Baran (2001)

สมชื่อ The Color of Paradise งานภาพมีความสวยสด งดงาม ตื่นตระการตา โดยเฉพาะหลังจากที่ Mohammad เดินทางไปพักอาศัยยังชนบท ทุ่งดอกไม้ ทิวทัศน์พื้นหลังกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา น่าเสียดายจริงๆที่เด็กชายตาบอดไม่มีโอกาสได้พบเห็น

เริ่มต้นด้วยความมืดมิด Opening Credit ปรากฎขึ้น ครูกดฟังเทป ให้นักเรียนแยกแยะว่าอันไหนของใคร แต่พอภาพแรกปรากฎทำให้ผู้ชมพบเห็นว่า เด็กๆเหล่านั้นพิการตาบอด ใช้เพียงหูในการรับประสาทสัมผัส … ถือเป็นการอารัมบทโลกของเด็กๆเลยก็ว่าได้

ลูกนกหล่นจากรัง สามารถเปรียบได้กับเด็กชายที่มีความผิดแผกแปลก/นอกคอกจากพี่น้องคนอื่น มันไม่สามารถเอาตัวรอดเองได้ (กำลังจะถูกแมวตะคุบ) นอกจากเสียจากการช่วยเหลือของผู้อื่น ซึ่งกลายเป็นว่าทั้งสองสามารถพึ่งพาอาศัยกันและกัน ตะเกียกตะกายปีนป่าย แม้โคตรจะเสี่ยงอันตราย แต่ชีวิตใช่ว่าคนปกติจักมีความปลอดภัยประการใด

สำหรับพ่อ ระหว่างกำลังโกนหนวดทำหล่อเพื่อไปหาคู่หมั้น ได้ยินเสียงแว่วอะไรสักอย่างทำให้ตื่นตระหนกตกใจ พลัดทำกระจกตกแตกร้าว หยิบขึ้นมาส่องหน้าพบเห็นภาพสะท้อน… ช็อตนี้สะท้อนความแตกร้าว/คอรัปชั่นภายในจิตใจของพ่อ ทั้งรักและเกลียดลูกชาย โหยหาบางสิ่งอย่างเพื่อให้ชีวิตกลับมามีความสุขอีกครั้ง

ปลาแหวกว่ายบนน้ำตื้น สะท้อนกับชีวิตมนุษย์ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน มันไม่สามารถเอาตัวรอดเองได้แน่ แม่จึงตัดสินใจช่วยเหลือหยิบนำมาปล่อยลงน้ำ

สำหรับแม่ก็เช่นกัน เธอรับไม่ได้กับการที่ลูกชายเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว จึงตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้าน เป้าหมายไม่มีใครรู้ ซึ่งระหว่างพยายามกำลังเดินข้ามแอ่งน้ำเล็กๆธารนี้ ถูกอุ้มแบกกลับบ้าน

ความพยายามของพ่อทาสีทำบ้านใหม่ ก็เพื่อต้อนรับว่าที่ภรรยา ชีวิตจักได้หวนกลับมามีความสุขสำราญอีกครั้ง แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงภายนอก ขณะที่แม่ป่วยซมอยู่ภายในกลับไม่มีทางรักษาหาย

ช็อตนี้มหัศจรรย์มากๆ เงาลางๆของเทือกเขาท่ามกลางสายหมอก ให้สัมผัสเหมือนสรวงสวรรค์/อาณาจักรพระเจ้า ซึ่งปรากฎขึ้นก่อนหน้าที่แม่จะสิ้นใจ ซึ่งพอท่านจากไปหมอกก็ค่อยๆเข้ามาปกคลุมจนมองอะไรไม่เห็น

อาชีพแกะสลักไม้ ดูเป็นงานไม่น่าเป็นไปได้สำหรับคนตาบอด แต่สัมผัสและมุมมองของพวกเขาต่อความละเอียดละออของงานศิลป์ อดไม่ได้จะต้องยกย่องชื่นชมเชย สามารถทำออกมาได้เหมือนสมจริง ยิ่งกว่าคนตาดีๆเสียอีกกระมัง

ผมครุ่นคิดว่างานแกะสลักดังกล่าว เป็นสิ่งสะท้อนมุมมองของมนุษย์ปกติ/ตาบอด ทำสิ่งเดียวกัน ได้ผลลัพท์/ผลิตภัณฑ์เดียวกัน แต่คุณค่ากลับแตกต่างลิบลับ … เป็นคุณถ้ารับรู้ว่างานแกะสลักสองชิ้นเหมือนกันเปี๊ยบ หนึ่งฝีมือคนปกติ สองฝีมือช่างตาบอด จะซื้ออันไหน?

เราควรจะสงสารเห็นใจพ่อดีไหม? คือถ้าคิดในแง่มุมที่ ภรรยาใหม่จะสามารถช่วยเหลือเลี้ยงดูแล Mohammad ผมว่าไม่มันก็ยังดีกว่าเขาตัวคนเดียวเลี้ยงลูกแบบทุกข์ทรมาน แต่การถูกส่งคนของหมั้นเพราะลางร้ายจากความตายแม่ ผมรู้สึกครอบครัวฝ่ายหญิงแม้งโคตรจะงี่เง่าเลยว่ะ … ความเชื่อของคนเป็นสิ่งน่าหวาดสะพรึงกลัวเสียจริง

ซึ่งสถานที่ที่พ่อรับทราบเรื่องดังกล่าว ในห้องเก็บฟืนที่เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก เป็นการเน้นย้ำความตกต่ำทางศีลธรรมของตัวละคร ถือว่าเหยียบย่ำให้จมมิดดินเลยก็ว่าได้

ทั้ง Sequence ขับเคลื่อนด้วยภาพสโลโมชั่น ทำออกมาให้ดูประดิษฐ์ประดอย เว่อเกินจริง (แถมอันตรายมากด้วย) คงเพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซาบซ่านถึงการสูญเสีย ครุ่นคิดตระหนักได้ตอนนี้ก็เมื่อครั้นสายเกินแก้ไข

ว่าไปจุดสิ้นสุดของสายน้ำ ให้สัมผัสคล้ายๆภาพยนตร์เรื่อง La Strada

ช็อตสุดท้ายของหนัง ไม่ได้จะชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดว่าเด็กชายรอด-ไม่รอด กล้องเคลื่อนจากมุมสูงค่อยๆลดระดับลงมา (เสร็จลงมาจากสรวงสวรรค์) แสงสีเหลืองทองอร่ามที่อาบฉาบมือ นั่นคือมุมมอง/สัมผัสจากพระเจ้าลอดผ่านนิ้วมือ  และการขยับเคลื่อนไหวสะท้อนการเกิดใหม่บนสรวงสวรรค์/โลกหน้า

ตัดต่อโดย Hassan Hassandoost, หนังดำเนินเรื่องคู่ขนานระหว่างระหว่างพ่อ-ลูก เริ่มต้นจาก Mohammad อยู่ตัวคนเดียว จบสิ้นที่หลงเหลือพ่อเพียงคนเดียว (ที่มีชีวิตอยู่บนโลก)

ต้องถือว่าพ่อ-ลูก มีมุมมองชีวิตคู่ขนาน ตรงกันข้าม
– ลูก แม้อยู่ในความมืดมิด แต่ก็ราวกับว่าได้พบเห็นแสงสว่างอยู่ตลอดเวลา
– พ่อ แม้สามารถมองเห็นทุกสิ่งอย่าง แต่ราวกับจิตใจปกคลุมด้วยความมืดมิดตลอดเวลา

สิ่งที่โดดเด่นมากๆของหนังคือ Sound Effect ประสมด้วยสายลม สายน้ำ สรรพสัตว์ โดยเฉพาะเสียงนก ถูกทำให้มีความดังชัดกว่าปกติ เพื่อสะท้อนสัมผัสพิเศษของ Mohammad ผู้ชมสามารถหลับตาและจินตนาการไปด้วยได้เลย ซึ่งบทเพลงประกอบของ Alireza Kohandairy จักคอยแต่งแต้มความเหนือธรรมชาติของเรื่องราว ผู้ชมเกิดความขนลุกขนพองโดยไม่รู้ตัว


“I believe in God and live with my beliefs in every single moment of my life”.

– Majid Majidi

ความเชื่อศรัทธาของผู้กำกับ Majid Majidi สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คงเพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวที่มีบุตรหลานผิดปกติ ร่างกายพิการ ชี้แนะนำให้มองโลกในแง่ดี เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่มีวันถูกทอดทิ้งจากพระผู้เป็นเจ้า หนำซ้ำยังอาจได้รับความใส่ใจมากกว่าใครเป็นพิเศษ

ผมมองวิธีคิดดังกล่าวเป็นการมองโลกในแง่ดี สร้างภาพมายาคติ คือมันก็ไม่ผิดอะไรหรอกนะครับ แต่ขณะเดียวกันดูเหมือนหลอกตนเอง ไม่ยินยอมรับความจริง แต่ถ้าสามารถทำให้ชีวิตก้าวเดินต่อไปได้ วิธีการไหนคงไม่สลักสำคัญ

พิการทางกายไม่มีใครเลือกเกิดได้ แต่พิการทางใจเป็นสิ่งน่าสมเพศเวทนา สาเหตุผลมักเกิดจากความหมกมุ่นครุ่นยึดติด เห็นแก่ตัว สนเพียงความสุขส่วนตนเอง ทั้งยังมองข้ามสาระสำคัญชีวิต ซึ่งสิ่งเกิดขึ้นจากความไม่รู้จักพอของพ่อ ทำให้เขาสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่าง แม่จากไป ว่าที่ภรรยาถอนหมั้น และบุตรชายหนึ่งเดียวของตนเองจมน้ำตาย … ชีวิตของเขาต่อจากนี้จะเป็นเช่นไร คงไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้แน่

บทเรียนพุทธศาสนาต่อบุคคลผู้มีความผิดปกติทางกาย คือทำความเข้าใจเหตุผลที่เขาเกิดมาเป็นเช่นนั้น และพยายามไม่ให้ตนเองกลายเป็นเช่นนั้น ขอยกตัวอย่างเหตุผลของการตาบอดก็แล้วกันนะ
– ในอดีตชาติ เคยทำร้ายคน/สัตว์ที่ดวงตา เช่น ชกคนจนตาบอด, หยิบยาผิดไปหยอดตาให้ญาติ, เอาทรายปาใส่ตาเพื่อน, เอาไม้ทิ่มถูกตาสุนัข ฯ
– ในอดีตชาติ เคยขังนักโทษไว้ในคุกมืด, จับปลามาขังในตุ่มที่ปิดฝา ฯ
– ในอดีตชาติ เคยมองคนอื่นด้วยตาดุๆ, มองคนด้วยความหมั่นใส้, จองหน้าผู้ใหญ่เมื่อถูกตักเตือน, มองคนด้วยจิตริษยา ดูถูกดูแคลน, มองคนด้วยหางตา, ชอบมองจับผิดคนอื่น, มองสัตว์ด้วยจิตคิดร้าย, เล็งธนูล่าสัตว์, แอบดูสาวอาบน้ำ ฯ
– ในอดีตชาติ เคยเป็นนักการพนัน, ซ่อนไพ่หลอกพวกนักพนัน ฯ
– ในอดีตชาติ เคยพูดตัดรอนกำลังใจกับคนที่มาขอความช่วยเหลือ, พูดคำหยาบคาย โกหกย้อมแมวขาย, ล้อเลียนเพื่อนที่ใส่แว่นตาหนา, คนหนังตาตก, คนตาชั้นเดียว ฯ

สรุปวิบากกรรมที่ทำให้เกิดโรคตา คือ
– ทำร้ายตาคน และสัตว์
– ขังคน และสัตว์ในที่มืด
– ใช้ดวงตาไปทำบาป
– ใช้ปากทำบาป

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงลักษณะดวงตาของพระมหาบุรุษเอาไว้ว่า พระองค์ทรงมีพระเนตรดำสนิท มีพระเนตรแจ่มใส ดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด เพราะในชาติก่อนไม่ทรงถลึงตามอง ไม่มองค้อน ไม่เมิน มองเต็มตา แลดูชนหมู่มาก ด้วยดวงตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก เพราะทรงกระทำสั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ ฯลฯ ครั้นจุติจากสวรรค์มาเป็นมนุษย์… ย่อมได้มหาปุริสลักษณะ ๒ ประการนี้

“ดวงตาของฉันมันมืดมิด แต่ชีวิตฉันยังไม่มืดลง…”

– วณิพก, คาราบาว


ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนัง ประทับใจมากๆกับการใช้เสียง Sound Effect ที่มีความโดดเด่นจนสัมผัสได้ นั่นทำให้มุมมองโลกทัศน์ผู้ชมปรับเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ความพิการทางกาย แม้เป็นสิ่งรักษาไม่หายถ้าจิตใจไม่ย่นย่อท้อแท้ มีความเข้มแข็งตั้งมั่น ย่อมสามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ทุกสิ่งอย่าง ผิดกับคนที่มีความพิการทางใจ ทำยังไงก็ไม่มีวันรักษาหาย จนกว่าจะพบเจอการสูญเสียสิ่งรักที่สุดไป

จัดเรต PG กับเรื่องราวฝั่งพ่อที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว มองโลกในแง่ร้าย

คำโปรย | The Color of Paradise เต็มไปด้วยสีสันและเสียง งดงามดั่งสรวงสวรรค์
คุณภาพ | 
ส่วนตัว | ชื่นชอบมาก

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: