The Conformist (1970) : Bernardo Bertolucci ♥♥♥♥
ครั้งหนึ่งของประเทศอิตาลี ภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการ Benito Mussolini ได้เปลี่ยนแปลงประเทศให้กลายเป็น Italian Fascism ก็มีทั้งผู้สนับสนุนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย, Il conformista ผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Bernardo Bertolucci ได้ทำการสำรวจทางจิตวิทยาของชาวอิตาเลี่ยนผ่านตัวละครของ Jean-Louis Trintignant เมื่อได้รับภารกิจลับจากจากรัฐบาล ต้องเผชิญหน้าเลือกระหว่างหน้าที่กับความต้องการของหัวใจ, แท้จริงแล้วประชาชน… ไม่สิ Bertolucci คิดยังไงกับลัทธิฟาสซิสต์
นี่เป็นภาพยนตร์ที่ดูโคตรยากเลยละครับ แต่ไม่ถึงระดับ 8½ (1963) ของผู้กำกับ Federico Fellini เพราะเป็นเรื่องแรกที่นำเสนอ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ความจริง-ความฝัน คลุกเคล้าผสมปะปนเป ต้องใช้การสังเกตวิเคราะห์ติดตามอย่างหนัก ถึงสามารถรับรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในหนัง, Il conformista ถือเป็นหนังที่มีการกระโดดไปมาระหว่าง อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ไม่มีความจริง-ความฝัน แต่ต้องใช้ความเข้าใจมากกว่าการสังเกต ครุ่นคิดจิตวิเคราะห์ของตัวละคร และความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศอิตาลีโดยคร่าวๆ ก็สามารถเข้าใจหนังได้
ถ้าคุณรับชมหนังไม่รู้เรื่อง สักประมาณกลางเรื่องคิดจะยอมแพ้ แนะนำให้ทนดูไปก่อนจนจบเลยนะครับ แล้วมาอ่านบทความนี้สักรอบ เสร็จแล้วย้อนกลับไปดูรอบสอง เชื่อว่าจะได้เข้าใจอะไรๆเยอะขึ้นมากทีเดียวละ
Bernardo Bertolucci (เกิดปี 1940) ผู้กำกับสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Parma แม่เป็นครูสอนหนังสือ ส่วนพ่อ Attilio Bertolucci เป็นนักกวี นักประวัติศาสตร์งานศิลปะ และนักวิจารณ์ภาพยนตร์, เติบโตขึ้นในครอบครัวศิลปิน เขียนหนังสือเล่มแรกตอนอายุ 15 คว้ารางวัลมากมาย วาดฝันโตขึ้นจะกลายเป็นนักกวีเหมือนพ่อ เลือกเรียนสาขาวรรณกรรมยุคใหม่ที่ University of Rome จับพลัดพลูกลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini ในกองถ่าย Rome on Accattone (1961) เกิดความสนใจในภาพยนตร์ และได้กำกับเองเรื่องแรก La commare secca (1962)
Bertolucci ประกาศตัวว่าเป็น Marxist (คล้าย Luchino Visconti) ต่อต้าน Fascist หนังของเขาจึงมักมีองค์ประกอบด้านการเมือง ในเชิงแสดงทัศนะความคิดเห็น และด้วยความเป็นศิลปิน ยังแทรกใส่เรื่องราวอัตชีวประวัติ ตัวตน ความสนใจ รสนิยมลงไปอีกด้วย
ผลงานเด่นเรื่องอื่นๆของ Bertolucci อาทิ Last Tango in Paris (1972), 1900 (1976), The Last Emperor (1987) ฯ
สำหรับ The Conformist (Il conformista) ดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันแต่งโดย Alberto Moravia นักเขียนสัญชาติอิตาเลี่ยน ตีพิมพ์เมื่อปี 1951 มีเรื่องราวนำเสนอความต้องการ (ของผู้เขียน) มีชีวิตที่เป็นปกติ ในยุคสมัยของ Fascist, Moravia ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หนีไปอยู่อเมริกา (ไม่ได้ถูกแบนหรือขับไล่ย้ายหนี แต่พาตัวเองลี้ภัยไป) เขียนนิยายในเชิงเคลื่อนไหวต่อต้าน Italian Fascism หลายเรื่อง ซึ่งพอรัฐบาลล่มสลาย สงครามโลกจบก็กลับมาอิตาลี ภายหลังได้กลายเป็นสมาชิกของ Italian Communist Party
เหมือนจะมีแค่ใจความสำคัญ และชื่อของบางตัวละครที่ Bertolucci นำมาใช้จากนิยาย ส่วนเรื่องราว รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ มีการปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลง ให้มีความเป็นส่วนตัวในสไตล์ของผู้กำกับเอง
เริ่มต้นปี 1938 ในห้องพักโรงแรมที่กรุง Paris, Marcello กำลังรอคอยเพื่อทำภารกิจบางอย่าง จากนั้นจะเป็นการย้อนอดีตเล่าถึงตอนที่เขากำลังกลายเป็นสมาชิกของ OVRA (Organization for Vigilance and Repression of Anti-Fascism) ซึ่งจะมีการย้อนอดีตไปอีกตอนเป็นวัยรุ่น เมื่อปี 1917 เพื่อทำความเข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับเด็กชาย Marcello ที่ทำให้เขาขวนขวายหาความเป็นปกติ
ภารกิจของ Marcello คือการลอบสังหาร Professor Quadri ที่เป็น anti-Fascist แต่การจะเข้าให้ถึงตัวจำต้องใช้ Giulia ภรรยาสาวที่เพิ่งแต่งงานเป็นฉากบังหน้า เดินทางไปฮันนีมูนยัง Paris ตีสนิทกับ Anna (ภรรยาสาวของ Quadri) แต่ตนกลับตกหลุมรักลอบเป็นชู้กับเธอ แล้วเมื่อถึงเวลาจะลงมือ ชายหนุ่มกลับยื้อยังลังเลทำได้แค่ชี้ตัวเดินทางไปด้วย กลายเป็นคนขลาดเขลา ไม่สามารถพิสูจน์ตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อ Fascist ได้
ฉากสุดท้ายกระโดดไปปี 1943 เมื่อ Benito Mussolini หมดอำนาจ Fascist กำลังล่มสลาย Marcello ที่เหมือนจะเป็นสุขกับภรรยาและลูก ได้หวนกลับพบเจออดีตของตนเอง ตัวเขาจะสามารถเผชิญหน้าเอาชนะเข้าใจตนเอง กลายเป็นคนปกติธรรดาสามัญชนได้สักทีหรือเปล่า
Jean-Louis Xavier Trintignant (เกิดปี 1930) นักแสดงและผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Piolenc, Vaucluse แจ้งเกิดกับ A Man and a Woman (1966) ของผู้กำกับ Claude Lelouch ที่กวาดเรียบ Palme d’Or, Oscar: Best Foreign Language Film, ก่อนหน้านี้ Trintignant เพิ่งคว้ารางวัล Silver Bear for Best Actor จากหนังเรื่อง The Man Who Lies (1968) และ Cannes: Best Actor จากเรื่อง Z (1969)
เรียกได้ว่าเป็นนักแสดงยอดฝีมือในตำนานของฝรั่งเศส ทศวรรษ 60s – 70s ถือเป็นยุคทองของ Trintignant พอสูงวัยใช้ว่าฝีมือการแสดงจะถดถอย มีแต่ยิ่งเข้มข้นขึ้นอีก อาทิ La Femme de ma vie (1986), Three Colors: Red (1994), Those Who Love Me Can Take the Train (1998) โดยเฉพาะ Amour (2012) ที่ว่าเกษียณตัวเองไปแล้ว แต่ได้รับการอัญเชิญจากปรมาจารย์ผู้กำกับ Michael Haneke ให้กลับมารับบทบาทการแสดงแห่งชีวิต นี่น่าจะคือเรื่องที่ Trintignant ยิ่งใหญ่สุดแล้ว
รับบท Marcello Clerici ชายผู้มีปมในอดีตเรื่องความรุนแรงและสับสนทางเพศ (Sexual Trauma, Gun Violence) เพราะการถูกชายคนหนึ่งหลอกล่อลวงเมื่อครั้นยังเด็ก แม้เหมือนจะมิกระทำอะไรได้ล่วงเกิน แต่ได้ทำให้เกิดความไขว้เขวไม่แน่ใจในตนเอง นับจากนั้นตัวละครนี้ก็ออกแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นปกติ’ สมัครเข้าเป็นสมาชิก OVRA ก็เพื่อพิสูจน์ตนเอง ‘ถ้าฉันสามารถทำภารกิจนี้สำเร็จได้ ชีวิตก็อาจกลับเป็นปกติ’
การแสดงของ Trintignant ลึกล้ำ ทรงพลัง แทบจะไม่เคยเห็นรอยยิ้ม แสดงถึงความเก็บกด อึดอัดอั้นที่แอบซ่อนอยู่ภายใน ถ้าไม่เพราะมีฉากหวนระลึกนึกย้อนไป คงไม่มีใครเข้าใจตัวตนของ Marcello ได้แน่, ผมรู้สึกนี่น่าจะเป็นการแสดงอันยอดเยี่ยมที่สุดของ Trintignant รองจาก Amour (2012) เลยละ
Stefania Sandrelli (เกิดปี 1946) นักแสดงหญิงสัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Viareggio, Tuscany ในครอบครัวชนชั้นกลาง ตั้งแต่เด็กหัดเรียนบัลเล่ต์และเล่นเครื่องดนตรี Accordion เข้าสู่วงการเมื่อปี 1960 หลังจากชนะการประกวด Miss Cinema Viareggio (ตอนอายุ 14) ขึ้นปกนิตยสาร Le Ore ได้รับโอกาสให้แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกๆ Gioventù di notte (1961) ตามมาด้วย The Fascist (1961) และ Divorce Italian Style (1961) สำหรับผลงานที่เป็นไฮไลท์ในการแสดง คือ The Conformist (1970), 1900 (1976), La terrazza (1980), The Key (1983) ฯ
รับบท Giulia แฟนสาวต่อมาแต่งงานเป็นภรรยากับ Marcello, ช่วงวัยเด็กตอนยังไร้เดียงสา มีปมถูกล่อลวงหลอกจากชายสูงวัย (ที่เป็นญาติใกล้ชิดกับเธอ) แต่กลับตรงกันข้ามกับสามี เธอสามารถยินยอมรับตัวเอง ก้าวข้ามผ่านเหตุการณ์ Trauma นั้นไปได้ แถมยินยอมเปิดเผยเรื่องราวนี้ให้ Marcello ได้รับรู้ความจริง ก่อนทั้งคู่จะได้ร่วมรักกันอย่างเต็มอิ่มบนรถไฟ
การแสดงของ Sandrelli ช่วงแรกๆแอบน่ารำคาญในความวุ่นวาย จุ้นจ้าน เรื่องมากของเธอ แต่สักพักพอรับเริ่มรู้อดีตของตัวละคร ก็จะเข้าใจที่มาที่ไป ทำไมเหตุใดถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ซึ่งต้องถือว่าเป็นการแสดงที่ถ่ายทอดจิตวิทยาของตัวละครออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมเลยทีเดียว, แต่ไฮไลท์ของ Sandrelli อยู่ช่วงท้ายของหนัง หลายปีผ่านไป เหมือนเธอรู้อยู่เต็มอกว่า Marcello ต้องมีส่วนเกี่ยวพันกับบางสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นกับ Anna และ Professor Quadri แต่เธอไม่เคยคาดคั้นเอาความจริงจากเขา ยินยอมรับได้ทุกอย่างแม้เป็นสิ่งผิด เพราะความรักสุดหัวใจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเธอได้
อีกนักแสดงที่น่าสนใจคือ Dominique Sanda รับบท Anna Quadri ภรรยาสาวของ Professor Quadri ผมค่อนข้างสับสนเล็กน้อยว่าเธอเป็นแฟนเก่าของ Marcello หรือเปล่า เพราะทั้งคู่ต่างแค่มองหน้าแล้วกลายเป็นปลากัด ต้องหาทางลักลอบฟัดกัน เป็น passion ความต้องการที่มากเหลือคณา, Sanda เป็นนักแสดงยอดฝีมือสัญชาติฝรั่งเศส มีผลงานดังอย่าง The Garden of the Finzi-Continis (1970), 1900 (1976), The Inheritance (1976), Beyond Good and Evil (1977) ฯ
ถ่ายภาพโดย Vittorio Storaro ปรมาจารย์ตากล้องในตำนานสัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Bernardo Bertolucci มีผลงานอมตะอย่าง The Bird with the Crystal Plumage (1970), Last Tango in Paris (1972), Apocalypse Now (1979), The Last Emperor (1987) ฯ
สิ่งที่สวยงามโดดเด่นสุดของหนังคือการจัดแสงสี ซึ่งสะท้อนจิตวิทยา/Expression ของตัวละครออกมาอย่างชัดเจนมากๆ ผมขอเลือก 3-4 ช็อตที่มีควมสวยงาม ชื่นชอบ ประทับใจ มาแนะนำแล้วกันนะครับ
ในห้อง/บ้านของ Giulia พื้นหลัง/ลวดลาย/ชุดของเธอ และลำแสงที่สาดส่องผ่านหน้าต่าง มีความตัดกัน (ขาว/ดำ) เห็นเป็นเส้น/เหลี่ยม เป็นรูปลักษณะของ’กรงขัง’รูปแบบหนึ่ง, เราจะเห็นห้องนี้มุมนี้อีกครั้งช่วงท้ายของหนัง ราวกับกระจกสะท้อน มีความตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง แม้จะลวดลายพื้นหลังยังคงเดิมแต่บรรยากาศเต็มไปด้วยความมืดหม่น แสงสว่างเกิดจากภายใน และตัวละครทั้งสองมีอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกันออกไป
ฉากเลิฟซีนบนรถไฟในตำนาน เหมือนว่าแสงอาทิตย์ภายนอกกำลังค่อยๆตกดิน (เลยเห็นแสงออกสีส้มๆ) นี่คือสภาพจิตใจของตัวละครทั้งสองที่มีความอบอุ่น อิ่มเอิบ เป็นสุขใจ หลังจากที่ Giulia ได้เล่าอดีตของเธอให้ Marcello ซึ่งเขายอมรับได้ทุกอย่าง การมี Sex ครั้งนี้จึงออกมานุ่มนวล รุนแรง สวยงาม
คิดว่าภาพข้างหลังใช้การฉาย Rear Projection ถ่ายในสตูดิโอ ไม่ใช่บนรถไฟจริงๆ เพราะจะสามารถควบคุมแสงสีได้ง่าย
ฉากนี้คือการสนทนา ปรัชญาของ Plato จากหนังสือ Allegory of the Cave หรือ Plato’s Cave เรื่องราวของนักโทษที่ตั้งแต่เกิดถูกล่ามโซ่อยู่ในถ้ำ ครั้งหนึ่งมองเห็นแสงสว่างที่ส่องจากภายนอก สะท้อนแค่เงาหรือด้านหลังของคน/วัตถุที่เคลื่อนที่เท่านั้น (คือมองไม่เห็นใบหน้าของคนที่อยู่ย้อนแสง) เลยหลงคิดว่านั่นคือโลกของตนเอง, เรื่องราวนี้เป็นการเปรียบเปรยกับ Marcello ที่ยืนอยู่ด้านในมุมมืด (เป็นดั่งนักโทษอยู่ในถ้ำ) มองเห็นเพียงแค่เงา หรือคือผู้ตกอยู่ภายใต้ Fascist และ/หรือ ในปม Trauma ของตนเอง ไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่เป็นต้นกำเนิดของเงาได้
ต้องชมเลยว่าฉากนี้มีการจัดแสง เงา ที่สมบูรณ์แบบมากๆ ในห้องมีลักษณะมืดมิดเหมือนถ้ำ และลำแสงจากภายนอกสาดส่องลงมา
แสงตอนพลบค่ำ/กลางคืน ฉากนี้ดูตลกๆหน่อย เป็นภาพสีน้ำเงิน แต่ถ้าใครเคยรับชมหนังเงียบมาเยอะ จะรู้ว่านี่เป็นโทนสีที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง ให้สัมผัสเย็นยะเยือก หดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง, จริงๆช็อตนี้มีตัวละครหนึ่งแอบซ่อนอยู่หลังต้นไม้ตรงกึ่งกลางภาพ ซึ่งกล้องได้ทำการเคลื่อนให้บดบัง ปกปิดไม่ให้เรามองเห็นตัวละครนี้ ราวกับไร้ซึ่งตัวตน (ตัวละครที่แอบซ่อนอยู่ในช็อตนี้เป็น Fascist เลือดเข้ม ที่กำลังพยายามพูดย้ำเตือน Marcello แต่เหมือนจะไม่มีใครฟังเขา ราวกับไม่มีตัวตน)
ในป่าสูงที่มีแสงอาทิตย์ส่องผ่าน ช็อตนี้คงเป็นแสงจากธรรมชาติล้วนๆ เลือกเวลาถ่ายทำได้อย่างเหมาะเจาะ มีความสวยงามมากๆ, นี่คือฉากไคลน์แม็กซ์ภารกิจของ Marcello ลำแสงสว่างเปรียบได้กับเป้าหมายปลายทาง/หนทางสู่ความตาย ต้นไม้นั่นแข็งแกร่งยั่งยืนมั่นคง ต่อให้กาลเวลาเคลื่อนผ่านก็มิอาจทำให้หักโค่นทำลายลงได้ง่ายๆ ผิดกับมนุษย์ที่อ่อนแอบอบบาง ต่อให้วิ่งหนีโชคชะตาไกลเพียงไหนก็มิอาจพ้นได้
นอกจากเรื่องแสงสีแล้ว งานภาพยังมีความโดดเด่นเรื่องการเคลื่อนกล้องไปด้านข้าง (มีนัยยะถึงการดำเนินไปของชีวิต/เรื่องราว/เวลา) จะเห็นได้บ่อยครั้งระหว่างที่ตัวละครเดิน มักจากขวาไปซ้าย (ย้อนศร) มากกว่าโดยปกติจากซ้ายไปขวา, การซูมออกอย่างรวดเร็ว (ตอนฉากพบกับท่านรัฐมนตรี) เป็นการบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องของตนเอง ถึงเห็นแต่อย่าไปสนใจดีกว่า ฯ
การจัดวางตำแหน่งองค์ประกอบต่างๆ อย่ากฉากนี้ที่ Reception สำนักงานของรัฐมนตรี จะเห็นว่ามีโต๊ะรับรองตั้งโดดเดี่ยวอยู่ตรงกลางห้องโถงขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ได้ใช้รองรับอะไรอื่นเลย, นี่คือความโอ่โถง รโหฐาน เว่ออลังการของ Fascist สมัยนั้น ที่เน้นใหญ่ไว้ก่อนแต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร
ทั้งซีนที่ Manganiello ติดตาม Marcello กล้องจะเอียงกระเท่เร่ ประมาณ 25-30 องศา เป็นงานภาพที่สะท้อนความรู้สึกความหวาดหวั่นกลัว (เพราะไม่รู้ว่าใครกำลังแอบติดตามเขา) จิตใจที่บิดเบี้ยว คดโค้ง ขาดความแน่นอน มั่นคง ตรงไปมาในชีวิต
ว่าไปงานภาพของหนังเรื่องนี้ เหมือนจะเป็นอิทธิพลต่อหนังเรื่อง Suspiria (1977) ของผู้กำกับ Dario Argento ค่อนข้างมากทีเดียว
ตัดต่อโดย Franco Arcalli ขาประจำของ Bertolucci และ Michelangelo Antonioni, ความยากในการทำความเข้าใจการตัดต่อ การรับชมครั้งแรกถือว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย คือคุณจำเป็นต้องเข้าใจหนังภาพรวมทั้งหมดก่อน ถึงจะสามารถรับรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร ฉากไหนคืออดีต-ปัจจุบัน-อนาคต
เรื่องราวของหนังแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา
1) ปี 1917 ตอนที่ Marcello ยังเป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่น มักถูกเพื่อนๆกลั่นแกล้งต่างๆนานา ได้รับการช่วยเหลือจากชายคนหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วหมอนี่เป็น Homosexual ทำให้เกิดปม Trauma ตั้งแต่เด็ก
2) ปี 1938 เรื่องราวหลักของหนัง สามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 2 ช่วงเวลา ตามสถานที่
>2.1) กรุง Rome, Italy เดิมนั้น Marcello เป็นเพียงข้าราชการธรรมดา แต่ถูกแมวมองกึ่งบังคับให้เข้าร่วม OVRA รับภารกิจลอบสังหาร anti-Facist ขณะเดียวกันก็ใช้การแต่งงานกับ Giulia บังหน้าเพื่อหาทางเข้าพบเป้าหมาย
>2.2) กรุง Paris, France คู่รักออกเดินทางไปฮันนีมูน แต่เป้าหมายของสามีคือลอบสังหาร Professor Quadri แต่การได้พบภรรยาสาวของเป้าหมาย Anna ทำให้เกิดความลังเลใจ แม้ภารกิจจะสำเร็จ แต่ต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่าง
3) ปี 1943 นี่เป็นปีที่ Benito Mussolini ลงจากอำนาจ ทำให้ Marcello กลายเป็นอิสระจากการตกอยู่ภายใต้ Fascist
ลำดับการเล่าเรื่องของหนังจะเป็นดังนี้ เริ่มต้นจาก 2.2) ย้อนไป 2.1) แล้วย้อนไป 1) กลับมา 2.1) ดำเนินไป 2.2) และจบด้วย 3)
อย่างที่แนะนำไปตั้งแต่แรก คือคุณควรต้องรับชมหนังทั้งเรื่องให้จบก่อน รู้ว่ามีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้าง จะสามารถจำแนกแบ่งแยกแยะได้ตามที่ผมนำเสนอมา ถ้าคิดตามได้ถึงจุดนี้ก็คงเข้าใจหนังได้ไม่ยากแล้วละ
เพลงประกอบโดย Georges Delerue คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส เจ้าของฉายา ‘Mozart of cinema’ ได้ Oscar: Best Original Score จากหนังเรื่อง A Little Romance (1980) เข้าชิงอีก 4 ครั้งจาก Anne of the Thousand Days (1969), The Day of the Dolphin (1973), Julia (1977), Agnes of God (1985) ผลงานอื่นที่โคตรเด่นดัง คือ Hiroshima Mon Amour (1959), Jules and Jim (1962), La Mépris (1963), Platoon (1986) ฯ
แค่บทเพลงแรกของหนัง Il Conformista ในฉาก Opening Credit ก็ให้สัมผัสเป็น Expression บ่งบอกอารมณ์ของตัวละครที่ยังไม่รู้จักชื่อด้วยซ้ำ (Marcello) ได้เป็นอย่างดี มันช่างอึมครึม เครียด สับสนวุ่นวายอลม่าน สร้างความฉงนสงสัยให้กับผู้ชม ว่ามีอะไรเกิดขึ้นข้างในจิตใจตัวละครนี้กัน
บทเพลง Couleurs De Paris หรือ Color of Paris ถ้าคุณไม่เคยรับชมหนังเรื่องนี้จะได้สัมผัสของ Impression มากกว่า Expression แต่นี่คือบทเพลงแสดงความรู้สึกภายในของ Marcello ต่อเมือง Paris สถานที่ซึ่งเขาต้องทำภารกิจบางอย่าง เพื่อเอาชนะตนเอง หาทางคืนสู่ความ’ปกติ’
ฉากหนึ่งที่ผมโคตรชอบในหนัง การเต้น Tango ระหว่าง Giulia กับ Anna สายตาของทั้งคู่เร้าร้อนแรง passion มันชัดว่าทั้งสองน่าจะผ่านการเล่นจ้ำจี้กันมาแล้ว (มีฉากที่กึ่งๆนำเสนอ เลสเบี้ยนตรงนี้ด้วย) ถ้าใครอ่านภาษาการเต้นของทั้งคู่ออก มันจะมีตอน Anna นั่งคุกเข่าแล้ว Giulia เต้นวนไปรอบๆ นี่คล้ายการคุกเข่าขอแต่งงานแล้วเจ้าสาวยื้อยักเล่นตัว แต่พอจบเพลง Giulia ก็โถมตัวเข้าหา Anna แล้วทิ้งตัวยอมศิโรราบในอ้อมกอดเธอ,
ชื่อบทเพลงนี้ Tango di rabbia แปลว่า Tango of anger หลังจากจบฉากนี้ ก็ถึงเวลา Marcello ต้องทำภารกิจของเขาแล้ว
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในประเทศอิตาลีได้ถือกำเนิดแนวคิดทางการเมืองหนึ่งขึ้น ชื่อว่า ลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) มีอุดมการณ์เชื่อว่า การปกครองที่ดีต้องมีความอย่างเข้มแข็งมั่นคง ขณะเดียวกันต้องเต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณในความรักชาติ ภาคภูมิใจในตัวตน, มีอีกคำเรียกหนึ่งของแนวคิดนี้ว่า ลัทธิคลั่งชาติ
คำว่า Fascist มาจาก ฟาซิโอ (Fascio) ภาษาละติน มีความหมายว่า สหภาพ หรือสมาชิก หรือสามารถแปลได้ว่า แขนงไม้ที่พันรอบขวาน ความหมายคือ เมื่อไม้มีอยู่แท่งเดียวก็จะแตกหักง่าย แต่เมื่อนำมารวมกันนั้นจะหักยากมาก เปรียบเสมือนกลุ่มคนหรือชนชาติที่มีประชาชนรวมตัวกันหรืออยู่อาศัยร่วมกันด้วยความแข็งแกร่งไร้เทียมทาน
เกร็ด: Fascist ยังคือชื่อเมืองๆหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน
แนวคิดของฟาสซิสต์ ‘ความเป็นรัฐสำคัญกว่าตน’ มีผู้นำเผด็จการเดียว จะต้องปกครองโดยใช้อำนาจควบคุมดูแลรัฐและประชาชน ซึ่งผู้ที่นำลัทธิฟาสซิสต์มาใช้ปกครองประเทศอิตาลีเป็นคนแรก คือ Benito Mussolini
เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ Mussolini เรืองอำนาจในราชอาณาจักรอิตาลี ภายใต้พระมหากษัตริย์เป็นประมุข พยายามที่จะสร้างความเสมอภาคแต่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์ และโศกนาฏกรรม รอยแผลที่ยากแก่การลบเลือนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ซึ่งต่อมานั้น ลัทธิฟาสซิสต์ก็ค่อยๆถูกลบลืมเลือนหาย เพราะความคิดหรืออุดมการณ์ที่ดูล้าหลังป่าเถื่อนมากเกินไป ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจึงเกิดการแข่งขันขึ้นระหว่างคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยขึ้นแทน
กล่าวได้ว่าฟาสซิสต์เป็นลัทธิการปกครองเผด็จการรูปแบบหนึ่ง มีการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางผู้นำเพียงคนเดียว ถือว่าเป็นการปกครองที่ปิดกั้นทางความคิดความเห็นในเรื่องต่างๆทำให้ประชาชนขาดสิทธิ เสรีภาพ ในการดำรงชีวิตที่อาจจะถูกบังคับ ถ้าไม่ปฏิบัติตามหรือขัดแย้งก็จะได้รับการลงโทษ
reference: http://worldcivil14.blogspot.com/2016/05/fascism.html
ผู้กำกับ Bernardo Bertolucci เคยประกาศตัวเองว่าเป็นลัทธิมากซ์ (Marxist) ที่มีแนวคิดตรงกันข้ามกับ Fascist โดยสิ้นเชิง โดยมีความเชื่อว่า สังคมในปัจจุบันเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นนายทุนกับแรงงาน จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งของความไม่สมดุล หน่วยงานรัฐจะถูกล้มล้างลงโดยสิ้นเชิง แต่ลัทธินี้ไม่ได้นำเสนอแนวทางปฏิบัติแต่ประการใด ก็อยู่ที่ใครจะนำไปตีความเป็นอะไร หนึ่งในนั้นคือ ลัทธิคอมมิวนิสต์ (Communism แปลว่า ร่วมกัน, สากล) ที่มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการสร้างระเบียบทางสังคมบนพื้นฐานของความเป็นเจ้าของร่วมกันของปัจจัยการผลิต และปราศจากชนชั้นทางสังคม เงินตรา และรัฐ
ผมคงไม่ขอเสียเวลาถกเถียงหัวข้อการเมือง ว่าแนวคิดลัทธิฝ่ายไหนดีกว่ากัน แค่ประวัติศาสตร์ได้บ่งบอกแล้วว่า Fascist เปรียบเสมือนความทรงจำอันเลวร้ายของประเทศอิตาลี (เหมือนกับนาซีของเยอรมัน) ดั่งตัวละคร Lino ที่ตอนแรกเหมือนจะมาช่วย Marcello วัยเด็ก แต่กลับได้สร้างปมความคับข้องใจทางเพศ และความรุนแรงจากการใช้ปืน ซึ่งต่อมาทำให้เขาต้องวนเวียนอยู่กับช่วงเวลาแห่งความอึดอัดอั้น ค้นหาตัวเองว่าฉันเป็นใคร ทำอย่างไรถึงจะกลายเป็นคนปกติ, จะเห็นว่าตลอดทั้งเรื่อง จิตใจของชายหนุ่มไม่ถือว่าเป็นปกติเลยนะครับ เพราะเขาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ Trauma/Fascist ตามมาหลอกหลอนอยู่ตลอด จนกระทั่งช่วงท้ายของหนัง ภายหลังการล่มสลายของ Fascist เหมือนว่าขณะนั้น Marcello ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระจากความทรงจำอันเลวร้าย นี่คือวินาทีแรกที่เขากำลังจะกลายเป็นไท คนปกติสามัญ
มันเป็นช็อตสุดท้ายที่มีความน่าพิศวงมาก Marcello หลังพิงอยู่ตรงซี่เหล็กคล้ายกับกรงขัง หันมามองด้วยสายตาล่องลอยไร้เป้าหมาย แทนที่ว่าตัวละครนี้จะสามารถหลุดพ้นจากปม Trauma ของตัวเองในอดีต หมดยุคสมัยของ Fascist ไปแล้ว แต่สิ่งที่เขามองเห็น ถ้าผมตาไม่ฝาดคือชายคนหนึ่งนอนเปลือยกาย กำลังหมุนเครื่องเล่นแผ่นเสียง นี่มีนัยยะว่า Marcello อาจกลายเป็น Homosexual จริงๆ และต่อยอดจาก Fascist ที่ชั่วร้าย ก็คือ Communism
ใจความของหนังเรื่องนี้คือการเปรียบเทียบ จิตวิทยาของตัวละคร (Marcello) กับการปกครองอิตาลีระบอบฟาสซิสต์ (Fascist) ซึ่งมีนัยยะถึง ทัศนคติความคิดของผู้กำกับ Bernardo Bertolucci นั่นแหละ, ผมคงไม่ชี้ให้เห็นอีกแล้วว่ามีอะไรบ้าง ถ้าคุณสามารถมองเห็นเทียบกันได้เอง ก็ถือว่าบรรลุโสดาของหนังเรื่องนี้แล้วนะครับ
เห็นว่าหนังได้ฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมือง Berlin เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1970 เป็นตัวเต็งหนึ่งที่จะคว้า Golden Bear แต่ทว่าหลังจากหนังต่อต้านสงครามเวียดนามของ Michael Verhoeven เรื่อง o.k. (1970) ที่มีความรุนแรงระดับชิบหายวายป่วนออกฉาย ทำให้เกิดการประท้วง ต่อต้าน จนต้องยุติการจัดงาน ทำให้ไม่มีการมอบรางวัลเกิดขึ้น
ได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Writing, Screenplay Based on Material from Another Medium
และเข้าชิง Golden Globes: Best Foreign-Language Film
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ สารภาพว่าครั้งแรกดูไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ แต่เมื่อตามหาบทวิจารณ์ต่างประเทศอ่านก็ทำให้เข้าใจได้ทันที ตัดสินใจรับชมรอบสองก็หมดปัญหา มองเห็นความสวยงามที่ต้องยกย่องระดับ Masterpiece เท่านั้นถึงคู่ควร โดยเฉพาะงานภาพมีความลึกล้ำ บทเพลงสร้างอารมณ์บรรยากาศ เรียกได้ว่าคือโคตรของโคตรหนัง Expressionist เลยละ
แนะนำกับคอหนังอาร์ท ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย ที่ชื่นชอบความท้าทายในการได้ครุ่นคิด จิตวิเคราะห์ตัวละคร อย่างลึกล้ำ, ศิลปิน ผู้ชื่นชอบงานศิลปะสไตล์ Expressionist, สนใจประวัติศาสตร์ของอิตาลี คอหนังการเมือง โดยเฉพาะการปกครองลัทธิฟาสซิสต์, แฟนหนัง Jean-Louis Trintignant ผู้กำกับ Bernardo Bertolucci ภาพสวยๆของ Vittorio Storaro และเพลงประกอบของ Georges Delerue ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับปมประเด็นพื้นหลังของตัวละคร และ Fascist
Leave a Reply