The Conversation (1974) : Francis Ford Coppola ♥♥♥♥
หลายคนอาจคิดว่า Francis Ford Coppola ได้แรงบันดาลใจหนังจากเรื่องอื้อฉาวเทปลับในทำเนียบขาวของ ปธน. Richard Nixon แต่ความตั้งใจจริงของผู้กำกับ เป็นเรื่องราวระหว่าง มนุษย์ vs. เทคโนโลยี และความหวาดระแวงรู้สึกผิดต่อสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเอง, คว้ารางวัล Palme d’Or และเข้าชิง Oscar 3 สาขา
ระหว่างรับชมผมเองก็เข้าใจผิดคิดไปเช่นนั้นนะ เพราะไม่ได้เกิดทันตอนหนังออกฉายเลยจดจำคลาดเคลื่อนเข้าใจผิดเล็กน้อย ซึ่งหลังจากค้นหาข้อมูลและอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ Coppola บอกว่าครุ่นคิดเขียนบทเสร็จตั้งแต่กลางทศวรรษ 60s ล่วงหน้าก่อนการเกิดขึ้นของ Watergate Scandal หลายปีทีเดียว แค่กว่าจะได้โอกาสสร้างก็หลังความสำเร็จอันล้นหลามของ The Godfather (1972) จนสตูดิโอ Paramount ยอมจ่ายเศษเงินให้โปรเจคเล็กๆนี้แบบไม่คิดหวังกำไร (แต่ก็ได้คืนทุนหลายเท่าตัวอยู่)
The Conversation ถือเป็นภาพยนตร์มีความเป็นส่วนตัวที่สุดของผู้กำกับ Francis Ford Coppola ไม่ใช่เพราะเรื่องราวเกี่ยวข้องต่อชีวิตหรือชีวประวัติตนเอง แต่คือ Original Story ท้าทายศักยภาพความสามารถของตนเองในการพัฒนาเรื่องราวอะไรใหม่ๆ คล้ายๆกับ La Dolce Vita (1960), 8½ (1963), 2001: A Space Odyssey (1968), Last Tango in Paris (1972) ฯ ที่ได้สร้างจักรวาลของตนเองขึ้นมา แล้วชักชวนผู้ชมให้เข้าไปเยี่ยมชม เกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหลในโลกส่วนตัวใบนั้น
“The Conversation was very ambitious, and I hung in not because it was going right, but because I couldn’t accept within myself the judgement that I couldn’t succeed in doing it. It’s a funny thing, but I just couldn’t let the project go”.
แต่ปัญหาหนึ่งของ The Conversation ที่ผมเป็นมาตั้งแต่เคยรับชมครั้งแรกๆ หนังชักชวนให้ฟุบหลับสบายฝันดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะกว่าจะถึงจุดที่ความลึกลับ (Mystery) บังเกิดเป็นความลุ้นระทึก (Thriller) ก็ประมาณ 2 ใน 3 สักชั่วโมงกว่าๆผ่านไปแล้ว แนะนำเตรียมร่างกายให้พักพร้อมเพียงพอก่อนแล้วกัน ดูแล้วฟุบหลับตื่นมามันจะเซ็งๆต้องไปเริ่มต้นใหม่ –”
Francis Ford Coppola (เกิดปี 1939) นักเขียน ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Detroit, Michigan ครอบครัวสืบเชื้อสายอิตาเลี่ยน ปู่ทวดอพยพจาก Naples, พ่อเป็นนัก Flutist ประจำวง Detroit Symphony Orchestra, มีพี่น้องสามคนเป็นคนกลาง (น้องสาว Talia Shire เป็นนักแสดง) ตอนเด็ก Coppola ป่วยเป็นโปลิโอ จำต้องพักรักษาตัวอยู่บ้านหลายเดือน ช่วงนั้นทำให้เขารู้จักการเล่นหุ่นเชิด (Puppet Theater) อ่านหนังสือ A Streetcar Named Desire เกิดความสนใจด้านการละคร ตอนแรกตั้งใจเลือกเรียนดนตรีตามพ่อ แต่เมื่อรับชม October: Ten Days That Shock the World (1928) ของ Sergei Eisenstein ตัดสินใจแน่วแน่ต้องการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์
หลังเรียนจบจาก Hofstra University และ University of California, Los Angeles กำกับภาพยนตร์แนวทดลองเรื่องแรก Tonight for Sure (1962) ดิ้นรนไปเรื่อยๆจนกระทั่ง You’re a Big Boy Now (1966) ออกฉายสายประกวดหลักเทศกาลหนังเมือง Cannes แถมเข้าชิง Golden Globe Award: Best Motion Picture – Musical or Comedy ถูกจับตามองฐานะหนึ่งในผู้กำกับรุ่น New Hollywood, คว้า Oscar ตัวแรกจากการเขียนบทดั้งเดิม Patton (1970) เลยได้รับโอกาสกำกับ The Godfather (1972) โด่งดังกลายเป็นตำนานโดยทันที
คนส่วนใหญ่มักจดจำผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Francis Ford Coppola ประกอบด้วย The Godfather (1972), The Godfather Part II (1974) และ Apocalypse Now (1979) แต่ยังมีอีกผลงานโดดเด่นไม่แพ้กันนั่นคือ The Conversation (1974)
จุดเริ่มต้นของ The Conversation เกิดจากการสนทนาของ Coppola กับ Irvin Kershner [ว่าที่ผู้กำกับ The Empire Strikes Back (1980) และ Never Say Never Again (1983)] เมื่อประมาณปี 1966 พูดคุยเกี่ยวกับสายลับในยุคสมัยนั้นที่ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่า สถานที่ปลอดภัยจากการดักฟังที่สุดคือในสวนสาธารณะ เดินไปเดินมาท่ามกลางฝูงชน แต่พวกเขากลับไม่เคยรับรู้ว่า มีไมโครโฟนรุ่นใหม่ที่สามารถบันทึกเสียงแบบเจาะจงแม้อยู่ห่างไกล หรือรอบข้างเสียงดังมากแค่ไหน
และหลังจาก Coppola ได้มีโอกาสรับชม Blow-Up (1966) ของผู้กำกับ Michelangelo Antonioni เกิดความสนใจในไดเรคชั่นการค่อยๆเปิดเผยเรื่องราวจาก ‘ภาพถ่าย’ แล้วถ้าเปลี่ยนเป็นการดักฟัง ‘เสียงสนทนา’ ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดทีละเล็ก มันคงเป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย
แต่กว่าที่ Coppola จะได้บทร่างแรกของหนัง เริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 1967 เสร็จสิ้นปี 1969 จากตั้งใจให้เรื่องราวเกี่ยวกับการดักฟัง และความเป็นส่วนตัวของมนุษย์ พัฒนาแปรเปลี่ยนสู่ตัวละคร (Character Driven) ชายคนหนึ่งผู้เชี่ยวชาญงานสายนี้ และถูกย้อนแย้งทำกลับเข้าหาตนเอง
“I wanted to make a film about privacy using the motif of eavesdropping and wiretapping, and centering on the personal and psychological life of the eavesdropper rather than his victims. It was to be a modern horror film, with a construction based on repetition rather than exposition, like a piece of music”.
Harry Caul (รับบทโดย Gene Hackman) ผู้เชี่ยวชาญด้านการดักฟัง น่าจะอันดับหนึ่งของ San Francisco ได้รับมอบหมายงานให้แอบบันทึกเสียงการสนทนาของหนุ่ม-สาว คู่หนึ่งใน Union Square ที่เหมือนจะไม่มีอะไรนอกจากการนัดพบกันอีก แต่ความลึกลับค่อยๆได้รับการเปิดเผยออก แท้จริงหญิงสาวคนนั้นแต่งงานกับเจ้าของบริษัทใหญ่ ลักลอบเป็นชู้รักกับชายหนุ่มคนนี้ ซึ่งนายจ้างก็คือสามีของเธอที่พอได้ยินบทสนทนาจากเทป มีแนวโน้มสูงว่าจะกระทำการบางสิ่งอย่างให้เกิดขึ้น นั่นทำให้ Caul เริ่มรู้สึกผิดอย่างยิ่งกับงานที่ตนทำอยู่
Eugene Allen Hackman (เกิดปี 1930) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Bernardino, California พ่อแม่หย่าขาดตอนเขาอายุ 13 ปี สามปีให้หลังจึงหนีออกจากบ้าน โกงอายุสมัครเข้าทหารเรือ ทำงานอยู่ 4 ปีครึ่งในหน่วยสื่อสาร ประจำการอยู่ประเทศจีนในช่วง Communist Revolution ตามต่อดด้วย Hawaii และญี่ปุ่น จนปลดประจำการเมื่อปี 1951 พาตัวเองสู่ New York ดิ้นรนหางานทำไปเรื่อยๆ จนเกิดความสนใจด้านการแสดง กลายเป็นเพื่อนร่วมห้องกับ Dustin Hoffman และ Robert Duvall รับบทเล็กๆในซีรีย์โทรทัศน์ แสดงละครเวที Off-Broadway โด่งดังทันทีจากบทสมทบ Bonnie and Clyde (1967) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor, ผลงานเด่นๆ อาทิ The French Connection (1971) ** คว้า Oscar: Best Actor, The Poseidon Adventure (1972); The Conversation (1974), Superman: The Movie (1978), Mississippi Burning (1988), Unforgiven (1992) ** คว้า Oscar: Best Supporting Actor, The Royal Tenenbaums (2001) ฯ
รับบท Harry Caul ชายวัยกลางคนที่หมกมุ่นอยู่กับความเป็นส่วนตัวอย่างสูง ก็ขนาดอพาร์ทเมนต์มีที่ล็อกถึงสามชั้นแถมสัญญาณกันขโมย (แต่ก็ยังมีคนแอบเข้ามาได้) ชื่นชอบการเล่น Saxophone กับดนตรี Jazz แอบมีคนรักแต่ไม่เคยเล่าเรื่องของตนเองให้ใครฟัง ครั้งหนึ่งเผลอบังเอิญพูดบอกความลับแล้วถูกบันทึกเสียงไว้ สร้างความโกรธแค้นฝังหุ่น แต่นั่นยังไม่เลวร้ายเท่าเมื่อโดนทรยศหักหลัง เกิดความหวาดระแวงวิตกจริต คิดเพ้อว่ากำลังถูกดักฟัง ค้นหารื้อถอนทุกสิ่งอย่างในห้องจนไม่หลงเหลืออะไร
เกร็ด: เดิมนั้นชื่อของตัวละครนี้คือ Harry Call แต่เพราะพิมพ์ผิดกลายเป็น Caul ที่หมายถึง พังผืด หรือส่วนของถุงน้ำครำปกคลุมศีรษะ (ป้องกันการกระแทก และไม่ให้จมน้ำ) ถือว่าเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครสมัยเด็กเป็นอย่างดี ผู้กำกับเลยเปลี่ยนมาใช้ชื่อนี้แทน
หลังจาก Coppola เขียนบทหนังเรื่องนี้เสร็จ ส่งให้กับ Marlon Brando (ตั้งแต่ก่อนเริ่มสร้าง The Godfather) คาดหวังให้มารับบทนำ ซึ่งเจ้าตัวอ่านแล้วแสดงความชื่นชอบอย่างยิ่ง แต่ตอบกลับบอกปัดว่านี่ไม่ใช่บทบาทของตนเอง ซึ่ง Hackman เป็นคนที่มีภาพลักษณ์เข้ากับตัวละครที่ผู้กำกับจินตนาการไว้ ติดต่อไปก็ตบปากรับคำทันที
ผู้ชมส่วนใหญ่มักจดจำ Hackman ในภาพลักษณ์ของชายผู้โหดเหี้ยม เกรี้ยวกราด ชื่นชอบใช้ด้วยความรุนแรงตอบโต้ทุกปัญหา แต่บทบาทนี้ถือว่าพลิกกลับตารปัตรเลยละ เป็นคนเก็บกดคับข้องแค้น มักแสดงความกระอักกระอ่วน ยื้อยักลังเล โยกโย้เยไปมา นั่นเพราะตราบาปหลายครั้งในอดีตตราฝังใจ กลายเป็นความหวาดกลัว/หวาดระแวง ไม่ต้องการพูดคุย แสดงออก พบเห็นหรือพบเจอสิ่งชั่วร้ายที่ขัดต่อศรัทธาแรงกล้าในศาสนาของตนเอง
เกร็ด: ในบรรดาบทบาทการแสดงของตนเอง Hackman ชื่นชอบหนังเรื่องนี้ที่สุด
สำหรับนักแสดงสมทบอื่นๆ ขอกล่าวถึงคร่าวๆแล้วกัน
John Cazale รับบท Stan ผู้ช่วยของ Harry Caul มีหน้าที่รองมือรองเท้าจากความเห็นแก่โลกส่วนตัวของเขา จนเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็อดรนทนไม่ไหวแล้ว หนีไปสมัครงานอยู่กับอีกบริษัทคู่แข่ง แต่ก็ถูกชักจูงโน้มน้าวให้หวนกลับมา (แต่ก็ไม่รู้หวนกลับมาหรือเปล่านะ เหมือนจะหายไปเลยมากกว่า)
Allen Garfield รับบท William P. ‘Bernie’ Moran คู่แข่งนักดักฟังที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ เงินทุนหนา แต่อัจฉริยภาพยังห่างชั้นกับ Harry Caul อยู่หลายขุม พยายามโน้มน้าวชักจูงให้เข้ามาร่วมหุ้นเป็นส่วนหนึ่ง ได้รับการบอกปัดปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย กระนั้นก็มีการท้าทายกันด้วยเกมดักฟัง แม้เป็นเพียงหยอกเล่นแกล้งเล่นกลับทำให้ Caul หัวเสียรุนแรง งานเลี้ยงเลิกราโดยทันที
Harrison Ford จากที่ควรเป็นบทเล็กๆไม่มีอะไรมาก เจ้าตัวสร้างสีสันด้วยการซื้อสูทสีเขียวราคา 900 เหรียญที่ทำให้ตัวละครนี้ดูเหมือนเกย์มาสวมใส่ ชื่นชอบถูกใจ Coppola อย่างมากเลยเพิ่มบทพร้อมตั้งชื่อตัวละครให้ Martin Stett เลขานุการที่ดูแล้วเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบงการทุกสิ่งอย่าง เต็มไปด้วยความลึกลับน่าสงสัย มันต้องมีลับลมคมในอะไรแน่ๆ
Robert Duvall กับบทบาทเล็กๆ The Director/เจ้าของบริษัทแห่งหนึ่ง แต่งงานกับหญิงสาวที่ห่างวัยกันมาก ดูแล้วคงไม่สามารถเติมเต็มความสุขให้กันและกันสักเท่าไหร่ เธอจึงลักลอกแอบออกหาความสำราญทางอื่น, ใบหน้าที่เหมือนคนเก็บกด ซีเรียสจริงจัง หวาดระแวงของ Duvall มีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวละครของ Hackman ไม่ต่างกันเท่าไหร่
ถ่ายภาพโดย Bill Butler ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ที่เข้ามาแทนที่ตากล้องคนแรก Haskell Wexler ถูกไล่ออกเพราะความคิดเห็นแตกต่าง (ฉากที่ Wexler ถ่ายทำไว้เสร็จแล้วถูกรื้อเริ่มต้นใหม่หมด), ผลงานเด่นของ Butler อาทิ The Conversation (1974), Jaws (1975), Rocky Trilogy, One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975), Grease (1978) ฯ
เกร็ด: นี่เป็นครั้งแรกที่ Wexler ถูกไล่ออกแล้วแทนที่ด้วย Butler ครั้งที่สองคือตอน One Flew Over the Cuckoo’s Nest (1975) แต่ผู้กำกับ Miloš Forman มอบเครดิตถ่ายภาพให้พวกเขาทั้งคู่
หนังปักหลักถ่ายทำยัง San Francisco, California ใช้สถานที่จริงทั้งหมด ด้วยฟีล์มสี Technicolor (เห็นว่าเป็นเรื่องท้ายๆแล้ว เพราะเทคโนโลยีนี้กำลังตกรุ่นไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป)
เกร็ดไร้สาระ: โรงแรม Jack Tar Hotel ตั้งอยู่ที่ Van Ness Avenue เปิดให้บริการปี 1960 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Cathedral Hill Hotel เมื่อปี 1982 และถูกทุบทำลายกลายเป็นโรงพยาบาลเมื่อปี 2013
เทคนิคการถ่ายภาพที่พบเห็นบ่อยๆคือ แพนนิ่ง และซูมเข้า (ไม่ค่อยเน้นซูมออกสักเท่าไหร่) มักจากระยะไกลๆ ค่อยๆเคลื่อนเข้าหาจนผู้ชมสามารถจับจ้องมองเห็นตัวละครที่ต้องการให้เป็นจุดโฟกัส บางครั้งถ่ายจากมุมสูงบนตึก (น่าจะใช้ Telephoto Lens ด้วยกระมัง) และหลายครั้งลักษณะเหมือนการแอบถ่าย ตั้งกล้องระดับพื้นดิน ซูมจนสามารถ Close-Up ใบหน้าของตัวละครเต็มๆได้
ฉากเปิดเรื่องเห็นว่าใช้กล้องถ่ายทำทั้งหมด 6 ตัว บันทึกภาพจากหลายมุมมอง จับจ้องติดตามนักแสดงให้อยู่ในโฟกัสมากที่สุด (คือทำเหมือนทีมนักดักฟังไม่ผิดเพี้ยน) สำหรับการบันทึกเสียง ก็ใช้วิทยุไร้สาย (Wireless) จากหลากหลายตำแหน่งทิศทางเช่นกัน
ปกติฉากอื่นๆ กล้องมักจะเคลื่อนแพนนิ่ง ติดตามโฟกัสที่นักแสดงโดยตลอด แต่เฉพาะกับฉากในอพาร์ทเม้นต์ของ Harry Caul กล้องจะตั้งไว้นิ่งๆ ตัวละครเดินเข้าออกไปมา หลายครั้งหายตัวจากฉาก (เข้ามุมด้านหลังกล้อง) นี่ราวกับว่าเป็นการสะท้อนช่วงเวลา ‘ความเป็นส่วนตัว’
ภายในสถานที่ทำงานของ Harry Caul เหมือนว่าจะอยู่ในโกดังขนาดใหญ่ มีบริเวณที่เป็นลานว่างเปล่า ถูกใช้เป็นไฮไลท์ตอนที่เขาพาพรรคพวกร่วมอาชีพนักดักฟัง มาร่วมปาร์ตี้เฮฮาสังสรรค์
ไดเรคชั่นของฉากนี้สะท้อนตัวตนอันว่างเปล่า และความพยายามรักษาระยะห่างของ Haryy Caul, หญิงสาวเป็นผู้เกี้ยวพาราสีเดินนำลากจูง จากนั้นแยกห่างจับจองกันอยู่คนละเสา สนทนาไปสักพักเธอก็เดินเข้ามาโอบกอดรัดขอให้เขาเล่าอะไรสักอย่างเกี่ยวกับตัวตนเอง แม้ไม่ค่อยเต็มใจนักแต่ก็ยอมพูดบางสิ่งออกมา ตามด้วยเต้นรำเคียงคู่ในโลกที่มีแต่พวกเขา ก่อนที่มอเตอร์ไซค์ของพรรคพวกจะขับเวียนวนรอบ ราวกับการโคจรรอบโลก
เด็ดสะระตี่ที่ผมชื่นชอบสุดของหนังคือช็อตนี้ เทปกำลังหมุนเล่นไป หญิงสาวปลดเปลื้องเสื้อผ้าเพื่อ Casual Sex ส่วน Caul นอนหมดแรงสิ้นสภาพอยู่บนเตียง นี่สะท้อนถึงสิ่งสำคัญสุดในชีวิตของชายวัยกลางคนผู้นี้ ประกอบด้วย อาชีพการงาน และ Sex กับหญิงสาว เลือกตำแหน่งมุมกล้องได้สมบูรณ์แบบมาก
หลังจากช็อตนี้ จะตัดไปภาพที่ใบหน้าของ Caul อาบด้วยเงาสะท้อนของรั้วลวดเหล็ก สะท้อนว่าเขากำลังติดอยู่ในกรงขังอะไรสักอย่าง (ปมบางอย่างในอดีต ที่จะถูกเฉลยใน Sequence ความฝันลำดับต่อไป)
และเมื่อเทปเสียงพูดจบลง Sex ของพวกเขาก็เสร็จสิ้นลงพอดี นี่เป็นการสะท้อนนัยยะที่ผมกล่าวถึงไปด้านบท Sex = การดักฟังผู้อื่น
Sequence ในความฝันของ Harry Caul ใช้หมอกควันสะท้อนความพร่ามัวเลือนลางของสิ่งที่เขาต้องการพูดบอกออกมา อดีตวัยเด็กได้กลายเป็นปมด้อยให้เขารู้สึกผิดต่ออะไรหลายๆอย่าง เก็บกดความรู้สึกของตนเองจนปัจจุบันกลายเป็นคนเช่นนี้
พื้นหลังของ Harry Caul รู้สึกว่าก็คือชีวประวัติจริงๆของผู้กำกับ Coppola เมื่อครั้นวัยเด็ก แทรกใส่เข้ามาเพื่อให้ผู้ชมสามารถทำความเข้าใจตัวละครได้มากขึ้น แต่ Caul ตอนโตไม่ได้กลายเป็น Coppola นะครับ นั่นคือสิ่งที่เขาปรุงแต่งสร้างขึ้นในวิสัยทัศน์ของตนเอง
Sequence นี้มันคือความจริงหรือความฝัน? ผมคิดว่าเป็นในความฝันของ Harry Caul เพราะมันนำเสนอมาในเชิงสัญลักษณ์ของโถส้วม และเลือดไหลท่วม (=ความตาย) Coppola บอกว่าเป็นการอ้างอิงถึงหนังเรื่อง Psycho (1960) ที่ผู้ชมจะได้รับสัมผัสอันน่าหวาดสะพรึงกลัว สั่นสะท้านขนหัวลุกซู่
อีกเหตุผลที่คิดว่านี่เป็นฉากในความฝัน เพราะต่อจากนี้เมื่อบางสิ่งอย่างได้ถูกเฉลยออกมา จะมีภาพที่คล้ายๆ Flashback พบเห็นห้องนี้ในสภาพที่ … นั่นราวกับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า Sequence นี้เสียงอีก
น่าสนใจที่ก่อนหน้านี้ ห้องข้างๆ สถานที่ซึ่ง Caul เจาะรูสำหรับแอบดักฟังก็คือในห้องน้ำติดกับโถส้วมนี่แหละ สะท้อนว่าการกระทำนี้มันช่างชั้นต่ำทรามเสียจริง (ห้องน้ำเป็นสถานที่สกปรกที่สุดในบ้าน มักใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความชั่วเลวร้าย ตกต่ำ)
สำหรับสองช็อตถัดจากนี้
– Harry Caul เดินผ่านตึกหลังหนึ่งที่เหลือเพียงซากพังทลาย
– รีบเร่งเดินในทิศทางขวาไปซ้าย (ทิศทางย้อนศร) กำลังจะทำในสิ่งไม่สมควร
อีกหนึ่งช็อตที่มีความน่าสนใจมากๆ 3-4 ตัวละครในภาพนี้ยืนตำแหน่ง ทิศทาง หันหน้าคนละด้านกันเลย
– ขอเริ่มจากเลขานุการ (ที่รับบทโดย Harrison Ford) หมอนี่สนใจแต่เทปที่กำลังเปิดอยู่เท่านั้น เพราะเขาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป
– Harry Caul ยืนจับจ้องมองผู้ว่าจ้างงานชิ้นนี้ของตนเอง
– ผู้อำนวยการ (ที่รับบทโดย Robert Duvall) ถึงตัวยืนอยู่ในทิศทางเดียวกับเลขากำลังฟังเสียงจากเทป แต่ใบหน้าหันมองออกไปภายนอกหน้าต่าง ครุ่นคิดเพ้อถึงอะไรอย่างอื่น … นี่ฉันจะจัดการแก้ปัญหานี้อย่างไร
– มีอีกหนึ่งที่มาเป็นภาพ คือหญิงสาว (อยู่ขวาสุด ข้างๆ Caul) อยู่ตำแหน่งตรงกันข้ามกับเครื่องเล่นเทป สะท้อนว่าตัวจริงกันสิ่งที่ได้ยิน อาจไม่สิ่งเดียวกัน
แม้ว่าหนังจะไม่ให้รายละเอียดใดๆของบริษัทแห่งนี้ไว้ แต่สามารถคาดเดาได้ว่าน่าจะเกี่ยวกับก่อสร้าง สถาปนิก สังเกตจากโมเดลที่วางอยู่กลางห้อง
ความหวาดระแวง ทั้งๆที่อาจจะไม่มีอะไรซ่อนอยู่ด้วยซ้ำ แต่มันสามารถกัดกร่อนกินทำลายจิตใจของคนให้พังทลายสิ้นสูญ (เปรียบบ้าน = ภายในจิตใจของมนุษย์)
ก่อนถึงช็อตนี้ ขณะหนึ่งที่ Caul กำลังค้นหาเครื่องดักฟัง ทำลายมันทุกสิ่งอย่างยกเว้นรูปปั้นของพระแม่มารีย์ เชื่อว่าวินาทีนั้นหลายคนคงคิดว่า เครื่องดักฟังต้องอยู่ในสิ่งๆนี้แน่ แต่แท้จริงแล้วก็ไม่มี ทั้งหมดเป็นความหวาดระแวงคิดไปเองทั้งนั้น
ช็อตสุดท้ายของหนังนี้ กล้องจะแพนนิ่งจากด้านขวาของห้องไปซ้าย แล้วแฟนกลับไปขวา และแพนมาซ้ายอีกรอบ เหมือนกล้องวงจรปิด/คนส่ายหัว แถมสภาพของตัวละคร Caul นั่งหมดอาลัย หมดสภาพ เป่าแซกโซโฟนอย่างหมดเรี่ยงแรงสิ้นหวัง
ตัดต่อโดย
– Walter Murch นักตัดต่อและออกแบบเสียง ขาประจำของ Coppola คว้า Oscar จากเรื่อง Apocalypse Now และ The English Patient
– Richard Chew นักตัดต่อยอดฝีมือ ผลงานเด่นอาทิ The Conversation (1974), One Flew Over The Cuckoo’s Nest (1975), Star Wars (1977) ฯ
หนังทั้งเรื่องใช้มุมมองของ Harry Caul ในการเล่าเรื่อง ซึ่งระหว่างนั้นจะมีแทรกภาพจากความทรงจำ (โดยเฉพาะงานดักฟังครั้งล่าสุด พบเห็นได้ยินหลายซ้ำๆหลายครั้งทีเดียว) และจินตนาการเพ้อฝัน (ฝันถึงหญิงสาว, จินตนาการเห็นเลือดผุดขึ้นจากชักโครก ฯ)
ไดเรคชั่นของการนำเสนอภาพงานดักฟังหนุ่ม-สาว ที่ปรากฎพบเห็นแทรกอยู่เรื่อยๆนั้น แม้เริ่มต้นและลงท้ายจะซ้ำๆเดิม แต่ทุกครั้งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมทีละเล็กละน้อย จริงอยู่มันอาจน่าเบื่ออยู่บ้าง แต่สิ่งใหม่ๆนั้นจะค่อยๆสร้างความลึกลับพิศวงให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ
เพลงประกอบโดย David Shire นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน โด่งดังกับ The Conversation (1974), All The President’s Men (1976), Saturday Night Fever (1977), Norma Rae (1979), Short Circuit (1986), Zodiac (2007) ฯ เห็นว่าแต่งขึ้นเสร็จสรรพก่อนหน้าเริ่มต้นโปรดักชั่น และใช้เปิดประกอบระหว่างถ่ายทำเพื่อสร้างบรรยากาศให้นักแสดง
เสียงเดี่ยวเปียโนที่จะได้ยินประกอบตลอดเรื่อง ให้สัมผัส/สะท้อนถึงความโดดเดี่ยวอ้างว้างว่างเปล่าภายในจิตใจของตัวละคร ด้วยเลยนี้เลยจะไม่มีเครื่องดนตรีอื่นประกอบคลอด้วย (ยกเว้นแซกโซโฟนที่พระเอกเล่น)
การเลือกใช้ Saxophone และดนตรี Jazz ก็เพื่อระบายความอึดอัดอั้นภายในของตัวละครอออกมา เพราะเครื่องดนตรีและสไตล์เพลงนี้ โด่งดังในความที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่นออกมาได้อย่างทรงพลัง
เกร็ด: Hackman หัดเล่นแซกโซโฟนเพื่อหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ
Sound Effect ก็ไม่รู้พลาดรางวัล Oscar ให้กับ Earthquake (1974) ไปได้อย่างไร [แต่ Oscar ก็นิยมมอบรางวัลเทคนิคด้านเสียง ให้กับหนังเรื่องมี Visual/Special Effect อลังการ เพราะถือว่ายุ่งยากและซับซ้อนกว่า] ฉากที่ถือว่าเป็น Masterpiece ก็ไม่รู้กี่เสียงกี่เรื่องราวที่ดังขึ้นในสวนสาธารณะ Union Square เห็นว่าเครื่องมือที่ใช้ล้วนเป็นของจริง ได้รับคำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค Martin Kaiser (คนนี้ถือว่าคือ Harry Caul ในโลกความจริงเลยนะ)
การมาถึงของโลกยุคเทคโนโลยี โลกาวิวัฒน์ ทำให้ความเป็นส่วนตัวของมนุษย์ค่อยๆลดลง ซึ่งเรื่องราวของ The Conversation ถือเป็นครั้งแรกๆที่มีการนำเสนอความ ‘Horror’ ของบุคคลผู้สูญเสียพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของตนเอง เกิดอาการวิตกจริตหวาดระแวง ทั้งๆที่นั่นอาจไม่มีอะไรในกอไผ่เลยก็ได้
ใครๆคงบอกได้ว่าอาชีพนักดักฟัง แอบถ่าย ฯ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผิดหลักมนุษยธรรม (เพราะไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวผู้อื่น) แต่ตลกที่ถ้านำไปใช้ในศาล กลับได้รับอนุญาตและถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของการตัดสินโทษ, ซึ่งการอ้างจริยธรรม จรรยาบรรณหรือความเป็นมืออาชีพของสายงานนี้ ต้องถือว่าเป็นอะไรที่ไร้สาระ ขัดแย้งกันเอง เพราะมันไม่มีหรอกรับรู้เรื่องลับๆส่วนตัวของผู้อื่น แล้วจะนำมันไปใช้ในทางที่ดีสร้างสรรค์ รังแต่จะก่อให้เกิดความเสียหาย เปิดโปงเผยข้อเท็จจริง ขู่กรรโชกเรียกทรัพย์ ฯ
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Harry Caul ถือว่าเป็นผลกรรมย้อนแย้งกลับเข้าสู่ตนเอง เคยทำอะไรกับใครไว้ (ดักฟังผู้อื่นไปทั่ว) สุดท้ายเกิดความหวาดระแวงที่จะถูกผู้อื่นทำสิ่งเดียวกันย้อนกลับ (ถูกดักฟัง)
ก็มีคนวิเคราะห์กันอย่างสนุกว่า สงสัยเครื่องดักฟังมันคงอยู่ใน Saxophone สิ่งเดียวที่ Caul มิได้แยกชิ้นส่วนออกค้นหา ซึ่งถ้านั่นเป็นจริงคงสะท้อนความหมายประมาณว่า เสียงคือสิ่งที่ทำลายความเป็นส่วนตัวของมนุษย์
“He couldn’t find out where [the bug] was because it was the instrument itself.”
ผมไปอ่านเจอบทความหนึ่ง เปรียบเทียบถึงสิ่งที่ถือว่าเป็นการลักลอบแอบฟังเรื่องราว/ความคิดอ่านผู้อื่น มีความเก่าแก่ยาวนานตั้งแต่โบราณกาล และน่าจะที่สุดในโลก นั่นคือห้องสารภาพบาปของชาวคริสเตียน แม้ว่าบาทหลวงจะไม่มีสิทธิ์แพร่งพรายสิ่งที่เกิดขึ้น แต่นั่นทำให้ความลับของคนๆหนึ่งไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อจุดประสงค์ให้บุคคลผู้นั้นยินยอมรับความผิดพลาดพลั่งในการกระทำของตนเอง ขอให้พระผู้เป็นเจ้าให้อภัย และชีวิตจักสามารถได้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้
ครุ่นคิดถึงใจความหนังเรื่องนี้แล้วก็รู้สึกขบขันเล็กๆ เพราะยุคสมัยปัจจุบันนี้ 2010s การมาถึงของ Social Network ทำให้ทุกสิ่งอย่างที่ออนไลน์บนอินเตอร์เน็ต ไม่มีอะไรคือความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป ต่อให้เข้ารหัส จำเพาะเจาะจงเฉพาะเพื่อนเท่านั้นมองเห็นได้ ยอมรับเสียเถอะว่านั่นไม่เพียงพอเรียกว่า ‘ส่วนตัว’ หรอกนะ แถมค่านิยมของคนยุคสมัยนี้ ชอบนำพื้นที่ส่วนตัวของตนเองมาเปิดเผยออกสู่สาธารณะอีกต่างหาก
อะไรคือความเป็นส่วนตัว? สำหรับมนุษย์ ผมว่ามีสิ่งเดียวเท่านั้นคือ ความคิดอ่านของตนเอง เพราะนั่นยังไม่มีใครสามารถสร้างเครื่องอ่านคลื่นสมองออก ดังนั้นไม่ว่าอะไรที่เราครุ่นคิดขึ้นภายในจิตใจ ถ้าไม่พูดแสดงออกมานั่นคือความลับส่วนตัว ไม่มีใครสามารถล่วงรับรู้ได้แน่นอกจากตนเอง
แต่ถ้าคุณเป็นชาวพุทธแท้ๆ จะรับรู้ว่าไม่มีอะไรในสากลจักรวาลที่คือความลับเรื่องส่วนตัว แม้แต่ความคิดอ่านของเราก็ยังถูกจดบันทึกในบัญชีบาปบุญ คิดชั่วถือเป็นอกุศลจิต (โลภะ, โทสะ, โมหะ) คิดดีคือกุศลจิต (ไม่โลภ, ไม่โกรธ, ไม่หลง) ไม่มีทางปกปิดความดีชั่วของตนเองในโลกหลังความตายได้อย่างแน่นอน
ออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามา 2 รางวัล
– Palme d’Or
– Prize of the Ecumenical Jury – Special Mention
ด้วยทุนสร้าง $1.6 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $4.4 ล้านเหรียญ ไม่เยอะเมื่อเทียบกับผลงานก่อนหน้า แต่ก็เพียงพอทำกำไรได้เหลือเฟือ, เข้าชิง Oscar 3 สาขา ไม่ได้สักรางวัล (พ่ายให้กับ The Godfather Part II ที่ก็ของ Coppola ออกฉายปลายปี)
– Best Picture
– Best Writing, Original Screenplay
– Best Sound
ใน DVD Commentary ผู้กำกับ Coppola เปิดเผยว่ารู้สึกตกตะลึงเมื่อทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเทปลับในทำเนียบขาว ซึ่งใช้อุปกรณ์เดียวกันกับที่ปรากฎอยู่ในหนัง ซึ่งนั่นสร้างความวิตกกังวลให้พอสมควร เพราะผู้ชมส่วนใหญ่คงมองหนังเปรียบเทียบเหตุการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นนั้นอย่างแน่ ซึ่งถือเป็นความบังเอิญล้วนๆ มิได้ตั้งใจหรือมีอะไรซ่อนเร้นแฝงอยู่แม้แต่น้อย ส่วนนี้ผมเลยไม่ขอวิเคราะห์ต่อนะครับ จบที่ตรงนี้เลยแล้วกัน
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบสุดของหนัง คือการแสดงของ Gene Hackman ถ่ายทอดตัวละครเต็มไปด้วยความหวาดระแวงได้อย่างกระอักกระอ่วน ทุกข์ทรมาน น่าสงสารเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง และบทเพลง Jazz เสียงแซ็กโซโฟน เปียโนนุ่มๆ น่านอนหลับนักแล
แนะนำกับคอหนัง Mystery, Thriller, ชื่นชอบการเล่นวิทยุ ดักฟัง นักวิศวกรไฟฟ้าทั้งหลาย, ตำรวจ นักสืบ ทำงานสื่อสาร สมควรศึกษาไว้เป็นบทเรียน, แฟนๆผู้กำกับ Francis Ford Coppola และนักแสดง Gene Hackman, John Cazale, Harrison Ford, Robert Duvall ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับบรรยากาศสุดแสนตึงเครียด
Leave a Reply