The Cow

The Cow (1969) Iranian : Dariush Mehrjui ♥♥♥♥

วัวตัวเดียวทำเสียวทั้งหมู่บ้าน! การเสียชีวิตของมันสามารถสะท้อนจิตวิทยา แฝงปรัชญา ความเชื่อศรัทธา ศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯ ไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้น Iranian New Wave แต่ต้องเรียกว่ามาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ชายคนหนึ่งมีความจงรักต่อแม่วัวตัวเดียวในหมู่บ้าน เอ็นดูปูเสื่อ ขัดสีฉวีวรรณ ปรนเปรอนิบัติยิ่งกว่าภรรยาตนเอง! แต่การตายโดยไม่ทราบสาเหตุทำให้เขาคลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตก โดยไม่รู้ตัวกลับกลายเป็นวัวตัวนั้น !@#$%

พล็อตหนังมีอยู่แค่นั้นละครับแต่เราสามารถตีความได้ครอบจักรวาล ถึงการสูญเสียความรัก สิ่งเคยเป็นที่พึ่งพักพิง ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตวิทยา (ครุ่นคิดว่าตนเองเป็นวัว, Boanthropy) ก่อเกิดคำถามอภิปรัชญา (ฉันคือใคร คนหรือสัตว์?) ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ (จะมองว่าถูกวิญญาณวัวเข้าสิงก็ได้กระมัง) ศรัทธาศาสนา (พราหมณ์ฮินดูถือว่าวัวคือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ แต่สำหรับชาวมุสลิมกลับเป็นสัตว์พลีทาน) และยังสะท้อนสถานะประเทศอิหร่าน ภายใต้ระบอบราชาธิปไตย

แซว: สภาพตัวละครหลังจากสูญเสียวัวสุดที่รัก ชวนให้ผมระลึกถึงโคตรหนังเงียบ The Last Laugh (1924) ของผกก. F. W. Murnau หลังจาก Emil Jannings สูญเสียเครื่องแบบพนักงานต้อนรับ สภาพจิตใจของเขาค่อยๆจมดิ่งลงสู่ก้นเบื้องอันมืดมิด

ขณะที่การนำเสนอของผกก. Mehrjui เต็มไปด้วยลวดลีลา ภาษาภาพยนตร์ งดงามระดับวิจิตรศิลป์ ทั้งถ่ายภาพ ตัดต่อ เพลงประกอบ มอบสัมผัสบทกวี ถึงขนาดว่าเมื่อตอนลักลอบไปฉายเทศกาลหนังเมือง Venice ปี 1971 แม้ไม่มีกระทั่งซับไตเติ้ล แต่ได้เสียงตอบรับฮือฮาที่สุดในเทศกาล

Good cinematography, conscious lighting, and precise mise-en-scène could all inspire the emotional and sometimes highly philosophical theme of the film.

Giovanni Raboni นักกวี/นักวิจารณ์สัญชาติอิตาเลี่ยน

Dariush Mehrjui (เกิดปี 1939), داریوش مهرجویی ผู้กำกับชาว Iranian เกิดที่ Tehran ในครอบครัวชนชั้นกลาง วัยเด็กมีความชื่นชอบด้านการวาดรูป Miniatures, เล่นดนตรี Santoor, Piano, แต่มีความลุ่มหลงใหลภาพยนตร์มากที่สุด โดยเฉพาะหลังรับชม Bicycle Thieves (1948) ถึงขนาดสร้างโปรเจคเตอร์ 35mm เช่าฟีล์มมาฉาย เก็บค่าตั๋วหนัง สำหรับนำไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ

พออายุได้ 20 เดินทางสู่สหรัฐอเมริกา เข้าเรียนสาขาภาพยนตร์ University of California, Los Angeles’ (UCLA) กลายเป็นลูกศิษย์ของผู้กำกับ Jean Renoir แต่ภาพรวมไม่ค่อยประทับใจสถาบันนี้สักเท่าไหร่ เลยเปลี่ยนไปเรียนสาขาปรัชญา จนสำเร็จการศึกษาปี ค.ศ. 1964

They wouldn’t teach you anything very significant … because the teachers were the kind of people who had not been able to make it in Hollywood themselves … [and would] bring the rotten atmosphere of Hollywood to the class and impose it on us.

Dariush Mehrjui กล่าวถึงครูสอนภาพยนตร์ที่ UCLA

เมื่อเดินทางกลับอิหร่าน ทำงานเป็นนักเขียน บรรณาธิการ สอนหนังสือวิชาวรรณกรรมและภาษาอังกฤษ ระหว่างนั้นก็ครุ่นคิดพัฒนาบทหนัง สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก Diamond 33 (1966) เลียนแบบแฟนไชร์ James Bond แต่ประสบความล้มเหลว ขาดทุนย่อยยับเยิน!

ระหว่างที่ผกก. Mehrjui กำลังมองหาโปรเจคถัดไป มีโอกาสพบเจอนักเขียน Gholam-Hossein Sa’edi (1936-85), غلامحسین ساعدی เสนอแนะให้ดัดแปลงเรื่องสั้นของตนเอง Gāv, گاو รวมอยู่ในหนังสือ عزاداران بَیَل อ่านว่า Azā’dārān-e Bayal, ชื่อภาษาอังกฤษ The Mourners of Bayal (1964)

ว่ากันว่า Sa’edi ได้แรงบันดาลใจเรื่องราวของ The Cow จากปรัมปรา/เรื่องเล่าพื้นบ้าน Persian กล่าวถึงเจ้าชาย Majd al-Dawla, مجد الدوله ชื่อจริง Abu Talib Rustam (ค.ศ. 997-1029), ابو طالب رستم แห่งแคว้น Buyid amirate วันหนึ่งเกิดอาการหลงผิด (Delusion) ครุ่นคิดว่าตนเองกลายเป็นวัว ส่งเสียงร้องโหยหวน พยายามขอให้ถูกฆ่าเพื่อเป็นสัตว์พลีทาน แต่สุดท้ายได้รับการรักษาโดย Avicenna, ชื่อจริง Ibn Sina (ค.ศ. 980-1037), ابن سینا นักปราชญ์ชาวเปอร์เซีย ผู้บุกเบิกเภสัชวิทยาต้นไม้สมุนไพร ถือเป็นตำราพื้นฐานแพทย์ที่สำคัญของโลกมุสลิม


ณ หมู่บ้านชนบทห่างไกลแห่งหนึ่ง นำเสนอเรื่องราวของชายวัยกลางคน Masht Hassan (รับบทโดย Ezzatolah Entezami) แม้มีภรรยาแต่ยังไร้ทายาทสืบสกุล ด้วยเหตุนี้จึงเอ็นดูทะนุถนอมแม่วัวตัวเดียวของหมู่บ้าน เพราะมันกำลังท้องแก่ใกล้คลอด พาไปอาบน้ำ ขัดสีฉวีฉวรรณ ยามค่ำคืนก็หลับนอนร่วมกัน เพราะเกรงกลัวว่าจะถูกพวก Bolouri (กลุ่มคนนอกรีต ไม่ได้นับถืออิสลาม) แอบบุกเข้ามาลักขโมย หรือเข่นฆาตกรรม

แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้น ระหว่างที่ Hassan ออกไปทำธุระนอกหมู่บ้าน จู่ๆแม่วัวล้มลงสิ้นใจตายโดยทราบสาเหตุ Masht Eslam (รับบทโดย Ali Nassirian) จึงร้องขอให้สมาชิกทุกคนรูดซิปปิดปาก ห้ามพูดบอกความจริง ใช้ข้ออ้างว่ามันหลบหนีหายจากคอก ถึงอย่างนั้นแผนการดังกล่าวก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะ Hassan รับรู้อยู่แก่ใจว่าแม่วัวของตนเองไม่มีทางทอดทิ้งจากไป

เพราะมิอาจทำใจยินยอมรับเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เขาค่อยๆสูญเสียสติ กลายเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง รับประทานหญ้า เดินสี่ขา และกล่าวอ้างว่าตนเองคือวัวของ Hassan จนชาวบ้านต้องล้อมจับ ผูกมัดเชือก พาเดินทางเข้าเมือง เพื่อไปหาหมอรักษาอาการป่วย


Ezzatolah Entezami (1924-2018), عزت‌الله انتظامی นักแสดงสัญชาติ Iranian บุตรชายของนักแต่งเพลงชื่อดัง Majid Tazami เกิดที่ Sangalaj, Tehran โตขึ้นร่ำเรียนไฟฟ้ายัง Tehran Technical School ก่อนเปลี่ยนความสนใจด้านศิลปะ เดินทางไปร่ำเรียนการแสดงที่ Hanover, Germany แล้วกลับมาเป็นนักแสดงละครเวที มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Spring Variety Show (1949), แต่มาแจ้งเกิดโด่งดัง และกลายเป็นขาประจำผู้กำกับ Dariush Mehrjui ตั้งแต่ The Cow (1969), Mr. Naive (1970), The Cycle (1976), The Tenants (1987), Hamoun (1990) ฯลฯ

รับบท Masht Hassan ชายวัยกลางคนผู้มีความรัก เอ็นดูทะนุถนอมแม่วัวท้องแก่ ยิ่งกว่าภรรยาของตนเอง พาไปอาบน้ำ ขัดสีฉวีวรรณ พอกลับมาบ้านก็ร่วมหลับนอนในคอกเดียวกัน ต้องการอยู่เคียงชิดใกล้ ยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม ใครอื่นไม่ให้สัมผัสจับต้อง เบิกบานด้วยรอยยิ้มร่าแทบตลอดเวลา

แต่ความตายของแม่วัวทำให้ Hassan ตกอยู่ในความทุกข์โศก ไม่เป็นอันกินอันนอน จนเกิดภาพหลอนเข้าใจผิด (Delusion) ครุ่นคิดว่าตนเองเป็นแม่วัว รับประทานหญ้า เดินสี่ขา เรียกร้องหา Hassan ให้ปกป้องจากการบุกรุกรานของพวก Bolouri เมื่อชาวบ้านพบเห็นสภาพดังกล่าว จึงมิอาจอดรนทนได้อีกต่อไป

การแสดงของ Entezami ถือว่าโคตรๆตราตรึง โดยเฉพาะครึ่งแรกเต็มไปด้วยรอยยิ้ม อิ่มเอมหฤทัย ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความรักของตัวละครต่อแม่วัว หวานแหววยิ่งกว่าหนังโรแมนติก! ครึ่งหลังเมื่อตกอยู่ในสภาพท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก ปฏิกิริยาสีหน้า สายตาเหม่อล่องลอย ค่อยๆสูญเสียความเป็นมนุษย์ จนดูเหมือนแม่วัวจริงๆ … เห็นว่าผกก. Mehrjui เลือกนักแสดง Entezami ก็เพราะใบหน้าเหมือนวัว

พบเห็นรูปร่างหน้าตาของ Entezami ชวนให้ผมระลึกถึง Eli Wallach โดยเฉพาะบทบาทจากภาพยนตร์ The Good, the Bad and the Ugly (1966) ไม่ใช่ความกะล่อนปลิ้นปล้อนนะครับ แต่คือตัวตนแท้จริงที่ใสซื่อบริสุทธิ์ ดูไร้เดียงสาต่อโลกใบนี้ (เลยมักถูกผู้อื่นกลั่นแกล้ง ลวงล่อหลอกอยู่เสมอๆ)


ถ่ายภาพโดย Fereydon Ghovanlou,

งานภาพของหนังคละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย Neorealist พยายามถ่ายออกมาให้ดูเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ ใช้เพียงแสงอาทิตย์ ส่วนฉากกลางคืนก็น่าจะใช้แสงสป็อตไลท์จากเครื่องปั่นไฟ (ไฟฟ้าเหมือนยังเข้าไม่ถึง) ยังหมู่บ้านชนบทไม่ไกลจาก Tehran บริเวณโดยรอบยังเป็นท้องทุ่งกว้างใหญ่ (ปัจจุบันไม่น่าเหลือสภาพเดิมแล้วนะครับ คงกลายเป็นชุมชนเมืองไปหมดแล้ว) ตัวประกอบส่วนใหญ่คือชาวบ้าน นอกจากตัวละครหลักๆถึงใช้บริการนักแสดงอาชีพ

สำหรับคนช่างสังเกตจะสามารถแบ่งเรื่องราวออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง ซึ่งมีการนำเสนอที่แตกต่างตรงกันข้าม ยกตัวอย่างครึ่งแรกเมื่อตอน Hassan พาแม่วัวไปอาบน้ำ ถ่ายติดดวงอาทิตย์ ใบหน้าอาบฉาบด้วยแสงสว่าง แต่ครึ่งหลังเมื่อชาวบ้านลากพา Hassan (กลายเป็นวัว) ไปรักษาตัวยังโรงพยาบาล ถ่ายย้อนแสง ฝนตกหนัก ใบหน้าปกคลุมด้วยความมืดมิด


Opening Credit นำเสนอภาพเงาดำ (Silhouette) ระหว่าง Hassan กำลังลากจูงแม่วัว พาไปอาบน้ำยังลำธารนอกหมู่บ้าน นี่เป็นซีเควนซ์ที่มอบสัมผัสเหนือธรรมชาติ ดูราวกับจิตวิญญาณของมนุษย์และสัตว์ มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงราวกับเป็นอันหนึ่งเดียวกัน!

อย่างที่อธิบายไปคร่าวๆแล้วว่า ช่วงครึ่งแรกของหนังระหว่าง Hassan พาแม่วัวไปอาบน้ำ จะมีการถ่ายเข้าหาดวงอาทิตย์ ให้ใบหน้านักแสดงอาบด้วยแสงสว่าง เพื่อแสดงถึงความร่าเริงเบิกบาน เอ่อล้นด้วยรอยยิ้ม เพราะนี่คือช่วงเวลาแห่งความสุขที่ได้อยู่เคียงข้างสุดที่รัก เอ็นดูทะนุถนอม อาบน้ำ ขัดสีฉวีวรรณ ยิ่งกว่าภรรยาของตนเองเสียอีก!

การมาถึงของพวก Bolouri (ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าคือใครมาจากไหน รับรู้เพียงเป็นคนนอกรีต ไม่ได้นับถืออิสลาม พร้อมปล้น ฆ่า ก่ออาชญากรรม โดยไม่สนห่าเหวอะไรทั้งนั้น) คงเป็นการมาดูลาดเลา เป้าหมายก็คือลักขโมยวัวตัวสุดท้ายของ Hassan นำไปเป็นเสบียงอาหาร

ชาวบ้านทั้งหลายต่างตีตราว่าร้ายพวก Bolouri ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน แต่ในความเป็นจริงพวกเขาเป็นเช่นนั้นไหม? เหตุผลทำไปเพื่ออะไร? เมื่อลองครุ่นคิดก็จะพบว่า ที่ต้องลักขโมยเพราะไม่มีอะไรจะกิน เราควรจะกล่าวโทษฟ้าดิน หรือใครกันแน่ที่บริหารประเทศโดยไม่สนหัวประชาชน

ด้วยความหวาดกลัวว่าพวก Bolouri จะมาลักขโมยแม่วัว ทำให้ Hassan ร่วมหลับนอนในคอก แถมยังพยายามจะรับประทานฟางหญ้า ทำตัวเลียนแบบ ราวกับตนเองเป็นพ่อวัว … ลักษณะดังกล่าวดูก้ำกึ่งในความสัมพันธ์มนุษย์กับสัตว์ แล้วแต่ผู้ชมจะหาญกล้าจินตนาการแค่ไหน เพราะมันมีความเป็นไปได้(ในเชิงนามธรรม)ว่าลูกในครรภ์อาจเป็นบุตรของ Hassan

แม้หนังไม่ได้อธิบายเหตุผลที่วัวล้ม แต่ผมเชื่อว่าผู้ชมหลายคนน่าจะคาดเดาได้จากช็อตนี้ นี่คือลูกวัวเหมือนเพิ่งคลอด (จริงๆลูกวัวเพิ่งคลอดมันไม่น่าจะเดินได้ขนาดนี้หรอกนะครับ ให้ถือเป็นการนำเสนอเชิงสัญลักษณ์ก็พอ) แสดงว่าสาเหตุการตายของแม่วัว มีแนวโน้มจากสูญเสียเลือดมากเกินไป (มั้งนะ)

Hassan ที่ก็ไม่รู้มีธุระอะไร เร่งรีบร้อนออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ (เห็นพระอาทิตย์เพิ่งโผล่พ้นขอบฟ้า) ขณะกำลังก้าวจากหมู่บ้าน ก็พบเห็นแสงสว่างขาว ‘Fade-To-White’ เพื่อเป็นจุดสังเกต/บอกใบ้ผู้ชม สิ้นสุดช่วงการอารัมบท หลังจากนี้ทุกสิ่งอย่างกำลังจะปรับเปลี่ยนแปลงไป

การตายของแม่วัว กลายเป็นเรื่องใหญ่ประจำหมู่บ้าน Eslam เป็นคนแสดงความคิดเห็น เรียกร้องขอให้ทุกคนรูดซิบปิดปาก ไม่ให้พูดบอกความจริงแก่ Hassan (สังเกตว่าเมื่อตอนที่เอ่ยกล่าวคำร้องขอ Eslam ยืนอยู่ตรงตำแหน่งกลางบันได นั่นเพราะเขาไม่ใช่ผู้ใหญ่บ้าน แต่ก็สามารถแสดงความคิดเห็น มีความเฉลียวฉลาดกว่าผู้อื่นใด)

แต่หลังจากพูดคุย โต้ถกเถียง ความคิดเห็นของ Eslam ก็เต็มไปด้วยช่องโหว่ ทำให้เขาลงจากบันได และต้องนั่งยองๆ ล้อมกันเข้ามา รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น … นี่เป็นลักษณะของ ‘Mise-en-scène’ ที่ถือว่าน่าสนใจ

ตามหลักศาสนาอิสลาม สัตว์ที่ไม่ได้ถูกฆ่าโดยชาวมุสลิมจะห้ามนำไปทำอาหาร! นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านช่วยกันลากแม่วัวมาฝังกลบดิน ทำพิธีคล้ายๆแบบเดียวกับการเสียชีวิตของมนุษย์ เพื่อให้วิญญาณยังคงอยู่ในสุสาน (อะลัมบัรซัค) จนกว่าจะถึงวันพิพากษา พระเจ้าถึงบันดาลให้ผู้ตายทุกคนคืนชีพขึ้นมา เพื่อรับผลตอบแทนจากสิ่งเคยทำไว้เมื่อครั้นอยู่บนโลกดุนยา (ก็คือโลกมนุษย์)

ผมไม่แน่ใจว่าการทำเช่นนี้ขัดต่อหลักศาสนาอิสลามหรือเปล่านะ แต่รู้สึกว่าจุดประสงค์ของผู้สร้าง ต้องการสื่อว่าแม่วัวก็มีจิตวิญญาณเหมือนมนุษย์ (เพื่อล้อกับการที่ Hassan กลายเป็นแม่วัว) เลยได้รับการปฏิบัติ/พิธีศพแบบเดียวกัน

เรื่องราวของคนบ้าประจำหมู่บ้าน มักโดนกลั่นแกล้งจากเด็กๆ ไม่ได้รับการยินยอมรับจากผู้ใหญ่ แต่เลวร้ายสุดเห็นจะเป็นการถูกล่ามเชือก ไม่ให้ออกไปไหนระหว่างรอคอย Hassan (เพื่อไม่ให้ปากโป้งพูดบอกความจริง) นี่ถือว่าได้รับการปฏิบัติแทบไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยง แม่วัว หรือเดรัจฉาน

ตัวละครนี้ควบคู่ไปกับ Hassan และแม่วัว สร้างขึ้นเพื่อท้าทายให้ผู้ชมขบครุ่นคิด ตั้งคำถามถึงขอบเขต ความเป็นมนุษย์ (Humanity) vs. สัตว์เดรัจฉาน (Animality) มันวัดจากตรงไหน อะไรกัน? รูปลักษณ์ภายนอก ท่าทางแสดงออก สติปัญญา สภาวะทางจิตใจ ฯลฯ

วินาทีที่ Hassan ได้ยินคำพูดบอกของ Eslam เกิดความตกอกตกใจ ทำให้เผลอปล่อยถังน้ำลงพื้น ไหลหลั่งราวกับคราบน้ำตา เกิดอาการตะลึง คาดไม่ถึง แต่ไม่ยินยอมเชื่อคำกล่าวอ้าง

My cow wouldn’t run away!

แต่นั่นก็ทำให้เขาตระหนักถึงความจริง ถ้าแม่วัวไม่ถูกฆ่า ก็คงโดนลักพาโดยพวก Bolouri กลายเป็นอาหารอันโอชาของพวกนอกรีตเรียบร้อยแล้ว ไม่มีทางที่เธอจะหวนกลับคืนมา

ตั้งแต่สูญเสียแม่วัว Hassan ก็กักขังตัวเองอยู่แต่ภายในคอก ไม่กินไม่ดื่ม ไม่สนใจอะไรโลกภายนอก ทำเอาบรรดาผองเพื่อน/กลุ่มผู้นำหมู่บ้าน จำต้องมองผ่านหน้าต่าง (ดูเหมือนการมองเข้ามาในจิตวิญญาณของตัวละคร) แล้วเข้ามายืนห้อมรอบล้อม … นี่คือลักษณะของปัจเจกบุคคล (Individual) vs. ระบบสังคม (Society) ซึ่งต่างมีอิทธิพล และสะท้อนความสัมพันธ์ต่อกันและกัน

ยกตัวอย่างข้อสรุปจากการประชุมของหมู่บ้าน (Society) พวกเขาเลือกที่จะไม่พูดบอกความจริงแก่ Hassan ผลลัพท์ทำให้เขา (Individual) ปฏิเสธยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น แล้วละทอดทิ้งความเป็นมนุษย์ กล่าวอ้างว่าตนเองคือแม่วัว

วินาทีที่ชายคนนี้/แม่วัว กำลังเรียกร้องหา Hassan พบเห็นลำแสงลอดผ่านรูด้านบน อาบฉาบใบหน้านักแสดง ภาพถ่ายจากทุกทิศทาง (ซ้าย-ขวา บน-ล่าง เงยหน้า-ก้มศีรษะ) ร้อยเรียงสลับสับเปลี่ยนด้วยเทคนิค ‘Montage’ นี่สามารถเรียกว่า ‘Mug Shot’ ภาพถ่ายแสดงอัตลักษณ์ตัวตน … ท้าทายให้ผู้ชมขบครุ่นคิดว่าชายคนนี้คือ Hassan? หรือแม่วัว? หรือตัวอะไรกันแน่?

บรรดาผู้นำหมู่บ้านต้องการพา Hassan ไปหาหมอ รักษาอาการป่วย แต่เขากลับยื้อยั้ง เหนี่ยวรั้ง ทำลายข้าวของ จนต้องห้อมล้อมจับ ผูกมัดเชือก แล้วลากออกเดิน มีสภาพไม่ต่างจากสรรพสัตว์สักเท่าไหร่ จนกระทั่ง Eslam ต้องใช้ไม้เรียว และยังขึ้นเสียงด้วยอารมณ์ “Move it, animal!” หรือว่านี่จะคือวินาทีที่เขากลายเป็นเดรัจฉาน? เพราะปฏิเสธทำตามคำสั่งของผู้อื่น

เพราะฝนตกหนัก ถนนลื่น ทำให้ Hassan พลัดตกเขา หัวขะมำ นอนคว่ำขาดใจตายบนแอ่งน้ำ นี่แสดงถึงความต่ำตม จุดตกต่ำของความเป็นมนุษย์! แต่ก็ดูเหมือนต้องการล้อกับตอนต้นเรื่องที่เขาเคยอาบน้ำให้แม่วัว ครานี้ฝนตกเปียกปอน สภาพสกปรมโสมม กลับไม่มีใครยินยอมลงไปให้ความช่วยเหลือ … จริงๆอาจจะยังไม่ตายก็ได้ แต่ทั้งสามคนนั้นต่างไม่มีกระจิตกระใจ คงต้องการจะปลดปล่อย Hassan หมดทุกข์หมดโศกเสียที!

ตั้งแต่ตอนที่ Hassan กรีดร้องเหมือนแม่วัว เคยกล่าวหาบรรดาผู้นำหมู่บ้านว่าเป็นพวก Bolouri ตอนนั้นหลายคนอาจไม่ทันเอะอะไร ครุ่นคิดว่าแค่พร่ำเพ้อละเมอตามประสาคนบ้า แต่พอมาถึงช็อตนี้ (หลังการตกเขาของ Hassan) พยายามถ่ายให้ล้อกับตอนต้นเรื่อง (ที่พวก Bolouri มาดูลาดเลาวัวของ Hassan) กลายเป็นว่าชาวบ้านเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างจากพวก Bolouri สักเท่าไหร่

ใครกันสมควรเรียกว่าเดรัจฉาน? ฉากนี้เพิ่มเติมอีกตัวเลือกไม่ใช่ Hassan, แม่วัว, คนบ้าประจำหมู่บ้าน แต่อาจจะคือชาวบ้านเองนี่แหละ ปากอ้างว่าเป็นมนุษย์ แต่จิตใจเหี้ยมโหดร้าย…สุดๆ

หลายคนอาจไม่ได้เอะใจว่าปัจฉิมบทนำเสนออะไร? แต่สำหรับคนตั้งใจรับชมหนัง ก็น่าจะรับรู้โดยอัตโนมัติว่านี่คือฉากแต่งงาน ระหว่างน้องสาวภรรยาของ Hassan กับหนุ่มหล่อที่เพิ่งกลับจากเมืองใหญ่ ตลอดทั้งเรื่องพบเห็นการเกี้ยวพาราสี ยามค่ำคืนแอบไปลักขโมยเนื้อสัตว์จากพวก Bolouri และก่อนหน้านี้บอกกับเธอว่าจะให้พี่สาวมาสู่ขอ รอจนวันที่ Hassan ถูกลากพาตัวออกจากหมู่บ้าน กำลังแต่งหน้าเขียนคิ้ว ตระเตรียมพิธีมงคลสมรส

ทำไมถึงเลือกนำฉากแต่งงานมาใส่เป็นตอนจบของหนัง? ถ้ามองผิวเผินดูเหมือนการเริ่มต้นชีวิต(คู่)ใหม่ แต่จริงๆแล้วแฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของการผสมผสานกลายเป็นหนึ่ง (ระหว่างชาย-หญิง) รวมถึง Hassan กับแม่วัว (ทั้งคู่ต่างตกตายกลายเป็นวิญญาณร่วมกัน)

แต่ช็อตสุดท้ายของหนังกลับเป็นภาพภรรยาของ Hassan ยืนอยู่บนดาดฟ้า เหม่อล่องลอย เฝ้ารอคอยการกลับมาของสามีอย่างเงียบงัน โดยไม่รับรู้ตัวด้วยซ้ำว่าเขาตายจากไป (กลายเป็นของแม่วัวทั้งตัวและหัวใจ)

ผมมองการเลือกนำเสนอช็อตนี้ ต้องการสะท้อนถึงบทบาทสตรีในอิหร่านยุคสมัยนั้น สังเกตว่าตลอดทั้งเรื่องแทบไม่มีความสลักสำคัญอันใด เพียงร้องไห้ฟูมฟาม พึ่งพาอะไรก็ไม่ได้ เลยถูกสามีเพิกเฉย ไม่เคยให้ความสนใจ แต่เธอยังคงชะเง้อ เฝ้ารอคอย อย่างโดดเดี่ยวลำพัง เพราะฉันทำได้เพียงเท่านี้ มันช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดใจ

ตัดต่อโดย Zari Khalaj, Dariush Mehrjui

หนังดำเนินเรื่องโดยใช้หมู่บ้านชนบทเป็นจุดหมุน พานผ่านมุมมองของ Masht Hassan และสมาชิกคนอื่นๆนำโดย Masht Eslam ที่ดูเหมือนมีความเฉลียวฉลาด นักวางแผน เป็นครุ่นร้องขอให้ทุกคนรูดซิบปิดปาก ไม่ให้กล่าวถึงความตายของแม่วัว … จริงๆตั้งใจให้ภรรยาเป็นคนพูดบอก แต่สุดท้าย Eslam คือผู้กล่าวความจริงทั้งหมด

  • ณ หมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง
    • กิจวัตรประจำวันของผู้คนในหมู่บ้าน
    • Hassan พาแม่วัวไปอาบน้ำ แต่ต้องรีบเดินทางกลับเพราะพบเห็นพวก Bolouri
    • ค่ำคืนนั้น Hassan หลับนอนในคอกร่วมกับแม่วัว เพราะกลัวว่าจะถูกพวก Bolouri เข้ามาบุกรุกราน
  • การตายปริศนาของแม่วัว
    • เช้าวันถัดมาหลังจาก Hassan ออกไปทำธุระ ภรรยาของเขาจู่ๆก็ร่ำร้องไห้อยู่กลางหมู่บ้าน
    • Eslam ครุ่นคิดหาวิธีปกปิดความจริงต่อ Hassan
    • แต่เมื่อ Hassan หวนกลับมาหมู่บ้าน ไม่เชื่อว่าแม่วัวหนีหายตัวออกจากคอก
    • ค่ำคืนนั้นชาวบ้านร่วมมือกันขับไล่พวก Bolouri ที่เข้ามาบุกรุกราน
  • อาการคลุ้มบ้าคลั่งของ Hassan
    • วันถัดมา Hassan ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน ชาวบ้านจึงเข้าไปดูอาการ พบว่าเขาเรียกตัวเองว่าแม่วัว เดินสี่ขา รับประทานหญ้าเป็นอาหาร
    • ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อล้อมจับ Hassan ต้องการพาตัวไปรักษายังเมืองใหญ่
    • แต่ระหว่างทางฝนตกหนัก ถนนลื่น เลยเกิดเหตุโศกนาฎกรรม

ความโดดเด่นของการตัดต่อ ไม่ใช่แค่การลำดับเรื่องอย่างเรียบง่าย เป็นขั้นเป็นตอน เปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็กละน้อย แต่ยังคือลีลาการร้อยเรียงชุดภาพ Montage โดยเฉพาะระหว่าง Hassan พาแม่วัวไปอาบน้ำ หรือขณะกินหญ้าอยู่ในคอก ทำออกมาได้อย่างโรแมนติก งดงามดั่งบทกวี

อีกซีเควนซ์ที่น่าสนใจก็คือระหว่างการกลับมาของ Hassan บรรยากาศภายในหมู่บ้านเต็มไปด้วยความวังเวง สงบเงียบงัน ภรรยาไม่พูดบอกอะไร เดินไปตักน้ำกลางหมู่บ้าน Eslam เข้ามาพูดคุย แล้วออกวิ่งติดตาม … ผู้ชมเฝ้ารอคอยอย่างลุ้นระทึก Hassan จะได้รับรู้สิ่งเกิดขึ้นกับแม่วัวเมื่อไหร่กัน?


เพลงประกอบโดย Hormoz Farhat (1928-2021), هرمز فرهت คีตกวีชาว Iranian เกิดที่ Tehran สมัยเด็กรับรู้จักดนตรีจากเพียงพบเห็นบิดาเล่น Tar (เครื่องดนตรีพื้นบ้านอิหร่าน ลักษณะคล้ายๆกีตาร์/แมนโดลิน) แต่มีความลุ่มใหลบทเพลงตะวันตกจากการรับฟังวิทยุ โตขึ้นเดินทางมาร่ำเรียนดนตรีสาขามานุษยดนตรีวิทยา (Ethnomusicology) จบปริญญาเอก University of California, Los Angeles (UCLA) ร่วมรุ่นเดียวกับ Darius Milhaud, Lukas Foss, Roy Harris, เมื่อกลับมาอิหร่านกลายเป็นศาสตราจารย์สอนหนังสือยัง University of Tehran และยังเป็นที่ปรึกษาสถาบันดนตรีต่างๆมากมาย, สำหรับผลงานก็มีทั้งออร์เคสตรา, Chamber Music, Piano Sonata และบทเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ The Cow (1969), Mr. Naive (1970), The Postman (1972), The Cycle (1977) ฯลฯ

สำหรับเพลงประกอบมีการใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน Persian ได้ยินเสียงขลุ่ยอาหรับ (ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า Nay หรือ Kawala) โหยหวนตอน Opening Credit เพื่อมอบสัมผัสของจิตวิญญาณ (ให้สอดคล้องภาพเงาดำเลือนลาง) และเครื่องดนตรี Tar เสียงคล้ายๆกีตาร์/แมนโดลิน ได้ยินระหว่าง Hassan กำลังอาบน้ำให้แม่วัว และขณะกินหญ้าอยู่ในคอก ด้วยจังหวะสนุกสนาน ผ่อนคลาย มอบสัมผัสชนบท (Country) และโรแมนติก (Romantic)

ฉากการบุกรุกรานของ Bolouri แม้เต็มไปด้วยความอื้ออึงของผู้คน รวมถึงเสียงร้องโหยหวนของ Hassan แต่ถ้าตั้งใจฟังดีๆยังมีเพลงประกอบที่ร่วมสร้างบรรยากาศอึมครึม สัมผัสถึงสิ่งชั่วร้ายกำลังย่างกรายเข้ามา ต้องรวมพลกันขับไล่ ผลักไส ให้มันออกไปจากหมู่บ้านแห่งนี้

ช่วงท้ายๆเมื่อกลายเป็นบ้า ก็จะวนกลับหา Tar และขลุ่ยอาหรับ (ท่วงทำนองเดียวกับตอนต้นเรื่อง) มอบสัมผัสโหยหวน จิตวิญญาณเจ็บปวดรวดร้าว รู้สึกสงสารเห็นใจ มันเกิดห่าเหวอะไรขึ้นกับ Hassan จนกลายเป็นโศกนาฎกรรม

The Cow (1969) นำเสนอเรื่องราวการรับมือต่อความสูญเสีย แม้ลูกบ้านบางคนเสนอแนะให้พูดบอกความจริง แต่คนส่วนใหญ่กลับแสดงความไม่เห็นด้วย ต้องการปกปิด หาหนทางบ่ายเบี่ยง เลือกสร้างเรื่องโกหกหลอกลวง และรวมถึง Hassan ที่ก็ไม่สามารถยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น พร่ำเพ้อ ละเมอ หลงผิด (Delusion) ครุ่นคิดว่าตนเองเป็นแม่วัว

อาการหลงผิด ครุ่นคิดว่าฉันเป็นวัวเป็นควาย (สัตว์ในวงศ์ Bovidae) มีคำเรียกผู้ป่วยจิตเวช ‘Boanthropy’ ลักษณะของบุคคลผู้มีความเก็บกด (ทางเพศ) หมกมุ่น ครุ่นคิดอยากเป็นสัตว์ประเภทนั้นๆ (ถูกล้อบ่อยๆว่าโง่เหมือนวัวเหมือนควาย ก็อาจกลายเป็นปมด้อยและแสดงอาการเป็นวัวเป็นควายได้จริงๆ) ซึ่งในกรณีของ Hassan เพราะยังไม่สามารถบุตรกับภรรยา เลยเอ็นดูทะนุถนอมแม่วัวท้องแก่ (หรือคือครุ่นคิดว่าตนเองทำแม่วัวตั้งครรภ์)

แม้ชาวมุสลิมจะไม่เชื่อเรื่องผีๆสางๆ วิญญาณหลังความตายจะคงอยู่ในสุสาน (อะลัมบัรซัค) จนกว่าจะถึงวันพิพากษา พระเจ้าถึงบันดาลให้ผู้ตายทุกคนคืนชีพขึ้นมา เพื่อรับผลตอบแทนจากสิ่งเคยทำไว้เมื่อครั้นอยู่บนโลกดุนยา (ก็คือโลกมนุษย์) แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง Hassan กับแม่วัว ตั้งแต่ภาพเงาดำตอน Opening Credit ราวกับวิญญาณที่มิอาจพลัดพราก ตัดขาด เราจึงสามารถมองในแง่มุมเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ … วิญญาณแม่วัวเข้าสิงสถิตร่าง Hassan

นั่นก่อให้เกิดคำถามเชิงปรัชญา Hassan ยังมีความมนุษย์อยู่หรือไม่? เมื่อไหร่ถึงเรียกว่าเดรัจฉาน? เดินสี่ขา รับประทานหญ้า ส่งเสียงร้องเรียกหาเจ้าของ ไม่ยินยอมปฏิบัติตามคำสั่งผู้ใด เมื่อเทียบกับอีกคนบ้าในหมู่บ้าน ถูกกลั่นแกล้ง เฆี่ยนตี ล่ามเชือกในคอกม้า ใครกันแน่สมควรถูกเรียกว่าสัตว์? หรือบรรดาชาวบ้านเหล่านั้น?

‘แม่วัว’ คือสัตว์สัญลักษณ์ของเกษตรกรรม สำหรับรีดนมวัว ทำไร่ไถนา แบกหามเทียมเกวียน ที่พึ่งพักพิงของเกษตรกร/ชาวชนบทห่างไกล, ความตายของแม่วัว เท่ากับเป็นการทำลายอาชีพ สูญเสียแหล่งที่มาทำกิน รวมถึงหมู่บ้านชนบทแห่งนี้ จะธำรงชีพรอดต่อไปได้อย่างไร? นี่สามารถสะท้อนสถานการณ์การเมืองอิหร่าน ยุคสมัยสมเด็จพระเจ้าชาห์องค์สุดท้าย Mohammad Reza Pahlavi ไม่ใคร่สนใจความอยู่ดีมีสุขของประชาชนสักเท่าไหร่

เราสามารถเปรียบเทียบหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ในระดับมหภาคกับประเทศอิหร่าน กลุ่มผู้นำหมู่บ้านมีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากรัฐบาลสมเด็จพระเจ้าชาห์ รับล่วงรู้ความจริงแต่กลับเพิกเฉย บิดเบือน โกหกหลอกลวงประชาชน ไม่ยินยอมรับสภาพความเป็นจริง ใกล้ถึงวันถูกโค่นล้มจากอำนาจ … การปฏิวัติอิหร่านเกิดขึ้นอีกทศวรรษให้หลัง ค.ศ. 1978-79

ความตายของแม่วัว ยังสามารถมองว่าคือการสูญเสียความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเป็นเจ้า (หรือพระเจ้าชาห์องค์สุดท้ายก็ได้เช่นกัน) ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดหวั่น สั่นสะพรึง เหมือนคนสูญเสียที่พึ่งพักพิง สำหรับ Hassan ก็ถึงขนาดแสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่ง ไม่สามารถธำรงความเป็นมนุษย์ สภาพไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน

เกร็ด: เพราะวัวคือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ฮินดู แต่อิสลามกลับมองเป็นสัตว์พลีทาน นิยมเข่นฆ่าเพื่อนำมาทำเป็นอาหาร นี่คือชนวนขัดแย้งของสงครามศาสนา (โดยเฉพาะในอินเดีย) เกลียดขี้หน้าเพราะความเชื่อศรัทธาที่แตกต่าง

ทิ้งท้ายกับประเด็นสิทธิสตรี ที่แทบไม่มีบทบาทอะไรในภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเฉพาะภรรยาของ Hassan เพราะไม่สามารถให้กำเนิดบุตรเลยถูกสามีทอดทิ้ง แล้วไปร่วมหลับนอนกับแม่วัว (แล้วแต่ผู้ชมจะไปจิ้นความสัมพันธ์กันเอาเอง) พวกเธอไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง เพียงเฝ้ารอคอยการแต่งงาน ปรนิบัติสามี มีลูกมีเต้า ไม่ต่างจากแม่วัวตัวนี้สักเท่าไหร่


เรื่องราวของการครุ่นคิดว่าตนเองเป็นวัว ช่างมีความละม้ายคล้าย Metamorphosis (1915) หนึ่งในนวนิยายชิ้นเอกของนักเขียนชาวเยอรมัน Franz Kafka (1883-1924) ที่ตัวละครเพ้อฝันว่าตนเองกลายร่างเป็นแมลงสาป! หรือใครจะนึกถึง Naked Launch (1959) นวนิยายโดย William S. Burroughs, ภาพยนตร์ฉบับปี 1991 กำกับโดย David Cronenberg ก็ได้เช่นกัน

แต่ถ้าจะเปรียบเทียบใกล้ให้เคียงสุดคง ผมนึกถึง The Oval Portrait (1842) เรื่องสั้นแต่งโดย Edgar Allan Poe เนื้อหาเกี่ยวกับศิลปินวาดภาพภรรยา จนเธอกลับกลายเป็นภาพวาดนั้นเอง “This is indeed Life itself!” … ใครเคยรับชมผลงานของผกก. Jean-Luc Godard น่าจะมักคุ้นเคยการอ้างอิงนวนิยายดังกล่าว และพยายามผสมผสานทุกสรรพสิ่งอย่าง เพื่อให้ภาพยนตร์ราวกับมีชีวิต/จิตวิญญาณขึ้นมา

เราสามารถเปรียบเทียบผกก. Mehrjui กับตัวละคร Hassan จากนั้นเปลี่ยนแม่วัวให้กลายเป็นสื่อภาพยนตร์ จะพบเห็นความสัมพันธ์ระหว่างศิลปิน vs. ผลงานศิลปะ พยายามผสมผสานให้กลายเป็นอันหนึ่ง (Hassan กลายเป็นแม่วัว) และหนังจบลงด้วยพิธีแต่งงาน (ชาย-หญิง กลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน)

The first thing that I learned from Neo-Realism was to just look for the reality of your own not the others. Try to by just yourself and try to seek out the reality inherent in your culture, in your society. And the more the closer you go, the deeper you go into, that the more universal you become.

Dariush Mehrjui

การตีความ The Cow (1969) ยังสามารถดำเนินไปได้อีกไกล ‘มนุษย์คือส่วนหนึ่งของจักรวาล’ แต่ผมขี้เกียจแล้วละ เท่านี้ก็เพียงพอให้ผู้อ่านได้พบเห็นความโคตรๆลึกล้ำ สลับซับซ้อน บนพื้นฐานเรื่องราวสุดแสนธรรมดาทั่วไป เกิดความตระหนักว่านี่ไม่แค่หนังระดับประเทศ หรือทวีปเอเชีย แต่ต้องเรียกว่ามาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์


แม้ว่าหนังได้ทุนจากรัฐบาลกลางของพระเจ้าชาห์ แต่เมื่อสร้างเสร็จกลับโดนกระทรวงศิลปะวัฒนธรรมสั่งแบนห้ามฉายปีกว่าๆ เพราะถูกมองว่าทำให้อิหร่านดูเป็นประเทศล้าหลัง จนกระทั่งผู้สร้างยินยอมเขียนข้อความอธิบายว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อครั้นโบราณกาล ทางการถึงยินยอมปลดแบน แต่ก็สั่งห้ามส่งออกนอกประเทศ

ถึงอย่างนั้นโปรดิวเซอร์ก็ยังแอบลักลอบขนฟีล์มออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes รอบ Directors’ Fortnight ตามด้วยเทศกาลหนังเมือง Venice เมื่อปี 1971 ได้เสียงตอบรับดีมากๆระดับ ‘phenomenon’ ถึงขนาดคว้ารางวัล FIPRESCI Prize (ช่วงระหว่างปี 1969-79 ไม่ได้มีการจัดประกวดรางวัล Golden Lion เลยมักถือว่ารางวัลนักวิจารณ์นี้ใหญ่สุดของเทศกาลช่วงทศวรรษนั้น)

นอกจากนี้หนังยังได้เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Berlin เมื่อปี 1972 (นอกสายการประกวด) ยังสามารถคว้าอีกรางวัล OCIC Award – Recommendation: Forum of New Film ต้องถือว่า The Cow (1969) เป็นภาพยนตร์จากอิหร่านเรื่องแรกๆ (ที่ไม่ใช่หนังสั้นแบบ The House Is Black (1962)) ประสบความสำเร็จระดับนานาชาติอย่างล้นหลาม!

The voice of Iranian cinema will be heard for the first time, along with the voice of the director of the film, Dariush Mehrjooi, who has a complete and perfect style, so that he diminishes the works of the Japanese’s Kurosawa and the Indian’s Satyajit Ray.

บทความจากนิตยสาร Le Monde

เป็นความโชคดีของหนังที่ผู้นำสูงสุดคนแรกของอิหร่าน Ayatollah Khomeini มีความชื่นชอบประทับใจ The Cow (1969) เป็นอย่างมากๆ ภายหลังการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจจากพระเจ้าชาห์ (1978-79) ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยไม่ถูกแบนห้ามฉาย และยกย่องให้มรดกของประเทศชาติ (ผมอ่านเจอว่าบทหนังเรื่องนี้ เคยถูกใช้เป็นเนื้อหาวิชาวรรณกรรม ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายในอิหร่าน)

หนังได้รับการบูรณะโดย Iran National Film Archive คุณภาพ 2K แล้วเสร็จสิ้นเมื่อเดือนเมษายน 2014 สามารถหาซื้อ DVD/Blu-Ray ของค่าย Elephant Films, First Run Features หรือใครอยากรับชมออนไลน์ซับอังกฤษ https://www.imvbox.com/en/movies/the-cow-gav (เว็บนี้น่าจะประมาณ Netflix ของอิหร่าน)


ผมมีความประทับใจหนังตั้งแต่เริ่มต้นภาพเงาดำ Opening Credit มอบสัมผัสเหนือธรรมชาติ ดูเหมือนจิตวิญญาณของมนุษย์และสัตว์ ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงนำ Ezzatolah Entezami กับแม่วัวเพื่อนรัก ไม่มีสิ่งใดสามารถตัดขาดพวกเขาออกจากกัน

ส่วนฉากที่คือไฮไลท์คือการอาบน้ำวัว สมบูรณ์แบบทั้งถ่ายภาพ ตัดต่อ เพลงประกอบ งดงามราวกับบทกวี มีบรรยากาศโคตรโรแมนติก แสดงถึงความรัก เชื่อมั่น ศรัทธา พึ่งพาอาศัย ขาดจากกันไม่ได้ แม้กระทั่งความตาย

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ความรักคือสิ่งสวยงาม (ตามโลกทัศน์สมัยใหม่) ไม่ว่าจะคน-สัตว์-สิ่งของ มีชีวิตหรือไร้จิตวิญญาณ แต่เราควรต้องรู้จักเพียงพอดี ไม่ให้หมกมุ่นมักมาก เชื่ออะไรกับใครมากเกินไป เพราะวันหนึ่งเมื่อพบเจอความสูญเสีย หมดสิ้นศรัทธา หรือความจริงบางอย่างได้รับการเปิดเผย จักทำให้เราเสียที่มั่น หลักแหล่งสำหรับพึ่งพึง ตกอยู่ในสภาวะเลื่อนลอย คลุ้มบ้าคลั่ง สูญเสียสติแตก โดยไม่รู้ตัวกลายเป็นวัวตัวนั้น!

สิ่งสำคัญที่สุดคือการ “ยินยอมรับความจริง” วัวตายก็คือตาย ทำไมต้องทำเหมือนวัวหายล้อมคอม ปั้นแต่งเรื่องโกหกพกลม เพียงพูดความจริงตั้งแต่แรกก็จบแล้ว ไม่ต้องระทม ขื่นขม ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังทั้งหมู่บ้าน

จัดเรต 15+ กับการกลายเป็นวัว

คำโปรย | The Cow งดงาม ตราตรึง ลุ่มลึกซึ้ง สะท้อนจิตวิทยา แฝงปรัชญา ความเชื่อศรัทธา ศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เรียกได้ว่ามาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: