The Cranes are Flying

The Cranes are Flying (1957)

หนัง russia ที่ถูก underrated สุดๆเรื่องหนึ่ง กำกับโดย Mikhail Kalatozov และผู้กำกับภาพในตำนาน Sergey Urusevsky หนังการันตีด้วยรางวัล Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 1958 ผมไปเจอหนังเรื่องนี้เข้าโดนบังเอิญ จากการอ่านบทสัมภาษณ์หนึ่งของ Alejandro González Iñárritu ที่เขาได้รับการแนะนำหนัง 2 เรื่อง The Cranes are Flying และ Soy Cuba จาก Martin Scorsese ความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนี้ ผมจัดให้เป็น Highly Recommend ถ้ามีโอกาสต้องหามาดูให้ได้เลยนะครับ

ผมไม่รู้จัก Mikhail Kalatozov และ Sergey Urusevsky มาก่อนเลยนะครับ ชื่อของเขาไม่อยู่ในสารบบในชาร์ทพวกผู้กำกับยอดเยี่ยม หรือหนังยอดเยี่ยมเลย แต่ได้มารู้จักจากการอ่านบทสัมภาษณ์หนึ่งในช่วงเทศกาลมอบรางวัลหนังยอดเยี่ยมแห่งปี เป็นช่วงที่เขาเดินสายรับรางวัลจากหนัง The Revenant มีรายการหนึ่งที่เป็นการสัมภาษณ์ พูดคุยเกี่ยวกับหนังได้เชิญ Martin Scorsese มาร่วมแจมด้วย ทั้งสองคุยกันถึงความประใจเกี่ยวกับ The Revenant โดย Marty พูดประมาณว่า หลายฉากใน The Revenant ทำให้เขานึกถึงหนังเรื่อง I Am Cuba (Soy Cuba) ทำให้ Iñárritu นึกขึ้นมาได้เมื่อ 15 ปีก่อน เขาได้รับหนัง 2 เรื่องแนะนำจาก Marty นี่คือสาเหตุที่ทำให้ผมรู้จักหนังเรื่อง 2 เรื่องนี้ ผู้กำกับ Mikhail และ Sergey ก็รีบไปหาโหลดมาดู และได้พบว่า The Crane are Flying ถือรางวัล Palme d’Or อยู่ จะพลาดไปเสียได้ยังไง

The Crane are Flying เป็นหนังแนวต่อต้านสงคราม ที่ดูแล้วเจ็บปวดมากๆ หนังเปิดด้วยเรื่องราวกุ๊กกิ๊กน่ารักมากๆของคู่รักคู่หนึ่ง แต่ทั้งสองก็พลัดพรากจากกันด้วยสงคราม มีส่วนผสมหนึ่งที่คล้ายกับหนังเรื่อง Atonement ความรัก การหักหลัง, L’Atlante การแยกจาก และ All Quiet On The Western Front ที่นำเสนอภาพของสงครามต่อความรู้สึกของคน [ผมไม่ค่อยอยากสปอยเท่าไหร่ ถ้าไม่อยากสปอยอ่านข้ามไปย่อหน้าถัดไปเลยนะครับ] เนื้อเรื่องส่วนที่เด่นที่สุดของหนังคือการถูกหักหลัง มันทำเอาผมช็อคไปเลยเมื่อนางเอกถูกบังคับขืนใจให้แต่งงานกับคนที่ตนไม่รัก หนังนำเสนออารมณ์ ณ ขณะนั้นได้อย่างเจ็บปวด ตอนนั้นคิด ฤาเธอจะเป็นแค่หญิงเลวๆคนหนึ่ง แต่หนังกลับพาเราให้รู้สึกถึงเหตุผล และความจำเป็นของเธอ และเมื่อความแตกเราจะรู้สึกเห็นใจเธออย่างมาก โดยเฉพาะตอนจบที่ผมแทบจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ รู้ทั้งรู้(ตั้งแต่กลางเรื่อง) แล้วว่าต้องเป็นแบบนี้

นี่เป็นหนังสงครามที่ทำให้ผมช็อคที่สุดตั้งแต่ Atonement และเศร้าที่สุดตั้งแต่ Grave of the Firefly เขียนบทโดย Viktor Rozov เห็นว่าเขาเป็นนักเขียนชื่อดังคนหนึ่งของ russia เลยนะครับ

นักแสดงนำ Tatyana Samojlova การแสดงของเธอยอดเยี่ยมมากๆ เห็นว่าเธอได้รับรางวัล People’s Artist of Russia ในปี 1993 และได้ Lifetime Achievement Award ของ Moscow Film Festivalเมื่อปี 2007 ตอนที่หนังเรื่องนี้ฉายที่เทศกาลหนังเมือง Cannes เธอได้รับการยกย่องว่าเป็น Most Modest and Charming Actress ช่วงแรกการแสดงของเธอเหมือนกับสาวน้อยที่เต็มไปด้วยความไร้เดียงสา กับความรักครั้งแรกที่กำลังเบ่งบาน แต่หลังจากที่คนรักของเธอเลือกที่จะไปสงคราม พ่อแม่เสียชีวิตจากระเบิดลง ภายนอกของเธอก็เปลี่ยนไปดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นราวกับคนผ่านโลกมาเยอะ แต่ข้างในเธอก็ยังเหมือนเดิม การแสดงของเธอช่วงนี้สุดยอดมากๆ สีหน้าและแววตา รู้ได้เลยว่า เธอหมดสิ้นแล้วซึ่งความสุข แต่กระนั้นเธอก็ยังรอเพื่อจะได้พบกับคนรักอีกครั้งเมื่อสงครามจบ ฉากสุดท้าย มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เมื่อเห็นน้ำตาของเธอแล้วคนดูจะกลั้นความรู้สึกนั้นไว้ได้ แต่ชีวิตมันต้องเดินต่อไป

นำชาย Aleksey Batalov เล่นเป็น Boris คนรักของ Veronika บทบาทของเขามีไม่เยอะนัก นอกจากช่วงแรก ตอนเล่นหนังเรื่องนี้เขาอายุ 28 แล้ว แต่ทำตัวเหมือนเด็กวัยรุ่นอายุ 20 (ไม่ค่อยเหมือนเท่าไหร่ แต่ก็พอรับได้) และ Aleksandr Shvorin ที่เล่นเป็น Mark หมอนี่ถือว่าเป็นตัวร้ายของเรื่อง เขาเป็นลูกพี่ลูกน้องของ Boris แต่ตกหลุมรักผู้หญิงคนเดียวกัน Mark รู้ตัวว่าตัวเองไม่สามารถเอาชนะใจ Veronika ได้ จึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เธอมาครอบครอง การแสดงของเขาอาจจะไม่หวือหวา แต่ใบหน้าหมอนี่ทำเอาผมเกลียดตัวละครนี้เข้าไส้เลยละครับ

สิ่งที่เด่นที่สุดของหนังคือการถ่ายภาพ โดย Sergey Urusevsky นี่คือผู้กำกับภาพคนสำคัญคนหนึ่งของโลกเลย Sergey และ Mikhail ทำการทดลองแปลกๆมากมายในหนังของทั้งคู่ โดยเฉพาะ I Am Cuba ผมเห็นฉากเปิดหนังแล้วพูดไม่ออกเลย มันน่าทึ่งมากๆ สำหรับ The Crane are Flying ผมสงสัยมากว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงไม่ติดอันดับของนิตยสาร Sight & Sound ความรู้สึกที่ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ เทียบเท่ากับตอนที่ผมดู Sunrise และ The Passion of Joan of Arc เลย นี่เป็นหนังที่มีงานภาพที่สวยงามมากๆ และภาพสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้กับคนดู ฉากที่ผมชอบที่สุดคือฉากที่ Zoom Out จากดวงอาทิตย์ และกล้องหมุนๆๆ ซ้อนด้วยภาพของอีกเหตุการณ์หนึ่ง ผมไม่ขอสปอยว่าฉากเกิดขึ้นตอนไหน เพราะมันเป็นจุดสำคัญมากๆของหนัง แต่เหตุผลของการถ่ายแบบนี้ ณ จังหวะนั้น มันสุดยอดมากๆ ผมถือว่าช็อตนี่เป็นหนึ่งในช็อตที่สวยงามเทียบเท่าหนังเรื่อง Vertigo เลยครับ

เวลาอารมณ์ของตัวละครได้เก็บสะสมไปจนถึงจุดสูงสุด กำลังจะระเบิดออกมา มีหลายเทคนิคการถ่ายภาพที่สามารถนำเสนออกมาได้ กับหนังเรื่องนี้ ตัวละครนั้น วิ่ง วิ่ง วิ่ง เทคนิคการถ่ายภาพก็แค่เคลื่อนกล้องไปตามรางด้วยความเร็ว หนังเรื่องนี้ก็ใช้วิธีนั้น แต่ผมรู้สึกว่าหนังเร่งความเร็วในฉากนี้ขึ้นเกือบสองเท่า เราจะเห็นรางๆว่าตัวละครวิ่งเร็วมากๆ รั้วเหล็กที่อยู่คั่นระหว่างกล้องกับตัวละครเคลื่อนผ่านไปเร็วมากๆ มันเค้นให้อารมณ์ ณ ขณะนั้นขึ้นสูงมากๆ และหลังจากวิ่งไปถึงจุดสุดท้าย ตัวละครกำลังตัดสินใจจะกระโดดให้รถชน ด้วยการตัดต่อเร็วๆให้เห็นรถวิ่งไป มองซ้าย ขวา กระโดด ไม่กระโดด ผมลุ้นตัวโก่งเลยละครับ อารมณ์มันไปถึงจุดสูงสุดจริงๆ (ไปลุ้นเองในหนังว่ากระโดดหรือไม่กระโดดนะครับ)

ตัดต่อโดย Mariya Timofeyeva ผมไม่รู้ว่าการซ้อนภาพเกิดขึ้น ณ ขณะถ่ายทำ หรืออยู่ในกระบวนการช่วงตัดต่อ (post production) หนังเรื่องนี้ถือว่าไม่ยาวมาก 97 นาทีเท่านั้น แต่เรื่องราวเต็มอิ่ม สมบูรณ์ครบถ้วน

เพลงประกอบโดย Moisey Vaynberg นี่เป็นหนังที่ผมแทบจะไม่รู้สึกถึงเพลงประกอบเลย เพราะการถ่ายภาพเด่นกว่ามากๆ แต่ผมก็ย้อนกลับไปดูพบว่า ฉากที่มีการตัดต่อเด่นๆจะมีเพลงประกอบที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันนะครับ Moisey Vaynberg เป็นคีตกวีชื่อดังมากๆคนหนึ่งของ russia มีคนจัดอันดับให้เขาเป็นที่ 3 แห่งศตวรรษ เคียงคู่กับ Sergei Prokofiev และ Dmitri Shostakovich ผลงานของเขามีทั้ง Symphonies, Orchrestra, Sonata ในหนังเขาเขียน Veronika Sonata เองด้วย ช่วงที่ตัวร้ายอยู่กับนางเอกสองคน และขณะนั้นระเบิดกำลังลง การเล่นเปียโน ณ จังหวะนั้น เพลงที่เลือกมาบรรเลง มันสุดยอดมากๆ ช่วงวินาทีเป็นตาย ต้องดนตรีแบบนี้แหละ และฉากนั้น มัน…  ผมหาคลิปใน youtube ให้ไม่ได้นะครับ ไปหาดูในหนังเองแล้วกัน

Crane แปลว่า นกกระเรียน (เชื่อว่าหลายคนคงคิดว่า รถเครนแน่ๆ ผมก็เคยคิดแบบนั้น รถเครนบินได้ มันคงเป็นหนัง Sci-fi/Fantasy หรือ Action แน่ๆเลย) The Cranes are Flying ฝูงกระเรียนที่กำลังบินอยู่ มันสื่อถึงอะไรกัน ในหนังจะมีกลอนบทหนึ่ง

Cranes like ships
Sailing up in the sky,
White ones and grey ones,
With long beaks, they fly!
Look, look, look!
You see…
You with your “cranes like ships”.

นกกระเรียนในหนังมันอาจจะสื่อถึง การมีชีวิตที่ต้องเดินทางต่อสู้ต่อไปไม่มีวันหยุด เหมือนเรือที่ล่องในทะเล มีอยู่ 2 ครั้งที่หนังตัดให้เราเห็นภาพนกกระเรียน ครั้งแรกคือตอนที่พระเอกกับนางเอกยังจีบกัน และตอนจบหลังจากนางเอกร้องไห้ เธอเห็นฝูงกระเรียนอีกครั้ง นั่นคงเป็นเหตุหนึ่งให้เธอมีชีวิตต่อไปได้

พระเอกจะเรียก Veronika ว่า squirrel (กระรอก) ของขวัญที่เขาให้วันเกิดเธอก็เป็นกระรอก ผมคิดว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ใช่เลย นางเอกมีนิสัยคล้ายๆกับกระรอกจริงๆ ขี้เล่น ซุกซน น่ารัก และไร้เดียงสา

มีหลายฉากมากในหนังเรื่องนี้ที่ผมอยากพูดถึง คือมันสวยงาม ยอดเยี่ยม เต็มไปด้วยเทคนิคที่เป็นการทดลองมากมาย แต่ทำไมกัน น้อยคนจะรู้จักหนังเรื่องนี้ คิดว่าเพราะฟีล์มหนังหายไปช่วงหนึ่ง แต่ก็ได้กู้กลับคืนมา และคนที่เป็น Distributed ในอเมริกา ก็คือ Martin Scorsese และ Francis Ford Coppola กระนั้นมันก็คงหายากอยู่ และที่สำคัญนี่เป็นหนัง Russia เลยไม่แปลกที่คนอเมริกัน จะไม่ขวนขวายแสวงหามาดูแน่ๆ

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้ในระดับ Highly Recommend ไม่เพียงแค่หนังมีเรื่องราวที่สวยงาม แต่คุณภาพในแง่การสร้าง ภาพถ่าย เพลงประกอบ สุดยอดมากๆ หนังดูไม่ยาก ไม่ต้องอาศัยการตีความอะไรก็สนุกได้ กับคนที่ไม่ชอบหนังสงคราม หนังเรื่องนี้ไม่มีฉากการต่อสู้ที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดหรือสะอิดสะเอียนนะครับ สงครามเป็นพื้นหลังที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนเท่านั้น จัดเรต 13+ มีเรื่องราวบางอย่างที่ไม่เหมาะกับเด็กนะครับ

คำโปรย : “The Cranes are Flying เรื่องราวสงคราม ความรัก การทรยศหักหลัง จากผู้กำกับ Mikhail Kalatozov งานภาพที่เหนือชั้น Sergey Urusevsky และเพลงประกอบโดย Moisey Vaynberg นี่คือสุดยอดหนังที่ถูก underatted มากที่สุดเรื่องหนึ่ง มีโอกาสควรจะหามาดูให้ได้”
คุณภาพ : SUPERB
ความชอบLOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: