The Cup (1999) : Khyentse Norbu ♥♥♥♡
สามเณรน้อยอยากรับชมฟุตบอลโลก France ’98 ร้องขอหลวงพ่อจะตั้งใจศึกษาร่ำเรียน ถ้าอนุญาตให้ดูการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระหว่าง ฝรั่งเศส vs. บราซิล เหตุการณ์วุ่นๆชวนหัวจึงบังเกิดขึ้น, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ก็ไม่เชิงว่าเป็นภาพยนตร์สัญชาติภูฏานเรื่องแรก แต่คือเรื่องที่เปิดประตูสู่ธุรกิจภาพยนตร์ของประเทศ ก่อนติดตามมาด้วย Travellers and Magicians (2003) ครั้งแรกที่ถ่ายทำทั้งหมดในภูฏาน
ผมค่อนข้างอึ้งทึ่งในความเรียบง่าย แต่มีความตราตรึง แฝงข้อคิดลุ่มลึกซึ้ง บันทึกวิถีชีวิตชาวทิเบตหลังจากต้องหลบลี้หนีภัยจากผืนแผ่นดินแดนบ้านเกิด มาปักหลักอาศัยอยู่ตอนเหนือประเทศอินเดีย ว่าไปมีคล้ายๆ Hong Kong, Taiwan ต่างถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนผลักไส ขับไล่ จนไร้ที่อยู่ในผืนแผ่นดินใหญ่
สร้างโดยพระลามะ Khyentse Norbu ชื่อเต็มๆ Dzongsar Jamyang Khyentse Rinpoche (เกิดปี 1961) เกิดที่ Khenpajong, Bhutan เมื่ออายุ 7 ขวบ ได้รับการค้นพบว่ากลับชาติมาเกิดรุ่นสามของ Sakya Trizin สืบเชื้อสายจาก Tibetan Buddhism, โตขึ้นได้มีโอกาสเป็นผู้ช่วย Bernardo Bertolucci ระหว่างเดินทางมาเนปาล สร้างภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha (1993) เกิดความสนใจในศาสตร์นี้ เลยไปร่ำเรียนต่อภาพยนตร์ที่ New York และหวนกลับมาสร้างผลงานเรื่องแรก The Cup (1999)
Norbu มีโอกาสรู้จัก Jeremy Thomas ที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้ Little Buddha (1993) พอแสดงความสนใจอยากสร้างภาพยนตร์ นำเสนอเรื่องราวน่าดึงดูดมากๆ ยินดีช่วยสรรหาทุน อุปกรณ์ถ่ายทำ รวมถึงทีมงานมืออาชีพ ออกเดินทางสู่อินเดีย
“The director Khyentse Norbu is a Tibetan Lama who went to NYC film school, who wanted to make a movie, and I had become friendly with him. There was this charming story, which was a teaching for him but a story for everyone else, about little monks and the World Cup. It was a very happy story for everybody involved”.
– Jeremy Thomas
The Cup ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริง ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ Norbu พานพบเจอเข้ากับตนเอง
เรื่องราวของ Nyima และ Palden เป็นชาวทิเบตอพยพ ครอบครัวส่งให้มาบวชเรียนยังวัดแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ Bir, Himachal Pradesh ทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงฟุตบอลโลก France ’98 นำโดยสามเณร Orgyen ชอบหนีออกไปดูการแข่งขันยามค่ำคืน แถมยังชักชวนใครๆติดตามไปเป็นเพื่อน สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้อาจารย์ Geko แต่หลังจากได้พูดคุย เสนอข้อแลกเปลี่ยน จึงได้รับอนุญาตให้นำโทรทัศน์ มารับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศที่วัดแห่งนี้
นักแสดงทั้งหมดของหนังคือพระลามะ สามเณร จากวัดที่ Bir, Himachal Pradesh
– Orgyen Tobgyal Rinpoche หรือ Tulku Ugyen Topgyal (เกิดปี 1951) พระลามะ เกิดที่ Kham, ทิเบต ตอนอายุ 7-8 ขวบ อพยพพร้อมครอบครัวมาปักหลักอยู่ที่ Bir, Himachal Pradesh บวชติดตามบิดา ต่อมาได้กลายเป็นผู้ดูแล/เจ้าอาวาสวัดแห่งนี้, รับบท Geko พระครูผู้คอยควบคุมกฎ จำต้องแสดงความเข้มขวดกวดขัน ดุด่าว่ากล่าว แต่ลึกๆมีความอ่อนโยน ฟังเหตุมีผล ชอบเอาใจเขามาใส่ใจเรา เลยได้รับความนับหน้าถือตาจากทุกคนในวัด
– Jamyang Lodro (เกิดปี 1985) ชาว Bhutanese ครอบครัวอพยพจากทิเบต เมื่อวัย 13 ปี ได้รับคัดเลือกเป็นนักแสดง The Cup (1999) รับบทสามเณร Orgyen ผู้มีความคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอล พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้มีโอกาสรับชมนัดชิงชนะเลิศ แต่เมื่อตระหนักถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน เกิดอาการหวาดหวั่นวิตกกลัว จนสูญเสียความอยากในการดูบอล … ซะงั้น!
ถ่ายภาพโดย Paul Warren สัญชาติ Australian ก่อนหน้านี้มีผลงานสารคดี ชื่นชอบการเดินทาง ท่องเที่ยว สนใจวัฒนธรรมหลากหลาย แจ้งเกิดกับ The Cup (1999), Milarepa (2006) ฯ
งานภาพมีกลิ่นอาย Neorealist ถ่ายทำในลักษณะสารคดี เน้นความเป็นธรรมชาติ ไม่มีการจัดแสง-สี โดดเด่นกับการเลือกมุมกล้อง และมีช็อตเจ๋งๆอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ผู้ชมทั่วโลก/ยุคสมัยนี้ น่าจะไม่มีใครไม่รู้จักกีฬาฟุตบอล พบเห็นวิ่งไล่เตะกระป๋องโค้ก ใครๆย่อมรับรู้ได้ว่าพวกเขาทำอะไรกัน แต่นั่นอาจไม่ใช่สำหรับชาวทิเบตเมื่อยุคสมัยนั้น หรือพระ/สามเณรบวชเรียนมาตั้งแต่เล็ก เป็นกิจกรรมที่สร้างความพิศวงงงงวย บ้าบอคอแตกอะไร วิ่งไล่ลูกกลมๆ ใช้ความรุนแรงเข้าแก่งแย่งฉกชิง … เออเว้ยเห้ย มันเป็นกีฬาที่ไร้สาระจริงๆแหะ
เพราะสิ่งที่อยู่ด้านหลังเจ้าอาวาสคือพระพุทธรูป ช็อตนี้อาจเรียกได้ว่า ‘Buddha Eye’ มองลงมาพบเห็นสามเณรใหม่ กำลังจะปลงผม ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน
สามเณร Orgyen ครุ่นคิดแผนการรับชมฟุตบอลโลกนัดชิง ระหว่างเข้าเวรทำอาหาร(น่าจะกลางวัน) สามารถสะท้อนถึงการปรุงแต่งชีวิตให้มีรสชาติด้วยตนเอง กล่าวคือถ้ามัวแต่เฝ้ารอคอย หรือกระทำสิ่งผิดๆให้ถูกจับขับไล่ออกจากวัด เขาครุ่นคิดกลับตารปัตร ขออนุญาตให้เป็นเรื่องเป็นราว สร้างข้อแลกเปลี่ยนที่ชาญฉลาด ย่อมไม่เสียหายอะไรอยู่แล้วที่จะทดลองดู
ชื่อหนัง The Cup คือสิ่งที่ใครๆเข้าใจว่าคือการแข่งขันฟุตบอลโลก แต่สำหรับเจ้าอาวาส A Cup หยิบแก้วเทน้ำชา ยกขึ้นมาซด เออเว้ยเห้ย ถ้วยจริงๆ เป็นมุกน่าจะตลกสุดในหนังแล้วกระมัง
ช็อตที่ผมว่าเจ๋งสุดในหนัง ภาพจับจ้องสองตัวละคร แล้วมีการปรับโฟกัสหน้า-หลัง
– เจ้าอาวาส รับชมการแข่งขันฟุตบอลแบบไม่รู้เรื่องสักเท่าไหร่ จิตใจของท่านยังคงโหยหา ทุกวันยังคงเก็บข้าวของ รอคอยวันเวลาเดินทางหวนกลับสู่ทิเบต
– เด็กชาย Nyima ไม่ได้มีกระจิตกระใจรับชมฟุตบอลโลกสักเท่าไหร่ เพราะเขาสูญเสียนาฬิกาของแม่ที่ถูกนำไปจำนำเพื่อให้ได้โทรทัศน์และจานดาวเทียม
กล่าวคือทั้งสองตัวละครนี้ ต่างไม่ได้มีความแสนสุขอันใดกับการรับชมฟุตบอลโลกนัดชิง และจิตใจของพวกเขาโหยหาบางสิ่งที่พลัดพรากจากไป ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีโอกาสได้หวนกลับคืนมาหรือเปล่า
ฟีล์มหนังถูกส่งไปตัดต่อยังประเทศ Australia โดย John Scott ผลงานเด่นๆ อาทิ The Quiet American (2002), Basic Instinct 2 (2006) ฯ
หนังดำเนินเรื่องแทบทั้งหมดในวัดที่ Bir, Himachal Pradesh โดยมีหลวงพ่อ Geko คือจุดศูนย์กลาง เชื่อมโยงสลับไปมาระหว่างพูดคุยกับเจ้าอาวาส และบรรดาสามเณรในสังกัด
แน่นอนว่าหนังย่อมต้องมี Archive Footage การแข่งขันฟุตบอลโลก France ’98 ทั้งหมดเพียง 2 คู่เท่านั้นคือ
– รอบก่อนรองชนะเลิศ, ฝรั่งเศส ชนะลูกโทษ อิตาลี 4:3 จากเสมอในเวลา 0:0
– รอบชิงชนะเลิศ, ฝรั่งเศส ชนะ บราซิล 3:0
เพลงประกอบโดย Douglas Mills, ขณะที่เด็กๆวิ่งเล่นใส่ท่วงทำนองสนุกสนาน บรรดาผู้ใหญ่/ลามะสูงวัยต่างเต็มไปด้วยความหวนระลึกคิดถึงบ้าน (ทิเบต) ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไป แต่อะไรๆล้วนมิอาจเป็นดังใจ
ผมชื่นชอบบทเพลงคำร้องพื้นบ้านทิเบตมากๆเลยนะ น่าเสียหายหาคลิป หรือคำแปลไม่ได้ ทั้ง Opening/Closing Credit เสียงร้องโหยหวนของเด็กๆช่างเต็มไปด้วยความไร้เดียงสา อ่อนเยาว์วัย ยังไม่รับรู้ความเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงไปของโลก ซึ่งน่าเสียดายที่พวกเขาคงไม่มีโอกาสรับรู้จักทิเบตอย่างที่เคยเป็นมาแต่กาลก่อน
ผ่านมายาวนานกว่า 4 ทศวรรษ (นับถึงภาพยนตร์เรื่องนี้) ที่ชาวทิเบตต้องพลัดถิ่น อพยพหลบหนีจากความเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เร่ร่อนลี้ภัยมายังตอนเหนือประเทศอินเดีย พระผู้ใหญ่รุ่นนั้นจนถึงปัจจุบันต่างอิดโรยรา ละสังขารไปแล้วก็มาก ใกล้เต็มทีที่จะหมดสิ้นซาก หลงเหลือแต่พระรุ่นใหม่วัยเยาว์ ซึ่งก็มิได้มีกระจิตกระใจมองว่าทิเบตคือบ้านหลังเก่าอีกต่อไป
สำหรับชาวพลัดถิ่นทั้งหลาย ทิเบต ฮ่องกง ไต้หวัน มันจบสิ้นแล้วสำหรับพวกเขาที่จะเรียกผืนแผ่นดินบ้านเกิด/จีนแผ่นดินใหญ่ ว่าบ้านของตนเอง เพราะไม่มีทางในช่วงชีวิตชาตินี้ จะได้รับอิสรภาพทวงคืนจากพรรคคอมมิวนิสต์ ที่สยายปีกแพร่ขยายอิทธิพลปกคลุมไปทั่วโลก (จนแทบจะเหนือกว่าสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว) สถานที่หลบลี้ภัยแห่งนี้กลายเป็น ‘บ้านหลังใหม่’ สำหรับบรรดาผู้ใหญ่อาจรู้สึกตะขิดตะขวงใจ แต่สำหรับเด็กๆส่วนใหญ่ย่อมไม่มีปัญหาใดๆ
โลกได้เกิดวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ค่านิยมใหม่ๆเริ่มเข้ามาแทนที่ สำหรับผู้ใหญ่คนรุ่นเก่าย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยินยอมรับ แต่การปฏิเสธปิดกั้นก็มินำพาประโยชน์ใดๆให้เกิดขึ้น เราควรต้องเรียนรู้จักที่จะปรับตัว เลือกนำเอาสิ่งสามารถเป็นสาระมาปรับใช้ และเสี้ยมสอนแนวความคิดที่ถูกต้องเหมาะสมให้คนรุ่นใหม่ได้ปรับปรุง จดจำไว้เป็นแบบอย่าง
แก้วน้ำ (The Cup) ที่ว่างเปล่า ย่อมสามารถรินน้ำชาได้อยู่เรื่อยๆ แต่เมื่อใดเติมจนเต็มแล้วไม่เทออก ย่อมมิสามารถนำอะไรใหม่ๆเพิ่มใส่ลงไปได้! เฉกเช่นเดียวกับชีวิต ถ้าเราปิดกั้นอะไรใหม่ๆ ย่อมไม่สามารถเข้าใจการปรับเปลี่ยนแปลงไปของโลกได้
รอบปฐมทัศน์ยัง Director’s Fortnight เทศกาลหนังเมือง Cannes ผลตอบรับดีล้นหลาม ขายได้หลายประเทศ/หลายเทศกาลหนัง และทำเงินในสหรัฐอเมริกา $1.06 ล้านเหรียญ
ส่วนตัวชื่นชอบหนังมากๆ ประทับใจในความเรียบง่าย ไดเรคชั่นสุดแสนธรรมดา แต่มีความลุ่มลึก ตราตรึง เกิดรอยยิ้มอิ่มเอิบระหว่างรับชม สุขสำราญ เบิกบานไปถึงจิตวิญญาณ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” การเปลี่ยนแปลง/วิถีของโลกเป็นสิ่งไม่มีใครสามารถต่อต้านทาน พยายามปิดกั้นหรือวันๆเอาแต่หวนระลึกถึงอดีตย่อมไร้ประโยชน์ใดๆ ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ค้นหาความสุขจากภายใน อาศัยอยู่แห่งหนไหนก็พานพบความสงบสุขได้
จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply