
The Cyclist (1989)
: Mohsen Makhmalbaf ♥♥♥♡
ภรรยาล้มป่วยหนักไม่มีเงินค่ารักษา สามีจึงตัดสินใจปั่นจักรยาน 7 วัน 7 คืน อยากจะทำเหมือน Ace in the Hole (1951) แต่ก็ได้แค่เวียนวนไปวนมา วังวนแห่งหายนะของผู้อพยพชาว Afghan
หลายคนน่าจะรับรู้จัก The Cyclist (1989) และ Mohsen Makhmalbaf จากการกล่าวอ้างถึงในโคตรภาพยนตร์กึ่งสารคดี Close-Up (1990) ของ Abbas Kiarostami ที่ชายคนหนึ่งแอบอ้างตัวเองเป็นผกก. Makhmalbaf และยังพูดบอกว่า “the cyclist is a part of me”.
แต่ก่อนหวนกลับไป revisit ภาพยนตร์เรื่องนั้น ผมเลยตัดสินใจลองหา The Cyclist ที่ก็ไม่รู้ออกฉายปี 1987 หรือ 1989 (ใน Wikipedia และ IMDB ขึ้นคนละปี แถมในเว็บไซด์ทางการ makhmalbaf.com หน้าโปรไฟล์ขึ้น 1987 แต่พอคลิกเข้าไปบอกออกฉาย 1989) อาจจะหารับชมยากสักหน่อย คุณภาพตามมีตามเกิด ลีลาตัดต่อแม้งก็ฉวัดเฉวียน ชวนให้วิงเวียนศีรษะ แต่ต้องยอมรับแนวคิดถือว่าน่าสนใจ
สิ่งที่ผมรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ คือผกก. Makhmalbaf พยายามสอดไส้/ยัดเยียดประเด็นการเมืองจนล้นทะลัก แถมนำเสนอแบบผ่านๆโดยไม่มีที่มาที่ไป อะไรก็ไม่รู้โคตรชุลมุนวุ่นวาย มันเลยไม่ค่อยเพลิดเพลินผ่อนคลายแบบ Ace in the Hole (1951) ของผู้กำกับ Billy Wilder เพียงความเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้สิ้นหวังในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้
Mohsen Makhmalbaf, محسن مخملباف (เกิดปี 1957) ผู้กำกับสัญชาติ Iranian เกิดที่ Tehran, เมื่ออายุ 15 เข้าร่วมกลุ่มต่อต้านสมเด็จพระเจ้าชาห์ Mohammad Reza Pahlavi (1919-80), แล้วตอนอายุ 17 เคยใช้มีดทิ่มแทงตำรวจนายหนึ่ง จริงๆถูกตัดสินโทษประหารชีวิต แต่หลังจากติดคุกอยู่ห้าปีได้รับการปล่อยตัวในช่วง Iranian Revolution (1978-79) เพราะสามารถโค่นล้มระบอบกษัตริย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of Iran)
I was in jail four and a half years. When I came out, I continued the same struggle against injustice, but instead of using weapons, I began to use art and cinema.
Mohsen Makhmalbaf
ช่วงระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ Makhmalbaf ใช้เวลาว่างอ่านหนังสือกว่า 2,000+ เล่ม หลังได้รับการปล่อยตัวก็เริ่มเกิดความสนใจในสื่อภาพยนตร์ กลายมาเป็นช่างภาพ ตากล้อง เขียนเรื่องสั้น พัฒนาบทหนัง Towjeeh (1981), Marg Deegari (1982), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Tobeh Nosuh (1985) ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก Iranian New Wave โด่งดังจากผลงาน The Cyclist (1989), Once Upon a Time, Cinema (1992), Hello Cinema (1995), A Moment of Innocence (1996), Gabbeh (1996), Kandahar (2001) ฯลฯ
สำหรับ بايسيكلران อ่านว่า Bicycle-ran ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ The Cyclist ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์วัยเด็กของผกก. Makhmalbaf พบเห็นนักปั่นจักรยานชาว Pakistani ประกาศจะปั่นจักรยานต่อเนื่องยาวนานสิบวัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ประเทศ Pakistan
When I was ten years old there were rumors that in a basketball field located in Khorasan Sq., in Tehran, a Pakistani cyclist has got onto a bicycle and wants to cycle for 10 constant days for helping the flood victims of Pakistan.
Mohsen Makhmalbaf
แต่ในความเป็นจริงไม่ได้มีการนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอะไรหรอก เพียงข้ออ้างสำหรับล่อหลอกผู้ชมจ่ายค่าตั๋ว 5 เรียลอิหร่าน ยามค่ำคืนมักแอบสลับสับเปลี่ยนคนปั่น วันหลังๆจะมีการตั้งร้านรวง ขยับขยายกลายเป็นเทศกาลงานวัดขนาดย่อมๆ (Carnival)
Later I heard that the same man has repeated this story in other cities. I can even say that sometimes the cyclist is not a special person in some places; it is a class, a society, and a nation.
บทร่างแรกของหนัง ผกก. Makhmalbaf แทบไม่ได้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดใดๆจากความทรงจำวัยเด็ก แตกต่างเพียงตอนจบเมื่อนักปั่นจักรยานหยุดปั่น เขาไม่สามารถก้าวเดินเป็นเส้นตรง วนไปวนมาอยู่รอบฝูงชน แล้วทิ้งตัวล้มลงขาดใจตาย … แต่บทร่างดังกล่าวก็ถูกทัดทานจากโปรดิวเซอร์ “Why don’t you think more globally?”
I really liked to make the story as I wrote it first. I mean when the cyclist apparently succeeded and stopped cycling he could not walk on a straight line anymore. He went towards the mass crowd in the opposite street in circles from this Bazaar and in a place, a little further, when he had finished his work, he died.
ผกก. Makhmalbaf เลยต้องลบภาพความทรงจำที่เคยพบเห็นยัง Khorasan Square มาพัฒนาเรื่องราวจากมุมมองของนักปั่นจักรยาน เปลี่ยนจากสัญชาติ Pakistani มาเป็นผู้อพยพชาว Afghan และแทนที่จะมีเป้าหมายช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ นำเสนอความจำเป็นที่ต้องหาเงินจ่ายค่ารักษาภรรยาล้มป่วยหนัก
เรื่องราวของ Nasim (รับบทโดย Moharram Zaynalzadeh) ผู้อพยพชาว Afghani จำต้องหาเงินมาเป็นค่ารักษาภรรยาล้มป่วยหนัก ในตอนแรกรับจ้างขุดบ่อแต่โดนนายจ้างเบี้ยวค่าแรง กำลังจะรับงานลักลอบขนคนเข้าเมืองกลับถูกตำรวจบุกตรวจค้น และเคยคิดสั้นจะให้รถเหยียบดันไม่มีใครให้ความสนใจ
ความที่ในอดีตเคยเป็นแชมป์แข่งขันจักรยานมาราธอน เลยได้รับการท้าทายให้ปั่นวนรอบจัตุรัส 7 วัน 7 คืน เพราะไม่มีหนทางอื่นจึงจำยินยอมตอบตกลง จากผู้ชมไม่กี่คนค่อยๆขยับขยาย มีผู้คนมากมายเดินทางมารับชม ขณะเดียวกันบรรดาคนใหญ่คนโตต่างพยายามหาหนทางกีดขัดขวาง ไม่ต้องการให้ Nasim สามารถปั่นจักรยานได้ครบกำหนด
Moharram Zaynalzadeh (เกิดปี 1951), محرم زینالزاده นักแสดงสัญชาติ Iranian เกิดที่ Khoi, West Azerbaijan (ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน) เข้าเรียนการแสดงยัง Tehran Art Institute จบออกมาเป็นนักแสดงละครเวที มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Zangha (1985), เคยร่วมงานผู้กำกับ Mohsen Makhmalbaf ตั้งแต่ The Peddler (1987), The Cyclist (1989), A Moment of Innocence (1996) ฯลฯ
รับบท Nasim ชายผู้มีความหมดสิ้นหวังกับชีวิต เพราะเป็นผู้อพยพจาก Afghan เลยไม่ได้รับโอกาสเหมือนชาวอิหร่าน แต่เขาก็ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง เพื่อหาเงินมาจ่ายค่ารักษาภรรยา ตอบตกลงปั่นจักรยานเจ็ดวันเจ็ดคืน ครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่พอครบกำหนดกลับไม่สามารถหยุดยับยั้งตนเอง
การแสดงของ Zaynalzadeh ถือว่ามีความซับซ้อนทางอารมณ์ ถ่ายทอดผ่านสีหน้าท่าทาง เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย ท้อแท้สิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยาก เพราะไม่ต้องการให้เรื่องร้ายๆเกิดขึ้นกับครอบครัว (รวมถึงฝันเห็นบุตรชายพลัดตกหลุม) มันจึงเป็นแรงผลักดันต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ให้เขาปั่นจักรยาน ล้มลุกคลุกคลาน จนไม่สามารถหยุดยับยั้ง สูญสิ้นสติสัมปชัญญะ กลายเป็นบุคคลไร้ซึ่งวิญญาณ
ตัวละคร Nasim ถือเป็นตัวแทนผู้อพยพชาว Afghan ที่พอหลบหนีเข้าสู่อิหร่าน ตกอยู่ในสภาพราวกับ ‘หนีเสือปะจระเข้’ ไร้ซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ไม่ได้รับโอกาสอะไรใดๆ หนำซ้ำยังถูกกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ถือเป็นพลเมืองชั้นสาม … ปัจจุบันก็เหมือนว่ายังคงเป็นเช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง
ถ่ายภาพโดย Ali Reza Zarrindast (เกิดปี 1945), علیرضا زریندست ตากล้องสัญชาติอิหร่าน เข้าสู่วงการตั้งอายุ 20 ปี จากเป็นช่างภาพนิ่ง ผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) เริ่มมีชื่อเสียงจาก Goodbye Friend (1971), The Report (1977), The Peddler (1987), The Cyclist (1989), Close-Up (1990) ฯลฯ
แม้คุณภาพฟีล์มหนังจะห่วยสักแค่ไหน แต่เพชรในตมก็ยังคือเพชร ต้องชมวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ Makhmalbaf โดยเฉพาะการเลือกทิศทางมุมกล้อง บันทึกภาพบรรยากาศโดยรอบ มีความมากมาย หลากหลาย เก็บรายละเอียดได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เต็มไปด้วยความแปลกใหม่ ครุ่นคิดถ่ายทำออกมาได้ยังไงกัน
ความโคตรๆเก็บรายละเอียดของหนัง ชวนให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ของ Robert Bresson ที่เต็มไปด้วยช็อตระยะใกล้ (Close-Up Shot) และมักสลับสับเปลี่ยนทิศทางมุมกล้อง เพื่อผู้ชมสามารถพบเห็นสิ่งที่อยู่ในสายตาตัวละคร (บางครั้งก็ตัดสลับใบหน้านักแสดง เพื่อให้เห็นว่ากำลังจับจ้องมองสิ่งๆนั้นอยู่)
ผมหารายละเอียดได้แค่ว่าหนังถ่ายทำในกรุง Tehran แต่ไม่แน่ใจว่ายัง Khorasan Square สถานที่ที่ผู้กำกับ Makhmalbaf เคยพบเห็นการปั่นจักรยานเมื่อครั้งสมัยวัยเด็กหรือเปล่า (ผมลองค้นหาใน Google Maps แต่กลับไม่ค่อยมีภาพถ่าย Street View เหมือนว่าอิหร่านจะไม่ให้ความร่วมมือกับ Google สักเท่าไหร่)
มอเตอร์ไซด์ไต่ถัง ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในเชิงเปรียบเทียบ ไม่ใช่แค่การปั่นจักรยานเวียนวนไปวนมารอบจัตุรัส แต่ยังรวมถึงการขุดหลุมขุดบ่อ และ Nasim ฝันเห็นบุตรชายพลัดตกจากเบื้องบน (ล้อกับตอนกลางเรื่องที่คนขับมอเตอร์ไซด์ไต่ถัง ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต)
ส่วนความหมายเชิงสัญลักษณให้สังเกตจากสิ่งที่หนังพยายามนำเสนอเคียงคู่ขนาน แทรกภาพภรรยาเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ล้มป่วยโรคอะไรก็ไม่รู้ แฝงนัยยะถึงวังวนแห่งความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน (การไม่ได้บอกชื่อโรค เพื่อให้ผู้ชมมองอาการเจ็บป่วยในเชิงนามธรรม)


นี่เป็นอีกมุมกล้องที่น่าสนใจ ณ ห้องจ่ายเงิน สะท้อนมุมมองของหมอ/โรงพยาบาล ความสนใจในการให้บริการผู้ป่วย พบเห็นใบหน้าของ Nasim ยื่นเข้ามาอยู่ในช่องครึ่งวงกลมเล็กๆ ถ้าไม่มีเงินจ่ายก็ไม่ได้รับสิทธิ์ใดๆในการรักษา ขณะที่ภรรยานอนดิ้นกระแด่วๆ ตายแหล่มิตายแหล่ อยู่ด้านหลังลิบๆ
แซว: ระยะใกล้-ไกลของช็อตนี้ชวนให้นึกถึง Citizen Kane (1941) โดยเฉพาะภรรยาที่อยู่ไกลสุดไม่ต่างจากเด็กชายนอกหน้าต่าง ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง เพียงรอคอยโชคชะตา
เราสามารถซีเควนซ์นี้ในเชิงสัญลักษณ์ทั้งหมด อาการป่วย(ทางร่างกาย)ของภรรยาสามารถสื่อถึงความทุกข์ยากลำบากของคนจน/ผู้อพยพชาว Afghan แต่เมื่อไหร่ร่ำรวยเงินทอง ไม่เพียงทำให้อาการป่วยทุเลาลง แต่ยังสร้างความสุขสบายให้กับชีวิต


การขุดหลุมขุดบ่อ ขุดเส้นทางน้ำ ขุดถนนหนทาง สารพัดจะขุดที่พบเห็นในหนัง ผมมองว่าคือสัญลักษณ์ของวังเวียนวน ไม่แตกต่างจากการปั่นจักรยาน เพราะมันไม่รู้จักจบจักสิ้น มีอะไรก็ไม่ให้รู้ให้ขุดแล้วขุดอีก ขุดได้ทุกวี่ทุกวัน ขุดหลุมฝังศพของตนเองหรือไร?


ฝั่งหนึ่งพบเห็นคนควบขี่ม้า กำลังรุมล้อมแก่งแย่งเนื้อสัตว์ <ตัดสลับกับ> ภาพชายคนหนึ่งนอนราบบริเวณใต้ท้องรถ รอคอยให้ถูกรถทับ
ผมมองทั้งสองเหตุการณ์นี้ สะท้อนภาพความสิ้นหวังของชีวิตที่ถูกกดทับ เต็มไปด้วยความเครียด เก็บกดดัน เพราะต้องต่อสู้แข่งขัน แก่งแย่งชิง ถ้าไม่สามารถเอาชนะ ก็เพียงเฝ้ารอคอยความตาย (นอกจากจะมีคนสงสารเห็นใจ ยินยอมให้ความช่วยเหลือ)


ผมละขำกลิ้งกับภาพความฝันของภรรยา หลังจากได้ยินเรื่องเล่าของบุตรชาย พบเห็นแสงระยิบระยับอาบฉาบบนใบหน้า จินตนาการเห็นภาพเทวดา(สามี)ปั่นจักรยานอยู่บนท้องฟ้า … แสดงถึงความพร่ำเพ้อฝันของคนจน อยากมีชีวิตที่ร่ำรวย สุขสบาย แต่ไม่เคยตระหนักถึงความทุกข์ยากลำบากของสามี ต้องทำงาน/ปั่นจักรยานเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน


มุมกล้องที่ติดตามถ่ายใบหน้าตัวละครระหว่างปั่นจักรยาน Tracking Shot หลายคนอาจรู้สึกว่ามันดูไม่ค่อยสมจริงสักเท่าไหร่ แต่ผมมองความลอยๆของช็อตเหล่านั้น เป็นการสร้างสัมผัสเหนือจริงให้กับการปั่นจักรยาน ชักชวนผู้ชมค้นหานัยยะเหตุผล สิ่งที่ชายคนนี้กำลังทุ่มเททำอยู่เพื่ออะไรกัน?
แซว: ช่วงท้ายของหนัง (วันสุดท้ายเมื่อนักข่าวมารอทำข่าว) จะมีการเปิดเผยให้เห็นเบื้องหลังฉากนี้ ถ่ายทำด้วยเครนยังไง



ชาว Afghan ก็ไม่ต่างจากเด็กๆทั้งสอง ต้องหลบซ่อน (อยู่ใต้เตียง) แถมเป็นภาระให้ชาวอิหร่าน (พยายามแอบขึ้นไปนั่งด้านหลังรถม้า) จึงไม่ได้รับการยอมรับ แถมยังถูกขับไล่ ผลักไสส่ง (คนขับไม่ยินยอมให้เด็กๆทั้งสองขึ้นรถฟรี จึงพยายามใช้ไม้เฆี่ยนตีให้ลงจากหลังรถ)
เกร็ด: นักแสดงที่เล่นเป็นเด็กหญิงก็คือ Samira Makhmalbaf บุตรสาวของผู้กำกับ Mohsen Makhmalbaf พอโตขึ้นก็กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ มีผลงานระดับตำนานอย่าง The Apple (1998), Blackboards (2000), At Five in the Afternoon (2003) ฯ


มีหลากหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างการปั่นจักรยาน ซึ่งล้วนสะท้อนความคอรัปชั่นอะไรสักสิ่งอย่าง ยกตัวอย่าง…
- ค่ำคืนที่สามหลังจาก Nasim หมดสิ้นเรี่ยวแรง ฟุบหลับ เอาจริงๆมีประจักษ์พยานหลายคน หนึ่งในนั้นคือนักดนตรีแสร้งว่าตาบอด แต่เขาก็ทำเป็นมองไม่เห็น เหมือนไม่เคยมีอะไรบังเกิดขึ้น รับสินบนเป็นที่เรียบร้อย!
- เช่นเดียวกับคนที่เป็นกรรมการ (ผมเรียกว่า โค้ชฟุตบอล) คอยจ้องจับผิด ตรวจสอบว่า Nasim ปั่นจักรยานได้ตามคำอวดอ้างหรือไม่ ท่าทางตั้งอกตั้งใจ แต่เบื้องหลังกลับมีเส้นสายคนใหญ่คนโต ทำการแบล็กเมล์ พูดจาข่มขู่
- ผมมองตัวละครนี้เป็นตัวแทนหน่วยงานที่คอยตรวจสอบ สอดส่อง จ้องจับผิด ไม่ต่างจากกองเซนเซอร์ภาพยนตร์


ใครช่างสังเกตน่าจะพบเห็นหลายๆช็อต ภาพถ่ายของบุคคลจะมีบางสิ่งอย่างขวางกั้น อาทิ เสาไม้(ที่แลดูเหมือนกรงขัง), ขวดแก้ว, ตู้เลี้ยงปลา ฯลฯ เหล่านี้แสดงถึงความลับลมคมใน ตัวละครนั้นกำลังซุกซ่อนเร้นบางสิ่งอย่าง (ส่วนใหญ่จะเป็นแผนการชั่วร้าย เพื่อทำการหยุดยับยั้ง Nasim ไม่ให้ปั่นจักรยานได้สำเร็จ)



เหตุผลหนึ่งที่ Nasim ไม่สามารถหยุดปั่นจักรยาน เพราะมีการแทรกภาพภรรยากำลังรอคอยการรักษา นี่เป็นการสื่อว่าเขายังไม่สามารถดิ้นหลุดพ้น ออกจากวังวน ความยากจน ไม่มีอะไรปรับเปลี่ยนแปลงไป จิตใจยังคงทนทุกข์ทรมาน ร่างกายเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ทำเพียงกัดฟันสู้ชีวิต ดิ้นรน จนกว่าจะล้มลง แล้วแต่สวรรค์ดลบันดาล


ตัดต่อโดย Mohsen Makhmalbaf, นำเสนอเรื่องราวโดยใช้ตัวละคร Nasim เป็นจุดศูนย์กลาง สามารถแบ่งหนังออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ
- อารัมบท: นำเสนอที่มาที่ไป แรงจูงใจ ระหว่าง Nasim (และบุตรชาย) กำลังมองหางานทำ เพื่อนำเงินมาจ่ายค่ารักษาภรรยา
- Nasim พาภรรยาไปรักษาตัวยังโรงพยาบาล แต่เจ้าหน้าที่สั่งให้เขาจ่ายเงินก่อนถึงยินยอมทำการรักษา
- รับจ้างขุดบ่อแต่โดนนายจ้างเบี้ยวค่าแรง
- กำลังจะรับงานลักลอบขนคนเข้าเมืองกลับถูกตำรวจบุกตรวจค้น
- เคยคิดสั้นจะให้รถเหยียบดันไม่มีใครให้ความสนใจ
- เรื่องราวหลัก: เมื่อพบเจอนายหน้าท้าทายให้ปั่นจักรยาน 7 วัน 7 คืน แต่ละวัน-คืนก็จะมีเรื่องวุ่นๆวายๆเกิดขึ้นมากมาย
- วันแรกไม่มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เพียงคนทะยอยกันมาให้กำลังใจ บุตรชายนำเงินไปจ่ายค่ารักษามารดา และยามค่ำคืนมีรถพยาบาลมาประจำการ
- วันสองก็ยังเงียบๆ ไม่มีเหตุการณ์น่าสนใจ
- วันสามเริ่มมีกลุ่มคนเข้ามาก่อกวน สร้างความไม่สงบ จนต้องมองหาสถานที่ปั่นใหม่, ยามค่ำคืน Nasim หมดสิ้นเรี่ยวแรง ฟุบหลับ เลยมีการแอบเปลี่ยนคนปั่น
- วันสี่มีเหตุการณ์คนขับรถมอเตอร์ไซด์ไต่ถังประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต, ยามค่ำคืนฝนตกหนัก
- วันห้ามีโทรศัพท์สายเข้าพยายามจะแบล็กเมล์ Nasim บุตรชายก็ถูกกลุ่มนักเลงควบคุมตัว, ยามค่ำคืนมีการวางเข็มหมุดทำให้ยางแตก เลยต้องเปลี่ยนจักรยานคันใหม่
- วันหกไม่มีเหตุการณ์น่าสนใจ
- และวันที่เจ็ดมีนักข่าวมากมายมารอทำข่าว แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลา Nasim กลับไม่สามารถหยุดปั่นจักรยาน
ลีลาการตัดต่อหนังมีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน ชวนให้วิงเวียน ก็ไม่รู้จะเร่งรีบร้อนไปไหน แต่ที่ต้องชมคือการร้อยเรียงชุดภาพ Montage สำหรับเก็บรายละเอียด สลับสับเปลี่ยนมุมมอง และนำเสนอคู่ขนาน สลับไปสลับมาระหว่างสองภาพเหตุการณ์ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ/สร้างความเชื่อมโยงบางอย่าง อาทิ มอเตอร์ไซด์ไต่ถัง <> ปั่นจักรยานรอบจัตุรัส, คนควบขี่ม้ากำลังรุมล้อมแก่งแย่งเนื้อสัตว์ <> ชายคนหนึ่งนอนอยู่บริเวณใต้ท้องรถ กำลังรอคอยให้ถูกรถทับ ฯลฯ
เกร็ด: ฉบับที่หารับชมได้ทั่วไปความยาว 78 นาที แต่ในเว็บไซด์ IMDB กลับบอกว่า 82 นาที ผมไม่รู้ว่าหนังถูกเซนเซอร์หรืออย่างไร? แต่ในภาพยนตร์ Close-Up (1990) มีการกล่าวถึงประเด็นนี้อยู่ (ว่าหนังอาจถูกเซนเซอร์)
เพลงประกอบโดย Majid Entezami, مجید انتظامی (เกิดปี 1948) คีตกวีชาว Iranian บุตรชายของนักแสดงชื่อดัง Ezzatollah Entezami ค้นพบความชื่นชอบด้านดนตรีตั้งแต่วัยเด็ก ร่ำเรียน Oboe ยัง Tehran Conservatory จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อ State University of West Berlin เคยร่วมทำการแสดงกับ Berlin University Symphony Orchestra พอกลับมาอิหร่านก็ได้รับจดหมายเชิญเข้าร่วม Tehran Symphony Orchestra กลายเป็นครูสอนดนตรี จากนั้นมีผลงานประพันธ์ซิมโฟนี่ เพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ The Cyclist (1988), Once Upon a Time, Cinema (1991), A Moment of Innocence (1995) ฯลฯ
เพลงประกอบของ Entezami ถือเป็นอีกไฮไลท์ของหนัง ทำหน้าที่ชี้ชักนำพาอารมณ์ ให้ผู้ชมสามารถสัมผัสได้โดยทันที ว่าขณะนั้นนี้ต้องการสื่อถึงอะไร ส่วนใหญ่มีท่วงทำนองโหยหวน สะท้อนห้วงความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง เสียงกรีดร้องดังออกจากจิตวิญญาณ ไร้หนทางหลบหนี ปั่นจักรยานเวียนอยู่ในวงกลม ไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที
ใครเคยรับชมหนังอินเดีย/ฮินดีมาเยอะ น่าจะมักคุ้นกับท่วงทำเพลง เพราะมีการใช้เครื่องดนตรีอย่าง Sitar, กลอง Tabla ฯ เพื่อสร้างความผิดแผกแปลกแยกในฐานะ ‘ผู้อพยพชาว Afghan อาศัยอยู่ในอิหร่าน’
และช่วงท้ายๆของหนังหลังจากปั่นจักรยานครบ 7 วัน แต่ชายนั้นนั้นกลับไม่สามารถหยุดปั่น จากทำนองเพลงพื้นบ้าน ค่อยๆแปรสภาพสู่ดนตรีไฟฟ้า (Electronical Music) ด้วยเครื่องสังเคราะห์เสียง (Synthesizer) เพื่อมอบสัมผัสเหนือจริง แฝงนัยยะเชิงนามธรรม
แซว: แม้คุณภาพเสียงจะถือว่าห่วย มีความอู้ๆอี้ๆ บิดๆเบี้ยวๆ แต่กลับโคตรเข้าบรรยากาศหนังชิบหาย! โดยเฉพาะเสียงร้อยโหยหวน (ที่สะท้อนห้วงความรู้สึกตัวละคร) มันเพิ่มระดับความหลอกหลอนขึ้นกว่าเท่าตัว
The Cyclist (1989) นำเสนอวังเวียนวนแห่งความทุกข์ยากลำบากของชาว Afghan ที่แม้สามารถอพยพหลบหนีลี้ภัย มาปักหลักอาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินอิหร่าน แต่พวกเขาก็ราวกับ ‘หนีเสือปะจระเข้’ ไม่เคยได้รับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม มักถูกกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ ใช้แรงงานหนัก ปฏิบัติเยี่ยงทาส ถือเป็นพลเมืองชั้นสาม
ผู้อพยพคือหนึ่งในปัญหาสังคมที่แก้ไม่เคยตก (เมืองไทยก็มีปัญหาเรื่องโรฮิงญา) ฝ่ายหนึ่งอ้างมนุษยธรรม เราควรต้องช่วยเหลือกันและกัน แต่เมื่อเปิดรับพวกเขาเข้ามา ก็ต้องส่งเสียเลี้ยงดู จัดหาที่อยู่ทำกิน เอาเงินจากไหน? ใครรับผิดชอบ? แล้วมันคุ้มได้คุ้มเสียหรือเปล่า?
สถานะชาว Afghan ในประเทศอิหร่าน คงไม่ต่างจากคนไทยนิยมเรียกแรงงานพม่า ลาว กัมพูชาว่า ‘ต่างด้าว’ เป็นคำที่ผมรู้สึกว่าออกไปทางดูถูก ไม่เห็นความสำคัญ มองอีกฝ่ายต่ำต้อยกว่าตนเอง นั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้องเลยสักนิด! เราควรจะล้มเลิกความครุ่นคิด รวมถึงคำเรียกนี้ได้แล้วนะครับ (เรียกภาษาทางการ ‘ต่างชาติ’ ก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร)
การปั่นจักรยาน ใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตของผู้อพยพชาว Afghan ราวกับติดอยู่ในวังวน เวียนวงกลม ไร้หนทางออก คล้ายๆกับ ‘rat race’ ที่ต้องก้มหน้าก้มตา ทำงานหาเงิน เหน็ดเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องกัดฟันดิ้นรน คาดหวังว่าสักวันจะสามารถดิ้นหลุดพ้น … แต่มีไม่กี่คนเท่านั้นถึงสามารถเอาตัวรอดกลับออกมา
แม้หนังนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับผู้อพยพชาว Afghan แต่จะว่าไปสถานะทางการเมืองของอิหร่านก็ไม่ได้ดีเด่นกว่ากันสักเท่าไหร่ เพราะแม้คณะปฏิวัติจะสามารถโค่นล้มอำนาจจากสมเด็จพระชาห์ เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of Iran) รัฐบาลใหม่ที่ได้รับเลือกจากประชาชน กลับเต็มไปด้วยความคอรัปชั่น ไม่เคยสนหัวประชาชน เอาแต่กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน ราวกับทุกสิ่งอย่างมันกำลังเวียนวน หวนกลับสู่จุดเริ่มต้น ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม … อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าเก่าก่อนเสียอีก!
ผู้กำกับ Makhmalbaf เป็นคนที่มีความคิดเห็นการเมืองรุนแรงสุดโต่งมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แม้หลังจากติดคุกจะเริ่มโอนอ่อนผ่อนเบาลง แต่ไม่นานเขาคงตระหนักถึงสภาพของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ไม่ได้แตกต่างจากรัฐจักรวรรดิแห่งอิหร่าน (Imperial State of Iran) จากเคยเป็นนักปฏิวัติ (pro-revolution) เริ่มแสดงความคิดเห็นต่อต้าน (anti-revolution)
- ช่วงปลายทศวรรษ 80s ออกมาวิพากย์วิจารณ์การทำงานรัฐบาลอย่างถึงพริกถึงขิง
- ช่วงทศวรรษ 90s ลามปามถึงหลักคำสอนศาสนาอิสลาม ว่าคือต้นสาเหตุของปัญหา
- และเมื่อถึงจุดแตกหัก ค.ศ. 2005 เลยตัดสินใจอพยพหนีออกนอกประเทศ หลบซ่อนตัว ลี้ภัยอยู่ฝรั่งเศส
มันช่างเป็นวังเวียนวนที่น่าอัศจรรย์โดยแท้ ใครจะไปคาดคิดว่าผู้กำกับ Makhmalbaf สุดท้ายแล้วจะกลายมาเป็นผู้อพยพลี้ภัย แบบเดียวกับเรื่องราวที่เคยสรรค์สร้างใน The Cyclist (1989)
ข้อมูลจาก IMDB บอกว่า The Cyclist เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนัง Fajr Film Festival เมื่อปี 1989 (นี่น่าจะถือว่าเป็นปีที่หนังเข้าฉายจริงๆ) สามารถคว้ามาถึงสามรางวัล Best Director, Best Screenplay และ Best Music
น่าเสียดายที่หนังยังไม่ข่าวคราวการบูรณะ แม้แต่ในเว็บไซต์ทางการ makhmalbaf.com ก็ไม่มีลิ้งค์รับชม (ไม่รู้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของค่ายไหน) ผมเห็นฉบับ ‘bootleg’ ได้คะแนนกลมๆ 0/5 จากเว็บ dvdbeaver แต่ยังพอมีอีกฉบับที่ดูได้ตั้งแต่ต้นจนจบ (ใน Youtube) คุณภาพตามมีตามเกิด
ส่วนตัวรู้สึกว่าหนังค่อนข้างเลอะเทะ เต็มไปด้วยความว้าวุ่นวาย พยายามยัดเยียดโน่นนี่นั่นโดยไม่มีคำอธิบายใดๆ แต่ต้องชมการสร้างบรรยากาศ และเพลงประกอบของ Majid Entezami มอบสัมผัสแห่งความหมดสิ้นหวัง วังเวียนวนไร้หนทางออก
สำหรับคนชื่นชอบภาพยนตร์ลักษณะคล้ายๆ The Cyclist (1989) แนะนำให้ลองค้นหา Ace in the Hole (1951), Guide (1965), The Sugarland Express (1974), Peepli Live (2010) ฯลฯ
จัดเรต 15+ กับบรรยากาศสิ้นหวัง ความวุ่นๆวายๆ ครุ่นคิดฆ่าตัวตาย
Leave a Reply