The Day I Became a Woman

The Day I Became a Woman (2000) Iranian : Marziyeh Meshkini ♥♥♥♥

การเป็นผู้หญิงในประเทศอิหร่าน มันช่างมีความเหนือจริงยิ่งนัก! เต็มไปด้วยกฎระเบียบข้อบังคับ เด็กหญิงต้องสวมฮิญาบตอนอายุ 9 ขวบ ห้ามเล่นกีฬา ห้ามปั่นจักรยาน ต้องแต่งงานตามคำสั่งครอบครัว แต่ด้วยวิถีของโลกยุคสมัยใหม่ การมีเงินทองจะทำให้ทุกสิ่งอย่างปรับเปลี่ยนแปลงไป!

อีกเพชรเม็ดงามที่โคตรทรงคุณค่า หนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของประเทศอิหร่าน! ผลงานเรื่องแรกแจ้งเกิด Marziyeh Meshkini ศรีภรรยาของผู้กำกับ Mohsen Makhmalbaf (ร่วมเขียนบท และอาจช่วยงานเบื้องหลัง) กวาดรางวัลมากมายเมื่อเข้าฉายตามเทศกาลหนัง แต่แน่นอนว่าถูกแบนในประเทศบ้านเกิดและตะวันออกกลาง เพราะนำเสนอสิ่งที่สังคมมุสลิมยังไม่สามารถให้การยินยอมรับ

แต่เอาจริงๆหนังสามารถรับชมได้จากทั้งสองมุมมอง ฟากฝั่งอนุรักษ์นิยมจะพบเห็นการบันทึกภาพวิถีชีวิต สภาพสังคมที่ยังคงยึดถือมั่นตามหลักศาสนา ขนบประเพณีสืบทอดต่อกันมา, ส่วนชาวโลกเสรีมักเกิดความรู้สึกว่า วัฒนธรรมเหล่านั้นช่างดูเฉิ่มเชยล้าหลัง บ่อนทำลายสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นมนุษย์ และสิทธิสตรี (Feminist)

สำหรับคนที่สนใจแต่เนื้อเรื่องราว ตอนแรกคะแนนเต็ม 5/5, ตอนสองลดมา 4/5, ตอนสามอาจเหลือแค่ 3/5 แต่ความโคตรๆน่าทึ่งของหนังคือพัฒนาการจาก Realist มุ่งสู่ Surrealist โดยเฉพาะตอนสุดท้ายชวนให้ผมนึกถึงสไตล์ Felliniesque เริงระบำอยู่ในความเพ้อฝัน เหนือจริง ล่องลอยคออยู่กลางทะเล


Marziyeh Meshkini, مرضیه مشکینی (เกิดปี 1969) ตากล้อง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Iranian เกิดที่ Tehran, โตขึ้นร่ำเรียนภูมิศาสตร์และชีววิทยา University of Tehran แต่หลังจากแต่งงานผกก. Mohsen Makhmalbaf ​เมื่อปี ค.ศ. 1987 ได้รับการผลักดันจากสามีเข้าคอร์สร่ำเรียนภาพยนตร์จาก Makhmalbaf Film School (เริ่มเปิดทำการสอนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996) แล้วช่วยงานเขียนบท ผู้ช่วยผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องแรก The Day I Became a Woman (2000)

เกร็ด: Marziyeh มีพี่สาวชื่อ Fatemeh Meshkini แต่งงานผกก. Mohsen Makhmalbaf ตั้งแต่ปี 1978 มีบุตรด้วยกันสองคน แต่เธอเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อปี 1982 แล้วโชคชะตาก็นำพาให้พวกเขาพบเจอ ครองรัก แต่งงาน

روزی که زن شدم อ่านว่า Roozi ke zan shodam แปลว่า The Day I Became a Woman (2000) คือโปรเจคจบการศึกษาของ Meshkini โดยสามี Makhmalbaf เป็นทั้งโปรดิวเซอร์ ร่วมพัฒนาบท และอาจช่วยงานอยู่เบื้องหลัง (เห็นว่าขณะนั้นก็ถ่ายทำภาพยนตร์ Tales of an Island (2000) อยู่บริเวณใกล้ๆกัน)

The Day I Became a Woman (2000) ประกอบด้วยสามเรื่องสั้น มีพื้นหลังเดียวกันยัง Kish Island, کیش เกาะเล็กๆทางตอนใต้ของอิหร่าน พื้นที่เพียง 91 ตารางกิโลเมตร อยู่ในอ่าว Persian Gulf ห่างจากชายฝั่ง 19 กิโลเมตร

เกร็ด: ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 70s สมเด็จพระเจ้าชาห์องค์สุดท้าย Mohammad Reza Pahlavi ทำการปรับเปลี่ยน Kish Island ให้กลายเป็นรีสอร์ทหรูหรา สถานที่สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบด้วยสนามบิน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า บ่อนคาสิโน ฯลฯ ภายหลัง Iranian Revolution (1978-79) ถูกพัฒนากลายเป็นแหล่งช็อปปิ้งปลอดภาษี ‘duty-free’ และผ่อนคลายมาตรการความเข้มงวดทางกฎหมาย … เลยสามารถพบเห็นหญิงสาวออกกำลังกาย ปั่นจักรยานรอบเกาะ

ทั้งสามเรื่องสั้น นำเสนอสามช่วงเวลาสำคัญของสตรีเพศในประเทศอิหร่าน

  1. เรื่องราวของ Hava, เด็กหญิงเมื่อเติบโตจนอายุครบ 9 ขวบ ต้องเริ่มต้นสวมฮิญาบ
  2. เรื่องราวของ Ahoo, หญิงสาววัยรุ่น (น่าจะอายุ 17-18 ปี) ในช่วงวัยถูกบีบบังคับให้ต้องแต่งงาน
  3. เรื่องราวของ Hoora, หญิงสูงวัยหลังจากสูญเสียสามี (อายุน่าจะเกินกว่า 60+ ปี) ทำให้ได้รับเสรีภาพ สามารถครุ่นคิดทำอะไรได้ด้วยตนเองทุกสิ่งอย่าง

เกร็ด: เห็นว่าชื่อหนัง The Day I Became a Woman ได้แรงบันดาลใจจากคำกล่าวของ Simone de Beauvoir (1908-86) นักเคลื่อนไหว Feminist ชาวฝรั่งเศส

On ne naît pas femme, on le devient
แปลว่า One is not born but becomes a woman.

จากหนังสือ Le Deuxième Sexe (1949) แปลว่า The Second Sex

เรื่องราวของ Hava, เด็กหญิงกำลังอายุครบ 9 ขวบเวลาเที่ยงตรง (ตามหลักศาสนาอิสลาม ถือว่าเติบโตเป็นผู้หญิง) ร่ำร้องขอมารดาเพื่อไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนชายเป็นครั้งสุดท้าย แต่อีกฝ่ายกลับถูกกักขังไม่ให้ออกนอกบ้าน เธอจึงทำได้เพียงวิ่งไปซื้อขนม ผลัดกันอมลูกอม

เรื่องราวของ Ahoo, หญิงสาวขัดขืนคำสั่งครอบครัว แอบเข้าร่วมการแข่งขันปั่นจักรยาน เลยถูกบรรดาญาติๆควบขี่ม้าไล่ติดตาม พยายามพูดโน้มน้าว เรียกร้องขอให้หยุด ไม่เช่นนั้นจะถูกสามีหย่าร้าง แต่ด้วยความดื้อรั้นจึงปฏิเสธรับฟัง จนกระทั่งพี่ชายดักรอคอยขวางทางเบื้องหน้า เธอจึงไม่สามารถดิ้นหลบหนีโชคชะตา

เรื่องราวของ Hoora, หญิงชราได้รับมรดกก้อนใหญ่หลังการจากไปของสามี โดยสารเครื่องบินมาถึง Kish Island นั่งบนรถเข็นให้เด็กๆพาไปช็อปปิ้งยังห้างสรรพสินค้า ซื้อที่นอนหมอนมุ้ง เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมาย แล้ววางแผนล่องเรือกลับอิหร่าน … แต่จะเดินทางไปถึงฟากฝั่งฝันหรือเปล่า?


สำหรับทีมงานโปรดักชั่น ล้วนคือนักศึกษา(ฝึกงาน)คอร์สภาพยนตร์ของ Makhmalbaf Film School ทั้งหมดน่าจะคือรุ่นแรกๆเลยกระมัง ประกอบด้วยถ่ายภาพโดย Mohamad Ahmadi, Ebrahim Ghafori, ตัดต่อโดย Maysam Makhmalbaf (บุตรชายของผกก. Makhmalbaf), Shahrzad Pouya

ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Kish Island สถานที่ที่ผกก. Mohsen Makhmalbaf ค้นพบเจอเมื่อตอนเดินทางมาสรรค์สร้าง Tales of Kish (1999) ตระหนักว่าเป็นเกาะที่มีความแตกต่างจากอิหร่านแผ่นดินใหญ่ เพราะได้รับการผ่อนปรน ยกเว้น(ภาษี) ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด (ผมว่าเทียบได้กับปอยเปต, บ่อเต็น, สามเหลี่ยมทองคำ ฯ) การถ่ายทำภาพยนตร์ยังสถานที่แห่งนี้จึงค่อนข้างมีอิสระ ไม่ต้องพะว้าพะวังว่าจะไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ใคร

ความน่าสนใจของ Kish Island เป็นสถานที่ที่รวบรวมความหลากหลายทางเชื้อชาติพันธุ์ พบเห็นเด็กๆผิวเหลือง ผิวสี ลูกครึ่ง อาหรับ-แอฟริกัน ฯ อีกทั้งเกาะแห่งนี้ยังมีขนาดเล็กแค่ 91 ตารางกิโลเมตร ทำให้แทบทุกฉากต้องพบเห็นอ่าว Persian Gulf ล้อมรอบราวกับเรือนจำ ตัดขาดจากภายนอก แต่เราสามารถตีความถึงโลกทั้งใบ (หรือจะมองแคบๆแค่ประเทศอิหร่านก็ได้เช่นกัน)


ตอนแรกของหนัง, เริ่มจาก Hava ถูกควบคุมครอบงำโดยมารดา สั่งไม่ให้เธอออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนชาย (เพราะวันนี้วันเกิดครบรอบ 9 ขวบ ถือว่าเติบโตเป็นผู้หญิง ต้องเรียนรู้จักสำรวม และสวมฮิญาบ) แต่หลังจากพยายามต่อรองจนสำเร็จ เมื่อมาพบเจอกลับกลายเป็น Hassan โดนควบคุมขังอยู่ในบ้าน (เห็นกรงขังอย่างชัดเจน)

ผมมองความย้อนแย้งของสองซีนนี้ ต้องการสื่อให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้หญิง(ชาวอิหร่าน)ต้องประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน มีสภาพไม่ต่างจากการถูกควบคุมขังโดยบุรุษ ถ้าเขาเคยติดคุก (เปรียบเทียบแบบ Hassan) ก็น่าจะรับรู้สำนึกผิดชอบชั่วดีขึ้นมาบ้าง และไม่พยายามบีบบังคับสตรีเพศให้ได้รับโชคชะตากรรมดังกล่าว

ปลาของเล่น แม้ว่าเด็กๆพยายามกวักน้ำให้มันล่องลอยออกไป แต่ทุกครั้งจักถูกคลื่นซัดกลับเข้ามาเกยตื้น นี่สามารถสื่อถึงความพยายามจะหลบหนี แต่ก็มิอาจดิ้นหลุดพ้น … เรายังสามารถเปรียบเทียบกับเรือแพ (จากตอนแรกและตอนจบของหนัง) บอกใบ้ว่ามันแทบไม่โอกาสล่องลอยไปถึงอีกฟากฝั่ง (อิหร่านแผ่นดินใหญ่)

การนำฮิญาบมาทำผืนผ้าใบเรือ ชาวมุสลิมแท้ๆอาจไม่ชอบใจสักเท่าไหร่ เพราะเป็นการใช้ประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม แฝงนัยยะถึงการทอดทิ้ง ปล่อยให้มันล่องลอยออกทะเล ไม่เห็นคุณค่าความสำคัญ ไม่เคารพนับถือพระเจ้า

เกร็ด: ฮิญาบ, حجاب แปลว่าการปกปิด, ปิดกั้น, ผ้าคลุมที่สวมใส่โดยหญิงชาวมุสลิม เพื่อบดบังเส้นผมและใบหน้า สำหรับแบ่งแยกตัวจากผู้ชายในที่สาธารณะ แสดงออกถึงความนอบน้อมถ่อมตน ยำเกรงต่อพระเจ้า หรือตามมิติทางอภิปรัชญาเรียกว่า “ผ้าคลุมที่แยกผู้ชายหรือโลกจากพระเจ้า”

เด็กๆทำไปอย่างไม่รับรู้เดียงสา แต่ผู้ใหญ่โดยเฉพาะชาวมุสลิม เมื่อพบเห็นเชื่อว่าคงปรี๊ดแตก ยินยอมรับไม่ได้! แถมหนังก็จงใจนำเสนอซีนนี้อย่างเน้นๆ ตัดไปตัดมา จากเลีย ดูด อม มาเป็นลูบไล้รอบริมฝีปาก เพื่อให้ดูเหมือนการจุมพิต แม้ไม่ได้สัมผัสแตะเนื้อต้องตัว ก็ถือว่าผิดหลักศีลธรรมศาสนา เป็นการแสดงออกที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม

ผมเพิ่งอ่านพบเจอว่า การถ่ายหญิงสาวระยะใกล้ (Close-Up) โดยไม่มีฮิญาบปกปิดบังใบหน้า เป็นสิ่งที่กองเซนเซอร์อิหร่านสั่งห้ามปราม ไม่ให้พบเห็นในหนัง … ไม่แน่ใจว่ารวมถึงเด็กๆด้วยไหมนะ

แน่นอนว่าทั้งตอนสองย่อมไม่ผ่านกองเซนเซอร์ เพราะมีการถ่ายติดใบหน้านักแสดง Shabnam Tolouei แม้เธอพยายามนำเอาฮิญาบมาบดบังใบหน้า เพื่อไม่ให้พบเห็นโดยบรรดาญาติพี่น้องที่ควบขี่ม้าไล่ล่า แต่มันก็เต็มตาผู้ชมขนาดนี้ จะรอดได้อย่างไร

ไฮไลท์ของตอนสองคือการลำดับภาพไปมาระหว่างหญิงสาว Ahoo กับบรรดาญาติพี่น้องที่พยายามควบขี่ม้าไล่ มีทั้งสโลโมชั่น ตัดสลับอย่างรวดเร็ว เก็บรายละเอียดล้อจักรยาน-ขาของม้า และทางข้างหน้า มันช่างเยิ่นยาว ห่างไกล และไร้จุดสิ้นสุด

แซว: ทั้งที่ในอิหร่านแผ่นดินใหญ่ สั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงปั่นจักรยาน แต่ยกเว้นสำหรับ Kish Island ถึงขนาดมี ‘bicycle lane’ เลียบชายหาด วนรอบเกาะ (แต่สภาพอากาศท่าจะร้อนตาย! ไม่พบเห็นต้นไม้ใหญ่สักต้น)

Ahoo พยายามปั่นจักรยานหลบหนีสามี ครอบครัว ญาติพี่น้อง และสามารถเหมารวมถึงกฎกรอบ ขนบประเพณี วิถีทางสังคม ต้องการดิ้นให้หลุดพ้นจากการถูกบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ ชี้นิ้วออกคำสั่งโน่นนี่นั่น แต่ถึงอย่างนั้นเธอกลิบมิอาจหลบหนีโชคชะตากรรม (ที่เกิดเป็นชาวมุสลิมอิหร่าน)

ซึ่งบุคคลที่ขัดขวางเธอสำเร็จนั้นคือพี่ชาย ถือว่าเป็นบุคคลร่วมรุ่นเดียวกัน (น่าจะคือ Gen Y) นี่แอบสะท้อนว่ายังอีกนานกว่าที่อิหร่านจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะคนรุ่นปัจจุบัน(นั้น) ยังคงยึดถือมั่นต่อวิถีทางสังคม ไม่ยินยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่ต้องการให้ตนเองอับอายขายขี้หน้า

แต่ถึงแม้ Ahoo ถูกพี่ชายยึดรถจักรยาน เธอกลับขอหยิบยืมคันของเพื่อนปั่นเข้าเส้นชัย นั่นแสดงถึงความดื้อรั้น ตั้งใจจริง ที่จะหลบหนีเอาตัวรอดด้วยลำแข้งของตนเอง และอนาคตก็มีโอกาสทำสำเร็จ ไปถึงอีกฟากฝั่งฝัน!

ผมว่าผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะรับรู้สึกได้ว่าเรื่องราวตอนสาม มันช่างมีความ ‘เหนือจริง’ ราวกับเพ้อฝัน ดูไม่น่าเป็นไปได้เลยสักนิด! นั่นเพราะผกก. Meshkini ต้องการชักชวนให้ผู้ชมขบครุ่นคิด ตระหนักถึงเมื่อสตรีได้รับสิทธิเสรีภาพ ไม่หลงเหลือบุรุษที่คอยควบคุมครอบงำ แถมมีเงินทองจับจ่ายเหลือใช้ เลยสามารถกระทำสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ วางเฟอร์นิเจอร์ข้าวของเครื่องใช้บนชายหาด ไม่มีผนังกำแพงสำหรับกีดกั้นขวางอีกต่อไป

The Day I Became a Woman

กาต้มน้ำใส มีอะไรให้น่าอับอาย? ผมมองว่ามันคือสันชาติญาณติดตัวของชาวมุสลิมที่ได้รับการปลูกฝังมาช้านาน ตั้งแต่สวมฮิญาบปกปิดใบหน้าทรงผมเมื่ออายุครบ 9 ขวบ พอเติบโตขึ้นก็ถูกควบคุมครอบงำ ไร้สิทธิ์เสียง ต้องสงบเสงี่ยมภายใต้ขนบประเพณี กฎกรอบทางสังคม สำหรับกาน้ำมองเห็นด้านใน ก็เหมือนร่างกายที่เปลือยเปล่าล่อนจ้อน ไม่มีอะไรปกปิดบัง มันจึงสร้างความไม่น่าอภิรมณ์แก่หญิงชรา

วัตถุสิ่งข้าวของที่หญิงชราจับจ่ายใช้สอย ล้วนคือสัญลักษณ์ของ ‘เสรีภาพ’ ในการครุ่นคิดตัดสินใจ อยากได้อะไรก็ซื้อหา กระทำทุกสิ่งอย่างตามความเพ้อใฝ่ฝัน โดยไม่ถูกบีบบังคับ ควบคุมครอบงำ ถึงคราที่ตนเองสามารถชี้นิ้วสั่ง

ตอนจบของหนังกับการนำทุกสิ่งอย่างใส่บนแพเรือ สามารถตีความถึงสิทธิเสรีภาพสตรีในอิหร่าน ยังคงเคว้งคว้าง ล่องลอยคอ มีโอกาสถูกคลื่นลมซัดพา อับปางจมลงกลางทาง ไม่น่าไปถึงอีกฟากฝั่ง (แบบเดียวกับปลาของเล่น หวนกลับมาเกยตื้นทุกครั้ง) เช่นเดียวกับสายตาเด็กหญิงจากตอนแรก มองทอดออกไปอย่างเวิ้งว่างเปล่า ท้อแท้สิ้นหวัง

เพลงประกอบโดย Mohammad-Reza Darvishi (เกิดปี 1955) นักแต่งเพลงชาว Iranian สำเร็จการศึกษาจาก University of Tehran ผลงานเด่นๆ อาทิ The Blackboard (2000), The Day I Became a Woman (2000), Kandahar (2001), Osama (2003), The White Meadows (2009) ฯลฯ

แต่ละตอนของหนัง จะมีท่วงทำนองและสไตล์เพลงที่แตกต่างออกไป ซึ่งจะมีวิวัฒนาการจากดนตรีพื้นบ้าน (Tradition) สู่บทเพลงสไตล์โมเดิร์น (Modern/Electronic Music) และกลายมาเป็นนามธรรม (Avant-Garde)

  • เรื่องราวของ Hava, จะมีท่วงทำนองสนุกสนาน (ด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านอาหรับ) เพื่อเป็นตัวแทนของเด็กหญิงที่ยังบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา สนเพียงเที่ยวเล่น เต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา มักดังขึ้นในช่วงเวลาแห่งความสุข เพลิดเพลินสำเริงใจ
  • เรื่องราวของ Ahoo, นอกจาก Sound Effect เสียงจักรยานและควบม้า (เพื่อสร้างบรรยากาศเคร่งเครียด กดดัน) บทเพลงมักดังขึ้นระหว่างที่หญิงสาวเร่งความเร็ว พยายามหลบหนีจากบรรดาญาติมิตร ท่วงทำนองมีความโหยหวน (ฟังดูคล้ายๆเสียงจากเครื่องสังเคราะห์) พร้อมเสียงร้องคร่ำครวญ ลากเสียงยาวจนอาจทำให้บางคนกลั้นหายใจ สื่อถึงการถูกบีบบังคับ เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น ต้องการดิ้นหลุดพ้น แต่ก็มิอาจเอาตัวรอดจากโชคชะตากรรม
  • เรื่องราวของ Hoora, ผมได้ยินอยู่เพียงขณะ ‘แมวไม่อยู่หนูร่าเริง’ เมื่อหญิงชราหวนกลับไปช็อปปิ้ง เด็กๆก็ต่างวิ่งเล่น กระทำสิ่งต่างๆอย่างสนุกสนาน ท่วงทำนองเพลงนี้ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถสื่อถึงอิสรภาพ (ของทั้งเด็กๆและหญิงชรา) รวมถึงมีการใช้กะทะ ถ้วยชาม เคาะประกอบจังหวะ (จะมองว่าเป็น Avant-Garde ก็ได้กระมัง)

อิหร่าน เป็นประเทศที่ยึดถือมั่นในขนบประเพณี กฎกรอบข้อบังคับ โดยใช้ข้ออ้างหลักคำสอนศาสนา บุรุษเป็นช้างเท้าหน้า/ผู้นำครอบครัว ส่วนสตรีต้องก้มหัวศิโรราบ ไร้สิทธิ์เสียง ความเสมอภาคเท่าเทียม ออกจากบ้านก็ต้องสวมฮิญาบปกปิดใบหน้า ถือเป็นวิถีทางสังคมสืบทอดต่อกันมาแต่โบราณกาล

ในมุมมองของผู้กำกับ Meshkini การเป็นสตรีในประเทศอิหร่าน เต็มไปด้วยข้อจำกัดที่ดู ‘เหนือจริง’

  • ทำไมเด็กหญิงเมื่ออายุครบ 9 ขวบ ต้องสวมใส่ฮิญาบ?
  • ทำไมพอเติบโตขึ้นยังต้องปฏิบัติตามคำสั่งครอบครัว? ไม่ได้แต่งงานกับชายคนรัก ยังถูกบีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น
  • ทำไมชีวิตราวกับถูกกักขัง นกในกรง ไร้สิทธิเสรีภาพในการครุ่นคิดแสดงออก?

อิทธิพลของโลกตะวันตก ได้สร้างแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นหนุ่มสาว ชาวอิหร่านสมัยใหม่ สำแดงอารยะขัดขืนต่อวิถีทางสังคมที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ยกตัวอย่าง ฮิญาบ จากเคยเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศรัทธาศาสนา “ผ้าคลุมที่แยกผู้ชายหรือโลกจากพระเจ้า” ปัจจุบันแปรสภาพสู่สิ่งสำหรับควบคุมครอบงำสตรีเพศ ไม่ให้ได้รับสิทธิเสรีภาพในการครุ่นคิดแสดงออก … นี่คือสิ่งชาวอิหร่านกำลังก่อการประท้วง เรียกร้องให้เกิดการ ‘ปฏิวัติทางวัฒนธรรม’ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 ยังไม่รู้ว่าจะจบสิ้นลงเมื่อไหร่

การออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน มันแตกต่างอะไรจากการควบขี่ม้า? หญิงสาวพยายามสำแดงอารยะขัดขืนต่อครอบครัว (สามารถเหมารวมถึงรัฐบาลอิหร่าน) เลยถูกไล่ล่า ตำหนิด่าทอ ใครต่อใครไม่ให้การยินยอมรับ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งใช้ความรุนแรงบีบบังคับ ไม่ยินยอมให้สตรีเพศกระทำสิ่งน่าอับอาย สูญเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล … ต่อให้หลบหนีออกนอกประเทศก็ยัง ‘แค้นฝังหุ่น’ ส่งนักฆ่าไปลอบสังหาร

สิ่งเดียวที่ทำให้ผู้หญิงในประเทศอิหร่าน สามารถดิ้นหลุดพ้นจากทุกสรรพสิ่งอย่างก็คือ เงิน! ใบเบิกทางของโลกยุคสมัยใหม่ ทำให้พวกเธอจับจ่ายใช้สอย ครอบครองวัตถุสิ่งข้าวของเคยเพ้อใฝ่ฝัน กระทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องหัวใจ โดยไม่ต้องสนห่าเหวอะไรใครทั้งนั้น

แต่อิสรภาพของหญิงชรา แม้สามารถจับจ่ายใช้สอย ซื้อข้าวของได้ทุกสรรพสิ่งอย่าง กลับมีริบบิ้นอันหนึ่ง นึกไม่ออกบอกไม่ถูก หลงลืมว่าขาดอะไรไป? ปล่อยไว้เป็น MacGuffin แล้วแต่ผู้ชมจะขบครุ่นคิดตามใจ

  • บางคนมองถึงสิ่งรูปธรรมที่สามารถล้อกับสองตอนแรก อย่างลูกอม, ไอศกรีม, ตุ๊กตาปลา, จักรยาน ฯลฯ
  • บางคนมองในเชิงนามธรรม อย่างเพื่อนฝูงที่สูญเสียไป (ในตอนแรก), ความรักต่อชายที่แอบรัก (ตอนสอง), วันเวลาที่เคลื่อนเลยผ่าน ฯลฯ

ผมมีสองความครุ่นคิด อย่างแรกก็คือ บ้านหลังใหม่! เพราะเธอครุ่นคิดเพียงแต่จะเอาสิ่งข้าวของเหล่านี้ ล่องลอยแพกลับอิหร่าน แต่บ้านเก่าหลังนั้นยังไม่พร้อมจะเปิดรับ โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพสตรี มีแนวโน้มถูกคลื่นลมซัดพา อับปางจมลงกลางทาง ไปไม่ถึงฟากฝั่งฝัน

อีกความครุ่นคิดหนึ่ง ไม่เชิงว่าเป็นคือสิ่งของที่หญิงชราอยากซื้อหา แต่ผ้าริบบิ้นไม่เชิงว่าตัดจากเศษผ้าฮิญาบ? สิ่งที่เชื่อมโยงทั้งสามตอนของหนัง ตั้งแต่เด็กหญิงถูกบีบบังคับให้สวมใส่, หญิงสาวพยายามใช้ปกปิดบังใบหน้า และเมื่อได้อิสรภาพก็หลงเหลือเพียงเศษผ้า ราวกับพยากรณ์ว่าอนาคตมันอาจไม่หลงเหลือมูลค่าราคา(ต่อสังคม)อีกต่อไป … กลายเป็นเพียงผืนผ้าใบสำหรับล่องลอยแพ

แม้ว่าเรื่องราวของ The Day I Became a Woman (2000) จะมีความจำเพาะเจาะจงถึงสตรีเพศในประเทศอิหร่าน แต่เราสามารถเหมารวมผู้หญิงทุกช่วงวัย และทุกชาติพันธุ์ เพราะโชคชะตากรรมของพวกเธอนั้น ล้วนถูกควบคุมครอบงำโดยวิถีสังคม ‘ชายเป็นใหญ่’ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่บุรุษเพศควรให้การยินยอมรับความเสมอภาคเท่าเทียม … รับชมยุคสมัย Post-Feminist น่าจะช่วยสามารถสร้างจิตสามัญสำนึกได้เช่นกัน

การเป็นผู้กำกับหญิงในอิหร่านไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ! นอกจากสังคมไม่ให้การยอมรับ ยังเพราะหน้าที่ ‘ผู้กำกับ’ คือต้องชี้นิ้วสั่งงาน ในกองถ่ายหนังก็ใช่ว่าทุกคนจะยินยอมพร้อมใจ สังเกตว่าผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ๆอย่าง Marjane Satrapi, Ali Abbasi ฯลฯ เลือกที่จะระหกระเหินออกนอกประเทศ เฉกเช่นเดียวกับ Marziyeh Meshkini ติดตามสามี Mohsen Makhmalbaf ย้ายบ้านใหม่แทบทุกปี เคยถูกลอบสังหารนับครั้งไม่ถ้วน ใครกันจะไปทนอยู่ได้!


เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาลหนังเมือง Venice ในสาย International Film Critics’ Week ด้วยเสียงตอบรับดียอดเยี่ยม สามารถคว้ามาถึงสามรางวัล (แต่ผมก็ไม่รู้ว่ารางวัลเหล่านี้มันคืออะไรหรอกนะ)

  • ‘CinemAvvenire’ Award: Best First Film
  • Isvema Award
  • UNESCO Award

การถูกแบนห้ามฉายในอิหร่าน The Day I Became a Woman (2000) จึงเป็นโคตรหนังหายาก แต่เพราะออกเดินทางไปตามเทศกาลหนัง เลยยังพบเห็นแผ่น DVD ของค่าย Olive Film, Artificial Eye และสามารถหารับชมออนไลน์ ค่าเช่าดูหนึ่งวันสามเหรียญ (พร้อมซับอังกฤษ) https://vimeo.com/ondemand/thedayibecameawoman

แม้ส่วนตัวชื่นชอบเรื่องราวตอนแรกมากที่สุด เพราะความสดใสไร้เดียงสาของเด็กหญิง ทำให้รู้สึกโคตรๆอึดอัดคับกับเวลาที่ค่อยๆนับถอยหลัง แต่ก็อดไม่ได้จะหลงใหลพัฒนาการมุ่งสู่ Surrealist พยายามปั่นจักรยานหลบหนี และตอนสุดท้ายภาพสิ่งข้าวของเครื่องใช้บนชายหาด มันช่างน่าตื่นตา คาดไม่ถึง หัวเราะหึๆ

ผู้ชมต่างชาติที่ไม่ได้นับถืออิสลาม ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ได้ทรงคุณค่าทางจิตใจสักเท่าไหร่ เพียงสร้างความตระหนักถึงขนบประเพณี วัฒนธรรม กฎกรอบข้อบังคับ สะท้อนสภาพสังคมมุสลิมยุคสมัยนั้น พานผ่านมุมมองผู้สร้างหัวก้าวหน้า ที่ไม่ค่อยพึงพอใจต่อวิถีทางขัดต่อสิทธิเสรีภาพ ความเป็นมนุษย์ และสิทธิสตรี

แต่สำหรับชาวมุสลิม ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ้าไม่เกิดอคติอย่างรุนแรง (สำหรับคนฝั่งอนุรักษ์นิยม ยึดถือมั่นศรัทธาศาสนา) ก็อาจเกิดความกระจ่างแจ้ง ตั้งคำถามว่าทำไมฉันต้องสวมฮิญาบ? ถูกบีบบังคับให้ทำตามคำสั่งโน่นนี่นั่น? เกิดความหัวขบถ ต่อต้านขนบประเพณี ปฏิเสธดำเนินตามกฎกรอบทางสังคมที่ไม่ยินยอมปรับตัวเข้ากับโลกยุคสมัยใหม่

จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | การเป็นผู้หญิงในประเทศอิหร่าน The Day I Become a Woman มันช่างมีความเหนือจริง!
คุณภาพ | นืริ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: