The Decameron (1971)
: Pier Paolo Pasolini ♥♥♥♡
ร้อยเรียงตำนานสิบราตรี ผลงานชิ้นเอกของ Giovanni Boccaccio นักประพันธ์ชาวอิตาเลี่ยน ยุคสมัย Italian Renaissance อุปมานิทัศน์ถึงเรื่องราวความรักแบบต่างๆ เปิดตำนาน Trilogy of Life ของผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini ตีความในมุมของตัณหาราคะ พร้อมกับ Sex, คว้ารางวัล Silver Bear: Jury Prize จากเทศกาลหนังเมือง Berlin
Il Decamerone, ตำนานสิบราตรี เป็นจุลนวนิยาย (Novella) แต่งโดย Giovanni Boccaccio (1313-75) นักประพันธ์ชาวอิตาลี ประมาณการณ์เขียน ค.ศ. 1350-53 ใช้โครงสร้างแบบที่เรียกว่า ‘Frame Narrative’ แบ่งออกเป็นตอนสั้นๆ เริ่มต้นด้วยบรรยายถึงที่มาที่ไป แนะนำกลุ่มชายหนุ่มสามคนและหญิงสาวอีกเจ็ด หลบหนีกาฬโรคระบาดจาก Florence ไปพำนักพักพิงอยู่คฤหาสน์นอกเมือง และเพื่อเป็นการฆ่าเวลา สมาชิกแต่ละคนจักเล่าหนึ่งเรื่องต่อแต่ละคืนที่พำนักอาศัยอยู่ รวมระยะเวลาทั้งหมดสิบวัน
ชื่อเรื่อง Decamerone มาจากคำภาษากรีกผสมกัน δέκα หรือ Déka ที่แปลว่า สิบ และ ἡμέρα หรือ hēméra ที่แปลว่า วัน, รวมกันจึงสื่อถึงระยะเวลาดำเนินไปสิบวันสิบคืน ปริมาณสิบตัวละคร เล่ากันคนละสิบเรื่อง รวมทั้งหมดหนึ่งร้อยตอน
เกร็ด: The Canterbury Tales, ตำนานแคนเตอร์บรี มหาวรรณกรรมของประเทศอังกฤษ แต่งโดย Geoffrey Chaucer (1343 – 1400) ว่ากันว่าก็ได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านตำนานสิบราตรี เล่มนี้เช่นกัน,
เกร็ด2: เฉกเช่นเดียวกับ Arabian Nights, อาหรับราตรี รวบรวมนิยายและนิทานพื้นบ้านตะวันออกกลางกับเอเชียใต้ในยุคทองของอิสลาม ซึ่งภาษาอังกฤษฉบับแรกตีพิมพ์ ค.ศ. 1706
เกร็ด3: ซึ่งไตรภาค Trilogy of Life อีกสองเรื่องที่เหลือก็คือ The Canterbury Tales (1972) และ Arabian Nights (1974)
ผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini เลือกมาทั้งหมด 9 จาก 100 เรื่อง แล้วทำการละเลงระบายสี รับบทเป็นจิตรกรชื่อ Allievo di Giotto มีทั้งหลับฝันจินตนาการเห็นภาพ และลงมือวาดจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์แห่งหนึ่ง เสร็จไปสองกำแพงแต่ดันคั่งค้างไว้อีกหนึ่ง แล้วพูดประโยคสุดท้ายทิ้งไว้
“Why produce a work of art when it’s nice to just dream about it?”
ผมเพิ่งรู้จักหนังสือตำนานสิบราตรี ก็จากภาพยนตร์เรื่องนี้ (ในเมืองไทยคงไม่ดังเท่าไหร่กระมัง ต้องคนในวงการวรรณกรรมถึงมีโอกาสรู้จัก) ถึงไม่เคยอ่านแต่พบเห็นจากหลายๆบทความวิจารณ์ บ่นว่าแต่ละตอนที่ดัดแปลงออกมา แทบทั้งนั้นล้วนคั่งค้างคา ยังไม่ทันจบทั้งหมดก็เปลี่ยนเรื่องถัดไป
ส่วนตัวระหว่างรับชมไม่รู้สึกแบบนั้นเท่าไหร่ (เพราะเห็นว่าใจความก็จบของมันในตอนๆนั้นนะ) แต่ได้ยินแบบนี้ทำให้หวนระลึกถึงสามผลงานสามสุดท้ายของผู้กำกับ Luis Buñuel ประกอบด้วย The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972), The Phantom of Liberty (1974) และ That Obscure Object of Desire (1977) มีแนวโน้มสูงมากๆที่จะรับอิทธิพลไป เพราะลักษณะคล้ายคลึงกันคือ แบ่งออกเป็นตอนๆนำมาร้อยเรียงและมักคั่งค้างคา ขี้ไม่ทันสุดแล้วเปลี่ยนไปอย่างอื่นเรื่องถัดไป นี่ย่อมสร้างความหงุดหงิดหัวเสียให้ผู้ชมอย่างมาก แต่แล้วไง! มันเรื่องของข้าจะนำเสนอแบบนี้
เฉกเช่นเดียวกับการเปลี่ยนสถานที่ดำเนินเรื่องและสำเนียงพูดของตัวละคร (นี่ผมอ่านเจอนะ ฟังภาษาอิตาเลี่ยนออกเสียที่ไหน) เป็นที่รู้กันว่าชาว Florence พูดสำเนียง Tuscan แต่หนังกลับใช้พื้นหลังเมือง Naples พูดสำเนียง Neapolitan ด้วยเหตุผลว่า Pasolini มองชาว Florence และสำเนียง Tuscan เป็นตัวแทนของชนชั้นสูง/ผู้นำประเทศ (ที่ตนเกลียดชังยิ่ง) ขณะที่ชาว Naples และสำเนียงบ้านๆ Neapolitan สื่อได้ถึงประชาชนชั้นต่ำต้อยกว่า
เรื่องราวของหนังดำเนินไปโดยมีจิตรกรชื่อ Allievo di Giotto (รับบทโดย Pier Paolo Pasolini) เป็นจุดหมุน ประกอบด้วยอีก 8 เรื่องราวที่ตัวเขาพบเห็นระหว่างการเดินทางมา (รวมของตนเองก็เป็น 9 เรื่องราว)
ตอนแรก (วันที่สอง, เรื่องที่ห้า): Andreuccio of Perugia (รับบทโดย Ninetto Davoli) เป็นลูกของเศรษฐีที่แวะเวียนมายังเมือง Naples เพื่อซื้อม้าสำหรับออกเดินทาง แต่กลับถูกหลอกลวงถึงสองครั้ง
– ครั้งแรกโดยหญิงสาวที่อ้างว่าคือน้องต่างมารดา เมื่อเข้าห้องน้ำตกในถังอุจาระ ปีนป่ายออกมากลับถูกขับไสไล่ส่ง
– ครั้งสองโดยหัวขโมยสองคน ลักลอบเข้าไปในโบสถ์แห่งหนึ่ง ร่างของบาทหลวงในชุดเต็มยศมีมูลค่ามหาศาล บีบบังคับให้ Andreuccio ปีนป่ายเข้าไปในโลงนำของมีค่าออกมา แล้วถูกกลั่นแกล้งปิดฝาขังตายไว้ในนั้น โชคเข้าข้างเมื่อมีอีกกลุ่มหัวขโมยผ่านมาพอดี หยอกเล่นจับขานึกว่าผีจริงๆ กระโดดโลดเต้นเพราะได้ถือครองแหวนมูลค่ามหาศาล
ผมว่าตอน Andreuccio โดนหลอกครั้งแรก ก็ไม่ถึงขั้นหมดตัวอะไรนะ เพราะได้เด็ดดอมดม เชยชมเรือนร่างของหญิงสาว (ดอกไม้สีแดง สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์) ซึ่งพออ้างว่าเธอเป็นน้องสาวต่างมารดา นี่สื่อถึงการ Incest แบบเต็มๆเลย (แต่ผมว่าก็ไม่น่าใช่น้องสาวจริงๆนะ แค่คำโป้ปดหลอกลวงเท่านั้น)
จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ ถือเป็น Theme หลักของหนังพบเห็นได้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็รับอิทธิพลจากยุคสมัยชื่นชอบส่วนตัวของผู้กำกับ Pasolini คือ Italian Renaissance ตรงกับช่วงเวลาที่ Giovanni Boccaccio แต่งตำนานสิบราตรี พอดิบพอดี
ข้อคิดของของตอน Andreuccio: อย่าหลงเชื่อคนง่าย ในคำกล่าวอ้างที่หอมหวน มักมีสิ่งสกปรกโสโครกแอบซ่อนเร้นอยู่ ถึงกระนั้นก็ยังมีโอกาสพบเจอเพชรในตมเช่นกัน
ตอนสอง (วันที่สาม, เรื่องที่หนึ่ง): ชายหนุ่มชื่อ Masetto da Lamporecchi (รับทโดย Vincenzo Amato) มิได้เป็นใบ้แต่ถูกเข้าใจผิดคิดว่าพูดไม่ได้เลยเออออห่อหมก กลายเป็นคนสวนในอารามแม่ชีแห่งหนึ่ง แต่แทนที่พวกเธอเหล่านั้นจะยึดถือมั่นในคำสัตย์สาบานครองตัวบริสุทธิ์ ยินยอมทอดการเสียตัวให้เขา แม้แต่หัวหน้าแม่ชีจนครบสิบคน สุดท้ายเขาก็ทนไม่ไหวต้องพูดบ่นออกมา … หัวหน้าแม่ชีได้ยินเข้า เพ้อคลั่งอ้างว่าเป็นปาฏิหารย์จากพระเจ้า แต่แท้จริงแล้วคือข้ออ้างเก็บเขาไว้ในคอนแวนต์เท่านั้น
ในมุมของผู้กำกับ Pasolini ไม่คิดว่าคำสัตย์สาบาน จะมีความสำคัญเทียบเท่าสันชาติญาณต้องการของมนุษย์ เรื่องราวตอนนี้มองได้เป็นการเสียดสีล้อนเลียน ขณะเดียวกันสะท้อนความคอรัปชั่นของศรัทธามนุษย์ ไม่เชิงต่อต้านศาสนา แต่ชี้ไปที่ตัวบุคคลเสียมากกว่า
ข้อคิดของตอนแม่ชี: บางครั้งของการไม่พูดออกเสียงแสดงความคิดเห็น อาจได้บางสิ่งอย่างตอบแทนในสิ่งเกินความคาดหมาย –”
ตอนสาม (วันที่เจ็ด, เรื่องที่สอง): หญิงสาวบ้านๆ Peronella กำลังร่วมรักกับชู้หนุ่ม โดยไม่รู้ตัววันนั้นเป็นวันหยุด สามีกลับบ้านแต่หัววัน ทำให้ต้องหลบซ่อนเขาในไหใบใหญ่ บังเอิญพอดีนำพ่อค้ามาดูไหที่กำลังต้องการขาย ต่อรองไปมาอ้างมีคนให้ราคาสูงกว่า และขณะสามีกำลังทำความสะอาดภายใน ภรรยากับชู้ก็ร่วมรักด้วยกันอยู่ข้างๆภายนอก
นี่เป็นตอนที่มีเรื่องราวเจ๋งมากๆ ภรรยาสามารถพลิกลิ้นจนเอาตัวรอดพ้นจากการถูกจับได้ว่ามีชู้ แต่ผมกลับไม่ค่อยชอบสักเท่าไหร่ เพราะมันสื่อถึงความเขลาเบาปัญญาของคน ไหบังตา ครุ่นคิดแทนสามีแล้วมันช่างเจ็บปวดรวดร้าวทรมาน
ข้อคิดของตอนขายไห: อย่าสร้างอะไรที่มันใหญ่เกินตัว (เช่นไหขนาดใหญ่) เพราะมันจะบงบังบางสิ่งอย่างใกล้ตัวจนมองไม่เห็น
ตอนสี่ (วันแรก, เรื่องแรก): Ser Ciappelletto (รับบทโดย Franco Citti) พบเห็นตั้งแต่ต้นเรื่องว่าเป็นอาชญากร ฆ่าคน ลักทรัพย์ ได้รับคำแนะนำออกเดินทางสู่ฝรั่งเศสเพื่อเป็นคนทวงหนี้ แต่กลับกลายเป็นล้มป่วยหนักใกล้ตาย ร้องขอพบเจอกับบาทหลวงตั้งใจสารภาพบาป แต่กลับปลิ้นปล้อนหลอกลวงจนได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญ มีผู้คนมากมายเข้าร่วมงานศพของเขา
รูปปั้นพระแม่มารีย์วางอยู่แทบเท้า ต่ำกว่าเตียงของ Ciappelletto ที่ยกสูงเหนือศีรษะ นี่สื่อถึงการเชิดชูตัวบุคคล ทั้งๆที่แท้จริงเป็นคนเลวทรามต่ำชั่วช้า แค่ก่อนตายโป้ปดหลอกลวงทำให้ใครๆหลงศรัทธา เล่นกับความเชื่ออันมืดบอดงมงาย พูดแค่นี้ถึงขนาดยกย่องให้เป็นถึงนักบุญ โลกเราจะพิลึกกึกกือไปได้ถึงขนาดไหน!
เรื่องราวตอนนี้ไม่ใช่การประชดเสียดสีแค่วงการศาสนา เหมารวมการเมืองแบบเต็มๆ เพราะบรรดานักการเมืองแทบทั้งหมด ไม่ค่อยมีใครรู้เบื้องหลังกว่าจะเป็นใหญ่เป็นโตถึงขนาดนี้ เคยทำความดี-ชั่วอะไรมาบ้าง ส่วนใหญ่วัดกันตอนหาเสียงก็แค่สายลมปาก กลับได้รับเลือกเป็น ส.ส. ส.ว. อะไรมันจะพิลึกกึกกือขนาดนั้น!
ข้อคิดของตอน Ciappelletto: ศรัทธาเป็นสิ่งดี แต่ความเชื่องมงายนั้นไม่ถูกต้อง การยกย่องตัวบุคคลทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักพบเห็น มันช่างมืดบอด และดูโง่งมเสียเหลือเกิน
ตอนห้า (วันที่ห้า, เรื่องที่สี่) เด็กหญิงสาวหน้าตายังละอ่อน ขออนุญาตพ่อ-แม่ หลับนอนตรงระเบียงดาดฟ้า ยินยอมให้โดยไม่รู้ตัวว่านั่นคือแผนการ หวังร่วมหลับนอนกับชายหนุ่ม แต่ตื่นเช้ามาเมื่อพบเห็นทั้งสองนอนเปลือยกาย (จับนกไนติงเกล) กลับมองว่าเป็นคู่ที่เหมาะสม ปลุกพวกเขาขึ้นมาบีบบังคับให้ต้องแต่งานกันเสียเลย
นี่เป็นตอนที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง เปรียบนกไนติงเกลกับผู้ชาย และภาพนี้ก็สื่อถือจับอวัยวะเพศชาย, แต่ไม่ใช่เรื่องราวที่ผมประทับใจ คือเด็กหญิงสาวที่น่ารักอ่อนเยาว์วัย ดูแล้วอายุน่าจะ 14-15 ปีด้วยซ้ำ มันจะเร่งรีบร้อนไปไหนวัยรุ่นสมัยนี้นั้น
นัยยะของตอนนี้สื่อถึงความวิปริตเห็นด้วยในการตัดสินใจของผู้ใหญ่ คือเห็นว่าเหมาะสมและเสียตัวไปแล้วก็เลยเออออห่อหมกยอมความไปด้วย นี่เท่ากับส่งเสริมสนับสนุนการกระทำดังกล่าวว่าไม่ใช่สิ่งผิด หนุ่ม-สาวตกชื่นชอบกันก็ต้องร่วมรักใคร่หลับนอน
ข้อคิดของตอนจับนกไนติงเกล: กล้าทำอะไร ก็ต้องกล้าที่จะรับผิดชอบ
ตอนหก (วันที่สี่, เรื่องที่ห้า), พื้นหลังเมือง Sicily หญิงสาวชั้นสูง Elizabeth ร่วมรักหลับนอนกับชายหนุ่มคนใช้ Lorenzo แต่ถูกจับได้โดยพี่ชายทั้งสาม วางแผนจัดการแก้เผ็ดลวงไปฆ่าตาย หวนกลับมาเข้าฝันแฟนสาว ขุดศพขึ้นมาตัดศีรษะและนำใส่กระถางไว้เคารพรักบูชา
นี่เป็นตอนโศกนาฎกรรมที่น่าเห็นใจอย่างมาก นำเสนอความรักต่างชนชั้น และการใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ จัดการกับบุคคลผู้ต่ำต้อยกว่า/ไม่เป็นที่พึงพอใจของตนเอง
ข้อคิดของตอน Elizabeth กับ Lorenzo: ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน ไม่ได้เกี่ยวกับฐานะ ชนชั้น ความแตกต่างใดๆ
ตอนเจ็ด (วันที่เก้า, เรื่องที่สิบ) หมอคนหนึ่งอ้างกับเพื่อนว่า มีเวทย์มนต์ที่สามารถกลายร่างเจ้าลาให้กลายร่างเป็นหญิงสาวยามค่ำคืน ด้วยความโง่งมหลงเชื่อเมื่อนำไปพูดคุยกับภรรยา ร่ำร้องขอให้สอนวิชาดังกล่าว แต่ก็แน่นอนว่านั่นหาใช่เรื่องจริง กลับปลิ้นปล้อนอ้างทำพิธี แท้จริงหาทางร่วมรักกับเมียของเพื่อน
นี่เป็นตอนที่ผมชื่นชอบน้อยสุดแล้ว หงุดหงิดใจเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา เชื่อไปได้ยังไงหว่าว่ามนุษย์สามารถแปลงร่างเป็นลา โดนไปเช่นนั้นน่าสมน้ำหน้าโดยแท้
ข้อคิดของตอนแปลงร่างเป็นลา: เรื่องโง่ๆ ก็หลอกแต่คนโง่ๆได้เท่านั้น
ตอนแปด (วันที่เจ็ด, เรื่องที่สิบ): เพื่อนสนิทสองคนทำข้อตกลงกัน ใครเสียชีวิตตายก่อนต้องหวนกลับมาบอกว่า สวรรค์หรือนรกเป็นอย่างไร ปรากฎว่ามีใครคนหนึ่งตายจริงๆ และหวนกลับมาหาจากยมโลก แต่ที่ตกนรกบอกว่าไม่ใช่เพราะการมี Sex
ปกติแล้วหนังของ Pasolini จะไม่ค่อยเล่นกับการจัดแสงสักเท่าไหร่ (Neorealist จะเน้นแสงธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่) เว้นช็อตนี้ที่ให้ฝั่งเพื่อนผู้ยังมีชีวิตสาดส่องแสง ขณะอีกคนตายแล้วอยู่ในเงามืด
สมัยพุทธกาลก็มีเหมือนกันนะ พระเจ้าปายาสิผู้ไม่เชื่อเรื่องโลกหน้าโต้วาทะกับพระกุมารกัสสะ อ้างว่าได้ทำการทดลองสารพัด อาทิ
– สั่งคนทำชั่ว (ที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายพูดว่าจะต้องไปตกนรกแน่ๆ) ให้กลับมาบอกหลังจากไปตกนรกแล้ว สั่งไปหลายคนแล้ว แต่ละคนก็รับปาก แต่จนบัดนี้ไม่มีใครกลับมาบอกเลย
– สั่งให้คนดีมีศีลธรรม (ที่สมณพราหมณ์ยืนยันว่าตายไปจะต้องไปเกิดบนสวรรค์แน่) ให้กลับมาบอกเช่นเดียวกัน พวกนี้ไปแล้วก็เงียบหาย พวกเทวดาไม่ได้ถูกทำโทษทรมาน แล้วทำไมเขาไม่มาบอกเล่า อย่างนี้ชี้ให้เห็นชัดๆ แล้วว่าสวรรค์ก็ไม่มีจริง
จริงๆมีอีกหลายคำถามนะครับ โหดกว่านี้เยอะเลยละ ซึ่งพระกุมารกัสสะก็ได้ตอบอย่างฉะฉานจนพระเจ้าปายาสิ จนปัญญายอมพ่ายแพ้แล้วหันมาเคารพนับถือปฏิบัติพุทธศาสนา, ใครสนใจก็ไปหาอ่านต่อเอาเองใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค ๑๐. ปายาสิราชัญญสูตร http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=10&A=6765
เรื่องราวดังกล่าวไม่มีทางเกิดขึ้นจริงแน่นอน และคำอ้างที่ว่าการมีชู้ร่วมรักไม่ใช่กรรมหนักนั่นก็ไม่ถูกต้องเท่าไหร่ เป็นการอุปโหลกเรื่องราวเสี้ยมสอนให้มนุษย์หมกมุ่นอยู่กับความต้องการของตนเอง
ข้อคิดของตอนเพื่อนตายกลับมาบอกข่าวดี: สอนให้รู้แค่ว่านรก-สวรรค์ มีอยู่จริง
สุดท้าย (วันที่หก, เรื่องที่ห้า) เรื่องราวของศิลปินที่มองหาแรงบันดาลใจในการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง สองครั้งในจินตนาการ ออกมาเป็นสองภาพวาด และคั่งค้างอีกหนึ่งทิ้งไว้ คงจะเฝ้ารอผู้อื่นให้มาเติมเต็ม
ฝันแรกกลางเรื่อง มีองค์ประกอบกระจัดกระจายไปทั่ว ประกอบด้วย
– หญิงสาวสวมหมวกสูงเหมือนพระราชินี นั่นคือพระแม่มารีย์ รับบทโดย Silvana Mangano (นักแสดงที่รับบทแม่ใน Oedipus Rex) มือถือคานไม้ ตอนปลายคือกระโหลกศีรษะ ด้านหลังมีผู้หญิงสามคนสวมผ้าคลุมดูคล้ายแม่ชีที่กำลังสวดอธิษฐานภาวนา
– ไกลสุดซ้ายบน กลุ่มคนสวมชุดสีขาว กำลังโยนกระโหลกศีรษะไปมา และมีบาทหลวงยืนอยู่ตรงคานไม้พร้อมเชือกห้อยสำหรับแขวนคอ
– ซ้ายล่าง สามคนกำลังม้วนกลิ้งแบบไม่สนใจ อีกคนนอนกลางวันอยู่ริมเกวียน
– ถัดเข้ามาคุณแม่/ย่า นั่งอยู่บนแท่นไม้ มือจับแน่นเหมือนกำลังควบคุมอะไรบางอย่าง อีกสองคนก็ทำท่าซุบซิบนินทา แม่หม้ายคนชราวันๆก็ไม่ค่อยทำอะไรเฉกเช่นนี้
– ด้านหลังตรงกลางค่อนไปขวามือ กลุ่มคนสวมหน้ากาก นั่งอยู่บนเกวียนเทียมถังอะไรสักอย่างแกล้งกันเล่นอย่างเพลิดเพลิน
– ด้านหน้าขวามือ สามคนนอนอย่างหมดสภาพ บนโต๊ะกลมเต็มไปด้วยเห็ด (พิษหรือเปล่า?)
– กลุ่มคนเดินเข้ามา หนึ่งถือกิ่งก้านไม้ อีกกลุ่มลากมัมมี่คนตาย เกวียนเต็มไปด้วยหัวกะโหลก
ฯลฯ
รวมๆแล้วผมมองนามธรรมของฉากนี้ เป็นการนำเสนอวิถีชีวิตดำเนินไปของมนุษย์ ที่ห้อมล้อมเล่นกับความตาย อยู่รอบตัวเราทุกทิศทาง
ฝันสองช่วงท้าย ประกอบด้วย
– พระผู้สร้างหนึ่งเดียวในวงกลม
– อัครสาวก/ทวยเทพยืนด้านบน พร้อมไม้กางเขนตรงกลาง
– ฝั่งซ้าย มองได้คือผู้เชื่อในพระเจ้า อาศัยอยู่ในบ้าน(ด้านล่างซ้าย)ของพระองค์
– ฝั่งขวามือคือขุมนรกโลกันต์ เหล่านั้นคงเป็นบุคคลผู้ไม่เชื่อในเรื่องพระเจ้า ตายไปถูกทรมานสารพัดเพ
ภาพวาดที่เสร็จสิ้น (จริงๆก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับที่เห็นในฝันเลยนะ) นี่คงรับอิทธิพลเต็มๆจาก The History of the True Cross (ประมาณการณ์ ค.ศ. 1447-66) จิตรกรรมฝาผนังวาดโดย Piero della Francesca ให้กับ Basilica of San Francesco, Arezzo
ภาพแรกซ้ายมือ คือการเสี้ยมสอน(ศาสนา)ให้กับผู้คนมากมายในเมือง แต่ขณะเดียวกันกลับมีใครคนหนึ่งกระโดดลงจากตึก(น่าจะโบสถ์) หมายความว่า สิ่งที่ปรากฎเบื้องหน้า ลับหลังแล้วอาจมีบางสิ่งอย่างโป้ปดหลอกลวงแอบซ่อนอยู่
ภาพสองตรงกลาง ความตายของชายคนหนึ่ง นำมาสู่ความล่มสลายของอารยธรรม (ตึกที่เหมือนโบสถ์ด้านหลังถล่มพังทลาย คาดว่าคงคือสาเหตุที่ทำให้ชายคนนี้เสียชีวิต) นัยยะสื่อถึง ศาสนาคือตัวการสำคัญทำให้เกิดการสูญเสีย หรือจะสื่อถึงการล่มสลายของศรัทธาความเชื่อก็ยังได้
ทำไมถึงเว้นว่างภาพสามซ้ายมือไว้? นั่นอาจสื่อถึงอนาคตที่ผู้กำกับ Pasolini ยังไม่สามารถจินตนาการภาพออกมาได้ โลกในยุคสมัยที่ไม่หลงเหลือความเชื่อศรัทธาศาสนา/พระเจ้า มันจะมีลักษณะเช่นไร
ถึงทั้งสิบเรื่องราวจะไม่มีจุดร่วมที่สามารถมัดรวมใจความสำคัญได้ แต่สังเกตว่าล้วนมีความผิดปกติเกิดขึ้นทั้งนั้น อาทิ
– โกหก หลอกลวง ปลิ้นปล้น ทำผิดแต่กลับได้ดี (ทุกเรื่องเลยนะ)
– ใช้อำนาจควบคุมบงการ (ผลลัพท์โชคดี: จับนกไนติงเกล, ผลลัพท์โศกนาฎกรรม: Elizabeth กับ Lorenzo)
– มืดบอดต่อความจริง ถูกบางสิ่งบดบังสายตา หลงคารมเชื่อผู้อื่นโดยง่าย (Andreuccio, Ciappelletto, ขายไห, แปลงร่างเป็นลา)
– หมกมุ่นมักมาก (แม่ชี, อารมณ์ศิลปิน, เพื่อนตายกลับมาบอกข่าวดี)
ฯลฯ
เหล่านี้มองได้ทั้งเป็นข้อคิดเตือนสติสอนใจชาย-หญิง ขณะเดียวกันในมุมของผู้กำกับ Pasolini จงใจเสียดสีประชดประชันล้อเลียน ด่ากราดแบบไม่เจาะจงลงไปว่า ใคร-ที่ไหน-เมื่อไหร่-อย่างไร เหมารวมทั้งหมดคือปัญหาของมวลมนุษย์ อดีตเป็นเช่นไร ปัจจุบันไม่แตกต่างประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เฉกเช่นนี้แล้วอนาคต… จะไปคาดหวังอะไรได้เล่า
ใน Trilogy of Life ถือเป็นช่วงเวลาที่ Pasolini หมดสิ้นความคาดหวังในประเทศอิตาลี และผองพวกประชาชน/นักศึกษา กลุ่มการเมืองที่ตนเคยฝักฝ่ายเข้าค่างต่างอ่อนเรี่ยวแรงลงอย่างเห็นได้ชัด ไร้ซึ่งประโยชน์จะต่อสู้ดิ้นรนอีกต่อไป สร้างสรรค์สามผลงานนี้สะท้อนถึงวิถีวัฏจักรชีวิต อะไรเคยเกิดขึ้นผ่านมาถูกบันทึกไว้ในวรรณกรรมชิ้นเอก(ของโลก) ปัจจุบันยังคงเวียนวนเกิดขึ้นไม่ต่างจากเดิม
เข้าฉายในเทศกาลหนังเมือง Berlin คว้ารางวัล Silver Bear: Special Jury Prize พ่ายรางวัลใหญ่ให้กับ The Garden of the Finzi-Continis (1971) ของผู้กำกับ Vittorio De Sica ที่ยังเป็นตัวแทนประเทศอิตาลีจะไปคว้า Oscar: Best Foreign Language Film ต่อด้วยนะ
ข้อเสียของการมีหลายๆเรื่องสั้น คือบางตอนโคตรเจ๋งชื่นชอบมากๆ บางตอนก็เฉยๆไม่ประทับใจเท่าไหร่ เมื่อต้องมองภาพรวมเลยค่อนข้างตัดสินยากทีเดียว เหมาๆถัวเฉลี่ยแค่ชอบแล้วกัน
ไล่เรียงตามความชื่นชอบส่วนตัว จับนกไนติงเกล > Andreuccio > แม่ชี = Ciappelletto > Elizabeth กับ Lorenzo > อารมณ์ศิลปิน > เพื่อนตายกลับมาบอกข่าวดี > ขายไห > แปลงร่างเป็นลา
แนะนำคอหนัง Period, Romantic, Comedy, เคยอ่านตำนานสิบราตรี นิทานสอนใจชาย-หญิง, แฟนๆผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini และนักแสดงขาประจำ Franco Citti, Ninetto Davoli ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือย และการกระทำสิ่งผิดศีลธรรมนานับประการ
Leave a Reply