
The Deer (1974)
: Masud Kimiai ♥♥♥♥
ไม่ใช่ Close-Up (1990) หรือ A Separation (2011) แต่คือ The Deer (1974) ได้รับการโหวตอย่างเอกฉันท์จากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ชาวอิหร่าน ให้เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล! รวมถึง Behrouz Vossoughi กลายเป็นนักแสดงอันดับหนึ่งของชาวเปอร์เซีย
นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนะครับ ภาพยนตร์ทรงคุณค่าที่สุดของประเทศนั้นๆ อาจไม่ตรงความคิดเห็นผู้ชมทั่วโลก นั่นเพราะความเจาะจงทางประวัติศาสตร์ การเมือง เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ ยกตัวอย่าง The Deer (1974) หลายคนคงไม่เคยรับรู้จักเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าได้เข้าใจเหตุผล เบื้องหลังความเป็นมา ก็จักค้นพบว่าคือโคตรๆผลงานยิ่งใหญ่ที่สุดของอิหร่านอย่างแท้จริง!
แต่ก่อนทำความเข้าใจความยิ่งใหญ่ของหนัง เราต้องเรียนรู้จักประวัติศาสตร์อิหร่านก่อนสักนิด ขอเริ่มจากจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุดก็คือ Iranian Revolution (1978-79) จากเดิมที่เคยเป็น Imperial State of Iran ระบอบราชาธิปไตย ปกครองโดยสมเด็จพระเจ้าชาห์ Mohammed Reza Pahlavi ถูกประชาชนโค่นล้มอำนาจ เปลี่ยนแปลงมาเป็นสาธารัฐอิสลาม Islamic Republic of Iran
การปฏิวัติไม่ใช่เหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นทันทีทันใด ล้วนมีเหตุผล แรงจูงใจ ประชาชนต้องอดรนทนทุกข์ยากลำบาก สะสมความอึดอัดอั้นมานานแสนนาน ต่อความยากจนข้นแค้น ข้าวยากหมากแพง อยู่ชนบทไม่รู้จะทำกินอะไร เดินทางเข้าเมืองใหญ่ก็ถูกกดขี่ข่มเหง ขโมยกะโจรชุกชุม ยาเสพติดแพร่ระบาดหนัก สภาพสังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ รวมถึงความคอรัปชั่นของรัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระเจ้าชาห์
The Deer (1974) คือภาพยนตร์ที่พยายามสะท้อนสภาพสังคม จุดตกต่ำสุดของประเทศอิหร่าน พานผ่านสองตัวละครที่เป็นเพื่อนสนิทตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ต่างเป็นคนเฉลียวฉลาด อนาคตไกล แข็งแกร่งไม่เป็นสองรองใคร แต่ปัจจุบันเมื่อหวนกลับมาพบเจอกัน คนหนึ่งเป็นผู้ก่อการร้าย อีกคนเสพติดยา ต้องเลียแข้งเลียขาพ่อค้ายา อ้อนวอนร้องขอส่วนแบ่งเล็กๆน้อยๆมาประทังชีพรอด
พล็อตเรื่องดังกล่าวสร้างความเดือดพร่านให้ผู้ชมอย่างรุนแรง! ทำให้หลังฉายรอบปฐมทัศน์ ผู้กำกับ Kimiai ถูกจับกุมตัวโดยกลุ่มตำรวจลับ SAVAK (Intelligence and Security Organization of the Country) เอาปืนจ่อศีรษะสั่งให้ตัดหลายๆฉากทิ้งไป เปลี่ยนแปลงพล็อตเรื่องราว จากผู้ก่อการร้ายเป็นโจรปล้นธนาคาร และถ่ายทำตอนจบใหม่ จากระเบิดพลีชีพเป็นยินยอมมอบตัวแต่โดยดี
หลังจากหนังฉบับใหม่เสร็จสิ้นออกฉายสองปีให้หลัง บรรดาผู้ที่รับรู้เหตุการณ์ จึงแห่กันเข้าไปรับชมจนเต็มโรงแทบทุกรอบ แล้วแสดงอารยะขัดขืนด้วยการลุกขึ้นออกจากโรงภาพยนตร์ก่อนถึงฉากสุดท้าย ปฏิเสธดูตอนจบใหม่ที่ไม่ใช่ความต้องการของผู้สร้าง
จนกระทั่งวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1978 ณ โรงภาพยนตร์ Cinema Rex ระหว่างรอบฉาย The Deer (1974) จู่ๆกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง (Islamist) ได้จุดไฟเผาโรงหนัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 377-470 คน
และวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1978 กองกำลังรักษาพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าชาห์ (Imperial Army of Iran) ได้กราดยิงผู้ชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ Cinema Nahid ที่กำลังฉาย The Deer (1974) มีผู้เสียชีวิตประมาณ 64-100 คน บาดเจ็บอีก 205 คน เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการจดจำในชื่อ Black Friday และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอิหร่าน
แซว: เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมรู้สึกว่ามันเหี้ยมโหดไม่ด้อยไปกว่า Battleship Potemkin (1925)
ว่ากันตามตรง The Deer (1974) ยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ (แม้ฉบับ ‘reconstruction’ ก็ตามเถอะ) พบเห็นเต็มไปด้วยริ้วรอยบาดแผล (จากการถูกหั่นฉากโน่นนี่นั่นมากมาย) แต่ก็ต้องยอมรับในความทรงพลัง แฝงนัยยะลุ่มลึกล้ำ โดยเฉพาะการแสดงของ Behrouz Vossoughi ชวนให้นึกถึง Humphrey Bogart อ่านบทความนี้เชื่อว่าคงทำให้หลายคนตระหนักถึงอิทธิพล ความสำคัญ ถือเป็นภาพยนตร์ทรงคุณค่าที่สุดของอิหร่าน (น่าเสียดาย ไปไม่ถึงระดับสากล)
Masoud Kimiai (เกิดปี 1941), مسعود کیمیایی ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Iranian เกิดที่ Tehran หลังเรียนจบมัธยมมีโอกาสทำงานในกองถ่าย Farewell to Tehran (1966), เรียนรู้งานจากเป็นคนเบื้องหลัง จนได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Heroes (1970), แล้วมีโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Come Stranger (1968) ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไหร่
แม้ไม่ได้มีวุฒิการศึกษาด้านภาพยนตร์ แต่ผลงานของ Kimiai กลับมีความโดดเด่นเฉพาะตัวด้วยลักษณะของ ‘anti-hero’ พระเอกไม่จำเป็นต้องคนดี ก่ออาชญากรรม ปล้น-ฆ่า ขัดแย้งต่อขนบวิถีอันดีงามของสังคม นั่นถือเป็นสิ่งแปลกใหม่ สะท้อนสภาพสังคมในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะผลงานแจ้งเกิดลำดับที่สอง Qeysar (1969) หนังนัวร์ประเภท ‘revenge film’ ได้รับความสนใจล้นหลามจากนักวิจารณ์ ประสบความสำเร็จทำเงินมหาศาล และได้รับยกย่องว่าเป็นอีกจุดเริ่มต้นยุคสมัย Iranian New Wave เคียงข้าง The Cow (1969)
สำหรับผลงานได้รับการยกย่องกล่าวขวัญมากที่สุด گوزنها อ่านว่า Gavaznhā แปลว่า The Deer โดยเรื่องราวเห็นว่าลักขโมย (โดยไม่ได้ให้เครดิตใดๆ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของด้วยซ้ำ) บทละครเวที تنگنا อ่านว่า Tangna แต่งโดย Mahmoud Dowlatabadi (เกิดปี 1940), محمود دولتآبادی เขียนขึ้นระหว่างถูกควบคุมขัง ไม่ได้ด้วยข้อกล่าวหา แต่อ้างว่านวนิยายของเขามีลักษณะปลุกระดมการปฏิวัติ
ในช่วงที่ Dowlatabadi ถูกติดคุกอยู่นั้น ครอบครัวมีความเร่งรีบจะใช้เงิน เขาจึงต้องนำบทประพันธ์ออกเร่ขาย ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้กำกับ Kimiai เคยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ 10,000 tomas สำหรับดัดแปลงสร้าง The Soil (1973) โดยไม่รู้ตัวอาจเหมารวมถึง The Deer (1974)
ส่วนเหตุผลที่หนังไม่ได้ขึ้นเครติด Story By: Mahmoud Dowlatabadi น่าจะเพราะถูกสั่งห้ามโดยตำรวจลับ SAVAK ไม่ต้องการให้ปรากฎชื่อบุคคลของกลุ่มปฏิวัติ (อารมณ์คล้ายๆตอน Hollywood Backlist) แม้สร้างความไม่พึงพอใจต่อ Dowlatabadi แต่เขากลับไม่อยากสืบสาวราวเรื่องประการใด
เรื่องราวของสองเพื่อนสนิทที่ไม่ได้พบเจอหน้ากันมานาน แล้ววันหนึ่ง Ghodrat (รับบทโดย Faramarz Gharibian) ในสภาพบาดเจ็บจากการถูกยิง เข้ามาขอความช่วยเหลือหลบซ่อนตัวกับ Seyed (รับบทโดย Behrooz Vousoughi) แต่อีกฝ่ายก็มีสภาพย่ำแย่ไม่แตกต่าง ท่าทางมึนเมาจากยาเสพติด
เมื่อทั้งสองได้พบเจอ ก็เริ่มหวนระลึกความหลัง Seyed เคยเป็นเด็กตั้งใจเรียน เฉลียวฉลาด ร่างกายกำยำ บุคลิกผู้นำ เข้มแข็งแกร่งไม่เป็นสองรองใคร และมักคอยปกป้อง Ghodrat สามารถต่อสู้เอาชนะทุกอุปสรรคขวากนาม แต่ไฉนหลายปีถัดมา เขากลับกลายเป็นคนขี้แพ้ สูญเสียเกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี หมดสิ้นความเป็นลูกผู้ชาย ต้องคอยตามใจเมีย เลียแข้งเลียขาพ่อค้ายา ขอส่วนแบ่งเล็กๆน้อยๆ เพียงเพื่อธำรงชีพรอดไปวันๆ
ตรงกันข้ามกับ Ghodrat จากเคยอ่อนแอ ต้องคอยได้รับการปกป้องจาก Seyed มาวันนี้กลับกลายเป็นคนเข้มแข็งแกร่ง แถมยังหาญกล้าบ้าบิ่น รวบรวมสมัครพรรคพวกร่วมกันปล้นธนาคารอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย พร้อมต่อสู้จนตัวตาย ยังดีกว่าต้องทนทุกข์ทรมานไม่มีอันจะกิน
Behrouz Vossoughi ชื่อจริง Khalil Vossoughi (เกิดปี 1938), خلیل وثوقی นักแสดงสัญชาติ Iranian เกิดที่ Khoy แล้วมาเติบโตที่ Tehran, พออายุ 18 ได้รับการชักชวนจาก Behrooz Wastoqi เข้าสู่วงการบันเทิง แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Storm in Our Town (1958), แล้วมีโอกาสร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Masoud Kimiai ตั้งแต่ Come Stranger (1968), Qeysar (1969), The Soil (1973), The Deer (1974) ฯลฯ
รับบท Seyed Rasoul จากเด็กหนุ่มเคยมีอนาคตไกล แต่หลังจากถูกจับข้อหาเล็กๆน้อยๆ เรือนจำได้เปลี่ยนแปลงเขาให้กลายเป็นคนติดยา แถมกลับออกมาไม่ได้รับโอกาสจากสังคม เลยปล่อยตัวปล่อยใจ ยินยอมรับความพ่ายแพ้ สูญเสียเกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี หมดสิ้นความเป็นลูกผู้ชาย ต้องคอยตามใจเมีย เลียแข้งเลียขาพ่อค้ายา ขอส่วนแบ่งเล็กๆน้อยๆ เพียงเพื่อธำรงชีพรอดไปวันๆ จนกระทั่งวันที่หวนกลับมาพบเจอ Ghodrat ทุกสิ่งอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง!
เกร็ด: ชื่อตัวละคร سید ถ้าจะให้ถูกต้องเขียนว่า Sayyid แปลว่า Lord, Master, ซึ่งยังคือชื่อลูกหลานของนบีมูฮัมหมัด, ขณะที่ رسول (Rasoul) หมายถึงผู้เผยแพร่วจนะของพระเจ้า, รวมแล้วอาจสื่อถึงบุคคลที่นำเอาแนวคิด/อุดมการณ์ของผกก. Kimiai มานำเสนอผ่านสื่อภาพยนตร์ให้แก่ผู้ชม
สภาพของ Vossoughi ตั้งแต่วินาทีแรกพบเห็น ท่าทางสลึมสลือ ครึ่งหลับครึ่งตื่น (น่าจะไม่นอนมาจริงๆ) อาการเหมือนคนเมายา น้ำเสียงพูดดูไม่ยี่หร่า เดินหลังค่อมๆอย่างเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า … แค่ลักษณะทางกายภาพ ก็สร้างความตกตะลึง โคตรๆตราตรึงให้ตัวละคร ผู้ชมสัมผัสได้เลยว่าชายคนนี้หมดสิ้นสภาพ ราวกับซอมบี้ไร้จิตวิญญาณ มีชีวิตอยู่ก็เหมือนตายทั้งเป็น
ส่วนเรื่องการแสดงก็ถือว่าสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะขณะเลียแข้งเลียขาพ่อค้าขา พยายามอ้อนวอนร้องขอ ชักแม่น้ำทั้งห้า ศิโรราบแทบเท้า ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งเล็กๆน้อยๆ สำหรับประทังชีพรอดไปวันๆ เป็นภาพที่เห็นแล้วรู้สึกสมเพศเวทนา เพื่อว่าวินาทีที่เขาสามารถปรับเปลี่ยนตนเอง หวนกลับมาแก้แค้นเอาคืน ผู้ชมจะรู้สึกโคตรๆสาสมแก่ใจ
ภาพลักษณ์และการแสดงของ Vossoughi ชวนให้ผมนึกถึงหลายๆผลงาน Humphrey Bogart โดยเฉพาะบทขี้เมาเรื่อง In a Lonely Place (1950) ทั้งคู่ต่างสามารถผลักดันตัวละครไปให้ถึงขีดสุด (จริงๆต้องเรียกว่าจุดตกต่ำสุดในชีวิต) นี่การันตีความเป็นอมตะ จนได้รับฉายา “Caesar of Iranian cinema”
Faramarz Gharibian (เกิดปี 1941), فرامرز قریبیان นักแสดงสัญชาติ Iranian เกิดที่ Tehran โตขึ้นเดินทางไปร่ำเรียนการแสดงยังสหรัฐอเมริกา School of Visual Arts, New York City เมื่อหวนกลับมามีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Masoud Kimiai ตั้งแต่ Come Stranger (1968), The Soil (1973), The Deers (1974) ฯลฯ
รับบท Ghodrat จากเด็กอ่อนแอ ต้องคอยพึ่งพา ได้รับการปกป้องจาก Seyed มาวันนี้กลายเป็นจอมโจรหัวรุนแรง หนักแน่นในอุดมการณ์ พร้อมก่ออาชญากรรม ปล้น-ฆ่า โดยไม่สนกฎหมายบ้านเมือง แม้ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เสี่ยงอันตราย ก็ยังดีกว่าศิโรราบก้มหัวให้ใคร
การหวนกลับมาพบเจอ Seyed สร้างความหดหู่ รันทดใจให้กับ Ghodrat มิอาจทนรับสภาพเพื่อนรัก/ไอดอลของตนเองตกต่ำลงเพียงนี้ พยายามโน้มน้าว กระตุ้นเตือนสติ ฉุดกระชากลากกลับขึ้นมา จนอีกฝ่ายยินยอมทุบทำลายกำแพง ก้าวออกไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
เกร็ด: ชื่อตัวละคร قدرت (Ghodrat) แปลว่า Energy, Power, น่าจะสื่อถึง’พลัง’ที่สามารถเป็นแรงกระตุ้นให้ Seyed ปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง ฟื้นตื่นขึ้นจากช่วงเวลาอันเลวร้าย
เมื่อเทียบกับ Vossoughi บทบาทการแสดงของ Gharibian ดูเป็นเด็กน้อย อ่อนด้อยประสบการณ์ แต่ช่วงแรกๆพี่แกมาดีมากๆ ก้าวเดินอย่างช้าๆ สีหน้าอ่อนล้า กลับพยายามทำตัวเข้มแข็ง ไม่แสดงความเจ็บปวดออกมา เมื่อพบเจอ Seyed ก็ถึงขั้นอ้ำๆอึ้งๆ กล้ำกลืนฝืนทน จนจุดๆหนึ่งระเบิดอารมณ์ ฉันไม่อยากเห็นนายในสภาพเช่นนี้อีกต่อไป!
Gharibian ถือเป็นอีกโคตรนักแสดงระดับตำนานของอิหร่าน ผมขอเทียบกับ Amitabh Bachchan จากเรื่อง Sholay (1975) ที่แม้ตอนนั้นรับบทคู่หู/พระรองของ Dharmendra แต่ชื่อเสียงเรียงนามยังห่างไกลกันอยู่มาก เพียงกาลเวลาถึงพิสูจน์ศักยภาพ ความสามารถไม่เป็นสองรองกัน
ถ่ายภาพโดย Nemat Haghighi (1939-2010) หนึ่งในตากล้องรุ่นบุกเบิกวงการภาพยนตร์ Iranian เริ่มจากเป็นผู้ช่วยตากล้อง Jonube shahr (1958), ร่วมงานผู้กำกับ Masud Kimiai ตั้งแต่ Dash Akol (1971), The Soil (1973), The Deer (1974) ฯลฯ
เรื่องราวส่วนใหญ่ของหนังเป็นการพูดคุยสนทนา (เกือบจะเป็น ‘All-Talk’ ประมาณสัก 80%) ภายในพื้นที่จำกัด (ประมาณครึ่งเรื่องอยู่ในห้องพักของ Seyed) เลยเต็มไปด้วยลูกเล่นเกี่ยวกับระยะภาพใกล้-ไกล ขยับเคลื่อนไหลเข้า-ออก ทิศทางมุมกล้องก้ม-เงย แพนนิ่งซ้าย-ขวา และรายละเอียด ‘Mise-en-scène’ ชวนให้ขบครุ่นคิดวิเคราะห์
โดยภาษาภาพยนตร์ มักมีลักษณะในการสร้างสัมผัสอารมณ์ ยกตัวอย่างระหว่างการสนทนาอันเข้มข้น มักเลือกใช้ภาพระยะประชิดใกล้ (Close-Up Shot), ถอยออกห่างเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย, มุมก้มถ่ายจากด้านบนคือสายตาดูถูกเหยียดหยาม เห็นอีกฝ่ายต่ำต้อยกว่า, มุมเงยขึ้นเกิดความรู้สึกถึงความกดดัน เหมือนกำลังถูกควบคุมครอบงำ เห็นอีกฝ่ายสูงส่งกว่า ฯลฯ
ภาพพื้นหลังระหว่าง Opening Credit จะค่อยๆซูมเข้าหารั้วลวดหนาม สิ่งสำหรับกีดกั้นขวาง แบ่งแยกพื้นที่ส่วนบุคคล สำหรับซุกซ่อนเร้นความลับ ไม่ต้องการให้ใครอื่นก้าวรุกล้ำ เข้ามาพบเห็นสิ่งที่อยู่ภายใน ขณะเดียวกันเรายังสามารถตีความถึงสิ่งสร้างความเจ็บปวด รอยบาดแผล สัญลักษณ์ของพันธนาการเหนี่ยวรั้ง (เมื่อกล้องซูมเข้าไปเรื่อยๆ จะพบเห็นดอกหญ้าติดอยู่บริเวณรั้วลวดหนาม) เพื่อไม่ให้บุคคลสามารถดิ้นหลบหนี เอาตัวรอดออกไปจากสถานที่แห่งนี้ หรือก็คือประเทศอิหร่านยุคสมัยนั้น ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระเจ้าชาห์


ภาพแรกของ Seyed กล้องถ่ายมองลอดผ่านช่องเล็กๆ แสดงถึงการหลบซ่อน ปกปิดบังตนเอง อาชีพของเขาคือผู้ประกาศในโรงภาพยนตร์ เร่งเร้าให้ผู้ชมก่อนหนังเริ่มฉาย แต่กลับมีท่าทางสะลึมสะลือ ครึ่งหลับครึ่งตื่น เหมือนการเดี๋ยวพูดเดี๋ยวเปิดเพลง สลับไปสลับมา หาความมั่นคง เอาแน่เอานอนกับชีวิตไม่ได้

ความน่าสนใจของอพาร์ทเม้นท์หลังนี้ คือมีลักษณะชั้นครึ่ง ซึ่งสามารถใช้แบ่งแยกชนชั้นทางสังคม (ชนชั้นกลางระดับล่าง และชนชั้นล่าง) ประเด็นคือห้องพักที่อยู่ชั้นล่าง มีระดับต่ำกว่าพื้นดินครึ่งชั้น สื่อถึงความต่ำต้อยด้อยค่า ราวกับถูกย่ำเหยียบจมดิน
สำหรับห้องพักของ Seyed อยู่ชั้นบน แม้ตัวเขาจะยากจนแต่เป็นคนมีการศึกษา แถมวาทะศิลป์เป็นเลิศ จึงถือว่าวิทยะทางสังคมสูงกว่าชาวบ้านนอกคอกนา ที่เดินทางจากชนบทเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่

ในห้องพักของ Seyed จะมีสิ่งที่เรียกว่า ซาโมวาร์ (Samovar) อุปกรณ์สำหรับต้มน้ำชา ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความยากจนข้นแค้น (extreme poverty) ประดิษฐ์ขึ้นก่อนศตวรรษที่ 18 ได้รับความนิยมในประเทศรัสเซีย อิหร่าน แคชเมียร์ และตุรเกีย ส่วนใหญ่ทำด้วยโลหะประดับเงิน รูปร่างคล้ายแจกัน ด้านบนสำหรับตั้งกาน้ำชา ตรงกลางจะมีช่องว่างสำหรับฟืนหรือถ่าน และด้านล่างมีก็อกสำหรับรินน้ำออก
เกร็ด: สาเหตุที่ Samovar ได้รับความนิยมเพราะสามารถเก็บความร้อนได้นานและมีราคาถูก ปัจจุบันมีการออกแบบใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยโดยใช้ระบบไฟฟ้าเข้ามาแทนที่

ด้วยคำใบ้ชื่อตัวละคร Ramesses และพระบิดาถูกลอบสังหาร เท่าที่ผมหาข้อมูลได้น่าจะเป็นการอ้างอิงถึง King Ramesses IV (เกิดปี 1176-49 BC, ครองราชย์ 1155-49 BC) โดยพระบิดา King Ramesses III ถูกลอบสังหารโดยมเหสีองค์ที่สอง Tiye ร่วมมือกับบุตรชายคนโต Pentawere เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นการล่มสลายของ Ancient Egypt
แน่นอนว่าการแสดงชุดนี้ย่อมล้อกับเรื่องราวของหนัง ทั้งยังเป็นการพยากรณ์ถึงสมเด็จพระเจ้าชาห์ เชื่อว่าสักวันย่อมต้องถูกแทงข้างหลัง และประเทศอิหร่าน (Imperial State of Iran) จักประสบโชคชะตาเดียวกับ Ancient Egypt

ซีเควนซ์ในโรงละครเวที ช่วงครึ่งแรกของหนังสังเกตว่าจะถ่ายจากด้านหลัง/ฝั่งเวทีเข้าหาผู้ชม เพื่อสะท้อนถึงตัวตนของ Seyed ที่มักหลบซ่อน แอบอยู่เบื้องหลัง พออยู่หน้าเวทีก็มีท่าทางเหนียงอาย ไร้ความหาญกล้า ขี้ขลาดตาขาว
อย่างฉากที่ Seyed แสร้งว่าชกต่อยกับคนที่รับบทพระเอก (คาดว่าน่าจะเป็นตัวละคร Pentawere) จะมีการตัดสลับกับการแสดง Talk Show (แต่ถ่ายจากด้านข้างเวที) ส่งเสียงสารพัด Sound Effect เพื่อสื่อว่านี่คือการจัดฉาก เล่นละครตบตา เพียงเพื่อจุดประสงค์สร้างภาพให้ภรรยา Fati พบเห็นแล้วบังเกิดความเชื่อมั่นในตัวเขาขึ้นมาสักนิด


ฉากที่ผมมองว่าคือจุดตกต่ำสุดของ Seyed (แต่บางคนอาจมองว่าตอนถูกภรรยาเก็บข้าวของออกจากห้องพักคือจุดตกต่ำสุดของ Seyed ก็ได้เหมือนกันนะครับ) เมื่อต้องอ้อนวอนร้องขอ เลียแข้งเลียขาพ่อค้ายา ยังสถานที่บริเวณทางเข้าบ้านอันคับแคบ(ของพ่อค้ายา) ซึ่งปกคลุมด้วยความมืดมิด เพียงแสงไฟดวงเล็กๆคือประกายแห่งความหวัง สำหรับโอกาสได้รับสิ่งที่พยายามเรียกร้องขอในค่ำคืนนี้

รายละเอียดเล็กๆที่ไม่ได้สำคัญอะไร แต่ผมพบเห็นแล้วอดนำมาอธิบายไม่ได้ นั่นคือหลังจาก Seyed ได้ส่วนแบ่งเล็กๆน้อยๆจากพ่อค้ายา เขาเดินออกมาเสพด้านนอก พอดิบพอดีกับฝูงสุนัขที่เดินผ่านไป … เป็นการเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมาว่าชีวิตเขาไม่ต่างจากหมาๆพวกนี้สักเท่าไหร่

ค่ำคืนแห่งการเลี้ยงฉลองระหว่างผองเพื่อนเก่า แต่ขณะชนแก้วพวกเขากลับแข่งกันอยู่เบื้องล่าง (ตำแหน่งของการชนแก้ว บ่งบอกถึงสถานะสูง-ต่ำทางสังคม) จนกระทั่งเลื่อนลงมาถึงบนพื้น สะท้อนว่าพวกเขาต่างอยู่ในจุดตกต่ำสุดของชีวิตอย่างเทียบเท่ากัน
แต่หลังจากดื่มก้งนี้แล้ว กล้องค่อยๆแพนนิ่งขึ้นด้านบน พบเห็นรูปภาพถ่ายมากมายประดับฝาผนัง นั่นคืออดีต ความทรงจำ สิ่งที่ Seyed เคยเพ้อใฝ่ฝัน รวมถึงภาพสมเด็จพระเจ้าชาห์องค์สุดท้าย Mohammad Reza Pahlavi (เป็นรูปที่ต้องมีทุกบ้าน) … แต่อีกรูปภาพที่เป็นตัวแทนภรรยา Fati กลับติดอยู่ตรงประตูทางออก (สื่อถึงความต้องการหลบหนีออกไปจากสถานที่แห่ง)
เกร็ด: น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถหาข้อมูล รูปภาพวาดหญิงสาวกำลังนอนอยู่บนเตียง รายล้อมด้วยกามเทพ แต่ใกล้เคียงสุดที่พบเจอคือ Dreams of Love (1895) ผลงานของ Francesco Vinea (1845-1902) จิตรกรชาวอิตาเลี่ยน โด่งดังกับ Genre Painting



ระหว่างที่ Ghodrat เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง พบเห็นชายคนหนึ่งเกิดอาการชักกระตุก น้ำลายฟูมปาก นี่อาจดูเหมือนเหตุการณ์บังเอิญ แต่การที่เขาทำเพียงได้แค่จับจ้องมอง มิอาจเข้าไปให้ความช่วยเหลือ นั่นสะท้อนความสิ้นหวังของอิหร่าน สื่อถึงคนยากคนจนที่ไม่ได้รับการเหลียวดูแล ถูกปล่อยปละละทอดทิ้ง รัฐบาลไม่เคยเห็นหัวประชาชน สนเพียงผลประโยชน์พวกพ้อง ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

สำหรับคนช่างสังเกตจะพบเห็นการอ้างอิงถึงสรรพสัตว์นานาสายพันธุ์ อาทิ บทเพลงเกี่ยวกับนกกระจอก, ฝูงแกะถูกต้อนเข้าอพาร์ทเม้นท์, สุนัข สัตว์สัญลักษณ์แทนถึงความตกต่ำ ฯลฯ แต่กลับไม่เคยมีการเอ่ยกล่าวถึง หรือพบเห็นเจ้ากวางตามชื่อหนัง The Deer (1974) … แต่สรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีการนำเสนอ ล้วนมีความอ่อนแอ ไร้พิษภัย ดวงตาใสบริสุทธิ์ แต่มักถูกเข่นฆ่าเพื่อผลประโยชน์บางอย่างต่อมนุษย์

แม้เป็นเพียงการท้าทายให้กำหมัดชกกำแพง แต่แฝงนัยยะถึงการทำลายกรอบที่ห้อมล้อมตัวตนเองของ Seyed ก้าวออกมาจาก ‘Safe Zone’ ที่แม้ปกป้องให้เขาอยู่รอดปลอดภัย แต่กลับทำให้ชีวิตจมปลักอยู่กับความสิ้นหวัง ซึ่งเมื่อกำแพง(ในเชิงนามธรรม)ได้ถูกทำลายลง หลังจากนี้คือการเผชิญหน้าโลกความจริง ที่แม้ว่าจะเหี้ยมโหดร้าย เต็มไปด้วยภยันตรายรอบทิศทาง มนุษย์เราย่อมสามารถต่อสู้ โต้ตอบกลับ ไม่มีสิ่งใดให้ต้องหวาดกลัวเกรง “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” กรรมสนองกรรม

จากมุมกล้องถ่ายด้านบนก้มลงมา (เพื่อให้เห็นความตกต่ำของตัวละคร) ค่อยๆเคลื่อนเลื่อนลงจนถึงระดับสายตา (สื่อถึงการค้นพบคุณค่าชีวิตของ Seyed ต่อจากนี้จะไม่อยู่ในสภาพหมดสิ้นหวังอีกต่อไป)


สิ่งแรกที่ Seyed กระทำหลังจากทุบทำลายกำแพง คือการเผชิญหน้านักแสดงชายที่พยายามลวนลามภรรยา สังเกตว่ากล้องถ่ายจากฝั่งผู้ชม เบื้องหน้าเวที นี่เป็นครั้งแรกที่เขาหาญกล้า ออกมาด้านหน้า ท้าพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชาย เดินขึ้นมาชกต่อยอีกฝั่งฝ่าย โดยไม่ใช่การแสร้างว่า เล่นละคอนตบตา
แซว: บทพูดที่ตัวละครซักซ้อมการแสดงอยู่นั้น มันช่างเป็นการสื่อถึงสมเด็จพระเจ้าชาห์อย่างตรงไปตรงมา … My lord, people are awaiting your downfall.

ระหว่างที่เจ้าของอพาร์ทเมนท์ กำลังทำการขับไล่ลูกบ้านครอบครัวหนึ่งออกไป จะมีอยู่สองสามรายละเอียดน่าสนใจ
- อย่างแรกคือตำแหน่ง/มุมกล้อง เจ้าของอพาร์ทเม้นท์ยืนอย่างสูงส่ง ขณะที่ครอบครัวนี้ทรุดนั่งลงกับพื้น (แสดงถึงความต่ำต้อยกว่า) พยายามพูดอธิบายเหตุผล แต่กลับไม่ใครจะรับฟัง หรือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
- อีกความน่าสนใจคือชายสูงวัยอุ้มแอคคอร์เดียน น่าเสียดายไม่ได้ยินบทเพลงบรรเลงดังขึ้น (แต่ใครช่างสังเกตจะพบว่ามือกำลังเล่นดนตรี) แต่เราสามารถตีความเหตุการณ์นี้ เพียงความบันเทิงของพวกชนชั้นสูง โดยไม่สนสิ่งเรียกว่ามนุษยธรรม


อีกเกมหนึ่งที่คนมีเงิน/ชนชั้นสูง นิยมละเล่นกันคือการทำทาน นำอาหารมาแจกจ่ายผู้ยากไร้ มองผิวเผินนั่นคือน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่คนมีสติปัญญาจะบอกว่านั้นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาระยะยาว มันเป็นเพียงการสร้างภาพ ทำให้ตนเองรู้สึกเป็นคนดี มีมนุษยธรรมเท่านั้นเอง
คนไทยสมัยนี้ก็เช่นกันนะครับ เข้าวัดเข้าวาเพื่อทำให้ตนเองรับรู้สึกว่าเป็นคนดี มีศีลธรรม แต่แท้จริงกลับมีพฤติกรรมคอรัปชั่น คดโกงกิน ไม่เคยนำเอาหลักคำสอนศาสนามาปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

การปลดปล่อยนกออกจากกรงขัง คือสัญลักษณ์ที่ชัดเจนมากๆถึงอิสรภาพของจิตวิญญาณ ในบริบทนี้สื่อถึง Seyed มีความหาญกล้าลุกขึ้นมาเผชิญหน้าเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ ไม่ยินยอมรับที่เขาพยายามใช้กำลังขับไล่ลูกบ้าน จนมีเรื่องชกต่อย และมาจบที่โรงพัก … นี่ถือเป็นลักษณะของการปลุกระดม ‘provocative’ ที่ชัดเจนมากๆ เมื่อไหร่พบเห็นความไม่ถูกต้อง เราก็ควรต้องกล้าลุกขึ้นมาเผชิญหน้า ต่อสู้ อย่าไปกลัวเกรงต่อเผด็จการ

เรื่องราวของเพื่อนข้างห้อง Muhammad ผมเองไม่แน่ใจในรายละเอียดนัก เพราะไม่ได้มีการอธิบายว่าเคยไปกระทำผิดอะไร ถึงถูกตำรวจบุกเข้ามาล้อมจับ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เพื่อเป็นกระจกสะท้อนเรื่องราวระหว่าง Ghodrat กับ Seyed (Seyed ให้ความช่วยเหลือ Ghodrat หลบซ่อนตัวในห้องพัก == Ghodrat ให้ความช่วยเหลือ Muhammad หลบซ่อนตัวในห้องพัก, ต่างฝ่ายต่างเป็นอาชญากร ถูกตำรวจหมายหัวล้อมจับ)
แต่ขณะที่เพื่อนของ Muhammad เสียสละตนเองให้อีกฝ่ายสามารถหลบหนีพ้น, Seyed และ Ghodrat เลือกที่จะต่อสู้จนตัวตาย ไม่ยอมหลบหนี ไม่ก้มหัวศิโรราบต่อผู้ใด

Seyed ตัดสินใจที่จะเข่นฆาตกรรมพ่อค้ายา ด้วยการใช้มีดทิ่มแทง แต่กว่าหมอนี่จะหมดสิ้นลมหายใจ มีการเกลือกกลิ้ง ดิ้นรน บอกกับภรรยาให้ทำลายหลักฐานทั้งหมด ก่อนสิ้นใจตายข้างบ่อหน้ากลางบ้าน ในท่วงท่าที่ผมครุ่นคิดว่าเหมือนการละหมาด แสดงถึงความเคารพ สักการะ ขอบคุณ และภักดีต่ออัลลอฮ์ (หรือคือการศิโรราบต่อพระเป็นเจ้า/โชคชะตากรรมของตนเอง)

ตอนจบจริงของหนัง (Real Ending) เพื่อนรักทั้งสองต่างเลือกระเบิดห้องพัก (ก็ไม่รู้เอาระเบิดมาจากไหน) ยินยอมตายยังดีกว่าต้องก้มหัวศิโรราบให้ตำรวจ/เผด็จการ นั่นคืออุดมการณ์ของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ถือว่าเป็นภัยต่อเผด็จการ ด้วยเหตุนี้พวกตำรวจลับ จึงสั่งให้มีการปรับแก้ไขกลายเป็นตอนจบปลอม (Fake Ending) คือให้ Seyed สามารถโน้มน้าว Ghodrat ให้ยินยอมยกธงขาว กลับออกมามอบตัว ติดคุกเพียงไม่กี่ปีก็ได้รับอิสรภาพคืนมา
แซว: ขณะที่ตอนจบจริงจะไม่เหลือชาวบ้านชาวช่อง (เพราะมันจะมีการระเบิด เลยต้องอพยพคนออกหมด) แต่ตอนจบปลอมจะมีการแทรกภาพคนเหล่านั้นซุบซิบนินทา ส่งเสียงตะโกนออกมาทางหน้าต่าง (เสือกเรื่องชาวบ้าน!)

ข้อความที่ปรากฎขึ้นตอนหนังจบก็จะมีความแตกต่างกัน
- ขณะที่ตอนจบจริง (Real Ending) จะตัดสู่ภาพดำและขึ้นข้อความ تمام อ่านว่า tamaan แปลว่า Done, Complete, จบสมบูรณ์ ซึ่งสามารถสื่อถึงความตายของตัวละคร และจุดจบสิ้นของประเทศอิหร่าน
- ขณะที่ตอนจบปลอม (Fake Ending) จะซ้อนข้อความ پایان อ่านว่า payaan แปลว่า The End ซึ่งเป็นคำที่นิยมใช้กับตอนจบหนังทั่วๆไป


ตัดต่อโดย Abbas Ganjavi,
ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของสองตัวละคร Ghodrat และ Seyed ที่มักตัดสลับกันไปมา ตั้งแต่หวนกลับมาพบเจอ หวนระลึกความหลัง (แต่เหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบัน ไม่มีการแทรกภาพย้อนอดีต Flashback เลยสักครั้งเดียว!) เผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลง และพิสูจน์มิตรภาพระหว่างผองเพื่อน
- การหวนกลับมาพบเจอระหว่างสองเพื่อนเก่า Ghodrat และ Seyed
- หลังจากปล้นธนาคาร Ghodrat ออกติดตามหา Seyed
- เมื่อได้พบเจอ Seyed พาเพื่อนเก่ามาหลบซ่อนตัวในห้องพัก
- จากนั้นพูดคุยหวนระลึกความหลัง
- สภาพปัจจุบันของ Seyed
- Seyed เดินทางไปยังโรงละครเพื่อขอความช่วยเหลือจากภรรยา Fati
- ระหว่างทางกลับ Seyed แวะเวียนไปหาพ่อค้ายา อ้อนวอนร้องขอ จนได้ส่วนแบ่งเล็กๆพอประทังชีพรอด
- พอกลับมาห้องพัก ดื่มด่ำเลี้ยงฉลอง หวนระลึกความหลัง
- จุดตกต่ำสุดของ Seyed
- เช้าวันถัดมา เจ้าของอพาร์ทเม้นท์ จู่ๆครื้มดีครึ้มร้าย ป่าวประกาศทวงค่าเช่า พร้อมขับไล่บุคคลไม่ยินยอมจ่าย
- Seyed เดินทางไปรอบเมือง พยายามขอหยิบยืนเงินเพื่อจ่ายค่าเช่าห้อง แต่กลับไม่เป็นผล
- การมาถึงของฝูงแกะ เป็นเหตุให้ Fati ตัดสินใจเก็บข้าวของย้ายออกจากบ้าน
- Ghodrat พยายามพูดเตือนสติ Seyed ฉุดเขาขึ้นมาจากจุดตกต่ำได้สำเร็จ
- การเปลี่ยนแปลงของ Seyed
- การตื่นขึ้นของ Seyed เริ่มจากชกหน้านักแสดงที่พยายามลวนลาม Fati
- ชกต่อยเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ที่พยายามขับไล่ลูกบ้านออกไป
- ทิ่มแทงพ่อค้ายาที่มอมเมาเขาจนสิ้นใจ
- บทพิสูจน์เพื่อนแท้
- ตำรวจต้องการบุกค้นผู้ต้องหารายหนึ่งที่หลบซ่อนตัวอยู่อีกห้อง แต่เพื่อนของเขาพยายามเบี่ยเบนความสนใจ จนสามารถหลบหนีมายังห้องพักของ Seyed ที่มี Ghodrat หลบซ่อนตัวอยู่
- สมาชิกปล้นธนาคารของ Ghodrat ถูกจับได้หมด หลงเหลือเพียงเขาคนเดียวที่ยังถูกหมายหัว ถึงขนาดมีภาพถ่ายปรากฎบนหน้าหนังสือพิมพ์
- ในที่สุดตำรวจก็เข้าล้อมอพาร์ทเม้นท์ แต่แม้ไร้หนทางหลบหนี Seyed ก็อาสาเข้ามาเกลี้ยกล่อม Ghodrat
- ก่อนทั้งสองตัดสินใจที่จะ …
เพราะหนังถูกตำรวจลับ SAVAK สั่งหั่นฉากโน่นนี่นั่นออกไปมากมาย แม้ภายหลังจะมีการ ‘reconstruction’ แต่ก็ไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ยังรู้สึกเหมือนมีบางฉากสูญหาย ทำให้การดำเนินเรื่องขาดความลื่นไหล กระโดดไปกระโดดมา โดยเฉพาะไคลน์แม็กซ์ที่จู่ๆก็มาถึงอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย … แต่ก็ต้องถือเป็นหนังฉบับสมบูรณ์ที่สุด สามารถรับชมได้ในปัจจุบัน
สำหรับไคลน์แม็กซ์ของหนัง จะมีการแทรกใส่ทั้งสองแบบ (คล้ายๆภาพยนตร์เรื่อง The Last Laugh (1924)) โดยจะมีการขึ้นข้อความอธิบายเหตุผล และใช้คำเรียก Real Ending ต่อด้วยกับ Fake Ending (ที่ไม่เรียก Alternate Ending เพราะไม่ได้เกิดจากความต้องการของผู้สร้าง)
เพลงประกอบโดย Esfandiar Monfaredzadeh (เกิดปี 1941) นักแต่งเพลงชาว Iranian ช่วงวัยเด็กชื่นชอบเล่นเครื่องกระทบ (Percussion) และแอคคอร์เดียน (Accordian) เคยเข้าร่วม Youth Orchestra of National Iranian Radio ในฐานะนัก Contrabass ก่อนเปลี่ยนมาเป็นผู้เรียบเรียงเพลง และวาทยากรประจำวง จนกระทั่งมีโอกาสรับรู้จักผู้กำกับ Masoud Kimiai ร่วมงานตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก Come Stranger (1968), Qeysar (1969), Dash Akol (1971), The Deer (1974) ฯลฯ
งานเพลงของ Monfaredzadeh ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน Persian มักได้ยินคลอประกอบพื้นหลังเบาๆ เพื่อขับเน้นอารมณ์ สร้างบรรยากาศระหว่างการสนทนา โดยเฉพาะช่วงเวลาหวนระลึกความหลัง มันช่างหอมหวน ตลบอบอวล กลิ่นอาย ‘Nostalgia’ ขณะเดียวกันยังซุกซ่อนเร้นความทุกข์เศร้า เพราะเขาคนนั้นที่เคยยิ่งใหญ่ ปัจจุบันกลับตกต่ำลงจนแทบไม่หลงเหลืออะไร ทำเอาหัวใจแทบแตกสลาย
เกร็ด: Avval, Dovvom, Sevvom, Chaharom ไม่ใช่ชื่อเพลงนะครับ แต่คือลำดับที่อยู่ในอัลบัม 1-2-3-4
บทเพลง گنجشکک اشی مشی อ่านว่า Gonjeshkak Ashi-Mashi แปลว่า You are a sparrow, ขับร้องโดย Pari Zangeneh, ดังขึ้นตอน Opening/Closing Credit ท่วงทำนองมอบสัมผัสอันเปราะบาง เสียงร้องฟังเหมือนเจ้านกกระจอกน้อย จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด (จะว่าไปไม่แตกต่างจากชื่อหนัง The Deer) ทั้งๆเป็นสัตว์ไม่มีพิษภัย แต่โลกความจริงช่างแสนเหี้ยมโหดร้าย
Ashi-Mashi, little sparrow
Come not to rest over our windows.
You’ll be drenched by the rain,
or be covered in snow.
You’ll fall into the pool of paint below.
When you’re fallen, the watchman will catch you.
When you’re captured, the butcher will kill you.
When you’re butchered, the chef will cook you.
And when you’re ready, the wise man will eat you.
The Deer (1974) นำเสนอเรื่องราวของบุคคล (สามารถเหมารวมถึงประเทศอิหร่าน) อดีตเคยยิ่งใหญ่เกรียงไกร มีอนาคตอันสดใส แต่ปัจจุบันกลับตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ทั้งภายนอก/ร่างกาย (Seyed) และภายใน/จิตใจ (Ghodrat) เรียกได้ว่าจุดต่ำสุดของชีวิต
- Seyed เคยเป็นเด็กเฉลียวฉลาด แต่กลายมาเป็นคนติดยา สภาพร่างกายดูอ่อนล้า ไร้เรี่ยวแรง เดินหลังค่อม ต้องคอยเลียแข้งเลียขาพ่อค้ายา เพื่อหาหนทางธำรงชีพรอดไปวันๆ … ตัวแทนของร่างกาย
- Ghodrat จากเคยเป็นเด็กอ่อนแอ แม้โตขึ้นสามารถยืดอกด้วยความเข้มแข็งแกร่ง แต่อุดมการณ์ที่ยึดถือมั่น คือกระทำสิ่งขัดแย้งต่อหลักศีลธรรม ก่ออาชญากรรม ปล้น-ฆ่า ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ปฏิเสธก้มหัวให้ผู้อื่นใด … ตัวแทนของจิตใจ
เหตุผลที่เพื่อนรักทั้งสองต่างมีสภาพสาละวันเตี้ยลง เพราะได้รับอิทธิพลจากสิ่งต่างๆรายล้อมรอบข้าง
- Seyed ระหว่างติดคุกเพราะความผิดเพียงเล็กน้อย ได้พบเห็นความคอรัปชั่น’ภายใน’เรือนจำ ทำให้เขาต้องศิโรราบต่อยาเสพติด
- Ghodrat แม้ไม่เคยติดคุกติดตาราง แต่การได้พบเห็นสภาพสังคม’ภายนอก’ที่เต็มไปด้วยความคอรัปชั่น เรียนจบไม่สามารถหางานทำ จึงกลายเป็นโจรปล้นธนาคาร
หนึ่งในใจความของหนังก็คือมิตรภาพ เพื่อนแท้ แม้ต่างฝ่ายต่างถือว่าอยู่ในจุดตกต่ำสุดของชีวิต แต่พวกเขายังสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กัน ช่วยเหลือผลักดัน ให้สามารถทุบทำลายกำแพง ก้าวขึ้นมาจากขุมนรก ออกมาเผชิญหน้าโลกความจริงที่แม้เหี้ยมโหดร้าย แต่ก็เราก็สามารถเผชิญหน้า ต่อสู้ โต้ตอบกลับ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ไม่มีอะไรให้ต้องขลาด หวาดกลัวเกรง
เรื่องราวส่วนใหญ่ของหนังเกิดขึ้นในบริเวณอพาร์ทเมนท์ที่สามารถเปรียบเทียบระดับมหภาคได้กับประเทศอิหร่าน โดยเจ้าของห้องเช่าก็คือสมเด็จพระเจ้าชาห์ มีความเผด็จการ บริหารจัดการอย่างคอรัปชั่น สนเพียงผลประโยชน์ เงินๆทองๆ ต้องการขับไล่ลูกบ้านที่ไม่มีเงินจ่ายค่าห้อง ปฏิเสธการประณีประณอม เรียกว่าเป็นบุคคลไร้ซึ่งมนุษยธรรม
ผกก. Kimiai สรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ มีความชัดเจนมากๆในลักษณะการ ‘provocative’ พยายามทำให้ตัวละครตกต่ำถึงขีดสุด เพื่อสะท้อนถึงสภาพของอิหร่านยุคสมัยนั้น มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรลุกขึ้นมาแสดงอารยะขัดขืน ต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ก็เหมือน Seyed ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเอง หาญกล้าเผชิญหน้าเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ ปฏิเสธก้มหัวให้ทรราชย์อีกต่อไป
ตอนจบของหนังตามความตั้งใจของ ผกก. Kimai น่าจะต้องการสื่อถึงร่วมกันสู้จนตัวตาย เลยทำการระเบิดห้องเช่า แม้ประเทศชาติล่มสลาย ก็ไม่ยินยอมศิโรราบต่อเผด็จการ, ส่วนตอนจบปลอม ต้องการให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต ยินยอมก้มหัว ศิโรราบต่อความถูกต้อง ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองตามหน้าที่พลเมือง เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ
ชื่อหนัง The Deer ไม่เคยมีการกล่าวถึง พูดถึง หรือพบเห็นอะไรสักอย่างที่เกี่ยวกับกวาง! แต่มันก็ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ The Deer Hunter (1978) คือสัตว์สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ เพราะมันเป็นสัตว์กินพืช ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่มักตกเป็นเหยื่อของผู้ล่า ถูกมนุษย์เข่นฆ่า จบชีวิตลงอย่างน่าขมขื่น
เกร็ด: ชื่อหนังระหว่างถ่ายทำคือ تیر باران อ่านว่า Tir baran แปลจาก Google Translate ว่า Rain Arrow น่าจะสื่อถึงห่าธนู/ห่ากระสุนที่ตัวละครไม่สามารถหลบหนี ไร้หนทางออก มองไปทางไหนก็พบเห็นแต่ความตาย ตกอยู่ในสภาพหมดสิ้นหวัง
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ยังเทศกาล Tehran International Film Festival ช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1974 เสียงตอบรับดีมากๆจนทำให้ Behrouz Vossoughi คว้ารางวัล Best Actor แต่หลังจากนั้นไม่นานผู้กำกับ Kimiai ถูกควบคุมตัวโดยตำรวจลับ SAVAK แล้วหนังก็โดนแบนห้ามฉายอยู่สองปี
After the showing of The Deer at the Tehran International Film Festival, they said that the ending of the film should be changed. Because in their minds, they had made the movie’s characters into a real revenge; For example, this is Amir Parviz Pouyan, that one is Shah, so-and-so is a SAVAK officer, that one is a prisoner, and … Mr. Mithaqiyeh and I did not go under the load, and the SAVAK officers took us from the studio to the SAVAK office. It got to the point where they came and changed the ending of the movie. They even brought the director and the sound operator, while the camera operator was Nemat Haghighi.
Masud Kimiai
หลังปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่ ถ่ายทำฉากจบใหม่อีกครั้ง นำออกฉายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 กลายเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดแห่งปี เฉพาะในกรุง Tehran มีรายรับ 2.6 ล้าน Tomans สามารถยืนโรงฉายอยู่หลายปี (ตลอดช่วงระหว่างการปฏิวัติอิหร่าน) แต่ผู้ชมส่วนใหญ่ไม่เคยอยู่ดูฉากจบใหม่ของหนัง
Film Magazine, فیلم นิตยสารภาพยนตร์เก่าแก่ที่สุดของอิหร่าน ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1982 มีการรวบรวมผลโหวตจากนักวิจารณ์หลายร้อยคน เพื่อค้นหา “Greatest Iranian Films” ในทุกๆทศวรรษ ปรากฎว่า The Deer (1974) เป็นเพียงหนึ่งในสองเรื่องติดครบทุกครั้งที่จัดอันดับ (อีกเรื่องคือ Bashu, the Little Stranger (1989))
- ค.ศ. 1988, ติดอันดับ 7 (จริงๆคืออันดับ 10 เพราะอันดับ 3-5 มีหนังได้คะแนนเท่ากัน)
- อันดับหนึ่งคือ Bashu, the Little Stranger (1989)
- ค.ศ. 1999, ติดอันดับ 2 (ร่วมกับ Tranquility in the Presence of Others (1972), Desiderium (1978), Taste of Cherry (1997)
- อันดับหนึ่งคือ The Cow (1969)
- ค.ศ. 2009, ติดอันดับ 1
- ค.ศ. 2019, ติดอันดับ 1
จนถึงปัจจุบันหนังยังไม่มีการบูรณะนะครับ แต่ได้รับการ ‘reconstruction’ รวบรวมเอาฟุตเทจที่หลงเหลือ ค้นพบเจอ มาปะติดปะต่อ สแกนใหม่ ‘DCP’ ให้กลายเป็นฉบับสมบูรณ์ที่สุดตามความตั้งใจของผู้กำกับ (แต่ยังเต็มไปด้วยริ้วรอยขีดข่วน ภาพกระโดดไปมา) ส่วนตอนจบก็ใส่มาทั้งสองแบบเลยละ พร้อมคำอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้นออกฉาย
ผมมีความโคตรชอบหนังเรื่องนี้อย่างมากๆ มีความอึดอัดอั้น บีบเค้นคั้น ช่วงแรกๆทำอารมณ์ได้อย่างต่อเนื่อง แต่แล้วเริ่มมีจุดสะดุด หลายๆเหตุการณ์ดูไม่จำเป็น พอสัมผัสได้ว่าบางส่วนขาดๆหายๆ และจู่ๆก็มาถึงตอนจบแบบไม่ทันตั้งตัว แม้งเอ้ย! อีกไม่กี่ก้าวก็จะสามารถเรียกมาสเตอร์พีซ กลับโดนตำรวจลับซัดจนอ่วม เต็มไปด้วยริ้วรอยบาดแผลจากการต่อสู้
มันเลยเป็นความโคตรๆน่าเสียดาย ที่หนังไม่สามารถยิ่งใหญ่ไปไกลกว่าประเทศอิหร่าน แต่โลกปัจจุบันกำลังแคบลง เมื่อไหร่ได้รับการบูรณะ เข้าฉายตามเทศกาลหนัง หารับชมโดยง่ายขึ้น ก็อาจมีโอกาสค้นพบ ชื่นเชยชม ช้างเผือกในป่าดงดิบ
หนังเรื่องนี้อาจหารับชมค่อนข้างยาก (ถ้าใครอยากหาชม ให้ลองค้นเป็นภาษาเปอร์เซียดูนะครับ) แต่ถ้ามีโอกาสก็ขอแนะนำเลยนะครับ เป็นผลงานที่โคตรๆทรงคุณค่าในแง่ประวัติศาสตร์ เต็มไปด้วยอารมณ์บีบเค้นคั้น และหมดสิ้นหวัง (ชวนให้นึกถึงประเทศสารขัณฑ์ ใกล้จะถึงจุดนั้นแล้วเช่นกัน)
จัดเรต 18+ บรรยากาศเครียดๆ เสพยา ปล้นฆ่า เต็มไปด้วยความรุนแรง
Leave a Reply