The Deer Hunter (1978) : Michael Cimino ♥♥♥♥♥
มี 3 ฉากใน The Deer Hunter ที่ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังโปรดเรื่องแรกของผม
1) ในบาร์ต้นเรื่อง ขณะที่กลุ่มขี้เมาร่วมกันร้องเพลง Can’t Take My Eyes Off You
2) กระสุน 3 นัด และการหัวเราะท้าความตายของพระเอกกับเวียดกง
3) ตอนท้ายที่ตัวละครของ Christopher Walken จ้องหน้า Robert De Niro พูดว่า ‘One Shot’ ยิ้มแล้ว…
ตลอดชีวิตของผู้กำกับ Michael Cimino หนังของเขาส่วนมากจะออกไปทาง ‘ห่วย’ แต่มีเพียงเรื่องเดียวในชีวิต ที่สามารถทำกำไรและกวาดรางวัลนับไม่ถ้วน The Deer Hunter เป็น Masterpiece เรื่องแรกและเรื่องเดียวของเขา ถ้าไม่มีหนังเรื่องนี้ Cimino อาจได้รับการยกย่องเป็น Ed Wood คนถัดมาก็ได้, ผมคงต้องพูดถึงหนังที่ห่วยสุดและ Flop ที่สุดในทศวรรษซึ่งเป็นของ Cimino ด้วยนะครับ Heaven’s Gate (1980) เป็นหนังเรื่องถัดมาจาก The Deer Hunter เพราะความที่สตูดิโอให้ความเชื่อมั่นในผู้กำกับ จึงปล่อยอิสระทางความคิดทุกอย่าง ผลลัพท์ทำเอา United Artist เกือบล้มละลาย เพราะใช้ทุนสร้าง $44 ล้านเหรียญ ทำเงินได้แค่ $3.5 ล้านเหรียญ คำวิจารณ์ก็ดำดิ่งลงเหวแบบกู่ไม่กลับ หลังจากนั้นก็ไม่มีหนังเรื่องไหนของ Cimino ที่ให้พูดถึงอีก รวมแล้วตลอดชีวิตทำหนังได้แค่ 7 เรื่องเท่านั้น
สงครามอินโดจีนในเวียดนาม (Vietnam Wars) เริ่มต้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 1955 สิ้นสุด 30 เมษายน 1975 (รวม 19 ปี 5 เดือน) อเมริกาเข้ามาร่วมในสงครามเมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 60s แล้วพ่ายแพ้หมดรูป ถอนกำลังกลับไปเมื่อ 15 สิงหาคม 1973, The Deer Hunter ถือเป็นหนังเกี่ยวกับสงครามเวียดนามเรื่องแรกของ hollywood ก่อนจะตามมาติดๆด้วย Apocalypse Now (1979), Platoon (1986), Full Metal Jacket (1987), Born on the Fourth of July (1989) ฯ
เหตุที่หนังเกี่ยวกับสงครามต่อต้านเวียดนามได้รับการสร้างช้าเหลือเกิน ไม่มีแม้แต่หนังชวนเชื่อออกมา, เห็นว่าบทหนังแนวนี้ถือเป็นของต้องห้ามเลย (Taboo) มีหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของสตูดิโอชื่อดังหนึ่ง ให้ความเห็นอ้างว่า ‘ไม่มีคนอเมริกันที่อยากดูหนังเกี่ยวกับเวียดนาม’ (์No American would want to see a picture about Vietnam) คงเพราะความเสียหายทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่ไปร่วม นี่เป็นสงครามที่ไม่มีผลประโยชน์อะไรต่ออเมริกาเลย ที่ไปเพียงเพื่อแสดงต้องการแสนยานุภาพของตน แต่กลับพ่ายแพ้กลับมาอย่างหมดรูป จึงไม่มีใครอยากรู้อยากเห็น หรือยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้
ถ้าพูดกันในรายละเอียด จะมีข้อโต้แย้งว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใน The Deer Hunter ไม่มีหลักฐานว่าเวียดกงใช้เชลยเล่นเกม Russian Roulette แบบในหนัง, ซึ่งหนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง The Man Who Came to Play เขียนโดย Louis Garfinkle และ Quinn K. Redeker เป็นเรื่องที่เกิดใน Las Vegas ไม่ได้เกิดที่เวียดนาม, ถึง Russian roulette จะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสงครามเวียดนาม แต่เกมนี้เป็นตัวแทนของความตาย ความรุนแรงที่เรียกว่า random violence และผู้ชายเท่านั้นเป็นคน ซึ่งนี่สามารถมองเป็นสัญลักษณ์แทนได้กับการสงครามเลยละ
กับหนังสองเรื่องที่มีพื้นหลังเป็นสงครามเวียดนาม “Apocalypse Now คือ surreal (เหนือจริง) The Deer Hunter จะคือ parable (เปรียบเทียบ, อุปมาอุปไมย)” ที่ต่างก็สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก ให้ผู้ชมเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากสงครามเวียดนาม, มีนักวิจารณ์พูดว่า “นี่ไม่ใช่หนังต่อต้านสงคราม (anti-Wars) หรือหนังแสดงแสนยานุภาพ (pro-Wars) แต่เป็นหนังที่ทำให้หัวใจของคุณแตกสลาย และไม่ลืมว่าสงครามคืออะไร”
The Man Who Came to Play เป็นเรื่องราวของคนที่ไป Las Vegas เพื่อเล่น Russian roulette แลกชีวิตเพื่อเงิน, โปรดิวเซอร์ Michael Deeley ของ United Artist รู้สึกชื่นชอบเรื่องราวนี้มาก จึงซื้อลิขสิทธิ์การดัดแปลงไว้ แต่รู้สึกว่านิยายยังทำได้ไม่สุด กับเกมนี้ถ้าได้ใส่เรื่องราวที่น่าสนใจเข้าไป จะมีความยิ่งใหญ่กว่านี้ (The trick would be to find a way to turn a very clever piece of writing into a practical, realizable film.), Deeley จึงไปจ้าง Michael Cimino ที่เขาถูกใจจากหนังเรื่อง Thunderbolt and Lightfoot (1974) ให้มาเป็นผู้กำกับ และ Cimino จ้าง Deric Washburn เพื่อดัดแปลงบท, ผมไม่รู้ปัญหาคืออะไรนะครับ เห็นว่า Cimino ไล่ Washburn ออกโดยไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง (ต่างฝ่ายให้การไปคนละแบบ) ซึ่ง Cimino ถือเป็นผู้ปรับปรุงบทสุดท้าย แต่ยังขึ้นชื่อ Washburn ไว้ในฐานะคนเขียนบท, ช่วงงานประกาศรางวัลปลายปี กลับเป็น Washburn ที่ได้รับเครดิตในฐานะนักเขียนบท และเขาก็ขึ้นรับรางวัลเสียด้วยสิ (Cimino พูดเรียกผู้มอบรางวัลแก่ Washburn ว่า In their Nazi wisdom…)
เรื่องราวดำเนินขึ้น Clairton เมืองเล็กๆทางตะวันตกของ Pennsylvania ในช่วงปี 1967, กลุ่มเพื่อนสนิทสามคน สัญชาติ Russian-American ที่ทำงานร่วมกันในโรงหลอมเหล็ก เริ่มต้นเพื่อเตรียมเข้าร่วมกิจกรรม 2 อย่าง คืองานแต่งงานและเตรียมไปรบเวียดนาม
Robert De Niro รับบท Michael “Mike” Vronsky, ที่เป็นคนซีเรียส จริงจังและเป็น(เหมือน)ผู้นำกลุ่ม, เดิมทีบทนี้เป็นของ Roy Scheider แต่เขาถอนตัวออกไปเพราะความเห็นแตกต่าง (ไปเล่น Jaws 2), บทจึงตกเป็นของ De Niro จากการแสดงอันทรงพลังใน The Godfather II และ Taxi Driver, หลังจากอ่านบท De Niro ประทับใจมากๆ จึงตกลงรับเล่นทันที, De Niro ให้สัมภาษณ์ตอนเขาได้ AFI Life Achievement Award เมื่อปี 2003 ว่าฉากที่ Michael ไปเยี่ยม Steve ที่โรงพยาบาล เป็นฉากที่เขาอินและเศร้าที่สุดตั้งแต่ที่เคยเล่นหนังมา
Christopher Walken รับบท Nikanor “Nick” Chevotarevich เพื่อนสนิทของ Mike เป็นคนเงียบๆ สุขุม ชอบครุ่นคิด, บทนี้เคยเกือบตกเป็นของ Jeff Bridges ที่ปฏิเสธไป, จากการแสดงเรื่องนี้ทำให้ Walken ได้ Oscar สาขา Best Supporting Actor, เขาให้สัมภาษณ์ว่าฉากที่น่าจะทำให้ได้ Oscar คือตอนที่อยู่ในโรงพยาบาลแล้วแสดงอาการกลัว (xenophobia) ออกมา, ในฉากสุดท้าย เห็นว่า Walken อดข้าวกินแต่น้ำอยู่หลายวันจนเกิดอาการ withdrawn เพื่อเตรียมตัวเข้าฉาก จะได้สมจริงที่สุด
John Savage รับบท Steven Pushkov ที่กำลังจะเป็นเจ้าบ่าว แต่งงานกับ Julien รับบทโดย Pierre Segui
Meryl Streep รับบท Linda, เป็น De Niro ที่ประทับใจการแสดงละครเวทีของเธอเรื่อง The Cherry Orchard จึงชักชวนมารับบท, ขณะนั้น Streep เพิ่งมีผลงานแค่ Julia (1977) และ mini-series เรื่อง Holocaust เท่านั้น, ซึ่งบทนี้ Cimino แนะนำให้เธอเตรียมตัวด้วยการเขียนบทพูดด้วยตัวเอง ซึ่งผลลัพท์ทำให้เธอได้เข้าชิง Oscar เป็นครั้งแรกในสาขา Best Supporting Actress (แพ้ให้กับ Maggie Smith-California Suite) นี่คือจุดเริ่มต้นของดาราซุปเปอร์สตาร์หญิงที่ได้ชิง Oscar มากครั้งที่สุด
รักสามเส้าในหนังเรื่องนี้ ถือว่ามีรูปแบบงูกินหาง Nick ชอบ Linda ตั้งแต่ก่อนไปสงครามแต่เขาไม่ยอมกลับมาเสียที Mike จึงเหมือนฉวยโอกาส เพราะแอบชอบ Linda อยู่แล้ว, มีนักวิเคราะห์มองว่านี่เป็นหนัง Bromance ด้วย ความสัมพันธ์ระหว่าง Nick กับ Mike มองให้มันมากกว่าเพื่อนก็ได้ (แต่ผมคงไม่พูดประเด็นนี้นะครับ), ถ้าสังเกตหน่อยตอนก่อนที่ Mike จะกลับบ้าน เขามีรูปของ Linda (ที่คล้ายๆกับ Nick) พอกลับมาแล้วเขาตอบรับความต้องการของ Linda แทบจะทันที (ที่ชวนเขาไปนอนด้วยกันแบบตรงๆเลย) ซึ่ง Mike นอนกับเธอแต่ไม่ใช่ในบ้านของตัวเอง (ต้องไปโรงแรมเท่านั้น คงเพราะแอบละอายใจและกลัว Nick จะกลับมาเห็น), ผมมองความต้องการของ Linda คือความเหงา ใครก็ได้ช่วยฉันแบ่งเบาความทุกข์นี้ที, ส่วน Mike ที่มีความต้องการอยู่แล้ว หลังสงครามเขายิ่งต้องการมากขึ้นไปอีก เพื่อลบภาพความทรงจำบางอย่าง, โชคดีที่หนังจบลงด้วยการตายของ Nick ไม่เช่นนั้นคงมีเรื่องวุ่นๆของทั้งสามให้คิดเยอะเลยละ … แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของหนังเลยนะ
John Cazale กับบทบาทสุดท้ายก่อนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง, ใครๆคงจำเขาได้จาก The Godfather, The Conversation และ Dog Day Afternoon, ในระหว่างถ่ายทำนั้นร่างกาย Cazale ก็อ่อนแอลงมาก ทำให้โปรดิวเซอร์อยากไล่เขาออกจากกองถ่าย (โปรดิวเซอร์ไม่รู้ว่า Cazael ป่วย) แต่เป็น Cimino ที่ยืนกราน และ Meryl Streep ที่ขู่จะลาออกด้วยถ้าไล่ Cazael ออกจากกอง (Cazale เป็นคู่หมั้นของ Meryl Streep นะครับ, เหตุที่ทั้งคู่รับเล่นหนังเรื่องนี้ก็เพื่ออยู่ใกล้ชิดกันในช่วงท้ายๆของชีวิต Cazael) หนังถ่ายทำซีนของ Cazael ก่อนเลยเพราะกลัวเขาจะเสียชีวิตก่อนถ่ายเสร็จ De Niro ช่วยออกค่ารักษาพยาบาลให้ Cazael ด้วยนะครับ, น่าเสียดายที่ Cazael เสียชีวิตหลังถ่ายเสร็จไม่นาน ไม่ทันได้ชมหนังเรื่องนี้
หนังเรื่องนี้ถ่ายทำในไทยนะครับ ฉากค่ายกักกัน (ไทรโยค เมืองกาญจนบุรี), ล่องแม่น้ำ(แคว), ไซง่อน (พัฒนพงศ์), สถานทูต (โรงเรียนอัสสัมชัญ), นักแสดงก็เกณฑ์คนไทยไป ใครทันรู้จักโป๋ เป่าปี่ (โผ กู้เกียรติตน) นักแสดงอาวุโสของไทยรุ่นเดียวกับล้อต๊อก ก็ร่วมแสดงด้วยนะครับ (เป็นโปรโมเตอร์ Russian Roulette) ตัวละครเวียดกงทั้งหมดก็คนไทยทั้งนั้น, เพราะตอนนั้นเพิ่งผ่านไปไม่กี่ปีหลังจากอเมริกาพ่ายสงคราม มันเลยเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะเข้าไปถ่ายภาพยนตร์ในเวียดนาม หนังสงครามเวียดนามแทบทุกเรื่องก็จะเลี่ยงไป ไม่ไทย, ลาว, กัมพูชา ก็ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไม่มีเรื่องไหนกล้าไปถ่ายในเวียดนามสักเรื่อง
ถ่ายภาพโดย Vilmos Zsigmond ที่เพิ่งได้ Oscar สาขา Best Cinematography จาก Close Encounters of the Third Kind (1977) นี่คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Zsigmond พลาด Oscar (เพราะจะกลายเป็น 2 ปีติด), หนังเรื่องนี้ถ่ายด้วยฟีล์ม 70mm ในขนาด 2.35:1 แบบเดียวกับ Lawrance of Arabia นะครับ ทำให้หนังมีภาพที่กว้างมากๆ และสุด Epic เลยละ, การถ่ายภาพของหนังให้ความรู้สึก ‘อยากรู้อยากเห็น’ (Curiosity) มีนักวิจารณ์เรียกการค่อยๆซูมของหนังเรื่องนี้ว่า Curious Zooms ซึ่งเราจะเห็นลักษณะนี้ได้ตลอดทั้งเรื่อง, หนังเรื่องแรกที่มีการค่อยๆซูมคือ Cabiria (1915) ผมรู้สึกจุดประสงค์ของหนังทั้งสองเรื่องคล้ายกันด้วย คือนำเสนอภาพที่เป็นธรรมชาติ ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อย่างฉากงานเลี้ยงแต่งงาน ที่ให้ความรู้สึกเหมือนว่า เรากำลังเคลื่อนตัว แทรกเข้าไปอยู่ในงานนั้นจริงๆ
ฉากในโบสถ์งานแต่งงานถ่ายกันที่ St. Theodosius Russian Orthodox Cathedral ตั้งอยู่ที่ Cleveland, Ohio หนึ่งในโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก, การเคลื่อนกล้องในโบสถ์แห่งนี้ ทำให้ผมนึกถึง The Agony and the Ecstasy (1965) ที่มีการแพนภาพจากเพดานลงสู่พื้นฯ ทำจะเห็นภาพวาดในโบสถ์สวยมากๆ, บาทหลวงที่เข้าพิธี เห็นว่าเป็นบาทหลวงจริงๆ (ผู้หญิงที่เข้าพิธีแต่งงานจึงพูดคำว่า I have ไม่ใช่ I do แบบที่ได้ยินตอนเธอซ้อม) วง choir ที่ร้อง Chrous ก็เป็นวงของโบสถ์นะแหละ, สำหรับฉากงานเลี้ยง ตอนแรก Cimino อ้างว่าจะยาวแค่ 21 นาที แต่ในหนังยาว 51 นาที เริ่มตั้งแต่ยังไม่เมา จนเมา (ทั้งนักแสดงและผู้ชม) เหล้า, ไวน์, แชมเปญในหนังของจริงหมด เห็นใครเมาก็เมาจริงๆนะแหละ, ทั้งสองฉากนี้ใช้เวลาถ่ายทำรวม 5 วัน
ฉากล่ากวาง ถ่ายที่ North Cascades National Park, Washington ภูเขาด้านหลังที่เห็นคือ Mount Shuksan.ตอนที่หนังฉายมีคนกรี๊ดลั่นตอนเห็นกวางล้มลง เพราะคิดว่าโดนยิงเสียชีวิต จริงๆคือแค่กระสุนยาสลบ (tranquilizer) ซึ่งกว่ายาจะออกฤทธิ์ก็ครึ่งชั่วโมง ยังดีที่ตากล้องวิ่งไล่จับภาพได้ทัน, ส่วนกวางที่เขาสวยๆ เป็น Elk นะครับ ไม่ใช่ Deer ซึ่งมันก็เล่นตัวมาก ไม่ยอมหันหน้าเข้ากล้องง่ายๆ จนมีคนหาวดังๆ มันเลยหันมา
ทุนสร้างเริ่มต้นของหนังคือ $8.5 ล้านเหรียญ แต่ถ่ายหนังเสร็จก็เกินทุนไปถึง $13 ล้านเหรียญแล้ว ซึ่งการตัดต่อใส่เสียงก็ยังเสียเวลาไปอีกหลายเดือน รวมทุนสร้างและประชาสัมพันธ์ $15 ล้านเหรียญ, ตัดต่อโดย Peter Zinner ด้วยฟุตเทจความยาวกว่า 600,000 ฟุต เวอร์ชั่นแรกตัดแล้วเหลือความยาว 3 ชั่วโมงครึ่ง พอนำไปฉายให้ผู้บริการสตูดิโอดู พวกเขาช็อค! ทั้งความยาวที่มากเกินไป และตอนจบกับเพลง God Bless American ที่ดูเหมือนเป็นหนัง anti-American, แอบสั่งให้ Zinner ไปตัดต่อหนังใหม่ ให้สั้นลง ซึ่งพอ Cimino รู้เข้าจึงไล่เขาออก และตัดบางส่วนออกนิดหน่อยจนเหลือแค่ 3 ชั่วโมง 3 นาที, ในเครดิตการตัดต่อเป็นของ Zinner นะครับ และเขาก็ขึ้นรับ Oscar สาขา Best Edited ด้วย (แบบหน้าด้านๆ) Zinner ให้สัมภาษณ์ว่า ‘เขากับ Cimino มีความเห็นแตกต่างกันนิดหน่อย แต่สุดท้ายเราก็จูบกันคืนดีหลังได้รางวัล’, ซึ่ง Cimino โต้กลับว่า ‘Zinner มันตอแหล (moron) ฉันต่างหากที่ควรได้รางวัลตัดต่อหนัง’
กับนักดูหนังสมัยใหม่ ผมเชื่อว่าหลายคนคงดู The Deer Hunter ไม่ผ่านฉากงานแต่งงานแน่ๆ เพราะมันยาวแบบเวิ่นเว้อมากๆ ไม่รู้เมื่อไหร่จะจบ แต่นี่คือสาระสำคัญของหนังเลยนะครับ ถ้ากดข้ามไปมันจะได้อรรถรสอะไร, ตอนผมดูครั้งแรก ก็ไม่รู้ทนไปได้ยังไงเหมือนกัน แต่มีอะไรบางอย่างที่ท้าทาย ดลใจให้ดูต่อไป, มาคิดดูเหตุที่ทำให้ผมตอนนั้นทนดูอยู่ได้ คงเพราะงานถ่ายภาพที่ให้ความรู้สึกเหมือนดึงดูดผมให้แทรกเข้าไปอยู่ในงานเลี้ยงนั้น, หลังจากจบงานเลี้ยงแต่งงาน ก็ถึงฉากไปล่ากวาง… สั้นมาก! ฉากต่อไปเข้าสู่สงครามเวียดนาม เท่านั้นแหละครับผมเริ่มนั่งไม่ติดเก้าอี้แล้ว! พอถึงเกม Russian Roulette เริ่มหายใจไม่ออก มันแน่นอกมาก… กระสุน 3 นัด … ตอนที่ Michael หัวเราะกับเวียดกง ผมก็หัวเราะตาม พอเวียดกงตายหมด ตบโต๊ะ! นี่แหละครับช่วงเวลาที่รอคอย ผมรู้ทันทีเลย นี่แหละหนังเรื่องโปรดที่ตามหามานาน
ถ้าคุณสามารถผ่าน 1 ชั่วโมงแรกของหนังไปได้ ก็จะสามารถดูต่อไปจนจบได้โดยปริยาย แต่จะชอบไม่ชอบคงอีกเรื่อง เพราะคงมีคนที่รับความรุนแรงของหนังไม่ได้อยู่เยอะ, การล่ากวางในหนังเรื่องนี้ มันก็เปรียบได้กับ Russian Roulette ตรงๆเลยละ ตรงที่กระสุนนัดที่สำคัญที่สุดมีเพียงนัดเดียว ถ้าคุณยิงกวางไม่ตาย ก็ล้มเลิกความตั้งใจได้เลยไม่ต้องเปลืองกระสุนอีก, กวางในหนัง จะมี close-up เห็นดวงตาของมันด้วยนะครับ แววตาของมันอาจไม่ได้ใสซื่อบริสุทธิ์เหมือนกระต่าย (แบบใน The Rules of the Game) แต่กวางก็ไม่เคยไปทำความเดือนร้อนให้ใคร มนุษย์ล่ากวางส่วนใหญ่จะเพื่อกีฬา ความสนุกสนานเสียมากกว่ากินเป็นอาหาร (เนื้อกวางกินได้นะครับ, เขากวางก็เอาไปทำยาได้ ไม่ใช่แค่ประดับตกแต่งบ้านอย่างเดียว)
หนังความยาว 3 ชั่วโมง แบ่งได้องก์ละชั่วโมง มี 3 องก์, ก่อนไปสงคราม, ช่วงสงคราม และหลังสงคราม, ช่วงหลังสงครามอาจจะดูเอื่อยๆสักหน่อย แต่นั่นแสดงถึงความรู้สึกของพระเอกด้วยนะครับ, กลับจากสงคราม แม้ทุกสิ่งอย่างจะยังเหมือนๆเดิม แต่กับเขาไม่มีอะไรที่เหมือนเดิม คล้ายมีบางสิ่งบางอย่างที่ทิ้งไว้ที่เวียดนาม กว่าจะพบว่าคืออะไรก็กินไปอีกครึ่งชั่วโมง Nick ยังคงอยู่ที่นั่น, ว่าไป Nick ก็เป็นมากกว่าแค่เพื่อนของ Mike นะครับ เป็นคนที่ระวังข้างหลังให้ตลอด อย่างที่ Mike เคยพูดว่า เวลาไปล่ากวาง ถ้ามี Nick อยู่ข้างหลังเขาก็ไม่กลัวอะไร ถ้าไม่มีขอไปคนเดียวดีกว่า (นี่คือหนึ่งในประเด็นที่มีคนวิเคราะห์มองว่าทั้งคู่เป็น Bromance), Mike จึงขาด Nick ไม่ได้ และการตายของ Nick เปรียบเหมือนครึ่งหนึ่งของ Mike ได้ตายจากไป
หนังเรื่องนี้เป็นหนังเรื่องแรกของ Cimino ที่ใช้ระบบเสียง Dolby ‘สิ่งที่ Dolby ทำ คือสร้างความเข้มข้นของเสียง ให้ผู้ชมได้สัมผัสที่สมจริง มีมิติและจับต้องได้’, หนังใช้เวลา 5-6 เดือนสำหรับการทำเสียง ซึ่งเราจะได้ยินเสียงแทบทุกสิ่งที่ปรากฏขึ้นในหนัง แม้แต่เสียงสายน้ำไหล, แน่นอนว่าสาขา Mixed Sound ต้องได้ Oscar แน่นอน
เพลงประกอบโดย Stanley Myers, Theme หลักของหนังชื่อเพลง Cavatina (หรือ He Was Beautiful) บรรเลงกีตาร์โดย John Williams, แม้ว่าเพลงนี้จะเป็นที่รู้จักกันในฐานะ Theme หลักของหนัง The Deer Hunter แต่มีการค้นพบว่าต้นกำเนิดจริงๆมาจากเพลงประกอบหนังเรื่อง The Walking Stick (1970) ซึ่งพอผู้แต่งตัวจริงรู้เข้า ก็ทำให้สตูดิโอต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ปิดปากไป
Can’t Take My Eyes Off You เป็นเพลงโคตรฮิตของ Frankie Valli เมื่อปี 1967 ผมได้ยินครั้งแรกก็จากหนังเรื่องนี้แหละ ตอนแรกก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเท่าไหร่ หลายปีผ่านไปได้ฟังใน Youtube แล้วรู้สึกว่าเพลงเพราะมากๆ คุ้นหูสุดๆ (จำไม่ได้ว่าประกอบหนังเรื่องนี้) พอรู้ว่าเป็นเพลงประกอบในหนังเรื่องนี้ รีบกลับไปดูรอบ 2 ทันที ขณะที่ทั้งกลุ่มขี้เมาร้องขึ้นในบาร์ ผมขนลุกซู่เลย จังหวะ อารมณ์ ความรู้สึกที่ใช่เลย โดนใจสุดๆ เพลงนี้กลายเป็นเพลงโปรดอันดับ 1 ของผมตอนนั้นทันที (คุ้นๆว่าคงกำลังอินเลิฟอยู่ด้วยกระมัง), ในหนัง Cimino ให้นักแสดงร้องคลอ (แบบ Karaoke) พร้อมกับเพลงที่เปิดจากวิทยุเทป และบันทึกเสียงตรงนั้นเลย ไม่ได้ใช้ร้องสดหรือพากย์เสียงทีหลัง ผลลัพท์ช่วยเพิ่มความสมจริง และถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้ยอดเยี่ยมมากๆ
ในปี 1967 นี่เป็นเพลงฮิตขึ้นสูงสุดถึงอันดับ 2 ในชาร์ท Billboard Hot 100 เป็นรองเพียง Windy ของ The Association, ถูกเขียนขึ้นโดย Bob Crewe กับ Bob Gaudio สมาชิกร่วมวงของ Valli ประกอบในอัลบัม Four Seasons, Can’t Take My Eyes Off You ถือเป็นเพลงระดับตำนานได้รับ gold record (ยอดขายเกิน 500,000 แผ่น) ได้รับการดัดแปลง Cover หลายเวอร์ชั่นมาก สำหรับภาพยนตร์ นอกจาก The Deer Hunter ที่ดังๆแล้ว ยังมี 10 Things I Hate About You ร้องโดย Heath Ledger
Russian Roulette ชื่อเกมนี้บ่งบอกถึงต้นกำเนิดว่ามาจาก Russia ซึ่งว่ากันว่าครั้งแรกสุดน่าจะมาจากนิยายเรื่อง The Fatalist (1840) เขียนโดย Mikhail Lermontov ที่ตัวประกอบคนหนึ่งยกปืนที่ไม่รู้ว่ามีกระสุนอยู่หรือเปล่า จอหัวตัวเองแล้วยิง ซึ่งปรากฏว่ารอดไป, ในนิยายจะยังไม่มีคำเรียกชื่อเกมนี้ปรากฎขึ้นนะครับ ซึ่ง Russian Roulette ถูกเรียกครั้งแรกจากเรื่องสั้นของ George Surdez เขียนในปี 1937 พร้อมอธิบายวิธีการเล่นด้วยปืนลูกโม่ เอากระสุนออก 5 นัด และผลัดกันยิงจนกว่าจะมีคนตาย, ตอนที่ผมดู The Deer Hunter ครั้งแรก ก็ไม่ได้รู้จักเกมนี้มาก่อน แต่เห็นแล้วรู้สึกว่ามันเหมือนการดวลดาบ, ดวลปืน ที่ผู้แพ้ต้องตาย เพียงแต่ไม่ใช่ใช้ฝีมือตนเพื่อฆ่าคู่ต่อสู้ แต่เป็นการวัดดวงกับตัวเอง, ใครๆคงมองว่านี่เป็นเกมที่ต้องอาศัยจิตวิทยา จิตใจที่เข้มแข็งและอาศัยดวงช่วย ผมว่าไม่ใช่เลยนะครับ นี่เป็นเกมของคนบ้า คนจิตไม่ปกติ ถ้าไม่ได้ถูกกดดันจากแรงขับเคลื่อนภายนอก คนที่จะเล่นเกมนี้ได้คงต้องหมดอาลัยตายอยากในชีวิตมาก แบบเดียวกับ Nick ที่กลายเป็นคนชืดชา สูญเสียความทรงจำ เป็นเหมือนหุ่นยนต์ที่มีร่างกายแต่ไม่มีจิตใจ สงครามมันกัดกร่อนจิตวิญญาณเขาไปหมดแล้ว จึงสามารถเล่นได้โดยไม่กลัวตาย
ทำไม Mike ถึงไม่ได้รับผลกระทบ, ในหนัง 3 ตัวละครที่ไปสงครามเวียดนามต่างได้รับผลลัพท์ที่ต่างออกไป, คนหนึ่งพิการ (ทางกาย) อีกคนจิตไม่ปกติ (ทางใจ) ส่วน Mike ที่ดูภายนอกเขาปกติที่สุด ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่ข้างในจิตใจเขาก็ปรวนแปรไม่แพ้กัน (กายและใจ), Mike กลายเป็นคนที่จริงจังขึ้นกว่าเดิม มองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น มีความเห็นแก่ตัวและเริ่มใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกันเขาเริ่มเข้าใจคุณค่าของชีวิต ตอนที่เขาออกไปล่ากวางอีกครั้งในองก์สาม ผมคิดว่าเหตุที่เขาไม่ยิง เพราะเห็นกวางแล้วนึกถึงตัวเอง One Shot ที่ตัดสินชะตากรรมชีวิต กับคนที่ไม่เคยผ่านเหตุการณ์แบบเขามาคงคิดไม่ได้ เราจึงเห็นขณะยิง เขาเบี่ยงปืนหนีและปล่อยกวางหนีไป, ตอนที่ Stan เอาปืนมาเล่น Mike เห็นเข้า ก็ขึ้นเสียงต่อว่าอย่างรุนแรงประมาณว่า ‘นี่ไม่ใช่ของเล่น!’ (You wanna play games? All right, I’ll play your fuckin’ games!) เอากระสุนออกเหลือนัดหนึ่งจ่อหัว Stan นี่แสดงว่า Mike ได้รับผลกระทบที่แตกต่างจาก Nick และ Stan คือทั้งกายและใจ
คำพูดสุดท้ายของ Nick เขานึกถึง Mike จริงหรือ? น่าจะใช่นะครับ เพราะคนที่พูด One Shot! มีคนเดียวเท่านั้นในหนัง ตอนครั้งแรก Nick พูดว่าตัวเองยังไม่คิดถึง One Shot! เท่าไหร่ แต่ตอนจบนี้เขาน่าจะเข้าใจแล้ว ว่ามันสำคัญจริงๆ ซึ่งขณะนั้น Nick น่าจะรู้สึกตัว และรู้ว่านี่คือจุดจบของเขา ยิ้มให้กับ Mike มันคือยิ้มบอกลา
God Bless America เพลงในตอนจบ แต่งโดย Irving Berlin ตั้งแต่ปี 1918, นี่เป็นเพลงรักชาติที่ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากเมื่อถูกใส่ในตอนจบของหนังเรื่องนี้ เพราะมันสามารถตีความได้หลายอย่างมากๆ ทั้งความเศร้าสลด (tragedy), ความหวัง (hopeful), เสียดสี, ต่อต้าน ฯ ถึงขนาดมีคนมองว่าหนังใส่มาเพื่อต่อต้านอเมริกา ที่ส่งคนไปตายในสงครามเวียดนาม, ผมแนะนำให้ลองสังเกตเนื้อเพลงดูเองนะครับ จะตีความหรือรู้สึกยังไง มันแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน
หลังจากได้ดูหนังแนวสงครามมากหลายเรื่อง ก็ต้องบอกว่า The Deer Hunter อาจไม่ใช่หนังแนวนี้ที่ดีที่สุด (อย่างน้อยมันก็สู้ Apocalypse Now กับ Come and See ไม่ได้) แต่ถ้าพูดถึงแนวคิด ความรู้สึกและ impact ของหนัง ต้องบอกว่า The Deer Hunter ที่ดูมาหลายสิบรอบแล้ว ทำผมสะเทือนรุนแรงกว่า Come and See ที่เพิ่งได้ดูเมื่อไม่นานนี้เสียอีกนะครับ เพราะหนังเรื่องนี้ ‘คุณเป็นผู้เลือก’ ไม่ใช่ผู้ถูกเลือกหรือโชคชะตา, การตายใน The Deer Hunter คือการอธิบายแนวคิด การตายด้วยน้ำมือของตนเอง ไม่ได้ถูกบังคับจากใคร ผมขอใช้คำพูดว่า ‘การไปทำสงคราม คือการเลือกไปฆ่าตัวตาย‘ ไม่ได้จากศัตรูแต่เป็นจากการตัดสินใจของคุณเอง!
หนังทำเงิน $49 ล้านเหรียญ เยอะที่สุดแล้วในบรรดาหนังของ Michael Cimino, เข้าชิง 9 สาขา Oscar ได้มา 5 ประกอบด้วย Best Picture, Best Director, Best Supporting Actor (Christopher Walken), Best Edited และ Best Sound Mixing
ปัจจุบันแม้ The Deer Hunter จะไม่ใช่หนังเรื่องโปรดอันดับ 1 ของผมแล้ว (อันดับ 1 ปัจจุบันคือ Seven Samurai) แต่ก็ยังถือว่าเป็นหนังที่มี Impact ต่อผมมากๆในสมัยก่อน คือมันโคตรเจ๋งอ่ะ (ตอนนั้นอธิบายไม่ได้ว่าทำไมถึงโคตรเจ๋ง) กลับมาดูรอบนี้ได้อารมณ์ Nostalgia สุดๆ และทำให้เข้าใจเหตุผล ที่ตัวเองเคยหลงรักหนังเรื่องนี้ด้วย ดังที่อธิบายไปนะครับ
ถ้าคิดว่าตัวเองโตพอ และกล้าดูหนังที่จะบดขยี้หัวใจของคุณอย่างรุนแรง หาหนังเรื่องนี้มาดู, แนะนำกับคนชอบแนวสงคราม โดยเฉพาะสงครามเวียดนาม, หรือชอบนักแสดงอย่าง Robert De Niro ในช่วงท็อปฟอร์ม, Christopher Walken ที่เท่ห์มากๆและ Meryl Streep ที่สวยสาวสุดๆ, ภาพสวย ตัดต่อเด่น เพลงเพราะ และโคตร Epic
จัดเรต 18+ กับความรุนแรง
ข้อมูลแน่นมากๆค่ะ หนังเรื่องโปรดเลย ดีใจที่มีคนเขียน ขอบคุณค่า
นำเสนอได้ยอดเยี่ยม ผมอ่านไม่ข้ามเลย ขอบคุณครับ
ผมดูหนังเรื่องนี้ประมาณปี 2521-2522 ที่ ปัตตานี…อายุ 30-31 ปี