The Devil and Daniel Webster

The Devil and Daniel Webster (1941) hollywood : William Dieterle ♥♥♥♡

ดัดแปลงจากตำนานเรื่องเล่าโศกนาฎกรรมของเยอรมัน เฟาสต์ (Faust) เปลี่ยนพื้นหลังเป็น New Hampshire ช่วงทศวรรษ 1840s เมื่อชายคนหนึ่งเซ็นสัญญาขายวิญญาณตนเองให้กับปีศาจ ค่อยๆลุ่มหลงใหลในลาภยศ เงินทอง ผู้หญิง จนทำให้ภรรยาและแม่ที่อยู่เบื้องหลังต้องพลอยตกระกำทุกข์ทรมาน ปกติแล้วเมื่อเริ่มรู้สำนึกก็มักตอนสายไป แต่เรื่องนี้โชคดีรู้จักทนาย Daniel Webster ท้าสู้กับปีศาจบนชั้นศาล อัญเชิญผู้พิพากษา ลูกขุนจากขุมนรก เพื่อตัดสินว่าชายผู้นี้มีความผิดจริงหรือไม่

กาลเวลาอาจทำให้ The Devil and Daniel Webster ดูด้อยค่าความน่าสนใจลงไปมาก แต่นี่คือภาพยนตร์เรื่องแรกๆภายหลังการมาถึงของ Citizen Kane (1941) เห็นว่าเริ่มต้นโปรดักชั่นเริ่มต้นหลังออกฉายประมาณ 1 เดือน (สร้างโดยสตูดิโอ RKO เดียวกัน) โดยไม่รู้ตัวผู้กำกับ William Dieterle รับอิทธิพลมาอย่างเยอะ ทั้งออกแบบฉาก, การถ่ายภาพ แสง-เงา, Special Effect, ตัดต่อโดย Robert Wise [ว่าที่ผู้กำกับ West Side Story (1961), The Sound of Music (1965)] และยังเพลงประกอบของ Bernard Herrmann ชิงตัดหน้าคว้า Oscar: Best Original Score ไปอย่างหน้าตาเฉย [คือ Herrmann ก็ทำเพลงให้ Citizen Kane เข้าชิงเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องนี้ที่คว้ารางวัล]

ใครที่เคยอ่าน Faust หรือรับชมหนังเงียบ Masterpiece เรื่อง Faust (1926) ของผู้กำกับ F. W. Murnau นำแสดงโดย Gösta Ekman และ Emil Jannings [ผู้กำกับ Wilhelm Dieterle รับบทเล็กๆในหนังเรื่องนี้ด้วยนะ] ย่อมทราบถึงเนื้อสาระที่เกี่ยวกับการขายวิญญาณให้กับปีศาจ แต่สิ่งที่เรื่องสั้น The Devil and Daniel Webster ของ Stephen Vincent Benét (1898 – 1943) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน สร้างสรรค์ให้เกิดความแตกต่างคือองก์สุดท้าย อัญเชิญวิญญาณอาชญากรชื่อดังทั้งหลายของประเทศสหรัฐอเมริกา (Jury from Hell) มาเป็นผู้พิพากษา ลูกขุน เพื่อตัดสินคดีความผิดของชายชื่อ Jabez Stone และสิ่งไม่น่าเชื่อก็บังเกิดขึ้นด้วยลีลาสุนทรพจน์ของทนายความ Daniel Webster

ให้ตายเถอะ! ชัยชนะของ Webster & Stone ทำให้ผม Stone Cold สันหลังวาบขึ้นมาทันทีเลยละ มุมหนึ่งมองเห็นเป็นความ Patriotism ของประเทศอเมริกา ช่วงนั้นตรงกับยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่สองพอดีด้วย, และแม้ผู้ชมอาจรู้สึกอุ่นชื้นใจที่พระเอกรอดตัว แต่ครุ่นคิดให้ดีๆนะครับ คนแบบนี้สมควรได้รับโอกาสสองจริงๆหรือเปล่า!

William Dieterle (1893 – 1972) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติ German เกิดที่ Ludwigshafen, German Empire ครอบครัวเชื้อสาย Jews ฐานะค่อนข้างยากจน ด้วยความสนใจในละครเวทีตั้งแต่เด็ก เติบโตขึ้นเข้าร่วมคณะทัวร์เป็นนักแสดงฝึกหัดจนเข้าตา Max Reinhardt กลายเป็นนักแสดงนำ ต่อด้วยภาพยนตร์ที่ก็ได้รับความนิยมพอสมควรในยุคหนังเงียบ อาทิ Der Mensch am Wege (1923), Das Wachsfigurenkabinett (1924), Faust (1926), Sex in Chains (1928) ฯ เมื่อสถานการณ์การเมืองของ German มีแนวโน้มในทางแย่ลง ตัดสินใจมุ่งสู่ Hollywood กำกับ The Last Flight (1931), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Story of Louis Pasteur (1936), The Life of Emile Zola (1937) ** คว้า Oscar: Best Picture, The Hunchback of Notre Dame (1939), The Devil and Daniel Webster (1941), Kismet (1944), Portrait of Jennie (1948) ฯ

พื้นหลัง 1840 ที่ New Hampshire, Jabez Stone (รับบทโดย James Craig) ชาวนาที่แม้จะยากจนแต่มีจิตใจดีงาม วันหนึ่งพบเจอแต่เหตุการณ์ร้ายๆจนสถบขึ้นมา ‘อยากขายวิญญาณให้ปีศาจแลกกับเงินสองเซนต์’ ทันใดนั้นมีชายคนหนึ่งเรียกตัวเองว่า Mr. Scratch (รับบทโดย Walter Huston) ปรากฎตัวขึ้นมา ให้เซ็นสัญญาแลกเปลี่ยนวิญญาณของเขา 7 ปี กับความร่ำรวยจาก Hessian Gold ด้วยความโลภละโมบหน้ามืดตามัว หลับหูหลับตาเซ็นสัญญานั้นโดยทันที

เมื่อเวลาผ่านไป ชีวิตของ Jabez Stone ประสบความสำเร็จร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ สร้างบ้านหลังใหญ่โต ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยมหาศาล แต่กลับทอดทิ้งภรรยาและแม่ให้อาศัยอยู่กระต๊อบหลังเก่าๆไม่เห็นหัว จนกระทั่งวันใกล้ครบกำหนดสัญญากับปีศาจจึงเริ่มระลึกได้ถึงความโง่เขลาของตนเอง แม้จะถูกท้าทายถ้าอยากรอดตายให้เอาวิญญาณของลูกมาแลกแต่ก็ไม่ยินยอม ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนเก่าแก่ ทนายความชื่อดัง Daniel Webster (รับบท Edward Arnold) ให้วาทะลีลาต่อกรกับ Mr. Scratch จนสามารถโกงความตายได้สำเร็จ

James Craig ชื่อเดิม James Henry Meador (1912 – 1985) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Nashville, Tennessee หลังเรียนจบเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพ ต่อมากลายเป็นนักทวงหนี้ ระหว่างผ่านมายัง Hollywood ตัดสินใจแน่วแน่จะเป็นนักแสดง กลับบ้านเกิดทดลองเป็นนักแสดงตามโรงละครอยู่ปีกว่าๆ ทดสอบหน้ากล้องกับ Paramount Picture ได้เซ็นสัญญาเป็นนักแสดงหนังเกรด B ในช่วงชีวิตก็ย่ายค่ายไปเรื่อยๆ ได้รับความจดจำสูงสุดตอนอยู่กับ RKO คือ Kitty Foyle (1940) และ The Devil and Daniel Webster (1941)

รับบท Jabez Stone ชายหนุ่มผู้มีจิตใจดีงาม แต่เพราะโชคชะตานำมาทำให้คิดสั้นเซ็นสัญญาเลือดกับปีศาจ ลุ่มหลงใหลในลาภยศ เงินทอง ผู้หญิง ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อความสุขของตนเอง จนในที่สุดก็เริ่มระลึกได้ว่ามันไม่มีประโยชน์อะไร เพราะทำให้ภรรยาและแม่จมอยู่ในความทุกข์ทรมาน

Craig ไม่ใช่นักแสดงที่ฝีมือโดดเด่นประการใด ดูมากล้น ขาดๆเกินๆ ในแทบทุกฉาก ไร้ซึ่งมิติทางอารมณ์อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้กระมังเลยทำให้ผู้ชมรู้สึกสงสารเห็นใจ เพราะดูออกเลยว่าเป็นคนทึ่มทื่อโง่งมตรงไปตรงมา แต่ขณะเดียวกันมันก็ช่างน่าหงุดหงิดรำคาญใจ เป็นส่วนหยาบกระด้างเกินไปของหนัง

เกร็ด: เดิมนั้นบทบาทนี้ ผู้กำกับคัดเลือก Thomas Mitchell ซึ่งก็ได้ถ่ายทำไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่เพราะได้รับอุบัติเหตุตกหลังม้า กระดูกศีรษะร้าว เป็นเหตุให้ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 17 สัปดาห์ ทุกอย่างเลยต้องเริ่มต้นใหม่ ส้มหล่นใส่ James Craigh ราวกับได้เซ็นสัญญากับปีศาจมาจริงๆ

Edward Arnold ชื่อเกิด Gunther Edward Arnold Schneider (1890 – 1956) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City ครอบครัวอพยพจากเยอรมัน ตัวเขามีความสนใจการแสดงตั้งแต่เด็ก อายุ 12 ได้แสดงละครเวที The Merchant of Venice ไม่นานนักกลายเป็นมืออาชีพ ต่อมาสังกัด Essanay Studios ตามด้วย World Studios มีผลงานหนังเงียบขนาดสั้นหลายเรื่อง แต่ก็ไม่ค่อยประทับใจในสื่อประเภทนี้นักเลยหวนกลับไปแสดงละครเวที จนกระทั่งการมาถึงของยุคหนังพูดจึงตัดสินใจหวนกลับมา Okay America! (1932), กลายเป็นดาวดารากับ Diamond Jim (1935), โด่งดังในฐานะตัวประกอบสมทบชั้นเลิศ The Toast of New York (1937), You Can’t Take It with You (1938), Mr. Smith Goes to Washington (1939), Meet John Doe (1941), The Devil and Daniel Webster (1941), Kismet (1944), Ziegfeld Follies (1945) ฯ

รับบท Daniel Webster ทนายความร่างใหญ่ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ได้รับความคาดหมายว่ามีโอกาสกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนถัดไป (แต่ชีวิตจริงก็ไม่ได้เป็นนะครับ สูงสุดแค่เลขานุการรัฐ) ครั้งหนึ่งเดินทางผ่านมาหาเสียงยัง New Hampshire พานพบเจอรู้จักกับ Jabez Stone ยกย่องในฝีมือโยนเกือกม้าเก่งกาจมาก แถมคำพูดกล่าวสุนทรพจน์แทนตนเองได้อย่างน่าประทับใจ ช่วงระหว่าง 7 ปีนั้น เขียนจดหมายพูดคุยกันเรื่อยๆทั้งยังเป็นพ่อทูนหัวให้กับลูกชาย ซึ่งเมื่อถึงวันครบกำหนด Stone กำลังจะถูกปีศาจดึงวิญญาณออกจากร่าง อาสาสมัครให้ความช่วยเหลือ นำเอาวิญญาณของตนเองเข้าท้าทายแลกเปลี่ยน แลกกับความยุติธรรมที่เหนือกาลเวลา

ภาพลักษณ์ การแสดงของ Edward Arnold ถือเป็นยอดฝีมือตัวประกอบโดยแท้ เรือนร่างใหญ่เทอะทะแต่กลับมีความหนักแน่นมั่นคง แค่ท่าเช็ดเหงื่อก็ได้ใจไปเลย ซึ่งช่วงขณะกล่าวสุนทรพจน์ ผสมวงกับเทคนิค Continuity Editing ทำให้เกิดความต่อเนื่อง ลื่นไหล และทรงพลังในคำพูดอย่างยิ่ง

Walter Thomas Huston (1883 – 1950) นักร้อง/นักแสดงสัญชาติ Canadian พ่อของผู้กำกับ Johm Huston เกิดที่ Toronto, Ontario สืบเชื้อสาย Scottish & Irish ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านการแสดง เข้าเรียน Shaw School of Acting สู่วงการละครเวทีเมื่อปี 1902 ไต่เต้าจนกลายเป็นนักแสดง Broadway มุ่งสู่ Hollywood ในยุค Talkie รับบทตัวร้ายประกบ Gary Cooper เรื่อง The Virginian (1929), ผลงานเด่นๆ อาทิ Abraham Lincoln (1930), Rain (1932), Dodsworth (1936), The Devil and Daniel Webster (1941), Yankee Doodle Dandy (1942), แต่ก็เทียบไม่ได้เมื่อตอนลูกชายก้าวขึ้นมากำกับภาพยนตร์ แล้วตัวเองรับบทสมทบ The Maltese Falcon (1941), The Treasure of the Sierra Madre (1948) ** คว้า Oscar: Best Supporting Actor

รับบทปีศาจ ใช้ชื่อว่า Mr. Scratch ชายผู้มีความกะล่อนปลิ้นปล้อนหลอกลวง มาพร้อมเงามืดที่พยายามครอบงำจิตใจผู้คน สนสิ่งเฉพาะหน้าที่มนุษย์โหยหาเท่านัั้นคือเงิินทอง แลกกับจิตวิญญาณหลังจาก 7 ปี จะกลายเป็นคอลเลคชั่นของสะสมส่วนตัว และด้วยนิสัยชื่นชอบการพนันขันต่อ รับคำท้าทายจาก Daniel Webster เพราะวิญญาณของชายคนนี้ โปรดปรานอยากจะได้มาครอบครองเสียเหลือเกิน!

ผมละโคตรประทับใจในการเล่นกับรอยหยักบนใบหน้า สายตากลิ้งกลอกเกลือกไปมา ยิ้มกว้างแต่เคลือบยาพิษของ Huston เป็นอย่างยิ่ง ประมาณว่าสามารถควบคุมกล้ามเนื้อทุกสัดส่วนได้อย่างสมบูรณ์แบบ และลีลาการพูดของปู่แก ช่วงมีความเย้ายียวนกวนประสาทเสียเหลือเกิน นี่ไม่แปลกเลยนะถ้าลูกชาย John Huston จะมีลักษณะไม่แตกต่างกันมาก (พ่อ-ลูกคู่นี้ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นเลยสักนัด!)

Huston ถือเป็นหนึ่งในโคตรนักแสดงยอดฝีมือแห่งยุคคลาสสิก เข้าชิง Oscar ถึงสี่ครั้ง The Devil and Daniel Webster เป็นหนึ่งในสองของสาขา Best Actor น่าจะเป็นตัวเต็งเสียด้วยนะ แต่พ่ายให้กับ Gary Cooper จากเรื่อง Sergeant York (1941) และจริงๆก็ยังมี Orson Welles จาก Citizen Kane (1941) อีกคนที่ก็ไม่ธรรมดาของปีนั้น

แซว: GIF ช็อตจบของหนังนี้ แม้จะสื่อถึงเรื่องราวของหนัง มันอาจเป็นคุณก็ได้ที่ขายวิญญาณให้กับปีศาจ แต่ด้วยภาพลักษณ์ของ Huston และท่าทางการชี้นิ้ว มันทำให้ผมระลึกถึงภาพ Uncle Sam ภาพโปสเตอร์ที่ชักชวนให้ประชาชนมาสมัครทหาร (เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง)

ถ่ายภาพโดย Joseph H. August ตากล้องยอดฝีมือตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบ ผลงานเด่น อาทิ Two Arabian Knights (1928), Gunga Din (1939), The Hunchback of Notre Dame (1939), The Devil and Daniel Webster (1941), Portrait of Jennie (1948) ฯ

เพราะการมาถึงของ Citizen Kane (1941) สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้รับอิทธิพลมาเต็มๆ คือการถ่ายภาพ มุมกล้อง แสง-เงา ที่สะท้อน ‘จิตวิทยา’ อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมา ซึ่งก็ผสมผสานกับการออกแบบฉาก German Expressionism (ผู้กำกับ Dieterle เป็นชาว German เคยเป็นนักแสดงในกองถ่ายของ F. W. Murnau) ทั้งหมดถ่ายทำในสตูดิโอ ท้องฟ้า พระอาทิตย์ ดวงจันทร์ ล้วนเกิดจากภาพวาดพื้นหลัง Matte Painting และตบแต่งด้วย Special Effect ให้ดูมีความสมจริงขึ้น

การจัดแสง-เงา ต้องชมเลยว่ามีความโดดเด่นอย่างยิ่ง อย่างช็อตนี้ก็รับอิทธิพลจาก Nosferatu (1922) เงาด้านหลังคือปีศาจที่พยายามครอบงำ Daniel Webster ให้ลุ่มหลงใหล ปรารถนาแลกขายวิญญาณให้กับตนเอง แต่ก็ถูกขับไล่ปัดเป่า เพราะคนที่มีสติปัญญาครุ่นคิดได้ ย่อมไม่มัวเมาต่อสิ่งที่เป็นกิเลสมายา

Simone Simon (1910 – 2005) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส ถึงเธอไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังสักเท่าไหร่ แต่ช็อตนี้ขณะปรากฎกายขึ้นครั้งแรกในบท Belle แสงไฟสาดส่องจากด้านหลัง มีความขมุกขมัวเพราะควัน ให้สัมผัสอันชั่วร้าย เหมือนการปรากฎตัวของปีศาจแห่งราคะ ชักจูงจมูก Jabez Stone ให้ลุ่มหลงใหลในนารี ทอดทิ้งภรรยาที่เคยอยู่ร่วมสุขี ทิ้งขว้างไม่ใยดีไว้เบื้องหลังกระต๊อบหลัเก่า

ฉากนี้น่าพิศวงทีเดียวว่าถ่ายทำอย่างไร? Jabez Stone เขวี้ยงขวานเข้าหา Mr. Scratch แล้วอยู่ดีๆมันก็ลอยข้างเติ่งกลางอากาศ จากนั้นไฟลุกไหม้กลายเป็นจุน, คิดว่าน่าจะเป็นการใช้ Rear Projection เข้าช่วย ครั้งแรกถ่ายทำขณะ Stone เขวี้ยงขว้างขวาน นำไปผ่านกระบวนการใส่ Special Effect แล้วฉายขึ้นฉากขนาดใหญ่ ถ่ายทำอีกรอบโดยมี Mr. Scratch นั้งกินแครอ และชี้นิ้วเสกให้ขวานนั้นลุกไหม้กลายเป็นไฟ

การพิจารณาคดีในโรงนา เพราะเป็นการอัญเชิญผู้พิพากษา ลูกขุน ขึ้นมาจากใต้ถุนยมโลก จึงมีการใช้ Visual Effect น่าจะเป็นการซ้อนภาพ และสาดส่องแสงให้มีความเบลอๆ ดูราวกับวิญญาณที่ได้สูญสิ้นชีวิตไปแล้ว

เมื่อพูดถึงลูกขุนและผู้พิพากษา โคตรของโคตรอาชญากรแห่งสหรัฐอเมริกา (American All)
– Captain Kidd โจรสลัดฆ่าคนเพื่อทอง
– Simon Grity เผาคนตายเพื่อทอง เข้าข้างอินเดียแดงในช่วงสงครามกลางเมือง
– Governor Sir Thomas Dale ขึ้นชื่อเรื่องใช้ความรุนแรง ตาต่อตาฟันต่อฟันกับประเทศใต้อาณานิคม
– Asa, Black Monk บีบคอคนตาย
– Floyd Ireson
– Stede Bonnet
– Walter Butler ได้รับฉายา King of the Massacre
– Harpe brothers สองพี่น้องปล้นฆ่าในช่วง American Revolution
– Edward Teach โจรสลัดหนวดดำ
– Thomas Morton ทนายความที่ชื่นชอบปรักปรำคนไม่ได้กระทำความผิดให้ถูกตัดสินโทษ
– General Benedict Arnold (1741 – 1801) นายพลผู้ได้รับความไว้วางใจจาก George Washington ให้ประจำ West Point, New York ในช่วง American Revolutionary War (1775 – 83) แต่กลับวางแผนยอมจำนนต่อทหารอังกฤษ โชคร้ายถูกค้นพบทำให้ต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุน กลายเป็นชื่อต้องห้ามคนขายชาติอเมริกัน เปลี่ยนไปเข้าข้างฝ่ายอังกฤษ แต่ก็ล้มป่วยจนเสียชีวิตจากโรคเกาต์

ตัดต่อโดย Robert Wise ก่อนหน้าเป็นผู้กำกับ เริ่มเข้าสู่วงการตั้งแต่ต้นยุคหนังพูด ทำงานแผนกเสียง/ตัดต่อเพลงประกอบ (Sound and Music Editor) สังกัดสตูดิโอ RKO ต่อเลื่อนขั้นมาเป็นนักตัดต่อ มีผลงานเด่นอย่าง The Hunchback of Notre Dame (1939), Citizen Kane (1941), The Magnificent Ambersons (1942) ฯ

หนังเล่าเรื่องในมุมมองของปีศาจ Mr. Scratch จับจ้องช่วงเวลาชีวิตของ Jabez Stone นับตั้งแต่เช้าวันเซ็นสัญญากับตนเอง ไปจนถึงวันสุดท้ายครบเจ็ดปี จบสิ้นที่รุ่งอรุณเช้าวันใหม่อีกเช่นกัน

เทคนิคทางการตัดต่อที่พบเห็นบ่อย
– Cross-Cutting เฟดเปลี่ยนภาพจากมุมกล้องเดิมให้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด อาทิ จากผืนแผ่นดินว่างเปล่า กลายเป็นต้นข้าวขึ้นเต็มพร้อมเก็บเกี่ยว ฯ
– การตัดเปลี่ยนภาพโดยฉับพลัน ถือเป็นลูกเล่นสำหรับ Special Effect อาทิ กระดาษอยู่ดีๆไฟลุกไหม้ขึ้นได้เอง ฯ

Continuity Editing ที่ถือเป็นไฮไลท์ของหนัง โดยเฉพาะฉากกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าลูกขุนจากขุมนรกช่วงท้าย จะพบเห็นการเปลี่ยนมุมกล้องสลับทิศทางถ่ายภาพไปมาอยู่เรื่อยๆ แต่คำพูดของ Daniel Webster ยังคงลื่นไหลต่อเนื่องไปไม่มีสะดุด คือถ้าเป็นยุคสมัยก่อนหน้านี้ ใครจะบรรยายอะไรยาวๆก็มักจับจ้อง Long Take เพียงอย่างเดียว เทคนิคที่หนังเรื่องนี้ใช้กลายเป็นแม่แบบแรกๆของวิธีการเล่าเรื่อง ไม่จำเป็นต้องค้างภาพอยู่ที่ผู้พูดหนึ่งเดียวเสมอไป

เพลงประกอบโดย Bernard Herrmann นักแต่งเพลงระดับตำนานสัญชาติอเมริกัน ขาประจำของผู้กำกับ Alfred Hitchcock ตลอดชีวิตเข้าชิง Oscar ทั้งหมด 5 ครั้ง คว้ามาเพียงเรื่องเดียวจาก The Devil and Daniel Webster (1941)

ต้องบอกว่าผลงานของ Herrmann เรื่องนี้ ยังห่างไกลความเป็นตำนานอยู่มาก (เมื่อเทียบกับ Citizen Kane, Vertigo, Psycho ถือว่าคนละชั้นเลยละ) แต่ที่โดดเด่นคงเป็นสัมผัสเข้ากับบรรยากาศเหมือนฝันของหนัง มีความลึกลับน่าสะพรึงกลัว หลอกหลอนเย็นยะเยือกสยิวกาย และทำการผสมผสานท่วงทำนอง Nursery Song คุ้นหู(ชาวอเมริกัน)เข้าไปคลุกเคล้าในบทเพลง อาทิ Devil’s Dream, Springfield Mountain และ Pop Goes The Weasel

มีทั้งหมด 4 ใจความสาระ ที่คลุกเคล้าอยู่ในหนังเรื่องนี้

ประเด็นแรกคือ Patriotism ด้วยความพยายามของ Daniel Webster ตำหนิว่ากล่าวปีศาจว่าไม่ใช่พลเมืองอเมริกัน เลยถูกประชดประชันด้วยการนำผู้พิพากษา/ลูกขุน โคตรของโคตรอาชญากรสัญชาติอเมริกันแท้ๆ (American All) ขุดขึ้นจากขุมนรกเพื่อทำการตัดสิน ซึ่งวิธีการโน้มน้าวของโคตรทนายความอีกเช่นกัน

“Gentlemen of the jury, don’t let this country go to the devil. Free Jabez Stone. God bless the United States and the men who made her free”.

ประเด็นเรื่องทาส, คำกล่าวสุนทรพจน์ในช่วงต้นของ Webster เอ่ยว่า ‘A man is not a piece of property.’ แต่ตัวจริงของ Webster เป็นคนประณีประณอมและยอมอ่อนข้อในเรื่องนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของสองรัฐเหนือ-ใต้ ให้ยังเป็นปึกแผ่นดินเดียวกัน ซึ่งเพราะเบื้องหน้าเป็นเช่นนี้ ลับหลังจึงยังส่งเสริมสนับสนุนองค์กร Anti-Slavery ให้อยู่ในพื้นที่บริเวณที่ประชาชนยังยินยอมรับได้

ประเด็นถัดมาการกล่าวถึงชาวพื้นเมืองอินเดียแดง ดังคำกล่าวของ Webster ที่ว่า

“If two New Hampshiremen aren’t a match for the devil, we might as well give the country back to the Indians.”

นี่เป็นทัศนคติที่มองชนพื้นเมือง เจ้าของถิ่นดินแดนอเมริกันดั่งเดิม เต็มไปด้วยความป่าเถื่อนล้าหลังไร้อารยะธรรม ซึ่งหนึ่งในประโยคเด็ดของปีศาจ พูดถึงการมีตัวตนแรกๆของตนเองว่า

“When the first wrong was done to the first Indian, I was there”,

สะท้อนถึงความ ดี/ชั่ว มันอยู่ที่มุมมองของคน ก่อนประเทศชาติจะรวมกันเป็นปึกแผ่นจำต้องมีความสูญเสียสละฝ่ายใดหนึ่ง ความขัดแย้งทางทัศนคติสุดโต่งของสองฝ่ายไม่มีทางจับมือร่วมกันอย่างสงบสันติสุขไปได้ ผู้ชนะได้รับการจารึกคือพระเอก ผู้แพ้มองยังไงก็คือตัวร้าย

และประเด็นสุดท้ายศาสนา ดี-ชั่ว ถูก-ผิด บุคคลผู้อยู่ห่างไกลศรัทธาความเชื่อ หลักคำสอนของศาสนา ย่อมมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของซาตานผู้มีความละโมบโลภมาก อาศัยอยู่กับกิเลสตัณหาราคะของมนุษย์ เผลอปล่อยตัวกายใจเมื่อไหร่ รู้สึกนึกได้ก็มักช้าสายบ่ายเกินไปเสียแล้ว

รวมๆแล้ว The Devil and Daniel Webster คือเรื่องราวของบุคคลผู้หลงเดินทางผิด ฝักใฝ่ในทิศเดินง่ายๆ กินสะดวก โดยไม่สนอะไรอย่างอื่นรอบข้าง ถึงกระนั้นเพราะนี่คือประเทศอเมริกัน ถ้าเกิดจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดีขึ้นเมื่อไหร่ กลับตัวกลับใจ ย่อมได้รับสิทธิ์พิเศษ โอกาสในการเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งร่ำไป!

ตอนออกฉายครั้งแรก เนื่องจากกลัวว่าชื่อ The Devil and Daniel Webster จะทำให้ผู้ชมสับสนกับหนังอีกเรื่อง The Devil and Miss Jones (1941) เลยทำการเปลี่ยนแปลงเป็น All That Money Can Buy และในบางฉบับก็ใช้ชื่อ Mr. Scratch, Daniel and the Devil หรือ Here Is a Man ซึ่งเมื่อ Criterion นำมาทำเป็น DVD/Blu-ray จึงหวนกลับไปใช้ The Devil and Daniel Webster ถือเป็นทางการสุดของหนัง

ไม่มีรายงานทุนสร้างและรายรับ แต่บันทึกว่าขาดทุนประมาณ $53,000 เหรียญ ทำให้หลายปีถัดมามีการ Re-Release ตัดโน่นนี่นั่นออกไปเหลือความยาวเพียง 85 นาที จนสามารถทำกำไรได้เล็กน้อย

เข้าชิง Oscar 2 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Actor (Walter Huston)
– Best Music, Scoring of a Dramatic Picture ** คว้ารางวัล (สมัยนั้นปริมาณที่เข้าชิงสาขานี้สูงถึง 20 เรื่อง)

ถ้าไม่เพราะผมเคยรับชม Faust (1926) มาก่อน ก็อาจชื่นชอบคลั่งไคล้หนังเรื่องนี้มากๆ แฝงข้อคิดคติสอนใจคนได้เป็นอย่างดี กระนั้นเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยแค่โอเคชื่นชอบ แต่ก็มีช่วงท้ายๆแอบขัดใจ อยากให้พระเอกมันลงนรกมากกว่าเอาตัวรอดมาได้ … จบแบบนี้ถือเป็น Happy Ending ในแบบ American/Hollywood Style น่าหงุดหงิดหมั่นไส้ มองโลกในแง่ดีเกินไปหรือเปล่าเนี่ย!

แนะนำคอหนัง Fantasy รู้จักหลงใหลในโศกนาฎกรรม Faust, นักปรัชญา นักศาสนา (เน้นตะวันตก) มองหาสิ่งที่เป็นความดีชั่ว, ชื่นชอบเพลงประกอบเพราะๆของ Bernard Herrmann, แฟนๆนักแสดง Edward Arnold, Walter Huston และผู้กำกับ William Dieterle ห้ามพลาดเด็ดขาด

จัดเรต 13+ ในความลุ่มหลงใหลอย่างบ้าคลั่งเสียสติแตก

TAGLINE | “The Devil and Daniel Webster คือ Faust ฉบับอเมริกันที่มีความงดงามคลาสสิก”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: