
The Devil Is a Woman (1935)
: Josef von Sternberg ♥♥♥♡
ทั้งตัวละครของ Marlene Dietrich และผู้กำกับ Josef von Sternberg ต่างถูกตีตราว่ามีความโฉดชั่ว อันตราย ไม่ต่างจากปีศาจร้าย เพียงเพราะต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ สรรค์สร้างภาพยนตร์ด้วยวิสัยทัศน์ส่วนตน แต่ทัศนคติของผู้คนสมัยนั้น และสตูดิโอใน Hollywood มิอาจยินยอมรับความเป็นปัจเจกบุคคลของพวกเขา
แม้ความบาดหมางระหว่าง Josef von Sternberg กับ Marlene Dietrich ระหว่างสรรค์สร้าง The Scarlet Empress (1934) จะไปสู่จุดแตกหัก มองหน้าแทบไม่ติด (von Sternberg หมกมุ่นในความสมบูรณ์แบบ ‘Perfectionist’ มากเกินไปมากๆ) แต่เพราะนี่คือโปรเจคสุดท้ายของ von Sternberg ในสังกัด Paramount Pictures เลยพยายามเกลี้ยกล่อมเกลาจน Dietrich ยินยอมใจอ่อน และโดยไม่รู้ตัว The Devil Is a Woman (1935) กลายผลงานชื่นชอบโปรดปรานที่สุด (ที่ตนเองได้รับบท)
The Devil Is a Woman (1935) อาจไม่ได้มีความยอดเยี่ยมระดับเดียวกับ Shanghai Express (1932) หรือ The Scarlet Empress (1934) แต่หนังเต็มไปด้วยข้อพิพาท เรื่องอื้อฉาว ถูกกองเซนเซอร์ Hays Code หั่นฉากไม่เหมาะสมออกหลายสิบนาที และเมื่อได้รับคำร้องเรียนจากสถานทูตสเปน ขอให้นำออกจากสารบบ (อ้างว่ากระทบความสัมพันธ์ มุมมองชนชาติพันธุ์) สตูดิโอ Paramount เลยเรียกเก็บ ทำลายฟีล์มต้นฉบับ จนสาปสูญหายไปหลายทศวรรษ
ถ้าไม่เพราะผมเคยรับชม That Obscure Object of Desire (1977) ก็อาจมีความชื่นชอบหลงใหล The Devil Is a Woman (1935) มากกว่าที่เป็นอยู่ ถีงอย่างนั้นเมื่อเทียบกันหมัดต่อหมัด ผลงานของ Luis Buñuel ถือว่าความน่าประทับใจกว่ามากๆ เพราะสามารถสร้างความอีดอัดที่ไม่ได้รับการระบายออกแม้กระทั่งตอนจบ! (อาการอัดอั้นดังกล่าว อาจทำให้ผู้ชมคลุ้มคลั่งไคล้หนังแบบสุดๆไปเลยละ)
ถึงอย่างนั้น The Devil Is a Woman (1935) ก็มีความน่าสนใจเยอะมากๆอยู่ ทั้งไดเรคชั่นผู้กำกับ von Sternberg, ลีลาการแสดงของ Dietrich ที่ดูจะเพลิดเพลินกับบทบาทนี้มากๆ (สะท้อนตัวตนออกมาได้ชัดเจนสุดๆ), งานออกแบบสร้าง เสื้อผ้าหน้าผม (แม้ไม่อลังการเท่า The Scarlet Empress แต่ยังถือว่าน่าประทับใจไม่น้อย) และไฮไลท์คือการตัดต่อ เกินครึ่งใช้เสียงบรรยายเล่าเหตุการณ์ย้อนอดีต (Flashback) … หลายคนอาจสงสัยว่ามันน่าสนใจอย่างไร? ให้สังเกตปีที่สร้างดีๆนะครับ ถือเป็นครั้งแรกๆที่มีการนำเทคนิคนี้มาใช้ในยุคหนังพูด ก่อนหน้าการมาถึงของ Le Jour Se Lève (1939), Wuthering Heights (1939) และโด่งดังที่สุดเมื่อ Citizen Kane (1941)
Josef von Sternberg ชื่อเดิม Jonas Sternberg (1894 – 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian-American เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Orthodox Jewish อพยพสู่อเมริกาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แต่ก็ยังไปๆกลับๆจนกระทั่งอายุ 14 ถึงปักหลักอยู่ New York City, พออายุ 17 ปีเข้าทำงานยัง World Film Company เริ่มต้นเป็นเด็กส่งของ ทำความสะอาด ซ่อมแซมฟีล์มหนัง ทั้งยังรับหน้าที่เป็นฉายภาพยนตร์ (film projectionist) กระทั่งการมาถึงของโปรดิวเซอร์ William A. Brady ได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นผู้ช่วยตัดต่อ พิมพ์ข้อความ (Title Card), ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาสาสมัครทหารเข้าร่วม Signal Corps จึงมีโอกาสถ่ายทำสารคดีข่าว, หลังจากนั้นได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Emile Chautard สรรค์สร้าง The Mystery of the Yellow Room (1919), และสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Salvation Hunters (1924) ด้วยทุนสร้างเพียง $4,800 เหรียญ (ถือเป็นหนัง Indy เรื่องแรกๆของโลก)
เพราะความเรื่องมาก เอาแต่ใจ ไม่พึงพอใจการทำงานก็เดินออกกองถ่าย นั่นทำให้ Sternberg ระหองระแหงอยู่ใน Hollywood จนไม่มีใครอยากคบค้าสมาคม จนกระทั่งได้รับโอกาสจากโปรดิวเซอร์ B. P. Schulberg แห่ง Paramount Pictures ว่าจ้างทำงานฝ่ายเทคนิค ที่ปรึกษาด้านการถ่ายภาพ แล้วโชคก็เข้าข้างเมื่อถูกมอบหมายให้ถ่ายซ่อม Children of Divorce (1927) เปลี่ยนแปลงจากเดิมประมาณครึ่งเรื่อง จากคุณภาพกลางๆกลายเป็นประสบความสำเร็จล้นหลาม สร้างความประทับใจจนมอบอิสรภาพสรรค์สร้างภาพยนตร์ ‘เรื่องแรก’ ที่ไม่ถูกควบคุมครอบงำโดยใคร
ความสำเร็จอันล้นหลามอย่างคาดไม่ถึงของ Underworld (1927) ทำให้ Paramount Pictures จับเซ็นสัญญาระยะยาวโดยมอบอิสรภาพเต็มที่ในการสรรค์สร้างผลงาน ติดตามมาด้วย The Last Command (1928), The Docks of New York (1928), การมาถึงของยุคหนังพูดก็ยังประสบความสำเร็จกับ The Blue Angel (1930) ได้ค้นพบเจอ Marlene Dietrich ชักนำพามา Hollywood แจ้งเกิดกับ Morocco (1930)
ความล้มเหลวของ The Scarlet Empress (1934) ทำให้ Paramount Pictures ลังเลจะต่อสัญญาฉบับใหม่กับ von Sternberg ที่ใกล้จะสิ้นสุดลงปีถัดไป ผลงานเรื่องสุดท้ายเดิมนั้นควรเป็นโปรเจคที่สตูดิโอเลือกไว้ให้ เลยตัดสินใจมอบอิสระ อยากทำอะไรก็ทำในงบประมาณจำกัด
เบื้องต้นตั้งชื่อโปรเจคว่า Caprice Espagnol จากบทเพลงของคีตกวี Nikolai Andreyevich Rimsky-Korsakov (1844-1908) สัญชาติรัสเซีย ส่วนเรื่องราวได้แรงบันดาลใจจากนวนิยาย La Femme et le pantin (1898) แปลว่า The Woman and the Puppet แต่งโดย Pierre Louÿs (1870-1925) นักเขียนสัญชาติฝรั่งเศส ที่ถูกดัดแปลงเป็นบทละครเวทีเมื่อปี 1910 โดย Pierre Louys และ Pierre Frondaie
เรื่องราวมีพื้นหลังเมือง Seville ประเทศสเปน ระหว่างงานเทศกาลสวมหน้ากากประจำปี, André Stévenol พบเจอตกหลุมรักนักเต้นสาว Concepción ‘Conchita’ Pérez ได้รับคำตักเตือนโดยเพื่อนสนิท Don Mateo Diaz เล่าประสบการณ์ที่ตนเองเคยพบเจอเข้ากับตัว มีสภาพไม่ต่างจากหุ่นเชิดชักของหญิงสาว ถูกลวงล่อหลอก สูญเงินมากมายมหาศาล แต่กลับได้เพียงกระเซ้าเย้าแหย่ ไม่เคยได้ร่วมรักหลับนอนเลยสักครั้ง
ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย John dos Passos (1896-1970) นักเขียนนวนิยายสัญชาติอเมริกัน โดยโครงสร้างเรื่องราวค่อนข้างจะซื่อตรงต่อต้นฉบับ ปรับเปลี่ยนรายละเอียดชื่อตัวละคร Don Mateo Diaz มาเป็น Don Pasqual Costelar สนิทสนมกับนักปฏิวัติหนุ่ม Antonio Galvan ที่ถูกหมายหัวจากตำรวจ Seville และความขัดแย้งของพวกเขาต่อ Conchita ก่อให้เกิดการท้าดวลปืน ผลลัพท์ไม่มีใครสามารถคาดคิดถึง
เกร็ด: นวนิยายเล่มนี้เคยได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง ประกอบด้วย
- The Woman and the Puppet (1920)
- The Woman and the Puppet (1929)
- The Devil is a Woman (1935) กำกับโดย Josef von Sternberg, นำแสดงโดย Marlene Dietrich
- La Femme et le pantin (1959) กำกับโดย Julien Duvivier, นำแสดงโดย Brigitte Bardot
- That Obscure Object of Desire (1977) กำกับโดย Luis Buñuel, นำแสดงโดย Fernando Rey, Ángela Molina, and Carole Bouquet
สำหรับชื่อหนัง The Devil Is a Woman ปรับเปลี่ยนโดยผู้จัดการโปรดักชั่นคนใหม่ Ernst Lubitsch (เข้ามาแทนที่ Ben Schulberg) เพราะครุ่นคิดว่าชาวอเมริกันคงไม่อยากรับชมหนังที่อ่านชื่อไม่ออก แต่ดูเหมือนจะไม่ผลสักเท่าไหร่
Though Mr. Lubitsch’s poetic intention to suggest altering the sex of the devil was meant to aid in selling the picture, it did not do so.
Josef von Sternberg
เรื่องราวของ Antonio Galvan (รับบทโดย Cesar Romero) นักปฏิวัติหนุ่มที่ถูกหมายหัวจากตำรวจสเปน ลักลอบเข้าเมือง Seville เพื่อมาร่วมงานเทศกาลประจำปี ที่ทุกคนสวมใส่หน้ากากปกปิดบังใบหน้า บังเอิญพบเจอหญิงสาวสวย Concha Pérez (รับบทโดย Marlene Dietrich) ลุ่มหลงในรอยยิ้ม มนต์เสน่ห์ กำลังจะนัดพบอีกวันถัดมา แต่จับพลัดจับพลูมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนเก่าแก่ Don Pasqual Costelar (รับบทโดย Lionel Atwill) เล่าความหลังถึงพฤติกรรมอันโฉดชั่วร้ายของหญิงสาวคนนั้น ตักเตือนสติไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับนางปีศาจร้าย
แม้จะถูกหักห้ามขนาดนั้น Antonio ยังคงดื้อรั้นนัดพบเจอ Concha ด้วยความพยายามปิดกลั้นความรู้สึก ปฏิเสธการถูกเกี้ยวพาราสี แล้วจู่ๆเธอกลับได้รับจดหมายบอกรักจาก Don Pasqual นี่มันหมายความว่าอะไรกัน? ที่เล่ามาทั้งหมดคือสิ่งโป้ปดหรืออย่างไร? เมื่อทั้งสองเผชิญหน้าจึงท้าดวลปืน เพื่อผู้ชนะจะได้สิทธิ์ครอบครองหญิงสาวแต่เพียงผู้เดียว (จริงๆนะหรือ?)
Marie Magdalene ‘Marlene’ Dietrich (1901 – 1992) นักแสดงหญิงสัญชาติ German เกิดที่ Berlin ในครอบครัวชนชั้นกลาง ตั้งแต่เด็กร่ำเรียนไวโอลินวาดฝันเป็นนักดนตรี แต่พอได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับข้อมือเลยต้องล้มเลิกความตั้งใจ โตขึ้นมุ่งสู่วงการแสดง เริ่มจากเป็นนักร้องคอรัส รับบทเล็กๆในภาพยนตร์ The Little Napoleon (1923) มีผลงานในยุคหนังเงียบหลายเรื่องแต่ไม่ประสบพบเจอความสำเร็จ จนกระทั่งผลงานหนังพูดเรื่องแรก The Blue Angel (1930) แล้วออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา กลายเป็นคู่ขาประจำ Josef von Sternberg ร่วมงานกันทั้งหมด 7 ครั้ง
รับบท Concha Pérez สาวโรงงานทำบุหรี่ แต่มีหน้าตาทรงเสน่ห์น่าหลงใหล ถูกพบเจอโดย Don Pasqual ต้องการส่งเสียอุปการะ ให้การสนับสนุนจนสามารถปลดหนี้สิน ชีวิตได้รับอิสรภาพโบยบิน คาดหวังว่าคงจะได้ครองรักแต่งงาน แต่ที่ไหนได้เธอกลับหนีหายตัวไปอย่างไร้ร่อยรอย หลายเดือนถัดมาค่อยหวนกลับมาหา ร้องขอเงินสำหรับไถ่ถอนชดใช้หนี้ เสร็จแล้วก็ล่องจุ้นเหมือนเดิม เป็นเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่เคยเข็ดหลากจำ
ความขัดแย้งระหว่าง Dietrich และผู้กำกับ von Sternberg เมื่อครั้น The Scarlet Empress (1934) ทำให้เธอตั้งใจจะไม่ร่วมงานกันอีก แต่เมื่อเขานำเสนอโปรเจคนี้ พูดคุยโน้มน้าวจนยินยอมใจอ่อน รู้สึกชื่นชอบบทบาท (เพราะได้แรงบันดาลใจจากเธอเองนี่แหละ) เลยตอบตกลงทำงานร่วมกันอีกครั้งสุดท้าย
ภาพจำของ Dietrich มักคือความเริดเชิด เย่อยิ่ง เยือกเย็นชา สนเพียงทำในสิ่งตอบสนองความพึงพอใจ ไม่ใคร่สนคำครหาของสังคม แม้บทบาทใน The Devil Is a Woman (1935) อาจมีความแตกต่างอยู่บ้าง แต่จิตวิญญาณภายในไม่เคยเปลี่ยนแปลง ยังคงโหยหาอิสรภาพ ปฏิเสธกลายเป็นนกควบคุมขังในกรง หรือถูกใครบางคนใช้เงินล่อซื้อใจ สนเพียงทำในสิ่งตอบสนองความต้องการส่วนตัว รักใครชอบใคร อยากร่วมรักหลับนอนกับใคร นั่นคือสิทธิ์ในเรือนร่างกายของฉัน!
ผมรู้สึกว่า Dietrich มีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ระเริงรื่นไปกับการแสดงบทบาทนี้มากๆ เหมือนไม่ได้ต้องปรุงปั้นแต่ง เล่นเป็นตนเอง ได้รับอิสรภาพในการสรรค์สร้างตัวละคร (คาดว่า Dietrich อาจมีข้อตกลงบางอย่างกับ von Sternberg ถึงยินยอมร่วมงานกันครั้งนี้อยู่แน่ๆ) ด้วยเหตุนี้เธอจึงให้สัมภาษณ์ภายหลังบอกว่า The Devil Is a Woman (1935) คือผลงานโปรดปรานที่สุด (ที่ตนเองได้รับบท)
Lionel Alfred William Atwill (1885 – 1946) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Croydon, Greater London โตขี้นร่ำเรียนเพื่อจะเป็นสถาปนิก แต่เปลี่ยนความสนใจมาด้านการแสดง เริ่มจากละครเวทีที่ Garrick Theatre, London เมื่อปี 1904 ทศวรรษถัดมามุ่งสู่ Broadway กลายเป็นนักแสดงภาพยนตร์ในยุคหนังพูด (Talkie) มักได้รับบทสมทบอาทิ The Devil Is a Woman (1935), Son of Frankenstein (1939), The Hound of the Baskervilles (1939), To Be or Not to Be (1942) ฯ
รับบท Don Pasqual Costelar ผู้ดีวัยกลางคน เคยดำรงตำแหน่ง Captain of the Civil Guard แต่หลังจากพบเจอ Concha Pérez ตกหลุมรัก ลุ่มหลงใหล อย่างหน้ามืดตามัว ต้องการอุปถัมภ์ค่ำจุน ใช้เงินซื้อทุกสิ่งอย่าง คาดหวังจะได้ครองคู่แต่งงาน กลับไม่เคยได้รับการตอบสนอง ต้องใช้กำลังถีงได้ร่วมรักหลับนอน มิอาจเติมเต็มความต้องการของตนเองเลยสักครั้ง! ถีงอย่างนั้นก็ไม่เคยเข็ดหลากจำ เลยพร้อมเสียสละเพื่อพิสูจน์มูลค่าความรักต่อไป
ผมรู้สีกว่าผู้กำกับ von Sternberg ไม่ได้ใคร่สนใจนักแสดงชายในหนังสักเท่าไหร่ จะเล่นดีเล่นแย่ หรือมีบทโดดเด่นก็ไม่เน้นให้เป็นจุดขาย อย่างช่วงเวลาหมดสิ้นหวังอาลัย เพียงสร้างบรรยากาศรายล้อมรอบที่ชวนให้ผู้ชมบังเกิดความรู้สีกบางอย่างต่อตัวละคร แค่นั้นแหละ
ผมค่อนข้างชอบภาพลักษณ์ที่ดูตีงเครียด จริงจัง ชอบทำหน้านิ่วคิ้วขมวด เหมือนคนเก็บกด หมกมุ่น มักมาก ขณะเดียวกันก็ชวนให้รู้สีกขบขันในการกระทำ ทั้งรู้ว่าถูกหลอกแต่ก็ยังเต็มใจให้หลอก มิอาจปล่อยวางเงินทองที่จับจ่ายใช้สอย แต่ช่วงท้ายก็เริ่มสร้างความน่ารำคาญอยู่เล็กๆ น่าจะยิงให้ดับดิ้นตกตายไปเสียดีกว่า
Cesar Julio Romero Jr. (1907-94) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City บิดาเกิดที่ Barcelona ประกอบอาชีพนำเข้าส่งออกสินค้า แต่งงานกับมารดามีเชื้อสาย Cuban, หลังจากพิษเศรษฐกิจ Wall Street Crash เมื่อปี 1929 ทำให้กิจกรครอบครัวล้มละลาย บุตรชาย Romero จีงมุ่งสู่ Hollywood กลายเป็นนักแสดง มักได้รับบทบาท ‘Latin Lovers’ ผลงานเด่นๆ The Thin Man (1934), The Devil Is a Woman (1935), Ocean’s 11 (1960), บทบาทโด่งดังสุดๆคือ Joker ใน Batman ฉบับซีรีย์ฉายปี 1966-68
รับบท Antonio Galvan หนุ่มหล่อนักปฏิวัติ แม้พบเห็นเพียงหน้ากาก แต่กลับมีความลุ่มหลงใหลในความงดงามของ Concha Pérez เฝ้ารอคอยจะได้พบเจอเธออีกครั้ง กระทั่งถูกเพื่อนสนิท Don Pasqual Costelar พยายามกีดกัน ขัดขวาง จนแล้วจนรอดเมื่อความจริงประจักษ์ ก็สามารถครอบครองรักกับเธอแม้เพียงชั่วข้ามคืน และได้รับการช่วยเหลือจนสามารถหลบหนีออกจากประเทศสเปน
จะว่าไปตัวละคร Antonio มีลักษณะแตกต่างขั้วตรงข้ามกับ Don Pasqual สามัญชน-คนชั้นสูง, ชายหนุ่ม-วัยกลางคน, ยังต้องต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด-ฐานะมั่นคงร่ำรวยเงินทอง, ถูกตำรวจไล่ล่าจับกุมตัว-ได้รับความนับหน้าถือตาจากผู้คน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ทั้งสองจีงนั่งตำแหน่งตั้งฉาก พร้อมเผชิญหน้าท้าดวลปืนด้วยอุดมการณ์ เป็นทั้งมิตรแท้และศัตรู สามารถเติมเต็มกันและกัน
ผมไม่คิดว่า Romero ดูหล่อเหลานักเมื่อเทียบกับ Rudolph Valentino หรือ Ramon Novarro แต่ก็ถือว่ามีเสน่ห์น่าหลงใหล ยั่วเย้ายวนใจ สาวๆพบเห็นย่อมเกิดความคลั่งไคล้ ส่วนบทบาทนี้ถือเป็น Stereotype ในหนังของผู้กำกับ von Sternberg ไม่ได้เน้นขายการแสดงใดๆ เพียงให้หญิงสาวตกหลุมรัก แต่มิอาจครอบครองเป็นเจ้าของเธอ
โดยปกติแล้ว Josef von Sternberg จะเป็นเพียงคนควบคุมการจัดแสง-เงา ครุ่นคิดสรรหา Special Effect เพื่อสร้างบรรยากาศประกอบการถ่ายทำ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ตัดสินใจควบเครดิตถ่ายภาพเองเลย เพื่อสามารถควมคุมความคิดสร้างสรรค์ทั้งหมด น่าเสียดายผมมองผลลัพท์ค่อนข้างน่าผิดหวัง
ส่วนตัวมองว่าการควบเครดิตถ่ายภาพเป็นโหลดงานที่หนักเกินไปสำหรับ von Sternberg จริงอยู่สามารถจัดแสง-เงา สร้างบรรยากาศประกอบถ่ายทำ แต่มุมมองสายตา ภาพที่นำเสนออกมาดูขาดความคิดสร้างสรรค์ไปมา ธรรมดาทั่วไป ไร้ซี่งพลังดีงดูดให้ลุ่มหลงใหล (Sex Appeal ของการถ่ายภาพ อยู่ที่ประสบการณ์/ความเคยชินของตากล้อง นั่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ von Sternberg ขาดหายไป)
ออกแบบศิลป์โดย Hans Dreier (1885-1966) สัญชาติ German เคยทำงานอยู่ UFA Studios ก่อนย้ายติดตาม Ernst Lubitsch เดินทางมา Hollywood ตั้งแต่ปี 1923 แล้วปักหลักอยู่ Paramount Pictures, ได้ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Josef von Sternberg ตั้งแต่ Underword (1927), เคยเข้าชิง Oscar 23 ครั้ง คว้ามา 3 รางวัลจาก Frenchman’s Creek (1944), Samson and Delilah (1950) และ Sunset Boulevard (1950)
ผู้ชมน่าจะตระหนักได้ไม่ยากว่า งานเทศกาลประจำปี (Carnival) มันควรมีความยิ่งใหญ่อลังการมากกว่านี้! นั่นเพราะหนังไม่ได้เดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริง ตึกรามบ้านช่อง ท้องถนนหนทางเมือง Seville ล้วนก่อสร้างขึ้นในสตูดิโอ Paramount ขนาดกิจกรรมต้อนวัวถูกนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ การละเล่นให้คนสวมหน้ากากแล้ววิ่งไล่ขวิดนักสู้วัว (Matador) แต่แค่นี้ก็คงหมดสูญสิ้นงบประมาณไปไม่น้อยทีเดียว (แค่ค่าริบบิ้นนี่ก็ไม่รู้เท่า)



ช็อตแรกของ Concha Pérez ค่อนข้างหน้าสนใจทีเดียว นอกจากหน้ากากลายลูกไม้ ยังสวมตาข่ายที่มีลูกกลมๆสีดำๆ … โดยปกติแล้วการเปรียบเทียบหญิงสาวที่มีความงดงาม บริสุทธิ์ มักทำให้ระยิบระยับ สะท้อนแสง เหมือนดาวดาราบนฟากฟ้า แต่การนำเสนอตัวละครนี้ ลูกกลมๆดำๆสามารถมองในเชิงกลับตารปัตร ถึงความโฉดชั่วร้าย ตัวอันตราย ดาวมฤตยูก็ว่าได้

Concha พยายามลวงล่อ Antonio Galvan ติดตามมาจนถึงคฤหาสถ์หลังหนึ่ง ปิดประตูไม่ให้เข้า ก่อนแอบส่งมอบของขวัญตัวตลกตกใจ เหล่านี้ล้วนสะท้อนตัวตนของหญิงสาว มองความสัมพันธ์เป็นเรื่องขบขัน ไม่เคยครุ่นคิดจริงจัง ทั้งหมดเพียงมารยาหญิง ลวงล่อหลอกบุรุษให้ตกหลุมหลงใหล จนไม่สามารถถอนตัวกลับออกไป

ระหว่างนั่งอยู่ในร้านอาหาร/คาเฟ่แห่งหนึ่ง Antonio บังเอิญพบเจอเพื่อนเก่าแก่ Don Pasqual สังเกตว่าพวกเขานั่งตำแหน่งตั้งฉาก สื่อถึงมุมมอง ทัศนคติ ความครุ่นคิดที่มักเห็นต่าง ตรงกันข้าม และอะไรหลายๆอย่างของทั้งสองล้วนนำไปสู่การต่อสู้เผชิญหน้า

วินาทีที่ Don Pasqual เริ่มต้นเล่าเรื่องย้อนอดีต นำเข้าสู่ Flashback ด้วยวิธีการ Cross-Cutting พบเห็นภาพกองหิมะทับถม ซ้อนทับใบหน้าอย่างพอดิบพอดี นี่สื่อถึงสภาพภายในของเขาต่อหญิงสาวคนนี้ Concha เต็มไปด้วยความหนาวเหน็บ ความเจ็บปวดทับถม เผชิญทางตัน ไร้หนทางออก ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อความต้องการของจิตใจ

การพบเจอครั้งแรกของ Don Pasqual และ Concha เธอคือหญิงสาวที่ชอบสร้างปัญหา ทำตัวไม่ต่างจากนกในกรง ลูกเป็นขี้เหร่ (มีสองสิ่งนี้อยู่ใกล้ๆใบหน้าตัวละคร) แสดงนิสัยเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ ไม่ได้ใคร่สนใจยามโยธา (Civil Guard) คนนี้สักเท่าไหร่ แต่เขากลับพยายามติดตามตื้อ หาโอกาสซื้อความสัมพันธ์ … ก็ไม่รู้พบเห็นความงดงามอะไรในตัวหญิงสาวคนนี้


ถือเป็นโชคชะตาและความบังเอิญที่ Don Pasqual มีโอกาสพบเจอ Concha ยังโรงงานทำบุหรี่แห่งหนึ่ง สถานที่ซึ่งเต็มไปด้วยแรงงานสาวๆสวยๆเอาะๆ (ผมมองสถานที่แห่งนี้ไม่ต่างจากซ่องโสเภณีเลยนะ เพราะบุหรี่มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของ Sex สูบเข้าไปสามารถสร้างความสุขกระสันต์ถึงสรวงสวรรค์) และสังเกตว่าแสงสว่างสาดส่องตรงลงมายัง Concha แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

การเล่าความหลังของ Don Pasqual จะตัดกลับมาปัจจุบันบ่อยครั้ง แม้ทั้งคู่ยังคงนั่งอยู่ตำแหน่งเดิม แต่มีการเปลี่ยนมุมกล้องเพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง และขณะนี้ที่เมื่อเขาตระหนักสถานะต่อ Concha หยิบหุ่นเชิดชักขึ้นมา (ก็ไม่รู้เอามาจากไหน) อธิบายว่าตนเองมีสภาพไม่ต่างจากตุ๊กตาที่ถูกชักใย ควบคุมครอบงำโดยเธอผู้นั้น

บทเพลง Three Sweethearts Have I ขับร้องโดย Marlene Dietrich สื่อตรงตัวถึงรสนิยม(ทางเพศ)ของตัวละคร ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นคนสวน (gardener) เกษตรกร (farmer) หรือคนทำขนมปัง (baker) แต่หมายถึง #ได้หมดถ้าสดชื่น
คำร้องของบทเพลงนี้ค่อนข้างมีลีลาเย้าหยอก หลอกเล่น (สะท้อนเข้ากับอุปนิสัยตัวละครด้วยนะครับ) โดยเฉพาะการละเล่นคำ บอกว่าฉันยังไม่มีสุดที่รัก ‘a sweetheart’ แต่แท้จริงแล้วต้องการสื่อว่า ฉันไม่ได้มีแค่คนเดียวแต่ถึงสาม!
I’m romantic, so romantic
That I often wish I had a more discreet heart
But believe me, please believe me
When I tell you that I haven’t got a sweetheart
(Do you mean to say that you have none?)
Did you hear me say that I had none?
No, I only said I haven’t one

หลังการแสดงเสร็จสิ้น Concha เดินขึ้นบันไดสู่ชั้นบน (สัญลักษณ์ของความสำเร็จ ได้รับความยกย่องเชิดชู) สังเกตว่าเธอเดินผ่านเรือ พวงมาลัย มาอีกช็อตพบเห็นนกกระยาง ล้วนคือสัญลักษณ์ของการเดินทาง ผจญภัย อิสรภาพโบยบิน สะท้อนตัวตนของหญิงสาวที่ไม่ยินยอมถูกควบคุมครอบงำ อาศัยอยู่ในกรงขังอีกต่อไป


ในค่ำคืนที่ฝนตกหนัก Don Pasqual ก็มิอาจควบคุมตนเองอีกต่อไป พังประตูเข้าไปในห้องของ Concha พบเห็นสวมเดรสดำที่ระยิบระยับสะท้อนแสง (แต่แทนที่จะดูเหมือนดวงดาวบนฟากฟ้า กับเหมือนหยาดฝนที่พรำลงมา) และขณะใช้กำลังความรุนแรง ข่มขืนกระทำชำเรา กล้องกลับถ่ายภายนอกหน้าต่างที่ถูกปิดกั้น (แต่ประตูมันพังอยู่แล้วจะมีประโยชน์อะไร?)



นี่น่าจะเป็นฉากบรรยากาศที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง ภายนอกเต็มไปด้วยหมอกควันคละคุ้ง สื่อถึงอนาคตที่หมองหม่นมองไม่เห็นหนทาง เฉกเช่นเดียวกับความสัมพันธ์กับ Concha แต่เธอเข้ามาเรียกร้องอะไรสักอย่าง ทำให้ Don Pasqual ยินยอมจ่ายเงินไถ่ถอนเธอคืนมา แต่แล้วทุกสิ่งอย่างก็หวนกลับอีหรอบเดิม ใช้มารยาหญิง ขึ้นเกวียนออกเดินทางร่วมกับชู้รักหนุ่ม

ทอดทิ้งให้ Don Pasqual ขณะหันหลังเดินกลับจากบริเวณหน้าต่าง ใบหน้าค่อยๆถูกปกคลุมด้วยความมิดมืด จิตใจตกอยู่ในสภาพหดหู่ หมดสิ้นหวัง ไม่รู้จะทำอย่างไรกับความโง่เขลาของตนเอง … แต่ก็ไม่สามารถตัดใจเลิกราจากเธอสักที!

เราสามารถมองเรื่องเล่าความหลังของ Don Pasqual แท้จริงแล้วต้องการกำจัดศัตรูให้พ้นภัยทาง เพราะความหล่อเหลาของ Antonio อาจกลายเป็นก้างขวางคอ ขัดขวางความสัมพันธ์ของตนเองกับ Concha ที่อ้างว่าต้องการตักเตือนสติ มันก็แค่ข้ออ้าง คำลวงล่อหลอกเท่านั้นเอง
ซึ่งขณะที่ Don Pasqual เผชิญหน้ากับ Antonio ภาพพื้นหลังคือการสู้วัว (ล้อกับตอนต้นเรื่องพบเห็นการละเล่นต้อนวัว) สามารถสื่อถึงตรงๆตัวละครทั้งสอง ที่พร้อมพุ่งชน กำจัดบุคคลที่เป็นขวากหนามยั่วโมโห (แม้หนังพยายามเปรียบเทียบว่า Antonio คือกระทิง และ Don Pasqual เป็นนักสู้วัว จากบริเวณภาพพื้นหลังตัวละคร แต่เราสามารถมองในทิศทางกลับตารปัตรได้เช่นเดียวกันนะครับ)



การดวลปืนระหว่าง Don Pasqual vs. Antonio ยามค่ำคืนท่ามกลางสายฝน ยังบริเวณที่ดูรกๆเต็มไปด้วยกิ่งรากไม้ (สร้างบรรยากาศให้ดูซับซ้อน อันตราย สถานที่แห่งความตาย) และสังเกตว่าหนังไม่มีการตัดต่อเพื่อสร้างความลุ้นระทึกตื่นเต้น เพียงภาพของ Don Pasqual ยกปืนขึ้นฟ้า ยิงปัง แล้วล้มลง เรียบง่าย ตราตรึง ใครกันจะไปคาดคิดถึงว่าชายคนนี้จะยินยอมเสียสละตนเอง
เราสามารถมองว่าเขาต้องการถูกฆ่าให้ตายจริงๆ เพื่อหลงลืม ทอดทิ้ง สูญสิ้นความรักจาก Concha หรือจะตามที่หนังพยายามนำเสนอว่าเป็นแค่การเรียกร้องความสนใจ ท้าพิสูจน์ความรักที่ยินยอมเป็น ‘พ่อพระ’ พร้อมเสียสละทุกสิ่งอย่างให้เธอ ก็ได้เช่นกัน
ขณะเดียวกันการกระทำของ Don Pasqual ยังสะท้อนถึงผู้กำกับ von Sternberg แม้ยังคงโหยหา ต้องการพิสูจน์ความรัก แต่ก็พร้อมยินยอมปลดปล่อย Dietrich ให้ได้รับอิสรภาพ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่สามารถควบคุมครอบงำ จับอยู่ในกรงขังของตนเองได้อีกต่อไป


Concha เหม่อมองไปตรงหน้าต่างที่ปิดอยู่ (ในห้องของผู้บัญชาการตำรวจ) จากนั้นมีการ Cross-Cutting ซ้อนภาพการเดินทาง รถม้าเคลื่อนอยู่บนถนน ทิวทัศน์ต้นไม้ ท้องฟ้า และเทือกเขาไกลลิบๆ เหล่านี้สื่อถึงมุมมอง/ตัวตนของหญิงสาว โหยหาอิสรภาพ ไม่ยินยอมถูกควบคุมครอบงำ อาศัยอยู่ในกรงขังของผู้ใด

ดูเป็นความตั้งใจให้ Antonio ขณะรถไฟกำลังเคลื่อนออก คละคลุ้งฟุ้งด้วยควันจากไอน้ำเครื่องจักรรถไฟ เพื่อสื่อถึงการร่ำลา อนาคตที่ก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสพบเจอกันอีกไหม … หรือก็คือผู้กำกับ von Sternberg กำลังร่ำลา Dietrich ออกเดินทางจากชีวิตเธอไป ไม่รู้ต่อจากนี้จะมีโอกาสพบเจอ/ร่วมงานกันอีกไหม (จะตีความเพิ่มเติมถึง von Sternberg ร่ำลาจากสตูดิโอ Paramount Pictures ก็ได้เช่นกันนะครับ)

สำหรับช็อตสุดท้ายของ Concha สะท้อนการเดินทางของ Marlene Dietrich แม้เป็นการกลับสู่เมือง Seville (เธอยังคงปักหลักอยู่ Paramount Pictures ไม่ได้จากไปไหน) แต่ก็ให้ความรู้สึกเหมือนการผจญภัยครั้งใหม่ ได้รับอิสรภาพ เป็นตัวของตนเอง สามารถครุ่นคิดทำอะไรก็ได้ตามใจ (ไม่ถูกควบคุมครอบงำโดย von Sternberg อีกต่อไป)

โดยปกติแล้ว Josef von Sternberg จะรับหน้าที่ตัดต่อหนังด้วยตนเอง ซึ่งเขาก็ทำจนแล้วเสร็จ Director’s Cut ความยาว 96 นาที แต่ฉบับนำออกฉายจริงๆกลับถูกสตูดิโอหั่นโน่นนั่น มอบเครดิตให้ Sam Winston (1877–1965) หลงเหลือความยาวเพียง 76 นาทีเท่านั้น! (น่าเสียดายที่ฉบับความยาว 96 นาที ได้ถูกทำลาย สาปสูญหายไปชั่วนิรันดร์)
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Antonio Galvan ตั้งแต่เข้าร่วมงานเทศกาล แรกพบเจอลุ่มหลงใหล Concha Pérez กระทั่งมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนเก่าแก่ Don Pasqual Costelar ระหว่างรับฟังเรื่องเล่าก็ปรากฎภาพย้อนอดีต (Flashback) ช่วงขณะพบเจอ พรอดรัก พยายามเกี้ยวพาราสี Concha เมื่อนิทานจบก็หวนกลับมาปัจจุบัน Antonio ยังคงดื้อรันไปพบเจอหญิงสาว เป็นเหตุให้ต้องเผชิญหน้า ดวลปืน Don Pasqual จนถูกจับกุมตัว และได้รับความช่วยเหลือ สามารถหลบหนีออกจากเมือง Seville ได้สำเร็จ
- องก์หนึ่ง แนะนำตัวละคร
- ผู้บัญชาการตำรวจเมือง Seville พูดคุยกับผู้ใต้บังคับบัญชาถึงภารกิจระหว่างงานเทศกาลประจำปี
- Antonio แรกพบเจอลุ่มหลงใหล Chocha กำลังจะนัดพบเจออีกวันถัดไป
- ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง Antonio บังเอิญพบเจอเพื่อนเก่า Don Pasqual เลยเริ่มเล่าประสบการณ์ของตนเอง
- องก์สอง เล่าย้อนอดีต (Flashback) ความหลังของ Don Pasqual
- Don Pasqual แรกพบเจอ Chocha ระหว่างเดินทางมาถึง Seville
- พยายามให้ความช่วยเหลือ อุปถัมภ์ ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อซื้อใจเธอ แต่จนแล้วจนรอดหญิงสาวก็ไม่ยินยอมตอบตกลงเขาสักที
- กระทั่งพบเจอทำงานในผับบาร์/ซ่องโสเภณีแห่งหนึ่ง ทำการแสดง ขับร้องเพลง พอจ่ายเงินไถ่ถอน ก็ใช้ความรุนแรงข่มขืนกระทำชำเรา
- องก์สาม หวนกลับมาปัจจุบัน การเผชิญหน้าระหว่าง Antonio vs. Don Pasqual
- หลังเล่าเรื่องย้อนอดีตจบ Antonio กลับยังแอบมาหา Chocha และค้นพบความจริงว่า Don Pasqual ยังไม่สามารถละวางความหมกมุ่นลุ่มหลงใหล
- การเผชิญหน้า ดวลปืนระหว่าง Antonio vs. Don Pasqual
- ผลลัพท์ทำให้ Antonio ถูกจับกุมควบคุมขังคุก
- องก์สี่ การหลบหนีและออกเดินทางครั้งใหม่
- Chocha ใช้มารยาเย้ายวนผู้บัญชาการตำรวจเมือง Seville ให้ปล่อยตัว Antonio
- การจากลาของ Antonio และ Chocha พร้อมออกเดินทางครั้งใหม่
เทคนิคเล่าเรื่องย้อนอดีต (Flashback) ยุคสมัยนั้นยังเป็นวิธีการแปลกใหม่ ไม่ค่อยพบเห็นจากที่ไหน (แต่ก็ไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้เทคนิคนี้นะครับ) ทำให้ผู้ชม/นักวิจารณ์ไม่สามารถทำความเข้าใจเส้นเรื่องราวหนัง ทำไมจู่ๆ Don Pasqual ถึงตกหลุมรัก Concha แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับ Antonio หายตัวไปไหน? แต่เชื่อว่าผู้ชมสมัยนี้คงไม่มีปัญหานี้สักเท่าไหร่
สำหรับเพลงประกอบ ผู้กำกับ von Sternberg เลือกใช้เพียงบทเพลง Nikolai Rimsky-Korsakov: Capriccio Espagnol, Op.34 (1887) ถึงขนาดตั้งชื่อหนัง Capriccio Espagnol (ก่อนเปลี่ยนมาเป็น The Devil Is a Woman) โดยมอบหมายให้ John Leipold และ Heinz Roemheld เรียบเรียงใส่ใน Opening Credit และแทรกแซมอยู่ตามฉากต่างๆ
Capriccio on Spanish Themes มีทั้งหมด 5 ท่อน (Movement) แต่แบ่งเป็นสามท่อนแรก และสองท่อนหลัง ล้วนมีจังหวะสนุกสนาน สำหรับเป็นท่าเต้นรำในงานเทศกาล โดยนำแรงบันดาลใจจากดนตรีท้องถิ่นภูมิภาค Asturias (Traditional Asturian Music) ทางตอนเหนือของประเทศสเปน
- Alborada เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองสนุกสนาน ครึกครื้นเครง นำเข้าสู่วัฒนธรรมประเทศสเปนที่เต็มไปด้วยจังหวะ ลีลา ความยั่วเย้า และอารมณ์ลุ่มหลงใหล (Passion)
- Variazioni มีความเนิบนาบ วาบหวิว มอบบรรยากาศโรแมนติกของคู่รัก ให้จิตใจพริ้วไหว ล่องลอยไป สั่นสะท้านถึงทรวงใน
- Alborada#2 ท่วงทำนองเดียวกับท่อนแรก แต่ปรับเปลี่ยนเครื่องดนตรีบรรเลง ให้มีความรุกเร้าใจขึ้นกว่าเดิม
- Scena e canto gitano (แปลว่า Scene and Gypsy song) เริ่มต้นด้วยเสียงรัวกลอง นำเข้าสู่อะไรบางอย่าง ตามด้วยไวโอลินบรรเลงท่วงนองพริ้วไหว เต็มไปด้วย Passion ความเร่าร้อนทางอารมณ์ ค่อยๆทวีความรุนแรง กระแทกกระทั้นขึ้นเรื่อยๆ
- Fandango asturiano แทบจะต่อเนื่องจาก Scena e canto gitano บทเพลงสำหรับการเริงระบำที่เต็มไปด้วย Passion ค่อยๆทวีความเร่าร้อน รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ต่างที่ท่อนนี้จะดำเนินไปจนถึงจุดสูงสุด ช่วงท้ายเหลืออะไรก็ต้องใส่ให้หมด เต็มที่สุดเหวี่ยง ตายเป็นตาย วัดใจไปเลยจนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้าย
นอกจากนี้หนังยังมีอีกสองบทเพลง ขับร้องโดย Marlene Dietrich แต่งโดย Ralph Rainger, ทำนองโดย Leo Robin, แต่สตูดิโอ Paramount ตัดออกไปหนึ่งเพลง If It Isn’t Pain (Then It Isn’t Love) ทำให้หลงเหลือเพียง Three Sweethearts Have I ขับร้องขณะกำลังทำการแสดงในผับบาร์/ซ่องโสเภณีแห่งหนึ่ง
แม้ว่าฟุตเทจขณะขับร้องบทเพลง If It Isn’t Pain (Then It Isn’t Love) จะสูญหายไปแล้ว แต่ยังมีบันทึกเสียงที่หลงเหลืออยู่ ถูกทำเป็น Bonus Feature ใน Box Set ของ Criterion Collection น่าเสียดายผมหาคลิปคุณภาพดีกว่านี้มาให้รับชมไม่ได้
พฤติกรรมของหญิงสาว Concha Pérez เป็นสิ่งที่คนสมัยนั้นยังยินยอมรับไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่คาดหวังให้อิสตรีต้องปฏิบัติตามขนบกฎกรอบ ข้อบังคับทางสังคม ทำตัวเรียบร้อยดั่งผ้าพับไว้ อยู่ในศีลธรรมจรรยา เมื่อถูกสั่งอะไรก็ปฏิบัติตามโดยไม่โต้แย้งขัดขืน มีสภาพเหมือนตุ๊กตา สามารถจับขยับเคลื่อนไหว ไร้ซี่งอิสรภาพตามใจฉัน
มันผิดอะไรที่หญิงสาว Concha Pérez จะใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ ตามใจ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่สนกฎกรอบข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีสังคมที่ใครๆยีดถือปฏิบัติกัน แม้ในเรื่องของความรัก ย่อมสามารถบอกปัดปฏิเสธบุคคลที่ไม่ปรารถนา ปรับเปลี่ยนคู่ครองไม่ซ้ำหน้า จริงอยู่มันผิดกฎหมายที่ไปลวงล่อหลอก ชักใยใครคนอื่น แต่บุรุษผู้ชั่วช้า เพลย์บอย คาสโนว่า ใช้มารยาขืนใจหญิงสาว ก็พบเห็นมากมายถมไป
ในบรรดาบทบาทการแสดงของ Marlene Dietrich ตัวละคร Concha Pérez น่าจะใกล้เคียงแนวคิด อุดมคติ ตัวตนเองมากที่สุด! แม้แต่งงานมีบุตรสาวแต่ก็ยังโหยหาอิสรภาพ สามารถทำอะไรก็ได้ตามใจ ไม่ใคร่สนกฎกรอบทางสังคม หรือยินยอมศิโรราบอยู่ในกรงขังผู้ใด ถีงอย่างนั้นตั้งแต่เดินทางมาถีงยัง Hollywood เมื่อปี 1930 ก็ร่วมงานสรรค์สร้างภาพยนตร์เกือบทั้งหมดกับ Josef von Sternberg ถึงเวลาแล้วจะต้องก้าวต่อ เริ่มต้นการผจญภัยครั้งใหม่
ทีแรกผมครุ่นคิดว่าตัวละครที่เป็นตัวตายตัวแทนผู้กำกับ von Sternberg จะคือ Don Pasqual Costelar เพราะเคยมีอดีต ความหลัง สัมพันธ์รักกับตัวละครของ Dietrich (ปรนเปรอปรนิบัติทุกสิ่งอย่าง แต่ไม่เคยได้ครอบครองเรือนร่างหรือหัวใจ) แต่เราสามารถเหมารวม Antonio Galvan (เป็นตัวละครที่เสมือนอีกตัวตน ภาพสะท้อนในกระจกของ Don Pasqual) นักปฏิวัติหนุ่ม หัวก้าวหน้า กลับถูกตีตราจากสังคม(สตูดิโอ Hollywood)ว่าเป็นบุคคลอันตราย ต้องถูกจับกุม ควบคุมขัง หรือขับไล่ออกจากประเทศแห่งนี้ เลยได้ครอบครองรักกับ Concha Pérez แค่เพียงข้ามคืน ระยะเวลาสั้นๆ และร่ำลาจากกัน
แม้ตอนจบ Concha Pérez อ้างว่าจะหวนกลับไปหา Don Pasqual แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอยินยอมตอบตกลงแต่งงาน หรือครองคู่อยู่ร่วมฉันท์สามีภรรยา ยังคงต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ แค่ถ้ามีโอกาสก็หวนกลับมาพบเจอ ก็พร้อมใช้เวลาสองต่อสองร่วมกันอีก … หมายความว่า Dietrich สามารถละทอดทิ้งอคติต่อ von Sternberg (ที่เคยเกิดขี้นระหว่างสรรค์สร้าง The Scarlet Empress (1934)) ถ้าเขาอยากร่วมกันอีกหลังจากนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร น่าเสียดายที่วันนั้นไม่เคยหวนกลับมาถีง
ถ้ามองจากมุม von Sternberg การร่ำลาครั้งนี้อาจดูเศร้าๆซีมๆ ทั้งอนาคตเคว้งคว้าง (หมดสัญญาสตูดิโอ Paramount Pictures) ไม่รู้จะมีโอกาสได้สรรค์สร้างภาพยนตร์อีกหรือเปล่า (von Sternberg ยังอยู่ในวงการภาพยนตร์อีกนานนะครับ แต่จะไม่ประสบความสำเร็จไปมากกว่าตอนร่วมงานกับ Dietrich) ตรงกันข้ามสำหรับ Dietrich เต็มไปด้วยความระริกระรี้ ยินดีปรีดา เพราะต่อจากนี้จะมีโอกาสพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา เปิดโลกทัศน์การทำงานให้กว้างขึ้น ชีวิตเหมือนได้รับอิสรภาพ และสามารถกลายสภาพเป็น Concha Pérez อยากทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา
ความล้มเหลวของ The Scarlet Empress (1934) ทำให้สตูดิโอไม่คาดหวังอะไรกับ The Devil Is a Woman (1935) ถึงขนาดไม่มีการโปรโมท จัดงาน เชิญคนดังเข้าร่วมรอบฉายปฐมทัศน์ ผลลัพท์ก็ตามความคาดหมาย เสียงตอบรับจากนักวิจาณ์ค่อนข้างย่ำแย่ มองว่าหนังไม่ได้มีสาระประโยชน์ใดๆ เต็มไปด้วยพฤติกรรมเสื่อมเสีย ไร้ศีลธรรมจรรยา ‘caviar aestheticism and loose morals’ แถมเรื่องราวความรักก็ไม่ได้รับการเติมเต็ม ผู้ชมส่งเสียงโห่ไล่ หลายคนดูไม่จบก็เดินออกจากโรงภาพยนตร์
ระหว่างออกฉาย สถานทูตสเปนได้ส่งคำเรียกร้องขอต่อรัฐบาลสหรัฐและสตูดิโอ Paramount เพื่อให้ถอนหนังออกจากการฉาย เผาทำลายฟีล์มต้นฉบับ (Master Print) รวมถึงเรียกกลับฟีล์มที่จัดจำหน่ายต่างประเทศ เป็นเหตุให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกตีตรา ‘film maudit’ แปลว่า a curse film สาปสูญหายจากสารบบนานกว่าหลายทศวรรษ
โชคยังดีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้คือผลงานโปรดปรานของ Marlene Dietrich จึงแอบเก็บฟีล์มหนังไว้ในตู้เซฟธนาคาร เลยหลุดรอดพ้นการถูกทำลายล้าง สามารถนำออกฉายเทศกาลหนังเมือง Venice เมื่อปี 1959 และกลายเป็นต้นฉบับสำหรับปรับปรุง ฟื้นคืนสภาพ คุณภาพดียอดเยี่ยม แทบไร้รอยตำหนิขีดข่วน
ผมไม่แน่ใจว่าหนังได้รับการบูรณะแล้วหรือยัง แต่รวบรวมอยู่ใน Boxset ของ Criterion Collection ชื่อว่า Dietrich & von Sternberg in Hollywood มีทั้งหมด 6 เรื่อง คุณภาพถือว่ายอดเยี่ยม คมชัด ดีที่สุดแล้วกระมัง
ว่ากันตามตรงหนังแม้งไม่มีสาระห่าเหวอะไรเลย นอกจากความหมกมุ่น มักมาก จ่ายเงินไปเยอะก็อยากมีโอกาสครอบครองเป็นเจ้าของ แต่ผู้หญิงแบบ Marlene Dietrich ไม่มีทางจะยินยอมถูกควบคุมครอบงำโดยใคร มันจึงหลงเหลือเพียงความบันเทิงจากไดเรคชั่น งานสร้าง บรรยากาศหนัง และครุ่นคิดหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร-ผู้กำกับ von Sternberg น่าจะเป็นผลงานใกล้ตัวใกล้หัวใจที่สุดเรื่องหนึ่ง
แนะนำคอหนัง Feminist แนวโรแมนติก อิสตรีที่ไม่ยินยอมถูกซื้อใจ, นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ ชื่นชมชุดสวยๆ จำลองเทศกาลงาน Carnival ประเทศสเปน ออกมาได้สุดคลาสสิก, แฟนคลับ Marlene Dietrich และคลั่งไคล้ผลงานของผู้กำกับ Josef von Sternberg ไม่ควรพลาดเลยละ!
จัดเรต 15+ กับพฤติกรรมลวงโลก มักมาก หมกมุ่นในรัก ไม่รู้จักพอสักที
Leave a Reply