The Devils

The Devils (1971) British : Ken Russell ♥♥♥♥

ภาพยนตร์เรต X ถูกแบนในหลายๆประเทศ เพราะความสุดโต่งเหนือจริงของการล่าแม่มด พฤติกรรมเก็บกดทางเพศของแม่ชี หรือแม้แต่กษัตริย์ King Louis XIII ยังถูกตีความว่าเป็น Queer แต่ถ้าเราสามารถมองผ่านสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายเหล่านั้น ก็อาจพบเห็นสรวงสวรรค์(หรือตกนรกทั้งเป็น)

หนึ่งในโคตรภาพยนตร์ “Most Controversial Films of All Time” ถูกมองว่ามีความป่วยจิต รสนิยมย่ำแย่ (distasteful) น่ารังเกียจขยะแขยง ต่อต้านคริสตศาสนา (anti-Catholic) นำพามนุษย์สู่จุดตกต่ำสุดทางศีลธรรม

It is not anti-clerical —there’s hardly enough clericalism to be anti anymore— it is anti-humanity. A rage against cruelty has become a celebration of it. And in the end, when Russell’s cameras have watched Grandier burn at the stake, and have watched and watched, you weep not for the evils and the ignorance of the past, but for the cleverness and sickness of the day.

Charles Champlin นักวิจารณ์จาก Los Angeles Times

แต่ขณะเดียวกันนักวิจารณ์ที่สามารถมองหนังดั่งงานศิลปะเหนือจริง (Surrealist) ต่างยกย่องสรรเสริญให้เป็นโคตรผลงานระดับ Masterpiece ด้วยลักษณะจี้แทงใจดำ ‘provocative’ ท้าทายการใช้อำนาจ ความบิดเบี้ยวของศรัทธาศาสนา ข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครอยากยินยอมรับ คริสตจักรก็เฉกเช่นเดียวกัน!

The Devils is a harsh film—but it’s a harsh subject. I wish the people who were horrified and appalled by it would have read the book, because the bare facts are far more horrible than anything in the film.

Ken Russell

The Devils (1971) เป็นภาพยนตร์ที่มีความสุดโต่งมากๆเรื่องหนึ่ง แต่ผมมองไม่เห็นถึงประเด็น Anti-Christ, Anti-Clerical เลยสักนิด! ตรงกันข้ามผู้กำกับ Russell เป็นบุคคลมีความเชื่อมั่นศรัทธาศาสนาอย่างแรงกล้ามากๆ —แบบเดียวกับ Luis Buñuel— จึงพยายามชี้ให้เห็นความบิดเบี้ยวของสังคม สิ่งชั่วร้ายที่ซุกซ่อนเร้น เพื่อจักได้เป็นข้อคิดสติเตือนใจแก่มวลมนุษยชาติ


Henry Kenneth Alfred Russell (1927-2011) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Southampton, Hampshire บิดาเป็นคนชอบใช้ความรุนแรงกับมารดาจนเธอมีปัญหาทางจิต (Mentally Illness) ทำให้เขาต้องหลบหลีกหนีด้วยการรับชมภาพยนตร์ หลงใหลคลั่งไคล้ Die Nibelungen (1924), L’Atalante (1934), The Secret of the Loch (1934), นอกจากนี้ยังชื่นชอบการเต้นบัลเล่ต์ แต่พอโตขึ้นเข้าเรียนสาขาถ่ายภาพ Walthamstow Technical College (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ University of East London) จากนั้นทำงานเป็นตากล้องฟรีแลนซ์ ระหว่างนั้นกำกับหนังสั้น Amelia and the Angel (1959) จนมีโอกาสเข้าทำงานยังสถานีโทรทัศน์ BBC ถ่ายทำสารคดีหลายสิบเรื่อง กำกับภาพยนตร์ขนาดยาวครั้งแรก French Dressing (1964), เคยวางแผนจะดัดแปลงนวนิยาย A Clockwork Orange แต่ไม่ได้รับอนุญาตผ่านกองเซนเซอร์อังกฤษ, เริ่มมีชื่อเสียงจาก Women in Love (1969), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Devils (1971), The Boy Friend (1971), Tommy (1975), Altered States (1980) ฯลฯ

การได้พบเห็นบิดาใช้ความรุนแรง มารดามีปัญหาทางจิต เลยไม่แปลกที่ผลงานของ Russell จะเต็มไปด้วยสิ่งคลุ้มบ้าคลั่ง และความชื่นชอบด้านบัลเล่ต์ พัฒนาสไตล์ลายเซ็นต์ที่มีลักษณะคล้ายๆผู้กำกับ Federico Fellini เมื่อตอนทั้งสองมีโอกาสพบเจอหน้า คำทักทายระหว่างกันก็คือ “the Italian Ken Russell” และ “the English Federico Fellini”

ความสำเร็จของ Women in Love (1969) ที่ได้เข้าชิง Oscar ถึง 4 สาขา (Best Director, Best Actress, Best Adapt Screenplay, Best Cinematography) และส่งให้ Glenda Jackson คว้ารางวัล Best Actress ทำให้ชื่อผู้กำกับ Russell เป็นที่ต้องการของสตูดิโอใน Hollywood โดยทันที!

โปรดิวเซอร์ Robert Sole ในสังกัด United Artists ยื่นข้อเสนอแก่ผู้กำกับ Russell ให้ทำการดัดแปลงหนังสือประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง The Devils of Loudun (1952) เรียบเรียงโดย Aldous Hexley พื้นหลังศตวรรษที่ 17 ณ Loudon อาณาจักรฝรั่งเศส, บาทหลวง Urbain Grandier ถูกกล่าวหาโดยแม่อธิการ Sister Jeanne des Anges นิกาย Order of Saint Ursula อ้างว่าเขาใช้เวทย์มนต์ดำ ทำให้ตนเองแสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่ง แต่แท้จริงแล้วน่าจะด้วยเหตุผลการถูกปฏิเสธเป็นที่ปรึกษา (spiritual advisor) ให้กับคอนแวนซ์(อารามแม่ชี) เมื่อได้รับการพิจารณาไต่สวน ถูกตัดสินเผาไหม้ให้ตกตายทั้งเป็น วันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1634 … เหตุการณ์ดังกล่าวมีคำเรียกว่า “Loudun possessions”

หนังสือดังกล่าวได้ถูกดัดแปลงเป็นบทละครเวที The Devils โดย John Whiting ทำการแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ Aldwych Theatre ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1961 และมีโอกาสเดินทางสู่ Broadway เมื่อปี 1965 จำนวน 63 รอบการแสดง

When I first read the story, I was knocked out by it — it was just so shocking — and I wanted others to be knocked out by it, too. I felt I had to make it.

Ken Russell

สำหรับบทภาพยนตร์ Russell ทำการดัดแปลงโดยอ้างอิงจากต้นฉบับหนังสือ The Devils of Loudun (1952) ให้เหตุผลว่าบทละคร The Devils มีความอ่อนไหว ‘too sentimental’ มากเกินไป ขณะเดียวกันก็ทำการเพิ่มเติม-ตัดทอนหลายๆรายละเอียด เพื่อให้เรื่องราวมีความกระชัดรัดกุม

  • เพิ่มเติมในส่วนโรคระบาด รวมถึงการแต่งงานกับ Madeleine De Brou (บุคคลไม่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์)
    • ผู้กำกับ Russell หลังจากศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนั้น ค้นพบความเจ้าชู้ประตูดินของบาทหลวง Urbain Grandier เลยต้องการให้ตัวละครนี้เรียนรู้จักความรักที่แท้จริง
  • ตัดทิ้งเรื่องราวของ Sister Jeanne des Anges ภายหลังการเสียชีวิตของ Urbain Grandier
    • เพื่อลดทอนเวลา และให้ความสำคัญกับเรื่องราวบาทหลวงเป็นหลัก

แม้ในตอนแรกสตูดิโอ United Artists จะตอบรับโปรเจคนี้อย่างดี แต่หลังจากผู้บริหารได้อ่านบทหนังก็ถึงขั้นเบือนหน้าหนี ไม่ยินยอมอนุมัติงบประมาณตามที่ตกลงกันไว้ แถมการเตรียมงานสร้างก็เริ่มต้นไปหลายส่วน โชคยังดีที่ Warner Bros. เข้ามาอุ้มชูภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ได้ทัน เลยทำให้แผนงานสามารถดำเนินการต่อ


ภายหลังจากผู้ว่าการเมือง Loudun เสียชีวิตจากโรคระบาดห่าใหญ่ ทำให้บาทหลวง Urbain Grandier (รับบทโดย Oliver Reed) กลายเป็นบุคคลมีอำนาจสูงสุด แต่ความเจ้าชู้ประตูดิน ทำหญิงสาวตั้งครรภ์แล้วปฏิเสธความรับผิดชอบ นั่นสร้างความไม่พึงพอใจให้ผู้คนมากมาย

Sister Jeanne des Anges (รับบทโดย Vanessa Redgrave) แม่ชีหลังค่อมในสังกัด Ursuline แม้เบื้องหน้าพยายามสร้างภาพให้ดูดี แต่แท้จริงแล้วกลับมีอาการเพ้อคลั่งไคล้ ตกหลุมรักบาทหลวง Urbain Grandier แอบเฝ้ามอง จินตนาการช่วยตนเอง ต้องการอยู่เคียงชิดใกล้ แต่เมื่อถูกปฏิเสธไม่ยินยอมเป็นที่ปรึกษา (spiritual advisor) เลยแสร้งว่าคลุ้มบ้าคลั่ง กล่าวหาว่าเขาทำสัญญากับซาตาน


Robert Oliver Reed (1938-99) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Wimbledon, London มีศักดิ์เป็นหลานของผู้กำกับ Carol Reed, ใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่างไร้หลักแหล่ง รับจ้างทำงานทั่วไป เคยเป็นนักมวย คนขับแท็กซี่ บริกรโรงพยาบาล จนกระทั่งอาสาสมัครทหาร Royal Army Medical Corps ทำให้ค้นพบความสนใจด้านการแสดง เริ่มจากเป็นตัวประกอบภาพยนตร์ ซีรีย์โทรทัศน์ เป็นที่รู้จักจาก Sword of Sherwood Forest (1960), รับบทนำครั้งแรก The Curse of the Werewolf (1961), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Trap (1966), Oliver! (1968), Women in Love (1969), The Devils (1971), The Three Musketeers (1973), Tommy (1975), The Brood (1979), Lion of the Desert (1981), Castaway (1986), The Adventures of Baron Munchausen (1988), Funny Bones (1995), Gladiator (2000) ฯลฯ

รับบทบาทหลวง Urbain Grandier เป็นบุคคลที่รักมักที่ชังของใครๆ ชอบพูดคำคารมคมคาย สามารถลวงล่อหลอกสาวๆให้มีเพศสัมพันธ์ แต่เมื่อเธอตั้งครรภ์กลับทอดทิ้งขว้างอย่างไร้เยื่อใย จนกระทั่งตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง ต้องการปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่การแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามพิธีการ พอความล่วงรับรู้ถึงหูแม่อธิการ Sister Jeanne des Anges เลยทำการใส่ร้ายป้ายสี กล่าวหาว่าเขาทำสัญญากับปีศาจ เลยถูกควบคุมตัว โดนทัณฑ์ทรมาน และตัดสินโทษด้วยการเผาไหม้ให้ตกตายทั้งเป็น

ในตอนแรก Richard Johnson ผู้รับบท Grandier ฉบับละครเวทีแสดงความสนใจรับบทนำ แต่ภายหลังกลับถอนตัวออกไป ส้มหล่นใส่ Oliver Reed ซึ่งเคยร่วมงานผู้กำกับ Russell เรื่อง Women in Love (1969) พอได้รับการติดต่อก็ตอบตกลงทันที และยกให้ผลงานเรื่องนี้คือภาพยนตร์เรื่องโปรด(ที่ตนเองได้ทำการแสดง)

ผมไม่รู้สึกเลยว่า Reed มีความหล่อเหลาตรงไหน แต่ต้องยอมในความเจ้าเสน่ห์ โดยเฉพาะหนวดโค้งมน และคารมอันคมคาย สรรพสรรหาข้ออ้างที่แสดงถึงความรอบรู้ ทรงภูมิ ดูสูงส่ง นั่นคงทำให้สาวๆลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักใคร่ ยินยอมศิโรราบ พลีกายถวาย ขอแค่ได้ร่วมรักหลับนอนจะยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง

แต่ที่ผมชื่นชอบสุดๆคือเมื่อตอนถูกจับโกนศีรษะ อุว่ะ! ยังเห็นรอยเลือดไหลซิบๆ ยินยอมสูญเสียความหล่อเหลา นั่นแสดงถึงความมุ่งมั่น เอาจริงจังเอา พร้อมทุ่มเทให้กับการแสดง จนสามารถสร้างความโดดเด่นให้ตัวละคร ถึงจะไม่ใช่คนดีแต่ไม่มีอะไรสั่นคลอนศรัทธาต่อพระเจ้า ถึงอย่างนั้น Charisma ของ Reed กลับยังไม่น่าจดจำสักเท่าไหร่ … มันอาจต้องระดับ Laurence Olivier หรือ Richard Burton ถึงสามารถเล่นบทบาทนี้ได้อย่างน่าประทับใจ


Dame Vanessa Redgrave (เกิดปี 1937) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ ‘Triple Crown of Acting’ เกิดที่ Blackheath, London เป็นบุตรของ Sir Michael Redgrave และ Rachel Kempson ทำให้มีโอกาสคลุกคลีกับวงการละครเวทีตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงยัง Central School of Speech and Drama จากนั้นเข้าร่วมโรงละคร Shakespeare Memorial Theatre ติดตามด้วย Royal Shakespeare Company, ภาพยนตร์เรื่องแรก Behind the Mask (1958) ติดตามด้วย Morgan – A Suitable Case for Treatment (1966), A Man For All Seasons (1966), Blowup (1966), Camelot (1967), Isadora (1968), Mary, Queen of Scots (1971), Murder on the Orient Express (1974), Julia (1977) ** คว้ารางวัล Oscar: Best Supporting Actress, Little Odessa (1994), Mission: Impossible (1996), Atonement (2007) ฯ

รับบท Sister Jeanne des Anges แม่อธิการประจำคอนแวนซ์ Ursuline แอบตกหลุมรักบาทหลวง Urbain Grandier จนเกิดความหมกมุ่น นำไปครุ่นคิดเพ้อฝัน ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองจึงแสร้งทำเป็นคลุ้มบ้าคลั่ง แล้วชี้ตัวบอกว่าเขาได้ทำสัญญาปีศาจ ลวงล่อหลอกตนเองให้ลุ่มหลงจนมัวเมา … อัปลักษณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ

ในตอนแรกผู้กำกับ Russell อยากได้ Glenda Jackson ที่เคยร่วมงาน Women in Love (1969) แต่หลังจากอ่านบทก็ตอบปัดปฏิเสธโดยพลัน เพราะไม่อยากรับเล่นตัวละครหื่นกระหายระดับเดียวกันนั้นอีก

I don’t want to play any more neurotic sex starved parts.

Glenda Jackson

Redgrave ขณะนั้นถือว่ามีชื่อเสียงพอสมควรจากสารพัดเจ้าหญิง A Man For All Seasons (1966) เล่นเป็น Anne Boleyn, Camelot (1967) รับบท Guinevere, ล่าสุดก็ราชินี Mary, Queen of Scots (1971) เธอจึงกำลังมองหาการพลิกบทบาทครั้งสำคัญ

โอ้พระเจ้าช่วยทอดกล้วย ผมมีความตกตะลึงจนกรามค้าง กับความบ้าระห่ำทางการแสดงของ Redgrave ช่วงแรกๆสีหน้าเคร่งเครียด พยายามปิดกั้น เก็บกดดัน “Sexual Repression” เพียงจินตนาการเพ้อฝันอันสุดเหวี่ยง แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งมิอาจอดรนฝืนทนได้อีก ทุกสิ่งอย่างปะทุระเบิดออกมา ทั้งสีหน้าสายตา โดยเฉพาะข้อจำกัดทางร่างกาย (หลังค่อม) แสดงอาการกรีดกราย เหนือล้ำเกินคำบรรยาย … บางคนอาจบอกว่า “Over-Acting” แต่นั่นแหละครับคือโคตรการแสดงในหนังเหนือจริง (Surrealist)

ถ้าหนังไม่ถูกแบน หั่นฉากโน่นนี่นั่น และผู้คนสมัยนั้นเปิดใจรับชม สามารถเข้าถึงศาสตร์ศิลปะขั้นสูง ย่อมต้องส่งให้ Redgrave อย่างน้อยได้เข้าชิงทุกรางวัลสาขานักแสดงนำหญิง เป็นบทบาทที่ใช้ร่างกาย การเคลื่อนไหว ได้อย่างสุดเหวี่ยง คลุ้มบ้าคลั่ง ชวนให้นึกถึง Suspiria (2018) ขึ้นมาเลยละ!


ถ่ายภาพโดย David Watkin (1925-2008) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ หนึ่งในผู้บุกเบิกการทดลองใช้แสงสะท้อนฉาก (Bounce Light), ฝึกฝนการถ่ายระหว่างทำงาน Sounthern Railway Film Unit ตำแหน่งผู้ช่วยตากล้อง จนมีโอกาสเริ่มต้นถ่ายทำ Title Sequence ภาพยนตร์ Goldfinger (1964), ผลงานเด่นๆอาทิ The Knack …and How to Get It (1965), Help! (1965), The Devils (1971), The Three Musketeers (1973), Chariots of Fire (1981), Out of Africa (1985)**คว้ารางวัล Oscar: Best Cinematography

งานภาพเต็มไปด้วยลูกเล่นที่หลากหลาย เพื่อสร้างสัมผัสเหนือจริง (Surrealist) หลายๆสิ่งเลยดูไม่เป็นธรรมชาติ ทั้งๆที่พื้นหลังศตวรรษ 1630s แต่การออกแบบสถานที่ Loudon กลับมีความล้ำยุคสมัย เสื้อผ้าหน้าผม รวมถึงการสาดแสงสีรุ้ง ทุกสิ่งอย่างดู “Over-the-Top” เว่อวังอลังการ … แต่เราต้องเข้าใจว่าทั้งหมดนี้คือความตั้งใจของผู้สร้างนะครับ

ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Russell ที่ใครต่อใครกล่าวว่ามีลักษณะละม้ายคล้าย Felliniesque นั่นเพราะแทบทุกช็อตฉากจะต้องมีบางสิ่งขยับเคลื่อนไหว ถ้าไม่ใช่นักแสดง/ตัวประกอบเดินไปเดินมา ก็มักเป็นกล้องที่ขยับเลื่อนดำเนินไป แลดูเหมือนการโยกเต้นเริงระบำ

ถ้ามองอย่างผิวเผินภาพยนตร์ของ Russell-Fellini ก็คงพอมองเห็นความละม้ายคล้ายกัน แต่ไดเรคชั่นของทั้งสองนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง!

  • หนังของ Fellini จะนิยมการพากย์เสียงทับภายหลังถ่ายทำ เพื่อว่าในกองถ่ายจะได้เปิดเพลง ให้นักแสดงขยับเคลื่อนไหวตามจังหวะอย่างพร้อมเพรียง และตามคำสั่งของผู้กำกับ
  • ขณะที่ Russell เหมือนจะมีการซักซ้อมเตรียมการ กำหนดทิศทางขยับเคลื่อนไหวไว้อย่างชัดเจน แต่ในลักษณะเหมือนการโยกเต้นเริงระบำ

ผมสังเกตว่าการขยับเคลื่อนไหวของนักแสดง-ตัวประกอบ มักเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย แต่ขณะเดียวกันก็มีทิศทางดำเนินไปอย่างชัดเจน บางครั้งทำการโยกเต้น หรือแสดงอาการคลุ้มบ้าคลั่ง (ที่เหมือนการเริงระบำ) ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากรับชมภาพยนตร์ Musical … ผลงานเกินกว่าครึ่งของผู้กำกับ Russell ก็มักเกี่ยวกับ ‘The Music Lovers’ สะท้อนความเพ้อฝันวัยเด็กที่เคยอยากเป็นนักเต้นบัลเล่ต์


Production Design ของหนังมีความตื่นตระการตาเป็นอย่างมากๆ นักออกแบบ Derek Jarman ใช้เวลาออกแบบและก่อสร้างนานกว่าสามเดือน (ยังสตูดิโอ Pinewood Studios) สังเกตว่าอาคารบ้านช่องจะมีรูปทรงเรขาคณิต รับอิทธิพลจากโคตรหนังเงียบ Metropolis (1927) ของผู้กำกับ Fritz Lang ซึ่งมีความเป็น Modernistic หรือ Futuristic มากกว่าจะเน้นความสมจริงจากพื้นหลังศตวรรษ 1630s

และแทนที่จะใช้อิฐดินเผา(สีส้มๆ)กลับเป็นปูนปาสเตอร์ก่อรูปทรงสี่เหลี่ยม (ให้เหมือนก้อนอิฐ) ทำให้ได้พื้นผนังสีขาว แล้วทาขอบสีดำให้มีแลดูเหมือนกำแพงอิฐ (แต่ผมรู้สึกเหมือนต้องการสื่อถึงความชั่วร้าย (สีดำ) แทรกซึมอยู่ทุกแห่งหน) เพื่อเวลาระเบิดกำแพง(และทำลายฉาก)จะไม่ต้องใช้ไดนาไมท์จำนวนมาก (เพราะปูนปาสเตอร์ไม่ได้มีความแข็งแกร่งทนทานเหมือนอิฐดินเผา)

เกร็ด: ส่วนช็อตถ่ายจากภายนอกเมือง Loudon ใช้สถานที่ Bamburgh Castle, Northumberland

King Louis XIII (1601-43) ขึ้นเป็นกษัตริย์ตั้งแต่ก่อนอายุครบ 9 พระชันษา (เพราะพระบิดา Henry IV ถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อปี ค.ศ. 1609) โดยพระมารดา Marie de’ Medici สำเร็จราชการแทนจนถึงปี ค.ศ. 1617 แต่ด้วยความขี้เกียจคร้าน สันหลังยาว เลยแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการคนใหม่ Charles de Luynes ระหว่างปี 1617–21, ต่อด้วย Cardinal Richelieu ตั้งแต่ปี 1624–42

Cardinal Richelieu พยายามประจบสอพลอ King Louis XIII ด้วยสองวัตถุประสงค์หลักๆ ประกอบด้วย

  • ต้องการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางฝรั่งเศส (Centralization of Power)
  • และต่อต้านราชวงศ์ Habsurg ขณะนั้นปกครอง Austria และ Spain เป็นเหตุให้ราชอาณาจักรฝรั่งเศสเข้าร่วมสงคราม Thirty Years’ War (1618–48)

แม้ตามประวัติศาสตร์ King Louis XIII จะทรงอภิเสกสมรสกับ Anne of Austria พระธิดาของ King Philip III of Spain เมื่อปี ค.ศ. 1615 และประสูติพระโอรสถึงสองพระองค์ แต่ก็มีอีกแหล่งข่าวบอกว่าทรงมีรสนิยมรักร่วมเพศ (Homosexual) ซึ่งหนังก็นำมาขยับขยายกลายเป็นอารัมบท การแสดงละครเพลงที่อาจสร้างความระทมขมขื่นให้พวก Homophobia (อาการเกลียดหรือกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ)

คริสตจักรยุคสมัยนั้น ผมคุ้นๆว่าเต็มไปด้วยอคติต่อบุคคลที่รสนิยมรักร่วมเพศ แต่เมื่อ King Louis XIII ทรงแสดงออกอย่างชัดเจนขนาดนี้ หนังก็จงใจทำให้ Cardinal Richelieu ต้องอดรนทนรับชมการแสดงดังกล่าว เพื่อโอกาสในการประจบสอพลอ แม้พยายามเบี่ยงเบนหน้าหนี หาวแล้วหาวอีก แต่ก็ต้องปรบมือชื่นชม … เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ มนุษย์ก็ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง

แซว: การแสดงชุดนี้ทำให้ผมนึกถึงภาพวาด The Birth of Venus (1484–86) ผลงานของจิตรกรชาวอิตาเลี่ยน Sandro Botticelli นำเสนอภาพวาดของเทพี Venus มาถึงชายฝั่งหลังจากเพิ่งถือกำเนิดขึ้นบนโลก ก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยทันที … ปัจจุบันภาพวาดจัดแสดงอยู่ที่ Uffizi Gallery, Florence

THE DEVILS แอบบอกใบ้ด้วยการใส่ตัว ‘s’ ว่ามีมากกว่าหนึ่งคน เมื่อตอนปรากฎชื่อหนัง สังเกตว่าก็จงใจถ่ายพื้นหลังให้เห็นสองตัวละคร King Louis XIII และ Cardinal Richelieu (ก็สื่อตรงๆว่าสองบุคคลนี้ต่างคือ The Devils) ซึ่งต่างเป็นบุคคลผู้มีอำนาจสูงส่ง ล้นฟ้า สามารถควบคุมครอบงำ กำหนดชีวิตประชาชน ออกคำสั่งใต้ฝ่าละอองทุลีพระบาท

ขณะที่แม่ชีคนอื่นๆแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ถึงความสนใจในบาทหลวง Urbain Grandier รวมหัว ต่อตัว ปืนป่ายผนังกำแพงเพื่อโอกาสชื่นเชยชม ยังหน้าต่างช่องว่างเบื้องบน

ตรงกันข้ามกับแม่อธิการ Sister Jeanne des Anges แอบเข้าไปในห้องคุมขังชั้นล่าง มองผ่านซี่กรงขัง แล้วแสดงออกพฤติกรรมระริกระรี้ไม่ต่างจากบรรดาแม่ชีในสังกัด … แล้วยังมีหน้าไปสั่งลงโทษพวกเธอที่แสดงพฤติกรรมดังกล่าวอีกนะ นี่สะท้อนความจอมปลอม ปอกลอก ‘ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง’ แถมเร่าร้อนรุนแรงกว่าหลายเท่าตัว!

การแสดงออกของแม่อธิการ แฝงนัยยะอย่างชัดเจนถึงความพยายามปกปิด ซุกซ่อนเร้นอารมณ์ ไม่สามารถเปิดเผย ‘sexual repression’ ออกมาให้ใครพบเห็น ทำได้เพียงเพ้อคลั่งจินตนาการ (ราวกับบาทหลวง Urbain Grandier สามารถเดินบนพื้นผิวน้ำ) และในความเพ้อฝันนั้น ตนเองไม่ใช่คนหลังค่อม เป็นหญิงสาว ผมยาวสรวย (ตรงกันข้ามภาพลักษณ์แม่ชีที่จะต้องโกนศีรษะ)

แต่ในจินตนาการครั้งแรกนี้ Sister Jeanne des Anges ยังมีความตระหนักถึงสภาพ(หลังค่อม)ของตนเอง เลยสามารถหยุดยับยั้งชั่งใจ หวนกลับฟื้นคืนสติ ปลุกตื่นขึ้นจากความเพ้อฝัน(ร้าย)

ช่วงประมาณปี 1629-30 มีข่าวลืออย่างหนาหูว่า Philippe Trincant (รับบทโดย Georgina Hale) บุตรสาวของ Louis Trincant อัยการของ King Louis XIII ได้ตั้งครรภ์/คลอดบุตรชาย โดยเชื่อกันว่าบิดาคือบาทหลวง Urbain Grandier เพราะเป็นจอมล่อลวง เสือผู้หญิง มีความสัมพันธ์กับสาวๆแทบไม่ซ้ำหน้า

ถ้าเป็นภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ มักนำเสนอพระเอกไร้ตำหนิ สมบูรณ์แบบ แต่ผู้กำกับ Russell พยายามแสดงให้เห็นว่าบาทหลวง Urbain Grandier ก็หาใช่คนดีเลิศประเสริญศรี นำเอาข้ออ้างคำสอนศาสนามาบิดเบือนเพื่อตอบสนองตัณหาตนเอง (เพื่อจะสื่อว่าชายคนนี้ก็มนุษย์คนหนึ่ง มีรัก-โลภ-โกรธ-หลง) แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็มิได้ทำความผิดถึงขั้นต้องถูกแผดเผาไหม้ ตกตายทั้งเป็นเช่นนั้น!

สิ่งน่าฉงนมากๆกับภาพแรกนี้คือใบหน้าของหญิงสาว ไม่รู้เหตุผลทางวัฒนธรรมยุคสมัยนั้นหรืออย่างไรที่ต้องโบ๊ะหน้าขาว แต่มันสร้างความหลอกหลอนชิบหาย! ราวกับปีศาจ ยัยตัวร้าย ไม่สมควรเข้าใกล้ … แต่ถึงขนาดร่วมรักหลับนอน และทำเธอตั้งครรภ์ ก็สมควรแล้วละที่จะลงนรกหมกไหม้

สังเกตว่าเมื่อบาทหลวง Urbain Grandier รับรู้ว่าหญิงสาวตั้งครรภ์ ก็พลันลุกขึ้น สวมเสื้อผ้า ปัดแต่งหวีผม ไม่ยินยอมหันมองหน้า สบตา ทอดทิ้งไว้เบื้องหลังโดยทันที! เรียกว่าบอกปัด ปฏิเสธความรับผิดชอบใดๆ ปล่อยให้เป็นบัญชาสวรรค์เบื้องบน เป็นบุรุษที่บัดซบจริงๆ

ตามบันทึกประวัติศาสตร์ (รวมถึงนวนิยาย The Devils of Loudun (1952)) ไม่มีการกล่าวถึงโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คน รวมถึงนักวิทยาศาสตร์/เล่นแร่แปรธาตุ (Alchemist) แต่ผมครุ่นคิดว่าผู้กำกับ Russell ต้องการสื่อนัยยะเชิงนามธรรม ถึงความหวาดกลัวในเรื่องของแม่มด ปีศาจ ที่สามารถแพร่กระจาย(เหมือนโรคระบาด)ไปทั่วทุกสารทิศ ยุคสมัยนั้นยังไม่แพทย์ หรือองค์ความรู้ใดๆ สามารถรักษาอาการเจ็บป่วย รวมถึงความเชื่อผิดๆของมนุษย์

จระเข้ บอกตามตรงผมก็ไม่รู้สื่อถึงอะไร ฟังจากคำอธิบายของนักเล่นแร่แปรธาตุ บอกว่าช่วยในการไหลเวียนโลหิต เพราะมันเป็นสัตว์เลือดเย็น จักช่วยดูดซับไอความร้อนออกจากร่างกาย ประมาณนั้นกระมัง? ซึ่งภายหลังเจ้าจระเข้ตัวนี้ได้กลายเป็นโล่ เกราะกำบังชั้นดี ถึงขนาดทำลายอาวุธดาบของบุคคลผู้อาฆาตมาดร้ายบาทหลวง Urbain Grandier เพราะกระทำบุตรสาวตั้งครรภ์ (แทนความหนังเหนียว+เลือดเย็นของตัวละครได้เป็นอย่างดี)

สองช็อตนี้นำเสนอความแตกต่างในการปฏิบัติต่อหญิงสาวของบาทหลวง Urbain Grandier

  • ฝั่งซ้ายกับ Philippe Trincant ที่ไม่ได้ตกหลุมรัก จึงมีเพียงความทนทุกข์ทรมาน และหนทางออกสำหรับเลิกราหย่าร้าง
  • ฝั่งขวากับ Madeleine de Brou คือบุคคลที่เขาเพ้อใฝ่ฝัน สักวันจะต้องแต่งงานต่อหน้าพระเป็นเจ้า (อยู่ฝั่งแท่นบูชา)

จริงๆยังมีอีกช็อตของสำหรับหญิงสาวอีกคน ที่เพิ่งมาสารภาพบาปเมื่อวาน แล้วยังกลับมาวันนี้อีก (ชัดเจนว่าต้องการเกี้ยวพาราสีบาทหลวง Urbain Grandier) เลยถูกบอกปัดปฏิเสธ … เธอยืนอยู่ตำแหน่งเดียวกับ Philippe Trincant แต่กล้องถ่ายติดภาพฝูงชน สามารถสื่อถึงเธอคือบุคคลทั่วไป ไม่ได้อยู่ในความสนใจของเขา

ผมแอบแปลกใจมาตรฐานของกองเซนเซอร์จริงๆนะ สั่งตัดฉากข่มขืนรูปปั้นพระเยซูคริสต์ แต่กลับปล่อยผ่านจินตนาการร่วมรักระหว่างแม่อธิการ Sister Jeanne des Anges กับบาทหลวง Urbain Grandier ในคราบอวตารพระเยซูคริสต์ ได้ยังไงกัน???

นี่คือพัฒนาการ(จินตนาการ)ของแม่อธิการที่ตกต่ำลง จากเคยยังมีสติหยุดยับยั้งชั่วใจ (ฉากก่อนหน้านี้เลยยังถ่ายทำด้วยฟีล์มสี) มาครั้งนี้เหมือนเริ่มไม่สามารถควบคุมตนเอง (เลยกลายเป็นภาพขาว-ดำ) ต้องได้รับความเจ็บปวดจากการเอาไม้กางเขนทิ่มแทงมืดตนเอง (เหมือนตอกตะปูบนมือของพระเยซูบนไม้กางเขน) ถึงกลับฟื้นคืนสติขึ้นมา

แซว: เรื่องการแลบลิ้นเลียๆ ต้องถือว่าทำการเคารพคารวะ L’Age d’Or (1930) ของผู้กำกับ Luis Buñuel ไปในตัว

กว่าจะมาเฉลยว่าเมื่อตอนต้นเรื่อง บรรดาทาสทั้งหลายกำลังแบกลากอะไรเข้ามายังเมือง Loudun ค่อยค้นพบว่าคือกงล้อมนุษย์ (เอิ่ม คือผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคืออะไร เท่าที่หาข้อมูลได้ใกล้เคียงสุดคือ Medieval Crane) สำหรับฉุดกระชาก ทลายกำแพงเมืองตามคำสั่ง Baron de Laubardemont ได้รับมอบหมายจาก Cardinal Richelieu

ส่วนกรงล้อที่เห็นตั้งอยู่ตามเส้นทางนอกเมืองนั้น คือเครื่องทรมานเรียกว่า The Wheel (หรือ Catherine Wheel) จับมนุษย์ผูกมัดไว้แล้วนำไปตากแดดจนเสียชีวิต กลายเป็นอาหารของอีแร้งกา ไม่ก็เน่าเปื่อยผุผอง ส่งกลิ่นตลบอบอวลไปทั่ว

นี่เป็นฉากที่นำเสนออิทธิพลของ Cardinal Richelieu ที่มีต่อ King Louis XIII โดยการให้คำตอบ Yes! Yes! Yes! อนุญาตทำตามคำขอแทบทุกสิ่งอย่าง ยกเว้นคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับผู้ปกครองคนก่อนของ Loudun เป็นครั้งเดียวที่ตอบ No! ขั้นเด็ดขาด

ทุกครั้งที่ King Louis XIII พูดตอบ Yes! แต่ความสนใจกลับมีเพียงเจ้านกสีดำ (น่าจะนัยยะเดียวกับ ‘แกะดำ’) เสียงปืนดัง ลั่นเท่ากับหนึ่งชีวิตที่จบสิ้นลง (= การได้กำจัด ‘แกะดำ’ สิ่งขวางหูขวางตาในวิสัยทัศน์ของ Cardinal Richelieu)

การแต่งงานที่ถูกต้องตามหลักศาสนาคริสต์นั้น จำเป็นต้องมีบาทหลวงและประจักษ์พยาน กล่าวคำสัตย์สาบาน แลกแหวน จุมพิต แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าบาทหลวงและเจ้าบ่าวคือคนๆเดียวกันเลยได้ไหม (ส่วนประจักษ์พยานพวกเขาก็เป็นตุเป็นตะว่าให้พระเยซูคือผู้รับรู้เห็น … แต่จริงๆก็มีคนแอบดู น่าจะใช้ได้อยู่กระมัง)

เอาว่ามันคงไม่ใช่การแต่งงานที่ถูกต้องตามหลักศาสนาสักเท่าไหร่ แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่ามันมีความจำเป็นที่ต้องทำตามพิธีรีตรองขนาดนั้นเชียวหรือ? ถ้าคนสองรักกัน มันก็ไม่มีอะไรสามารถกีดขวางกั้นได้หรอกนะ

ทีแรกผมคาดเดาว่า Cardinal Richelieu อาจพิการเดินไม่ได้ แต่เห็นยืนบนรถลากฉากนี้ เลยตระหนักถึงความขี้เกียจสันหลังยาว จะก้าวเดินยังต้องให้แม่ชีลากจูง (นี่ก็ตั้งแต่เมื่อครั้นรับชมการแสดงของ King Louis XIII)

แต่ฉากนี้ไม่ใช่แค่ Cardinal Richelieu ที่น่าตกตะลึง สังเกตว่ามีการนำเอาเอกสาร หรือก็ไม่รู้หลักคำสอนศาสนา ยัดใส่กรงขัง ปิดล็อก ลงกลอน เหมือนจะสื่อว่าสิ่งเหล่านั้นต้องถูกปกป้อง เก็บรักษา หรือจะมองว่าเป็นการปิดกั้น ไม่ให้ใครอื่นสามารถเข้าถึงโดยง่าย … ส่วนตัวมองว่าเป็นการปิดตาย/ขังลืม/เก็บฝังองค์ความรู้ด้านศาสนา เพื่อเปลี่ยนมาใช้ข้ออ้างศีลธรรมที่ตอบสนองความสนใจของตนเอง

นี่เป็นฉากที่สร้างบรรยากาศขุมนรกได้อย่างน่าสะพรึง ด้วยการสาดแสงลอดผ่านตะแกรงเล็กๆ ในห้องที่ปกคลุมด้วยความมืดมิด บรรดาบุคคลผู้เต็มไปด้วยอคติต่อบาทหลวง Urbain Grandier ได้มารวมตัว สุมหัว จับจ้องมองพฤติกรรมอันต่ำตม และพร้อมจะย่ำเหยียบ เริ่มต้นหาหนทางขับไล่มารผจญ

ผมไม่คิดยุคสมัยนั้นจะมีแว่นตาแฟชั่นแบบที่บาทหลวง Pierre Barre (รับบทโดย Michael Gothard) สวมใส่อยู่นี้หรอกนะ (ตัวจริงของ Gothard ก็สวมใส่แว่นนี้แบบนี้อยู่แล้ว) ทั้งยังถ้อยคำสนทนา รวมถึงลีลา/วิธีการไล่ผีก็มีความ Rock & Roll เหนือจริงเกินคำบรรยาย!

ความโคตรๆเซอร์เรียล (Surreal) ของฉากนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปไม่ได้ – impossible (แม่อธิการไม่ได้ถูกผีเข้าสิง) ที่จักแปรสภาพให้กลายเป็นไปได้ – possible (แม้ไม่ได้ถูกผีเข้าสิง แต่ก็มีสภาพไม่ต่างจากถูกผีเข้าสิง) นี่คือความบิดเบี้ยวของการล่าแม่มด เพราะไม่มีใครพิสูจน์อะไรได้ จึงเพียงใส่ร้ายป้ายสี โบ้ยป้ายความผิด เมื่อถูกทัณฑ์ทรมานจักทำให้ใครต่อใครยินยอมรับสารภาพ(ที่ไม่ได้ก่อ)

บาทหลวง Urbain Grandier อาจไม่ใช่บุคคลที่ดีนัก นิสัยกลับกลอกปลอกลอก ลวงล่อหลอกหญิงสาว ปฏิเสธความรับผิดชอบ บิดเบือนคำสอนศาสนา ฯลฯ แต่เมื่อตกหลุมรัก Madeleine de Brou ก็พร้อมปรับเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง ร้องขอให้พระเจ้าอประจักษ์พยาน ต่อจากนี้จะพยายามกลับตัวเป็นคนใหม่

ภาพช็อตนี้ค่อนข้างคลุมเคลือว่าคือจินตนาการของบาทหลวง Urbain Grandier หรือระหว่างฮันนีมูนกับ Madeleine de Brou กล้องค่อยๆเคลื่อนถอยหลัง/ซูมออกจากทั้งสอง จนพบเห็นเทือกทิวเขาตั้งตระหง่านด้านหลัง มนุษย์ช่างกระจิดริดเมื่อเทียบกับโลกและจักรวาลที่พระเจ้าสร้างขึ้นมา (หรือจะตีความว่าการได้รับรู้จักความรัก ทำให้บาทหลวง Urbain Grandier ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า)

มันมีอะไรอยู่ในตลับ? King Louis XIII สวมหน้ากากปลอมตัวมาล่อหลอกบาทหลวง Pierre Barre และแม่ชีอธิการ Sister Jeanne des Anges อ้างว่าภายในนั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โลหิตพระเยซูคริสต์ นั่นทำให้ทั้งคู่ดิ้นพร่านชักกระแด่วๆ ทำเป็นสัมผัสได้ถึงพลังเหนือธรรมชาติ แต่พอเปิดออกมากลับพบเพียง …

นี่เองทำให้ King Louis XIII ตระหนักว่าทุกสิ่งอย่างบังเกิดขึ้นล้วนคือการเล่นละคอนตบตา แสร้งว่าคลุ้มคลั่ง กลายเป็นบ้า เพื่อใส่ร้ายป้ายสีบาทหลวง Urbain Grandier และเมื่อเขาสูญสิ้นชีวิต กำแพงเมือง Loudun ก็จักถูกทำลายย่อยยับเยิบ

ผมไม่ค่อยอยากแคปรูปแม่ชีเปลือยกาย ข่มขืนไม้กางเขน/พระเยซูคริสต์ เลยนำมาแค่ภาพช่วยตนเองกับเชิงเทียน ซึ่งเราสามารถตีความในเชิงสัญลักษณ์ เพศสัมพันธ์คือการร่วมตัวระหว่างคนสองให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน สอดคล้องคำสอนศาสนาที่ว่า ‘พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา’

คือเราต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่หนังเรื่องนี้ที่ ‘blasphemous’ แต่คือพฤติกรรมของแม่ชี ที่บิดเบือดหลักคำสอนศาสนา ‘พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา’ ด้วยการร่วมรัก ข่มขืน มีเพศสัมพันธ์กับวัตถุ (Fetishism) ที่เป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์ และการสำเร็จความใคร่ ก็ทำให้พวกเธอเหล่านั้นได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์

หนั่งในสองครั้งที่บาทหลวง Urbain Grandier ได้เผชิญซึ่งๆหน้ากับแม่อธิการ Sister Jeanne des Anges สอบถามว่าตนเองทำผิดอะไร เธอตอบว่าพฤติกรรมนอกรีต (Heresy) ทั้งๆพิธีไล่ผีในโบสถ์แห่งนี้ต่างหากสมควรเรียกว่านอกรีต! เขาเลยโดยควบคุมตัวเพื่อนำไปพิจารณาคดี

แซว: สองตัวละครหลักของหนัง ตลอดทั้งเรื่องมีโอกาสเผชิญหน้ากันแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แอบชวนให้นึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Heat (1995) [จริงๆก็มี Public Enemies (2009) ของผกก. Michael Mann อีกเรื่อง] ที่สองพระเอกพบเจอ พูดคุยกันแค่ไม่กี่เสี้ยวนาที

ณ ห้องพักของบาทหลวง Urbain Grandier จริงๆสองภาพนี้คนละช่วงเวลา ก่อน-หลังขึ้นการพิจารณาคดีความ แต่ต่างแฝงนัยยะเดียวกันถึงความสูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน

  • รูปปั้น ภาพวาด งานศิลปะ ที่อยู่ในห้องพักของบาทหลวง Urbain Grandier ได้ถูกทหารของ Baron de Laubardemont ทุบเสียหาย พังทลาย หมดสิ้นสภาพ แฝงนัยยะถึงการสูญเสียเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เพราะเมื่อเมือง Loudun ถูกรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางฝรั่งเศส (Centralization of Power) ก็จักสูญเสียความเป็นตัวตนเองไปหมดสิ้น!
    • การทุบทำลายนี้สิ่งของเหล่านี้ (จุลภาค) ยังล้อกับการระเบิดกำแพงเมือง (มหภาค) ภายหลังจากบาทหลวง Urbain Grandier ถูกแผดเผาหมดไหม้ในกองเพลิง
  • บาทหลวง Urbain Grandier ถูกจับโกนศีรษะ หนวดเครา แต่เนื่องจากไม่หลงเหลือกระจก จึงได้เพียงนำถาดใส่น้ำล้างเท้า (แสดงถึงความตกต่ำ) ส่องมองดูเงาอันเลือนลาง ก่อนสูญเสียอัตลักษณ์ตัวตน เหลือเพียงร่างกายอันเปลือยเปล่า

นี่เป็นอีกครั้งสุดท้ายที่บาทหลวงนักโทษ Urbain Grandier เผชิญซึ่งๆหน้ากับ Sister Jeanne des Anges ระหว่างกำลังลากพา/ประจานไปทั่วเมือง แล้วถูกเทกลิ้งลงไป’นอน’กองบนพื้น สนทนากับแม่อธิการ’ยืน’อยู่ด้านหลังกรงขัง ฉันไม่สามารถร้องขอให้เธอยกโทษเพราะไม่ได้ทำผิดอะไร คงมีแต่พระเป็นเจ้าที่จะสามารถให้อภัย … เลยถูกตอบกลับปีศาจ! (นี่น่าจะกำลังกล่าวถึงตนเองอยู่กระมัง)

จะว่าไปการถูกใส่ร้ายป้ายสี ทัณฑ์ทรมานของบาทหลวง Urbain Grandier แทบจะไม่ต่างจากพระเยซูคริสต์ เพียงแต่สุดท้ายถูกแผดเผามอดไหม้ หลงเหลือเพียงโครงกระดูกดำ

ระหว่างที่บาทหลวง Urbain Grandier กำลังถูกแผดเผาอยู๋ในกองเพลิง บรรดาแม่ชีก็แสดงความเพลิดเพลิง เริงระบำ โยนเต้นบริเวณสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่ นั่นน่าจะคือ Leviathan ปีศาจจากทะเลลึก สัญลักษณ์ของความชั่วร้าย (ตามความเชื่อของชาวคริสต์) ไม่มีทางที่มนุษย์จะสามารถเอาชนะได้ … หรือก็คือบาทหลวงผู้พ่ายแพ้ต่อภัยพาล

Your freedom is destroyed also!

หลายคนอาจรู้สึกขัดแย้งต่อคำพูดของบาทหลวง Urbain Grandier เพราะวินาทีที่เขาถูกเผามอดไหม้ กำแพงเมือง Loudun ก็ถูกระเบิดทำลายล้าง ทำให้ดินแดนแห่งนี้ราวกับได้รับเสรีภาพ! แต่ความหมายแท้จริงคือการสูญเสียสิ่งยึดถือมั่นทางศีลธรรม เพราะเมื่อมนุษย์สามารถกระทำสิ่งใดๆโดยไม่ใคร่คำนึงถึงอะไร ก็จักหมดสิ้นโอกาสหลังความตาย ปิดประตูสวรรค์ ตกนรกมอดไหม้

ภายหลังจากบาทหลวง Urbain Grandier ถูกแผดเผาไหม้กลายเป็นเถ้าถ่าน Baron de Laubardemont นำอัฐิสีดำ (น่าจะต้องการสื่อถึงความชั่วร้ายที่ฝังรากลึก คล้ายๆสำนวนไทย ‘เข้ากระดูกดำ’) มาเป็นของที่ระลึกให้แม่อธิการ Sister Jeanne des Anges ใช้ในการช่วยเหลือตนเอง (โอบรับความชั่วร้ายดังกล่าวเข้ามาในตนเอง) … พบเห็นเฉพาะ Delete Scene

แซว: ปกติแล้วการเผาไม่ได้ทำให้อัฐิเปลี่ยนเป็นสีดำนะครับ (มันควรจะมีเหมือนโครงกระดูกทั่วๆไป) แต่ในกรณีนี้น่าจะเกิดจากเขม่าควัน กองฟางที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ถึงอย่างนั้นแค่นำไปล้างก็ทำให้สะอาดเอี่ยมอ่อง

แซว2: ผมแอบสงสัยเล็กๆว่านี่อาจไม่ใช่อัฐิของ Urbain Grandier อาจเป็นโครงกระดูกสุนัข/อะไรสักอย่างที่ Baron de Laubardemont เก็บเอามาจากกองเพลิง เพื่อล้อกับตลับเปล่า(แสร้งว่าคือโลหิตของพระเยซูคริสต์)ของ King Louis XII

ภาพสุดท้ายของหนังคือกำแพงเมืองที่พังทลาย (มหภาค, วัตถุ/กายภาพ), Madeleine de Brou ก้าวเดินอย่างหมดสิ้นหวังอาลัย (จุลภาค, มนุษย์/จิตใจ), ในสภาพฟีล์มขาว-ดำ ถูกทำให้หมองหม่นๆ ไร้สีสัน ขาดชีวิตชีวา! (ภาพยนตร์, สร้างความรวดร้าวระทมให้กับผู้ชม)

ผมตีความกำแพงเมือง Loudun คือกำแพง’ศีลธรรม’ที่คอยปกปักษ์รักษา ทำให้ชาวคริสต์มีความเป็นมนุษย์! แต่เมื่อถูกปีศาจ/ซาตาน บุกเข้ามาพังทำลายล้าง กลับกลอกหลักคำสอนศาสนา แม้ช็อตนี้ให้สัมผัสของเสรีภาพ แต่ก็ชวนให้ตั้งคำถามถึงถนนหนทาง ดำเนินไปไหน? เมื่อใครอื่นมารุกรานจะปกป้องตนเองเช่นไร? แล้วมนุษย์จะยังคงหลงเหลือ’ความเป็นมนุษย์’อยู่หรือไม่?

ตัดต่อโดย Michael Bradsell (1933-) สัญชาติอังกฤษ ขาประจำของผู้กำกับ Ken Russell ผลงานเด่นๆ อาทิ Women in Love (1969), The Devils (1971), The Boy Friend (1971), Jabberwocky (1977), Scum (1979), Local Hero (1983), Henry V (1989) ฯ

หนังดำเนินเรื่องเคียงคู่ขนาน/สลับไปมาระหว่างบาทหลวง Urbain Grandier และแม่อธิการ Sister Jeanne des Anges ทั้งสองไม่เคยพบเจอพูดคุยซึ่งๆหน้า แต่กลับถูกกล่าวหาว่ามีการล่วงละเมิดบังเกิดขึ้น

  • แนะนำตัวละคร
    • Cardinal Richelieu รับชมการแสดงของ King Louis XIII
    • บาทหลวง Urbain Grandier จัดพิธีศพให้ผู้ว่าการคนก่อน
    • แม่อธิการ Sister Jeanne des Anges แอบหลบซ่อน จินตนาการความรักต่อบาทหลวง Urbain Grandier
    • เปิดเผยตัวตนแท้จริงของบาทหลวง Urbain Grandier เป็นชายมากรัก ทอดทิ้งหญิงสาวอีกคน เพราะตกหลุมรักหญิงสาวอีกคน
  • การมาถึงของภัยรุกราน
    • Baron de Laubardemont ต้องการจะทำลายกำแพงเมือง Loudun แต่ถูกห้ามปรามโดยบาทหลวง Urbain Grandier
    • บาทหลวง Urbain Grandier แอบแต่งงานกับ Madeleine de Brou
    • Sister Jeanne des Anges เฝ้ารอคอยการมาถึงของบาทหลวง Urbain Grandier แต่กลับกลายเป็น Father-Canon Jean Mignon เธอเลยเริ่มต้นแสดงอาการคลุ้มคลั่ง
  • ฉันทำผิดอะไร
    • พิธีไล่ผีออกจาก Sister Jeanne des Anges แล้วเผชิญหน้าบาทหลวง Urbain Grandier
    • บาทหลวง Urbain Grandier ถูกจับกุม ไต่สวน ทัณฑ์ทรมาน
    • แล้วถูกตัดสินโทษเผาไหม้ให้ตกตายทั้งเป็น
  • เหตุการณ์หลังจากนั้น
    • Sister Jeanne des Anges ยังคงแสร้งว่าคลุ้มบ้าคลั่ง
    • Baron de Laubardemont ทำลายกำแพงเมือง Loudun ได้สำเร็จ

ต้นฉบับความยาวเต็มๆของหนังคือ 117 นาที ไม่สามารถผ่านกองเซนเซอร์ จึงต้องทำการตัดทอนจนเหลือ ‘theatrical cut’ ความยาว 111 นาที แต่ก็ยังให้เรตติ้ง X โดยมีสองฉากสำคัญที่ถูกตัดออกไป (สองฉากนี้มีใน Delete Scence)

  • The Rape of Christ ช่วงระหว่างซีเควนซ์ไล่ผี บรรดาแม่ชีเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ฉุดกระฉากรูปปั้นพระเยซูคริสต์ลงมาข่มขืน
  • Grandier’s Bone ช่วงท้ายของหนังเมื่อ Baron de Laubardemont โยนโครงกระดูกของบาทหลวง Urbain Grandier ให้กับ Sister Jeanne des Anges สิ่งที่เธอทำก็คือนำมันมาช่วยตนเอง

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ฉบับเข้าฉายสหรัฐอเมริกายังถูกสตูดิโอ Warner Bros. หั่นโน่นนี่นั่นออกไปอีกจนหลงเหลือเพียง 103 นาที … ใครจะหารับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ต้องดูความยาวหนังให้ดีๆนะครับ


เพลงประกอบโดย Sir Peter Maxwell Davies (1934-2016) คีตกวีสัญชาติอังกฤษ สำเร็จการศึกษาจาก University of Manchester และ Royal Manchester College of Music เป็นลูกศิษย์ของ Hedwig Stein, มีผลงานซิมโฟนี ออร์เคสตรา โอเปร่า บัลเล่ต์ ฯลฯ ส่วนเพลงประกอบภาพยนตร์มีเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น The Devils (1971) และ The Boy Friend (1971)

ผู้กำกับ Russell มีความประทับใจ ‘monodrama’ (การแสดงอุปรากรแต่ใช้นักแสดง/นักร้องเพียงคนเดียว) ของ Peter Maxwell Davies เรื่อง Eight Songs for a Mad King (1969) เลยติดต่อขอให้มาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งเหตุผลที่ Davies ยินยอมตอบตกลง เพราะกำลังมีความสนใจอยากทำเพลงแนว Period อยู่พอดิบดี

แต่เอาเข้าจริงๆงานเพลงของหนังแทบไม่มีกลิ่นอาย Period สักเท่าไหร่ ยกเว้นเพียงการแสดงของ King Louis XIII ยังพอจะมีกลิ่นอาย Renaissance Music อยู่บ้าง … แต่ไม่ใช่ว่าพื้นหลังของหนังควรอยู่ในยุคสมัย Baroque หรอกรึ?

บทเพลงอื่นๆของหนังแม้มีการใช้เครื่องดนตรีโบราณๆ (เพื่อสร้างบรรยากาศย้อนยุค) แต่ท่วงทำนองกลับมีความล้ำยุคสมัย ออกไปทาง Avant-Garde ทดลองผิดลองถูก โดยเฉพาะครึ่งหลังของบทเพลง Sister Jeanne’s Vision ใช้เสียงเครื่องเป่ากระโดดโลดเต้นไปมา เหมือนจะมั่วซั่วแต่มีรูปแบบแผน เพื่อสร้างความสับสน กระวนกระวาย กรีดกราย แทบอยากจะคลุ้มบ้าคลั่ง

Exorcism เป็นบทเพลงแปลกประหลาดยิ่งกว่าเดิมเสียอีก! เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองสนุกสนาน ราวกับกำลังสังสรรค์อยู่ในงานเลี้ยงปาร์ตี้ ไม่ได้มีความสับสนวุ่นวาย กรีดกราย คลุ้มบ้าคลั่งเหมือนตอน Sister Jeanne’s Vision นั่นอาจเพราะสิ่งที่เคยซุกซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ Sister Jeanne des Anges เมื่อได้รับการปลดปล่อย เหมือนเสียงขับร้องคอรัสช่วงกลางบทเพลง อาจไม่ได้ดังกึกก้องสั่นสะท้อนถึงจิตวิญญาณ แต่ก็สามารถสื่อแทนสัญลักษณ์ของ ‘เสรีภาพ’

ผมเชื่อว่าผู้ชมยุคสมัยนี้น่าจะสามารถบอกได้ว่า เรื่องราวที่หนังนำเสนอไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแม่มด ซาตาน หรือพลังลึกลับเหนือธรรมชาติประการใด ทั้งหมดล้วนคือกิเลสตัณหาของมนุษย์ ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ (ทั้งเมือง Loudun และบาทหลวง Urbain Grandier) โดยสรรหาข้ออ้างทางศีลธรรมศาสนา เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ก็ครุ่นคิดทำบางสิ่งอย่างในทิศทางตรงกันข้าม … ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล (ไม่ได้ด้วยมนต์ ก็เอาด้วยคาถา)

The Devils (1971) นำเสนอเรื่องราวการสูญเสียความเป็นมนุษย์ของแม่อธิการ Sister Jeanne des Anges เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองทางเพศ ‘sexual repression’ จึงแสดงออกอย่างคลุ้มบ้าคลั่ง ไม่สนถูก-ผิด ชั่ว-ดี ใส่ร้ายป้ายสีกระทั่งบุคคลที่ตนเองชื่นชอบหลงใหล ต้องการให้เขาตกนรกหมกไหม้

เช่นเดียวกับ Cardinal Richelieu พยายามเกี้ยวกล่อมเกลา King Louis XIII เพื่อยึดครอบครอง/ทำลายกำแพงเมือง Loudun ถึงแม้ถูกบอกปัดปฏิเสธ ก็ยังส่ง Baron de Laubardemont สรรหาสรรพวิธีกำจัดภัยให้พ้นทาง ด้วยการใช้คำกล่าวอ้างของแม่อธิการ Sister Jeanne des Anges จับกุมตัวบาทหลวง Urbain Grandier ทำทัณฑ์ทรมาน โกนศีรษะล้าน และวินาทีกำลังเผามอดไหม้ เมือง Loudun ก็ถึงคราล่มสลาย!

I was a devout Catholic and very secure in my faith. I knew I wasn’t making a pornographic film… although I am not a political creature, I always viewed The Devils as my one political film. To me it was about brainwashing, about the state taking over.

Ken Russell

สิ่งที่ผู้กำกับ Russell ให้ความสนใจนั้น ไม่ใช่การต่อต้านพระเจ้า ต่อต้านคาทอลิก ต่อต้านบลา-บลา-บลา แต่ต้องการนำเสนอความอัปลักษณ์(ทั้งร่างกายและจิตใจ)ของมนุษย์ ที่นำเอาหลักคำสอนศาสนามาบิดเบือด ใช้ข้ออ้างศีลธรรมกำจัดบุคคลครุ่นคิดเห็นต่าง

ซึ่งบุคคลที่สามารถกระทำการเช่นนั้น (ทั้งแม่อธิการ Sister Jeanne des Anges และ Cardinal Richelieu) ต่างเป็นชนชั้นสูง ระดับผู้นำองค์กร/ประเทศชาติ สะท้อนถึงการใช้อำนาจในทางมิชอบ บิดเบือนความถูกต้อง หรือเรียกว่าคอรัปชั่น! เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ กระทำสิ่งตอบสนองความต้องการ โดยไม่สนห่าเหวนรกแตก อะไรจะเกิดขึ้นติดตามมา

ชาวคริสเตียนที่มีอคติต่อหนัง ส่วนใหญ่ไม่สามารถยินยอมรับพฤติกรรมหมกมุ่นทางเพศของแม่อธิการ/บาทหลวง หรือฉากข่มขืนรูปปั้นพระเยซูคริสต์ มองว่าคือภาพบาดตาบาดใจ! แต่การใช้เพียงสายตาจับจ้องมอง แสดงถึงการไม่สามารถเข้าใจแก่นสาระแท้จริงของศาสนา ทำไมผู้สร้างถึงนำเสนอภาพเหล่านั้นออกมา … ก็คล้ายๆสลิ่มประเทศสารขัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นชาวพุทธ แต่กลับเต็มไปด้วยบ่อน คาสิโน ซ่องโสเภณี กัญชาถูกฎหมาย นั่นสะท้อนถึงการใช้อำนาจในทางมิชอบของรัฐบาล ชนชั้นสูง กลุ่มผู้นำประเทศ ข้ออ้างศีลธรรมเพียงเพื่อกำจัดบุคคลครุ่นคิดเห็นแตกต่างเท่านั้น!

รับชม The Devils (1971) ทำให้ผมรับรู้สึกว่าผกก. Russell เป็นคนเอ่อล้นด้วยศรัทธาศาสนาอย่างแรงกล้า เทียบแทนตนเองกับบาทหลวง Urbain Grandier แม้เจ้าชู้ประตูดิน แต่ยังพร่ำคำสอนที่เป็นประโยชน์(มั้งนะ)ออกมาตลอดเวลา และเมื่อเรียนรู้จักความรัก ก็สามารถเข้าถึงความยิ่งใหญ่ของพระเป็นเจ้า

บุคคลที่ความเชื่อมั่นศรัทธาศาสนาอย่างแท้จริง ย่อมสามารถมองเห็นลูกเล่ห์ มายากลของสิ่งชั่วร้าย/ภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำไมฉันต้องสารภาพผิดที่ไม่ได้ก่อ ยินยอมศิโรราบต่อคำพูดบอกของซาตาน แม้ต้องถูกเผาไหม้จนกลายเป็นขี้เถ้าถ่าน พระเจ้าเท่านั้นสามารถเป็นประจักษ์พยานความรัก ความบริสุทธิ์จริงใจ ไม่ต้องไปสนเสียงเห่าหอนของปีศาจตนใดๆ

เกร็ด: สำหรับคนอยากรับชมภาคต่อ แต่ก็ไม่เชิงว่าเป็นภาคต่อ เพราะถูกการสร้างขึ้นก่อนหน้าหลายปี Mother Joan of the Angels (1961) กำกับโดย Jerzy Kawalerowicz (เป็นหนึ่งในลิสหนัง Martin Scorsese Presents 21 Polish Film Masterpieces) นำเสนอเหตุการณ์หลังจากบาทหลวง Urbain Grandier ถูกแผดเผาไหม้เสียชีวิต เรื่องราวของแม่อธิการ Sister Jeanne des Anges ที่ก็ยังคงเป็นแม่ชี แสร้งว่าถูกซาตานเข้าสิง จนกระทั่งเลิกบ้าสี่ปีให้หลัง


หนังไม่มีรายงานทุนสร้าง แต่การถูกกองเซนเซอร์หั่นแล้วหั่นอีก แถมบางประเทศยังถูกแบนห้ามฉาย กลับยังสามารถทำเงิน $11 ล้านเหรียญ ยุคสมัยนั้นถือว่าพอใช้ได้

เมื่อตอนเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice แม้เสียงตอบรับจะย่ำแย่ติดดิน แต่ยังสามารถคว้ารางวัล Pasinetti Award: Best Foreign Film (เทศกาลหนัง Venice ช่วงระหว่างปี 1969-79 จะเพียงจัดฉายภาพยนตร์ ไม่มีการมอบรางวัล Golden Lion แต่สาขานักวิจารณ์และอื่นๆยังคงปกติ)

กาลเวลาทำให้หนังได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น เมื่อปี 2012 ค่ายหนัง British Film Institute (BFI) ได้ออกสองแผ่น DVD ฟื้นฟูต้นฉบับดั้งเดิม ‘theatrical cut’ ความยาว 111 นาที ยังไม่เห็นออกแผ่น Blu-Ray แต่สามารถหารับชมจาก Archive.com (รวมถึง Delete Scene ด้วยนะครับ)

ปล. เห็นว่าหนังเคยเข้าฉาย Criterion Channel ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ปัจจุบันถูกนำออกไปแล้ว (น่าจะเป็นเรื่องลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย)

อาจเพราะผมไม่ใช่ชาวคริสต์ จึงสามารถรับชม The Devils (1971) โดยไร้ซึ่งอคติใดๆ ค้นพบความเหนือจริง สามารถครบครุ่นคิดนัยยะความหมาย และที่ต้องปรบมือให้คือความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้กำกับ Ken Russell เป็นบุคคลมีความเชื่อศรัทธาศาสนาอย่างแรงกล้า (ไม่ต่างจากบาทหลวง Urbain Grandier) คงมีแต่พวกปีศาจร้ายที่ตีตราภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ‘blasphemous’

ปล. เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ชื่อของ Ken Russell ถูกตีตราว่าเป็นผู้กำกับทำหนังต่อต้านศาสนา (Anti-Religious) นำมาล้อเล่นกันอย่างเอาจริงเอาจัง

คนที่จะสามารถรับชม The Devils (1971) ควรต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าทั้งหมดที่พบเห็นคือลัทธิเหนือจริง (Surrealist) อย่าแค่ใช้สายตามองแล้วเกิดอารมณ์ความรู้สึก ต้องใช้มันสมองขบครุ่นคิดวิเคราะห์ ค้นหาว่าแต่ละช็อตฉากผู้สร้างต้องการสื่อนัยยะอะไร ถ้าคุณสามารถรับชมผลงานของ Luis Buñuel, Alejandro Jodorowsky, Andrzej Żuławski, David Lynch ฯลฯ ค่อยลองหาภาพยนตร์เรื่องนี้มาเชยชมดูนะครับ

จัดเรต NC-17 ต่อความระห่ำ คลั่งศาสนา โป๊เปลือย บ้าอำนาจ

คำโปรย | The Devils ร่างปีศาจของผู้กำกับ Ken Russell นำพาผู้ชมลงสู่ขุมนรก เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงสรวงสวรรค์
คุณภาพ | ขุ
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: