The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972) : Luis Buñuel ♥♥♥♥♡
หนังฝรั่งเศสรางวัล Oscar สาขา Best Foreign Language Film ของผู้กำกับ Luis Buñuel ชื่อนี้น่าจะรู้ๆกันอยู่ หนังแนว Surrealist กวนๆ หาสาระไม่ได้ เต็มไปด้วยการเสียดสี Satire ที่เจ็บปวดรวดร้าว, เรื่องราวของเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามหาโอกาสนั่งกินข้าวเย็น ล้อมวงคุยกัน แต่โชคชะตาหรืออะไรไม่ทราบได้ ทำให้มันต้องมีเรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นขัดทุกที จนแล้วจนรอดจนตอนจบ พวกเขาจะมีโอกาสนั่งกินข้าวร่วมกันดีๆไหม
ในบรรดาหนังของผู้กำกับ Luis Buñuel ผมคิดว่า Le Charme discret de la bourgeoisie เป็นหนังที่ดูง่าย สนุกที่สุด ตลกที่สุดของ Buñuel แล้ว (แต่ผมก็ยังดูไม่ครบทุกเรื่องนะครับ เอาว่าในบรรดาหนังชุดแรกของ Buñuel ที่ผมดู) ถ้าคุณอยากจะเริ่มดูหนังของ Buñuel ผมแนะนำหนังเรื่องนี้ก่อนเลย เพราะคุณจะได้เข้าใจสไตล์ วิถี เทคนิค ความคิดของผู้กำกับ ก่อนที่จะไปดู Un Chien Andalou (1929) หรือ L’Age d’Or (1930) เพื่อจะได้เข้าใจ พื้นฐานความกวนของ Buñuel นั้นฝังลึกอยู่ในระดับสันดานดิบเลย
ยิ่งคุณดูหนังของ Buñuel หลายๆเรื่องเข้า ก็จะยิ่งมองเห็นตัวตน เข้าใจนิสัย ความคิดของเขา ต้องถือว่าเป็นผู้กำกับที่โคตรศิลปินเลย ที่สามารถนำเสนอ ถ่ายทอดตัวตนออกมาผ่านสื่อศิลปะได้ชัดขนาดนี้ ขนาดว่า Ingmar Bergman พูดถึง Buñuel ว่า ‘Buñuel สร้างหนังแทบจะเกือบทุกเรื่องเป็นหนังของ Buñuel’ (Buñuel nearly always made Buñuel films.) ถ้าคุณดูหนังของผู้กำกับคนนี้มากกว่า 2-3 เรื่องแล้ว ยังจับสไตล์ของเขาไม่ได้ นี่อาจแปลว่าคุณดูหนังไม่เป็นนะครับ
ในโลกของ The Discreet Charm of the Bourgeoisie ทุกสิ่งอย่างจะต้องถูกขัดจังหวะ ผมถือว่านี้คือใจความของหนังเลยนะครับ ไม่ใช่แค่กำลังนั่งกินข้าว แล้วอยู่ดีๆมีผู้ก่อการร้ายเข้ามากราดยิง, กำลังพูดๆอยู่ เสียงอะไรก็ไม่รู้ดังขึ้นมากลบทุกสิ่งอย่าง, กำลังจะมี Sex อยู่ ก็มีคนมาเคาะประตู, และไฮไลท์ของหนัง กำลังนอนหลับฝัน อยู่ดีๆก็สะดุ้งตื่นขึ้นมา ฯลฯ
ผมไปอ่านเจอว่า ก่อนหน้านี้มีหนังเรื่องหนึ่งของ Buñuel ชื่อ The Exterminating Angel (1962) เรื่องราวของแขกที่มาร่วมงาน dinner ปล่อยตัวปล่อยใจเพลิดเพลินจนไม่ยอมกลับบ้าน จากวันเป็นสัปดาห์ จนเพื่อนบ้านต้องแจ้งตำรวจ และมีผู้สื่อข่าวรออยู่นอกบ้านเต็มไปหมด, Roger Ebert เรียกหนัง 2 เรื่องนี้ว่าเป็น พี่น้องกัน เพราะมีจุดเริ่มต้นแบบเดียวกัน แค่ The Discreet Charm of the Bourgeoisie พวกเขาไม่เคยได้นั่งกินข้าวเย็นอย่างสงบสันติสักครั้งเลย
จุดเริ่มต้นของหนัง ไม่สิ ก่อนหน้านี้ Buñuel ประกาศว่าจะทำหนังเรื่อง Tristana (1970) เป็นเรื่องสุดท้าย เพราะเขารู้สึกตัวเองกำลังทำอะไรที่ซ้ำๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่พอได้คุยกับนักเขียนบทขาประจำ Jean-Claude Carrière และพบกับโปรดิวเซอร์ Serge Silberman ที่เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนชอบลืมเรื่องนัดหมายงาน Party แล้วอยู่ดีๆวันหนึ่ง เพื่อนผู้หิวโหย 6 คน ก็โผล่มา นี่ทำให้ Buñuel เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาทันที
สำหรับนักแสดง Buñuel เลือกใช้บริการนักแสดงขาประจำ อาทิ Fernando Rey และ Michel Piccoli และพัฒนาตัวละครให้มีบุคคลิกคล้ายกับพวกเขา, Buñuel มักมีปัญหาเรื่องการคัดเลือกนักแสดงหญิง ซึ่งพอได้ Delphine Seyrig และ Stéphane Audran ก็ไม่รู้จะให้พวกเธอรับบทอะไร จึงให้ Carrière เปลี่ยนแปลงบทให้เหมาะสมกับพวกเธอ, ส่วน Jean-Pierre Cassel นักแสดงหน้าใหม่ในหนังของ Buñuel การคัดเลือกของเขาคือแค่ มองตาครู่เดียวก็ได้บทเลย… Buñuel ก็แบบนี้นะครับ เป็นคนใช้สัญชาติญาณมากกว่าสมอง
หนังเริ่มต้นถ่ายทำพฤษภาคม 1972 ด้วยทุนสร้าง $800,000 เหรียญ ใช้เวลา 2 เดือน, ด้วยสไตล์การทำงานของ Buñuel เมื่อเขาถ่ายเสร็จในแต่ละช็อต เขาก็จะตัดต่อหนังตรงนั้นเลยระหว่างถ่ายทำ, กับหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ Buñuel ใช้กล้อง Video Playback ที่มีจอภาพสามารถเล่นซ้ำได้ทันที (เทคโนโลยีเพิ่งพัฒนามาถึงจุดนี้นะครับ ก่อนหน้านี้ต้องล้างฟีล์มก่อนถึงจะดูหนังได้ ซึ่งขณะนั้นคงสามารถเอาฟีล์มมาฉายออกจอภาพได้เลย) ผลลัพท์นี้ทำให้ Buñuel มีอิสระในการทำงานมากขึ้น เอาเวลาไปควบคุม สร้างสรรค์เทคนิค ที่ต่างออกไป อาทิ มีการซูมภาพ เคลื่อนกล้อง (Travelling Shot) นี่ไม่เคยเกิดขึ้นในหนังของ Buñuel มาก่อน ปกติจะมีแค่ Close-Up แช่ภาพ หรือแพนกล้อง ฯ นี่ทำให้งานภาพของหนังดูลื่นไหล มีชีวิตชีวา ต่อเนื่องราวกลับมีชีวิต (ถ่ายภาพโดย Edmond Richard)
Jean-Pierre Cassel ผู้ไม่เคยร่วมงานกับ Buñuel มาก่อนเลย เขาเกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจสไตล์การทำงานเท่าไหร่, Ray อธิบายว่า นี่แหละสไตล์การทำงานของ Buñuel มักจะสั่งให้นักแสดงเคลื่อนไหวในท่าทางต่างๆแบบเปะๆตามความต้องการของเขา ในหนังของ Buñuel ท่าทางการแสดงออกของตัวละคร สำคัญกว่าสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจ (inner motivation)
หนังเรื่องนี้ถือว่ามี 3 ความฝันของ Buñuel ประกอบอยู่ 1) ฝันที่พวกเขาอยู่บนเวทีแล้วลืมบทพูด, 2) ฝันที่ได้พบกับลูกพี่ลูกน้อง (Cousin) ที่เสียชีวิตแล้วบนถนน เข้าไปในบ้านที่เต็มไปด้วยใยแมงมุม, 3) ฝันที่เห็นพ่อแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว จ้องมองเขา
สำหรับประเด็นบาทหลวงที่มารับจ้างเป็นคนสวน นี่เป็นการล้อเลียน เสียดสีคริสตจักร ตามสไตล์ของ Buñuel ที่จะมีอยู่ในหนังทุกเรื่อง, ไฮไลท์ของบาทหลวงคนนี้ เป็นพระก็มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนคนทั่วไป ขณะที่เขาพบกับฆาตกรคนที่ฆ่าพ่อและแม่ของตนเมื่อตอนเขายังเด็ก หน้าที่ของบาทหลวงคือ สวดอวยพรขอให้พระเจ้าให้อภัย แต่ตัวเขาหยิบปืนลูกซองส่องกบาลชายคนนั้น พระเจ้าให้อภัยได้แต่ฉันไม่!
Discreet แปลว่า สุขุม รอบคอบ, Charm แปลว่า ความน่าหลงใหล มีเสน่ห์, Bourgeoisie คือชนชั้นกลาง (middle-class), แปลชื่อหนังแบบตรงตัว The Discreet Charm of the Bourgeoisie คือ เสน่ห์ที่ลุ่มลึกของชนชั้นกลาง, มีคำศัพท์หนึ่ง Bourgeois personality (บุคคลิกภาพของคนชนชั้นกลาง) เป็นคำจำกัดความ ลักษณะนิสัยของคนที่อาศัยอยู่เมือง ที่ชอบการพูดคุย สังสรรค์ งานเลี้ยง (แบบในหนัง), ซึ่งชื่อของหนัง เสน่ห์ที่ลุ่มลึก สื่อถึง งานเลี้ยงที่คนชนชั้นกลางตั้งหน้าตั้งตารอคอยได้สังสรรค์พบปะ แต่กลับไม่มีโอกาสสำเร็จสักที
อาหารเย็นถือเป็น ‘พิธีกรรม’ อย่างหนึ่งที่สำคัญมากของคนชนชั้นกลาง เป็นการได้พบปะพูดคุยสนทนา แลกเปลี่ยนข่าวสาร gossip และเป็นกิจกรรมที่สร้างความสนิทชิดเชื้อซึ่งกันและกัน ถือเป็นการพบปะทางสังคมที่แทบจะขาดไม่ได้เลย, การนำประเด็นนี้มาล้อเลียน เป็นการเปรียบเปรยถึง ‘จุดสิ้นสุด’ ของคนชั้นกลาง ถ้าพิธีกรรมนี้หายไป ผู้คนก็จะไม่มีโอกาสได้พูดคุย รู้จัก สร้างความสัมพันธ์ ใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมัน ไม่มีเพื่อนไม่มีศัตรู นี่ถึงระดับจุดจบของโลกเลยนะครับ
ซึ่งถ้าเราพิจารณาถึงสิ่งหรือเหตุการณ์ที่เข้ามาขัดจังหวะ อาทิ มีคนตาย, นัดซ้อนกับทหาร, เกิดการปฏิวัติ, ผู้ก่อการร้าย ฯ หรือเรื่องราวอื่นๆที่มีอยู่ในหนังอาทิ ยาเสพติด, Sex ฯ และตัวละครหลักในหนังก็เป็นนักการเมือง (Politician), นายทหาร, คนรวย ฯ นี่เป็นหนังที่แฝงบริบทการเมือง ชนชั้น และสังคม แต่เราไม่ต้องทำความเข้าใจอะไรเลย ก็สามารถเข้าใจหนังได้ ผมขอแค่ชี้ให้เห็นเฉยๆแล้วกัน ใครชอบคิดก็เอาไปต่อยอดเอง
ในปีที่หนังฉาย 1972 เป็นช่วงขณะสงครามเวียดนามกำลังร้อนระอุ คนชนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่ถูกสังคมต่อว่ามากที่สุด (เพราะเพิกเฉยไม่ยอมเข้าร่วมสงคราม) ทั้งในยุโรปและอเมริกา ก็เหมือนหนังเรื่องนี้ ที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรเลย แค่อยากนั่งกินอาหารเย็นร่วมกัน กลับไม่สามารถทำสำเร็จได้ ต้องถูกขัดจังหวะตลอดเวลา โดนโจมตีจาก… ใครก็ไม่รู้ต่างๆมากมาย ทั้งในชีวิตจริงและความฝัน
หลังจาก Buñuel ทำหนังเรื่องนี้เสร็จ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 1972 โปรดิวเซอร์ Serge Silberman ตัดสินใจไม่รอจนถึงเทศกาลหนังเมือง Cannes ในเดือนพฤษภาคมปีถัดไป รีบจัดฉายในสเปนแล้วส่งเป็นตัวแทนประเทศเข้าชิง Oscar ในปีนั้นแทน, ทำให้หนังได้เข้าชิง Oscar 2 สาขา Best Writing และ Best Foreign Language Film (ได้รางวัล), ตอนงานประกาศ Silberman ขึ้นไปรับแทน Buñuel และหลังงาน ด้วยคำขอของคณะกรรมการ Oscar ที่ให้ Buñuel ถ่ายภาพขณะถือรางวัล เขาประชดด้วยการใส่วิกและใส่แว่นกันแดดหนาเตอะถ่ายภาพ (ดังรูป)
นี่เป็นหนังเรื่องแรกของ Luis Buñuel ที่ผมดู ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าสไตล์ Buñuel เป็นยังไง เรื่องราวเรื่องย่อของหนังก็ไม่รู้ไม่สน ซึ่งดูหนังไปได้สักประมาณ 15 นาที ช่วงนัดกินข้าวครั้งที่ 3 ผมเริ่มเอะใจ หรือว่าทั้งเรื่องมันจะ… หลังจากนั้นก็เริ่มปล่อยตัวปล่อยใจ ดูอย่างไม่คิดอะไรมาก พอโดน Inception ปาหมอนสักประมาณรอบที่ 2 ก็เริ่มออกอาการเห้ย! ยิ้มร่าหยุดหัวเราะหึๆไม่ได้ Luis Buñuel มันใครกันว่ะ! ดูจบกุรีกุจอหาข้อมูล โหลดหนังของเขามาดูต่อ ซัดไปคืนนั้น 3 เรื่อง ทำเอานอนไม่หลับเลย เป็นผู้กำกับที่โดดเด่นจริงๆ
ไม่ถึงกับแนะนำให้ทุกคนต้องดูก่อนตายนะครับ แต่ถ้าคุณเป็นคอหนังตัวจริง นี่เป็นหนึ่งในหนังเรื่องบังคับอย่างน้อยเลย และผู้กำกับ Luis Buñuel รู้จักจดจำชื่อนี้ไว้ อีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่สุดของวงการภาพยนตร์เชียวละ
แนะนำกับคอหนัง Comedy, Satire (เสียดสี ล้อเลียน) ความตลกไม่ได้เกิดจากการกระทำ แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, แฟนหนัง Luis Buñuel ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต 13+ กับการกระทำหลายๆอย่างที่รุนแรง ไร้สาระ
[…] The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972) : Luis Buñuel ♥♥♥♥♡ […]
เห็นฉากตัดความฝันเรื่องนี้ นึกถึงหนังโปแลนด์เรื่อง The Saragossa Manuscript (1965) ของ Wojciech Has ผู้กำกับหนังเรื่อง The Hourglass Sanatorium (1973) เลย
หนังยาว 3 ชม. ออกแฟนตาซี เซอร์เรียล พีเรียด คอมเมดี้ แนวเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า… ต่อๆกันไปเรื่อยๆ แล้วค่อยย้อนจบทีละเรื่องเล่าๆๆๆๆๆๆ ออกมาอีกที (อารมณ์คล้ายๆ นิทานเวตาล หรือศึกมหาภารตะ แต่เรื่องเล่าซ้อนเยอะมาก)
การตัดเข้าเรื่องเล่า แล้วตัดออกมา เป็นแบบสะดุดกึก เหมือนฉากตื่นจากฝันในเรื่องนี้เลย รู้สึกจะเว็บนี้จะยังไม่เคยเขียนถึงหนังผู้กำกับท่านนี้ น่าลองดู 2 เรื่องที่ว่ามาข้างต้นนี้ถือว่าค่อนข้างดังสุด