The Docks of New York (1928) hollywood : Josef von Sternberg ♥♥♥♥♡

ท่าเรือ คือสรวงสวรรค์ของหนังนัวร์ สถานที่บรรจบกันระหว่างชีวิต-ความตาย โลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน รวมไปถึงชาย-หญิง มีโอกาสพบเจอ แต่งงาน และพลัดพรากจาก เรียกได้ว่าชีวิตถือกำเนิดขึ้นยังที่แห่งนี้

บริเวณท่าเรือ(สมัยก่อน) เป็นสถานที่ที่โคตรสกปรกโสมม เศษขยะลอยซัดริมหาด คราบน้ำมัน เขม่าควันจากถ่านหิน ทั้งยังรวมถึงผับบาร์ ซ่องโสเภณี เนื่องด้วยกะลาสีหลังจากออกทะเลเป็นระยะเวลานานๆ โหยหาต้องการสิ่งสามารถพักผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้ดินแดนแห่งนี้ราวกับสรวงสวรรค์ (Paradise) เฝ้ารอคอยวันเวลาจะได้เทียบท่าขึ้นฝั่ง

The Docks of New York (1928) มองผิวเผินเหมือนหนังรักโรแมนติกทั่วๆไป แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกะลาสี-โสเภณี แรกพบเจอ ตัดสินใจแต่งงาน ครองคู่ได้เพียงค่ำคืนเดียวก็ต้องพลัดพรากจาก ราวกับความเพ้อฝันแฟนตาซี ช่างเป็นค่ำคืนที่เหนือจินตนาการ ก่อนตื่นเช้าขึ้นมาพบพานโลกความจริงอันโหดร้าย

ความโดดเด่นของหนังต้องยกให้ไดเรคชั่นผู้กำกับ Josef von Sternberg ในการสร้างบรรยากาศริมท่าเรือ (Waterfront) แม้รายล้อมรอบด้วยควันบุหรี่ สิ่งสกปรกโสมมมากมาย แต่กลับกลายเป็นดินแดนแห่งความฝัน ‘Exotic’ สรวงสวรรค์ของกะลาสีและโสเภณี พล็อตเรื่องราวที่ไม่ได้ดูดี พลันมีสง่าราศีขึ้นมาโดยทันที


Josef von Sternberg ชื่อเดิม Jonas Sternberg (1894 – 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian-American เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Orthodox Jewish อพยพสู่อเมริกาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แต่ก็ยังไปๆกลับๆจนกระทั่งอายุ 14 ถึงปักหลักอยู่ New York City, พออายุ 17 ปีเข้าทำงานยัง World Film Company เริ่มต้นเป็นเด็กส่งของ ทำความสะอาด ซ่อมแซมฟีล์มหนัง ทั้งยังรับหน้าที่เป็นฉายภาพยนตร์ (film projectionist) กระทั่งการมาถึงของโปรดิวเซอร์ William A. Brady ได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นผู้ช่วยตัดต่อ พิมพ์ข้อความ (Title Card), ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาสาสมัครทหารเข้าร่วม Signal Corps จึงมีโอกาสถ่ายทำสารคดีข่าว, หลังจากนั้นได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Emile Chautard สรรค์สร้าง The Mystery of the Yellow Room (1919), และสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Salvation Hunters (1924) ด้วยทุนสร้างเพียง $4,800 เหรียญ (ถือเป็นหนัง Indy เรื่องแรกๆของโลก) 

เพราะความเรื่องมาก เอาแต่ใจ ไม่พึงพอใจการทำงานก็เดินออกกองถ่าย นั่นทำให้ Sternberg ระหองระแหงอยู่ใน Hollywood จนไม่มีใครอยากคบค้าสมาคม จนกระทั่งได้รับโอกาสจากโปรดิวเซอร์ B. P. Schulberg แห่ง Paramount Pictures ว่าจ้างทำงานฝ่ายเทคนิค ที่ปรึกษาด้านการถ่ายภาพ แล้วโชคก็เข้าข้างเมื่อถูกมอบหมายให้ถ่ายซ่อม Children of Divorce (1927) เปลี่ยนแปลงจากเดิมประมาณครึ่งเรื่อง จากคุณภาพกลางๆกลายเป็นประสบความสำเร็จล้นหลาม สร้างความประทับใจจนมอบอิสรภาพสรรค์สร้างภาพยนตร์ ‘เรื่องแรก’ ที่ไม่ถูกควบคุมครอบงำโดยใคร

ความสำเร็จอันล้นหลามอย่างคาดไม่ถึงของ Underworld (1927) ทำให้ Paramount Pictures จับเซ็นสัญญาระยะยาวโดยมอบอิสรภาพเต็มที่ในการสรรค์สร้างผลงาน ติดตามมาด้วย The Last Command (1928) ยิ่งใหม่ไม่แพ้กันด้วยการส่งให้ Emil Jannings คว้ารางวัล Oscar: Best Actor คนแรกในประวัติศาสตร์

สำหรับ The Docks of New York ดัดแปลงจากพล็อตเรื่องราว The Dock Walloper ครุ่นคิดโดย John Monk Saunders (1897-1940) อดีตนักบินผันตัวมาเป็นนักข่าว และนักเขียนนวนิยาย หนึ่งในนั้นคือ Wings (1927)

เกร็ด: สมัยก่อนแค่ครุ่นคิดเพียงพล็อตเรื่อง ข้อความไม่กี่ประโยค ก็สามารถขายลิขสิทธิ์ ขึ้นเครดิตเป็นเจ้าของเรื่องราวได้แล้วนะครับ

พัฒนาบทโดย Jules Furthman (1888-1966) นักข่าว เขียนนวนิยาย และบทภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน ร่วมงานขาประจำผู้กำกับ Josef von Sternberg ตั้งแต่The Docks of New York (1928), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Mutiny on the Bounty (1935), Come and Get It (1936), Only Angels Have Wings (1939), To Have and Have Not (1944), The Big Sleep (1946), Nightmare Alley (1947), Rio Bravo (1959) ฯ

เรื่องราวของกะลาสี Bill Roberts (รับบทโดย George Bancroft) ระหว่างเรือเข้าเทียบท่ายัง New York City มีเวลาขึ้นฝั่งเพียงหนึ่งคืน ขณะกำลังเดินทางไปดื่มสังสรรค์ พบเห็นหญิงสาว Mae (รับบทโดย Betty Compson) กำลังจมน้ำเลยกระโดดลงไปช่วยเหลือ ก่อนพบว่าเธอคือโสเภณีตั้งใจจะฆ่าตัวตาย เรียกร้องให้เขารับผิดชอบเลยตัดสินใจขอแต่งงาน เชิญบาทหลวงมาทำพิธีที่บาร์แห่งนั้น กระทั่งรุ่งสางทั้งสองก็ต้องตื่นขึ้นจากความฝัน Bill หวนกลับขึ้นเรือเตรียมออกเดินทางครั้งใหม่ ส่วน Mae ทำงานโสเภณีสูญเสียสิ้นทุกสิ่งอย่างอีกครั้ง

เกร็ด: หนังไม่มีการกล่าวถึงว่า Mae คือโสเภณี แต่ผู้ชมน่าจะสามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก


George Bancroft (1882-1956) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Philadelphia, Pennsylvania ตั้งแต่เด็กช่วยเหลือครอบครัว ขายของอยู่แถวท่าเรือ Port Deposit, Maryland จนมีโอกาสกลายเป็นเป็นลูกเรือฝึกหัด USS Constellation ตามด้วย USS Essex, ในช่วง Battle of Manila Bay (1898) รับหน้าที่พลปืนประจำ USS Baltimore และยังเคยดำน้ำลงดูใต้เรือรบ USS Oregon หลังชนเข้ากับโขดหินริมชายฝั่งประเทศจีน, ต่อมาถูกส่งตัวไป US Naval Academy แต่กลับไม่ค่อยชอบความเข้มงวดของทหารสักเท่าไหร่ เลยผันตัวมาเป็นนักแสดง Musical Comedy ออกทัวร์ Vaudeville ขึ้นเวที Broadways และเริ่มมีผลงานภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ The Pony Express (1925), Old Ironsides (1926), โด่งดังพลุแตกกับ Underworld (1927), The Docks of New York (1928), Thunderbolt (1929), การมาถึงของหนังพูด (Talkie) ประกอบกับอายุก้าวย่างวัยกลางคน เลยถูกลดบทบาทลงเป็นตัวประกอบ Mr. Deeds Goes to Town (1936), Angels with Dirty Faces (1938), Each Dawn I Die (1939), Stagecoach (1939) ฯ

รับบทกะลาสี Bill Roberts ทำงานในห้องเครื่อง โกยถ่านหินเข้าเตา แทบไม่มีโอกาสเห็นเดือนเห็นตะวัน แต่ทุกครั้งเมื่อเรือจอดเทียบท่า ก็พร้อมขึ้นฝั่งใช้ชีวิตอย่างเกษมสันต์ ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว สนองตัณหาพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น ซึ่งครั้งนี้หลังจากให้ความช่วยเหลือสาวจมน้ำ เธอขอให้เขารับผิดชอบการกระทำ ขณะคิดเล่นๆแต่งงานเลยไหม ไปๆมาๆเอาจริงเสียอย่างนั้น ทั้งๆรู้อยู่เวลาบนฝั่งเพียงช่วงค่ำคืน แต่สำหรับชายคนนี้ไม่มีอะไรอื่นสามารถเปลี่ยนแปลงความปรารถนาของตนได้

ภาพลักษณ์สูงใหญ่ กำยำบึกบึนของ Bancroft ทำให้ตัวละครมีความเป็นลูกผู้ชาย บ้าพลัง ‘macho’ แถมชอบวางมาด เตะท่า เท้าสะเอว เรียกว่าเต็มที่กับชีวิต ไม่ครุ่นคิดหน้าหลัง ซื่อตรงไปตรงมา ใครดีมาดีตอบ ร้ายมาร้ายตอบ พร้อมใช้กำลังต่อสู้ขัดขืน แน่นอนว่าไม่เหมาะกับชีวิตครอบครัว แต่งงาน เลี้ยงดูลูกหลาน ถึงอย่างนั้นกลับยังสร้างความประทับใจให้ Mae ยินยอมตอบตกลง แม้ตระหนักว่าคงมีความสุขได้เพียงไม่นาน

การแสดงของ Bancroft เหมือนจะไม่ได้มีติซับซ้อน แต่เปลือกภายนอกที่ดูเข้มแข็งแกร่ง จิตใจของเขาโดดเดี่ยวอ้างว้าง โหยหาบางสิ่งอย่างอยู่เช่นกัน แม้คำพูดเล่นๆกลับครุ่นคิดจริงจัง ก็ไม่รู้เพราะมนต์เสน่ห์ของการ ‘แต่งงาน’ ทำให้เขาพร้อมตัดสินใจทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง กระโดดลงทะเลว่ายน้ำกลับขึ้นฝั่ง วาดฝันจะได้ครองคู่อยู่ร่วมกันเธออย่างจริงจัง … แต่ผมเชื่อว่าหลังพ้นโทษออกมา พวกเขาก็คงครองคู่อยู่ร่วมกันได้ไม่นานหรอกนะ


Betty Compson ชื่อจริง Eleanor Luicime Compson (1897-1974) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Beaver, Utha วัยเด็กมีความชื่นชอบไวโอลิน พออายุ 16 ได้ขึ้นเวทีที่ Salt Lake City จากออกทัวร์ร่วมคณะละครสัตว์ กระทั่งได้รับการค้นพบโดยแมวมองจาก Hollywood จับเซ็นสัญญาเล่นหนังเรื่องแรก Wanted, a Leading Lady (1915), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Miracle Man (1919), Prisoners of Love (1921), The Woman With Four Faces (1923), Woman to Woman (1923), The Enemy Sex (1924), The Barker (1928), The Docks of New York (1928) ฯ แต่การมาถึงของยุคหนังพูด ทำให้กระแสความนิยมลดลง เลยตัดสินใจรีไทร์ออกจากวงการในที่สุด

รับบทโสเภณี Mae คาดว่าคงอกหักจากความรัก เลยตัดสินใจคิดสั้นฆ่าตัวตาย แล้วได้รับความช่วยเหลือจาก Bill เลยเรียกร้องให้เขารับผิดชอบการกระทำ ตอบตกลงแต่งงานทั้งๆเพิ่งรู้จัก ไม่ได้รัก ขอแค่มีความสุขสักครั้งในชีวิต แต่พอเช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อถึงคราต้องร่ำลาจากกันจริงๆ ก็มิอาจทำใจพรากจากโดยง่ายดาย

การตอบตกลงแต่งงานของตัวละคร สะท้อนถึงความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ต้องการที่พึ่งพิงทางกาย-ใจ ใครสักคนก็ได้สามารถเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เรียกว่าสนองอารมณ์ ความต้องการส่วนตนเท่านั้น ซึ่งเมื่อฟื้นตื่นขึ้นยามเช้าหวนกลับสู่โลกความจริง หญิงสาวย่อมมิอาจทำใจพลัดพรากจาก(ความฝันนั้น) ธารน้ำตาหลั่งไหลริน มีเพียงเย็บกระเป๋าเสื้อ หน้าที่ภรรยาหนึ่งเดียวสามารถกระทำให้ได้ จากนั้นขับไล่ผลักไสด้วยการขึ้นเสียงหยาบคาย นายไม่ใช่ผู้ชายเลวร้ายที่สุดที่ฉันเคยพบเจอ (ในใจคงต้องการพูดว่า นายเป็นผู้ชายดีที่สุดที่ฉันเคยพบเจอ)

คนที่ไม่เคยประสบเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ากับตัว อาจรู้สึกว่าเรื่องราวนี้มันช่างเหมือนฝัน แฟนตาซี ฟังดูไร้สาระ มันมีอยู่จริงๆหรือที่ผู้หญิงจะยินยอมตอบตกลงแต่งงานกับผู้ชายแรกพบเจอ แต่เอาจริงๆเหตุการณ์ดังกล่าวเห็นอยู่ทั่วๆไปเลยนะครับ ส่วนใหญ่ล้วนอารมณ์พาไป ไม่ได้ใคร่ครุ่นคิดจริงจังสักเท่าไหร่ พอเช้าตื่นค่อยฟื้นคืนความทรงจำ แล้วก็เลิกราหย่าร้างภายหลัง (แต่มันก็คงมีที่ครองคู่อยู่ร่วมจนวันตาย)

ผมค่อนข้างประทับใจการแสดงของ Compson ส่วนหนึ่งอาจเพราะไดเรคชั่นของ Sternberg เลื่องลือชาในการถ่ายภาพสาวๆให้เปร่งประกาย สวยสง่า หรือเวลาแสดงอารมณ์ Close-Up ใบหน้าก็สามารถขับเน้นความรู้สึกจากภายในให้สมจริงทรงพลังยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตอนร่ำร้องไห้แล้วขึ้นเสียงหยาบคาย ผู้ชมสัมผัสถึงความเจ็บปวดรวดร้าวจากภายใน ไม่ใช่เพราะเธอเป็นคนเจ้าอารมณ์ แต่มิอาจอดรนทนการร่ำจากลาครั้งนี้ได้อีกต่อไป


ถ่ายภาพโดย Harold Rosson ตากล้องมือทองในยุคคลาสสิก มีผลงานเด่นๆอย่าง Treasure Island (1934), Captains Courageous (1937), The Wizard of Oz (1939), On the Town (1949), The Asphalt Jungle (1950), Singin’ in the Rain (1952) ฯ

ก่อนเริ่มต้นโปรดักชั่น Sternberg และนักเขียน Furthman เดินทางมุ่งสู่ New York เพื่อศึกษาค้นหาข้อมูล เก็บรายละเอียดยังสถานที่จริง แล้วกลับมาสร้างฉาก/ถ่ายทำทั้งหมดในสตูดิโอ Paramount (ยกเว้นเพียง Archive Footage)

มอบหมายออกแบบงานศิลป์ให้ Hans Dreier (1885-1966) เคยทำงานสตูดิโอ Ufa จากประเทศเยอรมัน ก่อนหน้านี้เคยร่วมงาน Sternberg ก่อสร้างฉาก Underworld (1927) สำหรับเรื่องนี้ยังดูแลสรรค์สร้าง The Sandbar แม้ตั้งอยู่บนบก แต่ออกแบบให้เหมือนอยู่บนเรือ ล่องลอยครึกครื้นเครง เมื่อเทเหล้าจนมึนเมามาย จักมีอาการโคลงเคลงเหมือนอยู่กลางท้องทะเล

บรรยากาศของห้องเครื่อง(ใต้ท้องเรือ) เต็มไปด้วยมลภาวะ ฝุ่นจากถ่านหิน ไอจากหม้อน้ำ อากาศร้อนอบอ้าว เหงื่อไคลไหลย้อย และเสียงเครื่องจักรกล (ที่แม้ผู้ชมไม่ได้ยิน แต่ก็น่าจะพอจินตนาการได้) ราวกับนรกบนดิน มีเพียงกรรมกร แรงงานระดับล่าง นักเลง-อาชญากรหลบหนีคดี หรือบุคคลผู้ไม่สามารถทำอะไรอย่างอื่น (นอกจากพละกำลัง) ถึงจะยินยอมใช้ชีวิตอยู่ยังสถานที่แห่งนี้

หนังนำเสนอฉาก(พยายาม)ฆ่าตัวตายของ Mae ได้น่าสนใจมากๆ ใช้เพียงช็อตนี้ถ่ายภาพสะท้อนผืนผิวน้ำ พบเห็นเพียงเงาของเธอกำลังลัดเลาะเรียบริมฝั่ง จากนั้นกระโดดทิ้งตัว บังเกิดการกระเพื่อมของธารา

มันช่างเป็นค่ำคืนที่น่าพิศวงยิ่งนัก บรรยากาศเต็มไปด้วยหมอกควันฟุ้งกระจาย (ก็ไม่รู้ล่องลอยมาจากไหน) มอบสัมผัสอันลึกลับ เต็มไปด้วยความพิศวง ตั้งแต่ Bill กระโดดลงไปช่วยเหลือ Mae ลากพาขึ้นจากน้ำ ทอดทิ้งปาร์ตี้เพื่อนฝูง แล้วอุ้มเธอมายัง The Sandbar นี่เป็นอีกช็อตที่กลิ่นอายหนังนัวร์โดดเด่นชัดมากๆ

เมื่อหญิงสาว Mae ฟื้นคืนชีพขึ้นมา สังเกตว่ามีการสาดส่องแสงสว่างใส่เธอจนมีความเจิดจรัสจร้าผิดปกติ ดูราวกับนางฟ้า เทพธิดา (ในสายตาของ Bill) ตรงกันข้ามกับ Bill ยืนอยู่บริเวณมุมมืด เพียงความสลัวๆอาบฉาบร่างกาย … มันเหมือน

เมื่อหญิงสาวแต่งองค์ทรงเครื่อง เดินเข้ามาในบาร์ ตำแหน่งนั่งร่วมกับ Bill พบเห็นกระจกบานใหญ่อยู่ด้านหลัง ภาพสะท้อนผู้คนกำลังสังสรรค์ เฮฮาปาร์ตี้ … ผมรู้สีกว่าช็อตนี้ต้องการนำเสนอ ‘โลกของพวกเขา’ ไม่ใคร่สนอะไรใครอื่น ที่เปรียบดั่งภาพสะท้อนในกระจก

ผมมีความชื่นชอบพวงมาลัยเรืออันใหญ่นี้อย่างมาก มันดูเหมือนกงจักรแห่งชีวิต ประดับด้านหลังที่นั่งของสามี-ภรรยา Andy และ Lou ทั้งสองพยายามจับจ้องมอง Mae แล้วระลีกถีงความหลัง (เรื่องราวของสองตัวละครนี้ สะท้อนเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับ Bill และ Mae ในอดีตคงพานผ่านเหตุการณ์ลักษณะคล้ายๆกันนี้)

หนังพยายามทำให้ผู้ชมตระหนักถีงความพลุกพล่านของสถานที่แห่งนี้ในทุกๆช็อต ฟลอร์เต้นรําด้านหลังพวงมาลัยก็เฉกเช่นกัน แต่กลับไม่ได้อยู่ในความสนใจของ Andy และ Lou สักเท่าไหร่ (แบบเดียวกับช็อตของ Bill และ Mae เช่นเดียวกัน)

Bill ถกแขนเสื้อ เปิดเผยรอยสักรูปหญิงสาวบนแขน ต้องการอวดอ้างสรรพคุณต่อ Mae ว่าตนเองเคยพานผ่านอะไรๆมามาก แต่วินาทีถูกสอบถามว่า ‘นายเคยแต่งงานหรือยัง?’ ภาพสะท้อนบนกระจก สื่อว่าภายในจิตใจก็โหยหาเช่นกัน ก่อนตอบแบบเลี่ยงๆ ‘ใครกันจะยินยอมแต่งงานกับฉัน?’ ไม่พูดปฏิเสธออกมาตรงๆ … และเมื่อ Mae ถูกซักถามกลับ เธอก็ตอบประโยคแบบเดียวกันเปะ

วินาทีที่ Bill ตัดสินใจจะแต่งงานกับ Mae เขาวางมือเบื้องหน้าหญิงสาว แล้วเธอโอบเข้ามาจับแขนเขา ราวกับจะเหนี่ยวรั้งไม่ให้จากไปไหน นั่นแปลว่าลีกๆทั้งสองต่างต้องการกันและกัน โหยหาที่พี่งพักพิง ใครสักคนสามารถอยู่เคียงข้างกาย

การมาของบาทหลวง จัดแสงแบบนี้นึกว่าผู้ร้าย จะว่าไปในสายตาพวกเขา ชายผู้นี้ดูเหมือนบุคคลลึกลับ สัมผัสจากพระเจ้า (หรือซาตานก็ไม่รู้นะ) กว่าจะยินยอมทำพิธี ต้องเปิดตำราร่ายมนตรา สร้างความศักดิ์สิทธิ์ การแต่งงานไม่ใช่เรื่องทำเป็นเล่น

ในพิธีแต่งงาน เมื่อบาทหลวงสอบถามว่าพร้อมจะยินยอมรับอีกฝ่ายเป็นสามี-ภรรยา สังเกตว่าพื้นหลังของตัวละครถูกทำให้เบลอหลุดโฟกัส มีเพียงพวกเขาเท่านั้นจะให้คำตอบได้ โลกทั้งใบใครอื่นหาได้สลักสำคัญ แต่ฝั่งของหญิงสาวกลับมี Lou ยืนอยู่ด้านหลัง ราวกับนี่คือพิธีแต่งงานของตนเองเช่นกัน (เป็นการสื่อถึง Mae = Lou ต่างเคยพานผ่านเหตุการณ์ลักษณะคล้ายๆกัน)

แซว: แถมเมื่อต้องสวมแหวน ก็ได้รับจาก Lou ซึ่งก็น่าจะเป็นของเธอเองนะแหละ ได้รับจากสามีสวมใส่ขณะเข้าพิธีแต่งงาน … และจะมีช็อตตัดไปใบหน้า Andy เหมือนจะบอกว่า นั่นแหวนกรุเองนะแหละ

ฉากเข้าเรือนหอของทั้งคู่ มีเพียงช็อตนี้ที่ Bill แสดงความรักด้วยการนำเสื้อโค้ทและหมวก สวมใส่ให้ Mae ท่ามกลางแสงสว่างฟุ้งๆ มองอะไรอย่างอื่นไม่เห็น ราวกับนี่สรวงสวรรค์ของพวกเขาเราสองครองคู่กัน

รุ่งเช้าปลุกตื่นด้วยเสียงหวูดเรือ Bill กำลังแต่งองค์ทรงเครื่อง พบเห็นฝูงนกอยู่นอกหน้าต่าง สัญลักษณ์แห่งอิสรภาพ การแต่งงานที่ไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องครองคู่อยู่ร่วม เพียงค่ำคืนเคลื่อนผ่านไป ก็พร้อมเริ่มต้นออกเดินทางครั้งใหม่ … นั่นคือความเข้าใจเบื้องต้นของ Bill ครุ่นคิดว่าการแต่งงานไม่ได้ต่างจากกิจกรรมอื่นๆเมื่อตอนขึ้นฝั่ง

ฉากเย็บกระเป๋าเสื้อ มีความทรงพลังในวิธีการนำเสนอมากๆ ถ่ายให้เห็นขณะ Mae กำลังร้อยด้ายเข้าเข็ม ปรากฎภาพมัวๆเหมือนธารน้ำตาไหลออกมาบดบังวิสัยทัศน์การมองเห็น ทำอย่างไรก็ทิ่มแทงไม่เข้ารูสักที … นี่ไม่ใช่แค่เอ็ฟเฟ็กการถ่ายภาพนะครับ ทั้งเหตุการณ์นำเข้าฉากนี้พยายามชี้นำอารมณ์ผู้ชม ให้เข้าถึงความรู้สึกภายในจิตใจหญิงสาว เธอพยายามเหนี่ยวรั้งชายคนรักให้นานที่สุด แต่เมื่อถึงขณะกำลังต้องร่ำจากลากันจริงๆ ก็มิอาจกระทำใจได้เลยสักนิด

การที่ Mae ปฏิเสธไม่ใช้ไม้ขีดไฟจุดบุหรี่ครั้งนี้ เพราะสมัยนั้นมีความเชื่อเล่าว่า การใช้ไม้ขีดไฟอันเดียวจุดบุหรี่ครั้งที่สาม ‘three on a match’ จะนำพาความโชคร้ายให้บังเกิดขึ้น (กับคนที่สาม) … ความเชื่อดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ Crimean War (1853-56) จนมาถึงสงครามโลกครั้งที่สอง

แซว: มีภาพยนตร์ที่นำความเชื่อดังกล่าวมานำเสนออย่างจริงๆจังๆเรื่อง Three on a Match (1932)

ภายหลังการจากไปของ Bill สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้ Mae ช็อตนี้ซ้อนภาพพื้นผิวน้ำ ราวกับเธอกำลังครุ่นคิดสั้นจะฆ่าตัวตาย(อีกครั้ง) แต่เพราะสายใย/ความสัมพันธ์ เพียงแค่ค่ำคืนของการแต่งงาน ก็สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรๆของใครคนหนึ่งได้มากทีเดียว

ผมครุ่นคิดว่า การแต่งงานทำให้ Mae รู้สึกว่าตนเองได้เติบโต ชีวิตได้รับการเติมเต็ม ทำในสิ่งเพ้อใฝ่ฝัน แม้มันอาจแค่ชั่วข้ามคืน แต่ก็ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจ เลยมิอาจทำลายความทรงจำนั้นได้ลง บังเกิดความหวัง และค้นพบบุคคลสามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยว … ไม่ใช่แค่ความรักสามารถช่วยชีวิตใครบางคนนะครับ ความโกรธเกลียด คับข้องแค้น ก็ผลักดันให้มนุษย์ธำรงชีพต่อไปได้

ส่วนห้องเครื่อง(ใต้ท้องเรือ) สังเกตว่ามันจะมีความอึมครึม หมองหม่นกว่าตอนต้นเรื่อง ร้อยเรียงชุดภาพการทำงานของเครื่องจักร (ที่ไร้จิตวิญญาณ) และโดยเฉพาะใบหน้าของ Bill หลายครั้งถูกปกคลุมด้วยเงามืดมิด (จากหมวก) สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของเขา ราวกับยังไม่สามารถทำใจร่ำลาจาก Mae โหยหาครุ่นคิดถึง นั่นทำให้จู่ๆตัดสินใจกระโดดลงเรือ ว่ายน้ำหวนกลับเข้าฝั่ง

ทิ้งท้ายกับช็อตนี้ขณะที่ Bill สอบถามเจ้าของบาร์ว่า ภรรยาหายตัวไปไหน? มือของเขาเอื้อมจับพวงมาลัย นั่นแปลว่าเขากำลังเบนเข็ม กำหนดทิศทางดำเนินไปของตนเองใหม่ แม้ต่อจากนี้จะต้องติดคุก ถูกควบคุมขังหลายสัปดาห์ แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะฉันได้มาถึงฝั่งฝัน ค้นพบเจอบุคคลสามารถเติมเต็มช่องว่างหัวใจ

ตัดต่อโดย Helen Lewis (1898) สัญชาติ Canadian ทำงานภายใต้สังกัด Paramount Pictures, หนังดำเนินเรื่องโดยใช้ The Docks of New York เป็นจุดศูนย์กลาง ประกอบด้วยบริเวณท่าเทียบเรือ, ในห้องเครื่อง(ใต้ท้องเรือ) และ The Sandbar (ทั้งภายนอก-ใน และห้องพัก)

เรื่องราวดำเนินเป็นเส้นตรงในระยะเวลา 1 คืน 1 วัน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 องก์

  • แนะนำสถานที่ ตัวละคร Bill ช่วยชีวิต Mae แล้วพามายัง The Sandbar
  • ค่ำคืนเกษมกระสันต์ หญิงสาวเรียกร้องให้เขารับผิดชอบ ก่อนลงเอยด้วยการแต่งงาน พิธีสมรส และเข้าห้องหอ
  • หลังจากค่ำคืนนั้น ตื่นขึ้นมาพบโลกความจริง ทั้งสองกำลังต้องพลัดพรากจาก แต่ลึกๆก็ไม่อาจทอดทิ้งกันโดยง่าย

เรื่องราวของ Bill กับ Mae ดำเนินคู่ขนานไปกับ (หัวหน้า) Andy และ Lou พวกเขาคือสามี-ภรรยา (ก็ไม่รู้ยังเป็นหรืออดีตไปแล้ว) ซึ่งมีแนวโน้มว่าในอดีตอาจเคย แรกพบเจอ-แต่งงาน-พลัดพรากจาก แบบเดียวกับเหตุการณ์กำลังเกิดขึ้นก็เป็นได้ (ขณะเดียวกันอาจมองว่า เรื่องราวของทั้งสองคืออนาคตที่จะบังเกิดขึ้นกับ Bill และ Mae)

มีอีกสิ่งที่หนี่งที่ต้องพูดถีงคือข้อความบน Intertitle/Title Card ครุ่นคิดเขียนโดย Julian Johnson มีความงดงาม สำบัดสำนวน เหมือนสำเนียงการพูด ถ้อยคำจากบทกวี ใครเก่งภาษาอังกฤษก็น่าจะตระหนักได้ไม่ยาก

  • The Waterfront of New York – The end of many journeys, the beginning of many adventures.
  • Bill Roberts: I’ve sailed the Seven seas, but I’ve never seen a craft as trim as you!
  • Bill Roberts: I’m goin’ to do right by our Nell! I’m goin’ to marry her – here an’ now!
  • Sugar Steve: Come on out o’ this – before you get into another mess!
  • Lou: Until I got married, I was decent.
  • Mae: I’ve had too many good times.
  • Andy, the Third Engineer: I s’pose you’ve forgot about gettin’ married, too.
    Bill Roberts: Chief, last night’s over. Today’s another day!

The Docks of New York คือการทดลองนำเสนอปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งขั้วตรงข้าม มหาสมุทร-ผืนแผ่นดิน, โลกความจริง-จินตนาการเพ้อฝัน, ชีวิต-ความตาย, ชาย-หญิง เมื่อได้พบเจอ แต่งงานครองคู่ แล้วพลัดพรากแยกจากกัน (สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ทั้งหมด)

สิ่งที่ผมชื่นชอบสุดในความขัดแย้ง/แตกต่างขั้วตรงข้ามของหนังก็คือ สภาพสกปรกโสมมของท่าเรือ แต่คือสรวงสวรรค์ของกะลาสี ทุกการออกเดินทางไกลมักพร่ำเพ้อละเมอถึงฝั่งฝัน แม้เพียงค่ำคืนหนึ่งวันที่ได้ใช้ชีวิตยังสถานที่แห่งนั้น ตื่นเช้าวันใหม่หวนกลับสู่โลกความจริง ชีวิตก็เป็นสุข พึงพอใจ ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้อีก

แต่แม้ชาวกะลาสีจะพึงพอใจที่ได้ใช้ชีวิตยังสรวงสวรรค์ระยะเวลาสั้นๆ (เหมือนการมีเพศสัมพันธ์ น้ำแตกก็แยกทาง) แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งไม่ว่าใครก็มักเริ่มโหยแสวงหาความมั่นคง ใครสักคนสามารถเป็นที่ยึดมั่นพึ่งพา อาศัยอยู่เคียงข้าง เติมเต็มความปรารถนาทั้งร่างกาย-จิตใจ

ชีวิตของผู้กำกับ Josef von Sternberg ไม่แตกต่างจากกะลาสีเรือ ก่อนหน้านี้ต้องระเหเร่รอน จากสตูดิโอหนึ่งไปอีกสตูดิโอหนึ่ง ไม่เคยเป็นรักใคร่มักที่ชังของผู้ใด กระทั่งเดินทางมาถึงท่าเทียบเรือ Paramount Pictures ก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะพักอาศัยอยู่นาน แต่หลังจากได้ช่วยเหลือภาพยนตร์บางเรื่องที่เกือบจมน้ำตาย โดยไม่รู้ตัวทำให้เขาได้ค้นพบเจอรักแท้ เลยตัดสินใจแต่งงาน เฉลิมฉลองค่ำคืนวานเกษมกระสันต์ พอรุ่งเช้าเตรียมตัวพลัดพรากจากกัน แต่ภายในจิตใจนั้นก็มิอาจทอดทิ้งเธอได้ลง … Sternberg ยินยอมตกลงเซ็นสัญญาระยะยาว 7 ปีกับ Paramount Pictures ลงหลักปักฐาน และกลายเป็นตำนาน

ผมรู้สึกว่าไม่ใช่แค่อาชีพการงานของ Sternberg แต่ยังสามารถสื่อตรงๆถึงชีวิตคู่ การแต่งงาน เพราะความเป็นศิลปิน มาดบุรุษ ‘macho’ สาวๆต่างตกหลุมรักหลงใหล ไม่เว้นแต่นักแสดงหญิงในภาพยนตร์ Marlene Dietrich ก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น (แต่ก็เป็นได้แค่คู่ขา สนองตัณหาแล้วก็จากไป)


แม้ว่า The Docks of New York จะไม่ใช่หนังเงียบเรื่องสุดท้ายของ Josef von Sternberg แต่อีกสองเรื่องที่เหลือกลับสาปสูญหายอย่างไร้ร่องรอย (The Drag Net และ The Case of Lena Smith) ไม่มีโอกาสที่คนรุ่นหลังจะได้เชยชม เป็นความน่าเสียดายอย่างยิ่งเลยนะ

(หนังเงียบทั้ง 3 เรื่องของ Josef von Sternberg สามารถหารับชมได้ทาง Criterion Channel)

ระหว่างรับชมผมก็ไม่ได้ครุ่นคิดว่าหนังจะมีความสลับซับซ้อนอะไร แต่พออ่านบทความของ Criterion เลยตระหนักถึงความสำคัญยิ่งยวดต่อหนังนัวร์ โดยเฉพาะ Port of Shadows (1938), Port of Call (1948) หรือแม้แต่ On the Waterfront (1954) ก็น่าจะได้รับอิทธิพลไม่น้อยทีเดียว

สิ่งที่โดยส่วนตัวหลงใหลคลั่งไคล้ในหนังของ Josef von Sternberg คือการเล่นกับแสง-เงา สร้างบรรยากาศให้เรื่องราว สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร มันเหมือนเป็นการรับชมงานศิลปะขั้นสูง งดงามระดับวิจิตรศิลป์ แม้เนื้อเรื่องราวอาจดูธรรมดาไปบ้าง แต่รายละเอียดรอบข้างกลับจะโดดเด่นกว่าไหนๆ

แนะนำคอหนังเงียบ ชื่นชอบบรรยากาศนัวร์ๆ รัก-โรแมนติกชวนฝัน, ช่างภาพ ตากล้อง สังเกตการจัดแสง-เงา สร้างบรรยากาศของหนัง, และนักเดินเรือ ทำงานท่าขนส่ง หวนระลึกบรรยากาศเก่าๆ เพราะปัจจุบันคงไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว

จัดเรต pg ความสกปรกโสมมทั้งภายนอก-ในของท่าเรือ

คำโปรย | The Docks of New York ดินแดนอุดมคติของ Josef von Sternberg สถานที่บรรจบกันระหว่างชีวิต-ความตาย โลกความจริง-เพ้อฝัน แม้สกปรกโสมม แต่ชีวิตถือกำเนิดขึ้นยังที่แห่งนั้น
คุณภาพ |
ส่วนตัว | รักคลั่งไคล้

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: