The Draughtsman’s Contract (1982)
: Peter Greenaway ♥♥♥♥◊
เรื่องราวของ draughtsman (นักสเก็ตภาพ) ถูกว่าจ้างให้วาดภาพคฤหาสถ์ 12 รูป ในระยะเวลา 12 วัน เมื่อวาดเสร็จภาพเหล่านี้ได้กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ เพื่อตามหาฆาตกร ฤานี่จะเกิดขึ้นเพื่อจัดฉากป้ายสีคนบางคน, หนังเรื่องนี้จะทำให้คุณพิศวงงงงวย ด้วยเทคนิควิธีการนำเสนอที่แปลกล้ำ กับคำถามว่า ใครคือฆาตกร? ที่คุณอาจหาคำตอบไม่ได้เมื่อดูหนังจบ
The Draughtsman’s Contract เป็นหนังที่ คุณจะไม่คิดอะไรเลยก็ได้ ทิ้งข้อสงสัยทั้งหมดไว้ แล้วชื่นชมเฉพาะความงดงามในวิธีการนำเสนอที่แปลกและโดดเด่น แต่ถ้าคุณเป็นคอหนังตัวจริง ผมแนะนำให้คิดหาคำตอบครับ ปริศนาของหนังคืออะไร? แล้วคุณจะพบความยุ่งเหยิงอลม่าน (baffling) ที่หาคำตอบไม่ได้ ผมก็พยายามคิดหาและค้นหาคำตอบเช่นกัน แต่ที่เจอก็ไม่รู้เป็นคำตอบที่ใช่หรือเปล่า แต่มันน่าพึงพอใจสำหรับผมแล้ว ใครชอบความท้าทายในการคิดแบบ Mulholland Drive (2001) ไม่ควรพลาดเลย
ผมขอตั้งโจทย์จากหนังก่อนแล้วกัน คำถามแรกที่เชื่อว่าต้องเกิดในใจทุกคนคือ ใครคือฆาตกรตัวจริง? ที่เราสามารถรู้สึกได้แน่ๆคือ คนที่ถูกตัดสินว่าผิดในตอนจบน่าจะเป็นแพะแน่ๆ แล้วใครกันที่เป็นตัวจริง?
คำถามที่สอง เพื่ออะไร?, แรงจูงใจคืออะไร? กับคนที่อยากเป็นนักสืบ การรู้แค่ว่าใครเป็นฆาตกรแต่ไม่เข้าใจว่าเขาทำไปเพื่ออะไร ไม่มีทางที่คุณจะเป็นนักสืบที่ดีได้แน่นอน
คำถามสุดท้าย หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร?, ผมเชื่อว่าต่อให้หลายคนคิดหาคำตอบข้อ 1 และ 2 ได้แล้ว ก็ยังอาจมองไม่เห็นใจความสำคัญของหนัง เพราะคำถามทั้งสองข้อนี้ ดึงดูดความสนใจไปหมด จนกลบประเด็นหลักของหนังมิดชิด ถ้าคุณไม่คิดวิเคราะห์อย่างลงลึก ก็อาจจะไม่สามารถจับแก่นกลางแท้จริงได้, มองผิวเผินจะเห็นเป็นหนังแนว Mystery แต่ผมบอกเลยว่าหนังมีความลึกซึ้งกว่านี้นะครับ
ผู้กำกับ Peter Greenaway สัญชาติ British เดิมทีตั้งใจเป็นจิตรกร ชอบการวาดรูป ของยุค Renaissance และ Baroque โดยเฉพาะ Flemish painting (ภาพวาดของชาว Dutch & Belgium) กลายมาเป็นผู้กำกับหนังด้วยความชื่นชอบในผลงานของ Ingmar Bergman, Jean-Luc Godard และ Alain Resnais, หนังของ Greenaway มักจะมีองค์ประกอบของภาพวาด เครื่องแต่งกาย สถาปัตยกรรม ที่สื่อถึงธรรมชาติ ผู้คน Sexual และความตาย (นี่ถือเป็นใจความในงานศิลปะของยุค Renaissance และ Baroque นะครับ), The Draughtsman’s Contract ถือเป็นหนังเรื่องที่สองของผู้กำกับ และได้ฉายแววอัจฉริยะ ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนใคร ราวกับว่าผู้ชมกำลังดูงานศิลปะ มากกว่ากำลังดูภาพยนตร์
เปิดเรื่องมา 10 นาทีแรก เป็นฉาก Open Credit ที่แปลกประหลาดมาก เพื่อให้ผู้ชมปรับสภาพ ทำความเข้าใจต่อเทคนิคการเล่าเรื่อง รูปแบบงานภาพ เสียงเพลงประกอบ เครื่องแต่งกาย ลักษณะการพูด และทำความรู้จักตัวละคร เดิมทีเห็นว่าฉากนี้ยาว 30 นาทีแล้วถูกตัดเหลือแค่ 10 นาที ให้มีแค่แนะนำตัวละครและมุ่งประเด็นการเซ็นสัญญาวาดภาพของ Draughtsman, สิ่งที่ตัดไปคือการพูดคุยล้วนๆ ในประเด็นอาทิ สังคม ชนชั้น การปกครอง ฯ ทั้งมีสาระและไม่มีสาระ การตัดออกเยอะขนาดนี้ทำให้ผมนึกถึงตอนที่ Jean-Luc Godard ตัดต่อ Breathless วิธีการนี้มันคล้ายๆ jump-cut แต่ไม่ใช่ jump-cut นะครับ เพราะภาพมันไม่ได้กระโดดไปมา ซีนถูกตัดให้สั้น หลงเหลือแค่ใจความสำคัญเหลือไว้ (ทั้งๆที่จริงๆอาจพูดคุยกันในฉากนั้นหลายนาที) คุยจบแล้วก็ตัดข้ามไปฉากอื่นเลย ถ้าให้เรียกน่าจะชื่อว่า jump-scene
ภาพที่เราเห็น เป็นอะไรที่ฉาบหน้ามากๆ ผู้ดีอังกฤษ คนชั้นสูง แต่งหน้าแต่งตา ใส่วิก สวมชุดแบบเต็มยศ เราแทบจะไม่เห็นตัวละครในภาพลักษณ์ของคนธรรมดาเลย นี่หมายถึงหน้ากาก การวางตัวเหนือคนอื่น, กับ Draughtsman เขาจะใส่วิกสีดำ สวมเสื้อผ้าที่แตกต่างกันเล็กน้อย แสดงถึงคนชนชั้นกลางในสังคม ไม่ได้อยู่ระดับเดียวกับคนชั้นสูง, คำพูดสนทนาของพวกเขา ผมเรียกว่าภาษาดอกไม้ คืองดงาม คล้องจองดั่งคำกลอน ไม่มีคำหยาบ แต่แทรกไว้ด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง ซับซ้อน บางครั้งก็เสียดแทงอย่างเจ็บปวด เช่น
– Why is that dutchman waving his arms about? Is he homesick for windmills?
– When your speech is as coarse as your face, Louis, then you sound as impotent by day as you perform by night.
– Chasing sheep is a tiresome habit best left to shepherds.
ผมขอไม่แปลแล้วกันนะครับ ถ้าคุณไม่สามารถเข้าใจความหมายแฝงในประโยคภาษาดอกไม้ที่ผมยกมานี้ได้ คุณอาจเข้าไม่ถึงความสวยงามในภาษาพูดของหนังนะครับ คำศัพท์ถือว่าง่ายกว่าหนังเรื่อง Mr.Turner แต่แฝงความหมายลึกซึ้งกว่า ใครหาซับไทยดูได้ถือว่าโชคดีมากๆ
มีประโยคเด็ดอยู่ประโยค ใครเคยดูหนังแล้วน่าจะนึกออกว่าฉากไหน You must forgive my curiosity, madam, and open your knees. ตอนได้ยินประโยคนี้ ผมหัวเราะร่าเลยละ
Draughtsman รับบทโดย Anthony Higgins ไม่ค่อยคุ้นหน้าเท่าไหร่ เห็นว่าช่วงหลังๆไปรับงานแสดง TV-Series เสียมาก ไม่ค่อยได้รับงานภาพยนตร์เท่าไหร่, บท Mr. Neville คือคนธรรมดาที่อาจจะมีฝีมือด้านการสเก็ตภาพได้สวยงาม ช่วงครึ่งแรกเราจะรู้สึกเหมือนเขาสามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ในกำมือ การวาดภาพก็ต้องเป็นแบบที่เขาต้องการเปะๆ มีความเย่อหยิ่งจองหอง เพราะภายใต้สัญญาการวาดรูป มันแลกมากับข้อได้เปรียบที่ทำให้เขามีอำนาจเหนือใครๆ, ในสัญญาระบุ 12 ภาพ แต่ Mr. Neville ต้องการ 13 ภาพ (Lucky Number) หลังจากวาดเสร็จ 12 ภาพใน 12 วันแล้ว ผ่านไปไม่รู้นานเท่าไหร่ เขากลับมาที่คฤหาสถ์อีกครั้งเพื่อต้องการวาดภาพที่ 13 ปิดท้าย แต่หารู้ไม่หายนะกำลังย่างกรายเข้ามา สิ่งที่เขาทำดูก็รู้คือการฉวยโอกาส เขาจึงถูกตอบโต้กลับอย่างรุนแรง ที่เป็นผลจากการกระทำที่ไม่รู้จักพอของตัวเอง (สมน้ำหน้า!)
ภาพวาดของ Draughtsman ในหนังเป็นฝีมือของผู้กำกับ Peter Greenaway นะครับ อย่างที่บอกไปเขาอยากเป็นจิตรกร แต่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับ, เทคนิคการวาดภาพ ด้วยการกำหนดช่วงเวลาที่จะวาดแต่ละภาพในแต่ละวัน แทนที่จะวาดภาพละวัน วันหนึ่งเขาวาด 6 ภาพ กำหนดเวลาวาดภาพละ 2 ชั่วโมง เป็นกิจวัตร 6 วัน นี่เป็นเทคนิคที่เจ๋งดีนะครับ แต่ผมกลับรู้สึกวาดวันละภาพก็ไม่ได้ให้ผลต่างกันมาก บอกว่าแสงไม่เหมือนเดิม นี่ภาพสเก็ตนะครับไม่ใช่ภาพสีพู่กัน
มีประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกัน เพราะ Draughtsman ที่รับบทในหนังไม่ใช่คนวาดแต่เป็นผู้กำกับ นั่นหมายถึง ตัวละครนี้สื่อถึงตัวของผู้กำกับ ซึ่งอาจจะมองเป็น Biopic หรือหนังเชิงชีวประวัติช่วงชีวิตหนึ่งของ Greenaway ก็ได้, ประเด็นนี้แล้วแต่ใครจะมองนะครับ ผมชี้แค่ความสัมพันธ์ จะคิดต่อยังไงก็ตามสบายเลย
Mrs. Herbert รับบทโดย Janet Suzman คนนี้ก็เน้นรับงาน TV-Series นะครับ, หญิงชั้นสูงที่ต้องการเซอร์ไพรส์สามีด้วยภาพวาด 12 วันคือระยะเวลาที่เขาไม่อยู่บ้าน แต่เมื่อครบกำหนดถึงเวลากลับ ดันไปพบศพของสามีอยู่หลังบ้าน, ในสัญญากับ Draughtsman นั้น Mrs. Herbert ถือว่าเสียเปรียบมากๆ ขนาดว่าช่วงประมาณวันที่ 2-3 เธออยากจะยกเลิกสัญญา แต่ Mr. Neville ไม่ยอมเลิก, Mrs. Herbert มีแรงจูงใจที่จะฆ่าสามีไหม? ช่วงแรกๆของหนังเราอาจเห็นไม่ชัด เหมือนเธอพยายามทำให้ผู้ชมเห็นว่า เธอยังรักสามีมาก แต่มันมีลับลมคมในมากกว่านั้น ส่วนแรงจูงใจที่จะฆ่า Mr. Neville นั้นชัดเจนมากๆ ตอนที่เธอรับสัญญาภาพวาดที่ 13 คงมีแต่ Mr. Neville ที่สังเกตไม่เห็น ขนาดว่ามีการอ้างถึงตำนานเกี่ยวกับ Pomegranate (ทับทิม) ของฝากที่กลายเป็น Death Flag ไปเสียอย่างนั้น
Mr. Talmann รับบทโดย Hugh Fraser, ถึงเป็นผู้ดีชั้นสูง แต่งตัวหรูหรามีระดับ แต่เป็นคนเย่อหยิ่ง เห็นแก่ตัว ชอบดูถูกผู้อื่น คิดว่าตัวเองฉลาดล้ำ แท้จริงโง่บรม นี่เป็นตัวละครที่ตรงข้ามกับ Mr. Neville นะครับ เขาไม่ได้มีความสามารถพิเศษอะไรเลย แต่มีอำนาจที่สามารถใช้ทำอะไรได้มากมาย, ภายหลังเขากลายเป็นหุ่นเชิดของใครบางคนโดยไม่รู้ตัว ทำให้เขาต้องทำอะไรบางอย่าง ที่ส่งผลต่อการตายของใครบางคนในตอนจบ
Mrs. Talmann รับบทโดย Anne-Louise Lambert, คนนี้จะตรงข้ามกับ Mrs. Herbert ที่ควบคุมอะไรไม่ได้ แต่ Mrs. Talmann พยายามควบคุมทุกอย่าง เธอเสนอตัวเองให้กับ Mr. Neville แบบไม่ได้ถูกบังคับอะไร ข้อเรียกร้องของเธอเป็นอะไรที่ดูเหมือนว่ามีการวางแผนอย่างรอบคอบ, ผมไม่รู้การตายของ Mr. Herbert จะมีประโยชน์อะไรกับเธอนะครับ ยังไงเธอก็ไม่ได้ไม่เสียอะไรเลยสักนิด แต่ถ้า Mr. Talmann สามีของเธอตาย ดูแล้วเธออาจจะได้รับประโยชน์ก็ได้ (จากการได้สามีใหม่ที่เรื่องบนเตียงดีกว่า)
ฉากที่ Mr. และ Mrs. Talmann ทะเลาะกันนี่เจ๋งมากๆเลย ผมหัวเราะทั้งซีนเลย คนหนึ่งโง่บรมกับอีกคนที่โคตรฉลาด ทะเลาะกันด้วยภาษาดอกไม้ แบบว่า เห้ยมันทะเลาะอะไรกัน! ไม่เคยเห็นคนทะเลาะกันด้วยการเสียดสีเป็นภาษาสวยงามขนาดนี้มาก่อน
ถ่ายภาพโดย Curtis Clark คุณอาจคิดว่าสไตล์ภาพคล้ายๆ Yasujirô Ozu ที่ชอบตั้งกล้องไว้เฉยๆ ใครคิดแบบนี้แสดงว่าคุณยังไม่เข้าใจเรื่องการถ่ายภาพเท่าไหร่นะครับ ถ้าตัดเรื่องการแช่กล้องทิ้งไป ผมไม่เห็นงานภาพคล้ายกับสไตล์ของ Ozu สักนิด, Ozu เน้นการถ่ายในพื้นที่ที่จำกัด ในบ้าน กล้องมุมเงยระดับสายตา แต่หนังเรื่องนี้ถ่าย Landscape, Scenery ภายนอก เห็นบ้านคฤหาสถ์ วิวทิวทัศน์ ระดับกล้องคือ ด้านหลังตัวละคร (ไม่ใช่ระดับสายตา), Static Camera หรือการแช่ภาพ นี้มีมาตั้งแต่สมัยหนังเงียบแล้วนะครับ สไตล์ของ Ozu ถือว่าได้แรงบันดาลใจ เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคนั้น ต่อมาพัฒนาแล้วปรับประยุกต์กลายเป็นสไตล์ของตนเอง, หนังเรื่องนี้มันมีเหตุผลที่ต้องถ่ายอย่างนี้อยู่ ไม่ได้อิทธิพลหรือเลียนแบบสไตล์ Ozu แน่นอน, มีคนวิเคราะห์สาเหตุที่ต้องถ่ายหนังแบบนี้ไว้ 2 เหตุผล
1. เพื่อสอดคล้องกับภาพสเก็ตของ draughtsman ที่เป็นภาพนิ่ง และสไตล์ของ Mr. Neville เขาเป็น realist ที่เห็นอะไรก็วาดออกมาแบบนั้น การถ่ายภาพแบบนี้ให้ความรู้สึกเหมือนความซื่อตรง ความจริง เห็นอะไรถ่ายแบบนั้น จึงไม่มีการดัดแปลง หรือเคลื่อนไหว
2. ในภาษาอังกฤษ frame/framed นั้นมี 2 ความหมายคือ กรอบรูป และใส่ร้ายป้ายสี, การถ่ายภาพที่ดูเหมือนกรอบ (frame) เหมือนการตั้งใจใส่ร้ายป้ายสี (framed) ให้กับ draughtsman
ภาพเคลื่อนไหวก็มีนะครับ ในฉากโต๊ะกินข้าว ผมรู้สึกภาพมันเคลื่อนไหวแบบนิ่งมาก ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเดินดูภาพขนาดยาว (Widescreen) ที่มักเดินกลับไปมาเพื่อชื่นชมความสวยงามทีละส่วน (ไม่สามารถมองทั้งหมดทีเดียวได้เพราะภาพยาวเกินไป) กระนั้นมันดูไม่เหมือนกล้องเคลื่อนไหว แต่เป็นองค์ประกอบที่อยู่ในภาพเคลื่อนไหวมากกว่า, กับคนที่ช่างสังเกตจะพบว่าหนังเรื่องนี้ใช้ long-shot กับ mid-shot เสียส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมี close-up shot ที่ให้เห็นสีหน้า ใบหน้าของตัวละครแบบชัดๆนัก นี่ก็สอดคล้องกับเหตุผลข้อ 1 นะครับ เพราะภาพวาดสเก็ตนั้นมีแต่ภาพ Landscape, Scenary เป็นภาพที่มองเห็นวิวทิวทัศน์ไกลๆ ไม่มี portrait หรือภาพสเก็ตใกล้ๆเลย
ผมมาคิดดูทำไมถึงจ้างคนสเก็ตภาพ (draughtsman) ไม่จ้างจิตรกร (painter) สองอาชีพนี้แม้จะวาดรูปเหมือนกันแต่มุมมองต่อสิ่งที่จะวาดต่างกันมาก นักสเก็ตจะต้องอาศัยการสังเกตสิ่งที่วาดอย่างละเอียด เห็นทุกสิ่งอย่างเป็นเส้น และต้องเก็บรายละเอียดให้ครบถ้วนสมบูรณ์, ส่วนจิตรกรใช้พู่กันและสี มองเห็นภาพหยาบๆ วาดตามความรู้สึก อารมณ์ ภาพที่ออกมาจึงมักไม่มีเส้นหรือกรอบ มีแต่แสงกับสี, หนังเรื่อง The Quint Tree Sun เป็นตัวอย่างที่เห็นชัด จิตรกรวาดต้น Quint 2 ภาพ หนึ่งคือภาพสีจะไม่มีเส้นเลย และภาพที่สองคือภาพร่าง ใช้ถ่านคาร์บอนลากเส้น ทำไมต้องวาดสองภาพแยกกัน วาดรวมกันไม่ได้หรือ?, เหตุผลน่าจะชัดเจนอยู่นะครับ มันเหมือน รูปธรรมกับนามธรรม ภาพสเก็ตเป็นรูปธรรมมีโครงสร้างที่แน่นอนให้ความรู้สึกเหมือนจริงจับต้องได้ ส่วนภาพวาดพู่กันเป็นนามธรรมตามจินตนาการ มองจับต้องไม่ได้ ต้องใช้จิตสัมผัส (จริงๆจะวาดคู่กันก็ได้ ภาพที่เป็นแบบนั้นจะคือ ภาพสายกลาง ครึ่งรูปธรรม ครึ่งนามธรรม), ในหนังมีคำพูดว่า For painting requires a certain blindness. แต่สำหรับ draughtsman เขาจะไม่สามารถทิ้งรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ นี่แหละที่ทำให้เขาเหมาะแก่การถูกใส่ร้ายป้ายสี เพราะความที่ต้องเป็นคนซื่อตรง ใครจูงไปทางไหนก็ไป (จะวางอะไรที่เป็นหลักฐานการฆาตกรรม เขาก็วาดออกมา) นี่คือความสนใจต่อสิ่งที่เห็น ไม่ใช่ต่อสิ่งที่เป็น An intelligent man will know more about what he is drawing than he will see.
ตัดต่อโดย John Wilson เดิมทีเห็นว่าเวอร์ชั่นตอนตัดต่อแรกหนังยาว 3 ชั่วโมง ผู้กำกับคงเห็นว่ามันยาวเกินไป จึงตัดทอนจนเหลือแค่ 103 นาที (เห้ย! อะไรจะหายไปขนาดนั้น) แต่ไม่น่าเชื่อเหลือแค่เวลาแค่นี้คุณภาพกลับอัดแน่น เต็มเปี่ยม มีแต่เนื้อไม่มีน้ำเหลืออยู่เลย, ต้องชมว่าตัดต่อได้คมกริบ ฉับไว แม่นมากๆ เมื่อรวมกับงานภาพที่นิ่งๆ การตัดต่อแบบนี้มองเป็นนิสัยมนุษย์ได้ว่าไม่ยั้ง ไม่แคร์ ตรงๆ ไม่มีลีลา, ดูหนังจบแล้วพอเห็น trivia นี้ลองค้นหาดูว่าจะมี director’s cut ไหม … ไม่มีครับ แต่ผู้กำกับยังมีชีวิตอยู่ ไม่แน่… เดี๋ยว หนังเรื่องนี้เคยสูญหาย และถูก restore มา ก็อาจเป็นไปได้ว่าต้นฉบับสูญหายไปแล้ว
เรื่องราวที่หายไปกว่าครึ่งก็มีข้อเสียนะครับ คือบางประเด็นหลายอย่างจะไม่มีคำอธิบายหรือข้อสรุป เช่น รูปปั้น (Statue) ทำไมเคลื่อนไหวได้?, ผมไปเจอการวิเคราะห์หนึ่งที่น่าสนใจ draughtsman ถือว่าเป็น idealist ผู้เชื่อว่าสามารถจับภาพ จดจำทุกอย่างรอบตัวได้ และถ่ายทอดออกมาได้ไม่ผิดเพี้ยน ในความเป็นจริงนั้นการจับภาพแบบนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว วาดรูป/สเก็ตรูป ไม่ใช่ถ่ายรูป (บทเรียนจากหนังเรื่อง The Quint Tree Sun) เวลาเป็นปัจจัยที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป, ในภาพวาดเราจะเห็นบันได เปลี่ยนจุดและผ้านวมหายไป, Living Statue มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ในชีวิตจริง เพราะรูปปั้นเกิดจากการภาพในอุดมคติของช่างแกะสลักต่อมนุษย์ที่เป็นแบบ ไม่มีมนุษย์คนไหนที่สมบูรณ์ แต่แกะสลักออกมาได้สมบูรณ์แบบ นี่เหมือนผู้กำกับจงใจล้อเลียน เล่นตลกโดยมองว่า แล้วทำไมรูปปั้นจะไม่สามารถมีชีวิต ลมหายใจ และเคลื่อนไหวเองได้
เพลงประกอบโดย Michael Nyman เห็นว่าตอนแรกตั้งใจจะแต่งเพลงประกอบให้ทุกภาพวาดในหนัง ถ้าเป็นเวอร์ชั่น 3 ชั่วโมงก็อาจจะทำได้ แต่พอหนังถูกตัดเหลือแค่ 103 นาที ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะทำแบบนั้น เพลงประกอบจึงเปลี่ยนไปเป็นใส่เฉพาะช่วงที่มีความสำคัญ และต้องการเน้นสร้างบรรยากาศให้กับหนังเท่านั้น, บรรยากาศของเพลงทำให้เราได้กลิ่นอายยุคสมัย Renaissance และ Baroque ของศตวรรษที่ 17 ซึ่งเข้ากับเสื้อผ้า หน้าผม และสถานที่ถ่ายทำ Groombridge Place เป็นอย่างดี
เกร็ด: Groombridge Place เป็นคฤหาสถ์ (manor) ที่ใช้ถ่ายทำหนังเรื่อง Pride and Prejudice (2005) ด้วยนะครับ
ผมชอบเพลงนี้มากๆ ชื่อ Chasing Sheep Is Best Left to Shepherds (การไล่จับแกะ ควรเป็นหน้าที่ของเด็กเลี้ยงแกะ) นี่เป็นเพลงที่มีกลิ่นอาย Baroque ผสมผสานกับจังหวะแนว Rock N’ Roll ให้ความรู้สึกลุ้นระทึก ตื่นเต้น เร้าใจ คงประมาณคนที่ไม่ใช่เด็กเลี้ยงแกะ กำลังวิ่งต้อนแกะ วิ่งไล่จนหมดแรง ทิ้งตัวลงนั่ง แล้วบ่นพึมพัม การไล่จับแกะ ควรเป็นหน้าที่ของเด็กเลี้ยงแกะ ไม่ใช่หน้าที่ฉัน, ในอเมริกาเห็นว่าเพลงนี้ฮิตมาก โฆษณาทางทีวีเอาไปใช้เป็นเพลงประกอบบ่อยครั้ง, ทำนองของเพลงมาจาก Prelude เข้า Act III, Scene 2 ในโอเปร่าของ Henry Purcell เรื่อง King Arthur
ใครคือฆาตกร, นั่นสิครับ ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนปรากฏขึ้นในหนัง มีแต่ความเป็นไปได้ตามความเข้าใจของแต่ละคนเอง นี่คือความจงใจของผู้กำกับ Greenaway เขาจงใจใส่เศษขนมปังให้กับทุกตัวละครในหนัง ให้ผู้ชมกลับไปคิดมองหาด้วยความเข้าใจของตนเอง มันมีความเป็นไปได้มากมาย และไม่มีใครสรุปได้ว่าสุดท้ายแล้วฆาตกรคือใคร ผมก็ไม่คิดว่าผู้กำกับจะมีคำตอบด้วยนะครับ, การไม่มีคำตอบคงทำให้หลายคนไม่พอใจ จริงๆผมพอใจกับการไม่มีคำตอบนะครับ แต่ผมจะขอวิเคราะห์หาผู้ร้ายในมุมมองของผมเอง ใครคิดเห็นเป็นยังไง มีข้อโต้งแย้งยังไง พูดคุยกันได้นะครับ
ผมมองแรงจูงใจในการฆาตกรรมคือผลประโยชน์ในกองมรดก อสังหาริมทรัพย์ และอิทธิพลที่ผู้หญิงจะมีมากกว่าผู้ชายในการบริหารจัดการทรัพย์สิน, จากการฆาตกรรมครั้งนี้ ดูแล้วคนที่จะได้รับมากที่สุดคือ Mrs. Herbert เพราะสามีเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง การตายของสามีทำให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นคนมีอำนาจสูงสุดในบ้าน (ไม่ต้องพึ่งพาสามีอีกต่อไป) มองมุมจะมองว่านี่คือหนัง Feminist ที่ผู้หญิงมีบทบาทและอิทธิพลเหนือผู้ชาย, การได้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ทำให้ Mrs. Herbert กลายเป็นคนอิสระ สามารถทำอะไรก็ได้ รวมถึงหาสามีใหม่ สนองตัณหาความสุขของตนก็ยังได้, ในกรณีนี้คนที่เสียผลประโยชน์ที่สุดคือ Mr. Talmann เพราะเขาเป็นคนที่แต่งเข้ามาในครอบครัว ความสำคัญในกองมรดกอยู่ลำดับท้ายๆอยู่แล้ว และในกรณีถ้า Mrs. Herbert แต่งงานใหม่ มีสามี มีลูก มรดกจะตกไปอยู่ที่ลูกของ Mrs. Herbert จนอาจไม่เหลือมาถึงเขา, ส่วน Mrs. Talmann ถือว่าไม่เสียประโยชน์สักเท่าไหร่เพราะเธอเป็นลูกของ Mrs. Herbert
แล้วมีโอกาสที่ Mrs. Herbert จะคือเป็นฆาตกรไหม ก็มีความเป็นไปได้นะครับ ผมคิดว่าเธออาจจะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับ Mrs. Talmann, มันมีช่วงกลางๆเรื่อง เราจะเห็นว่า Mrs. Talmann ไม่ค่อยพึงพอใจในการใช้ชีวิตร่วมกับ Mr. Talmann เสียเท่าไหร่, การกระทำที่จะทำให้สามีเสียผลประโยชน์ และทำให้แม่ได้ประโยชน์มากที่สุด ทั้งสองจึงร่วมมือกัน, Mrs. Talmann ได้ทำสัญญาอีกฉบับกับ Mr. Neville ใช้ตัวเองแลกกับการให้เขาวาดวัตถุที่เธอจงใจใส่เพิ่มเข้าไปในฉาก มันดูเหมือนว่าการกระทำนี้เพื่อสร้างหลักฐาน ป้ายสีโยนความผิดให้ Mr. Neville (เขามองว่าเป็นเรื่องตลกเท่านั้น ไม่คิดว่าเป็นเรื่องจริง) นี่เป็นแผนที่ลึกล้ำมากๆ เพราะใครๆก็รู้ว่าไม่ใช่ฝีมือ draughtsman แน่ๆที่ฆ่า Mr. Herbert เว้นไว้แต่คนๆเดียวที่เข้าใจแบบนั้น
คนที่ลงมือฆ่า Mr. Herbert ผมคิดว่าคือ Mr. Noyes นะครับ เขาอาจเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดหรือผู้ถูกไหว้วานให้เป็นคนฆ่า เพราะ หลังจากที่ทุกคนรู้ข่าวว่า Mr. Herbert ตาย Mr. Noyes ตรงมาหา Mrs. Herbert ขอคุยแบบส่วนตัว ให้เธอแก้ต่าง เพราะเขาเป็นฆาตกรจริงๆ (กึ่งๆ blackmail ว่าถ้าเขาถูกจับ จะบอกว่า Mrs. Herbert เป็นคนสั่งให้ฆ่า) ซึ่ง Mrs. Herbert ก็แก้ยอมแก้ต่างให้เขา
เพราะความที่ Mrs. Talmann ฉลาดกว่าสามีตนมากๆ เธอจึงวางแผนตลบหลายชั้น หลังจากการตายของ Mr. Herbert ทำให้ภาพวาดของ Mr. Neville ไม่มีค่าทันที และเมื่อ Mr. Talmann รู้เรื่องสัญญาระหว่างเธอกับ draughtsman ก็ตรงไปหา Mrs. Talmann คิดว่าเธอนอกใจเขา ซึ่ง Mrs. Talmann ก็ใช้วาจากล่อม หลอกล่อจน Mr. Talmann หลงเชื่อและเข้าใจจุดประสงค์ของภาพวาดทั้ง 12 ที่คือหลักฐานใช้ยืนยันว่า Mr. Neville อาจเป็นฆาตกร
ผมคิดว่าแผนการนี้อาจเกิดขึ้นหลังจากที่ Mr. Neville เริ่มวาดภาพไปสักพักแล้ว อาจไม่ได้เริ่มตั้งแต่ต้นเหมือนที่หลายคนคิด แต่มันก็ยังดูเหมือน Mr. Neville คือแพะที่เตรียมไว้ถูกเชือดตั้งแต่แรกแล้ว, ได้ยินว่าในบทร่างของหนัง Mr. Herbert จะเสียชีวิตในวันที่ 12 (คือกลับมาตายที่บ้าน) ในหนังทิ้งปริศนาไว้ ไม่บอกว่า Mr. Herbert เสียชีวิตเมื่อไหร่ แต่สถานที่ที่เขาเสียชีวิต คือบริเวณที่ Mr. Neville ตั้งใจใช้เป็นภาพวาดที่ 13, ถ้า Mr. Neville ไม่โลภมาก ไม่กลับมาวาดภาพที่ 13 ผมเชื่อว่าชะตากรรมเขาคงไม่อนาถแบบในหนัง แต่เมื่อกลับมา เหมือนเดินเข้าถ้ำเสือ ยังไงก็ต้องโดยขย้ำแน่นอน, ความโลภของ Mr. Neville กลายเป็นภัยกับตัว เพราะมันเข้าแผนของ Mrs. Talmann เลย ที่หลอกให้ Mr. Talmann เข้าใจว่า Mr. Neville กลับมา ต้องการแต่งงานกับ Mrs. Herbert เพื่อฮุบมรดก นี่ทำให้ Mr. Talmann ได้ข้อสรุปว่า Mr. Neville นี่แหละที่เป็นฆาตกร
ผมค่อนข้างมั่นใจว่า Mr. Talmann ไม่น่าจะเป็นฆาตกรนะครับ เพราะเขาไม่น่าจะฉลาดพอที่จะทำอะไรแบบนั้นได้ แต่ก็มีคนมองว่า Mr. Talmann อาจเป็นฆาตกร ผมขอไม่ลงรายละเอียดจุดนี้แล้วกันนะครับ ลองไปคิดวิเคราะห์หาคำตอบกันเอง
สรุปความคิดของผมคือ
ผู้สมรู้ร่วมคิด: Mrs. Herbert กับ Mrs. Talmann
ฆาตกร: Mr. Noyes
มีคนเปรียบหนังเรื่องนี้เหมือนกับ Crossword เราเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่รู้ว่าเบื้องหลังมีอะไร ทำไมเกิดอะไรขึ้นแบบนั้น มันไม่แปลกถ้าคุณจะได้ข้อสรุปต่างจากผมนะครับ ใครอยากแย้งอะไรตรงไหนก็พูดคุยกันมาได้เลย
ที่พูดมาหลายย่อหน้านี้ คือหน้าหนังนะครับ ยังไม่ได้พูดถึงโจทย์ข้อที่ 3 เลย หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไรกัน? ผมคิดว่าเป็นเรื่องทัศนคติและการใช้อำนาจของชนชั้นปกครอง (ชนชั้นสูง) ต่อคนชนชั้นกลาง, Mr. Neville ถือว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นกลาง ทัศนคติของเขาคือมองว่า ตัวเองมีพลังอำนาจต่อรอง สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง ซึ่งเขาก็ทำได้ในตอนแรก ตามกรอบสัญญาที่ทำไว้, แต่เมื่อเขาทำนอกข้อตกลง นอกเหนือจากสิ่งที่ควรทำ มันคือความเสี่ยง ทะเยอทะยานที่เกิดจากความต้องการของตัวเอง นั่นทำให้เขาถูกตอบโต้กลับจากชนชั้นสูง ที่มองเขาเป็นภัย ต้องถูกขจัดให้สูญหายไป (ฆ่าให้ตาย)
มุมมองของชนชั้นสูงต่อคนชั้นกลาง หนังใช้ประเด็นเรื่องทรัพย์สิน กรรมสิทธิ์ ที่ดินมรดก เปรียบกับการต่อสู้ แก่งแย่ง แข่งขัน เพื่อให้ได้เป็นผู้นำในสังคม (หรือผู้นำในบ้าน), Mr. Neville เปรียบได้เหมือนประชาชนที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง สัญญา หรือกฎหมายของผู้นำเหล่านี้ ทัศนคติของผู้นำคือ ผู้ใต้บังคับบัญชามีเสรีภาพทำอะไรก็ได้ตามสิทธิ์ของตน แต่ไม่สามารถทำได้มากกว่า เปรียบสัญญาคือกฎหมาย ถ้าคุณปฏิบัติตนภายใต้กฎหมายก็ปลอดภัยไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าทำนอกเหนือ ทำผิดกฎหมายก็ย่อมถูกลงโทษ
มองคนชั้นสูงในหนังเปรียบกับผู้นำประเทศ Mr. Talmann คือผู้นำประเภทหลงตัวเอง เย่อหยิ่ง จองหอง ผู้ชายมักเป็นตัวแทนของผู้นำในสายเลือด ราชวงศ์ เปรียบกับราชาธิปไตย, Mrs. Herbert ได้แต่ตามคนอื่น คิดเองไม่ได้ โอนอ่อนผ่อนโยนตามคำขอ เปรียบกับประชาธิปไตย, Mrs. Talmann เจ้าเล่ห์ เล่ห์เหลี่ยม มีชั้นเชิง ชอบสั่งคนอื่น เปรียบกับคอมมิวนิสต์, มองแบบนี้เรื่องเพศไม่ใช่ประเด็นสำคัญนะครับ การล่อลวง Mr. Neville ของสอง Mrs มันสื่อทางอื่นได้ Sex คือข้อตกลงความพึงพอใจที่จะอยู่ร่วมกัน ส่วน Mr. Talmann ที่เป็นผู้ชาย (ไม่ใช่ Homo) เปรียบกับการจำยอมของระบอบกษัตริย์ที่เลือกผู้นำไม่ได้ ต้องเป็นทายาทสืบต่อราชวงศ์เท่านั้น
ในหนังเราจะเห็นว่า Mr. Neville คือผู้ขลาดเขลา คิดว่าตัวเองมีอิสระเสรี ทำอะไรได้ทุกอย่าง ไม่รู้ไม่สนใจ ว่ากำลังตกหลุมพรางที่วางไว้อย่างแยบยน ความเย่อหยิ่ง จองหอง สุดท้ายมันอาจกลับมาทำลายตัวเอง, นี่เป็นประเด็นที่ถ้าเปรียบเทียบแล้วเจ็บแสบมากๆ, ประชาชนภายใต้ผู้นำ คิดว่าตัวเองมีอิสระเสรี ไม่รู้ไม่สนใจ กำลังตกหลุ่มพรางของผู้นำที่วางแผนไว้อย่างแยบยล ความเย่อหยิ่งจองหอง หลงตัวเองของประชาชนต่อผู้นำแบบนี้ มันอาจกลับมาทำลายตนเองและประเทศชาติ, ไม่รู้เหมือนกันว่า Greenaway กำลังพูดถึงใคร ในมุมที่ผมมองคือระดับปกครองหรือผู้นำประเทศ มันคงเจ๋งมากๆถ้าสิ่งที่ Greenaway ต้องการสื่อถึงคือผู้นำของอังกฤษ เพราะมันแสดงถึงมุมมองขณะนั้นของเขาต่อประเทศตัวเอง, มองมุมนี้สะท้อนเมืองไทยหลายๆด้านด้วย
ใครวิเคราะห์ได้ลึกพอๆกับผมหรือลึกกว่า ยกนิ้วให้เลยครับ, ผมปวดหัวมากๆกว่าจะคิดได้ขนาดนี้ เราสามารถจับประเด็นไหนของหนังแล้วมาคิดวิเคราะห์ตีความหาใจความหลักของหนังก็ได้ เพราะนี่อาจเป็นหนังที่ ไม่ได้มีพล็อตเดียว (หนังส่วนใหญ่ มักจะมีพล็อตหลักพล็อตเดียว แล้วเรื่องอื่นๆจะถือเป็นพล็อตรองที่สนับสนุนพล็อตหลัก) คือมีพล็อตหลักมากกว่า 1 ประเด็น ที่ผมวิเคราะห์มาคือ ทัศนคติและการใช้อำนาจของชนชั้นปกครอง (ชนชั้นสูง) ต่อคนชนชั้นกลาง ที่ผมอ่านเจอในบทวิเคราะห์อื่น อาทิ การแสวงหาอำนาจของผู้กระหายอำนาจ, การถูกกระทำของสตรีเพศต่อการใช้อำนาจของผู้ชาย (หนังใช้มุมมองของผู้ชายที่กระทำต่อผู้หญิง), ความโลภของมนุษย์ที่ไม่รู้จักพอ, ฯ นี่ถือว่าเป็นคนละประเด็น กันเลย ซึ่งล้วนสามารถมองเป็นใจความหลักของหนังได้เลยนะครับ
ผมไปอ่านเจอที่ไหนสักที่ “draughtsman” [Brit-sic] อาจแปลได้ว่า ชายผู้กระหายอำนาจ (a power-hungry man’s man.) ความหมายนี้สอดคล้องกับใจความหนึ่งของหนังเลยนะครับ
แนะนำหนังเรื่องนี้กับนักเรียนภาพยนตร์ คนที่ชอบคิดวิเคราะห์หนัง ผู้คลั่งใคล้ Renaissance และ Baroque หนังเรื่องนี้คือ wet dream ของคุณเลย, จัดเรต 15+ ด้วยคำพูด ภาษา และ sex scene ที่ลับๆล่อๆ ไม่เหมาะกับเด็ก ถึงอาจจะฟังไม่เข้าใจ แต่บรรยากาศมันบอกได้
[…] The Draughtsman’s Contract (1982) : Peter Greenaway ♥♥♥♥◊ เรื่องราวของ draughtsman (นักสเก็ตภาพ) ถูกว่าจ้างให้วาดภาพคฤหาสถ์ 12 รูป ในระยะเวลา 12 วัน เมื่อวาดเสร็จภาพเหล่านี้ได้กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ เพื่อตามหาฆาตกร ฤานี่จะเกิดขึ้นเพื่อจัดฉากป้ายสีคนบางคน, หนังเรื่องนี้สุดพิศวงงงงวย ด้วยเทคนิควิธีการนำเสนอที่แปลกล้ำ โดยผู้กำกับชาวอังกฤษ Peter Greenaway ที่จะทำให้คุณเหมือนกำลังชื่นชมงานศิลปะอันสวยงามมากกว่าชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง […]