The Dreamers (2003) : Bernardo Bertolucci ♥♥♥♡
สำหรับผู้กำกับ Bernardo Bertolucci ช่วงเวลาที่เขาเพ้อใฝ่ฝันถึงมากสุด คงหนีไม่พ้น Mai 68 เหตุการณ์ปฏิวัติทางอุดมคติครั้งสำคัญของฝรั่งเศส แม้ไม่ประสบความสำเร็จในการล้มล้างรัฐบาล แต่ได้ปรับเปลี่ยนขนบวิถี จารีตประเพณีทางสังคม และค่านิยมทางเพศไปโดยสิ้นเชิง
ก่อนจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมมีการบ้านที่จะแนะนำให้ตระเตรียมตัวล่วงหน้าเยอะทีเดียวละ
– อย่างแรกคือ ควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงเหตุการณ์ Mai 68 มันเกิดบ้าบอคอแตกอะไรขึ้นในฝรั่งเศส ผมขอไม่เขียนถึงในบทความนี้ เพราะเคยอธิบายไปแล้วกับภาพยนตร์ The Mother and the Whore (1973) จะรับชมเรื่องนี้ตระเตรียมความพร้อมก่อนก็ยังได้ มีอะไรหลายๆอย่างคล้ายคลึงกันมากทีเดียว
– เตรียมความพร้อมสำหรับภาพยนตร์ที่มีการกล่าวอ้างอิงถึง … แต่จริงๆส่วนนี้ไม่จำเป็นเท่าไหร่นะ แค่ว่าถ้าคุณเคยรับชม/ล่วงรับรู้จักมาก่อนล่วงหน้า จะสามารถทำให้เข้าใจอะไรๆเพิ่มขึ้นเยอะ ประกอบด้วย The Cameraman (1928), City Lights (1931), Freaks (1932), Scarface (1932), Blonde Venus (1932), Queen Christina (1933), Top Hat (1935), The Girl Can’t Help It (1956), Breathless (1960), Shock Corridor (1963), Bande à part (1964), Mouchette (1967) ฯ
– ถ้ามีเวลาว่างให้เพิ่มเติมกับ The Blue Angel (1930), The Woman in the Window (1944), Les Dames du Bois de Boulogne (1945), Paisan (1946), They Live by Night (1948), Johnny Guitar (1954), Rebel Without a Cause (1955), Amère Victoire (1957), The 400 Blows (1959), Jules and Jim (1962), Pierrot le Fou (1965), Persona (1966), La Chinoise (1967), Langlois (1970) ฯ
มันเยอะจนชวนให้ท้อเลยละ คือถ้าคุณไม่ใช่ pro-ภาพยนตร์ ผมอยากแนะนำให้หลีกเลี่ยงอย่าเสียเวลารับชมดีกว่า หรือถ้าสนใจเพราะเพียงเสียงเลื่องลือชา Sex Scene ที่มีลักษณะ Incestuous เปิด pornhub, xvideos, redtube, xhamster ดูหนังโป๊ไปเลยยังดีกว่านะ
The Dreamers เป็นภาพยนตร์ที่จะทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึก ‘Nostalgia’ หวนระลึกฝันถึงฝรั่งเศสช่วงปลายทศวรรษ 60s ทั้งๆอาจมิได้เกิดทัน หรือเติบโตผ่านช่วงเวลานั้น แต่สามารถรับรู้เข้าใจอิทธิพลการปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งนั้น ได้ทำให้มุมมอง/รสนิยมทางเพศ ไม่จำกัดแค่ชาย-หญิง พี่-น้อง การแต่งงาน อีกต่อไป!
Bernardo Bertolucci (1940 – 2018) ผู้กำกับ สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Parma, แม่เป็นครูสอนหนังสือ ส่วนพ่อ Attilio Bertolucci เป็นกวี นักประวัติศาสตร์งานศิลปะ และวิจารณ์ภาพยนตร์, ตั้งแต่เด็กชื่นชอบเขียนหนังสือ วาดฝันโตขึ้นจะกลายเป็นนักกวีเหมือนพ่อ เลือกเรียนสาขาวรรณกรรมยุคใหม่ University of Rome จับพลัดพลูกลายเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Pier Paolo Pasolini ในกองถ่าย Accattone (1961) เกิดความสนใจในภาพยนตร์ ผลงานเรื่องแรก La commare secca (1962), Before the Revolution (1964), โด่งดังระดับนานาชาติกับ The Conformist (1970), Last Tango in Paris (1972), 1900 (1976), The Last Emperor (1987) ** คว้า Oscar: Best Picture ฯ
แม้ช่วงระหว่างเหตุการณ์ Mai 68 ผู้กำกับ Bertolucci จะอาศัยอยู่อิตาลีถ่ายทำ Partner (1968) ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆกับใครเขา แต่ก็ซึมซับรับอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศส สร้างภาพยนตร์เรื่อง Last Tango in Paris (1972) สนองตัณหา ความเพ้อฝัน อิสรภาพทางเพศ เลื่องลือชาในความโจ๋งครึ่มทีเดียว
“I connect that very much with 68. Sex was considered revolutionary. Sex was together, in sync with politics, music, cinema, everything was conjugated together. You could mix up everything. It was a great privilege to be able to live in that moment”.
– Bernardo Bertolucci
The Dreamers ดัดแปลงจากนวนิยาย The Holy Innocents (1988) แต่งโดย Gilbert Adair (1944 – 2011) นักเขียน/นักกวี สัญชาติ Scottish ซึ่งก่อนหน้านี้มีผลงานวรรณกรรมเด็กเลื่องชื่อ Alice Through the Needle’s Eye (1984) [ภาคสามของ Alice in Wonderland] และ Peter Pan and the Only Children (1987)
Adair ได้แรงบันดาลใจ The Holy Innocents จากนวนิยายเรื่อง Les Enfants Terribles (1929) [แปลว่า The Holy Terrors] แต่งโดย Jean Cocteau (1889 – 1963) นักเขียน/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติฝรั่งเศส ที่มีผลงานเรื่องอมตะ La Belle et la Bête (1946) … แต่นวนิยายเล่มนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดย Jean-Pierre Melville ออกฉายปี 1950
ปรับเปลี่ยนพื้นหลังสู่ช่วงเหตุการณ์ Mai 68 (2 พฤษภาคม – 23 มิถุนายน 1968) สามตัวละครหลักมีความหมกมุ่นคลั่งไคล้ในภาพยนตร์ อาศัยอยู่ร่วมกันยังอพาร์ทเมนต์ (ระหว่างที่ Cinémathèque ถูกรัฐบาลสั่งปิด) และความสัมพันธ์เป็นไปลักษณะสามเส้า ชาย-หญิง ชาย-ชาย และพี่-น้อง
“When I read it, I had a feeling it was like Cocteau’s L’Enfant Terribles in 68. So these two elements for me was very exciting, this complicated relationship between the three of them, and before shooting I read Cocteau, there is a line Cocteau says about L’Enfant Terribles, ‘With this play, I want to make light the gravity and life the lightness’.
Bertolucci ร้องขอให้ Adair มาช่วยดัดแปลงบทภาพยนตร์ ทีแรกก็ตั้งใจเคารพคารวะต้นฉบับอย่างเต็มที่ แต่ระหว่างถ่ายทำก็ค่อยๆปรับเปลี่ยนโน่นนั่น และเมื่อถึงจุดๆหนึ่งตระหนักว่าความสัมพันธ์ ชาย-ชาย และพี่น้อง ดูจะรุนแรงคลุ้มคลั่งเกินเลยจำต้องตัดออกไป ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยไม่ว่าอะไร
“I think that I’ve been faithful to the spirit of the book but not the letter. I had to make it mine”.
Matthew (รับบทโดย Michael Pitt) นักเรียนแลกเปลี่ยนจากสหรัฐอเมริกา ร่ำเรียนภาษาฝรั่งเศสที่กรุงปารีส แต่วันๆเอาแต่หมกตัวอยู่ยัง Cinémathèque Française จนมีโอกาสรู้จักสองพี่น้องฝาแฝด Théo (รับบทโดย Louis Garrel) และ Isabelle (รับบทโดย Eva Green) ชักชวนเขาไปพักอาศัยอยู่ที่อพาร์ทเมนท์ ระหว่างที่พ่อ-แม่ เดินทางไปท่องเที่ยวพักร้อนริมทะเล
ความสัมพันธ์ของ Théo-Isabelle ในสายตาของ Matthew ช่างดูเกินเลยกว่าพี่น้องฝาแฝด แต่ทั้งสองค่อยๆปล่อยให้เขาก้าวเข้าสู่วงใน เรียนรู้จักธาตุแท้ตัวตน สนทนาเล่นเกมทายภาพยนตร์ ทำตัวเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสา รวมไปถึงการมี Sex จนสร้างความอิจฉาริษยาให้อีกฝ่าย สุดท้ายเมื่อต้องตัดสินใจเลือก ผลลัพท์จะลงเอยเฉกเช่นไร
Michael Carmen Pitt (เกิดปี 1981) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ West Orange, New Jersey เมื่ออายุ 16 ออกเดินทางมุ่งสู่ New York ได้งานเป็นนักปั่นจักรยานส่งเอกสาร เก็บเงินเข้าเรียน American Academy of Dramatic Arts จับพลัดจับพลูได้เป็นนักแสดงสมทบซีรีย์ Dawson’s Creek (1998), สร้างชื่อผลงานภาพยนตร์ Hedwig and the Angry Inch (2001), Murder by Numbers (2002), The Dreamers (2003), The Village (2004), Funny Games (2007), Ghost in the Shell (2017) ฯ
รับบท Matthew นักเรียนแลกเปลี่ยนชาวอเมริกัน ยังอ่อนเยาว์วัย เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ได้รับการชักชวนจาก Théo & Isabelle มีความชื่นชอบในภาพยนตร์เหมือนกัน มาพักอาศัยอยู่อพาร์ทเม้นท์ของพวกเขา เล่นเกมที่เต็มใจบ้าง ไม่เต็มใจบ้าง รับได้บ้าง รับไม่ได้บ้าง จนกระทั่งตกหลุมรัก Isabelle ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของเธอแต่เพียงผู้เดียว แต่เมื่อมิอาจพลัดพรากมาจาก Théo เมื่อถึงจุดๆเลยจำต้องปลดปล่อยพวกเขาไป
แรกสุดเลย Bertolucci อยากได้ Leonardo DiCaprio แต่ติดโปรเจค The Aviator (2004) [คงต้องการให้เป็นตัวแทนของ Marlon Brando กระมัง] ต่อมาได้ Jake Gyllenhaal มาทดสอบหน้ากล้อง ซักซ้อมบทร่วมกับ Green และ Garrel แต่ภายหลังถูกผู้จัดการร้องขอให้ถอนตัวออกไป เพราะกลัวว่าจะทำให้เขาถูกตีตราจาก Hollywood จนสูญโอกาสเล่นหนังดีๆ
สำหรับ Pitt เป็นนักแสดงที่ไม่ได้คาดหวังอะไรตนเองสักเท่าไหร่ หลังจากยินยอมตบปากรับคำ เดินทางมาถึงฝรั่งเศสเพียง 2-3 วัน ก่อนหน้าเริ่มต้นโปรดักชั่นเท่านั้น ทำให้เขายังดูผิดแผกแปลก ราวกับคนนอก กระอักกระอ่วนในการเข้าฉากโป๊เปลือยกับ Green และ Garrel แถมสายตาเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ถือว่าเหมาะสมบทบาทดีแท้!
Eva Gaëlle Green (เกิดปี 1980) นักแสดง/โมเดลลิ่ง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris มารดาคือนักแสดงชื่อดัง Marlène Jobert เธอคลอดก่อนน้องแฝดสาวเพียง 2 นาที ครอบครัวมีเชื้อสาย Jews ตั้งแต่เด็กชื่นชอบด้านการแสดงจากความประทับใจใน Isabelle Adjani เรื่อง The Story of Adele H. (1975) เข้าเรียนต่อยัง Webber Douglas Academy of Dramatic Art, London หวนกลับมา Paris แสดงละครเวทีอยู่หลายเรื่อง จนกระทั่งภาพยนตร์เรื่องแรก The Dreamers (2003), ผลงานเด่นๆ อาทิ Arsène Lupin (2004), Kingdom of Heaven (2005), Casino Royale (2006), Dark Shadows (2012), 300: Rise of an Empire (2014) ฯ
รับบท Isabelle สนิทสนมจนตัวแทบจะติดกับ Théo แต่ก็ไม่เคยเกินเลยกว่าคำว่าพี่น้อง มีนิสัยชอบชี้นำ บงการ เรียกร้องให้ใครๆกระทำอะไรๆตามใจตนเอง แม้ว่าการเสียความบริสุทธิ์ให้ Matthew จะเป็นความตั้งใจของ Théo ก็ยินยอมพร้อมสนุกไปกับมัน จนกระทั่งพบเห็นเขาร่วมรักหญิงอื่น นั่นทำให้เธอมิอาจอดรนทนเล่นเกมนี้อีกต่อไปได้
แม้ภายนอกจะดูเยือกเย็นชา แต่เมื่อไหร่คบหาจนเกิดความสนิทสนมชิดเชื้อ จักพบเห็นตัวตนที่ทรงเสน่ห์ของ Green หน้ากากที่ถูกกระชากหลุดออกมา ช่างเต็มไปด้วยความอ่อนไหว เร่าร้อน ยั่วเย้ายวน และเรือนร่างสวยเซ็กซี่เหมือนรูปปั้นเทพี Venus de Milo
นี่กลายเป็นบทบาท Typecast ของ Green ไปเลยก็ว่าได้ (ไม่รู้เธอจะรู้ตัวหรือเปล่านะ) ผลงานหลังจากนี้ที่ผมรับชม ตัวละครก็จะมีเปลือกนอกเยือกเย็นชา แต่ถ้าสามารถเรียนรู้จักทำความเข้าใจ ตัวตนแท้จริงภายในจะอบอุ่น อ่อนเยาว์วัย ไร้เดียงสา … แบบหนังเรื่องนี้เปะๆเลยละ
ปฏิกิริยาแรกของ Green เมื่อได้รับชมหนังครั้งแรก คือเกิดอาการช็อค! เพราะอะไรๆหาได้เป็นดังภาพที่เธอครุ่นคิดไว้ ค่อนข้างลำบากใจทีเดียวกับเรือนร่างโป๊เปลือยของตนเอง แต่ถึงกระนั้นเจ้าตัวก็มิได้มีอคติใดๆต่อผู้กำกับ Bertolucci เหมือนดั่ง Maria Schneider เรื่อง Last Tango in Paris (1972) เพราะได้ตระเตรียมตัวกายใจไว้พร้อมอยู่แล้ว มิเช่นนั้นคงไม่จรดปากกาเซ็นสัญญาเล่นหนังหรอกนะ!
แซว: Eva Green เคยให้สัมภาษณ์ว่า Last Tango in Paris (1972) เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรด
Louis Garrel (เกิดปี 1983) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris, บิดาคือผู้กำกับ Philippe Garrel, มารดาเป็นนักแสดง Brigitte Sy, พ่อบุญธรรมคือ Jean-Pierre Léaud ถ้าโตขึ้นไม่ดำเนินรอยตามก็คงแปลกพิลึก เริ่มต้นเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แล้วเลือกเรียนต่อให้จบก่อนยัง Conservatoire de Paris ถึงค่อยมีผลงานถัดๆมา เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Dreamers (2003), Regular Lovers (2005), Love Songs (2007), Redoubtable (2017) ฯ
รับบท Théo ตัดตัวแจกับฝาแฝด Isabelle พยายามปั้นหน้าทำตัวเข้มแข็งแกร่ง แสดงออกด้วยความคิดเห็นต่าง ขัดแย้งกับพ่อที่เป็นนักกวี แต่จิตใจค่อนข้างมีความอ่อนไหว ไร้เดียงสา ยินยอมคล้อยตามคำสั่ง Isabelle ไม่ว่าเป็นเช่นไร แต่ลึกๆดูเหมือนรู้สึกผิดที่ให้เธอร่วมรักกับ Matthew เพราะทำให้อะไรๆปรับเปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง
แม้พยายามทำตัวเหมือนพี่ใหญ่ในกลุ่ม แต่ภาพลักษณ์ของ Garrel ไม่ได้แตกต่างจาก Pitt สักเท่าไหร่ คือเต็มไปด้วยความอ่อนเยาว์วัยไร้เดียงสา คาดไม่ถึงว่า Sex จะคือเรื่องใหญ่ไม่น้อยสำหรับชาย-หญิง แต่เรื่องราวตัวละครนี้หายไปเสี้ยวส่วนใหญ่ๆคือประเด็น ชาย-ชาย ผมว่ามันจะลงตัวกว่านี้ถ้า Bertolucci กล้าเสี่ยงแบบที่เคยทำกับ Last Tango in Paris (1972)
นี่ทำให้ในสามนักแสดงหลัก บทบาทของ Garrel จึงกลายเป็นเพียงตัวประกอบฉาก มักพบเห็นยืนหลบมุมอยู่ด้านหลังห่างๆบ่อยครั้ง ทั้งพยายามแทรกตัวเข้ามากึ่งกลางเพื่อทวงคืนสิทธิ์ของตน แต่ก็ไม่เป็นมักผลสักเท่าไหร่
ถ่ายภาพโดย Fabio Cianchetti สัญชาติอิตาเลี่ยน ผลงานเด่นๆ อาทิ Canone inverso – Making Love (2000), The Dreamers (2003), La terra (2006), Terraferma (2011) ฯ
งานภาพสไตล์ Bertolucci จะมีกลิ่นอายคล้ายๆภาพวาดศิลปะ โดดเด่นกับการจัดแสง-สี ที่มอบสัมผัสทางอารมณ์ตามช่วงขณะเรื่องราวนั้นๆ และแม้จะอยู่ภายในห้อง/อพาร์ทเมนท์ แต่ยังได้รับอิทธิพล/ผลกระทบจากสิ่งเกิดขึ้นภายนอก
Opening Credit กล้องค่อยๆ Tilt Down ลงมาจากยอดหอไอเฟล (สัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส) พานพบเห็นโครงสร้างเหล็กที่มีความแข็งแกร่งมั่นคงเป็นปึกแผ่น ซึ่งจะมีสีธงชาติฝรั่งเศส น้ำเงิน-ขาว-แดง ก่อนลงมาสิ้นสุดที่ภาพตัวละคร Matthew ราวกับเป็นบุคคลจากนอกโลกเพิ่งวาปลงมาถึง
ภาพถ่ายจากมุมสูง (จากมุมมองความเพ้อฝัน) พบเห็น Matthew กำลังเดินเลียบเลาะสะพาน จากนั้นกล้องเคลื่อนลงต่ำ ทำให้เห็นกรุงปารีสในมุมกว้าง … นี่เป็นการนำเข้าเรื่องราวที่เจ๋งมากๆเลยนะ คือเริ่มจากสัญลักษณ์ (หอไอเฟล) แล้วค่อยๆเผยภาพมุมกว้าง พร้อมๆกับเหตุการณ์การประท้วงดำเนินขึ้นในจังหวะพอดิบพอดีกัน
ระหว่างการเดินของ Matthew จะมีเสียงบรรยายตัวละคร และแทรกภาพย้อนอดีตขณะรับชม Shock Corridor (1963) ที่ Cinémathèque Française แล้วตัดกลับมาพบเห็นการชุมนุมประท้วง
ภาพการประท้วงร้อยเรียงจาก Archive Footage พบเห็นโคตรผู้กำกับ/นักแสดงรุ่น French New Wave อาทิ Jean-Luc Godard, François Truffaut, Jean-Paul Belmondoe นี่รวมไปถึง Jean-Pierre Leaud เด็กหนุ่มจาก The 400 Blows (1959) ซึ่งก็ได้มาเล่นรับเชิญในหนังด้วย … ถึงจะแก่แต่ใบหน้ายังคงเค้าโครงเดิม
Isabelle ไม่ได้ถูกล่ามโซ่ตรงประตูทางเข้า Cinémathèque Française แต่เธอเอาโซ่มาล่ามตนเอง! นี่สะท้อนถึงการปฏิวัติ Mai 68 ที่ทุกสิ่งอย่างกำลังจะกลับตารปัตร หรือจะมองว่าเป็นการกระทำที่นำพาตนเองเข้ามาผูกพันกันมัน ไม่มีใครบ่งชี้ชักนำ สนองความต้องการ พึงพอใจส่วนตนเองล้วนๆ
ฉากแบ่งขนมปัง สะท้อนเล็กๆถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนัง เพราะ Matthew มาตัวเปล่าไม่ได้พกอะไร เลยได้รับการแบ่งหนึ่งในสามจาก Théo และ Isabelle ทั้งขนมปัง และชีวิตของพวกเขา
ในห้องของ Matthew แสงสีส้มช่างตลบอบอวลไปด้วยความอบอุ่น … การจัดแสงลักษณะนี้ แทบจะเป็นลายเซ็นต์ผู้กำกับ Bertolucci เลยก็ว่าได้
นี่ก็อีกเช่นกัน ห้องโถงภายในอพาร์ทเม้นท์ของ Théo และ Isabelle แสงไฟสีแดงมอบสัมผัสอันตราย แต่เต็มไปด้วยความยั่วเย้า ชวนให้สงสัยว่ามีอะไรหลบซ่อนเร้นอยู่
Sequence ที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง Isabelle เดินไปรอบๆห้อง สัมผัสโน่นนี่นั่น ลอกเลียน Greta Garbo จากเรื่อง Queen Christina (1933) เพื่อจดจำทุกสิ่งอย่างนี้ไว้ชั่วนิรันดร์
ฉากวิ่งใน Louvre เลียนแบบ Bande à part (1964) แล้วทำลายสถิติเนี่ย ผมก็ไม่รู้มันน่าภาคภูมิใจตรงไหนนะ คงสะท้อนความเพ้อใฝ่ฝันต้องการเลียนแบบภาพยนตร์เรื่องโปรด … คุ้นๆว่าพบเห็นอีกครั้งล่าสุดคือ Faces Places (2017) ที่ JR ลากรถเข็นขุ่นแม่ Agnès Varda แต่คงไม่ได้ตั้งใจจะทำลายสถิติหรอกกระมัง
อีก Sequence ที่ต้องชมว่าเจ๋งมากๆ แต่ถ้ามองผิวเผินจากเรื่องราวมันก็ไม่มีอะไรหรอกนะ แค่ว่าขณะฝนตกแล้วแสงจากภายนอกสาดส่องผ่านเข้ามาอาบฉาบใบหน้าตัวละคร สะท้อนสภาวะภายใน ขณะนั้น Matthew เต็มไปด้วยความลังเล ไม่มั่นใจ นี่ฉันกำลังทำบ้าอะไรอยู่กับพี่น้อง Incestuous คู่นี้?
ฉากวิ่งใน Louvre นี่แค่ลองเชิงเท่านั้น เกมทายชื่อหนังของ Isabelle เรื่อง Blonde Venus (1932) พบเห็นวินาทีที่ Marlene Dietrich ถอดชุดกอลลิล่าออกมา นั่นคือเริ่มเปิดเผยธาตุแท้จริงของสองพี่น้อง สั่งให้ Théo ช่วยตนเองต่อหน้าภาพ Dietrich เรื่อง The Blue Angel (1930) สร้างความอ้ำอึ้งทึ่ง คาดไม่ถึงให้กับ Matthew โดยสิ้นเชิง
การช่วยตนเองของ Théo สามารถมองในเชิงสัญลักษณ์ สะท้อนถึงความชื่นชอบ พึงพอใจส่วนตัวต่อภาพยนตร์ กล่าวคือถ้าคุณคลั่งไคล้เรื่องไหนมากๆ ก็ไม่ต่างกับช่วยตนเอง ถึงจุดสูงสุด สรวงสวรรค์
Scarface (1932) ถือเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนการมีอำนาจเหมือนหัวหน้าแก๊งค์มาเฟียของ Théo ลอกเลียนแบบฉากถูกยิงตาย แต่กลับกลายเป็นจิตใจเขานะแหละค่อยๆสูญเสีย Isabelle ไปให้กับ Matthew
เมื่อ Isabelle ตัดสินใจยินยอมมี Sex กับ Matthew เธอลุกขึ้นมาเต้นบทเพลง La Mer (แปลว่า The Sea) ยกมือขึ้นโบกสะบัด ปล่อยจิตใจให้ล่องลอยคอไปกับสายคลื่นลม
การเก็บภาพ Isabelle ซ่อนไว้ใต้เป้ากางเกง สะท้อนความปรารถนาจากภายในของ Matthew มองเธอคือจุดสูงสุดแห่งความต้องการ ซึ่งการถูกล็อกแขน ดึงถอดกางเกง และเธอ(และ Théo) พบเห็นเจ้าสิ่งนี้ ถือเป็นการเปิดโปง เผยความลับที่เขาต้องการปกปิดบังไม่ให้ใครล่วงรู้ … ก็ด้วยเหตุนี้แหละ Isabelle (และ Théo) จึงสมยินยอมให้กับการร่วมรัก และเขาได้สนองตัณหาความต้องการ พึงพอใจสูงสุด
ขณะที่ภาพยนตร์ยุค Classic ผู้กำกับมักสรรค์สร้างผลงานตามใบสั่งสตูดิโอ โปรดิวเซอร์ หรือได้รับมอบหมายมาเท่านั้น, Modern Cinema นับตั้งแต่การมาถึงของ French New Wave พยายามนำเอามุมมอง/ความต้องการส่วนตนเอง ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ นี่ราวกับการสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อผู้ชม
– ภาพยนตร์ยุค Classic คือการช่วยตนเองของผู้สร้าง/ผู้ชม
– Modern Cinema คือการมี Sex ปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่าง ผู้สร้าง+ผู้ชม
เวลาเที่ยงคืนเกือบตรง (ก้าวเข้าสู่วันใหม่/โลกใบใหม่) ระหว่างที่ Matthew กำลังเปิดซิง Isabelle สิ่งที่ Théo กระทำอยู่นั้น คือตอกทอดไข่ดาว น่าจะสะท้อนถึงการกระเทาะทำลายเปลือกนอก แปรสภาพจากไข่ดิบ->ไข่สุก (วิวัฒนาการภาพยนตร์ จากยุค Classic -> Modern Cinema)
ถ้าจะมองว่า Théo คือตัวแทนของ Classic Cinema ฉากนี้จะแฝงนัยยะในเชิงเสียดสี เพราะคู่รักข้าวใหม่ปลามัน Matthew กับ Isabelle กำลังร่วมรักกันอย่างหวานฉ่ำ นั่นสร้างความอิจฉาริษยา เขาทำได้แค่แอบซุ่มยืนมองดูอยู่ข้างนอกหน้าต่าง
สำหรับท่วงท่าการมี Sex ตอนฉากเปิดซิงจะพบเห็น Matthew นอนทับอยู่ด้านบน Missionary ต่อด้วยฉากนี้ Woman on Top ซึ่งเป็นการสลับตำแหน่ง Isabelle อยู่ด้านบน … ถือได้ว่าเป็นการสะท้อนความเสมอภาคเท่าเทียม เหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรม Mai 68 ได้ทำให้บุรุษไม่ใช่แค่ช้างเท้าหน้า อิสตรีก็สามารถเป็นได้เช่นกัน!
ฉากนี้นี่ชัดเลยนะ Théo พยายามแทรกตัวเข้ามาระหว่าง Isabelle กับ Matthew ที่กำลังดื่มด่ำกับน้ำผึ้งพระจันทร์
กระจกสามบาน สะท้อนสามตัวละคร แต่เมื่อถ่ายออกมาจะพบเห็นมุมที่ย้อนแย้งกันเอง กล่าวคือ
– Matthew นั่งอยู่ฝั่งซ้าย แต่กระจกด้านเขากลับสะท้อนใบหน้า Théo
– Isabelle อยู่กึ่งกลางเลยสะท้อนแค่ภาพตนเอง
– กลับตารปัตรฝั่ง Théo พบเห็นกระจกสะท้อนใบหน้า Matthew
นัยยะของฉากนี้สะท้อนความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่อง ไม่สามารถตัดสายสัมพันธ์ออกจากกันได้ระหว่าง Matthew-Isabelle-Théo ชายหนุ่มทั้งสองต่างต้องการครอบครองเป็นเจ้าของหญิงสาวแต่เพียงผู้เดียว
ผมยังไม่เคยรับชม The Girl Can’t Help It (1956) แต่จากเท่าที่ตัดตอนมา แรกเริ่มคือการดีดขยายด้านข้างให้จาก Widescreen กลายเป็น CinemaScope ถือว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้กับชีวิตของ Isabelle ครั้งแรกออกเดทกับผู้ชาย ทอดทิ้งให้ Théo พักอาศัยบนอพาร์ทเม้นท์ตัวคนเดียว
นัยยะคงต้องการสะท้อน Modern Cinema น่าจะสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตนเอง
แต่ห้องของ Isabelle กลับมีลักษณะ Vintage ดูย้อนยุค โบราณ สะสมด้วยข้าวของเครื่องเล่นเก่าๆ นี่สะท้อนว่าตัวตนแท้จริงของเธอ หาได้มีความ Modern เสียที่ไหน ออกไปทางลูกคุณหนู เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ
Venus de Milo ประติมากรรมในยุคกรีกก่อนคริสตกาล (130 BC – 100 BC) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Louvre สร้างขึ้นจากหินอ่อนมีขนาดสูง 6 ฟุต 10 นิ้ว ได้รับการแกะสลักเพื่อแทนความงามของเทพวีนัส และบ่งบอกถึงรสนิยมของผู้หญิงในอุดมคติของคนในยุคสมัยนั้น, ว่ากันว่าหนึ่งในสาเหตุที่รูปปั้นนี้แขนหัก เพราะเธอเป็นผู้หญิงที่สวยมาก จึงถูกแย่งฉกชิงร่างจนสูญแขนทั้งสองข้างไป ซึ่งสะท้อนถึงค่านิยมทางเพศยุคสมัยก่อนนั้น เพราะบุรุษเป็นใหญ่จึงต้องการให้อิสตรีปรนเปรอปรนิบัติรับใช้ สนองตัณหา ความต้องการพึงพอใจส่วนตัว
การกระทำของ Isabelle เดินเข้ามาจะบำเรอกามให้กับ Matthew แต่ในลักษณะที่พยายามจะกดหัว กล่าวคือต้องการให้ตนเองเป็นใหญ่ (เหนือกว่าบุรุษ)
แต่ซีนนี้จบแบบ Anti-Climax เพราะห้องข้างๆ Théo เปิดบทเพลง Le Mer ดังลั่นห้อง สร้างความคลุ้มคลั่ง เจ็บปวด ใจหายวาป นี่หาใช่ความต้องการแท้จริงของฉันแม้แต่น้อย!
เต้นท์สไตล์ Bohemian สองหนุ่ม-หนึ่งสาว ร่วมหลับนอนโป๊เปลือยเปล่าอยู่ภายใน สามารถสะท้อนได้ถึงการร่วมมือ ผสมผสาน ระหว่าง Classica + Modern Cinema แต่ผลลัพท์เหมือนว่า มันจะไม่เวิร์คสักเท่าไหร่
วินาทีที่พ่อ-แม่ ของ Isabelle และ Théo แวะเวียนกลับมาบ้าน พานพบเห็นภาพอันบาดตาบาดใจ แต่พวกเขาตัดสินใจไม่ทำอะไร ภาพถ่ายจากกระจกช็อตนี้ สะท้อนกระจกตรงบานประตู มีความบิดเบือน ซ้อนมิติ แค่เซ็นเช็คแล้วย่องหนีออกไป … เป็นผมถ้าเจอแบบนี้ ก็คงพูดไม่ออกบอกไม่ถูกเหมือนพวกเขานี่แหละ เก็บอาการช็อคแล้วให้เวลาในการครุ่นคิด ปรับความเข้าใจตนเอง ก่อนหวนกลับมาเผชิญหน้านลูกๆ
การไม่พูดหรือทำอะไรของพ่อ-แม่ สะท้อนสภาพสังคมฝรั่งเศสยุคสมัยนั้นได้พอดิบพอดีเลยละ พวกเขาเลือกจะเพิกเฉยชาต่อเหตุการณ์ Mai 68 ยังคงเข็ดหลากจากสงครามขัดแย้ง ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงใดๆขึ้นอีก เลยปล่อยให้ชนชั้นผู้นำประเทศและเยาวชนรุ่นใหม่ อยากทำอะไรก็ตามสบาย ไม่เดือดเนื้อร้อนใจพวกฉันเป็นพอ!
ความพยายามของ Isabelle ตัดสลับกับภาพจากหนัง Mouchette (1967) ที่ตัวละครพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกลิ้งตกน้ำ รับไม่ได้กับความฟ่อนเฟะ เละเทะ หาสิ่งดีงามไม่ได้สักอย่างบนโลกสุดแสนอัปลักษณ์ใบนี้ … แต่วิธีการของ Isabelle ช่างเต็มไปด้วยความโล้เล้ ลังเลใจ แถมสุดท้ายเมื่อโชคชะตาไม่เข้าข้าง จำต้องปลิ้นปล้อน หาข้ออ้างเอาตัวรอด แล้วปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตาอนาคต ค่อยว่ากันต่อไป
การปะทะของกลุ่มผู้ประท้วง ทำให้ Matthew รับรู้ว่าตนเองไม่สามารถอยู่ร่วมกับ Théo และ Isabelle ซึ่งสะท้อนเข้ากับ Modern Cinema แม้จะมีรากฐานเริ่มต้นจาก Classical แต่คือการพัฒนาต่อยอดสู่อนาคต จึงไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน สุดท้ายจึงต้องพลัดพรากแยกจากชั่วนิรันดร์
ซึ่งการที่ Isabelle เลือกไปกับ Théo ผมมองเป็นการไปตายเอาดาบหน้า! เพราะเธอคือคนเดียวในกลุ่มตระหนักรับรู้ว่า พ่อ-แม่ พบเห็นพวกเขาในสภาพสามเส้า อะไรต่อจากนี้จึงไม่สลักสำคัญสักเท่าไหร่ แค่ได้ใกล้ชิดบุคคลที่ตนเติบโต/ฝาแฝดเคียงข้างกันเท่านั้นเป็นพอ! … มองนัยยะการเลือกของ Isabelle ผมว่ามันไม่ค่อยสมเหตุสมผลสักเท่าไหร่ เพราะคือการจมปลักอยู่กับอดีต ไม่สามารถก้าวสู่อนาคตวันข้างที่สดใส
Non, je ne Regrette rien (แปลว่า I regreat nothing) บทเพลงอมตะด้วยเสียงร้องของ Édith Piaf ถูกนำมาสะท้อนถึงการปฏิวัติ Mai 68 ที่แม้ไม่ประสบความสำเร็จในการล้มล้างรัฐบาล แต่ได้ปรับเปลี่ยนขนบวิถี จารีตประเพณีทางสังคม และค่านิยมทางเพศของฝรั่งเศสไปโดยสิ้นเชิง … นั่นมิใช่สิ่งน่าสูญเสียใจแม้แต่น้อย
ขณะเดียวกันสะท้อนถึงการเลือกข้างของ Matthew กับ Théo และจุดแยกแตกหักระหว่าง Classic กับ Modern Cinema เพราะโลกต้องก้าวต่อไปข้างหน้า สิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันนั้นจึงหาใช่สิ่งสมควรสูญเสียดายแม้แต่น้อย
Ending Credit แช่ภาพท้องถนนหนทางไว้ แล้วชื่อทีมงานค่อยๆไหลลงมาจากด้านบน ซึ่งมีลักษณะกลับตารปัตรตรงกันข้ามกับ Opening Credit ที่ทำการเลื่อนภาพลงจากหอไอเฟล ส่วนชื่อนักแสดงปรากฎขึ้นอย่างนิ่งๆ … นี่คงต้องการสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลง สะท้อนย้อนแย้ง แต่สามารถเติมเต็มกันและกัน ในห้วงความฝันได้อย่างพอดิบพอดี!
ตัดต่อโดย Jacopo Quadri สัญชาติอิตาเลี่ยน ผลงานเด่นๆ อาทิ Besieged (1998), Garage Olimpo (1999), The Dreamers (2003) ฯ
ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมอง/สายตาของ Matthew พบเห็นสิ่งเกิดขึ้น
– ภายในอพาร์ทเมนท์ Théo กับ Isabelle
– ภายนอกประเทศฝรั่งเศส กำลังมีการเดินขบวน ปฏิวัติทางอุดมคติ Mai 68
บ่อยครั้งที่หนังจะมีการแทรกฟุตเทจจากภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ เพื่อทำการเปรียบเทียบ สร้างความสัมพันธ์ อ้างอิงถึง ซึ่งมีคำเรียกภาษาเทคนิคว่า Match Cut ผู้ชมสามารถครุ่นคิดตาม ทายคำตอบไปพร้อมๆกับตัวละครได้เลย
สำหรับเพลงประกอบ เป็นการรวบรวมจาก Soundtrack ของหนัง (ที่นำมาอ้างอิงถึง) หรือไม่ก็บทเพลงดังแห่งยุค ที่มีเนื้อคำร้องสะท้อนเข้ากับเหตุการณ์ช่วงขณะนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น
– ถือเป็น Main Theme ของหนัง, Third Stone from the Sun (1967) แต่ง/บรรเลงโดย Jimi Hendrix
– Song for Our Ancestors (1968) แต่ง/บรรเลงโดย Steve Miller
– Queen Jane Approximately (1965) แต่ง/ขับร้องโดย Bob Dylan
– Love Me Please Love Me (1966) แต่ง/ขับร้องโดย Michel Polnareff
– La Mer (1946) แต่ง/ขับร้องโดย Charles Trenet
– C’est irreperable (1966) แต่ง/ขับร้องโดย Nino Ferrer
– The Spy (1970) และ Maggie M’Gill (1970) แต่ง/คำร้องโดย The Doors
– Hey Joe (1962) แต่งโดย Billy Roberts, ฉบับใช้ในหนังขับร้องโดย Michael Pitt และ The Twins of Evil
– Tous les garçons et les filles (1962) ขับร้องโดย Françoise Hardy
– ตอบจบ Non, je ne Regrette rien (1956) ขับร้องโดย Édith Piaf
ฯลฯ
Third Stone from the Sun (1967) คือบทเพลงของหนัง ได้ยินระหว่างกล้อง Tilt Down ลงจากหอไอเฟลมาจนถึง Matthew มอบสัมผัสที่ตื่นเต้นเร้าใจ ราวกับว่าเอเลี่ยนได้เดินทางมาถึงโลก
La Mer แปลว่า The Sea เป็นบทเพลงนุ่มๆที่ Charles Trenet เขียนขึ้นระหว่างโดยสารรถไฟ เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่างพบเห็น Étang de Thau จรดปากกาแต่งบทกวี ตอนบ่ายร่วมใส่คำร้องกับนักเปียโน Léo Chauliac และตอนเย็นก็ขึ้นแสดงคอนเสิร์ตโดยทันที
บทเพลงนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่าง Théo-Isabelle ซึ่งครั้งหลังทำให้หญิงสาวเกิดอาการคลุ้มคลั่ง รับไม่ได้ที่เขาเปิดฟังขณะร่วมรักกับหญิงอื่นนอกใจตนเอง
ขณะที่ Soundtrack จากภาพยนตร์ อาทิ
– Hot Voodoo จาก Blonde Venus (1932)
– Night in the Throne Room จาก Queen Christina (1933)
– No Strings (I’m Fancy Free) (1935) ภาพยนตร์ Top Hat (1935)
– Let’s Face the Music and Dance (1936) เรื่อง Follow the Fleet (1936)
– You’ll Never Never Know เรื่อง The Girl Can’t Help It (1956)
– Les quatre cents coups (1959)
– Ferdinand เรื่อง Pierrot le Fou (1965)
ฯลฯ
การมาถึงของยุคสมัย French New Wave ต้นทศวรรษ 60s ทำให้แนวคิด/โครงสร้าง/วิถีทางภาพยนตร์ ปรับเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งถูกสานต่อยอด กลายมาเป็นอิทธิพลสำคัญของเหตุการณ์ปฏิวัติทางอุดมคติ Mai 68 ที่ได้สร้างมุมมอง โลกทัศน์ ค่านิยมใหม่ให้กับประเทศฝรั่งเศส (และทั่วโลก)
อะไรที่เคยอยู่ในกฎกรอบ ขนบประเพณี วิถีสังคม หลังเหตุการณ์ Mai 68 ได้ถูกรื้อถอน ทำลายล้าง ยกตัวอย่าง บุรุษเคยเป็นใหญ่ในครอบครัวจากนี้ไม่จำอีกต่อไป, Sex ความรัก การแต่งงาน ไม่จำกัดอยู่แค่ชาย-หญิง, อิสรภาพขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ไม่มีใครสามารถครุ่นคิดตัดสินใจแทนกัน ฯลฯ
ในมุมหนึ่งเราสามารถเปรียบ Théo และ Isabelle คือตัวแทนวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศสรุ่นใหม่ หรือ French New Wave [Isabelle เคยบอกเล่นๆ คำพูดแรกที่ออกมาจากปากเธอคือ ‘New York Herald Tribune’ ก่อนตัดไปภาพจากหนัง Breathless (1960)] ขณะที่ Matthew มาจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งสมัยนั้นยังคาบเกี่ยวยุคสมัย Classical Hollywood เมื่อได้พานพบเจอ ตกหลุม และร่วมรัก สามารถตีความว่ารับเอาอิทธิพล แนวความคิด อะไรหลายๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปรสภาพสู่ Hollywood New Wave หรือย่อๆว่า New Hollywood … จากนั้นก็พัฒนาเติบโตขึ้นได้เองผ่านรุ่นของ Steven Spielberg, George Lucas, Francis Ford Coppola ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคบหาชาติยุโรปอีกต่อไป!
(ผมรู้สึกว่าการเปรียบเทียบ Classical Hollywood กับ French New Wave ดูจะลงตัวสอดคล้องกับหนังมากกว่า Classic กับ Modern Cinema เสียอีกนะ!)
ครุ่นคิดในเชิงจิตวิเคราะห์ ตัวละคร Matthew แทนด้วยจิตใต้สำนึกของผู้หลักมโนธรรมประจำใจ (Super Ego) ขณะที่ Isabelle ทำทุกอย่างตามความพึงพอใจ (Id) และ Théo เกิดความลังเล ผันแปรเปลี่ยนไปมาตามสถานการณ์ (Ego)
อาจมีคนสงสัยว่า Bertolucci สร้างหนังเรื่องนี้ต้องการสะท้อนอะไรในช่วงปี 2003 หรือเปล่า? สิ่งที่เขาค้นพบในโลกปัจจุบันขณะนั้น ภาพยนตร์หาใช่สื่อทรงอิทธิพลที่สุดของมนุษย์เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป สหัสวรรษใหม่ทำให้งานศิลปะแขนงนี้หลงเหลือมูลค่าเพียงความบันเทิงเริงอารมณ์ ภาพบันทึกประวัติศาสตร์ หวนระลึกถึงอดีต ความทรงจำ หรืออาการเพ้อฝันของผู้สร้างก็เท่านั้น
“There’s a big difference between then and now. In 1968 there was a perception of the future, an assumption that the world could get better and that you’d be a part of that. Today that’s not the case.
Even if now, the values are different. It’s much more today about finding a kind of balance of the wealth in the world. Then it was something else, but there are young people dreaming all over the world”.
– Bernardo Bertolucci
The Dreamers แน่นอนว่าคือช่วงเวลาแห่งความทรงจำของ Bertolucci แต่สำหรับผู้ชม/คนรุ่นใหม่สมัย เพราะไม่เคยพานผ่านช่วงเวลาดังกล่าว มันจึงหลงเหลือคุณค่าเพียงเรื่องเล่า ภาพประวัติศาสตร์ และความเพ้อฝันเท่านั้น ดูหนังจบก็อาจหลงลืมกัน ชีวิตก็เฉกเช่นนั้น ไม่มีอะไรสลักสำคัญไปมากกว่าตัวตนเอง
จะว่าไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงปี 1966-76 ก็มีการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเช่นกันนะ (ในหนังมีการกล่าวถึงเหมาเจ๋อตุง แต่เหมือนจะมองข้ามประเด็นนี้ไป) แต่โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกกฎทำลายล้างทุกสิ่งอย่างที่มาจากอดีต ทั้งชนชาติตนเองและของต่างชาติที่นำมาเข้ามาเผยแพร่ … ซึ่งผลลัพท์แน่นอนว่าย่อมกลับตารปัตร ทำให้อารยธรรมของชนชาวจีน ถดถอยหลังลงคลองตกต่ำลงไปกว่าทศวรรษ ต้องปิดประเทศแล้วแก้ปัญหาภายในอีกพักใหญ่ๆเลยละ!
แต่สำหรับเมืองไทย ผมคิดว่าบ้านเรายังไม่เคยมีการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ๖ ตุลา, ๑๔ ตุลา, พฤษภาทมิฬ ล้วนคือการยึดอำนาจทางการเมือง รัฐประหาร ซึ่งล้วนเกิดจากทหาร มันเลยไม่มีการปรับเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง!
ด้วยทุนสร้าง $15 ล้านเหรียญ เข้าฉายเรต NC-17 จำกัดโรงในสหรัฐอเมริกา ทำเงินได้ $2.5 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $15.1 ล้านเหรียญ ก็ถือว่าตามสมควรกับหนังเฉพาะกลุ่มลักษณะนี้
ส่วนตัวชื่นชอบหนังอย่างมาก! ไม่รู้เพราะผมเข้าใจแทบทุกสิ่งอย่างที่ตัวละครพูด ภาพยนตร์อ้างอิงถึง หรือแม้แต่คำวิจารณ์ บทเพลงประกอบยังมักคุ้นหู มันเลยเกิดอารมณ์ ‘Nostalgia’ หวนระลึกนึกความทรงจำ หรือคือความเพ้อฝัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sex Scene ช่วยเติมจินตนาการ สะท้อนค่านิยมยุคสมัยได้อย่างเต็มอิ่มหนำ
ผมว่าเรต 18+ ก็เพียงพอแล้วนะครับ เพราะหนังมีเพียงภาพโป๊เปลือย เห็นอวัยวะเพศ และความรุนแรงจากการประท้วงเท่านั้นเอง ไม่ได้ถึงขั้นคลุ้มคลั่งเสียสติแตกอย่างภาพยนตร์ NC-17 เรื่องอื่นๆ
Leave a Reply