The Earrings of Madame de…

The Earrings of Madame de… (1953) French : Max Ophüls ♥♥♥♥♡

ต่างหูเพชรของ Madame de… เริ่มต้นจากเป็นของขวัญแต่งงาน แต่เธอมองว่ามันไม่ได้มีคุณค่าความสำคัญใดๆ เลยนำไปขายต่อใช้หนี้ อ้างกับสามีทำหล่นหาย แต่ร้านเพชรติดต่อมาขายคืน เลยส่งมอบให้ชู้รักเล่นพนันหมดเอาไปจำนำ ซื้อกลับโดยบารอนที่ต่อมาตกหลุมรัก Madame de… บอกกับสามีพบเจอตุ้มหูที่หายไปเสียที

เกร็ด: ตุ้มหู คือภาษาพูด, ต่างหู คือภาษาเขียน มีความหมายเดียวกัน

เริ่มตั้งแต่ La Ronde (1950) เมื่อผู้กำกับ Ophüls เดินทางกลับฝรั่งเศส (หลังประสบความล้มเหลวใน Hollywood) อาจเรียกได้ว่าสูงสุดกลับคืนสู่สามัญ ทำให้ค้นพบความหลงใหลในเรื่องราวที่มีลักษณะเวียนวนเป็นวงกลม จุดเริ่มต้น=สิ้นสุด ซี่งสอดคล้องไดเรคชั่น ‘สไตล์ Ophüls’ ถ่ายภาพแบบ Long Take แล้วให้กล้องเคลื่อนเลื่อนไหล กลับไปกลับมา บางครั้งก็หมุนรอบ 360 องศา

The Earrings of Madame de… (1953) ถือเป็นภาพยนตร์ใช้ประโยชน์จาก ‘สไตล์ Ophüls’ ได้อย่างลงตัว กลมกล่อม สมบูรณ์แบบที่สุด และยังคือบทสรุปไตรภาค ผลงานชิ้นเอกจากสามช่วงเวลาในชีวิตของผู้กำกับ Ophüls (ไม่ใช่ภาคต่อ แต่เรื่องราวมีความละม้ายคล้ายคลีงกันมากๆ)

  • La signora di tutti (1934) ช่วงสะสมประสบการณ์ในยุโรป ทำหนังในเยอรมัน อิตาลี และฝรั่งเศส
  • Letter from an Unknown Woman (1948) มาสเตอร์พีซเรื่องแรก สร้างขี้นที่ Hollywood
  • The Earrings of Madame de… (1953) ผลงานชิ้นเอก มาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์ สร้างขี้นที่ฝรั่งเศส ในช่วงบั้นปลายชีวิต

ความมาสเตอร์พีซของภาพยนตร์เรื่องนี้ ต่อให้คนที่ดูหนังคลาสสิกไม่ค่อยเป็น ผมเชื่อว่าก็ยังอึ้งทึ่ง ตกตะลีง อ้าปากค้าง เพราะมันมีหลายช็อตฉากที่ดูเป็นไปไม่ได้มากๆ ราวกับการขึ้นเครื่องเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ หมุนโยกพลิกกลับตัวไปมา แต่มันไม่ฉาบฉวยเร็วเว่อเท่าหนังซุปเปอร์ฮีโร่ยุคสมัยนี้ แค่มึนๆเมาๆในรสรักของ Madame de… และต่างหูเจ้ากรรม สุดท้ายแล้วมันจะลงเอยเฉกเช่นไร

นอกจากไดเรคชั่นของผู้กำกับ Ophüls ยังต้องซูฮกนักแสดงนำหญิง Danielle Darrieux นี่คือบทบาทส่งเธอให้เจิดจรัสค้างฟ้า จากความระริกระรี้ ทำตัวใสซื่อบริสุทธิ์ เพียงหนี่งคำโป้ปดทำให้กลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ความรักต้องห้ามนำทางสู่หุบเหว จมดิ่งลงสู่ขุมนรก หัวใจแตกสลาย ร่างกายจะไปหลงเหลืออะไร


Max Ophüls ชื่อจริง Maximillian Oppenheime (1902 – 1957) ปรมาจารย์ผู้กำกับสัญชาติ German เชื้อสาย Jews เกิดที่ Saarbrücken, German Empire ครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการขายสิ่งทอทุกรูปแบบ ฐานะมั่งคั่ง แต่ด้วยความสนใจด้านการแสดงเลยเข้าร่วมคณะละครเวที Aachen Theatre ไต่เต้าเป็นผู้กำกับ ผู้จัดการโรงละคร จากนั้นมุ่งสู่วงการภาพยนตร์ กำกับหนังสั้น Dann schon lieber Lebertran (1931), ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก Die verliebte Firma (1931), แจ้งเกิดโด่งดัง Liebelei (1933), La signora di tutti (1934) ฯ

หลังจาก Nazi ขึ้นมาเรืองอำนาจ อพยพสู่ฝรั่งเศส หนีไปสวิตเซอร์แลนด์ แล้วลี้ภัยยังสหรัฐอเมริกา เซ็นสัญญาสตูดิโอ Universal-International สรรค์สร้างภาพยนตร์ The Exile (1947), Letter from an Unknown Woman (1948), The Reckless Moment (1949), เมื่อหมดสัญญาหวนกลับมาปักหลักอยู่ฝรั่งเศส กลายเป็นตำนานกับ La Ronde (1950), Le Plaisir (1952), The Earrings of Madame de… (1953), Lola Montès (1955) และผลงานสุดท้ายสร้างไม่เสร็จ Les Amants de Montparnasse (1958)

ความสนใจของ Ophüls มีคำเรียกว่า ‘woman film’ ตัวละครนำมักเป็นเพศหญิง ชื่อขึ้นต้น ‘L’ (มาจาก Lady) เรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ชู้สาว นอกใจ ในสังคมชั้นสูงที่ทุกสิ่งอย่างดูหรูหรา ฟู่ฟ่า ระยิบระยับงามตา แต่เบื้องลึกภายในจิตใจคน กลับซุกซ่อนเร้นอะไรบางอย่างอยู่เสมอๆ

ส่วนลายเซ็นต์ ‘สไตล์ Ophüls’ มีความโดดเด่นในการใช้ Long Take กล้องขยับเคลื่อนไหวด้วยเครนและดอลลี่ แม้ในฉากที่ดูเหมือนไม่มีความจำเป็น กลับซุกซ่อนเร้น mise-en-scène เพื่อสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ มลื่นไหลต่อเนื่อง และมักวนไปวนมา กลับซ้ายกลับขวา สิ้นสุดหวนกลับสู่เริ่มต้น


หลังเสร็จจาก Le Plaisir (1952) ผู้กำกับ Ophüls มีแผนจะดัดแปลงนวนิยาย La Duchesse de Langeais (1832) ของ Honoré de Balzac เพื่อเป็นการหวนกลับคืนวงการของ Greta Garbo แต่หลังจากโปรเจคดังกล่าวไม่ผ่านการอนุมัติ จึงหันมาให้ความสนใจดัดแปลงนวนิยาย Madame de… (1951)

The Earrings of Madame de… หรือย่อๆว่า Madame de… ดัดแปลงจากนิยายความยาว 62 หน้า แต่งโดย Marie Louise Lévêque de Vilmorin (1902 – 1969) นักเขียน นักข่าวสัญชาติฝรั่งเศส ได้ยินว่าเธอเป็นเพื่อนสนิทของผู้กำกับ Ophüls เลยยินยอมให้เขาทำอะไรก็ได้กับเรื่องราว สุดท้ายหลงเหลือเพียงต่างหู และการไม่เอ่ยนามสกุลของนางเอก (ค้างไว้ว่า de แสดงถึงความชนชั้นสูง และ … สามจุดแทนด้วยรักสามเส้า ชาย-หญิง-ชาย ไม่บอกนามสกุลว่าเธอเป็นคนรักของใคร)

besides the earrings, there’s very little of the novel left in the film…[just] the senselessness of that woman’s life.

Max Ophüls

ร่วมงานพัฒนาบทกับ
– Annette Wademant (1928 – 2017) นักเขียนบทภาพยนตร์ สัญชาติ Belgian ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Jacques Becker อาทิ Édouard et Caroline (1950), Casque d’or (1951) ฯ
– (บทพูดโดย) Marcel Achard (1899 – 1974) นักกวี เขียนละครเวที สัญชาติฝรั่งเศส เคยเป็นประธานกรรมการเทศกาลหนังเมือง Cannes สองปีติด

เกร็ด: Jean-Pierre Melville ชอบแวะเวียนวนมาช่วยงาน เป็นตัวประกอบเต้นรำ ว่ากันว่ายังช่วยกำกับบางฉากอีกต่าก แต่ปฏิเสธไม่ขอรับเครดิตใดๆ

เรื่องราวพื้นหลังประมาณปี ค.ศ. 1880 ณ กรุง Paris, หญิงสาวชนชั้นสูง Louis (รับบทโดย Danielle Darrieux) แต่งงานกับ General André (รับบท Charles Boyer) แต่ชีวิตคู่ของพวกก็แค่ฉากบังหน้า เพียงครอบครองเรือนร่างไม่ใช่ความรักจากจิตใจ โชคชะตานำพาให้เธอพบเจอ Baron Fabrizio Donati (รับบทโดย Vittorio De Sica) เมื่อเริ่มตระหนักถึงความรู้สึกบางอย่าง พยายามผลักไส ตีตนออกห่าง จิตสำนึกไม่ต้องการก้าวข้ามผ่านสิ่งต้องห้ามมโนธรรม จนกระทั่งมิอาจหยุดยับยั้งห้ามใจ สามีก็เริ่มอดรนทนไม่ไหว เลยตัดสินใจท้าดวลปืนชู้รัก(ของเธอ) ต้องมีใครสักคนตกตายไปข้าง


Danielle Yvonne Marie Antoinette Darrieux (1917 – 2017) นักแสดง สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Bordeaux ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนี่ง แล้วมาเติบโตขึ้นยัง Paris วัยเด็กมีความชื่นชอบในเชลโล่ ได้เข้าศีกษายัง Conservatoire de Musique, เมื่ออายุ 14 ได้รับเลือกแสดงหนังเพลง Le Bal (1931), โด่งดังกับ Mayerling (1936), หลังแต่งงานครั้งแรกกับ Henri Decoin มุ่งสู่อเมริกาเซ็นสัญญากับ Universal Studios แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่, หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เดินทางกลับฝรั่งเศส กลายเป็นขาประจำของ Max Ophüls ผลงานเด่นๆ อาทิ La Ronde (1950), Le Plaisir (1952), The Earrings of Madame De… (1953)

รับบท Comtesse Louise de… ภรรยาของ General André de… เริ่มต้นนิสัยร่าเริงสนุกสนาน ชอบยิ้มหวานโปรยเสน่ห์ให้หนุ่มๆลุ่มหลงใหล แล้วหักอกทิ้งขว้างอย่างไร้เยื่อใย มองการสมรสเพียงกลเกมอย่างหนึ่ง ไม่เคยครุ่นคิดจริงจัง (แยกห้องนอนกับสามี ไม่ยินยอมอยู่ร่วมเตียงเดียวกัน) เฉกเช่นเดียวกับต่างหูที่แม้เป็นถึงของขวัญแต่งงาน แต่กลับไม่ได้มีมูลค่าทางใจสักเท่าไหร่ นำออกขายเพื่อนำเงินมาใช้(หนี้สิน) แล้วแสร้งว่าทำตกหล่นสูญหาย สร้างความวุ่นวายไปสักพักใหญ่

การได้พบเจอ Baron Donati ราวกับโชคชะตาฟ้าลิขิต ไม่รู้เหมือนกันว่าบังเกิดความลุ่มหลงอะไร (อาจจะรักแรกพบ กระมัง?) แม้ตระหนักว่านั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เลยพยายามหลบหนีไปให้แสนไกล แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถอดรนทนไหว เมื่อถูกสามีจับได้ไล่ทัน บีบบังคับ ออกคำสั่ง ตักเตือนถึงความเป็นไปไม่ได้ เธอจึงล้มป่วยด้วยพิษรัก (ป่วยจริงๆไม่ใช่แสร้งว่า) หมดสิ้นเรี่ยวแรงกาย-ใจ

เกร็ด: ต้นฉบับนิยายตัวละครนี้ไม่มีทั้งชื่อและนามสกุล แค่ว่า Madame de… แต่ในหนังตั้งชื่อให้ว่า Louise ตามชื่อผู้แต่ง Louis de Vilmorin และคงไร้นามสกุล ค้างไว้เป็นเชิงสัญลักษณ์ แทนด้วยจะหมายถึงใครก็ได้ทั้งนั้น

พฤติกรรมที่สะท้อนความแก่นแก้วของ Madame de… คือแสร้งว่าเป็นลมลมพับ มักเล่นละคอนตบตาเวลาใครทำอะไรไม่พึงพอใจ หรือต้องการเรียกร้องความสนใจ ทำประจำจนติดนิสัยเสียไม่ต่างจากเด็กเลี้ยงแกะ ชอบโกหกหลอกลวงชาวบ้านว่าหมาป่ามาแล้ว นั่นทำให้เวลาภัยร้ายมาถึงตัวเข้าจริงๆ หญิงสาวล้มป่วยด้วยพิษแห่งความรัก เลยไม่ค่อยมีใครอยากเชื่อถือสักเท่าไหร่

แซว: ตอนที่ตัวละครมีพูดแซวกันว่า Madame de… เป็นลมกว่า 20 นาทีตอนแผ่นดินไหว น่าจะเป็นการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ The Great Zagreb earthquake, Austria-Hungary วันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1880 ความแรงปริมาณ 6.3 ริคเตอร์ บ้านเรือนพังทลายกว่า 1,700 หลังคาเรือน รุนแรงไปถึงฝรั่งเศสอย่างแน่นอน

ผู้กำกับ Ophüls พัฒนาบทนี้โดยมีภาพของ Darrieux ด้วยความประทับใจจากเคยร่วมงาน La Ronde (1950) และ Le Plaisir (1951) ทั้งสองเรื่องตัวละครของเธอจะมีความสดใสซื่อบริสุทธิ์ ดวงตาเบิกโพลงอย่างไร้เดียงสา เต็มไปด้วยความใคร่อยากรู้อยากเห็น ขี้เล่นซุกซน ระริกระรี้ เอาแต่ใจอย่างสุดๆ

สำหรับบทบาท Madame de… ครึ่งแรกที่ยังคงเป็นภาพจำลักษณะที่กล่าวมา แต่ครึ่งหลังจากตัวละครเรียนรู้จักความรัก ระทมทุกข์ทรมานเพราะการมิอาจครองคู่อยู่ร่วม(กับคนรัก) อาการแสดงออกของเธอสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้ผู้ชม (ในแบบที่สัมผัสได้เลยละ!) ไฮไลท์คือช่วงท้ายแม้ร่างกายอ่อนเปลี้ยเพลียแรง พยายามลากสังขาร ก้าวออกวิ่ง หัวใจสั่นระริกรัว (ผู้ชมก็)หายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อเสียงปืนลั่น ทุกสิ่งอย่างก็ดับวูบลงไปอยู่ตาตุ่ม

ความเจิดจรัสของ Darrieux ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ ความระริกระรี้ ดวงตากลมโตใสซื่อบริสุทธิ์ แต่ยังการแสดงด้านขั้วตรงข้าม สีหน้าแห่งความระทมทุกข์ทรมาน สามารถชักนำพาอารมณ์ผู้ชมราวกับกำลังอยู่บนเครื่องเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง สั่นสะท้าน วาบหวิว และจบลงด้วยความเวิ้งว่างเปล่า (สิ้นหวัง) … บทบาท Madame de… ถือเป็นจุดสูงสุดในอาชีพการแสดงของ Darrieux แล้วละ!


Charles Boyer (1899 – 1978) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Figeac, Lot ชนบทเล็กๆห่างไหล เมื่อมีโอกาสพบเห็นละครเวทีจึงค้นพบความชื่นชอบหลงใหล โตขึ้นตัดสินใจเข้าศึกษาต่อยัง Paris Conservatory จบออกมาก็ได้รับบทนำตั้งแต่ยุคหนังเงียบ มีโอกาสเซ็นสัญญาสตูดิโอ MGM ไปๆกลับๆฝรั่งเศส-อเมริกา แต่ช่วงต้นทศวรรษ 30s กลับยังไม่ค่อยมีชื่อเสียงสักเท่าไหร่ กระทั่งได้ประกบ Danielle Darrieux ค่อยสามารถแจ้งเกิดโด่งดัง Mayerling (1936), และเคยเข้าชิง Oscar: Best Actor ถึง 4 ครั้ง แต่ไม่เคยคว้ารางวัล ประกอบด้วย Conquest (1937), Algiers (1938), Gaslight (1944), Fanny (1961)

รับบท General André de… นายพลมาดเนี๊ยบ เต๊ะท่าอย่างสง่าผ่าเผย ยึดถือมั่นในเกียรติ ศักดิ์ศรี ความเป็นผู้ดีมีสกุล ยินยอมแต่งงานกับ Madame de… เพียงเพื่อสร้างภาพให้ได้รับการยินยอมรับจากสังคม ตระหนักถึงกลเกมที่ภรรยาชื่นชอบคบชู้นอกใจ (ตัวเองก็แอบเลี้ยงกิ๊กอยู่เหมือนกัน) ครุ่นคิดว่าทุกสิ่งอย่างสามารถแก้ไขด้วยเงินทอง สิ่งข้าวของ ไม่นานประเดี๋ยวก็หลงลืมอีกฝั่งฝ่าย จนกระทั่งความสัมพันธ์กับ Baron Donati ทำให้เขามิอาจเข้าถึงความต้องการแท้จริง(ของ Madame de…) ทำไมเธอถึงแสดงอาการเจ็บปวด ระทมทุกข์ทรมานเพียงนี้?

Unhappiness is an invented thing.

General André de…

เป็นตัวละครที่มีตรรกะส่วนตัวสูงมากๆ ครุ่นคิด-พูด-กระทำ ล้วนแสดงออกด้วยหลักการ อ้างเหตุผล ตั้งแต่ท่วงท่าทางขยับเคลื่อนไหว ก่อนพูดจะมีสีหน้าครุ่นคิด ไตร่ตรองด้วยสติ แทบไม่พบเห็นการใช้อารมณ์ใดๆ อย่างแต่งงานไม่ใช่เพราะความรัก แต่ผลประโยชน์ทางสังคม (นั่นน่าจะคือเหตุผลของการแยกห้องนอน ไม่รู้เคยร่วมรักกันรึป่าวด้วยนะ) ให้อิสรภาพแก่ภรรยา ขอแค่มีความสุข ไม่ต้องทุกข์ทรมาน อย่ากระทำสิ่งต้องห้าม/ขัดต่อศีลธรรม จริยธรรมทางสังคมก็เพียงพอแล้วละ

Boyer เหมือนกำลังร้อนวิชา คาดว่าคงไปฝึกฝน Method Acting (จากสหรัฐอเมริกา) เลยมีความใคร่รู้ใครสงสัยในเบื้องหลัง ที่มาที่ไป แรงจูงใจของตัวละคร จึงพยายามสอบถามผู้กำกับ Ophüls แต่กลับไม่ได้รับคำตอบอะไร หนำซ้ำยังถูกขึ้นเสียงใส่

Enough! His motives are he is written that way!

Max Ophüls

(ต้องเข้าใจว่า ภาพยนตร์ในยุคสมัยคลาสสิก รายละเอียดพวกพื้นหลัง/แรงจูงใจตัวละคร ยังเป็นสิ่งไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างจริงจัง ผู้กำกับมักมองนักแสดงเหมือนวัตถุ อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งสำหรับสรรค์สร้างงานศิลปะ, ปัจจุบันวงการภาพยนตร์ได้ก้าวถึงยุคแห่งความสมจริง Method Acting ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างตัวละคร บางครั้งสำคัญกว่าไดเรคชั่นผู้กำกับเสียอีกนะ!)

นอกจากการวางมาดเท่ห์ๆ ท่าทางขยับเคลื่อนไหวราวกับหุ่นยนต์ สีหน้าขณะครุ่นคิดของ Boyer มักเต็มไปด้วยความฉงนสงสัย (แบบเดียวกับที่เขาสอบถามผู้กำกับ Ophüls แต่ไม่เคยรับคำตอบสักอย่าง) ซึ่งก็สอดคล้องเข้ากับตัวละครเป็นอย่างดี เมื่อถึงจุดๆหนึ่งไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมของภรรยา แค่ตระหนักว่าต้องกระทำบางสิ่งอย่างที่ไร้เหตุผล แสร้งว่าด้วยอารมณ์ (ด้วยการท้าดวลปืนกับ Baron Donati) เผื่อว่าเธอจะสามารถตัดใจ หรือเขาตกตายจากไป


Vittorio De Sica (1901 – 1974) นักแสดง ผู้กำกับชื่อดัง สัญชาติอิตาเลี่ยน เจ้าของผลงานอมตะแห่งยุค Italian Neorealist อาทิ Shoeshine (1946), Bicycle Thieves (1948), Umberto D. (1952) ฯ หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า De Sica รับงานแสดงด้วยงั้นหรือ? จริงๆคือกลับกัน เพราะปู่แกมาจากสายการแสดงก่อนเริ่มทำงานเบื้องหลัง ขนาดเคยได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor เรื่อง A Farewell to Arms (1957)

รับบท Baron Fabrizio Donati ท่านทูตแห่งราชอาณาจักรอิตาลี แม้เป็นคนสูงวัยแต่ก็มีเสน่ห์เย้ายวนใจ เคยไปประจำอยู่ Constantinople, Ottoman Empire พบเห็นต่างหูสวยๆเลยซื้อเก็บไว้ (ยังไม่ได้มีแผนจะมอบให้ใคร) เมื่อครั้นเดินทางมาประจำการยังฝรั่งเศส แรกพบเจอ Madame de… ก็บังเกิดความลุ่มหลงใหล ด้วยโชคชะตาทำให้ตกหลุมรัก ลักลอบคบชู้ จึงมอบต่างหูให้เป็นของขวัญที่ระลึก (โดยไม่รู้ว่ามันเป็นของเธอมาก่อน) กระทั่งถูกพบเจอโดย General André พยายามย้ำเตือนให้ระวังตน อย่ากระทำสิ่งต้องห้ามขัดต่อขนบกฎกรอบทางสังคม แม้สุดท้ายก็ถูกท้าทายดวลปืนด้วยเรื่องไร้สาระ แต่ก็เข้าใจด้วยเหตุผลว่าเป้าหมายแท้จริงคืออะไร

De Sica และ Ophüls ต่างมีความโปรดปรานผลงานของกันและกัน ก่อนหน้านี้เคยรับบทของ Jean Gabin เรื่อง Le Plaisir (1952) แต่ได้รับการบอกปัดปฏิเสธ สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ Ophüls ก็พัฒนาบทโดยมีภาพของ De Sica อยู่ในใจตั้งแต่แรก … เมื่อทั้งสองได้ร่วมงานกันจริง ช่วงแรกๆก็เคอะเขิน ไม่รู้จะให้คำแนะนำ ไดเรคชั่นการแสดงเช่นไร แต่เมื่อน้ำแข็งละลาย พูดคุยกันถูกคอ โดยไม่รู้ตัวกลายเป็นเพื่อนสนิทสนม ติดต่อกันจนวันตาย

แม้อายุ 50+ กว่าๆ แต่ De Sica ยังถือว่ามากด้วยเสน่ห์ แซมผมขาวยิ่งทำให้มีสง่าราศี ขณะที่การแสดงมักเต็มไปด้วยอารมณ์ ออกมาทางสีหน้า ท่วงท่า และน้ำเสียงนุ่มนวลอ่อนหวาน (ตรงกันข้ามกับตัวละครของ Charles Boyer ที่แม้แต่การขยับเคลื่อนไหวยังซ่อนเร้นด้วยหลักการและเหตุผล) นั่นกระมังคือเหตุผลที่ทำให้ Madame de… ตกหลุมรักหัวปลักหัวปลำ

บทบาทของ De Sica อาจไม่ได้มีความหวือหวาอะไรมากนัก แต่ภาพลักษณ์และ Charisma ถือว่าใช่เลย! (น่าจะทำให้สาวๆวัยกลางคนคลุ้มคลั่งหลงใหล) แตกต่างตรงกันข้ามกับ Boyer (ความสัมพันธ์ในกองถ่ายก็เช่นเดียวกัน Ophüls สนิทสนมกับ De Sicar ขณะที่ Boyer เต็มไปด้วยความไม่เข้าใจกัน) ถือว่าเติมเต็มกันและกันได้อย่างสมบูรณ์


ถ่ายภาพโดย Christian Matras (1903-77) ตากล้องระดับตำนาน สัญชาติฝรั่งเศส เป็นที่รู้จักตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ผลงานเด่นๆ อาทิ La Grande Illusion (1938), The Idiot (1946), ร่วมงานผู้กำกับ Max Ophüls ในสี่ผลงานสุดท้ายที่ฝรั่งเศส La Ronde (1950), Le Plaisir (1952), The Earrings of Madame De… (1953) และ Lola Montès (1955)

ความตั้งใจแรกเริ่มของ Ophüls ต้องการถ่ายทำหนังเรื่องนี้จากภาพสะท้อนในกระจกเงา (เพื่อสะท้อนสิ่งที่พบเห็น ตรงกันข้ามกับความต้องการแท้จริงของ Madame de…) แต่ก็ถูกค้านโดยเหล่าโปรดิวเซอร์ เพราะมองว่ามันอาจใช้ระยะเวลา และสิ้นเปลืองงบประมาณเกินเหตุ ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับเลยได้พิสูจน์ด้วยการเร่งระยะเวลาเตรียมงาน โปรดักชั่นเสร็จสิ้นก่อนหน้าเป็นสัปดาห์ และภายใต้งบประมาณที่วางแผนไว้ด้วย

หนังทั้งเรื่องสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอ Studios de Boulogne-Billancourt/SFP – 2 Rue de Silly ตั้งอยู Boulogne-Billancourt, Hauts-de-Seine จึงสามารถใช้เครน & ดอลลี่อย่างไร้ขีดจำกัด และร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับนักออกแบบ Georges Annenkov

ผมเพิ่งอ่านเจอไดเรคชั่นการกำกับนักแสดงของ Ophüls จะไม่ค่อยมีการพูดคุยระหว่างถ่ายทำ แต่จะลากไปสนทนาเป็นการส่วนตัวตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นฉากนั้นๆ อธิบายถึงสิ่งที่ต้องการ อยากให้นำเสนอออกมา เป็นคำชี้แนะที่มอบอิสรภาพนักแสดงในการครุ่นคิดตีความ ถ้าเห็นว่าไม่เหมาะสมถึงค่อยแนะนำเพิ่มเติม (ดึงไปคุยเป็นการส่วนตัวอีกนะแหละ) … ว่ากันว่าเหตุผลเกิดจากความเป็นสุภาพบุรุษของผู้กำกับ Ophüls มองว่าการให้คำแนะนำ/ตำหนินักแสดงต่อหน้าทีมงานคนอื่น มันดูไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่ (แต่ถ้าคุยกันส่วนตัว สองต่อสอง จะต่อว่าอะไรก็เต็มที่)


ฉากแรกของหนังก็อาจทำให้หลายคนรู้สึกอึ้งทึ่งกับ Long-Take กล้องเคลื่อนไหลไปตามสายตาของ Madame de… มือเคลื่อนเลื่อนสัมผัสเครื่องประดับ พร้อมคำพูดบรรยายแทนความครุ่นคิด อะไรสำคัญ-ไม่สำคัญ เพื่อค้นหาสิ่งของนำไปขายแลกเงิน ก่อนหวนกลับมาสิ่งของชิ้นแรกสุด (เวียนวนกลับสู่จุดเริ่มต้น)

และสำหรับช็อตแรกของ Madame de.. ขณะกำลังลองสวมต่างหู พบเห็นภาพสะท้อนในกระจก สื่อถึงตัวตนแท้จริงกลับตารปัตรจากสิ่งกำลังพบเห็น (หรือจะมองว่าคือภาพสะท้อนในกระจก คือตัวตนแท้จริงของเธอก็ได้เช่นกัน)

ขณะที่ภาพแรกของ General André de… มาในลักษณะภาพวาดขนาดใหญ่ ประดับติดฝาผนังห้อง ด้วยแนวคิดเดียวกับ Citizen Kane (1941) สื่อถึงอิทธิพล บุคคลสามารถควบคุมครอบงำ บีบบังคับออกคำสั่ง Madame de… ต้องปฏิบัติตามในฐานะสามี-ภรรยา

การมาโบสถ์ครั้งแรกของ Madame de… อธิษฐานขอพรในสิ่งโคตรไร้สาระ! ให้สามารถขายต่างหูราคาแพงๆ ผู้ชมคงสังเกตออกไม่ยากว่าเหมือนแค่ต้องการสร้างภาพ ไม่ได้มาเพราะมีความเชื่อศรัทธา (ต่อพระเป็นเจ้า) ด้วยเหตุนี้พระองค์เลยเสี้ยมสอนบทเรียนด้วยการทำให้เจ้าสิ่งนี้มีมูลค่าทางจิตใจขึ้นมา กลับมาโบสถ์ครั้งหลังถึงขนาดลากสังขาร อธิษฐานจากจิตวิญญาณ และยินยอมบริจาคต่างหู ถ้ามันสามารถแลกเปลี่ยนชีวิตชายคนรัก

จากไม่เคยเชื่อมั่นศรัทธาต่อศาสนา กลับตารปัตรสู่การไหว้วานร้องขอ มีเพียงพระเป็นเจ้าเท่านั้นถึงสามารถช่วยเหลือชายคนรัก นี่คือลักษณะของการเวียนวนหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น มองมุมหนึ่งช่างน่าสงสารเห็นใจ ขณะเดียวกันมันก็ชวนให้สมเพศเวทนา

เช่นเดียวกับการแสร้งว่าเป็นลมล้มพับ ทำตัวเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ ใช้มารยาลวงล่อหลอกผู้อื่นให้รู้สึกสงสารเห็นใจ เจ้าของร้านเครื่องประดับถึงขนาดยินยอมรับซื้อต่างหูเพชรราคาแพง (ทั้งๆบอกปัดปฏิเสธไปก่อนหน้า) แต่ครึ่งหลังเมื่อเธอล้มป่วยจริงๆเพราะพิษแห่งความรัก ใครจะไปครุ่นคิดว่านั่นไม่ใช่การเล่นละคอนตบตา … นี่ก็กรรมสนองกรรม เคยทำอะไรไว้ก็ได้รับผลเช่นนั้นกลับคืนมา

แซว: ผมละชอบบทเล็กๆของเด็กชายคนนี้จังนะ ถูกบิดา (เจ้าของร้านเครื่องประดับ) สั่งให้ตัดข่าวหนังสือพิมพ์ กำลังจะวิ่งลง สั่งให้หยิบเครื่องเพชร กำลังจะวิ่งลง สั่งให้หยิบหมวก กำลังจะวิ่งลง สั่งให้หยิบไม้เท้า … กล้องก็เวียนวนซ้ำไปซ้ำมา ‘สไตล์ Ophüls’ อยู่อย่างนั้นกว่าจะจบสิ้น

Comedy เล็กๆใน Opera House คนเปิดประตูจะต้องลุกๆยืนๆ เปิดๆปิดๆประตู เดี๋ยวห้องซ้าย เดี๋ยวห้องขวา สลับไปมาอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้ นี่สามารถสะท้อนถึงไดเรคชั่น ‘สไตล์ Ophüls’ ได้อีกเช่นกัน … และจะมีตอนที่พนักงานคนซ้ายบอก ถ้าออกมาอีกจะไม่ลุกแล้ว General André ก็พรวดพราดมาทันที แถมยังทำให้พนักงานคนขวาลุกขึ้นมาเปิดประตู (ครุ่นคิดว่าจะเข้าฝั่งนี้อีกรอบ) แต่กลับเดินออกจากสถานที่แห่งนี้ไปเลย

แซว: ผมค่อนข้างมั่นใจว่ารูปปั้นนี้ละม้ายคล้ายใบหน้าคีตกวี Franz Liszt ซึ่งอาจเป็นผู้ประพันธ์โอเปร่าที่ได้ยินประกอบพื้นหลัง (แต่ผมหาข้อมูลไม่ได้ว่าเรื่องอะไร) ถ้าใครมักคุ้นว่าเป็นคีตกวีคนอื่นก็บอกได้นะครับ

การที่ชู้รักของ General André ชื่อว่า Lola (รับบทโดย Lia Di Leo) ดูเหมือนจงใจ แต่ก็ไม่น่าใช่นะครับ เพราะผู้กำกับ Ophüls นิยมตั้งชื่อตัวละครหญิงขึ้นต้นว่า ‘L’ อยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวเนื่องผลงานถัดไป Lola Montès (1955) อีกอย่างเขาไม่ใช่ตัวตั้งตัวตีโปรเจคนี้นะ (คือเป็นมือปืนรับจ้าง และไม่ใช่ผู้กำกับคนแรกที่สตูดิโอติดต่อไปด้วย)

สำหรับเธอคนนี้ แม้ชายคนรักจะมอบต่างหูให้เป็นของที่ระลึกต่างหน้า แต่มันกลับไม่ได้มีความสลักสำคัญใดๆต่อเธอ (ไม่ได้มีความรัก ชื่นชอบพอต่อกันสักเท่าไหร่) ด้วยเหตุนี้เมื่อเล่นการพนันหมดตัว ก็พร้อมขายทิ้งโดยไม่ตะขิดตะขวง อาลัยอาวรณ์

ช็อตสุดท้ายของ Lola ทุ่มหมดตัวกับเงินที่ขายต่างหู แต่ก็ไม่ต้องคาดเดาก็รู้ผลได้ เพราะช็อตนี้ถ่ายจากมุมของพ่อค้า พบเห็นหญิงสาวอยู่ด้านหลังลวดหนาม สื่อถึงการสูญเสียอิสรภาพ หมดสิ้นทุกสิ่งอย่าง ต่อจากนี้ไม่หลงเหลืออะไรใดๆติดตัวอีกต่อไป

แรกพบเจอระหว่าง Baron Donati กับ Madame de… ยังสถานีรถไฟ Basel, Switzerland (สถานที่แห่งการพบเจอ-พลัดพรากจาก) แอบชวนให้ระลึกนึกถึงภาพยนตร์ Brief Encounter (1945) เมื่อทั้งสองสบสายตาก็แทบมิอาจละวางจากกัน

ส่วนครั้งที่สองบังเอิญว่าล้อรถม้าเกี่ยวกัน จึงมีโอกาสพูดคุยสนทนา แม้เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ต่างฝ่ายต่างบังเกิดความลุ่มหลงใหลซึ่งกันและกัน ขณะตะโกนแนะนำตัว ได้ยินเพียง Madame de… ไร้สิ้นเสียงนามสกุล

แม้ว่าหนังไม่ได้ถ่ายทำจากภาพสะท้อนในกระจก ตามที่ผู้กำกับ Ophüls เคยเพ้อวาดฝันไว้ แต่เขาก็ยังพยายามสรรหาฉากที่สามารถใส่รายละเอียดดังกล่าวลงไป โดยเฉพาะห้องเต้นรำ (Ballroom Dance) สังเกตว่ามีกระจกบานใหญ่ตั้งอยู่ด้านหลัง เอียงลงมาเล็กน้อยให้สามารถพบเห็นบรรยากาศของสถานที่แห่งนั้น … ผมเพิ่งมีโอกาสรับชม The Docks of New York (1928) ของผู้กำกับ Josef von Sternberg ซึ่งมีฉากลักษณะคล้ายๆกันนี้ (แต่แค่กระจกบานเดียวนะ) เพื่อสะท้อนภาพบรรยากาศในร้าน

โดยนัยยะของช็อตลักษณะนี้สะท้อนถึง ‘โลกส่วนตัว’ ของบุคคล/คู่รักที่อยู่ในภาพ สิ่งต่างๆรายล้อม ผู้คนโดยรอบล้วนเป็นเพียงภาพสะท้อนในกระจก ราวกับไม่มีตัวตนสำหรับพวกเขา

ผมตั้งชื่อฉากนี้ว่า ‘การเต้นรำข้ามผ่านสถานที่และวันเวลา’ ก็เห็นหมุนไปเรื่อยๆแบบนี้ แต่สถานที่ กาลเวลา กลับผันแปรเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว ชู้รักต่างเอ่ยคำถาม-ตอบซ้ำๆ สัปดาห์หนึ่งผ่านไปไม่ได้พบเจอ ➔ สาม-สี่วันที่ไม่ได้พบเจอ ➔ พรุ่งนี้สามีฉันจะกลับมาแล้วนะ ➔ ค่ำคืนสุดท้าย แม้ไม่หลงเหลือใครพวกเขาก็ยังเริงระบำ บริกรเข้ามาดับเทียน ความมืดเข้าครอบงำ และในที่สุดทุกอย่างเคลื่อนเข้าสู่ผ้าม่านสีดำ หมดสิ้นช่วงเวลาแห่งความระเริงรื่น

ทุกการเปลี่ยนผ่านสถานที่และวันเวลา สามารถสังเกตจากเทคนิค Cross-Cutting แต่คนส่วนใหญ่(หรือการรับชมครั้งแรก)มักไม่ทันสังเกต รับรู้ตัว เพราะความลื่นไหลของบทเพลงบรรเลงต่อเนื่องกันไป (ไม่ได้เปลี่ยนไปตามสถานที่และวันเวลา) ราวกับว่าพวกเขาอยู่ในโลกของตนเองที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกใดๆ

Madame de… เริ่มตระหนักถึงพิษของความรัก มันกำลังค่อยๆกัดกินทำลายหัวใจ นี่ไม่ใช่การแสร้งว่าเป็นลม แต่ร่างกายหมดสิ้นเรี่ยวแรงพละกำลังใจ บอกกับสามีอยากหลบหนีไปให้แสนไกล แต่เขากลับแนะนำให้อดรนทน ต่อสู้เผชิญหน้า แล้วเดินไปปิดหน้าต่าง เลื่อนผ้าม่าน (สัญลักษณ์ของการปิดกั้นความรู้สึกภายใน) เชื่อมั่นว่านั่นคือวิธีการแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมาที่สุด!

คำแนะนำของ General André สะท้อนความไม่เข้าใจต่อ Madame de… เพราะยังครุ่นคิดว่าเธอแสร้งทำ เล่นละครตบตา เลยใช้วิธีการบีบบังคับ ประเดี๋ยวอาการป่วยก็คงทุเลา เลิกซึมเศร้าทุกข์ทรมาน

ระหว่างที่ Madame de… เตรียมเก็บข้าวของหนีออกจากบ้าน Baron Donati ก็เดินทางมาเยี่ยมหา เผชิญหน้ากันช็อตนี้มีหลายสิ่งอย่างน่าสนใจไม่น้อย

  • ทางฝั่ง Madame de… ด้านหลังคือภาพวาดของสาวมี General André บุคคลผู้มีอิทธิพล สามารถควบคุมครอบงำ คอยชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง
  • ฝั่งของ Baron Donati คือความพ่ายแพ้ของนโปเลียนกับการศึก Battle of Waterloo (1815) สื่อถึงการต่อสู้ที่ไม่มีวันได้รับชนะ หรือคือไม่มีทางได้ครอบครองเป็นเจ้าของ Madame de…
  • ซึ่งวิธีการเดียวเท่านั้นคือระหว่างภาพพื้นหลังทั้งสอง พบเห็นปืน ดาบ สัญลักษณ์ของการต่อสู้ และความตาย

ของขวัญที่ Baron Donati มอบให้กับ Madame de… โดยไม่รู้ตัวมันคือต่างหู อันเดียวกับที่เคยนำไปขายร้านเครื่องประทับ แต่เมื่อมันหวนกลับมาครานี้กลับมาอยู่ในการครอบครองครั้งนี้ ทำให้หญิงสาวรู้สึกซาบซึ้ง พึงพอใจ ตระหนักถึงคุณค่า รีบนำมาสวมใส่ ลูบไล้ จับจ้องมองภาพสะท้อนในกระจก ลวดลายไม้แกะสลักช่างประณีตวิจิตรศิลป์ (สื่อถึงความสุขอุราจากภายใน)

ตั้งใจจะสวมใส่ให้ชู้รักได้เชยชม แต่เมื่อตระหนักว่าสามีเพิ่งกลับมาถึงบ้าน จึงจำต้องถอดออกเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน (คือยังครุ่นคิดไม่ได้ว่าจะโป้ปดเช่นไร)

คำพรอดรักที่เต็มไปด้วยความหลอกลวง ถึงปากพูดว่า “I don’t love you” แต่ภายในจิตใจกลับตารปัตรตรงกันข้าม ไม่สามารถพูดบอกความต้องการแท้จริง “I love you” เพราะมันจะผิดทำนองครองธรรม

อาการแสดงออกของ Danielle Darrieux ฉากนี้ถือว่าสุดๆเลยไป บานประตูราวกับชู้รัก โอบกอด สัมผัส ลูบไล้ กระซิบกระซาบไม่อยากให้เขาจากไป จิตใจก็ได้แต่โหยหา คร่ำครวญคราง เลยออกเดินทางไปยังดินแดนแสนห่างไกล

ก่อนจะออกเดินทางไปสถานีรถไฟ Madame de… โยนกล่องของขวัญของ Baron Donati (แต่ไม่มีต่างหูอยู่ในนั้นนะ) เข้าไปในกองเพลิง จากนั้นเป็นการ Cross-Cutting เข้าสู่ช็อตนี้ สังเกตว่าเห็นภาพเปลวไฟซ้อนทับใบหน้าของ General André สะท้อนถึงความต้องการทำลาย เข่นฆ่าล้าง มอดไหม้ให้เป็นจุน เพราะเขาคือบุคคลขัดขวางความสุขแท้ มารผจญแห่งชีวิต ต้องการหลบหลีกหนีไปให้แสนไกล

Baron Donati รำพันในจดหมายรัก ทำไมไม่เคยตอบกลับมาสักฉบับ เมื่อตัดภาพมายัง Madame de… กำลังเขียนจดหมาย(ตอบกลับ)เสร็จแล้วฉีกทิ้ง ปล่อยให้มันปลิดปลิวล่องลอยไปกับสายลม แปรสภาพเป็นหิมะตกหล่น ทับถมจนทำให้ต้นไม้งอกเงย ความรักเบ่งบาน หยั่งรากลึกจนมิอาจขุดถอนโคน ทำลายล้างให้หมดสิ้นซาก

I’ve answered all your letters, my love. But I never had the courage to mail my replies. My innumerable letters that would have told you of the depth of my friendship that has blossomed into love on this endless journey.

Comtesse Louise de…

Madame de… ครุ่นคิดข้ออ้างพบเจอต่างหูที่เคยสูญหายไป ตกหล่นอยู่ในถุงมือสีขาว แต่เธอยังไม่ตระหนักว่าสามีรับล่วงรู้ความจรืงตั้งแต่แรกแล้ว เขาจึงบังเกิดความฉงนสงสัย (แต่พยายามไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆออกมา) ว่าเจ้าสิ่งนี้มันหวนกลับมาอยู่กับเธอได้อย่างไร ซึ่งมันก็มีเหตุผลเดียวเท่านั้นคือจากชู้รัก Baron Donati และภรรยาแสดงปฏิกิริยาระริกระรี้อย่างผิดปกติ

ใครเคยรับชม La Ronde (1950) น่าจะมักคุ้นถึงเรื่องราวของ The Husband and the Little Miss เปรียบเทียบความสัมพันธ์ประเภทชู้รัก กับคอร์สมื้ออาหาร (Hors d’oeuvre, Entrée, Desserts) ซึ่งการบอกเลิกราระหว่าง Madame de… กับ Baron Donati ทั้งคู่ยืนอยู่บริเวณโต๊ะอาหาร สามารถสื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างมื้ออาหารของพวกเขา กำลังถึงจุดจบสิ้น (เพราะ General André จับได้แล้วว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์ชู้สาวกันอย่างลึกซึ้ง เกินเลยเถิดความเหมาะสมไปแล้ว)

Madame de… ล้มป่วยอาการทรุดหนัก (ไม่ได้แสร้งว่า) จมปลักอยู่ในความมืดมิด แต่เมื่อ General André เข้ามาในห้อง ไม่เพียงขับไล่สาวใช้ ยังเปิดผ้าม่านให้แสงสว่างจากภายนอกสาดส่องเข้ามา เห็นเงาลวดลายบานเกร็ดที่แลดูเหมือนกรงขัง สื่อถึงภายในจิตใจหญิงสาวถูกพันธนาการโดยบริบทกฎกรอบทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามีที่คอยควบคุมครอบงำ แม้ให้อิสรภาพในการใช้ชีวิต แต่กลับไม่เคยเข้าใจอะไรสักสิ่งอย่าง

General André ยังจงใจนำต่างหูมามอบให้ Madame de… แต่ปฏิกิริยาของเธอทำให้เขายินยอมรับไม่ได้ ตัดสินใจกระทำสิ่งอย่างเพื่อให้เธอเรียนรู้จักการเสียสละ ทอดทิ้ง ตัดใจจากสิ่งของรักของหัว (ทั้งจากต่างหู และในเชิงสัญลักษณ์ถึงชู้รัก Baron Donati)

General André ออกคำสั่งให้ Madame de… ส่งมอบต่างหูเป็นของทำขวัญทารกน้อย นั่นสร้างความโกรธเกลียด คับข้องแค้น กล้ำกลืนฝืน แต่หนังไม่นำเสนอปฏิกิริยาสีหน้า(ของ Madame de..)ขณะกำลังมอบให้ เคลื่อนเบี่ยงเบนความสนใจมายังทารกน้อย ‘baby face’ เพื่อสื่อถึงใบหน้าที่มี (สร้างภาพ) ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา (แต่ภายในจิตใจนั้นไม่ใช่เลย)

การบีบบังคับครั้งนี้ คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้ Madame de… ปล่อยวางความรักจาก Baron Donati เพราะเป็นสิ่งมิอาจเกิดขึ้นได้ตามครรลองของสังคม แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งทำให้เธอคลุ้มคลั่ง รุนแรงยิ่งๆขึ้นไปอีก

จากเคยแสร้งว่า สร้างภาพ เล่นละคอนตบตา การร่ำร้องไห้ครั้งนี้ของ Madame de… ไม่ใช่ความดีใจอย่างซาบซึ้งที่ได้พบเห็นทารกน้อย การกำเนิดของชีวิตใหม่ ทว่าคือเศร้าโศกที่ต้องสูญเสียสิ่งของรักของหวง มิอาจทำใจร่ำลาจากต่างหูที่ชู้รักเคยมอบให้ มันมีความสำคัญต่อจิตใจเหลือล้นพ้น

เมื่อความพยายามทั้งหลายไม่เป็นผล General André ตระหนักว่าหลงเหลือวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ Madame de… หลงลืมชู้รัก คือต้องกำจัดให้พ้นทาง ตรงไปยังคลับแห่งหนึ่ง มุมกล้องเงยขึ้นเห็นเพดาน (แสดงถึงพลังอำนาจ อิทธิพล ความยิ่งใหญ่กว่าอีกฝั่งฝ่าย) สรรหาข้ออ้างอะไรก็ไม่รู้ไร้สาระเพื่อท้าดวลปืน แต่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจเหตุผลแท้จริงนั้นคืออะไร เลยไม่จำเป็นต้องบอกปัดปฏิเสธใดๆ

มีหลายผลงานของผู้กำกับ Ophüls ที่มักนำเข้าสู่การท้าดวลดาบ/ปืน แต่เขาไม่เคยนำเสนอผลลัพท์ผู้แพ้-ชนะ เลยสักครั้ง! (Letter from an Unknown Woman (1948) จบลงแค่ยินยอมรับการดวล เช้าตรู่เริ่มต้นออกเดินทาง แค่นั้น!) จงใจสร้างความคลุมเคลือ ให้อิสระผู้ชมในการครุ่นคิดคาดเดา อะไรก็สามารถบังเกิดได้ทั้งนั้น

จะว่าไปการดวลครั้งนี้ค่อนข้างแปลกประหลาด เต็มไปด้วยความน่าฉงน ทำไมถึงผลัดกันยิง? ทำไม General André ถึงได้รับโอกาสก่อน? ไม่ใช่ว่าการดวลต้องยกปืนขึ้นพร้อมกันหรอกหรือ? นี่มันการันตีความตายโดยเฉพาะเลยนะ! … นั่นเองทำให้ผมค่อนข้างเชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงการจัดฉาก ไม่ได้จะฆ่าแกงกันจริงๆ อาจมีนัยยะอื่นแอบแฝงก็เป็นได้

เมื่อได้ยินเสียงปืนลั่น Madame de… มีสภาพห่อเหี่ยว ไร้เรื่ยวแรง หมดสิ้นหวังอาลัย จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว สายตาเหม่อล่องลอย ตระหนักว่าทุกสิ่งอย่างพังทลาย หัวใจแตกสลาย แม้ยังไม่ทันพบเห็นว่าบังเกิดอะไรขึ้น แต่ชีวิตของเธอก็จบสิ้น ดับดิ้น ตกตายทั้งเป็น ไม่หลงเหลือใครสักคนสำหรับพึ่งพักพิง

มุมกล้องช็อตนี้ถ่ายติดต้นไม้สองต้น, ต้นที่อยู่ด้านหลังของ Madame de… เต็มไปด้วยใบไม้ ภายนอกดูมีชีวิตชีวา สวยงามตา แต่ภายในไร้ซึ่งจิตวิญญาณของสิ่งมีชีวิต (สะท้อนสภาพของหญิงสาวขณะนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา) ขณะเดียวกันเหมือนว่ามันอยู่เคียงชิดใกล้ จำเป็นต้องพึ่งพาลำต้นไม้ใหญ่(ด้านขวาของภาพ) หลายคนอาจเทียบแทนด้วย General André แต่ผมมองอย่างคลุมเคลือถึงผู้ชนะการดวลครั้งนี้ก็แล้วกัน

ต้นฉบับนวนิยาย Madame de… เหมือนจะขาดใจตายต่อหน้าสามีและชู้รัก ทำให้พวกเขาไม่ทันต่อสู้ดวลปืน แต่ผู้กำกับ Ophüls เลือกจะตัดความน้ำเน่านั้นเสีย ค้างๆคาๆ แค่เสียงปืนลั่นไว้แบบนี้แหละ มีความอมตะยาวนานกว่า

ตอนจบดั้งเดิมที่ผู้กำกับ Ophüls ครุ่นคิดไว้ ต่างหูอันนี้จะถูกส่งมอบให้แม่ชีสาวที่กำลังจะแต่งงานนายพล สื่อถึงการหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น (แบบเดียวกับที่ Madame de… ได้รับเป็นของขวัญแต่งงานจาก General André) เห็นว่าถ่ายทำไว้แล้วด้วยละ แต่ถูกตัดออกเพราะรู้สึกว่าไม่ลงตัวกับหนังสักเท่าไหร่

ทั้งที่ต่างหูเป็นสิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีลมหายใจ ไม่สามารถกระทำอะไรได้ทั้งนั้น แต่กลับถูกตีตราว่าคือสิ่งชั่วร้าย อัปมงคล ทำให้ครอบครัวแตกแยก ก่อเกิดโศกนาฎกรรม ซึ่งลงเอยด้วยการบริจาคให้โบสถ์ สามารถสื่อถึงจุดสิ้นสุดบ่วงกรรม พระเจ้าชำระล้างบาปให้ทุกสรรพสิ่ง (ตั่งหูนี้ด้วยเช่นกัน)

ตัดต่อโดย Borys Lewin (1911-) เกิดที่ Minsk, Belarus แล้วเดินทางสู่ฝรั่งเศส เริ่มทำงานในวงการภาพยนตร์ช่วงทศวรรษ 30s แต่เพิ่งมามีชื่อเสียงช่วงทศวรรษ 50s ผลงานเด่นๆ อาทิ The Earrings of Madame De… (1953), French Cancan (1955) ฯลฯ

เราสามารถมองว่าหนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมอง ‘ต่างหู’ ของ Madame de… ผลัดเปลี่ยนมือเจ้าของ เดินทางจากกรุง Paris ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยัง Constantinople แล้วเวียนวนกลับมาหาเจ้าของเดิมอีกหลายครั้งครา

Madame de… นำต่างหูไปขายร้านเครื่องประดับ ➔ แสร้งว่าสูญหาย สร้างความร้อนรนให้ General André จนได้รับการติดต่อขายคืนจากเจ้าของร้าน ➔ ส่งต่อให้ชู้รัก จำนำบ่อนการพนันที่ Constantinople ➔ ซื้อต่อโดย Baron Donati หวนกลับมา Paris มอบให้เป็นของขวัญ Madame de… ➔ General André เมื่อตระหนักถึงการเดินทางของต่างหู ส่งคืนให้ Baron Donati ➔ ขายต่อร้านเพชร ➔ ขายคืนให้ General André ตั้งใจนำมาให้ Madame de… แต่หลังจากพบเห็นปฏิกิริยาของเธอ เลยบีบบังคับส่งมอบให้น้องสะใภ้ (เป็นของทำขวัญทารกเกิดใหม่) ➔ เศรษฐกิจย่ำแย่เลยนำมาขายให้ร้านเพชร ➔ General André ปฏิเสธไม่รับซื้อคืนอีกต่อไป แต่เป็น Madame de… ขายเครื่องประดับอื่นๆเพื่อให้ได้ต่างหูอันนี้กลับคืนมา ➔ และส่งมอบให้โบสถ์ อธิษฐานแลกกับชีวิตของ Baron Donati

ต่างหูในการครอบครองของ Madame de… จะมีคุณค่าความสำคัญ(ต่อเธอ)ที่แตกต่างกันออกไป

  • ครั้งแรกได้รับเป็นของขวัญแต่งงาน แต่กลับไม่เห็นคุณค่าความสำคัญใดๆ (เพราะไม่ได้มีความรัก/รู้สึกใดๆต่อสามี General André)
  • เมื่อได้รับเป็นของขวัญจาก Baron Donati เริ่มตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญ กลายเป็นสิ่งที่ใช้แทนความรู้สึก แทนของต่างหน้า อยากที่จะเปิดเผยออกมาสู่สาธารณะ
  • หลังจากสามีบีบบังคับต้องส่งมอบแก่น้องสะใภ้ ตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ของการเสียสละ ปลดปล่อยวาง ละทอดทิ้งความสัมพันธ์ แต่มันกลับทำให้เธอยิ่งเจ็บปวดรวดร้าว ระทมทุกข์ทรมาน (เพราะไม่ต้องการจะส่งมอบต่างหูนี้ให้ใคร)
  • จากนั้นพยายามทำทุกสิ่งอย่าง ขายเครื่องประดับ เสื้อขนสัตว์ เพื่อให้ได้ซื้อคืนต่างหู ไม่มีอะไรสำคัญยิ่งไปกว่า
  • สุดท้ายการบริจาคให้โบสถ์ แทนคำอธิษฐานขอต่อพระผู้เป็นเจ้า เพื่อชีวิตของชายคนรัก ไม่มีอะไรสำคัญยิ่งไปกว่า

ถ้าจัดแบ่งเรื่องราวออกเป็นองก์ คงได้ประมาณ 3 ช่วงขณะ ตามปฏิกิริยาแสดงออก/ความรู้สึกของ Madame de… ที่มีต่อต่างหูอันนี้

  • ช่วงเวลาที่ยังไม่เห็นคุณค่าความสำคัญ
    • Madame de.. ใช้ชีวิตอย่างระริกรี้ เด็กเลี้ยงแกะ ชอบเรียกร้องความสนใจ ไม่ยี่หร่าอะไรใคร แสร้งทำเป็นต่างหูหาย สร้างความวุ่นวายไปทั่ว
    • การเดินทางของต่างหู ถูกส่งต่อให้ชู้รัก (ของ General André) จาก Paris สู่ Constantinople แล้ววนกลับมาอีกครั้บ
  • ต่างหูกลายเป็นที่ระลึกต่างหน้าของชู้รัก
    • แรกพบเจอ Baron Donati ค่อยๆบังความสัมพันธ์ แล้วตกหลุมรัก ได้รับตั่งหูเป็นของต่างหน้า แต่ยังไม่สามารถสวมใส่ ไม่รู้จะหาข้ออ้างอะไรบอกกับสามี
    • Madame de… พยายามหลบหนี ตีตนให้ห่าง แต่สุดท้ายก็หวนกลับมาหาชู้รัก
  • ตระหนักถึงถึงคุณค่าความสำคัญของต่างหู
    • ถูกสามียึดต่างหู ส่งคืนให้ Baron Donati พร้อมตักเตือนไม่ให้ล่วงละเมิดกันอีก
    • General André พยายามทำให้ Madame de… หลงลืม Baron Donati ด้วยการบีบบังคับมอบเป็นของทำขวัญหลานสะใภ้ แต่เธอก็พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้ต่างหูกลับคืนมา
    • การท้าดวลปืนระหว่าง General André vs. Baron Donati ทำให้ Madame de… ยินยอมเสียสละต่างหูนี้ ขอแลกชีวิตชายคนรัก

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ผู้กำกับ Ophüls อยู่ในช่วงลุ่มหลงใหลการเวียนวนไปของเรื่องราวเป็นวงกลม La Ronde หรือ Roundabout ทั้งการเดินทางของต่างหู และสิ่งที่ตัวละครประสบพบเจอ ได้รับกลับคืนมา โดยเฉพาะ Madame de… เคยทำอะไรไว้ครึ่งแรก ก็จะได้รับผลกรรมคืนตอบสนองครึ่งหลังอย่างสาสม (แต่ผู้ชมกลับจะรู้สึกระทมทวย)


สำหรับเพลงประกอบเป็นการร่วมงานระหว่าง Oscar Straus (1870 – 1975) คีตกวีสัญชาติ Viennese และ Georges Van Parys (1920 – 1971) นักแต่งเพลงสัญชาติฝรั่งเศส (ไม่แน่ใจว่า Straus ประพันธ์ท่วงทำนอง แล้วส่งต่อให้ Van Parys เรียบเรียงกลายเป็นออเคสตร้ารึป่าวนะ เพราะตอน La Ronde (1950) ก็ใช้วิธีการดังอธิบายมานี้)

งานเพลง ‘สไตล์ Ophüls’ เพียงสร้างบรรยากาศให้สอดคล้องเรื่องราว เคลื่อนคล้อยไปตามอารมณ์ที่ผันแปรเปลี่ยนของ Madame de… ผสมผสานทั้ง Original Score และบทเพลงคลาสสิกจากคีตกวีเลื่องชื่อ แต่จะไม่เน้นท่วงทำนองบีบเค้น กระแทกกระทั้น ให้ความรู้สึกหรูหรา ระยิบระยับ ฟังดูมีระดับ สามารถสร้างความประทับใจในระดับสูงยิ่ง

บทเพลงของหนังมีกลิ่นอายยุคสมัย Romantic Era (ค.ศ. 1800-1910) ส่วนใหญ่เน้นดนตรีจังหวะ Waltz ที่หลายคนอาจรู้สึกมักคุ้นหู เพื่อสร้างความสนุกสนาน ครึกครื้นเครง สามารถโยกเต้นเริงระบำไปรอบห้อง แล้วเวียนวนหวนกลับมาจุดเริ่มต้น (สอดคล้องเข้ากับไดเรคชั่น ‘สไตล์ Ophüls’) มีสองไฮไลท์แนวคิดเดียวกัน สามารถประกอบเข้ากับหนังได้อย่างสร้างสรรค์โคตรๆ

  • Madame de… บอกกับสามี General André ว่าทำต่างหู/ของขวัญแต่งงานสูญหาย ทำให้เขาต้องกุลีกุจอออกติดตามค้นหา แต่ไม่ว่าจะไปแห่งหนหนไหน บทเพลงที่ดังจากการแสดงโอเปร่า ยังคงมีความต่อเนื่องไปเรื่อยๆไม่สะดุดหรือกระโดดข้าม (ผมหารายละเอียดของการแสดงโอเปร่านั้นไม่ได้ แต่รูปปั้นแกะสลักหน้าห้องที่แลดูคล้าย Franz Liszt อาจเป็นหนึ่งในผลงานของคีตกวีนี้ก็เป็นได้)
  • เช่นเดียวกับฉาก ‘การเต้นรำข้ามผ่านสถานที่และวันเวลา’ ระหว่าง Madame de… กับ Baron Donati บทเพลงบรรเลงต่อเนื่องแม้มีการ Cross-Cutting เปลี่ยนฉาก สถานที่ และวันเวลา แทนโลกของเราสอง/สุขแห่งรักทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด

แซว: ใครเคยรับชม Letter from an Unknown Woman (1948) น่าจะจดจำได้ถึงคำพูดของนักดนตรี ประโยคเดียวกันเปี๊ยบ!

ต่างหู คือเครื่องประดับสำหรับเสริมความงาม ตอบสนองความพึงพอใจผู้ใช้ เอาจริงๆถือว่าเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือย ไม่มีความจำเป็นใดๆต่อการดำรงชีวิต ไม่มี ไม่ใช้ ก็ไม่เห็นมีใครตกตาย, ความสำคัญของต่างหู จึงมีเพียงมูลค่าทางจิตใจ เมื่อไหร่ได้รับจากคนรัก หรือบุคคลรู้จัก มันจะบังเกิดความประทับใจ ชื่นชอบหลงใหล เก็บไว้เป็นที่ระลึกต่างหน้า อิ่มเอิบใจทุกคราเมื่อสัมผัสหรือสวมใส่

ในมุมมองของ Madame de… แรกเริ่มต่างหูนี้เป็นของขวัญแต่งงานจากสามี แต่กลับไม่มีมูลค่าทางจิตใจ (เพราะไม่ได้มีความรู้สึกใดๆต่อเขา) เลยนำไปขายเอาเงินมาจับจ่ายใช้สอย แต่หลังได้รับกลับคืนจากชายอีกคน บุคคลแรกที่สอนให้รู้จักคำว่ารัก เธอจึงตระหนักถึงคุณค่าของเจ้าสิ่งนี้ พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ได้(หวนกลับ)มาครอบครอง ทั้งยังยินยอมเสียสละต่อพระเป็นเจ้า ขอแลกเปลี่ยนกับชีวิตเขาให้อยู่รอดปลอดภัย

การเดินทางของต่างหู แสดงให้เห็นถึงมูลค่าของวัตถุ สิ่งข้าวของ ปัจจัยภายนอกร่างกาย แม้มีความสวยงาม เลิศหรูหรา ราคาแพงสักเท่าไหร่ ก็เทียบไม่ได้กับความรัก บริสุทธิ์จริงใจ สัมพันธภาพระหว่างเราสอง มิอาจประเมินด้วยตัวเลข ต่ำกว่าแค่เพียงชีวิตของอีกฝั่งฝ่ายเท่านั้นเอง!

ในสังคมจอมปลอมของชนชั้นสูง ตรรกะของ General André ความสุข-ทุกข์ มันก็แค่สิ่งที่เราครุ่นคิดสรรค์สร้างขึ้นมา เพียงปรนเปรอด้วยเงินทอง สิ่งข้าวของ เครื่องประดับเลิศหรูหรา ย่อมสามารถบังเกิดความพึงพอใจ สุขอุรา ทุกสรรพสิ่งอย่างสามารถหาซื้อ ครอบครองเป็นเจ้าของ ไม่เว้นแม้แต่จิตใจคน

สำหรับ Madame de.. ช่วงแรกๆก็เฉกเช่นเดียวกับสามี เข้าคู่ขากันดี นิสัยกะล่อนปลิ้นปล้อน ‘เด็กเลี้ยงแกะ’ ใช้ความไร้เดียงสาลวงล่อหลอก อ่อยเหยื่อ พรอดรัก หักอกคนหนุ่มมากมายที่พยายามเข้ามาเคียงชิดใกล้ กระทั่งเมื่อได้พบเจอ Baron Donati เป็นครั้งแรกที่ทุกสิ่งอย่างพลิกกลับตารปัตร ก่อเกิดมรสุมแห่งรัก เคยกระทำอะไรใครไว้ผลกรรมนั้นเริ่มหวนกลับคืนสนอง ภายในลุ่มร้อนลุกเป็นไฟ ไม่สามารถเปิดเผยความต้องการ ระบายความรู้สึกใดๆออกไป มันเลยมอดไหม้จนเริ่มบ่อนทำลายร่างกายและจิตใจ

คงไม่ผิดอะไรจะเปรียบเทียบ Madame de… แทนด้วย Max Ophüls มีหลายๆอย่างละม้ายคล้ายคลึง อาทิ ชีวิตแต่งงานเป็นเพียงฉากบังหน้า เวลาอยู่นอกบ้านก็ชอบเกี้ยวพาราสี พรอดรักหญิงสาวไปทั่ว (ภรรยาคงรับรู้แต่ไม่เคยพร่ำบ่น)

โดยเฉพาะเรื่องราวความรักที่ไม่สามารถเปิดเผยแสดงออก เพราะถูกบริบททางสังคมกำหนดกฎกรอบ จึงบังเกิดความระทมทุกข์ทรมาน แทบตกตายทั้งเป็น! … สะท้อนความรู้สึกของผู้กำกับ Ophüls เมื่อครั้นทำงานอยู่ Hollywood ถูกสตูดิโอควบคุมครอบงำ บีบบังคับโน่นนี่นั่น ยึดเครนและดอลลี่ (จะมองว่ามันคือ ‘ตุ้มหู’ ของผู้กำกับก็ยังได้) จนไม่สามารถสรรค์สร้างภาพยนตร์ด้วยไดเรคชั่น ‘สไตล์ Ophüls’ เป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความอึดอัดอั้น ระทมทุกข์ทรมาน แทบตกตายทั้งเป็น!

A shot that does not call for tracks
Is agony for poor dear Max,
Who, separated from his dolly,
Is wrapped in deepest melancholy.
Once, when they took away his crane,
I thought he’d never smile again.

James Mason แต่งบทกวีอุทิศให้ผู้กำกับ Max Ophüls

จะว่าไปหนังเรื่องนี้ก็ไม่ต่างจากต่างหูของ Madame de… ช่วงแรกๆเมื่อออกฉายไม่ได้มีมูลค่าต่อผู้ชม/นักวิจารณ์สักเท่าไหร่ แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ใครต่อใครเริ่มมีโอกาสรับเชยชม พบเห็นความงดงาม ลุ่มลึกล้ำ ค่อยๆได้รับการยกย่อง สรรเสริญแซ่ซ้อง จนบังเกิดคุณค่าต่อวงการภาพยนตร์อย่างหาที่สุดมิได้!


เมื่อตอนออกฉาย หนังได้เสียงตอบรับก้ำๆกี่งๆ เพราะการเคลื่อนเลื่อนกล้องที่โฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียน ทำให้ผู้ชม(สมัยนั้น)ดูไม่รู้เรื่องสักเท่าไหร่ (คงเหมือนหนังแอ๊คชั่นสมัยนี้ที่ชอบเคลื่อนกล้องเร็วๆ ส่ายไปส่ายมา จนแทบมองไม่ทันเห็นอะไร) ผลลัพท์ก็คือไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังได้เข้าชิง Oscar: Best Costume Design, Black and White พ่ายให้กับ Sabrina (1954)

กาลเวลาค่อยๆทำให้เสียงตอบรับของหนังดีขี้นเรื่อยๆ เริ่มจากนักวิจารณ์ Pauline Kael สรรค์เสริญการเคลื่อนเลื่อนกล้อง ‘Sensuous Camerawork’ ว่ามีความประณีตบรรจง ช่วยสร้างบรรยากาศโรแมนติกได้อย่างน่าอัศจรรย์ และเมื่อหนังออกฉายซ้ำ (Re-Release) ที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 1979 เป็นครั้งแรกได้รับการสรรเสริญว่ามาสเตอร์พีซ

เกร็ด: The Earrings of Madame de… (1953) เป็นภาพยนตร์เรื่องโปรดของผู้กำกับ Stanley Kubrick, Douglas Sirk (ให้ความเห็นว่า ‘Perfect!’), Paul Thomas Anderson, Wes Anderson ฯลฯ

จริงอยู่ว่า The Earrings of Madame de… (1953) คือผลงานชิ้นเอก มาสเตอร์พีซ ยอดเยี่ยมที่สุดของผู้กำกับ Max Ophüls แต่ผมสังเกตว่าอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์กลับไม่ค่อยมากสักเท่าไหร่ จริงๆควรอยู่ระดับเดียวกับ Citizen Kane (1941), Seven Samurai (1954), Vertigo (1958) หรือแม้แต่ The Godfather (1972) เสียด้วยซ้ำนะ!

แล้วผมก็ตระหนักว่าไม่ใช่หนังเรื่องนี้ที่สร้างอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ แต่คือไดเรคชั่น ‘สไตล์ Ophüls’ ที่กลายเป็นแม่แบบพิมพ์ ด้วยลีลาการเคลื่อนกล้องที่มีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน สำหรับสร้างบรรยากาศ และซ่อนเร้นนัยยะบางอย่าง … ภาพยนตร์ในปัจจุบันที่มีการเคลื่อนเลื่อนกล้อง ใช้เครน ดอลลี่ หรือมีถ่ายทำ Long Take ล้วนได้รับอิทธิพลจาก ‘สไตล์ Ophüls’ แทบทั้งหมดทั้งสิ้น!

หวนกลับมารับชมครานี้ สิ่งยังคงสร้างความหลงใหลคลั่งไคล้ให้ผมมากที่สุดก็คือ ลีลาการแสดงของ Danielle Darrieux จากความใสซื่อบริสุทธิ์ในช่วงแรกๆ ค่อยมีความสลับซับซ้อนทางอารมณ์ขี้นเรื่อยๆ จากเคยแสร้งว่าเป็นลมล้มพับ กลับล้มป่วยจริงๆเพราะพิษแห่งความรัก, และนัยยะของหนังที่งดงามมากๆ สิ่งไม่เคยพบเห็นคุณค่า มาปัจจุบันค่อยตระหนักถีงความสำคัญขาดไม่ได้

แนะนำคอหนังโรแมนติก รักสามเส้า, นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ เสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับทั้งหลาย, โดยเฉพาะคนทำงานสายภาพยนตร์ ศีกษาไดเรคชั่น ‘สไตล์ Ophüls’ น่าจะสามารถเป็นอิทธิพล แรงบันดาลใจ เคลื่อนกล้องอย่างไรให้มีความน่าหลงใหล, และแฟนๆนักแสดง Charles Boyer, Danielle Darrieux, อยากเห็นหน้าผู้กำกับ Vittorio De Sica ไม่ควรพลาดเลยนะ!

จัดเรต pg กับกลเกมแห่งความรัก

คำโปรย | The Earrings of Madame de… จากเครื่องประดับไร้ค่า กลายเป็นสิ่งของมิอาจประเมินราคาของทั้ง Danielle Darrieux และผู้กำกับ Max Ophüls
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | ลุ่มหลงใหล

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
Oazsarun Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
Oazsarun
Guest
Oazsarun

เป็นหนังสุดยอดเทคนิคในยุคนั้น แต่ยอมรับเลยว่าเนื้อเรื่องไม่ค่อยตรึงผมไว้เท่าไหร่ สงสัยต้องรับชมอีกรอบ พอๆกับ Citizen Kane แต่ผมยังรู้สึกชอบ Citizen Kane กว่ามากรู้สึกว่านอกจากเทคนิคที่ดีเยี่ยมยังมีวิธีการเล่าที่ไม่รู้สึกเชยเลย แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นมีอิมแพคต่อผมนักเทียบกับ Battleship Potemkin หนังตัดต่อทรงอิทธิพล ผมประทับใจเรื่องนี้มากกว่า Kane

%d bloggers like this: