The Eel

The Eel (1997) Japanese : Shohei Imamura ♥♥♥♥

ความอิจฉาริษยา (Jealousy) เป็นหนึ่งในอารมณ์ชั่ววูบที่ร่านร้อน รุนแรงที่สุดของมนุษย์ โดยเฉพาะขณะสามีเห็นภรรยากำลังมีชู้ร่วมรักกับชายอื่นอย่างมัวเมามันส์ แต่จะมีอะไรมากเกินกว่านั้นหรือเปล่า? หนังรางวัล Palme d’Or เรื่องนี้อาจตอบคุณได้

คำตอบของหนัง เป็นสิ่งที่ผมเองต้องบอกว่ายังหยั่งคาดการณ์ไม่ถึง ทั้งๆที่การดำเนินเรื่องราวมีความสงบราบเรียบ นิ่งราวกับผืนผิวน้ำในทะเลสาบ แต่แท้จริงแล้วภายใต้กลับพลุกพล่านปั่นป่วน ยิ่งเสียกว่าลมฟ้าพายุคลั่ง คล้ายดั่งสำนวน ‘น้ำนิ่งไหลลึก’ แม้แต่ปลาไหลเองที่ดูเหมือนว่าจะสงบนิ่ง แต่เวลาจะผสมพันธุ์คลอดลูกต้องเดินทางไกลถึงกระแสน้ำศูนย์สูตร ค้นหาสถานที่เหมาะสมสำหรับวางไข่

ปลาไหลที่หนังเรื่องนี้พูดถึงคือ ปลาไหลญี่ปุ่น (Unagi, うなぎ) ไม่ใช่ปลาไหลนา หรือปลาไหลบึง ที่อาศัยขุดรูอยู่ตามท้องนาน้ำจืดบ้านเรา นั่นคนละสายพันธุ์กันเลยนะครับ, ปลาไหลญี่ปุ่น (ชื่อวิทยาศาสตร์ Anguilla japonica) เป็นสายพันธุ์ที่พบในญี่ปุ่น, เกาหลี, จีน, ไต้หวัน, เวียดนาม ตลอดจนแถบภาคเหนือของฟิลิปปินส์ มีลำตัวโตเต็มวัยขนาดยาวประมาณ 1 เมตร ตากลมโต ผิวเคลือบไปด้วยเมือก ลำตัวบริเวณหลังมีสีดำ ท้องมีสีขาว ชอบใช้ชีวิตอยู่ในน้ำจืดเป็นส่วนใหญ่แต่จะไปวางไข่ในน้ำทะเล โดยพื้นที่วางไข่มักเป็นบริเวณกระแสน้ำศูนย์สูตรเหนือทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ในขณะที่ยังเป็นตัวอ่อนจะถูกเรียกว่าปลาเมือก จะถูกพัดพาโดยกระแสน้ำเส้นศูนย์สูตรเหนือไปทางตะวันตกของแปซิฟิก ต่อจากนั้นก็จะถูกพัดขึ้นทางเหนือไปยังเอเชียตะวันออก ที่นี่เองจะพบอาศัยอยู่ตามแม่น้ำ ทะเลสาบ และปากแม่น้ำ, ในยุคสมัย Edo หรือ Tokugawa-jidai (ค.ศ. 1603 – 1868) เนื่องจากมีการบุกเบิกที่ดินริมชายฝั่งอ่าว Edo (ปัจจุบันคือ Tokyo Bay) ทำให้สามารถจับปลาไหลได้เป็นจำนวนมาก มีการนำมาทำเป็นอาหารของผู้ใช้แรงงานจนได้รับความนิยมอย่างสูง จึงถือเป็นครั้งแรกที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีความชื่นชอบหลงใหล การกินปลาไหลเป็นอย่างยิ่ง

แม้ว่าปลาไหลจะเป็นอาหารเลื่องชื่อในญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่หายากมีปริมาณน้อย ทำให้หน่วยงานรัฐมีความพยายามเพาะรักษาพันธุ์ เพิ่มปริมาณให้ดีมีมากขึ้นในแต่ละปี โดยช่วงฤดูที่จะมีปลาไหลในท้องตลาดเยอะคือช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงปลายพฤศจิกายน, สำหรับวิธีการที่ชาวชนบทนิยมใช้หาปลาไหล ที่มักจะหลบซ่อนอยู่ในหลุมเล็กมีหลายวิธี หนึ่งในนั้นมีชื่อเรียกว่า ‘จับปลาแบบท่อ’ โดยท่อนั้นได้ถูกออกแบบเพื่อให้ปลาไหลเข้าไปและไม่สามารถหลบหนีออกมา โดยชาวประมงจะใส่เยื่อลงไปในท่อและปล่อยมันลงไปในแม่น้ำ

Shohei Imamura (1926 – 2006) ปรมาจารย์ผู้กำกับในตำนานของญี่ปุ่น เป็นคนเดียวของเอเชียที่คว้า Palme d’Or ถึงสองครั้งจาก The Ballad of Narayama (1983) และ The Eel (1997), เกิดที่ Tokyo ในครอบครัวระดับกลาง มีพ่อเป็นหมอ เอาตัวรอดผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างลำบากแสนเข็น  ได้เข้าเรียน Waseda University สาขาประวัติศาสตร์ตะวันตก แต่เอาเวลาส่วนใหญ่สนใจการเมืองและดูหนัง หลงใหลใน Rashomon (1950) ของผู้กำกับ Akira Kurosawa เป็นแรงบันดาลใจให้ตัดสินใจกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์

หลังเรียนจบได้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Yasujirō Ozu ที่สตูดิโอ Shochiku Studios อาทิ Early Summer (1951), The Flavor of Green Tea over Rice (1952), Tokyo Story (1953) แต่เพราะความไม่ประทับใจในแนวทางของ Ozu ต่อการนำเสนอภาพลักษณ์ของสังคมญี่ปุ่น ลาออกไปสตูดิโอ Nikkatsu เป็นผู้ช่วย Yuzo Kawashima สร้าง Sun in the Last Days of the Shogunate (1957) ต่อมาได้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Stolen Desire (1958) เรื่องราวของนักแสดงพเนจรที่ได้พบเจอเรื่องราวต่างๆ สะท้อนเข้ากับชีวิตของ Imamura ที่ได้พบเจออะไรต่างๆมากมาย

สไตล์ของ Imamura มีความสนใจอย่างมากเรื่องสังคมชนชั้นต่ำกว่าสะดือของประเทศญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนล่างของมนุษย์กับโครงสร้างของสังคม (ชนชั้นล่าง) สันชาติญาณความต้องการ โดยเฉพาะเรื่อง Sex ด้วยการตั้งคำถาม ‘มนุษย์คืออะไร? แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นอย่างไร?’ (หนังของ Imamura จะต้องมีภาพของสรรพสัตว์สอดแทรกใส่อยู่เสมอ)

“I like to make messy films, and I am interested in the relationship of the lower part of the human body and the lower part of the social structure… I ask myself what differentiates humans from other animals. What is a human being? I look for the answer by continuing to make films.”

นี่เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองของ Imamura ที่ผมได้มีโอกาสรับชม (ต่อจาก The Ballad of Narayama) เกิดความลุ่มหลงใหลตกหลุมรัก ในการนำเสนอวุฒิภาวะของมนุษย์เรื่อง Sex อย่างดิบเถื่อนตรงไปตรงมา โดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนของชีวิตที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตอยู่, สิ่งที่พวกเราจำแนกแยกตัวเอง แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย คือการควบคุมสันชาติญาณความต้องการ (Sex) ของตนเอง เมื่อใดที่ไม่สามารถควบคุม ปกปิด ยับยั้งได้จะถือว่า วินาทีนั้น ตัวละครได้แปรสภาพจากมนุษย์กลายเป็นสัตว์ ซึ่งกับหนังเรื่องนี้ก็คือ ‘ปลาไหล’ (ในเชิงเปรียบเทียบนะครับ ไม่ใช่มนุษย์กลายเป็นปลาไหล)

ดัดแปลงโดยหยาบๆจากนิยายเรื่อง On Parole (1988) แต่งโดย Akira Yoshimura นักเขียนชื่อดังของญี่ปุ่น เรื่องราวของ Shiro Kikutani ชายผู้ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากข้อหาฆ่าภรรยาที่นอกใจอย่างไตร่ตรองไว้ก่อน 15 ปีถัดมาได้รับการลดโทษออกจากคุกในฐานะนักโทษความประพฤติดี แต่หลังจากออกมาโลกที่เขาเคยรู้จักได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง, นอกจากนี้ยังมีการดึงนำเอาเรื่องราวส่วนหนึ่งจากหนังเรื่อง The Pornographers (1966) ของผู้กำกับ Imamura เองเข้ามาใช้ประกอบด้วย

หนังมีเปลี่ยนแปลงเรื่องราวพอสมควร, พระเอกชื่อ Takuro Yamashita (รับบทโดย Kōji Yakusho) หลังจากฆ่าภรรยาที่นอกใจอย่างไตร่ตรองไว้ก่อน เข้ามอบตัวรับโทษจำคุกเพียง 10 ปี ได้รับการปลดปล่อยเมื่อเข้าสู่ปีที่ 8 และอยู่ในภาคทัณฑ์ 2 ปี, ออกมาทำงานมีอาชีพช่างตัดผม ได้พบกับ Keiko Hattori (รับบทโดย Misa Shimizu) หญิงสาวที่มีใบหน้าตาละม้ายคล้ายภรรยาเก่าของตน เธอตั้งใจกินยาจะฆ่าตัวตาย แต่บังเอิญ Yamashita ช่วยชีวิตเอาไว้ นั่นทำให้เขาต้องกลายเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตของเธอ

Kōji Yakusho หรือ Kōji Hashimoto (เกิดปี 1956) นักแสดงสัญชาติญี่ปุ่น, ตอนวัยรุ่นได้มีโอกาสชมละครเวทีเรื่อง The Lower Depths (1976) เกิดความหลงใหลประทับใจ ตกลงใจชีวิตนี้ต้องกลายเป็นนักแสดงให้ได้ มีผลงานแรกๆจากการแสดงละครโทรทัศน์ สำหรับภาพยนตร์เริ่มได้รับการจดจำจาก Tampopo (1985), Kamikaze Taxi (1995) จนมีชื่อเสียงระดับนานาชาติกับ Shall We Dance? ผลงานอื่นๆ อาทิ License to Live (1999), Memoirs of a Geisha (2005), Babel (2006), 13 Assassins (2010), พากย์เสียง Kumatetsu ใน The Boy and the Beast (2015) ฯ

ภาพลักษณ์ของ Yamashita เริ่มต้นคือ Salary Man คนธรรมดาสามัญทั่วไป งานการมั่นคงแต่งงานมีครอบครัว ชีวิตเหมือนจะสุขดี แต่พอได้พบเห็นภรรยามีชู้กับชายอื่น Sex อันเร่าร้อนแรงและบ้าคลั่ง ทำให้เขาเกิดความอิจฉาริษยา ยินยอมทนรับไม่ได้ต้องการกระทำอะไรบางสิ่งบางอย่าง วินาทีนั้นดูแล้วคงขนาดสติ แต่ไม่นานก็รู้สึกตัวได้ ตัดสินใจมอบตัวยอมรับทุกข้อกล่าวหา ปฏิบัติตนอย่างดีกลายเป็นที่รักของผู้คมขัง รับการลดหย่อนโทษกลับออกมามีชีวิตเกือบที่จะได้เป็นปกติ

สิ่งที่เป็นความคับข้องใจของ Yamashita คือสัญชาติญาณของผู้ชาย ไม่ต้องการพ่ายแพ้ต่อเพศผู้ตนอื่น, มันคือความน่าอับอายขายหน้า หัวอกแทบระเบิด เพราะ Sex คือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้มีชีวิต การที่ภรรยานอกใจคบชู้มีคนอื่น ถือเป็นการหยามเกียรติต่อศักดิ์ศรี มันเลยไม่ใช่ความรักที่ Yamashita แสดงออกมา แต่คือความเกลียดชัง คนที่เขาฆ่าไม่ใช่ภรรยาแต่คือตัวเขาเอง

นี่เป็นสิ่งที่ผู้ชายญี่ปุ่น ศักดิ์ศรีค้ำคอสูงเป็นไหนๆ จะสามารถสื่อสารพูดคุยระบายเปิดอกออกมาได้ ต้องกับคนที่รับรู้เข้าใจได้ใกล้เคียงกันพูดออกมาก่อนเท่านั้น (จะสังเกตว่า หลายครั้งเพื่อนร่วมตกปลาไหลของ Yamashita จะเป็นคนที่ทำให้เขาพูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมา) ซึ่งก่อนที่เขาจะพบคนที่สามารถพึ่งพิงได้ก็เจอเจ้าปลาไหล เพื่อนในจินตนาการที่พูดไม่ได้แต่ยินยอมรับฟังทุกสิ่งอย่าง

การแสดงของ Yakusho คาบเกี่ยวระหว่างความจืดชืดเอ๋อเหรอ กับเครียดเก็บกดระเบิดเวลา สองสิ่งนี้สังเกตแยกออกค่อนข้างยากทีเดียว แต่จะเด่นชัดตอนวินาทีระเบิดออก มันอาจไม่ใช่ Expression ที่ยิ่งใหญ่ของ Yakusho แต่มีความเป็นธรรมชาติ จับต้องได้ หรือคือ’มนุษย์’ ขนาดว่าหนังสือพิมพ์ New York Times ยกย่องการแสดงของเขาว่า ‘unerring’ (ไร้ที่ติ)

Misa Shimizu (เกิดปี 1970) นักแสดงหญิงชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น เข้าสู่วงการด้วยการ Audition รับบทนำเรื่อง Shōnan Bōsōzoku (1987) มีผลงานโดดเด่น อาทิ Sumo Do, Sumo Don’t (1992), Future Memories: Last Christmas (1992), The Sea Is Watching (2002) ฯ

Keiko Hattori จะว่าเธอคือผู้หญิงร่าน Sex คงไม่ผิดกระไร เพื่อสนองตัณหาความต้องการของตนเอง ไม่เคยสนอะไรทั้งนั้นแม้แต่แม่ของตนเอง แต่เมื่อได้บทเรียนความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ทำให้รู้สึกผิดสิ้นหวังถึงขนาดพยายามฆ่าตัวตาย แต่พอไม่สำเร็จได้รับการช่วยเหลือ ทำให้สายตาที่เคยพร่ามัวกลับมองเห็นชัด รับรู้ว่าคุณค่าแท้จริงของมนุษย์อยู่ที่ตรงไหน

หนังไม่เชิงพูดออกมาตรงๆ ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ทำไม Hattori ถึงรู้ตัวเองว่าคบผู้ชายไม่ดี (แต่ผู้ชมคงสามารถรับรู้ได้ เพราะหมอนั่น abuse เธอเสียขนาดนั้น) ผมคิดว่าเพราะลูกในท้องของเธอที่แม้ตอนนั้นยังไม่รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ได้ทำให้ฮอร์โมนสันชาติญาณเพศแม่ทำงาน (แอบแปลกใจที่ตอนล้างท้อง หมอน่าจะตรวจพบเด็กในครรภ์แล้วนะ หรือยังเพิ่งจะปฏิสนธิ??) เมื่อหญิงสาวตั้งครรภ์ คนแรกที่พวกเธอมักคิดถึงคือแม่ตนเอง อะไรที่เคยทำไม่ดีไว้จะรู้สึกสำนึกเข้าใจโดยพลัน เพราะฉันกำลังรู้สึกแบบนี้กับลูก มองย้อนกลับไปแม่ก็คงรู้สึกแบบนั้นต่อฉัน

การแสดงของ Shimizu ทำให้หนังดูมีชีวิตชีวาขึ้นเยอะ ผมไม่ค่อยได้เห็นใบหน้าเธอชัดๆเท่าไหร่ แค่ได้ยินเสียงก็ทำให้จิตใจชุ่มชื้นกระชุ่มกระชวย ผ่อนคลายความเครียดลงไปได้มาก, ส่วนฉากที่ผมประทับใจสุดเป็นตอนโดน Vibrator ฉากกำลังมี Sex แบบดิ้นพล่าน นี่ทำให้รู้ว่าตัวตนแท้จริงของเธอมีความต้องการรุนแรงขนาดไหน คือถ้าไม่เร่าร้อนขนาดนั้นจะทำให้เกิดความคิดฆ่าตัวตายได้ยังไง!

สิ่งที่ Hattori มองเห็นในตัว Yamashita ผมคิดว่าคือ’ความสงบ’ เพราะทั้งชีวิตของทั้งคู่ที่ผ่านรู้จักแต่สิ่งที่เรียกว่า passion ความต้องการ เร่าร้อนรุนแรง ซึ่งหลังจากได้ผ่านพบเจอบทเรียนราคาแพงๆมามาก มันทำให้ชีวิตไม่ต้องการที่จะดิ้นรนทำอะไรมากเกินตัวอีกต่อไป แม้จะเป็นเพียงแค่ผืนผิวภายนอก ข้างในยังคงคุกกรุ่นรุนแรง แต่ถือเป็นที่รู้กันของทั้งสองคน … เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิต นี่คือสิ่งที่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต้องการ ไม่ใช่เรื่อง Sex แต่คือความเข้าใจ ยินยอมรับ ให้อภัยซึ่งกันและกัน

ถ่ายภาพโดย Shigeru Komatsubara ขาประจำของ Shohei Imamura แต่มักรับงานถ่ายภาพยนตร์โทรทัศน์เป็นส่วนมาก, ถึงปากของ Imamura จะบอกไม่ชอบ Ozu แต่ก็ถือว่าได้อิทธิพลมาอย่างเยอะ โดยเฉพาะ 1 ช็อต 1 เรื่องราว แค่ไม่จำเป็นต้องเป็นตั้งกล้องทิ้งแช่ไว้เฉยๆ เคลื่อนไหวแพนซ้ายขวา เลือกมุมกล้องที่เห็นเรื่องราวในฉากได้แทบทั้งหมด แต่ถ้าไม่ก็จะใช้การตัดต่อช่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

คล้ายกับหนังของ Michelangelo Antonioni ธรรมชาติ ฉาก พื้นหลังของหนัง ล้วนมีนัยยะเชิงสัญลักษณ์ สื่อถึงแสดงอารมณ์ของตัวละครด้วย เช่นว่า
– ขณะ Yamashita กำลังคิดฆ่าภรรยา หลอดไฟกลายเป็นสีแดง (เลือดสาด)
– ออกจากคุกมา ที่บ้านใหม่ของ Yamashita ขยะเต็มไปหมดเลย (ขยะสังคม)
– สถานที่ฆ่าตัวตายของ Hattori เต็มไปด้วยดอกไม้ (คงฝันว่าจะได้ขึ้นสวรรค์สวยงาม)

ไฮไลท์ของงานภาพ ฉากตอนเช้าวันหนึ่ง ระหว่างกำลังล่องเรือจับปลาไหล เพื่อนของ Yamashita พูดสอบถาม หลังได้รับรู้เบื้องหลังความจริง ยื่นเป้กสาเกให้ เรือถูกปล่อยให้ค่อยๆเคลื่อนไหลไป กล้องก็ค่อยๆแพนตาม, นี่เป็นฉากที่ใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเล่าเรื่องราวได้อย่างลงตัวมากๆ (ลองสังเกตแสงของฉากนี้ด้วยนะครับ เหมือนว่าพระอาทิตย์กำลังขึ้น ภาพมีความสว่างขึ้นด้วย)

ตัดต่อโดย Hajime Okayasu ขาประจำของ Imamura เช่นกัน และชอบรับงานตัดต่ออนิเมชั่นฉายโทรทัศน์เสียมากกว่า, เจ้าคางคกหรืออึ่งอ่างก็ไม่รู้ อยู่ดีๆก็โผล่แทรกเข้ามา เป็น Montage ที่มีนัยยะถึงสัตว์ชั้นต่ำกำลังมองพวกเดียวกันเอง (ทีแรกผมคิดว่าน่าจะมีนัยยะ กบในกะลาครอบ แต่ที่ผมว่ามาน่าจะตรงกว่านะครับ)

หนังใช้มุมมองของ Yamashita เป็นหลัก ซึ่งบางครั้งจะเห็นภาพหลอน กำลังฝัน หรือจินตนาการเว่อๆแทรกอยู่ด้วย (สะท้อนถึงจิตสำนึกของตัวเอง), ผมชอบช็อตหนึ่งที่เหมือนว่า Yamashita กลายเป็นปลาไหล มีการย่อส่วนให้ตัวเขาขนาดเล็กนิดเดียว ซ้อนภาพเข้ากับปลาไหลที่นอนอยู่ ออกวิ่งไปมาเหมือนต้องการเป็นอิสระ ออกจากร่างของปลาไหลนี้, ส่วนเพื่อนร่วมคุกของ Yamashita และจดหมายต้นเรื่องมีตัวตนจริงไหม หรือเป็นแค่ภาพลวงตาที่เขาคิดขึ้น? นี่ผมก็ตอบไม่ได้ เพราะหนังอธิบายว่าเป็นเพียงภาพลวงตา แต่มันอาจเป็นของจริงก็ได้ แค่พอถึงจุดที่เขาไม่ต้องการอดีตอีกต่อไปแล้ว อะไรพวกนั้นก็จะหายวับไปกับตา

เพลงประกอบโดย Shinichirô Ikebe นักแต่งเพลงยอดฝีมือ ที่มีความหลงใหลใน Contemporary Classical Music มีผลงานร่วมกับ Akira Kurosawa ในช่วงท้ายๆหลายเรื่อง อาทิ Kagemusha (1980), MacArthur’s Children (1984), Kurosawa’s Dreams (1990), Rhapsody in August (1991), Madadayo (1993), Warm Water Under a Red Bridge (2001) ฯ  และยังเคยทำเพลงให้อนิเมะซีรีย์ Future Boy Conan (1978) ของ Hayao Miyazaki ด้วยนะครับ

มันจะมีเสียงหนึ่งไม่รู้จักชื่อเครื่องดนตรี มีลักษณะเป็นไม้ดีดอันเล็กๆ ผมรู้สึกเสียงนั้นมีความคล้ายให้สัมผัสเหมือน ‘เสียงของปลาไหล’ ได้ยินประกอบตลอดเรื่อง ไม่รู้ทำไมมีความเข้ากันกับหนังเสียเหลือเกิน

บทเพลงไม่ได้ใช้เพื่อสร้างอารมณ์ แต่เป็นการสร้างบรรยากาศ ในฉากที่ไม่มี Action การกระทำหรือคำพูดใดๆ เราถึงจะได้ยินเสียงเพลงดังขึ้น อาทิ กำลังนั่งรถ, ล่องเรือ, เหม่อลอย และหลายครั้งในความฝัน จินตนาการ และขณะที่ Yamashita พูดคุยกับตนเอง

Tango ในหนัง ไม่รู้เหมือนกันว่าเพลงอะไร แต่นัยยะของการเต้น คือ Passion เร่าร้อนรุนแรง สีแดงคือเลือด Sex และความตาย, แม่ของ Hattori ที่ชื่นชอบการเต้น Tango เย้ายั่วยวนแบบบ้าคลั่ง แต่ความอัดอั้นทางเพศของเธอไม่ได้รับการระบาย สุดท้ายเลยกลายเป็นบ้า (เคยพยายามจะฆ่าตัวตาย แต่ไม่สำเร็จกลายเป็นบ้าเสียก่อน)

เรื่องราวของหนังเรื่องนี้ประกอบด้วย ความอิจฉาริษยา (jealousy), โกรธา (rage), อาชญากรรม (crime), การรับโทษ (punishment), ความสำนึกผิด (remorse), ตราบาปความรู้สึกผิด (guilt), การไถ่โทษ แก้ตัว (redemption), ความหวัง (hope), ปาฏิหารย์ (miracle), ความรัก (love), การเกิด (birth) และการมีชีวิตรอด (survival)

ใจความของหนังคือ ปัญหาของการสื่อสาร,
– เริ่มต้นจาก Yamashita เมื่อรับรู้ว่าภรรยามีชู้ แทนที่จะมีสติพูดคุยไตร่ถาม ก็หน้ามืดตามัวใช้สัญชาติญาณนำทาง ขณะลงมีดเธอจ้องมองหน้าเขา ‘พูดไม่ออก’
– ออกจากคุกมา Yamashita แทบจะเข้าสังคมพูดคุย เข้ากับคนอื่นแทบไม่ได้
– ตัวละครหนึ่งในหนังต้องการพบเจอกับ UFO ต้องการที่จะ ‘สื่อสาร’ กับมนุษย์ต่างดาว
– ปลาไหลกลายเป็นเพื่อนรักของ Yamashita เพราะมันไม่สามารถสื่อสารอะไรกับเขาได้

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้อง’สื่อสาร’กับบุคคลอื่นรอบข้าง ไม่จำเป็นแค่ภาษาพูด ท่าทางสีหน้าสายตา หรือแม้แต่ภาษากาย Sex ก็ถือว่าเป็นการสื่อสารลักษณะหนึ่ง, ปัญหาของตัวละครทั้งหลายในหนังเรื่องนี้คือ พวกเขาไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่าง’เข้าใจ’ ถึงจะพูดคุยรู้เรื่องแต่กลับไม่เข้าใจตัวตนของกันและกัน (นี่รวมถึง Sex ที่ไม่ตรงกันด้วยนะครับ), เมื่อการสื่อสารไม่รู้เรื่องก็พาลพลอยให้เกิดความขัดแย้งต่างๆนานา เบาหน่อยก็แค่ทะเลาะเบาะแว้ง งอนไม่พบหน้า รุนแรงก็เริ่มใช้กำลังทำร้าย โหดร้ายก็คือฆ่าเอาชีวิต

วิธีแก้ปัญหาของการสื่อสาร พูดง่ายแต่ทำยาก นั่นคือพูดคุยเปิดอกไม่สวมใส่หน้ากากเข้าหากัน … แต่นี่เป็นไปไม่ได้เลยนะครับ มนุษย์จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากเข้าหากัน โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเคยพบเจอรู้จัก ใครที่ไหนจะยอมเปิดเผยตัวตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ คงมีแต่กับเพื่อน แฟน หรือแต่งงานเป็นภรรยา หน้ากากใบนั้นถึงค่อยๆสูญสลายหายไป ซึ่งปัญหาก็มักจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีก คือยอมรับตัวตนจริงๆของอีกฝ่ายไม่ได้ แสดงว่าปัญหาแท้จริงไม่ใช่การสื่อสาร แต่คือความ’เข้าใจ’ ยินยอมรับตัวตนของอีกฝ่ายได้,

ปลาไหลเป็นสัตว์สัญลักษณ์ ที่มีรูปลักษณ์ขนาดยาวดิ้นไปมาได้ (เหมือนอวัยวะเพศชาย) ปกติแล้วชอบนอนอยู่เฉยๆ หลบซ่อนตัวอยู่ในเลนตมใต้น้ำ (แทนด้วยความต้องการตามสัญชาติญาณเพศชายที่ถูกเก็บกดไว้) การแทนตัวเองด้วยปลาไหล เป็นการแปรสภาพความต้องการของตนเองให้สงบนิ่ง ไม่ปั่นป่วน ไม่ได้ต้องการสืบพันธุ์ (มี Sex), อ่างเลี้ยงปลาแตก เป็นสถานะของความอัดอั้นถึงขีดสุด, การปลดปล่อยคืนสู่ผืนน้ำ คือนับจากนี้ชีวิตของเขาไม่จำเป็นต้องเก็บกดไว้อีกต่อไป ได้พบเจอคนที่ยินยอมรับ เข้าใจ และมีความต้องการตรงกันแล้ว

สำหรับชายหญิงที่กำลังจะแต่งงาน มันอาจเป็นคำแนะนำแนวคิดของคนหัวรุ่นใหม่ไปเสียหน่อย ‘Sex เป็นสิ่งที่ควรจะต้องตรงกัน’ ปัญหาครอบครัวส่วนใหญ่ เกิดจากความไม่พึ่งพอใจของฝ่ายหนึ่งที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของอีกฝ่าย Sex ที่ดีต้องมอบความพึงพอใจให้ทั้งคู่ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกามกิจเสร็จสรรพ ปล่อยทิ้งให้อีกฝ่ายเคาะค้างไม่สมอารมณ์หมาย หลายครั้งเข้าเกิดเป็นความเก็บกด จึงจำเป็นต้องหาทางระบายที่พึ่งพิงทางกายอื่น

คนส่วนใหญ่คงจะยินยอมรับไม่ได้ เมื่อรู้ว่าสามีหรือภรรยาที่ตนรักแต่งงานด้วย มักมากร่านเจ้าชู้ แต่พวกเขาลืมที่จะพิจารณามองดูตัวเอง เพราะอาจเป็นคุณที่จืดชืดเฉื่อยเย็นชา Sex ไร้ความน่าตื่นเต้นเสน่หาหลงใหล เห็นแก่ตัวเรื่องมากเอาแต่ใจ พึ่งพาทั้งทางกายและใจไม่ได้ แบบนี้จะให้ทนอึดอัดอยู่ทำไม หาทางปลดปล่อยระบายออกจะดีเสียกว่า, ผมค่อนข้างเชื่อนะครับว่า ชายหญิงที่มี Sex ตรงกัน ปัญหาเรื่องการหย่าร้าง มีชู้ ทำแท้ง คงลดลงหมดไปแน่ๆ เช่นกันกับความอิจฉาริษยา เห็นแก่ตัว แต่ชีวิตมันหาคู่แบบนั้นไม่ง่ายเลยนะ

กับหนังเรื่องนี้ผมมีความเชื่อว่า หลังพระเอกออกจากคุกมารอบใหม่ เขาจะเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ Sex ที่เคยห่วย จะต้องดีขึ้นแบบก้าวกระโดด, ส่วนหญิงสาวที่เคยมีความร่านร้อนรุนแรง เมื่อมีลูกแล้วฮอร์โมนความต้องการจะลดลง ซึ่งน่าจะปรับพอดีกันระหว่างทั้งคู่ ชีวิตของทั้งสองน่าจะไปด้วยกันสวยแน่ๆ ตราบใดที่พวกเขายังยินยอมรับ เข้าใจ ให้อภัยกันและกัน

ตอนที่หนังออกฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Palme d’Or ร่วมกับ Taste of Cherry (1997) ของผู้กำกับ Abbas Kiarostami นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการมอบรางวัลใหญ่ควบสองเรื่อง แต่ไม่แน่ใจเป็นครั้งสุดท้ายหรือเปล่า เพราะหลังจากนี้ก็ยังไม่เคยมีปีไหนมอบให้สองเรื่องพร้อมกันอีก เป็นไปได้ว่าคณะกรรมการจัดงานอาจออกกฎเพื่อรองรับไม่ให้เกิดการมอบรางวัลใหญ่ควบสองเรื่องแบบนี้อีก

เหตุผลที่ผมชื่นชอบหนังของ Imamura เพราะความสนใจของเขาคือ การนำเสนอสิ่งที่เป็นสันชาติญาณดิบของมนุษย์ Sex คือแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังที่สุด ในโลกภาพยนตร์ มันอาจทำให้คนปากถือศีลเบือนหน้าหนีรับไม่ได้ แต่คือความจำเป็นที่ต้องนำเสนอทำให้โจ๋งครึ่ม รุนแรง จริงจัง เพราะภาพเหล่านั้นมันจะไปกระตุ้นความต้องการของผู้ชม เห็นแล้วเกิดอารมณ์ แต่ขณะเดียวกันก็เกิดการครุ่นคิด, วัยรุ่นรับชมหนังเรื่องนี้คงได้เก็บไปฝันเปียกแน่แท้ แต่ผู้ใหญ่รับชมแล้วคงจะครุ่นคิดพิจารณา มนุษย์คืออะไร? แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นอย่างไร?’

แนะนำกับคอหนังดราม่าญี่ปุ่นเข้มข้น ชื่นชอบการกินปลาไหล (รับชมหนังแล้วอาจไม่รู้สึกไม่อยากกินอีกเสียเท่าไหร่), นักโทษทั้งหลายที่กำลังได้รับทัณฑ์บนหรือกำลังออกจากเรือนจำ หนังเรื่องนี้ถือว่ามีประโยชน์ให้คำแนะนำได้มากทีเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ลองศึกษาทำความเข้าใจสถาวะทางจิตของตัวละครให้ถ่องแท้นะครับ มีประโยชน์แน่นอน

จัดเรต 13+ กับ Sex Scene ความคิด การกระทำอันรุ่มเร้าร้อนแรง

TAGLINE | “The Eel คือปลาไหลรสชาติเข้มข้นของ Shohei Imamura ที่จะทำให้คุณลุ่มร้อนเต็มอก”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: