The Enchanting Shadow

The Enchanting Shadow (1960) Hong Kong : Li Han-hsiang ♥♥♥♥♡

ครั้งแรกของการดัดแปลงเรื่องประหลาดจากห้องหนังสือ หรือโปเยโปโลเย ใช้ชื่อไทยวิญญาณรักปีศาจสาว โดยสตูดิโอ Shaw Brother แม้มิได้มีความหลอกหลอนเท่าหนังในยุคสมัยปัจจุบัน แต่เต็มไปด้วยบรรยากาศน่าสะพรึงขนหัวลุก โปรดักชั่นจัดเต็ม นักแสดงนำระดับตำนาน งดงามคลาสสิกเหนือกาลเวลา

ความงามของ เล่อ ตี้ (Betty Loh Ti) จะทำให้หนุ่มๆหลายคนพูดว่า ‘ฉันขอยอมตายแทนที่จะหักห้ามใจตนเอง’ ผมก็คนหนึ่งละที่คิดแบบนี้ ด่าพระเอกแม้งไก่อ่อนปะว่ะ! จะยึดหลักศีลธรรมจรรยาไปถึงไหน แต่พอผ่านสักครึ่งเรื่องเกิดความเข้าใจเนื้อหาสาระขึ้นมาทันที หนังเรื่องนี้คือนิทานสอนชายที่ให้ข้อคิดว่า ‘สิ่งจะซื้อใจหญิงงามได้ ไม่ใช่เงินทอง คำพูด หรือตัณหาราคะ แต่คือความสุจริตบริสุทธิ์จากใจ’

เหลียวไจจื้ออี้ (จีน: 聊斋志异; พินอิน: liáozhāi zhìyì; อังกฤษ: Strange Stories from a Chinese Studio; แปลตรงตัว เรื่องประหลาดจากห้องหนังสือ) รู้จักในประเทศไทยว่า โปเยโปโลเย ผลงานประพันธ์ของผู ซงหลิง (蒲松龄, Pu Songling)[ค.ศ. 1640 – 1715] แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง (1644 – 1912) รวบรวมเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับคน ผี ปีศาจ เทพ หลายร้อยพันเรื่องไว้ในที่เดียว

เกร็ด: โปเยโปโลเย แผลงมาจากสำเนียงจีนกลางว่า ปัวญั่วปัวลัวมี (จีน: 般若波羅蜜; พินอิน: bōrě bōluómì) เป็นบทสวดมนต์ธิเบต ภาษาสันสกฤตแปลว่า ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ถือเป็นพระสูตรหัวใจแห่งปฏิปทาอันยวดยิ่งแห่งความรู้แจ้ง หรือหฤทัยสูตร (Heart Sutra) ได้รับการยอมรับเป็นที่รู้จักนิยมมากสุดในพุทธศาสนานิกายมหายาน

เกร็ด 2: ชื่อวรรณกรรม เรื่องประหลาดจากห้องหนังสือ อาจมีหลายคนสงสัยมันห้องสมุดหรืออะไรจากไหน? คิดว่าคงเป็นการเปรียบเปรยถึงผู้ประพันธ์เอง ที่ได้รับรู้ จดบันทึกจากความทรงจำ เรื่องเล่าเกี่ยวกับผี และตำนานพื้นบ้านของคนสมัยก่อน

สำหรับเรื่องที่ได้รับความนิยมสูงสุด ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้งชื่อ เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน (Nie Xiaoqian) ผีสาวผู้มีความงามดั่งภาพวาด เสียชีวิตตอนอายุ 18 กลายเป็นคนรับใช้ปีศาจที่วัดร้าง Jinhua, Zhejiang ใช้ความงามล่อลวงบุรุษหนุ่มจนเมื่อพลั้งพลาดเผลอ สูบเลือดเนื้อวิญญาณนำมาเป็นพลังงานให้กับตนเอง แต่ครั้งหนึ่งเมื่อเธอพบเห็นความสุจริตบริสุทธิ์จากใจของ หนิงไฉ่เฉิน (Ning Caichen) ตกหลุมรักใคร่ ให้ความช่วยเหลือเขาเอาตัวรอดตายจากภัยเหนือธรรมชาตินี้

สามฉบับโด่งดังสุดของ เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน ประกอบด้วย
– The Enchanting Shadow (1960)
– A Chinese Ghost Story (1987) นำแสดงโดย เลสลี่ จาง, หวัง จู่เสียน และ อู หม่า มีชื่อไทยว่า โปเยโปโลเย เย้ยฟ้าแล้วก็ท้า (ประสบความสำเร็จจนมีสร้าง 2 ภาคต่ออีกและอีกหนึ่งอนิเมชั่น)
– A Chinese Fairy Tales (2010) นำแสดงโดย กู่ เทียนเล่อ, หลิว อี้เฟย์, อวี๋ เส้าฉวิน

หลี่ ฮั่นเซียง, Richard Li Han Hsiang (1926 – 1966) ผู้กำกับสัญชาติจีน เกิดที่ Jinxi, Liaoning, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเป็นนักแสดงหนัง Hong Kong เรื่อง The Orphan Girl (1948), ผันตัวมาทำงานเบื้องหลังจนเข้าตา Shaw Brother เซ็นสัญญากำกับเรื่องแรก Lady from the Moon (1954), ค่อยๆไต่เต้าขึ้นจนมีชื่อเสียงแนวหน้าของสตูดิโอ Diau Charn (1958), โด่งดังระดับเอเชีย The Kingdom and the Beauty (1959), ระดับโลก The Enchanting Shadow (1960), The Magnificent Concubine (1962) คว้ารางวัล Technical Grand Prize จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, Empress Wu Tse-Tien (1963), The Love Eterne (1963) ทำเงินสูงสุดในประเทศจีน, หลังออกจาก Shaw Brother มีอีกสองผลงานเด่นคือ The Empress Dowager (1975) และภาคต่อ The Last Tempest (1976) [ซูสีไทเฮาภาค 1-2]

ความสนใจของ หลี่ ฮั่นเซียง มักเป็นแนว Costume Dramas ดัดแปลงจากวรรณกรรมชื่อดัง(ของจีน) หรือพงศาวดารประวัติศาสตร์ร่วมสมัย โดยผสมผสาน Huangmei Opera การแสดงงิ้วหวงเหมย -พื้นบ้านของจีนในแถบมณฑลอานฮุย- ร้องรำทำเพลงกลายเป็น Musical เข้าไปในภาพยนตร์

เรื่องราวของบัณฑิตหนุ่ม หนิงไฉ่เฉิน, Ning Caichen (รับบทโดยเจ้าหลุย, Zhao Lei) ดั้นด้นรอนแรมสู่เมืองต่างๆเพื่อทำงานเก็บภาษีสรรพากร ณ หมู่บ้านห่างไกลแห่งหนึ่ง วันนั้นไร้โรงเตี้ยมให้พักค้างแรม คงเหลือแต่วัดร้างปลายดอยที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมจนเลื่องลือชาว่าผีดุเสียกระไร เดินทางไปถึงพบเจอมือกระบี่นักพรต หยาน ซีเซีย, Yan Chixia (รับบทโดยหยาง ชิห์-ชิง , Yang Chih-ching) และยามดึกดื่นค่ำคืนนั้นได้รู้จักหญิงสาวลึกลับ เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน, Nie Xiaoqian (รับบทโดย เล่อ ตี้, Betty Loh Ti) พยายามใช้มารยาเกี้ยวพาราสี แต่เขากลับปฏิเสธเสียงขันแข็งอ้างความถูกต้องเหมาะสมทางศีลธรรมจรรยา จนภายหลังล่วงรู้ว่าแท้จริงแล้วเธอคือวิญญาณผู้เสียชีวิตไปแล้ว ถูกกักตัวไว้โดยปีศาจต้นไม้ Lao Lao (รับบทโดย Tang Rhoqing) วิธีการเดียวเท่านั้นจะช่วยเหลือคือขุดนำกระดูกไปฝังยังสุสานให้ถูกต้องตามประเพณี ถึงสามารถไปผุดไปเกิดได้เสียที แต่ใช่ว่านางปีศาจจะยินยอมง่ายๆ จำต้องขอความช่วยเหลือจากมือกระบี่นักพรต กำราบปราบผีชั่วตนนี้ให้สิ้นซาก

นำแสดงโดย เล่อ ตี้, Betty Loh Ti (1937 – 1963) นักแสดงหญิงสัญชาติจีน เกิดที่ Shanghai ในช่วงสงคราม Second Sino-Japanese War (1937-45) บิดาเสียชีวิตจากระเบิดลงก่อนหน้าเธอเกิดเพียงเล็กน้อย มีพี่ๆทั้งหมด 5 คน ปู่ทวดเป็นเจ้าของโรงละคร Tiancham Theatre ใหญ่สุดใน Shanghai สมัยนั้น ทำให้ตั้งแต่เด็กเติมโตขึ้นด้วยความสนใจในการแสดง หลังแม่เสียชีวิตปี 1948 ติดตามย่าสู่ Hong Kong ครอบครัวอาศัยอยู่ห้องเช่าติดกับ Yuan Yang’an ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Great Wall Movie Enterprises จับเซํนสัญญา 5 ปีตั้งแต่ตอนอายุ 15 ภาพยนตร์เรื่องแรก The Peerless Beauty (1953), รับบทนำ Suspicion (1957), พอหมดสัญญาย้ายมา Shaw Brothers กลายเป็นตำนานจนได้รับฉายา ‘Classic Beauty’ ตั้งแต่ The Magic Touch (1958), The Enchanting Shadow (1960), Dream of the Red Chamber (1962), และค้างฟ้ากับ The Love Eterne (1963)

เล่อ ตี้ แต่งงานกับเฉิน โฮ่ว (Peter Chen Ho) นักแสดงชาวฮ่องกง เมื่ออายุ 25 ปี ก่อนจะหย่าขาดกันใน 5 ปีต่อมา จากนั้นเธอมีอาการซึมเศร้าจนกระทั่งเสียชีวิตเนื่องจากการกินยานอนหลับเกินขนาด เมื่ออายุเพียง 31 ปี

รับบท เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน ความโชคร้ายทำให้เธอเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แถมยังถูกบีบบังคับจากวิญญาณปีศาจให้ต้องทำงานชดใช้ เข่นฆ่าสูบวิญญาณชายหนุ่มผู้มักมากในกามโลกีย์ นำมาเป็นพลังชีวิตให้กับของตนเอง, การได้พบเจอกับหนิงไฉ่เฉิน แรกเริ่มเกิดประทับใจในความเฉลียวฉลาดรอบรู้ดั่งบัณฑิต แถมเมื่อพยายามใช้เล่ห์มารยายั่วยวนกลับโดนบอกปัดปฏิเสธอ้างความถูกต้องเหมาะสม เงินทองก็นำมาซื้อไม่ได้ โดยไม่รู้ตัวตกหลุมรักใคร่ในความสุจริตบริสุทธิ์ใจ ต้องการช่วยเหลือเขารอดพ้นเงื้อมมือของนางมารร้าย

ความงามคลาสสิกของ เล่อ ตี้ ช่างดูดีมีสง่าราศี ชดช้อยนางรำ โปรยเสน่ห์ตาหวาน ลีลายั่วเย้าเง้างอน หนุ่มๆที่ไหนพบเห็นพลันต้องตกหลุมรักใคร่ ไม่ว่าต้องแลกกับอะไรขอให้ได้เธอมาครอบครอง, ตอนที่หนังออกฉายยังเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับการยกย่องระดับนานาชาติถึงความงามว่า ‘China’s most beautiful actress’ และการจากไปก่อนวัยอันควรทำให้ไม่มีใครทันพบเห็นความเหี่ยวย่นชราภาพ จึงถือเป็นดาวดาราประดับค้างฟ้า งดงามอมตะไม่สร่างเลย

เกร็ด: พิณจีนที่ เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน ใช้บรรเลงบทเพลงมีชื่อว่า กู่เจิง ประมาณกันว่าได้รับการประดิษฐ์ขึ้นในยุคสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ (พ.ศ. ๒๘๓, 260 ปีก่อนคริสต์กาล) สาเหตุเพราะตอนฮ่องเต้พระองค์นี้ตีเมืองไหนสำเร็จ จักทำลายล้างวัฒนธรรมเก่าก่อนที่เคยมีมาให้สูญสิ้น เลยไม่น่าเป็นไปได้ที่เครื่องดนตรีชนิดนี้จะเกิดก่อนยุคสมัยนั้น

เจ้าหลุย, Zhao Lei ชื่อเดิม Wang Yu-min (1928–1996) เกิดที่ Hebei โตขึ้นอพยพตามครอบครัวสู่ Hong Kong กลายเป็นหนึ่งในนักแสดงขาประจำของผู้กำกับหลี่ ฮั่นเซียง ผลงานเด่นๆ อาทิ The Kingdom and the Beauty (1959), The Magnificent Concubine (1962), The Beauty of Beauties (1965) ฯ

รับบท หนิงไฉ่เฉิน บัณฑิตหนุ่มผู้มีความเฉลียวฉลาดรอบรู้ทรงภูมิ อาจเพราะความอ่อนเยาว์วัยบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ทำให้กลัวๆกล้าๆในเรื่องของความรัก แต่เพราะยึดมั่นในหลักคุณธรรมประจำใจ ทั้งความซื่อสัตย์สุจริต และต้องการต่อสู้กับความอยุธรรมใดๆในโลก ไม่ใช่แค่เพียงสงครามขัดแย้งของมนุษย์ รวมถึงความคอรัปชั่นของภูติผีปีศาจอีกด้วย

ความหน่อมแน้มเจี๋ยมเจี้ยม เก้งๆกังๆ อ่อนต่อโลกของตัวละครนี้ เห็นแล้วน่ารำคาญหมั่นไส้เสียเหลือเกิน แต่ก็ต้องยกย่องว่าสามารถถ่ายทอดความบริสุทธิ์เดียงสาของตัวละคร ออกมาจากภายในได้อย่างหลงเชื่อสนิทใจ, โดยไม่รู้ตัวคนซื่อๆแบบนี้ สาวๆผู้มากด้วยมารยามักตกหลุมรักใคร่ แบบตัวละครไม่ผิดเพี้ยน

หยาง ชิห์-ชิง (1919–1984) นักแสดงสมทบมากฝีมือของ Shaw Brothers  เกิดที่ Hubei, สาธารณรัฐจีน โตขึ้อพยพสู่เกาะฮ่องกง หลายเป็นหนึ่งในขาประจำของผู้กำกับหลี่ ฮั่นเซียง ผลงานเด่นๆ อาทิ Diao Charn (1958), Come Drink with Me (1966), The One-Armed Swordsman (1967), Golden Swallow (1968), Duel of the Iron Fist (1971), Vengeance (1970) ฯ

รับบทมือกระบี่นักพรต หยาน ซีเซีย อาศัยอยู่วัดแห่งนี้ด้วยความสันโดษไม่ต้องการคบหาผู้ใด ด้วยวิทยายุทธแก่กล้าจึงไม่มีปีศาจหน้าไหนกล้ารุกราน จนกระทั่งบัณฑิตหนุ่มหนิงไฉ่เฉิน ร้องขอความช่วยเหลือจึงให้ที่อาศัยพักพิงในห้อง และตอนจบเข้าร่วมต่อสู้ปีศาจต้นไม้ ปกป้องเพื่อนผู้มีความบริสุทธิ์สุจริตจากใจ

หนังเรื่องนี้ได้ทำให้ หยาง ชิห์-ชิง กลายเป็นตำนานกับฉากรำดาบแล้วร่ำร้องเพลงไปด้วย แสดงถึงความสำราญในชีวิตอยู่คนเดียวก็สามารถเป็นสุขีได้ นี่เหมารวมถึงทุกบทบาทการแสดงของเขาด้วย ไม่ใช่พระเอกฉันก็ค้างฟ้าได้เช่นกัน

Rhoqing Tang (1918-1983) เกิดที่ Hunan Xiangxiang โตขึ้นเริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที ออกทัวร์ร่วมกับ China Travel Troupe จนกระทั่งหลังสงคราม Second Sino-Japanese War (1937-45) อพยพสู่ Hong Kong เซ็นสัญญากับ Shaw Brothers กลายเป็นตำนานกับ The Kingdom and the Beauty (1959), The Enchanting Shadow (1960) ฯ

รับบทปีศาจต้นไม้ Lao Lao อายุยืนกว่าพันปีด้วยการสูบพลังชีวิตของมนุษย์ จงเกลียดจงชังผู้ชายทุกเผ่าพันธุ์ คาดเดาไม่ยากว่าคงอกหักรักคุดแล้วเหมารวมต้องการแก้แค้นเอาคืน สะสมนานคลั่งจนวิปริตผิดธรรมชาติ ปฏิเสธไม่ยอมเชื่อว่าจะมีหนุ่มหน้าไหนบริสุทธิ์สุจริตจริงแท้ในโลกหล้า แต่เพราะความหมกมุ่นเกินกว่าใครจะรับไหว สุดท้ายเลยเจอดีเข้าให้ ไม่รู้ไปผุดไปเกิดใหม่หรือสูญสายมลายเป็นอากาศธาตุ

ขุ่นป้าผู้นี้แทบไม่ต้องใช้การแสดงอะไรมากเลย แค่ใบหน้าก็โหดโฉดชั่ว เต็มไปด้วยความอาฆาตมาดร้าย แถมปากจัด ล้นด้วยมารยาริษยา ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็จะเอาด้วยกล ถูกผิดไม่สนความเหมาะสม ฉันอยากได้อะไรก็ต้องสมประสงค์นั้น … นี่คือ ‘มนุษย์ป้า’ สัญชาติจีนโดยแท้

ถ่ายภาพโดย He Luying, โดดเด่นในการสร้างบรรยากาศ ตกแต่งสถานที่วัดร้างให้รกรุงรัง แสงสีแทนอารมณ์ เงามืดสร้างมิติลึกลับ ขณะที่การแสดงรับอิทธิพลเต็มๆมาจากงิ้วหวงเหมย ด้วยท่วงท่าลีลา คำพูดคำจาคมชัด เฉียบแหลมคมคาย ฟังเข้าใจจะพบเห็นสัมผัสสอดคล้องดั่งบทกวี

แม้ว่าสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างจะคือจีนต้นตำรับ แต่ไดเรคชั่นการถ่ายทำหลายๆครั้งรับอิทธิพลมาจาก Gothic, Film-Noir อย่างภาพระยะไกลช็อตนี้ ตัวละครแค่เดินผ่านตรงไป สร้างสัมผัสอันวังเวง เวิ้งว่างเปล่า บางสิ่งอย่างมองไม่เห็นด้วยตาคืบคลานเข้ามาหาอยู่

ไดเรคชั่นการนำเสนอบทกวีที่เขียนใส่ภาพนี้ มากด้วยลีลาและใช้เวลาค่อนข้างเยอะ
– เริ่มต้นด้วยบทกวีที่ เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน แต่งไว้ก่อนแล้ว หนิงไฉ่เฉิน ทำการขัดเกลา แต่สุดท้ายก็คิดขึ้นใหม่ (อ้างอิงของเก่าเล็กๆ)
– เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน เขียนใส่ท่อน 1-2-3 ลงไป ก่อนถูกขับไล่
– ส่วนท่อนสุดท้าย ค่อยกลับมาเขียนต่อยังที่ห้อง

ขณะที่กำลังเขียนบทกวีลงในรูป จะมีการสร้างสัมผัสทางอารมณ์ด้วยบทเพลงบรรเลง เสียงขับร้องงิ้วจากบทกวี และแทรกภาพจินตนาการถึง ‘บ่อน้ำ ดอกบัว และเป็ดแมนดาริน’ (จากเนื้อความที่เขียน)

“The large pond is filled with lotus leaves
The jade hairpin secretly mourns my aging
The mandarin ducks taking shelter in the rain
I only envy the mandarin ducks but not the fairies”

ความหมายของบทกวีนี้ ผมตีความคือการพรรณาความรู้สึกของ หนิงไฉ่เฉิน อิจฉาริษยาเป็ดแมนดารินสองตัวที่ได้หลบฝนครองคู่อยู่ภายใต้ใบบัว, ใครก็ตามได้ลงเอยแต่งงานร่วมรักกับ เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน ฉันคงคลั่งตายเป็นบ้าแน่!

การใช้แสงสีเพื่อแทนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร เด่นชัดมากกับฉากนี้, เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน ขณะพยายามที่จะใช้มารยาสวาทลวงล่อหลอก หนิงไฉ่เฉิน ให้ร่วมรักหลับนอนของตนเอง สีแดง(ออกไปทางชมพู)แทนด้วยความใคร่พิศวาสร่านราคะ อาบฉาบเสื้อผ้าหน้าผมของพวกเขา ชวนให้จิ้นไปไกลว่าน่าจะมีอะไรบางสิ่งอย่างเกิดขึ้น!

วินาทีที่ เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน เปิดเผยยอมรับตนเองว่าเป็นวิญญาณ ‘I’m spirit.’ โทนแสงสีจะแปรสภาพจากส้มอบอุ่นกลายเป็นน้ำเงิน สร้างสัมผัสยะเยือกเย็นชาไร้ชีวิตชีวาขึ้นมาทันที

ตัดสลับกับ หนิงไฉ่เฉิน ที่ยังคงอยู่ในโทนสีส้มอบอุ่นจากแสงสว่าง (สื่อถึงตัวเขาที่ยังมีชีวิตลมหายใจอยู่) กำลังก้าวถอยหลังอย่างตกตะลึง, นี่เป็นฉากนำเสนอความแตกต่างระหว่าง ความเป็น-ความตาย มนุษย์-วิญญาณ เป็นภาษาภาพยนตร์ที่งดงามคลาสสิกอย่างยิ่ง

ไดเรคชั่นของ Sequence นี้ มีความน่าสนเท่ห์อย่างมาก เพราะกระบี่เจ้ากรรมแทนที่จะแขวนวางอยู่ใกล้ๆตัวของนักพรต หยาน ซีเซีย กลับถูกหยิบไปวางในตำแหน่งที่ทำให้ผู้ชมเกิดความหวาดหวั่นวิตกปนสงสัย เฉกเช่นเดียวกับ หนิงไฉ่เฉิน ทำไมต้องวางกระบี่ตรงนั้น!

เห็นภาพนี้ของนางมารปีศาจต้นไม้ สะดุ้งหลอนแทบขาดใจ (นึกถึงโปสเตอร์ The Dark Knight ขึ้นมาเลย) พอเปิดประตูออกเดินเข้ามา ปริศนาข้อสงสัยดังกล่าวได้รับการไขกระจ่างแจ้งโดยทันที

ฉากไคลน์แม็กซ์ช่วงท้าย จะมีขณะหนึ่งที่นางมารต้นไม้ใช้พลังทำให้กิ่งไม้ล้มลงมาทับ หนิงไฉ่เฉิน ก่อนที่มือกระบี่นักพรต หยาน ซีเซีย จะตรงเข้ามาช่วย ทำให้เกิดการเผขิญหน้าแบ่งแยกระหว่าง มนุษย์ vs ปีศาจ คั่นกลางด้วยกิ่งไม้นั้นราวกับเส้นแบ่งพวกเขาทั้งสอง ความเป็น-ความตาย

ถ้ามนุษย์-วิญญาณ อยู่ฝั่งใครฝ่ายใครมันไม่กระโดดข้ามผ่านยุ่งเกี่ยว การต่อสู้ขัดแย้งคงไม่บังเกิด, จุดเริ่มต้นคือนางปีศาจต้นไม้เดินก้าวผ่านกิ่งไม้นั้นมาต่อสู้ประมือกับนักพรต (เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน กับ หนิงไฉ่เฉิน ยืนลุ้นเชียร์อยู่ตรงกิ่งไม้ขวางนั้น ฝั่งใครฝั่งมันไม่ขยับไปไหน) เกือบได้รับชัยชนะแต่บังเอิญไก่ขันรุ่งเช้ากำลังมาถึงพอดิบดี รีบวิ่งข้ามกิ่งไม้หวนกลับสู่สถานที่สิงสถิตของตนเอง

หยาน ซีเซีย ไม่ได้มีความตั้งใจอยากวิ่งไล่ติดตาม แต่เพราะเห็นว่าคือวิญญาณชั่วร้ายมาก ปล่อยไว้รังแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น จึงตัดสินใจกระโดดข้ามกิ่งไม้ขวางกั้นนั้นไล่ติดตามไป ปรากฎว่ามิอาจตามทันเสียทีเลยกระบี่เขวี้ยงใส่ปักเข้ากลางหัวใจ กลายสภาพเป็นโครงกระดูกหลอมละลาย สูญสลายหมดสิ้นทุกสิ่งอย่าง

ตัดต่อโดย Chiang Hsing-lung ขาประจำของ หลี่ ฮั่นเซียง และสตูดิโอ Shaw Brothers, หนังความยาว 83 นาที แต่เนื้อหาจริงๆตัดทอนออกได้เกือบครึ่ง นั่นต้องชมวิธีการค่อยๆนำเสนอ ไม่รีบเร่งร้อน ให้เวลากับการสร้างบรรยากาศ สัมผัสหลอนๆสะสมทวีขึ้นภายในจิตใจ

หนังใช้มุมมองของ หนิงไฉ่เฉิน ในการดำเนินเรื่องทั้งหมด รวมถึงภาพจินตนาการของเขาด้วย (พรรณถึงบทกวีบ่อน้ำ ดอกบัว และเป็ดแมนดาริน) เวลาสนทนาก็มักให้กล้องแทนมุมมองบุคคลที่หนึ่ง หันหน้าพูดคุยสบสายตากับผู้ชม

เพลงประกอบโดย Yao Min กับ Chi Hsiang-tang, หนังใช้บทเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศ อารมณ์ร่วม ประกอบด้วยดนตรีพื้นบ้าน ขลุ่ย กู่เจิ้ง และโดยเฉพาะเสียงของเธรามิน (เครื่องดนตรีไฟฟ้าชนิดหนึ่ง) ฟังดูผิดแผกแปลกหูไปเสียหน่อย แต่มีความหลอกหลอนสั่นสะพรึง เหมือนวิญญาณที่ล่องลอย ชวนให้ขนหัวลุกขนพอง เข้ากับสถานที่วัดร้าง เรื่องราวผีๆวิญญาณนี้ดิบดีนัก

ความไพเราะเพราะพริ้งของบทเพลง ช่วยให้หนังมีสัมผัสของบทกวี ‘Poetic Film’ ตอนที่ เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน บรรเลงกู่เจิง ท่วงทำนองสั่นสะท้านไปถึงขั้วหัวใจ ระหว่างหยุดพักก็จักมีเสียงขลุ่ยขับขานต่อเนื่อง ตามต่อด้วยน้ำเสียงหวานๆพรรณาคำพูดรู้สึกออกจากภายใน

ประเด็นถกเถียง มนุษย์-วิญญาณ สามารถครองคู่อยู่กินฉันท์ผัวเมียได้หรือไม่? สมัยบวชผมเคยอ่านเจอในนิทานเรื่องเล่าวพื้นบ้าน ชาดก มนุษย์ครองรักกับนางตานี (พรายที่สิงสถิตอยู่ตามป่ากล้วย), ออกติดตามหาสมสู่มักกะลี, หรือสามีกลับชาติมาเกิดเป็นงูใหญ่กินนอนร่วมรักหลับเตียงเดียวกัน ฯ แม้เหล่านี้จะคือเรื่องผิดแผกแปลกต่อทัศนคติความเชื่อคนยุคสมัยนี้ แต่ก็หาใช่เรื่องน่าอัปลักษณ์พิศดารตรงไหน ตราบใดสองสิ่งมีชีวิตนั้นต่างมีดวงวิญญาณที่สั่นพ้องเคยครองคู่อยู่ร่วมกัน แม้โดยต้นกำเนิดจะถูกแบ่งแยกต่าง แต่ความสัมพันกลับก้าวข้ามผ่านชาติภพมิอาจลบเลือนเจือจางหาย

เมื่อพูดถึงความรัก คนส่วนใหญ่ก็มักเหมารวมถึงความใคร่ ราคะ มักมากในกาม แต่นั่นก็กับมนุษย์ สัตว์และเทวดาชั้นชั้นฟ้า (ไม่ถึงชั้นพรหม) ถือเป็นสิ่งไม่บริสุทธิ์ เพราะมักถูกเจือปนด้วยกิเลสตัณหา, ความรักที่บริสุทธิ์ คือการให้ที่ปราศจากหวังผลตอบแทน มีเท่าไหร่สูญไปก็รู้สึกเสียดาย ผู้รับไม่เห็นค่ายังหาได้ถือโทษโกรธเคือง

ความบริสุทธิ์สุจริตใจของหนิงไฉ่เฉิน แม้จะมีเคลิบเคลิ้มหลงผิดไปบ้าง แต่ก็ไม่ก้าวข้ามผ่านบริบทข้อกำหนดของสังคม ซึ่งถือเป็นสามัญสำนึกในจิตใจของเขา นั่นไม่ใช่ว่าเพราะเธอเป็นผีฉันเป็นมนุษย์ครองคู่อยู่กันไม่ได้ แต่คือความบริสุทธิ์จริงใจมอบให้แก่กัน ถ้าวันนี้ฉันล่วงเกินเธอกระทำสิ่งผิดต่อหลักการศีลธรรมจรรยาของตนเอง อนาคตต่อไปคงไม่มีอะไรใช้ยึดเหนี่ยวนำประจำใจ สามารถทำสิ่งชั่วช้าสามาลย์ได้มากยิ่งกว่านี้อีก

การช่วยเหลือ เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน ถือเป็นสิ่งมีมนุษยธรรมสูงสุดที่สามารถมอบให้วิญญาณไม่ใช่มนุษย์ได้ ไม่มีใครตายแล้วอยากทุกข์ทรมาน แต่คงเพราะผลกรรมชั่วร้ายเคยทำไว้ปางก่อนทำให้ยังคงว่ายเวียนวนอยู่ การได้พบเจอบุคคลผู้มีความบริสุทธิ์แท้จากภายใน ย่อมสามารถปลดปล่อยพันธการเปิดกรงขังให้กลายเป็นอิสระ ผลตอบแทนที่สามารถมอบให้ได้นั้นยิ่งใหญ่ล้ำค่ากว่าเงินทอง นั่นคือความรักที่อยู่เหนือชาติภพและกาลเวลา

มองในเชิงสัญลักษณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ เปรียบวิญญาณชั่วร้ายของสาวๆได้กับด้านมืดจิตใจมนุษย์ ถ้าเรายินยอมปล่อยตัวกายใจเซ่นสังเวยให้กับมัน สักวันหนึ่งย่อมถูกสูบเลือดเนื้อจนหมดตัวไม่หลงเหลืออะไรนอกจากความตาย แต่เมื่อใดเรียนรู้จักหักห้ามปรามกิเลสตัณหา ราคะ โทสะ โมหะ ก็จักค้นพบบางสิ่งอย่างที่สวยงามล้ำค่า จับต้องไม่ได้ กลับคงอยู่ติดตัวเราชั่วนิรันดร์

ขณะที่ต้นฉบับวรรณกรรมเรื่องประหลาดจากห้องหนังสือ ของผู ซงหลิง ยังมีใจความวิพากษ์วิจารณ์ โจมตีระบอบศักดินาจีนที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคม ความคอรัปชั่นของขุนนาง ฮ่องเต้ นำเสนอผ่านเรื่องเล่าภูติผีปีศาจ ให้ผู้อ่านเกิดความตื่นตระหนกหวาดสะพรึงกลัว ทั้งยังแฝงข้อคิดพุทธศาสนาเรื่องกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว คนเลวสักวันหนึ่งต้องได้รับผลตอบแทนที่สาสมควร

นอกจากนี้หนังยังสอดแทรกประเด็นการเมือง/ความขัดแย้ง มีพูดเอ่ยถึงเล็กๆถึง Yangzhou massacre (1645) ในยุคสมัยราชวงศ์ชิง (1644–1912) สะท้อนช่วงกวาดล้างขับไล่เจ้าของที่ดิน (1948-51) และผู้สนับสนุนก๊กมินตั๋น/ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ (1950–51) ออกไปจากจีนแผ่นดินใหญ่ ว่ากันว่าแค่ไม่กี่ปีก็มีผู้เสียชีวิตหลักล้าน ซึ่งผู้กำกับ หลี่ ฮั่นเซียง ทีมงาน และนักแสดงแทบทุกคนในหนังเรื่องนี้ ต่างอพยพหลบหนีสู่ Hong Kong แทบทั้งหมดสิ้น!

คนกับผีแม้จะมีความแตกต่างขัดแย้ง แต่ก็ยังสามารถตกหลุมรักกันได้ นี่นับประสาอะไรกับสองพรรคการเมืองของประเทศจีน คอมมิวนิสต์ vs ก๊กมินตั๋น ความตั้งใจลึกๆของผู้กำกับก็ชัดเจนว่า อยากให้ทั้งสองฝ่ายสามารถคืนดีกัน ฉันจะได้มีโอกาสหวนกลับสู่ดินแดนบ้านเกิดเสียที!

(ชาวจีนที่อพยพสู่ Hong Kong ยุคสมัยนั้นก็แทบเป็นแบบนี้นะครับ เฝ้ารอคอยวันจะได้หวนกลับคืนผืนแผ่นดินบ้านเกิด ไม่เคยคิดว่าจะต้องปักหลักตั้งถิ่นฐานถาวรตลอดไป ใครดูหนัง Wong Kar-wai มาเยอะ น่าจะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกนี้ได้แน่)

แม้ได้รับเลือกเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes และเป็นตัวแทนประเทศ Hong Kong ส่งเข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film แต่ก็ไม่ได้ผ่านเข้ารอบ หรือรับรางวัลใดๆ น่าเสียดายยิ่งนัก

สิ่งที่ทำให้ผมรักกับหนังเรื่องนี้มากๆ คือนักแสดงนำ เล่อ ตี้ ความงามของเธอต้องใช้พลังมหาศาลในการยับยั้งชั่งใจ รู้ตัวเลยว่าถ้าตกอยู่ในสถานการณ์ลักษณะนี้ ขอยอมตายเสียดีกว่าหักห้ามตนเอง ด้วยเหตุนี้แหละทำให้ The Enchanting Shadow มีความทรงคุณค่าอย่างที่สุด

จัดเรต pg กับบรรยากาศหลอนสะพรึง

TAGLINE | “The Enchanting Shadow คือนิทานสอนชายที่จะทำให้หนุ่มๆตกหลุมรักคลั่ง เล่อ ตี้ แบบโงหัวไม่ขึ้น”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: